Tag Archives: รัฐ

เผด็จการหรือประชาธิปไตย เราพึ่งศาลไม่ได้

ไม่ว่าประเทศเราจะปกครองด้วยประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ตราบใดที่เราอยู่ในระบบชนชั้นของทุนนิยม เราพึ่งศาลไม่ได้

ในระบบเผด็จการของไทยปัจจุบัน ศาลจะทำตามแนวคิดของเผด็จการ เพื่อปกป้องเผด็จการเสมอ ในเรื่องนี้คนจำนวนมากเข้าใจมานานแล้ว แต่ปัญหาทั้งหมดของ “ความไม่เป็นกลาง” ของศาลไม่ได้มาจากที่มาของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นเท่านั้น แน่นอนในระบบเผด็จการมันชัดเจนมากว่าที่มาของศาลคือการแต่งตั้งจากพรรคพวกของเผด็จการ มันชัดเจนมาก

แต่ในระบบประชาธิปไตย ศาลซึ่งเป็นกลไกส่วนหนึ่งของรัฐทุนนิยม ศาลไม่ได้เป็นกลางอย่างที่แนวคิดเสรีนิยมชวนให้เราเชื่อ ลองไปคุยกับคนงานในสหภาพแรงงานเรื่องศาลแรงงานก็จะเห็นภาพ ศาลมักจะเข้าข้างนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ และที่มาของศาลในระบบประชาธิปไตยก็ยังเป็นปัญหาอีก เพราะศาลถูกแต่งตั้งมาจากคนที่เรียนสูงและใกล้ชิดกับชนชั้นปกครอง มีที่ไหนไหมที่ศาลถูกแต่งตั้งจากกรรมาชีพคนทำงานธรรมดา หรือเกษตรกรยากจน? ไม่มีเพราะในกระแสหลักมักมีการอ้างกันว่าต้องเรียนสูงและเข้าใจกฎหมาย แต่ในความจริงเรื่องความยุติธรรมเป็นสิ่งที่คนธรรมดาเข้าใจได้ และความยุติธรรมบ่อยครั้งไม่เกี่ยวอะไรเลยกับกฎหมาย มันเกี่ยวกับการตัดสินว่าอะไรยุติธรรมอะไรไม่ยุติธรรมมากกว่า แต่ในระบบทุนนิยมกระแสหลักมักพยายามอ้างว่าความยุติธรรมมากจากการตีความเข้าใจกฎหมายหรือการตีความรัฐธรรมนูญ

นี่คือสาเหตุที่นักสังคมนิยมชื่นชมระบบลูกขุนที่คัดเลือกสามัญชนมาพิจารณาคดี แต่ถ้าเราจะมีความยุติธรรมแท้จริง และมีสิทธิเสรีภาพ เราต้องไปไกลกว่านี้ แม้การเลือกตั้งศาลในลักษณะที่ประชาชนถอดถอนได้ ซึ่งเป็นเรื่องดี ก็ยังไม่พอ

ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก เรื่องสองมาตรฐานสำหรับคนรวยกับคนจนยังเป็นปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง และสาเหตุมาจากความไม่ยุติธรรมของศาล มันมาจากอำนาจเงินในการจ้างทนายหรือการกดดันเบี่ยงเบนกฎหมาย หรือการที่สื่อกระแสหลักเข้าข้างคนมีอำนาจอีกด้วย

ถ้าการมีประชาธิปไตยในระบบทุนนิยมไม่เพียงพอที่จะสร้างความยุติธรรมได้ อะไรคือสิ่งสำคัญที่สร้างความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพภายใต้ประชาธิปไตยทุนนิยม?

คำตอบคือ คนธรรมดาต้องสร้างความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพเอง โดยเฉพาะคนธรรมดาที่จัดตั้งในขบวนการกรรมาชีพ สหภาพแรงงาน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และพรรคการเมืองของกรรมาชีพ นี่คือพลังที่ใช้ขยายพื้นที่ประชาธิปไตยได้ภายใต้ข้อจำกัดของประชาธิปไตยทุนนิยม และเป็นพลังที่สร้างกระแสความคิดจากล่างสู่บน เพื่อคานกับกระแสความคิดของชนชั้นปกครอง

ชนชั้นปกครองและนักวิชาการของชนชั้นปกครองมักจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะมันไปขัดกับกติกาที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเอง

ตัวอย่างที่ดีและชัดเจนในยุคนี้ตัวอย่างหนึ่ง คือคดีที่ตำรวจผิวขาวสหรัฐถูกดำเนินคดีในศาลอันเนื่องมาจากการจงใจใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำจนคนอย่าง George Floyd ต้องเสียชีวิต

เหตุการณ์ฆ่าและใช้ความรุนแรงโดยตำรวจผิวขาวกับคนผิวดำในสหรัฐและในหลายประเทศของยุโรป เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน และมาจากการเหยียดสีผิวในองค์กรของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจ และที่แล้วมาเกือบจะไม่มีตำรวจคนไหนเลยโดนดำเนินคดีทั้งๆ ที่มันน่าจะผิดกฎหมาย

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปที่ทำให้ตำรวจสหรัฐต้องขึ้นศาลและถูกจำคุก คือขบวนการ Black Lives Matter (ชีวิตคนผิวดำสำคัญ) ที่ระเบิดขึ้นบนท้องถนนและประกอบไปด้วยคนผิวดำและคนผิวขาว โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ที่เรียกร้องความยุติธรรม นี่คือสิ่งที่กดดันรัฐให้ต้องดำเนินคดี และกดดันศาลให้ต้องจำคุกตำรวจ

เวลามีการสำแดงพลังของคนธรรมดา ส่วนต่างๆ ของรัฐทุนนิยม อันประกอบไปด้วยคุกศาลตำรวจทหาร มักจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมชั่วคราวเพื่อตามกระแสในสังคม แต่มันเป็นเรื่องชั่วคราวตราบใดที่เราไม่โค่นล้ม ล้มล้างระบอบการปกครองทางชนชั้นของทุนนิยม

ใจ อึ๊งภากรณ์

มาร์คซิสต์กับ “ความรุนแรง”

เมื่อพูดถึง “ความรุนแรง” สิ่งแรกที่นักมาร์คซิสต์ต้องย้ำเสมอคือ ความรุนแรงของพวกที่กดขี่เรา (เช่น รัฐ ทหาร ตำรวจ ศาล) ไม่เหมือนความรุนแรงของคนที่ถูกกดขี่ปราบปราม ในเรื่องนี้พวก “สันติวิธี” แบบหอคอยงาช้างมักจะละเลยเสมอด้วยคำพูดในเชิง “ขอให้ทุกฝ่ายปฏิเสธความรุนแรง”

คำพูดแบบนั้นเรามักได้ยินในเรื่องความขัดแย้งในปาตานี หรือการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย สิ่งที่พวกสันติวิธีแบบหอคอยงาช้างมองข้ามเสมอคือ ฝ่ายรัฐมีกองกำลังติดอาวุธและพร้อมที่จะใช้อาวุธเหล่านั้นเสมอ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การที่เขาถืออาวุธไว้ปราบประชาชนเป็นการประกาศตั้งแต่แรกว่ารัฐพร้อมจะใช้ความรุนแรงเสมอ ดังนั้นข้อเรียกร้องว่า “ขอให้ทุกฝ่ายปฏิเสธความรุนแรง” ไม่มีผลกับรัฐ แต่กลับกลายเป็นคำวิจารณ์คนที่ถูกกดขี่ปราบปรามที่พยายามป้องกันตัวเท่านั้น

คนที่อยู่ในไทยที่นั่งอยู่บ้านไม่ทำอะไร แต่วิจารณ์ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หรือประกาศว่า “เป็นห่วงน้องๆ” ที่ออกมาชุมนุม เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล เพราะถ้าเขาไม่อยากเห็นความรุนแรงเขาจะต้องมาร่วมชุมนุม ในหลายๆ กรณีมวลชนยิ่งมากเท่าไร รัฐยิ่งไม่กล้าปราบ

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การกดขี่ชาวมาเลย์มุสลิมที่ปาตานี เราจะเห็นว่าขบวนการติดอาวุธสู้กับรัฐไทย เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐไทยใช้ความรุนแรงเสมอ เช่นหลังจากที่หะยีสุหลงถูกรัฐไทยอุ้มฆ่าในปี ๒๔๙๗  โดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ หรือหลังจากการลงมือฆ่าชาวมาเลย์มุสลิมไร้อาวุธที่ตากใบในปี ๒๕๔๗ โดยรัฐบาลทักษิณ

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การจับอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เราจะเข้าใจว่าการจับอาวุธเป็นปฏิกิริยาต่อการที่รัฐไทยเข้ามาปราบปรามด้วยความรุนแรง เช่นการจับขังหรือการฆ่าเป็นต้น

ในปัจจุบัน เมื่อเราพิจารณาการเคลื่อนไหวของ กลุ่มเยาวชนปลดแอก คณะราษฏร์ หรือ REDEM ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ไร้อาวุธ เราจะเห็นว่ากลุ่มคนที่เตรียมอาวุธมาทำร้ายคนอื่นคือตำรวจกับทหาร และอันธพาลของฝ่ายคลั่งเจ้า การที่ตำรวจและทหารสลายการชุมนุมของผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการฉีดน้ำใส่สารเคมี การใช้ก๊าซน้ำตา การใช้กระสุนยาง หรือการใช้กระสุนจริง (อันหลังนี้โดยเฉพาะในกรณีเสื้อแดง) ถือว่าเป็นการจงใจใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ฝ่ายรัฐปกครองด้วยอำนาจเผด็จการที่มาจากการใช้ความรุนแรงในการทำรัฐประหารแต่แรก

