Tag Archives: วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปีนี้ครบรอบ 30 ปีหลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็น และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลก

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

220px-Empire_(book)

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย ที่เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว คืออันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ซึ่งเขาเขียนไว้ในหนังสือ Empire ว่ายุคการแข่งขันระหว่างจักรวรรดินิยมสิ้นสุดลงหลังสงครามเย็น และเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

พอถึงปี 2008 ได้เกิดวิกฤตใหญ่ของระบบทุนนิยมกลไกตลาดเสรีที่ลามจากสหรัฐสู่ยุโรปและแพร่กระจายไปทั่วโลก วิกฤตนี้เกิดจากการลดลงของอัตรากำไร แต่นโยบายกลไกตลาดเสรีและการเคลื่อนย้ายทุนจากจุดต่างๆ ของโลกอย่างเสรี ยิ้งทำให้ผลกระทบร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่เคยเกิดขึ้นในไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ก็มีลักษณะคล้ายวิกฤตใหญ่ที่ตามมาสิบปีหลังจากนั้น

ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตปี 2008 ทำให้ความน่าเชื่อถือของนโยบายคลั่งกลไกตลาดเสรีลดลงอย่างมาก ในไทยรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณนำระบบเศรษฐกิจ “คู่ขนาน” มาใช้ผ่านการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐในระดับชุมชน เพื่อยกระดับคนจน ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่เสื้อเหลือง ทหาร และพวกอนุรักษ์นิยมที่คลั่งตลาดเสรี หลายคนในไทยทุกวันนี้ไม่เข้าใจว่าพวกเผด็จการทหารและประชาธิปัตย์เป็นพวกเสรีนิยมคลั่งกลไกตลาด ในขณะที่ทักษิณนิยมผสมการใช้รัฐกับกลไกตลาด

หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 การเคลื่อนย้ายทุนและการค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในสหรัฐและยุโรปหลัง 2008 เริ่มมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังกับกลไกตลาดเสรีในหมู่นักเศรษฐศาสตร์และนักเคลื่อนไหว แต่รัฐบาลต่างๆ ยังหน้าด้านเดินหน้าต่อไป และโอนภาระในการแก้วิกฤตให้กับประชาชนธรรมดาผ่านนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม

ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นกลายเป็นเสียงสนับสนุนพวกขวาจัดในบางกรณี เช่นชัยชนะของดอนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐ หรือการขึ้นมาของรัฐบาลขวาจัดในอิตาลี่เป็นต้น ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองกระแสหลักของพวกเสรีนิยมเริ่มเข้าสู่วิกฤตหนักในหลายประเทศของยุโรป เช่นในเยอรมัน สแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส และสเปน

ในกรณีอื่นการวิจารณ์กลไกตลาดเสรีออกดอกออกผลในทางที่ก้าวหน้า เช่นในข้อเสนอเรื่อง The Green New Deal (“กรีน นิว ดีล”) ที่เสนอให้รัฐฝืนตลาดและเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ที่มาจากนโยบายรัดเข็มขัดและปัญหาที่มาจากสภาพโลกร้อนพร้อมๆ กัน มีการเสนอ “กรีน นิว ดีล” ในสหรัฐและแพร่ไปสู่คานาดาและอังกฤษผ่านนักการเมืองสายซ้ายปฏิรูป

Untitled

สถานการณ์หลังวิกฤต 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

huawei_0

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

761fdce8-2e6d-11e9-80ef-0255f1ad860b_image_hires_092316

สำหรับคำถามว่าตอนนี้เราถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เพราะทุนนิยมโลกยังมีลักษณะโลกาภิวัตน์ แต่ในขณะเดียวกันมี “กลุ่มอำนาจ” หลายกลุ่มในภูมิภาคต่างๆ เช่น อียู จีน สหรัฐ ซึ่งไปกดทับผลประโยชน์ของประเทศที่เล็กกว่าแต่อยากจะโตเท่าทันประเทศเจริญ เช่นอินเดียหรืออาเจนทีนาเป็นต้น

จุดยืนของมาร์คซิสต์คือ เราต้องคัดค้านแนวชาตินิยม หรือแนวที่จะพาเราไปสนับสนุนกลุ่มอำนาจหนึ่งในความขัดแย้งกับกลุ่มอื่น และเราต้องเน้นความสมานฉันท์ในหมู่กรรมาชีพสากลเพื่อต่อสู้กับรัฐทุนนิยมในประเทศของเรา และระบบทุนนิยมทั่วโลก

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาส่วนใหญ่จากการอภิปรายโดย Alex Callinicos หัวข้อ “Is this the end of globalisation?” ดูได้ที่นี่ https://bit.ly/2XMpE1S ]

การลืมต้นกำเนิดความขัดแย้งในไทยเป็นการนำสมองไปไว้ใต้กะลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนที่เสนอว่าเราไม่ควรพูดถึง “สลิ่ม”  หรือคนที่เสนอว่าเราต้องมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ข้ามพ้นความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร โดยไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายทางการเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้ง เป็นพวกที่มองว่าความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่การก่อตัวของเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนชั้นนำไม่กี่คน หรือเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ใส่เสื้อคนละสี มันเป็นการเอาสมองไปไว้ใต้กะลา เพื่อหวังว่าเราจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่ไร้ความขัดแย้งโดยนำคนหน้าใหม่มาเป็นนักการเมืองแทนคนหน้าเก่า

มันเป็นความคิดปัญญาอ่อนที่ไร้สาระ และถ้าเราย้อนกลับไปศึกษาต้นกำเนิดความขัดแย้ง เราจะเข้าใจว่าทำไมเป็นอย่างนี้

พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ริเริ่มกระบวนการในการทำลายประชาธิปไตย ตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร ๑๙ กันยา มันทำให้เราต้องประสบวิกฤตทางการเมืองอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของทหารกับศาลซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงการก่อความรุนแรงโดยม็อบคนชั้นกลางและพวกอันธพาลจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำลายการเลือกตั้งและสนับสนุนการก่อรัฐประหารดังกล่าว นอกจากทหาร สลิ่ม แลพวกอนุรักษ์นิยมแล้ว นักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอ และนักวิชาการเสรีนิยมฝ่ายขวาก็มีส่วนในการสนับสนุนรัฐประหารและการทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย

ในรอบสิบปีที่ผ่านมาพวกที่ต้านประชาธิปไตยได้เข่นฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างเลือดเย็น โดยพวกฆาตรกรของฝ่ายรัฐลอยนวลเสมอ ในขณะเดียวกันคุกไทยมีนักโทษทางการเมืองในจำนวนที่เราไม่เคยเห็นตั้งแต่การยุติของสงครามเย็น พร้อมกันนั้นในต่างประเทศก็มีคนไทยที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนหนึ่งอย่างที่ไม่เคยมีมานาน กลไกสำคัญอันหนึ่งที่ใช้ในการปราบฝ่ายซ้ายและเสื้อแดงคือกฏหมายเถื่อน 112 ที่ปกป้องกระทำทุกอย่างของทหารเผด็จการ

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากการ “เหม็นขี้หน้าทักษิณ” ของพวกที่ทำลายประชาธิปไตย มันมาจากจุดยืนและแนวคิดทางการเมืองของเขาต่างหาก

ต้นกำเนิดของวิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้คือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ ซึ่งเปิดโปงปัญหาพื้นฐานในสังคมไทย คือการที่สภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แค่ห้าปีก่อนหน้านั้นมีการลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในการล้มเผด็จการทหาร แต่การเมืองยังวนเวียนอยู่ในสภาพเดิมๆ

ในหลายปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่ควร เพราะผลประโยชน์เกือบทั้งหมดตกอยู่ในมือของชนชั้นนำและนายทุนไม่กี่คน ส่วนชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเช่นกัน ก็ได้ประโยชน์บ้าง สรุปแล้วหลายแง่ของสังคมไทยถูกแช่แข็งในความล้าหลัง

ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตของประชาชนทั่วประเทศเปลี่ยนไป คนที่เลี้ยงชีพในภาคเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว และคนที่เป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและการบริการก็เพิ่มขึ้น แม้แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรของชนบทก็ต้องเสริมรายได้ด้วยการทำงานในกิจกรรมนอกภาคเกษตรในชุมชนตนเองด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนมากพอสมควร โดยเฉพาะเวลาเราพิจารณาว่าคนที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไปได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคนรุ่นใหม่เริ่มเข้าสู่วัยของการเป็นผู้ใหญ่ แต่ความไม่พอใจดังกล่าวไม่ได้ถูกแสดงออกเพราะหลายคนขาดความมั่นใจ และมองไม่ออกว่าจะแก้สถานการณ์ในรูปธรรมอย่างไร นอกจากนี้ไทยขาดพรรคฝ่ายซ้ายที่จะเป็นปากเสียงของคนเหล่านี้โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์

ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเรามีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีภาพว่ามาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมกับการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนเริ่มมีความหวังว่าสภาพสังคมจะดีขึ้น มันเป็นประกายไฟที่จุดให้คนจำนวนมากตื่นตัวทางการเมืองภายใต้ความหวังและทางออกที่พอมองเห็นได้

ทักษิณ ชินวัตร กับพรรคไทยรักไทย เข้าใจและพร้อมจะฉวยโอกาสทองในการสร้างการเมืองแบบใหม่บนพื้นฐานโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อครองใจประชาชน ซึ่งจะแทนที่ระบบอุปถัมภ์และการซื้อเสียงแบบเดิม นโยบายของไทยรักไทย โดยเฉพาะ “30บาทรักษาทุกโรค” และกองทุนหมู่บ้าน ถูกออกแบบเพื่อทำให้สังคมไทยทันสมัยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหญ่เพิ่มกำไรผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยทั่วไปในสังคม ทักษิณเรียกนโยบายดังกล่าวว่า “นโยบายคู่ขนาน” คือผสมการลงทุนจากรัฐกับการใช้กลไกตลาดเสรี แต่ศัตรูของไทยรักไทยมักเรียกนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ว่าเป็น “ประชานิยม” เหมือนใช้คำด่า พวกนี้เกลียดชังการใช้รัฐเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะเขานิยมกลไกตลาดเสรีสุดขั้วแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ที่ให้ประโยชน์กับพวกเขามานาน นอกจากนี้พวกนี้เกลียดชังคนส่วนใหญ่และมองว่าเราเป็น “คนโง่” ที่ไว้ใจไม่ได้ ถูกซื้อง่าย และตัดสินใจอะไรเองไม่ได้

สาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยม เริ่มไม่พอใจรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆที่เคยชื่นชมในยุคแรก คือการที่ไทยรักไทยสามารถครองใจประชาชนผ่านนโยบายและสามารถผูกขาดอำนาจจากการชนะการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย พวกนั้นไม่พร้อมหรือไม่สามารถที่จะแข่งขันทางการเมืองกับไทยรักไทยในระบบการเลือกตั้ง เขาจึงหันมาชื่นชมเผด็จการแทน

