Tag Archives: ศาสนา

ทำไมประชาชนไอร์แลนด์ถึงเปลี่ยนมาสนับสนุนสิทธิทำแท้ง

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

ใจ อึ๊งภากรณ์

ข่าวที่น่าตื่นเต้นจากประเทศไอร์แลนด์เมื่อไม่นานมานี้ คือการที่พลเมืองไอร์แลนด์ลงประชามติให้ยกเลิกกฏหมายที่ห้ามสตรีทำแท้ง ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่การร่างกฏหมายทำแท้งเสรีอย่างที่มีในประเทศอื่นของยุโรปตะวันตก

1835e975ec2942f1994fed04e427feac

เมื่อไอร์แลนด์ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปีค.ศ. 1922 หลังจากสู้รบกันมานาน เอกราชที่ได้รับเป็นเอกราชครึ่งใบ เพราะอังกฤษแบ่งเกาะไอร์แลนด์เป็นสองส่วนคือ ไอร์แลนด์ใต้ กับไอร์แลนด์เหนือ

ไอร์แลนด์เหนือยังปกครองภายใต้อังกฤษและนักการเมืองที่มีอำนาจในพื้นที่นี้เป็นพวกโปรเตสแตนต์สุดขั้วล้าหลังที่คอยกดขี่เลือกปฏิบัติต่อชาวคาทอลิก พวกนี้จงรักภักดีต่อชนชั้นปกครองอังกฤษและกษัตริย์

ไอร์แลนด์ใต้กลายเป็นสาธารณรัฐภายใต้นักการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ชื่นชมนิกายคาทอลิก

อังกฤษแบ่งเกาะไอร์แลนด์ตอนนั้นเพราะต้องการรักษาฐานทัพและเมืองอุตสาหกรรมทางเหนือ แต่มันมีเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การให้สิทธิพิเศษกับประชาชนโปรเตสแตนต์ในไอร์แลนด์เหนือ เป็นเครื่องมือสำคัญในการแบ่งแยกชนชั้นกรรมาชีพระหว่างพวกโปรเตสแตนต์กับคาทอลิก

แทนที่การต่อสู้ทางชนชั้นจะเป็นประเด็นสำคัญ อย่างที่เคยเป็น ประชาชนไอร์แลนด์ถูกชักชวนให้มองว่าความขัดแย้งหลักเป็นเรื่องของศาสนา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครองในทั้งสองประเทศ

นักสังคมนิยมคนสำคัญของไอร์แลนด์ชื่อ เจมส์ คอนนอลี่ เคยเตือนไว้ก่อนหน้านั้นว่า ถ้ามีการแบ่งประเทศ อย่างที่อังกฤษทำ จะเกิด “เทศกาลแห่งความปฏิกิริยาล้าหลัง” ในทั้งไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ใต้

James-Connolly1-271x300
เจมส์ คอนนอลี่

ในไอร์แลนด์ใต้รัฐบาลชวนให้องค์กรศาสนาคาทอลิกเข้ามาครอบงำทุกส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา วัฒนธรรม หรือการร่างกฏหมาย พวกพระล้าหลังเหล่านี้ กดขี่สิทธิสตรีอย่างรุนแรง เน้นความเป็น “แม่” ห้ามการหย่า ห้ามการคุมกำเนิด ห้ามทำแท้ง และมีการละเมิดสิทธิสาวๆที่ท้องโดยไม่แต่งงาน โดยนำไปขังไว้ในสถาบันศาสนาเหมือนทาสตลอดชีวิต

ในไอร์แลนด์เหนือพวกพระโปรเตสแตนต์เล่นการเมืองและกีดกันสิทธิสตรีเช่นกัน เมื่ออังกฤษผ่านกฏหมายเพื่อให้สตรีเลือกทำแท้งอย่างเสรีได้ในปี 1967 นักการเมืองปฏิกิริยาเหล่านี้ไม่ยอมให้ใช้กฏหมายนี้ในไอร์แลนด์เหนือ นอกจากนี้การที่ชนชั้นกรรมาชีพถูกแบ่งแยกระหว่างโปรเตสแตนต์กับคาทอลิก ทำให้ค่าจ้างและสภาพการจ้างของกรรมาชีพไอร์แลนด์เหนือแย่กว่าในเกาะอังกฤษ

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้น และในไอร์แลนด์ใต้มีการลงทุนในการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการมากขึ้น ซึ่งทำให้กรรมาชีพในเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความงมงายในศาสนาคาทอลิกค่อยๆ ลดลง พร้อมกันนั้นมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับพระคาทอลิกทั่วโลกรวมถึงไอร์แลนด์ ว่ามีการละเมิดทางเพศเด็กๆ จำนวนมาก

ในปี 1993 ในไอร์แลนด์ใต้มีการยกเลิกการลงโทษคนรักเพศเดียวกัน ต่อมาในปี 1995 มีการยกเลิกการห้ามหย่า และในปี 2015 มีประชามติที่สนับสนุนการแต่งงานกันระหว่างคนเพศเดียวกัน ประชามติที่ปูทางไปสู่สิทธิในการทำแท้งจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการทำลายสิ่งที่ เจมส์ คอนนอลี่ เคยเรียกว่า “เทศกาลแห่งความปฏิกิริยาล้าหลัง”