การที่แกนนำผู้ชุมนุมหลายๆ คนถูกรัฐจับกุมและขังในคุกด้วยกฏหมายเถื่อน112 ถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเพื่อปิดปากประชาชนและห้ามไม่ให้มีการแสดงออกอย่างเสรี อย่าลืมว่าคนที่กำลังโดน 112 แค่ใช้คำพูดในการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรมสูงตามหลักประชาธิปไตย เขาไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด ไม่เหมือนนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือดประยุทธ์ที่เคยสั่งฆ่าเสื้อแดง และต้องรับผิดชอบกับการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในยุคนี้

ดังนั้นถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยพยายามป้องกันตัวหรือโกรธแค้นขึ้นมา และใช้ความรุนแรงโต้ตอบตำรวจหรือทหารมันเป็นเรื่องที่ไม่ผิด เข้าใจได้ และมาร์คซิสต์จะไม่มีวันวิจารณ์ เราจะพุ่งเป้าการวิจารณ์ไปที่รัฐบาลเผด็จการกับตำรวจทหาร

ในกรณีที่ผู้ชุมนุมชาวอเมริกันลุกขึ้นมาประท้วงในขบวนการ “Black Lives Matter” และไปเผาโรงพักที่ส่งตำรวจออกไปฆ่าคนผิวดำ เราจะไม่มีวันวิจารณ์

แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าภายในขบวนการเคลื่อนไหว มวลชนจะไม่มีการถกเถียงกันเรื่องความฉลาดในการใช้ความรุนแรงหรือวิธีการที่จะไม่ทำให้การเคลื่อนไหวเสียการเมือง

ในเรื่องการใช้ความรุนแรงเราพูดแค่นี้ไม่ได้ มีอีกสองประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณา

ประเด็นแรกคือยุทธวิธีการจับอาวุธ ที่เคยใช้โดยพรรคคอมมิวนิสต์ หรือที่ BRN ใช้ในปาตานีตอนนี้ ไม่สามารถเอาชนะรัฐไทยได้ เพราะกองกำลังของรัฐไทยมีอาวุธและจำนวนคนมากกว่า ยิ่งกว่านั้นการใช้แนวจับอาวุธมีผลทำให้มวลชนคนธรรมดาไม่มีบทบาทอะไรเลย และไม่มีส่วนในการกำหนดแนวทางต่อสู้เคลื่อนไหว เพราะพวกจับอาวุธย่อมปิดลับเสมอ มาร์คซิสต์มองว่าถ้าเราจะล้มเผด็จการหรือเปลี่ยนสังคม เราต้องอาศัยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชน ซึ่งไม่ได้แปลว่าเมื่อใกล้ชนะแล้วมวลชนจะไม่ติดอาวุธเพื่อป้องกันตัวจากฝ่ายรัฐเก่าที่พร้อมจะฆ่าคนจำนวนมากในการรักษาอำนาจอันไม่ชอบธรรม แต่ในกรณีนั้นแนวทางจะเน้นมวลชนเหนือการจับอาวุธ

ถ้าจะเปรียบเทียบแนวจับอาวุธกับแนวมวลชน เรามีบทเรียนสำคัญจาก Arab Spring เพราะในกรณีอียิปต์ หรือตูนิเซีย มีการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ล้มผู้นำเผด็จการได้ แต่ในกรณีซิเรีย การใช้แนวจับอาวุธนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ล้มผู้นำเผด็จการไม่ได้ และแถมเปิดช่องให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมในสงคราม จนสังคมซิเรียพังทะลาย

ประเด็นที่สองคือเรื่องการปก้องกันตัวจากความรุนแรงของฝ่ายรัฐ มาร์คซิสต์จะมองว่าถ้าเราสู้ด้วยอาวุธชนิดเดียวกับที่ผู้กดขี่เราใช้ จะไม่ได้ผลเท่าไร แต่ถ้าเราใช้พลังของมวลชนในการนัดหยุดงาน มันเป็นอาวุธที่ฝ่ายรัฐมีความลำบากมากในการปราบหรือโต้ตอบ เพราะกรรมาชีพผู้ทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจ การนัดหยุดงานจึงเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่มีพลัง และสามารถใช้ล้มเผด็จการได้

อ่านเพิ่ม

ถ้าจะไล่เผด็จการทหารต้องปลุกระดมการนัดหยุดงาน http://bit.ly/2Oh1mJz

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

มาร์คซิสต์ กับการต่อสู้ในยุคคนหนุ่มสาว http://bit.ly/3iBPzAO

แนวคิดมาร์คซิสต์คืออะไร https://bit.ly/3s5eu42

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐกับการปฏิวัติ ทำไมเราต้องปฏิวัติ

รัฐ คืออะไร? ใครคุมอำนาจรัฐในระบบเผด็จการ? ใครคุมอำนาจรัฐในระบบประชาธิปไตย? นี่คือประเด็นที่นักมาร์คซิสต์ต้องเข้าใจ

ถ้าเราศึกษาหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของ เลนิน และ “สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส” ของ มาร์คซ์ เราจะเข้าใจว่า ในทุกสังคมภายใต้ทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปตะวันตก หรือไทย มีพวกชนชั้นปกครองดำรงอยู่ ซึ่งดูเหมือนขัดกับรัฐธรรมนูญหรือหลักประชาธิปไตย และการกำจัดพวกนี้จะอาศัยแค่การเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นไม่พอ เพราะ “รัฐ” มันมากกว่าแค่รัฐบาล

ในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติเลนิน กล่าวถึงงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์ “รุ่นครู”    เลนิน ชี้ให้เห็นว่า “รัฐ” มันมากกว่าแค่ “รัฐบาล” และรัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเป็นหลัก ตรงนี้เราไม่ควรสับสนว่า “ชนชั้นนายทุน” คือคนอย่างทักษิณหรือหัวหน้า CPเท่านั้น เพราะในไทยชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕ ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง กษัตริย์ นักการเมืองผู้ใหญ่ และนายทุนเอกชน

สำหรับนักมาร์คซิสต์ เราเชื่อกันว่า “รัฐ” เป็นสิ่งที่เกิดมากับสังคมชนชั้น มันไม่ใช่สิ่งธรรมชาติที่ตกจากฟ้า รัฐเป็นเครื่องมือที่คนกลุ่มน้อยในสังคมปัจจุบันใช้เพื่อควบคุมคนส่วนมากที่ถูกปกครอง ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร

สังคมทุนนิยมในปัจจุบัน และสังคมศักดินาในอดีต ล้วนแต่เป็นสังคมชนชั้น คือคนส่วนน้อยปกครองและขูดรีดคนส่วนใหญ่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ที่อาจเปิดเผยหรือซ่อนเร้นก็ได้ ในการสร้างสังคมนิยมอันเป็นประชาธิปไตยแท้ เราจึงต้องปฏิวัติล้มรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ชั่วคราวขึ้นมา เพื่อเป็นอำนาจในการเปลี่ยนสังคม แต่เป้าหมายระยะยาวคือการยกเลิกรัฐ หรือที่ เลนิน เรียกว่าเป็นการ “สิ้นสุดของการปกครอง” เพื่อให้มนุษย์กำหนดอนาคตตนเองในชุมชนต่างๆ อย่างเสรี

“อำนาจพิเศษสาธารณะ” ของรัฐ อาศัยวิธีควบคุมสังคมสองวิธีคือ (๑) อาศัยกองกำลังและการปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่ง เองเกิลส์ และ เลนิน เรียกว่า “องค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ” นั้นคือ ทหาร ตำรวจ ศาล และคุก กับ(๒) อาศัยการสร้างระเบียบและความชอบธรรมกับการปกครองของรัฐ เพื่อให้ผู้ถูกปกครองยอมรับอำนาจรัฐ และวิธีที่สำคัญคือการวางตัวของรัฐให้ห่างเหินแปลกแยกจากสังคม เพื่อให้ดูเหมือน “ลอยอยู่เหนือสังคมและเป็นกลาง” ในขณะที่คุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ เพราะถ้ารัฐไม่สร้างภาพแบบนี้มาปิดบังความจริงที่รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองฝ่ายเดียว ประชาชนจะไม่ให้ความจงรักภัคดี การควบคุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ กระทำผ่านการพยายามผูกขาดแนวคิดในโรงเรียน ศาสนา และสื่อ จนเราอาจไม่รู้ตัวว่าเราถูกควบคุมกล่อมเกลาทางความคิด

เองเกิลส์ อธิบายว่ารัฐไหนสร้างภาพหลอกลวงว่าเป็นกลางได้ดีที่สุด รัฐนั้นสามารถควบคุมประชาชนได้อย่างแนบเนียนที่สุด นี่คือสาเหตุที่นักวิชาการที่รับใช้ชนชั้นปกครองมักเสนอตลอดว่า “รัฐเป็นกลาง” ไม่เข้าข้างใคร และด่าแนวมาร์คซิสต์ว่า “ตกยุค”

ในยุคนี้รัฐไทยเผยธาตุแท้ว่าเป็นรัฐเผด็จการและเป็นศัตรูของประชาชน จึงครองใจพลเมืองยากขึ้น แต่ในอนาคตเขาจะพยายามสร้างภาพว่าเป็นกลางอีกครั้ง

