Tag Archives: รัฐประหาร

15ปีรัฐประหาร๑๙กันยา -สังคมถอยหลัง

รัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ เป็นจุดเริ่มต้นของการแช่แข็งสังคมไทย และการทำลายความก้าวหน้าที่คนจำนวนมากเคยหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีการหมุนนาฬิกากลับสู่ความหล้าหลังของเผด็จการทหาร และมีการเสียเวลา เสียโอกาส ที่จะพัฒนาสังคมไทยให้ทันสมัยและมีความเป็นธรรม เราเสียโอกาสที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ เราเสียโอกาสที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของพลเมือง เราเสียโอกาสที่จะพัฒนาระบบการศึกษา และเราเสียโอกาสที่จะพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคม และสภาพเช่นนี้ยังดำรงอยู่ทุกวันนี้ภายใต้เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์

และที่สำคัญคือ เมื่อสังคมเผชิญวิกฤตโควิด ประชาชนจำนวนมากต้องเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และป่วยล้มตาย เพราะความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลเผด็จการ

ใครบ้างในไทยมีส่วนในการทำลายความก้าวหน้าของสังคม?

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์  พวกเจ้าพ่อทางการเมือง พวกนายทุนใหญ่ และนายธนาคารหลายส่วน โดยที่แนวร่วมนี้มักอ้างความชอบธรรมโดยพูดถึงการปกป้องสถาบันกษัตริย์

กษัตริย์ภูมิพลเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มนี้มานานและไม่เคยปกป้องประชาธิปไตยกับเสรีภาพ แต่ภูมิพลไม่เคยมีอำนาจทางการเมืองของตัวเอง

นอกจากนี้พวกที่สนับสนุนการทำลายสังคมผ่านการทำรัฐประหาร มีพวกสลิ่มชนชั้นกลางและกลุ่มเอ็นจีโอหลายกลุ่ม

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทยที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ผ่านนโยบายที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม หรือพรรคของคนจนหรือกรรมาชีพ เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจของ ไทยรักไทย คือนโยบาย “คู่ขนาน” (Dual Track) ที่ใช้เศรษฐศาสตร์แนวเคนส์ (Keynesianism) ในระดับรากหญ้า คือใช้งบประมาณของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน และใช้นโยบายตลาดเสรี (Neo-liberalism) ในระดับชาติ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีและการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถึงแม้ว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้เคยมีการใช้ในประเทศอื่นในยุคต่างๆ และไม่ใช่อะไรที่ประดิษฐ์ใหม่ และเป็นนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและธนาคารต่างๆ ไม่ยอมปล่อยกู้ นักวิชาการอนุรักษ์นิยมของไทยจำนวนมากไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจ และประกาศว่ารัฐบาลใช้แนวเศรษฐกิจ “ระบอบทักษิณ”  (Taksinomics) เหมือนกับว่านายกทักษิณเป็นคนบ้าที่เสนอนโยบายเพ้อฝันแบบแปลกๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด เช่นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทย เป็นต้น พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่พอใจที่รัฐบาลมีการนำกิจการใต้ดินหลายอย่างมาทำให้ถูกกฎหมาย เขาไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลว่า “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการเพิ่มงบประมาณทหาร “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชนชั้นล่างล้านๆ คน พวกอำมาตย์อนุรักษ์นิยมเคยชินกับระบบนี้ เขาเคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เขาจึงไม่พอใจและเกรงกลัวเวลานายทุนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร สามารถครองใจประชาชนและเริ่มมีอำนาจสูงกว่าอภิสิทธิ์ชนคนอื่นๆ โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า เวลาพวกอนุรักษ์นิยม คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯเสื้อเหลือง พูดถึง “การคอร์รับชั่น”  “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหาร เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผลประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู” ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นั้นเอง การปฏิกูลการเมืองภายใต้เผด็จการประยุทธ์ก็เป็นเช่นนี้

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้านไทยรักไทยด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ไทยรักไทยเคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เกลียดชังอย่างถึงที่สุด เพราะพวกนี้เป็นพวกคลั่งนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว หรือนโยบาย “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาลไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร และมีการพยายามโกหกว่า “ประชาชนที่เลือกรัฐบาลทักษิณเป็นคนโง่ที่ขาดการศึกษา”

ตราบใดที่เราไม่รื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดยพลเมืองระดับรากหญ้าและกรรมาชีพ เพื่อสร้างอำนาจประชาชนนอกรัฐสภา เราจะไม่มีทางหลุดพ้นจากความหล้าหลังที่มาจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ตราบใดที่เราไม่สร้างพรรคสังคมนิยมเพื่อปลุกระดมความคิดทางการเมืองที่เข้าข้างกรรมาชีพผู้ทำงานและคนจน และที่เน้นการทำงานทางการเมืองในขบวนการแรงงาน โดยหวังให้ให้ชนชั้นกรรมาชีพสำแดงพลังในรูปแบบการนัดหยุดงานเพื่อล้มเผด็จการ เราจะต้องอยู่กับเผด็จการอีกนาน

อย่างน้อยสุด ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน ต้องหาทางรวมตัวกันเพื่อปกป้องปลดปล่อยคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ติดคดีกฎหมายเถื่อนอันเนื่องมาจากการปกครองของเผด็จการ

ใจ อึ๊งภากรณ์

สมานฉันท์กับประชาชนพม่าในการต้านเผด็จการทหาร

แม้แต่ประชาธิปไตยครึ่งใบของพม่าที่คุมโดยทหาร ก็มากเกินไปสำหรับพวกนายพลเผด็จการ วันนี้จึงมีการทำรัฐประหารหลังจากที่พรรค NLD ของอองซานซูจีชนะเสียงข้างมากในสภา

เราควรเตือนความจำกันว่าในระบบพม่า ซึ่งอาศัยรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างเอง กองทัพสำรองที่นั่ง 25% ในรัฐสภา และวุฒิสภาให้ตนเอง ยิ่งกว่านั้นกองทัพได้สงวนสิทธิ์ที่จะให้นายพลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย กลาโหม และรัฐมนตรีที่ควบคุมพรมแดน กองทัพมีสิทธิ์วีโต้การแก้รัฐธรรมนูญ และในกรณี “วิกฤต” กองทัพสามารถเข้ามาคุมรัฐบาลได้เสมอ

แต่นางอองซานซูจีไม่ใช่ผู้นำที่ประชาชนควรจะไว้ใจในการนำการต่อสู้

นางอองซานซูจี มีประวัติในการใช้คำพูดเพื่อสลายการลุกฮือของมวลชน โดยเฉพาะในเหตุการณ์ 8-8-88 ซึ่งเกือบจะล้มเผด็จการทหารได้เมื่อสามสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ เขาพยายามตลอดที่จะประนีประนอมกับทหาร และในการบริหารบ้านเมืองในห้าปีที่ผ่านมามีจุดยืนไม่ต่างจากทหารเท่าไร

อองซานซูจี กับเพื่อนเผด็จการ

หลายคนที่เคยบูชา อองซานซูจี สลดใจและผิดหวังในเรื่องจุดยืนเขาต่อโรฮิงญา แต่ถ้าเราศึกษาแนวการเมืองของเขา บวกกับประวัติศาสตร์พม่า เราไม่ควรจะแปลกใจในทัศนะและพฤติกรรมแย่ๆ ของ อองซานซูจี แต่อย่างใด

การที่ผู้นำขบวนการชาตินิยมพม่าอย่าง อองซาน (บิดาของ อองซานซูจี) พยายามสร้างรัฐรวมศูนย์ที่คนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาว “พม่า” มองว่าตนเองจะถูกควบคุมโดยชาว “พม่า” เป็นปัญหาแต่แรก อองซานไม่ยอมรับว่าประชาชนเชื้อชาติต่างๆ นอกจากชาว “พม่า” และชาวฉาน (ไทใหญ่) มีความเป็นชาติจริง และกองทัพกู้เอกราชของอองซาน ถูกกล่าวหาว่าฆ่าเด็กและสตรีกะเหรี่ยงกว่า 1,800 คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมขบวนการเชื้อชาติ คะฉิ่น กะเหรี่ยง คะเรนนี่ มอญ ว้า และอะระกัน ไม่ยอมมาร่วมประชุม ปางโหลง (Panglong) ในปี ค.ศ. 1947 เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ และไม่ไว้ใจผู้นำพม่าอย่าง อองซาน และอูนุ แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์พม่าก็ยังไม่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นเชื้อชาติเท่าที่ควร

การเน้นศาสนาพุทธแบบสุดขั้วบวกกับการเหยียดหยามคนเชื้อสายอินเดีย นำไปสู่การสร้างกระแสเกลียดชังชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นคนที่มีเชื้อสายเดียวกับชาวบังคลาเทศ แต่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันเรียกว่าพม่ามาตลอด

ในยุคปัจจุบันขบวนการเชื้อชาติต่างๆ ไม่ค่อยไว้ใจ นางอองซานซูจี เพราะเขามีจุดยืนเกี่ยวกับเชื้อชาติที่เน้นแต่ความเป็นใหญ่ของชาว “พม่า” ไม่ต่างจากจุดยืนของพ่อ ในอดีตในหนังสือของ อองซานซูจี มีการเอ่ยถึงความสามารถของชนชาติอิ่นๆ ในการ “ร้องรำทำเพลง” หรือในการ “เป็นพี่เลี้ยงเด็ก” มากกว่าที่จะเคารพว่าปกครองตนเองได้  และที่สำคัญคือพรรค National League for Democracy (N.L.D.) ของ อองซานซูจี มีนโยบายที่กีดกันคนมุสลิม

