Tag Archives: สงครามเวียดนาม

จักรวรรดินิยมและสงครามยูเครน

เราชาวสังคมนิยมมองว่าสงครามในยูเครน มีต้นกำเนิดจากความขัดแย้งเรื้อรังระหว่างจักรวรรดินิยมตะวันตก กับจักรววรดินิยมรัสเซีย เราต่อต้านจักรววรดินิยมทุกรูปแบบ ต่อต้านการบุกรุกยูเครนโดยรัสเซีย และต่อต้านการที่อำนาจตะวันตกพยายามขยายแนวร่วมทางทหาร “นาโต้” ไปสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเพื่อล้มรอบรัสเซีย

จักรวรรดินิยม

ในปีค.ศ. 1916 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติรัสเซีย เลนิน ได้เขียนหนังสือสำคัญชื่อ “จักรวรรดินิยมขั้นตอนสูงสุดของทุนนิยม”

ประเด็นสำคัญในความคิดเรื่องจักรวรรดินิยมของ เลนิน คือ การพัฒนาของระบบทุนนิยมทำให้กลุ่มทุนต่างๆ ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านั้นกับรัฐ ทำงานในทิศทางเดียวกัน รัฐใหญ่ๆ ของโลกจะใช้อำนาจทางทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในประเทศของตนเอง และมีการแบ่งพื้นที่ของโลกภายใต้อำนาจของรัฐดังกล่าวในรูปแบบอาณานิคม และที่สำคัญคือการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน นำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งในที่สุดระเบิดออกมาในรูปแบบสงคราม

ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของ เลนิน มีความสำคัญทุกวันนี้ในการทำความเข้าใจกับภัยสงคราม จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบความขัดแย้ง” ระหว่างรัฐต่างๆ ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลก โดยที่มีมหาอำนาจที่พยายามข่มขู่ประเทศที่อ่อนแอและเล็กว่า บ่อยครั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจนำไปสู่การแข่งขันทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการสะสมอาวุธ หรือการทำสงคราม ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของเลนิน เน้นว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

ในอดีตมหาอำนาจใช้การล่าอาณานิคมในการกดขี่ประชากรโลก แต่ทุกวันนี้ยังมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ออกมาในรูปแบบการแข่งขันทางทหาร

ทุกวันนี้ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด เริ่มอ่อนแอเมื่อเทียบกับจีน หรือประเทศอื่นๆ ในโลกพัฒนา เช่นญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศในอียู สหรัฐจึงจงใจใช้อำนาจทางทหารในการรักษาตำแหน่งในโลก

ยิ่งกว่านั้น การที่โลกไม่ได้แยกเป็นสองขั้ว คือ อเมริกา กับ รัสเซีย อย่างที่เคยเป็นในยุคสงครามเย็น แปลว่าประเทศขนาดกลางมีพื้นที่ในการเบ่งอำนาจ เช่นในตะวันออกกลางเป็นต้น มันทำให้โลกเราในยุคนี้ขาดเสถียรภาพและเต็มไปด้วยภัยสงคราม

“สงคราม” ทางเศรษฐกิจกับการค้าระหว่างสหรัฐกับ อียู คานาดา และจีน เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้

ความคิดกระแสหลักที่ยังสอนกันอยู่ในสถานศึกษาทุกวันนี้ มักจะอธิบายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่าเกิดจากอุบัติเหตุทางการเมือง หรือการจับมือเป็นพันธมิตรสองขั้วของชาติต่างๆ ในยุโรป แต่นั้นเป็นเพียงการบรรยายอาการของ “จักรวรรดินิยม” เพราะต้นกำเนิดของสงครามมาจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลก และสงครามดังกล่าวเป็นสงครามที่กลุ่มทุนใหญ่และรัฐกระทำเพื่อเพิ่มอำนาจของฝ่ายตนเองในการขูดรีดกรรมาชีพและปล้นทรัพยากรในประเทศอื่น แต่ในการทำสงครามมักมีการโกหกสร้างภาพว่าทุกสงครามเป็นการรบเพื่อ “เสรีภาพ” เพราะคนที่ต้องไปรบมักจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร

ทุกวันนี้สื่อกระแสหลักของตะวันตกมักโกหกว่ารัสเซียบุกยูเครนเพราะปูติน “บ้า” หรือ “กระหายเลือด” ทั้งนี้เพื่อปกปิดประวัติศาสตร์ความขัดแย้งจริง

สงครามไม่ได้เกิดจาก “นิสัยพื้นฐานของมนุษย์” มันเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่างๆ ในระบบทุนนิยม ดังนั้นถ้าจะห้ามสงคราม เราต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่โจมตีการจับมือกันระหว่างรัฐกับทุน และโจมตีระบบทุนนิยมโลกอีกด้วย

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราจะเข้าใจว่าทำไม เลนิน กับนักมาร์คซิสต์จะไม่สนับสนุนสงครามจักรวรรดินิยม และจะไม่มีวันคลั่งชาติ คำขวัญสำคัญของ เลนิน ในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ “เปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมไปเป็นสงครามระหว่างชนชั้น!”

อเล็กซ์ คาลินิคอส นักมาร์คซิสต์ชาวอังกฤษ อธิบายว่าจักรวรรดินิยมไม่ใช่การกระทำของประเทศมหาอำนาจประเทศเดียว แต่จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบ” การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆ ที่มีอำนาจแตกต่างกัน การทีระบบทุนนิยมมีลักษณะการพัฒนาต่างระดับเสมอ ทำให้ศูนย์กลางของอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจทางทหาร และอำนาจในเชิงจักรวรรดินิยม มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง มันไม่ใช่เรื่องคงที่แต่อย่างใด

บางคนไปตั้งความหวังไว้กับองค์กรสหประชาชาติ เพื่อสร้างสันติภาพในโลก แต่สหประชาชาติเป็นเพียงสมาคมของรัฐต่างๆ ทั่วโลก โดยมหาอำนาจคุมองค์กรผ่านคณะมนตรีความมั่นคง รัฐเหล่านี้เป็นผู้ก่อสงครามแต่แรก ไม่ใช่ผู้ที่จะสร้างสันติภาพแต่อย่างใด

ตราบใดที่มีระบบทุนนิยม เราจะมีภัยสงครามที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน อเล็กซ์ คาลินิคอส อธิบายว่าเราไม่สามารถเลือกข้างได้ในการแข่งขันดังกล่าว อย่าหลงคิดว่ามันเป็นความขัดแย้งทางลัทธิหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างที่ผู้นำพยายามโกหกเราเสมอ

