Tag Archives: วิกฤตโควิด

ทำไมเราต้องสร้างพรรคปฏิวัติ

ทุกวันนี้ในไทยภายใต้สังคมทุนนิยม เราเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงห้าวิกฤตที่ท้าทายชีวิตของพวกเรา คือวิกฤตสิทธิเสรีภาพ วิกฤตค่าครองชีพ วิกฤตจากภัยสงคราม วิกฤตโควิด และวิกฤตโลกร้อน

ที่สำคัญคือวิกฤตเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกัน เพราะต้นกำเนิดคือระบบทุนนิยม

วิกฤตสิทธิเสรีภาพ

ใน 16 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ทหารและพรรคพวกที่ต้านประชาธิปไตย ได้ทำลายสิทธิเสรีภาพของเราอย่างถ้วนหน้าภายใต้ข้ออ้างเท็จ เช่นการอ้างว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักจะฉ้อโกง การอ้างว่าพลเมืองส่วนใหญ่โง่และขาดการศึกษา หรือข้ออ้างเรื่องความมั่นคงหรือเรื่องการปกป้องสถาบันฯ เป็นต้น

คนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยมีจุดยืนหลากหลายเป็นธรรมดา บ้างเชียร์ทักษิณกับเพื่อไทย บ้างไม่ชอบทักษิณแต่เชียร์พรรคก้าวไกล คนทั้งสองกลุ่มนี้มองก้าวพ้นระบบรัฐสภาที่ถูกควบคุมโดยทหารไม่ได้ บางคนออกมาประท้วงเผด็จการ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว แต่ไม่ค่อยมีการประสานกับขบวนการแรงงานหรือคนกลุ่มอื่น และในที่สุดก็จบด้วยการฝากความหวังไว้ที่พรรคฝ่ายค้านกระแสหลักในสภา

ในขณะเดียวกันรัฐบาลเผด็จการกับนายทุนก็ใช้อำนาจรุกรานพื้นที่ของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวก็ออกมาแสดงความไม่พอใจร่วมกับองค์กรเอ็นจีโอ แต่บ่อยครั้งกลุ่มเหล่านี้ไปฝากปัญหาไว้กับรัฐบาล โดยหวังว่ารัฐบาลทหารจะแก้ปัญหาให้ นี่คือการมองโลกแบบแยกส่วน

หลายครั้งมีการวิเคราะห์ต้นเหตุของการทำลายประชาธิปไตยแบบผิดๆ เช่นพวกที่มองว่าไทยอยู่ภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้น บ่อยครั้งมีการฝากความหวังไว้กับสหประชาชาติหรือมหาอำนาจตะวันตก โดยไม่วิเคราะห์ปัญหาของจักรวรรดินิยมและผลประโยชน์ของรัฐทุนนิยมทั่วโลก หลายคนฝันว่าถ้าใช้แนวคิด “เสรีนิยม” เราจะสร้างประชาธิปไตยได้ แต่แนวเสรีนิยมเป็นลัทธิของชนชั้นนายทุนที่ต้องการให้นายทุนมีอำนาจเหนือสังคมผ่านการอ้างกลไกตลาด พร้อมกับกดทับสิทธิเสรีภาพของกรรมาชีพและคนจน หลายคนมองไม่ออกว่าเผด็จการทหารใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม หลายคนมองไม่ออกว่าลัทธิเสรีนิยมในแง่การเมืองเป็นแค่การฝากความหวังไว้กับระบบรัฐสภา

แต่สำหรับพวกเราที่เป็นนักสังคมนิยม เรามองว่าทุนนิยมจะเป็นเผด็จการไม่มากก็น้อย เผด็จการทหารหรือประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทั้งสองดำรงอยู่กับระบบทุนนิยมได้เสมอ ประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น เพราะในสถานประกอบการทุกแห่งและในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจไม่มีประชาธิปไตยเลย ยิ่งกว่านั้นกฎหมาย ศาล ตำรวจ และทหาร ไม่ได้อยู่ในมือประชาชน ข้อสรุปคือถ้าจะเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยต้องอาศัยการต่อสู้จากล่างสู่บนเสมอ ไม่ใช่ไปพึ่งพาการเลือกตั้ง พรรคกระแสหลัก หรือรัฐธรรมนูญ แต่ชาวสังคมนิยมจะร่วมสู้กับคนที่ต้องการล้มเผด็จการ หรือเพื่อสิทธิเลือกตั้ง โดยมองว่าการล้มเผด็จการทหารเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อล้มทุนนิยมและสร้างสังคมนิยมในระยะยาว

ถ้าเราจะพยายามเสนอแนวคิดแบบนี้กับมวลชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราต้องมีการจัดตั้งเป็นองค์กร และต้องมีสื่อและระบบที่จะพัฒนาการศึกษาทางการเมืองของสมาชิกของเรา ปัจเจกชนไม่สามารถทำได้

การที่จะวิเคราะห์ลักษณะแท้ของสังคมกับต้นเหตุของปัญหาปัจจุบัน กับการที่จะเสนอแนวทางในการต่อสู้ ต้องอาศัยการคิด อ่าน และการกระทำร่วมกัน ปัจเจกที่โดดเดี่ยวมักจะถูกโน้มน้าวจะฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย ยิ่งกว่านั้น ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกที่คิดอะไรเองได้คนเดียว ไม่มีศาสดาวิเศษ เพราะการพัฒนาความเข้าใจในโลกมาจากการต่อยอดจากความคิดในอดีต และการถกเถียงทางการเมืองในปัจจุบัน พรรคปฏิวัติแนวสังคมนิยมเป็นองค์กรที่สามารถเป็น “คลังแห่งความรู้จากการต่อสู้ในอดีต” และเป็นพื้นที่ที่นักสังคมนิยมสามารถถกเถียงและร่วมกันหาแนวทางในการต่อสู้ปัจจุบัน และที่สำคัญคือการถกเถียงเรื่องแนวทางสามารถทำในหมู่คนที่มีเป้าหมายเหมือนกันคือการสร้างสังคมนิยมแทนความป่าเถื่อนของทุนนิยม

วิกฤตค่าครองชีพ

ทุกวันนี้ เนื่องจากวิกฤตโควิด การก่อสงคราม และการเน้นแสวงหากำไรอย่างเดียวในระบบทุนนิยม ปัญหาการขนส่ง ปัญหาการผลิต และความขาดแคลนสิ่งของจำเป็น กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีผลให้ราคาน้ำมันกับก๊าซ และอาหารพุ่งขึ้น อุตสาหกรรมก็ขาดชิ้นส่วนบางประเภท ในขณะเดียวกันนายทุนที่เลิกจ้างคนในยุคที่มีวิกฤตโควิด ยังไม่สามารถหรือยังไม่ต้องการที่จะเพิ่มการจ้างงาน

ในทุกกรณีนายทุนและรัฐบาลต่างๆ ไม่เคยมองปัญหาดังกล่าวจากจุดยืนประชาชนคนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร เขาจะมองปัญหานี้จากจุดยืนนายทุนเสมอ ซึ่งมักเน้นความสำคัญของกำไร บ่อยครั้งเมื่อมีความขาดแคลน นายทุนจะฉวยโอกาสขึ้นราคา ซึ่งนำไปสู่เงินเฟ้อและยิ่งมีผลกระทบกับคนจนมากขึ้น ระบบทุนนิยมไม่เคยมีการวางแผนสำหรับสังคม เพื่อให้มีการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่เลย ถ้ามีแผนในบริษัทต่างๆ ก็เพื่อปกป้องกำไรเท่านั้น