จุดยืนล่าสุดของ อองซานซูจี ที่ปล่อยให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และคำพูดโกหกของเขาว่าพวกโรฮิงญาไม่ใช่พลเมืองของประเทศพม่า หรือคำโกหกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากการ “ก่อการร้าย” ของชาวโรฮิงญา แสดงธาตุแท้ของแนวคิด “พม่านิยม” สุดขั้วของ อองซานซูจี จุดยืนแย่ๆ ของเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เขาให้ความสำคัญกับการเอาใจทหารเพื่อขึ้นมามีตำแหน่ง และการเอาใจแม้แต่พระสงฆ์ฟาสซิสต์อย่างวีระธู โดยมีวัตถุประสงค์ในการปลุกทัศนะเหยียดคนมุสลิมเพื่อรักษาฐานเสียงของตนเองในหมู่ชาวพุทธอีกด้วย สรุปแล้วจุดยืนของ อองซานซูจี ไม่มีความก้าวหน้าแต่อย่างใด และจะไม่นำไปสู่เสรีภาพของพลเมืองประเทศพม่า ไม่ว่าจะชนชาติใด

อ่านเพิ่มเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองพม่า http://bit.ly/1sH06zu

ความหวังในเรื่องประชาธิปไตยพม่าไม่ได้อยู่ที่ประเทศมหาอำนาจซึ่งไม่เคยสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังและไว้ใจไม่ได้

ความหวังของชาวพม่าที่ต้องการปลดแอกตนเองอยู่ที่คนหนุ่มสาวและขบวนการแรงงาน ซึ่งถ้าเริ่มเรียนบทเรียนจากไทย อาจสร้างขบวนการรากหญ้าที่นำตนเองและปลดแอกประเทศได้

ประชาชนไทยและพม่าต้องสมานฉันท์ต้านเผด็จการ!!

ใจ อึ๊งภากรณ์

ดอนัลด์ ทรัมป์ ปลุกม็อบเพื่ออะไร?

หลายคนอาจมองว่า ดอนัลด์ ทรัมป์ พยายามยึดอำนาจผ่านการปลุกม็อบที่บุกเข้าไปในรัฐสภาสหรัฐ แต่นั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์

ทรัมป์ มีเป้าหมายมาตลอดที่จะผลักดันการเมืองในสหรัฐไปทางขวา ซึ่งเขามองว่าเป็นประโยชน์กับฐานเสียงของตนเอง แต่พอแพ้การเลือกตั้งและต้องลงจากตำแหน่ง เป้าหมายของเขากลายไปเป็นการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของพวกขวาจัด ที่เกลียดคนก้าวหน้าทุกฝ่ายและเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง ทรัมป์ต้องการที่จะมีบทบาทเป็นปากเสียงของขบวนการนี้ในอนาคต

เราเห็น ทรัมป์ พูดจาด่าผู้ลี้ภัยและคนที่อพยพหนีความยากจนมาสู่ประเทศตะวันตก ในลักษณะที่ไม่ต่างเลยจากพวกฟาสซิสต์ และในขณะที่ทรัมป์พูดจาสนับสนุนกลุ่มขวาจัดในสหรัฐ เราต้องเข้าใจว่า ทรัมป์ เองไม่ใช่ ฟาสซิสต์ เพียงแต่ต้องการที่จะส่งเสริมการเมืองฝ่ายขวาผ่านการร่วมมือกับฟาสซิสต์

แน่นอน ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐที่เลวร้ายที่สุดคนหนึ่ง เพราะต่อต้านสิทธิสตรี และอวดว่าตนเองละเมิดผู้หญิงหลายคน ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัมป์ เป็นคนที่เหยียดคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวชาวอเมริกัน เขาพูดจาดูถูกคนจากประเทศอื่น เช่นชาวเม็กซิโก ว่าเป็นพวก “ขี้ขโมย” ที่นำอาชญากรรมเข้าประเทศ เขาดูถูกคนพื้นเมืองอเมริกัน และคัดค้านคนที่อพยพเข้ามาจากประเทศอื่นทั้งๆ ที่พ่อแม่ของ ทรัมป์ เองไม่ได้เกิดที่สหรัฐ นอกจากนี้ ทรัมป์ พร้อมจะอุดหนุนทุนใหญ่ของสหรัฐ เช่นทุนพลังงานหรือการเกษตร โดยการปิดหูปิดตาถึงปัญหาโลกร้อนและการที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายจากมลพิษ

แต่ ไบเดน ไม่มีนโยบายอะไรที่ก้าวหน้าเลย เพราะไบเดนเป็นนักการเมืองกระแสหลักอนุรักษ์นิยมของฝ่ายทุน สองพรรคใหญ่ในสหรัฐสนับสนุนผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ไม่มีพรรคใดที่สนับสนุนผลประโยชน์ของกรรมาชีพหรือคนจนเลย

จริงอยู่ภายในพรรคเดโมแครตมีกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย และกลุ่มนี้มีผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งในสภาหยิบมือหนึ่ง แต่กลุ่มนี้จะไม่มีอิทธิพลแต่อย่างใดกับรัฐบาลของไบเดน และกลายเป็น “ไม้ประดับ” ที่สร้างภาพความก้าวหน้าปลอมของพรรคเท่านั้น

ไบเดนชนะเพราะสาเหตุเดียวเท่านั้นคือเขาไม่ใช่ทรัมป์ ไม่มีใครตื่นเต้นอะไรกับนโยบายของเขา และเขาเกือบแพ้เพราะคนจนและกรรมาชีพส่วนหนึ่งไม่อยากออกมาลงคะแนนให้ใคร และอีกส่วนโดนทรัมป์ชักชวนให้หาแพะรับบาปสำหรับปัญหาความยากจน

ม็อบฝ่ายขวาบุกรัฐสภา

ถ้าเปรียบเทียบการรับมือของตำรวจสหรัฐต่อม็อบฝ่ายขวา กับการรับมือกับการประท้วงของคนผิวดำเรื่องการโดนตำรวจยิงตาย จะเห็นว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมสหรัฐเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการเหยียดสีผิว โดยเฉพาะในส่วนที่เชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ

ตำรวจรับมือกับการประท้วงของคนผิวดำ

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายและผู้รักความเป็นธรรมในหลายประเทศจะต้องออกมารับมือ วิธีรับมือคือการต่อต้านพวกฟาสซืสต์ และพวกเหยียดสีผิวเชื้อชาติ และที่สำคัญคือต้องต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อระงับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่นำไปสู่การรัดเข็มขัดที่มาพร้อมกับวิกฤตโควิด ต้องมีการสนับสนุนและปลุกระดมการนัดหยุดงานและเรียกร้องค่าจ้างสวัสดิการเพิ่ม เพราะถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายแบบนี้ ฝ่ายขวาจะครองถนนและสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐบาลพรรคสังคมนิยมกับการหักหลังขบวนการประชาชน บทเรียนจากโบลิเวีย

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐประหารที่ล้มประธานาธิบดีฝ่ายซ้าย อีโว โมราเลส แห่งโบลิเวีย เป็นรัฐประหารที่วางแผนกันระหว่างกองทัพ ตำรวจ และนักการเมืองฝ่ายขวา และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลของกลุ่มประเทศอียูก็ดูเหมือนยอมรับการทำรัฐประหารครั้งนี้ด้วย และหลังจากการทำรัฐประหารมีการประกาศว่าโบลิเวีย “เป็นของคนผิวขาวคริสเตียน” ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นคนพื้นเมือง

Bolivian Coup
ทหารกับนักการเมืองฝ่ายขวาก่อรัฐประหาร

ทุกคนที่รักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสังคมควรจะประณาม

ในขณะเดียวกันฝ่ายซ้ายจะต้องวิเคราะห์ว่าทำไมมันเกิดขึ้นได้ และจุดอ่อนกับข้อผิดพลาดของ อีโว โมราเลส กับรัฐบาลพรรคขบวนการเพื่อสังคมนิยม (MAS) มีอะไรบ้าง เพื่อเป็นบทเรียนในการต่อสู้

download
อีโว โมราเลส

อีโว โมราเลส ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 53.7% และขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีโบลิเวียในปี 2005 ท่ามกลางกระแสการต่อสู้อย่างดุเดือดของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ต่อสู้กับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดของรัฐบาลที่ทำลายวิถีชีวิตกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน ศูนย์กลางการต่อสู้นี้อยู่ที่เมือง El Alto ใกล้ๆ กับเมืองหลวง จุดสูงสุดของกระแสนี้เกิดขึ้นในปี 2000 เมื่อมีการลุกฮือต่อสู้ของประชาชนเพื่อคัดค้านการขายระบบน้ำประปาให้บริษัทเอกชน และในปี 2003 กับ 2005 การประท้วงต่อต้านการขายองค์กรก๊าชสามารถล้มประธานาธิบดีสองคน

AP_Morales_Resigns_min

โมราเลส เป็นประธานาธิบดีคนแรกของลาตินอเมริกาที่เป็นคนเชื้อสายพื้นเมือง เรื่องนี้สำคัญเพราะตั้งแต่การล่าอาณานิคมของสเปนเมื่อห้าร้อยปีก่อนหน้านี้ ชนชั้นปกครองในประเทศลาตินอเมริกามักจะเป็นคนผิวขาว และคนพื้นเมืองจากชนเผ่าต่างๆมักจะถูกกดขี่และยากจน

รัฐบาลของ โมราเลส ได้พยายามนำทรัพยากรธรรมชาติ เช่นก๊าซ แร่ธาตุ ป่า และน้ำมาอยู่ภายใต้รัฐ แทนที่จะอยู่ในมือของบริษัทเอกชนและบริษัทข้ามชาติ และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนธรรมดาที่ยากจนก็ดีขึ้นตามลำดับเพราะรัฐสามารถนำรายได้จากก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุมาใช้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน

ในปี 2008 มีการจัดประชามติเพื่อตรวจสอบประธานาธิบดี โมราเลส ซึ่งเขาชนะ ดังนั้นฝ่ายขวาในเมือง Santa Cruz จึงพยายามก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล โดยที่สหรัฐอเมริกาหนุนช่วย แต่รัฐประหารครั้งนั้นล้มเหลว เพราะมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีคนพื้นเมืองร่วมอยู่ด้วย สามารถระงับการกบฏต่อรัฐบาลได้ ดังนั้นในการเลือกตั้งปี 2009 โมราเลส ชนะด้วยคะแนนเสียงเพิ่ม พรรค MAS เพิ่มที่นั่งในรัฐสภา และมีการนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ รัฐธรรมนูญนี้เพิ่มสิทธิให้คนจน คนพื้นเมือง และกล่าวถึงการปกป้องป่ากับทรัพยากรธรรมชาติ บรรยากาศทางการเมืองในยุคนั้นต่างกับปัจจุบันพอสมควร

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลของ โมราเลส พยายามจะปฏิรูปสังคม โดยไม่ปฏิวัติล้มทุนนิยม และการที่รัฐบาลโบลิเวียอาศัยรายได้จากการส่งออกทรัพยากรอย่างสินค้าเกษตร ก๊าซธรรมชาติกับแร่ธาตุ เหมือนรัฐบาลฝ่ายซ้ายอื่นในลาตินอเมริกา หมายความว่ารัฐบาลต้องพัฒนาประเทศตามกติกากลุ่มทุนใหญ่ในระบบทุนนิยมโลก  ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งตกอยู่ในมือนักธุรกิจ และรายได้ที่เคยนำมาช่วยคนจนลดลงเมื่อราคาทรัพยากรส่งออกลดลงในตลาดโลก ปัญหานี้เกิดขึ้นกับรัฐบาลเวเนสเวลาและบราซิลด้วย

เริ่มตั้งแต่ปี 2010 มีการประท้วงของสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องรายได้เพิ่ม และกลุ่มผู้ประท้วงประเด็นอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลสร้างความไม่พอใจเมื่อประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิง กลุ่มผู้ไม่พอใจกับรัฐบาลภายในพรรค MAS ได้ออกแถลงการณ์ที่วิจารณ์การที่พวกนายธนาคาร บริษัทข้ามชาติ พวกที่ค้าสินค้าเถื่อน และแก๊งยาเสพติด กลายเป็นกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดจากนโยบายรัฐบาล

มีสองเหตุการณ์ที่สำคัญที่ช่วยสร้างกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เหตุการณ์แรกคือในปี 2011 มีการเสนอให้สร้างถนนเชื่อมโยงกับบราซิลที่ตัดผ่านเขตป่าสงวนที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองที่เรียกว่าเขต TIPNIS เหตุผลที่รัฐบาลเสนอให้สร้างถนนสายนี้คือมันจะช่วยในการเจาะก๊าซและแร่ธาตุ เพื่อส่งออกไปสู่ตลาดโลกผ่านบราซิล เป็นการเอาใจนายทุนภายในประเทศ และจะดึงการลงทุนจากบราซิลอีกด้วย ปรากฏว่ามีการประท้วงใหญ่ซึ่งตำรวจใช้ความรุนแรงอย่างหนักในการปราบ ในที่สุด โมราเลส ต้องออกมาประณามตำรวจและหยุดโครงการสร้างถนน หลังจากนั้น โมราเลส ชนะการเลือกตั้งรอบที่สามในปี 2014 อย่างไรก็ตามในปี 2017 มีการรื้อฟื้นโครงการสร้างถนนอีกครั้งซึ่งสร้างกระแสความไม่พอใจอย่างมาก

brazil-tipnis01

Sin-título

tipnis-march-la-paz-2aug17

เหตุการณ์ที่สองคือความพยายามของ โมราเลส ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4 ทั้งๆ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มีการทำประชามติเรื่องนี้ในปี 2016 และโมราเลสแพ้ 51% ต่อ 49% แต่ในปี 2018 ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตราที่ห้ามไม่ให้ โมราเลส สมัครเป็นครั้งที่ 4 ในการเลือกตั้งที่พึ่งผ่านมา และผลการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ค่อยชัดเจน จนมีการกล่าวหาว่ากระบวนการไม่ถูกต้อง

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายของ โมราเลส พยายามจะพัฒนาชีวิตของคนจน คนพื้นเมือง และกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมก้าวพ้นระบบทุนนิยม และพยายามคานผลประโยชน์ของคนชั้นล่างกับผลประโยชน์ของนายทุน ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การหักหลังประชาชนและเปิดโอกาสให้ฝ่ายขวาเผด็จการทำรัฐประหาร

เวลาเราศึกษาปัญหาที่เปิดทางให้เกิดรัฐประหารในโบลิเวีย เราควรจะเปรียบเทียบกับนโยบายที่ทำให้ประชาชนผิดหวังและเปิดทางให้ฝ่ายขวาขึ้นมาใน บราซิล กับ กรีซ เพื่อเป็นภาพรวมและบทเรียนสำหรับการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมในอนาคต

Syriza betrayal
กรีซ

อ่านเพิ่ม

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

การหักหลังประชาชนกรีซของพรรค “ไซรีซา” https://bit.ly/2NUhYUL

วิกฤตการเมืองบราซิลเปรียบเทียบกับไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ทั้งบราซิลกับไทยมีประวัติการตกภายใต้เผด็จการทหาร และมีวิกฤตการเมืองที่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของพวกอภิสิทธิ์ชนและสลิ่มชนชั้นกลาง จนในที่สุดเกิดรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

p18 argentina protest

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ชนชั้นกลางใช้ประเด็น “การต่อต้านคอร์รับชั่น” เพื่อเป็นข้ออ้างในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทั้งสองประเทศ

นักวิชาการบราซิล Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais วิเคราะห์ว่าชนชั้นกลางชอบเล่นประเด็นเรื่องการคอร์รับชั่น เพราะมองว่าตัวเองมีฐานะดีที่มาจาก “ความสามารถและความขยันของตนเอง” ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่จริงเท่าไร แต่มันทำให้คนชั้นกลางมองว่าการคอร์รับชั่นเปิดโอกาสให้ “คนมีเส้น” เข้ามากอบโกยผลประโยชน์

brazil-45

ปัจจัยที่บวกเข้าไปสำหรับชนชั้นกลางคือ เขาจะมักจะไม่พอใจเมื่อรัฐบาลช่วยคนจนและแรงงาน

180908-004-2E0344EA
เดลมา รุสเซฟ

อย่างไรก็ตามการกล่าวหานักการเมืองว่าโกงกิน มักถูกใช้ในลักษณะที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเราเห็นในกรณีไทย เช่นการที่ทหารชั้นสูงจะโกงแค่ไหนก็ได้ โดยที่สลิ่มชนชั้นกลางเงียบเฉย ในกรณีบราซิล กระแสต่อต้านการคอร์รับชั่นกลายเป็นข้ออ้างสำหรับ ตุลาการ ตำรวจชั้นสูง และอัยการ ในการเลือกที่จะตั้งข้อกล่าวหากับพรรคแรงงานของ ประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และอดีตประธานาธิบดี ลูลา โดยที่ไม่มีการสอบสวนนักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรคฝ่ายค้านเลยทั้งๆ ที่มีเรื่องอื้อฉาวติดตัวด้วย ในด้านหนึ่งการคอร์รับชั่นของนักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่ในกรณีผู้นำอย่างรุสเซฟหรือลูลา ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ แต่ในไม่ช้าข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รับชั่น ก็แปรไปเป็นเรื่องที่ผูกพันกับการต่อต้านนโยบายช่วยคนจนของพรรคแรงงาน โดยมีการกล่าวหาว่า “ทำลายวินัยทางการคลัง” และข้อกล่าวหาหลังนี้เองที่ถูกใช้โดยฝ่ายตุลาการและวุฒิสภาบราซิลในการก่อรัฐประหารล้มประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ มันทำให้เรานึกถึงกรณียิ่งลักษณ์ในไทย

Luiz Inacio Lula da Silva, Dilma Rousseff
ลูลากับเดลมา รุสเซฟ

ลึกๆ แล้ววัตถุประสงค์ของฝ่ายขวาอภิสิทธิ์ชนบราซิลในการล้มรัฐบาลพรรคแรงงาน คือความต้องการของพวกนี้ที่จะยกเลิกนโยบายที่ช่วยคนจนที่กระทำไปภายใต้นโยบาย “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) [รายละเอียดเรื่องนี้อ่านได้ในบทความสัปดาห์ที่แล้วเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา]  และเขาต้องการยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิของคนจนและแรงงาน นอกจากนี้พวกนี้ต้องการเปิดประเทศเต็มที่และแปรรูปบริษัทน้ำมันของรัฐเพื่อขายให้ทุนข้ามชาติ นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของพวกนี้ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ผมเคยเสนอมานานว่าการทำรัฐประหาร๑๙กันยาและรัฐประหารของประยุทธ์ ส่วนหนึ่งกระทำไปเพื่อทำลายนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนานของทักษิณที่ช่วยคนจน โดยมีเป้าหมายที่จะนำนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วเข้ามาใช้ นโยบายดังกล่าวเป็นที่ชื่นชมของพรรคประชาธิปัตย์และทหาร และมันเอื้อประโยชน์ให้คนรวย [ดู https://bit.ly/2Na1TLa ]