การเมืองระหว่างประเทศในโลก ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เป็นแค่ “โต๊ะกินข้าวของหมาป่า” ดังนั้นเราต้องต้านสงครามและระบบขูดรีด และต้องทำแนวร่วมสากลกับประชาชนชั้นล่างทั่วโลก

ประวัติศาสตร์ยูเครน

หลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 พรรคบอลเชวิคภายใต้การนำของเลนินกับทรอตสกี้ผลักดันนโยบายที่ให้เสรีภาพกับประเทศที่เคยถูกกดขี่ภายใต้อนาจักรรัสเซียของกษัตริย์ซาร์ แต่ยูเครนกลายเป็นสมรภูมิสงครามระหว่างกองทัพขาวที่ต้านการปฏิวัติกับกองทัพแดง ยูเครนตะวันออกที่มีอุตสาหกรรมมีกรรมาชีพจำนวนมากที่สนับสนุนบอลเชวิค นอกจากนี้เยอรมันกับโปแลนด์พยายามแย่งพื้นที่ของยูเครนอีกด้วย

พอสตาลินขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียและทำลายการปฏิวัติ มีการรื้อฟื้นชาตินิยมรัสเซียเหมือนสมัยกษัตริย์ซาร์ ก่อนหน้านี้สตาลินคัดค้านเลนินในเรื่องการให้ชาวยูเครนกำหนดอนาคตตนเอง การยึดผลผลิตจากเกษตรกรของเผด็จการสตาลินระหว่าง 1932-1933 ทำให้ประชาชน 3.9 ล้านอดอาหารตาย

ในปี 1936 ทรอตสกี้ ซึ่งเป็นคนยิวที่เกิดในยูเครนและต้องลี้ภัยจากสตาลินในต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายของสตาลินทำลายความเชื่อมั่นของชาวยูเครนต่อรัฐบาลโซเวียตโดยสิ้นเชิง เขาอธิบายต่อว่าผู้นำปฏิกิริยาของยูเครนพยายาม “ขายชาติ” โดยชวนให้ประชาชนไปก้มหัวให้จักรวรรดินิยมต่างๆ ภายใต้คำสัญญาที่ไร้ค่าว่ายูเครนจะได้รับอิสรภาพ ต่อมาในสงครามโลกครั้งที่สองยูเครนกลายเป็นสมรภูมิระหว่างกองทัพนาซีของเยอรมันกับกองทัพของรัสเซีย พวกนาซีซึ่งรวมถึงฝ่ายขวาฟาสซิสต์ของยูเครนเองได้ทำการล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

หลังการล่มสลายของระบบทุนนิยมโดยรัฐและเผด็จการพรรคคอมมมิวนิสต์ของรัสเซีย คนยูเครนจำนวนมากฝันว่าถ้าหันไปหาอียูกับอำนาจตะวันตกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ในปี 1990 มีการลุกฮือของนักศึกษาที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพจากรัสเซียในปีต่อไป แต่มีการข้อขัดแย้งว่าใครจะได้ครอบครองอาวุธในฐานทัพของรัสเซียที่ไครเมีย คนส่วนใหญ่ในทางตะวันออกของยูเครนเป็นคนเชื้อสายรัสเซียและอยากอยู่กับรัสเซีย คนทางตะวันตกมักจะมองไปที่อียู ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วยูเครนพูดสองภาษาที่บ้านคือรัสเซียกับยูเครน ชาวรัสเซียกับชาวยูเครนใกล้ชิดกันเหมือนคนไทยกับคนลาว

ในปี 1993 ความฝันของประชาชนจำนวนมากที่คิดว่าการหันไปทางตะวันตกและรับกลไกตลาดเสรีจะทำให้ฐานะดีขึ้น ก็กลายเป็นฝันร้ายเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและรัฐบาลใช้นโยบายรัดเข็มขัด ท่ามกลางวิกฤตนี้พวกนักการเมืองฉวยโอกาสก็เริ่มใช้แนวคิดชาตินิยมเพื่อเบี่ยงเบนความไม่พอใจของประชาชน มีทั้งชาตินิยมที่ชอบตะวันตก และชาตินิยมที่ชอบรัสเซีย สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลงอีกเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008

ในปี 2013 ธนาคารกลางของยูเครนไม่มีเงินเหลือที่จะควบคุมเศรษฐกิจ ผู้นำทางการเมืองพยายามเข้าใกล้อียูเพื่อแก้ปัญหา แต่ในที่สุดประธานาธิบดี Yanukovych เลือกทำข้อตกลงใต้โต๊ะกับปูตินแทนที่จะเซ็นสัญญากับอียู

ประธานาธิบดี Yanukovych เคยถูกขับไล่ออกไปในการลุกฮือ “สีส้ม” ในปี2004 แต่เข้ามาใหม่ในปี 2010 ด้วยการโกงการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่นำไปสู่การลุกฮือของนักศึกษาที่จัตุรัส Maidan นักศึกษาเหล่านี้มองว่าพวกผู้นำแนวสตาลินเก่าเช่น Yanukovychมักจะโกงกิน

หลังจากการพยายามปราบการลุกฮือที่ Maidan มีผู้ออกมาชุมนุมมากขึ้นและมีหลากหลายกลุ่มที่การเมืองแตกต่างกัน หลายคนอยากล้มรัฐบาลแต่ไม่ชัดเจนว่าต้องการให้ยูเครนใกล้ชิดกับอียูหรือรัสเซีย มันเป็นโอกาสทองที่ทั้งตะวันตกและรัสเซียจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองยูเครน ประชาชนทางตะวันตกของประเทศมีแนวโน้มสนับสนุนอียูและนาโต้ พวกนักการเมืองที่มองไปทางตะวันตกมักจะโจมตีประชาชนทางตะวันออกและทางใต้ที่พูดภาษารัสเซีย ว่าเป็นพวก “บุกรุก” ในบรรยากาศแบบนี้พวกกลุ่มฝ่ายขวาจัดก็เพิ่มอิทธิพล และปูตินก็โต้ตอบด้วยการใช้แนวชาตินิยมรัสซียและการเสนอว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมานาน

สถานการณ์ความขัดแย้งแบบนี้นำไปสู่การสู้รบระหว่างรัฐบาลส่วนกลางของยูเครนกับประชาชนในแถบ Donbas ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางทหารโดยรัสเซีย คาดว่ามีคนล้มตายจากสงครามกลางเมืองนี้หลายหมื่น ในขณะเดียวกันรัสเซียก็เข้าไปยึด Crimea ซึ่งมีฐานทัพสำคัญของรัสเซีย