วิกฤตการเมืองปัจจุบันไม่ได้เกิดจาก “ปัญหาการเปลี่ยนรัชกาล” แต่อย่างใด เพราะกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนอ่อนแอมาตลอด ไม่มีอำนาจ และถูกใช้โดยทหารและอำมาตย์ รวมถึงนักการเมืองอย่างทักษิณอีกด้วย

ในขณะที่เรามองเห็นและรู้จักพวกที่ทำลายประชาธิปไตย เราต้องไม่ไปหลงใหลในนักการเมืองแบบทักษิณว่าจะสู้เพื่อประชาธิปไตย ทักษิณมีส่วนในการแช่แข็งเสื้อแดง และเขาเป็นนักการเมืองของฝ่ายทุนที่พร้อมจะก่ออาชญากรรมในปาตานีหรือในสงครามยาเสพติด

ข้อเสนอว่าเราควรหาทางข้ามพ้นความขัดแย้งในหมู่ประชาชนสองฝ่ายของสังคมไทย เพื่อหาฉันทามติในการกำหนดรูปแบบการเมืองที่ไม่ใช่เผด็จการทหาร เป็นข้อเสนอที่จะไม่สร้างประชาธิปไตยจริงในรูปธรรม เพราะความขัดแย้งทางการเมืองมักดำรงอยู่ในทุกสังคมของโลก และความขัดแย้งดังกล่าวมีรากฐานจากผลประโยชน์ที่ต่างกันทางชนชั้น ทั้งๆ ที่ประเด็นต่างๆ อาจถูกบิดเบือนไปหรือไม่ชัดเจนแบบขาวกับดำ การหาฉันทามติระหว่างคนที่รักประชาธิปไตยในไทยกับพวกสลิ่ม นอกจากจะเป็นความฝันที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเป็นข้อเสนอที่จะจบลงโดยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประนีประนอมในที่สุด ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเป็นฝ่ายประนีประนอม เราจะได้แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ถูกเปิดโปงออกมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะสภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ล้าหลังและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกับเศรษฐีคนรวยหรือแม้แต่คนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่สบาย เราจะวนเวียนอยู่ในอ่างจนเกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

การทำรัฐประหารซ้ำๆ ตั้งแต่ 19 กันยา ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่พัฒนา

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยทางด้านเศรษฐกิจของบริษัททุนภัทรได้รายงานว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาทางด้านโครงสร้าง ซึ่งทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตราปัจจุบัน ไม่สามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ให้ดีขึ้นได้

ปัจจัยสำคัญที่เป็นปัญหาทางด้านโครงสร้างนี้คือ (1)ความเหยื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนจนกับคนรวย ซึ่งหมายความว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจากการขยายเศรษฐกิจในสิบปีที่ผ่านมา (2)การที่นายทุนไทยไม่ลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตผ่านการจ้างงานที่มีคุณภาพมากขึ้นและอัตราค่าแรงที่สูงขึ้น และผ่านการลงทุนในเทคโนโลจีสมัยใหม่ เพราะนายทุนไทยอาศัยแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน (3)ภาคเกษตรในส่วนที่มีผู้ผลิตรายย่อย ขาดประสิทธิภาพที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร มีแต่ภาคเกษตรภายใต้ทุนใหญ่เท่านั้นที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง

ใครที่ติดตามปัญหาเศรษฐกิจของไทยก่อนและหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี๒๕๔๐ คงจะเข้าใจดีว่าสาเหตุหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจนี้มาจากปัญหาคล้ายๆ กัน

และใครที่ติดตามนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทย และรัฐบาลเพื่อไทย คงจะจำได้ดีว่ารัฐบาลเหล่านี้พยายามจะแก้ไขปัญหาโครงสร้างดังกล่าว รัฐบาลไทยรักไทยพยายามจะใช้งบประมาณรัฐในการสร้างงานในชนบท และลดความเหลื่อมล้ำ มีกองทุนหมู่บ้าน การพักชำระหนี้ให้เกษตรกร และนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค นอกจากนี้มีการพยายามลงทุนในการพัฒนาฝีมือดิจีตอลสำหรับคนรุ่นใหม่ในโรงเรียน ส่วนรัฐบาลเพื่อไทยก็มีโครงการประกันราคาข้าว มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และมีการพยายามพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมให้ทันสมัย

นักการเมืองของพรรคไทยรักไทยอธิบายว่านโยบายดังกล่าวเป็นนโยบาย “คู่ขนาน” ที่ผสมแนวเคนส์ในการใช้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า และแนวเสรีนิยมกลไกตลาดในระดับที่ไทยต้องแข่งขันในตลาดโลก

แต่พวกหัวอนุรักษ์นิยม ชนชั้นกลาง พรรคประชาธิปัตย์ และทหารเผด็จการ มองว่านโยบายดังกล่าวเป็นการ “ซื้อเสียงผ่านประชานิยม” หรือเป็นการ “สิ้นเปลืองงบประมาณของชาติ” คือเป็นการกระทำที่นำไปสู่การ “ขาดวินัยทางการคลัง” ดังนั้นหลังจากที่ทหารทำรัฐประหาร ก็มีการพยายามยกเลิกหลายส่วนของนโยบายดังกล่าวผ่านลัทธิคลั่งกลไกตลาดเสรีของพวกเผด็จการ และทุกวันนี้ก็มีการพยายามออกแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ภายใต้ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” เพื่อห้ามไม่ให้รัฐบาลในอนาคตแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจเรื้อรังที่ยังเป็นปัญหาอยู่ มีการห้ามไม่ให้รัฐบาลในอนาคตใช้นโยบายที่เพิ่มงบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

