Tag Archives: รัฐพันลึก

เก็บตกจากสัมนาปารีส กรัมชี่ กับ การสร้างฉันทามติในสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในงานสิบปีรัฐประหาร ๑๙ กันยาที่ปารีส มีประเด็นข้อตกเถียงที่น่าสนใจหลายประการ ผู้เขียนจะขอสรุปบางประเด็นตามความสนใจและมุมมองของผู้เขียนเอง แต่คนที่อยากศึกษาประเด็นเหล่านี้อย่างรอบด้านควรไปพยายามอ่านความเห็นของคนอื่นด้วย โดยเฉพาะคนที่มองต่างมุมกับผม

อ. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อธิบายว่าในช่วงประมาณ 20 ปีก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา สังคมไทยค่อนข้างจะไร้ข้อขัดแย้งทางการเมือง คือมี “ฉันทามติ” ภายใต้แนวคิดรักเจ้า

ตรงนี้น่าจะเป็นการ “สรุป” ภาพรวม เพราะสำหรับประชาชนมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในปาตานี มันคงจะไม่มีฉันทามติแบบนี้เลย แต่ผมจะขอข้ามประเด็นนี้ไป

จริงๆ แล้วสำหรับนักมาร์คซิสต์ “ฉันทามติ” ทางการเมืองและสังคมไม่เคยมีในสังคมใดเลย เพราะมันมีความขัดแย้งทางชนชั้นเสมอ ซึ่งบางครั้งเปิดเผย และบางครั้งซ่อนเร้น การที่ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพ หรือคนรวยกับคนจน จะระเบิดออกมาหรือดูเหมือนเงียบไป มันขึ้นอยู่กับความมั่นใจในการเคลื่อนไหวของคนชั้นล่าง และการปราบปรามหรือการเอาใจคนชั้นล่างโดยชนชั้นปกครอง สภาพเศรษฐกิจก็มีส่วนด้วย

ภาพของ “ฉันทามติ” ที่ อ.สมศักดิ์พูดถึงในไทยนี้ ผมอธิบายว่ามาจากความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวจนประชาชนจำนวนมากมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง ทั้งๆ ที่อาจได้ประโยชน์ตรงนี้น้อยกว่าพวกนายทุน คนรวย หรือชนชั้นกลาง

ทั้งๆ ที่ อ.สมศักดิ์ มองว่าในประชาธิปไตยตะวันตกมี “ฉันทามติ” ทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงมีการแบ่งแยกการเมืองระหว่างสายแรงงานกับสายนายทุนมาตลอด และท่ามกลางปัญหาที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 มีกระแสไม่พอใจกับการเมืองกระแสหลักมากมาย จนเกิดการแยกขั้วอย่างรุนแรง ในบางประเทศฝ่ายซ้ายใหม่เพิ่มคะแนนนิยม ในบางประเทศพรรคฟาสซิสต์ก็มาแรง และแนวสุดขั้วเหล่านี้ไม่ได้เห็นด้วยกับระบบประชาธิปไตยกระแสหลักเท่าไร ยิ่งกว่านั้นฝ่ายชนชั้นปกครองยุโรปก็ไม่เคารพประชาธิปไตย กรณีกรีซเป็นตัวอย่างที่ดี แม้แต่ในอังกฤษมีนายพลขู่ว่าถ้านักการเมืองฝ่ายซ้าย เจเรอมี คอร์บิน เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคแรงงาน อาจมีรัฐประหารเกิดขึ้น

ในอังกฤษและประเทศอื่นๆ ของยุโรป จะมีคนที่เห็นต่างกันอย่างรุนแรงในหลายเรื่อง เช่นเรื่องสหภาพยุโรป รัฐสวัสดิการ การทำสงคราม นโยบายรัดเข็มขัด หรือท่าทีต่อผู้ลี้ภัย ในสหรัฐก็ไม่ต่างออกไป นี่คือสาเหตุที่คะแนนนิยมนักการเมืองนอกกรอบมาแรงในยุคนี้ และนี่คือสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากในสหรัฐไม่เคยไปลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งด้วย เพราะมองว่ามันไม่เปลี่ยนอะไร