โลกหลังสงครามเย็น

หลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลกในช่วงปี 1989 มีการจัดระเบียบระบบจักรวรรดินิยมใหม่

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนฝ่ายขวาหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย อันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ก็เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว เขาเสนอต่อว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

สถานการณ์หลังวิกฤตโลกปี 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

ถ้าจะเข้าใจสถานการณ์ในทะเลจีนตอนใต้ เราจะเห็นว่ารากฐานความขัดแย้งมาจากการที่ทุนนิยมจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนจีนกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และแซงหน้าญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกทางทหารและเศรษฐกิจ เริ่มถอยหลังและประสบปัญหาทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ

สหรัฐแพ้สงครามในอิรักกับอัฟกานิสถาน เพราะไม่สามารถครอบครองและรักษาอิทธิพลระยะยาวในทั้งสองประเทศ อหร่าน อดีตศัตรูของสหรัฐ มีการเพิ่มอิทธิพลในพื้นที่ และในหลายประเทศของตะวันออกกลางมีสงครามต่อเนื่องขณะที่องค์กรอย่าง “ไอซิล” ก็เพิ่มบทบาท

เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 อย่างหนัก และการขยายตัวของเศรษฐกิจหลังจากนั้นล้าช้า ญี่ปุ่นยิ่งมีปัญหาหนักกว่าสหรัฐอีก

ในอดีตสหรัฐจะพยายามคุมอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีน ด้วยกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ชนชั้นปกครองจีนมองว่าจีนต้องสร้างกองทัพเรือและฐานทัพในทะเลจีน เพื่อปกป้องเส้นทางการค้าขายทางทะเลที่มีความสำคัญกับจีน การขยายตัวทางทหารของจีนในทะเลจีนจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับสหรัฐและหลายประเทศรอบข้าง มีการสร้างแนวร่วมทางการทูตและทหารใหม่ขึ้นมา จีนจับมือกับรัสเซียอีกครั้ง สหรัฐจับมือกับเวียดนามและขยายบทบาททางทหารในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ มันเป็นสถานการณ์ที่อันตรายเพราะถ้าเกิดการปะทะกันระหว่างสองประเทศใด ประเทศอื่นๆ จะถูกลากเข้ามาในความขัดแย้ง และในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา รวมถึงเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

การบุกยูเครนของรัสเซียปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการคาดการณ์ของปูตินว่าสหรัฐอ่อนแอลง และการเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยสหรัฐกับพันธมิตร มากจากความต้องการของสหรัฐที่จะพิสูจน์กับจีนว่าสหรัฐยังมีอำนาจอยู่ จะเห็นว่าทุกส่วนของโลกหนีไม่พ้นอิทธิพลของความขัดแย้งในระบบจักรวรรดินิยม

แน่นอนท่ามกลางความขัดแย้งและสงคราม ชนชั้นปกครองประเทศต่างๆ พยายามสร้างความชอบธรรมกับฝ่ายตนเอง เช่นการเสนอว่าตะวันตกขัดแย้งกับรัสเซียเพราะตะวันตกเป็นประชาธิปไตยและรัสเซียเป็นเผด็จการ ซึ่งไม่ต่างจากข้ออ้างเรื่อง “โลกเสรี” ที่เผชิญหน้ากับ “คอมมิวนิสต์” ในสงครามเย็น แต่ในความเป็นจริง “โลกเสรี” ของตะวันตกมักจะรวมเผด็จการโหดในหลายประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และทุกวันนี้นาโต้กับตะวันตกก็สนับสนุนการทำสงครามโดยเผด็จการอย่างซาอุหรืออิสราเอล ความขัดแย้งระหว่างรัฐในระบบจักรวรรดินิยมโลกมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับลัทธิทางความคิดเลย

การยุติสงครามโดยประชาชน

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติเพราะมีการปฏิวัติล้มชนชั้นปกครองในรัสเซียและเยอรมัน และทหารอังกฤษกับฝรั่งเศสเบื่อหน่ายกับสงครามไม่พร้อมจะสู้ต่อ

สงครามเวียดนามยุติลงเพราะทหารอเมริกาไม่พร้อมจะรบต่อไปท่ามกลางการประท้วงต้านสงครามในสหรัฐและที่อื่นๆ

สงครามในอิรักและอัฟกานิสถานยุติลงเพราะคนในประเทศเหล่านั้นไม่ยอมอยู่ต่อภายใต้อำนาจสหรัฐ สหรัฐจึงบริหารปกครองประเทศไม่ได้

การเรียกร้องให้จักรวรรดิยมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาแทรกแซงทางทหารจะไม่นำไปสู่สันติภาพ แต่จะนำไปสู่การขยายสงครามต่างหาก คำตอบต้องอยู่ที่ประชาชนชั้นล่าง

ทุกวันนี้ประชาชนชาวรัสเซียส่วนหนึ่ง ไม่ยอมเชื่อคำโกหกของปูติน และออกมาประท้วงต่อต้านสงครามทั้งๆ ที่ถูกรัฐบาลรัสเซียปราบและข่มขู่ ทุกวันนี้ประชาชนยูเครนก็ออกมาแสดงความไม่พอใจกับการเข้ามาของทหารรัสเซีย ดังนั้นพวกเราในทุกประเทศของโลกจะต้องพยายามสร้างขบวนการต้านสงครามของทุกฝ่าย และสมานฉันท์กับคนในประเทศอื่นที่ต้านสงคราม ในไทยการต่อต้านพลังทหารและสงคราม แยกออกไม่ได้จากการต่อต้านเผด็จการทหารของประยุทธ์และการทำรัฐประหาร และแยกออกไม่ได้จากการที่ทหารไทยกำลังยึดครองปาตานี

ใจอึ๊งภากรณ์

โมฮัมมัด อาลี นักมวยผู้มีจิตสำนึกทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนเวียดนามไม่เคยเรียกผมเป็น นิกเกอร์

 นี่คือคำพูดอันมีชื่อเสียงของนักมวยแชมป์โลกชื่อโมฮัมมัด อาลี และคำว่า “นิกเกอร์” เป็นคำหยาบคายเหยียดสีผิวที่คนผิวขาวหลายคนใช้เรียกคนผิวดำ ในไทยคนไทยจำนวนหนึ่งก็ใช้คำว่า “ไอ้มืด”  ในลักษณะเหยียดสีผิวเช่นกัน