สำหรับพวกอนุรักษ์นิยมเหล่านี้การใช้งบประมาณรัฐในการซื้ออาวุธหรือในการจ่ายเงินมหาศาลให้ชนชั้นนำ เป็นการใช้ทรัพยากรของชาติอย่าง “ถูกวิธี”

ผลของสองรัฐประหารทหารและรัฐประหารศาลเตี้ยรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา นอกจากจะนำไปสู่การทำลายประชาธิปไตยในระยะยาวและต่ออายุอำนาจทหารแล้ว ยังเป็นการการหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคที่ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าการแทรกแซงการเมืองและเศรษฐกิจโดยทหาร เป็นการกระทำที่เน้นผลประโยชน์ของคนรวยและชนชั้นกลาง และทำลายผลประโยชน์ของคนทำงานธรรมดาในเมืองและในชนบท

แต่เราต้องเข้าใจอีกว่านโยบายการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยรักไทย และเพื่อไทย มันไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง เพราะมีการปฏิเสธที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ ผ่านการเก็บภาษีระดับสูงจากคนรวย [อ่านเพิ่มเรื่องรัฐสวัสดิการ http://bit.ly/2xryfF7 ]

ยิ่งกว่านั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จะไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแข่งขันในตลาดโลก และแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร ที่เป็นโรคเรื้อรังของระบบทุนนิยม [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2v6ndWf ]

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเน้นกลไกตลาดเสรีอย่างเดียว และการปฏิเสธที่จะใช้งบประมาณรัฐในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนจน ตามแนวความคิดเผด็จการทหารและพรรคประชาธิปัตย์ มันเป็นนโยบายที่ยิ่งแย่กว่า

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับกับสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ (Combined and Uneven Development) เป็นวิธีอธิบายกระบวนการพัฒนาในประเทศด้อยพัฒนาท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ คนที่เสนอแนวคิดนี้คือนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ของรัสเซียชื่อ ลีออน ตรอทสกี

ลักษณะสำคัญของรัสเซียในสมัยก่อนการปฏิวัติปี 1917 คือมีความล้าหลังในการพัฒนา ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมถ้าเทียบกับยุโรปตะวันตก หรือสหรัฐ แต่ท่ามกลางความล้าหลังนี้มีบางส่วนที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุด

ประเทศล้าหลังจะเรียนรู้วิธีคิดและเทคนิคการผลิตจากประเทศที่ก้าวหน้ากว่า ผ่านกระบวนการโลกาภิวัฒน์ของทุนนิยม แต่ไม่ได้เรียนรู้ในลักษณะการเดินย้อนรอยประวัติศาสตร์ของประเทศพัฒนา เพราะประเทศล้าหลังจะได้เปรียบในแง่หนึ่งคือ สามารถรับสิ่งที่ทันสมัยที่สุดในโลกจากประเทศก้าวหน้าได้ทันที จึงมีการก้าวกระโดดสู่ความทันสมัยตามภาพรวมของทุนนิยมโลก

ตรอทสกี้เขียนว่า “มนุษย์เผ่าดั้งเดิมที่ยังใช้ชีวิตโบราณอยู่ในป่า วันนี้อาจใช้ธนูและหอก แต่พรุ่งนี้ ถ้ามีโอกาสสัมผัสกับคนจากภายนอก จะสามารถจับปืนมาใช้ได้ทันที”

อย่างไรก็ตาม การก้าวกระโดดข้ามขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ไม่เคยเป็นเรื่อง “กฏเหล็ก” ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในทุกเรื่อง และบางครั้งการรับสิ่งที่ทันสมัยมาใช้โดยสังคมล้าหลัง อาจรับมาในลักษณะเพี้ยนๆ ก็ได้ เช่นการนำระบบคิดใหม่มาเสริมสร้างรูปแบบการปกครองแบบล้าหลัง กรณี รัชกาลที่๕ ในไทย เป็นตัวอย่างที่ดี คือรับรูปแบบการบริหารรัฐและเศรษฐกิจทุนนิยมมาใช้เพื่อเสริมอำนาจกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ถ้าประวัติศาสตร์มีกฏเหล็กทั่วไป กฏนั้นคงจะระบุว่าการพัฒนาของประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียม ต่างระดับ และความไม่แน่นอนเสมอ

ในเรื่องของความ “ต่างระดับ” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการรับสิ่งใหม่ๆ จากโลกแบบองค์รวม เราจะเห็นจากรัสเซีย ในปี 1914 คือรัสเซียยากจนกว่าสหรัฐประมาณ 10 เท่า แต่ 40% ของอุตสาหกรรมรัสเซียเป็นอุตสาหกรรมทันสมัยขนาดใหญ่ที่มีกรรมาชีพจำนวนมากในโรงงานเดียวกัน ในขณะที่เพียง 18% ของอุตสาหกรรมสหรัฐเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่พร้อมๆ กันนั้นรัสเซียมีความล้าหลังดำรงอยู่ คือมีชาวนากึ่งทาสเป็นล้านๆ คน ซึ่งสหรัฐไม่มี

กรรมาชีพในประเทศล้าหลังมีสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของกองหน้ากรรมาชีพโลกได้ทันที ทั้งในด้านจิตสำนึก ระดับการศึกษา และฝีมือ คือไม่ต้องผ่านการพัฒนาเป็นร้อยๆปี แบบที่เคยเกิดขึ้นในตะวันตก ลูกชาวนาในไทยที่เข้าสู่ระบบโรงงาน ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานได้ และคนไทยที่อยู่ในเมืองกับชนบทเรียนรู้วิธีใช้อินเตอร์เน็ดได้อย่างรวดเร็ว ไม่แพ้คนตะวันตก

