Tag Archives: ศาล

เผด็จการหรือประชาธิปไตย เราพึ่งศาลไม่ได้

ไม่ว่าประเทศเราจะปกครองด้วยประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ตราบใดที่เราอยู่ในระบบชนชั้นของทุนนิยม เราพึ่งศาลไม่ได้

ในระบบเผด็จการของไทยปัจจุบัน ศาลจะทำตามแนวคิดของเผด็จการ เพื่อปกป้องเผด็จการเสมอ ในเรื่องนี้คนจำนวนมากเข้าใจมานานแล้ว แต่ปัญหาทั้งหมดของ “ความไม่เป็นกลาง” ของศาลไม่ได้มาจากที่มาของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นเท่านั้น แน่นอนในระบบเผด็จการมันชัดเจนมากว่าที่มาของศาลคือการแต่งตั้งจากพรรคพวกของเผด็จการ มันชัดเจนมาก

แต่ในระบบประชาธิปไตย ศาลซึ่งเป็นกลไกส่วนหนึ่งของรัฐทุนนิยม ศาลไม่ได้เป็นกลางอย่างที่แนวคิดเสรีนิยมชวนให้เราเชื่อ ลองไปคุยกับคนงานในสหภาพแรงงานเรื่องศาลแรงงานก็จะเห็นภาพ ศาลมักจะเข้าข้างนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ และที่มาของศาลในระบบประชาธิปไตยก็ยังเป็นปัญหาอีก เพราะศาลถูกแต่งตั้งมาจากคนที่เรียนสูงและใกล้ชิดกับชนชั้นปกครอง มีที่ไหนไหมที่ศาลถูกแต่งตั้งจากกรรมาชีพคนทำงานธรรมดา หรือเกษตรกรยากจน? ไม่มีเพราะในกระแสหลักมักมีการอ้างกันว่าต้องเรียนสูงและเข้าใจกฎหมาย แต่ในความจริงเรื่องความยุติธรรมเป็นสิ่งที่คนธรรมดาเข้าใจได้ และความยุติธรรมบ่อยครั้งไม่เกี่ยวอะไรเลยกับกฎหมาย มันเกี่ยวกับการตัดสินว่าอะไรยุติธรรมอะไรไม่ยุติธรรมมากกว่า แต่ในระบบทุนนิยมกระแสหลักมักพยายามอ้างว่าความยุติธรรมมากจากการตีความเข้าใจกฎหมายหรือการตีความรัฐธรรมนูญ

นี่คือสาเหตุที่นักสังคมนิยมชื่นชมระบบลูกขุนที่คัดเลือกสามัญชนมาพิจารณาคดี แต่ถ้าเราจะมีความยุติธรรมแท้จริง และมีสิทธิเสรีภาพ เราต้องไปไกลกว่านี้ แม้การเลือกตั้งศาลในลักษณะที่ประชาชนถอดถอนได้ ซึ่งเป็นเรื่องดี ก็ยังไม่พอ

ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก เรื่องสองมาตรฐานสำหรับคนรวยกับคนจนยังเป็นปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง และสาเหตุมาจากความไม่ยุติธรรมของศาล มันมาจากอำนาจเงินในการจ้างทนายหรือการกดดันเบี่ยงเบนกฎหมาย หรือการที่สื่อกระแสหลักเข้าข้างคนมีอำนาจอีกด้วย

ถ้าการมีประชาธิปไตยในระบบทุนนิยมไม่เพียงพอที่จะสร้างความยุติธรรมได้ อะไรคือสิ่งสำคัญที่สร้างความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพภายใต้ประชาธิปไตยทุนนิยม?

คำตอบคือ คนธรรมดาต้องสร้างความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพเอง โดยเฉพาะคนธรรมดาที่จัดตั้งในขบวนการกรรมาชีพ สหภาพแรงงาน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และพรรคการเมืองของกรรมาชีพ นี่คือพลังที่ใช้ขยายพื้นที่ประชาธิปไตยได้ภายใต้ข้อจำกัดของประชาธิปไตยทุนนิยม และเป็นพลังที่สร้างกระแสความคิดจากล่างสู่บน เพื่อคานกับกระแสความคิดของชนชั้นปกครอง

ชนชั้นปกครองและนักวิชาการของชนชั้นปกครองมักจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะมันไปขัดกับกติกาที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเอง

