ปัจจุบันมีการเลิกจ้างและกดค่าแรงในประเทศไทย แต่ในทุกกรณีสหภาพแรงงานขาดการต่อสู้จริงๆ จังๆ และขาดการหนุนช่วยข้ามรั้วสถานประกอบการจากแรงงานอื่น จนคนงานกลายเป็นเหยื่อที่ต้องไปร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา”หรือองค์กรอื่นๆ ของรัฐ หรือจากพรรคการเมืองของฝ่ายทุน
อันนี้ไม่ใช่ความผิดของคนงาน แต่เป็นความผิดของนักเคลื่อนไหวแรงงานที่ปฏิเสธการเมืองของฝ่ายซ้ายและความสำคัญของการสร้างพรรคสังคมนิยมแนวปฏิวัติ
ขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งจะเน้นการต่อสู้และความสมานฉันท์ระหว่างสหภาพแรงงานต่างๆ จะพยายามจัดการนัดหยุดงานพร้อมๆ กันหลายที่ และตัวอย่างที่ดีคือการนัดหยุดงานทั่วไปที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ที่อินเดีย หรือที่กำลังเกิดขึ้นในเกาหลีใต้
ที่มาของสภาพย่ำแย่นี้ในไทย ไม่ใช่ “ลักษณะพิเศษของสังคมไทย” หรือนิยายเรื่องไทยไม่มีระบบชนชั้น หรือเรื่อง “แนวคิดศักดินาที่ฝังลึกอยู่ในสมองคนธรรมดา” และสภาพนี้ไม่ได้มาจากการกดขี่ของฝ่ายรัฐที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในอดีต ในสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)รุ่งเรือง มีนักเคลื่อนไหวของพรรคตั้งเป้าในการทำงานการเมืองภายในสถานที่ทำงานต่างๆ และมีการสร้างสหภาพแรงงานที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ถ้าใครสนใจเรื่องนี้ก็ควรจะไปอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ
ในช่วงก่อนและหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อสังคมก็มีบทบาทในการปลุกระดม และประสานงานร่วมกับขบวนการแรงงาน และหลายคนได้รับอิทธิพลมาจาก พคท. ทั้งโดยตรงและทางอ้อม
ทุกวันนี้มรดกของ พคท. ในขบวนการแรงงานยังหลงเหลืออยู่บ้างในรูปแบบ เครือข่ายสหภาพแรงงาน “กลุ่มย่าน” แต่อยู่ในลักษณะอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก
แง่สำคัญของการจัดตั้งกรรมาชีพในสหภาพแรงงานของ พคท. คือการที่พยายามเชื่อมคนงานในโรงงานและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ข้ามรั้วโรงงานและระหว่างสหภาพแรงงานที่แตกต่างกัน เพื่อให้มีการต่อสู้ร่วมกัน เช่นการนัดหยุดงานพร้อมกัน และที่สำคัญคือการพยายามสร้างการต่อสู้สมานฉันท์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่คือความสำคัญของการสร้างองค์กรสหภาพแรงงานกลุ่มย่านต่างๆ โดย พคท.
แต่หลังจากที่ พคท. เริ่มล่มสลาย และนักกิจกรรมต่างๆ หันไปทำงานในองค์กรเอ็นจีโอ นอกจากจะมีการเน้นชาวบ้านในชนบทแล้ว คนที่ยังทำงานในสายแรงงาน กลายพันธุ์ไปเป็นคนที่ทำงานในรูปแบบการกุศล คือเน้นการช่วยเหลือผู้ที่ตกยากหรือผู้ที่เป็นเหยื่อ มากกว่าที่จะปลุกระดมให้มีสหภาพแรงงานที่เน้นการต่อสู้ทางชนชั้น ในที่สุดองค์กรเอ็นจีโอสายแรงงานกลายเป็นองค์กรคล้ายๆ ธุรกิจขนาดเล็ก ที่ขอทุนจากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือคนจน มันแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากสมัย พคท. และที่แย่สุดคือไม่มีการเน้นหรือพูดถึงการนัดหยุดงาน ไม่มีการพูดถึงการเมืองหรือเรื่องชนชั้น และไม่เน้นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเลย
เราจะเห็นได้ว่าความอ่อนแอของขวนการแรงงานไทยในยุคนี้ จนเรียกได้ว่าไม่มีขบวนการ มาจากเรื่องการเมืองล้วนๆ
นักต่อสู้สหภาพแรงงานในไทยยังไม่หมดสิ้น ยังมีคนดีๆ ที่ต้องการต่อสู้ไม่น้อย เป้าหมายของคนเหล่านี้ควรจะเป็นการสร้างขบวนการแรงงานที่มีพลัง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันเกิดถ้ามัวแต่ไปเน้นการสัมมนาในโรงแรมเรื่อง “สิทธิแรงงาน” ที่จัดขึ้นด้วยงบจากเอ็นจีโอหรือหน่วยงานของรัฐ
แน่นอนนักสังคมนิยมจะต้องมีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน และต้องมีส่วนในการสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง เช่นเรื่องค่าจ้าง โบนัส และสภาพการจ้างอื่นๆ แต่ถ้าทำแค่นั้น เราก็เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” และผู้ที่เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” จะมองว่าองค์กรจัดตั้งหลักคือสหภาพแรงงาน ไม่ใช่พรรคซ้ายสังคมนิยม และเราจะก้าวข้ามปัญหาภายในรั้วสถานที่ทำงานเพื่อไปสนใจสังคมภายนอกไม่ได้
การปลุกระดมทางการเมืองแปลว่าต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อของพรรค และผ่านกลุ่มศึกษาของพรรค ซึ่งต่างจากกลุ่มศึกษาของสหภาพที่เน้นแต่เรื่องปากท้องหรือกฎหมายแรงงาน การศึกษาทางการเมืองของพรรคต้องครอบคลุมการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยและสังคมต่างประเทศ ต้องเรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์ไทยและทั่วโลก ต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ ต้องศึกษาธาตุแท้ของชนชั้นและของรัฐ เราต้องสนใจศิลปะวัฒนธรรม ต้องสนใจวิทยาศาสตร์ และเราต้องพร้อมที่จะร่วมกันค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาทุกเรื่องในชีวิตมนุษย์