แต่ในไอร์แลนด์เหนือ ยังไม่มีการยกเลิกกฏหมายห้ามทำแท้งหรือร่างกฏหมายที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ นักการเมืองล้าหลังโปรเตสแตนต์ยังไม่ถูกเขี่ยลงจากเวทีสักที แต่คนก้าวหน้ากำลังลุ้นว่าในไม่ช้าพวกนี้จะไม่สามารถต้านกระแสการปลดแอกทางเพศได้

ff7fb-woman

ส่วนในประเทศไทย สตรียังต้องรอวันที่จะมีการออกกฏหมายเลือกทำแท้งเสรี โดยที่ให้เป็นสิทธิปกติในระบบสาธารณสุขที่ปลอดภัยและไม่ต้องจ่ายเงิน คนก้าวหน้าในไทยจึงควรเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่กำลังเสนอตัวกันตอนนี้ ออกมาประกาศว่าจะสนับสนุนสิทธิทำแท้งเสรี

 

ธนาธรไม่ต้องขอโทษใครเรื่องข้อเสนอแยกศาสนาออกจากรัฐ และเรื่องปาตานี

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดว่าควรแยกศาสนาออกจากรัฐ และให้รัฐเลิกอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้าและจะเพิ่มสิทธิเสรีภาพกับพลเมืองทุกคนไม่จะว่านับถือศาสนาใดหรือไม่นับถือศาสนาอะไรเลย ดังนั้น ธนาธร ไม่ควรขอโทษใครในเรื่องนี้ และเราควรสนับสนุนเต็มที่

สิ่งที่ ธนาธร พูดเป็นข้อเสนอที่มีประโยชน์ต่อชาวพุทธ เพราะจะนำไปสู่เสรีภาพในการนับถือพุทธในลักษณะหลากหลายที่แต่ละคนเลือกจะนับถือ รัฐจะเข้ามาปราบคนที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “พุทธนอกรีต” หรือพวกธรรมกายไม่ได้ และสตรีที่ต้องการบวชเป็นพระสงฆ์ก็ย่อมทำได้ ศาสนาจะกลายเป็นสิทธิส่วนตัวของพลเมืองอย่างแท้จริง ดังนั้นพวกที่โวยวายเรื่องนี้เป็นพวกล้าหลังที่คัดค้านเสรีภาพและความหลากหลาย

แต่ในแง่หนึ่ง ทั้งๆ ที่ข้อเสนอของ ธนาธร จะเพิ่มเสรีภาพให้ชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี มันไม่พอที่จะแก้ปัญหาสงครามได้ เพราะมันไม่ใช่สงครามระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม มันเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคนที่ถูกรัฐไทยกดขี่ต่างหาก

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ข้อเสนอของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ที่จะรื้อฟื้นข้อเสนอในการปกครองตนเองของชาวปาตานี ที่หะยีสุหลง เคยยื่นต่อรัฐบาลไทยในปี 2490 ก่อนที่เขาจะถูกเผด็จการทหารไทยฆ่าทิ้ง เป็นสิ่งที่ก้าวหน้ากว่านโยบายพรรคการเมืองกระแสหลักทุกพรรค

บางคนที่มีอคติกับศาสนาอิสลาม จะโวยวายว่ามันจะนำไปสู่การ “เฆี่ยนเกย์” และขัดแย้งกับสิ่งที่ ธนาธร พูดเรื่องการแยกศาสนาออกจากรัฐ ผมขอฟันธงว่าไม่จริงเลย และจะขออธิบายต่อ

ศาสนาอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพลเมืองชาวมาเลย์มุสลิมส่วนใหญ่ในปาตานี แต่วัฒนธรรมนี้ถูกรัฐไทยกดขี่มานาน ดังนั้นการเพิ่มเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่เคยโดนกดขี่จากรัฐไทย เป็นข้อเสนอก้าวหน้า และจะมาเปรียบเทียบกับสิทธิชาวพุทธกระแสหลักไม่ได้

