Tag Archives: ศักดินา

ระหว่างตากสินกับอ.ปรีดี ใครกู้ชาติกันแน่?

พวกที่อ้างว่าอยู่ข้างประชาธิปไตยหลายคน โดยเฉพาะบางคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย จะอวยกษัตริย์ตากสินเพราะไม่ชอบราชวงศ์ปัจจุบัน และใช้ข้ออ้างว่าตากสิน “กู้ชาติ” ดังนั้นเป็นคุณประโยชน์กับคนไทย แต่นั้นเป็นการเข้าใจประวัติศาสตร์ผิด เป็นการกลืนคำโกหกของชนชั้นปกครองไทยเรื่องกษัตริย์ และไม่ใช้กรอบคิดทางชนชั้นในการวิเคราะห์เลย

ผู้ที่สู้เพื่อกู้ชาติจริง ไม่ใช่ตากสินและกษัตริย์อื่นๆ ที่รบเพื่ออำนาจที่จะขูดรีดประชาชน แต่เป็น อ.ปรีดี กับคณะราษฎรในการปฏิวัติปี ๒๔๗๕

เป้าหมายการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือ

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรก่อการปฏิวัติ๒๔๗๕ เพื่อล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กดขี่ประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพกับความเท่าเทียม และล้มอำนาจที่เคยประนีประนอมและยอมจำนนต่อจักรวรรดินิยมตะวันตกในอดีต ในความคิดของคณะราษฎรมันเป็นการปฏิวัติกู้ชาติ และในความคิดอ.ปรีดี มันเป็นการปฏิวัติกู้ชาติของฝ่ายซ้าย

ที่สำคัญคือ “ชาติไทย” ไม่เคยมีก่อนการปฏิวัติทุนนิยมของรัชกาลที่๕ ที่ยกเลิกระบบศักดินา ดังนั้นกษัตริย์ตากสินจะ “กู้ชาติ” ไม่ได้

ตากสินขูดรีดไพร่ทาสเป็นพิเศษเพื่อสร้างเมืองใหม่ที่ธนบุรี สิ่งที่แรงงานบังคับต้องสร้างคือวังต่างๆ การเกณฑ์แรงงานครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจกับคนชั้นล่างไม่น้อย และอาจกลายเป็นข้ออ้างหนึ่งในการยึดอำนาจของรัชกาลที่๑ การย้ายเมืองหลักไปอยู่ธนบุรีซึ่งใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เพื่อควบคุมการค้าทางทะเลอย่างผูกขาดและเพื่อขูดรีดภาษีเพื่อประโยชน์ตนเอง

ไม่มีกษัตริย์ไหนในไทยหรือในโลกที่มีคุณประโยชน์กับประชาชนธรรมดา การ “กู้ชาติ” ของกษัตริย์ที่บางคนพูดถึงเป็นแค่สงครามแย่งพื้นที่กันระหว่างมาเฟียสมัยศักดินา แย่งกันเพื่อมีอำนาจและสะสมความร่ำรวยบนสันหลังไพร่กับทาส บ่อยครั้งสงครามกระทำไปเพื่อกวาดต้อนคนไปใช้ แทนที่จะจ้างคน แต่พอถึงยุครัชกาลที่๕ ระบบแรงงานบังคับแบบนี้ใช้ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ยากขึ้นทุกวัน (เชิญอ่านรายละเอียดในหนังสือใหม่ของผม “มาร์กซิสต์วิเคราะห์สังคมไทย” ที่กำลังพิมพ์อยู่)

การฆ่าตากสินโดยทองด้วงกับพวก ซึ่งทำให้ทองด้วงตั้งตัวเป็นรัชกาลที่หนึ่งได้ เป็นแค่รัฐประหารแย่งอำนาจตามสันดานกษัตริย์ทั่วโลกในยุคก่อนไม่ว่าจะในไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือที่อื่น และมีการโกหกกันว่าตากสิน “บ้า” ตากสินตายอย่างไรเป็นเรื่องถกเถียงกัน แต่ในยุคที่ผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก่อน๑๔ตุลา ครูบอกว่าโดนทุบด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้เราเข้าใจว่า “ถึงแม้จะบ้าก็ต้องเคารพ” ทำนองนั้น ครูคนเดียวกันในภายหลังสอนเราเรื่องปฏิวัติ ๒๔๗๕ และร้องไห้เพราะสงสารรัชกาลที่๗!!

ชาวบ้านธรรมดาๆ เกลียดสงครามมาก ไม่ใช่ว่าแห่กันไปรบ “เพื่อชาติ” เพราะเวลากองทัพไหนมาใกล้บ้านเขา ทหารก็จะทำตัวเป็นโจร ไม่ว่าจะเป็นกองทัพฝ่ายใดก็ตาม นอกจากนี้มีการเกณฑ์ชาวบ้านไปรบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต แต่แน่นอนทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกเลี้ยงครอบครัวได้ บ่อยครั้งชาวบ้านจะหนีเข้าป่าเวลามีทหารมาใกล้บ้าน บางครั้งมีการป้ายหน้าลูกสาวด้วยขี้ควายเพื่อไม่ให้โดนข่มขืน คนที่ถูกเกณฑ์เป็นไพร่ก็พยายามหนีตลอดเวลาด้วย

พวกที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแต่อวยกษัตริย์ตากสิน ทำตัวเหมือนไม่รู้จะอยู่ยังไงถ้าไม่มีผู้ใหญ่ให้กราบไหว้ เป็นพวกที่ไม่มีความมั่นใจว่าพลเมืองผู้น้อยสามารถปลดแอกตนเองได้ จึงไม่ให้ความสำคัญกับม็อบหรือเยาวชนที่ออกมาต่อสู้กับเผด็จการ แต่ฝากความหวังไว้กับทักษิณและนักการเมือง “ผู้ใหญ่” อื่นๆ ในที่สุดไม่ต่างจากพวกที่เคยโบกมือให้ทหารทำรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แทนที่จะพยายามสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของคนธรรมดา

จิตร ภูมิศักดิ์ กับ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ทำไมเขาถึงวิเคราะห์ผิด

หนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ของจิตรภูมิศักดิ์ เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ปลุกใจการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในยุคหลัง ๑๔ ตุลา เพราะเป็นหนังสือที่กล้าประณามความป่าเถื่อน การกดขี่ และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยที่ไม่ติดกรอบนิยายรักผู้นำชั้นสูงของชนชั้นปกครอง นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของจิตรที่จะวิเคราะห์ประวัติศาสตร์สังคมไทยอย่างเป็นระบบจากมุมมองของผู้ถูกกดขี่ขูดรีด ก่อนหน้านั้นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่เป็นแนวของชนชั้นปกครอง ในขณะที่ฝ่ายซ้ายไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือปัญญาชนไม่สังกัดพรรค อย่างเช่นสุภา ศิริมานนท์ สมัคร บุราวาศ หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทยจากมุมมองมาร์คซิสต์แต่อย่างใด ดังนั้นงานของจิตรชิ้นนี้และชิ้นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิภาคนี้เป็นงานบุกเบิกที่สำคัญอย่างยิ่ง

     อย่างไรก็ตาม เราต้องกล้าฟันธงไปว่า ด้วยเหตุที่จิตรมีข้อจำกัดหลายประการ หนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” เป็นหนังสือที่วิเคราะห์ระบบศักดินาไทยอย่างผิดพลาด และไม่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาความเข้าใจของเราในยุคนี้ได้

     จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ระบบศักดินาไทย หรือระบบก่อนทุนนิยมในไทย ว่าเป็นระบบ “อำนาจในการครอบครองที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิต” (จิตร ๒๕๓๙; 362) จิตรมองว่าระบบศักดินาเริ่มจากระบบกระจายอำนาจทางการเมืองและลงเอยด้วยการรวบอำนาจ (จิตร ๒๕๓๙; 371)  โดยที่พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นเจ้าของที่ดินทั้งปวงและปกครองในลักษณะ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” (จิตร ๒๕๓๙; 369)

     ในความเป็นจริง ระบบศักดินาไทยเป็นระบบที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเลย เพราะการครอบครองที่ดินไม่มีความหมายสำหรับการควบคุมปัจจัยการผลิต ในเมื่อเมืองสยามมีที่ดินล้นฟ้า ถ้าดูตัวเลขความหนาแน่นของประชากรแล้วจะเข้าใจ  เพราะในค.ศ. 1904 คาดว่ามีประชาชนแค่ 11 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรในไทย ซึ่งเทียบกับ 73 คนในอินเดีย และ 21 คนในอินโดนีเซีย (ฉัตรทิพย์ ๒๕๒๘; 28) การเกณฑ์แรงงานบังคับในลักษณะทาสและไพร่และการทำสงครามเพื่อกวาดต้อนเชลยศึกจึงเป็นวิธีการหลักในการควบคุมปัจจัยการผลิตแทนการถือครองที่ดิน (แล ๒๕๒๒, คึกฤทธิ์ ๒๕๑๖, ศุภรัตน์ ๒๕๒๗, ชัยอนันต์ ๒๕๑๙, ฉัตรทิพย์ ๒๕๒๘, ใจ ๒๕๔๓; 13) นอกจากนี้กฏหมายเกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่เคยมีในสมัยศักดินา และรัชกาลที่ ๕ ต้องร่างกฏหมายนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อยกเลิกระบบไพร่และระบบทาส (Rajchagool 1994)  ดังนั้นการที่พระเจ้าแผ่นดินประกาศว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในยุคศักดินาไม่มีความหมายมากนัก เพราะไม่สามารถใช้การครอบครองที่ดินเพื่อสร้างผลประโยชน์ได้ เช่นขายให้คนอื่น หรือกู้เงินโดยเอาที่ดินเป็นหลักประกัน และยศศักดิ์ในระบบศักดินา ที่กำหนดขั้นของบุคคลในสังคมตามการถือครองที่ดิน (จิตร ๒๕๓๙; 423) น่าจะไม่มีความหมายที่เกี่ยวกับที่ดินโดยตรง เพราะแม้แต่ขอทานและทาสก็มียศที่ดิน ๕ ไร่ตามยศศักดิ์ และคนที่มีที่ดิน ๕ ไร่ ไม่น่าจะเป็นขอทานหรือทาส

     ระบบศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบฟิวเดอล และไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบทาสของยุโรปด้วย แต่เป็นระบบก่อนทุนนิยมในสังคมส่วนหนึ่งของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สาระสำคัญคือมีการปกครองแบบกระจายอำนาจ มีการควบคุมแรงงานบังคับ และมีการใช้ทาส (ใจ ๒๕๔๓; 13) นอกจากนี้ศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่๕ (Rajchagool 1994)  และเป็นระบบการปกครองรวมศูนย์ภายในกรอบรัฐชาติ ที่ใช้แรงงานรับจ้าง เพื่อตอบสนองการสะสมทุน (ใจ ๒๕๔๓; 29) พูดง่ายๆ สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นรูปแบบรัฐทุนนิยมรูปแบบแรกของไทย

     รากฐานของปัญหาในการวิเคราะห์ระบบศักดินาของจิตรคือ เขานำขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมที่มาร์คซ์เคยเสนอสำหรับยุโรปตะวันตก มาสวมกระบวนการประวัติศาสตร์ของไทยในลักษณะกฏเหล็กอย่างกลไก ดังนั้นสำหรับจิตร ระบบศักดินาคือระบบเดียวกันกับระบบฟิวเดอล์ในยุโรป และเป็นระบบที่วิวัฒนาการมาจาก “ยุคทาส”  (จิตร ๒๕๓๙; 381, 396) แต่ มาร์คซ์ ไม่เคยเสนอเลยว่าขั้นตอนของประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมจะเหมือนกันทั่วโลก เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบแรกที่มีการสร้างมาตรฐานร่วมแบบโลกาภิวัฒน์ คือเป็นระบบแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ทำให้ทุกส่วนของโลกคล้ายคลึงกันไปหมดในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

ความพยายามที่จะฝ่าความกลไก

สุภา ศิริมานนท์ เป็นปัญญาชนมาร์คซิสต์ของไทยที่อิสระจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และอาจเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษางานของมาร์คซ์และเองเกิลส์จากภาษาอังกฤษโดยตรงอย่างเป็นระบบ (Kasian Tejapira 2001; 9) ดังนั้นถ้าเราไปดูงานของ สุภา เราจะค้นพบความละเอียดอ่อนแบบวิภาษวิธีมาร์คซิสต์ในการอธิบายประวัติศาสตร์ เช่นในงาน      “มาร์กซจงใจพิสูจน์อะไรฯ” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๑๘ มีการอธิบายว่ามนุษย์เราสร้างประวัติศาสตร์ของเราเอง แต่ในขณะเดียวกันมิได้สร้างประวัติศาสตร์ในภาวะแวดล้อมที่ตนเองเป็นผู้เลือก (สุภา ๒๕๓๐; 13) สุภา อธิบายต่อไปว่าเราต้องสร้างสังคมใหม่ที่ดีงามทั้งๆ ที่เรายังยืนอยู่บนความโสโครกของสังคมเก่า และมนุษย์ผู้ที่จะต้องสร้างสังคมใหม่นี้ ไม่ใช่ว่าจะขาวสะอาดจากความโสโครกปัจจุบัน ดังนั้นการปรับตัวของมนุษย์ย่อมเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ ซึ่งมุมมองนี้แสดงให้เห็นว่านักต่อสู้มาร์คซิสต์ไม่ได้หวังจะเป็นนักบวช แต่หวังจะทำในสิ่งที่ดีที่สุดท่ามกลางโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น

     ในเรื่องของการนำทฤษฎีมาใช้ สุภาอธิบายว่านักมาร์คซิสต์มองสองด้านตลอดเวลา แบบวิภาษวิธี (สุภา ๒๕๓๐; 30) แต่การมองสองด้านที่พูดถึงนี้ไม่ได้แปลว่าควรประนีประนอมกับแนวคิดนายทุน การมองสองด้านคือวิธีการวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งสลับสับซ้อนในตัวโดยมองภาพองค์รวม   และความสำคัญของการใช้วิภาษวิธีไม่ใช่เพื่อสร้างการวิเคราะห์แบบละเอียดอ่อนในมิติเดียวเท่านั้น แต่การที่วิภาษวิธีมองว่า “การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ” (ดู ก.ป.ร. ๒๕๔๔; 25, สุภา ๒๕๔๐; 89) มีผลทำให้แนวคิดมาร์คซิสต์ยากที่จะล้าสมัยได้ เพราะจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์คือการถือว่าโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

     อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของสุภาเมื่อเทียบกับจิตร คือไม่มีความพยายามในการนำแนวมาร์คซิสต์มาวิเคราะห์สังคมไทย ดังนั้นการประสานทฤษฎีกับการปฏิบัติจึงไม่เกิด

     ในเรื่องความทันสมัยของแนวคิดมาร์คซ์ สุรพงษ์ ชัยนาม (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 89) อธิบายว่าการนิยามชนชั้นของแนวมาร์คซิสต์ไม่ใช่สิ่งตายตัวที่ไม่พิจารณาการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของทุนนิยม เพราะชนชั้นสะท้อนการพัฒนาของระบบทุนนิยมเสมอ ดังนั้นคำกล่าวหาของพวกอดีตมาร์คซิสต์ไทยยุคนี้ ที่เสนอว่า “ชนชั้นในสมัยมาร์คซ์ไม่เหมือนรูปแบบชนชั้นในยุคปัจจุบัน” จึงไร้สาระและขาดน้ำหนักในการวิจารณ์แนวมาร์คซิสต์ ไม่มีมาร์คซิสต์ที่ไหนที่เสนอว่าชนชั้นกรรมาชีพในยุคมาร์คซ์เหมือนชนชั้นกรรมาชีพในปัจจุบันทุกประการ แต่สาระสำคัญคือ กรรมาชีพยังถูกแยกออกจากการคุมปัจจัยการผลิต และกรรมาชีพมีพลังมากขึ้นที่จะเปลี่ยนสังคมทุนนิยมในสมัยนี้ เพราะมีการเพิ่มจำนวนและฝีมือความสามารถของกรรมาชีพทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

     สุรพงษ์ ชัยนาม เป็นนักคิดฝ่ายซ้ายรุ่นใหม่ ถ้าเทียบกับสุภา แต่มีจุดร่วมกับสุภา ตรงที่ศึกษาอ่านงานของนักมาร์คซิสต์ตะวันตกโดยตรง ไม่ได้อาศัยงานชั้นสอง โดยเฉพาะงานที่ปรากฏออกมาใหม่ๆ ในยุคหลัง เช่นงานของ อันโตนิโอ กรัมชี่ สุรพงษ์ ถึงกับพูดว่า กรัมชี่ เป็นศาสดาของเขา (สัมภาษณ์ สุรพงษ์ ๒๕๔๕) ในยุคทศวรรษที่ 70 สุรพงษ์ ได้รับอิทธิพลจากขบวนการ “ซ้ายใหม่” ต่อต้านเผด็จการสตาลิน ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการกบฏในยุโรปยุค 1968 งานของสุรพงษ์จึงมีการนำเสนอที่เน้นเสรีภาพ และความละเอียดอ่อน แทนความคับแคบและกลไกของแนวสตาลิน

     ในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างฐานการผลิตแบบวัตถุ (Base) กับโครงสร้างส่วนบน (Superstructure) เช่นในเรื่องของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคมที่กระทำภายใต้เงื่อนไขต่างๆ สุรพงษ์ อธิบายว่านักมาร์คซิสต์ต้องเข้าใจว่ามันมีสองปัจจัยหลักที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นั้นคือปัจจัยด้านวัตถุ (สภาพสังคมและระบบการผลิต) และบทบาทของมนุษย์ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 83) สุรพงษ์ พยายามเน้นความสำคัญของมนุษย์เพื่อเป็นการคัดค้านแนวกลไกของสตาลินที่มองว่าการวิวัฒนาการของสังคมเป็นไปอย่างอัตโนมัติแบบที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “ซ้ายใหม่” จากยุโรป  สุรพงษ์ เสนอว่า “มนุษย์ย่อมสำคัญกว่าสิ่งไม่มีชีวิต” และทฤษฎีต่างๆ กลายเป็นพลังทางวัตถุในการเปลี่ยนโลกจริงได้ก็ต่อเมื่อมีการยึดเหนี่ยวทฤษฎีโดยมวลชนที่มีชีวิต ซึ่งแน่นอนขึ้นอยู่กับภาวะวัตถุวิสัย (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 83)  การนำเสนอแนวคิดในรูปแบบนี้ นอกจากจะชี้แจงความสำคัญของบทบาทมนุษย์แล้ว ยังเป็นการคัดค้านแนวคิดประเภท “ผลกำหนดล่วงหน้าตายตัว” ของพวกจิตนิยมที่เชื่อเรื่อง “กรรม” และพวกวัตถุนิยมประวัติศาสตร์แบบกลไกที่เชื่อเรื่อง “กฏเหล็ก”

     ตัวอย่างของแนว “ผลกำหนดล่วงน่าตายตัว” ในไทยมีอะไรบ้าง? ถ้าพิจารณาศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นแนวคิดจิตนิยม ก็จะมีการพูดถึงสภาพปัจจุบันที่มาจากการก่อกรรมในอดีต และในกรณีแนวคิดกลไกวัตถุนิยมแบบ สตาลิน ของ พ.ค.ท. ก็จะมีการนำเสนอว่าสังคมทุกประเทศย่อมก้าวสู่สังคมนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่าเราไม่ต้องไปทุ่มเทหรือกังวลกับการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมเท่าไร  อย่างที่อธิบายไปแล้ว ดังนั้นการคัดค้านแนว “ผลกำหนดล่วงหน้า” เป็นการย้ำว่าแนวมาร์คซิสต์มองว่าไม่มีหลักประกันว่าการปฏิวัติจะได้รับชัยชนะ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 103) ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาและการถกเถียงในประเด็นต่างๆ เช่นวิธีการต่อสู้ วิธีการจัดตั้งพรรค และสภาพทางวัตถุในโลกจริงโดยการยอมรับความจริง

     อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่างานของสุรพงษ์จะปราศจากการวิเคราะห์แบบกลไกทั้งหมด ในการนำเสนอเรื่องการวิวัฒนาการของสังคมไทย มีการลอกแม่แบบที่ พ.ค.ท. จิตร และสายสตาลิน-เหมาใช้ โดยนำเสนอว่าระบบศักดินาไทยเป็นระบบเดียวกันกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยังเป็นระบบเดียวกันกับระบบการผลิตแบบเอเซีย(Asiatic Mode of Production) ของมาร์คซ์ด้วย! (สุรพงษ์ ๒๕๑๗; 55, สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 219) ซึ่งเป็นการพยายามนำกรอบของการวิวัฒนาการสังคมยุโรปตะวันตกมายัดใส่ประวัติศาสตร์ไทย หรือการนำข้อเสนอบางอย่างของมาร์คซ์มาใช้โดยไม่มีการวิเคราะห์ลึก (ดู ใจและคณะ ๒๕๔๓; 13) การที่ สุรพงษ์ ได้รับอิทธิพลจาก พ.ค.ท. ในเรื่องการวิเคราะห์ขั้นตอนต่างๆ ของสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะ  พ.ค.ท. มีการจัดตั้งเพื่อถ่ายทอดแนวคิดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่างจากนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้ายอิสระในไทย (Somsak Jeamteerasakul 1991; 15)

     นอกจากนี้การวิเคราะห์สังคมไทยแบบนี้ของสุรพงษ์มีปัญหาหลายประการเมื่อขยายต่อไปสู่การอธิบายสังคมปัจจุบันเช่น