ในปี 1967 โมฮัมมัด อาลี เอ่ยคำพูดดังกล่าวออกมาเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลถามเขาว่า ทำไมเขาฝ่าฝืนกฎหมายและไม่ยอมถูกเกณฑ์ทหารไปรบในเวียดนาม ในคลิปวิดีโอข้างใต้ อาลี อธิบายว่าเขาจะไม่เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปทำสงครามฆ่าพี่น้องคนผิวคล้ำๆ หรือคนจนที่อดอยากต้องลุยโคลน  “คนเหล่านี้ไม่เคยเรียกผมว่านิกเกอร์ ไม่เคยลงประชาทัณฑ์ฆ่าพวกผม ไม่เคยเผาบ้านพวกผม ไม่เคยข่มขืนแม่ของพวกเรา ผมจะไปยิงพวกนี้เพื่ออะไร? เพื่อมหาอำนาจอเมริกาหรือ? ผมไม่ไปหรอก ลากผมเข้าคุกเลย!” และในคลิปเดียวกัน เมื่อเถียงกับนักศึกษาผิวขาวฝ่ายขวาเรื่องการไม่ยอมไปรบที่เวียดนาม เขาอธิบายว่าคนจีน คนญี่ปุ่น คนเวียดนามไม่ใช่ศัตรูของเขา “ศัตรูของผมคือคนผิวขาว พวกคุณไม่เคยสนับสนุนสิทธิเสรีภาพสำหรับคนผิวดำอย่างผม แล้วคุณจะให้ผมไปรบเพื่อพวกคุณหรือ?”

ดูวิดีโอ https://youtu.be/vd9aIamXjQI

ในยุคนั้นคนผิวดำหลายคนไม่เห็นด้วยกับการไปรบเพื่อรับใช้รัฐบาลสหรัฐทีกดขี่ตัวเองมาตลอด และเริ่มมีการตื่นตัวและสร้างองค์กรเคลื่อนไหวของคนผิวดำ เช่นพรรคเสือดำ นอกจากนี้ทหารสหรัฐผิวดำที่ไปรบที่เวียดนาม เมื่อกลับมาท่ามกลางการกบฏของกองทัพ ก็กลายเป็นพลังสำคัญในการต่อสู้ของคนผิวดำเพื่อสิทธิเสรีภาพอีกด้วย ปี ค.ศ. 1968 เป็นปีที่มีกระแสการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำและคนอื่นๆ ทั่วโลก

อ่านเพิ่ม: http://bit.ly/1UBwfkT

อาลี เปลี่ยนชื่อจากชื่อภาษาอังกฤษ และหันไปนับถือศาสนาอิสลาม เพราะเขามองว่าพวกที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นพวกที่กดขี่คนผิวดำมานาน นักต่อสู้เพื่อคนผิวดำ “มัลคอม เอกส์” ก็ทำเช่นกัน และในยุคนั้นพรรคเสือดำก็จับอาวุธเพื่อปกป้องคนผิวดำจากความรุนแรงของตำรวจอีกด้วย

โมฮัมมัด อาลี ปราศรัยในการประชุมองค์กร "มุสลิมดำ"
โมฮัมมัด อาลี ปราศรัยในการประชุมองค์กร “มุสลิมดำ”

อ่านเพิ่ม: http://bit.ly/1U4JADz

 

มัลคอม เอกส์
มัลคอม เอกส์

มัลคอม เอกส์ กับ โมฮัมมัด อาลี
มัลคอม เอกส์ กับ โมฮัมมัด อาลี

คนผิวดำในสหรัฐเดิมถูกกวาดต้อนมาจากอัฟริกา แล้วถูกขายเป็นทาสเพื่อทำงานในไร่ฝ้ายและไร่อ้อย มันทำให้เราเข้าใจได้ว่าระบบทุนนิยมของสหรัฐสร้างขึ้นมาบนรากฐานการกดขี่ขูดรีดทาสผิวดำ ต่อมาหลังจากที่มีการเลิกทาส คนผิวดำยังถูกกดขี่มาตลอด และไม่มีสิทธิเสรีภาพเหมือนคนผิวขาวทั้งๆที่สหรัฐอ้างตัวเป็นศูนย์กลางของ “โลกเสรี” ในยุคสงครามเย็น การอ้างตัวเป็นโลกเสรีของสหรัฐเป็นข้ออ้างในการกดขี่ประเทศอื่นอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐทำสงครามอันป่าเถื่อนในเวียดนามเพื่อยับยั้งการปลดปล่อยตัวเองของประชาชนเวียดนาม

ขณะที่ประชาชนตะวันตกในยุโรปและสหรัฐกำลังลุกขึ้นสู้ “แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติเวียดนาม” หรือ “เวียดกง” บุกเข้าไปในสถานทูตสหรัฐกลางเมืองไซ่ง่อนและยิงปืนออกมาสู้กับทหารอเมริกันในการลุกฮือ “ตรุษเวียดนาม” การรุกสู้ของเวียดกงครั้งนี้ เป็นสัญญาณสำคัญที่ส่งไปทั่วโลก เพื่อพิสูจน์ว่าสหรัฐไม่สามารถเอาชนะกองทัพอาสาสมัครของประเทศยากจนเล็กๆในเอเชียได้ สัญญาณนี้เป็นเครื่องเตือนใจและให้กำลังใจกับผู้ถูกกดขี่ทั่วโลกว่าการรวมตัวต่อสู้ของ “ผู้น้อย” ทั้งหลายเอาชนะยักษ์ใหญ่ได้ และคนหนุ่มสาวไทยก็เรียนบทเรียนนี้เช่นกัน เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เกิดขึ้น แค่ 5 ปีหลังจากนั้น และเป็นแรงบันดาลใจต่อไปให้กับนักศึกษาอินโดนีเซียในการเผชิญหน้ากับเผด็จการซูฮาร์โต และนักศึกษาในประเทศกรีซอีกด้วย

โมฮัมมัด อาลี เป็นที่เคารพรักใคร่ของประชาชนผู้ถูกกดขี่ทุกสีผิวทั่วโลก เพราะเขาเป็นคนผิวดำที่ไม่ยอมก้มหัวจำนนต่อระบบทุนนิยมและอำนาจรัฐที่เหยียดสีผิว เขาให้กำลังใจกับผู้ถูกกดขี่ทั้งหลาย และเป็นส่วนหนึ่งของกระแสรุกสู้ในยุคนั้นด้วย

ถ้าท่านเคารพ โมฮัมมัด อาลี และมองว่าเขาเป็นแบบอย่างที่ดี ท่านต้องชักชวนให้เพื่อนๆ คนไทยเลิกใช้คำหยาบคายเหยียดเชื้อชาติ เช่น “ไอ้มืด” “แขก” “ญวน” “เจ๊ก” หรือ “ฝรั่ง” และท่านต้องชักชวนเพื่อนฝูงมิตรสหายให้เลิกดูถูกคนงานข้ามชาติ คนมุสลิม หรือผู้ลี้ภัยอีกด้วย