ถ้าเราจะเริ่มปกป้องชีวิตของคนธรรมดา เราต้องทำสองอย่างคือ 1. สามารถวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องจากจุดยืนกรรมาชีพ และ 2. ปลุกระดมการต่อสู้ของกรรมาชีพ เช่นการนัดหยุดงาน การประท้วง และการพยายามล้มรัฐบาลเป็นต้น ซึ่งเราก็เห็นการต่อสู้แบบนี้เกิดขึ้นในบางประเทศเช่นศรีลังกา แต่ท่ามกลางการต่อสู้เราต้องสามารถเสนอเป้าหมายที่ชัดเจน คือไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่เสนอว่ารัฐบาลใหม่ของนักการเมืองนายทุนคนหน้าใหม่จะแก้ปัญหา เป้าหมายต้องเป็นเรื่องของการเพิ่มอำนาจกรรมาชีพในสังคมเพื่อล้มทุนนิยมในระยะยาว มันเป็นเรื่อง “การเมือง” ทางชนชั้นซึ่งแปลว่าต้องผสมทั้งการต่อสู้ในประเด็นปากท้องกับเรื่องการเมืองเข้าด้วยกัน เราจะเห็นว่าสหภาพแรงงานสู้เรื่องปากท้องได้แต่มักจะไม่ผสมการต่อสู้เรื่องปากท้องกับเรื่องการเมืองเข้าด้วยกัน ดังนั้นต้องมีพรรคสังคมนิยมที่มีสมาชิกที่เข้าไปทำงานการเมืองในสหภาพแรงงาน ซึ่ง“สหภาพคนทำงาน” ที่เป็นองค์กรแนวอนาธิปไตยที่ปฏิเสธการสร้างพรรค ไม่สามารถทำตรงนี้ได้เพราะทำงานการเมืองในสหภาพแรงงานที่ดำรงอยู่แล้วไม่ได้ และสมาชิกมักเคลื่อนไหวแบบปัจเจก

นักมาร์คซิสต์สังคมนิยมไม่ได้มองว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นแค่เหยื่อของทุนนิยม เรามองว่ากรรมาชีพมีพลังที่สามารถล้มทุนนิยมหรือเผด็จการปัจจุบันได้ถ้ามีการจัดตั้งทางการเมือง ดังนั้นการสู้กับระบบเผด็จการทหารและการสู้กับปัญหาค่าครองชีพเป็นเรื่องเดียวกันและต้องทำพร้อมๆ กัน

วิกฤตภัยสงคราม

ในรอบ100ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีปีไหนที่โลกไม่มีสงคราม และสาเหตุไม่ใช่เพราะมันเป็น “ธรรมชาติของมนุษย์” เหมือนที่หลายคนอ้าง สงครามเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์กันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และระหว่างรัฐต่างๆ ที่ร่วมมือกับกลุ่มทุนอย่างใกล้ชิด นี่คือปรากฏการณ์ที่มาร์คซิสต์เรียกว่า “ระบบจักรวรรดินิยม”

ในโลกปัจจุบันระบบจักรวรรดินิยมประกอบไปด้วยมหาอำนาจใหญ่ สหรัฐ สหภาพยุโรป อังกฤษ รัสเซีย และจีน แต่มีอำนาจย่อยด้วย เช่นอินเดีย ออสเตรเลีย ตุรกี ญี่ปุ่น บราซิล ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และแม้แต่ไทย

จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบความขัดแย้ง” ระหว่างรัฐต่างๆ ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลก โดยที่มีมหาอำนาจที่พยายามข่มขู่ประเทศที่อ่อนแอและเล็กว่า บ่อยครั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจนำไปสู่การแข่งขันทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการสะสมอาวุธ หรือการทำสงคราม ดังนั้นการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

ที่สำคัญคือชนชั้นกรรมาชีพ หรือคนธรรมดา ไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากการแข่งขันดังกล่าว เพราะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ที่ขูดรีดกดขี่เราทั่วโลก แถมกรรมาชีพจะถูกเกณฑ์ไปฆ่ากรรมาชีพจากประเทศอื่นเพื่อกำไรของนายทุน และกรรมาชีพที่เป็นพลเรือนจะล้มตายจากการทิ้งระเบิดเมืองต่างๆ อีกด้วย ดังนั้นชนชั้นปกครองจะพยายามหลอกลวงกรรมาชีพให้สนับสนุนรัฐด้วยลัทธิชาตินิยมเสมอ

ในภูมิภาคของเรา จะเห็นการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับจีน ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งข่มขู่กันและการสะสมอาวุธ สภาพเช่นนี้กำลังสร้างภัยสงคราม ซึ่งเราต้องเข้าใจอย่างชัดเจนว่าทั้งมหาอำนาจตะวันตกและจีนเป็นประเทศจักรวรรดินิยม กรรมาชีพไม่ควรสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างที่บางคนเสนอ

ในยุโรป การรุกรานยูเครนโดยจักรวรรดินิยมรัสเซีย เป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดินิยมสองฝ่ายคือตะวันตกภายใต้นาโต้และสหรัฐ กับรัสเซีย ดังนั้นเราไม่สามารถสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเช่นกัน แต่สื่อกระแสหลักและกระแสรองเช่น“ประชาไท”จะนำเสนอข่าวจากมุมมองจักรวรรดินิยมตะวันตก และชวนให้เราสนับสนุนนาโต้ ผ่านการจงใจมองข้ามการสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งโดยนาโต้ อย่างไรก็ตามเราไม่ควรคล้อยตามบางคนที่ปิดหูปิดตาถึงความโหดร้ายของรัสเซียในฐานะจักรวรรดินิยมอีกฝ่าย

การที่มหาอำนาจตะวันตกต้านรัสเซียในยูเครน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแข่งขันระหว่างตะวันตกกับจีน เพราะระบบจักรวรรดินิยมเป็นระบบที่ครอบคลุมโลก โดยแต่ละอำนาจพยายามสร้างความยิ่งใหญ่ของตนเองเพื่อข่มคู่แข่ง

สถานการณ์สงครามในยูเครนและกระแสความคิดหลักในสังคมไทย ทำให้ปัจเจกชนที่รักความเป็นธรรมค้านกระแสที่ชวนให้เราสนับสนุนนาโต้ค่อนข้างยาก แต่คนที่เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติสามารถร่วมกันศึกษาเรื่องจักรวรรดินิยมและกล้ามีจุดยืนที่ตรงข้ามกับกระแสหลักได้ การคัดค้านกระแสชาตินิยมไทยที่มาจากชนชั้นปกครองก็เป็นเรื่องคล้ายๆ กัน

สรุปแล้วการเรียนรู้ร่วมกัน การถกเถียงกัน และการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทางการเมือง ทำให้เราสามารถมีความมั่นใจที่จะต้านแนวคิดกระแสหลักได้

