Tag Archives: ว่าด้วยทุน

พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นพรรคมวลชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อคนชั้นล่าง ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับพรรคการเมืองในรัฐสภาที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ และยิ่งกว่านั้นนักต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่าเขาสู้เพื่อสังคมใหม่ที่ดีกว่าสังคมที่ดำรงอยู่ เราจึงต้องให้ความเคารพกับเขาในฐานะฝ่ายซ้ายรุ่นพี่ อย่างไรก็ตาม พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์ เพราะเป็นพรรคแนวเผด็จการสตาลิน-เหมา จะขออธิบายรายละเอียด

พคท. ต้านการปฏิวัติ ๒๔๗๕

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นในยุคที่สตาลินเคยเรียกว่า “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องไม่รวมมือกับใครที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดของสตาลินที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค ในจีน หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของ พคท. ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฎรว่าเป็น “คณะราษฎรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ดูหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ)

คำวิจารณ์ของ พคท. ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ มีการยกเลิกนโยบายซ้ายสุดขั้วของสตาลิน เพื่อหันขวาไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับการที่สตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “กึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน แนวนี้เคยมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ สองปีก่อนที่จะหันซ้ายสู่“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” คือหันขวา หันซ้าย และกลับมาหันขวาอีกครั้ง

สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและทรอตสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้และ คาร์ล มาร์คซ์

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์

เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นการมองว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก

“ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์คซ์ ที่ พคท. ไม่สนใจแปลเป็นไทย

พคท. ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนหน้านี้ แต่ตลอดเวลาที่พรรคมีบทบาทสำคัญในการนำการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ หนังสือสำคัญของ คาร์ล มาร์คซ์ ที่วิเคราะห์ระบบทุนนิยมอย่างละเอียด ไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเลย เราต้องรอจนถึงปี ๒๕๔๒ หลังจากที่ พคท. ล่มสลายไป

สาเหตุสำคัญที่อธิบายปรากฏการณ์นี้คือ ตลอดเวลาที่ พคท. ยังดำรงอยู่ พรรคใช้แนว “สตาลิน-เหมา” ที่ตรงข้ามกับทฤษฎีมาร์คซิสต์ พวกแนว “สตาลิน-เหมา” ทั่วโลกใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์อย่างต่อเนื่อง แต่เนื้อหาและความหมายของคำพูดและคำเขียนของพรรค กลับหัวหลับหางกับความหมายเดิมทั้งสิ้น

“สังคมนิยม” หรือ ระบบ “คอมมิวนิสติ์” ในความหมายมาร์คซิสต์คือระบบที่มาจากการปลดแอกตนเองของชนชั้นกรรมาชีพ ในระบบนี้ในที่สุดการแบ่งแยกทางชนชั้นจะหายไป รัฐจะสลายไป และแม้แต่การปกครองก็หายไป ทั้งนี้เพราะกรรมาชีพทุกคนในสังคมจะร่วมกันกำหนดอนาคตในทุกแง่ และจะร่วมกันกำหนดว่าเราต้องผลิตอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ระบบของนายทุน การกดขี่ขูดรีด และการแสวงหากำไรจะสิ้นสุดลง อย่าลืมว่าระบบทุนนิยม และแม้แต่การแบ่งแยกทางชนชั้น เป็นสิ่งใหม่ ไม่ได้มีตลอดเวลาในประวัติศาสตร์มนุษย์

สตาลินทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เขายึดอำนาจในทศวรรษ1930 และทำลายการปฏิวัติปี 1917 ของพรรคบอลเชวิค และหลังจากที่เขาเข่นฆ่าผู้นำบอลเชวิคทั้งหมด สตาลินหันมาสร้างระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เหนือชนชั้นกรรมาชีพ รัฐถูกทำให้เข้มแข็งขึ้น ระบบทุนนิยมถูกนำมาใช้ในรูปแบบ “ทุนนิยมรวมศูนย์โดยรัฐ” และกรรมาชีพรัสเซียถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกินอย่างโหดร้าย เพื่อผลิตอาวุธแข่งกับตะวันตก การอ่านและโดยเฉพาะการเข้าใจหนังสือ “ว่าด้วยทุน” จึงเป็นเรื่องอันตรายเพราะกรรมาชีพจะเข้าใจว่าตนถูกขูดรีดในระบบชนชั้น ไม่ต่างจากกรรมาชีพในตะวันตกเลย

เหมาเจ๋อตุง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ สตาลิน เมื่อเดินหน้ายึดอำนาจทางการเมืองในจีน ก็ยิ่งเสริมการบิดเบือนแนวคิดมาร์คซิสต์เพิ่มขึ้น โดยเสนอว่ากรรมาชีพไม่ใช่พลังหลักในการสร้างสังคมนิยม เหมา เสนอว่าชัยชนะของพรรคจะต้องมาจากกองทัพชาวนาที่นำโดยปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ และเหมา อธิบายเพิ่มว่าขั้นตอนแรกของการต่อสู้จะต้องเป็นการสถาปนารัฐชาติในระบบทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย” แต่มันเป็นเผด็จการแท้ๆ  ส่วนสังคมนิยมเป็นเรื่องของอนาคตอันห่างไกล

ในไทย พคท. ลอกแบบแนวคิดของเหมามาหมด และสร้างนิยายชาตินิยมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นของสหรัฐและกึ่งศักดินาของชนชั้นปกครองไทย ดังนั้น พคท. เน้นการ “ปลดแอกประเทศ” และการสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” ผ่านการสามัคคีระหว่างทุกชนชั้น รวมถึงการสามัคคีชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งๆ ที่สองชนชั้นนี้เป็นศัตรูกัน ในความเป็นจริงไทยเป็นทุนนิยมมาตั้งแต่การปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ และไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด อำนาจของสหรัฐในภูมิภาคนี้มีลักษณะของ “จักรวรรดินิยม” ซึ่งดำรงอยู่ในระบบโลกจนถึงปัจจุบัน แต่มันไม่ใช่อำนาจของประเทศที่ล่าอาณานิคมแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยทำ

แนวคิด “เหมา” ของ พคท. มีลักษณะที่ต่อต้านการเป็นปัญญาชน ไม่เหมือนกับแนวมาร์คซิสต์ที่สนับสนุนให้กรรมาชีพพัฒนาตนเองเป็น “ปัญญาชนอินทรีย์” ตามที่ กรัมชี เคยพูดถึง ในค่ายป่าของ พคท. สหายต่างๆ มีโอกาสอ่านแต่สรรนิพนธ์ของ “ประธานเหมา”

ซัง ตะวันออก อดีตนักศึกษาที่เข้าป่า เล่าว่า “หนังสือในห้องสมุดมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นบทแปล และหนังสือภาพ (ไชน่าพิคทอเรียล-แปลอังกฤษเป็นไทยเฉพาะคำบรรยาย) หนังสือการ์ตูนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น “ปู่โง่ย้ายภูเขา” “ศึกษาแบบอย่างหมอเบธูน” “ศึกษาจิตใจจางซือเต๋อ” “วีรสตรีหลิวหูหลาน” ฯลฯ หนังสือทฤษฎีลัทธิมาร์คซ์แทบจะไม่มีเลย

วันวา วันวิไล ในหนังสือ “ตะวันตกที่ตะนาวศรี” เล่าว่า “ห้องสมุดเป็นเพียงเพิงเล็กๆ … ส่วนมากเป็นสรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง …. ด้วยเหตุนี้พวกเราทุกคนจึงมีปัญญาเล็กๆ …รู้แต่เรื่องปฏิวัติ เรื่องอื่นไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง กฎหมาย เรื่องราวของต่างประเทศ เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนช่วง ๖ ตุลา ปัญญาชนไทยบางคน ที่ไม่ได้สังกัด พคท. ได้เคยอ่าน “ว่าด้วยทุน” จากฉบับภาษาอังกฤษ สุภา ศิริมานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดี

กำเนิดลัทธิสตาลิน

ลัทธิสตาลินมีต้นกำเนิดจากความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซียซึ่งเริ่มเห็นชัดเจนประมาณปี ค.ศ. 1928 ก่อนหน้านั้นผู้นำการปฏิวัติรัสเซียในยุคแรกๆ สมัยปี ค.ศ. 1917 เช่น เลนิน กับ ทรอตสกี ทราบดีว่าการปฏิวัติในประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซีย ต้องอาศัยการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศพัฒนาในยุโรปตะวันตก เพื่อที่จะนำพลังการผลิตที่ก้าวหน้ากว่ามาสร้างสังคมนิยมในรัสเซีย การสร้างสังคมนิยมในความเห็นของนักมาร์คซิสต์ จึงไม่ใช่การสร้างระบบใหม่ภายในขอบเขตของชาติเดียวในระยะยาว แต่เป็นการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกกับระบบทุนนิยมโลกทั้งระบบ ซึ่งแปลว่าต้องใช้แนวสากลนิยมแทนชาตินิยม

ความล้มเหลวของการปฏิวัติในเยอรมันในยุคเลนิน เป็นเหตุให้สังคมนิยมในรัสเซียเกิดวิกฤติการณ์ระหว่างปี ค.ศ. 1921-1922   โดยที่ เลนิน ได้ให้ข้อสังเกตว่า “สงครามโลกและสงครามกลางเมืองรวมทั้งความยากจนต่างๆนาๆทำให้ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศเราหายไป” และเลนินยังยอมรับอีกว่า “รัฐของเราเป็นรัฐชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกแปรรูปเพี้ยนไปเป็นรัฐราชการ” สรุปแล้วถ้าพลังกรรมาชีพอ่อนแอลง จะไม่สามารถสร้างสังคมนิยมได้ ในขณะที่จำนวนกรรมาชีพในรัสเซียลดลงถึง 43% อิทธิพลของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่ภายใต้การนำของ สตาลิน ก็เพิ่มขึ้นมาแทนที่

การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญที่สุดของสตาลินคือเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการสร้าง “สังคมนิยมในประเทศเดียว” ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1924 เนื่องจากนโยบายชาตินิยมที่ใช้พัฒนารัสเซียของสตาลินหันหลังให้การต่อสู้ของกรรมาชีพในประเทศอื่น นโยบายต่างประเทศของสตาลินก็เปลี่ยนไปด้วย แทนที่จะพยายามปลุกระดมให้กรรมาชีพในประเทศอื่นปฏิวัติ  สตาลินกลับหันมาเน้นนโยบายการทูตแบบกระแสหลักเดิมที่แสวงหาแนวร่วมและมิตรกับรัสเซียโดยไม่คำนึงถึงประเด็นชนชั้นเลย มีการเสนอว่ากรรมาชีพและชาวนาควรสร้างแนวร่วมสามัคคีกับนายทุนเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมและระบบขุนนางหรือศักดินา  ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์จะเห็นว่าขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

กำเนิดของลัทธิเหมา

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนยุคสตาลินเคยเล็งเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นชนชั้นหลักในการปฏิวัติ โดยที่เหมาเจ๋อตุงเป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรคที่เคยทำงานในหมู่กรรมกร สมัยนั้นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เกือบทั้งหมดเป็นกรรมกรในเมืองสำคัญๆที่ ติดทะเลของจีน อย่างไรก็ตามหลังจากที่สตาลินขึ้นมามีบทบาทในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล มีการเสนอว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนควรสร้างแนวร่วมถาวรกับขบวนการกู้ชาติของนายทุนจีนที่มีชื่อว่าพรรคก๊กมินตั๋ง โดยมีคำสั่งให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกก๊กมินตั๋ง และยกรายชื่อสมาชิกพรรคทั้งหมดให้ผู้นำก๊กมินตั๋ง

แต่หลักจากที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนสลายตัวเข้าไปในพรรคก๊กมินตั๋ง ปรากฏว่าผู้นำฝ่ายขวาของก๊กมินตั๋ง โดยเฉพาะเชียงไกเชค ลงมือจัดการกวาดล้างปราบปรามไล่ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ในเมืองต่างๆ จนเกือบไม่เหลือใคร เหมาเจ๋อตุงซึ่งไม่เคยคัดค้านแนวของสตาลินและใช้นโยบายแบบสตาลินในยุคหลังๆตลอด จึงต้องหนีไปทำการสู้รบในชนบท  หลังจากนั้นเหมาเจ๋อตุง จึงสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานในชนบทที่เกิดขึ้นไปแล้ว  กล่าวคือใช้การอ้างว่าการสู้รบในชนบทโดยใช้ชาวนาเป็นหลัก เหมาะกับสภาพสังคมจีนที่มีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับข้ออ้างอันนี้ของเหมาก็คือ ที่รัสเซียในปี ค.ศ. 1917 สังคมมีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่เช่นกัน แต่เลนินและพรรคบอลเชวิคก็ยังคงเน้นความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพตามแนวมาร์คซิสต์ตลอด

แนวการต่อสู้แบบ “ชนบทล้อมเมือง” ของเหมาจึงถูกนำมาใช้ในไทย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทยเกิดขึ้นในเมืองเสมอ และในข้อเขียนต่างๆของเหมาเจ๋อตุง เราจะพบอิทธิพลของสายความคิดสตาลินตลอด เช่นในเรื่องการเน้นลัทธิชาตินิยมเหนือความขัดแย้งทางชนชั้น

เสื้อแดงเสื้อเหลือง

แนวความคิดสตาลินเหมาเป็นรากกำเนิดของการที่ “สหายเก่า” จาก พคท. แตกแยกระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ประเด็นหลักคือความคิดที่เสนอว่าทำแนวร่วมกับใครก็ได้ และการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมต้องรอไปถึงชาติหน้า พวกที่เป็นเสื้อเหลืองหลอกตัวเองว่าการทำแนวร่วมกับพวกเชียร์เจ้าและทหารเป็นนโยบายรักชาติที่ต่อต้านเผด็จการนายทุนอย่างทักษิณ พวกที่เป็นเสื้อแดงก็มองว่าต้องทำแนวร่วมกับนายทุน “ชาติ” อย่างทักษิณ เหมือนที่เคยทำแนวร่วมกับสฤษดิ์

มาร์คซิสต์ปัจจุบัน

พวกเราใน “สังคมนิยมแรงงาน” จะเคารพความพยายามและความเสียสละของสหายเก่าในสมัยที่ พคท. ยังอยู่ แต่เราจะไม่มีวันปกป้องแนวคิด สตาลิน-เหมา ของ พคท. เราจะขยันในการรื้อฟื้นแนวมาร์คซิสต์ในโลกสมัยใหม่ เพิ่มการต่อสู้ทางชนชั้น และสร้างพรรคปฏิวัติ โดยอาศัยองค์ความรู้ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ทรอตสกกี้ โรซา ลักแซมเบอร์ค กับ กรัมชี่

ใจ อึ๊งภากรณ์

10 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

สิบปีผ่านไปหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบอย่างแรงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และลามไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโลก ซึ่งทุกวันนี้เรายังเห็นผลในรูปแบบวิกฤตการเมืองของพรรคกระแสหลัก และการขึ้นมาของพรรคฝ่ายขวาฟาสซิสต์

ในบทความนี้จะขอทบทวนสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 ธนาคารกลางสหรัฐพยายามจะหลีกเลี่ยงการชลอตัวของเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมให้กรรมาชีพกู้เงินในราคาถูกเพื่อซื้อบ้าน ในขณะที่มีการกดค่าแรง มันทำให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่คนจนไม่มีวันจ่ายหนี้นี้ได้ ทำให้คนจนเป็นหนี้ที่เรียกกันว่า “sub-prime” ต่อมามีการขายหนี้คนจนให้บริษัทไฟแนนส์และปั่นราคาหุ้น แต่เมื่อคนจนจ่ายหนี้ไม่ได้ ฟองสบู่การพนันนี้ก็แตก และเกิดวิกฤตในระบบธนาคาร จนธนาคารพี่น้องตระกูลเลห์แมน (Lehman Brothers) ล้มละลาย ธนาคารนี้เป็นธนาคารการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ4 และการล้มละลายครั้งนี้เปิดโปงปัญหาใหญ่ในระบบธนาคารในสหรัฐและยุโรป

ในยุโรปมีการปล่อยกู้ในรูปแบบคล้ายๆ สหรัฐ แต่เป็นการปล่อยกู้ระหว่างธนาคารต่างๆ ในอียู เพื่อให้กับบริษัทต่างๆ และเมื่อเกิดวิกฤตธนาคาร ประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ และสเปนก็มีปัญหา

ก่อนหน้านั้นมีการปั่นหุ้นในบริษัทอินเตอร์เน็ด (dot com) เพื่อวัตถุประสงค์ในการพยุงอัตรากำไรชั่วคราวเช่นกัน ฟองสบู่นั้นก็แตกเหมือนกัน

ในปี 2008/2009 ประเทศที่ใหญ่ที่สุดของโลก 11 ประเทศได้เข้าสู่วิกฤติอย่างแรง องค์กร OECD เสนอว่าในปีค.ศ. 2009 ประเทศที่พัฒนาแล้วประสบปัญหาการชลอตัวของเศรษฐกิจ 4.3% และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง คนงานสหรัฐ  6 แสนกว่าคนต้องตกงานในเดือนเมษายน  และระบบอุตสาหกรรมสหรัฐกำลังชลอตัวลง 12.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในยุโรประบบการผลิตอุตสาหกรรมหดลง 18.4% และในญี่ปุ่นหดลงถึง 38%  จีนก็มีปัญหาด้วย

ท่าทีของรัฐทุนนิยมหลักๆ  เช่นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในสกุลเงินยูโร คือใช้รัฐแทรกแซงตลาดเพื่ออุ้มสถาบันการเงิน รวมถึงการนำธนาคารและสถาบันการเงินเอกชนมาเป็นของรัฐทั้งทางอ้อมและทางตรง นโยบายดังกล่าวได้ทำลายความน่าเชื่อถือของลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาดที่ปฏิเสธรัฐโดยสิ้นเชิง แต่เป้าหมายของการแทรกแซงตลาดโดยรัฐในครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อปกป้องงาน ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือที่อยู่อาศัยของคนธรรมดาแต่อย่างใด เป้าหมายคือการปกป้องระบบทุนนิยมและนายทุนใหญ่ในระบบการเงินต่างหาก

นอกจากนี้ในสหรัฐและยุโรป ธนาคารกลางใช้นโยบายพิมพ์เงินและลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยายามพยุงเศรษฐกิจ ในจีนรัฐบาลใช้รัฐวิสาหกิจพยุงเศรษฐกิจโดยการขยายโครงการสาธารณูปโภค

หลังจากนั้นรัฐบาลตะวันตกก็กอบโกยเงินคืนจากประชาชนด้วยนโยบายรัดเข็มขัด มีการตัดงบประมาณสาธารณสุข สวัสดิการ และการศึกษา มีการกดค่าแรง ลดคนงาน หรือขึ้นภาษีให้คนธรรมดา สรุปแล้วกรรมาชีพคนทำงานถูกบังคับให้อุ้มบริษัทใหญ่และนายทุนที่เล่นการพนันในตลาด ในยุโรปประชาชนกรีซเดือดร้อนมากที่สุด

นโยบายดังกล่าวนำไปสู่ความไม่พอใจและความสิ้นหวังในระบบกระแสหลัก และบวกกับผลของสงครามในส่วนต่างๆ ของโลก ที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผู้ลี้ภัย นำไปสู่การปลุกระดมลัทธิเหยียดสีผิวและเชื้อชาติที่เอื้อประโยชน์กับพรรคฟาสซิสต์ฝ่ายขวาและคนอย่างดอนัลด์ ทรัมป์