จริงๆ แล้วนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด เป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย เพราะมันเน้นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่ร่ำรวย และเน้นอำนาจของ “กลไกตลาด” ในขณะที่กีดกันการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน และกีดกันไม่ให้รัฐคุมเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์คนส่วนใหญ่อีกด้วย ดังนั้นเราไม่ควรหลงเชื่อว่าเสรีนิยมสร้างประชาธิปไตย [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

แน่นอนบราซิลกับไทยไม่ได้เหมือนกัน 100% เพราะพรรคการเมืองของทักษิณไม่ใช่พรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป และพรรคแรงงานบราซิลไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนพรรคของทักษิณ

สำหรับทางออกในปัจจุบัน Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais เน้นว่าฝ่ายซ้ายต้องต่อต้านคอร์รับชั่น แต่ไม่ใช่ไปเล่นเรื่องนี้จนฝ่ายขวานำมาใช้เป็นเครื่องมือเองได้ คือต้องมีการให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และต้องต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งจริงๆ แล้วเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนและคนรวยผูกขาดนโยบายของรัฐเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย

นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดปิดโอกาสสำหรับคนธรรมดาที่จะร่วมกันตรวจสอบการกอบโกยของนายทุน ซึ่งต้องถือว่าเป็นการคอร์รับชั่นประเภทหนึ่ง

ที่สำคัญคือ การล้มเผด็จการทหาร และการผลักดันให้รัฐเสนอนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน มาจากกระแสการกดดันจากมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งในไทยและบราซิล เมื่อขบวนการดังกล่าวถูกหักหลังโดยรัฐบาลพรรคแรงงานในบราซิล หรือถูกแช่แข็งโดยพรรคของทักษิณ สังคมมีแนวโน้มจะถอยหลัง

มาทำความเข้าใจกับรัฐไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในบริบทวิกฤตประชาธิปไตยไทยปัจจุบัน มีแนวความคิดหลายแนวที่สร้างความสับสนในการทำความเข้าใจกับลักษณะแท้ของรัฐไทย

แนวความคิดที่ถือว่าเป็นกระแสหลักมากที่สุด คือความเชื่อว่าการชนะการเลือกตั้งจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ แต่สิ่งที่อาจทำให้นักประชาธิปไตยจำนวนมากตั้งคำถามก็คือ ในเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบสิบปี การชนะการเลือกตั้งดูเหมือนไม่พอ เพราะมีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยทหารกับศาล

บางคนจะอธิบายว่าทหารกับศาลกำลังทำงานภายใต้การควบคุมของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือบางคนอาจพูดถึงอำนาจของ “รัฐพันลึก”

แต่เกือบตลอดเวลาที่มีวิกฤตประชาธิปไตยไทยรอบนี้ กษัตริย์ภูมิพลป่วยและไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะสั่งการอะไร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ และในขณะนี้พรรคพวกของเผด็จการประยุทธ์กำลังออกแบบระบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้แนวยุทธศาสตร์แห่งชาติ ในเรื่องนี้กษัตริย์คนใหม่ก็ไม่เคยแสดงความเห็นหรือแสดงความสนใจแต่อย่างใด ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจรัฐอยู่ในมือของทหารข้าราชการชั้นสูง รวมถึงศาล และในมือของนายทุนใหญ่อีกด้วย ทุกส่วนที่คุมอำนาจรัฐนี้ถือว่าเป็นสมาชิกของชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง เพียงแต่ว่ามีการแบ่งงานและหน้าที่กัน เช่นทหารมีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยการใช้อาวุธ ยิ่งกว่านั้นส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยก็ทะเลาะกันเป็นประจำ คือทั้งสามัคคีในผลประโยชน์รวมของชนชั้น แต่แย่งชิงกันในเรื่องปลีกย่อยอย่างต่อเนื่อง

จริงๆ แล้วอำนาจของทหาร ข้าราชการชั้นสูง และนายทุนใหญ่ ไม่ใช่อำนาจที่เรามองไม่เห็น เพราะก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร เราก็เห็นกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นรัฐไทยไม่ได้มีอำนาจลึกลับหรือพันลึกแต่อย่างใด ความคิดเรื่องรัฐพันลึกในไทยอาศัยการเข้าใจผิดว่ารัฐควรเป็นกลางและยอมรับกติกาประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงรัฐในระบบทุนนิยมถูกออกแบบเพื่อจำกัดกระบวนการประชาธิปไตยแท้ต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ การที่ยิ่งลักษณ์หรือทักษิณจะชนะการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าทักษิณจะเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครอง เพราะเป็นนายทุนใหญ่ ไม่ได้แปลว่าอำนาจรัฐจะตกอยู่ในมือของเขาคนเดียว เขาต้องแบ่งอำนาจกับส่วนอื่นของชนชั้นปกครอง

แต่ถ้าพรรคการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าพรรคต่างๆ ของทักษิณ โดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน เกิดชนะการเลือกตั้งในอนาคต แน่นอนอำนาจรัฐจะยังคงอยู่ในมือของพวกที่เป็นศัตรูของประชาชน และจะไม่ได้อยู่ในมือของตัวแทนกรรมาชีพและคนจนในรัฐสภาเลย และถ้ารัฐบาลของพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน พยายามจะกำจัดอภิสิทธิ์ชนและความเหลื่อมล้ำในสังคม รัฐบาลนั้นจะถูกโค่นล้มโดยชนชั้นปกครอง

หนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน มีประโยชน์มากในการทำความเข้าใจกับเนื้อแท้ของรัฐไทยภายใต้ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน [ดู http://bit.ly/1QPRCP6 ]

เลนินอธิบายว่ารัฐไม่เคยเป็นกลาง และเป็นเครื่องมือสำหรับชนชั้นนายทุนในการกดขี่ชนชั้นล่าง ดังนั้นการที่พรรคของกรรมาชีพจะชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้แปลว่าชนชั้นนายทุนจะมือไม้อ่อนยอมโอนอำนาจให้กรรมาชีพ ตรงกันข้ามรัฐจะพยายามทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกครองประเทศไม่ได้

กรรมาชีพจะใช้รัฐปัจจุบันในการปกครองในรูปแบบใหม่ที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่ได้ เพราะรัฐทุนนิยมปัจจุบันถูกออกแบบเพื่อไม่ให้ประชาชนเป็นใหญ่แต่แรก

จริงๆ แล้ว ระบบการเลือกตั้งรัฐสภาภายใต้รัฐทุนนิยมเป็นวิธีการที่จะสร้างภาพในสังคมว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน แต่มันเป็นภาพลวงตา เพราะถ้าจะสร้างความเท่าเทียมทางอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง ต้องมีการฝืนกฏหมายและกติการที่ถูกสร้างไว้โดยนายทุน เพื่อยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของส่วนรวม และยึดอำนาจทหาร ตำรวจ และศาล มาเป็นของประชาชน ซึ่งแปลว่าต้องปฏิวัติล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีอภิสิทธิ์ชน และมีประชาธิปไตยแท้ผ่านสภาต่างๆ ในสถานที่ทำงานและในท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ คือประชาชนธรรมดาต้องมีอำนาจโดยตรงในการกำหนดทุกอย่าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ควรหันหลังให้กับการเลือกตั้งในรัฐสภาหรือสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียง และนี่คือจุดยืนของเลนินด้วย เพราะถ้าเราไม่มีสิทธิเสรีภาพตามกติกาของรัฐนายทุน หรือไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง การจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อสังคมใหม่จะยากขึ้น

สรุปแล้วเราต้องเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยตลอด แต่ในขณะเดียวกัน ต้องไม่หลงคิดว่ารัฐปัจจุบันเป็นกลาง หรือหลงคิดว่าแค่การชนะการเลือกตั้งในระบบทุนนิยมจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ ซึ่งแปลว่าเราต้องพร้อมจะจัดตั้งองค์กรหรือพรรคของคนชั้นล่างที่เคลื่อนไหวไปไกลกว่าแค่ข้อเรียกร้องของเสื้อแดงในอดีต

จากกบเลือกนายเป็นกบใต้กะลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศซิมบาบวี หลังจากที่ทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจจากมูกาบี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหาการไว้ใจทหารให้ทำอะไรแทนประชาชน เพราะจริงๆ แล้ว กองทัพในรัฐทุนนิยมปัจจุบัน เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง และพวกนายพลที่คุมอำนาจในกองทัพ เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองด้วย

ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากที่ควรจะรู้ดีกว่านี้ ที่สนับสนุนการทำรัฐประหารในซิมบาบวี เพราะมองว่ามูกาบีเป็นทรราชที่มวลชนคนธรรมดา โดยเฉพาะกรรมาชีพ ไม่สามารถโค่นล้มเองได้ นี่คือแนวคิดของคนที่ไม่เคยเชื่อว่าคนชั้นล่างเปลี่ยนแปลงสังคมเองได้ จึงหันไปหาคนใหญ่คนโตในสังคม เพื่อตั้งความหวังว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ และแน่นอนคนใหญ่คนโตที่มีอำนาจในสังคมชนชั้นของทุกประเทศ จะเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครองเสมอ

การละเลยที่จะวิเคราะห์และเข้าใจว่าสังคมของทุกประเทศเป็นสังคมชนชั้นในระบบทุนนิยม ทำให้คนหลอกตัวเองว่าไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตลอดไประหว่างชนชั้นปกครองและประชาชน พวกนี้จะมองว่าบางคนที่เป็นนายทหาร หรือนักการเมือง อาจเป็น “คนดี” ที่จะทำอะไร “เพื่อชาติ” โดยไม่ตั้งคำถามว่า “ชาติ” ที่พูดถึงเป็นชาติภายใต้อำนาจของใคร ดังนั้นจะมีการยอมรับนิยามของชนชั้นปกครอง ซึ่งเป็นกระแสความคิดหลักในสังคม ว่าประชาชนทุกคนในชาติมีผลประโยชน์ตรงกันไม่ว่าจะมาจากชนชั้นใด

แต่ถ้าความคิดนี้จริง ทำไมคนใหญ่คนโตในชาติ พยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเสมอ ซึ่งเงินภาษีดังกล่าวจะนำมาพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ได้ เช่นในการสร้างระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า การพัฒนาระบบการศึกษา หรือการพัฒนาที่อยู่อาศัย

ถ้าความคิดนี้จริง ทำไมคนใหญ่คนโตในชาติ มักคัดค้านการขึ้นค่าแรงหรือเงินเดือนของประชาชนคนทำงาน เพราะมองว่าจะมีผลเสียต่อชาติ? ทำไมเขาพร้อมจะเสพสุขในความร่ำรวยของเขาเอง ทำไมเขาไม่มีปัญหากับการใช้เงินรัฐในการสร้างวังหรือซื้ออาวุธ? ทำไมเขามักมองว่าต้องมีกฏหมายเพื่อควบคุมและจำกัดสิทธิในการแสดงออก สิทธิในการประท้วง หรือสิทธิในการนัดหยุดงานของคนธรรมดา?