ทุกวันนี้เราต้องสู้ทางความคิดเพื่อทำลายความชอบธรรมของชนชั้นปกครอง ตรงนี้เราจะได้เปรียบในแง่หนึ่ง เพราะการหาความชอบธรรมของชนชั้นปกครองย่อมอยู่บนพื้นฐานการโกหกหลอกลวงเสมอ เข้าใจได้ง่าย เพราะชนชั้นปกครองมีผลประโยชน์ตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ที่ถูกปกครอง ดังนั้นข้อสรุปสำคัญคือ เราต้องทำสงครามความคิดอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่ไปประนีประนอมกับความคิดชนชั้นปกครองโดยกลัวว่าคนส่วนใหญ่ “ยังไม่พร้อม” จะรับความคิดใหม่ นี่คือ “สงครามจุดยืน” ที่ อันโตนิโอ กรัมชี่ นักมาร์คซิสต์อิตาลี่เคยพูดถึง สำหรับกรัมชี่มันมีสงครามสองชนิดที่เราต้องทำคือ “สงครามจุดยืน” และ “สงครามขับเคลื่อน” –การเผชิญหน้า ปฏิวัติ และล้มรัฐเก่านั้นเอง

ถ้าเราจะทำสงครามจุดยืน มันแปลว่า เราทุกคนที่อยากร่วมในการต่อสู้ ต้องสร้างตัวขึ้นมาเป็น “อาจารย์” หรือสิ่งที่ กรัมชี่ เรียกว่า “ปัญญาชนอินทรีย์” คือนักคิดติดดินที่เลือกข้างประชาชนคนจน และกรรมาชีพนั้นเอง ถ้าใครคิดว่าจะพัฒนาตนเองเป็นอาจารย์ไม่ได้ ก็ลองดูพวกอาจารย์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ตามมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน พวกนี้มีอคติกับคนจนที่รักประชาธิปไตย และเขาพร้อมจะโกหกบิดเบือนทฤษฏีต่างๆ เพื่อปกป้องคนรวยและอภิสิทธิ์ชน  การกระทำของเขาไม่ใช่การใช้ปัญญาอะไรหรอก มันเป็นการเอาผลประโยชน์ชนชั้นตนเองมานำทุกอย่าง

ถ้าเราเข้าใจ “รัฐกับการปฏิวัติ” เราจะเข้าใจว่าชนชั้นปกครองในทุกสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ รวมถึงไทยและที่อื่น เป็นส่วนหนึ่งของ “อำนาจพิเศษสาธารณะ” นี่คือสาเหตุที่ในประเทศตะวันตกที่มีประชาธิปไตย บ่อยครั้งรัฐบาลพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยม ที่มาจากการเลือกตั้ง อาจต้องยอมอ่อนน้อมต่อนายทุนใหญ่หรือข้าราชการในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ

การทำลายอำนาจชนชั้นปกครองจึงไม่ใช่แค่การผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการยอมรับผลของการเลือกตั้งเท่านั้น การกำจัดชนชั้นปกครองต้องอาศัยการปฏิวัติล้มรัฐเก่าในทุกแง่ เพื่อสร้างรัฐใหม่ของประชาชนผู้ทำงาน หรือที่เรียกว่า “รัฐกรรมาชีพ” ซึ่ง มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าองค์ประกอบของรัฐเก่านั้นมันไม่หายไปง่ายๆ เพราะมันเป็น “งูเหลือมที่รัดสังคมไว้อย่างแน่นแฟ้น” ต้องใช้ “ไม้กวาดแห่งการปฏิวัติ” ถึงจะแกะมันออกได้ และต้องสร้างรัฐใหม่ที่มีองค์ประกอบใหม่ขึ้นมาแทน เช่นรัฐสภาคนทำงาน กองกำลังของประชาชน หรือผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นต้น ต้องรื้อกฎหมายเก่าๆ ทิ้งให้หมด และสร้างระเบียบใหม่ของสังคม โดยที่คนส่วนใหญ่ คนจน คนทำงาน… เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เพราะประชาธิปไตยแท้ต้องไม่มีอภิสิทธิ์ชน และต้องไม่มีนายทุนที่เป็นเผด็จการทางเศรษฐกิจในสถานที่ทำงานและระบบการผลิตอีกด้วย

ในระยะยาวการที่เราต้องปฏิวัติ ไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวันในสังคม หรือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรัฐสภาในระบบทุนนิยม การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยในสังคมทุนนิยม เป็นสิ่งที่นักมาร์คซิสต์เช่น โรซา ลัคแซมเบอร์ค มองว่าสำคัญและจำเป็น มันเป็นการต่อสู้ประจำวันที่ให้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น มันช่วยให้เรามีสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรอง มันช่วยให้เราประท้วงหรือเดินขบวนได้ มันช่วยให้เรามีสื่อและสิทธิในการแสดงออก และที่สำคัญ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยภายในระบบทุนนิยม จะผลักดันชนชั้นปกครองจนเขาไม่กล้ามาก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพมากเกินไป มันทำให้ชนชั้นปกครองลำบากมากขึ้นในการใช้อำนาจเพราะต้องหลบไปในมุมมืดและแอบใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจของเครือข่ายอภิสิทธิ์ชนลับหลัง ซึ่งเป็นสภาพสังคมที่เห็นในยุโรปตะวันตกหรือสหรัฐ

โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยอธิบาย…ในหนังสือ “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” ว่าการต่อสู้ประจำวันเป็นการฝึกฝนมวลชนให้พร้อมเพื่อการปฏิวัติที่จะล้มและทำลายรัฐเก่าลงอย่างสิ้นเชิงในอนาคต แต่สำหรับคนที่เสนอให้ “ค่อยเป็นค่อยไป” นั้น เธออธิบายว่าพวกนี้จะเป็นคนที่ต้องการประนีประนอมกับรัฐเก่าเสมอ

รัฐทุนนิยมปกป้องการขูดรีด

รัฐทุนนิยมจะปกป้องกฎหมายและระบบศาลที่ให้ประโยชน์กับนายทุนในการขูดรีด การ “ขูดรีด” หมายถึงการที่นายทุนไม่กี่คน สามารถยึดมูลค่าทั้งหมดที่คนงานทั้งหลายสร้างขึ้นมาจากการทำงาน มันเป็นระบบการขูดรีดแบบแอบแฝง ไม่เหมือนสมัยก่อนทุนนิยมที่ขุนนางส่งทหารมาบังคับให้เราทำงาน หรือบังคับให้เราส่งภาษี มันดูเหมือนว่าไม่มีใครบังคับเรา แต่ในความเป็นจริง คนที่ทำงานในระบบทุนนิยมไม่มีทางเลือกอะไร เพราะถ้าไม่ทำงานก็อดตาย ที่สำคัญคือ…..

การเปลี่ยนรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม ไม่สามารถกำจัดระบบขูดรีดของนายทุนได้

ความมั่นใจในตนเอง

การต่อสู้ของมวลชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจกับทุกคนว่าเราสามารถเปลี่ยนสังคมได้ มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าในระบบทุนนิยม เราจะถูกสอนให้คิดว่าเราด้อยกว่าชนชั้นปกครอง “เราไม่มีความสามารถ และเราต้องจงรักภักดีต่อเขาเสมอ” ชนชั้นปกครองใช้สื่อ โรงเรียน และศาสนาในการกล่อมเกลาเราเรื่องนี้ แต่ มาร์คซ์ และนักมาร์คซิสต์ชาวฮังการี่ชื่อ จอร์ช ลูคักส์ อธิบายว่าถ้าจะแก้ไขสภาพเช่นนี้ เราต้องเคลื่อนไหวต่อสู้ ต้องเสริมความมั่นใจซึ่งกันและกัน และท่ามกลางการต่อสู้เราจะตาสว่างถึงคำหลอกลวงของชนชั้นปกครอง อย่างไรก็ตามถ้าจะให้การต่อสู้มีพลัง นอกจากจะต้องมีมวลชนแล้ว ยังต้องจัดระบบความคิดและจัดตั้งมวลชนผ่านการสร้างพรรคปฏิวัติ

การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เป็นก้าวสำคัญ แต่หยุดไม่ได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

การชุมนุมใหญ่ที่ธรรมศาตร์ในวันที่ 10 สิงหาคม มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่สำคัญคือ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ ยกเลิกการรวบทรัพย์สินภายใต้วชิราลงกรณ์และเพิ่มความโปร่งใสในเรื่องเงิน ลดงบประมาณที่จัดสรรให้กษัตริย์ ยกเลิก “ราชการในพระองค์” ยกเลิกอำนาจกษัตริย์ในการแสดงความเห็นทางการเมือง ยกเลิกการเชิดชูกษัตริย์เกินเหตุเพียงด้านเดียว ยกเลิกการที่กษัตริย์จะรับรองรัฐประหาร และเปิดกระบวนการที่จะสืบความจริงเกี่ยวกับผู้เห็นต่างที่ถูกอุ้มฆ่า

117361552_10158431778723965_6127601580717401228_o

ถือได้ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยในสังคมไทย และทุกคนที่รักเสรีภาพควรจะสนับสนุน

แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณาในการต่อสู้ต่อไปคือ เราจะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะกดดันรัฐบาลทหารให้ยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่ต้องพูดคือการต่อสู้อยู่ในขั้นตอนริเริ่ม หยุดไม่ได้ ต้องขยายขบวนการเคลื่อนไหวไปสู่ประชาชนผู้ทำงานเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งการก่อตั้ง “คณะประชาชนปลดแอก” เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่จุดนี้ และแน่นอนมันไม่เกิดขึ้นเอง พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนหรือทำงานที่ไหนต้องร่วมกันช่วยสร้าง

และที่สำคัญคือเราไม่ควรลดความสำคัญของข้อเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน ให้ยุบสภา และเลิกคุกคามประชาชนผู้รักเสรีภาพ ซึ่งหมายความว่าเราต้องเคลื่อนไหวต่อเพื่อให้รัฐบาลเผด็จการลาออก

ทุกคนคงเข้าใจดีว่าการล้มเผด็จการไม่ใช่เรื่องเล็ก แค่การรณรงค์ให้ไม่รับปริญญา ซึ่งเป็นการประท้วงปัจเจกเชิญสัญลักษณ์ อาจช่วยในการรณรงค์หรือขยายจิตสำนึก แต่มันล้มเผด็จการไม่ได้