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง ไมเคิล โรเบิรตส์ [ดู https://thenextrecession.wordpress.com/ ] ปัญหาแท้จริงที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำในระบบทุนนิยม คือปัญหาอัตรากำไร เพราะนายทุนทุกคนจะประเมินความคุ้มของการลงทุนที่ตัวเลขอัตรากำไรเสมอ อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลงผ่านการแข่งกันลงทุนในเครื่องจักรมากกว่าการลงทุนในการจ้างงาน และมันนำไปสู่การชลอในการลงทุน หรือแสวงหาแหล่งลงทุนนอกภาคการผลิต เช่นในภาคอสังหาริมทรัพย์หรือการปั่นหุ้นเป็นต้น ซึ่งสภาพแบบนี้ทำให้เกิดฟองสบู่ในราคาหุ้น ราคาที่ดิน หรือราคาบ้าน คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายปัญหาพื้นฐานอันนี้ของทุนนิยมในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” [ดู https://bit.ly/2v6ndWf ]

โดยทั่วไปการฟื้นตัวของอัตรากำไรเกิดขึ้นได้ถ้ามีการทำลายทุน หรือมีการทำลายเครื่องจักรในวิกฤต หรือผ่านการทำสงคราม หรืออาจฟื้นตัวถ้ามีการขูดรีดแรงงานหนักขึ้น แต่มันเป็นเรื่องชั่วคราวและความสำเร็จเฉพาะหน้าขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ที่จะทำลายทุนที่เป็นส่วนเกิน หรือความเป็นไปได้ที่จะขูดรีดแรงงานหนักขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันพิสูจน์ว่าระบบทุนนิยมและกลไกตลาดเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ สิ้นเปลือง และไม่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ส่วนใหญ่

ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ ของโลกในยุคนี้ แสดงให้เราเห็นว่าอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร (rate of GDP increase / head หรืออัตราการขยายตัวของมูลค่าที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศหาญด้วยจำนวนประชากร) ไม่ได้กลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี 2008 เลย นอกจากนี้ระดับการค้าขายทั่วโลกก็ซบเซาเมื่อเทียบกับก่อนปี 2008 และแนวโน้มอาจแย่ลงท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและยุโรป

แม้แต่การขยายตัวของจีนก็ช้าลง และความคาราคาซังของเศรษฐกิจโลกกับสงครามการค้า ทำให้ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาที่เคยอาศัยการส่งออกวัตถุดิบมีปัญหามากขึ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกบวกกับการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐ และปัญหาการเมืองในหลายประเทศ ก็เข้ามซ้ำเติม ทำให้มีการถอนทุนจากลาตินอเมริกา ตุรกี อินโดนีเซีย และอัฟริกาใต้ ในที่สุดอาจส่งผลต่อเกาหลีใต้และอินเดียอีกด้วย ซึ่งไทยคงหนีปัญหาไม่ได้

ปัจจุบันระดับหนี้สินของรัฐบาลและกลุ่มทุนในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าระดับหนี้ในเศรษฐกิจโลกเท่ากับ 217% ของผลผลิตมวลรวมทั้งหมดภายในประเทศต่างๆ ซึ่งสูงกว่าระดับหนี้ก่อนวิกฤตปี 2008 และบริษัทไฟแนนส์กับธนาคารก็ใหญ่ขึ้นและมีลักษณะผูกขาดมากขึ้น ถ้าในอนาคตธนาคารแห่งหนึ่งล้มละลายก็จะมีผลกระทบสูงกว่าคราวก่อน นอกจากนี้มีการซื้อขายหุ้นและหนี้ใน “ธนาคารเงา” ที่รัฐต่างๆ ควบคุมไม่ได้เพราะไม่ความโปร่งใส การเพิ่มขึ้นของราคาเงินดอลลาร์และการลดลงของราคาเงินในหลายประเทศของโลก ทำให้ประเทศที่มีหนี้สินเป็นดอลลาร์มีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ตราบใดที่เรายังไม่ล้มทุนนิยมและนำระบบสังคมนิยมมาใช้แทน ชาวโลกก็จะต้องประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่สงครามและความปั่นป่วนทางการเมืองอีกด้วย

200ปี คาร์ล มาร์คซ์

มาร์คซ์เสียชีวิตและถูกฝังที่ลอนดอนในปี 1883 ในงานศพของมาร์คซ์มีคนมาร่วมแค่สิบกว่าคน แต่ในไม่ช้าความคิดของเขากลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะขับเคลื่อนคนเป็นล้านๆ ทั่วโลก ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกมนุษย์ อย่างไรก็ตามในเวลาที่ผ่านมามีหลายคนที่พยายามฝังมาร์คซ์อีกรอบ โดยอ้างว่าความคิดเขาหมดยุค และสังคมต่างๆ “ข้ามพ้น” ประเด็นชนชั้นไปแล้ว ในไทยคนที่พูดแบบนี้ยังมีอยู่ เช่น อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เวลาพูดถึงพรรคอนาคตใหม่ หรือคนที่เป็นอดีตนักเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้วมาเปลี่ยนจุดยืนหลังการล่มสลายของพรรค

marx200-motiv

พอเรามาถึงปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ200ปีแห่งการเกิดของมาร์คซ์ สื่อกระแสหลักถูกบังคับให้หันมาสนใจชีวิตและงานของเขา เพราะพลเมืองในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ได้หันมาศึกษาแนวความคิดมาร์คซิสต์อีกครั้ง สาเหตุใหญ่คือความล้มเหลวของแนวคิดเสรีนิยมกลไกตลาดท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจหลายรอบ ความเสื่อมศรัทธาในพรรคการเมืองกระแสหลัก สงครามที่ก่อตัวเป็นประจำ และการขยายตัวของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย สรุปแล้วระบบทุนนิยมไม่ได้แก้ปัญหาของมนุษย์แต่อย่างใด

ในวัยหนุ่มที่เยอรมัน มาร์คซ์เป็นแค่นักประชาธิปไตยธรรมดา แต่ในไม่ช้าเขาเริ่มเข้าใจว่าการปฏิวัติอังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศส ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลกอย่างถอนรากถอนโคนพอที่จะปลดแอกมวลมนุษย์ มันเป็นการปฏิวัติที่เปลี่ยนผู้กดขี่จากชนชั้นหนึ่งไปสู่ชนชั้นใหม่คือนายทุน มาร์คซ์สรุปว่าถ้าจะปลดแอกมนุษย์อย่างจริงจัง ต้องมีการเปลี่ยนสภาพทางวัตถุในชีวิตประจำวันของทุกคน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเศรษฐศาสตร์การเมือง เขาจึงใช้เวลาในการศึกษานักเศรษฐศาสตร์การเมืองเด่นๆ อย่างเช่นอดัม สมิท และเดวิด ริคาร์โด ผลงานอันยิ่งใหญ่ของมาร์คซ์คือหนังสือ “ว่าด้วยทุน” ที่อธิบายหัวใจของระบบทุนนิยมเพื่อที่จะหาทางโค่นล้มมัน และสร้างสังคมใหม่ที่เน้นความสมานฉันท์และการร่วมมือกันแทนการแย่งชิงแข่งขันและขูดรีด (ดูรายละเอียดหนังสือ “ว่าด้วยทุน”ที่นี่ https://bit.ly/2iWRQtY )

มาร์คซ์เข้าใจดีว่าระบบทุนนิยมมีพลังมหาศาลในการพัฒนาระบบการผลิต และเขาเขียนเรื่องนี้ใน “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” (ดู https://bit.ly/2ItmKqm ) แต่ในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” มาร์คซ์อธิบายกลไกภายในของระบบทุนนิยมที่ทำให้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มด้วยบทที่กล่าวถึงการผลิต “สินค้า” แต่แทนที่จะคล้อยตามพวกนักเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลัก ที่หลงเชื่อว่าสินค้าและการแลกเปลี่ยนในตลาดสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ มาร์คซ์อธิบายว่าทุนนิยมเป็นสังคมที่ไร้เสรีภาพและเต็มไปด้วยการขูดรีด

ในระบบทุนนิยมปัจจัยการผลิตต่างๆ อยู่ในมือของบริษัทต่างๆ ซึ่งเอาตัวรอดได้ถ้ามีการขายผลผลิต กลไกของระบบถูกผลักดันโดยการแข่งขันระหว่างบริษัทต่างๆ เพื่อเอาชนะคู่แข่ง ในการแข่งขันดังกล่าวการแสวงหาและขยายกำไรเป็นเรื่องชี้ขาด มาร์คซ์ใช้และพัฒนาทฤษฏีของ สมิท กับ ริคาร์โด เพื่อชี้ให้เห็นว่ากำไรดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทำงานของกรรมาชีพธรรมดา แต่มูลค่าของกำไรนี้ถูกนายทุนขโมยไปจากกรรมาชีพ และกลไกของทุนนิยมช่วยปกปิดการขโมยหรือการขูดรีดจากสายตาของมนุษย์ กรรมาชีพคนงานอาจดูผิวเผินว่าเป็นแรงงาน “เสรี” ต่างจากทาสในสมัยก่อน แต่ในความเป็นจริงพลเมืองส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกในการเลี้ยงชีพนอกจากการยอมจำนนต่อการขูดรีดของนายทุน สภาพเช่นนี้มาจากการที่พวกเรามีแต่ความสามารถในการทำงานเท่านั้น ที่เราจะไปแลกกับปัจจัยในการเลี้ยงชีพ

ในระยะแรกๆ ของระบบทุนนิยมในตะวันตก มาร์คซ์อธิบายว่าแรงงานถูกผลักออกจากที่ดินด้วยความรุนแรง เพื่อบังคับให้เป็นคนงานในโรงงานต่างๆ แต่ในกรณีทุนนิยมที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นของโลกหลังจากนั้น เช่นในไทย เราจะเห็นได้ว่าแรงงานถูกดึงเข้าเมืองเพราะไม่สามารถเลี้ยงชีพจากที่ดินได้ ผลที่ได้มาไม่ต่างกันนัก