วิกฤตโควิด

การที่มีเครือข่ายพรรคสังคมนิยมทั่วโลกทำให้เราสามารถวิเคราะห์ปัญหาโควิดได้ดีกว่าคนอื่น เพราะรัฐบาลและกลุ่มทุนบ่อยครั้งจะปกปิดความจริงเกี่ยวกับโรคระบาดเพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบในการดูแลประชาชน

นักชีววิทยาฝ่ายซ้ายและนักเคลื่อนไหวเรื่องรัฐสวัสดิการได้อธิบายปัญหาไว้ดังนี้ วิกฤตโควิดเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโดยตรง เพราะระบบเกษตรแบบทุนนิยม และการพัฒนาของชนบทที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเมือง แปลว่ามนุษย์รุกเข้าไปในธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน ซึ่งส่งผลให้มนุษย์สัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้น โดยเฉพาะค้างคาว ซึ่งเป็นแหล่งไวรัสที่สำคัญเพราะค้างคาวมีภูมิต้านทานไวรัสสูงและสามารถอยู่กับไวรัสหลายสิบชนิดได้ นอกจากนี้ ระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเลี้ยงหมูหรือไก่ที่มีลักษณะเหมือนกันหลายพันตัว ในคอกขนาดใหญ่ เปิดโอกาสให้ไวรัสกระโดดจากสัตว์ป่าไปสู่สัตว์เลี้ยง และต่อไปสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น

การเดินทางระหว่างชนบทกับเมือง และที่อยู่อาศัยแออัดในเมือง สำหรับคนที่ต้องไปหางานทำในเมืองก็เพิ่มการระบาดได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสใหม่ๆ มากขึ้น และองค์กรอนามัยโลกก็มองว่าโควิด 19 คงจะไม่ใช่ไวรัสร้ายแรงชนิดสุดท้ายที่จะระบาดไปทั่วโลก

วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด กระทบคนทั้งโลก แต่ในขณะเดียวกันมันเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมของทุกประเทศ เพราะคนจน คนที่มีสีผิว คนที่มีเชื้อชาติเป็นคนส่วนน้อยของสังคม และแรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มคนที่ล้มตายและยากลำบากจากโควิดมากที่สุด สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นคนที่ไม่สามารถกักตัวอยู่บ้าน หรือทำงานจากบ้านได้ ต้องออกไปเลี้ยงชีพทุกวันในงานสกปรกหรืองานที่เสี่ยงต่อการติดไวรัส นอกจากนี้สภาพที่อยู่อาศัยมักจะแออัด และในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขและวัคซีนไม่ได้เพราะยากจนเกินไปหรือตกงาน

สถานการณ์แบบนี้นำไปสู่ข่าวปลอมมากมายในโลกออนไลน์ เช่นเรื่องวัคซีนหรือเรื่องที่มาของโรคภัยไข้เจ็บ

เมื่อโควิดระบาด รัฐบาลอาจปิดเมือง ปิดงาน หรือปิดโรงเรียน แต่การที่ไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอสำหรับคนที่ต้องพักงานทำให้มาตรการนี้ไม่ประสพความสำเร็จ และความหิวโหยกำไรจากการทำงานของกรรมาชีพบังคับให้รัฐบาลเปิดเสรีก่อนที่ภัยโควิดจะหมดไป

จะเห็นได้ว่าวิกฤตโควิดมาจากระบบทุนนิยม และเกี่ยวโยงกับเรื่องเกษตรอุตสาหกรรม ความเหลื่อมล้ำ รัฐสวัสดิการ และการกดขี่คนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เราไม่สามารถสร้างโลกใหม่ที่ไม่มีภัยแบบโควิดได้ถ้าเราไม่เข้าใจปัญหาองค์รวมของทุนนิยมและสู้ในหลายประเด็นพร้อมกัน ซึ่งพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเป็นองค์กรที่สู้ในหลายประเด็นพร้อมกันเสมอ

วิกฤตโลกร้อน

ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการสะสมก๊าซในบรรยากาศโลกประเภทที่ปิดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ถูกสะท้อนกลับออกจากโลกได้ (ก๊าซเรือนกระจก) ความร้อนจึงสะสมมากขึ้น ก๊าซหลักที่เป็นปัญหาคือคาร์บอนไดออคไซท์ (CO2) แต่มีก๊าซอื่นๆ ด้วยที่สร้างปัญหาเช่นมีเทน

การที่โลกร้อนขึ้นทำให้น้ำแข็งในขั้วโลกละลายและระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น จนท่วมเกาะและพื้นที่ที่อยู่ต่ำ ทำให้ระบบภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าใจหาย มีพายุมากขึ้นและมีภัยจากไฟไหม้ป่า ซึ่งจะมีผลกระทบกับระบบเกษตรและวิถีชีวิตของคนที่ยากจนที่สุดในโลก รวมถึงไทยด้วย

บางคนมักพูดว่า “เราทุกคน” ทำให้โลกร้อน ยังกับว่า “เรา” มีอำนาจในระบบทุนนิยมที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน การพูดแบบนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น โยนให้พลเมืองยากจนรับผิดชอบแทนนายทุน ในขณะที่นายทุนกอบโกยกำไรต่อไปได้

พวกกลุ่มทุนและรัฐบาลในโลกทุนนิยมโกหกว่าสามารถแก้ปัญหาด้วยการซื้อขาย “สิทธิ์” ที่จะผลิต CO2 หรือ “แลก” การปลูกต้นไม้กับ “สิทธิ์” ที่จะผลิต CO2  บางกลุ่มก็โกหกว่าจะใช้เทคโนโลจีเพื่อดูด CO2  ออกจากบรรยากาศ ซึ่งเทคโนโลจีแบบนั้นที่จะมีผลจริงในระดับโลกยังไม่มี นอกจากนี้มีการพูดว่าจะประกาศเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” หรือ จะ “ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นสูญ” ซึ่งเป็นการโกหกเพื่อให้สามารถผลิต CO2 ต่อไป โดยอ้างว่าไปคานกับมาตรการอื่นที่ไม่มีประสิทธิภาพจริง

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ในประเทศต่างๆ ในเรื่องปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว คนจำนวนมากในปัจจุบันเริ่มหูตาสว่างมากขึ้น และเข้าใจว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับความยุติธรรมทางสังคมและผลประโยชน์ชนชั้น แต่ในไทยกระแสต้านโลกร้อนยังไม่เกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวที่ประท้วงเผด็จการ หรือในขบวนการสหภาพแรงงาน ในไทยการที่ทหารครองอำนาจรัฐ และคุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หมายความว่ารัฐบาลจะไม่มีทางเสนอนโยบายก้าวหน้าเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนได้เลย

ดังนั้นเราไม่สามารถแยกการเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนออกจากการต่อสู้ทางชนชั้น และการต่อสู้กับเผด็จการทหารได้ และชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่างๆ เป็นชนชั้นเดียวที่มีพลังทางเศรษฐกิจพอที่จะสามารถกดดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังผ่านการนัดหยุดงานและยึดสถานที่ทำงาน แต่แค่การกดดันให้แก้ปัญหาภายในโครงสร้างทุนนิยมมันจะไม่พอ ต้องมีการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อล้มทุนนิยมและเปลี่ยนระบบในที่สุด ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีพรรคปฏิวัติที่มีอิทธิพลในสังคม

