Tag Archives: สงครามการค้า

ถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปีนี้ครบรอบ 30 ปีหลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็น และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลก

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

220px-Empire_(book)

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย ที่เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว คืออันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ซึ่งเขาเขียนไว้ในหนังสือ Empire ว่ายุคการแข่งขันระหว่างจักรวรรดินิยมสิ้นสุดลงหลังสงครามเย็น และเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

พอถึงปี 2008 ได้เกิดวิกฤตใหญ่ของระบบทุนนิยมกลไกตลาดเสรีที่ลามจากสหรัฐสู่ยุโรปและแพร่กระจายไปทั่วโลก วิกฤตนี้เกิดจากการลดลงของอัตรากำไร แต่นโยบายกลไกตลาดเสรีและการเคลื่อนย้ายทุนจากจุดต่างๆ ของโลกอย่างเสรี ยิ้งทำให้ผลกระทบร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่เคยเกิดขึ้นในไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ก็มีลักษณะคล้ายวิกฤตใหญ่ที่ตามมาสิบปีหลังจากนั้น

ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตปี 2008 ทำให้ความน่าเชื่อถือของนโยบายคลั่งกลไกตลาดเสรีลดลงอย่างมาก ในไทยรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณนำระบบเศรษฐกิจ “คู่ขนาน” มาใช้ผ่านการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐในระดับชุมชน เพื่อยกระดับคนจน ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่เสื้อเหลือง ทหาร และพวกอนุรักษ์นิยมที่คลั่งตลาดเสรี หลายคนในไทยทุกวันนี้ไม่เข้าใจว่าพวกเผด็จการทหารและประชาธิปัตย์เป็นพวกเสรีนิยมคลั่งกลไกตลาด ในขณะที่ทักษิณนิยมผสมการใช้รัฐกับกลไกตลาด

หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 การเคลื่อนย้ายทุนและการค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในสหรัฐและยุโรปหลัง 2008 เริ่มมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังกับกลไกตลาดเสรีในหมู่นักเศรษฐศาสตร์และนักเคลื่อนไหว แต่รัฐบาลต่างๆ ยังหน้าด้านเดินหน้าต่อไป และโอนภาระในการแก้วิกฤตให้กับประชาชนธรรมดาผ่านนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม

ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นกลายเป็นเสียงสนับสนุนพวกขวาจัดในบางกรณี เช่นชัยชนะของดอนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐ หรือการขึ้นมาของรัฐบาลขวาจัดในอิตาลี่เป็นต้น ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองกระแสหลักของพวกเสรีนิยมเริ่มเข้าสู่วิกฤตหนักในหลายประเทศของยุโรป เช่นในเยอรมัน สแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส และสเปน

ในกรณีอื่นการวิจารณ์กลไกตลาดเสรีออกดอกออกผลในทางที่ก้าวหน้า เช่นในข้อเสนอเรื่อง The Green New Deal (“กรีน นิว ดีล”) ที่เสนอให้รัฐฝืนตลาดและเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ที่มาจากนโยบายรัดเข็มขัดและปัญหาที่มาจากสภาพโลกร้อนพร้อมๆ กัน มีการเสนอ “กรีน นิว ดีล” ในสหรัฐและแพร่ไปสู่คานาดาและอังกฤษผ่านนักการเมืองสายซ้ายปฏิรูป

Untitled

สถานการณ์หลังวิกฤต 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

huawei_0

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

761fdce8-2e6d-11e9-80ef-0255f1ad860b_image_hires_092316

สำหรับคำถามว่าตอนนี้เราถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เพราะทุนนิยมโลกยังมีลักษณะโลกาภิวัตน์ แต่ในขณะเดียวกันมี “กลุ่มอำนาจ” หลายกลุ่มในภูมิภาคต่างๆ เช่น อียู จีน สหรัฐ ซึ่งไปกดทับผลประโยชน์ของประเทศที่เล็กกว่าแต่อยากจะโตเท่าทันประเทศเจริญ เช่นอินเดียหรืออาเจนทีนาเป็นต้น