ถ้าบริษัททุนจะเอาตัวรอดได้ ระบบการแข่งขันบังคับให้กลุ่มทุนต้องขูดรีดลูกจ้าง สะสมทุนที่มาจากกำไรที่ลูกจ้างสร้าง และนำทุนดังกล่าวไปลงทุนต่อ ปรากฏการณ์นี้ทำให้ทุนนิยมขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะมีการลงทุนในเครื่องจักรมากขึ้นทุกวันแทนการขยายการจ้างงานในอัตราเดียวกัน การลงทุนแบบนี้มีผลทำให้อัตรากำไรลดลง อัตรากำไรคือกำไรเมื่อเทียบกับสัดส่วนปริมาณการลงทุนทั้งหมด (ดู https://bit.ly/2HZwn0y )

ในรายการที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คุยกับแรงงาน เขาอธิบายว่าบริษัทกลุ่มทุน “ต้อง” สร้างกำไรก่อนที่จะขึ้นค่าจ้างได้ แต่เขาไม่อธิบายว่ากำไรดังกล่าวมาจากการทำงานของลูกจ้างแต่แรก ไม่ได้มาจากการกระทำของเจ้าของบริษัทแต่อย่างใด และการที่เขายอมรับ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของกระบวนการสร้างกำไร แสดงว่าธนาธรยอมรับว่าต้องมีการขูดรีดแรงงาน แรงงานไม่มีวันที่จะมีเสรีภาพได้ และวิกฤตเศรษฐกิจกับความเหลื่อมล้ำย่อมมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง อันนี้เป็นมุมมองสามัญของคนที่ไม่ใช่นักสังคมนิยม

มาร์คซ์อธิบายการทำงานของระบบทุนนิยมเพื่อให้พวกเราสามารถล้มมันได้ในที่สุด เขาอธิบายว่านายทุนดึงคนงานเข้ามาทำงานในสถานประกอบการ โดยที่แต่ละคนต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนร่วมงานในการทำงาน มันไม่ใช่กิจกรรมของปัจเจก สิ่งนี้ทำให้กรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นในการต่อสู้กับนายทุนถ้ารวมตัวกันและสามัคคีได้ ยิ่งกว่านั้น การทำงานร่วมกัน และการใช้พลังจากความสามัคคี เป็นหน่ออ่อนของสังคมใหม่ได้ มันเป็นรากฐานของระบบสังคมนิยมที่คนธรรมดาควบคุมการผลิตและจัดการให้กิจกรรมต่างๆ ในสังคมกระทำไปเพื่อตอบสนองความต้องการแท้ของมนุษย์ แทนที่จะทำไปเพื่อการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนและการขูดรีด

สังคมนิยมของมาร์คซ์ เป็นระบบประชาธิปไตยเต็มตัว ต่างโดยสิ้นเชิงจากระบบเผด็จการ “สตาลิน-เหมา” ที่เคยมีในรัสเซียและยังมีในจีน และต่างโดยสิ้นเชิงจากระบบประชาธิปไตยครึ่งใบที่พบในประเทศทุนนิยมตะวันตกรวมถึงประเทศที่มีรัฐสวัสดิการด้วย (ดู https://bit.ly/2IaUXrh )

มาร์คซ์เขียนเสมอว่า “การปลดแอกมนุษย์ต้องเป็นการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพเอง” แต่ถ้าจะมีพลังพอที่จะยึดอำนาจมาเป็นของคนส่วนใหญ่ได้ กรรมาชีพจะต้องสามัคคีข้ามเชื้อชาติ สีผิว หรือเพศ และที่สำคัญพอๆ กันคือต้องมีการจัดตั้งทางการเมืองในรูปแบบพรรคปฏิวัติ

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาจากบทความของ Alex Callinicos ในหนังสือพิมพ์ Socialist Worker]

ความสำคัญของทฤษฎีมูลค่าแรงงานในหนังสือ “ว่าด้วยทุน”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตั้งแต่ทฤษฏีมูลค่าแรงงานของ คาร์ล มาร์คซ์ ถูกนำเสนอต่อชาวโลก ฝ่ายขวา รวมถึงนักวิชาการที่สนับสนุนนายทุน ก็ออกมาโจมตีคัดค้าน ทั้งนี้เพราะ ทฤษฏีนี้อธิบายการขูดรีดของระบบทุนนิยม และพิสูจน์ว่าการกอบโกยกำไรของนายทุนไม่มีความชอบธรรม ยิ่งกว่านั้นมันตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องมีเจ้านาย ทำไมต้องมีนายทุน ทำไมต้องมีวิกฤตเศรษฐกิจ ทำไมต้องมีรัฐ ทำไมต้องมีสงคราม?”  และที่น่าสมเพชคือพวกฝ่ายซ้ายบางส่วน ที่ผิดหวังกับลัทธิสตาลิน-เหมาเพราะไม่เข้าใจว่ามันไม่ใช่แนวมาร์คซิสต์ หรือที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลความคิดของชนชั้นปกครอง ก็เริ่มตั้งคำถามกับทฤษฏีนี้ด้วย ตัวอย่างเช่น Slavoj Zizek , Toni Negri, Michael Hardt

นักเศรษฐศาสตร์การเมืองดั้งเดิม เช่น จอห์น ล็อค, เดวิด ริคาร์โด หรือ อดัม สมิท เสนอมานานแล้วว่า “มูลค่า” มาจากการทำงานของมนุษย์ แต่ในกรณี อดัม สมิท และนักเศรษฐศาสตร์การเมืองฝ่ายทุนนิยมปัจจุบัน(พวกเสรีนิยมใหม่) มักมีการเสนอเสริมว่า ที่ดิน เครื่องจักร ทุน และการแลกเปลี่ยนค้าขายภายใต้กลไก “อุปสงค์-อุปทาน” สามารถสร้างมูลค่าได้ แต่ปัญหาสำคัญของมุมมองนี้คือ เขามองทุนนิยมในลักษณะภาพถ่ายนิ่งในเวลาใดเวลาหนึ่ง ในขณะที่ทุนนิยมเป็นระบบที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นพวกนี้จะจงใจมองข้ามแรงงานที่ทำให้ที่ดินเหมาะสมกับการผลิตในอดีต หรือแรงงานที่สร้างเครื่องจักรในอดีต หรือที่มาของ “ทุน” ที่อยู่ในมือนายทุนในปัจจุบัน ซึ่งมาจากการสะสมทุนบุพกาล ผ่านการไล่คนออกจากที่ดินและบังคับให้ทำงานในโรงงานของนายทุน หรือผ่านการใช้ไพร่ ทาส หรือบังคับเก็บส่วย

ส่วนเรื่องที่มีการเสนอว่ามูลค่ามากจากการแลกเปลี่ยนในตลาดผ่านกระบวนการ อุปสงค์-อุปทาน นั้น มาร์คซ์อธิบายว่านักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้สับสนระหว่าง “ราคาในตลาด” กับ “มูลค่า” ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกัน

ทฤษฏีมูลค่าแรงงานของมาร์คซ์เสนอว่า “มูลค่า” ของสินค้าชนิดหนึ่ง ถูกกำหนดจาก “ปริมาณแรงงาน” ที่ใช้ผลิตสินค้าเหล่านั้น แต่ปริมาณแรงงานดังกล่าวมีส่วนประกอบที่มาจากเวลา (ชั่วโมงในการสร้างสินค้า) และความเข้มข้นในการทำงานอีกด้วย (ฝีมือ ความกระตือรือร้น ความขยัน) และกำหนดจากปริมาณแรงงานเฉลี่ยของทั้งสังคมในการผลิตสินค้านั้นๆ โดยพิจารณาการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและทันสมัยอีกด้วย เพราะปริมาณแรงงานที่กำหนดมูลค่าย่อมเป็นปริมาณแรงงานที่ใช้ในกระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

พวกนักเศรษฐศาสตร์การเมืองฝ่ายซ้ายบางคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสำนัก “ริคาร์โด-ใหม่” จะโจมตีทฤษฏีมูลค่าแรงงานของมาร์คซ์ เพราะ “ใช้คำนวณมูลค่าไม่ได้” แต่เขาเข้าใจผิดอย่างแรง เพราะทฤษฏีนี้ไม่ได้มีไว้วัดหรือคำนวณมูลค่าของสินค้าชิ้นหนึ่งแต่อย่างใด มันมีไว้เพื่อเข้าใจกลไกและความสัมพันธ์ต่างๆ ของระบบทุนนิยมต่างหาก

การเข้าใจ “หัวใจ” ของระบบทุนนิยมที่มี “มูลค่าจากแรงงาน” เป็นเรื่องพื้นฐาน ทำให้เราสามารถเข้าใจประเด็นอื่นๆ ที่ตามมาคือ

  1. การขูดรีดและกำไรในระบบชนชั้น
  2. วิกฤตเศรษฐกิจ
  3. รัฐ
  4. จักรวรรดินิยม
  5. การกดขี่ทางเพศหรือสีผิว/เชื้อชาติ
  6. พลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยม
  1. การขูดรีดและกำไรในระบบชนชั้น

ในเมื่อมูลค่ามาจากการทำงานของกรรมาชีพ และไม่ได้มาจากการลงทุนของนายทุนหรือจากเครื่องจักร การที่นายทุนจ่ายค่าจ้างให้กรรมาชีพในปริมาณต่ำกว่ามูลค่าที่ผลิต และการที่นายทุนกอบโกยกำไรจากผลการทำงานของผู้อื่น ถือว่าเป็นการขโมย หรือ “ขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน” ซึ่งย่อมไร้ความชอบธรรม พูดง่ายๆ นายทุนขโมยผลงานส่วนหนึ่งของแรงงาน และขโมยได้เพราะปัจจัยการผลิตถูกยึดมาอยู่ในมือนายทุนตั้งแต่การประกาศว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินหรือการประกาศเก็บส่วย ฯลฯ ดังนั้นคนส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกนอกจากจะเป็นลูกจ้างคนอื่น และระบบนี้เป็นระบบ “ชนชั้น” เพราะคนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งคุมปัจจัยการผลิต ในขณะที่คนส่วนใหญ่ทำงานเป็นลูกจ้าง ระบบชนชั้นนี้สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย มันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติแต่อย่างใด และไม่ใช่เรื่องว่าใครขี้เกียจหรือขยัน ไม่ใช่เรื่องว่าใครเก่งใครโง่ มันมาจากการใช้กำลังและความรุนแรงในอดีต