Lebanon-Beirut-August-8-2020-e1596964569861
เบรูต เลบานอน

ในขณะที่ผู้คนกำลังชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ เราเห็นรูปธรรมของม็อบที่ล้มรัฐบาลสำเร็จในเมืองเบรูต ประเทศเลบานอน มีผู้ชุมนุมออกมาเป็นแสนจากทุกส่วนของสังคม การประท้วงแบบนี้เคยเกิดที่ไทยในช่วง ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ และเคยเกิดในประเทศอื่นๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เราต้องร่วมกันคิดว่าเราจะสร้างขบวนการอันยิ่งใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร และเราไม่ควรลืมว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการรัฐสภาปัจจุบัน เพราะคนส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงต้านพรรคทหาร ดังนั้นมันมีกระแสที่จะช่วยเรา

มันเป็นเรื่องธรรมดาที่พลเมืองที่ออกมาประท้วงจะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน และคนจำนวนมากจะอยู่ในสภาพการพัฒนาความคิดความเข้าใจท่ามกลางการต่อสู้ และมันเป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรต่างๆ นักการเมือง นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการ จะพยายามเสนอแนวคิดที่ตนเองมองว่ามีน้ำหนักมากที่สุด บางทีเพื่อเสริมการต่อสู้ บางทีเพื่อยับยั้งการต่อสู้ นั้นคือสาเหตุที่การตั้งพรรคฝ่ายซ้ายเป็นเรื่องสำคัญ

รัฐบาลเถื่อน

สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าพลเมืองที่ออกมาสู้ต้องเข้าใจคือเรื่องศูนย์กลางอำนาจ ในความเห็นผมสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยไม่ควรประเมินอำนาจของวชิราลงกรณ์สูงเกินไป เพราะอาจจะทำให้มีการเบี่ยงเบนเป้าหมายจากคณะทหารเผด็จการ และมันมีผลต่อยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายเราใช้

ผมเขียนเรื่องข้อจำกัดของอำนาจกษัตริย์ไว้หลายที่ เช่น “การมองว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่างเป็นการช่วยให้ทหารลอยนวล”  https://bit.ly/2XIe6el  และ“ว่าด้วยวชิราลงกรณ์” https://bit.ly/31ernxt

อีกเรื่องที่ผมคิดว่าทุกคนควรทำความเข้าใจ คือประเด็นว่าทำไมชนชั้นปกครองในหลายประเทศทั่วโลก นิยมให้คงไว้สถาบันกษัตริย์ เพราะในมุมมองผม การคงไว้สถาบัยกษัตริย์ในรูปแบบตะวันตกภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นผลเสียกับฝ่ายเรา เพราะเป็นเครื่องมือในการเสนอลัทธิอภิสิทธิ์ชนว่าคนเราเกิดสูงและเกิดต่ำและบางคนมีสิทธิ์จะเป็นผู้นำในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้ตาม มันออกแบบมาเพื่อแช่แข็งความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังนั้นทุกคนที่รักสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมควรนิยมการยกเลิกระบบกษัตริย์เพื่อให้มีสาธารณรัฐ [ดู “ไทยควรเป็นสาธารณรัฐ” https://bit.ly/30Ma32f ]

แต่ระบบสาธารณรัฐภายใต้ทุนนิยม ไม่พอที่จะนำไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง แค่ดูสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส หรือเวียดนาม ก็จะเห็นภาพชัดเจน พูดง่ายๆ เราต้องคิดต่อไปถึงเรื่อง “รัฐ” ภายใต้ระบบทุนนิยม และความสำคัญในการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อล้มรัฐของนายทุนผู้เป็นชนชั้นปกครองในโลกสมัยใหม่ [ดู “รัฐกับการปฏิวัติ” https://bit.ly/2PEQK4K ]

เมื่อเราคิดถึงเรื่อง “รัฐ” และ “ชนชั้น” เราจะเข้าใจว่า “ข้าราชการ” ชั้นผู้ใหญ่ ศาล และ ตำรวจ ไม่เคยรับใช้ประชาชนในโลกสมัยใหม่ การคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นโดยไม่ล้มรัฐของนายทุนและสร้างรัฐใหม่ของประชาชนผู้ทำงานเป็นการเพ้อฝัน และแน่นอนเสรีภาพและประชาธิปไตยสมบูรณ์ต้องอาศัยกระบวนการปฏิวัติด้วยพลังมวลชน แทนที่จะไปฝากความหวังไว้ที่รัฐสภา

 

เราจะกำจัดมรดกพิษของเผด็จการทหารอย่างไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

มันเป็นเรื่องดียิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ประกาศอย่างชัดเจนว่าต้องการกำจัดมรดกของเผด็จการและป้องกันไม่ให้มีรัฐประหารอีก และเราทุกคนควรสนับสนุนเป้าหมายนี้ ไม่ว่าเราจะสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ อ่านเพิ่มตรงนี้

การกำจัดมรดกของทหาร การผลักทหารออกจากการเมือง และการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่ออำนาจฝ่ายอนุรักษณ์นิยมในไทย เพราะต้องมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร ปลดนายพล ปลดสว.แต่งตั้งของทหาร ปลดศาลแต่งตั้งของทหาร ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ลงโทษนายพลที่กระทำผิด ลดงบประมาณทหาร และยกเลิกการเกณฑ์ทหารอีกด้วย

การยกเลิกกฏหมาย 112 ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งอีก เพราะทหารมักใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อเป็นเครื่องมือของตนเอง และใช้กฏหมาย 112 และการทำรัฐประหารคู่กันไป โดยอ้างว่าฝ่ายตรงข้ามต้องการล้มเจ้า

ลองนึกภาพดู ถ้าเกิดมีพรรคการเมืองที่ต่อต้านเผด็จการ ที่มีเสียงข้างมากในสภา ถ้าสส.เขายกมือพร้อมกันเพื่อลดบทบาททหาร ทหารจะอ่อนแอทันทีหรือไม่?

การที่พรรคการเมืองไหนชนะการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในรัฐสภา ไม่สามารถสร้างอำนาจอย่างเพียงพอในการลดบทบาททหาร ทั้งนี้เพราะ “รัฐ” มีสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่มากมาย และมีแค่รัฐสภากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น นี้คือลักษณะทั่วไปของรัฐในระบบทุนนิยม มันไม่ใช่เรื่อง “รัฐพันลึก” ที่ลึกลับและมองไม่เห็นแต่อย่างใด เพราะพวกที่พร้อมจะต่อต้านประชาธิปไตยปรากฏตัวให้เห็นตลอดเวลา

gettyimages-688651088

ในประเทศอังกฤษ ถ้า เจเรมี คอร์บิน จากพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป และผมหวังว่าจะชนะ รัฐบาลฝ่ายซ้ายของเขาจะถูกต่อต้านจากกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งกำลังวางแผนขนทุนออกนอกประเทศ จากสื่อกระแสหลักที่เริ่มใส่ร้ายลงข่าวเท็จ จากข้าราชการประจำในกระทรวงต่างๆ ที่จะไม่ยอมร่วมมือ และจากศาลที่มักมีจุดยืนอนุรักษ์นิยม แถมยังมีนายพลขวาตกขอบคนหนึ่งที่ขู่ว่าจะทำรัฐประหารอีกด้วย สำหรับอังกฤษมันไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษต้องเผชิญหน้ากับปัญหาแบบนี้ โดยเฉพาะการต่อต้านทางเศรษฐกิจจากกลุ่มทุนใหญ่ และจากไอเอ็มเอฟอีกด้วย พวกนี้ไม่เคยเคารพกติกาประชาธิปไตยเลย ในประเทศกรีซพรรคไซรีซาก็โดนกดดันจากกลุ่มทุนและสถาบันในอียู รวมถึงไอเอ็มเอฟ จนต้องกลับลำเลิกใช้นโยบายที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ

ในกรณีไทย แรงกดดันต่อรัฐบาลที่ต้องการลดบทบาททหารจากฝ่ายปฏิกิริยา คงไม่น้อยหน้าจากกรณียุโรป

ฝ่ายซ้ายทั่วโลกเข้าใจดีว่าอำนาจที่จะมาคานกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแบบนี้ ต้องมาจากการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งรวมถึงสหภาพแรงงานด้วย

ในไทยอิทธิพลของทหารในการเมืองถูกลดลงหลังจากที่ประชาชนห้าแสนคนชุมนุมขับไล่เผด็จการในวันที่ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และหลังจากที่มวลชนออกมาไล่เผด็จการในปี ๒๕๓๕

ในตุรกี เกาหลีใต้ เวเนสเวลา และอาเจนทีนา มีการยับยั้งรัฐประหาร มีการลดบทบาททหารในการเมือง และมีการนำนายพลฆาตกรมาขึ้นศาลแล้วจำคุก พลังสำคัญมาจากมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหว

suu-kyi-rohingya

ในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เผด็จการถูกล้มโดยพลังมวลชน แต่ในกรณีพม่า การที่นางอองซานซูจีพยายามสลายมวลชน และส่งคนกลับบ้าน ในเหตุการณ์ 8-8-88 ทำให้เผด็จการทหารยังอยู่ต่อไปถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งจอมปลอมหรือไม่

29512150_1698098393566630_1691086882136188064_n

บทเรียนจากไทยและทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่าเราจะสามารถกำจักมรดกพิษของทหารเผด็จการได้ ถ้าเราสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นภาระสำคัญของเราในยุคนี้คือการรื้อฟื้นขบวนการแบบเสื้อแดง แต่ในรูปแบบใหม่ที่ไม่ถูกนำโดยนักการเมืองอย่างทักษิณ

พรรคอนาคตใหม่สนใจจะมีส่วนร่วมในการสร้างขบวนการแบบนี้หรือไม่?