หะยีสุหลง

ลองมาดูข้อเสนอเดิมของ หะยีสุหลง ซึ่งเคยได้รับการยอมรับจากอ.ปรีดี พนมยงค์

  1. “สิทธิในการปกครองตนเองของชาวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ด้วยผู้นำที่เป็นคนจากพื้นที่และมาจากการเลือกตั้งจากคนในพื้นที่” ข้อเสนอนี้จะเพิ่มเสรีภาพอย่างชัดเจนเพราะลดบทบาทรัฐจักรวรรดินิยมไทย ถ้ากรุงเทพฯเลือกผู้ว่าได้ ทำไมปาตานีเลือกไม่ได้?
  2. “ข้าราชการในพื้นที่อย่างน้อย 80 % ต้องเป็นมุสลิม” ตรงนี้เราอาจดัดแปลงให้ทันสมัยขึ้นโดยเสนอว่า ประมาณ 80% ต้องเป็นคนเชื้อสายมาเลย์จากพื้นที่ แต่ควรดัดแปลงสัดส่วนให้เท่ากับสัดส่วนจริงของพลเมืองเชื้อชาติต่างๆ ในพื้นที่ มันจะแก้ไขความรู้สึกของคนในปาตานี ที่รู้สึกว่าถูกยึดครองจากกรุงเทพฯ
  3. “ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ” ข้อเสนอแบบนี้เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก เช่นสวิสแลนด์ คานาดา สวีเดน และอังกฤษ มีแต่พวกไดโนเสาร์อย่างพลเอกเปรมที่เคยคัดค้าน
  4. “ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา” ซึ่งควรตีความว่าหมายถึงโรงเรียนในชุมชนที่เขาพูดภาษามลายูที่บ้าน แต่สำหรับครอบครัวที่พูดภาษาไทยที่บ้าน ก็ควรมีโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาไทยเพื่อเป็นทางเลือก จะไปคัดค้านทำไม? และมันไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนที่ใช้ภาษามลายูจะไม่สอนให้เด็กรู้จักภาษาไทย อย่าลืมว่าเรื่องภาษากลางเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพและทำลายวัฒนธรรมหลากหลายมานาน รวมถึงคนเชื้อชาติลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  5. “ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัด” ตรงนี้พวกคนที่มีอคติกับศาสนาอิสลาม จะโวยวายว่ามันจะนำไปสู่การ “เฆี่ยนเกย์”!! ไม่เลยครับ มันหมายความว่าพลเมืองทุกคนสามารถเลือกได้ว่าอยากขึ้นกับศาลแบบไหนต่างหาก มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเราอยู่แล้ว นอกจากนี้การลงโทษในศาสนาอิสลามตีความได้หลากหลาย ชาวอิสลามก้าวหน้าควรจะรณรงค์ไม่ให้มีการตีความแบบล้าหลัง และประเทศสิงคโปร์ที่ใช้การเฆี่ยนเป็นการลงโทษไม่ใช่รัฐอิสลามอีกด้วย
  6.  “ภาษีที่เก็บได้ในพื้นที่ให้ใช้ในพื้นที่เท่านั้น” ก็เป็นข้อเสนอที่ดี แต่ในเมื่อปาตานีเป็นพื้นที่ยากจน ควรมีงบประมาณสมานฉันท์จากพื้นที่อื่นเข้ามา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
  7. “ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลาม” อันนี้ก็เป็นข้อเสนอที่จะให้เสรีภาพกับการนับถือศาสนาอิสลาม แต่ในโลกสมัยใหม่ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดควรมาจากการเลือกตั้ง และคนอิสลามควรมีสิทธิที่จะไม่ทำตามระเบียบนั้นได้ คือระเบียบที่ว่านี้ควรจะเป็นแค่ข้อเสนอแนะเท่านั้น

แต่คำพูดหนึ่งของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ น่าจะสร้างความกังวลนิดหน่อย คือเวลามีการถามว่าจะทำได้แค่ไหน เขาตอบว่า “อะไรก็ได้ที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย” แต่รัฐธรรมนูญไทยตอนนี้เขียนว่ารัฐไทยเป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งเป็นอุปสรรค์สำคัญในการที่คนในพื้นที่จะพูดคุยพิจารณารูปแบบต่างๆ ของการปกครองตนเอง รวมถึงสิทธิที่จะแยกประเทศด้วย

%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%83%e0%b8%9a-2

ปัญหาความรุนแรงในปาตานี มาจากการกดขี่ของรัฐไทย ผ่านการกระทำของกำลังทหารและตำรวจที่ยึดครองพื้นที่เหมือนเป็นอาณานิคม ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่ควรเสนอให้ถอนทหารและตำรวจส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันอย่างสันติ และควรเสนอให้ลดบทบาททหารในการเจรจาสันติภาพอีกด้วย

ข้อดีอีกอันหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่คือ มีแผนจะลงไปพบปะกับนักเคลื่อนไหว และภาคประชาสังคมในปาตานี เพื่อจัดทำนโยบายการกระจายอำนาจและนโยบายด้านพหุวัฒนธรรม ผมหวังว่าคนของพรรคจะกล้าพอที่จะต่อสายและคุยกับคนที่กบฏต่อรัฐไทย หรือคนที่อยากแบ่งแยกดินแดนด้วย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมกังวลอันหนึ่งคือ พอพวกอนุรักษ์นิยมวิจารณ์สิ่งที่เขาพูดนิดเดียว ก็จะเริ่มเห็นเขาถอยและเปลี่ยนใจ ทำไมต้องขาดความมั่นใจในการทำสิ่งที่ถูกถึงขนาดนั้น? เราคงต้องดูต่อไป

 

จุดยืนมาร์คซิสต์ต่อธรรมกาย

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักมาร์คซิสต์สังคมนิยมไม่มีศาสนา เรายึดถือแนวคิด “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” แทนความเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ การวิเคราะห์โลกของเรากระทำไปเพื่อปฏิบัติการในการเปลี่ยนระบบ เราต้องการทำลายการกดขขี่ขูดรีดและเผด็จการ นี่คือสาเหตุที่เราไม่นับถือศาสนา และไม่เห็นด้วยกับปรัชญาศาสนา เพราะศาสนามักพาคนไปตั้งความหวังไว้กับอำนาจเบื้องสูงที่จับต้องไม่ได้ และมักจะเป็นคำสอนที่ถกเถียงด้วยเหตุผลไม่ได้อีกด้วย คือเน้นการเชื่อฟังและศรัทธาอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ศาสนาของนักมาร์คซิสต์ มีความละเอียดอ่อนและแหลมคม

ต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับธรรมกายในไทย เรามีสามจุดยืนที่สำคัญคือ

  1. ศาสนาควรเป็นเรื่องส่วนตัว รัฐไม่ควรเข้ามายุ่ง ศาสนาควรแยกออกจากรัฐโดยสิ้นเชิง และพลเมืองทุกคนควรมีสิทธิเต็มที่ ที่จะนับถือและปฏิบัติศาสนาตามความเชื่อของตนเอง ใครจะนับถือพุทธ โดยไม่มีสังฆราชหรือวัด ก็ควรมีเสรีภาพ ใครจะนับถือผีก็ควรมีสิทธิ์