 

40ปีหลังสหรัฐแพ้สงครามเวียดนาม มาทำความเข้าใจกับ “เขมรแดง” (Khmer Rouge)

ใจ อึ๊งภากรณ์

พรรคคอมมิวนิสต์เขมรเดิมทีเดียวเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และมีแนวความคิดที่ไม่แตกต่างจากแนวของพรรคอื่นๆ ต่อมาในปี ค.ศ. 1951 มีการแยกพรรคออกมาและก่อตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เขมร แต่เนื่องจากขบวนการคอมมิวนิสต์และขบวนการชาตินิยมของเวียดนามมีระดับการพัฒนาที่ล้ำหน้าขบวนการในลาวหรือเขมร พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงมีอิทธิพลสูงในการกำหนดแนวทางการต่อสู้ในอินโดจีนโดยรวม

หลังการเจรจาสันติภาพที่เจนีวาในปี ค.ศ. 1954 ซึ่งเป็นผลมาจากชัยชนะของขบวนการเวียดมินห์ในการต่อสู้กับฝรั่งเศสที่ เดียนเบียนฟู เจ้าสีหนุขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีกึ่งเผด็จการและตั้ง “พรรคสังคม” ขึ้นมาเพื่อเป็นฐานอำนาจ โดยมีการอ้างว่าจะใช้แนว “สังคมนิยมพุทธ” ที่สืบทอดความคิดมาจากนครวัด แต่ในรูปธรรมไม่มีการใช้แนวสังคมนิยมหรือแนวพุทธในการบริหารประเทศสักเท่าไร

สีหนุพยายามใช้นโยบายเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามเย็นและโดยเฉพาะในสงครามเวียดนาม นโยบายนี้เป็นประโยชน์กับขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามเพราะเป็นการกีดกันไม่ให้สหรัฐเข้ามามีอิทธิพลในเขมร และเปิดโอกาสให้ขบวนการชาตินิยมเวียดนามลำเลียงเสบียงจากเวียดนามเหนือลงมาให้ขบวนการปลดแอกชาติในเวียดนามใต้ ผ่านเส้นทางโฮจิมินห์ โดยที่สีหนุทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

พอล พต
พอล พต

ในปี ค.ศ. 1960 สล็อท ซาร์ (Saloth Sar) หรือที่ใครๆรู้จักในภายหลังในนามของ “พอล พต” รวมถึงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เขมรอื่นๆ ประกาศแถลงการณ์ที่เจาะจงว่าภาระหลักของพรรคคือการต่อสู้กับระบบศักดินาเพื่อปลดแอกประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการโจมตีเจ้าสีหนุโดยตรง แถลงการณ์นี้สะท้อนความไม่พอใจของคอมมิวนิสต์เขมรต่อนโยบายพรรคเวียดนามที่คอยยับยั้งการต่อสู้ของชาวคอมมิวนิสต์เขมรมาตลอด เนื่องจากฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามเลือกทำแนวร่วมกับเจ้าสีหนุ ตามแนวคิดลัทธิสตาลิน อย่างไรก็ตามพรรคเขมรยังต้องเข้าไปอาศัยพื้นที่ชายแดนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคเวียดนามเพื่อความปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ สล็อท ซาร์ จึงเดินทางไปผูกมิตรไมตรีกับจีนระหว่างปี ค.ศ. 1965-1966 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน หลังจากที่กลับจากจีน สล็อด ซาร์ ย้ายที่ทำการพรรค จากดินแดนภายใต้การดูแลของทหารคอมมิวนิสต์เวียดนามทางใต้ไปสู่ป่าเขาของเขตรัตนคีรีซึ่งติดพรมแดนลาวและเวียดนามทางตะวันออกเฉียงเหนือของเขมร

ในปี ค.ศ. 1970 สหรัฐหนุนการทำรัฐประหารล้มเจ้าสีหนุและส่งกองทัพและเครื่องบินรบเข้าไปทิ้งระเบิดในเขมร ซึ่งเป็นการขยายสงครามเวียดนามเข้าไปในดินแดนเขมร การกระทำของสหรัฐมีผลให้พรรคคอมมิวนิสต์เขมรขึ้นมาเป็นองค์กรนำของขบวนการชาตินิยมเขมร และยังปูทางไปสู่นโยบายของ “เขมรแดง” อีกด้วย

ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์เขมร ซึ่งใครๆเรียกกันว่า “เขมรแดง” (Khmer Rouge) เราต้องไม่มองอะไรอย่างผิวเผิน เพราะเมื่อเขมรแดงยึดอำนาจในปี ค.ศ. 1975 ไม่มีการใช้นโยบายพัฒนาประเทศตามรูปแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ของสตาลินหรือเหมาเจ๋อตุง อย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆ ใช้กัน แต่มีการไล่พลเมืองทั้งหมดออกจากเมืองเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองอย่างสุดขั้วในชนบท

เบน เคียร์นแนน และนักวิชาการอื่นๆ อธิบายว่าการยึดอำนาจของเขมรแดงไม่ได้เกิดขึ้นผ่านการปฏิวัติของกรรมาชีพและไม่ได้เกิดจากการปฏิวัติของชาวนาด้วย ในระยะเวลาทั้งหมดที่เขมรแดงครองอำนาจ ไม่มีการพูดถึงสังคมนิยมและไม่มีการตีพิมพ์งานสังคมนิยม งานมาร์คซิสต์ หรือ งานลัทธิเหมา แม้แต่ชิ้นเดียว

ด้วยเหตุนี้เราไม่สามารถจำแนกการเมืองของเขมรแดงว่าเป็นแนวมาร์คซิสต์ แนวสตาลิน หรือแนวเหมา (Maoist) ได้เลยทั้งๆ ที่มีการเน้นชนบทและทั้งๆ ที่เราทราบว่า พอล พต ไปเยี่ยมจีนในช่วงแรกของการปฏิวัติวัฒนธรรมก็ตาม

ถ้าเราศึกษางานเขียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ของเขียว สัมพันธ์ ก่อนที่เขาจะขึ้นมาเป็นผู้นำเขมรแดงคนหนึ่ง เราจะพบว่า เขียว สัมพันธ์ มีแนวคิดแบบลัทธิสตาลินซึ่งผสมผสานแนวทฤษฏีพึ่งพา (Dependency Theory) โดยที่มีการเสนอรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเขมรในปี ค.ศ. 1959 ดังนี้คือ