ดังนั้นความขัดแย้งทางสังคมที่เราเห็นทุกวันนี้ในไทยเป็นเรื่องธรรมดา

ในประเทศสเปน ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเดือดร้อนสูงจากนโยบายรัดเข็มขัด เพราะคนจำนวนมากตกงาน พรรคฝ่ายซ้ายใหม่ Podemos วิวัฒนาการมาจากการประท้วงของคนหนุ่มสาวในจัตุรัสต่างๆ กลางเมือง [ดู http://bit.ly/293hWr1 ] แกนนำของพรรคนี้พยายามเสนอว่าเขาจะสร้าง “ฉันทามติ” ใหม่ โดยข้ามพ้นความเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ยิ่งกว่านั้นพวกนี้จะอ้าง กรัมชี่ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์อิตาลี่ เพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่ตนเองเสนอ แต่มันเป็นการบิดเบือนกรัมชี่

กรัมชี่ เดิมเสนอความคิดเรื่อง hegemony หรือ “การครองความเป็นใหญ่ในสังคม” เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ความคิดของชนชั้นปกครองกลายเป็นที่ยอมรับทั่วไป และมีข้อเสนอว่าฝ่ายชนชั้นกรรมาชีพและแนวร่วม ควรสร้างพลังเพื่อครองความเป็นใหญ่ทางความคิดและต้านความคิดของชนชั้นปกครอง และในเรื่องนี้กรัมชี่จะเน้นเรื่องชนชั้นและความขัดแย้งทางชนชั้นเสมอ ที่สำคัญคือ กรัมชี่ ไม่ได้เสนอความคิดนี้เพื่อสร้างสันติภาพในสังคมภายใต้ฉันทามติที่สร้างความสามัคคีระหว่างชนชั้นที่ขัดแย้งกัน และเขาต้องการเห็นชนชั้นกรรมาชีพเป็นใหญ่ในสังคมเพื่อสร้างสังคมนิยม

แต่แกนนำพรรค Podemos ปฏิเสธเรื่องชนชั้น และผลพวงของชนชั้น…คือความเป็น “ซ้าย” หรือ “ขวา” คือไม่พูดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับกรรมาชีพ เช่นรัฐสวัสดิการ สิทธิแรงงาน การเพิ่มฐานะความเป็นอยู่ของคนจนผ่านการขึ้นภาษีกับคนรวย หรือการต่อต้านคำสั่งจากกลุ่มอำนาจในสหภาพยุโรป ฯลฯ และวิธีการที่เขาใช้ในการบริหารพรรคคือการนำแบบเผด็จการภายในพรรค ทั้งนี้เพื่อกีดกันไม่ให้กระแสรากหญ้าที่เคยมีสามารถกำหนดนโนบายได้ แกนนำเท่านั้นจึงมีสิทธิ์กำหนดนโยบายที่คลุมเครือไม่มีรายละเอียดแต่ฟังดูดี

ที่นี้ อ.สมศักดิ์ ก็อ้าง กรัมชี่ ในลักษณะเหมือนกันกับ Podemos คือเสนอว่าเราควรสร้าง “ฉันทามติ” ร่วมกันกับพวกชนชั้นกลางสลิ่ม คือข้ามพ้นความขัดแย้งทางชนชั้นในไทยที่ปรากฏออกมาในรูปแบบความขัดแย้งเรื่องประชาธิปไตยระหว่างแดงกับเหลือง นอกจากนี้ อ.สมศักดิ์ ก็มองว่าแนวคิดมาร์คซิสต์เป็นเรื่องที่มาล้อกันได้ในที่ประชุมเพื่อพยายามให้คนที่มองต่างมุมถูกมองว่าเป็นตัวตลก ดูเหมือนอาจารย์ข้ามพ้นความคิดมาร์ซิสต์ไปแล้ว

การสร้าง “ฉันทามติ” ระหว่างสลิ่มชนชั้นกลางกับคนเสื้อแดงในไทย ในบริบทที่ไม่มีการสร้างพลังของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ย่อมจบลงด้วยการประนีประนอมกับฝ่ายที่เกลียดประชาธิปไตยเพราะเกลียดคนจน ผลที่ออกมาคือประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น อ.สมศักดิ์ จริงใจในความพยายามที่จะหาทางไปสู่สันติภาพในไทย และจริงใจในการรักประชาธิปไตย แต่เนื่องมาจากเขาไม่เคยสนใจและไม่เคยมั่นใจในพลังมวลชน เขาจึงถึงทางตัน

