Tag Archives: ลาตินอเมริกา

หลังฝ่ายซ้ายชนะเลือกตั้งในชิลี จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กาเบรียล บอริก (Gabriel Boric) อายุ 35 ปี ผู้แทนฝ่ายซ้าย และอดีตแกนนำนักศึกษาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศชิลี

บอริก เชื่อว่าเขาสามารถจะปฏิรูปสังคมชิลีแบบถอนรากถอนโคนได้ผ่านรัฐสภา โดยเฉพาะในเรื่องบำเหน็จบำนาญ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาเป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการนักศึกษาในรอบสิบปีที่ผ่านมา เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่พอใจกับนโยบายกลไกตลาดที่รัฐบาลในอดีตใช้ จึงมีการชุมนุมอย่างดุเดือดเพื่อเรียกร้องการศึกษาฟรี

บอริก ชนะผู้แทนฝ่ายขวาสุดขั้ว โฮเซ่ อันโตนิโอ คาสต์ (José Antonio Kast) ที่มาจากครอบครัวนาซีเยอรมัน และปกป้องประวัติศาสตร์ของเผด็จการ พิโนเชต์ ที่ขึ้นมามีอำนาจหลังรัฐประหารโหดในปี 1973 รัฐประหารครั้งนั้นทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของของประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ แห่งพรรคสังคมนิยม หลังรัฐประหารพวกทหารเผด็จการไล่ฆ่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายรวมถึง อาเยนเดย์ เอง และมีคนก้าวหน้าติดคุกจำนวนมาก นอกจากนี้ชิลีกลายเป็นสถานที่ทดลองนโยบายกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว

ชัยชนะของ บอริก มาจากกระแสการประท้วงไล่รัฐบาลนายทุนในปี 2019 ซึ่งเป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมนิยมเป็นพรรคปฏิรูปที่รับแนวกลไกตลาดมาใช้ สิ่งที่จุดประกายการประท้วงปี 2019 คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเชต์ เวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวง และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย เรื่องหลักสองอย่างคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชต์ในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

ก่อนหน้าที่ บอริก จะชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มีการรณรงค์โดยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยกเลิกรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ ซึ่งในที่สุดกระแสนี้ชนะประชามติให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่น่าทึ่งคือสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกมาประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหว 100 คนจากตำแหน่งทั้งหมด 150 ตำแหน่ง ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรกเป็นผู้หญิงพื้นเมือง คนที่สองเป็นนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม และมีนักเคลื่อนไหว GLBT+ เป็นรองประธานอีกด้วย ไม่เหมือนสภาร่างรัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่มักประกอบไปด้วยพวกนักกฎหมายและผู้ใหญ่ล้าหลัง

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรก

ความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวในชิลี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขบวนการของคนที่ไม่ไว้ใจนักการเมืองมากนัก ทำให้ผู้แทนฝ่ายขวา คาสต์ ชนะการเลือกตั้งรอบแรก เพราะนักเคลื่อนไหวไม่ออกมาลงคะแนนเนื่องจากมองว่าการเลือกตั้งไม่สำคัญ แต่เมื่อมันชัดเจนว่า คาสต์ มีนโยบายล้าหลังแค่ไหนและอาจชนะ คนเหล่านี้ก็ออกมาลงคะแนนในการเลือกตั้งรอบสอง และทุ่มคะแนนให้ บอริก แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเขาไว้ใจเชื่อ บอริก โดยไม่มีเงื่อนไข

บอริกตอนเป็นนักเคลื่อนไหว
ใส่สูท

บอริก เองทั้งๆ ที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา เริ่มประนีประนอมกับฝ่ายนายทุนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เริ่มใส่สูทและตัดผมให้สั้นลง และในการปราศรัยหลังชนะการเลือกตั้งก็ประกาศว่าจะเป็นประธานาธิบดีของประชาชน “ทุกคน” ไม่ใช่แค่ของกรรมาชีพ คนจน หรือผู้ถูกกดขี่ และในนโยบายเศรษฐกิจจะสนับสนุน “เศรษฐกิจผสม” คือภาครัฐกับภาคเอกชน แทนที่จะเสนอว่าจะยึดกิจการสำคัญๆ มาเป็นของรัฐ ทุกวันนี้เหมืองแร่หลายแห่งอยู่ในมือบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะเหมืองลิเธียม ซึ่งใช้ในการสร้างแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถไฟฟ้า ชิลีมีแหล่งลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและถูกควบคุมโดยทุนสหรัฐกับจีน

ในอดีตหลังจากที่มีการนำนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เข้ามาในหลายๆ ประเทศของลาตินอเมริกา การส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ น้ำมัน และผลผลิตทางเกษตร กลายเป็นกิจกรรมหลักที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรม การพึ่งการส่งออกวัตถุดิบแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวขาดเสถียรภาพ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ซึ่งบางครั้งขึ้นบางครั้งลง ตอนราคาวัตถุดิบสูงมีหลายรัฐบาลที่ใช้เงินนี้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน แต่พอราคาตกต่ำก็มีการนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้อย่างโหดร้าย [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/340NB9L และ https://bit.ly/2DlwMsp ]

ประวัติศาสตร์ของรัฐบาลซ้ายปฏิรูปในชิลีและที่อื่น สอนให้เรารู้ว่าผู้นำฝ่ายซ้ายที่ต้องการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จะเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาลจากกลุ่มทุน ชนชั้นปกครอง และประเทศจักรวรรดินิยม ถ้าไม่ยอมประนีประนอมก็จะถูกโค่นล้มด้วยความรุนแรง มันมีวิธีการเดียวที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง คือการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะกรรมาชีพ และการทำแนวร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ข้ามพรมแดนกับขบวนการในประเทศอื่นๆ ของลาตินอเมริกา เพื่อลดอิทธิพลของจักรวรรดินิยม

ขบวนการแรงงานชิลีในท่าเรือและในเหมืองแร่เข้มแข็ง เพราะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจการส่งออก นอกจากนี้สหภาพแรงงานในภาครัฐเช่นในระบบการศึกษาและโรงพยาบาลก็เข้มแข็งด้วย

ถ้า บอริก จริงจังที่จะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสังคมชิลี เขาจะต้องจับมือทำแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และจะต้องปลุกระดมนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพ แต่นักการเมืองที่เปลี่ยนไปใส่สูทเพื่อให้ชนชั้นปกครองและคนชนชั้นกลางยอมรับเขา มักจะหันหลังให้กับการปลุกระดม ซึ่งแปลว่านักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าจะต้องนำการต่อสู้จากล่างสู่บนเอง แต่ถ้าขาดพรรคปฏิวัติที่โตพอ เพื่อประสานการต่อสู้ในหลายๆ ประเด็น และเพื่อร่วมถกเถียงและเสนอแนวทางการต่อสู้ การนำจากล่างสู่บนจะยากขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังไม่ถึงจุดที่จะสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชิลีไม่ได้

รัฐบาลพรรคสังคมนิยมกับการหักหลังขบวนการประชาชน บทเรียนจากโบลิเวีย

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐประหารที่ล้มประธานาธิบดีฝ่ายซ้าย อีโว โมราเลส แห่งโบลิเวีย เป็นรัฐประหารที่วางแผนกันระหว่างกองทัพ ตำรวจ และนักการเมืองฝ่ายขวา และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลของกลุ่มประเทศอียูก็ดูเหมือนยอมรับการทำรัฐประหารครั้งนี้ด้วย และหลังจากการทำรัฐประหารมีการประกาศว่าโบลิเวีย “เป็นของคนผิวขาวคริสเตียน” ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นคนพื้นเมือง

