Tag Archives: วัฒนธรรมการเมือง

ปัญหาของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เมื่อใช้แนวคิดวัฒนธรรมชาตินิยม

โดย ลั่นทมขาว

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักวิชาการที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และบทความล่าสุด “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย 2557” (ในประชาไท) มีเป้าหมายในการเสนอว่าเผด็จการทหารปัจจุบันไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของพลเมืองไทย เราคงต้องเห็นด้วยตรงนั้น

อย่างไรก็ตามในบทความนี้ อ.นิธิ ติดกับดักแนวคิดวัฒนธรรมชาตินิยม จึงมีปัญหามากเมื่อมาพิจารณาแนวคิดที่แบ่งแยกอำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพราะเขามองว่าเป็นแนวคิด “ฝรั่ง”

นอกจากการใช้คำว่า “ฝรั่ง” เป็นคำเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งตรงกับการเรียกคนไทยว่า “ไอ้ตาตี๋” แล้ว ประเด็นหลักคือ อ.นิธิ หลงคิดว่าในตะวันตกมีแนวคิดเดียว แทนที่จะเข้าใจว่ามีหลากหลายแนวคิดที่แข่งกัน และบ่อยครั้งเป็นแนวคิดที่อิงจุดยืนทางชนชั้นด้วย ซึ่งไม่ต่างจากในไทยเลย มันมีหลากหลายแนวคิดทางการเมือง และหลากหลายวัฒนธรรมที่แข่งกันเสมอเช่นกัน

ในเรื่องการแบ่งแยกอำนาจเพื่อ “คานกัน” ที่อ.นิธิอ้างว่าเป็นแนวตะวันตกนั้น เราควรทราบว่า แนวคิด “เสรีนิยม” (liberalism) อันนี้ เป็นเพียงหนึ่งแนวคิดในหลายความคิดที่ตรงข้ามกันและนำไปสู่การถกเถียงเสมอในระดับสากล

ในความเป็นจริง พลเมืองส่วนใหญ่ในยุโรปไม่เคยเชื่อว่ามีการแบ่งอำนาจจริง คนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลกับรัฐสภาเป็นพวกเดียวกัน ต่างกันก็ตรงที่มีพรรคการเมืองที่แข่งแนวกันเท่านั้น และคนส่วนใหญ่ไม่เคยเชื่อว่าศาลมีความอิสระจากชนชั้นปกครองด้วย นี่คือ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ของสามัญชนในยุโรป ในสหรัฐไม่ต่างออกไป และคนส่วนใหญ่ในสหรัฐมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปเลือกตั้งเพราะเศรษฐีชนชั้นปกครองชนะทุกครั้งไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน

ในทางการเมือง การเสนอว่าควร “แบ่งแยกอำนาจ” ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ในตะวันตก เป็นมาตรการเพื่อให้ฝ่ายนายทุนและอภิสิทธิ์ชนแบ่งอำนาจกันเอง อย่าลืมว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกเสนอมาในช่วงก่อตั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนนั้นประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งเลย และไม่ต้องพูดถึงสิทธิของสตรีหรือคนผิวดำด้วย พอสหรัฐพัฒนาประชาธิปไตยและพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็มีการสร้างอุปสรรค์เพื่อไม่ให้คนธรรมดาเข้ามาดำรงตำแหน่งในสามองค์กรดังกล่าวอีกด้วย

แนวอื่นๆ ในตะวันตกที่อิงชนชั้นกรรมาชีพ จะเสนอรูปแบบประชาธิปไตยแบบสภาคนงาน ที่มีการประชุมในสถานที่ทำงานและถอดถอนผู้แทนได้ตลอด อย่างเช่นหลังการปฏิวัติรัสเซียหรือในคอมมูนปารีส นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการเชื่อว่าองค์กรที่คานอำนาจรัฐบาลได้ดีที่สุดคือขบวนการเคลื่อนไหวทางการสังคม โดยเฉพาะขบวนการแรงงาน และในหลายๆประเทศของตะวันตก มีการร่วมกันดูแลกระบวนการเลือกตั้งผ่านกรรมการที่มาจากพรรคการเมืองต่างๆ แทนที่จะเน้นเรื่ององค์กรอิสระ

นี่คือสาเหตุที่เราควรใช้แนวคิดชนชั้นมากกว่าแนวคิดวัฒนธรรมชาตินิยม เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจความหลากหลายของอุดมการณ์และแนวคิดในประเทศต่างๆทั่วโลก แทนที่จะเหมารวมว่าแต่ละชาติมีลักษณะพิเศษ