อีกคนหนึ่งที่ดูเหมือนอยากคุยกับฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่มุ่งสร้างขบวนการมวลชนคือ รังสิมันต์ โรม [ดู http://bit.ly/2dizkuE %5D

วิธีสร้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในไทยที่ยั่งยืน คือการสร้างพลังมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย พร้อมๆ กับการสร้างพรรคซ้ายที่เน้นผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกรรายย่อย และคนจน และถ้าพลังของขบวนการนี้เข้มแข็งพอเมื่อไร เราจะกดดันให้ชนชั้นกลางหลายส่วน หันมาสนับสนุนเราได้ภายใต้เงื่อนไขของเรา ไม่ใช่ภายใต้เงื่อนไขของพวกที่เกลียดประชาธิปไตย ชนชั้นกลางไม่เคยเป็นกลุ่มก้อนที่มั่นคงและสามัคคี แต่เป็น “กลุ่มชนชั้น” ที่กระจัดกระจาย และจุดยืนทางการเมืองมักแกว่งไปมาเสมอ ยุคหนึ่งสนับสนุนเผด็จการ ยุคหนึ่งสนับสนุนคนชั้นล่าง ขึ้นอยู่กับพลังของสองชนชั้นที่อยู่เหนือและใต้ชนชั้นของเขา

พลังการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องสร้างบนรากฐานขบวนการเสื้อแดงเก่า ประชาชนสิบล้านคนที่ปฏิเสธรัฐธรรมนูญทหาร และนักศึกษาก้าวหน้า ที่สำคัญคือต้องสร้างขบวนการที่มีการนำอิสระจากอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยและทักษิณ

14480594_10207643228419481_7044129971385575274_o

การสร้างขบวนการดังกล่าวจะใช้เวลา และตราบใดที่ยังอ่อนแออยู่ ระดับการต่อต้านเผด็จการจะไม่สูง ซึ่งแปลว่าคำพูดของ อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักประชาธิปไตยอีกคนหนึ่ง ที่พูดในงานสัมมนาที่ปารีส และเสนอว่า “สังคมไทยใกล้จะระเบิด” คงไม่เป็นอย่างนั้นจริง

นอกจากเรื่อง “ฉันทามติ” แล้ว การมองข้ามพลังของมวลชน มักพาคนไปหลงเชื่อว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจทางการเมือง อ.สมศักดิ์ มองต่างมุมกับผมว่ากษัตริย์เป็นแค่คนที่ถูกทหารใช้ [ดู http://bit.ly/1OtUXBm   http://bit.ly/2cAODfC  http://bit.ly/2cnQepl  ]

เขาเสนอว่า “อำนาจ” เป็นเรื่องซับซ้อน เขาเสนอว่าคนที่ไม่มีใครวิจารณ์ได้มีอำนาจสูง แต่กษัตริย์ไม่ต้องออกคำสั่งอะไรอย่างตรงไปตรงมา ผมก็เลยเถียงกลับไปว่า “พระเจ้า” ก็เหมือนกัน แต่นอกจากพระเจ้าไม่มีจริงแล้ว และอำนาจพระเจ้าจึงไม่มีจริง แต่พระเจ้าก็ยังเป็นสิ่งที่นักการเมืองและชนชั้นปกครองใช้เป็นเครื่องมือที่ให้ความชอบธรรมกับตนเอง

ในเรื่องที่ผมปฏิเสธแนวคิดเรื่อง “รัฐพันลึก”  [ ดู http://bit.ly/2a1eP01 ]  มีคนไทยคนหนึ่งถามผมเพิ่มเติมและผมก็อธิบายให้ฟังตามที่เคยเขียนไว้ แต่ภาพหนึ่งที่ อ.สมศักดิ์ฉายที่ปารีส ในเรื่องจำนวนรัฐประหารของประเทศไทย ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งที่ท้าทายทฤษฏีรัฐพันลึกคือ ในอดีตมีหลายครั้งที่พวกทหารทำรัฐประหารกันเองอันเนื่องจากความแตกแยกในกองทัพ นี่ไม่ใช่ลักษณะของการมีรัฐพันลึกแต่อย่างใด