  1. วิกฤตเศรษฐกิจ

ในระบบทุนนิยม นายทุนถูกบังคับโดยการแข่งขันในกลไกตลาด ให้ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตโดยการซื้อเครื่องจักรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่เครื่องจักรเหล่านี้ไม่ได้ผลิตมูลค่า มูลค่ามาจากการทำงานของลูกจ้างกรรมาชีพ เครื่องจักรเพียงแต่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของการทำงานของกรรมาชีพ ดังนั้นการที่จะกอบโกยกำไรได้ ต้องมาจากการจ้างงาน ส่วนการซื้อเครื่องจักรแพงๆ เป็นการเพิ่มค่าผลิตที่ลดอัตรากำไร แต่มีความจำเป็นเพื่อการแข่งขัน มาร์คซ์เสนอว่าในระบบทุนนิยมมี “แนวโน้มของการลดลงของอัตรากำไร” เพราะสาเหตุดังกล่าว และการลดลงของอัตรากำไรทำให้มีการชะลอการลงทุนหรือการแห่กันไปปั่นหุ้นจนเกิดฟองสบู่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นวิกฤตปี ๒๕๓๙ หรือปี ๒๕๕๒ และประเด็นสำคัญคือนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอธิบายกลไกพื้นฐานที่นำไปสู่วิกฤตไม่ได้เลย มักจะตกอกตกใจเมื่อเกิดวิกฤตเสมอ และตามนิสัยใจคอของผู้ขูดรีดมูลค่าจากคนอื่น ชนชั้นนายทุนมักโยนภาระในการแก้วิกฤตไปสู่คนธรรมดาเสมอ

  1. รัฐ

ในเมื่อระบบทุนนิยมมีการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากประชาชนส่วนใหญ่โดยคนส่วนน้อย ซึ่งเป็นเป็นหัวใจของระบบ สิ่งที่ชนชั้นนายทุนเกรงกลัวมากที่สุดคือการกบฏ ดังนั้นหน้าที่ของ “รัฐ” คือเพื่อเป็นองค์กร “บังคับความชอบธรรมของการขูดรีด”ผ่านศาล กฎหมาย และหน่วยติดอาวุธเช่นทหารหรือตำรวจ และรัฐมีหน้าที่กล่อมเกลาประชาชนผ่านสื่อ ศาสนา และโรงเรียน เพื่อให้ผู้ที่ถูกขูดรีดมองว่าสภาพการถูกปล้นนี้เป็นเรื่องปกติ ชอบธรรมและธรรมชาติ

  1. จักรวรรดินิยม

รัฐใดรัฐหนึ่งไม่เคยอยู่ในโลกอย่างโดดเดี่ยว ทุกรัฐเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบรัฐของโลก” รัฐมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของนายทุนที่มีฐานกิจกรรมในประเทศนั้น แต่ในขณะเดียวกันในระบบโลกาภิวัตน์กลุ่มทุนต้องการข้ามพรมแดนไปผลิตและค้าขายในรัฐอื่น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทุนข้ามชาติจึงเป็นความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธี คือทั้งพึ่งพาและขัดแย้งพร้อมกัน ประเด็นสำคัญคือกลุ่มทุนต่างๆ และรัฐของมัน แข่งขันทั้งทางตลาดและทางทหารกับกลุ่มทุนและรัฐอื่น เพื่อขูดรีดแรงงานและกอบโกยมูลค่าจากกรรมาชีพทั่วโลก นี่คือรูปธรรมโลกจริงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และในความขัดแย้งหรือการร่วมมือกันระหว่างรัฐ สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจ มีผลในการสร้างหรือเพิ่มความขัดแย้งและข้อจำกัดว่ารัฐใดจะมีอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจในการข่มเหงรัฐอื่นแค่ไหน

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐ รัสเซีย จีน และอียู ในโลกสมัยใหม่ที่เราเห็นกับตา คำทำนายของ Toni Negri และMichael Hardt ว่าจักรวรรดินิยมขั้วต่างๆ จะหมดไปโดยมีมหาอำนาจเดียว หรือสิ่งเขาที่เรียกว่า Empire เข้ามาแทนที่ ได้ถูกพิสูจน์ว่าไม่ตรงกับความจริงแต่อย่างใด

  1. การกดขี่ทางเพศ สีผิว/เชื้อชาติ

อคติหรือทัศนะของสังคม ในเรื่องเพศ มาจากความต้องการของนายทุนที่จะใช้ระบบครอบครัวเพื่อผลิตคนงานรุ่นใหม่ เพื่อมาใช้ขูดรีด โดยที่ผู้หญิงทำงานฟรีในครอบครัว และค่านิยมที่ส่งเสริมให้ผู้ชายคิดว่าตนเองเหนือกว่าผู้หญิง หรือค่านิยมคลั่งชาติ หรือเกลียดคนสีผิวอื่น มีประโยชน์ต่อนายทุนในการสร้างความแตกแยกในขบวนการแรงงาน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้คนงานสามัคคีกันและสู้กับนายทุนเพื่อเอาคืนมูลค่าส่วนเกินที่ถูกขโมยไป นอกจากนี้การที่ระบบทุนนิยมพร้อมจะทำลายวิถีชีวิตเก่าๆ ของคนพื้นเมืองต่างๆ เป็นเพราะวิถีชีวิตดังกล่าวเป็นอุปสรรค์ต่อการขยายระบบขูดรีดมูลค่าจากแรงงาน

  1. พลังในการเปลี่ยนสังคมไปสู่สังคมนิยม

นักมาร์คซิสต์มองว่าชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นในการปฏิวัติสังคมเพื่อนำไปสู่สังคมนิยม สาเหตุสำคัญที่มองแบบนี้ก็เพราะกรรมาชีพมีบทบาทหลักในการสร้างมูลค่าทั้งปวงของสังคม และแถมยังถูกบังคับให้ทำงานแบบรวมหมู่อีกด้วย ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน และต้องรวมตัวกันเพื่อการต่อสู้ในสหภาพแรงงาน ฯลฯ

แต่นักมาร์คซิสต์ไม่เคยหลงเชื่อว่ากรรมาชีพจะมีจิตสำนึกเพื่อสังคมนิยมโดยอัตโนมัติ นั้นเป็นแนวคิดสตาลิน-เหมาต่างหาก สำหรับมาร์คซิสต์การปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมนิยมต้องอาศัยการต่อสู้กับความคิดคับแคบเก่าๆ ที่ได้มาจากชนชั้นปกครอง นี่คือสาเหตุที่เราเน้นการสร้างพรรค เพื่อเป็นคลังความทรงจำและหน่วยรบหน่วยโฆษณาทางการเมือง

นอกจากนี้ “กรรมาชีพ” ที่เราพูดถึงว่ามีบทบาทในการสร้างมูลค่า ในโลกสมัยนี้ ไม่ใช่แค่คนทำงานในโรงงาน แต่เป็นคนที่คิดค้นเทคโนโลจี เป็นครูบาอาจารย์ที่ฝึกฝนฝีมือให้กับคนงาน เป็นพนักงานขนส่ง การเงิน หรือการค้าขาย และเป็นพนักงานในโรงพยาบาลที่รักษาสุขภาพของคนงานอีกด้วย

แต่นักวิชาการฝ่ายซ้ายอย่าง Slavoj Zizek, Toni Negri, Michael Hardt สับสนเรื่องกรรมาชีพและการผลิตมูลค่า เพราะผิดหวังในความล้าหลังของกรรมาชีพในบางยุค หรือมองว่า “มวลชนหลวมๆ” ที่จำกัดความยาก จะเป็นผู้เปลี่ยนสังคม หรือมองว่ามูลค่าผลิตจาก “เศรษฐกิจทางปัญญา” ได้ นอกจากนี้บางคนอาจสิ้นหวังไปทั้งหมดและที่สำคัญคือ คิดว่าการสร้างพรรคไม่มีประโยชน์ในการปลดแอกมนุษย์เลย แต่ไม่ว่านิสิตนักศึกษารุ่นใหม่จะมองว่าพวกนี้ “ทันสมัย” แค่ไหน แนวคิดของเขาไม่สามารถสร้างความเข้าใจในโลกจริงรอบตัวเราอย่างที่มาร์คซ์และทฤษฏีมูลค่าแรงงานของเขาสร้างได้ เราชาวมาร์คซิสต์สามารถพัฒนาและปรับปรุงมันให้ทันสมัยได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องปฏิเสธทฤษฏีนี้ ไม่ต้องปฏิเสธพลังซ่อนเร้นของกรรมาชีพ หรือปฏิเสธประโยชน์ของการสร้างพรรคแต่อย่างใด

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2iWRQtY

“ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์คซ์ กับฝ่ายซ้ายไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อเกือบ 90 ปีก่อนหน้านี้ แต่ตลอดเวลาที่พรรคมีบทบาทสำคัญในการนำการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ หนังสือสำคัญของ คาร์ล มาร์คซ์ ที่วิเคราะห์ระบบทุนนิยมอย่างละเอียด ไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยจนถึงปี ๒๕๔๒ หลังจากที่ พคท. ล่มสลายไปสิบกว่าปี

สาเหตุสำคัญที่อธิบายปรากฏการณ์นี้คือ ตลอดเวลาที่ พคท. ยังดำรงอยู่ พรรคใช้แนว “สตาลิน-เหมา” ที่ตรงข้ามกับทฤษฏีมาร์คซิสต์ และในขณะที่พวกแนว “สตาลิน” ใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์อย่างต่อเนื่อง แต่เนื้อหาและความหมายของคำพูดและคำเขียนของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ตั้งแต่ยุคสตาลิน กลับหัวหลับหางกับความหมายตามทฤษฏีมาร์คซิสต์