 

รัฐทุนนิยมไทยและระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

 ถ้าเราจะเข้าใจว่าทำไมนักมาร์คซิสต์นิยามรัฐรวมศูนย์ภายใต้การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัชกาลที่ ๕ ว่าเป็นรัฐทุนนิยม เราจะต้องมาทำความเข้าใจกับศัพท์สำคัญทางรัฐศาสตร์สองคำคือ “ทุนนิยม” และ “รัฐ”

ทุนนิยม

ในหนังสือ ว่าด้วยทุน คาร์ล มาร์คซ์ ได้นิยามระบบทุนนิยมว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญที่พอจะสรุปเป็นสูตรได้ดังนี้คือ

เงิน สินค้า เงิน…. (หมุนเวียนไปเรื่อยๆ)

ซึ่งถ้าเราจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ มีการลงทุน(ด้วยเงิน) เพื่อผลิตสินค้า เพื่อขายให้ได้เงินทุนกลับมา เพื่อลงทุนต่อไป…. และแน่นอนไม่มีใครจะมาลงทุนเพื่อได้ทุนกลับมาเท่าเดิม ต้องมีการเพิ่มมูลค่าของทุนในรูปแบบกำไร ที่มาจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานของลูกจ้างผู้ผลิตสินค้านั้นๆ

ระบบเศรษฐกิจในยุครัชกาลที่ ๕ มีแนวโน้มไปในรูปแบบการลงทุนเพื่อการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบของระบบทุนนิยมมากกว่าระบบศักดินา

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งกับระบบทุนนิยมก็คือ ต้องมีการจ้างแรงงานของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อได้มาซึ่งมูลค่าส่วนเกินหรือกำไร แต่แรงงานรับจ้างเป็นแรงงานที่เลือกที่จะทำงานที่ไหนก็ได้ เรียกว่า “แรงงานเสรี” ต่างจากแรงงานบังคับของไพร่และทาสในระบบศักดินา และถ้ามีแรงงานรับจ้างก็ต้องมีชนชั้นนายทุนผู้เป็นนายจ้าง นี่คือที่มาของการเลิกทาส เลิกไพร่

เงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญสำหรับการรองรับอำนาจของนายทุน คือความสามารถในการคุมระบบการผลิต โดยการคุมปัจจัยการผลิตและทุน ส่วนลักษณะ รูปร่าง ยศศักดิ์ ของนายทุนเป็นเรื่องรอง ดังนั้นชนชั้นนายทุนในระบบทุนนิยมจะมีหลายรูปแบบเช่น นายทุนเอกชน นายทุนรัฐข้าราชการ หรือนายทุนกษัตริย์ ก็ได้

คาร์ล มาร์คซ์ ในงานเขียนเกี่ยวกับอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสมัยกษัตริย์ เฮนรี่ที่ ๘ ของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ปกครองในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “ลักษณะตำแหน่งยศศักดิ์ของเฮนรี่และที่ดินของผู้ครองที่ดินรายใหญ่ในสมัยนั้น มีลักษณะแบบทุนนิยม ไม่ใช่แบบฟิวเดิล” ลักษณะของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยก็มีลักษณะทุนนิยมเช่นเดียวกัน และมีนักวิชาการหลายคนยอมรับว่าสถาบันกษัตริย์ไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพฤติกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนการทำธุรกิจนายทุนโดยใช้พระคลังข้างที่ หรือ สถาบันทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นหน่วยธุรกิจ

ผาสุก พงษ์ไพจิตร อธิบายว่า:

พระองค์ทรงนำประเทศไทยในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์นักธุรกิจ

กล่าวคือพระองค์ทรงเข้าร่วมลงทุน โดยผ่านพระคลังข้างที่ กับนักลงทุน

ชาวต่างประเทศ และลงทุนกิจการอสังหาริมทรัพย์อย่างแข็งขันลงทุน

ซื้อขายที่ดิน พัฒนาที่ดินย่านการค้าสำคัญเป็นตลาดหลวง และต่อมาเป็น

ตลาดพระคลังข้างที่ ทั้งยังทรงลงทุนสร้างห้องแถว

ในคำจำกัดความของคำว่า “รัฐ” ของ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เขาได้อธิบายว่า “อำนาจของรัฐสมัยใหม่ เป็นแต่เพียงคณะกรรมการจัดการธุรกิจร่วมกันของชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นนั้นเอง” ส่วน เลนิน อธิบายเพิ่มในหนังสือ รัฐกับการปฏิวัติ ว่า “รัฐเป็นเครื่องมือสำหรับขูดรีดชนชั้นผู้ถูกกดขี่” โดยที่รัฐใช้อำนาจในรูปแบบกองกำลังพิเศษของผู้ติดอาวุธ ทหารและตำรวจ คุก และศาล

นักวิชาการมาร์คซิสต์ชื่อ ฮาร์แมน จากอังกฤษได้กำหนดภาระหน้าที่หลักของรัฐทุนนิยมไว้ดังนี้

  • การจัดสรรแรงงานเสรีที่มีการศึกษาและฝีมือเพื่อเป็นแรงงานรับจ้าง
  • การจัดสรรกฏหมายธุรกิจ กฏหมายกรรมสิทธิ์ และระบบเงินตรา ที่เป็นมาตรฐานทั่วประเทศ
  • ปกป้องธุรกิจของนายทุนภายในประเทศจากการแข่งขันจากธุรกิจภายนอก และปัญหาการล้มละลาย
  • จัดสรรกองกำลังติดอาวุธเพื่อปกป้องผลประโยชน์นายทุน

จากงานการวิจัยของ ไชยันต์ รัชชกูร เรื่องระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้รัชกาลที่ ๕ เราจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติรัฐที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น มีผลต่อความสามารถในการรับภาระหน้าที่ทั้งสี่ประการของรัฐทุนนิยม

รัฐรวมศูนย์ของรัชกาลที่ ๕ จึงมีกฏเกณฑ์เป็นมาตรฐานที่ใช้ได้ทั่วประเทศและเป็นการสร้าง “รัฐชาติ” ของ “ประเทศไทย” เป็นครั้งแรก

การปฏิวัติทุนนิยม (Bourgeois Revolution) แบบนี้ ที่นำโดยชนชั้นปกครอง ในสถานการณ์ที่อำนาจภายนอกเข้ามาคุกคาม เกิดขึ้นในลักษณะคล้ายกันในญี่ปุ่นสมัยการปฏิวัติเมจิ (Meiji Restoration) และถึงแม้ว่าไม่ใช่การปฏิวัติจากส่วนล่างของสังคม อย่างที่เกิดขึ้นในอังกฤษหรือฝรั่งเศส แต่มีผลเหมือนกันคือเป็นการปูทางไปสู่ระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยม

การปฏิวัติของชนชั้นนายทุนกระฎุมพีในไทย กระทำขึ้นก่อนหน้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ กว่า 60 ปี โดยเป็นการกระทำของรัชกาลที่ ๕ และการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการทำลายระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบทุนนิยมที่รัชกาลที่ ๕ เคยสร้างขึ้น เพื่อเดินหน้าต่อไปและสร้างระบบการปกครองแบบรัฐธรรมนูญภายใต้ทุนนิยม

อ่านบทความเต็มที่ http://bit.ly/2ry7BvZ

ประเทศไทยไม่มี “รัฐพันลึก”

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้มีการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยลอนดอนหัวข้อ “ประเทศไทยในวิกฤตรัฐพันลึก” โดย อูจีนี เมริเออ เสนอบทบาทและการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นในฐานะกลไกของรัฐพันลึก

[ดู http://bit.ly/25RMW44 และบทความอ.นิธิ http://bit.ly/1UMTQ1X   ท่านอาจต้องกดเข้าไปดูที่บล็อกของเลี้ยวซ้ายเพื่ออ่าน]

ทฤษฏี “รัฐพันลึก” หรือ Deep State ใช้มุมมองบกพร่องแต่แรก เพราะมองว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “รัฐปกติ” ที่โปร่งใสและรับใช้พลเมือง ในขณะที่รัฐพันลึกเป็นกรณีพิเศษที่พบในบางประเทศ คือมีส่วนหนึ่งของรัฐที่ฝังลึกอยู่และไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยกลไกประชาธิปไตย

ในโลกแห่งความจริง รัฐทุกรัฐในระบบทุนนิยมเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนายทุน เป็นเครื่องมือเพื่อกดขี่ชนชั้นอื่นๆ โดยเฉพาะชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกรรายย่อย มันไม่รับใช้พลเมืองส่วนใหญ่แต่อย่างใด รัฐทุกรัฐในระบบทุนนิยมเข้าข้างนายทุนเสมอ เพราะปกป้องสิ่งที่เขาเรียกว่า “สิทธิในการบริหารและการเป็นเจ้าของ”ทรัพย์สินมหาศาลกับปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตของพลเมืองทุกคน พูดง่ายๆ คือ รัฐทุนนิยมปกป้องเผด็จการทางเศรษฐกิจของชนชั้นนายทุน นายทุนไม่เคยต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายทุน เขาไม่เคยมาจากคะแนนเสียงของลูกจ้างหรือประชาชนธรรมดา ตำรวจและทหาร ซึ่งเป็นกองกำลังของรัฐนี้ ถูกใช้ในการปราบปรามการนัดหยุดงานหรือการเคลื่อนไหวของประชาชนธรรมดา แต่ไม่เคยมีการใช้กองกำลังนี้เพื่อปราบปรามนายทุนที่เลิกจ้างคนงาน ปิดกิจกรรม ขนการลงทุนไปที่อื่น หรือตัดรายได้ของคนทำงาน

ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก นอกจากอำนาจเผด็จการทางเศรษฐกิจของนายทุนแล้ว มีหลายส่วนของรัฐที่ไม่ถูกตรวจสอบหรือเลือกมาจากเสียงประชาชน เช่นหน่วยราชการลับ ผู้พิพากษา ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้ว่าธนาคารชาติ หรือผู้บังคับบัญชาทหาร และหลายครั้งในอดีตมีการสร้างอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่มาจากการเลือกตั้งโดยคนเหล่านี้ เช่นในกรณีรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษ

ดังนั้นรัฐบาลกับรัฐไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และการคุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจนตั้งรัฐบาลได้ ไม่ได้แปลว่าคุมอำนาจรัฐ นี่คือเรื่องปกติของรัฐในระบบทุนนิยม

บางครั้งการพูดถึง “รัฐพันลึก” อาจมีประโยชน์ในการอธิบายบางส่วนของรัฐที่ตกค้างมาจากยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ หรือยุคฟาสซิสต์ เช่นหน่วยราชการลับที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยเมื่อประเทศนั้นมีประชาธิปไตย เช่นในตุรกี หรือบางประเทศในลาตินอเมริกา แต่มันไม่ตรงกับสภาพสังคมการเมืองของไทยเลย

การนิยามว่าไทยมี “รัฐพันลึก” โดย อูจีนี เมริเออ ต้องอาศัยการบิดเบือนพูดเกินความจริงเรื่องอำนาจกษัตริย์ ต้องมองข้ามการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในกองทัพ และในหมู่ชนชั้นนำ ต้องมองข้ามความอ่อนแอและการไม่มีความอิสระเลยของตุลาการ และที่สำคัญคือต้องไม่เอ่ยถึงบทบาทมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลย

นอกจากนี้ อูจีนี เมริเออ จะสร้างภาพเท็จว่า “รัฐพันลึก” ต้านทักษิณมาแต่แรกซึ่งไม่ใช่ ในยุคแรกๆ ของรัฐบาลทักษิณ ชนชั้นนำไทยเกือบทุกส่วนชื่นชมรัฐบาลทักษิณที่สัญญาว่าจะทำให้เศรษฐกิจและสังคมทันสมัยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและปัญหาความขัดแย้งพฤษภาปี๓๕ ตอนนั้นนายกทักษิณ ในฐานะส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองนายทุน มีอิทธิพลในกองทัพ และมีอิทธิพลเหนือตุลาการและข้าราชการระดับสูง

พวกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นปกครองไทยเริ่มหันมาต้านทักษิณในภายหลัง เมื่อค้นพบว่าแข่งกับทักษิณไม่ได้ในเวทีประชาธิปไตยที่สร้างอำนาจทางการเมือง เพราะพวกอนุรักษ์นิยมไม่ยอมเสนอนโยบายที่จะทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นด้วยเหตุที่พวกนี้คลั่งกลไกตลาดเสรี ดังนั้นเขาครองใจประชาชนธรรมดาไม่ได้

ในหมู่พวกที่มารวมตัวกันต้านทักษิณในภายหลัง มีคนจำนวนมากที่เคยเป็นแนวร่วมกับทักษิณก่อนหน้านั้น และมีคนที่เคยร่วมปราบประชาธิปไตยในอดีต สมัยสงครามเย็น ที่เข้ามาอยู่กับทักษิณอีกด้วย มันเป็นภาพพลวัตของการทำแนวร่วมชั่วคราว ที่เปลี่ยนข้างกันตามโอกาสตลอดเวลา ในหมู่ชนชั้นปกครอง มันไม่ใช่ภาพของกลุ่มก้อนบุคคลในรัฐพันลึกที่คงที่และฝังตัวอยู่กลางรัฐไทยมาตลอดแต่อย่างใด

สมาชิกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นปกครอง หรือที่ เมริเออ เรียกว่ารัฐพันลึก ไม่ได้เป็นห่วงว่าอภิสิทธิ์ของเขาจะหายไปอย่างที่เขาอ้าง เพราะทักษิณไม่ได้ต่อต้านอภิสิทธิ์ของคนใหญ่คนโตแต่อย่างใด เขาไม่ใช่นักสังคมนิยม ผู้ที่กลัวว่าอภิสิทธิ์ของตนจะถูกลดลง ในขณะที่คนชนบทและคนทำงานในเมืองจะสำคัญมากขึ้นคือชนชั้นกลางต่างหาก แต่นักวิชาการคนนี้ไม่พูดถึงพวกสลิ่มคนชั้นกลางเลย

สิ่งที่พวกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นกปครองไม่พอใจ คือการเริ่มรวบอำนาจทางการเมืองในมือทักษิณและไทยรักไทยผ่านการเลือกตั้ง

เมริเออ เสนอว่ารัฐพันลึกกำลังย้ายอำนาจของนายภูมิพลไปสู่ตุลาการในช่วงที่ใกล้หมดรัชกาล แต่นายภูมิพลไม่เคยมีอำนาจ เพียงแต่เป็นเครื่องมือเพื่อการสร้างความชอบธรรมให้กับชนชั้นปกครองโดยเฉพาะทหาร ซึ่งทหารเป็นผู้สร้างนายภูมิพลขึ้นมาจนมีภาพลวงตาว่าเหมือนพระเจ้า ทักษิณก็ใช้นายภูมิพลเช่นกัน และในยุครัฐบาลทักษิณมีการส่งเสริมความบ้าคลั่งของการสวมเสื้อเหลืองทุกสัปดาห์

การเสนอว่าพิธีสาบานตนต่อกษัตริย์ของตุลาการไทย “พิสูจน์” ว่าตุลาการต้องทำตามคำสั่งกษัตริย์เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะถ้าเป็นจริงอังกฤษคงปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนทุกวันนี้ กำตริย์ในระบบสมัยใหม่มีบทบาทแค่ในเชิงพิธีเท่านั้น

จริงๆ แล้วทฤษฏีรัฐพันลึกของ เมริเออ เป็นแค่อีกวิธีหนึ่งที่จะเสนอว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจในใจกลางรัฐ และความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งระหว่างทักษิณและกษัตริย์ ซึ่งไม่ต่างจากพวกที่พูดเกินเหตุว่านายภูมิพลสั่งการทุกอย่าง หรือแม้แต่ “ทฤษฏีเครือข่ายกษัตริย์” ของ Duncan MacCargo ที่มองข้ามพลวัตของการทำแนวร่วมชั่วคราวของชนชั้นปกครองไทย [ดู http://bit.ly/1VTFyio หน้า 84]

พวกนี้ใช้กรอบคิดร่วมกันกรอบหนึ่งคือ กรอบคิด “สตาลิน-เหมา” เรื่องขั้นตอนการปฏิวัติทุนนิยมไทย แต่บางคนอาจใช้โดยไม่รู้ตัวก็ได้ การวิเคราะห์ของนักวิชาการที่อาศัยกรอบแนวสตาลิน-เหมา ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เสนอว่าไทยเป็น “กึ่งศักดินา” ตามสูตรสำเร็จที่พรรคเหล่านี้ทั่วโลกใช้กัน ดังนั้นเขามักจะมองว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทุนสมัยใหม่(ทักษิณ) กับระบบ “กึ่งศักดินา” ของกษัตริย์ภูมิพล โดยที่กษัตริย์เป็นผู้นำทางการเมืองที่สำคัญ

มุมมองแบบนี้จะต้องอาศัยข้อสรุปว่าการปฏิวัตินายทุนหรือที่บางคนเรียกว่า “กระฎุมพี” ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือยังไม่สมบูรณ์ในประเทศไทย   มันเป็นมุมมองบกพร่องที่เสนอการปฏิวัตินายทุนและขั้นตอนของประวัติศาสตร์ในลักษณะกลไก เป็นการสวมประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 18 ในยุโรปทับสถานการณ์บ้านเมืองในไทยปัจจุบัน เพราะแท้จริงแล้ว การปฏิวัติกระฎุมพีของไทย ที่ทำลายระบบศักดินาและสร้างรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นภายใต้การนำของกษัตริย์รัชกาลที่๕

การที่ม็อบชนชั้นกลางที่ต้านทักษิณชูธงเหลืองหรือรูปกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือม็อบสุเทพ ไม่ได้แปลว่ากษัตริย์จัดตั้งพวกนี้แต่อย่างใด การที่ทหารเผด็จการเชิดชูกษัตริย์ก็เช่นกัน ถ้าเราหลงเชื่อปรากฏการณ์เปลือกภายนอกผิวเผินแบบนี้ เราจะคิดตื้นเขินเกินไป

ในลักษณะเดียวกัน การที่พุทธอิสระใช้ความรุนแรงในการทำลายประชาธิปไตยขณะที่ห่มผ้าเหลือง ก็ไม่ได้แปลว่าพระพุทธเจ้าบงการการกระทำแย่ๆ ของพุทธอิสระแต่อย่างใด

จริงๆ แล้วรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ก็เชิดชูกษัตริย์เช่นกัน และพร้อมจะใช้กฏหมาย 112 ด้วย ข้อแตกต่างระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองและทหาร กับฝ่ายทักษิณ ไม่ใช่เรื่องกษัตริย์นิยมแต่อย่างใด ข้อแตกต่างแท้คือฝ่ายทักษิณสามารถใช้นโยบายเศรษฐกิจและการเมืองในการเพิ่มความชอบธรรมให้ตนเองประกอบกับการเชิดชูกษัตริย์ ในขณะที่พวกทหารและเสื้อเหลืองมีสิ่งเดียวที่เขาหวังใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมคือเรื่องความคิดกษัตริย์นิยม