ตัวอย่างที่ดีและชัดเจนในยุคนี้ตัวอย่างหนึ่ง คือคดีที่ตำรวจผิวขาวสหรัฐถูกดำเนินคดีในศาลอันเนื่องมาจากการจงใจใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำจนคนอย่าง George Floyd ต้องเสียชีวิต

เหตุการณ์ฆ่าและใช้ความรุนแรงโดยตำรวจผิวขาวกับคนผิวดำในสหรัฐและในหลายประเทศของยุโรป เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน และมาจากการเหยียดสีผิวในองค์กรของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจ และที่แล้วมาเกือบจะไม่มีตำรวจคนไหนเลยโดนดำเนินคดีทั้งๆ ที่มันน่าจะผิดกฎหมาย

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปที่ทำให้ตำรวจสหรัฐต้องขึ้นศาลและถูกจำคุก คือขบวนการ Black Lives Matter (ชีวิตคนผิวดำสำคัญ) ที่ระเบิดขึ้นบนท้องถนนและประกอบไปด้วยคนผิวดำและคนผิวขาว โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ที่เรียกร้องความยุติธรรม นี่คือสิ่งที่กดดันรัฐให้ต้องดำเนินคดี และกดดันศาลให้ต้องจำคุกตำรวจ

เวลามีการสำแดงพลังของคนธรรมดา ส่วนต่างๆ ของรัฐทุนนิยม อันประกอบไปด้วยคุกศาลตำรวจทหาร มักจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมชั่วคราวเพื่อตามกระแสในสังคม แต่มันเป็นเรื่องชั่วคราวตราบใดที่เราไม่โค่นล้ม ล้มล้างระบอบการปกครองทางชนชั้นของทุนนิยม

ใจ อึ๊งภากรณ์

การต่อสู้ในรัฐสภาหรือการหวังพึ่งกฏหมายถึงทางตันแล้ว

ใจ อึ๊งภากรณ์

สำหรับนักเคลื่อนไหวก้าวหน้า การตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่โดยศาลเตี้ยไทยที่รับใช้เผด็จการ ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ แต่สำหรับเพื่อนพลเมืองที่รักประชาธิปไตยจำนวนมาก ที่เคยมีความหวังกับการสู้ภายในระบบ มันน่าจะพิสูจน์ว่าความหวังที่จะปฏิรูประบบการเมืองไทยผ่านโครงสร้างทางการ เช่นรัฐสภา มันถึงทางตันโดยสิ้นเชิง

เผด็จการรัฐสภาของแก๊งประยุทธ์กับพรรคพวก มันงอกมาจากการทำรัฐประหารด้วยกระบอกปืน มันไม่เคยเป็นประชาธิปไตย และกติกาต่างๆ ที่เผด็จการมันร่างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบเลือกตั้งเทียม การคำนวณจำนวนสส. การแต่งตั้งวุฒิสภา การแต่งตั้งศาลเตี้ย การใช้กฏหมายปิดปากเสรีภาพ หรือการให้อำนาจต่างๆ กับทหารเพื่อสืบทอดอำนาจไปอีกนาน ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์ที่จะฟอกเผด็จการให้ดูเหมือนมีความชอบธรรม

แต่เผด็จการประยุทธ์ไม่เคยมีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น ดังนั้นการที่ใครจะไป “เคารพ” คำตัดสินของศาล หรือ “เคารพ” กฏหมายของเผด็จการ ก็เหมือนไปกราบไหว้หมาขี้เรื้อน

944902_1252013448161903_1049020342358851826_n

ทั้งๆ ที่ผมไม่เห็นด้วย ผมเข้าใจความรู้สึกของคนที่รักประชาธิปไตยจำนวณมากที่เคยอยากเห็นการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยที่อาศัยการใช้รัฐสภาหรือกฏหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อสู้นอกสภาหรือบนท้องถนน แต่มันหมดข้อแก้ตัวแล้วที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้

ในแง่หนึ่ง การที่พรรคอนาคตใหม่และฝ่ายประชาธิปไตยที่ยังไม่พร้อมจะลงถนน ได้เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาภายใต้กติกาเผด็จการ แต่จบแบบนี้ มันพิสูจน์อย่างชัดเจนว่ามันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการต่อสู้ด้วยขบวนการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาที่พร้อมจะฝืนกฏหมายเผด็จการ มันจึงให้ความชอบธรรมสูงสุดกับการต่อสู้แบบนี้