สุดท้ายนี้ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบ อ.สมศักดิ์ และ อ.ปวิน ที่ปารีส และผมหวังว่าทั้งสองท่านจะมีความสุขต่อไปในชีวิตที่อาจลำบากเพราะความกล้าหาญของเขา ผมหวังด้วยว่าทั้งสองท่านคงจะเข้าใจว่าที่ผมเถียงด้วยในบทความนี้ ไม่ได้สะท้อนอคติส่วนตัวแต่อย่างใด ประชาธิปไตยไทยจะรุ่งเรืองได้ก็ต่อเมื่อมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรีในเรื่องความคิดได้

ประเทศไทยไม่มี “รัฐพันลึก”

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้มีการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยลอนดอนหัวข้อ “ประเทศไทยในวิกฤตรัฐพันลึก” โดย อูจีนี เมริเออ เสนอบทบาทและการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นในฐานะกลไกของรัฐพันลึก

[ดู http://bit.ly/25RMW44 และบทความอ.นิธิ http://bit.ly/1UMTQ1X   ท่านอาจต้องกดเข้าไปดูที่บล็อกของเลี้ยวซ้ายเพื่ออ่าน]

ทฤษฏี “รัฐพันลึก” หรือ Deep State ใช้มุมมองบกพร่องแต่แรก เพราะมองว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “รัฐปกติ” ที่โปร่งใสและรับใช้พลเมือง ในขณะที่รัฐพันลึกเป็นกรณีพิเศษที่พบในบางประเทศ คือมีส่วนหนึ่งของรัฐที่ฝังลึกอยู่และไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยกลไกประชาธิปไตย

ในโลกแห่งความจริง รัฐทุกรัฐในระบบทุนนิยมเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนายทุน เป็นเครื่องมือเพื่อกดขี่ชนชั้นอื่นๆ โดยเฉพาะชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกรรายย่อย มันไม่รับใช้พลเมืองส่วนใหญ่แต่อย่างใด รัฐทุกรัฐในระบบทุนนิยมเข้าข้างนายทุนเสมอ เพราะปกป้องสิ่งที่เขาเรียกว่า “สิทธิในการบริหารและการเป็นเจ้าของ”ทรัพย์สินมหาศาลกับปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตของพลเมืองทุกคน พูดง่ายๆ คือ รัฐทุนนิยมปกป้องเผด็จการทางเศรษฐกิจของชนชั้นนายทุน นายทุนไม่เคยต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายทุน เขาไม่เคยมาจากคะแนนเสียงของลูกจ้างหรือประชาชนธรรมดา ตำรวจและทหาร ซึ่งเป็นกองกำลังของรัฐนี้ ถูกใช้ในการปราบปรามการนัดหยุดงานหรือการเคลื่อนไหวของประชาชนธรรมดา แต่ไม่เคยมีการใช้กองกำลังนี้เพื่อปราบปรามนายทุนที่เลิกจ้างคนงาน ปิดกิจกรรม ขนการลงทุนไปที่อื่น หรือตัดรายได้ของคนทำงาน

ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก นอกจากอำนาจเผด็จการทางเศรษฐกิจของนายทุนแล้ว มีหลายส่วนของรัฐที่ไม่ถูกตรวจสอบหรือเลือกมาจากเสียงประชาชน เช่นหน่วยราชการลับ ผู้พิพากษา ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้ว่าธนาคารชาติ หรือผู้บังคับบัญชาทหาร และหลายครั้งในอดีตมีการสร้างอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่มาจากการเลือกตั้งโดยคนเหล่านี้ เช่นในกรณีรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษ

ดังนั้นรัฐบาลกับรัฐไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และการคุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจนตั้งรัฐบาลได้ ไม่ได้แปลว่าคุมอำนาจรัฐ นี่คือเรื่องปกติของรัฐในระบบทุนนิยม