  1. มองว่าเขมรเป็นประเทศบริวารในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาที่มีศูนย์กลางในตะวันตก
  2. เสนอว่าต้องถอนเศรษฐกิจเขมรออกจากระบบตลาดโลก เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพึ่งตนเอง
  3. ย้ำว่ารัฐต้องวางแผนและควบคุมเศรษฐกิจและการลงทุน
  4. เสนอว่าควรใช้ระบบตลาดผสมกับระบบรัฐ (Dual market system or mixed economy)
  5. แนะนำให้ใช้นโยบายชาตินิยม สนับสนุนนายทุนเขมร และโจมตีทุนต่างชาติ

 

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรูปธรรมของนโยบายเขมรแดงในปี ค.ศ. 1975 จะแตกต่างกันมาก เพราะเขมรแดงใช้นโยบาย

  1. ทำลายสังคมเมืองเพื่อเริ่มต้นใหม่ในการสร้าง “สังคมเขมรบริสุทธิ์แบบเดิม” ซึ่งเป็นสังคมเกษตรในชนบท
  2. ทำลายกลไกตลาดและยกเลิกการใช้เงินตราหมด
  3. เน้นการพึ่งตนเองและนโยบายชาตินิยมสุดขั้ว
  4. บริหารนโยบายต่างๆภายใต้เผด็จการอันโหดร้าย

 

เอียง สารี (Ieng Sary) ผู้นำเขมรแดงอีกคนหนึ่งเคยสารภาพว่านโยบายของเขมรแดงหลัง ค.ศ. 1975 เป็นการทดลองทางสังคมอันยิ่งใหญ่เพื่อสร้างภาวะพึ่งตนเอง และเดวิด แชนด์เลอร์ อธิบายว่าเขมรแดงไม่ได้มีเจตนาตั้งแต่ต้นที่จะฆ่าคนเป็นล้าน แต่ความรุนแรงและความเป็นเผด็จการสุดขั้วของเขมรแดงมาจากการพยายามใช้นโยบายเพ้อฝันที่ล้มเหลว เช่นการบังคับให้พลเมืองทุกคนออกจากเมืองเพื่อไปทำนาและการพึ่งตนเองโดยไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากประเทศอื่นในขณะที่เศรษฐกิจเสียหายจากสงคราม

ถ้าเราพิจารณาความจริงว่าเขมรแดงพยายามจะสร้างสังคมเพ้อฝันแบบชุมชนพึ่งตนเอง โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากภายนอกในสถานการณ์ที่ประเทศและเศรษฐกิจพังจากสงครามของสหรัฐ เราจะเข้าใจว่าทำไมมีการขูดรีดคนเขมรอย่างหนักภายใต้อำนาจเผด็จการอันป่าเถื่อน เช่นการบังคับให้คนเมืองและคนชนบททำงานในทุ่งนาโดยไม่มีอาหารกินเพียงพอ และเราจะเข้าใจได้อีกว่าทำไมผู้นำเขมรแดงกลัวการกบฏของประชาชน จนมองปัญญาชนและแม้แต่สมาชิกพรรคเองว่าอาจเป็นศัตรู ซึ่งนำไปสู่การกวาดล้าง “ศัตรู” การทรมานในคุก และการฆ่าคนจำนวนมาก เพราะคำอธิบายว่า “คนเขมรมีวัฒนธรรมโหดร้าย” หรือ “ผู้นำเขมรแดงบ้าอำนาจ หรือมีนิสัยฆาตกร” ไม่ใช่คำอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์

นักประวัติศาสตร์คาดว่าจำนวนคนตายในเขมรสูงถึง 3 ล้านคน ทั้งในช่วงสงครามของสหรัฐและช่วงการปกครองของเขมรแดง โดยที่ตายเพราะการทิ้งระเบิดและการทำสงครามของสหรัฐประมาณ 1 ล้านคน ตายเพราะอดอาหารและถูกฆ่าตายโดยเขมรแดงโดยตรงในช่วงหลัง ค.ศ. 1975 อีกประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมดของประเทศ ดังนั้นถ้าจะมาลงโทษผู้นำที่ก่ออาชญากรรมอันใหญ่หลวงนี้ คงต้องลงโทษทั้งผู้นำเขมรแดงและผู้นำรัฐบาลสหรัฐ เช่น นิคสัน (Nixon) และ คิสซิงเจอร์ (Kissinger) ที่สั่งให้มีการทิ้งระเบิดเขมรมากกว่าระเบิดทั้งหมดที่เคยทิ้งในสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ใช่เลือกแต่จะลงโทษเขมรแดงฝ่ายเดียว

ความคิดเรื่องการกลับไปสู่ความเป็นเขมรดั้งเดิมบริสุทธิ์ที่ใช้เศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองมาจากไหน? ในแง่หนึ่งมาจากความฝันที่จะกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรนครวัดหลังจากที่สังคมเขมรตกต่ำกลายเป็นเมืองขึ้น ในอีกแง่หนึ่งมาจากมุมมองของผู้นำเขมรแดงทุกระดับที่สู้รบในชนบทมานานและมองว่าสังคมเมืองเต็มไปด้วยการเสพสุขบนสันหลังคนจน และเป็นพื้นที่ที่คนเขมรสยบยอมต่ออำนาจตะวันตกอีกด้วย แต่ในด้านปรัชญาของแนวชุมชนชนบทดั้งเดิม เราต้องมองว่ามาจากแนวคิดของนักปรัชญาฝรั่งเศส

เดวิด แชนด์เลอร์ อธิบายว่าเมื่อ สล็อท ซาร์ (พอล พต) ไปเรียนที่ฝรั่งเศส หนึ่งในนักประพันธ์ที่เขาชอบมากที่สุดคือ จัง จ้าคซ์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau)   รุสโซเสนอความคิดที่ พอล พต และเขมรแดงนำไปใช้ในลักษณะผิดเพี้ยน   ถ้าเราศึกษางานของรุสโซ เราจะพบว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การเข้ามาของทุนนิยมในสังคมฝรั่งเศส ซึ่งรุสโซมองว่าทำลายสังคมชนบทอันงดงาม ทางออกสำหรับรุสโซคือการมีผู้นำก้าวหน้าที่ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมและเป็นตัวแทนความคิดสังคม (General Will) เพื่อปกป้อง “ประชาธิปไตยชุมชน” เมื่อพิจารณาตรงนี้เราจะเห็นได้ว่าผู้นำเขมรแดงคงจะตั้งตัวเองขึ้นมาเป็น “ผู้นำก้าวหน้าที่ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมและเป็นตัวแทนความคิดสังคม” เพื่อรื้อฟื้นสังคมชนบทดั้งเดิมของเขมรและทำลายความชั่วร้ายของจักรวรรดินิยมและทุนนิยม

