Tag Archives: วิกฤตการเมือง

วิกฤตการเมืองกระแสหลักในยุโรป ไม่ใช่วิกฤตสำหรับมาร์คซิสต์

ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมโลกในปี 2008 การใช้มาตรการเสรีนิยมกลไกตลาดของรัฐบาลพรรคกระแสหลักในประเทศต่างๆ ของยุโรป นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองของพรรคกระแสหลักในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป เพราะทุกพรรคส่งเสริมการโยนภาระการแก้วิกฤตไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพ ผลคือคนจำนวนมากเดือดร้อนจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก สิ่งที่เข้ามาเสริมอีกคือความไม่พอใจกับมาตรการต่างๆ ที่ไม่เพียงพอในการปกป้องประชาชนจากโควิด

ปรากฏการณ์นี้มีการตั้งชื่อว่าเป็น “การล่มสลายของการเมืองเสรีนิยมที่มีจุดยืนกลางๆ ระหว่างซ้ายกับขวา” เราต้องเน้นว่าแนว “เสรีนิยมกลางๆ” ดังกล่าว ที่ล่มสลายไป ไม่ใช่อะไรที่ก้าวหน้าแต่อย่างใด แต่เป็นแนวที่ถือผลประโยชน์กลุ่มทุนเป็นหลัก มีการใช้เงินรัฐอุ้มกลุ่มทุน แต่ตัดสวัสดิการและระดับค่าจ้าง เพื่อจ่ายหนี้รัฐ และมีการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน ซึ่งช่วยทำลายรัฐสวัสดิการ และเราต้องเน้นว่านโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยพรรคนายทุน และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป ในทุกประเทศ เวลาเราพูดถึง “ฝ่ายซ้าย” เราไม่สามารถรวมพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูปในนั้น

แม้แต่ในประเทศที่พรรคกระแสหลักยังเป็นรัฐบาลอยู่ เช่นในเยอรมันกับอังกฤษ จะเห็นว่าคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของพรรคนายทุนบวกกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป ซึ่งเคยสูงถึง 80% กลับลดลงอย่างน่าใจหาย

มันมีสองกระแสใหม่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นคือ กระแสฝ่ายซ้าย และกระแสฝ่ายขวาเหยียดเชื้อชาติ ทั้งสองกระแสนี้มาจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008  ซึ่งทำให้คนจำนวนมากจนลงและตกงาน มันนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เพราะประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าพรรคการเมืองเก่าไม่สนใจที่จะเป็นตัวแทนของเขา ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อน และแถมซ้ำเติมด้วยนโยบายรัดเข็มขัด ตอนนี้ทั่วยุโรปจึงมีวิกฤตทางการเมืองที่ปะทะกับความชอบธรรมเก่าของพรรคกระแสหลัก

นักมาร์คซิสต์ทราบดีว่า เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ที่นำไปสู่ความไม่พอใจในพรรคการเมืองกระแสหลัก ประชาชนจะไปทางขวาสุดขั้วก็ได้ หรือจะไปทางซ้ายแบบสังคมนิยมก้าวหน้าก็ได้ และมันไม่มีอะไรอัตโนมัติ ถ้าฝ่ายซ้ายไม่เคลื่อนไหวและปลุกระดม คนจำนวนมากจะไปฟังนักการเมืองขวาสุดขั้วแทน ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายประเทศ ในกรีซและสเปน มีการขยายคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายสังคมนิยม ในฝรั่งเศส ออสเตรีย และฮังการี่ มีการขยายตัวของฝ่ายขวาฟาสซิสต์ และทั่วยุโรปทัศนะเหยียดคนต่างชาติกำลังปะทะกับทัศนะฝ่ายซ้ายที่พยายามสมานฉันท์กับคนทุกเชื้อชาติ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3x298t6 ]

วิกฤตในประเทศกรีซ นำไปสู่การเลือกพรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ซึ่งสัญญาว่าจะต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของประชาชน นโยบายนี้สั่งลงมาจากกลุ่มอำนาจในอียู คือธนาคารกลาง กรรมการบริหารอียู และไอเอ็มเอฟ เมื่อรัฐบาลไซรีซาจัดประชามติว่าจะรับหรือไม่รับนโยบายดังกล่าวของอียู ประชาชนจำนวนมากลงคะแนนเสียงไม่รับ แต่รัฐบาลกลับหักหลังประชาชน แล้วไปเจรจารับนโยบายรัดเข็มขัดแทน โดยใช้ข้ออ้างว่าโดนกดดันอย่างหนักจากกลุ่มทุนใหญ่ในอียูและรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามพรรคไซรีซาไม่กล้าพากรีซออกจากสกุลเงินยูโรเพื่อลดอิทธิพลของอียู และไม่กล้าใช้พลังมวลชนเพื่อเปลี่ยนระบบ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3ntNBq8%5D

กรีซ

ความไม่พอใจต่อวิกฤตเศรษฐกิจและนโยบายรัดเข็มขัดในสเปน นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของเยาวชนกลางเมือง เพราะอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงมาก ในการเลือกตั้งต่อจากนั้นพรรคกระแสหลักเสียคะแนนเสียงมากจนไม่มีพรรคไหนสามารถตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ผลก็ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายซ้ายโพดามอส ที่เพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก กลับเสียคะแนนเล็กน้อย สาเหตุสำคัญคือการที่แกนนำพรรคมีพฤติกรรมสองจิตสองใจตลอดเวลาว่าจะผลักดันนโยบายก้าวหน้าหรือไม่ เช่นเรื่องการคัดค้านการรัดเข็มขัด หรือการรณรงค์ให้รัฐต่างๆ ในสเปนมีความอิสระมากขึ้น พรรคนี้เติบโตมาเพราะสะท้อนกระแสต้านนโยบายเสรีนิยม และสะท้อนความไม่พอใจของคนหนุ่มสาว

ในสถานการณ์วิกฤตหนัก ฝ่ายซ้ายในกรีซและสเปนถูกทดสอบอย่างหนัก และผลคือสอบตก เพราะในสเปนพรรคโพเดมอสในที่สุดไปเข้ารัฐบาลกับพรรคสังคมนิยมปฏิรูปและผลักดันแนวเสรีนิยมกลไกตลาด และในกรีซพรรคไซรีซาก็หักหลังประชาชนจนในที่สุดแพ้การเลือกตั้ง

ในกรณีฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เป็นผู้นำฝ่ายขวากระแสหลักที่สร้างพรรค “ใหม่”หลังจากการล่มสลายของพรรคนายทุนกับพรรคสังคมนิยมปฏิรูป มาครงมุ่งหน้าพยายามทำลายฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนผู้ทำงาน และทำลายสิทธิของสหภาพแรงงานจนเกิดการนัดหยุดงานทั่วประเทศกับการประท้วงของขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง รัฐบาลของเขาใช้นโยบายรัดเข็มขัดกับประชาชนธรรมดา แต่ตัว มาครง เองก็ใช้เงินภาษีประชาชนเพื่อซื้อชุดกินข้าวหรูราคาเป็นแสน และสั่งสร้างสระว่ายน้ำในทำเนียบฤดูร้อน นอกจากนี้เขาพร้อมจะคบจับมือกับทรราชรอบโลก และใช้นโยบายเหยียดสีผิวเชื้อชาติ ซึ่งไปให้กำลังใจกับพรรคฟาสซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน

Le Pen ในฝรั่งเศส

ในอิตาลี่วิกฤตทางการเมืองไม่ต่างจากที่อื่น เพียงแต่มีเรื่องการโกงกินคอร์รับชั่นเข้ามาเป็นปัจจัยเสริม ท่ามกลางการล่มสลายของพรรคกระแสหลัก ซึ่งเราต้องรวมพรรคคอมมิวนิสต์ในนั้นเพราะแปรไปเป็นพรรคเสรีนิยม พรรคใหม่ๆ เช่นพรรคห้าดาว และพรรคฟาสซิสต์ก็เพิ่มคะแนนเสียง

ในเยอรมัน รัฐบาลผสมระหว่างพรรคนายทุน CDU และพรรคสังคมประชาธิปไตย SPD เสียคะแนนเสียงอย่างต่อเนื่องจนแนวร่วมระหว่างสองพรรคนี้พัง ขณะนี้พรรค SPD สร้างแนวร่วมกับพรรคกรีนเพื่อตั้งรัฐบาล แต่พรรคฟาสซิสต์ก็ขยายฐานเสียง ส่วนพรรคฝ่ายซ้าย Die Linke ที่เคยเพิ่มคะแนนหลังวิกฤตปี2008 มีปัญหาเพราะคะแนนเสียงลดลงอันเนื่องมาจากการทำแนวร่วมกับพรรคกระแสหลักในรัฐต่างๆ และสนับสนุนนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด

ในอังกฤษกระแสที่เห็นชัดคือการขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแรงงานของคอร์บิน ซึ่งในตอนแรกประชาชนจำนวนมากตื่นเต้นกับนโยบายซ้ายๆ ของเขาจนเกือบชนะการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นพวก สส.ฝ่ายขวาในพรรคแรงงานกดดันให้เขาเปลี่ยนจุดยืนและเอียงไปทางขวา ซึ่งทำให้แพ้การเลือกตั้งในที่สุด [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3kQAZrq ]

ปรากฏการณ์ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เห็นได้ชัดจากผลประชามติอังกฤษด้วย เพราะคนที่ลงคะแนนให้อังกฤษ “ออก” มีแนวโน้มจะยากจนและอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่อุตสาหกรรมเก่าถูกทำลาย มันมีกระแสเหยียดเชื้อชาติที่ถูกปลุกระดมโดยนักการเมืองฝ่ายขวาทั้งสองฝ่าย คือพวกที่สนับสนุนอียูและพวกที่อยากออก แต่สาเหตุหลักที่คนจำนวนมากโหวดออกก็เพราะทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อไปแบบเดิม

ข้อสรุปสำคัญสำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ จากวิกฤตการเมืองในยุโรปคือ ถ้าพรรคฝ่ายซ้ายไปประนีประนอมกับนโยบายทุนนิยมกลไกตลาดเสรี อย่างเช่นในกรีซ สเปน เยอรมัน หรืออังกฤษ มันจะนำไปสู่ความหายนะ และถ้าไม่มีการสร้างขบวนการต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว พวกฟาสซิสต์มีโอกาสโตได้ ตัวอย่างที่แย่ที่สุดคือกรณีฝรั่งเศส ซึ่งต่างจากอังกฤษที่มีขบวนการดังกล่าว

การสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติแนวมาร์คซิสต์ เป็นสิ่งที่ทำได้ในทุกประเทศและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้เราเผชิญหน้ากับสามวิกฤตที่มาจากลักษณะของระบบทุนนิยม คือวิกฤตโลกร้อน วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด ซึ่งนักการเมืองกระแสสหลักไม่มีวันแก้ปัญหาที่เกิดจากสามวิกฤตนี้ได้ เพราะยึดติดกับกรอบของระบบทุนนิยม [อ่านเพิ่ม สามวิกฤตของทุนนิยม https://bit.ly/2XKQ69L ]

ทุกวันนี้กระแสการต่อสู้และความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นในทุกที่ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/30EsGaG  ] และนี่คือสิ่งที่สร้างความหวังให้กับนักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ โดยเฉพาะในเครือข่าย IST (International Socialist Tendency) เราไม่หดหู่เหมือนพวกที่หลงใหลในระบบการเลือกตั้ง หรือแนวเสรีนิยม เราเป็นนักปฏิวัติที่สู้เพื่อการปฏิรูปอย่างถึงที่สุด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทำไมต้องมีการปฏิวัติสังคมนิยม -สามวิกฤตของทุนนิยมปัจจุบัน

ยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งสามวิกฤตที่มาจากลักษณะของระบบทุนนิยม ซึ่งทั้งสามวิกฤตมีผลซึ่งกันและกัน และท้าทายความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งโลก

1. วิกฤตที่หนึ่ง  วิกฤตโควิด

วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด กระทบคนทั้งโลก แต่ในขณะเดียวกันมันเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมของทุกประเทศ เพราะคนจน คนที่มีสีผิว คนที่มีเชื้อชาติเป็นคนส่วนน้อยของสังคม และแรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มคนที่ล้มตายและยากลำบากจากโควิดมากที่สุด สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นคนที่ไม่สามารถกักตัวอยู่บ้าน หรือทำงานจากบ้านได้ ต้องออกไปเลี้ยงชีพทุกวันในงานสกปรกหรืองานที่เสี่ยงต่อการติดไวรัส นอกจากนี้สภาพที่อยู่อาศัยมักจะแออัด และในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขและวัคซีนไม่ได้เพราะยากจนเกินไปหรือตกงาน

คนที่ตกงาน เด็กๆ หรือวัยรุ่นที่ต้องขาดเรียน และคนที่ทำงานในระบบสาธารณสุข จะเสี่ยงต่อปัญหาจิตใจมากขึ้นเนื่องจากชีวิตที่เปลี่ยนไป

ในขณะเดียวกันพวกนายทุนเศรษฐีที่รวยที่สุดมีการเพิ่มทรัพย์สินมหาศาล และบริษัทยาขนาดใหญ่ก็คุมการผลิตวัคซีนภายใต้ความต้องการที่จะเพิ่มกำไรอย่างเดียว

เมื่อโควิดระบาด รัฐบาลอาจปิดเมือง ปิดงาน หรือปิดโรงเรียน แต่ในไม่ช้าแรงกดดันจากกลุ่มทุนจะบังคับให้รัฐบาลเปิดเสรีก่อนที่ภัยโควิดจะหมดไป ซึ่งทำให้โควิดระบาดรอบสองหรือสาม