บางครั้งการพูดถึง “รัฐพันลึก” อาจมีประโยชน์ในการอธิบายบางส่วนของรัฐที่ตกค้างมาจากยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ หรือยุคฟาสซิสต์ เช่นหน่วยราชการลับที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยเมื่อประเทศนั้นมีประชาธิปไตย เช่นในตุรกี หรือบางประเทศในลาตินอเมริกา แต่มันไม่ตรงกับสภาพสังคมการเมืองของไทยเลย

การนิยามว่าไทยมี “รัฐพันลึก” โดย อูจีนี เมริเออ ต้องอาศัยการบิดเบือนพูดเกินความจริงเรื่องอำนาจกษัตริย์ ต้องมองข้ามการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในกองทัพ และในหมู่ชนชั้นนำ ต้องมองข้ามความอ่อนแอและการไม่มีความอิสระเลยของตุลาการ และที่สำคัญคือต้องไม่เอ่ยถึงบทบาทมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลย

นอกจากนี้ อูจีนี เมริเออ จะสร้างภาพเท็จว่า “รัฐพันลึก” ต้านทักษิณมาแต่แรกซึ่งไม่ใช่ ในยุคแรกๆ ของรัฐบาลทักษิณ ชนชั้นนำไทยเกือบทุกส่วนชื่นชมรัฐบาลทักษิณที่สัญญาว่าจะทำให้เศรษฐกิจและสังคมทันสมัยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและปัญหาความขัดแย้งพฤษภาปี๓๕ ตอนนั้นนายกทักษิณ ในฐานะส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองนายทุน มีอิทธิพลในกองทัพ และมีอิทธิพลเหนือตุลาการและข้าราชการระดับสูง

พวกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นปกครองไทยเริ่มหันมาต้านทักษิณในภายหลัง เมื่อค้นพบว่าแข่งกับทักษิณไม่ได้ในเวทีประชาธิปไตยที่สร้างอำนาจทางการเมือง เพราะพวกอนุรักษ์นิยมไม่ยอมเสนอนโยบายที่จะทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นด้วยเหตุที่พวกนี้คลั่งกลไกตลาดเสรี ดังนั้นเขาครองใจประชาชนธรรมดาไม่ได้

ในหมู่พวกที่มารวมตัวกันต้านทักษิณในภายหลัง มีคนจำนวนมากที่เคยเป็นแนวร่วมกับทักษิณก่อนหน้านั้น และมีคนที่เคยร่วมปราบประชาธิปไตยในอดีต สมัยสงครามเย็น ที่เข้ามาอยู่กับทักษิณอีกด้วย มันเป็นภาพพลวัตของการทำแนวร่วมชั่วคราว ที่เปลี่ยนข้างกันตามโอกาสตลอดเวลา ในหมู่ชนชั้นปกครอง มันไม่ใช่ภาพของกลุ่มก้อนบุคคลในรัฐพันลึกที่คงที่และฝังตัวอยู่กลางรัฐไทยมาตลอดแต่อย่างใด

สมาชิกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นปกครอง หรือที่ เมริเออ เรียกว่ารัฐพันลึก ไม่ได้เป็นห่วงว่าอภิสิทธิ์ของเขาจะหายไปอย่างที่เขาอ้าง เพราะทักษิณไม่ได้ต่อต้านอภิสิทธิ์ของคนใหญ่คนโตแต่อย่างใด เขาไม่ใช่นักสังคมนิยม ผู้ที่กลัวว่าอภิสิทธิ์ของตนจะถูกลดลง ในขณะที่คนชนบทและคนทำงานในเมืองจะสำคัญมากขึ้นคือชนชั้นกลางต่างหาก แต่นักวิชาการคนนี้ไม่พูดถึงพวกสลิ่มคนชั้นกลางเลย

สิ่งที่พวกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นกปครองไม่พอใจ คือการเริ่มรวบอำนาจทางการเมืองในมือทักษิณและไทยรักไทยผ่านการเลือกตั้ง