1)       มีการเสนอว่าระบบศักดินาและการเข้ามาของเจ้าอณานิคมตะวันตกเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทุนนิยมในไทย โดยมองว่าทุนนิยมต้องก่อกำเนิดจากภายใน คือจากชนชั้นชาวเมืองเสรีในลักษณะเดียวกับอังกฤษเสมอ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 218) แต่ในความเป็นจริงหลังจากที่มีการสถาปนาทุนนิยมในประเทศสำคัญๆ หลายประเทศ ระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์จะเป็นแรงผลักดันหลักที่ก่อให้เกิดการปรับตัวไปสู่ทุนนิยมในประเทศด้อยพัฒนา นอกจากนี้ในเรื่องความล้าหลังของระบบไทย ที่นำมาอธิบายว่าทำไมไทยไม่พัฒนาทุนนิยม Chris Harman นักมาร์คซิสต์อังกฤษ อธิบายว่าความล้าหลังและความอ่อนแอของระบบการปกครองในยุโรปตะวันตกอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่เอื้ออำนวยให้ชนชั้นนายทุนก่อตัวขึ้นมาได้เร็ว ดังนั้นสังคมก้าวหน้าและเข้มแข็งของจีนหรืออินเดียในยุคต่างๆ เมื่อเทียบกับยุโรปตะวันตก อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการห้ามปรามและทำลายการวิวัฒนาการของชนชั้นนายทุนในเอเซีย (Harman 1999; 113) พูดง่ายๆ บ่อยครั้งระบบที่ทันสมัยที่สุดจะกำเนิดขึ้นในส่วนของโลกที่ล้าหลังที่สุดได้

รัชกาลที่๕ ผู้นำการปฏิวัติทุนนิยมไทยที่ทำลายระบบศักดินา

2)       มีการมองข้ามพลวัตการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมไทยเองที่นำไปสู่ความทันสมัย พลวัตนี้มาจากความขัดแย้งทางชนชั้นหลายระดับ แต่สุรพงษ์มีการสรุปในงานที่เขียนก่อนหน้าการลุกฮือ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ประมาณสองสามเดือน ตามอย่าง Fred Riggs (1966)ว่า คนชั้นล่างในไทยไม่เคยมีบทบาทในการเปลี่ยนสังคมไทย (สุรพงษ์ ๒๕๑๗; 58) และมีการมองว่า การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในระดับบนที่ไม่มีส่วนร่วมจากมวลชน (สุรพงษ์ ๒๕๑๗; 104) ซึ่งมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิด พ.ค.ท. ที่ลดความสำคัญของ ๒๔๗๕ ด้วย(Kasian Tejapira 2001; 35) อย่างไรก็ตามความคิดที่ลดบทบาทของผู้น้อยในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ถูกแย้งในปัจจุบันจากงานของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (๒๕๔๐)

     อีกปัญหาหนึ่งของงานสุรพงษ์คือความสับสนในการวิเคราะห์ระบบสตาลินหรือเหมา   สำหรับสุรพงษ์ประเทศ “สังคมนิยม” คือ “ทางผ่านไปสู่สังคมนิยม”  และการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนที่ทำลายศีลปะแบบเก่าๆ ด้วยความคิดคับแคบคือการปฏิวัติแบบ”มาร์คซิสต์”  และสุรพงษ์มองว่าการปฏิวัติจีนเป็นแนวมาร์คซิสต์ เพราะใช้ “อุดมการณ์กรรมาชีพ” (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 5 และ 115) ทั้งๆ ที่ชนชั้นกรรมาชีพไม่มีส่วนในการปฏิวัติจีนแต่อย่างใด (Harris 1978, Hore 1991) นอกจากนี้สุรพงษ์มองเหมือน “ซ้ายใหม่” จากยุโรปหลายคนว่า การทำงานแบบเลนินนำไปสู่เด็จการของสตาลิน (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 169) อย่างไรก็ตามสุรพงษ์ยอมรับว่าเลนินเคยวิจารณ์สตาลิน โดยที่เลนินเตือนให้ระวังการเข้ามาของระบบราชการในรัสเซียแทนอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 177) ในส่วนนี้สุรพงษ์เพิ่มเติมว่ารัสเซียเป็น “เผด็จการเหนือกรรมาชีพ” ไม่ใช่เผด็จการของกรรมาชีพ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 142) และยิ่งกว่านั้นมีการเสนอว่าลัทธิสตาลินทำลายสังคมนิยม โดยการนำเผด็จการไปยัดเยียดให้ยุโรปตะวันออก (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 176)

หนังสืออ้างอิง

กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน (กปร.) “วิธีสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน” 

กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน (๒๕๔๔) “สังคมนิยมจากล่างสู่บน”

คึกฤทธิ์ ปราโมช (๒๕๑๖) “สังคมสมัยอยุธยา” ประวัติศาสตร์และการเมือง สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จิตร ภูมิศักดิ์ หรือ สมสมัย ศรีศูทรพรรณ (๒๕๓๙) “โฉมหน้าศักดินาไทย” สำนักพิมพ์นกฮูก

ใจ  อึ้งภากรณ์  (๒๕๔๐)  “สังคมนิยมและทุนนิยมในโลกปัจจุบัน”  ชมรมหนังสือ  ประชาธิปไตยแรงาน  กรุงเทพฯ

ใจ  อึ้งภากรณ์  (๒๕๔๒)  บรรณาธิการ  “อะไรนะลัทธิมาร์คซ์” เล่ม๑ ชมรมหนังสือ ประชาธิปไตยแรงงาน กรุงเทพฯ

ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ (๒๕๔๓) “การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์” ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน กรุงเทพฯ

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (๒๕๒๘) “เศรษฐศาสตร์หมู่บ้านไทยในอดีต” สำนักพิมพ์สร้างสรรค์

ชัยอนันต์ สมุทวณิช (๒๕๑๙) “ศักดินากับการพัฒนาการของสังคมไทย” นำอักษรการพิมพ์

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (๒๕๔๐) “การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕” สำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการ

แล ดิลกวิทยรัตน์ (๒๕๒๒) วิถีการผลิตแบบเอเซียกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แห่งความด้อยพัฒนาของสังคมไทย วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ ๙ (๑), ๘๗-๙๘

ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล (๒๕๒๗) ระบบศักดินา ใน “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔” 

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา กับ สมภพ มานะรังสรรค์ (บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

สัญชัย สุวังบุตร (๒๕๔๕) “ประวัติศาสตร์โซเวียตสมัยเลนิน 1917-1924” ศักดิโสภาการพิมพ์

สุภา ศิริมานนท์ (๒๕๓๐) “มาร์กซจงใจจะพิสูจน์อะไร อย่างไร?” สำนักพิมพ์ชาวอักษร

สุรพงษ์ ชัยนาม (๒๕๑๗) “ใครเป็นซ้าย?” กลุ่มหนังสือสัจจะ

สุรพงษ์ ชัยนาม (๒๕๒๔) “มาร์กซ์และสังคมนิยม” ปาจารยสาร-เคล็ตไทย

Carr, E. H. (1990) What is History?  Penguin Books, U.K.

Harman, C. (1998) Marxism and History. Bookmarks, London, U.K.

Harman, C. (1999) A people’s history of the world. Bookmarks, London, U.K.

Harris, Nigel (1978) The Mandate of Heaven. Marx and Mao in Modern China. Quartet Books, London.

Hore, C. (1991) The road to Tiananmen Square. Bookmarks, London.