พรรค

จากสิ่งที่นำเสนอไปแล้ว จะเห็นเป็นรูปธรรมว่าวิกฤตร้ายแรงห้าวิกฤตที่ท้าทายชีวิตของเราเชื่อมโยงกันเพราะเกิดจากระบบทุนนิยม เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบ เราต้องเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มไม่ใช่ปัจเจก พรรคเป็นสะพานที่ดึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของทุนนิยมเข้าด้วยกัน และพรรคมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ร่วมกันสู้กับทุกปัญหา แต่ถ้าพรรคจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างและขยายพรรคอย่างต่อเนื่อง เราต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษาทางการเมืองเพื่อให้เรามั่นใจมากขึ้น และเราต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาสื่อของเราอีกด้วย

ใจ อึ๊งภากรณ์

วิกฤตการเมืองกระแสหลักในยุโรป ไม่ใช่วิกฤตสำหรับมาร์คซิสต์

ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมโลกในปี 2008 การใช้มาตรการเสรีนิยมกลไกตลาดของรัฐบาลพรรคกระแสหลักในประเทศต่างๆ ของยุโรป นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองของพรรคกระแสหลักในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป เพราะทุกพรรคส่งเสริมการโยนภาระการแก้วิกฤตไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพ ผลคือคนจำนวนมากเดือดร้อนจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก สิ่งที่เข้ามาเสริมอีกคือความไม่พอใจกับมาตรการต่างๆ ที่ไม่เพียงพอในการปกป้องประชาชนจากโควิด

ปรากฏการณ์นี้มีการตั้งชื่อว่าเป็น “การล่มสลายของการเมืองเสรีนิยมที่มีจุดยืนกลางๆ ระหว่างซ้ายกับขวา” เราต้องเน้นว่าแนว “เสรีนิยมกลางๆ” ดังกล่าว ที่ล่มสลายไป ไม่ใช่อะไรที่ก้าวหน้าแต่อย่างใด แต่เป็นแนวที่ถือผลประโยชน์กลุ่มทุนเป็นหลัก มีการใช้เงินรัฐอุ้มกลุ่มทุน แต่ตัดสวัสดิการและระดับค่าจ้าง เพื่อจ่ายหนี้รัฐ และมีการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน ซึ่งช่วยทำลายรัฐสวัสดิการ และเราต้องเน้นว่านโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยพรรคนายทุน และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป ในทุกประเทศ เวลาเราพูดถึง “ฝ่ายซ้าย” เราไม่สามารถรวมพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูปในนั้น

แม้แต่ในประเทศที่พรรคกระแสหลักยังเป็นรัฐบาลอยู่ เช่นในเยอรมันกับอังกฤษ จะเห็นว่าคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของพรรคนายทุนบวกกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป ซึ่งเคยสูงถึง 80% กลับลดลงอย่างน่าใจหาย

มันมีสองกระแสใหม่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นคือ กระแสฝ่ายซ้าย และกระแสฝ่ายขวาเหยียดเชื้อชาติ ทั้งสองกระแสนี้มาจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008  ซึ่งทำให้คนจำนวนมากจนลงและตกงาน มันนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เพราะประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าพรรคการเมืองเก่าไม่สนใจที่จะเป็นตัวแทนของเขา ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อน และแถมซ้ำเติมด้วยนโยบายรัดเข็มขัด ตอนนี้ทั่วยุโรปจึงมีวิกฤตทางการเมืองที่ปะทะกับความชอบธรรมเก่าของพรรคกระแสหลัก

นักมาร์คซิสต์ทราบดีว่า เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ที่นำไปสู่ความไม่พอใจในพรรคการเมืองกระแสหลัก ประชาชนจะไปทางขวาสุดขั้วก็ได้ หรือจะไปทางซ้ายแบบสังคมนิยมก้าวหน้าก็ได้ และมันไม่มีอะไรอัตโนมัติ ถ้าฝ่ายซ้ายไม่เคลื่อนไหวและปลุกระดม คนจำนวนมากจะไปฟังนักการเมืองขวาสุดขั้วแทน ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายประเทศ ในกรีซและสเปน มีการขยายคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายสังคมนิยม ในฝรั่งเศส ออสเตรีย และฮังการี่ มีการขยายตัวของฝ่ายขวาฟาสซิสต์ และทั่วยุโรปทัศนะเหยียดคนต่างชาติกำลังปะทะกับทัศนะฝ่ายซ้ายที่พยายามสมานฉันท์กับคนทุกเชื้อชาติ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3x298t6 ]

วิกฤตในประเทศกรีซ นำไปสู่การเลือกพรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ซึ่งสัญญาว่าจะต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของประชาชน นโยบายนี้สั่งลงมาจากกลุ่มอำนาจในอียู คือธนาคารกลาง กรรมการบริหารอียู และไอเอ็มเอฟ เมื่อรัฐบาลไซรีซาจัดประชามติว่าจะรับหรือไม่รับนโยบายดังกล่าวของอียู ประชาชนจำนวนมากลงคะแนนเสียงไม่รับ แต่รัฐบาลกลับหักหลังประชาชน แล้วไปเจรจารับนโยบายรัดเข็มขัดแทน โดยใช้ข้ออ้างว่าโดนกดดันอย่างหนักจากกลุ่มทุนใหญ่ในอียูและรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามพรรคไซรีซาไม่กล้าพากรีซออกจากสกุลเงินยูโรเพื่อลดอิทธิพลของอียู และไม่กล้าใช้พลังมวลชนเพื่อเปลี่ยนระบบ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3ntNBq8%5D

กรีซ

ความไม่พอใจต่อวิกฤตเศรษฐกิจและนโยบายรัดเข็มขัดในสเปน นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของเยาวชนกลางเมือง เพราะอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงมาก ในการเลือกตั้งต่อจากนั้นพรรคกระแสหลักเสียคะแนนเสียงมากจนไม่มีพรรคไหนสามารถตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ผลก็ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายซ้ายโพดามอส ที่เพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก กลับเสียคะแนนเล็กน้อย สาเหตุสำคัญคือการที่แกนนำพรรคมีพฤติกรรมสองจิตสองใจตลอดเวลาว่าจะผลักดันนโยบายก้าวหน้าหรือไม่ เช่นเรื่องการคัดค้านการรัดเข็มขัด หรือการรณรงค์ให้รัฐต่างๆ ในสเปนมีความอิสระมากขึ้น พรรคนี้เติบโตมาเพราะสะท้อนกระแสต้านนโยบายเสรีนิยม และสะท้อนความไม่พอใจของคนหนุ่มสาว

ในสถานการณ์วิกฤตหนัก ฝ่ายซ้ายในกรีซและสเปนถูกทดสอบอย่างหนัก และผลคือสอบตก เพราะในสเปนพรรคโพเดมอสในที่สุดไปเข้ารัฐบาลกับพรรคสังคมนิยมปฏิรูปและผลักดันแนวเสรีนิยมกลไกตลาด และในกรีซพรรคไซรีซาก็หักหลังประชาชนจนในที่สุดแพ้การเลือกตั้ง

ในกรณีฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เป็นผู้นำฝ่ายขวากระแสหลักที่สร้างพรรค “ใหม่”หลังจากการล่มสลายของพรรคนายทุนกับพรรคสังคมนิยมปฏิรูป มาครงมุ่งหน้าพยายามทำลายฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนผู้ทำงาน และทำลายสิทธิของสหภาพแรงงานจนเกิดการนัดหยุดงานทั่วประเทศกับการประท้วงของขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง รัฐบาลของเขาใช้นโยบายรัดเข็มขัดกับประชาชนธรรมดา แต่ตัว มาครง เองก็ใช้เงินภาษีประชาชนเพื่อซื้อชุดกินข้าวหรูราคาเป็นแสน และสั่งสร้างสระว่ายน้ำในทำเนียบฤดูร้อน นอกจากนี้เขาพร้อมจะคบจับมือกับทรราชรอบโลก และใช้นโยบายเหยียดสีผิวเชื้อชาติ ซึ่งไปให้กำลังใจกับพรรคฟาสซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน

Le Pen ในฝรั่งเศส

ในอิตาลี่วิกฤตทางการเมืองไม่ต่างจากที่อื่น เพียงแต่มีเรื่องการโกงกินคอร์รับชั่นเข้ามาเป็นปัจจัยเสริม ท่ามกลางการล่มสลายของพรรคกระแสหลัก ซึ่งเราต้องรวมพรรคคอมมิวนิสต์ในนั้นเพราะแปรไปเป็นพรรคเสรีนิยม พรรคใหม่ๆ เช่นพรรคห้าดาว และพรรคฟาสซิสต์ก็เพิ่มคะแนนเสียง

ในเยอรมัน รัฐบาลผสมระหว่างพรรคนายทุน CDU และพรรคสังคมประชาธิปไตย SPD เสียคะแนนเสียงอย่างต่อเนื่องจนแนวร่วมระหว่างสองพรรคนี้พัง ขณะนี้พรรค SPD สร้างแนวร่วมกับพรรคกรีนเพื่อตั้งรัฐบาล แต่พรรคฟาสซิสต์ก็ขยายฐานเสียง ส่วนพรรคฝ่ายซ้าย Die Linke ที่เคยเพิ่มคะแนนหลังวิกฤตปี2008 มีปัญหาเพราะคะแนนเสียงลดลงอันเนื่องมาจากการทำแนวร่วมกับพรรคกระแสหลักในรัฐต่างๆ และสนับสนุนนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด

ในอังกฤษกระแสที่เห็นชัดคือการขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแรงงานของคอร์บิน ซึ่งในตอนแรกประชาชนจำนวนมากตื่นเต้นกับนโยบายซ้ายๆ ของเขาจนเกือบชนะการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นพวก สส.ฝ่ายขวาในพรรคแรงงานกดดันให้เขาเปลี่ยนจุดยืนและเอียงไปทางขวา ซึ่งทำให้แพ้การเลือกตั้งในที่สุด [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3kQAZrq ]

ปรากฏการณ์ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เห็นได้ชัดจากผลประชามติอังกฤษด้วย เพราะคนที่ลงคะแนนให้อังกฤษ “ออก” มีแนวโน้มจะยากจนและอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่อุตสาหกรรมเก่าถูกทำลาย มันมีกระแสเหยียดเชื้อชาติที่ถูกปลุกระดมโดยนักการเมืองฝ่ายขวาทั้งสองฝ่าย คือพวกที่สนับสนุนอียูและพวกที่อยากออก แต่สาเหตุหลักที่คนจำนวนมากโหวดออกก็เพราะทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อไปแบบเดิม

ข้อสรุปสำคัญสำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ จากวิกฤตการเมืองในยุโรปคือ ถ้าพรรคฝ่ายซ้ายไปประนีประนอมกับนโยบายทุนนิยมกลไกตลาดเสรี อย่างเช่นในกรีซ สเปน เยอรมัน หรืออังกฤษ มันจะนำไปสู่ความหายนะ และถ้าไม่มีการสร้างขบวนการต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว พวกฟาสซิสต์มีโอกาสโตได้ ตัวอย่างที่แย่ที่สุดคือกรณีฝรั่งเศส ซึ่งต่างจากอังกฤษที่มีขบวนการดังกล่าว

การสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติแนวมาร์คซิสต์ เป็นสิ่งที่ทำได้ในทุกประเทศและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้เราเผชิญหน้ากับสามวิกฤตที่มาจากลักษณะของระบบทุนนิยม คือวิกฤตโลกร้อน วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด ซึ่งนักการเมืองกระแสสหลักไม่มีวันแก้ปัญหาที่เกิดจากสามวิกฤตนี้ได้ เพราะยึดติดกับกรอบของระบบทุนนิยม [อ่านเพิ่ม สามวิกฤตของทุนนิยม https://bit.ly/2XKQ69L ]

ทุกวันนี้กระแสการต่อสู้และความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นในทุกที่ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/30EsGaG  ] และนี่คือสิ่งที่สร้างความหวังให้กับนักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ โดยเฉพาะในเครือข่าย IST (International Socialist Tendency) เราไม่หดหู่เหมือนพวกที่หลงใหลในระบบการเลือกตั้ง หรือแนวเสรีนิยม เราเป็นนักปฏิวัติที่สู้เพื่อการปฏิรูปอย่างถึงที่สุด

ใจ อึ๊งภากรณ์

เราต้องดูภาพรวมของปัญหาโควิดไทย ไม่ใช่แค่เรื่องวัคซีน

นักมาร์คซิสต์ใช้แนวคิด “วิพากษ์วิธีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์” ในการมองปัญหาต่างๆ ของโลก ซึ่งหมายความว่าต้องมองภาพรวมของปัญหา ไม่ใช่เฉพาะปัจจัยใดปัจจัยเดียว ต้องถือหลักการวิทยาศาสตร์เหนือความเชื่องมงาย และต้องค้นหาจุดสำคัญในความขัดแย้งทางชนชั้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สังคมดีขึ้น

ดังนั้นในเรื่องโควิดเราไม่สามารถเน้นแต่เรื่องวัคซีนอย่างเดียว ไม่มีวัคซีนตัวไหนที่มีประสิทธิภาพ 100% วัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลกปกป้องการตายหรือป่วยหนักได้ในระดับประสิทธิภาพที่ใช้งานได้สองสัปดาห์หลังฉีดเข็มที่สอง แต่วัคซีนต่างๆ ทุกชนิด ไม่สามารถปกป้องไม่ให้ผู้ได้รับวัคซีนแพร่เชื้อโควิดได้ และจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนสองเข็มก็ยังไม่ใกล้ 100% เลย

นโยบายที่ปกป้องพลเมืองจากโควิดต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญพอๆ กับวัคซีน เช่นมาตรการบังคับให้ใส่หน้ากาก การรักษาระยะห่างจากคนอื่นนอกครอบครัว การล้างมือ การตรวจเชื้อ การปิดกิจการที่อาศัยคนจำนวนมากมาอยู่ในที่เดียวกัน การจำกัดการเดินทาง ฯลฯ

แต่แค่นั้นไม่พอ สิ่งที่สำคัญเท่ากับวัคซีนและมาตรการต่างๆ คือคุณภาพของระบบสาธารณสุขฟรีถ้วนหน้า และระดับความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน ที่อยู่อาศัย สภาพโรงพยาบาลรัฐ สภาพสถานที่ศึกษา คุณภาพของระบบขนส่งมวลชน และลักษณะการทำงานเลี้ยงชีพ นอกจากนี้การมีหรือไม่มีระบบรัฐสวัสดิการที่ดีมีผลต่อการดูแลคนที่ไม่สามารถออกไปทำงานได้ แทนที่จะบังคับให้คนออกไปทำงานเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของไวรัส

ในอังกฤษระดับการฉีดวัคซีนสูง ประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนแล้ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและพนักงานสาธารณสุข และการฉีกวัคซีนแบบนี้ลดระดับการตายลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ตอนนี้รัฐบาลฝ่ายขวาของอังกฤษประกาศว่าจะเปิดประเทศ คือยกเลิกมาตรการต่างๆ ทางสังคมที่สำคัญพอๆ กับวัคซีน ซึ่งในไม่ช้าจำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นสูงและสร้างปัญหาให้กับโรงพยาบาลต่างๆ และทั้งหมดนี้ทำไปเพื่อปกป้องกำไรกลุ่มทุน

สถานการณ์โควิดในไทยที่ย่ำแย่สะท้อนความห่วยแตกของเผด็จการทหารที่ทำลายประชาธิปไตยมานาน ทั้งเรื่องจำนวนคนที่ได้รับวัคซีนฟรี เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เรื่องระบบการตรวจ ระบบจัดหาเตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนัก และการดูแลพลเมืองที่ไปทำงานไม่ได้

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณภาพของวัคซีน แต่อยู่ที่การสั่งซื้อวัคซีนที่เพียงพอและการจัดการระบบสาธารณะสุขเพื่อปกป้องพลเมืองอย่างเป็นระบบ เช่นการจัดระบบให้พลเมืองกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้รับวัคซีนฟรีก่อนคนอื่น การกีดกันเอกชนไม่ให้เข้ามาหากำไรและให้โอกาสคนรวยเหนือพลเมืองอื่น ฯลฯ

นอกจากนี้ปัญหาอยู่ที่ทหารที่อวดเก่งคิดว่ามันแก้ไขทุกอย่างได้ด้วยการตะโกนสั่งและข่มขู่โดยไม่ฟังเสียงประชาชน

วิกฤตนี้ทำให้เราเห็นอีกครั้งว่าเราต้องกำจัดเผด็จการให้หมดสิ้นจากสังคมโดยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เข้มแข็งเพราะมีส่วนร่วมจากสหภาพแรงงานที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ อย่าไปหวังอะไรจากรัฐสภาง่อย ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญในรัฐสภาชี้ให้เห็นว่ามันง่อยแค่ไหน

ในยุคนี้ระบบทุนนิยมทำให้เกิดการระบาดของโรคร้ายแรงบ่อยขึ้น และทำให้เกิดวิกฤตอื่นๆ เช่นสงครามหรือปัญหาโลกร้อน

ทุนนิยมไม่ว่าจะบริหารโดยเผด็จการหรือพรรคการเมืองนายทุนภายใต้ระบบประชาธิปไตย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ได้ ถ้าเราจะสร้างสังคมที่เท่าเทียมและตอบสนองประชาชนได้อย่างทั่วถึง เราต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบเป็นสังคมนิยม

ใจอึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

สามวิกฤตของทุนนิยม https://bit.ly/2XKQ69L  

ทุนนิยม กลไกตลาด กับปัญหาโควิด https://bit.ly/3aA9hrF

สิ่งแวดล้อม โลกร้อน และ Anthropocene https://bit.ly/2QMpL6F

กรรมาชีพไทยกับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสังคมใหม่ หน้าที่ของนักสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน  https://bit.ly/2MBfQzc

รัฐสวัสดิการ https://bit.ly/2rOzlLy  

สังคมนิยมจากล่างสู่บน https://bit.ly/2vbhXCO

 #โควิด19

เผด็จการไทยไร้ประสิทธิภาพในการปกป้องประชาชนจากโควิด

รัฐบาลเผด็จการไทยไร้ประสิทธิภาพเพราะเน้นแต่กำไรกลุ่มทุนและผลประโยชน์ตนเอง ไม่ยอมใช้มาตรการทางวิทยาศาสตร์เพื่อปกป้องการแพร่เชื้อ และไม่ยอมใช้งบประมาณรัฐเพื่อเป็นสวัสดิการที่เพียงพอสำหรับคนที่ควรจะพักงานและอยู่บ้าน ในขณะเดียวกันมีการทุ่มเทเงินให้ปรสิตชั้นสูงและกองทัพ และมีการจับมือกับพรรคพวกในการผลิตวัคซีนอีกด้วย และที่แย่สุดคือการนำวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนล้าช้ากว่าประเทศอื่นๆ และไม่ทำอย่างเป็นระบบ

อีกเรื่องที่เป็นอปสรรค์ในการจัดการกับโควิดในไทย คือการที่ประชาชนไว้ใจรัฐบาลไม่ได้ เพราะถูกจับว่าโกหกในอีดตอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกๆ เรื่อง

ในแง่หนึ่งความล้มเหลวของรัฐบาลเผด็จการไทยไม่ค่อยต่างจากรัฐบาลในประเทศอื่นที่เน้นผลประโยชน์กลุ่มทุนและอภิสิทธ์ชน

ในอังกฤษรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของนายทุนใหญ่ พยายามตลอดเวลาที่จะผลักให้คนกลับไปทำงานและเปิดโรงเรียนเพื่อให้คนที่มีลูกกลับไปทำงานได้ นายกรัฐมนตรี Boris Johnson เคยพูดว่า “ให้ศพมันกองไปเรื่อยๆ จะไม่ล็อคดาว์น” และผลคือมียอดคนตายสูงจากโควิดถึงแสนกว่าคน นับว่าอังกฤษมีสัดส่วนคนตายสูงกว่าหลายประเทศในโลก

แต่การที่รัฐบาลอังกฤษกลัวความไม่พอใจของประชาชน กดดันให้มีการสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าเร็วกว่าหลายๆ ประเทศ แต่ในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและประชาชนวิจารณ์ระบบการเมืองอย่างเปิดเผยไม่ได้ เช่นในไทย แรงกดดันแบบนี้จะอ่อนแอกว่า แถมในไทยพวกนายพลที่เป็นคณะเผด็จการ เช่นประยุทธ์ หลงตนเองคิดว่าการเป็นทหารทำให้เก่งทุกอย่างได้ ทั้งๆที่ตรงข้ามกับความจริง

สิ่งที่ตอนนี้เข้ามาช่วยประชาชนอังกฤษคือการที่มีระบบสาธารณสุขที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสวัสดิการ พนักงานต่างๆ ในระบบสาธารณสุข (NHS) ได้วางแผนการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและเป็นระบบ จนตอนนี้ประชาชนเกินครึ่งหนึ่งได้รับการฉีดยาอย่างน้อยเข็มแรก และคนจำนวนมากได้เข็มที่สองแล้วด้วย

แต่ในด้านลบการที่ประเทศพัฒนาในตะวันตก อย่างอังกฤษ สหรัฐ และประเทศอียู ปกป้องบริษัทยาและไม่ยอมยกเลิกสิทธิบัตรยา ทำให้มีการลงมือแจกจ่ายสูตรการทำวัคซีนให้ทุกประเทศอย่างทั่วถึงไม่ได้ และผลิตวัคซีนในราคาถูกไม่ได้ ทำให้ประชาชนในประเทศยากจนขาดแคลนวัคซีน นี่คือหน้าตาโหดร้ายของจักรวรรดินิยมในระบบทุนนิยม (ดูข่าวล่าสุดข้างล่าง)