“สังคมนิยม” หรือ ระบบ “คอมมิวนิสติ์” ในความหมายมาร์คซิสต์คือระบบที่มาจากการปลดแอกตนเองของชนชั้นกรรมาชีพ ในระบบนี้การแบ่งแยกทางชนชั้นจะหายไป รัฐจะสลายไป และแม้แต่การปกครองก็หายไป ทั้งนี้เพราะกรรมาชีพทุกคนในสังคมจะร่วมกันกำหนดอนาคตในทุกแง่ และจะร่วมกันกำหนดว่าเราต้องผลิตอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ระบบของนายทุน การกดขี่ขูดรีด และการแสวงหากำไรจะสิ้นสุดลง อย่าลืมว่าระบบทุนนิยม และแม้แต่การแบ่งแยกทางชนชั้น ไม่ได้มีมาตลอดเวลาที่มนุษย์อยู่บนโลกจากอดีตถึงปัจจุบัน

แต่สตาลินทำในสิ่งตรงข้าม หลังจากที่เขายึดอำนาจในทศวรรษ1930 และทำลายการปฏิวัติปี 1917 ของพรรคบอลเชวิค และหลังจากที่เขาเข่นฆ่าผู้นำบอลเชวิคทั้งหมด สตาลินก็หันมาสร้างระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เหนือชนชั้นกรรมาชีพ รัฐถูกทำให้เข้มแข็งขึ้น ระบบทุนนิยมถูกนำมาใช้ในรูปแบบ “ทุนนิยมรวมศูนย์โดยรัฐ” และกรรมาชีพรัสเซียถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกินอย่างโหดร้าย เพื่อผลิตอาวุธแข่งกับตะวันตก

eac06f701dc8810152d86a9d327877d2

ในรัสเซีย และประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันออก การอ่านและเข้าใจหนังสือ “ว่าด้วยทุน” โดยกรรมาชีพธรรมดาจะเป็นเรื่องอันตรายในสายตาชนชั้นปกครอง เพราะกรรมชีพจะเข้าใจว่าตนถูกขูดรีดในระบบชนชั้น ไม่ต่างจากกรรมาชีพในทุนนิยมของตะวันตกเลย

เหมาเจ๋อตุง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ สตาลิน เมื่อเดินหน้ายึดอำนาจทางการเมืองในจีน ก็ยิ่งเสริมการบิดเบือนแนวคิดมาร์คซิสต์เพิ่มขึ้น โดยเสนอว่ากรรมาชีพไม่ใช่พลังหลักในการสร้างสังคมนิยม เหมา เสนอว่าชัยชนะของพรรคจะต้องมาจากกองทัพชาวนาที่นำโดยปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ ยิ่งกว่านั้น เหมา อธิบายว่าขั้นตอนแรกของการต่อสู้จะต้องเป็นการสถาปนารัฐชาติในระบบทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่เป็นเผด็จการแท้ๆ  ส่วนสังคมนิยมเป็นเรื่องของอนาคตอันห่างไกล

ในไทย พคท. ลอกแบบแนวคิดของเหมามาหมด และสร้างนิยายว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นของสหรัฐและกึ่งศักดินาของชนชั้นปกครองไทย ดังนั้น พคท. เน้นการ “ปลดแอกประเทศ” และการสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” ผ่านการสามัคคีระหว่างทุกชนชั้น รวมถึงการสามัคคีชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งๆ ที่สองชนชั้นนี้เป็นศัตรูกัน ในความเป็นจริงไทยเป็นทุนนิยมมาตั้งแต่การปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ และไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด อำนาจของสหรัฐในภูมิภาคนี้มีลักษณะของ “จักรวรรดินิยม” ซึ่งดำรงอยู่ในระบบโลกจนถึงปัจจุบัน แต่มันไม่ใช่อำนาจของประเทศที่ล่าอาณานิคมแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยทำ

แนวคิดชาตินิยมล้วนๆ ของ พคท. แปลว่าการศึกษาการต่อสู้ทางชนชั้น การขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน หรือการเข้าใจธาตุแท้ของระบบทุนนิยม เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวทางของพรรค ดังนั้นแกนนำของพรรคไม่ต้องการให้ใครแปลหนังสือ “ว่าด้วยทุน” เป็นภาษาไทย

ยิ่งกว่านั้นแนวคิด “เหมา” ของ พคท. มีลักษณะที่ต่อต้านการเป็นปัญญาชน ไม่เหมือนกับแนวมาร์คซิสต์ที่สนับสนุนให้กรรมาชีพพัฒนาตนเองเป็น “ปัญญาชนอินทรีย์” ตามที่ กรัมชี เคยพูดถึง ในค่ายป่าของ พคท. สหายต่างๆ มีโอกาสอ่านแต่สรรนิพนธ์ของ “ประธานเหมา”

cpt2

ซัง ตะวันออก อดีตนักศึกษาที่เข้าป่า เล่าว่า “หนังสือในห้องสมุดมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นบทแปล และหนังสือภาพ (ไชน่าพิคทอเรียล-แปลอังกฤษเป็นไทยเฉพาะคำบรรยาย) หนังสือการ์ตูนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น “ปู่โง่ย้ายภูเขา” “ศึกษาแบบอย่างหมอเบธูน” “ศึกษาจิตใจจางซือเต๋อ” “วีรสตรีหลิวหูหลาน” ฯลฯ หนังสือทฤษฎีลัทธิมาร์คซ์แทบจะไม่มีเลย อย่าง “ว่าด้วยทุน” “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์”  หรือ “การสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน” ซึ่งถ้าใครไม่เคยอ่านก่อนเข้าป่าช่วงที่มีหนังสือแนวซ้ายพิมพ์ออกมาหลัง ๑๔ ตุลา ก็อย่าหวังว่าจะได้อ่านอีกเลย” (หนังสือ “การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์” ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ ๒๕๔๓ สำนักพิมพ์ป.ร. บทที่ 8)

วันวา วันวิไล ในหนังสือ “ตะวันตกที่ตะนาวศรี” (www.2519.net) เล่าว่า “ห้องสมุดเป็นเพียงเพิงเล็กๆ … ส่วนมากเป็นสรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง …. ด้วยเหตุนี้พวกเราทุกคนจึงมีปัญญาเล็กๆ …รู้แต่เรื่องปฏิวัติ เรื่องอื่นไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง กฏหมาย เรื่องราวของต่างประเทศ เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนช่วง ๖ ตุลา ปัญญาชนไทยบางคน ที่ไม่ได้สังกัด พคท. ได้เคยอ่าน “ว่าด้วยทุน” จากฉบับภาษาอังกฤษ สุภา ศิริมานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดี และเขาได้รับอิทธิพลจาก เจ. เอฟ. ฮัตเจส ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายจากอังกฤษ ที่อาจารย์ปรีดีเชิญมาสอนลัทธิมาร์คซ์และลัทธิเศรษฐศาสตร์การเมืองอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในการพูดถึงแนวมาร์คซิสต์ ฮัตเจสสัน มักจะวิจารณ์แนวเผด็จการของสตาลิน

สุภา ศิริมานนท์ ค้านพวกนักวิชาการที่อ้างอยู่เรื่อยว่าแนวมาร์คซิสต์ใช้ไม่ได้ในโลกสมัยใหม่ โดยการอธิบายว่าแนวมาร์คซิสต์มองสองด้านตลอด และมองในลักษณะที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ ดังนั้นระบบการวิเคราะห์แบบมาร์คซิสต์สามารถปรับตัวให้ทันสมัยตลอดเวลา

หนังสือ “ว่าด้วยทุน” ของ คาร์ล มาร์คซ์ เป็นงานที่วิวัฒนาการตลอดชีวิตของมาร์คซ์ มันไม่เคยเป็นผลงานสำเร็จรูป เพราะ มาร์คซ์ ไม่เคยหยุดวิเคราะห์และเรียนรู้ และเขาเป็นคนที่จบอะไรไม่เป็น ปิดเล่มไม่ได้ เพราะมักจะสนใจประเด็นปลีกย่อยไปเรื่อยๆ และปรับปรุงงานเก่าอย่างต่อเนื่อง ลักษณะแบบนี้ของ มาร์คซ์ สร้างความเครียดให้กับ เองเกิลส์ เพื่อนรักและผู้ร่วมงานของเขาเป็นอย่างมาก เพราะเองเกิลส์รับหน้าที่ตีพิมพ์ผลงานของ มาร์คซ์

มาร์คซ์ มองว่าทุนนิยมเป็น “ความสัมพันธ์” ระหว่างมนุษย์ในชนชั้นต่างๆ ที่มีความแปลกแยกห่างเหินสองชนิดพร้อมกันคือ (1) ความแปลกแยกระหว่างกรรมาชีพผู้ทำงาน กับระบบการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน และ(2) ความแปลกแยกระหว่างนายทุนแต่ละคนหรือหน่วยงาน ที่แข่งขันกันในตลาด

มาร์คซ์ ศึกษาระบบทุนนิยมเพื่อหาทางล้มทำลายมัน เป้าหมายหลักของมาร์คซ์ก็เพื่อให้กรรมาชีพสามารถสร้างสังคมนิยมได้ ดังนั้น “ว่าด้วยทุน” เป็นงานที่ผสมทฤษฏีกับการปฏิบัติเสมอ (ดู http://bit.ly/2fOSurV )

1366103357

คนไทยคนแรกที่แปล “ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์กซ์  เป็นภาษาไทย คือ เมธี เอี่ยมวรา ในปี ๒๕๔๒ โดยเล่มหนึ่งและเล่มสองพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ธีรทรรศน์ น่าเสียดายที่ เมธี เอี่ยมวรา ไม่ได้แปลเล่มที่สามของมาร์คซ์ อย่างไรก็ตามงานสองเล่มของ เมธี เอี่ยมวรา เปิดโอกาสให้นักเคลื่อนไหวและนักศึกษาสามารถเข้าถึง “ว่าด้วยทุน” มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในขบวนการแรงงาน สามารถใช้หนังสือของ คาร์ล มาร์กซ์ ชื่อ “แรงงาน ค่าจ้าง และเงินทุน” (เช่นฉบับสำนักพิมพ์พรรคสัจจธรรมมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี ๒๕๓๙) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ว่าด้วยทุน” หนังสือเล่มเล็กเล่มนี้ถูกใช้เพื่อศึกษาทฤษฏีมูลค่าแรงงานและการขูดรีด

