Tag Archives: รัฐประหาร ๑๙ กันยา

คนไทยอาจเสี่ยงภัยจากความยากจนมากกว่าจากโควิด19?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผมไม่อยากจะรีบสรุปอะไรเร็วเกินไปเรื่องการระบาดของไวรัสโควิดในขณะที่วิกฤตมันยังไม่จบ แต่ถ้าดูตัวเลขจากไทยจะเห็นว่าค่อนข้างจะต่ำถ้าเทียบกัยยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา

total-covid-deaths-per-million

สาเหตุที่ตัวเลขโควิดไทยค่อนข้างจะต่ำในขณะนี้ (และหวังว่าคงไม่พุ่งสูงในอนาคต ซึ่งเป็นไปได้) ไม่ใช่เพราะประสิทธิภาพของรัฐบาลเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์แต่อย่างใด ไม่ใช่เพราะอะไรที่ดีเลิศเกี่ยวกับสังคมไทย และไม่ใช่เพราะไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออะไรอยู่เบื้องสูงเลย เพราะตัวเลขโควิดไทยไม่ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านเท่าไร และตัวเลขของเวียดนามดีกว่าไทยอีก

total-deaths-covid-19

ถ้าเราดูตัวเลขการเสียชีวิตจากโควิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปรเป็นสัดส่วนต่อประชากรหนึ่งล้านคน จะเห็นว่าฟิลิปปินส์สูงสุดคือ 6 รองลงมาก็คืออินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ 3 และไทยอยู่ที่ 0.8 ซึ่งพอๆกับบังคลาเทศในเอเชียใต้ แต่ต่ำสุดคือเวียดนาม ถ้าเทียบกับตัวเลขอังกฤษที่สูงถึง 598 ดูเหมือนอยู่คนละโลกกัน [ดู https://bit.ly/2KWTPdV ]

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคุณภาพในสหรัฐกับอังกฤษได้รายงานว่าการระบาดของโควิดไม่ได้ลดลงเมื่อมีอากาศร้อนเหมือนไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ในออสเตรเลียมีการระบาดมากพอสมควรทั้งๆ ที่อากาศร้อนแห้ง แต่ตัวเลขจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้เราต้องสงสัยว่าอากาศร้อนกับชื้น บวกกับชีวิตที่ใช้นอกบ้าน และการที่แสงแดดแรงและมีรังสี UV มันช่วยลดการระบาดของโควิดหรือไม่? ตัวเลขการระบาดหรือตายในอัฟริกาอาจเหมือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนในอนาคต

สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือมาตรการเด็ดขาดในการปิดเมือง การตรวจโรค และการติดตามดูว่าผู้ป่วยสัมผัสกับใคร อย่างที่เวียดนามทำ มีผลสำคัญในการลดอัตราการตาย ดังนั้นการยกเลิกมาตรการแบบนี้ไม่ใช่คำตอบในการปกป้องพลเมือง

อีกสิ่งหนึ่งที่อาจเป็นประเด็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือสัดส่วนคนชราในประชากร ซึ่งต่ำกว่ายุโรปหรือสหรัฐ แต่ในขณะเดียวกันสัดส่วนคนจนที่มีสุขภาพไม่ดีน่าจะสูงกว่าประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตามในอีกแง่หนึ่งการที่คนในเอเชียอยู่กับเชื้อโรคมากกว่าคนในตะวันตกมีผลทำให้มีภูมิต้านทานหรือวิถีชีวิตที่เน้นการล้างมือหรือไม่?

นอกจากนี้เราต้องระวังตัวเลขจากรัฐบาลต่างๆ ที่อยากจะปกปิดความจริงและไม่ย่อมตรวจเชื้อในหมู่ประชากรทั่วไปด้วย

ไม่ว่าการระบาดของโควิดจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เห็นชัดในกรณีไทยคือ มาตรการในการเยียวยาคนจนหรือกรรมาชีพที่ตกงานที่เดือดร้อนอันเนื่องมาจากการสั่งปิดสถานที่ทำงานต่างๆ ของรัฐบาลประยุทธ์ ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง เพราะไม่เพียงพอและไม่แก้ปัญหา ดูได้จากภาพคนจนที่เสี่ยงติดเชื้อจากการเข้าคิวรับอาหารหรือเงินจากเอกชนและมูลนิธิต่างๆ