Jeamteerasakul, Somsak (1991) The Communist Movement in Thailand. PhD Thesis, Department of Politics, Monash University.

Marx, K. (1970) Preface to a Contribution to the Critique of Political Economy. Progress Books, Moscow. Molynevx, J. (1998) The Legitimacy of modern art.. International Socialism Journal # 80 (SWP-UK), pp71-101.

Rajchagool, Chaiyan (1994) The rise and fall of the absolute monarchy. White Lotus, Bangkok.

Riggs, F. (1966) Thailand. The modernisation of a bureaucratic polity. East West Press, U.S.A.

Tejapira, Kasian (2001) Commodifying Marxism. The formulation of modern Thai radical culture 1927-1958. Kyoto University Press and Trans Pacific Press.

ใจ อึ๊งภากรณ์

บทความนี้มาจากหนังสือ “รื้อฟื้นการต่อสู้ ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทย” ใจ อึ๊งภากรณ์ และ นุ่มนวล ยัพราช บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน 2547

อ่านเพิ่ม

มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทยhttps://bit.ly/3112djA

สหายธง แจ่มศรี และการเมืองแนวลัทธิ “สตาลิน -เหมา” ของ พคท.

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปลายปี ๒๕๕๒ ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สิ้นสภาพการเป็นพรรคนานแล้วตั้งแต่ “ป่าแตก” แต่ได้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ซึ่งความขัดแย้งนี้สะท้อนความแตกแยกในสังคมไทยโดยทั่วไประหว่าง “เหลือง” กับ “แดง”

ส่วนหนึ่งของคนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ไปเข้าข้างเสื้อเหลือง ชูเจ้า และต้านทักษิณ และอีกส่วน ซึ่งรวมถึง สหายธง แจ่มศรี ออกมาคัดค้านและสนับสนุนเสื้อแดงกับทักษิณ

จุดยืนของ สหายธง แจ่มศรีตรงนี้ ถือว่าก้าวหน้ากว่าอีกซีก เพราะเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจน แทนที่จะกอดคอกับทหารเผด็จการและพวกอวยเจ้า

อย่างไรก็ตามจุดยืนของสหายธง แจ่มศรี ไม่ได้มาจากเงื่อนไขการเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมากเป็นหลัก แต่มาจากมุมมองที่แสวงหาแนวร่วมกับนายทุน ตามสูตร “ปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” ของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ในความเป็นจริงจุดยืนของ พคท. สายเสื้อเหลืองก็เริ่มจากจุดยืนนี้เหมือนกัน แต่มีการทำให้การแสวงหาแนวร่วมกับชนชั้นนายทุน แปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไปยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการไปจับมือกับพวกเสื้อเหลือง ปรากฏการณ์นี้ไม่แตกต่างจากพวกสายเอ็นจีโอที่ไปเข้ากับเสื้อเหลืองด้วย

การวิเคราะห์สังคมไทยตามแนว เหมาเจ๋อตุง และ สตาลิน ของ พคท. ที่เคยเสนอว่าไทยยังเป็นสังคม “กึ่งศักดินา” ที่มีความขัดแย้งระหว่างศักดินากับนายทุนดำรงอยู่ พร้อมกับการมีลักษณะ “กึ่งเมืองขึ้น” ของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ข้อเสนอของ พคท. ว่าการปฏิวัติไทยในขั้นตอนแรกยังไม่ควรนำไปสู่สังคมนิยม แต่ควรเป็นการปฏิวัติชาตินิยมเพื่อสร้างประชาธิปไตยทุนนิยม ในรูปธรรมมันแปลว่า พคท. พร้อมจะทำแนวร่วมข้ามชนชั้นกับชนชั้นนายทุนไทย เพื่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่าพวกขุนศึกและศักดินา มันมีต้นกำเนิดจากลัทธิสตาลินในรัสเซีย ที่ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกทำแนวร่วมกับนายทุน เพื่อปกป้องเสถียรภาพของรัสเซียด้วยการลดศัตรู มันกลายเป็นแนวกู้ชาติ และมันเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งกับจุดยืนหลักของนักมาร์คซิสต์ อย่างมาร์คซ์ เลนิน หรือตรอทสกี้ เพราะมีการเสนอให้กรรมาชีพและชาวนาร่วมมือกับนายทุนผู้เป็นศัตรู และชะลอการต่อสู้เพื่อสังคมนิยม [ดู “สังคมนิยมจากล่างสู่บน” https://bit.ly/2vbhXCO  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง(บทเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์) https://bit.ly/1sH06zu   และ “แนวของตรอทสกี้”  https://bit.ly/2zCPB5h ]

yai1

การปฏิวัติในจีน ลาว เวียดนาม และที่อื่นที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศด้อยพัฒนา จึงมีลักษณะชาตินิยมเป็นหลัก เป้าหมายกลายเป็นการสร้างระบบทุนนิยม และไม่ใช่การปฏิวัติที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพหรือแม้แต่ชาวนาแต่อย่างใด ในรูปธรรมสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องความอ่อนแอของทุนชาติในประเทศเหล่านั้น แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเข้ามาเป็น “นายทุนรัฐ” เสียเอง จึงเกิดระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ซึ่งในปัจจุบันแปรธาตุไปเป็นทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ในจีน ลาว หรือเวียดนาม

การวิเคราะห์สังคมไทยโดย พคท. ในยุคหลัง ๖ ตุลา มีปัญหามาก เพราะระบบศักดินา ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ้นไปจากสังคมไทยในยุครัชกาลที่ ๕ และประเทศไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด ในความจริงรัฐไทยเป็นรัฐทุนนิยมที่เอื้อกับระบบทุนนิยมไทยในโลกที่มีอำนาจจักรวรรดินิยมดำรงอยู่ คือประเทศใหญ่มีอำนาจมากกว่าประเทศเล็กโดยไม่ต้องนำมาเป็นเมืองขึ้น [ดู “การเปลี่ยนแปลงจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย” https://bit.ly/2ry7BvZ   และ “การเมืองไทย” https://bit.ly/2t6CapR ]

แต่ปัญหาใหญ่สุดของแนว พคท. คือการที่ไม่นำการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมโดยมีชนชั้นกรรมาชีพเป็นศูนย์กลางการต่อสู้ แต่กลับไปเน้นการสร้างชาติโดยจับมือกับนายทุน

ฝ่ายซ้ายในวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ต้องสนับสนุนคนชั้นล่างในการต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นผลประโยชน์ของกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจนเป็นหลัก และต้องพยายามสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ไม่ใช่ไปอวยนักการเมืองนายทุนอย่างทักษิณที่หักหลังการต่อสู้ของเสื้อแดงด้วยการเสนอนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือการยุติบทบาทของเสื้อแดงเพื่อหวังประนีประนอมกับทหาร และในปัจจุบันมันแปลว่าต้องไม่สร้างความหวังในพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือสร้างความหวังในระบบรัฐสภาภายใต้เผด็จการประยุทธ์ คือต้องเน้นการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาเป็นหลัก [ดู “มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย” https://bit.ly/3112djA ]

20190714-img_9312

สำหรับสหายธง แจ่มศรี เขาไม่เคยทิ้งจุดยืนสามัคคีข้ามชนชั้นแบบสตาลิน-เหมา ทั้งๆ ที่มีการปรับในภายหลังว่าไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอีกแล้วตั้งแต่มีการถอนทหารออกไปในปี ๒๕๑๙