เลนิน นักปฏิวัติรัสเซีย เคยเน้นว่า การเลือกปฏิบัติต่อคนบนพื้นฐานการนับถือศาสนา หรือไม่นับถือศาสนา เป็นสิ่งที่เราไม่ควรยอมรับ แม้แต่การระบุศาสนาในเอกสารราชการก็ไม่ควรมี และรัฐไม่ควรให้เงินสนับสนุนศาสนาใด พลเมืองที่เป็นศาสนิกชนควรลงขันสนับสนุนศาสนาของตนเองอย่างเสรี

  1. ในโลกของมนุษย์ไม่มีวิธีนับถือศาสนาที่ “แท้จริง” ศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติที่แตกต่างกันของหลากหลายมนุษย์ในยุคต่างๆ ดังนั้นทุกนิกายต้องถือว่าเป็นศาสนาแท้

คาร์ล มาร์คซ์ เคยวิจารณ์คนที่มองว่าแก่นแท้ของศาสนาอยู่ที่ “คัมภีร์” เท่านั้น  แต่ถ้าพิจารณาความคิดทางศาสนา จะเห็นว่ามันมักสะท้อนกฏระเบียบที่มนุษย์สร้างเองในบริบทต่างๆ ของสังคม และมนุษย์เป็นผู้เขียน “คัมภีร์” และตีความ “คัมภีร์” ในลักษณะหลายหลายเสมอ การถกเถียงกันระหว่างคนที่ตีความ “คัมภีร์” แตกต่างกัน เป็นเรื่องไม่มีวันจบ และในความเป็นจริงศาสนาต่างๆ จงใจให้มีการตีความหลากหลาย เพื่อเอาใจทุกคนและเพื่อขยายอิทธิพล

  1. ในสังคมที่ไร้เสรีภาพและบ่อยครั้งไร้ความหวัง คนที่นับถือศาสนา นับถือด้วยเหตุผลของเขา เขาไม่ใช่คนโง่เขลา

มาร์คซ์ เคยเขียนว่า “ความทุกข์ของมนุษย์ที่มีรูปแบบออกมาทางศาสนาคือความทุกข์จริง ศาสนาคือการประท้วงต่อความทุกข์จริงในโลก คือการถอนหายใจของผู้ถูกกดขี่ คือหัวใจในโลกที่ไร้หัวใจ คือวิญญาณในสภาพไร้วิญญาณ” แต่ มาร์คซ์ เขียนต่อว่า “ศาสนาคือฝิ่นของประชาชน” มันให้ความอบอุ่นจอมปลอมนั้นเอง

คำอธิบายนี้เป็นสิ่งที่ใช้แนะท่าทีของเราต่อชายคนที่ผูกคอตายประท้วง คสช. ได้อีกด้วย

ดังนั้นในเรื่องที่เผด็จการทหารของประยุทธ์ปราบวัดธรรมกาย เนื่องจากคสช.มองว่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามทางการเมืองกับตนและพรรคพวกของตนเอง ซึ่งรวมถึงพระเลวของเผด็จการอย่างพุทธอิสระ  เราต้องประณาม เราต้องประณามการใช้ ม.44 ในเรื่องนี้ด้วย แม้ว่าชาวมาร์คซิสต์จะไม่สนับสนุนศาสนาใดๆ รวมถึงธรรมกาย

แน่นอน เราขอประณามพระสงฆ์ไทยและพม่าที่เหยียดหยามชาวมุสลิม และเราควรปกป้องชาวมุสลิมที่กำลังถูกกดขี่เหยียดหยามทั่วโลกในยุคนี้

ในเรื่องข้อกล่าวหาต่อพระสงฆ์ว่ากระทำความผิด ต้องมีการนำมาพิสูจน์ในศาลที่มีความยุติธรรม พระไม่ควรมีอภิสิทธิ์พิเศษ แต่ในไทยตอนนี้มีความยุติธรรมหรือไม่?

นอกจากนี้ สตรีที่ต้องการบวชเป็นพระสงฆ์ก็ควรมีเสรีภาพที่จะกระทำสิ่งนั้น กะเทยด้วย ไม่ควรมีใครที่มีอำนาจอะไรมาห้าม

ท้ายสุด เราจะพยายามชักชวนท่านผู้นับถือศาสนา ให้เปลี่ยนใจตามความสมัครใจ และเลิกนับถือศาสนาโดยสิ้นเชิง เราจะชวนให้ท่านหันมาร่วมจับมือกับเพื่อนมนุษย์ ตั้งความหวังไว้กับมนุษย์ และร่วมกันต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีเสรีภาพ ความยุติธรรม และความเท่าเทียม แต่ถ้าท่านยังไม่พร้อมจะสลัดความคิดทางศาสนาออกจากหัว เราก็ยังยินดีร่วมต่อสู้เพื่อสิ่งเหล่านี้กับท่านโดยไร้อคติ

ศาสนาพุทธไม่ควรเป็นศาสนาประจำชาติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

มันน่าเบื่อเหลือเกินที่กลุ่มพระสงฆ์ออกมาพูดซำแล้วซ้ำอีก ว่าศาสนาพุทธควรถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาสนาประจำชาติ การมีเผด็จการครองเมืองที่ทำลายสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่จะคิดเองยังไม่พออีกหรือ? การที่ทุกวันนี้คนติดคุกเพราะไม่รักใครสักคน หรือเพราะวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมยังไม่พออีกหรือ? จะต้องมีการบังคับให้ความเชื่อชนิดหนึ่งสำคัญกว่าความคิดอื่นไปทำไม?