Bolivian Coup
ทหารกับนักการเมืองฝ่ายขวาก่อรัฐประหาร

ทุกคนที่รักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสังคมควรจะประณาม

ในขณะเดียวกันฝ่ายซ้ายจะต้องวิเคราะห์ว่าทำไมมันเกิดขึ้นได้ และจุดอ่อนกับข้อผิดพลาดของ อีโว โมราเลส กับรัฐบาลพรรคขบวนการเพื่อสังคมนิยม (MAS) มีอะไรบ้าง เพื่อเป็นบทเรียนในการต่อสู้

download
อีโว โมราเลส

อีโว โมราเลส ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 53.7% และขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีโบลิเวียในปี 2005 ท่ามกลางกระแสการต่อสู้อย่างดุเดือดของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ต่อสู้กับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดของรัฐบาลที่ทำลายวิถีชีวิตกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน ศูนย์กลางการต่อสู้นี้อยู่ที่เมือง El Alto ใกล้ๆ กับเมืองหลวง จุดสูงสุดของกระแสนี้เกิดขึ้นในปี 2000 เมื่อมีการลุกฮือต่อสู้ของประชาชนเพื่อคัดค้านการขายระบบน้ำประปาให้บริษัทเอกชน และในปี 2003 กับ 2005 การประท้วงต่อต้านการขายองค์กรก๊าชสามารถล้มประธานาธิบดีสองคน

AP_Morales_Resigns_min

โมราเลส เป็นประธานาธิบดีคนแรกของลาตินอเมริกาที่เป็นคนเชื้อสายพื้นเมือง เรื่องนี้สำคัญเพราะตั้งแต่การล่าอาณานิคมของสเปนเมื่อห้าร้อยปีก่อนหน้านี้ ชนชั้นปกครองในประเทศลาตินอเมริกามักจะเป็นคนผิวขาว และคนพื้นเมืองจากชนเผ่าต่างๆมักจะถูกกดขี่และยากจน

รัฐบาลของ โมราเลส ได้พยายามนำทรัพยากรธรรมชาติ เช่นก๊าซ แร่ธาตุ ป่า และน้ำมาอยู่ภายใต้รัฐ แทนที่จะอยู่ในมือของบริษัทเอกชนและบริษัทข้ามชาติ และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนธรรมดาที่ยากจนก็ดีขึ้นตามลำดับเพราะรัฐสามารถนำรายได้จากก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุมาใช้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน

ในปี 2008 มีการจัดประชามติเพื่อตรวจสอบประธานาธิบดี โมราเลส ซึ่งเขาชนะ ดังนั้นฝ่ายขวาในเมือง Santa Cruz จึงพยายามก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล โดยที่สหรัฐอเมริกาหนุนช่วย แต่รัฐประหารครั้งนั้นล้มเหลว เพราะมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีคนพื้นเมืองร่วมอยู่ด้วย สามารถระงับการกบฏต่อรัฐบาลได้ ดังนั้นในการเลือกตั้งปี 2009 โมราเลส ชนะด้วยคะแนนเสียงเพิ่ม พรรค MAS เพิ่มที่นั่งในรัฐสภา และมีการนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ รัฐธรรมนูญนี้เพิ่มสิทธิให้คนจน คนพื้นเมือง และกล่าวถึงการปกป้องป่ากับทรัพยากรธรรมชาติ บรรยากาศทางการเมืองในยุคนั้นต่างกับปัจจุบันพอสมควร

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลของ โมราเลส พยายามจะปฏิรูปสังคม โดยไม่ปฏิวัติล้มทุนนิยม และการที่รัฐบาลโบลิเวียอาศัยรายได้จากการส่งออกทรัพยากรอย่างสินค้าเกษตร ก๊าซธรรมชาติกับแร่ธาตุ เหมือนรัฐบาลฝ่ายซ้ายอื่นในลาตินอเมริกา หมายความว่ารัฐบาลต้องพัฒนาประเทศตามกติกากลุ่มทุนใหญ่ในระบบทุนนิยมโลก  ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งตกอยู่ในมือนักธุรกิจ และรายได้ที่เคยนำมาช่วยคนจนลดลงเมื่อราคาทรัพยากรส่งออกลดลงในตลาดโลก ปัญหานี้เกิดขึ้นกับรัฐบาลเวเนสเวลาและบราซิลด้วย

เริ่มตั้งแต่ปี 2010 มีการประท้วงของสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องรายได้เพิ่ม และกลุ่มผู้ประท้วงประเด็นอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลสร้างความไม่พอใจเมื่อประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิง กลุ่มผู้ไม่พอใจกับรัฐบาลภายในพรรค MAS ได้ออกแถลงการณ์ที่วิจารณ์การที่พวกนายธนาคาร บริษัทข้ามชาติ พวกที่ค้าสินค้าเถื่อน และแก๊งยาเสพติด กลายเป็นกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดจากนโยบายรัฐบาล

มีสองเหตุการณ์ที่สำคัญที่ช่วยสร้างกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เหตุการณ์แรกคือในปี 2011 มีการเสนอให้สร้างถนนเชื่อมโยงกับบราซิลที่ตัดผ่านเขตป่าสงวนที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองที่เรียกว่าเขต TIPNIS เหตุผลที่รัฐบาลเสนอให้สร้างถนนสายนี้คือมันจะช่วยในการเจาะก๊าซและแร่ธาตุ เพื่อส่งออกไปสู่ตลาดโลกผ่านบราซิล เป็นการเอาใจนายทุนภายในประเทศ และจะดึงการลงทุนจากบราซิลอีกด้วย ปรากฏว่ามีการประท้วงใหญ่ซึ่งตำรวจใช้ความรุนแรงอย่างหนักในการปราบ ในที่สุด โมราเลส ต้องออกมาประณามตำรวจและหยุดโครงการสร้างถนน หลังจากนั้น โมราเลส ชนะการเลือกตั้งรอบที่สามในปี 2014 อย่างไรก็ตามในปี 2017 มีการรื้อฟื้นโครงการสร้างถนนอีกครั้งซึ่งสร้างกระแสความไม่พอใจอย่างมาก

brazil-tipnis01

Sin-título

tipnis-march-la-paz-2aug17

เหตุการณ์ที่สองคือความพยายามของ โมราเลส ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4 ทั้งๆ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มีการทำประชามติเรื่องนี้ในปี 2016 และโมราเลสแพ้ 51% ต่อ 49% แต่ในปี 2018 ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตราที่ห้ามไม่ให้ โมราเลส สมัครเป็นครั้งที่ 4 ในการเลือกตั้งที่พึ่งผ่านมา และผลการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ค่อยชัดเจน จนมีการกล่าวหาว่ากระบวนการไม่ถูกต้อง

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายของ โมราเลส พยายามจะพัฒนาชีวิตของคนจน คนพื้นเมือง และกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมก้าวพ้นระบบทุนนิยม และพยายามคานผลประโยชน์ของคนชั้นล่างกับผลประโยชน์ของนายทุน ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การหักหลังประชาชนและเปิดโอกาสให้ฝ่ายขวาเผด็จการทำรัฐประหาร

เวลาเราศึกษาปัญหาที่เปิดทางให้เกิดรัฐประหารในโบลิเวีย เราควรจะเปรียบเทียบกับนโยบายที่ทำให้ประชาชนผิดหวังและเปิดทางให้ฝ่ายขวาขึ้นมาใน บราซิล กับ กรีซ เพื่อเป็นภาพรวมและบทเรียนสำหรับการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมในอนาคต

Syriza betrayal
กรีซ

อ่านเพิ่ม

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

การหักหลังประชาชนกรีซของพรรค “ไซรีซา” https://bit.ly/2NUhYUL

เช กูวารา นักสู้เพื่อสังคมนิยม หรือ “วีรชนเอกชน”เพ้อฝัน ?