แต่หลายแง่ของระบบการเมืองและสังคมในไทย ยังติดอยู่ในระดับล้าหลัง เช่นแนวคิดของชนชั้นปกครองไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นนายทุนหรือทหาร และมองว่าพลเมืองไทยคิดเองไม่เป็น ไม่ทันสมัย “ขาดการศึกษา” และปกครองตนเองไม่ได้ ดังนั้นชนชั้นปกครองไทยจึงอาศัยการปกครองแบบกึ่งเผด็จการเป็นส่วนใหญ่ ความคิดแบบนี้นำไปสู่การมองว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะเลือกนักการเมืองได้ การบังคับให้พลเมืองรักกษัตริย์ดุจเทวดาก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดล้าหลังอันนี้ ทั้งๆ ที่กษัตริย์ไทยมีลักษณะทันสมัยในยุคปัจจุบัน คือเป็นเครื่องมือของนายทุนและทหาร

อีกแง่หนึ่งของความล้าหลังและต่างระดับของสังคมไทย คือในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างสภาพชีวิตคนธรรมดา กับพวก “ผู้ใหญ่” และชนชั้นกลางในสังคม คนไทยจำนวนมากยังยากจน เมื่อเทียบกับเศรษฐีระดับโลกของไทย และการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการและสิทธิพลเมืองยังไม่เกิดอย่างจริงจัง

สภาพการพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับของไทย นำไปสู่ความขัดแย้งที่เราเห็นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นอันหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพราะเมื่อมีนักการเมืองนายทุน คือทักษิณและพรรคพวก เข้ามาเสนอแผนที่จะพัฒนาชีวิตประชาชนหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นโครงการสร้างงานหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค พลเมืองจำนวนมากชื่นชมและเทคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่นักการเมืองและทหารหัวเก่าที่ไม่เข้าใจความไม่พอใจที่ดำรงอยู่ในสังคมที่พัฒนาไปไกลแล้ว

เราควรเข้าใจว่าทฤษฏี “การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ” ของตรอทสกี้ ใช้อีกทฤษฏีหนึ่งเป็นคู่ฝาแฝด คือ “ทฤษฏีปฏิวัติถาวร” (Permanent Revolution) ทั้งตรอทสกี้ และคาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่า ชนชั้นนายทุนในประเทศด้อยพัฒนาไม่เคยมีประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้าเท่านายทุนในประเทศพัฒนา เพราะไม่เคยนำการปฏิวัติล้มระบบขุนนาง นายทุนส่วนใหญ่หลังยุค 1848 เป็นนายทุนขี้ขลาด กลัวกรรมาชีพมากกว่าเกลียดขุนนาง และมุ่งที่จะอนุรักษ์ระบบโดยพร้อมจะประนีประนอมกับอำนาจเผด็จการประเภทที่ปฏิกิริยาที่สุดเสมอ

นักมาร์คซิสต์จึงเสนอว่าผู้ที่จะต้องรับภาระในการปลดแอกประชาชนในโลกปัจจุบัน จะต้องเป็นชนชั้นกรรมาชีพสมัยใหม่ที่กำลังขยายตัวทั่วโลก ชนชั้นกรรมาชีพสำคัญเพราะทำงานรวมหมู่และอยู่ในใจกลางระบบการผลิตและเศรษฐกิจทุนนิยม

สำหรับไทย แนวคิดนี้อธิบายว่าทำไมทักษิณและนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ไม่มีวันนำการต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทหารและพวกอนุรักษ์นิยม เพราะเขากลัวว่าการต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นจะไปไกลกว่าแค่การหมุนนาฬิกากลับไปสู่สภาพการเมืองก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา ทักษิณและพรรคพวกมีส่วนคล้ายและอุดมการณ์ร่วมกับพวกทหารและนักการเมืองอนุรักษ์นิยม มากกว่าที่เขาจะมีกับประชาชนธรรมดา นี่คือสาเหตุที่เขาแช่แข็งการต่อสู้ของเสื้อแดงหลังยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์จนถึงทุกวันนี้

ถ้าเราจะเดินหน้าพัฒนาระบบการเมืองและสังคมไทย เราต้องสร้างพรรคและขบวนการทางสังคมของมวลชนคนชั้นล่าง โดยเฉพาะกรรมาชีพ พรรคและขบวนการนี้ต้องอิสระโดยสิ้นเชิงจากทักษิณและพรรคเพื่อไทย และเราต้องเลิกตั้งความหวังอะไรเลยกับพรรคเพื่อไทยหรือการเลือกตั้งภายใต้อำนาจทหารในอนาคต

วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี ๒๕๔๐ และผลกระทบทางการเมือง

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

วิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่ก่อตัวขึ้นในปี ๒๕๔๐ มีผลกระทบกับสังคมไทยไม่น้อย และเป็นต้นกำเนิดของวิกฤติการเมืองไทยที่ยังดำรงอยู่ถึงวันนี้

ในระยะสั้นธนาคารโลกรายงานว่าในปี ๒๕๔๓ จำนวนคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจนมีทั้งหมด 13 ล้านคน ในต้นปี ๒๕๔๑ อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับโดยเฉลี่ยลดลง 12.6% และ ชั่วโมงการทำงานลดลง 4.4% ซึ่งมีผลทำให้รายได้จริงของพลเมืองลดลงถึง 19.2% สภาพเช่นนี้ถูกสะท้อนในความไม่พอใจของคนงานหลายส่วน และโรงงานแห่งหนึ่งถูกเผาเพื่อเป็นการประท้วงนายจ้าง