แต่ที่สำคัญคือวิกฤตโควิดเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโดยตรง เพราะระบบเกษตรแบบทุนนิยม และการพัฒนาของชนบทที่เชื่อมโยงโดยตรงกับเมือง แปลว่ามนุษย์รุกเข้าไปในธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน ซึ่งส่งผลให้มนุษย์สัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้น โดยเฉพาะค้างคาว ซึ่งเป็นแหล่งไวรัสที่สำคัญเพราะค้างคาวมีภูมิต้านทานไวรัสสูงและสามารถอยู่กับไวรัสหลายสิบชนิดได้

นอกจากนี้ ระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเลี้ยงหมูหรือไก่ที่มีลักษณะเหมือนกัน ในคอกขนาดใหญ่ เปิดโอกาสให้ไวรัสกระโดดจากสัตว์ป่าไปสู่สัตว์เกษตร และต่อไปสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น

การเดินทางระหว่างชนบทกับเมือง และที่อยู่อาศัยแออัดในเมือง สำหรับคนที่ต้องไปหางานทำในเมืองก็เพิ่มการระบาดได้อย่างรวดเร็ว

สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสใหม่ๆ มากขึ้น และองค์กรอนามัยโลกก็มองว่าโควิด 19 คงจะไม่ใช่ไวรัสร้ายแรงชนิดสุดท้ายที่ระบาดไปทั่วโลก

ถ้าไม่มีการปรับรูปแบบการเกษตร พัฒนาสภาพชีวิตมนุษย์ และการปกป้องธรรมชาติอย่างจริงจังปัญหานี้จะแก้ไม่ได้ แต่ภายใต้ทุนนิยม การแสวงหากำไรของกลุ่มทุนใหญ่กลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลต่างๆ และกลุ่มทุน

อ่านเพิ่ม: โควิด https://bit.ly/2UA37Cx  

ทุนนิยม กลไกตลาด กับปัญหาโควิด https://bit.ly/3aA9hrF

2. วิกฤตที่สอง วิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร

ก่อนที่โควิดจะระบาด ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเข้าสู่สภาพถดถอยมาหลายสิบปีแล้ว สาเหตุคือแนวโน้มของระบบที่จะทำให้อัตรากำไรลดลง สืบเนื่องจากการลงทุนมากขึ้นในเครื่องจักรในอัตราที่เร็วกว่าและสูงกว่าการลงทุนในการจ้างกรรมาชีพ กลุ่มทุนต่างๆ โดนกดดันให้ทำเช่นนี้ เพราะการแข่งขันในระบบกลไกตลาดของทุนนิยม กลุ่มทุนไหนไม่ลงทุนแบบนี้ก็จะแข่งกับคู่แข่งไม่ได้ แต่ผลในภาพรวมคือทำให้เศรษฐกิจเสื่อมในระยะยาว และทุกวันนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะอ่อนแอตามด้วยวิกฤตเป็นระยะๆ และรัฐต่างๆ มักจะต้องอุ้มกลุ่มทุนและบริษัทต่างๆ เพื่อไม่ให้ล้มละลาย ซึ่งทำให้เราเห็น “บริษัทซอมบี้” มากมาย คือกึ่งเป็นกึ่งตาย และมีหนี้สินท่วมหัว รัฐเองก็มีหนี้สินเพิ่มจากการอุ้มบริษัทด้วย

พอโควิดระบาด สถานการณ์นี้ร้ายแรงขึ้นหลายเท่า คาดว่าตอนนี้ระบบทุนนิยมโลกเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่แย่กว่าช่วง 1930 เสียอีก คนเริ่มตกงานกันทั่วโลก และรัฐต่างๆ เข้ามาอุ้มกลุ่มทุนต่างๆ มากขึ้น แต่ไม่ช่วยพลเมืองอย่างเพียงพอ แถมมีการวางแผนที่จะตัดค่าแรงเงินเดือน และรัดเข็มขัดตัดระบบสาธารณสุขและสวัสดิการเพิ่มขึ้นอีก

สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ หรือประเทศในยุโรป แต่ลักษณะการเมืองฝ่ายขวายิ่งทำให้สภาพแย่ลงถ้ารัฐบาลปฏิเสธเรื่องโควิด หรือปฏิเสธที่จะใช้งบประมาณช่วยประชาชนในอัตราเพียงพอ ซึ่งต้องทำผ่านการเก็บภาษีจากคนรวย และการตัดงบทหารหรืองบพวกอภิสิทธิ์ชน

อ่านเพิ่ม: วิกฤตเศรษฐกิจ https://bit.ly/2v6ndWf

3. วิกฤตที่สาม วิกฤตโลกร้อน

วิกฤตโลกร้อนมีผลทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวน เกิดอากาศร้อนสุดขั้ว อากาศเย็นสุดขั้ว ไฟป่า พายุ น้ำท่วม ฝนแล้ง ฯลฯ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ และมีส่วนในการผลิตฝุ่นละอองในอากาศด้วย มันจะทำให้การเกษตรล้มเหลวในบางพื้นที่ การประมงมีปัญหา ธรรมชาติและระบบนิเวศน์เสียหายมหาศาล ส่งผลให้ท้าทายสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั่วโลก เพิ่มความยากจน เพิ่มความขัดแย้งระหว่างประเทศ และเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัย

วิกฤตโลกร้อนเป็นวิกฤตที่มาจากระบบทุนนิยมโดยตรง เพราะมีการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน เช่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมทุนนิยม และทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ นายทุน และนักการเมืองส่วนใหญ่ทราบว่ามีปัญหานี้จริง แต่ระบบการแข่งขันในกลไกตลาดแปลว่ากลุ่มทุนใหญ่คิดแต่เรื่องการแสวงหากำไรเฉพาะหน้าโดยไม่สามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมได้เลย และถึงแม้ว่ามีการพูดกันว่าจะลดการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน แต่ในทางรูปธรรมยังไม่มีประเทศไหนที่ทำได้รวดเร็วพอที่จะห้ามวิกฤตนี้ได้

วิธีสำคัญในการลดปัญหาโลกร้อน คือการที่รัฐที่ควบคุมโดยคนธรรมดาตามหลักประชาธิปไตย จะต้องออกมาควบคุมหรือยึดกลุ่มทุนและระบบอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มทุนเกษตร เพื่อเปลี่ยนเป้าหมายในการผลิตจากการแสวงหากำไร ไปเป็นการตอบสนองทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกันในลักษณะที่ปกป้องโลกธรรมชาติ ต้องมีการใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนรถส่วนตัว ต้องใช้รถไฟไฟฟ้าแทนเครื่องบิน ต้องมีการผลิตพลังงานจากแสงแดดและลมพร้อมกับยกเลิกการผลิตพลังงานจากน้ำมัน ถ่านหินหรือก๊าซ ต้องทำอย่างเร่งด่วน แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่เราไม่มีการเปลี่ยนระบบจากทุนนิยมไปเป็นสังคมนิยม

อ่านเพิ่ม: สิ่งแวดล้อม โลกร้อน และ Anthropocene https://bit.ly/2QMpL6F

นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF

วิกฤตโลกร้อนทับถมซ้อนลงไปกับสภาพวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจ และทั้งสามวิกฤตมาจากเนื้อแท้ของระบบทุนนิยม ถ้าเราไม่ร่วมกันเปลี่ยนระบบและโครงสร้างของสังคม มนุษย์ส่วนใหญ่จะตกอยู่ในสภาพสังคมที่โหดร้ายป่าเถื่อนในอนาคตข้างหน้า

คำพูดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ว่าเราเผชิญหน้ากับสองทางเลือกคือ “สังคมนิยมหรือความป่าเถื่อน” ดูเหมือนจะตรงกับความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม สภาพย่ำแย่ของโลกปัจจุบันเป็นประกายไฟในการลุกขึ้นสู้ของคนทั่วโลก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ซึ่งเราเห็นใน ไทย ฮ่องกง อัฟริกา ยุโรป สหรัฐ และลาตินอเมริกา การต่อสู้ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้คือความหวังของเรา

อ่านเพิ่ม: การลุกฮือของมวลชนทั่วโลกในปี 2019 https://bit.ly/2OxpmVr

ใจ อึ๊งภากรณ์

วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง: การแบ่งขั้วยังดำรงอยู่ และการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวมีความสำคัญยิ่ง

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนไทยที่รักประชาธิปไตยรู้อยู่ในใจอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เสรีและเป็นธรรม เพราะใครๆ ก็ทราบถึงมาตรการต่างๆ ของเผด็จการที่จะสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญทหาร แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20ปี การแต่งตั้งสว. 250คน หรือความลำเอียงของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ

แต่คนไทยที่รักประชาธิปไตยจำนวนมากอยากฝันถึงเรื่องดีๆ จึงปล่อยให้ตนเองแอบหวังว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะการเลือกตั้ง และยุคแห่งเผด็จการจะสิ้นลง ตรงนี้เข้าใจได้

แต่ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมองความจริงที่ทุกคนรู้ในใจอยู่แล้ว คือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการลบผลพวงของเผด็จการมันยังไม่จบ มันพึ่งเริ่มในรูปแบบใหม่เท่านั้นเอง และการกาบัตรเลือกตั้งไม่สามารถฆ่าเผด็จการได้ง่ายๆ

มันมีหลายคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของ กกต. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยุติประกาศคะแนนโดยไม่มีเหตุผลในเช้าวันที่25มีนาคม การที่คะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ปัญหาบัตรจากนิวซีแลนด์ เรื่อง “บัตรเสีย” 2 ล้านเสียง และการที่ตัวเลขที่กกต.เดิมอ้างว่าเป็นการนับคะแนน 100% มีข้อผิดพลาดมากมาย เรารู้ด้วยว่า คสช. โกงการเลือกตั้งด้วยหลายวิธีที่อ้างกฏหมายที่มันเขียนเอง การยุบพรรคไทยรักษาชาติเป็นตัวอย่างสำคัญที่กระทบต่อคะแนนเสียง

ปัญหาจากการเลือกตั้งที่ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจคงจะเกิดจากสองสาเหตุหลักคือ ความไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงของ กกต. และการจงใจโกงการเลือกตั้งโดย คสช.

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสที่ประชาชนสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับเผด็จการประยุทธ์ได้ และผลคะแนนทั่วประเทศคงสะท้อนความจริงในระดับหนึ่ง เพราะไม่ว่าคะแนนเสียงทั่วประเทศจะเปลี่ยนหรือ “เขย่ง” แค่ไหน ภาพรวมก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปนัก คือฝ่ายประชาธิปไตยได้คะแนนมากกว่าฝ่ายเผด็จการ

จำนวนคะแนนทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้รับมีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ในแง่ที่ประยุทธ์เสนอเพื่อให้ความชอบธรรมกับการตั้งรัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐ

จำนวนคะแนนทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้รับมีความสำคัญในการประเมินเสียงประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการ แล้วเทียบกับเสียงที่สนับสนุนเผด็จการ เราจำเป็นต้องไม่ลืมว่ากติกาการเลือกตั้งภายใต้ คสช. ทำให้พรรคการเมืองแตกเป็นหลายพรรคย่อย ดังนั้นการดูแค่คะแนนของพรรคเดียวจะไม่สะท้อนภาพจริง

จากการประกาศผลทั้งหมด100%โดยกกต. ในวันที่28มีนาคม จะเห็นว่าในหมู่พรรคการเมืองที่ประกาศล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้งว่าต้องการลบผลพวงของเผด็จการ คือพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ และเพื่อชาติ พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้คะแนนทั้งหมด 15.9 ล้านเสียง หรือ 41.5% ของผู้มาใช้สิทธิ์

พรรคพลังประชารัฐของประยุทธ์ได้ 8.4 ล้านเสียง และถ้าบวกกับเสียงของพรรคภูมิใจไทย 3.7 ล้าน และพรรครวมพลังประชาชาติ 0.4 ล้าน จะเห็นว่าพรรคที่ประกาศล่วงหน้าว่าจะสนับสนุนเผด็จการได้แค่ 12.5 ล้านเสียง หรือ 32.6% เท่านั้น เราไม่สามารถนับเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ 4 ล้านเสียงรวมเข้าไปตรงนี้ได้เพราะผู้นำพรรคประกาศล่วงหน้าว่าจะไม่สนับสนุนให้ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

พูดง่ายๆ ฝ่ายเผด็จการแพ้เสียงข้างมากอย่างชัดเจน

พรรคประชาธิปัตย์เสียคะแนนไปมากมาย ตกจาก 11.4 ล้านเสียงในปี ๒๕๕๔ เหลือแค่ 4 ล้าน สาเหตุคงจะเป็นเพราะสลิ่มเสื้อเหลืองเทคะแนนที่เคยให้ประชาธิปัตย์ไปสู่พรรคเผด็จการโดยตรง พวกนั้นคงอยากสนับสนุนเผด็จการตัวจริงแทนที่จะเลือกทางอ้อม การด่ากันเองภายในพรรคประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้งสะท้อนสิ่งนี้

ถ้าพิจารณาว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๔ 1.1 เท่า เนื่องจากประชากรที่อายุเกิน 18 ปีเพิ่มขึ้น จะเห็นว่าคะแนนทั้งหมดของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคทหารปีนี้ คล้ายคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ในปี ๒๕๕๔

สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิ์ในปีนี้ คือ 74.7% ของผู้มีสิทธิ์ 51.2 ล้าน สัดส่วนพอๆกับการเลือกตั้งปี ๒๕๕๔ ที่ 75% ของผู้มีสิทธิ์ 46.9 ล้าน ไปใช้สิทธิ์

ผลคะแนนทั่วประเทศแสดงให้เห็นว่าการแบ่งขั้วระหว่าง “เหลืองกับแดง” หรือ “เผด็จการกับประชาธิปไตย” ยังคงดำรงอยู่หลังจากการครองอำนาจเผด็จการมาหลายปี ไม่มีการแก้วิกฤตแต่อย่างใด

พรรคเพื่อไทยได้คะแนนน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้ลงสมัครในทุกเขตเพื่อไม่ให้แข่งกับพรรคไทยรักษาชาติ และพอไทยรักษาชาติถูกยุบ คนที่เคยอยากจะลงให้พรรคนี้คงวุ่นวายพอสมควร มันอาจช่วยอธิบายได้บ้างว่าทำไมพรรคภูมิใจไทยเพิ่มคะแนนจาก 1.3 ล้านในปี ๕๔ เป็น 3.7 ล้านในปีนี้

คำพูดของกษัตริย์วชิราลงกรณ์เรื่องการ “เลือกคนดี” คงไม่มีผลอะไรทั้งสิ้นกับคนที่อยากเลือกฝ่ายเผด็จการหรือคนที่อยากเลือกฝ่ายประชาธิปไตย เพราะไม่ค่อยมีความหมาย และตีความยังไงก็ได้แล้วแต่ว่าอยู่ฝ่ายใด

ในแง่ของการกำหนดจำนวนสส.ในสภา จำนวนสส.บัญชีรายชื่อยังไม่แน่นอนและคงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ้าง เพราะสูตรในการคำนวณมันซับซ้อน ทั้งนี้เพื่อกีดกันพรรคใหญ่ของทักษิณเป็นหลัก แต่ถ้าดูจำนวน สส. เขต พรรคเพื่อไทยได้มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ และพรรคที่ประกาศต้านทหารทั้งหมด ได้มากกว่าพรรคที่ประกาศก่อนวันเลือกตั้งว่าจะสนับสนุนประยุทธ์

พูดง่ายๆ เผด็จการประยุทธ์แพ้ทั้งเสียงประชาชน และที่นั่งเขตในสภา

การที่เพื่อไทยนำทีมพรรคฝ่ายประชาธิปไตย 6 พรรคประกาศว่าจะตั้งรัฐบาล ถือว่ามีความชอบธรรม ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการเพื่อไทยระบุว่า ถ้ารวมพรรคเศรษฐกิจใหม่ของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แล้ว คาดว่าจะมีที่นั่งถึง 256 เสียง แต่ตัวเลขที่นั่งนี้เปลี่ยนได้ และมีหลายคนตั้งคำถามว่าไว้ใจ มิ่งขวัญ ได้แค่ไหน

การที่กกต.เสนอว่าจะรายงานผลอย่างเป็นทางการในเดือนพฤภาคม เป็นเรื่องตลกร้าย แต่ที่ชัดเจนคือเป็นโอกาสทองที่จะโกงการเลือกตั้งผ่านการแจกใบเหลือง ใบส้มหรือใบแดง

วิกฤตประชาธิปไตยไทยคงแก้ไม่ได้ถ้าเราเคารพกติกาที่ไร้ความชอบธรรมของเผด็จการ ไม่ว่าฝ่ายเผด็จการหรือฝ่ายประชาธิปไตยสามารถตั้งรัฐบาลได้ ทักษิณพูดถูกว่าไม่ว่าฝ่ายไหนเข้ามาก็ล้วนแต่ขาดเสถียรภาพ แต่สิ่งที่ทักษิณไม่พูดและไม่เคยพูดก็คือเรื่องความสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชน

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะค้นพบว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาจากกระแสมวลชนที่ล้มเผด็จการทหารในปี ๒๕๓๕ และหลังจากนั้นเราก็มีรัฐบาลที่เสนอการปฏิรูปสังคมในทางที่ดีบ้าง เช่นการเริ่มต้นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลังจากนั้นมวลชนฝ่ายเหลืองก็ขึ้นมาคัดค้านประชาธิปไตยและเรียกให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองในปี ๒๕๔๙ แต่กระแสมวลชนเสื้อแดงบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งอีกที่เพื่อไทยชนะในปี ๒๕๕๔ ต่อมารัฐประหารของประยุทธ์เกิดขึ้นได้เพราะยิ่งลักษณ์กับทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพ และไปหาทางประนีประนอมในรัฐสภา ซึ่งไม่สำเร็จ

จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาดในการเมืองเสมอ ถ้าเราไม่หันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนอย่างจริงจัง เผด็จการจะสามารถสืบทอดอำนาจไปได้อีกนาน และความสิ้นหวังของประชาชนจะกลายเป็นยาพิษที่ทำให้คนยอมรับสภาพเช่นนี้

10 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

สิบปีผ่านไปหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบอย่างแรงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และลามไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโลก ซึ่งทุกวันนี้เรายังเห็นผลในรูปแบบวิกฤตการเมืองของพรรคกระแสหลัก และการขึ้นมาของพรรคฝ่ายขวาฟาสซิสต์

ในบทความนี้จะขอทบทวนสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 ธนาคารกลางสหรัฐพยายามจะหลีกเลี่ยงการชลอตัวของเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมให้กรรมาชีพกู้เงินในราคาถูกเพื่อซื้อบ้าน ในขณะที่มีการกดค่าแรง มันทำให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่คนจนไม่มีวันจ่ายหนี้นี้ได้ ทำให้คนจนเป็นหนี้ที่เรียกกันว่า “sub-prime” ต่อมามีการขายหนี้คนจนให้บริษัทไฟแนนส์และปั่นราคาหุ้น แต่เมื่อคนจนจ่ายหนี้ไม่ได้ ฟองสบู่การพนันนี้ก็แตก และเกิดวิกฤตในระบบธนาคาร จนธนาคารพี่น้องตระกูลเลห์แมน (Lehman Brothers) ล้มละลาย ธนาคารนี้เป็นธนาคารการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ4 และการล้มละลายครั้งนี้เปิดโปงปัญหาใหญ่ในระบบธนาคารในสหรัฐและยุโรป

ในยุโรปมีการปล่อยกู้ในรูปแบบคล้ายๆ สหรัฐ แต่เป็นการปล่อยกู้ระหว่างธนาคารต่างๆ ในอียู เพื่อให้กับบริษัทต่างๆ และเมื่อเกิดวิกฤตธนาคาร ประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ และสเปนก็มีปัญหา

ก่อนหน้านั้นมีการปั่นหุ้นในบริษัทอินเตอร์เน็ด (dot com) เพื่อวัตถุประสงค์ในการพยุงอัตรากำไรชั่วคราวเช่นกัน ฟองสบู่นั้นก็แตกเหมือนกัน

ในปี 2008/2009 ประเทศที่ใหญ่ที่สุดของโลก 11 ประเทศได้เข้าสู่วิกฤติอย่างแรง องค์กร OECD เสนอว่าในปีค.ศ. 2009 ประเทศที่พัฒนาแล้วประสบปัญหาการชลอตัวของเศรษฐกิจ 4.3% และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง คนงานสหรัฐ  6 แสนกว่าคนต้องตกงานในเดือนเมษายน  และระบบอุตสาหกรรมสหรัฐกำลังชลอตัวลง 12.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในยุโรประบบการผลิตอุตสาหกรรมหดลง 18.4% และในญี่ปุ่นหดลงถึง 38%  จีนก็มีปัญหาด้วย

ท่าทีของรัฐทุนนิยมหลักๆ  เช่นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในสกุลเงินยูโร คือใช้รัฐแทรกแซงตลาดเพื่ออุ้มสถาบันการเงิน รวมถึงการนำธนาคารและสถาบันการเงินเอกชนมาเป็นของรัฐทั้งทางอ้อมและทางตรง นโยบายดังกล่าวได้ทำลายความน่าเชื่อถือของลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาดที่ปฏิเสธรัฐโดยสิ้นเชิง แต่เป้าหมายของการแทรกแซงตลาดโดยรัฐในครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อปกป้องงาน ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือที่อยู่อาศัยของคนธรรมดาแต่อย่างใด เป้าหมายคือการปกป้องระบบทุนนิยมและนายทุนใหญ่ในระบบการเงินต่างหาก

นอกจากนี้ในสหรัฐและยุโรป ธนาคารกลางใช้นโยบายพิมพ์เงินและลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยายามพยุงเศรษฐกิจ ในจีนรัฐบาลใช้รัฐวิสาหกิจพยุงเศรษฐกิจโดยการขยายโครงการสาธารณูปโภค

หลังจากนั้นรัฐบาลตะวันตกก็กอบโกยเงินคืนจากประชาชนด้วยนโยบายรัดเข็มขัด มีการตัดงบประมาณสาธารณสุข สวัสดิการ และการศึกษา มีการกดค่าแรง ลดคนงาน หรือขึ้นภาษีให้คนธรรมดา สรุปแล้วกรรมาชีพคนทำงานถูกบังคับให้อุ้มบริษัทใหญ่และนายทุนที่เล่นการพนันในตลาด ในยุโรปประชาชนกรีซเดือดร้อนมากที่สุด

นโยบายดังกล่าวนำไปสู่ความไม่พอใจและความสิ้นหวังในระบบกระแสหลัก และบวกกับผลของสงครามในส่วนต่างๆ ของโลก ที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผู้ลี้ภัย นำไปสู่การปลุกระดมลัทธิเหยียดสีผิวและเชื้อชาติที่เอื้อประโยชน์กับพรรคฟาสซิสต์ฝ่ายขวาและคนอย่างดอนัลด์ ทรัมป์

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง ไมเคิล โรเบิรตส์ [ดู https://thenextrecession.wordpress.com/ ] ปัญหาแท้จริงที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำในระบบทุนนิยม คือปัญหาอัตรากำไร เพราะนายทุนทุกคนจะประเมินความคุ้มของการลงทุนที่ตัวเลขอัตรากำไรเสมอ อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลงผ่านการแข่งกันลงทุนในเครื่องจักรมากกว่าการลงทุนในการจ้างงาน และมันนำไปสู่การชลอในการลงทุน หรือแสวงหาแหล่งลงทุนนอกภาคการผลิต เช่นในภาคอสังหาริมทรัพย์หรือการปั่นหุ้นเป็นต้น ซึ่งสภาพแบบนี้ทำให้เกิดฟองสบู่ในราคาหุ้น ราคาที่ดิน หรือราคาบ้าน คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายปัญหาพื้นฐานอันนี้ของทุนนิยมในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” [ดู https://bit.ly/2v6ndWf ]

โดยทั่วไปการฟื้นตัวของอัตรากำไรเกิดขึ้นได้ถ้ามีการทำลายทุน หรือมีการทำลายเครื่องจักรในวิกฤต หรือผ่านการทำสงคราม หรืออาจฟื้นตัวถ้ามีการขูดรีดแรงงานหนักขึ้น แต่มันเป็นเรื่องชั่วคราวและความสำเร็จเฉพาะหน้าขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ที่จะทำลายทุนที่เป็นส่วนเกิน หรือความเป็นไปได้ที่จะขูดรีดแรงงานหนักขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันพิสูจน์ว่าระบบทุนนิยมและกลไกตลาดเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ สิ้นเปลือง และไม่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ส่วนใหญ่

ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ ของโลกในยุคนี้ แสดงให้เราเห็นว่าอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร (rate of GDP increase / head หรืออัตราการขยายตัวของมูลค่าที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศหาญด้วยจำนวนประชากร) ไม่ได้กลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี 2008 เลย นอกจากนี้ระดับการค้าขายทั่วโลกก็ซบเซาเมื่อเทียบกับก่อนปี 2008 และแนวโน้มอาจแย่ลงท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและยุโรป

แม้แต่การขยายตัวของจีนก็ช้าลง และความคาราคาซังของเศรษฐกิจโลกกับสงครามการค้า ทำให้ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาที่เคยอาศัยการส่งออกวัตถุดิบมีปัญหามากขึ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกบวกกับการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐ และปัญหาการเมืองในหลายประเทศ ก็เข้ามซ้ำเติม ทำให้มีการถอนทุนจากลาตินอเมริกา ตุรกี อินโดนีเซีย และอัฟริกาใต้ ในที่สุดอาจส่งผลต่อเกาหลีใต้และอินเดียอีกด้วย ซึ่งไทยคงหนีปัญหาไม่ได้

ปัจจุบันระดับหนี้สินของรัฐบาลและกลุ่มทุนในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าระดับหนี้ในเศรษฐกิจโลกเท่ากับ 217% ของผลผลิตมวลรวมทั้งหมดภายในประเทศต่างๆ ซึ่งสูงกว่าระดับหนี้ก่อนวิกฤตปี 2008 และบริษัทไฟแนนส์กับธนาคารก็ใหญ่ขึ้นและมีลักษณะผูกขาดมากขึ้น ถ้าในอนาคตธนาคารแห่งหนึ่งล้มละลายก็จะมีผลกระทบสูงกว่าคราวก่อน นอกจากนี้มีการซื้อขายหุ้นและหนี้ใน “ธนาคารเงา” ที่รัฐต่างๆ ควบคุมไม่ได้เพราะไม่ความโปร่งใส การเพิ่มขึ้นของราคาเงินดอลลาร์และการลดลงของราคาเงินในหลายประเทศของโลก ทำให้ประเทศที่มีหนี้สินเป็นดอลลาร์มีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ตราบใดที่เรายังไม่ล้มทุนนิยมและนำระบบสังคมนิยมมาใช้แทน ชาวโลกก็จะต้องประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่สงครามและความปั่นป่วนทางการเมืองอีกด้วย