ในปี ๒๕๓๘ ผมได้ย่อและเรียบเรียงงาน “ว่าด้วยทุน” ทั้งสามเล่มของ คาร์ล มาร์คซ์ เป็นภาษาไทย เพื่อให้ผู้สนใจเข้าใจงานนี้ดีขึ้น แต่งานนี้เรียกว่า “งานแปล” ไม่ได้เพราะเป็นฉบับย่อเพื่อการศึกษาเท่านั้น อ่านได้ที่นี่ http://bit.ly/129xlhF หรือ http://bit.ly/2fP0lFL

%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b8%97%e0%b8%b8%e0%b8%99-das-kapital1

พัฒนาการล่าสุดของการแปลหรือเรียบเรียง “ว่าด้วยทุน” เป็นภาษาไทย คืองานของ บุญศักดิ์ แสงระวี ซึ่งเรียบเรียงและย่อทั้งสามเล่มของ คาร์ล มาร์คซ์ ในปี ๒๕๕๙ (สำนักพิมพ์ชุมศิป์ธรรมดา) สามเล่มนี้อ่านง่ายกว่างานของ เมธี เอี่ยมวรา และคงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยกับ “ปัญญาชนอินทรีย์” ที่ยืนอยู่เคียงข้างคนจน

แกะเปลือก “ว่าด้วยทุน”

ใจ อึ๊งภากรณ์

หนังสือ “ว่าด้วยทุน” ของ คาร์ล มาร์คซ์ ถือว่าเป็นงานที่วิวัฒนาการตลอดชีวิตของมาร์คซ์ มันไม่เคยเป็นผลงานสำเร็จรูป เพราะ มาร์คซ์ ไม่เคยหยุดวิเคราะห์และเรียนรู้ และเขาเป็นคนที่จบอะไรไม่เป็น ปิดเล่มไม่ได้ เพราะมักจะสนใจประเด็นปลีกย่อยไปเรื่อยๆ และปรับปรุงงานเก่าอย่างต่อเนื่อง ลักษณะแบบนี้ของ มาร์คซ์ สร้างความเครียดให้กับ เองเกิลส์ เพื่อนรักและผู้ร่วมงานของเขาเป็นอย่างมาก เพราะเองเกิลส์รับหน้าที่ตีพิมพ์ผลงานของ มาร์คซ์

ในปัจจุบันมีการรวบรวมผลงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ในโครงการ MEGA2 ซึ่งทำให้ผู้ศึกษาสามารถเห็นการวิวัฒนาการของงานเป็นขั้นตอน ดังนั้นคนที่เคยชอบอ้างว่างานชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เช่น Grundrisse เป็น “จุดยืนแท้” ของ มาร์คซ์ เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจวิธีการทำงานของ มาร์คซ์

มาร์คซ์ มองว่าทุนนิยมเป็น “ความสัมพันธ์” ระหว่างมนุษย์ในชนชั้นต่างๆ ที่มีความแปลกแยกห่างเหินสองชนิดพร้อมกันคือ (1) ความแปลกแยกระหว่างกรรมาชีพผู้ทำงาน กับระบบการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน และ(2) ความแปลกแยกระหว่างนายทุนแต่ละคนหรือหน่วยงาน ที่แข่งขันกันในตลาด

มาร์คซ์ ศึกษาระบบทุนนิยมเพื่อหาทางล้มทำลายมัน เป้าหมายหลักของมาร์คซ์ก็เพื่อให้กรรมาชีพสามารถสร้างสังคมนิยมได้ ดังนั้น “ว่าด้วยทุน” เป็นงานที่ผสมทฤษฏีกับการปฏิบัติเสมอ

 

อิทธิพลของ เฮเกิล และ ริคาร์โด

เฮเกิล และ ริคาร์โด เป็นผู้ที่มีอิทธิพลกับ มาร์คซ์ ในการเขียน “ว่าด้วยทุน” มากพอสมควร

เฮเกิล เป็นนักปรัชญาเยอรมันที่มาก่อน มาร์คซ์ ในงาน “วิทยาศาสตร์ของตรรกะ” เฮเกิล เสนอว่าถ้าจะเข้าใจอะไร เราต้องเริ่มที่ระดับ“นามธรรม”  แล้วพัฒนาไปสู่ระดับ “รูปธรรม” โดยการนำรายละเอียดรูปธรรมมาปรับความเข้าใจของเราในนามธรรมที่เป็นจุดเริ่มต้น

ตัวอย่างของวิธีคิดแบบนี้คือการเริ่มต้นเข้าใจว่า ระบบการผลิตทุนนิยม เงิน สินค้า หรือตลาด เป็นเพียงการสรุปยอดสิ่งที่เราเห็นในลักษณะนามธรรมเท่านั้น มันเป็นเปลือกภายนอก แต่ถ้าจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้เราต้องมองลึกลงไปเพื่อเห็นการขูดรีดแรงงาน และมูลค่าที่มาจากการทำงาน ซึ่งเป็นรูปธรรมที่ฝังลึกและถูกซ่อนไว้

ตรรกะของ เฮเกิล เป็นแนวคิดแบบจิตนิยม คือเน้นกิจกรรมทางความคิดเป็นหลัก แต่ มาร์คซ์ นำความคิดวัตถุนิยม ที่เน้นอะไรๆ บนโลกที่จับต้องได้และสอดคล้องกับโลกจริง มาใช้กับตรรกะ เฮเกิล

ตรรกะของ เฮเกิล มีการเรียงลำดับความสำคัญของปัจจัยต่างๆ ซึ่งช่วยให้ มาร์คซ์ เข้าใจว่า “ความสัมพันธ์” ในระบบทุนนิยม ที่มีความแปลแยกห่างเหินสองชนิดที่กล่าวถึงไปแล้ว มีลำดับความสำคัญ คือความแปลกแยกระหว่างกรรมาชีพผู้ทำงาน กับระบบการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน เป็นเรื่องหลักที่อธิบายทุนนิยม แต่เราต้องพิจารณาความแปลกแยกระหว่างนายทุนแต่ละคน ที่แข่งขันกันในตลาด เพื่อเข้าใจภาพทั้งหมดของทุนนิยม

ริคาร์โด ไม่ได้ใช้ตรรกะของเฮเกิล และนี่คือจุดอ่อนของ ริคาร์โด คือเขาเป็นผู้พัฒนา “ทฤษฏีมูลค่าแรงงาน” ที่อธิบายว่ามูลค่าของสินค้ามาจากการทำงานของกรรมาชีพ แต่ ริคาร์โด เข้าใจผิดว่าสิ่งที่เราเห็นกับตาในระบบทุนนิยมคือรูปธรรมความจริง นอกจากนี้ ริคาร์โด มองว่าทุนนิยมเป็นระบบที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ เขาคิดไม่ถึงว่าจะมีระบบอื่นได้ โดยที่ ริคาร์โด มองว่าความแปลกแยกระหว่างกรรมาชีพผู้ทำงาน กับระบบการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน “เป็นเรื่องปกติ” แทนที่จะมองว่าเป็นแค่รูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจที่ผิดเพี้ยน

ริคาร์โด เสนอว่าการแข่งขันในตลาดทำให้ “ราคา” สินค้าถูกปรับให้เท่ากับ “มูลค่า” (ปริมาณแรงงาน) และเขาไม่เข้าใจว่า “มูลค่าส่วนเกิน” ที่ถูกขโมยไปจากแรงงาน ถูกแบ่งระหว่าง นายทุน นายธนาคาร และเจ้าของที่ดิน ในสังคมทั้งหมด ดังนั้น “มูลค่าส่วนเกิน” ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับ “กำไร” ซึ่งเป็นส่วนของมูลค่าส่วนเกินที่ตกอยู่ในมือนายทุนคนหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่ง เท่านั้น

มาร์คซ์ มองภาพรวมในลักษณะนามธรรมของทุนนิยม แล้วสรุปว่าการแข่งขันในตลาดระหว่างนายทุนจำนวนมาก ในสาขาการผลิตที่แตกต่างกัน นำไปสู่ “อัตรากำไรทั่วไป” ของระบบ และเป็นสิ่งที่กำหนด “ราคาการผลิต” ทั่วไป

ดังนั้นการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าชนิดต่างๆ ที่ใช้แรงงานชนิดต่างๆ ในการผลิต เกิดขึ้นภายใต้การแลกเปลี่ยนระหว่าง “ปริมาณแรงงานนามธรรม” ในสินค้าแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน ที่กำหนดจากภาพรวมของการผลิตและการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด พูดง่ายๆ คือ “ปริมาณแรงงานนามธรรม” เป็นหน่วยสมมุติของสังคมที่กำหนดการแลกเปลี่ยน แต่มันวัดเป็นหน่วยเงินตราไม่ได้

ส่วน “อุปสงค์-อุปทาน” แค่ปรับราคาสินค้าขึ้นหรือลง มากกว่าหรือน้อยกว่า “ปริมาณแรงงานนามธรรม” ในลักษณะชั่วคราวเท่านั้น “อุปสงค์-อุปทาน” ไม่ได้กำหนดมูลค่าหรือราคาอย่างที่ อดัม สมิท เคยคิด

