ใจ อึ๊งภากรณ์
ในวันที่ ๑๔ ตุลาคมปีนี้ พรรคสามัญชน แถลงว่า “ต้องมีการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐที่ผ่านมาทั้งหมด” โดยมีการเสนอว่า
- สนับสนุนกระบวนการค้นหาความจริงอย่างรอบด้าน
- จัดทำโครงการรำลึกและการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐอย่างเป็นระบบ
- ชดเชยผู้เสียหายจากความรุนแรง
- ต้องไม่มีการลอยนวลพ้นผิด จะต้องมีการสอบสวน ลงโทษ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยรัฐ อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
ทั้งๆ ที่ผมสนับสนุนทั้งสี่ข้อนี้ มันมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ในเกือบทุกเรื่องตอนนี้ มันมีการค้นหาความจริงโดยขบวนการประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว เช่นกรณีเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เป็นต้น [ดู https://bit.ly/2cSml2g ] และผู้ก่อความรุนแรงรายใหญ่ตายไปหมดแล้ว ส่วนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖, พฤษภาคม ๒๕๓๕, การเข่นฆ่าประชาชนมาเลย์มุสลิมที่ตากใบ, การฆ่าวิสามัญในสงครามยาเสพติด และการเข่นฆ่าเสื้อแดง เราล้วนแต่ทราบข้อมูลว่าใครสั่งการและใครควรรับผิดชอบ มันไม่มีอะไรลึกลับ มันไม่มีประวัติศาสตร์ที่ต้องชำระ
สำหรับ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ผู้นำเผด็จการที่สั่งฆ่าประชาชนตายไปแล้วสองคน แต่ ณรงค์ กิตติขจร ทรราชคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบกับการฆ่าประชาชน ยังมีชีวิตอยู่ เขาควรจะถูกนำมาขึ้นศาล

นอกจาก ณรงค์ กิตติขจร แล้ว สุจินดา คราประยูร ผู้สั่งการในการฆ่าประชาชนในพฤษภา ๓๕ ก็ควรจะกลายเป็นผู้ต้องหาด้วย ในกรณีการเข่นฆ่าประชาชนมาเลย์มุสลิมที่ตากใบ และการฆ่าวิสามัญในสงครามยาเสพติด ทักษิณ ชินวัตร จะต้องถูกนำมาขึ้นศาล


และล่าสุดในคดีเข่นฆ่าประชาชนเสื้อแดง อนุพงษ์ เผ่าจินดา, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ควรจะถูกนำมาขึ้นศาลเช่นกัน
แล้วทำไมไม่กล้าพูดกันตรงๆ ? แน่นอนมันคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ แต่อย่างน้อยต้องมีการเปิดประเด็นเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อเป็นเป้าหมาย
ปัญหาคือการพูดถึงการ “ชำระประวัติศาสตร์” สามารถถูกใช้เป็นคำพูดที่ดูดี อยู่เคียงข้างความยุติธรรมและประชาธิปไตย แต่ในรูปธรรมกลายเป็นข้ออ้างในการชะลอการลงมือจัดการกับอาชญากร
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรรคสามัญชน มันเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ด้วย เพราะถ้าจะลบผลพวงของรัฐประหารและเผด็จการทหาร สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการนำผู้กระทำความผิดมาขึ้นศาล ซึ่งคงต้องรวมไปถึงคนที่ก่อรัฐประหารด้วย ดังนั้นคงต้องเพิ่มชื่อ สนธิ บุญยรัตกลิน เข้าไปอีกหนึ่งคน
และประเด็นที่ตามมาคือจะนำอำนาจอะไรมาทำ? จะใช้อำนาจอะไรยกเลิกรัฐธรรมนูญทหารและยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี? มันมีอำนาจเดียวที่ชี้ขาดในเรื่องนี้ คืออำนาจของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา
เรื่องแบบนี้พรรคการเมืองที่พูดในลักษณะก้าวหน้าควรจะอธิบายให้ชัดเจนในเรื่อง “อำนาจ” และควรจะพูดว่าพร้อมจะสร้างขบวนการมวลชนหรือไม่ และถ้าไม่พร้อมจะสร้างขบวนการมวลชน คิดว่ายังทำในสิ่งที่ต้องการทำได้หรือไม่ ไม่ใช่พูดว่าจะใช้รัฐสภาจัดการกับผลพวงของเผด็จการโดยไม่คุยเรื่องอุปสรรค์ เพราะถ้าไม่พูดให้ชัดเจน หรือถ้าแอบอยู่หลังคำประกาศว่าจะชำระประวัติศาสตร์ นโยบายต่างๆ ที่ฟังดูดี ก็แค่เป็นคำพูดที่ดูสวยงามแต่ไร้รูปธรรมโดยสิ้นเชิง