โครงการทดลองสร้างสังคมใหม่อย่างเพ้อฝันของเขมรแดงสร้างโศกนาฏกรรมให้กับคนเขมร เพราะประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงท่ามกลางความป่าเถื่อน ในช่วงท้ายๆ ของเขมรแดง มีการนำบางส่วนของเศรษฐกิจทุนนิยมโดยรัฐมาใช้ เช่นมีการส่งออกข้าวให้จีนทั้งๆ ที่มีความอดอยาก เพื่อซื้อเครื่องจักรมาพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมสร้างอาวุธ แต่มันสายไปแล้ว ในปี ค.ศ. 1979 กองทัพเวียดนามบุกเข้ามาล้มเขมรแดง โดยที่ไม่มีประชาชนเขมรคนใดออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องเขมรแดงแต่อย่างใด มีแต่รัฐบาลไทย สิงคโปร์ จีน อังกฤษ และสหรัฐ ที่ประกาศว่าจะปกป้องรัฐบาลพลัดถิ่นของเขมรแดงในสหประชาชาติเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในสงครามเย็นกับรัสเซียและเวียดนาม

อ่านเพิ่มเรื่องการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: http://bit.ly/1OXMaaL

40 ปีหลังสงครามเวียดนาม

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เวียดนามถูกแบ่งแยกระหว่างเหนือกับใต้ ตามสูตรสงครามเย็น สถานการณ์นี้เกิดเมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามกับขบวนการกู้ชาติเวียดมินห์ ที่ “เดียนเบียนฟู” ในยุคนั้น สตาลิน และเหมาเจอตุง กดดันพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามให้ยอมรับการแบ่งประเทศ ทั้งๆ ที่มีอำนาจพอที่จะยึดทั้งประเทศได้ หลังจากนั้นทุกฝ่ายมีการตกลงกันว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศเพื่อแก้ปัญหาในอนาคต แต่สหรัฐกลับคำ เพราะรู้ว่าเวียดมินห์จะชนะ

ทางใต้ของเวียดนามสหรัฐ ซึ่งเคยเป็นท่อน้ำเลี้ยงเงินทุนและอาวุธให้ฝรั่งเศส ก็เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ประชาชนไม่พอใจกับเผด็จการ ส่วนหนึ่งเข้าไปเป็นกองกำลัง “เวียดกง” ในชนบทและในเมือง และอีกส่วนหนึ่งประท้วง เช่นพระสงฆ์ที่เผาตัวตายเป็นต้น

Ho_Chi_Minh_1946

ในช่วงแรก สองพี่น้อง “เคนนาดี” ที่คุมรัฐบาลสหรัฐ มั่นใจว่าจะสกัดกั้นไม่ให้คอมมิวนิสต์ยึดอำนาจได้ เพื่อไม่ให้เวียดนามกลายเป็น “คิวบาที่สอง”  แต่ในไม่ช้า“ทหารที่ปรึกษา” 400 นายที่เคยถูกส่งไปช่วยเผด็จการเวียดนามใต้ ขยายตัวเป็นทหารหลายแสนนาย และการทิ้งระเบิดอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนโดยกองทัพอากาศสหรัฐก็ตามมา แต่สงครามเวียดนามไม่เหมือนสงครามเกาหลี ที่มีกองทัพ “ทางการ” ของรัฐบาลสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน เพราะในเวียดนาม กองกำลังหลักที่สู้กับสหรัฐเป็นกองกำลังอาสาสมัครของประชาชนเวียดนามใต้ (ชื่อ “เวียดกง” หรือแนวร่วมกู้ชาติ) เวียดกงมักจะใช้วิธีซุ่มยิงแล้วถอย และรัฐบาลเวียดนามเหนือไม่มีทางเลือกนอกจากจะสนับสนุนกองกำลังนี้

Female-Viet-Cong-Warrior-c.19731

เวียดกงซึ่งมีทหารถึง 300,000 คน มีชื่อเสียงในการขุดอุโมงค์ในย่านชายขอบของเมืองไซ่ง่อนเพื่อเป็นฐานที่มั่นที่ปลอดภัยจากการทิ้งระเบิด มีทั้งที่พัก โรงอาหาร โรงพยาบาลและโรงภาพยนตร์พร้อม และอุโมงค์บางแห่งสามารถขุดเข้าไปใต้ฐานทัพสหรัฐได้อีกด้วย

ปี ค.ศ. 1969 เป็นปีที่มีทหารสหรัฐในเวียดนามมากที่สุดคือ 500,000 คน นอกจากนี้มีทหารแนวร่วมพันธมิตรจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ไทย และฟิลิปปินส์อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นไม้ประดับในการสร้างภาพว่าสหรัฐกำลังทำสงครามเพื่อปกป้องประชาธิปไตยในโลกพร้อมๆกับพันธมิตรอื่นๆ

091333266171694

กองทัพสหรัฐคุมพื้นที่นอกฐานทัพไม่ได้ และในการรุกสู้ในวันตรุสเวียดนามปี 1968 เกือบจะคุมฐานทัพของตนเองไม่ได้อีกด้วย ในปี ค.ศ. 1968 นั้นเอง ริชาร์ด นิคสัน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยสัญญาว่าจะเลิกสงคราม แต่ก่อนที่จะถอนทหารได้ นิคสันมองว่าต้องสร้างความเข้มแข็งของกองทัพเวียดนามใต้และเพิ่มบทบาทของทหารพื้นเมือง ซึ่งเป็นสูตรที่สหรัฐพยายามใช้ในอิรักทุกวันนี้

จึงมีการเพิ่มความรุนแรงทางทหารเพื่อหวังสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงควบคู่กับการหวังสร้างเสถียรภาพของเวียดนามใต้ นิคสันพยายามจัดการกับสายส่งเสบียงของเวียดนามเหนือที่ผ่านลาวและเขมร (เส้นทาง “โฮจิมินห์” ) สหรัฐสนับสนุนการทำรัฐประหารของนายพลลอนนอลในเขมรเพื่อล้มรัฐบาลที่เป็นกลางของเจ้าสีหนุ หลังจากนั้นรัฐบาลฝ่ายขวาใหม่ของลอนนอลก็ “เชิญ” กองทัพสหรัฐให้บุกเข้าไปในเขมรและทิ้งระเบิดประเทศอย่างหนัก งบประมาณที่สหรัฐช่วยเหลือลอนนอลสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้สหรัฐยังขยายพื้นที่สงครามไปสู่ประเทศลาวและมีการส่งกองกำลังทหารเวียดนามใต้เข้าไปในลาวอีกด้วย ในที่สุดลาวก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ถูกถล่มด้วยระเบิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกขณะนั้น