เมื่อรัฐบาล ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลดค่าเงินบาท และปิดบริษัทไฟแนนส์ที่ล้มละลาย ม็อบคนรวยที่หวงเงินออมและทรัพย์สินของตนเอง ก็ออกมาปิดถนนสีลมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก พวกนี้ไม่ได้ถูกตำรวจไล่ตีเหมือนม็อบคนงานที่เคยปิดถนนบางนา-ตราดเพื่อประท้วงนายจ้าง และคนรวยบางคนไม่เคยมีประสบการณ์ในการไปร่วมม็อบซึ่งต้องทนแดดทนฝน เขาจึงต้องพาคนรับใช้มาบริการน้ำเย็นให้

ในขณะเดียวกันกษัตริย์ภูมิพล เศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศ ก็ออกมาพยุงชนชั้นปกครอง โดยเสนอแนว “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อโยนความผิดให้ประชาชนธรรมดาที่กษัตริย์มองว่า “ไม่รู้จักพอ” แต่ในความจริงประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยมีพอ คนที่ไม่รู้จักพอคือพวกนายทุน เศรษฐี และคนรวยต่างหาก

สำนักแนวคิดเศรษฐกิจชุมชนของนักวิชาการและเอ็นจีโอบางส่วน มีส่วนคล้ายคลึงกับแนวพอเพียง เพราะจุดเด่นคือเน้นว่าวิกฤติเศรษฐกิจเกิดจาก “ลัทธิบริโภคนิยม” และพูดถึง “การบริโภคในระดับเกินควร” เราต้องมองว่าแนวนี้เป็นแนวปฏิกิริยาที่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยที่ยังยากจน มันเป็นความฝันที่จะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่ไม่เคยมีในอดีต และเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อไม่ให้เราโทษการกระทำของนักธุรกิจคนรวยกลุ่มเล็กๆ ที่นำเศรษฐกิจไปสู่ความหายนะ

ในการอธิบายต้นเหตุของวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” เราไม่ควรไปให้ความสำคัญกับพวกปัญญาอ่อนที่โทษรัฐบาลชวลิต หรือคนที่มองว่า “ความเป็นไทย” และการคอร์รับชั่นแบบไทยๆ เป็นต้นเหตุ และไม่ควรให้ความสำคัญกับแนวพอเพียง แต่มันมีสำนักความคิดทางเศรษฐกิจหลายสำนักที่พยายามอธิบายสาเหตุของวิกฤติที่เราควรศึกษา

สำนัก “เสรีนิยม” เสนอว่าการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจตั้งแต่ยุครัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของ อานันท์ ปันยารชุน หรือก่อนหน้านั้นอีกภายใต้ ชาติชาย ชุณหวัณ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ โดยดึงการลงทุนเข้ามา และลดการควบคุมธนาคาร พวกเสรีนิยมอย่างเช่น อัมมาร สยามวาลา มองว่าเป็นเรื่องดี แต่มีการวิจารณ์ว่าการกำกับดูแลไม่มีประสิทธิภาพพอ ดังนั้นสำนักนี้เสนอว่าถ้าจัดระบบการควบคุมการลงทุนให้ดีขึ้นจะแก้ปัญหาได้ นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมคนอื่น อย่างเช่น รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ หรือ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมฝ่ายขวาตกขอบบางคน สรุปว่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยเกิดจากการที่คนงานไทยมีค่าแรงสูงเกินไปจนไทยแข่งขันในตลาดโลกต่อไปไม่ได้ พีเทอร์ วอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เสนอว่าค่าแรงของคนงานไทย “สูงเกินไป” ทั้งๆ ที่คนงานไทยยากจนและมีรายได้ต่ำกว่านักวิชาการทุกคน ดังนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์ของ ชวน หลีกภัย จึงกดค่าแรงขั้นต่ำไม่ให้มีการปรับขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ ในขณะเดียวกันมีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อปกป้องเงินออมของคนรวย

โดยรวมสำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมมักจะเสนอว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจไทยมาจากการที่มีการเปิดเสรีไม่พอในระยะยาว เขามักเสนอเป็นประจำให้เร่งรีบเปิดเสรีมากขึ้นเพื่อให้กลไกตลาดกำหนดทุกอย่างโดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐแต่อย่างใด แต่ในรูปธรรมนักเสรีนิยมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ขององค์กร ไอเอ็มเอฟ หรือนักเศรษฐศาสตร์ไทย ก็ล้วนแต่หน้าไหว้หลังหลอกในเรื่องบทบาทของรัฐทั้งสิ้น เพราะขณะที่เสนอให้มีการลดบทบาทรัฐในเรื่องสวัสดิการหรือการควบคุมมาตรฐานการจ้าง ก็เสนอให้รัฐเข้ามาใช้ภาษีประชาชนเพื่ออุ้มระบบหนี้เสียของสถาบันการเงินเอกชน