ลัทธิคลั่ง “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” เป็นลัทธิสุดขั้วที่เผด็จการใช้ในการกดขี่พลเมืองประเทศนี้มานานเกินไป มันน่าจะหมดยุคนานแล้ว ความคิดเรื่อง “เสรีภาพ ประชาธิปไตย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” น่าจะเป็นความคิดกระแสหลักในสังคมเราแทน

มันอาจจริงที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้มองว่าตนเองนับถือศาสนาพุทธ อันนี้ไม่มีใครเถียงด้วยได้และมันปรากฏให้เห็นชัด แต่ต่อจากนั้นก็คงมีการถกเถียงกันว่าศาสนาพุทธที่แต่ละคนนับถือมันเป็นแบบไหน ภาพความขัดแย้งในคณะสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายในศาสนาพุทธ และเป็นสิ่งที่เกิดจากผลประโยชน์และความขัดแย้งทางการเมือง

ถ้าพูดถึงการนับถือศาสนาพุทธในไทยแล้ว บางคนเข้าพิธีศาสนาบ่อย บางคนบวช บางคนอาจศรัทธาในศาสนาในลักษณะเงียบๆ ไม่เข้าพิธี ไม่เข้าวัด และบางคนอาจไม่เคยคิดถึงศาสนาเลย นอกจากนี้ก็จะมีคนที่ไม่นับถือศาสนาเลย ซึ่งในสังคมทันสมัยที่อิงวิทยาศาสตร์ เสรีภาพ และเหตุผล ย่อมมีมากขึ้นทุกที

การประกาศว่าศาสนาพุทธ “ต้อง” เป็นศาสนาประจำชาติ มันมีข้อบกพร่องเสียหายสองอย่างคือ

(1) มันเป็นการกีดกันพลเมืองที่มีความเชื่อในศาสนาอิสลาม คริสต์ ฮินดู หรือความคิดอื่นๆ ที่รวมไปถึงปรัชญาที่ปฏิเสธศาสนาด้วย มันสร้างพลเมืองสองระดับ คนที่อยู่ในกระแส กับคนที่อยู่นอกกระแส และมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับคนที่มีความเชื่อที่ไม่ใช่พุทธ เช่นในปาตานีเป็นต้น หรือจะนำไปสู่การช่วงชิงกันเพื่อนิยามศาสนาพุทธ “ที่ถูกต้อง” อีกด้วย

การพูดเรื่องศาสนาที่ “ถูกต้อง” เป็นการพูดโกหกตอแหล คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าศาสนาบริสุทธ์ไม่มีจริง เพราะศาสนาขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของมนุษย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำเขียนศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์บางคนเขียนขึ้นในอดีต

ทุกวันนี้เราเห็นคนอย่าง “กลุ่มพิทักษ์พุทธศาสนา” ที่เชียงใหม่ ที่ออกมาคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นการเหยียดเชื้อชาติและวัฒนธรรมของคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ในภาคเหนือกลุ่มชนชาวจีนที่นับถืออิสลามมีมานานจากสมัยที่มีเส้นทางค้าขายโบราณ แต่พวก “กลุ่มพิทักษ์พุทธศาสนา” พูดเหมือนเขาไม่ใช่พลเมืองของสังคมเรา ในที่สุดถ้าความคิดแบบนี้ขยายตัวก็จะเกิดขบวนการพระสงฆ์ที่นำอันธพาลไปฆ่าคนมุสลิมอย่างที่เราเห็นที่พม่า ดังนั้นเราต้องคัดค้าน

(2) การประกาศว่ารัฐธรรมนูญต้องระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นการผูกศาสนาไว้กับรัฐ ในอดีตรัฐไทยภายใต้เผด็จการทหารพยายามจะคุมพระสงฆ์ด้วยการรวมศูนย์อำนาจ มันไม่ใช่เพื่อพัฒนาศาสนาแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ และรัฐไทยพยายามตลอดที่จะกำหนดว่าพุทธศาสนาที่ “ถูกต้อง”คืออะไร หรือใครบ้างที่จะมีสิทธิห่มผ้าเหลือง

ความแตกแยกในหมู่สงฆ์ที่เราเห็นตอนนี้ก็เป็นเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ทั้งสิ้น ในอดีตรัฐไทยพยายามที่จะประโคมว่าพระสงฆ์ไม่ควรยุ่งในการเมือง แต่มันเป็นภาพหลอกลวง เพราะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ หรือก่อนหน้านั้นอีก พระสงฆ์กับการเมืองเกี่ยวข้องกันเสมอ รัฐไทยพยายามสร้างภาพว่าพระที่ “ดี” ต้องคล้อยตามผู้มีอำนาจ และในปัจจุบัน พุทธอิสระ พระฟาสซิสต์คนโปรดของประยุทธ์ ก็ดูเหมือนมีสิทธิพิเศษ

ผมไม่สนใจหรอก ถ้าพระสงฆ์จะตีกันและแย่งชิงอะไรกัน ถ้าไม่มีผลกระทบกับพลเมืองส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ต้องสารภาพว่าผมชอบเห็นพระสงฆ์เผชิญหน้ากับทหาร แต่นั้นเป็นเพียงอารมณ์ที่ไม่คิดมาก

สำหรับนักประชาธิปไตย หรือนักสังคมนิยม ศาสนาควรจะเป็นเรื่องส่วนตัว แยกออกจากรัฐโดยสิ้นเชิง ใครจะศึกษาศรัทธาในแนวคิดแบบไหนก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าคนที่นับถืออะไรจะมารวมตัวกันตั้งสมาคมหรือองค์กรทางศาสนา เพื่อสร้างวัดหรือประกอบพิธี เขาก็ควรมีสิทธิ์ ไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ แต่ไม่ควรมีการบังคับสวดมนต์ในโรงเรียน และไม่ควรมีการระบุว่าพลเมืองนับถืออะไรในบัตรประจำตัวแต่อย่างใด

ศาสนา งมงายหรือปลดแอกมนุษย์?