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนส่วนใหญ่จากรุ่น ๑๔ ตุลา หรือคนที่คลุกคลีกับฝ่ายซ้าย คงรู้จักชื่อและใบหน้าของ เช กูวารา สหายนักสู้ของ คัสโตร ในประเทศคิวบา และคนที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ เช ก็อาจเคยเห็นใบหน้าของเขาบนโปสเตอร์ที่ขายตามตลาดและบนเสื้อยืดหรือแม้แต่บนหลังรถบรรทุกในเมืองไทย

che_guevara_1474x774

เช กูวารา เกิดที่ประเทศอาเจนตีนาในทวีปอเมริกาใต้เมื่อปี 1928 และเริ่มสนใจการเมืองในขณะที่เขาไปเที่ยวประเทศกวาตามาลา เพราะในช่วงนั้นสหรัฐเข้ามาแทรกแซงการเมืองกวาตามาลาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทผลไม้สหรัฐ โดยที่สหรัฐสนับสนุนการยึดอำนาจของทหารที่ล้มรัฐบาลชาตินิยมซึ่งกำลังพยายามนำธุรกิจกล้วยหอมส่งออก ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของประเทศ มาเป็นของรัฐ แทนที่จะเป็นของบริษัทต่างชาติ

เช กูวารา มองตัวเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหว “มาร์คซิสต์” และมีนักต่อสู้คนรุ่นหลังหลายกลุ่มที่ถือเอา เช เป็นวีรบุรุษ

เราสามารถเรียนบทเรียนอะไรบ้างจากแนวทางการต่อสู้ของเช?

castro-che-afp-wb

เช ได้เข้าร่วมในปฏิวัติยึดอำนาจในประเทศคิวบาภายใต้การนำของ คัสโตร ในปี 1959 โดยที่เขาอาศัยยุทธศาสตร์การสู้รบแบบกองโจร รัฐบาลเก่าของคิวบาที่ถูกล้มเป็นรัฐบาลน้ำเน่าที่ไม่มีใครสนับสนุนเนื่องจากมีการโกงกินสุดยอดของนักการเมือง อย่างไรก็ตามในยุคก่อนการปฏิวัติคิวบา พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา ได้สนับสนุนรัฐบาลน้ำเน่านี้ โดยหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ฉนั้นในสมัยนั้น เช และ คัสโตร ไม่ได้สนใจพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาหรือชนชั้นกรรมาชีพในเมืองมากเท่าไร แต่เลือกใช้วิธีการยึดอำนาจของกองกำลังที่มาจากนักศึกษาและชาวนาที่ไม่มีที่ดินซึ่งตั้งขึ้นในเขตภูเขาห่างไกลจากเมือง แนวทางการต่อสู้แบบนี้ไม่ใช่แนวมาร์คซิสต์ เพราะไม่ได้อาศัยพลังชนชั้นกรรมาชีพเลย

ยุทธศาสตร์แบบกองโจรที่ เช และ คัสโตร นำมาใช้มีผลกระทบกับแนวความคิดของเขา เพราะเขามักจะมองกลไกของการสู้รบว่าสำคัญกว่าความคิดทางการเมือง อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายหลักของการปฎิวัติคิวบาคือการปลดปล่อยคิวบาจากอิทธิพลของจักรวรรดินิยมอเมริกา ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจคิวบาต้องพึ่งการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลเป็นหลัก และสหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมการผลิตดังกล่าวอย่างผูกขาด

เมื่อรัฐบาลใหม่ของ คัสโตร ขึ้นมามีอำนาจ สหรัฐได้พยายามปิดกั้นเศรษฐกิจของประเทศเพื่อเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลใหม่ยอมจำนนต่อผลประโยชน์สหรัฐ แต่รัฐบาล คัสโตร ตัดสินใจนำธุรกิจหลักของประเทศมาเป็นของรัฐแทนที่จะยอมจำนน และได้เร่งพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุขของประชาชนเพื่อหวังพึ่งตนเองแทนสหรัฐ

การนำระบบการผลิตภายในประเทศมาเป็นของรัฐมีผลทำให้ คัสโตร กับ เช ต้องสร้างความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาซึ่งมีอิทธิพลในหมู่คนงานในเมือง จุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ก็เพื่อที่จะใช้ฐานอำนาจและองค์กรนี้ในการควบคุมเศรษฐกิจ และเพื่อที่จะใช้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นกลไกในการควบคุมแรงงาน เพราะกลุ่มนักรบของ เช และคัสโตร เป็นกลุ่มเล็กที่ขาดบุคคลากร ฉนั้นในที่สุด คัสโตร ที่เคยเรียกตัวเองว่านักต่อสู้ชาตินิยม ก็เริ่มเรียกตัวเองว่าเป็น “คอมมิวนิสต์”

เช เป็นนักต่อสู้กล้าหาญที่รักความเป็นธรรม แต่ถึงแม้ว่าเขาจะเรียกตัวเองว่าเป็นมาร์คซิสต์ ความคิดและวิธีการที่เขาเลือกใช้ไม่ตรงกับแนวความคิดมาร์คซิสต์แต่อย่างใด เช ให้ความสำคัญกับการกระทำของวีรชนคนกลุ่มน้อยแทนที่จะอาศัยพลังมวลชนและการต่อสู้ทางชนชั้น เขาเขียนว่า “เราได้พิสูจน์ว่าคนกลุ่มเล็กๆที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ถ้าไม่กลัวตาย สามารถชนะกองทัพอันเข้มแข็งได้” เงื่อนไขที่สำคัญในการต่อสู้ ในสายตาของ เช คือกลไกการต่อสู้และความมั่นใจของนักสู้ โดยที่ไม่ต้องให้ความสำคัญกับสภาพการเมืองและสังคม ความคิดอัตวิสัยแบบนี้เป็นความคิดแบบ “จิตนิยมปลุกระดม” ซึ่งตรงข้ามกับความคิดวัตถุนิยมของมาร์คซ์ เพราะมองความกล้าหาญและความมั่นใจของนักสู้เป็นหลัก และไม่ให้บทบาทในการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพเลย

ในที่สุดยุทธศาสตร์การต่อสู้แบบวีรชนเอกชนของ เช นำเขาและสหายไปสู่ความพ้ายแพ้ในประเทศคองโกและในที่สุดนำเขาไปสู่ความตายในประเทศโบลีเวียในปี 1967

เราสดุดีความกล้าหาญและความจริงใจของ เช ได้ และเราชมการให้ความสำคัญกับการต่อสู้ในระดับสากลได้อีกด้วย แต่เราควรจะเข้าใจว่าแนวทางการจับอาวุธของวีรชนคนกลุ่มเล็กๆ ของ เช ไม่สามารถสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยมได้ และทุกวันนี้คิวบาก็ไม่ใช่สังคมนิยม แต่เป็นเผด็จการภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แนวสตาลิน