จุดยืนของมาร์คซิสต์คือ เราต้องคัดค้านแนวชาตินิยม หรือแนวที่จะพาเราไปสนับสนุนกลุ่มอำนาจหนึ่งในความขัดแย้งกับกลุ่มอื่น และเราต้องเน้นความสมานฉันท์ในหมู่กรรมาชีพสากลเพื่อต่อสู้กับรัฐทุนนิยมในประเทศของเรา และระบบทุนนิยมทั่วโลก

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาส่วนใหญ่จากการอภิปรายโดย Alex Callinicos หัวข้อ “Is this the end of globalisation?” ดูได้ที่นี่ https://bit.ly/2XMpE1S ]

ดอนัลด์ ทรัมป์ กำลังทำอะไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

หลายคนอาจมองว่า ดอนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำ “สติเสีย” เพราะมักจะมีการกลับคำเสมอ พร้อมจะโกหกแบบหน้าด้าน และนโยบายของเขาดูเหมือนไม่มีการวางแผนล่วงหน้า จึงขัดแย้งในตัวเอง หรือไร้เหตุผลทางปัญญา แต่คนที่มองแบบนี้ประเมิน ทรัมป์ ต่ำเกินไป

แน่นอน ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐที่เลวร้ายที่สุดคนหนึ่ง เพราะต่อต้านสิทธิสตรี อวดว่าตนเองละเมิดผู้หญิงหลายคน และในขณะนี้กำลังหาทางที่จะยกเลิกสิทธิทำแท้งในสหรัฐผ่านการแต่งตั้งผู้พิพากษาอนุรักษ์นิยมปฏิกิริยาสุดขั้ว ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัมป์ เป็นคนที่เหยียดคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวชาวอเมริกัน เขาพูดจาดูถูกคนจากประเทศอื่น เช่นชาวเม็กซิโก ว่าเป็นพวก “ขี้ขโมย” ที่นำอาชญากรรมเข้าประเทศ เขาดูถูกคนพื้นเมืองอเมริกัน และคัดค้านคนที่อพยพเข้ามาจากประเทศอื่นทั้งๆ ที่พ่อแม่ของ ทรัมป์ เองไม่ได้เกิดที่สหรัฐ นอกจากนี้ ทรัมป์ พร้อมจะอุดหนุนทุนใหญ่ของสหรัฐ เช่นทุนพลังงานหรือการเกษตร โดยการปิดหูปิดตาถึงปัญหาโลกร้อนและการที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายจากมลพิษ และถ้าแค่นี้ไม่พอ ทรัมป์ เป็นคนที่พร้อมจะก่อให้เกิดสงครามทั่วโลก เช่นในตะวันออกกลาง โดยไม่ห่วงใยเพื่อนมนุษย์

ทรัมป์ ชอบอ้างว่าเป็นมิตรของคนทำงานธรรมดาในสหรัฐที่ต้องยากลำบาก แต่ในรูปธรรมนโยบายของเขาหนุนแต่ทุนใหญ่และคนรวยในขณะที่ทำลายความมั่นคงของคนธรรมดา เช่นนโยบายการลดภาษีให้กลุ่มทุน หรือการพยายามทำลายระบบสาธารณสุขสำหรับประชาชน

ในการเดินทางมายุโรปเมื่อเดือนที่แล้ว เราเห็นความพยายามของ ทรัมป์ ที่จะเปิดศึกกับนักการเมืองและพรรคการเมืองกระแสหลักแบบเสรีนิยม โดยเฉพาะ อังเกลา แมร์เคิล ในเยอรมัน และ ทะรีซา เมย์ ในอังกฤษ เป้าหมายของ ทรัมป์ คือการสร้างความปั่นป่วน ทำลายพรรคกระแสหลัก และลดอิทธิพลของ อียู (สหภาพยุโรป)

ทรัมป์ เชื่อว่าองค์กรที่สหรัฐเคยสร้างและสนับสนุนในอดีต เช่น อียู นาโต้ (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) และองค์กรการค้าระหว่างประเทศ (WTO) ทำให้สหรัฐเสียเปรียบ เขาไม่พอใจที่ เยอรมัน มีดุลการค้ากับสหรัฐสูง และไม่ยอมเพิ่มงบประมาณทางทหาร โดยที่ ทรัมป์ เชื่อว่าประเทศต่างๆ ใน อียู อาศัย “ร่ม” ทางทหารของสหรัฐ โดยไม่ยอมจ่าย