วิกฤตการเมืองบราซิลเปรียบเทียบกับไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ทั้งบราซิลกับไทยมีประวัติการตกภายใต้เผด็จการทหาร และมีวิกฤตการเมืองที่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของพวกอภิสิทธิ์ชนและสลิ่มชนชั้นกลาง จนในที่สุดเกิดรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

p18 argentina protest

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ชนชั้นกลางใช้ประเด็น “การต่อต้านคอร์รับชั่น” เพื่อเป็นข้ออ้างในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทั้งสองประเทศ

นักวิชาการบราซิล Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais วิเคราะห์ว่าชนชั้นกลางชอบเล่นประเด็นเรื่องการคอร์รับชั่น เพราะมองว่าตัวเองมีฐานะดีที่มาจาก “ความสามารถและความขยันของตนเอง” ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่จริงเท่าไร แต่มันทำให้คนชั้นกลางมองว่าการคอร์รับชั่นเปิดโอกาสให้ “คนมีเส้น” เข้ามากอบโกยผลประโยชน์

brazil-45

ปัจจัยที่บวกเข้าไปสำหรับชนชั้นกลางคือ เขาจะมักจะไม่พอใจเมื่อรัฐบาลช่วยคนจนและแรงงาน

180908-004-2E0344EA
เดลมา รุสเซฟ

อย่างไรก็ตามการกล่าวหานักการเมืองว่าโกงกิน มักถูกใช้ในลักษณะที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเราเห็นในกรณีไทย เช่นการที่ทหารชั้นสูงจะโกงแค่ไหนก็ได้ โดยที่สลิ่มชนชั้นกลางเงียบเฉย ในกรณีบราซิล กระแสต่อต้านการคอร์รับชั่นกลายเป็นข้ออ้างสำหรับ ตุลาการ ตำรวจชั้นสูง และอัยการ ในการเลือกที่จะตั้งข้อกล่าวหากับพรรคแรงงานของ ประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และอดีตประธานาธิบดี ลูลา โดยที่ไม่มีการสอบสวนนักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรคฝ่ายค้านเลยทั้งๆ ที่มีเรื่องอื้อฉาวติดตัวด้วย ในด้านหนึ่งการคอร์รับชั่นของนักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่ในกรณีผู้นำอย่างรุสเซฟหรือลูลา ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ แต่ในไม่ช้าข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รับชั่น ก็แปรไปเป็นเรื่องที่ผูกพันกับการต่อต้านนโยบายช่วยคนจนของพรรคแรงงาน โดยมีการกล่าวหาว่า “ทำลายวินัยทางการคลัง” และข้อกล่าวหาหลังนี้เองที่ถูกใช้โดยฝ่ายตุลาการและวุฒิสภาบราซิลในการก่อรัฐประหารล้มประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ มันทำให้เรานึกถึงกรณียิ่งลักษณ์ในไทย

Luiz Inacio Lula da Silva, Dilma Rousseff
ลูลากับเดลมา รุสเซฟ

ลึกๆ แล้ววัตถุประสงค์ของฝ่ายขวาอภิสิทธิ์ชนบราซิลในการล้มรัฐบาลพรรคแรงงาน คือความต้องการของพวกนี้ที่จะยกเลิกนโยบายที่ช่วยคนจนที่กระทำไปภายใต้นโยบาย “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) [รายละเอียดเรื่องนี้อ่านได้ในบทความสัปดาห์ที่แล้วเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา]  และเขาต้องการยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิของคนจนและแรงงาน นอกจากนี้พวกนี้ต้องการเปิดประเทศเต็มที่และแปรรูปบริษัทน้ำมันของรัฐเพื่อขายให้ทุนข้ามชาติ นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของพวกนี้ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ผมเคยเสนอมานานว่าการทำรัฐประหาร๑๙กันยาและรัฐประหารของประยุทธ์ ส่วนหนึ่งกระทำไปเพื่อทำลายนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนานของทักษิณที่ช่วยคนจน โดยมีเป้าหมายที่จะนำนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วเข้ามาใช้ นโยบายดังกล่าวเป็นที่ชื่นชมของพรรคประชาธิปัตย์และทหาร และมันเอื้อประโยชน์ให้คนรวย [ดู https://bit.ly/2Na1TLa ]

จริงๆ แล้วนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด เป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย เพราะมันเน้นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่ร่ำรวย และเน้นอำนาจของ “กลไกตลาด” ในขณะที่กีดกันการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน และกีดกันไม่ให้รัฐคุมเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์คนส่วนใหญ่อีกด้วย ดังนั้นเราไม่ควรหลงเชื่อว่าเสรีนิยมสร้างประชาธิปไตย [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

แน่นอนบราซิลกับไทยไม่ได้เหมือนกัน 100% เพราะพรรคการเมืองของทักษิณไม่ใช่พรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป และพรรคแรงงานบราซิลไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนพรรคของทักษิณ

สำหรับทางออกในปัจจุบัน Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais เน้นว่าฝ่ายซ้ายต้องต่อต้านคอร์รับชั่น แต่ไม่ใช่ไปเล่นเรื่องนี้จนฝ่ายขวานำมาใช้เป็นเครื่องมือเองได้ คือต้องมีการให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และต้องต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งจริงๆ แล้วเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนและคนรวยผูกขาดนโยบายของรัฐเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย

นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดปิดโอกาสสำหรับคนธรรมดาที่จะร่วมกันตรวจสอบการกอบโกยของนายทุน ซึ่งต้องถือว่าเป็นการคอร์รับชั่นประเภทหนึ่ง

ที่สำคัญคือ การล้มเผด็จการทหาร และการผลักดันให้รัฐเสนอนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน มาจากกระแสการกดดันจากมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งในไทยและบราซิล เมื่อขบวนการดังกล่าวถูกหักหลังโดยรัฐบาลพรรคแรงงานในบราซิล หรือถูกแช่แข็งโดยพรรคของทักษิณ สังคมมีแนวโน้มจะถอยหลัง

การลืมต้นกำเนิดความขัดแย้งในไทยเป็นการนำสมองไปไว้ใต้กะลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนที่เสนอว่าเราไม่ควรพูดถึง “สลิ่ม”  หรือคนที่เสนอว่าเราต้องมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ข้ามพ้นความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร โดยไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายทางการเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้ง เป็นพวกที่มองว่าความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่การก่อตัวของเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนชั้นนำไม่กี่คน หรือเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ใส่เสื้อคนละสี มันเป็นการเอาสมองไปไว้ใต้กะลา เพื่อหวังว่าเราจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่ไร้ความขัดแย้งโดยนำคนหน้าใหม่มาเป็นนักการเมืองแทนคนหน้าเก่า

มันเป็นความคิดปัญญาอ่อนที่ไร้สาระ และถ้าเราย้อนกลับไปศึกษาต้นกำเนิดความขัดแย้ง เราจะเข้าใจว่าทำไมเป็นอย่างนี้

พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ริเริ่มกระบวนการในการทำลายประชาธิปไตย ตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร ๑๙ กันยา มันทำให้เราต้องประสบวิกฤตทางการเมืองอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของทหารกับศาลซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงการก่อความรุนแรงโดยม็อบคนชั้นกลางและพวกอันธพาลจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำลายการเลือกตั้งและสนับสนุนการก่อรัฐประหารดังกล่าว นอกจากทหาร สลิ่ม แลพวกอนุรักษ์นิยมแล้ว นักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอ และนักวิชาการเสรีนิยมฝ่ายขวาก็มีส่วนในการสนับสนุนรัฐประหารและการทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย

ในรอบสิบปีที่ผ่านมาพวกที่ต้านประชาธิปไตยได้เข่นฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างเลือดเย็น โดยพวกฆาตรกรของฝ่ายรัฐลอยนวลเสมอ ในขณะเดียวกันคุกไทยมีนักโทษทางการเมืองในจำนวนที่เราไม่เคยเห็นตั้งแต่การยุติของสงครามเย็น พร้อมกันนั้นในต่างประเทศก็มีคนไทยที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนหนึ่งอย่างที่ไม่เคยมีมานาน กลไกสำคัญอันหนึ่งที่ใช้ในการปราบฝ่ายซ้ายและเสื้อแดงคือกฏหมายเถื่อน 112 ที่ปกป้องกระทำทุกอย่างของทหารเผด็จการ

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากการ “เหม็นขี้หน้าทักษิณ” ของพวกที่ทำลายประชาธิปไตย มันมาจากจุดยืนและแนวคิดทางการเมืองของเขาต่างหาก

ต้นกำเนิดของวิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้คือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ ซึ่งเปิดโปงปัญหาพื้นฐานในสังคมไทย คือการที่สภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แค่ห้าปีก่อนหน้านั้นมีการลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในการล้มเผด็จการทหาร แต่การเมืองยังวนเวียนอยู่ในสภาพเดิมๆ

ในหลายปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่ควร เพราะผลประโยชน์เกือบทั้งหมดตกอยู่ในมือของชนชั้นนำและนายทุนไม่กี่คน ส่วนชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเช่นกัน ก็ได้ประโยชน์บ้าง สรุปแล้วหลายแง่ของสังคมไทยถูกแช่แข็งในความล้าหลัง

ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตของประชาชนทั่วประเทศเปลี่ยนไป คนที่เลี้ยงชีพในภาคเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว และคนที่เป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและการบริการก็เพิ่มขึ้น แม้แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรของชนบทก็ต้องเสริมรายได้ด้วยการทำงานในกิจกรรมนอกภาคเกษตรในชุมชนตนเองด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนมากพอสมควร โดยเฉพาะเวลาเราพิจารณาว่าคนที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไปได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคนรุ่นใหม่เริ่มเข้าสู่วัยของการเป็นผู้ใหญ่ แต่ความไม่พอใจดังกล่าวไม่ได้ถูกแสดงออกเพราะหลายคนขาดความมั่นใจ และมองไม่ออกว่าจะแก้สถานการณ์ในรูปธรรมอย่างไร นอกจากนี้ไทยขาดพรรคฝ่ายซ้ายที่จะเป็นปากเสียงของคนเหล่านี้โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์

ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเรามีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีภาพว่ามาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมกับการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนเริ่มมีความหวังว่าสภาพสังคมจะดีขึ้น มันเป็นประกายไฟที่จุดให้คนจำนวนมากตื่นตัวทางการเมืองภายใต้ความหวังและทางออกที่พอมองเห็นได้

ทักษิณ ชินวัตร กับพรรคไทยรักไทย เข้าใจและพร้อมจะฉวยโอกาสทองในการสร้างการเมืองแบบใหม่บนพื้นฐานโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อครองใจประชาชน ซึ่งจะแทนที่ระบบอุปถัมภ์และการซื้อเสียงแบบเดิม นโยบายของไทยรักไทย โดยเฉพาะ “30บาทรักษาทุกโรค” และกองทุนหมู่บ้าน ถูกออกแบบเพื่อทำให้สังคมไทยทันสมัยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหญ่เพิ่มกำไรผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยทั่วไปในสังคม ทักษิณเรียกนโยบายดังกล่าวว่า “นโยบายคู่ขนาน” คือผสมการลงทุนจากรัฐกับการใช้กลไกตลาดเสรี แต่ศัตรูของไทยรักไทยมักเรียกนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ว่าเป็น “ประชานิยม” เหมือนใช้คำด่า พวกนี้เกลียดชังการใช้รัฐเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะเขานิยมกลไกตลาดเสรีสุดขั้วแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ที่ให้ประโยชน์กับพวกเขามานาน นอกจากนี้พวกนี้เกลียดชังคนส่วนใหญ่และมองว่าเราเป็น “คนโง่” ที่ไว้ใจไม่ได้ ถูกซื้อง่าย และตัดสินใจอะไรเองไม่ได้

สาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยม เริ่มไม่พอใจรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆที่เคยชื่นชมในยุคแรก คือการที่ไทยรักไทยสามารถครองใจประชาชนผ่านนโยบายและสามารถผูกขาดอำนาจจากการชนะการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย พวกนั้นไม่พร้อมหรือไม่สามารถที่จะแข่งขันทางการเมืองกับไทยรักไทยในระบบการเลือกตั้ง เขาจึงหันมาชื่นชมเผด็จการแทน

วิกฤตการเมืองปัจจุบันไม่ได้เกิดจาก “ปัญหาการเปลี่ยนรัชกาล” แต่อย่างใด เพราะกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนอ่อนแอมาตลอด ไม่มีอำนาจ และถูกใช้โดยทหารและอำมาตย์ รวมถึงนักการเมืองอย่างทักษิณอีกด้วย

ในขณะที่เรามองเห็นและรู้จักพวกที่ทำลายประชาธิปไตย เราต้องไม่ไปหลงใหลในนักการเมืองแบบทักษิณว่าจะสู้เพื่อประชาธิปไตย ทักษิณมีส่วนในการแช่แข็งเสื้อแดง และเขาเป็นนักการเมืองของฝ่ายทุนที่พร้อมจะก่ออาชญากรรมในปาตานีหรือในสงครามยาเสพติด