ในกรณีซิมบาบวี จะมีการชื่นชมการเดินขบวนประท้วงของมวลชนเพื่อเรียกร้องให้มูกาบีออกไปหลังจากที่เกิดรัฐประหาร แต่ไม่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทหารปล่อยให้มีการประท้วงดังกล่าว และทหารแอบสนับสนุนการประท้วงอีกด้วย นั้นไม่ได้หมายความว่าคนที่ออกมาประท้วงถูกทหารจ้างมา หรือทุกคนเป็นขี้ข้าของทหาร แต่เขาไม่รอบคอบเพียงพอ และหลงเชื่อว่าทหารจะปลดแอกประเทศ อย่างไรก็ตามทหารจะพยายามคอยจับตาดูไม่ให้มวลชนไปไกลกว่าเป้าหมายที่ทหารต้องการ

นอกจากนี้พวกทหารและประธานาธิบดีใหม่ มันนึงกากูวา เคยถูกสหประชาชาติกล่าวหาว่ามีส่วนในการปล้นทรัพยากรจากประเทศคองโก

ฝ่ายซ้ายในซิมบาบวี จึงออกใบปลิวและ หนังสือพิมพ์เพื่อชักชวนให้กรรมาชีพออกมาเคลื่อนไหวอิสระจากทหารและพวกชนชั้นปกครองเก่าที่ยังถืออำนาจอยู่

นายทหารระดับสูงของซิมบาบวี ไม่เคยมีปัญหากับมูกาบีในอดีต ตลอดเวลาที่เขาปกครองในรูปแบบเผด็จการ ทหารพึ่งมามีปัญหาเมื่อมูกาบีเตรียมโอนอำนาจให้เมียตัวเอง ซึ่งไม่ใช่พรรคพวกของทหาร นอกจากนี้ทหารก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการคอร์รับชั่นของรัฐบาล เพราะทหารก็ร่วมกินด้วย ซึ่งไม่ต่างจากไทย

นายจรเข้

ตอนนี้ทหารสนับสนุนการตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้อดีตรองประธานาธิบดีมันนึงกากูวา ซึ่งคนจำนวนมากเรียกเขาว่า “นายจรเข้” เพราะเขาสามารถรอดตัวมาตลอด ก๊กของเขาในพรรคซานูพีเอฟ จึงถูกเรียกว่า “ก๊กลาคอสต์” ตามเสื้อตราจรเข้ ในอดีต “นายจรเข้” มีบทบาทในองค์กรความมั่นคงของมูกาบีที่คอยปราบปรามฝ่ายค้าน

นายจรเข้ ซึ่งเป็นนายทุน จะนำนโยบายกลไกตลาดเสรีเข้ามาใช้อย่างสุดขั้ว ซึ่งตรงข้ามกับผลประโยชน์คนธรรมดาส่วนใหญ่ และหลายคนมองว่ารัฐบาลจีน ซึ่งลงทุนมหาศาลในซิมบาบวี อาจชื่นชมนโยบายดังกล่าวอีกด้วย สรุปแล้วมวลชนที่ออกมาฉลองการทำรัฐประหาร อาจหลงคล้อยตามแนว “กบเลือกนาย” คือไม่ยอมจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ตนเองอย่างอิสระ ในที่สุดเมื่อพึ่งทหาร ก็ได้ “จรเข้” เป็นนาย แทนทรราชมูกาบี้

นายจรเข้กับอดีตเพื่อนรัก

ในกรณีอียิปต์ หลังการลุกฮือล้มเผด็จการมูบารักและการจัดการเลือกตั้ง มีปรากฏการณ์ของการชุมนุมของมวลชนเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีมูร์ซี่ หลังจากที่เขาไม่ยอมปฎิรูปการเมืองตามที่มวลชนฝันไว้ แต่ปัญหาคือคนจำนวนมากหลงเชื่อว่ากองทัพคือเพื่อนของประชาชนเมื่อทหารปลดมูรซี่ออก เขามองไม่เห็นหรือไม่แคร์ว่ากองทัพกำลังฉวยโอกาสไฮแจ็กกระแสการประท้วงของมวลชน เพื่อยึดอำนาจให้ตนเองในที่สุด และทุกวันนี้รัฐบาลอียิปต์เป็นรัฐบาลภายใต้อดีตนายพล ทั้งๆ ที่มีการจัดฉากการเลือกตั้ง

นั้นไม่ได้แปลว่ามวลชนไม่ควรเคลื่อนไหว เพราะอาจเปิดประตูให้มีการทำรัฐประหาร แต่ประเด็นคือเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดที่อิสระจากชนชั้นปกครองหรือไม่ เพราะถ้าไม่อิสระ ก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์ “กบเลือกนาย”

ในไทยคนที่ควรจะรู้ดีกว่านี้จำนวนมาก เช่นนักสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจ และนักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ ที่วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ และหลายคนมีเหตุผลดีในการไม่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ เนื่องจากนโยบายการฆ่าวิสามัญใน “สงครามยาเสพติด” และในปาตานี หรือการที่ทักษิณต้องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน ก็ไปหลงเชื่อว่าการไปเข้ากับพวกอวยเจ้า และในที่สุดการโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหาร จะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่า พวกนี้มีข้อแก้ตัวเสมอว่ามวลชนคนชั้นล่างไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้  ดังนั้นต้องไปพึ่งคนใหญ่คนโตแทน

แล้วพฤติกรรม “กบเลือกนาย” ในไทย ก็จบลงด้วย สถานการณ์ “กบใต้กะลา” ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

สามปีรัฐประหารของไอ้ยุทธ์ อย่าให้มันทำให้เราชินกับเผด็จการจนเรากลายเป็นซอมบี้

ใจ อึ๊งภากรณ์

สามปีหลังรัฐประหารของไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือด เราสามารถสรุปได้ว่าคณะเผด็จการทหารชุดนี้นำพาสังคมการเมืองไทยถอยหลังไปสามสิบกว่าปี

แทนที่เราจะเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม โดยการขยายสิทธิเสรีภาพต่างๆ และทางเลือกทางการเมืองให้หลากหลายขึ้น เช่นเปิดให้มีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของกรรมาชีพ หรือพรรคการเมืองที่ให้ความสนใจกับสิทธิทางเพศ สิทธิของชนกลุ่มน้อย สิทธิของแรงงานข้ามชาติ หรือเรื่องการสร้างสันติภาพในปาตานี แทนที่เราจะมีโอกาสพัฒนาสังคมให้เป็นรัฐสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำ แทนที่เราจะเดินหน้ายกเลิกกฏหมาย 112 เพื่อสร้างความโปร่งใส แทนที่เราจะลดอิทธิพลของทหารในระบบการเมือง เราต้องถูกบังคับให้ย้อนกลับไปสู่สังคมอนุรักษ์นิยมที่ไม่มีพื้นที่สำหรับพลเมือง และเราต้องเดินถอยหลังไปสู่ระบบประชาธิปไตยจอมปลอมภายใต้อำนาจของทหารและอภิสิทธิ์ชน

ทั้งหมดนี้คือผลงานของทหาร ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม และชนชั้นกลาง “สลิ่ม” พวกนี้อ้าง “ชาติ ศาสนากษัตริย์” เพื่อดูถูกกดขี่พลเมืองส่วนใหญ่ เขาอ้างว่าคนส่วนใหญ่ไม่พร้อมจะมีประชาธิปไตย ทั้งๆที่พลเมืองไทยธรรมดาจำนวนมากออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วถูกทหารเข่นฆ่าอย่างเลือดเย็น ไม่ว่าจะในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา, ๖ ตุลา, พฤษภา ๓๕ หรือในการต่อสู้ของขบวนการเสื้อแดง

การทำลายประชาธิปไตย การขังคุกนักต่อสู้คนดีๆ การข่มขู่ผู้เรียกร้องเสรีภาพจนหลายคนต้องเงียบหายไปหรือออกจากประเทศ การกอบโกยผลประโยชน์ของทหารในการคอร์รับชั่น การเพิ่มงบประมาณในเรื่องสิ้นเปลืองเช่นการซื้ออาวุธ หรือการทุ่มเทเงินประชาชนในตำแหน่งหรือพิธีกรรมสำหรับคนชั้นสูงที่รวยเกินไปอยู่แล้ว และการทำลายสวัสดิการในระบบสาธารณสุขและการศึกษาของพวกเผด็จการ ภายใต้ลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาดแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ทั้งหมดนี้คือผลพวงของรัฐประหาร