Screen-Shot-2020-04-17-at-7.22.58-AM

UPDATE_TEMPLATE-20202-3-1

ในขณะนี้มันดูเหมือนภัยหลักสำหรับคนธรรมดาในไทยคือความยากจนและการตกงาน ซึ่งอาจเป็นภัยร้ายแรงกว่าโควิดเสียอีก

วิกฤตโควิดเหมือนแสงไฟที่ส่องให้เห็นลักษณะสังคมและปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ความเหลื่อมล้ำในไทยมาจากการที่เราไม่มีรัฐสวัสดิการ และสหภาพแรงงานของเราอ่อนแอเกินไปที่จะพัฒนาผลประโยชน์ของคนทำงาน และปัญหานี้ร้ายแรงมากขึ้นเพราะเราขาดประชาธิปไตย

ในสภาพเช่นนี้เราเห็นคนรวยและอภิสิทธิ์ชนเสพสุขในขณะที่คนส่วนใหญ่เดือดร้อน ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน ทหารเผด็จการยังหน้าด้านคิดจะซื้ออาวุธ และบางคนสั่งอาหารทางอากาศมากินที่ยุโรปหรือบินไปบินมาอย่างสบาย

อย่าลืมว่าตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา 14 ปีที่แล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนชั้นกลางและทหาร ได้ร่วมกันทำลายประชาธิปไตยในประเทศเรา เพราะไม่พอใจกับรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลทักษิณมีข้อเสียหลายอย่างและได้ก่ออาชญากรรมในปาตานีและสงครามยาเสพติด แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลนี้กำลังเดินหน้าเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนธรรมดา ผ่านนโยบายระบบสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายสร้างงาน นโยบายลดหนี้ นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ และนโยบายพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่งแนวร่วมระหว่างรัฐบาลทักษิณกับกรรมาชีพและชาวนานี้สร้างความไม่พอใจกับพวกปฏิกิริยาเป็นอย่างมาก นี่คือสาเหตุที่เราจมอยู่ภายใต้เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ในปัจจุบัน

ในอนาคตอันใกล้ ทั่วโลกจะประสบวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงพอๆ กับวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และไทยจะหลีกเลี่ยงผลไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราไม่รวมตัวกันสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อโค่นเผด็จการ คนไทยธรรมดาจะเดือดร้อนมากขึ้นอีกหลายเท่า

รัฐประหาร ๑๙ กันยา ทำลายความก้าวหน้าของสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ เป็นจุดเริ่มต้นของการแช่แข็งสังคมไทย และการทำลายความก้าวหน้าที่คนจำนวนมากเคยหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐

ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา มีการหมุนนาฬิกากลับสู่ความหล้าหลังของเผด็จการทหาร และมีการเสียเวลา เสียโอกาส ที่จะพัฒนาสังคมไทยให้ทันสมัยและมีความเป็นธรรม เราเสียโอกาสที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ เราเสียโอกาสที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของพลเมือง เราเสียโอกาสที่จะพัฒนาระบบการศึกษา และเราเสียโอกาสที่จะพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคม และสภาพเช่นนี้ยังดำรงอยู่ทุกวันนี้ภายใต้เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์

19 กย

ใครบ้างในไทยมีส่วนในการทำลายความก้าวหน้าของสังคม?

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์  พวกเจ้าพ่อทางการเมือง พวกนายทุนใหญ่ และนายธนาคารหลายส่วน โดยที่แนวร่วมนี้มักอ้างความชอบธรรมโดยพูดถึงการปกป้องสถาบันกษัตริย์

กษัตริย์ภูมิพลเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มนี้มานานและไม่เคยปกป้องประชาธิปไตยกับเสรีภาพ แต่ภูมิพลไม่เคยมีอำนาจทางการเมืองของตัวเอง

นอกจากนี้พวกที่สนับสนุนการทำลายสังคมผ่านการทำรัฐประหาร มีพวกสลิ่มชนชั้นกลางและกลุ่มเอ็นจีโอหลายกลุ่ม