ข้อเสนอว่าเราควรหาทางข้ามพ้นความขัดแย้งในหมู่ประชาชนสองฝ่ายของสังคมไทย เพื่อหาฉันทามติในการกำหนดรูปแบบการเมืองที่ไม่ใช่เผด็จการทหาร เป็นข้อเสนอที่จะไม่สร้างประชาธิปไตยจริงในรูปธรรม เพราะความขัดแย้งทางการเมืองมักดำรงอยู่ในทุกสังคมของโลก และความขัดแย้งดังกล่าวมีรากฐานจากผลประโยชน์ที่ต่างกันทางชนชั้น ทั้งๆ ที่ประเด็นต่างๆ อาจถูกบิดเบือนไปหรือไม่ชัดเจนแบบขาวกับดำ การหาฉันทามติระหว่างคนที่รักประชาธิปไตยในไทยกับพวกสลิ่ม นอกจากจะเป็นความฝันที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเป็นข้อเสนอที่จะจบลงโดยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประนีประนอมในที่สุด ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเป็นฝ่ายประนีประนอม เราจะได้แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ถูกเปิดโปงออกมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะสภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ล้าหลังและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกับเศรษฐีคนรวยหรือแม้แต่คนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่สบาย เราจะวนเวียนอยู่ในอ่างจนเกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับกับสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ (Combined and Uneven Development) เป็นวิธีอธิบายกระบวนการพัฒนาในประเทศด้อยพัฒนาท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ คนที่เสนอแนวคิดนี้คือนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ของรัสเซียชื่อ ลีออน ตรอทสกี

ลักษณะสำคัญของรัสเซียในสมัยก่อนการปฏิวัติปี 1917 คือมีความล้าหลังในการพัฒนา ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมถ้าเทียบกับยุโรปตะวันตก หรือสหรัฐ แต่ท่ามกลางความล้าหลังนี้มีบางส่วนที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุด

ประเทศล้าหลังจะเรียนรู้วิธีคิดและเทคนิคการผลิตจากประเทศที่ก้าวหน้ากว่า ผ่านกระบวนการโลกาภิวัฒน์ของทุนนิยม แต่ไม่ได้เรียนรู้ในลักษณะการเดินย้อนรอยประวัติศาสตร์ของประเทศพัฒนา เพราะประเทศล้าหลังจะได้เปรียบในแง่หนึ่งคือ สามารถรับสิ่งที่ทันสมัยที่สุดในโลกจากประเทศก้าวหน้าได้ทันที จึงมีการก้าวกระโดดสู่ความทันสมัยตามภาพรวมของทุนนิยมโลก

ตรอทสกี้เขียนว่า “มนุษย์เผ่าดั้งเดิมที่ยังใช้ชีวิตโบราณอยู่ในป่า วันนี้อาจใช้ธนูและหอก แต่พรุ่งนี้ ถ้ามีโอกาสสัมผัสกับคนจากภายนอก จะสามารถจับปืนมาใช้ได้ทันที”

อย่างไรก็ตาม การก้าวกระโดดข้ามขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ไม่เคยเป็นเรื่อง “กฏเหล็ก” ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในทุกเรื่อง และบางครั้งการรับสิ่งที่ทันสมัยมาใช้โดยสังคมล้าหลัง อาจรับมาในลักษณะเพี้ยนๆ ก็ได้ เช่นการนำระบบคิดใหม่มาเสริมสร้างรูปแบบการปกครองแบบล้าหลัง กรณี รัชกาลที่๕ ในไทย เป็นตัวอย่างที่ดี คือรับรูปแบบการบริหารรัฐและเศรษฐกิจทุนนิยมมาใช้เพื่อเสริมอำนาจกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ถ้าประวัติศาสตร์มีกฏเหล็กทั่วไป กฏนั้นคงจะระบุว่าการพัฒนาของประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียม ต่างระดับ และความไม่แน่นอนเสมอ

ในเรื่องของความ “ต่างระดับ” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการรับสิ่งใหม่ๆ จากโลกแบบองค์รวม เราจะเห็นจากรัสเซีย ในปี 1914 คือรัสเซียยากจนกว่าสหรัฐประมาณ 10 เท่า แต่ 40% ของอุตสาหกรรมรัสเซียเป็นอุตสาหกรรมทันสมัยขนาดใหญ่ที่มีกรรมาชีพจำนวนมากในโรงงานเดียวกัน ในขณะที่เพียง 18% ของอุตสาหกรรมสหรัฐเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่พร้อมๆ กันนั้นรัสเซียมีความล้าหลังดำรงอยู่ คือมีชาวนากึ่งทาสเป็นล้านๆ คน ซึ่งสหรัฐไม่มี

กรรมาชีพในประเทศล้าหลังมีสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของกองหน้ากรรมาชีพโลกได้ทันที ทั้งในด้านจิตสำนึก ระดับการศึกษา และฝีมือ คือไม่ต้องผ่านการพัฒนาเป็นร้อยๆปี แบบที่เคยเกิดขึ้นในตะวันตก ลูกชาวนาในไทยที่เข้าสู่ระบบโรงงาน ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานได้ และคนไทยที่อยู่ในเมืองกับชนบทเรียนรู้วิธีใช้อินเตอร์เน็ดได้อย่างรวดเร็ว ไม่แพ้คนตะวันตก

แต่หลายแง่ของระบบการเมืองและสังคมในไทย ยังติดอยู่ในระดับล้าหลัง เช่นแนวคิดของชนชั้นปกครองไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นนายทุนหรือทหาร และมองว่าพลเมืองไทยคิดเองไม่เป็น ไม่ทันสมัย “ขาดการศึกษา” และปกครองตนเองไม่ได้ ดังนั้นชนชั้นปกครองไทยจึงอาศัยการปกครองแบบกึ่งเผด็จการเป็นส่วนใหญ่ ความคิดแบบนี้นำไปสู่การมองว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะเลือกนักการเมืองได้ การบังคับให้พลเมืองรักกษัตริย์ดุจเทวดาก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดล้าหลังอันนี้ ทั้งๆ ที่กษัตริย์ไทยมีลักษณะทันสมัยในยุคปัจจุบัน คือเป็นเครื่องมือของนายทุนและทหาร

อีกแง่หนึ่งของความล้าหลังและต่างระดับของสังคมไทย คือในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างสภาพชีวิตคนธรรมดา กับพวก “ผู้ใหญ่” และชนชั้นกลางในสังคม คนไทยจำนวนมากยังยากจน เมื่อเทียบกับเศรษฐีระดับโลกของไทย และการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการและสิทธิพลเมืองยังไม่เกิดอย่างจริงจัง

สภาพการพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับของไทย นำไปสู่ความขัดแย้งที่เราเห็นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นอันหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพราะเมื่อมีนักการเมืองนายทุน คือทักษิณและพรรคพวก เข้ามาเสนอแผนที่จะพัฒนาชีวิตประชาชนหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นโครงการสร้างงานหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค พลเมืองจำนวนมากชื่นชมและเทคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่นักการเมืองและทหารหัวเก่าที่ไม่เข้าใจความไม่พอใจที่ดำรงอยู่ในสังคมที่พัฒนาไปไกลแล้ว

เราควรเข้าใจว่าทฤษฏี “การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ” ของตรอทสกี้ ใช้อีกทฤษฏีหนึ่งเป็นคู่ฝาแฝด คือ “ทฤษฏีปฏิวัติถาวร” (Permanent Revolution) ทั้งตรอทสกี้ และคาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่า ชนชั้นนายทุนในประเทศด้อยพัฒนาไม่เคยมีประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้าเท่านายทุนในประเทศพัฒนา เพราะไม่เคยนำการปฏิวัติล้มระบบขุนนาง นายทุนส่วนใหญ่หลังยุค 1848 เป็นนายทุนขี้ขลาด กลัวกรรมาชีพมากกว่าเกลียดขุนนาง และมุ่งที่จะอนุรักษ์ระบบโดยพร้อมจะประนีประนอมกับอำนาจเผด็จการประเภทที่ปฏิกิริยาที่สุดเสมอ

นักมาร์คซิสต์จึงเสนอว่าผู้ที่จะต้องรับภาระในการปลดแอกประชาชนในโลกปัจจุบัน จะต้องเป็นชนชั้นกรรมาชีพสมัยใหม่ที่กำลังขยายตัวทั่วโลก ชนชั้นกรรมาชีพสำคัญเพราะทำงานรวมหมู่และอยู่ในใจกลางระบบการผลิตและเศรษฐกิจทุนนิยม

สำหรับไทย แนวคิดนี้อธิบายว่าทำไมทักษิณและนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ไม่มีวันนำการต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทหารและพวกอนุรักษ์นิยม เพราะเขากลัวว่าการต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นจะไปไกลกว่าแค่การหมุนนาฬิกากลับไปสู่สภาพการเมืองก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา ทักษิณและพรรคพวกมีส่วนคล้ายและอุดมการณ์ร่วมกับพวกทหารและนักการเมืองอนุรักษ์นิยม มากกว่าที่เขาจะมีกับประชาชนธรรมดา นี่คือสาเหตุที่เขาแช่แข็งการต่อสู้ของเสื้อแดงหลังยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์จนถึงทุกวันนี้

ถ้าเราจะเดินหน้าพัฒนาระบบการเมืองและสังคมไทย เราต้องสร้างพรรคและขบวนการทางสังคมของมวลชนคนชั้นล่าง โดยเฉพาะกรรมาชีพ พรรคและขบวนการนี้ต้องอิสระโดยสิ้นเชิงจากทักษิณและพรรคเพื่อไทย และเราต้องเลิกตั้งความหวังอะไรเลยกับพรรคเพื่อไทยหรือการเลือกตั้งภายใต้อำนาจทหารในอนาคต

วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี ๒๕๔๐ และผลกระทบทางการเมือง

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

วิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่ก่อตัวขึ้นในปี ๒๕๔๐ มีผลกระทบกับสังคมไทยไม่น้อย และเป็นต้นกำเนิดของวิกฤติการเมืองไทยที่ยังดำรงอยู่ถึงวันนี้

ในระยะสั้นธนาคารโลกรายงานว่าในปี ๒๕๔๓ จำนวนคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจนมีทั้งหมด 13 ล้านคน ในต้นปี ๒๕๔๑ อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับโดยเฉลี่ยลดลง 12.6% และ ชั่วโมงการทำงานลดลง 4.4% ซึ่งมีผลทำให้รายได้จริงของพลเมืองลดลงถึง 19.2% สภาพเช่นนี้ถูกสะท้อนในความไม่พอใจของคนงานหลายส่วน และโรงงานแห่งหนึ่งถูกเผาเพื่อเป็นการประท้วงนายจ้าง

เมื่อรัฐบาล ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลดค่าเงินบาท และปิดบริษัทไฟแนนส์ที่ล้มละลาย ม็อบคนรวยที่หวงเงินออมและทรัพย์สินของตนเอง ก็ออกมาปิดถนนสีลมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก พวกนี้ไม่ได้ถูกตำรวจไล่ตีเหมือนม็อบคนงานที่เคยปิดถนนบางนา-ตราดเพื่อประท้วงนายจ้าง และคนรวยบางคนไม่เคยมีประสบการณ์ในการไปร่วมม็อบซึ่งต้องทนแดดทนฝน เขาจึงต้องพาคนรับใช้มาบริการน้ำเย็นให้

ในขณะเดียวกันกษัตริย์ภูมิพล เศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศ ก็ออกมาพยุงชนชั้นปกครอง โดยเสนอแนว “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อโยนความผิดให้ประชาชนธรรมดาที่กษัตริย์มองว่า “ไม่รู้จักพอ” แต่ในความจริงประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยมีพอ คนที่ไม่รู้จักพอคือพวกนายทุน เศรษฐี และคนรวยต่างหาก

สำนักแนวคิดเศรษฐกิจชุมชนของนักวิชาการและเอ็นจีโอบางส่วน มีส่วนคล้ายคลึงกับแนวพอเพียง เพราะจุดเด่นคือเน้นว่าวิกฤติเศรษฐกิจเกิดจาก “ลัทธิบริโภคนิยม” และพูดถึง “การบริโภคในระดับเกินควร” เราต้องมองว่าแนวนี้เป็นแนวปฏิกิริยาที่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยที่ยังยากจน มันเป็นความฝันที่จะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่ไม่เคยมีในอดีต และเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อไม่ให้เราโทษการกระทำของนักธุรกิจคนรวยกลุ่มเล็กๆ ที่นำเศรษฐกิจไปสู่ความหายนะ

ในการอธิบายต้นเหตุของวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” เราไม่ควรไปให้ความสำคัญกับพวกปัญญาอ่อนที่โทษรัฐบาลชวลิต หรือคนที่มองว่า “ความเป็นไทย” และการคอร์รับชั่นแบบไทยๆ เป็นต้นเหตุ และไม่ควรให้ความสำคัญกับแนวพอเพียง แต่มันมีสำนักความคิดทางเศรษฐกิจหลายสำนักที่พยายามอธิบายสาเหตุของวิกฤติที่เราควรศึกษา