ในขณะที่กระแสความไม่พอใจของประชาชนจำนวณมากมันกำลังมาแรง นักเคลื่อนไหว ทั้งภายในพรรคอนาคตใหม่และนอกระบบพรรค จะต้องใช้โอกาสนี้ในการสร้างขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ และแกนนำพรรคอนาคตใหม่เคยเรียกให้พลเมืองออกมาประท้วงครั้งหนึ่งแล้ว และได้ผล ถ้าเขาไม่ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนประท้วงหลังจากที่พรรคถูกยุบครั้งนี้ ต้องถือว่าเขาก่ออาชญากรรมกับความฝันที่จะมีระบบประชาธิปไตยในไทย

4190D50EC0C44B17B899CBDA14848B21

ถ้าไม่มีการปลุกระดมให้คนออกมาต่อสู้ ทั้งบนท้องถนน ในมหาวิทยาลัย หรือในสถานที่ทำงาน กระแสความไม่พอใจจะลดลงและในที่สุดหายไปท่ามกลางความหดหู่ และมันจะเป็นการยอมจำนนโดยสิ้นเชิง

คิดดูครับ มันทำรัฐประหาร มันสืบทอดอำนาจ มันโกงระบบเลือกตั้ง มันเป็นรัฐบาลต่อหลังเลือกตั้ง และมันยังรุกไปยุบพรรคฝ่ายค้านอีก เราจะยังก้มหัวอีกหรือ?

ไม่ว่าแกนนำพรรคอนาคตใหม่จะออกมาปลุกระดมการต่อสู้ และสร้างขบวนการเคลื่อนไหวอันยิ่งใหญ่หรือไม่ นักต่อสู้คนธรรมดา ทั้งในและนอกพรรค จะต้องไม่รอคอยให้คนใหญ่คนโตทำอะไรให้ เราต้องสร้างเครือข่ายรากหญ้าของขบวนการประชาธิปไตยที่นำตนเองได้ เพื่อผลักดันการต่อสู้ไปข้างหน้าไม่ว่าแกนนำนักการเมืองจะทำอะไร และในกรณีที่นักการเมืองออกมาสู้ เครือข่ายรากหญ้านี้จะต้องเข้มแข็งและทำตัวเป็นพลังที่จะประกันไม่ให้มีการหักหลังประชาชนด้วยการประนีประนอมกับเผด็จการด้วย

FI-fists_0

ในไทย ศาลกับความยุติธรรม ไม่เกี่ยวข้องกัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ศาลในไทยเป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการมานาน มันไม่เกี่ยวอะไรกับ “ความยุติธรรม” และเนื่องจากศาลไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม ชนชั้นปกครองไทยมีความจำเป็นที่จะสร้างกลไกเพื่อปกป้องศาลจากการถูกตรวจสอบโดยประชาชนตามแนวประชาธิปไตย

กฏหมายหมิ่นศาลกลายเป็นเครื่องมือเพื่อกีดกันการตรวจสอบศาล และเป็นเครื่องมือในการทำลายเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเผด็จการของรัฐไทยในยุคนี้ต้องการที่จะทำให้ศาลมีสถานภาพเหมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้” ไม่ต่างเลยจากการใช้กฏหมาย 112 เพื่อปิดปากประชาชนไม่ให้ตรวจสอบประมุขและตรวจสอบการใช้ประมุขโดยทหารและชนชั้นปกครองไทยส่วนอื่น

ศาลเตี้ย

ตัวอย่างของ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย ที่ถูกหมายเรียกเพราะแสดงความเห็นเรื่องคดีเลือกตั้งและการถือหุ้นสื่อ เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ศาลพยายามปิดปากไม่ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องคดี ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งถ้าจะสร้างความยุติธรรมในสังคมผ่านกระบวนการประชาธิปไตย

ในประเทศประชาธิปไตย “การหมิ่นศาล” ไม่เกี่ยวกับการวิจารณ์ศาล แต่เกี่ยวกับการไม่ทำตามคำตัดสินของศาลหรือการสร้างเหตุวุ่นวายภายในศาลในขณะที่กำลังพิจารณาคดี แต่เนื่องจากไทยไม่มีประชาธิปไตยหรือความยุติธรรม เราไม่จำเป็นต้องก้มหัวให้ศาลเลย

อีกคดีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าศาลกับความยุติธรรมไม่เกี่ยวข้องกันคือคดีฆาตกรรมที่เกาะเต่า ศาลฎีกาพิพากษายืนประหารชีวิต ซอลิน และ เวพิว จำเลยชาวพม่า ซึ่งเป็นแพะรับบาปแทนพวกมาเฟียบนเกาะที่หลายคนสงสัยว่าเป็นผู้ร้ายที่แท้จริง นอกจากนี้มีการวิจารณ์การทำงานของตำรวจไทยภายใต้แรงกดดันให้หาคนร้ายโดยเร็วจากรัฐบาล โดยที่ตำรวจไม่ปกป้องสถานที่เกิดเหตุเพื่อหาหลักฐานตามวิธีการวิทยาศาสตร์

ใครๆ ก็ทราบดีว่าในสังคมไทย ตำรวจไม่เคยจับคนร้ายที่ใช้ความรุนแรงกับนักประชาธิปไตย ไม่เคยแก้ปัญหาการอุ้มฆ่า และมักจะอยู่ภายใต้อำนาจ “ผู้มีอิทธิพล” ดังนั้นการหาแพะรับบาป โดยเฉพาะในหมู่คนต่างชาติจากประเทศเพื่อบ้าน เป็นวิธีการปกติของตำรวจไทย

ในบริบทนี้ การรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารยิ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย

ในสังคมชนชั้นของระบบทุนนิยมทั่วโลก ศาลเป็นเครื่องมือร่วมกับทหารและตำรวจในการบังคับผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองและปกป้องรัฐ แต่ในสังคมที่มีการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และมีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ศาลถูกแรงจากสังคมบังคับให้ต้องมีความโปร่งใสและต้องพิสูจน์ต่อสังคมว่าสร้างความยุติธรรม ระบบลูกขุนที่ประกอบไปด้วยประชาชนธรรมดา ก็เกิดจากแรงกดดันอันนี้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางกรณีที่ศาลตัดสินคดีผิดและหันหลังให้กับความยุติธรรม แต่กรณีแบบนี้น้อยกว่าในไทยมาก

ในสังคมไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรณีการตายของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ในค่ายทหารเป็นแค่ตัวอย่างล่าสุด และการฟอกความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐก็เกิดขึ้นผ่านสื่อ ผ่านทหารในรัฐสภา และผ่านการใช้ “ภาคประชาชน” จอมปลอม เช่น คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

67535340_2408292259228649_7345892156457877504_n

คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกมาพูดว่าทหารไม่ได้ทำร้าย อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไม่ใช่องค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรที่อิสระจากอำนาจรัฐและทหารแต่อย่างใด มันเป็นองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นมาโดยทหารที่กดขี่ชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี

การสร้างความยุติธรรม แยกออกไม่ได้จากการสร้างสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตย แยกออกไม่ได้จากการรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญทหาร และแยกออกไม่ได้จากความจำเป็นที่จะรื้อถอนศาล ยกเลิกกฏหมายเผด็จการ และรื้อถอนอำนาจทหาร แต่สิ่งเหล่านี้อาศัยแค่รัฐสภาหรือกลุ่มนักวิชาการไม่ได้ ต้องมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตยนอกรัฐสภา

ศาลเตี้ยไทยสร้างมาตรฐานใหม่ของความอยุติธรรม

ใจ อึ๊งภากรณ์

ศาลเตี้ยไทย หมาเลี้ยงของเผด็จการ ได้สร้างมาตรฐานใหม่อันเลวทรามของความอยุติธรรม การจำคุกอดีตรัฐมนตรีและนักการเมืองหลายคนเป็นเวลา 30-40 ปี ในคดีจำนำข้าว นับว่าเป็นการลงโทษทางการเมือง และสาเหตุหลักไม่ใช่เรื่องการกำจัดคอร์รับชั่น แต่เป็นความพยายามที่จะกำจัดนักการเมืองฝ่ายไทยรักไทย/เพื่อไทยต่างหาก ยิ่งกว่านั้นมันเป็นการพยายามฟันธงว่ารัฐบาลในอนาคตจะต้องไม่ใช้งบประมาณเพื่อช่วยประชาชนคนจนอีกด้วย