แต่มันสายเกินไปสำหรับรัฐบาลสหรัฐเพราะกระแสต้านสงครามภายในสหรัฐเริ่มมาแรง ส่วนหนึ่งมาจากการเบื่อหน่ายของประชาชนต่อการล้มตายของทหารโดยที่ไม่ชัดเจนว่าไปตายเพื่ออะไร อีกส่วนหนึ่งมาจากการตื่นตัวของนักศึกษาสหรัฐต่อการเป็นจักรวรรดินิยมของประเทศเขา ในปี ค.ศ. 1969 มีผู้ประท้วงสงครามกลางกรุงวอชชิงตันถึงสองแสนห้าหมื่นคน หลังจากการบุกเขมรในปี ค.ศ. 1970 ทหารรักษาดินแดนสหรัฐยิงนักศึกษาที่ประท้วงสงครามที่มหาวิทยาลัย Kent State University ตาย 4 คน ซึ่งจุดประกายไฟให้นักศึกษาสหรัฐลุกฮือทั่วประเทศ คาดว่ามีนักศึกษาออกมาประท้วงครั้งนั้นถึง 4.3 ล้านคน นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายทางทหารของสหรัฐเพิ่มขึ้น 30% จนนายทุนสหรัฐเริ่มไม่พอใจกับสภาพเสื่อมโทรมของเศรษฐกิจ

การต่อต้านสงครามโดยนักศึกษาและประชาชนในสหรัฐและในประเทศอื่นๆทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย สร้างความมั่นใจกับหนุ่มๆ ในกองทัพสหรัฐที่ไม่พอใจกับสงคราม มีการจัดประชุมทางการเมืองตามค่ายทหารและบนเรือรบสหรัฐในทุกภูมิภาคทั่วโลก และมีการจัดตั้งกลุ่มทหารรากหญ้าต้านสงครามที่มีหนังสือพิมพ์ทำเองถึง 245 กลุ่ม หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีชื่อกวนประสาทที่ท้าทายผู้บังคับบัญชาและรัฐบาลทั้งสิ้น เช่น Attitude Check (ตรวจสอบท่าที), Napalm (เนปาลม์), Fragging  Action (ปฏิบัติการแฟรกกิ้ง), Voice of the Lumpen (เสียงของพวกจรจัด ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรคเสือดำ Black Panthers ของทหารผิวดำ), Vietnam GI (ทหารสหรัฐในเวียดนามซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์มาร์คซิสต์สายตรอทสกี), Seasick (เมาคลื่น), Korea Free Press (สื่อเสรีเกาหลี), Harass the Brass (ก่อกวนผู้ใหญ่), Star Spangled Bummer (ก้นธงดาวสหรัฐ), Potemkin (โปเตมคิน -ชื่อเรือรบรัสเซียที่ทหารเรือก่อกบฏในยุคปฏิวัติ), All Hands Abandon Ship (ทุกคนปล่อยให้เรือล่ม), Kill for Peace (ฆ่าเพื่อสันติภาพ), Fuck the Army (กองทัพจัญไร) ฯลฯ

คาดว่ามีการลอบยิงหรือทำร้ายผู้บังคับบัญชาด้วยระเบิดมือ (Fraggings) กว่าพันกรณี โดยเฉพาะเวลาทหารถูกสั่งให้ออกไปรบ ในเดือนเมษายนปี ค.ศ. 1970 มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์สหรัฐของการเจรจากันระหว่างผู้บังคับบัญชากับทหารธรรมดาที่ไม่ยอมออกไปรบ มีหลายกรณีที่ทหารออกตระเวนแล้วไปหลบหลังเนินใกล้ๆ ฐานทัพเพื่อกินเบียร์ สูบกัญชาและหลีกเลี่ยงการรบ โดยจะมีการ “รายงาน” ปลอมทางวิทยุ เพื่อแจ้งความคืบหน้าของการออกตระเวนด้วย ในปีนั้นเองรัฐบาลสหรัฐเริ่มเข้าใจดีว่ากองทัพหมดสภาพในการสู้รบอย่างสิ้นเชิง

ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1973 มีการเซ็นสนธิสัญญาปารีสเพื่อถอนทหารออกจากเวียดนาม ในลาวมีการยุติการสู้รบ แต่ในเขมรสหรัฐยังคงทิ้งระเบิดหนักเพื่อหวังสกัดชัยชนะของเขมรแดง (Khmer Rouge)

ต่อมาในเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 1975 หลังจากที่ทหารสหรัฐจากเวียดนามไป กองทัพเวียดนามใต้ก็สลายตัวเพราะเป็นเพียงกองทัพหุ่นของเผด็จการ โรเบอร์ท แมคนามารา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐระหว่างปี ค.ศ. 1961-1968 อธิบายว่า “ชาวบ้านเขามองว่าทหารเวียดนามใต้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลโกงกินและของพวกคนรวย คนส่วนใหญ่สนับสนุนเวียดกง”

ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1975 ขบวนการปลดแอกเวียดนามได้รับชนะชนะอย่างสมบูรณ์ มีการรวมประเทศเป็นเอกราช และในภายหลัง Henry Kissinger รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในช่วงสงครามอธิบายว่าสหรัฐแพ้สงครามเพราะ “เราทำสงครามทางทหาร ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามทำสงครามการเมือง”

ฮ.เครื่องสุดท้ายออกจากสถานทูตสหรัฐเมืองไซ่ง่อน
ฮ.เครื่องสุดท้ายออกจากสถานทูตสหรัฐเมืองไซ่ง่อน

สหรัฐแพ้สงครามในเวียดนามเพราะความกล้าหาญของชาวเวียดนาม และการกบฏของคนหนุ่มสาวและทหารของสหรัฐ มันเป็นจุดเริ่มต้นของความอ่อนแอของสหรัฐอเมริกาที่รัฐบาลสหรัฐพยายาม “แก้”ไข” โดยการทำสงครามในตะวันออกกลาง แต่ทุกวันนี้ถึงแม้ว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจทางทหาร แต่ในด้านเศรษฐกิจมีจุดอ่อนมากมาย

อ่านเพิ่มเรื่อง  “การเมืองเอชียตะวันออกเฉียงใต้”