แต่ตอนนี้เราเผชิญหน้ากับภัยร้ายแรงอีกชนิดหนึ่ง คือการถูกบังคับหรือกล่อมเกลาให้ชินกับสภาพเผด็จการ และการเลิกฝันนถึงสังคมใหม่ พูดง่ายๆ คือ ตอนนี้เราต้องต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับการแปรตัวของคนจำนวนมากไปเป็น “ซอมบี้” ทางการเมืองและสังคม

ส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์การเป็นซอมบี้ มาจากการปราบปรามข่มขู่ของเผด็จการ แต่อีกส่วนที่สำคัญพอๆ กัน อาจเป็นสาเหตุหลักก็อาจว่าได้ คือการเมืองและยุทธศาสตร์ของฝ่ายเราเอง

ในประการแรกพรรคพวกของทักษิณในพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. สามารถแช่แข็งการต่อสู้ของเสื้อแดงจนขบวนการที่เคยยิ่งใหญ่เข้มแข็ง อ่อนตัวลงและหมดสภาพในการต่อสู้โดยสิ้นเชิง มันคือการหักหลังความฝันของพลเมืองหลายล้านคนที่จะเห็นเสรีภาพและสังคมใหม่ และพวกเราปล่อยให้มันเกิดขึ้น แต่เราไม่ควรแปลกใจเท่าไร เพราะทักษิณและพรรคพวกก็ไม่ได้เป็นคนก้าวหน้าที่อยากเห็นประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เขาอาจมีความคิดทันสมัยในการแก้ปัญหาหลายอย่าง แต่เขายังต้องการปกป้องระบบชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคม

ในประการที่สอง นักต่อสู้ที่หลุดพ้นแนวคิดของทักษิณ ไปหันหลังให้กับการสร้างขบวนการมวลชน หรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และหันหลังให้กับการจัดตั้งทางการเมือง เช่นการสร้างพรรคการเมืองของคนชั้นล่างอีกด้วย เขามองว่าการออกมาแสดงจุดยืนของปัจเจกไม่กี่คน ในเชิงสัญลักษณ์ จะนำมาซึ่งประชาธิปไตยและเสรีภาพ แต่คนที่กล้าสู้แบบนี้ก็โดนปราบง่าย ทุกวันนี้บางคนติดคุก ส่วนคนที่นั่งอยู่บ้านเชียร์การกระทำของวีรชนดังกล่าว ก็ไร้อำนาจที่จะปกป้องเขาและเปลี่ยนสังคม นี่คือโศกนาฎกรรมของการต่อสู้ในยุคเผด็จการไอ้ยุทธ์

พร้อมกับโศกนาฏกรรมดังกล่าว เชื้อโรคที่ทำให้คนเป็นซอมบี้ ก็ปรากฏตัวในสังคม คนที่ควรจะรู้ดีกว่านี้เริ่มเรียกผู้นำเผด็จการชั่วว่า “ลุง” หรือ บิ๊ก” นำหน้าชื่อเล่นของมัน เหมือนกับว่าพวกนี้เป็นผู้ใหญ่ใจดีหรือคนที่เราควรเคารพ บางกลุ่มเริ่มออกมาเรียกร้องให้เผด็จการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ เหมือนกับว่ามันเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรม ท่ามกลางความหดหู่หลายคนหยุดการเคลื่อนไหวทางปัญญาโดยสิ้นเชิง และหมดความหวังไปเลย หรือตั้งความหวังไว้กับการปฏิรูปการเมืองจอมปลอม และมันยากที่จะฟื้นตัวจากสภาพเช่นนี้

สภาพซอมบี้มันรักษาได้ ยังไม่สายเกินไป แต่เราต้องทำงานจัดตั้งทางความคิดแบบใต้ดิน เพื่อร่วมกันศึกษาแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาการเมืองและสังคม และเพื่อขยายเครือข่ายประชาธิปไตย เตรียมพร้อมที่จะปรากฏตัวในสังคมเปิดเมื่อโอกาสเหมาะสม และเพื่อเดินหน้าโค่นเผด็จการในอนาคต

เก็บตกจากสัมนาปารีส กรัมชี่ กับ การสร้างฉันทามติในสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในงานสิบปีรัฐประหาร ๑๙ กันยาที่ปารีส มีประเด็นข้อตกเถียงที่น่าสนใจหลายประการ ผู้เขียนจะขอสรุปบางประเด็นตามความสนใจและมุมมองของผู้เขียนเอง แต่คนที่อยากศึกษาประเด็นเหล่านี้อย่างรอบด้านควรไปพยายามอ่านความเห็นของคนอื่นด้วย โดยเฉพาะคนที่มองต่างมุมกับผม

อ. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อธิบายว่าในช่วงประมาณ 20 ปีก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา สังคมไทยค่อนข้างจะไร้ข้อขัดแย้งทางการเมือง คือมี “ฉันทามติ” ภายใต้แนวคิดรักเจ้า

ตรงนี้น่าจะเป็นการ “สรุป” ภาพรวม เพราะสำหรับประชาชนมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในปาตานี มันคงจะไม่มีฉันทามติแบบนี้เลย แต่ผมจะขอข้ามประเด็นนี้ไป

จริงๆ แล้วสำหรับนักมาร์คซิสต์ “ฉันทามติ” ทางการเมืองและสังคมไม่เคยมีในสังคมใดเลย เพราะมันมีความขัดแย้งทางชนชั้นเสมอ ซึ่งบางครั้งเปิดเผย และบางครั้งซ่อนเร้น การที่ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพ หรือคนรวยกับคนจน จะระเบิดออกมาหรือดูเหมือนเงียบไป มันขึ้นอยู่กับความมั่นใจในการเคลื่อนไหวของคนชั้นล่าง และการปราบปรามหรือการเอาใจคนชั้นล่างโดยชนชั้นปกครอง สภาพเศรษฐกิจก็มีส่วนด้วย

ภาพของ “ฉันทามติ” ที่ อ.สมศักดิ์พูดถึงในไทยนี้ ผมอธิบายว่ามาจากความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวจนประชาชนจำนวนมากมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง ทั้งๆ ที่อาจได้ประโยชน์ตรงนี้น้อยกว่าพวกนายทุน คนรวย หรือชนชั้นกลาง

ทั้งๆ ที่ อ.สมศักดิ์ มองว่าในประชาธิปไตยตะวันตกมี “ฉันทามติ” ทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงมีการแบ่งแยกการเมืองระหว่างสายแรงงานกับสายนายทุนมาตลอด และท่ามกลางปัญหาที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 มีกระแสไม่พอใจกับการเมืองกระแสหลักมากมาย จนเกิดการแยกขั้วอย่างรุนแรง ในบางประเทศฝ่ายซ้ายใหม่เพิ่มคะแนนนิยม ในบางประเทศพรรคฟาสซิสต์ก็มาแรง และแนวสุดขั้วเหล่านี้ไม่ได้เห็นด้วยกับระบบประชาธิปไตยกระแสหลักเท่าไร ยิ่งกว่านั้นฝ่ายชนชั้นปกครองยุโรปก็ไม่เคารพประชาธิปไตย กรณีกรีซเป็นตัวอย่างที่ดี แม้แต่ในอังกฤษมีนายพลขู่ว่าถ้านักการเมืองฝ่ายซ้าย เจเรอมี คอร์บิน เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคแรงงาน อาจมีรัฐประหารเกิดขึ้น

ในอังกฤษและประเทศอื่นๆ ของยุโรป จะมีคนที่เห็นต่างกันอย่างรุนแรงในหลายเรื่อง เช่นเรื่องสหภาพยุโรป รัฐสวัสดิการ การทำสงคราม นโยบายรัดเข็มขัด หรือท่าทีต่อผู้ลี้ภัย ในสหรัฐก็ไม่ต่างออกไป นี่คือสาเหตุที่คะแนนนิยมนักการเมืองนอกกรอบมาแรงในยุคนี้ และนี่คือสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากในสหรัฐไม่เคยไปลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งด้วย เพราะมองว่ามันไม่เปลี่ยนอะไร

ดังนั้นความขัดแย้งทางสังคมที่เราเห็นทุกวันนี้ในไทยเป็นเรื่องธรรมดา

ในประเทศสเปน ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเดือดร้อนสูงจากนโยบายรัดเข็มขัด เพราะคนจำนวนมากตกงาน พรรคฝ่ายซ้ายใหม่ Podemos วิวัฒนาการมาจากการประท้วงของคนหนุ่มสาวในจัตุรัสต่างๆ กลางเมือง [ดู http://bit.ly/293hWr1 ] แกนนำของพรรคนี้พยายามเสนอว่าเขาจะสร้าง “ฉันทามติ” ใหม่ โดยข้ามพ้นความเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ยิ่งกว่านั้นพวกนี้จะอ้าง กรัมชี่ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์อิตาลี่ เพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่ตนเองเสนอ แต่มันเป็นการบิดเบือนกรัมชี่

กรัมชี่ เดิมเสนอความคิดเรื่อง hegemony หรือ “การครองความเป็นใหญ่ในสังคม” เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ความคิดของชนชั้นปกครองกลายเป็นที่ยอมรับทั่วไป และมีข้อเสนอว่าฝ่ายชนชั้นกรรมาชีพและแนวร่วม ควรสร้างพลังเพื่อครองความเป็นใหญ่ทางความคิดและต้านความคิดของชนชั้นปกครอง และในเรื่องนี้กรัมชี่จะเน้นเรื่องชนชั้นและความขัดแย้งทางชนชั้นเสมอ ที่สำคัญคือ กรัมชี่ ไม่ได้เสนอความคิดนี้เพื่อสร้างสันติภาพในสังคมภายใต้ฉันทามติที่สร้างความสามัคคีระหว่างชนชั้นที่ขัดแย้งกัน และเขาต้องการเห็นชนชั้นกรรมาชีพเป็นใหญ่ในสังคมเพื่อสร้างสังคมนิยม