นักการเมืองที่เผด็จการมือเปื้อนเลือดของไอ้ยุทธ์ไม่ชอบ ถูกลงโทษร้ายแรงกว่าฆาตกรสามัญสามถึงสี่เท่า

แต่สำหรับฆาตกรรายใหญ่ที่สั่งฆ่าประชาชน ไม่ต้องติดคุกเลย ทุกวันนี้ประยุทธ์ อภิสิทธิ์ และสุเทพ ยังลอยนวล

นักศึกษา และนักเคลื่อนไหวธรรมดา ติดคุกเป็นสิบๆ ปี เพราะแค่เห็นต่างกับเผด็จการ หรือเพราะแค่แสดงออกและพูดความจริง

แต่สำหรับคนที่ใช้กำลังอาวุธในการยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ และทำลายประชาธิปไตย คือพวกแก๊งทหารปัจจุบัน ยังไม่มีการลงโทษใครเลย และอันธพาลที่ทำลายการเลือกตั้ง คือพวกแก๊งประชาธิปัตย์และสลิ่ม ก็ไม่มีการลงโทษอะไรเลย

นักวิชาการและสื่อมวลชนที่พยายามพูดหรือเขียนความจริง โดนข่มขู่ตลอดเวลา แต่คนที่แต่งตั้งตนเองเป็นผู้นำประเทศหลังรัฐประหาน จะแหกปากพูดเท็จได้ทุกวัน และแถมไม่อายใครอีกด้วย

เรื่องคอร์รับชั่นกลายเป็นคำที่ไม่มีความหมาย เพราะเมื่อทหารคอร์รับชั่น เมื่อทหารกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋า หรือใช้เงินของพวกเราในจำนวนมหาศาลเพื่อซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น เช่น รถถัง เครื่องบิน หรือเรือดำน้ำ โดยไม่มีความโปร่งใสตามกระบวนการประชาธิปไตยแต่อย่างใด มันลอยนวลเสมอ ในขณะที่โครงการจำนำข้าวที่ช่วยชาวนากลายเป็นการคอร์รับชั่น

นอกจากเรื่องสองมาตรฐานของศาลเตี้ยแล้ว ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสิบปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าฝ่ายทหาร ประชาธิปัตย์ และสลิ่มชนชั้นกลาง เป็นศัตรูของคนทำงานธรรมดา ชาวไร่ชาวนา และยากจน มันเป็นการแสดงความเกลียดชังทางชนชั้น เกลียดคนธรรมดา และเกลียดนักการเมืองที่พยายามช่วยคนจนและครองใจคนส่วนใหญ่ได้

ถ้าท่านไม่อยากใช้ชีวิตภายใต้ระบอบเผด็จการปัจจุบันนี้ เราต้องตั้งสติ มองความจริง และเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ระบอบเผด็จการไม่เคยหายไปเอง แต่จะถูกล้มโดยพลังประชาชนที่รวมตัวกันเอง การรวมตัวต้องมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบอย่างที่เราเคยทำสมัยก่อน เราต้องเรียนรู้จากการล้มเผด็จการในยุค ๑๔ ตุลา การต่อสู้ของ พคท. และการต่อสู้ในช่วงพฤษภา ๓๕ เราต้องสรุปจุดเด่นจุดด้อย โดยเฉพาะการไปหวังพึ่ง “ผู้ใหญ่” ที่เป็นนักการเมืองอย่างทักษิณ หรือคนที่ตั้งตัวเป็นผู้นำเดี่ยวอย่างจำลอง และเราต้องจัดตั้งภายใต้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่ายุค พคท.

การที่ยิ่งลักษณ์ออกจากประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการติดคุก ในระบบที่ขาดความยุติธรรม เป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ แต่คนที่ “ผิดหวัง” หรือ “ฝัน” เพราะไปตั้งความหวังว่าทักษิณหรือยิ่งลักษณ์จะนำการต่อสู้ ควรจะตื่นได้แล้ว เพราะมันมีการแช่แข็งการต่อสู้โดยนักการเมืองเศรษฐีเหล่านี้มานาน แถมเผด็จการทหารอาจปล่อยให้ยิ่งลักษณ์ออกจากประเทศเพื่อลดพลังในการต่อสู้โดยคนรากหญ้าอีกด้วย