สำนัก “เสรีนิยม” เสนอว่าการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจตั้งแต่ยุครัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของ อานันท์ ปันยารชุน หรือก่อนหน้านั้นอีกภายใต้ ชาติชาย ชุณหวัณ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ โดยดึงการลงทุนเข้ามา และลดการควบคุมธนาคาร พวกเสรีนิยมอย่างเช่น อัมมาร สยามวาลา มองว่าเป็นเรื่องดี แต่มีการวิจารณ์ว่าการกำกับดูแลไม่มีประสิทธิภาพพอ ดังนั้นสำนักนี้เสนอว่าถ้าจัดระบบการควบคุมการลงทุนให้ดีขึ้นจะแก้ปัญหาได้ นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมคนอื่น อย่างเช่น รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ หรือ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมฝ่ายขวาตกขอบบางคน สรุปว่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยเกิดจากการที่คนงานไทยมีค่าแรงสูงเกินไปจนไทยแข่งขันในตลาดโลกต่อไปไม่ได้ พีเทอร์ วอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เสนอว่าค่าแรงของคนงานไทย “สูงเกินไป” ทั้งๆ ที่คนงานไทยยากจนและมีรายได้ต่ำกว่านักวิชาการทุกคน ดังนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์ของ ชวน หลีกภัย จึงกดค่าแรงขั้นต่ำไม่ให้มีการปรับขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ ในขณะเดียวกันมีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อปกป้องเงินออมของคนรวย

โดยรวมสำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมมักจะเสนอว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจไทยมาจากการที่มีการเปิดเสรีไม่พอในระยะยาว เขามักเสนอเป็นประจำให้เร่งรีบเปิดเสรีมากขึ้นเพื่อให้กลไกตลาดกำหนดทุกอย่างโดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐแต่อย่างใด แต่ในรูปธรรมนักเสรีนิยมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ขององค์กร ไอเอ็มเอฟ หรือนักเศรษฐศาสตร์ไทย ก็ล้วนแต่หน้าไหว้หลังหลอกในเรื่องบทบาทของรัฐทั้งสิ้น เพราะขณะที่เสนอให้มีการลดบทบาทรัฐในเรื่องสวัสดิการหรือการควบคุมมาตรฐานการจ้าง ก็เสนอให้รัฐเข้ามาใช้ภาษีประชาชนเพื่ออุ้มระบบหนี้เสียของสถาบันการเงินเอกชน

สำนัก “ชาตินิยม-เคนส์” เสนอว่าการเปิดประเทศมากเกินไปทำให้เกิดการพึ่งพาระบบโลกาภิวัตน์มากเกินควร วอลเดน เบโล จากฟิลิปปินส์ มีความเห็นว่ารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ “หาทางลัด” ของไทยที่เน้นการลงทุนจากภายนอกเพื่อผลิตส่งออกสู่ตลาดโลก มีข้อเสียที่ก่อให้เกิดวิกฤติเพราะพึ่งพาทุนจากต่างประเทศและระบบตลาดเสรีในโลกภายนอกมากเกินไป ดังนั้น เบโล จึงเสนอให้รัฐไทยควบคุมการเคลื่อนย้ายทุนและระดมทุนภายในมาใช้ในการเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจสำนักความคิดชาตินิยมกู้ชาติต้องถือว่ามีเสียงมากที่สุดในหมู่พวกที่คัดค้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มบัณฑิตไทย” “โครงการหนังสือวิถีทรรศน์” “กลุ่มบางจาก” หรือ “เสรีไทยใหม่” นักเขียนที่มีชื่อเสียงในกลุ่มเหล่านี้มีคนอย่าง ยุค ศรีอาริยะ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กัญญา ลีลาลัย และ พิทยา ว่องกูล พวกนี้เสนอให้ปิดประเทศระดมทุนจากภายในเป็นหลัก นโยบายแบบนี้ซึ่งอาจเคยใช้พัฒนาประเทศได้ในยุคอดีต ที่มีการเคลื่อนย้ายทุนและการแข่งขันทั่วโลกน้อยกว่าปัจจุบัน ล้มเหลวและใช้ไม่ได้อีกแล้ว กรณีนโยบายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์สายสตาลินของประเทศในยุโรปตะวันออกและจีนเป็นตัวอย่างที่ดีของความล้มเหลวของแนวนี้

ในหมู่พวกกู้ชาติที่สุดขั้วที่สุดมีการเสนอว่าวิกฤตินี้เป็นแผนร้ายของสหรัฐอเมริกาที่จะทำลายเศรษฐกิจเอเซีย แต่ข้อเสนอนี้ไม่มีน้ำหนักแต่อย่างใดในเมื่อผู้นำสหรัฐเองเกรงกลัวผลกระทบของวิกฤติเอเซียที่อาจมีกับเศรษฐกิจสหรัฐ

พวกชาตินิยมเหล่านี้ไม่ปฏิเสธระบบทุนนิยมเลย และเสนอให้สร้างระบบทุนนิยมของ “ประชาชนไทย”เพื่อสกัดกั้นนายทุนต่างชาติ แต่ในรูปธรรมแนวนี้ให้ประโยชน์กับนายทุนไทยมากกว่าชนชั้นอื่นทุกชนชั้น ดังนั้นในการพยายามปลุกระดมมวลชนที่ไม่ใช่นายทุน สำนักชาตินิยมจำต้องหยิบยกนิยายจากอดีตเพื่อสร้างความงมงายในหมู่ประชาชน เช่นมีการเอ่ยอ้างถึงบทบาทของพระนเรศวรหรือพระเจ้าตากสินในการกู้ชาติ

ข้อเสนอของสองสำนักคิดหลักข้างต้น มีข้อเสียคือ เพียงแต่มองปัญหาเฉพาะหน้าและอาการของวิกฤติในระบบทุนนิยมเท่านั้น ไม่สามารถเจาะลึกถึงสาเหตุหรือต้นปัญหาของวิกฤติไทยได้ การมองปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหารายละเอียดปลีกย่อยของวิกฤติหนึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเข้าสู่วิกฤติเป็นประจำ ทั้งๆ ที่อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันในยุคต่างๆ เช่นในประเทศที่มีการควบคุมการลงทุนโดยรัฐ หรือประเทศที่มีการเปิดเสรีภายใต้การตรวจสอบก็ยังเกิดวิกฤติได้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นสำนักแนวคิดที่เน้นแต่ปัญหาที่มาจากการหลั่งไหลเข้าออกของทุนโดยไม่มีการควบคุมดูแล ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมในเศรษฐกิจไทยมีการทุ่มเทเงินในภาคอสังหาริมทรัพย์แต่แรก จนเกิดสภาพฟองสบู่ และทำไมพอถึงจุดๆ หนึ่งมีการถอนทุนออกจากประเทศไทยอย่างรวดเร็ว

สำนักเสรีนิยมมีข้ออ่อนด้อยมหาศาลเพราะไม่มีมาตรการอะไรเลยที่จะใช้แก้ปัญหาวิกฤติเรื้อรังของระบบทุนนิยมตลาดเสรี นอกเหนือจากการเพิ่มอัตราการขูดรีดแรงงานเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น

ในรูปธรรมแนวทางปิดประเทศและระดมทุนภายในเป็นแนวที่ยังไม่ปฏิเสธระบบทุนนิยม ดังนั้นประเทศที่ใช้นโยบายแบบนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ อย่างไทยที่มีตลาดและทรัพยากรจำกัด การระดมทุนจากภายในประเทศแทนที่จะอาศัยทุนมหาศาลและเทคโนโลจีที่เคลื่อนไหวอยู่รอบโลกในยุคนี้ เป็นแนวทางที่สร้างความเสียเปรียบกับประเทศเพราะการระดมทุนในรูปแบบนี้ใช้ต้นทุนสูง ค่าใช้จ่ายสูง ไม่สามารถใช้เทคโนโลจีที่ทันสมัยที่สุด และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเป็นแนวที่อาศัยการระดมทุนจากการขูดรีดแรงงานที่ยากจนภายในประเทศในอัตราสูงขึ้น

สำนักมาร์คซิสต์ อธิบายว่ากลไกการทำงานของระบบทุนนิยม ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญที่มาจากการแข่งขันกอบโกยกำไรในระบบตลาด ทำให้เกิดสองเหตุการณ์ที่นำไปสู่วิกฤติคือ (1)แนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร ที่มาจากการแข่งขันกันลงทุนในตลาดเสรี ซึ่งมีผลทำให้การลงทุนในเครื่องจักรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับการลงทุนในการจ้างงาน และในที่สุดนำไปสู่การชะลอการลงทุนใหม่ในภาคการผลิตหรือภาคบริการ (2)การผลิตล้นเกินในตลาดและการลงทุนล้นเกินในขณะที่ความต้องการแท้ของมนุษย์ยังมีอยู่

ในวิกฤตต้มยำกุ้ง การลดลงของอัตรากำไรในภาคอุตสาหกรรมส่งออกของไทย และการผลิตล้นเกินในตลาดโลก ทำให้มีการแสวงหากำไรจอมปลอมจากการปั่นหุ้นและการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดปรากฏการณ์ฟองสบู่

แนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรที่ก่อให้เกิดการย้ายการลงทุนไปสู่การปั่นหุ้นในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะเห็นจากงานวิจัยของ เจมส์ กลาสแมน เพราะตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ อัตรากำไรในภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มลดลงจากหน่วยอัตราส่วน 0.53 เหลือ 0.37 ในปี ๒๕๓๙ และถ้าพิจารณาภาพรวมระยะยาวของเศรษฐกิจไทยจะพบว่าสัดส่วนมูลค่าผลผลิตต่อต้นทุนในประเทศไทยลดลงจาก 0.83 ในปี ๒๕๑๓ เหลือแค่ 0.65 ในปี ๒๕๓๙ ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของราคาการลงทุนในเครื่องจักร

รายงานเศรษฐกิจของบริษัทเอกชนในเครือธนาคารกสิกรไทยและรายงานของธนาคาร “ไอเอนจีแบริ่งส์” ก็สนับสนุนข้อเสนอว่ามีการผลิตล้นเกินและการลดลงของอัตรากำไรอย่างทั่วถึง เช่นในภาคน้ำมัน โทรคมนาคม เหล็ก และกระดาษเป็นต้น

เมื่อเราสำรวจเหตุผลของวิกฤติเศรษฐกิจไทยที่ถูกเสนอโดยสำนักแนวความคิดต่างๆ และมาเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์ แทนที่ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจของมาร์คซ์จะหมดสมัย จะเห็นได้ว่าลัทธิของฝ่ายทุนนิยมต่างหากที่ไม่สามารถอธิบายโลกปัจจุบันและวิกฤติของทุนนิยมได้

ทางออกสำหรับกรรมาชีพไทยที่มุมมองมาร์คซิสต์เคยเสนอคือ ในระยะสั้นจะต้องร่วมต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นการต่อสู้เพื่อยับยั้งการตกงาน การต่อสู้เพื่อยับยั้งการกดค่าแรง หรือการต่อสู้เพื่อยับยั้งการทำลายสวัสดิการ แต่ในระยะยาว ถ้าเราจะแก้ปัญหาที่มาจากระบบทุนนิยมเราต้องเริ่มการต่อสู้เพื่อนำระบบสังคมนิยมเข้ามาแทนทุนนิยม เราต้องเริ่มการต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐมาเป็นของมวลชนกรรมาชีพ แทนที่จะปล่อยให้อยู่ในกำมือของนายทุนและนายทหารผู้เป็นคนส่วนน้อยของสังคม การต่อสู้เปลี่ยนแปลงสังคมทุกครั้งต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงเสมอ เราต้องรู้จักประเมินพลังแท้ของฝ่ายเรา และต้องเลือกเครื่องมือในการเปลี่ยนสังคม สำหรับนักลัทธิมาร์คซ์ เครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมคือชนชั้นกรรมาชีพ และพรรคสังคมนิยม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ เราจะทำอย่างไรให้ชนชั้นกรรมาชีพไทยเข้มแข็ง และเราจะจัดตั้งพรรคอย่างไร

นโยบายแก้ปัญหาจากวิกฤติต้มยำกุ้งของรัฐบาลไทยรักไทย หลังชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ รัฐบาลทักษิณได้ใช้แนวเศรษฐกิจผสมเพื่อแก้ปัญหา คือในระดับที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกมีการใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด แต่รัฐนำการลงทุนภายในเพื่อพัฒนาเทคโนโลจีและสาธารณูปโภคให้ทันสมัย รวมถึงการสร้างระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า เพื่อเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยในการแข่งขัน และเพื่อพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในขณะเดียวกันในระดับชุมชนและหมู่บ้าน มีการลงทุนโดยรัฐในการสร้างงาน นี่คือสิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่า “นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน” คือผสมแนวเสรีนิยมกับแนว “เคนส์รากหญ้า”

นโยบายดังกล่าวมีส่วนในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน มันเป็นมาตรการเฉพาะหน้า แต่มันไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื้อรังของระบบทุนนิยมทั่วโลกที่มีปัญหาวิกฤติเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามผลของการใช้นโยบายดังกล่าวสร้างคะแนนนิยมให้กับทักษิณและพรรคไทยรักไทยจนส่วนอื่นๆ ของชนชั้นปกครองไทย โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยม และคนชั้นกลางส่วนใหญ่ เริ่มไม่พอใจกับการเมืองประชาธิปไตยแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเสียงของเกษตรกรและกรรมาชีพ ผ่านการพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และในที่สุดก็นำไปสู่วิกฤติการเมืองและการปกครองภายใต้เผด็จการทหาร

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2t6CapR  เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจต้อมยำกุ้ง (บทที่ 12)  http://bit.ly/2v6ndWf   เรื่องวิกฤติทุนนิยมตามแนวคิดมาร์คซิสต์ และ http://bit.ly/2tWNJ3V เรื่องแนวเสรีนิยม

ประเทศไทยไม่มี “รัฐพันลึก”