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักมาร์คซิสต์สังคมนิยมยึดถือแนวคิด “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” แทนความเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ การวิเคราะห์โลกของเรากระทำไปเพื่อปฏิบัติการในการเปลี่ยนระบบ เราต้องการทำลายการกดขขี่ขูดรีดและเผด็จการ นี่คือสาเหตุที่เราไม่นับถือศาสนา และไม่เห็นด้วยกับปรัชญาศาสนา เพราะศาสนาพาคนไปตั้งความหวังไว้กับอำนาจเบื้องสูงที่จับต้องไม่ได้ และมักจะเป็นคำสอนที่ถกเถียงด้วยไม่ได้อีกด้วย คือต้องเชื่อฟังและศรัทธาอย่างเดียว

ในยุคนี้มักจะมีการพูดกันถึงบทบาทศาสนาอิสลามเวลามีเหตุการณ์ก่อการร้าย หรือเมื่อมีการทำสงครามในตะวันออกกลาง และแน่นอนพวกที่เหยียดเชื้อชาติในยุโรปและสหรัฐ และพวกที่ให้ความชอบธรรมกับการทำสงครามของรัฐบาลตะวันตก มักจะตั้งใจบิดเบือนเบื้องหลังการต่อสู้โต้ตอบกลับมาของกลุ่มมุสลิมบางกลุ่ม และหลายคนที่อ้างว่าเป็นคนฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะในฝรั่งเศส มักจะคล้อยตามกระแสหลักฝ่ายขวา และร่วมในการด่าชาวมุสลิม โดยใช้ข้ออ้างว่าฝ่ายซ้ายคัดค้านทุกศาสนา แต่นั้นเป็นการมองโลกแบบแข็งทื่อและกลไก

เราอาจเห็นสถานการณ์แบบนี้ในไทยด้วย เมื่อบางคนวิจารณ์กลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐไทยในปาตานี

ในมุมกลับฝ่ายซ้ายอีกพวกหนึ่ง จะคล้อยตามความเชื่อของมวลชนและไม่กล้าวิจารณ์ศาสนาเลย ตัวอย่างที่ดีคือองค์กร “ละบังอังมาซา” ในฟิลิปปินส์ ที่ไปร่วมขบวนแห่ของคนงานชาวคริสต์เมื่อสันตะปาปามาเยี่ยมฟิลิปปินส์ โดยไม่มีการวิจารณ์จุดยืนต้านสิทธิทำแท้ง จุดยืนเชิดชูครอบครัวอนุรักษ์นิยม หรือจุดยืนค้านการคุมกำเนิดของสำนักคริสต์สายแคทอลิค ในไทยนักเคลื่อนไหวบางคนอาจไม่กล้าวิจารณ์ศาสนาพุทธหรือศาสนาอิสลาม เมื่อมีการเสนอแนวคิดศาสนาที่กดทับเสรีภาพ

สำหรับนักมาร์คซิสต์ การวิเคราะห์ศาสนาของเรามีความละเอียดอ่อนและแหลมคม

คาร์ล มาร์คซ์ มองว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างศาสนาและสร้าง “พระเจ้า” หรือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นมาเอง และมนุษย์เป็นคนลงมือเขียนคัมภีร์ด้วย แต่เราไม่สามารถจำกัดความศาสนาใดศาสนาหนึ่งจากสิ่งที่เขียนในคัมภีร์ได้ การถกเถียงกันระหว่างคนที่ตีความคัมภีร์แตกต่างกันเป็นเรื่องไม่มีวันจบ และในความเป็นจริงศาสนาต่างๆ จงใจให้มีการตีความหลากหลาย เพื่อเอาใจทุกคนเพื่อขยายอิทธิพล คือเอาใจคนรวยและคนจนพร้อมกัน หรือให้ความชอบธรรมกับชนชั้นปกครองและเห็นใจความทุกข์ของคนที่ถูกปกครองพร้อมกัน สำหรับ มาร์คซ์ ธาตุแท้ของศาสนาคือวิธีการนำศาสนาไปปฏิบัติของคนจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะหลากหลาย

แน่นอนศาสนากลายเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นปกครอง คำสอนของศาสนาถูกเปล่งออกมาจากปากผู้ปกครองที่พยายามสอนให้เราสยบยอมและเชื่อฟัง และสำหรับผู้ถูกกดขี่คำสอนของศาสนาบ่อยครั้งกลายเป็นการสยบยอมต่อชนชั้นปกครอง เพราะคิดว่าเป็นผลกรรมของชาติก่อน หรือไม่ก็ลิขิตของพระเจ้า

ในขณะเดียวกันศาสนาอาจเป็นธงนำในการต่อสู้ อย่างที่เราเห็นในกรณีศาสนาอิสลามในตะวันออกกลาง หรือปาตานี โดยเฉพาะเวลาศัตรูเป็นคนต่างศาสนาหรือไม่นับถือศาสนา แต่คำถามสำคัญคือ การต่อสู้ภายใต้ธงอิสลามที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ จะปลดแอกมนุษย์ได้มากน้อยเพียงใด หรือจะเป็นเพียงการเปลี่ยนชนชั้นปกครองโดยไม่มีการกำจัดการกดขี่ขูดรีดเลย

คนไทยจำนวนมากยังงมงายในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการยกมือไหว้พระ ไหว้รูปปั้นพระพุทธรูปหรือเทวดาฮินดู ไหว้ต้นไม้ ไหว้รูปปั้นคนที่ตายไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือสามัญชน นี่คือภาพที่สะท้อนว่าสังคมไทยแย่ เหลื่อมล้ำ และเต็มไปด้วยการกดขี่ขูดรีด และศาสนาพุทธจะเน้นว่าเราต้องแก้ปัญหาที่ตัวเราเอง แทนที่จะรวมตัวกันแก้ไขสังคมและโค่นล้มชนชั้นปกครอง

มันเป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายซ้ายต้องเข้าใจว่าทำไมมวลชนที่ถูกกดขี่ถึงเชื่อในศาสนา เพราะมันไม่ใช่ “ความโง่” แต่อย่างใด มาร์คซ์เคยเขียนว่า “ความทุกข์ของมนุษย์ที่มีรูปแบบออกมาทางศาสนาคือความทุกข์จริง ศาสนาคือการประท้วงต่อความทุกข์จริงในโลก คือการถอนหายใจของผู้ถูกกดขี่ คือหัวใจในโลกที่ไร้หัวใจ คือวิญญาณในสภาพไร้วิญญาณ” แต่ มาร์คซ์ เขียนต่อว่า “ศาสนาคือฝิ่นของประชาชน” มันให้ความอบอุ่นจอมปลอมนั้นเอง

แทนที่ชาวมาร์คซิสต์จะเน้นการเถียงกับคนที่งมงายในศาสนา เราจะต้องเน้นการต่อสู้กับสภาพสังคมที่ย่ำแย่อันเป็นสาเหตุที่ทำให้คนต้องพึ่งศาสนาแต่แรก

มาร์คซ์ อธิบายว่า “การยกเลิกศาสนาที่สร้างความสุขจอมปลอม ต้องทำผ่านการต่อสู้เรียกร้องให้ทุกคนมีความสุขแท้จริงในชีวิต การเรียกร้องให้คนเลิกงมงายในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ต้องเป็นการเรียกร้องให้ยกเลิกสภาพสังคมที่ทำให้คนจำเป็นต้องงมงาย และการวิจารณ์ศาสนาต้องเป็นการวิจารณ์สังคมที่ทำให้มนุษย์น้ำตาคลอด้วยความทุกข์”

เราจะยืนอยู่เคียงข้างผู้ที่นับถือศาสนาถ้าเขาถูกกดขี่ และโดยเฉพาะในกรณีที่เขาลุกขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรม แต่เราจะไม่กลัวที่จะวิจารณ์ศาสนาด้วย

10 ปีหลังตากใบ การเมืองแบบชุมชนนิยม ไม่ใช่คำตอบสำหรับปาตานี

ใจ อึ๊งภากรณ์

10ปีหลังอาชญากรรมรัฐที่ตากใบ คนที่รับผิดชอบคือทักษิณ ผบ.ทหาร และผบ.ตำรวจ ยังไม่ถูกนำมาขึ้นศาล ไม่ต่างจากผู้ที่ต้องรับผิดชอบกรณีอาชญากรรมรัฐอื่นๆ เช่น ๑๔ ตุลา ๖ตุลา พฤษภา ๓๕ หรือราชประสงค์ ๕๓

ถ้ามองไปข้างหน้าด้วยความหวังว่าวันหนึ่งจะมีการแก้ไขปัญหาที่ปาตานี สิ่งหนึ่งที่เราต้องระมัดระวังในอนาคต ถ้าปาตานีมีสันติภาพ คือการเมืองแบบ “ชุมชนนิยม”

การเมืองแบบชุมชนนิยมคืออะไร มันเป็นการมองปัญหาการเมืองในรูปแบบที่เชื่อว่าปัญหาที่ปาตานี หรือไอร์แลนด์เหนือ หรือบอสเนีย ฯลฯ เกิดจากความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรม ดังนั้นมีการเสนอว่าควรมีระบบการเมืองที่ให้แต่ละเชื้อชาติ ศาสนา หรือชุมชน มีตัวแทนทางการเมืองของตนเอง เพื่อมาแบ่งอำนาจกันกับเชื้อชาติ ศาสนา หรือชุมชนอื่น

แต่ปัญหาที่ปาตานี ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคนมุสลิมมาเลย์กับคนไทยพุทธ หรือระหว่างคนมุสลิมมาเลย์กับคนจีนแต่อย่างใด มันเป็นปัญหาที่มาจากความเป็นจักรวรรดินิยมของรัฐไทยหรือรัฐสยามต่างหาก ยิ่งกว่านั้นคนมุสลิมมาเลย์ ไม่ได้มีผลประโยชน์ตรงกันทุกคน คนไทยพุทธก็เช่นกัน มันมีความแตกต่างทางชนชั้นภายในทุกชุมชน ดังนั้นการเมืองแบบ “ชุมชนนิยม” เป็นการปิดหูปิดตาถึงชนชั้นและการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น และมันเป็นการสร้าง แล้วแช่แข็ง ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนาที่ไม่ได้มีมาก่อน