สักวันหนึ่ง ถ้าไทยจะมีความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพ เราต้องจับพวกที่หนีความยุติธรรมทั้งหลายเข้าคุก เช่นประยุทธ์ อภิสิทธ์ สุเทพ และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเผด็จการและการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืด แต่ถ้าเราจะทำเราต้องมีพลัง พลังนั้นจะมาจากพลังของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนธรรมดา

ประเด็นคือเราจะทนอยู่ในสังคมภายใต้ระบอบกะลาแลนด์ ทนเป็นทาส ทนเป็นพลเมืองชั้นสอง หรือจะลุกขึ้นสู้และให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการล้มเผด็จการหรือไม่ แค่เป็นกองเชียร์ให้กลุ่มคนเล็กๆ หรือปัจเจกกล้าหาญ ที่ออกมาแสดงจุดยืนแล้วโดนจับมันไม่พอ

ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ วิจารณ์ระบบศาลและตำรวจไทยตรงจุด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อวิจารณ์ประเทศไทย ของ ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ พี่สาวของ ฮันนาห์ วิเทอร์ริดจ์ ในสื่อสากลนั้น ผู้เขียนค่อนข้างจะเห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ดังกล่าวในประเด็นสำคัญๆ

ฮันนาห์ วิเทอร์ริดจ์ และ เดวิด มิลเลอร์ สองนักท่องเที่ยวอังกฤษ ถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายที่เกาะเต่า แต่ตำรวจไทยกลับรีบจับสอง “แพะ” คนงานจากพม่า ซอ ลิน กับ วิน ซอตัน และในเดือนที่ผ่านมาศาลไทยก็ตัดสินลงโทษประหารชีวิตเหยื่อระบบอยุติธรรมของไทยสองคนนี้

ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ ตั้งข้อสังเกตว่าไทยไม่ใช่ “เมืองยิ้ม” อย่างที่มีการโฆษณากันเป็นประจำ และหาดทรายไทยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่ใช่ “สวรรค์” อย่างที่หลายคนเชื่อ พร้อมกันนั้นก็กล่าวหาตำรวจไทยว่าไร้ประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยการคอร์รับชั่น เขาอธิบายเพิ่มว่า “คนไทยมักจะเกลียดชาวต่างชาติรวมถึงนักท่องเที่ยวตะวันตก” อีกด้วย และที่แย่สุดคือวาจาของเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคนเกี่ยวกับคดีนี้ ซึ่ง ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ รับไม่ได้ และไม่ควรจะรับได้อีกด้วย

ในหลายประเด็น ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ วิจารณ์สังคมไทยตรงจุด

คนเสื้อแดงและนักเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย มีประสบการของความโหดร้ายทารุณของชนชั้นปกครองไทยและมาเฟียท้องถิ่นไทย โดยที่ฆาตกรเหล่านี้ไม่เคยถูกนำมาขึ้นศาลหรือถูกลงโทษแต่อย่างใด สำหรับเรา “ไทยเป็นเมืองน้ำตาตกใน” ไม่ใช่เมืองยิ้มแต่อย่างใด

ในแหล่งท่องเที่ยวติดทะเลของไทยที่สวยงามหลายที่ มีการควบคุมธุรกิจโดยมาเฟียหรือผู้มีอิทธิพล พวกนี้ทั้งโลภมาก ใช้พฤติกรรมอันธพาล และป่าเถื่อนในการขูดรีดแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และแน่นอนมาเฟียเหล่านี้ก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับตำรวจและทหาร

พลเมืองไทยจำนวนมาก รวมถึงผู้เขียนเอง ก็มีประสบการณ์ของการคอร์รับชั่นโดยตำรวจ และพฤติกรรมที่เลวทรามต่อประชาชน และเราทุกคนทราบดีว่าศาลไทยลำเอียงและไร้ความยุติธรรมอย่างไร

สองแพะ ซอ ลิน กับ วิน ซอตัน ต้องถูกมองว่าเป็นคนบริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่าเขากระทำความผิด จริง และในสภาพที่หลักฐานของฝ่ายตำรวจและอัยการไร้น้ำหนักโดยสิ้นเชิง และขัดแย้งในตัว อย่างที่หมอพรทิพย์เปิดเผยออกมา เราต้องสรุปว่ายังไม่มีการพิสูจน์ว่าสองคนนี้คือคนร้ายตัวจริง แถมตำรวจใช้การทรมานเพื่อบังคับให้ “สารภาพ” อีกด้วย