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้มีการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยลอนดอนหัวข้อ “ประเทศไทยในวิกฤตรัฐพันลึก” โดย อูจีนี เมริเออ เสนอบทบาทและการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นในฐานะกลไกของรัฐพันลึก

[ดู http://bit.ly/25RMW44 และบทความอ.นิธิ http://bit.ly/1UMTQ1X   ท่านอาจต้องกดเข้าไปดูที่บล็อกของเลี้ยวซ้ายเพื่ออ่าน]

ทฤษฏี “รัฐพันลึก” หรือ Deep State ใช้มุมมองบกพร่องแต่แรก เพราะมองว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “รัฐปกติ” ที่โปร่งใสและรับใช้พลเมือง ในขณะที่รัฐพันลึกเป็นกรณีพิเศษที่พบในบางประเทศ คือมีส่วนหนึ่งของรัฐที่ฝังลึกอยู่และไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยกลไกประชาธิปไตย

ในโลกแห่งความจริง รัฐทุกรัฐในระบบทุนนิยมเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนายทุน เป็นเครื่องมือเพื่อกดขี่ชนชั้นอื่นๆ โดยเฉพาะชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกรรายย่อย มันไม่รับใช้พลเมืองส่วนใหญ่แต่อย่างใด รัฐทุกรัฐในระบบทุนนิยมเข้าข้างนายทุนเสมอ เพราะปกป้องสิ่งที่เขาเรียกว่า “สิทธิในการบริหารและการเป็นเจ้าของ”ทรัพย์สินมหาศาลกับปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตของพลเมืองทุกคน พูดง่ายๆ คือ รัฐทุนนิยมปกป้องเผด็จการทางเศรษฐกิจของชนชั้นนายทุน นายทุนไม่เคยต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายทุน เขาไม่เคยมาจากคะแนนเสียงของลูกจ้างหรือประชาชนธรรมดา ตำรวจและทหาร ซึ่งเป็นกองกำลังของรัฐนี้ ถูกใช้ในการปราบปรามการนัดหยุดงานหรือการเคลื่อนไหวของประชาชนธรรมดา แต่ไม่เคยมีการใช้กองกำลังนี้เพื่อปราบปรามนายทุนที่เลิกจ้างคนงาน ปิดกิจกรรม ขนการลงทุนไปที่อื่น หรือตัดรายได้ของคนทำงาน

ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก นอกจากอำนาจเผด็จการทางเศรษฐกิจของนายทุนแล้ว มีหลายส่วนของรัฐที่ไม่ถูกตรวจสอบหรือเลือกมาจากเสียงประชาชน เช่นหน่วยราชการลับ ผู้พิพากษา ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้ว่าธนาคารชาติ หรือผู้บังคับบัญชาทหาร และหลายครั้งในอดีตมีการสร้างอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่มาจากการเลือกตั้งโดยคนเหล่านี้ เช่นในกรณีรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษ

ดังนั้นรัฐบาลกับรัฐไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และการคุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจนตั้งรัฐบาลได้ ไม่ได้แปลว่าคุมอำนาจรัฐ นี่คือเรื่องปกติของรัฐในระบบทุนนิยม

บางครั้งการพูดถึง “รัฐพันลึก” อาจมีประโยชน์ในการอธิบายบางส่วนของรัฐที่ตกค้างมาจากยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ หรือยุคฟาสซิสต์ เช่นหน่วยราชการลับที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยเมื่อประเทศนั้นมีประชาธิปไตย เช่นในตุรกี หรือบางประเทศในลาตินอเมริกา แต่มันไม่ตรงกับสภาพสังคมการเมืองของไทยเลย

การนิยามว่าไทยมี “รัฐพันลึก” โดย อูจีนี เมริเออ ต้องอาศัยการบิดเบือนพูดเกินความจริงเรื่องอำนาจกษัตริย์ ต้องมองข้ามการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในกองทัพ และในหมู่ชนชั้นนำ ต้องมองข้ามความอ่อนแอและการไม่มีความอิสระเลยของตุลาการ และที่สำคัญคือต้องไม่เอ่ยถึงบทบาทมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลย

นอกจากนี้ อูจีนี เมริเออ จะสร้างภาพเท็จว่า “รัฐพันลึก” ต้านทักษิณมาแต่แรกซึ่งไม่ใช่ ในยุคแรกๆ ของรัฐบาลทักษิณ ชนชั้นนำไทยเกือบทุกส่วนชื่นชมรัฐบาลทักษิณที่สัญญาว่าจะทำให้เศรษฐกิจและสังคมทันสมัยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและปัญหาความขัดแย้งพฤษภาปี๓๕ ตอนนั้นนายกทักษิณ ในฐานะส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองนายทุน มีอิทธิพลในกองทัพ และมีอิทธิพลเหนือตุลาการและข้าราชการระดับสูง

พวกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นปกครองไทยเริ่มหันมาต้านทักษิณในภายหลัง เมื่อค้นพบว่าแข่งกับทักษิณไม่ได้ในเวทีประชาธิปไตยที่สร้างอำนาจทางการเมือง เพราะพวกอนุรักษ์นิยมไม่ยอมเสนอนโยบายที่จะทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นด้วยเหตุที่พวกนี้คลั่งกลไกตลาดเสรี ดังนั้นเขาครองใจประชาชนธรรมดาไม่ได้

ในหมู่พวกที่มารวมตัวกันต้านทักษิณในภายหลัง มีคนจำนวนมากที่เคยเป็นแนวร่วมกับทักษิณก่อนหน้านั้น และมีคนที่เคยร่วมปราบประชาธิปไตยในอดีต สมัยสงครามเย็น ที่เข้ามาอยู่กับทักษิณอีกด้วย มันเป็นภาพพลวัตของการทำแนวร่วมชั่วคราว ที่เปลี่ยนข้างกันตามโอกาสตลอดเวลา ในหมู่ชนชั้นปกครอง มันไม่ใช่ภาพของกลุ่มก้อนบุคคลในรัฐพันลึกที่คงที่และฝังตัวอยู่กลางรัฐไทยมาตลอดแต่อย่างใด

สมาชิกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นปกครอง หรือที่ เมริเออ เรียกว่ารัฐพันลึก ไม่ได้เป็นห่วงว่าอภิสิทธิ์ของเขาจะหายไปอย่างที่เขาอ้าง เพราะทักษิณไม่ได้ต่อต้านอภิสิทธิ์ของคนใหญ่คนโตแต่อย่างใด เขาไม่ใช่นักสังคมนิยม ผู้ที่กลัวว่าอภิสิทธิ์ของตนจะถูกลดลง ในขณะที่คนชนบทและคนทำงานในเมืองจะสำคัญมากขึ้นคือชนชั้นกลางต่างหาก แต่นักวิชาการคนนี้ไม่พูดถึงพวกสลิ่มคนชั้นกลางเลย

สิ่งที่พวกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นกปครองไม่พอใจ คือการเริ่มรวบอำนาจทางการเมืองในมือทักษิณและไทยรักไทยผ่านการเลือกตั้ง

เมริเออ เสนอว่ารัฐพันลึกกำลังย้ายอำนาจของนายภูมิพลไปสู่ตุลาการในช่วงที่ใกล้หมดรัชกาล แต่นายภูมิพลไม่เคยมีอำนาจ เพียงแต่เป็นเครื่องมือเพื่อการสร้างความชอบธรรมให้กับชนชั้นปกครองโดยเฉพาะทหาร ซึ่งทหารเป็นผู้สร้างนายภูมิพลขึ้นมาจนมีภาพลวงตาว่าเหมือนพระเจ้า ทักษิณก็ใช้นายภูมิพลเช่นกัน และในยุครัฐบาลทักษิณมีการส่งเสริมความบ้าคลั่งของการสวมเสื้อเหลืองทุกสัปดาห์

การเสนอว่าพิธีสาบานตนต่อกษัตริย์ของตุลาการไทย “พิสูจน์” ว่าตุลาการต้องทำตามคำสั่งกษัตริย์เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะถ้าเป็นจริงอังกฤษคงปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนทุกวันนี้ กำตริย์ในระบบสมัยใหม่มีบทบาทแค่ในเชิงพิธีเท่านั้น

จริงๆ แล้วทฤษฏีรัฐพันลึกของ เมริเออ เป็นแค่อีกวิธีหนึ่งที่จะเสนอว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจในใจกลางรัฐ และความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งระหว่างทักษิณและกษัตริย์ ซึ่งไม่ต่างจากพวกที่พูดเกินเหตุว่านายภูมิพลสั่งการทุกอย่าง หรือแม้แต่ “ทฤษฏีเครือข่ายกษัตริย์” ของ Duncan MacCargo ที่มองข้ามพลวัตของการทำแนวร่วมชั่วคราวของชนชั้นปกครองไทย [ดู http://bit.ly/1VTFyio หน้า 84]

พวกนี้ใช้กรอบคิดร่วมกันกรอบหนึ่งคือ กรอบคิด “สตาลิน-เหมา” เรื่องขั้นตอนการปฏิวัติทุนนิยมไทย แต่บางคนอาจใช้โดยไม่รู้ตัวก็ได้ การวิเคราะห์ของนักวิชาการที่อาศัยกรอบแนวสตาลิน-เหมา ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เสนอว่าไทยเป็น “กึ่งศักดินา” ตามสูตรสำเร็จที่พรรคเหล่านี้ทั่วโลกใช้กัน ดังนั้นเขามักจะมองว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทุนสมัยใหม่(ทักษิณ) กับระบบ “กึ่งศักดินา” ของกษัตริย์ภูมิพล โดยที่กษัตริย์เป็นผู้นำทางการเมืองที่สำคัญ

มุมมองแบบนี้จะต้องอาศัยข้อสรุปว่าการปฏิวัตินายทุนหรือที่บางคนเรียกว่า “กระฎุมพี” ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือยังไม่สมบูรณ์ในประเทศไทย   มันเป็นมุมมองบกพร่องที่เสนอการปฏิวัตินายทุนและขั้นตอนของประวัติศาสตร์ในลักษณะกลไก เป็นการสวมประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 18 ในยุโรปทับสถานการณ์บ้านเมืองในไทยปัจจุบัน เพราะแท้จริงแล้ว การปฏิวัติกระฎุมพีของไทย ที่ทำลายระบบศักดินาและสร้างรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นภายใต้การนำของกษัตริย์รัชกาลที่๕

การที่ม็อบชนชั้นกลางที่ต้านทักษิณชูธงเหลืองหรือรูปกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือม็อบสุเทพ ไม่ได้แปลว่ากษัตริย์จัดตั้งพวกนี้แต่อย่างใด การที่ทหารเผด็จการเชิดชูกษัตริย์ก็เช่นกัน ถ้าเราหลงเชื่อปรากฏการณ์เปลือกภายนอกผิวเผินแบบนี้ เราจะคิดตื้นเขินเกินไป

ในลักษณะเดียวกัน การที่พุทธอิสระใช้ความรุนแรงในการทำลายประชาธิปไตยขณะที่ห่มผ้าเหลือง ก็ไม่ได้แปลว่าพระพุทธเจ้าบงการการกระทำแย่ๆ ของพุทธอิสระแต่อย่างใด

จริงๆ แล้วรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ก็เชิดชูกษัตริย์เช่นกัน และพร้อมจะใช้กฏหมาย 112 ด้วย ข้อแตกต่างระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองและทหาร กับฝ่ายทักษิณ ไม่ใช่เรื่องกษัตริย์นิยมแต่อย่างใด ข้อแตกต่างแท้คือฝ่ายทักษิณสามารถใช้นโยบายเศรษฐกิจและการเมืองในการเพิ่มความชอบธรรมให้ตนเองประกอบกับการเชิดชูกษัตริย์ ในขณะที่พวกทหารและเสื้อเหลืองมีสิ่งเดียวที่เขาหวังใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมคือเรื่องความคิดกษัตริย์นิยม

ตุลาการไทย และส่วนอื่นๆ ของระบบราชการไทย มีความอ่อนแอมากและไม่เคยเป็นตัวของตัวเองเลย เพราะมัวแต่ก้มหัวรับฟังคำสั่งจากทหาร หรือคนใหญ่คนโตที่เป็นนักการเมืองตลอด นี่คือสาเหตุที่ไทยไม่มีมาตรฐานความยุติธรรม และระบบข้าราชการเต็มไปด้วยการคอร์รับชั่นและการแทรกแซงโดยผู้มีอิทธิพล กองกระดาษและเอกสารที่พลเมืองต้องกรอกเพื่อทำอะไรในระบบราชการ เป็นอาการของข้าราชการที่ไม่เคยกล้าตัดสินใจเองในเกือบทุกเรื่อง คือต้องส่งขึ้นไปให้คนใหญ่คนโตเห็นชอบเสมอ

กองทัพไทยไม่เคยสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวและไม่มีจุดยืนคงที่ด้วย เพราะกองทัพคือแหล่งกอบโกยสำคัญของพวกนายพล การแบ่งพรรคแบ่งพวกแบบนี้ทำให้กองทัพมีอำนาจจำกัดทั้งๆ ที่สามารถล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ซีกต่างๆ ของกองทัพมีแนวการเมืองต่างกันด้วย ในอดีตมีนายพลที่เกลียดเจ้า หรือเป็นฝ่ายซ้าย ในปัจจุบันมีนายพลที่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย และมีทหารที่เข้าข้างทักษณ เพียงแต่ว่ากลุ่มประยุทธ์ที่ครองอำนาจอยู่ตอนนี้เป็นกลุ่มขวาจัดเท่านั้นเอง ดังนั้นกองทัพไม่ใช่อะไรที่จะสร้างรัฐพันลึดอะไรได้