แต่แกนนำพรรค Podemos ปฏิเสธเรื่องชนชั้น และผลพวงของชนชั้น…คือความเป็น “ซ้าย” หรือ “ขวา” คือไม่พูดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับกรรมาชีพ เช่นรัฐสวัสดิการ สิทธิแรงงาน การเพิ่มฐานะความเป็นอยู่ของคนจนผ่านการขึ้นภาษีกับคนรวย หรือการต่อต้านคำสั่งจากกลุ่มอำนาจในสหภาพยุโรป ฯลฯ และวิธีการที่เขาใช้ในการบริหารพรรคคือการนำแบบเผด็จการภายในพรรค ทั้งนี้เพื่อกีดกันไม่ให้กระแสรากหญ้าที่เคยมีสามารถกำหนดนโนบายได้ แกนนำเท่านั้นจึงมีสิทธิ์กำหนดนโยบายที่คลุมเครือไม่มีรายละเอียดแต่ฟังดูดี

ที่นี้ อ.สมศักดิ์ ก็อ้าง กรัมชี่ ในลักษณะเหมือนกันกับ Podemos คือเสนอว่าเราควรสร้าง “ฉันทามติ” ร่วมกันกับพวกชนชั้นกลางสลิ่ม คือข้ามพ้นความขัดแย้งทางชนชั้นในไทยที่ปรากฏออกมาในรูปแบบความขัดแย้งเรื่องประชาธิปไตยระหว่างแดงกับเหลือง นอกจากนี้ อ.สมศักดิ์ ก็มองว่าแนวคิดมาร์คซิสต์เป็นเรื่องที่มาล้อกันได้ในที่ประชุมเพื่อพยายามให้คนที่มองต่างมุมถูกมองว่าเป็นตัวตลก ดูเหมือนอาจารย์ข้ามพ้นความคิดมาร์ซิสต์ไปแล้ว

การสร้าง “ฉันทามติ” ระหว่างสลิ่มชนชั้นกลางกับคนเสื้อแดงในไทย ในบริบทที่ไม่มีการสร้างพลังของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ย่อมจบลงด้วยการประนีประนอมกับฝ่ายที่เกลียดประชาธิปไตยเพราะเกลียดคนจน ผลที่ออกมาคือประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น อ.สมศักดิ์ จริงใจในความพยายามที่จะหาทางไปสู่สันติภาพในไทย และจริงใจในการรักประชาธิปไตย แต่เนื่องมาจากเขาไม่เคยสนใจและไม่เคยมั่นใจในพลังมวลชน เขาจึงถึงทางตัน

อีกคนหนึ่งที่ดูเหมือนอยากคุยกับฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่มุ่งสร้างขบวนการมวลชนคือ รังสิมันต์ โรม [ดู http://bit.ly/2dizkuE %5D

วิธีสร้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในไทยที่ยั่งยืน คือการสร้างพลังมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย พร้อมๆ กับการสร้างพรรคซ้ายที่เน้นผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกรรายย่อย และคนจน และถ้าพลังของขบวนการนี้เข้มแข็งพอเมื่อไร เราจะกดดันให้ชนชั้นกลางหลายส่วน หันมาสนับสนุนเราได้ภายใต้เงื่อนไขของเรา ไม่ใช่ภายใต้เงื่อนไขของพวกที่เกลียดประชาธิปไตย ชนชั้นกลางไม่เคยเป็นกลุ่มก้อนที่มั่นคงและสามัคคี แต่เป็น “กลุ่มชนชั้น” ที่กระจัดกระจาย และจุดยืนทางการเมืองมักแกว่งไปมาเสมอ ยุคหนึ่งสนับสนุนเผด็จการ ยุคหนึ่งสนับสนุนคนชั้นล่าง ขึ้นอยู่กับพลังของสองชนชั้นที่อยู่เหนือและใต้ชนชั้นของเขา

พลังการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องสร้างบนรากฐานขบวนการเสื้อแดงเก่า ประชาชนสิบล้านคนที่ปฏิเสธรัฐธรรมนูญทหาร และนักศึกษาก้าวหน้า ที่สำคัญคือต้องสร้างขบวนการที่มีการนำอิสระจากอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยและทักษิณ

14480594_10207643228419481_7044129971385575274_o

การสร้างขบวนการดังกล่าวจะใช้เวลา และตราบใดที่ยังอ่อนแออยู่ ระดับการต่อต้านเผด็จการจะไม่สูง ซึ่งแปลว่าคำพูดของ อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักประชาธิปไตยอีกคนหนึ่ง ที่พูดในงานสัมมนาที่ปารีส และเสนอว่า “สังคมไทยใกล้จะระเบิด” คงไม่เป็นอย่างนั้นจริง

นอกจากเรื่อง “ฉันทามติ” แล้ว การมองข้ามพลังของมวลชน มักพาคนไปหลงเชื่อว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจทางการเมือง อ.สมศักดิ์ มองต่างมุมกับผมว่ากษัตริย์เป็นแค่คนที่ถูกทหารใช้ [ดู http://bit.ly/1OtUXBm   http://bit.ly/2cAODfC  http://bit.ly/2cnQepl  ]

เขาเสนอว่า “อำนาจ” เป็นเรื่องซับซ้อน เขาเสนอว่าคนที่ไม่มีใครวิจารณ์ได้มีอำนาจสูง แต่กษัตริย์ไม่ต้องออกคำสั่งอะไรอย่างตรงไปตรงมา ผมก็เลยเถียงกลับไปว่า “พระเจ้า” ก็เหมือนกัน แต่นอกจากพระเจ้าไม่มีจริงแล้ว และอำนาจพระเจ้าจึงไม่มีจริง แต่พระเจ้าก็ยังเป็นสิ่งที่นักการเมืองและชนชั้นปกครองใช้เป็นเครื่องมือที่ให้ความชอบธรรมกับตนเอง

ในเรื่องที่ผมปฏิเสธแนวคิดเรื่อง “รัฐพันลึก”  [ ดู http://bit.ly/2a1eP01 ]  มีคนไทยคนหนึ่งถามผมเพิ่มเติมและผมก็อธิบายให้ฟังตามที่เคยเขียนไว้ แต่ภาพหนึ่งที่ อ.สมศักดิ์ฉายที่ปารีส ในเรื่องจำนวนรัฐประหารของประเทศไทย ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งที่ท้าทายทฤษฏีรัฐพันลึกคือ ในอดีตมีหลายครั้งที่พวกทหารทำรัฐประหารกันเองอันเนื่องจากความแตกแยกในกองทัพ นี่ไม่ใช่ลักษณะของการมีรัฐพันลึกแต่อย่างใด

สุดท้ายนี้ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบ อ.สมศักดิ์ และ อ.ปวิน ที่ปารีส และผมหวังว่าทั้งสองท่านจะมีความสุขต่อไปในชีวิตที่อาจลำบากเพราะความกล้าหาญของเขา ผมหวังด้วยว่าทั้งสองท่านคงจะเข้าใจว่าที่ผมเถียงด้วยในบทความนี้ ไม่ได้สะท้อนอคติส่วนตัวแต่อย่างใด ประชาธิปไตยไทยจะรุ่งเรืองได้ก็ต่อเมื่อมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรีในเรื่องความคิดได้

สิบปีหลัง ๑๙ กันยา เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

สิบปีที่แล้วพวกทหาร สลิ่ม และอำมาตย์อนุรักษ์นิยมได้ริเริ่มกระบวนการในการทำลายประชาธิปไตยไทย ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา เราต้องประสบวิกฤตทางการเมืองอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของทหารกับศาลซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงการก่อความรุนแรงโดยม็อบคนชั้นกลางและพวกอันธพาลจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำลายการเลือกตั้งและสนับสนุนการก่อรัฐประหารดังกล่าว นอกจากทหาร สลิ่ม และอำมาตย์อนุรักษ์นิยมแล้ว นักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอ และนักวิชาการเสรีนิยมฝ่ายขวาก็มีส่วนในการสนับสนุนรัฐประหารและการทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย

ji

ในรอบสิบปีที่ผ่านมาพวกที่ต้านประชาธิปไตยได้เข่นฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างเลือดเย็น โดยพวกฆาตรกรของฝ่ายรัฐลอยนวลเสมอ ในขณะเดียวกันคุกไทยมีนักโทษทางการเมืองในจำนวนที่เราไม่เคยเห็นตั้งแต่การยุติของสงครามเย็น พร้อมกันนั้นในต่างประเทศก็มีคนไทยที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนหนึ่งอย่างที่ไม่เคยมีมานาน กลไกสำคัญอันหนึ่งที่ใช้ในการปราบฝ่ายซ้ายและเสื้อแดงคือกฏหมายเถื่อน 112 ที่ปกป้องผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะและการกระทำทุกอย่างของทหารเผด็จการ

somyot-prueksakasemsuk

ต้นกำเนิดของวิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้คือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ ซึ่งเปิดโปงปัญหาพื้นฐานในสังคมไทย คือการที่สภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แค่ห้าปีก่อนหน้านั้นมีการลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในการล้มเผด็จการทหาร แต่การเมืองยังวนเวียนอยู่ในสภาพเดิมๆ

ในหลายปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่ควร เพราะผลประโยชน์เกือบทั้งหมดตกอยู่ในมือของชนชั้นนำและนายทุนไม่กี่คน ส่วนชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเช่นกัน ก็ได้ประโยชน์บ้าง สรุปแล้วหลายแง่ของสังคมไทยถูกแช่แข็งในความล้าหลัง

ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตของประชาชนทั่วประเทศเปลี่ยนไป คนที่เลี้ยงชีพในภาคเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว และคนที่เป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและการบริการก็เพิ่มขึ้น แม้แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรของชนบทก็ต้องเสริมรายได้ด้วยการทำงานในกิจกรรมนอกภาคเกษตรในชุมชนตนเองด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนมากพอสมควร โดยเฉพาะเวลาเราพิจารณาว่าคนที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไป ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคนร่นใหม่เริ่มเข้าสู่วัยของการเป็นผู้ใหญ่ แต่ความไม่พอใจดังกล่าวไม่ได้ถูกแสดงออกเพราะหลายคนขาดความมั่นใจ และมองไม่ออกว่าจะแก้สถานการณ์ในรูปธรรมอย่างไร

ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเรามีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีภาพว่ามาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมกับการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนเริ่มมีความหวังว่าสภาพสังคมจะดีขึ้น มันเป็นประกายไฟที่จุดให้คนจำนวนมากตื่นตัวทางการเมืองภายใต้ความหวังและทางออกที่พอมองเห็นได้

ทักษิณ ชินวัตร กับไทยรักไทย เข้าใจ และพร้อมจะฉวยโอกาสทองในการสร้างการเมืองแบบใหม่บนพื้นฐานโยบายที่เป็นรูปธรรม เพื่อครองใจประชาชน แทนระบบอุปถัมภ์และการซื้อเสียงแบบเดิม นโยบายของไทยรักไทย โดยเฉพาะ “30บาทรักษาทุกโรค” และกองทุนหมู่บ้าน ถูกออกแบบเพื่อทำให้สังคมไทยทันสมัยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหญ่เพิ่มกำไรผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยทั่วไปในสังคม ทักษิณเรียกนโยบายดังกล่าวว่า นโยบายคู่ขนาน คือผสมการลงทุนจากรัฐกับการใช้กลไกตลาดเสรี แต่ศัตรูของไทยรักไทยมักเรียกนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ว่าเป็น “ประชานิยม” เหมือนกับว่าเป็นคำด่า พวกนี้เกลียดชังการใช้รัฐเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะเขานิยมกลไกตลาดเสรีสุดขั้วแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ที่ให้ประโยชน์กับเขามานาน นอกจากนี้พวกนี้เกลียดชังคนส่วนใหญ่และมองว่าเราเป็น “คนโง่” ที่ไว้ใจไม่ได้และตัดสินใจอะไรเองไม่ได้

สาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่พวกทหาร สลิ่ม และอำมาตย์อนุรักษ์นิยม เริ่มไม่พอใจรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆที่เคยชื่นชมในยุคแรก คือการที่ไทยรักไทยสามารถครองใจประชาชนผ่านนโยบายและสามารถผูกขาดอำนาจจากการชนะการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย พวกนั้นไม่พร้อมหรือไม่สามารถที่จะแข่งทางการเมืองกับไทยรักไทยในระบบการเลือกตั้งได้ เขาจึงหันมาชื่นชมเผด็จการแทน

วิกฤตการเมืองปัจจุบันไม่ได้เกิดจาก “ปัญหาการเปลี่ยนรัชกาล” แต่อย่างใด เพราะกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนอ่อนแอมาตลอด ไม่มีอำนาจ และถูกใช้โดยทหารและอำมาตย์ รวมถึงนักการเมืองอย่างทักษิณอีกด้วย ปัจจุบันขณะที่กษัตริย์ภูมิพลป่วยมานานและหมดสภาพในการแสดงออกอะไรมากมาย ก็ไม่มีสุญญากาศทางการเมืองแต่อย่างใด และทุกส่วนของชนชั้นนำมองว่าเจ้าฟ้าชายจะขึ้นมาเป็นกษัตริย์คนต่อไป ยิ่งกว่านั้นเจ้าฟ้าชายจะเป็นคนที่อ่อนแอและถูกใช้ยิ่งกว่าพ่อด้วยซ้ำ เพราะไม่สนใจการเมืองเลย และชนชั้นนำไทยก็ไม่เคารพเท่าไร ดังนั้นการเน้นเรื่อง “ปัญหาการเปลี่ยนรัชกาล” เป็นการเบี่ยงเบนปัญหา และมองสังคมไทยจากมุมองชนชั้นบนเท่านั้น  (ดู http://bit.ly/2cnQepl )

การที่ประยุทธ์ทำรัฐประหารครั้งล่าสุด เปิดให้เราเห็นว่าอำนาจสำคัญที่สุดในการทำลายประชาธิปไตยคือกองทัพ ไม่ใช่กษัตริย์ เพราะกษัตริย์เพียงแต่มีหน้าที่ในการให้ความชอบธรรมกับสิ่งแย่ๆ ที่ทหารทำเท่านั้น แต่อำนาจเผด็จการของทหาร ไม่ใช่ในลักษณะ “รัฐพันลึก” เพราะกองทัพไทยและพวกอำมาตย์แตกแยกกันเสมอและแข่งกันเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ดังนั้นมีการทำแนวร่วมและเปลี่ยนขั้วกันเป็นประจำ ทฤษฏีรัฐพันลึกเป็นอีกทฤษฏีหนึ่งที่เน้นแต่เบื้องบน เราต้องพิจารณาภาพรวมและการต่อสู้ของประชาชนธรรมดาที่ต้องการประชาธิปไตยและพร้อมจะสู้เสมอ (ดู http://bit.ly/2a1eP01 )

พอมาถึงจุดนี้เราควรทบทวนสถานการณ์ เราต้องไม่ไปหลงใหลในนักการเมืองแบบทักษิณว่าจะสู้เพื่อประชาธิปไตย ทักษิณมีส่วนในการแช่แข็งเสื้อแดง และเขาเป็นนักการเมืองของฝ่ายทุนที่พร้อมจะก่ออาชญากรรมในปาตานีหรือในสงครามยาเสพติด ตรงนี้เขาไม่ต่างจากทหารหรือพรรคประชาธิปัตย์

ข้อเสนอของนักประชาธิปไตยอย่าง อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ว่าเราควรหาทางข้ามพ้นความขัดแย้งในหมู่ประชาชนสองฝ่ายของสังคมไทย เพื่อหาฉันทามติในการกำหนดรูปแบบการเมืองที่ไม่ใช่เผด็จการทหาร เป็นข้อเสนอที่จะไม่สร้างประชาธิปไตยจริงในรูปธรรม เพราะความขัดแย้งทางการเมืองมักดำรงอยู่ในทุกสังคมของโลก และความขัดแย้งดังกล่าว มีรากฐานจากผลประโยชน์ที่ต่างกันทางชนชั้น ทั้งๆ ที่ประเด็นต่างๆ อาจถูกบิดเบือนไปหรือไม่ชัดเจนขาวกับดำ การหาฉันทามติระหว่างคนที่รักประชาธิปไตยในไทยกับพวกสลิ่ม นอกจากจะเป็นความฝันที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเป็นข้อเสนอที่จะจบลงโดยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประนีประนอมในที่สุด ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเป็นฝ่ายประนีประนอม เราจะได้แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ

2551-10-02_%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%a8%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b9%8c-%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a1%e0%b8%98%e0%b8%b5%e0%b8%a3%e0%b8%aa%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b8%a5

ทั้งๆ ที่ อ. สมศักดิ์ เป็นคนจริงใจในการต้านเผด็จการ แต่ความคิดแบบนี้มาจากการที่เขา และคนที่คิดเหมือนเขา ไม่มีความมั่นใจในพลังของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือขบวนการกรรมาชีพ เขาจึงไม่มีส่วนในการทำงานเพื่อจัดตั้งมวลชน และต้องหันมาแสวงหาสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นทางลัด แต่มวลชนผู้รักประชาธิปไตยเป็นพลังชี้ขาดในการผลักดันความก้าวหน้าเสมอ

20100328_02_27

เราต้องสร้างความมั่นใจว่าประชาชนสู้เองได้ แต่ถ้าเราไม่สร้างองค์กร ไม่สร้างพรรค ไม่สร้างเครือข่ายมวลชน เราจะไม่มีวันนำตนเองอย่างมีพลัง ที่สำคัญคือเราต้องรู้จักสามัคคีกับคนที่อาจเห็นต่างแต่มีจุดร่วมในการเกลียดเผด็จการและพฤติกรรมของสลิ่ม การเล่นพรรคเล่นพวกเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของเรา เป็นพฤติกรรมของเด็กๆ ที่ต้องเลิก และถ้าเรามัวแต่เคลื่อนไหวในกลุ่มเล็กๆ ในเชิงสัญลักษณ์ โอกาสที่จะล้มเผด็จการจะยิ่งยืดออกไปนานในอนาคต

อย่าลืมว่าคนไทยเคยล้มเผด็จการมาหลายรอบ และคนไทยจำนวนมากมีวัฒนธรรมที่ชื่นชมประชาธิปไตย แน่นอนเราทุกคนก็เคยพบอุปสรรคในการต่อสู้ บ่อยครั้งเช่นหลังผลประชามติ เราต้องยอมรับว่าต้องถอยหนึ่งก้าวเพื่อเดินหน้าสองก้าว และเพื่อชัยชนะของประชาชนชั้นล่าง

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/1VTFyio

และบทความภาษาอังกฤษล่าสุดที่เขียนเพื่อเสนอในงาน “เสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน” ที่กรุงปารีส 19/9/2016 ดูได้ที่นี่: http://bit.ly/2bSpoF2  or http://bit.ly/2cmZkAa