อย่างไรก็ตามผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยมตรงข้ามกับผลประโยชน์ของกรรมาชีพคนทำงานในประเทศตะวันตก เพราะถ้าทุกคนทั่วโลกไม่ร่วมมือกันโดยไม่คำนึงถึงกำไรของกลุ่มทุน มันทำให้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด เสี่ยงกับการระบาดรอบใหม่ๆ ของโควิดและการแปรพันธุ์ของไวรัส

อังกฤษฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกไปแล้ว 34.7 ล้านคน เกินครึ่งของประชากร ส่วนใหญ่ประชาชนได้วัคซีน AstraZeneca และตอนนี้ยอดคนตายจากโควิดในอังกฤษลดลงมาก ขณะนี้เหลือแค่4คนต่อวันเนื่องจากการใช้วัคซีน ซึ่งต่างจากประเทศฝรั่งเศสและเยอรมันที่รัฐบาลล้าช้าในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ประเทศเหล่านั้นกำลังถึงขั้นวิกฤตจากการระบาดรอบสามของโควิด

3 วันหลังจากที่ผมได้รับการฉีด AstraZeneca เข็มที่สอง ผมไม่มีผลข้างเคียงอะไรเลย หลังเข็มแรกมีไข้อ่อนๆ

สำหรับเรื่องผลข้างเคียงที่ร้ายแรงจาก AstraZeneca ในอังกฤษมีคนตายจากลิ่มเลือด 41 คน (เท่ากับสัดส่วน 1.2 คนจากประชาชน 1 ล้านคนที่ได้วัคซีน) ซึ่งถ้าเทียบกับยอดคนตายด้วยโควิด 127,500 คนตั้งแต่มีการระบาด จะเห็นว่าวัคซีนมีความเสี่ยงน้อยกว่าการติดเชื้อ แต่ตอนนี้อังกฤษประกาศว่าจะให้คนอายุต่ำกว่า40เลือกวัคซีนอื่นได้

สังคมไทยเต็มไปด้วยข้อมูลที่บิดเบือนเรื่องวัคซีน มีการวาดภาพวัคซีนร้ายแรงเกินเหตุ และประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีน สาเหตุหลักมาจากการที่รัฐบาลเผด็จการไร้ประสิทธิภาพ และโกหกประชาชนเป็นประจำ พร้อมกับการที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและตรวจสอบรัฐบาล ยิ่งกว่านั้นประเทศไทยไม่มีระบบสาธารณสุขที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรัฐสวัสดิการ

ส่วนวัคซีน “ซิโนวัค” ที่หลายคนเป็นห่วง วัคซีนนี้ใกล้จะได้รับการรับรองจาก EU และ องค์กรWHO และข้อมูลพิสูจน์ว่าสามารถป้องกันไม่ให้ตายจากโควิดหรือมีอาการรุนแรงถึง 90% แต่ในการป้องกันการติดเชื้อ และมีอาการอ่อนๆ วัคซีนนี้มีประสิทธืภาพ 50-60% ซึ่งถือว่าไม่เลว

ในเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีนที่อาจทำให้คนตาย ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอว่ามีคนตายจากวัคซีนซิโนวัคหรือไม่ แต่เรื่องนี้ยังสรุปกันยาก อาจมีข้อมูลใหม่เข้ามาในอนาคต แต่ประเด็นคือผู้นำทางการเมืองในไทยไม่มีการใช้วัคซีนนี้กับตนเอง เพื่อสร้างความมั่นใจในหมู่ประชาชน และการที่สังคมไทยเต็มไปด้วยข่าวลือต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีน ซึ่งจะไม่ช่วยในการรณรงค์ให้คนรับวัคซีนอย่างเพียงพอ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ข่าวล่าสุด

รัฐบาลสหรัฐประกาศว่าอยากจะยกเลิกสิทธิบัตรยาสำหรับวัคซีนโควิดชั่วคราว และอียูอาจทำตามในอนาคต?

ทำไมต้องมีการปฏิวัติสังคมนิยม -สามวิกฤตของทุนนิยมปัจจุบัน

ยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งสามวิกฤตที่มาจากลักษณะของระบบทุนนิยม ซึ่งทั้งสามวิกฤตมีผลซึ่งกันและกัน และท้าทายความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งโลก

1. วิกฤตที่หนึ่ง  วิกฤตโควิด

วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด กระทบคนทั้งโลก แต่ในขณะเดียวกันมันเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมของทุกประเทศ เพราะคนจน คนที่มีสีผิว คนที่มีเชื้อชาติเป็นคนส่วนน้อยของสังคม และแรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มคนที่ล้มตายและยากลำบากจากโควิดมากที่สุด สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นคนที่ไม่สามารถกักตัวอยู่บ้าน หรือทำงานจากบ้านได้ ต้องออกไปเลี้ยงชีพทุกวันในงานสกปรกหรืองานที่เสี่ยงต่อการติดไวรัส นอกจากนี้สภาพที่อยู่อาศัยมักจะแออัด และในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขและวัคซีนไม่ได้เพราะยากจนเกินไปหรือตกงาน

คนที่ตกงาน เด็กๆ หรือวัยรุ่นที่ต้องขาดเรียน และคนที่ทำงานในระบบสาธารณสุข จะเสี่ยงต่อปัญหาจิตใจมากขึ้นเนื่องจากชีวิตที่เปลี่ยนไป

ในขณะเดียวกันพวกนายทุนเศรษฐีที่รวยที่สุดมีการเพิ่มทรัพย์สินมหาศาล และบริษัทยาขนาดใหญ่ก็คุมการผลิตวัคซีนภายใต้ความต้องการที่จะเพิ่มกำไรอย่างเดียว

เมื่อโควิดระบาด รัฐบาลอาจปิดเมือง ปิดงาน หรือปิดโรงเรียน แต่ในไม่ช้าแรงกดดันจากกลุ่มทุนจะบังคับให้รัฐบาลเปิดเสรีก่อนที่ภัยโควิดจะหมดไป ซึ่งทำให้โควิดระบาดรอบสองหรือสาม

แต่ที่สำคัญคือวิกฤตโควิดเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโดยตรง เพราะระบบเกษตรแบบทุนนิยม และการพัฒนาของชนบทที่เชื่อมโยงโดยตรงกับเมือง แปลว่ามนุษย์รุกเข้าไปในธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน ซึ่งส่งผลให้มนุษย์สัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้น โดยเฉพาะค้างคาว ซึ่งเป็นแหล่งไวรัสที่สำคัญเพราะค้างคาวมีภูมิต้านทานไวรัสสูงและสามารถอยู่กับไวรัสหลายสิบชนิดได้

นอกจากนี้ ระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเลี้ยงหมูหรือไก่ที่มีลักษณะเหมือนกัน ในคอกขนาดใหญ่ เปิดโอกาสให้ไวรัสกระโดดจากสัตว์ป่าไปสู่สัตว์เกษตร และต่อไปสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น