5aca2cf0dda4c817528b458c

การเปิดศึกทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐกับจีนและอียู มาจากแนวคิดเดียวกันที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มทุนสหรัฐ แต่มันเป็นยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้างจะเสี่ยง และคุมยาก เพราะประสบการณ์จากอดีต สมัยวิกฤตเศรษฐกิจโลก 1930 ชี้ให้เห็นว่าการปิดกั้นทางการค้าของทุกฝ่ายทำให้เศรษฐกิจของทุกประเทศได้รับผลเสีย และนายทุนสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการโต้ตอบของจีนและอียูในสมัยนี้ ก็คงไม่พอใจอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นทั้งสหรัฐ อียู และจีน ผูกพันกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องการลงทุนและการถือหุ้นในบริษัทข้ามชาติต่างๆ และตลาดจีนมีความสำคัญกับสหรัฐไม่น้อย ดังนั้นการปิดประเทศโดย ทรัมป์ คงทำไม่ได้

อีกสาเหตุสำคัญที่ ทรัมป์ โจมตีพรรคเสรีนิยมกระแสหลัก ก็เพราะเขามีเป้าหมายร่วมกับพรรคฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ในยุโรป ที่จะผลักดันการเมืองโลกไปทางขวา ซึ่งเขามองว่าจะเป็นประโยชน์กับฐานเสียงตนเองในสหรัฐ

ดังนั้นเราเห็น ทรัมป์ พูดจาด่าผู้ลี้ภัยและคนที่อพยพหนีความยากจนมาสู่ยุโรป ในลักษณะที่ไม่ต่างเลยจากพวกฟาสซิสต์ที่อยู่ในรัฐบาล อิตาลี่ ออสเตรีย และฮังการี่ ในขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็พูดจาสนับสนุนกลุ่มขวาจัดในสหรัฐด้วย อย่างไรก็ตามเราต้องเข้าใจว่า ทรัมป์ ไม่ใช่ ฟาสซิสต์ แต่เพียงแต่ต้องการที่จะส่งเสริมการเมืองฝ่ายขวา

FRANCE-US-POLITICS-FN-PARTY-CONGRESS
สตีฟ แบนนอน กับหัวหน้าพรรคฟาสซิสต์ฝรั่งเศส

ที่น่ากังวลคือ สตีฟ แบนนอน อดีตที่ปรึกษาคนโปรดของ ทรัมป์ ได้ตั้งองค์กรใหม่ขึ้นในยุโรป เพื่อให้ทุนอุดหนุนกลุ่มฟาสซิสต์ต่างๆ ในทุกประเทศของยุโรป

US-POLITICS-TRUMP-STAFF

จะเห็นได้ว่าการมีประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สนับสนุนพวกฟาสซิสต์ในยุโรปและสหรัฐ ในบรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดเพราะผลของนโยบายรัดเข็มขัดสร้างความไม่พอใจทั่วไปในหมู่ประชาชนจำนวนมาก เป็นสิ่งที่อันตรายยิ่ง และเสี่ยงกับการเพิ่มกระแสเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ กับกระแสฟาสซิสต์โดยทั่วไป

การเน้นแนวคิดเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว เป็นวิธีหนึ่งที่ชนชั้นปกครองใช้ในการเบี่ยงเบนประเด็นความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายรัดเข็มขัดที่เริ่มหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายและผู้รักความเป็นธรรมในหลายประเทศจะต้องออกมารับมือ วิธีรับมือคือการต่อต้านพวกฟาสซืสต์ และการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อระงับนโยบายรัดเข็มขัด เช่นด้วยการนัดหยุดงานและเรียกร้องค่าจ้างสวัสดิการเพิ่ม เพราะถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายแบบนี้ ยุโรปและสหรัฐจะเข้าสู่ยุคมืด

20180715_135530

[บทความนี้อาศัยข้อมูลจากบทความของ Alex Callinicos ในหนังสือพิมพ์ Socialist Worker]