สหายธง แจ่มศรี เคยเขียนในปี๒๕๕๒ ว่า “ผมเห็นว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมทุนนิยมแล้วในด้านเศรษฐกิจ แต่ภาคการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและความคิดของผู้คนในสังคมยังไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย…..  หลังเหตุการณ์ ๑๔  ตุลา  ๒๕๑๖  เป็นต้นมา  ศักดินามีบทบาทนำสูงสุดในการบงการรูปแบบการเมืองการปกครองของไทย เช่นรูปแบบการเลือกตั้ง การรัฐประหาร ประชาธิปไตยครึ่งใบเหล่านี้เป็นต้น….. ดังนั้นขณะนี้สังคมไทยถูกปกครองโดย “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  เพราะได้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าสถาบันนี้อยู่เหนือรัฐ กลไกรัฐไม่สามารถควบคุมได้ (ไม่มีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย) ซึ่งกลุ่มนี้ได้พัฒนาตนเองเป็น “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

สหายธง แจ่มศรี เสนออีกว่า “ทักษิณ ชินวัตร มีแนวคิดทุนนิยมเสรีใหม่ และเป็นกลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มใหม่ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

ในความเป็นจริงเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เป็น “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  แต่เราอยู่ในสังคมที่ถูกครอบงำโดยเผด็จการทหารที่จับมือกับนายทุนและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม [ดู “อำนาจกษัตริย์” https://bit.ly/2GcCnzj ] นอกจากนี้ ทั้งๆ ที่ สหายธงเสนอว่า “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ” มีความสัมพันธ์กับทุนโลกาภิวัตน์ แต่เขาวิเคราะห์ทักษิณว่าเป็น “นายทุนเสรีนิยมใหม่” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสับสนเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะฝ่ายเหลือง ประชาธิปัตย์ และทหารเผด็จการคลั่งกลไกตลาดเสรีมากกว่าทักษิณ ทักษิณใช้กลไกตลาดผสมเศรษฐกิจนำโดยรัฐ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจน สิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่าเศรษฐกิจคู่ขนาน

D_FxFoOUwAE8FgZ

ข้อดีของ พคท. และจุดยืนของ สหายธง แจ่มศรี ไม่ใช่เนื้อหาการวิเคราะห์สังคมไทยที่ผิดพลาด หรือการเสนอแนวร่วมกับนายทุน แต่เป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ไม่จำเป็นต้องสนใจรัฐสภาเป็นหลัก และการที่เขาพยายามเสนอแนวทางในการต่อสู้ผ่านการศึกษาและพัฒนาทฤษฏี เรายังรอวันที่จะมีการสร้างพรรคแบบนั้นขึ้นมาใหม่ในไทย

ลักษณะสำคัญของระบบศักดินาไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

คำว่า “การเมือง” ในภาษาไทยชี้ให้เห็นว่าระบบรัฐของไทยในอดีตไม่ใช่ระบบที่ใช้หน่วยการปกครองของ “ประเทศ” แต่ใช้หน่วยการปกครองในรูปแบบเมืองแทน ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า “ประเทศไทย” ไม่เคยมีก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕  มีแต่เมือง สุโขทัย เชียงใหม่ อยุธยา นครศรีธรรมราช หรือ กรุงเทพฯ และ “พระเจ้าแผ่นดินไทย” ก็ไม่มีก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกด้วย   มีแต่พระเจ้าแผ่นดินของ อยุธยา หรือ กรุงเทพฯ สรุปได้ว่าสุโขทัยไม่เคยเป็นเมืองหลวงของ “ประเทศไทย”

หลายคนเข้าใจผิดว่าการปกครองในยุคศักดินาไทยเป็นการปกครองที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีอำนาจเข้มแข็ง แต่ที่จริงแล้วระบบศักดินามีองค์ประกอบสามองค์ประกอบที่ทำให้พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจจำกัดคือ

(๑) ระบบการปกครองแบบศักดินาไม่มีข้าราชการ เพราะระบบข้าราชการไทยตั้งขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕  ฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินในยุคศักดินาต้องอาศัยการกระจายอำนาจในการปกครองไปสู่ขุนนาง มูลนาย และเจ้าหัวเมือง

(๒) การที่ระบบการผลิตอาศัยการเกณฑ์กำลังงานโดยมูลนายและขุนนาง มีส่วนทำให้พระเจ้าแผ่นดินต้องแบ่งอำนาจทางเศรษฐกิจการผลิตกับมูลนายและขุนนาง

(๓) อำนาจของเมืองเมืองหนึ่ง เช่นอยุธยา หรือ กรุงเทพฯ ในระบบศักดินา จะลดลงกับความห่างจากตัวเมือง เพราะเมืองห่างๆ ไม่จำเป็นต้องกลัวการส่งกองกำลังมาปราบปรามเท่ากับเมืองที่อยู่ใกล้ศูนย์กลาง   นอกจากนี้เมืองห่างๆ หรือ “หัวเมือง”ของเมืองอำนาจศูนย์กลางเมืองหนึ่ง อาจเป็น “หัวเมือง”ของเมืองอำนาจศูนย์กลางอีกเมืองหนึ่งพร้อมๆ กันได้ เช่นเวียงจันทน์อาจขึ้นกับกรุงเทพฯและฮานอยพร้อมๆ กันก็ได้ ระบบการแผ่อำนาจแบบวงกลมซ้อนๆ นี้ มีนักวิชาการเคยเรียกว่าระบบ Mandala หรือ Galactic Polity – ระบบดวงดาวที่หมุนรอบดวงอาทิตย์

ฉะนั้นระบบการปกครองแบบศักดินาไม่เหมือนกับการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีพระเจ้าแผ่นดินครองอำนาจอย่างรวมศูนย์

ในอดีตและปัจจุบันพวกฝ่ายซ้ายไทยส่วนใหญ่คิดว่าระบบการผลิตแบบศักดินาอาศัยการถือครองที่ดินโดยขุนนางและพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการบังคับให้ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานส่งผลผลิตให้ผู้ปกครอง ซึ่งเหมือนกับระบบฟิวเดิลในยุโรป  แต่แท้ที่จริงแล้วระบบศักดินาไทยไม่มีการคำนึงถึงการถือครองที่ดินเลย มีแต่การเกณฑ์แรงงานบังคับในลักษณะทาสและไพร่แทน

ทำไมถึงไม่มีการถือครองที่ดินของกษัตริย์หรือขุนนางในระบบศักดินาไทย

๑) ไม่มีการกำหนดเขตที่ดินและชื่อขุนนางผู้ครอบครองเขตที่ดินเหล่านั้นในรูปแบบใดๆเลย เช่น เอกสาร แผนที่ เสากำหนดเขต หรือชื่อขุนนางที่ตรงกับชื่อท้องถิ่นของเขา

๒) ที่ดินในดินแดนพื้นที่ทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีมากมาย มากกว่าความต้องการของประชากรซึ่งสามารถถางป่าได้ตลอด  ฉะนั้นสิ่งที่ขาดแคลนไม่ใช่ที่ดิน แต่คือกำลังแรงงาน และเมื่อมีการทำสงครามจะไม่มีการยึดที่ดินแต่จะกวาดต้อนเชลยศึกมาเป็นกำลังแรงงานบังคับแทน