ในปัจจุบันนักเคลื่อนไหวที่ดีที่สุดในขบวนการแรงงานไทย เช่นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มักจะยึดมั่นในแนวคิด “ลัทธิสหภาพซ้าย” บางคนถึงกับใช้แนว “ลัทธิสหภาพปฏิวัติ” เช่นพวกที่ชอบกล่าวถึงเลนินและแนวมาร์คซิสต์
ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานสากล แนว “ลัทธิสหภาพ” (Syndicalism) จะเน้นการเคลื่อนไหวผ่านองค์กรสหภาพแรงงานอย่างเดียว แนวนี้มีรูปแบบหลากหลายที่ซับซ้อน พวกที่มองว่าควรเคลื่อนไหวในเรื่องปากท้องอย่างเดียวและไม่กล่าวถึงการเมือง คือพวกลัทธิสหภาพฝ่ายขวา ซึ่งในไทยได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการปกครองของเผด็จการทหาร ที่พยายามห้ามไม่ให้สหภาพแรงงานสนใจเรื่องการเมือง
ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ มองว่าการเมืองกับเศรษฐกิจปากท้องแยกออกจากกันไม่ได้ และเขาอาจต้องการปฏิวัติล้มทุนนิยม อย่างไรก็ตามเขาจะต่างจากแนวมาร์คซิสต์ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ทรอดสกี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ ตรงที่เขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างพรรคปฏิวัติ ดังนั้นแทนที่จะสร้างพรรคเขามองว่าสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมได้
ขบวนการแรงงานไทยขาดนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมที่จะทำงานเป็นระบบ ในบางแห่งมีนักต่อสู้ที่อยากเห็นแรงงานสู้จริง แต่นักสู้แรงงานเหล่านี้เลือกใช้ “ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ” เขาจะส่งเสริมการนัดหยุดงาน และการจัดตั้งกลุ่มย่านข้ามรั้วโรงงาน แต่จะไม่เห็นด้วยกับการนำ “การเมืองภาพกว้าง” ที่ “ไม่เกี่ยวกับแรงงาน” เข้าสู่ขบวนการแรงงาน เช่นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ปัญหาภาคใต้ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาในระบบการศึกษา หรือประเด็นการเมืองสากลปัจจุบัน หรือแม้แต่วิธีการตั้งพรรคการเมืองที่อิสระจากนายทุนเป็นต้น ในปัจจุบันหลายคนที่เคยได้รับอิทธิพลจากแนวนี้ก็ไปเข้ากับพรรคนายทุนเช่นพรรคก้าวไกล
องค์กรสหภาพแรงงานต้องการรับทุกคนในสถานที่ทำงานเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งแน่นอนรวมถึงคนที่มีความคิดฝ่ายขวาตามชนชั้นปกครองและคนที่ยังขี้เกียจคิดอีกด้วย และแกนนำของสหภาพจะต้องปกป้องความสามัคคีภายในสหภาพระดับหนึ่ง เพราะกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้งและหลุดจากตำแหน่งในสหภาพ จึงไม่สามารถถกเถียงแนวคิดอย่างตรงไปตรงมาได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ทำงานภายในสหภาพ
ในประการสุดท้ายสหภาพแรงงานไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ เพราะเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อรองกับนายจ้างในระบบทุนนิยม ไม่สามารถประสานการทำงานระหว่างทุกซีกทุกส่วนของสังคมที่ก้าวหน้าเพื่อยึดอำนาจรัฐ
“สหภาพคนทำงาน” ที่ครอบคลุมคนทำงานทุกส่วน ถ้าสร้างได้โดยไม่ไปแย่งสมาชิกจากสหภาพแรงงานที่มีอยู่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องดี แต่ทั้งๆ ที่มีการเสนอว่าในอนาคต “สหภาพคนทำงาน” จะลงมือสร้างพรรคของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ปัญหาใหญ่คือในรูปธรรมจะมีการสร้างสหภาพนี้ขึ้นมาเพื่อแทนที่การสร้างพรรคสังคมนิยม และการเสนอ “สหภาพคนทำงาน” สะท้อนแนวคิด “ลัทธิสหภาพ” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวอนาธิปไตยที่ไม่สนใจการสร้างพรรค
ยิ่งกว่านั้น “สหภาพคนทำงาน” ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานไม่ได้มีความคิดแบบนั้น นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว สรุปแล้วการสร้าง “สหภาพคนทำงาน” เป็นการสร้างองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองแนวอนาธิปไตยที่ไม่ใช่พรรค และในเมื่อองค์กรนี้เรียกตัวเองว่า “สหภาพ” ก็ยากที่สมาชิกจะเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองภาพกว้าง ที่ไม่เกี่ยวกับสถานที่ทำงาน ในสังคมโดยทั่วไป
ใจ อึ๊งภากรณ์
อ่านเพิ่ม:
กรรมาชีพไทยกับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสังคมใหม่ หน้าที่ของนักสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน https://bit.ly/2MBfQzc
สหภาพแรงงานใช้แทนพรรคไม่ได้ https://bit.ly/2V2LBcJ