สำนัก “ชาตินิยม-เคนส์” เสนอว่าการเปิดประเทศมากเกินไปทำให้เกิดการพึ่งพาระบบโลกาภิวัตน์มากเกินควร วอลเดน เบโล จากฟิลิปปินส์ มีความเห็นว่ารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ “หาทางลัด” ของไทยที่เน้นการลงทุนจากภายนอกเพื่อผลิตส่งออกสู่ตลาดโลก มีข้อเสียที่ก่อให้เกิดวิกฤติเพราะพึ่งพาทุนจากต่างประเทศและระบบตลาดเสรีในโลกภายนอกมากเกินไป ดังนั้น เบโล จึงเสนอให้รัฐไทยควบคุมการเคลื่อนย้ายทุนและระดมทุนภายในมาใช้ในการเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจสำนักความคิดชาตินิยมกู้ชาติต้องถือว่ามีเสียงมากที่สุดในหมู่พวกที่คัดค้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มบัณฑิตไทย” “โครงการหนังสือวิถีทรรศน์” “กลุ่มบางจาก” หรือ “เสรีไทยใหม่” นักเขียนที่มีชื่อเสียงในกลุ่มเหล่านี้มีคนอย่าง ยุค ศรีอาริยะ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กัญญา ลีลาลัย และ พิทยา ว่องกูล พวกนี้เสนอให้ปิดประเทศระดมทุนจากภายในเป็นหลัก นโยบายแบบนี้ซึ่งอาจเคยใช้พัฒนาประเทศได้ในยุคอดีต ที่มีการเคลื่อนย้ายทุนและการแข่งขันทั่วโลกน้อยกว่าปัจจุบัน ล้มเหลวและใช้ไม่ได้อีกแล้ว กรณีนโยบายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์สายสตาลินของประเทศในยุโรปตะวันออกและจีนเป็นตัวอย่างที่ดีของความล้มเหลวของแนวนี้

ในหมู่พวกกู้ชาติที่สุดขั้วที่สุดมีการเสนอว่าวิกฤตินี้เป็นแผนร้ายของสหรัฐอเมริกาที่จะทำลายเศรษฐกิจเอเซีย แต่ข้อเสนอนี้ไม่มีน้ำหนักแต่อย่างใดในเมื่อผู้นำสหรัฐเองเกรงกลัวผลกระทบของวิกฤติเอเซียที่อาจมีกับเศรษฐกิจสหรัฐ

พวกชาตินิยมเหล่านี้ไม่ปฏิเสธระบบทุนนิยมเลย และเสนอให้สร้างระบบทุนนิยมของ “ประชาชนไทย”เพื่อสกัดกั้นนายทุนต่างชาติ แต่ในรูปธรรมแนวนี้ให้ประโยชน์กับนายทุนไทยมากกว่าชนชั้นอื่นทุกชนชั้น ดังนั้นในการพยายามปลุกระดมมวลชนที่ไม่ใช่นายทุน สำนักชาตินิยมจำต้องหยิบยกนิยายจากอดีตเพื่อสร้างความงมงายในหมู่ประชาชน เช่นมีการเอ่ยอ้างถึงบทบาทของพระนเรศวรหรือพระเจ้าตากสินในการกู้ชาติ

ข้อเสนอของสองสำนักคิดหลักข้างต้น มีข้อเสียคือ เพียงแต่มองปัญหาเฉพาะหน้าและอาการของวิกฤติในระบบทุนนิยมเท่านั้น ไม่สามารถเจาะลึกถึงสาเหตุหรือต้นปัญหาของวิกฤติไทยได้ การมองปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหารายละเอียดปลีกย่อยของวิกฤติหนึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเข้าสู่วิกฤติเป็นประจำ ทั้งๆ ที่อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันในยุคต่างๆ เช่นในประเทศที่มีการควบคุมการลงทุนโดยรัฐ หรือประเทศที่มีการเปิดเสรีภายใต้การตรวจสอบก็ยังเกิดวิกฤติได้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นสำนักแนวคิดที่เน้นแต่ปัญหาที่มาจากการหลั่งไหลเข้าออกของทุนโดยไม่มีการควบคุมดูแล ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมในเศรษฐกิจไทยมีการทุ่มเทเงินในภาคอสังหาริมทรัพย์แต่แรก จนเกิดสภาพฟองสบู่ และทำไมพอถึงจุดๆ หนึ่งมีการถอนทุนออกจากประเทศไทยอย่างรวดเร็ว

สำนักเสรีนิยมมีข้ออ่อนด้อยมหาศาลเพราะไม่มีมาตรการอะไรเลยที่จะใช้แก้ปัญหาวิกฤติเรื้อรังของระบบทุนนิยมตลาดเสรี นอกเหนือจากการเพิ่มอัตราการขูดรีดแรงงานเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น

ในรูปธรรมแนวทางปิดประเทศและระดมทุนภายในเป็นแนวที่ยังไม่ปฏิเสธระบบทุนนิยม ดังนั้นประเทศที่ใช้นโยบายแบบนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ อย่างไทยที่มีตลาดและทรัพยากรจำกัด การระดมทุนจากภายในประเทศแทนที่จะอาศัยทุนมหาศาลและเทคโนโลจีที่เคลื่อนไหวอยู่รอบโลกในยุคนี้ เป็นแนวทางที่สร้างความเสียเปรียบกับประเทศเพราะการระดมทุนในรูปแบบนี้ใช้ต้นทุนสูง ค่าใช้จ่ายสูง ไม่สามารถใช้เทคโนโลจีที่ทันสมัยที่สุด และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเป็นแนวที่อาศัยการระดมทุนจากการขูดรีดแรงงานที่ยากจนภายในประเทศในอัตราสูงขึ้น

สำนักมาร์คซิสต์ อธิบายว่ากลไกการทำงานของระบบทุนนิยม ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญที่มาจากการแข่งขันกอบโกยกำไรในระบบตลาด ทำให้เกิดสองเหตุการณ์ที่นำไปสู่วิกฤติคือ (1)แนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร ที่มาจากการแข่งขันกันลงทุนในตลาดเสรี ซึ่งมีผลทำให้การลงทุนในเครื่องจักรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับการลงทุนในการจ้างงาน และในที่สุดนำไปสู่การชะลอการลงทุนใหม่ในภาคการผลิตหรือภาคบริการ (2)การผลิตล้นเกินในตลาดและการลงทุนล้นเกินในขณะที่ความต้องการแท้ของมนุษย์ยังมีอยู่