อ่านเพิ่มเรื่องคิวบาในบทความเรื่องลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

เราควรคัดค้านรัฐประหารของสหรัฐในเวเนสเวลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

อนาคตของกระบวนการปฏิรูป “โบลิวาร์”[1] ของอดีตประธานาธิบดีชาเวสในประเทศเวเนสเวลา อยู่ในสภาพวิกฤตอันเนื่องมาจากการที่สหรัฐอเมริการ่วมกับรัฐบาลตะวันตกกำลังสนับสนุนให้มีรัฐประหาร

วิกฤตนี้จะมีจุดจบได้ในสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือจบในลักษณะที่เป็นประโยชน์กับกรรมาชีพและคนจน รูปแบบที่สองคือจบลงในลักษณะที่เอื้อประโยชน์กับจักรวรรดินิยม กลุ่มทุนใหญ่ กับคนรวย ผ่านการใช้กำลังและแนวกลไกตลาดสุดขั้ว

บทเรียนสำคัญสำหรับเราคือ “พรรคสังคมนิยมปฏิรูป ที่ไม่สามารถปฏิรูปอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะไม่ยอมก้าวสู่กระบวนการปฏิวัติล้มอำนาจทุน ย่อมเปิดทางให้ฝ่ายขวากลับเข้ามาในที่สุด” ผมจะขออธิบายรายละเอียด…

เจ้าหน้าที่ทางทูตคนสำคัญของสหรัฐ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์ให้ดูแลเรื่องรัฐประหาร คือ เอลิออด เอแบรมส์ คนนี้มีประวัติในการสนับสนุนการฆ่าประชาชนเป็นพันโดยกองกำลังฆาตกรในประเทศเอลซาลวาดอร์ มีประวัติในการหนุนพวกฝ่ายขวาในนิคารากัว โดยโกหกรัฐสภาสหรัฐในเรื่องนี้สองครั้ง และมีประวัติในการสนับสนุนรัฐประหารที่ล้มเหลวในเวเนสเวลาในปี 2002

skynews-juan-guaido-nicolas-maduro_4560239
วาน กูไอโด กับ นิโคลัส มาดูโร

ตอนนี้สหรัฐกับตะวันตกกำลังสนับสนุนความพยายามของนักการเมืองฝ่ายขวาชื่อ วาน กูไอโด ที่ประกาศว่าตนเป็น “ประธานาธิบดีที่แท้จริง” ของเวเนสเวลา แทนประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แต่พรรคการเมืองของ วาน กูไอโด มีแค่14ที่นั่งในรัฐสภา และประชาชน80%ของประเทศไม่เคยรู้จักเขามาก่อน

พรรคฝ่ายขวาต่างๆ ในเวเนสเวลา เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนใหญ่ คนรวยและคนชั้นกลาง ซึ่งในอดีต ก่อนที่ ฮูโก ชาเวส จะชนะการเลือกตั้งในปี 1998 มีประวัติในการปกครองประเทศด้วยความป่าเถื่อนเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเองและเพื่อควบคุมคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในปี 1989 เมื่อคนจนลุกฮือเนื่องจากการใช้นโยบายรัดเข็มขัดสุดขั้ว รัฐบาลฝ่ายขวาลงมือฆ่าประชาชนมือเปล่าสองพันคนกลางเมืองคาราคัส เหตุการณ์นี้เรียกว่าการลุกฮือ Caracazo นอกจากนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่เป็นแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน เคยพยายามก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของ ฮูโก ชาเวส ในปี 2002 แต่ไม่สำเร็จ

โดยรวม เป้าหมายของฝ่ายขวาในเวเนสเวลา คือการหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคที่คนจนต้องเจียมตัวกับความยากจนท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและการใช้อำนาจของคนรวย ดังนั้นนักการเมืองพวกนี้ไม่ใช่นักประชาธิปไตยที่จะมาปลดแอกประชาชนแต่อย่างใด และเขายังพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยมอีกด้วย

แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่ารัฐบาลของประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร มีส่วนในการสร้างวิกฤตร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมีสามสาเหตุคือ

ปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน ซึ่งเคยมีราคาสูงในตลาดโลก แต่ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในรอบสองสามปีที่ผ่านมา เงินรายได้จากการขายน้ำมันได้ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านหน่วยงาน Las Misiones แต่พอราคาน้ำมันลดลงงบประมาณรัฐก็หายไป และรัฐบาลไม่ได้พยายามส่งเสริมการผลิตสิ่งอื่นๆ แทนน้ำมัน

screen_shot_2015-05-22_at_09.33.27
Las Misiones

ตอนนี้เกือบ 90% ของประชาชนถือว่ายากจน 3 ล้านคนย้ายไปอยู่ในประเทศอื่น และอัตราเงินเฟ้อตอนนี้สูงถึง 1.3ล้าน%!!! ซึ่งแปลว่าทุก 19 วันราคาสินค้าจะเพิ่มเท่าตัว ประชาชนคนจนขาดแคลนของใช้จำเป็น ส่วนหนึ่งมาจากการกักสินค้าโดยนายทุนเอกชน และข้าราชการในพรรครัฐบาลด้วย และการกีดกันการค้าขายโดยรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่ปี 2017 ก็ไม่ช่วย

สาเหตุที่สองของวิกฤตคือการคอร์รับชั่นโกงกินของข้าราชการชั้นสูง นักการเมืองของพรรคสังคมนิยม PSUV และทหารระดับสูง ซึ่งร่วมกันกินกับนายทุนใหญ่ที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้คนธรรมดาเบื่อหน่ายและหมดความเชื่อมั่นในพรรครัฐบาล แต่ไม่ใช่ว่าจะชื่นชมพรรคฝ่ายค้าน

stream_img

สาเหตุที่สามของวิกฤตปัจจุบัน คือความพยายามของนักการเมืองฝ่ายขวาที่จะฉวยโอกาสกลับมาปกครองประเทศผ่านการนำการประท้วงบนท้องถนนในปี 2014 และในปัจจุบัน บ่อยครั้งมีการใช้ความรุนแรงในการประท้วง แต่รัฐบาลก็โต้ตอบด้วยความรุนแรงเช่นกัน

ขณะนี้เวเนสเวลามีสองสภา ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ “สภาแห่งชาติ” ที่พรรคฝ่ายขวามีเสียงข้างมากมาตั้งแต่ปี 2015 และ “สภาผู้แทนประชาชน” ซึ่งพรรค PSUV ของ มาดูโร มีเสียงข้างมาก สองสภานี้กำลังแย่งอำนาจกัน

ปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ในเวเนสเวลาคือ กระบวนการปฏิรูป “บอลลิวา” ของอดีตประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวส ที่ ชาเวส พยายามอ้างว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยม เป็นแค่การปฏิรูปเพื่อทำให้ชีวิตคนจนดีขึ้น โดยไม่แตะอำนาจของกลุ่มทุนใหญ่หรือเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากระบบทุนนิยมแต่อย่างใด การปฏิรูป “จากบนลงล่าง” แบบนี้ล้มเหลวเพราะไม่ได้ทำลายระบบเดิม และเพราะพึ่งพาการส่งออกน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งไม่ต่างจากปัญหาในประเทศ บราซิล เลย [ดู https://bit.ly/2sU4mh1 ]

chavez_legacy.jpg_1718483346

ถ้าประชาชนคนจนและกรรมาชีพในเวเนสเวลา จะกู้สถานการณ์กลับมา เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ จะต้องมีการเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชนรากหญ้าในรูปบบที่เคยเกิดในปีก่อนๆ ที่ผ่านมา เช่นการลุกฮือของประชาชนจำนวนมากที่ล้มรัฐประหารของฝ่ายขวาในปี 2002 การเคลื่อนไหวของกรรมาชีพเป็นล้านเพื่อต่อต้านความพยายามของนายทุนที่จะทำลายเศรษฐกิจน้ำมันระหว่างปี2002และ2003 การปลุกระดมการมีส่วนร่วมและการเคลื่อนไหวของคนธรรมดาในการสร้างและบริหาร “องค์กรแก้ไขปัญหาความยากจน” Las Misiones ซึ่งเข้ามาบริการคนจนในเรื่อง อาหารราคาถูก ระบบสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การปฏิรูปที่ดิน การศึกษา และปัญหาอีกมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง หลัง2003 สมัยที่ ชาเวส ยังมีชีวิตอยู่

TOPSHOTS-VENEZUELA-ELECTION-CAMPAGIN-MADURO

แต่ถ้าการเคลื่อนไหวของคนชั้นล่างจะสำเร็จ จะต้องปฏิเสธวัฒนธรรมการควบคุมพลังมวลชน ที่ชาเวสเริ่มใช้ผ่านพรรคสังคมนิยม PSUV และจะต้องไม่หวังพึ่งคนอย่าง นิโคลัส มาดูโร นายทหารชั้นสูง หรือผู้นำโกงกินของ PSUV

ปัญหาของพรรคสังคมนิยมเวเนสเวลา พรรคแรงงานของบราซิล และพรรคไซรีซาในกรีซ คือพรรคปฏิรูปที่ไม่สามารถปฏิรูปอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะไม่ยอมก้าวสู่กระบวนการปฏิวัติล้มอำนาจทุน ย่อมเปิดทางให้ฝ่ายขวากลับเข้ามาในที่สุด

 

[1] ชาเวสตั้งชื่อกระบวนการปฏิรูปสังคมของเขาตาม ซิมอน โบลิวาร์ ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการปลดแอกลาตินอเมริกาจากการปกครองของสเปน

อ่านเพิ่ม เรื่องลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp  เรื่องกรีซ https://bit.ly/293hWr1

 

 

วิกฤตการเมืองบราซิลเปรียบเทียบกับไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ทั้งบราซิลกับไทยมีประวัติการตกภายใต้เผด็จการทหาร และมีวิกฤตการเมืองที่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของพวกอภิสิทธิ์ชนและสลิ่มชนชั้นกลาง จนในที่สุดเกิดรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

p18 argentina protest

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ชนชั้นกลางใช้ประเด็น “การต่อต้านคอร์รับชั่น” เพื่อเป็นข้ออ้างในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทั้งสองประเทศ

นักวิชาการบราซิล Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais วิเคราะห์ว่าชนชั้นกลางชอบเล่นประเด็นเรื่องการคอร์รับชั่น เพราะมองว่าตัวเองมีฐานะดีที่มาจาก “ความสามารถและความขยันของตนเอง” ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่จริงเท่าไร แต่มันทำให้คนชั้นกลางมองว่าการคอร์รับชั่นเปิดโอกาสให้ “คนมีเส้น” เข้ามากอบโกยผลประโยชน์

brazil-45

ปัจจัยที่บวกเข้าไปสำหรับชนชั้นกลางคือ เขาจะมักจะไม่พอใจเมื่อรัฐบาลช่วยคนจนและแรงงาน

180908-004-2E0344EA
เดลมา รุสเซฟ

อย่างไรก็ตามการกล่าวหานักการเมืองว่าโกงกิน มักถูกใช้ในลักษณะที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเราเห็นในกรณีไทย เช่นการที่ทหารชั้นสูงจะโกงแค่ไหนก็ได้ โดยที่สลิ่มชนชั้นกลางเงียบเฉย ในกรณีบราซิล กระแสต่อต้านการคอร์รับชั่นกลายเป็นข้ออ้างสำหรับ ตุลาการ ตำรวจชั้นสูง และอัยการ ในการเลือกที่จะตั้งข้อกล่าวหากับพรรคแรงงานของ ประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และอดีตประธานาธิบดี ลูลา โดยที่ไม่มีการสอบสวนนักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรคฝ่ายค้านเลยทั้งๆ ที่มีเรื่องอื้อฉาวติดตัวด้วย ในด้านหนึ่งการคอร์รับชั่นของนักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่ในกรณีผู้นำอย่างรุสเซฟหรือลูลา ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ แต่ในไม่ช้าข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รับชั่น ก็แปรไปเป็นเรื่องที่ผูกพันกับการต่อต้านนโยบายช่วยคนจนของพรรคแรงงาน โดยมีการกล่าวหาว่า “ทำลายวินัยทางการคลัง” และข้อกล่าวหาหลังนี้เองที่ถูกใช้โดยฝ่ายตุลาการและวุฒิสภาบราซิลในการก่อรัฐประหารล้มประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ มันทำให้เรานึกถึงกรณียิ่งลักษณ์ในไทย

Luiz Inacio Lula da Silva, Dilma Rousseff
ลูลากับเดลมา รุสเซฟ

ลึกๆ แล้ววัตถุประสงค์ของฝ่ายขวาอภิสิทธิ์ชนบราซิลในการล้มรัฐบาลพรรคแรงงาน คือความต้องการของพวกนี้ที่จะยกเลิกนโยบายที่ช่วยคนจนที่กระทำไปภายใต้นโยบาย “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) [รายละเอียดเรื่องนี้อ่านได้ในบทความสัปดาห์ที่แล้วเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา]  และเขาต้องการยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิของคนจนและแรงงาน นอกจากนี้พวกนี้ต้องการเปิดประเทศเต็มที่และแปรรูปบริษัทน้ำมันของรัฐเพื่อขายให้ทุนข้ามชาติ นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของพวกนี้ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ผมเคยเสนอมานานว่าการทำรัฐประหาร๑๙กันยาและรัฐประหารของประยุทธ์ ส่วนหนึ่งกระทำไปเพื่อทำลายนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนานของทักษิณที่ช่วยคนจน โดยมีเป้าหมายที่จะนำนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วเข้ามาใช้ นโยบายดังกล่าวเป็นที่ชื่นชมของพรรคประชาธิปัตย์และทหาร และมันเอื้อประโยชน์ให้คนรวย [ดู https://bit.ly/2Na1TLa ]

จริงๆ แล้วนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด เป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย เพราะมันเน้นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่ร่ำรวย และเน้นอำนาจของ “กลไกตลาด” ในขณะที่กีดกันการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน และกีดกันไม่ให้รัฐคุมเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์คนส่วนใหญ่อีกด้วย ดังนั้นเราไม่ควรหลงเชื่อว่าเสรีนิยมสร้างประชาธิปไตย [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

แน่นอนบราซิลกับไทยไม่ได้เหมือนกัน 100% เพราะพรรคการเมืองของทักษิณไม่ใช่พรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป และพรรคแรงงานบราซิลไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนพรรคของทักษิณ

สำหรับทางออกในปัจจุบัน Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais เน้นว่าฝ่ายซ้ายต้องต่อต้านคอร์รับชั่น แต่ไม่ใช่ไปเล่นเรื่องนี้จนฝ่ายขวานำมาใช้เป็นเครื่องมือเองได้ คือต้องมีการให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และต้องต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งจริงๆ แล้วเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนและคนรวยผูกขาดนโยบายของรัฐเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย

นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดปิดโอกาสสำหรับคนธรรมดาที่จะร่วมกันตรวจสอบการกอบโกยของนายทุน ซึ่งต้องถือว่าเป็นการคอร์รับชั่นประเภทหนึ่ง

ที่สำคัญคือ การล้มเผด็จการทหาร และการผลักดันให้รัฐเสนอนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน มาจากกระแสการกดดันจากมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งในไทยและบราซิล เมื่อขบวนการดังกล่าวถูกหักหลังโดยรัฐบาลพรรคแรงงานในบราซิล หรือถูกแช่แข็งโดยพรรคของทักษิณ สังคมมีแนวโน้มจะถอยหลัง

วิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในหลายประเทศของลาตินอเมริกา เป็นปัญหาที่มาจากการพึ่งการส่งออกวัตถุดิบสู่ตลาดโลก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมอธิบายสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนสเวลา ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากการพึ่งการส่งออกของน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำลงอันเนื่องมาจากวิกฤคเศรษฐกิจโลกปี 2008 [ดู https://bit.ly/2Pvrjk0 ] แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่ไหนเวเนสเวลา มันสร้างปัญหาให้กับอาเจนทีนา บราซิล และนิการากัวด้วย ซึ่งจะอธิบายต่อไป

ถ้าเราย้อนกลับไปสี่สิบกว่าปี นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายชาตินิยมซ้ายในประเทศกำลังพัฒนา มักจะชี้ให้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศในแถบ “ใต้” จะมีจุดอ่อนตรงที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบสู่ตลาดโลกที่ควบคุมโดยประเทศพัฒนาในแถบ “เหนือ” ซึ่งผลก็คือความด้อยพัฒนาของการผลิตอุตสาหกรรมภายในประเทศ และการที่รัฐบาลในประเทศทางใต้ขาดอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจ

ทางออกของที่พวกชาตินิยมซ้ายเสนอ คือการปิดประเทศระดับหนึ่ง เพื่อควบคุมการลงทุนและการแข่งขัน และเพื่อให้รัฐบาลส่งเสริมการผลิตภายในเพื่อทดแทนการนำเข้าของผลผลิตอุตสาหกรรมจากประเทศพัฒนา เป้าหมายคือการพัฒนาเศรษฐกิจให้หลากหลายมากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ และลดการถูกควบคุมโดยบริษัทข้ามชาติ ผู้นำและนักเศรษฐศาสตร์ในคิวบา เวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา มีความพยายามที่จำนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ และมีนักวิชาการหลายคนที่เสนอการวิเคราะห์ปัญหาและทางออกภายใต้สิ่งที่เรียกกันว่า “ทฤษฏีพึ่งพา”

ในไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งก็มีนักเศรษฐศาสตร์ชาตินิยมซ้ายที่เสนอนโยบายคล้ายๆ กัน [เช่น กมล กมลตระกูล (๒๕๔๐) “IMF นักบุญหรือคนบาป” ส.พ.มิ่งมิตร, พิทยา ว่องกุล (๒๕๔๐) บรรณาธิการ “คำประกาศอิสรภาพจาก IMF” ส.ก.ว. และมูลนิธิภูมิปัญญา,เศรษฐสยาม (๒๕๔๑) “สหรัฐอเมริกา ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า” วิถีทรรศน์ชุดภูมิปัญญา 8]

ปัญหาคือการปิดประเทศเพื่อพัฒนาภายใน ภายใต้เงื่อนไขของทุนนิยมโลกในสมัยนี้ นำไปสู่การขาดการลงทุนและเทคโนโลจีสมัยใหม่ ถ้าจะทำกันจริงๆ ต้องมีการยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของกรรมาชีพ ปฏิวัติล้มทุนนิยม สร้างรัฐสังคมนิยม เริ่มการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และสร้างความสมานฉันท์กับประเทศอื่นๆที่ทำสิ่งเดียวกัน แต่แนวชาตินิยมซ้ายไม่ต้องการจะล้มระบบทุนนิยม เพราะทั้งๆที่อ้างความเป็นซ้าย แท้จริงแนวคิดหลักเป็นแนวชาตินิยมที่ตรงกับผลประโยชน์นายทุนชาติเท่านั้น สิ่งที่เขาต้องการคือการสร้างชาติที่อิสระจากจักรวรรษนิยมเท่านั้น มันตรงกับสิ่งที่ลัทธิเผด็จการ “สตาลิน-เหมา” ของพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ เรียกว่าขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย”

และการบิดเบือนสังคมนิยมภายใต้เผด็จการแนวสตาลิน ที่ใช้ระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ทำให้การต่อสู้เพื่อสังคมนิยมมีอุปสรรคมากมาย [ดู https://bit.ly/2uOffCh ]

การล่มสลายของเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในรัสเซีย กับยุโรปตะวันออก และการเปลี่ยนนโยบายของจีน เวียดนาม และคิวบา มาจากปัญหาเดียวกันของการปิดประเทศโดยพวกชาตินิยมซ้าย [เรื่องคิวบาดู https://bit.ly/2N7HyGf ]

ผลของความล้มเหลวของแนวชาตินิยมซ้าย ทำให้รัฐบาลต่างๆ ในลาตินอเมริกา หันไปรับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งแปลว่าต้องเปิดประเทศ รับการลงทุนและอิทธิพลจากบริษัทข้ามชาติ กดค่าแรงของประชาชน ขายรัฐวิสาหกิจ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงการลงทุนเข้ามา และยกเลิกความพยายามของรัฐที่จะควบคุมเศรษฐกิจ คือยอมจำนนต่อตลาดโลกนั้นเอง แม้แต่อดีตนักวิชาการทฤษฏีพึ่งพาอย่าง เฟอร์นานโด เฮนริก คาร์โดโซ พอขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีบราซิล ก็หันไปใช้นโยบายเสรีนิยมสุดขั้ว

ปัญหาหลักของนโยบายเสรีนิยมคือ ในทุกประเทศมันนำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำมหาศาล เพราะมันเป็นนโยบายที่อิงผลประโยชน์ของกลุ่มทุน นอกจากนี้มันหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่ประเทศในลาตินอเมริกาต้องพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ เช่นน้ำมันในกรณีเวเนสเวลาและบราซิล น้ำตาลในกรณีคิวบา แร่ธาตุในกรณีบราซิล และผลิตผลเกษตรในกรณีอเจนทีนาและนิการากัว ซึ่งราคาวัตถุดิบเหล่านี้ในตลาดโลกขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่ขยายตัวแล้วเข้าสู่วิกฤตเป็นประจำ โดยที่วิกฤตทุนนิยมดังกล่าวมีต้นเหตุจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรตามที่มาร์คซ์เคยวิเคราะห์นานแล้ว [ดู  https://bit.ly/2HZwn0y ]

สำหรับเวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ในต้นทศวรรษ 2000 นำไปสู่ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงและดึงเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้ขยายตัว