สรุปแล้ว “มูลค่า” ของสินค้า เป็นคุณสมบัติทางสังคมเท่านั้น เป็นการสรุปยอดการทำงานของมนุษย์ในรูปแบบที่แตกต่างกันทั่วสังคมจนออกมาในลักษณะ “นามธรรม” มูลค่าเป็นสิ่งที่วัดเป็นหน่วยไม่ได้ ทั้งๆ ที่พรรคพวกของ ริคาร์โด พยายามวัดมันด้วยคณิตศาสตร์ มูลค่าเกิดขึ้นท่ามกลางกลไกตลาดของคนทั้งสังคม และอธิบายราคาแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าชนิดต่างๆ ได้เท่านั้น

เราจะเห็นว่าสำหรับ มาร์คซ์ การเข้าใจมูลค่าและการแลกเปลี่ยน ทำไม่ได้ ถ้าเราแค่พิจารณาการผลิตชนิดหนึ่งในสังคมของประเทศหนึ่ง มันต้องดูนามธรรมของภาพรวมก่อน

“มูลค่า” ถูกกำหนดจากการทำงานและการแลกเปลี่ยน และอาศัยเงื่อนไขของ (1) ความแปลกแยกระหว่างกรรมาชีพผู้ทำงาน กับระบบการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน และ (2) ความแปลกแยกระหว่างนายทุนแต่ละคนหรือหน่วยงาน ที่แข่งขันกันในตลาด เสมอ

 

แรงงาน

สำหรับมาร์คซ์ “ปริมาณแรงงานนามธรรม” ในระบบทุนนิยม คือเนื้อในของ “มูลค่า” และที่สำคัญคือ แรงงานปัจจุบัน (“แรงงานที่มีชีวิต”) คือแหล่งกำเนิดมูลค่าใหม่เสมอ พูดง่ายๆ ถ้ากรรมาชีพไม่ทำงานให้นายทุน ก็ไม่เกิดมูลค่า มูลค่าไม่ได้เกิดจากนายทุนหรือเครื่องจักร

แต่นักวิชาการในปัจจุบันหลายคน หันหลังให้กับความจริงอันนี้ ตัวอย่างเช่น เดวิท ฮาร์วี่ ที่มองว่าระบบทุนนิยมยึดมูลค่ามากจากการปล้นทรัพยากรจากชุมชนนอกทุนนิยมได้ หรือ ไมเคิล ฮาร์ท กับ อันโทนีโอ เนกรี่ สองนักอนาธิปไตย ที่มองว่าระบบทุนนิยมยึดมูลค่ามากจากการปล้นทรัพยากรจากชุมชนนอกทุนนิยม หรือมูลค่าอาจมาจากแค่การใช้ความคิดหรือการสื่อสาร โดยไม่ต้องมีการผลิตจริง ซลาฟอยจ์ ซีเซค ก็เหมือนกัน พวกนี้ปฏิเสธทฤษฏีมูลค่าแรงงาน และสรุปว่ากรรมาชีพหมดความสำคัญลงในทุนนิยมสมัยใหม่ จนกรรมาชีพไร้พลังในการล้มระบบ ซึ่งไม่ตรงกับความจริงแต่อย่างใด ดูได้จากการต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพยายามตัดค่าแรงหรือสวัสดิการเพื่อเพิ่มกำไร หรือการนัดหยุดงานของกรรมาชีพเพื่อพัฒนาสภาพชีวิต ถ้ากรรมาชีพไม่มีความสำคัญอีกต่อไปรัฐบาลทุกรัฐบาลก็ไม่ต้องสนใจควบคุมแรงงานด้วยกฏหมายต่างๆ ที่ทำอยู่ตลอด

ในเรื่องความคิดทางปัญญาหรือการสื่อสาร มาร์คซ์ไม่เคยแบ่งแยกการทำงานที่ใช้มือหรือแรงกล้ามเนื้อ กับการทำงานที่ใช้สมองและเทคโนโลจี เพราะการทำงานสองรูปแบบนี้เกิดขึ้นด้วยกันควบคู่กันไปเสมอ บ่อยครั้งในคนคนเดียวกันด้วย

 

วิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยม

มาร์คซ์ค่อยๆ พัฒนาทฤษฏีวิกฤตทุนนิยมของเขาเป็นตอนๆ จนถึงจุดที่อธิบายได้ดีที่สุด เขาเริ่มที่“นามธรรม”  ของวิกฤตทุนนิยมที่เห็นกับตาเป็นประจำ แล้วพัฒนาสูงขึ้นตาม 6 ขั้นตอนผ่านการพิจารณาปัจจัยรูปธรรมต่างๆ ดังนี้

  1. วิกฤตเกิดจากการเร่งสะสมทุน ผ่านการแข่งขันในตลาดระหว่างกลุ่มทุน จนมีการผลิตล้นเกินความสามารถในการซื้อของประชาชน
  2. มีวัฏจักรทางธุรกิจ ที่ขยายและหดตัวตลอดเวลา พอมีการเพิ่มเครื่องจักรซึ่งเป็นแรงงานอดีตหรือที่เรียกว่า “ทุนคงที่” ก็มีการลดจำนวนคนงานลง และขยายคนงานสำรองที่รอเข้างาน หรือทำงานไม่เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลให้กดค่าแรงคนที่มีงานทำ แต่ในการพูดถึงเรื่องนี้ มาร์คซ์ เน้นลักษณะวัฏจักรธุรกิจของทุนนิยมเป็นหลัก ไม่ได้เสนอว่าการกดค่าแรงและลดกำลังซื้อของประชาชนเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดวิกฤต
  3. การหมุนเวียนของทุนหลายรอบ ระหว่างต้นทุน ผ่านการจ้างคนงาน และการใช้เครื่องจักร ไปสู่การผลิตสินค้าที่ต้องนำไปขาย จะทำให้การผลิตมีลักษณะเป็นวัฏจักรซึ่งมีช่วงห่างระหว่างการลงทุนและการได้ต้นทุนกลับมา
  4. ภาคการผลิตต่างๆ จะเชื่อมโยงกันทั่วโลก และมีการถ่ายเททุนจากส่วนที่กำไรต่ำไปสู่ส่วนที่กำไรสูงกว่าตลอด ซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถแยกส่วนการผลิตภาคหนึ่งออกจากภาพรวมของระบบได้
  5. แนวโน้มของการลดลงของ “อัตรากำไร” (กำไรต่อหน่วยเงินต้นทุนที่ลงทุนหน่วยหนึ่ง) เป็นสิ่งที่ทั้ง อดัม สมิท และเดวิด ริคาร์โด สังเกตมาก่อนหน้านี้

แต่ สมิท เข้าใจผิดว่าการลดลงของอัตรากำไรเป็นสถานการณ์ประจำเมื่อมีการสะสมทุนมากเกินไป ส่วน ริคาร์โด อาศัยแนวคิดของ ทอมมัส มัลทัส ที่เข้าใจผิดว่าแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรมาจากการที่ระบบการผลิตย่อมมีประสิทธิภาพต่ำลงตามเวลา ซึ่งเป็น “สภาพธรรมชาติ”

มาร์คซ์ อธิบายว่าแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่างหาก คือเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในเครื่องจักร (ทุนคงที่) ซึ่งไม่ได้สร้างกำไร เมื่อเทียบกับทุนจ้างงาน ซึ่งสร้างกำไร

พูดง่ายๆ การแข่งขันกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือ การแข่งกันเพื่อเพิ่ม “พลังการผลิต” ไปขัดแย้งกับ “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” คือการจ้างงานโดยนายทุนเพื่อขูดรีดแรงงาน เพราะนายทุนถูกบังคับให้เพิ่มการลงทุนในสิ่งที่ไม่สร้างกำไร (เครื่องจักร) นั้นเอง

นอกจากนี้ มาร์คซ์ มองว่าวิกฤตทุนนิยมเป็นสภาพชั่วคราวที่เกิดเป็นประจำ ไม่ใช่สภาพถาวร เพราะนายทุนสามารถหาทางแก้ไขปัญหาบนสันหลังกรรมาชีพได้ โดยการกดค่าแรง เอาชนะคู่แข่ง หรือแม้แต่การทำสงคราม อย่างไรก็ตามสำหรับ มาร์คซ์ วิกฤตทุนนิยมอาจสร้างโอกาสสำหรับกรรมาชีพในการลุกฮือปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมได้

  1. การที่ระบบการผลิตผูกไว้อย่างแน่นกับระบบธนาคารไฟแนนส์ ซึ่งเป็นแหล่งออมทุนที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ทันที เพื่อไปให้กู้กับนายทุนส่วนอื่นๆ ทำให้วิกฤตซับซ้อนมากขึ้น และมีลักษณะบูมกับดิ่งลงเป็นรอบๆ หรือช่วยให้เกิดฟองสบู่

ในการอธิบายวิกฤตทุนนิยม มาร์คซ์ จัดลำดับความสำคัญของ 6 ปัจจัยเกี่ยวกับวิกฤตที่กล่าวถึงไปแล้ว ตามวิธีคิดของ เฮเกิล คือ

(1)การผลิตล้นเกิน กับ(4)การแลกเปลี่ยนระหว่างภาคการผลิตต่างๆ เป็นปัจจัยที่เอื้อกับการเกิดวิกฤตเท่านั้น

(2)วัฏจักรธุรกิจและค่าแรงที่ขึ้นลง และ(3)ช่วงเวลาในการหมุนเวียนของทุน เป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องมีถ้าจะเกิดวิกฤต

แต่ต้นเหตุของวิกฤตอยู่ที่ (5)แนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร กับ(6)การทีระบบการผลิตผูกกับระบบไฟแนนส์

ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปคร่าวๆ ถึงวิธีการของ มาร์คซ์ ในการศึกษาและเขียนเรื่องทุนนิยมในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” ซึ่งผมยกมาจากหนังสือ “Deciphering Capital. Marx’s Capital and its destiny” โดย Alex Callinicos (2014) Bookmarks. ซึ่งถ้าใครอยากอ่านรายละเอียดควรไปดูต้นฉบับภาษาอังกฤษ

ถ้าใครอยากอ่านเพิ่มขอแนะนำ “ว่าด้วยทุนของ คาร์ล มาร์คซ์ ฉบับย่อ ภาษาง่าย”  http://bit.ly/129xlhF