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทยที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ผ่านนโยบายที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม หรือพรรคของคนจนหรือกรรมาชีพ เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจของ ไทยรักไทย คือนโยบาย “คู่ขนาน” (Dual Track) ที่ใช้เศรษฐศาสตร์แนวเคนส์ (Keynesianism) ในระดับรากหญ้า คือใช้งบประมาณของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน และใช้นโยบายตลาดเสรี (Neo-liberalism) ในระดับชาติ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีและการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถึงแม้ว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้เคยมีการใช้ในประเทศอื่นในยุคต่างๆ และไม่ใช่อะไรที่ประดิษฐ์ใหม่ และเป็นนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและธนาคารต่างๆ ไม่ยอมปล่อยกู้ นักวิชาการอนุรักษ์นิยมของไทยจำนวนมากไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจ และประกาศว่ารัฐบาลใช้แนวเศรษฐกิจ “ระบอบทักษิณ”  (Taksinomics) เหมือนกับว่านายกทักษิณเป็นคนบ้าที่เสนอนโยบายเพ้อฝันแบบแปลกๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด เช่นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทย เป็นต้น พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่พอใจที่รัฐบาลมีการนำกิจการใต้ดินหลายอย่างมาทำให้ถูกกฎหมาย เขาไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลว่า “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการเพิ่มงบประมาณทหาร “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชนชั้นล่างล้านๆ คน พวกอำมาตย์อนุรักษ์นิยมเคยชินกับระบบนี้ เขาเคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เขาจึงไม่พอใจและเกรงกลัวเวลานายทุนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร สามารถครองใจประชาชนและเริ่มมีอำนาจสูงกว่าอภิสิทธิ์ชนคนอื่นๆ โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า เวลาพวกอนุรักษ์นิยม คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯเสื้อเหลือง พูดถึง “การคอร์รับชั่น”  “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหาร เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผลประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู” ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นั้นเอง การปฏิกูลการเมืองภายใต้เผด็จการประยุทธ์ก็เป็นเช่นนี้

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้านไทยรักไทยด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ไทยรักไทยเคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เกลียดชังอย่างถึงที่สุด เพราะพวกนี้เป็นพวกคลั่งนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว หรือนโยบาย “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาลไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร และมีการพยายามโกหกว่า “ประชาชนที่เลือกรัฐบาลทักษิณเป็นคนโง่ที่ขาดการศึกษา”

FI-fists_0

ตราบใดที่เราไม่รื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดยพลเมืองระดับรากหญ้าและกรรมาชีพ เพื่อสร้างอำนาจประชาชนนอกรัฐสภา เราจะไม่มีทางหลุดพ้นจากความหล้าหลังที่มาจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา

12 ปีรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ใจ อึ๊งภากรณ์

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองฝ่ายค้าน (เช่นจากพรรคประชาธิปัตย์) พวกเจ้าพ่อทางการเมือง และพวกนายทุนใหญ่อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล และนายธนาคารต่างๆ นอกจากนี้การทำรัฐประหารครั้งนี้ได้รับการประทับตราเห็นชอบจากกษัตริย์ภูมิพล โดยที่นายภูมิพลไม่ใช่ผู้บงการ [ดู https://bit.ly/2MLmrFm ]

 

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทย ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ผ่านนโยบายที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

 

นโยบายเศรษฐกิจของ ไทยรักไทย คือนโยบาย “คู่ขนาน” (Dual Track) ที่ใช้เศรษฐศาสตร์แนวเคนส์ (Keynesianism) ในระดับรากหญ้า คือใช้งบประมาณของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน และใช้นโยบายตลาดเสรี (Neo-liberalism) ในระดับชาติ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีและการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถึงแม้ว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้เคยมีการใช้ในประเทศอื่นในยุคต่างๆ และไม่ใช่อะไรที่ประดิษฐ์ใหม่ และเป็นนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและธนาคารต่างๆ ไม่ยอมปล่อยกู้ นักวิชาการอนุรักษ์นิยมของไทยจำนวนมากไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจ และประกาศว่ารัฐบาลใช้แนวเศรษฐกิจ “ระบอบทักษิณ” (Taksinomics) เหมือนกับว่านายกทักษิณเป็นคนบ้าที่เสนอนโยบายเพ้อฝันแบบแปลกๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน

 

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด เช่นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทย เป็นต้น พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่พอใจที่รัฐบาลมีการนำกิจการใต้ดินหลายอย่างมาทำให้ถูกกฎหมาย เขาไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร พระราชวัง และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลว่า “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการขึ้นงบประมาณทหาร “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด

 

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชนชั้นล่างล้านๆ คน พวกอำมาตย์อนุรักษ์นิยมเคยชินกับระบบนี้ เขาเคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เพราะรัฐบาลอ่อนแอ เขาจึงไม่พอใจและเกรงกลัวเวลานายทุนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร สามารถครองใจประชาชนและเริ่มมีอำนาจสูงกว่าอภิสิทธิ์ชนคนอื่นๆ โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า เวลาอำมาตย์ คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯ พูดถึง “การคอร์รับชั่น”  “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหารและคนในวัง เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผลประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร แล้วแก้รัฐธรรมนูญจากที่เคยเป็น เพื่อลดอำนาจของรัฐบาลและพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมาก เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู” ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นั้นเอง

 

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้าน ไทยรักไทย ด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ ไทยรักไทย เคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เกลียดชังอย่างถึงที่สุด ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาล ไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร

 

แต่รัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ทหารจะทำได้ง่ายๆ เพราะสังคมไทยพัฒนาไปไกลและมีกลุ่มต่างๆ ที่ตื่นตัวและมีพลังในสังคมมากมาย การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา จะต้องอาศัยการทำแนวร่วมกับคนชั้นกลาง นักวิชาการ“เสรีนิยมรถถัง” และพวกเอ็นจีโอ ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” นี่คือสาเหตุสำคัญที่การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยาต้องอาศัยการร่วมมือกับขบวนการฝ่ายขวา “ฟาสซิสต์” ที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งประกอบไปด้วยนักธุรกิจสื่อคลั่งเจ้า นักเคลื่อนไหวพุทธแบบขวาตกขอบ ผู้นำแรงงาน และนักเอ็นจีโอ คือ สนธิ ลิ้มทองกุล, จำลอง ศรีเมือง, สมศักดิ์ โกศัยสุข, พิภพ ธงไชย และ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

 

รัฐบาล ไทยรักไทย และนายกทักษิณไม่ได้เป็นเทวดา รัฐบาลนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในสงครามปราบยาเสพติด ที่คาดว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นศาล ถูกเจ้าหน้าที่รัฐฆ่าตายเกือบสามพันคน  นอกจากนี้การฆ่าประชาชนมือเปล่าที่ตากใบ และ กรือแซะ ในภาคใต้ เป็นการก่ออาชญากรรมต่อประชาชนเช่นกัน

 

นอกจากนี้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดของไทยรักไทย เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีที่เพิ่มราคายาสำหรับประชาชน เป็นการทำลายประโยชน์ของระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรค และเพิ่มภาระให้รัฐเพื่อผลประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติ และการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน เป็นนโยบายที่ขัดกับประโยชน์คนจน เพราะทำให้ประชาชนตกงาน คุณภาพการทำงานแย่ลง และเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจไปเป็นบริษัทเอกชนที่สนใจแต่กำไรแทนการบริการและพัฒนาสังคม

19 กย

     อย่างไรก็ตาม ในระบบประชาธิปไตย ถ้าเรามีรัฐบาลที่เราไม่เห็นด้วย เราจะต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการคัดค้าน ผู้เขียนไม่เคยลงคะแนนเสียงให้ ไทยรักไทย (หรือพรรคฝ่ายค้าน) และผู้เขียนเคยประท้วงและคัดค้านรัฐบาลทักษิณในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้กลไกตลาดเสรี แต่การเปลี่ยนรัฐบาลตามกติกาประชาธิปไตยต้องไม่อาศัยรัฐประหารโดยกลุ่มคนที่ไม่เคารพประชาธิปไตย ไม่เคยสนใจสิทธิมนุษยชน และไม่เคยสนใจผลประโยชน์ของคนจน

Ji

 

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/24tv63k

BookCover1