การทรมานผู้ต้องขังเป็นวัฒนธรรมเลวทรามของตำรวจและทหารไทยในหลายกรณีที่ผ่านมา

เรื่องการเหยียดเชื้อชาติของคนไทยจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ผู้เขียนวิจารณ์มานาน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อคนจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือคำเหยียดหยามที่คนไทยจำนวนมากใช้เรียกคนที่เขามองว่าไม่ใช่คนไทย ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “ไอ้มืด” “แขก” “ฝรั่ง” “ญวน” หรือ “ไอ้หม่อง” บ่อยครั้งเวลาผู้เขียนยกประเด็นนี้มาวิจารณ์ ก็จะมีคนที่เรียนจบสูงจำนวนมากที่ไม่ยอมรับและจงใจไม่เข้าใจ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่อื้อฉาวในการปฏิบัติต่อคนต่างชาติ โดยเฉพาะในเรื่องแรงงานทาส

แน่นอนการเหยียดเชื้อชาติมีในประเทศอื่นทั่วโลก แต่ที่ขาดไปสำหรับสังคมไทยคือขบวนการทางสังคมหรือพรรคการเมืองที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้อย่างชัดเจน

เราคงให้อภัยคุณ ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ ได้ที่เหมารวมว่าคนไทยหรือสังคมไทยเลวอย่างนั้นอย่างนี้ และเราคงให้อภัยเขาได้ที่เขาไม่วิเคราะห์ภาพรวมของสังคมไทยอย่างเป็นระบบ เพราะเขาทั้งโกรธและเศร้าเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องสาวเขา และผู้เขียนเองก็เห็นพฤติกรรมแย่ๆ ของคนไทยบางคนที่โพสธ์ภาพเปลือยของศพ ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ ในเฟสบุ๊ก โดยไม่มีจิตสำนึกของความเป็นคนแม้แต่นิดเดียว

แต่ในความจริงประเทศไทยเป็นสังคมที่มีสองใบหน้า เพราะเป็นสังคมชนชั้นเหมือนสังคมอื่นๆ ทั่วโลก

คนไทยจำนวนมากเป็นคนน่ารัก มีมารยาท และเมตตาต่อผู้อื่น ไม่ต่างจากคนอังกฤษ คนฝรั่งเศส คนซิเรีย หรือคนอิรัก ฯลฯ และตำรวจไทยทุกคนก็ไม่ได้เลวทราม

แต่เราทราบดีว่าเราอยู่ในสังคมที่ปกครองโดยคนป่าเถื่อน และบ้าอำนาจ ที่พร้อมจะโหดร้ายทารุณต่อประชาชนทั้งประเทศมาตั้งแต่กำเนิดของรัฐไทย แถมตอนนี้เรามีเผด็จการทหารมาซ้ำเติมอีกด้วย พวกชนชั้นปกครองไทยใช้ลัทธิคลั่งชาติและกษัตริย์ เพื่อกล่อมเกลาให้พลเมืองส่วนใหญ่จงรักภักดีต่อเขา นี่คือสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากหลงใช้ความคิดเหยียดเชื้อชาติ นี่คือสาเหตุที่ผู้มีอำนาจในทุกระดับไม่เคยเคารพประชาชนและใช้พฤติกรรม วาจา และการกระทำแบบแย่ๆ ต่อพลเมืองธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ลองนึกภาพประสบการณ์ของประชาชนที่ต้องเข้าไปสัมผัสหน่วยงานของรัฐแล้วจะเข้าใจทันที

สภาพเช่นนี้จะดำรงต่อไปตราบใดที่เราไม่ล้มเผด็จการและสร้างสังคมที่มีความอารยะตามแนวสังคมนิยม

เราไม่สามารถทำให้สองชีวิต ฮันนาห์ วิเทอร์ริดจ์ และ เดวิด มิลเลอร์ ฟื้นตัวกลับมาได้ แต่สิ่งที่เราทำได้เป็นรูปธรรมตอนนี้ คือการรณรงค์เพื่อปกป้องชีวิตของ ซอ ลิน กับ วิน ซอตัน