ในเวเนสเวลา กับ บราซิล มีการนำกำไรจากการส่งออกมาพัฒนาสถานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่โดยที่ไม่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบทุนนิยมแต่อย่างใด [ดูบทความสัปดาห์ที่แล้ว]

lulada

ในบราซิล รัฐบาลของประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงาน เลือกใช้นโยบายเสรีนิยมต่อไปจากรัฐบาลก่อนเพื่อเอาใจนายทุน แต่ในขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานเสียงจากคนจนและกรรมาชีพ ดังนั้นมีความพยายามที่จะนำทฤษฏีเศรษฐกิจ “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) มาใช้ หลักสำคัญคือการใช้รัฐเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนภายในประเทศภายใต้กลไกตลาด แต่ในขณะเดียวกันมีการยกระดับความเป็นอยู่ของคนจนผ่านโครงการของรัฐ นโยบายนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนจำนวนมากในบราซิล โดยรัฐบาลจงใจไม่แตะหรือลดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเลย แต่ความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจนี้ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตและวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงในตลาดโลก ซึ่งแปลว่าทุกอย่างพังทะลายเมื่อทุนนิยมโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 และมีการลดลงของราคาวัตถุดิบ สภาพเช่นนี้นำไปสู่วิกฤตทางการเมือง การตัดโครงการต่างๆ ที่ช่วยคนจน และการหายไปของเสียงสนับสนุนรัฐบาล ผลคือ “รัฐประหารโดยวุฒิสภาและตุลาการ” ที่ล้มรัฐบาลพรรคแรงงานของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ ในปี 2016

หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลฝ่ายขวาที่เข้ามาใหม่มีการหันมาใช้นโยบายรัดเข็มขัดที่โจมตีสถานะของคนจนและกรรมาชีพ [ดู https://bit.ly/2NDhLmw ]

ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในบราซิล และอดีตประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงานก็ลงสมัครอีกครั้ง แต่ตุลาการหาข้ออ้างเรื่องการคอรับชั่นมากีดกันไม่ให้เขาลงสมัคร ขณะนี้(ต้นเดือนกันยายน) โพล์ดูเหมือนจะเสนอว่าผู้สมัครฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ที่สนับสนุนเผด็จการทหารโหดร้ายกำลังนำ แต่เขาพึ่งถูกทำร้ายต้องเข้าโรงพยาบาล สรุปแล้วสถานการณ์ทางการเมืองในบราซิลปั่นป่วนมาก

ในแง่หนึ่งเราควรจะเปรียบเทียบนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยกับทฤษฏี “เสรีนิยมพัฒนา” เพราะไทยรักไทยพยายามฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ผ่านการสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนพร้อมกับความพยายามที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของคนธรรมดา คือใช้ “เศรษฐกิจคู่ขนาน”แทนเสรีนิยมสุดขั้ว แต่มันมีข้อแตกต่างตรงที่ไทยไม่ได้พึ่งการส่งออกของวัตถุดิบแบบบราซิล และไทยรักไทยไม่ได้เป็นพรรคฝ่ายซ้าย [ดู https://bit.ly/2PYRDnr ]

ในอาเจนทีนา เศรษฐกิจออกจากวิกฤตที่เกิดในปี 1998 และเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วระหว่าง 2001 กับ 2008 แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดจากการส่งออกผลผลิตเกษตรที่ราคาสูงในตลาดโลก อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 อาเจนทีนาก็เริ่มมีปัญหาอีก และในที่สุดรัฐบาลฝ่ายขวาของประธานาธิบดีแมครี ต้องไปกราบเท้าองค์กร ไอเอ็มเอฟ เมื่อไม่นานมานี้เอง

A woman holds a sign that reads "No to the IMF" during a protest outside the Congress in Buenos Aires
ประชาชนต้านไอเอ็มเอฟในอเจนทีนา

ในนิการากัว อดีตนักปฏิวัติพรรคซานดินิสตา ประธานาธิบดี แดเนียล ออร์เตกา กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองที่มาจากการต่อต้านอย่างแรงจากประชาชน สาเหตุหลักของการต่อต้านครั้งนี้ ซึ่งนำไปสู่การที่ประชาชนถูกยิงตายเกือบ 300 คน คือนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของรัฐบาลท่ามกลางปัญหาราคาผลผลิตส่งออก ออร์เตกาเคยนำการปฏิวัติล้มเผด็จการโซโมซาในปี 1979 แต่การปลุกสงครามต่อต้านรัฐบาลใหม่ในยุคนั้นโดยสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจพังจนพรรคซานดินิสตาต้องแพ้การเลือกตั้งในปี 1990 ต่อมาในปี 2006 ออร์เตกาชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ใน16ปีที่ผ่านไปก่อนหน้านั้นเขาเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองโดยสิ้นเชิง คือสร้างความสัมพันธ์กับทุนภายในประเทศกับนักการเมืองคอร์รับชั่น และทำตัวเป็นเผด็จการหลังชนะการเลือกตั้ง อดีตนักปฏิวัติซานดินิสตาหลายคนจึงรับไม่ได้และตัดสินใจแยกทางกัน

image
ฝ่ายค้านประท้วงที่นิการากัว

สรุปแล้วสิ่งที่เราควรจะเข้าใจคือ วิกฤตการเมืองในลาตินอเมริกาไม่ใช่วิกฤตที่เกิดจากนโยบายสังคมนิยมแต่อย่างใด ตราบใดที่ไม่มีการต่อต้านและล้มทุนนิยมรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นซ้ายไม่สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตทุนนิยมที่เกิดเป็นประจำได้ และรัฐบาลฝ่ายขวาก็จะพยายามแก้วิกฤตเศรษฐกิจบนสันหลังประชาชนผู้ทำงานเสมอ

วิกฤตพรรคซ้ายในลาตินอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขณะนี้ ในหลายประเทศของลาตินอเมริกา มีวิกฤตของพรรคการเมืองซ้ายแบบ “ปฏิรูป” ที่เน้นแต่การชนะการเลือกตั้งในรัฐสภา โดยที่ไม่มีการโค่นอำนาจเก่าเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐ ไม่มีการรณรงค์สร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน และไม่สร้างพรรคปฏิวัติที่อาศัยอำนาจรากหญ้าจากล่างสู่บน

วิกฤตของพรรคฝ่ายซ้ายเหล่านี้ สร้างภัยให้กับคนยากจนและกรรมาชีพเป็นอย่างมาก เพราะเป็นโอกาสในการกลับมาของพรรคฝ่ายขวาท่ามกลางการเดินขบวนประท้วงของชนชั้นกลาง “สลิ่ม” ที่เกลียดชังคนจนและประชาธิปไตยที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน

สลิ่มในบราซิล
สลิ่มในบราซิล

ในหลายประเทศของลาตินอเมริกา พรรคฝ่ายซ้ายเคยชนะการเลือกตั้งและลงมือใช้รายได้ของประเทศในการพัฒนาชีวิตของคนจน รายได้ดังกล่าว ในประเทศอย่างบราซิล มาจากการส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ ให้ประเทศจีน ซึ่งจีนในช่วงนั้นมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประเทศอย่างเวนเนสเวลา เคยรับรายได้ระดับสูงจากการค้าน้ำมัน นโยบายช่วยคนจนของหลายรัฐบาลในลาตินอเมริกา เป็นที่ชื่นชมของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะในอดีตรัฐบาลฝ่ายขวาที่มาจากการเลือกตั้ง หรือเผด็จการทหาร ไม่เคยสนใจปัญหาความยากจนของคนส่วนใหญ่เลย หลายประเทศเคยถูกปกครองอย่างโหดร้ายโดยแก๊งอำมาตย์ที่ประกอบไปด้วยนายทุนใหญ่ คนรวย และทหาร