เมริเออ เสนอว่ารัฐพันลึกกำลังย้ายอำนาจของนายภูมิพลไปสู่ตุลาการในช่วงที่ใกล้หมดรัชกาล แต่นายภูมิพลไม่เคยมีอำนาจ เพียงแต่เป็นเครื่องมือเพื่อการสร้างความชอบธรรมให้กับชนชั้นปกครองโดยเฉพาะทหาร ซึ่งทหารเป็นผู้สร้างนายภูมิพลขึ้นมาจนมีภาพลวงตาว่าเหมือนพระเจ้า ทักษิณก็ใช้นายภูมิพลเช่นกัน และในยุครัฐบาลทักษิณมีการส่งเสริมความบ้าคลั่งของการสวมเสื้อเหลืองทุกสัปดาห์

การเสนอว่าพิธีสาบานตนต่อกษัตริย์ของตุลาการไทย “พิสูจน์” ว่าตุลาการต้องทำตามคำสั่งกษัตริย์เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะถ้าเป็นจริงอังกฤษคงปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนทุกวันนี้ กำตริย์ในระบบสมัยใหม่มีบทบาทแค่ในเชิงพิธีเท่านั้น

จริงๆ แล้วทฤษฏีรัฐพันลึกของ เมริเออ เป็นแค่อีกวิธีหนึ่งที่จะเสนอว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจในใจกลางรัฐ และความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งระหว่างทักษิณและกษัตริย์ ซึ่งไม่ต่างจากพวกที่พูดเกินเหตุว่านายภูมิพลสั่งการทุกอย่าง หรือแม้แต่ “ทฤษฏีเครือข่ายกษัตริย์” ของ Duncan MacCargo ที่มองข้ามพลวัตของการทำแนวร่วมชั่วคราวของชนชั้นปกครองไทย [ดู http://bit.ly/1VTFyio หน้า 84]

พวกนี้ใช้กรอบคิดร่วมกันกรอบหนึ่งคือ กรอบคิด “สตาลิน-เหมา” เรื่องขั้นตอนการปฏิวัติทุนนิยมไทย แต่บางคนอาจใช้โดยไม่รู้ตัวก็ได้ การวิเคราะห์ของนักวิชาการที่อาศัยกรอบแนวสตาลิน-เหมา ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เสนอว่าไทยเป็น “กึ่งศักดินา” ตามสูตรสำเร็จที่พรรคเหล่านี้ทั่วโลกใช้กัน ดังนั้นเขามักจะมองว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทุนสมัยใหม่(ทักษิณ) กับระบบ “กึ่งศักดินา” ของกษัตริย์ภูมิพล โดยที่กษัตริย์เป็นผู้นำทางการเมืองที่สำคัญ

มุมมองแบบนี้จะต้องอาศัยข้อสรุปว่าการปฏิวัตินายทุนหรือที่บางคนเรียกว่า “กระฎุมพี” ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือยังไม่สมบูรณ์ในประเทศไทย   มันเป็นมุมมองบกพร่องที่เสนอการปฏิวัตินายทุนและขั้นตอนของประวัติศาสตร์ในลักษณะกลไก เป็นการสวมประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 18 ในยุโรปทับสถานการณ์บ้านเมืองในไทยปัจจุบัน เพราะแท้จริงแล้ว การปฏิวัติกระฎุมพีของไทย ที่ทำลายระบบศักดินาและสร้างรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นภายใต้การนำของกษัตริย์รัชกาลที่๕

การที่ม็อบชนชั้นกลางที่ต้านทักษิณชูธงเหลืองหรือรูปกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือม็อบสุเทพ ไม่ได้แปลว่ากษัตริย์จัดตั้งพวกนี้แต่อย่างใด การที่ทหารเผด็จการเชิดชูกษัตริย์ก็เช่นกัน ถ้าเราหลงเชื่อปรากฏการณ์เปลือกภายนอกผิวเผินแบบนี้ เราจะคิดตื้นเขินเกินไป

ในลักษณะเดียวกัน การที่พุทธอิสระใช้ความรุนแรงในการทำลายประชาธิปไตยขณะที่ห่มผ้าเหลือง ก็ไม่ได้แปลว่าพระพุทธเจ้าบงการการกระทำแย่ๆ ของพุทธอิสระแต่อย่างใด