๓) การขาดกำลังแรงงานเป็นปัญหาเรื่อยมาจนถึงช่วงการพัฒนาระบบทุนนิยม ฉะนั้นจึงมีการนำคนงานจีนเข้ามาทำงานรับจ้างเป็นจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และรูปแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย เกิดขึ้นในเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ พม่าด้วย (ในกรณีพม่าและมาเลเซียจะใช้คนงานอินเดียด้วย)

๔) ระบบมูลนายเป็นระบบเกณฑ์แรงงาน มีการสักไพร่บนร่างกายเพื่อระบุว่าไพร่นี้เป็นแรงงานของใคร ถ้าการครองที่ดินเป็นวิธีการควบคุมการผลิต จะรู้ว่าไพร่ไหนเป็นของใครจากพื้นที่ที่ดินที่เขาอาศัยอยู่

๕) กฏหมายเกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่เคยมีในสมัยศักดินา ฉะนั้นรัชกาลที่๕ จึงต้องออกกฏหมายนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เมื่อยกเลิกระบบไพร่และระบบทาส นอกจากนี้การที่พระเจ้าแผ่นดินประกาศว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในยุคศักดินา ไม่มีความหมายมากนัก เพราะไม่สามารถใช้การครอบครองที่ดินเพื่อสร้างผลประโยชน์ได้ เช่นขายให้คนอื่น หรือกู้เงินโดยเอาที่ดินเป็นหลักประกัน และพระเจ้าแผ่นดินไม่สามารถไล่ไพร่ที่ไม่ทำตามคำสั่งออกจากที่ดินของตนเองได้ เพราะที่ดินอื่นไม่มี  ฉะนั้นเราต้องถือว่าไพร่หรือชาวนาเป็น “เจ้าของ” ที่ดินที่ตนเองใช้ในทางปฏิบัติ ถึงแม้ว่าความเป็น “เจ้าของ” ไม่มีความหมายเหมือนทุกวันนี้

๖) ยศศักดิ์ในระบบศักดินา ที่กำหนดขั้นของบุคคลในสังคมตามการถือครองที่ดินน่าจะไม่มีความหมายที่เกี่ยวกับที่ดินจริง เพราะแม้แต่ขอทานและทาสก็มียศที่ดิน ๕ ไร่ตามยศศักดิ์ และคนที่มีที่ดิน ๕ ไร่ ไม่น่าจะเป็นขอทานหรือทาส

ระบบศักดินาไทย ทั้งในแง่ของระบบเศรษฐกิจ และระบบการปกครอง สิ้นสุดลงหลังการปฏิวัติทุนนิยมของรัชกาลที่ ๕

อ่านบทความเต็มที่ http://bit.ly/2ry7BvZ

การเปลี่ยนผ่านจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จากยุคศักดินาสู่ยุคทุนนิยมในไทยและที่อื่น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ความเร็วแตกต่างกัน บางครั้งจะเป็นการวิวัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเวลาปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิดขึ้น แต่พอการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถึงจุดที่นำไปสู่วิกฤต ที่โครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองแก้ไขไม่ได้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นในรูปแบบการปฏิวัติ กระบวนการแบบนี้ นักมาร์คซิสต์เรียกว่า “ความขัดแย้งระหว่างโครงสร้างพื้นฐาน (Base) กับโครงสร้างส่วนบน(Super Structure)”

ท่ามกลางระบบศักดินา ที่ดำรงอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มหาอำนาจตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลผ่านการค้าขาย และผ่านการแข่งขันทางอำนาจกับผู้ปกครองเมืองต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยสำคัญอันนี้ทำให้ระบบทุนนิยมเริ่มแทรกซึมเข้ามาในไทย แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าในยุคนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่าประเทศไทย เพราะระบบศักดินาเป็นระบบเมือง ไม่ใช่ระบบประเทศพอระบบทุนนิยมโลกเข้ามาสัมผัสกับเศรษฐกิจไทย คนไทยสามกลุ่มสามารถพัฒนาตัวเองเป็นนายทุนได้อย่างรวดเร็ว  คนไทยสามกลุ่มนี้คือ กษัตริย์  พ่อค้าเชื้อสายจีน และ ข้าราชการ ในกรณีข้าราชการเกิดขึ้นหลัง ๒๔๗๕ ดังนั้นเราไม่ควรมองว่าสังคมไทยล้าหลังถึงขนาดที่พัฒนาเป็นระบบทุนนิยมไม่ได้

อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เสนอข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์และวรรณคดี ที่ชี้ให้เห็นว่าในต้นยุครัตนโกสินทร์ อิทธิพลของระบบการผลิตแบบทุนนิยมได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญยิ่งคือมีแนวโน้มที่จะค้าขายสินค้าที่อาศัยแรงงานในกระบวนการผลิตมากขึ้น ในขณะที่รายได้จากการควบคุมระบบการค้าขายอย่างผูกขาดลดลง ฉะนั้นแนวโน้มที่สำคัญคือ มีการลงทุนในการจ้างแรงงานและการผลิตสินค้ามากขึ้น และการขูดรีดส่วนเกินจากการผลิตดังกล่าวก็เพิ่มขึ้น     เช่นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ภาษีที่เก็บจากการผลิตเท่ากับ 40% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐ

หลังจากที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่๔ เซ็นสัญญาการค้าเสรีกับอังกฤษที่เรียกว่า “สัญญาเบาริ่ง” ในปีพ.ศ. ๒๓๙๘  ระบบทุนนิยมโลกเริ่มที่จะมีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกที  ระบบการค้าเสรีสร้างทั้งปัญหาและโอกาสกับกษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ปกครอง

“ปัญหา” คือรายได้ที่เคยได้จากการควบคุมการค้าอย่างผูกขาดย่อมหมดไป  แต่ในขณะเดียวกันการเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับตลาดโลกให้ใกล้ชิดมากขึ้น มีผลในการ “สร้างโอกาส”มหาศาลสำหรับผู้ปกครอง ที่สามารถลงทุนในการผลิตข้าวเพื่อขายในตลาดโลก  จะเห็นได้ว่าระหว่างช่วงพ.ศ. ๒๔๑๒/๒๔๑๗ และช่วงพ.ศ. ๒๔๑๘/๒๔๒๒ การผลิตข้าวเพื่อส่งออกไปขายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 93% ในสภาพเช่นนี้ระบบศักดินาไทยที่อาศัยการเกณฑ์แรงงานในระบบการเมืองที่กระจายอำนาจ กลายเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ดังนี้คือ

(๑) ถ้าจะมีการลงทุนในการผลิตข้าวเพื่อขายในตลาดโลก จะต้องใช้กำลังแรงงานในการขุดคลองชลประทานและการปลูกข้าวมากขึ้น และแรงงานนั้นจะต้องมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม แรงงานเกณฑ์ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเครื่องจูงใจ มักจะไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน และมีจำนวนไม่พอ จะเห็นได้ว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้ ผู้ปกครองไทยต้องเปลี่ยนระบบแรงงานจากแรงงานบังคับไปเป็นแรงงานรับจ้าง และต้องนำแรงงานรับจ้างเสริมเข้ามาจากประเทศจีนอีกด้วย นอกจากนั้นชนชั้นปกครองเริ่มใช้ระบบสัญญาเช่าที่ดิน และการแจกกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบทุนนิยม เพื่อกระตุ้นให้เกิดเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตเองเพื่อส่งให้ตลาดทุนนิยม