ตุลาการไทย และส่วนอื่นๆ ของระบบราชการไทย มีความอ่อนแอมากและไม่เคยเป็นตัวของตัวเองเลย เพราะมัวแต่ก้มหัวรับฟังคำสั่งจากทหาร หรือคนใหญ่คนโตที่เป็นนักการเมืองตลอด นี่คือสาเหตุที่ไทยไม่มีมาตรฐานความยุติธรรม และระบบข้าราชการเต็มไปด้วยการคอร์รับชั่นและการแทรกแซงโดยผู้มีอิทธิพล กองกระดาษและเอกสารที่พลเมืองต้องกรอกเพื่อทำอะไรในระบบราชการ เป็นอาการของข้าราชการที่ไม่เคยกล้าตัดสินใจเองในเกือบทุกเรื่อง คือต้องส่งขึ้นไปให้คนใหญ่คนโตเห็นชอบเสมอ

กองทัพไทยไม่เคยสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวและไม่มีจุดยืนคงที่ด้วย เพราะกองทัพคือแหล่งกอบโกยสำคัญของพวกนายพล การแบ่งพรรคแบ่งพวกแบบนี้ทำให้กองทัพมีอำนาจจำกัดทั้งๆ ที่สามารถล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ซีกต่างๆ ของกองทัพมีแนวการเมืองต่างกันด้วย ในอดีตมีนายพลที่เกลียดเจ้า หรือเป็นฝ่ายซ้าย ในปัจจุบันมีนายพลที่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย และมีทหารที่เข้าข้างทักษณ เพียงแต่ว่ากลุ่มประยุทธ์ที่ครองอำนาจอยู่ตอนนี้เป็นกลุ่มขวาจัดเท่านั้นเอง ดังนั้นกองทัพไม่ใช่อะไรที่จะสร้างรัฐพันลึดอะไรได้

สิ่งที่มีอิทธิพลต่ออำนาจกองทัพมากที่สุดคือพลังมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างมวลชนกับอำนาจรัฐ มีแพ้และมีชนะ มีช่วงเผด็จการและมีช่วงประชาธิปไตย สาเหตุหนึ่งที่เผด็จการครองเมืองตอนนี้ได้ก็เพราะหลายส่วนที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการทางสังคม ไปโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหาร แต่ทุกวันนี้เผด็จการทหารยังต้องพยายามสร้างภาพลวงตาว่าจะจัดการเลือกตั้งและปฏิรูปการเมือง เพราะกลัวกระแสประชาธิปไตยในสังคมไทย

เมริเออ ยอมรับว่ากระแสประชาธิปไตยปัจจุบันทำให้พวกอนุรักษ์นิยมเลือกไปเพิ่มอำนาจตุลาการ เพราะดูดีกว่าการใช้อำนาจโดยตรงของทหารหรือกษัตริย์ แต่เขาไม่เอ่ยถึงบทบาทสำคัญของมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลย สำหรับนักวิชาการคนนี้ ช่วงที่เป็นประชาธิปไตยของไทยเป็นการ “ทดลอง” ของชนชั้นนำเท่านั้น คือทุกอย่างกำหนดจากเบื้องบน

แนว “รัฐพันลึก” อาจเป็นแนวคิดที่ใหม่และน่าตื่นเต้นสำหรับนักวิชาการหอคอยงาช้าง แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรในการอธิบายวิกฤตการเมืองไทยเลย

อ่านเพิ่ม

http://bit.ly/1VTFyio ,  http://bit.ly/1OtUXBm , http://bit.ly/1UoSKed

ทหารมีไว้ทำไมหรือ? ทหารเป็นปรสิตที่มีไว้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของพวกนายพล

 

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชวนให้เราร่วมคิดกันว่า “ทหารมีไว้ทำไม” (ดู http://bit.ly/1RTFpdw )ผู้เขียนก็จะขอร่วมแจมด้วย ถ้าไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดมองว่าผมเป็นหนึ่งใน “หมา” ที่จะมาพูดเรื่องนี้ ผมไม่ตกใจ เพราะหมายังดีกว่าฆาตกรหัวทึบใส่เครื่องแบบที่คอยชวนให้เราไปกราบไหว้หมา

ทหารไม่ได้เป็น “รัฐอิสระภายในรัฐ” อย่างที่หลายคนมอง เพราะกองกำลังพิเศษติดอาวุธนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ แยกไม่ออกจากรัฐ เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง ในกรณีไทยก็เป็นแบบนี้

เราต้องเข้าใจว่ารัฐทุนนิยมเป็นสิ่งที่นักมาร์คซิสต์เรียกว่า “เผด็จการของชนชั้นนายทุน” คือมีเครื่องมือกดขี่ขูดรีดพลเมืองทั่วไปครบมือ แต่เนื่องจากสังคมชนชั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ชนชั้นปกครองมักจะใช้ยุทธวิธีหลากหลายในการคุมประชากร ในประเทศตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รูปแบบการปกครองมักเป็นรูปแบบประชาธิปไตยทุนนิยม ซึ่งดีกว่าเผด็จการเบ็ดเสร็จแน่นอนเพราะมีพื้นที่เสรีภาพพอสมควร และในพื้นที่นั้นเราสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น แต่อย่าลืมว่าในยุค 1930 รัฐในเยอรมันและอิตาลี่ หันมาใช้เผด็จการฟาสซิสต์ ดังนั้นทุกอย่างมันไม่ได้คงที่ตลอดเวลา

รัฐทุนนิยมมีสองด้านเสมอ คือด้านยิ้มที่เปิดพื้นที่ประชาธิปไตย และด้านโกรธที่ใช้กองกำลังจัดการกับเรา

ในไทยชนชั้นปกครองทุนนิยมประกอบไปด้วยนายทุน ข้าราชการชั้นสูง และนายทหารชั้นสูง และชนชั้นนี้มีกษัตริย์เป็นสัญญลักษณ์เพื่อพยายามสร้างความสามัคคีข้ามชนชั้น คือมีไว้สร้างภาพว่าเราทุกคนคิดเหมือนกัน ให้ทุกคนรักชาติ ศาสนา กษัตริย์ แต่สัญญลักษณ์นี้ก็มีสองด้านเช่นกัน เพราะถ้าไม่รักก็ปราบด้วย 112 และวิธีอื่น

เวลาพวกนายพลหัวทึบชอบตะคอกว่า “ทหารคือรั้วของชาติ” ในความจริงคนที่อยู่ในรั้วนั้นมีแค่พวกชนชั้นปกครอง พวกเราพลเมืองธรรมดาอยู่นอกรั้ว ทหารมีบทบาทสำคัญในการปราบเราเพื่อประโยชน์ชนชั้นปกครอง และมีบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของพวกมันเองเมื่อถูกท้าทายจากชนชั้นปกครองของประเทศอื่น คือในยุคสงคราม แต่ในกรณีไทยกองทัพไม่เคยสามารถรบกับกองทัพประเทศอื่นได้เลย คือเป็นกองทัพของพวกมือไม้อ่อน เวลาญี่ปุ่นบุกไทยตอนสงครามโลกครั้งที่สองก็ยอมแพ้ทันที เวลาจักรวรรดินิยมอังกฤษกับฝรั่งเศสท้าทายรัฐทุนนิยมใหม่ของไทยในยุครัชกาลที่๕ ก็หมดสภาพทันที ต้องมีการเจรจาต่อรองและแบ่งผลประโยชน์ระหว่างกรุงเทพฯ กับลอนดอนและปารีส

เวลานายพลหัวทึบตะคอกอีกว่าทหารปกป้องเราจากโจร เราคงต้องหัวเราะ เพราะโจรใหญ่สุดในสังคมไทยคือทหาร ไม่ว่าจะเป็นการปล้นสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย การฆ่าประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว หรือการค้ายาเสพติดและของเถื่อนอื่นๆ ทหารเป็นตัวหลักเสมอ

ทั้งๆ ที่ไอ้ยุทธ์มันพองตัวเหมือนคางคกเพื่ออวดว่าตนเอง “กู้ชาติ” จากวิกฤต มันก็แค่กู้สถานการณ์เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครองเท่านั้น มันมีรถถังและอาวุธก็จริง แต่ถ้ากลุ่มส่วนใหญ่ในหมู่ชนชั้นปกครองไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารของมัน มันก็ทำไม่ได้ หรือถ้าทำก็อยู่ไม่ได้นาน

ถ้ามองไปที่พม่า หลายคนชอบพูดว่ากองทัพพม่า ที่เรียกว่า “ตะมะดอ” (Tatmadaw) เป็น “รัฐอิสระภายในรัฐ” แต่มันก็ไม่ใช่อีก มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ชนชั้นปกครองพม่าแตกแยกอ่อนแอและพวกนายพลขึ้นมาเป็นแกนนำของชนชั้นปกครองเท่านั้น เผด็จการทหารเป็นเพียงใบหน้าหนึ่งของรัฐทุนนิยม แต่กรณีไทยไม่สุดขั้วเท่าพม่า

ในขณะที่นายทุน ข้าราชการชั้นสูง และพวกนายพลตกลงกันว่าทหารควรเข้ามาคุมอำนาจสักพักหนึ่ง เพื่อตัดแปลงระบบการเมืองให้ผิดเพี้ยนไปจากประชาธิปไตย ผ่านการปฏิกูลการเมือง เราต้องเข้าใจว่านายพลต่างๆ ก็เป็นมนุษย์เช่นกัน คิดเองเป็น และสมาชิกของชนชั้นปกครองก็แข่งกันและร่วมมือกันในขณะเดียวกัน เหล่ามนุษย์ใส่เครื่องแบบจะโลภทั้งทรัพย์และอำนาจ ดังนั้นงบประมาณในการซื้ออาวุธและรักษากองทัพเป็นแหล่งหากินสำคัญเสมอ ถ้าไม่ปกครองประเทศก็สามารถเบ่งอำนาจเพื่อหากินกับการขายของเถื่อนหรือนั่งบนกรรมการบริหารสื่อหรือรัฐวิสาหกิจ และการมีอำนาจทางการเมืองเป็นโอกาสในการกินเพิ่ม

สรุปแล้วทหารไทยไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับพลเมืองทั่วไป มันเป็นองค์กรที่ช่วยทำให้ระบบการเมืองล้าหลัง และในแง่ที่คล้ายปรสิต มันเป็นทั้งพิษภัยต่อพวกเรา และสูบทรัพยากรสำคัญจากสังคม

แล้วเราต้องทำอะไรกับปรสิต??