จริงๆ แล้วรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ก็เชิดชูกษัตริย์เช่นกัน และพร้อมจะใช้กฏหมาย 112 ด้วย ข้อแตกต่างระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองและทหาร กับฝ่ายทักษิณ ไม่ใช่เรื่องกษัตริย์นิยมแต่อย่างใด ข้อแตกต่างแท้คือฝ่ายทักษิณสามารถใช้นโยบายเศรษฐกิจและการเมืองในการเพิ่มความชอบธรรมให้ตนเองประกอบกับการเชิดชูกษัตริย์ ในขณะที่พวกทหารและเสื้อเหลืองมีสิ่งเดียวที่เขาหวังใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมคือเรื่องความคิดกษัตริย์นิยม

ตุลาการไทย และส่วนอื่นๆ ของระบบราชการไทย มีความอ่อนแอมากและไม่เคยเป็นตัวของตัวเองเลย เพราะมัวแต่ก้มหัวรับฟังคำสั่งจากทหาร หรือคนใหญ่คนโตที่เป็นนักการเมืองตลอด นี่คือสาเหตุที่ไทยไม่มีมาตรฐานความยุติธรรม และระบบข้าราชการเต็มไปด้วยการคอร์รับชั่นและการแทรกแซงโดยผู้มีอิทธิพล กองกระดาษและเอกสารที่พลเมืองต้องกรอกเพื่อทำอะไรในระบบราชการ เป็นอาการของข้าราชการที่ไม่เคยกล้าตัดสินใจเองในเกือบทุกเรื่อง คือต้องส่งขึ้นไปให้คนใหญ่คนโตเห็นชอบเสมอ

กองทัพไทยไม่เคยสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวและไม่มีจุดยืนคงที่ด้วย เพราะกองทัพคือแหล่งกอบโกยสำคัญของพวกนายพล การแบ่งพรรคแบ่งพวกแบบนี้ทำให้กองทัพมีอำนาจจำกัดทั้งๆ ที่สามารถล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ซีกต่างๆ ของกองทัพมีแนวการเมืองต่างกันด้วย ในอดีตมีนายพลที่เกลียดเจ้า หรือเป็นฝ่ายซ้าย ในปัจจุบันมีนายพลที่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย และมีทหารที่เข้าข้างทักษณ เพียงแต่ว่ากลุ่มประยุทธ์ที่ครองอำนาจอยู่ตอนนี้เป็นกลุ่มขวาจัดเท่านั้นเอง ดังนั้นกองทัพไม่ใช่อะไรที่จะสร้างรัฐพันลึดอะไรได้

สิ่งที่มีอิทธิพลต่ออำนาจกองทัพมากที่สุดคือพลังมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างมวลชนกับอำนาจรัฐ มีแพ้และมีชนะ มีช่วงเผด็จการและมีช่วงประชาธิปไตย สาเหตุหนึ่งที่เผด็จการครองเมืองตอนนี้ได้ก็เพราะหลายส่วนที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการทางสังคม ไปโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหาร แต่ทุกวันนี้เผด็จการทหารยังต้องพยายามสร้างภาพลวงตาว่าจะจัดการเลือกตั้งและปฏิรูปการเมือง เพราะกลัวกระแสประชาธิปไตยในสังคมไทย

เมริเออ ยอมรับว่ากระแสประชาธิปไตยปัจจุบันทำให้พวกอนุรักษ์นิยมเลือกไปเพิ่มอำนาจตุลาการ เพราะดูดีกว่าการใช้อำนาจโดยตรงของทหารหรือกษัตริย์ แต่เขาไม่เอ่ยถึงบทบาทสำคัญของมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลย สำหรับนักวิชาการคนนี้ ช่วงที่เป็นประชาธิปไตยของไทยเป็นการ “ทดลอง” ของชนชั้นนำเท่านั้น คือทุกอย่างกำหนดจากเบื้องบน

แนว “รัฐพันลึก” อาจเป็นแนวคิดที่ใหม่และน่าตื่นเต้นสำหรับนักวิชาการหอคอยงาช้าง แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรในการอธิบายวิกฤตการเมืองไทยเลย

อ่านเพิ่ม

http://bit.ly/1VTFyio ,  http://bit.ly/1OtUXBm , http://bit.ly/1UoSKed