สิ่งที่มีอิทธิพลต่ออำนาจกองทัพมากที่สุดคือพลังมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างมวลชนกับอำนาจรัฐ มีแพ้และมีชนะ มีช่วงเผด็จการและมีช่วงประชาธิปไตย สาเหตุหนึ่งที่เผด็จการครองเมืองตอนนี้ได้ก็เพราะหลายส่วนที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการทางสังคม ไปโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหาร แต่ทุกวันนี้เผด็จการทหารยังต้องพยายามสร้างภาพลวงตาว่าจะจัดการเลือกตั้งและปฏิรูปการเมือง เพราะกลัวกระแสประชาธิปไตยในสังคมไทย

เมริเออ ยอมรับว่ากระแสประชาธิปไตยปัจจุบันทำให้พวกอนุรักษ์นิยมเลือกไปเพิ่มอำนาจตุลาการ เพราะดูดีกว่าการใช้อำนาจโดยตรงของทหารหรือกษัตริย์ แต่เขาไม่เอ่ยถึงบทบาทสำคัญของมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลย สำหรับนักวิชาการคนนี้ ช่วงที่เป็นประชาธิปไตยของไทยเป็นการ “ทดลอง” ของชนชั้นนำเท่านั้น คือทุกอย่างกำหนดจากเบื้องบน

แนว “รัฐพันลึก” อาจเป็นแนวคิดที่ใหม่และน่าตื่นเต้นสำหรับนักวิชาการหอคอยงาช้าง แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรในการอธิบายวิกฤตการเมืองไทยเลย

อ่านเพิ่ม

http://bit.ly/1VTFyio ,  http://bit.ly/1OtUXBm , http://bit.ly/1UoSKed

วิกฤตทางการเมืองในยุโรป

ใจ อึ๊งภากรณ์

การลงคะแนนเสียง “ออก” ของประชาชนอังกฤษในประชามติเรื่องการเป็นสมาชิกอียู(สหภาพยุโรป) เป็นเพียงหนึ่งบทในวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมืองของยุโรป แต่มันเป็นบทที่สำคัญ เพราะอังกฤษเป็นประเทศใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรป และเป็นศูนย์กลางทางไฟแนนส์ การธนาคาร และตลาดหุ้นที่สำคัญที่สุดในยุโรปอีกด้วย นอกจากนี้ในเรื่องกำลังทหาร อังกฤษมีบทบาทสูงสุดในอียู และใช้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา เพื่อหนุนกองทัพของยุโรปและ “นาโต้” ดังนั้นอำนาจทางทหารของยุโรปจะอ่อนแอลงระดับหนึ่ง

แง่หนึ่งของวิกฤตยุโรปมาจากการทำสงครามจักรวรรดินยมโดยสหรัฐ อังกฤษ และประเทศอื่นในยุโรป สงครามในตะวันออกกลางดังกล่าว ทำให้มีผู้ลี้ภัยสงครามจำนวนมาก และคนเหล่านี้พยายามเข้ามาในอียู ซึ่งสร้างปัญหาทางการเมืองให้กับหลายรัฐบาล และเป็นโอกาสทองสำหรับพวกฝ่ายขวาที่เกลียดคนต่างชาติ

การออกจากอียูของอังกฤษสร้างปัญหาให้กับชนชั้นปกครองสหรัฐ เพราะสหรัฐพึ่งพาอังกฤษในแง่ของการเป็นพันธมิตรที่ดี เพื่อเพิ่มอิทธิพลของสหรัฐในยุโรป สหรัฐเองเป็นประเทศที่ผลักดันให้มีการรวมตัวกันของประเทศในยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อเป็นแนวร่วมต้านรัสเซีย

ในปัจจุบันสหรัฐพยายามทำข้อตกลงค้าเสรีกับอียู ซึ่งเป็นการผลักดันแนวกลไกตลาดและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้บริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทอย่างเสรีในภาคสาธารณสุขและการบริการประชาชน สัญญาค้าเสรีอันนี้เป็นภัยต่อคนธรรมดามาก แต่การโหวดออกจากอียูของอังกฤษทำให้การตกลงในสัญญาการค้าอันนี้ต้องเลื่อนออกไป

ผลของการโหวดออกของอังกฤษในครั้งนี้ จะสร้างวิกฤตรัฐธรรมนูญให้กับสหราชอาณาจักร เพราะในประเทศสก็อตแลนด์กับไอร์แลนด์ จะมีกระแสเรียกร้องให้แยกตัวออกจากอิงแลนด์ เรื่องนี้เป็นเรื่องดีสำหรับฝ่ายสังคมนิยม เพราะเราไม่ต้องการปกป้องรัฐอังกฤษ และถ้ารัฐอังกฤษ ในฐานะประเทศจักรวรรดินิยม อ่อนแอลงมากกว่านี้ ก็จะเป็นเรื่องดีสำหรับชนชั้นกรรมาชีพในทุกประเทศอีกด้วย

สำหรับยุโรป ผลของการโหวดออกจะสร้างกำลังใจให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ ที่ไม่พอใจกับอียู และไม่พอใจกับพรรคกระแสหลักมานานท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ มันมีสองกระแสใหม่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นคือ กระแสฝ่ายซ้าย และกระแสฝ่ายขวาเหยียดเชื้อชาติ ทั้งสองกระแสนี้มาจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008  ซึ่งทำให้คนจำนวนมากจนลงและตกงาน มันนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เพราะประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าพรรคการเมืองเก่าไม่สนใจที่จะเป็นตัวแทนของเขา ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อน และแถมซ้ำเติมด้วยนโยบายรัดเข็มขัด ตอนนี้ทั่วยุโรปจึงมีวิกฤตทางการเมืองที่ปะทะกับความชอบธรรมเก่าของพรรคกระแสหลัก

นักมาร์คซิสต์ทราบดีว่า เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ที่นำไปสู่ความไม่พอใจในพรรคการเมืองกระแสหลัก ประชาชนจะไปทางขวาสุดขั้วก็ได้ หรือจะไปทางซ้ายแบบสังคมนิยมก้าวหน้าก็ได้ และมันไม่มีอะไรอัตโนมัติ ถ้าฝ่ายซ้ายไม่เคลื่อนไหวและปลุกระดม คนจำนวนมากจะไปฟังนักการเมืองขวาสุดขั้วแทน ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายประเทศ ในกรีซและสเปน มีการขยายคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายสังคมนิยม ในฝรั่งเศส ออสเตรีย และฮังการี่ มีการขยายตัวของฝ่ายขวาฟาสซิสต์ และทั่วยุโรปทัศนะเหยียดคนต่างชาติกำลังปะทะกับทัศนะฝ่ายซ้ายที่พยายามสมานฉันท์กับคนทุกเชื้อชาติ

วิกฤตในประเทศกรีซ นำไปสู่การเลือกพรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ซึ่งสัญญาว่าจะต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของประชาชน นโยบายนี้สั่งลงมาจากกลุ่มอำนาจในอียู คือธนาคารกลาง กรรมการบริหารอียู และไอเอ็มเอฟ เมื่อรัฐบาลไซรีซาจัดประชามติว่าจะรับหรือไม่รับนโยบายดังกล่าวของอียู ประชาชนจำนวนมากลงคะแนนเสียงไม่รับ แต่รัฐบาลกลับหักหลังประชาชน แล้วไปเจรจารับนโยบายรัดเข็มขัดแทน โดยใช้ข้ออ้างว่าโดนกดดันอย่างหนักจากกลุ่มทุนใหญ่ในอียูและรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามพรรคไซรีซาไม่กล้าพากรีซออกจากสกุลเงินยูโรเพื่อลดอิทธิพลของอียู และไม่กล้าใช้พลังมวลชนเพื่อเปลี่ยนระบบ สถานการณ์จึงอยู่ในสภาพคาราคาซัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นฝ่ายซ้ายในกรีซได้กำลังใจจากการโหวดออกจากอียูของประชาชนอังกฤษ

[อ่านเพิ่ม http://bit.ly/293ZpqO ]

ความไม่พอใจต่อวิกฤตเศรษฐกิจและนโยบายรัดเข็มขัดในสเปน นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของเยาวชนกลางเมือง เพราะอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงมาก ในการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้วพรรคกระแสหลักเสียคะแนนเสียงมากจนไม่มีพรรคไหนสามารถตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่เมื่อปลายมิถุนายน แต่ผลก็ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายซ้ายโพดามอส ที่เพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก กลับเสียคะแนนเล็กน้อยในการเลือกตั้งล่าสุด สาเหตุสำคัญคือการที่แกนนำพรรคมีพฤติกรรมสองจิตสองใจตลอดเวลาว่าจะผลักดันนโยบายก้าวหน้าหรือไม่ เช่นเรื่องการคัดค้านการรัดเข็มขัด หรือการรณรงค์ให้รัฐต่างๆ ในสเปนมีความอิสระมากขึ้น พรรคนี้เติบโตมาเพราะสะท้อนกระแสต้านนโยบายเสรีนิยม และสะท้อนความไม่พอใจของคนหนุ่มสาว [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/293hWr1]

ในสถานการณ์วิกฤตหนัก ฝ่ายซ้ายในกรีซและสเปนถูกทดสอบอย่างหนัก ซึ่งแปลว่านักสังคมนิยมต้องถกเถียง สนใจทฤษฏี และเรียนรู้จากบทเรียนต่างๆ ตลอดเวลา เพราะแรงกดดันจากฝ่ายทุนต่อนโยบายสังคมนิยมจะรุนแรงมาก

ในฝรั่งเศส การนัดหยุดงานทั่วไปของสหภาพแรงงานเพื่อต้านกฏหมายที่ทำลายมาตรฐานการจ้างงานของรัฐบาลพรรคสังคมนิยมจอมปลอม เพื่อเพิ่มกำไรให้กลุ่มทุนตามนโยบายเสรีนิยม เป็นเครื่องเตือนใจว่าผู้ที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพแท้จริงของประชาชน คือสหภาพแรงงานที่กล้าสู้  มันไม่ใช่รัฐบาลของพรรคฝ่ายซ้ายที่เน้นแต่รัฐสภาและละเลยขบวนการเคลื่อนไหวภายนอก พูดง่่ายๆ นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ต้องเน้นพลังกรรมาชีพและสร้างพรรคสังคมนิยมที่เชื่อมการเมืองก้าวหน้ากับการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรม

ในอังกฤษกระแสสำคัญอันหนึ่งที่เห็นชัดคือการขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแรงงานของคอร์บิน ซึ่งเป็นสส.ซีกซ้ายของพรรค แต่สส.ซีกขวากำลังพยายามล้มคอร์บิน ทั้งๆที่เขาได้รับเสียงสนับสนุนมหาศาลจากมวลชน ดังนั้นถ้าไม่มีการปลุกระดมนักสหภาพแรงงานและมวลชนทั้งในและนอกพรรค คอร์บินอาจถูกล้มได้

ปรากฏการณ์ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เห็นได้ชัดจากผลประชามติอังกฤษด้วย เพราะคนที่ลงคะแนนให้อังกฤษ “ออก” มีแนวโน้มจะยากจนและอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่อุตสาหกรรมเก่าถูกทำลาย มันมีกระแสเหยียดเชื้อชาติที่ถูกปลุกระดมโดยนักการเมืองฝ่ายขวาทั้งสองฝ่าย คือพวกที่สนับสนุนอียูและพวกที่อยากออก แต่สาเหตุหลักที่คนจำนวนมากโหวดออกก็เพราะทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อไปแบบเดิม

ที่น่าสนใจคือมีปรากฏการณ์ “สลิ่มอังกฤษ” ที่ออกมาเรียกร้องให้จัดประชามติใหม่ เพราะไม่พอใจกับผลที่พึ่งออกมา พวกนี้จะมองคนที่โหวดออกด้วยความดูถูกว่า “จน โง่ ขาดการศึกษา และเหยียดเชื้อชาติ”

ประชามติครั้งนี้จัดขึ้นโดยรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม ผลประโยชน์กลุ่มทุนอังกฤษส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการดำรงอยู่ต่อไปในอียู แต่พรรคอนุรักษ์นิยมซีกขวาสุดฝันว่าจะกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของอังกฤษในอดีต ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หลังประชามติพรรคอนุรักษ์นิยมจึงแตกเป็นสองซีกอย่างรุนแรง และนายกรัฐมนตรีคามารอนต้องประกาศลาออก

วิกฤตในยุโรปที่เราเห็นอยู่ เป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008 มันเป็นวิกฤตระดับโลกที่มาจากการลดลงของอัตรากำไรที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในระบบทุนนิยม [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/129xlhF ] ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจนี้สร้างวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองต่อ และมันโยงกับสภาพสงครามในตะวันออกกลางด้วย มันพิสูจน์ว่าเศรษฐศาสตร์กับการเมืองแยกกันไม่ได้ เราไม่ควรเข้าใจผิดว่าความปั่นป่วนในยุโรปเป็นเรื่องของความคิดชาตินิยมที่ฝังลึกอยู่ในใจคน หรือเข้าใจผิดว่าอังกฤษเป็นกรณีพิเศษ ถ้าจะเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เราต้องดูภาพรวมของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามแนววิเคราะห์ “วิภาษวิธี” เพราะถ้าเรามองแยกส่วน และเล็งไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เราจะไม่มีวันเข้าใจอะไร