การเดินทางระหว่างชนบทกับเมือง และที่อยู่อาศัยแออัดในเมือง สำหรับคนที่ต้องไปหางานทำในเมืองก็เพิ่มการระบาดได้อย่างรวดเร็ว

สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสใหม่ๆ มากขึ้น และองค์กรอนามัยโลกก็มองว่าโควิด 19 คงจะไม่ใช่ไวรัสร้ายแรงชนิดสุดท้ายที่ระบาดไปทั่วโลก

ถ้าไม่มีการปรับรูปแบบการเกษตร พัฒนาสภาพชีวิตมนุษย์ และการปกป้องธรรมชาติอย่างจริงจังปัญหานี้จะแก้ไม่ได้ แต่ภายใต้ทุนนิยม การแสวงหากำไรของกลุ่มทุนใหญ่กลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลต่างๆ และกลุ่มทุน

อ่านเพิ่ม: โควิด https://bit.ly/2UA37Cx  

ทุนนิยม กลไกตลาด กับปัญหาโควิด https://bit.ly/3aA9hrF

2. วิกฤตที่สอง วิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร

ก่อนที่โควิดจะระบาด ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเข้าสู่สภาพถดถอยมาหลายสิบปีแล้ว สาเหตุคือแนวโน้มของระบบที่จะทำให้อัตรากำไรลดลง สืบเนื่องจากการลงทุนมากขึ้นในเครื่องจักรในอัตราที่เร็วกว่าและสูงกว่าการลงทุนในการจ้างกรรมาชีพ กลุ่มทุนต่างๆ โดนกดดันให้ทำเช่นนี้ เพราะการแข่งขันในระบบกลไกตลาดของทุนนิยม กลุ่มทุนไหนไม่ลงทุนแบบนี้ก็จะแข่งกับคู่แข่งไม่ได้ แต่ผลในภาพรวมคือทำให้เศรษฐกิจเสื่อมในระยะยาว และทุกวันนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะอ่อนแอตามด้วยวิกฤตเป็นระยะๆ และรัฐต่างๆ มักจะต้องอุ้มกลุ่มทุนและบริษัทต่างๆ เพื่อไม่ให้ล้มละลาย ซึ่งทำให้เราเห็น “บริษัทซอมบี้” มากมาย คือกึ่งเป็นกึ่งตาย และมีหนี้สินท่วมหัว รัฐเองก็มีหนี้สินเพิ่มจากการอุ้มบริษัทด้วย

พอโควิดระบาด สถานการณ์นี้ร้ายแรงขึ้นหลายเท่า คาดว่าตอนนี้ระบบทุนนิยมโลกเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่แย่กว่าช่วง 1930 เสียอีก คนเริ่มตกงานกันทั่วโลก และรัฐต่างๆ เข้ามาอุ้มกลุ่มทุนต่างๆ มากขึ้น แต่ไม่ช่วยพลเมืองอย่างเพียงพอ แถมมีการวางแผนที่จะตัดค่าแรงเงินเดือน และรัดเข็มขัดตัดระบบสาธารณสุขและสวัสดิการเพิ่มขึ้นอีก

สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ หรือประเทศในยุโรป แต่ลักษณะการเมืองฝ่ายขวายิ่งทำให้สภาพแย่ลงถ้ารัฐบาลปฏิเสธเรื่องโควิด หรือปฏิเสธที่จะใช้งบประมาณช่วยประชาชนในอัตราเพียงพอ ซึ่งต้องทำผ่านการเก็บภาษีจากคนรวย และการตัดงบทหารหรืองบพวกอภิสิทธิ์ชน

อ่านเพิ่ม: วิกฤตเศรษฐกิจ https://bit.ly/2v6ndWf

3. วิกฤตที่สาม วิกฤตโลกร้อน

วิกฤตโลกร้อนมีผลทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวน เกิดอากาศร้อนสุดขั้ว อากาศเย็นสุดขั้ว ไฟป่า พายุ น้ำท่วม ฝนแล้ง ฯลฯ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ และมีส่วนในการผลิตฝุ่นละอองในอากาศด้วย มันจะทำให้การเกษตรล้มเหลวในบางพื้นที่ การประมงมีปัญหา ธรรมชาติและระบบนิเวศน์เสียหายมหาศาล ส่งผลให้ท้าทายสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั่วโลก เพิ่มความยากจน เพิ่มความขัดแย้งระหว่างประเทศ และเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัย

วิกฤตโลกร้อนเป็นวิกฤตที่มาจากระบบทุนนิยมโดยตรง เพราะมีการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน เช่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมทุนนิยม และทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ นายทุน และนักการเมืองส่วนใหญ่ทราบว่ามีปัญหานี้จริง แต่ระบบการแข่งขันในกลไกตลาดแปลว่ากลุ่มทุนใหญ่คิดแต่เรื่องการแสวงหากำไรเฉพาะหน้าโดยไม่สามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมได้เลย และถึงแม้ว่ามีการพูดกันว่าจะลดการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน แต่ในทางรูปธรรมยังไม่มีประเทศไหนที่ทำได้รวดเร็วพอที่จะห้ามวิกฤตนี้ได้

วิธีสำคัญในการลดปัญหาโลกร้อน คือการที่รัฐที่ควบคุมโดยคนธรรมดาตามหลักประชาธิปไตย จะต้องออกมาควบคุมหรือยึดกลุ่มทุนและระบบอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มทุนเกษตร เพื่อเปลี่ยนเป้าหมายในการผลิตจากการแสวงหากำไร ไปเป็นการตอบสนองทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกันในลักษณะที่ปกป้องโลกธรรมชาติ ต้องมีการใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนรถส่วนตัว ต้องใช้รถไฟไฟฟ้าแทนเครื่องบิน ต้องมีการผลิตพลังงานจากแสงแดดและลมพร้อมกับยกเลิกการผลิตพลังงานจากน้ำมัน ถ่านหินหรือก๊าซ ต้องทำอย่างเร่งด่วน แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่เราไม่มีการเปลี่ยนระบบจากทุนนิยมไปเป็นสังคมนิยม

อ่านเพิ่ม: สิ่งแวดล้อม โลกร้อน และ Anthropocene https://bit.ly/2QMpL6F

นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF

วิกฤตโลกร้อนทับถมซ้อนลงไปกับสภาพวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจ และทั้งสามวิกฤตมาจากเนื้อแท้ของระบบทุนนิยม ถ้าเราไม่ร่วมกันเปลี่ยนระบบและโครงสร้างของสังคม มนุษย์ส่วนใหญ่จะตกอยู่ในสภาพสังคมที่โหดร้ายป่าเถื่อนในอนาคตข้างหน้า

คำพูดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ว่าเราเผชิญหน้ากับสองทางเลือกคือ “สังคมนิยมหรือความป่าเถื่อน” ดูเหมือนจะตรงกับความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม สภาพย่ำแย่ของโลกปัจจุบันเป็นประกายไฟในการลุกขึ้นสู้ของคนทั่วโลก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ซึ่งเราเห็นใน ไทย ฮ่องกง อัฟริกา ยุโรป สหรัฐ และลาตินอเมริกา การต่อสู้ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้คือความหวังของเรา

อ่านเพิ่ม: การลุกฮือของมวลชนทั่วโลกในปี 2019 https://bit.ly/2OxpmVr

ใจ อึ๊งภากรณ์