แต่ทุกวันนี้เศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนตัวลงและจีนซื้อวัตถุดิบน้อยลง พร้อมกันนั้นปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก บวกกับนโยบายการกดราคาเพื่อทำลายคู่แข่งของประเทศซาอุ ทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำ เศรษฐกิจบราซิลเข้าสู่วิกฤตการหดตัวอย่างหนัก และอเจนทีนากับเวเนสเวลามีระดับเงินเฟ้อที่น่ากลัวมาก

เมื่อรัฐบาลของหลายประเทศในลาตินอเมริกาประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แทนที่จะยึดทรัพย์และระบบการผลิตจากคนรวยและกลุ่มทุน กลับใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่รัดเข็มขัดตัดสวัสดิการให้ประชาชน ซึ่งทำให้ขบวนการแรงงานและคนจนจำนวนมากไม่พอใจ แต่ในขณะเดียวกันมันเป็นโอกาสทองของพวกฝ่ายขวาและชนชั้นกลาง ที่จะออกมาประท้วงด้วย

แม้แต่ในประเทศ โบลิเวีย รัฐบาลของ อีโว มอราเลส ที่เคยก้าวหน้า ก็หักหลังขบวนการประชาชนพื้นเมืองท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเหมืองแร่และน้ำมันเข้ามาลงทุนและทำลายป่า

ปัญหาใหญ่อีกอันหนึ่งในประเทศเหล่านี้คือ นักการเมืองฝ่ายซ้ายที่เคยเป็นนักสู้ หรือในกรณีของ ลูลา อดีตประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งเคยเป็นนักสหภาพแรงงานในโรงงานรถยนต์ เมื่อเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองโดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างรัฐ และไม่มีพลังมวลชนรากหญ้าที่คอยตรวจสอบตัวเอง เริ่มแปรธาตุไปเป็นพวกอภิสิทธิ์ชนเหมือนกับที่นักการเมืองฝ่ายขวาและนายทุนใหญ่เป็นอยู่ พวกนี้จึงหันไปใช้ชีวิตเหมือนพวกคนรวย และหากินแบบคอร์รับชั่น บางครั้งนักการเมืองฝ่ายซ้ายปฏิรูปเหล่านี้ อาจยิ่งโกงกินอย่างเปิดเผยมากกว่าฝ่ายขวาบางคน เพราะไม่ได้มาจากตระกูลร่ำรวยที่สะสมทรัพย์ผ่านการขูดรีดประชาชนหรือการโกงกินในอดีตเหมือนฝ่ายขวา แต่เขาอยากมีวิถีชีวิตเหมือนกัน

ทั่วโลกระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เต็มไปด้วยการโกงกิน การคอร์รับชั่น และการเอารัดเอาเปรียบขูดรีดคนอื่น ถ้านักการเมืองฝ่ายซ้ายไม่พยายามล้มทุนนิยม ก็จะปรับตัวเข้าหาระบบแทน

ปัญหาการโกงกินไม่ได้มาจาก “นิสัย” หรือ “ธรรมชาติ” มนุษย์ หรือปัญหาของการเป็นฝ่ายซ้ายแต่อย่างใด มันมาจากการที่ขาดขบวนการมวลชนที่จะมาตรวจสอบ เพราะเน้นการเป็นผู้แทนที่จะ “ทำอะไรให้ประชาชน” และมันมาจากรูปแบบการเมืองของฝ่ายปฏิรูปที่ไม่เน้นการปฏิวัติล้มระบบชนชั้นโดยพลังมวลชนที่ร่วมกันนำ

รัฐบาลพรรคซ้ายหลายแห่งเคยอาศัยกระแสการต่อสู้ของมวลชน เพื่อชนะการเลือกตั้ง แต่พอได้อำนาจทางการเมืองก็พยายามลดบทบาทมวลชน ในเวนเนสเวลา การสร้างพรรคสังคมนิยมของ ฮูโก ชาเวส ไม่ได้สร้างเพื่อส่งเสริมการปฏิวัติจากล่างสู่บน แต่สร้างเพื่อควบคุมมวลชนแทน ดังนั้นในหลายประเทศ เมื่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายหักหลังประชาชน หรือทำให้คนส่วนใหญ่ผิดหวัง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนทำงานและคนจนอ่อนแอกว่าที่เคยเป็น

ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อชนชั้นกลางสลิ่มกับนักการเมืองฝ่ายขวาออกมาเคลื่อนไหว นักสหภาพแรงงานและคนจน ติดกับดักที่มาจากความต้องการที่จะคัดค้านฝ่ายขวาและปกป้องสิ่งที่รัฐบาลฝ่ายซ้ายเคยทำให้ แต่ในขณะเดียวกันต้องการประท้วงรัฐบาลฝ่ายซ้ายด้วย

สหภาพแรงงานสนับสนุน ลูลา
สหภาพแรงงานสนับสนุน ลูลา

ในประเทศบราซิล รัฐบาลพรรคแรงงานของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และตัว “ลูลา” เอง กำลังถูกกล่าวหาว่าคอร์รับชั่นท่ามกลางการเดินขบวนของฝ่ายขวา อีกข้อกล่าวหาหนึ่งคล้ายๆ ของไทยคือฝ่ายขวาไม่พอใจกับนโยบายประชานิยมและอ้างว่ารัฐบาลใช้งบประมาณในลักษณะ “ผิดกฏหมาย” แต่นักการเมืองฝ่ายขวาที่ปลุกระดม “สลิ่ม” บราซิล ก็ถูกกล่าวหาว่าคอร์รับชั่นมากกว่าประธานาธิบดีหลายเท่า และคนที่เข้ามารับตำแหน่งชั่วคราวในขณะที่ เดลมา รุสเซฟ ถูกบังคับพัก ขณะที่มีการสืบสวน ก็โดนข้อกล่าวหาเช่นกัน ล่าสุดพรรคพวกของประธานาธิบดีเฉพาะกาลถูกจับว่าวางแผนล้ม รุสเซฟ เพื่อกีดกันไม่ให้พวกเขาโดนสืบสวนเรื่องคอร์รับชั่นเอง

ในเวนเนสเวลา ฝ่ายขวากำลังประท้วงกดดันรัฐบาลของ นิโคลัส เมดูโร และในอาเจทีนา คริสตีนา เคอร์ชเนอร์ นักการเมืองซ้ายอ่อนๆ แพ้การเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ และหลายคนมองว่าเขามีปัญหาคอร์รับชั่น อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีฝ่ายขวาคนใหม่ โมริซิโอ แมครี ก็โดนเรื่องอื้อฉาวจากการเปิดโปงการเลี่ยงภาษีใน “ปานามาเปเปอร์ส”

บทเรียนสำคัญจากสิบปีที่ผ่านมาของการเมืองลาตินอเมริกา คือฝ่ายซ้ายต้องสร้างพรรคปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนระบบอย่างถอนรากถอนโคน ต้องเน้นขบวนการมวลชนโดยเฉพาะกรรมาชีพ แทนที่จะตั้งความหวังกับผู้แทนในรัฐสภาเป็นหลัก และนอกนี้จากฝ่ายซ้ายและขบวนการแรงงานต้องมีจุดยืนที่อิสระจากพรรคฝ่ายซ้ายปฏิรูปที่มักจะหักหลังคนจนเสมอ

อ่านเรื่องเวนเนสเวลา: http://bit.ly/24YHhDL