“รัฐ” กับกองกำลังติดอาวุธของชนชั้นปกครอง

ใจอึ๊งภากรณ์

ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตย และสร้างสังคมนิยมในไทย เราต้องโค่นระบบเก่าที่เป็นเผด็จการ ต้องจัดการกับกองทัพ และสถาบันกษัตริย์ที่เป็นเครื่องมือของกองทัพและส่วนอื่นของชนชั้นปกครอง แต่ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐ” กับ กองทัพ และเราต้องเข้าใจเนื้อแท้ของ “รัฐ”

ถ้าเราศึกษาหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของ เลนิน เราจะเข้าใจว่า ในทุกสังคมของทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร และไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปตะวันตก หรือไทย มันมีชนชั้นปกครองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดำรงอยู่ ซึ่งดูเหมือนขัดกับรัฐธรรมนูญหรือหลักประชาธิปไตย ดังนั้นแค่การเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หรือการเลือกพรรคสังคมนิยมเข้ามาคุมรัฐสภา จะไม่นำไปสู่สังคมใหม่แห่งเสรีภาพแต่อย่างใด

ในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน กล่าวถึงงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์ “รุ่นครู”   ทั้งเลนิน และ เองเกิลส์ ชี้ให้เห็นว่า “รัฐ” มันมากกว่าแค่ “รัฐบาล” เพราะรัฐประกอบไปด้วย “อำนาจพิเศษสาธารณะ”

รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเป็นหลัก ตรงนี้เราไม่ควรสับสนว่า “ชนชั้นนายทุน” คือคนอย่างทักษิณหรือนักธุรกิจเท่านั้น เพราะในไทยชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕ ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง กษัตริย์ และนายทุนเอกชน เขาคือชนชั้นปกครอง และ “รัฐ” เป็นเครื่องมือของเขา ไม่ว่าเราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่

สำหรับนักมาร์คซิสต์ เราเชื่อกันว่า “รัฐ” เป็นสิ่งที่เกิดมากับสังคมชนชั้น มันไม่ใช่สิ่งธรรมชาติที่ตกจากฟ้า รัฐเป็นเครื่องมือที่คนกลุ่มน้อยในสังคมปัจจุบันใช้เพื่อควบคุมคนส่วนมากที่ถูกปกครอง ในการสร้างสังคมนิยมอันเป็นประชาธิปไตยแท้ เราต้องปฏิวัติรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ชั่วคราวขึ้นมา เพื่อเป็นอำนาจในการเปลี่ยนสังคม แต่เป้าหมายระยะยาวคือการยกเลิกรัฐไปเลย หรือที่ เลนิน เรียกว่า “การสิ้นสุดของการปกครอง” เพื่อให้มนุษย์ทุกคนกำหนดอนาคตตนเอง

“อำนาจพิเศษสาธารณะ” ของรัฐที่เราพูดถึง อาศัยวิธีควบคุมสังคมสองวิธีคือ

(๑) ใช้อำนาจดิบของความรุนแรง คืออาศัยกองกำลังและการปราบปราม ซึ่ง เองเกิลส์และเลนิน เรียกว่า “องค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ” นั้นคือ ทหาร ตำรวจ ศาล และคุก

(๒) การสร้างระเบียบและความชอบธรรมกับการปกครองของรัฐนายทุน ให้ผู้ถูกปกครองยอมรับอำนาจรัฐ และวิธีที่สำคัญคือการวางตัวของรัฐให้ห่างเหินแปลกแยกจากสังคม เพื่อให้ดูเหมือนว่า “ลอยอยู่เหนือสังคมและเป็นกลาง” ในขณะที่คุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ เพราะถ้ารัฐไม่สร้างภาพแบบนี้มาปิดบังความจริงที่รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองฝ่ายเดียว ประชาชนจะไม่ให้ความจงรักภัคดี การควบคุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ ทำผ่านการพยายามผูกขาดแนวคิดในโรงเรียน หรือผ่านศาสนา และสื่อ จนเราอาจไม่รู้ตัวว่าเราถูกควบคุมทางความคิด

ด้วยเหตุนี้เราจะต้องสู้กับรัฐด้วยสองวิธีหรือสองแนวรบเช่นกันคือ

(๑) การใช้ “กำลัง” ซึ่งกำลังหรืออำนาจที่เรามีและฝ่ายชนชั้นปกครองไม่มี คืออำนาจที่มาจากการรวมตัวกันของกรรมาชีพผู้ทำงานในสถานที่ทำงานชนิดต่างๆ ทั่วประเทศ เราต้องชุมนุมบนท้องถนนแน่นอน แต่เมื่อเขานำกองกำลังติดอาวุธมาปราบเรา เราต้องโต้ตอบด้วยการนัดหยุดงานทั่วไป

(๒) การปลุกระดมทางการเมือง เพื่อคานแนวคิดของชนชั้นปกครอง และเพื่อคานคนที่เสนอว่าเราต้องประนีประนอมกับสภาพสังคมปัจจุบันและอำนาจที่ปกครองเราอยู่ เราต้องทำสงครามความคิดอย่างถึงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราแค่เสนอให้ “ปฏิรูปกฎหมาย 112” แทนการยกเลิกกฎหมายนี้ไปเลย เราก็จะยังยอมจำนนต่อความคิดชนชั้นปกครอง และไม่ปลดแอกความคิดของเราเอง

ทั้งสองแนวรบนี้อาศัยการจัดตั้งมวลชนในพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย เราต้องเลือกสมรภูมิในการรบกับความรุนแรงของรัฐให้ดี ไม่ออกรบเวลาเราอ่อนแอและไม่พร้อม แต่เมื่อเราพร้อมแล้ว ก็ออกมาเผชิญหน้ากับรัฐบนท้องถนนและในสถานที่ทำงานอย่างเต็มที่ ถ้าไม่ประสานกัน และไม่เข้าใจธาตุแท้ของสังคม เราคงทำไม่ได้

ถ้าเราเข้าใจ “รัฐกับการปฏิวัติ” เราจะเข้าใจว่า “อำนาจพิเศษสาธารณะ” ซึ่งประกอบไปด้วย ทหาร ตำรวจ ศาล คุก ระบบราชการ รัฐบาล สถาบันกษัตริย์ และสถาบันต่างๆ ที่กล่อมเกลาความคิด มันต้องถูกโค่นแบบถอนรากถอนโคน เพื่อสร้างรัฐใหม่ของคนส่วนใหญ่ เราใช้รัฐเก่า หรือกองทัพและตำรวจเก่าเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ไม่ได้

แต่เมื่อพูดถึงกองกำลังติดอาวุธของชนชั้นปกครอง เราต้องเข้าใจด้วยว่ามันประกอบไปด้วยนายทหารชั้นล่าง ซึ่งเป็นคนธรรมดา ในสถานการณ์ปฏิวัติ ที่กระแสปฏิวัติมาแรงเพราะคนส่วนใหญ่ไม่พอใจที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และชนชั้นปกครองอยู่ในสภาวะวิกฤต เราสามารถดึงทหารระดับล่างมาเข้าข้างเราได้ แต่นั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการดึง “นายพลก้าวหน้า” มาอยู่ข้างเรา ซึ่งเคยเป็นความฝันเปียกๆ ของแกนนำ นปช.

มาร์คซ์เคยอธิบายว่า การสร้างรัฐใหม่ต้องอาศัยการปฏิวัติรัฐเก่าในทุกแง่ เพราะองค์ประกอบของรัฐเก่านั้นมันไม่หายไปง่ายๆ มันเป็น “งูเหลือมที่รัดสังคมไว้อย่างแน่นแฟ้น” ต้องใช้ “ไม้กวาดแห่งการปฏิวัติ” ถึงจะแกะมันออกได้ และต้องสร้างรัฐใหม่กับองค์ประกอบใหม่ขึ้นมาแทน เช่นรัฐสภาคนทำงาน กองกำลังของประชาชน หรือผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นต้น ต้องรื้อกฎหมายเก่าๆ ทิ้งให้หมด และสร้างระเบียบใหม่ของสังคม โดยที่คนส่วนใหญ่ คนจน คนทำงานทุกคน ขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน นั้นคือวิธีการสร้างสังคมนิยม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยขั้นสูงสุด

ในช่วงที่เรายังปฏิวัติสังคมไม่ได้ การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น มันเป็นการต่อสู้ประจำวันที่ให้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น มันช่วยให้เรามีสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรอง มันช่วยให้เราประท้วงหรือเดินขบวนได้ และมันช่วยให้เรามีสื่อเสรีและสิทธิในการแสดงออก นอกจากนี้การต่อสู้เพื่อเปิดพื้นที่ประชาธิปไตย เป็นการทำให้สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นในระยะสั้น ดังนั้นเป็นเรื่องดีและจำเป็น แต่ยิ่งกว่านั้น  อย่างที่ โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักมาร์คซิสต์สตรีเคยอธิบาย…มันจะเป็นการฝึกฝนมวลชนให้พร้อมในการที่จะล้มชนชั้นปกครองและทำลายรัฐเก่าลงอย่างสิ้นเชิงในอนาคต