ในมาเลเซียกับสิงคโปร์ มีการออกแบบระบบที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “Consociationalism” คือระบบการปกครองที่ “บริหาร” เชื้อชาติ โดยมีการจัดให้ทุกเชื้อชาติมีตัวแทนของตนเองในรัฐบาล ซึ่งมีการใช้รูปแบบการปกครองอย่างนี้ในไอร์แลนด์เหนือหรือในบอสเนียด้วย ในกรณีมาเลเซีย เราจะเห็นว่ารัฐบาล “แนวร่วมชาติ” ประกอบไปด้วยพรรคของชาวมาเลย์ (U.M.N.O.) พรรคของชาวจีน (M.C.A. – Malay Chinese Association) และพรรคของชาวอินเดีย (M.I.C. – Malay Indian Congress)

แต่ประเด็นปัญหาสำคัญคือตัวแทนของเชื้อชาติจะมาจากชนชั้นไหน และจะเลือกกันอย่างไร? ประเด็นชนชั้นแบบนี้ไม่มีการพิจารณาเลย เพราะคนที่เสนอ Consociationalism มักมองว่าชนชั้นไม่สำคัญ หรืออยากจะกลบความขัดแย้งทางชนชั้น อย่างไรก็ตามการที่พรรค “เถ้าแก่จีน” (พรรค M.C.A.) ถูกเลือกมาเป็นผู้แทนของชาวจีนทั้งหมด เป็นปัญหาถ้ามวลชนไม่ถูกทำให้สงบนิ่งเพื่อตามการนำของอภิสิทธิ์ชนจีน ดังนั้นการปกครองแบบ Consociationalism ย่อมประกอบไปด้วยระบบ “เผด็จการอ่อนๆ” เพื่อควบคุมความขัดแย้งทางเชื้อชาติเสมอ สิ่งนี้ดำรงอยู่ในระบบการเมืองมาเลเซียกับสิงคโปร์ในปัจจุบัน สรุปแล้วมีการยกความขัดแย้งทางเชื้อชาติมาเป็นข้ออ้างในการลดทอนสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตย

คำถามหรือปัญหาที่ตามมา ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ยากคือ ใครเป็นผู้แทนที่แท้จริงของประชาชนเชื้อชาติต่างๆ เพราะที่แล้วมา “ผู้ใหญ่ตามประเพณี” ของเชื้อชาติต่างๆ ในหมู่บ้าน มักอ้างความชอบธรรมโบราณในการเป็นผู้แทน ทั้งๆที่อาจสังกัดคนละชนชั้นกับคนส่วนใหญ่ และทั้งๆที่ไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนตามระบอบประชาธิปไตยเลย ถ้าจะเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมโดยรวม ต้องมีประชาธิปไตยในส่วนย่อยๆด้วย รวมถึงการเลือกผู้แทนของเชื้อชาติต่างๆ

ในปาตานีคนมุสลิมมาเลย์ ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองในรูปแบบเดียว มีหลายแนวความคิด ในชุมชนพุทธ หรือในหมู่คนเชื้อสายจีน ก็มีหลายแนว และที่สำคัญคือคนมาเลย์มุสลิมจำนวนมากสามารถจับมือสมานฉันท์ทางการเมืองกับคนพุทธหรือคนจีนได้ และนั้นคือแนวทางแท้ในการสร้างสันติภาพและความสุขในปาตานี ไม่ว่าจะแยกดินแดน หรือกระจายอำนาจการปกครองภายใต้รัฐไทยใหม่

เราคงต้องรื้อถอนโครงสร้างศาสนา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในการสร้างประชาธิปไตย เราคงจะต้องรื้อถอน ยกเลิก หรือปฏิรูปหลายองค์กรหลายสถาบันที่เป็นอุปสรรค์ต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย แน่นอนสถาบันหลักที่ต้องรื้อถอนคือทหาร แต่สถาบันและโครงสร้างของศาสนาพุทธคงต้องได้รับการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคนด้วย

คนห่มผ้าเหลืองที่ใช้ชื่อหรูว่า “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ออกมาพูดชมเชยและให้กำลังใจคณะทหารเถื่อน ที่ยึดอำนาจจากประชาชน และยังพูดอีกว่าประยุทธ์มือเปื้อนเลือดมีคุณสมบัติที่ดีที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

“พระ” ประจบสอพลอเลียเผด็จการคนนี้ ยังหน้าด้านพูดอีกว่าประชาชนควรใช้ศีล5 ในการปรองดองตามคำสั่งประยุทธ์

“สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” คงลืมไปแล้วมั้งว่าศีล5ประกอบไปด้วยอะไร

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากฆ่า แต่ประยุทธ์มันมือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเสื้อแดง 90 คน

๒. อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ แต่ประยุทธ์ขโมยประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไทยไป

๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๔. มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการกล่าวเท็จ แต่ประยุทธ์โกหกว่า “ต้อง” ทำรัฐประหาร “เพื่อแก้ปัญหา” ในขณะที่ทหารเป็นตัวปัญหาแต่แรก

๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

สรุปแล้วประยุทธ์ เจ้านายของ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” กระทำผิดศีลข้อ 1,2 และ 4

ตั้งแต่ยุคเผด็จการสฤษดิ์ในอดีต มีการทำให้องค์กรศาสนาเป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการและอำมาตย์ ดังนั้นในการสร้างประชาธิปไตยเราคงต้องรื้อถอนองค์กรศาสนา ยกเลิกตำแหน่งพระสังฆราช และแยกศาสนาพุทธออกจากรัฐ ให้ทุกศาสนาเป็นเรื่องความศรัทธาส่วนตัว