ที่รังสิตมีระบบคลองชลประทานที่ตัดเป็นระบบอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างชัดเจน คลองชลประทานที่ขุดขึ้นที่รังสิต ขุดโดยแรงงานรับจ้าง การลงทุนในการสร้างที่นาเหล่านี้เป็นการลงทุนโดยบริษัทหุ้นส่วนในระบบทุนนิยมเพื่อการผลิตส่งออก ไม่ใช่การผลิตแบบพึ่งตนเองแต่อย่างใด ผู้ที่ลงทุนคือญาติใกล้ชิดของกษัตริย์และนายทุนต่างชาติ

(๒) เนื่องจากมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตกกำลังยึดดินแดนรอบๆ เขตอิทธิพลของเมืองกรุงเทพฯ กษัตริย์กรุงเทพฯ จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดเขตแดนที่เรียกว่า “ประเทศไทย” ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และจำต้องหาทางสถาปนาระบบการปกครองใหม่ในรูปแบบรวมศูนย์ที่ไม่พึ่งการแบ่งอำนาจกับมูลนาย ขุนนาง และเจ้าหัวเมือง  และที่สำคัญคือการปกครองในรูปแบบใหม่จะต้องเอื้ออำนวยให้ระบบการผลิตทุนนิยมพัฒนาได้ดี ฉะนั้นจะต้องมีระบบเงินตรา ระบบธนาคาร ภาษากลาง ระบบข้าราชการ ตำรวจ และกองทัพแห่งชาติที่เกณฑ์โดยรัฐรวมศูนย์  และจะต้องมีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ที่ดินและกิจการทางธุรกิจทั้งหลาย  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคการปกครองของรัชกาลที่ ๕

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับการปฏิวัติสังคม และความขัดแย้งที่นำไปสู่การปฏิวัติสังคมไทยในครั้งนั้นมาจากสามแหล่ง คือ (๑)การขยายตัวของระบบทุนนิยมโลกที่เข้ามาเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมในดินแดนไทย (๒)ความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างกษัตริย์กับเจ้าขุนมูลนาย และความขัดแย้งกับคู่แข่งของรัชกาลที่๕ในราชวงศ์ (ดูงานของ อ.กุลลดา เกษบุญชู-มี๊ด)  และ (๓)ความไม่พอใจของไพร่ที่จะทำงานภายใต้ระบบแรงงานบังคับ

ถ้ารัฐใหม่ที่รัชกาลที่ ๕ สร้างขึ้น ไม่ใช่รัฐในระบบศักดินา รัฐนี้เป็นรัฐของระบบการผลิตแบบไหน? ในอนาคตผมจะอธิบายว่าทำไมรัฐนี้เป็นรัฐทุนนิยมรัฐแรกของไทย และทำไมระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต้องถือว่าเป็นการปกครองในระบบทุนนิยมชนิดหนึ่ง

อ่านบทความเต็มที่ http://bit.ly/2ry7BvZ

 

เบื้องหลังการเลิกทาสเลิกไพร่ของรัชกาลที่๕ มาตการในการกดค่าแรงรับจ้าง

ใจ อึ๊งภากรณ์

การพัฒนาของระบบทุนนิยมทั่วโลก บวกกับการขยายตัวของระบบการค้าเสรี สร้างทั้งปัญหาและโอกาสให้กับกษัตริย์ไทยในยุคที่จักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามา ซึ่งกษัตริย์กรุงเทพฯ เคยเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการพยายามผูกขาดการควบคุมระบบแรงงานบังคับและการค้าขาย  ปัญหาคือรายได้ที่เคยได้จากการควบคุมการค้าอย่างผูกขาดลดลงหรือหายไปจากการกดดันให้มีการค้าเสรีโดยตะวันตก  แต่ในขณะเดียวกันการเปิดเศรษฐกิจเชื่อมกับตลาดโลกที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีผลในการสร้างโอกาสมหาศาลสำหรับนายทุนที่สามารถลงทุนในการผลิตสินค้า แต่โอกาสนั้นจะใช้ไม่ได้ ถ้าไม่รีบพัฒนาแรงงาน

167

     การผลิตข้าวในไทยเป็นตัวอย่างที่ดี  ระหว่างปี ค.ศ. 1870-1880 การผลิตข้าวเพื่อส่งออกไปขายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 93% ในสภาพเช่นนี้ระบบศักดินาที่เคยอาศัยการเกณฑ์แรงงาน เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ถ้าจะมีการลงทุนในการผลิตข้าวเพื่อขายในตลาดโลก จะต้องใช้กำลังแรงงานในการขุดคลองชลประทานและการปลูกข้าวมากขึ้น และแรงงานนั้นจะต้องมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม แรงงานเกณฑ์ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเครื่องจูงใจ มักจะไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้ผู้ปกครองต้องเปลี่ยนระบบแรงงานไปเป็นแรงงานรับจ้าง เพื่อขยายกำลังงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และต้องนำแรงงานรับจ้างเข้ามาจากประเทศจีนอีกด้วย ซึ่งมีผลทำให้อัตราการค่าจ้างลดลงเมื่อกำลังงานเพิ่มขึ้น ในไทยค่าแรงลดลง 64% ระหว่างปี ค.ศ. 1847 กับ 1907

ในขณะเดียวกันต้องมีการสร้างชนชั้นชาวนาแบบใหม่ขึ้นด้วย ซึ่งมีลักษณะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยอิสระที่มีเวลาและแรงบันดาลใจในการผลิตข้าวมากกว่าไพร่ในอดีต ใครที่คุ้นเคยกับเขตรังสิตจะทราบดีว่าที่นี่มีคลองชลประทานที่ตัดเป็นระบบอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างชัดเจน คลองชลประทานที่ขุดขึ้นที่รังสิต ขุดโดยแรงงานรับจ้าง และการลงทุนในการสร้างที่นาเหล่านี้เป็นการลงทุนโดยบริษัทหุ้นส่วนของระบบทุนนิยมเพื่อการผลิตส่งออก ผู้ที่ลงทุนคือกษัตริย์ ญาติใกล้ชิดของกษัตริย์ และนายทุนต่างชาติ  หลังจากที่มีการขุดคลองก็มีการแจกจ่ายกรรมสิทธ์ที่ดินบริเวณริมฝั่งคลอง และชาวนาที่ปลูกข้าวในพื้นที่นี้เป็นชาวนาอิสระที่มาเช่าที่นา

นอกจากนี้ในการแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆ รัฐที่ยกเลิกแรงงานบังคับไปแล้ว เช่นอังกฤษ อาจใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับระบบทาสที่ดำรงอยู่เพื่อโจมตีรัฐคู่แข่งที่ยังมีระบบนี้อยู่ อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งในการยกเลิกระบบแรงงานบังคับในไทย

ในประเด็นการเมือง การที่รัชกาลที่ ๕ ยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงานบังคับ ซึ่งต้องอาศัยเจ้าขุนมูลนาย ถือว่าเป็นการตัดอำนาจเศรษฐกิจและการเมืองของเจ้าขุนมูลนายเหล่านั้นไป มีเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำลายระบบศักดินา เพื่อสร้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรวมศูนย์รัฐแบบทุนนิยมเป็นครั้งแรกในไทย พร้อมกันนั้นกษัตริย์ก็แปรตัวไปเป็นนายทุนใหญ่ในระบบทุนนิยมไทย