ในวิกฤตต้มยำกุ้ง การลดลงของอัตรากำไรในภาคอุตสาหกรรมส่งออกของไทย และการผลิตล้นเกินในตลาดโลก ทำให้มีการแสวงหากำไรจอมปลอมจากการปั่นหุ้นและการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดปรากฏการณ์ฟองสบู่

แนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรที่ก่อให้เกิดการย้ายการลงทุนไปสู่การปั่นหุ้นในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะเห็นจากงานวิจัยของ เจมส์ กลาสแมน เพราะตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ อัตรากำไรในภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มลดลงจากหน่วยอัตราส่วน 0.53 เหลือ 0.37 ในปี ๒๕๓๙ และถ้าพิจารณาภาพรวมระยะยาวของเศรษฐกิจไทยจะพบว่าสัดส่วนมูลค่าผลผลิตต่อต้นทุนในประเทศไทยลดลงจาก 0.83 ในปี ๒๕๑๓ เหลือแค่ 0.65 ในปี ๒๕๓๙ ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของราคาการลงทุนในเครื่องจักร

รายงานเศรษฐกิจของบริษัทเอกชนในเครือธนาคารกสิกรไทยและรายงานของธนาคาร “ไอเอนจีแบริ่งส์” ก็สนับสนุนข้อเสนอว่ามีการผลิตล้นเกินและการลดลงของอัตรากำไรอย่างทั่วถึง เช่นในภาคน้ำมัน โทรคมนาคม เหล็ก และกระดาษเป็นต้น

เมื่อเราสำรวจเหตุผลของวิกฤติเศรษฐกิจไทยที่ถูกเสนอโดยสำนักแนวความคิดต่างๆ และมาเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์ แทนที่ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจของมาร์คซ์จะหมดสมัย จะเห็นได้ว่าลัทธิของฝ่ายทุนนิยมต่างหากที่ไม่สามารถอธิบายโลกปัจจุบันและวิกฤติของทุนนิยมได้

ทางออกสำหรับกรรมาชีพไทยที่มุมมองมาร์คซิสต์เคยเสนอคือ ในระยะสั้นจะต้องร่วมต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นการต่อสู้เพื่อยับยั้งการตกงาน การต่อสู้เพื่อยับยั้งการกดค่าแรง หรือการต่อสู้เพื่อยับยั้งการทำลายสวัสดิการ แต่ในระยะยาว ถ้าเราจะแก้ปัญหาที่มาจากระบบทุนนิยมเราต้องเริ่มการต่อสู้เพื่อนำระบบสังคมนิยมเข้ามาแทนทุนนิยม เราต้องเริ่มการต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐมาเป็นของมวลชนกรรมาชีพ แทนที่จะปล่อยให้อยู่ในกำมือของนายทุนและนายทหารผู้เป็นคนส่วนน้อยของสังคม การต่อสู้เปลี่ยนแปลงสังคมทุกครั้งต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงเสมอ เราต้องรู้จักประเมินพลังแท้ของฝ่ายเรา และต้องเลือกเครื่องมือในการเปลี่ยนสังคม สำหรับนักลัทธิมาร์คซ์ เครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมคือชนชั้นกรรมาชีพ และพรรคสังคมนิยม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ เราจะทำอย่างไรให้ชนชั้นกรรมาชีพไทยเข้มแข็ง และเราจะจัดตั้งพรรคอย่างไร

นโยบายแก้ปัญหาจากวิกฤติต้มยำกุ้งของรัฐบาลไทยรักไทย หลังชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ รัฐบาลทักษิณได้ใช้แนวเศรษฐกิจผสมเพื่อแก้ปัญหา คือในระดับที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกมีการใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด แต่รัฐนำการลงทุนภายในเพื่อพัฒนาเทคโนโลจีและสาธารณูปโภคให้ทันสมัย รวมถึงการสร้างระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า เพื่อเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยในการแข่งขัน และเพื่อพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในขณะเดียวกันในระดับชุมชนและหมู่บ้าน มีการลงทุนโดยรัฐในการสร้างงาน นี่คือสิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่า “นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน” คือผสมแนวเสรีนิยมกับแนว “เคนส์รากหญ้า”

นโยบายดังกล่าวมีส่วนในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน มันเป็นมาตรการเฉพาะหน้า แต่มันไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื้อรังของระบบทุนนิยมทั่วโลกที่มีปัญหาวิกฤติเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามผลของการใช้นโยบายดังกล่าวสร้างคะแนนนิยมให้กับทักษิณและพรรคไทยรักไทยจนส่วนอื่นๆ ของชนชั้นปกครองไทย โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยม และคนชั้นกลางส่วนใหญ่ เริ่มไม่พอใจกับการเมืองประชาธิปไตยแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเสียงของเกษตรกรและกรรมาชีพ ผ่านการพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และในที่สุดก็นำไปสู่วิกฤติการเมืองและการปกครองภายใต้เผด็จการทหาร

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2t6CapR  เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจต้อมยำกุ้ง (บทที่ 12)  http://bit.ly/2v6ndWf   เรื่องวิกฤติทุนนิยมตามแนวคิดมาร์คซิสต์ และ http://bit.ly/2tWNJ3V เรื่องแนวเสรีนิยม