Tag Archives: สงครามโลกครั้งที่1

จักรวรรดินิยมและสงครามยูเครน

เราชาวสังคมนิยมมองว่าสงครามในยูเครน มีต้นกำเนิดจากความขัดแย้งเรื้อรังระหว่างจักรวรรดินิยมตะวันตก กับจักรววรดินิยมรัสเซีย เราต่อต้านจักรววรดินิยมทุกรูปแบบ ต่อต้านการบุกรุกยูเครนโดยรัสเซีย และต่อต้านการที่อำนาจตะวันตกพยายามขยายแนวร่วมทางทหาร “นาโต้” ไปสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเพื่อล้มรอบรัสเซีย

จักรวรรดินิยม

ในปีค.ศ. 1916 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติรัสเซีย เลนิน ได้เขียนหนังสือสำคัญชื่อ “จักรวรรดินิยมขั้นตอนสูงสุดของทุนนิยม”

ประเด็นสำคัญในความคิดเรื่องจักรวรรดินิยมของ เลนิน คือ การพัฒนาของระบบทุนนิยมทำให้กลุ่มทุนต่างๆ ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านั้นกับรัฐ ทำงานในทิศทางเดียวกัน รัฐใหญ่ๆ ของโลกจะใช้อำนาจทางทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในประเทศของตนเอง และมีการแบ่งพื้นที่ของโลกภายใต้อำนาจของรัฐดังกล่าวในรูปแบบอาณานิคม และที่สำคัญคือการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน นำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งในที่สุดระเบิดออกมาในรูปแบบสงคราม

ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของ เลนิน มีความสำคัญทุกวันนี้ในการทำความเข้าใจกับภัยสงคราม จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบความขัดแย้ง” ระหว่างรัฐต่างๆ ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลก โดยที่มีมหาอำนาจที่พยายามข่มขู่ประเทศที่อ่อนแอและเล็กว่า บ่อยครั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจนำไปสู่การแข่งขันทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการสะสมอาวุธ หรือการทำสงคราม ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของเลนิน เน้นว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

ในอดีตมหาอำนาจใช้การล่าอาณานิคมในการกดขี่ประชากรโลก แต่ทุกวันนี้ยังมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ออกมาในรูปแบบการแข่งขันทางทหาร

ทุกวันนี้ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด เริ่มอ่อนแอเมื่อเทียบกับจีน หรือประเทศอื่นๆ ในโลกพัฒนา เช่นญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศในอียู สหรัฐจึงจงใจใช้อำนาจทางทหารในการรักษาตำแหน่งในโลก

ยิ่งกว่านั้น การที่โลกไม่ได้แยกเป็นสองขั้ว คือ อเมริกา กับ รัสเซีย อย่างที่เคยเป็นในยุคสงครามเย็น แปลว่าประเทศขนาดกลางมีพื้นที่ในการเบ่งอำนาจ เช่นในตะวันออกกลางเป็นต้น มันทำให้โลกเราในยุคนี้ขาดเสถียรภาพและเต็มไปด้วยภัยสงคราม

“สงคราม” ทางเศรษฐกิจกับการค้าระหว่างสหรัฐกับ อียู คานาดา และจีน เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้

ความคิดกระแสหลักที่ยังสอนกันอยู่ในสถานศึกษาทุกวันนี้ มักจะอธิบายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่าเกิดจากอุบัติเหตุทางการเมือง หรือการจับมือเป็นพันธมิตรสองขั้วของชาติต่างๆ ในยุโรป แต่นั้นเป็นเพียงการบรรยายอาการของ “จักรวรรดินิยม” เพราะต้นกำเนิดของสงครามมาจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลก และสงครามดังกล่าวเป็นสงครามที่กลุ่มทุนใหญ่และรัฐกระทำเพื่อเพิ่มอำนาจของฝ่ายตนเองในการขูดรีดกรรมาชีพและปล้นทรัพยากรในประเทศอื่น แต่ในการทำสงครามมักมีการโกหกสร้างภาพว่าทุกสงครามเป็นการรบเพื่อ “เสรีภาพ” เพราะคนที่ต้องไปรบมักจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร

ทุกวันนี้สื่อกระแสหลักของตะวันตกมักโกหกว่ารัสเซียบุกยูเครนเพราะปูติน “บ้า” หรือ “กระหายเลือด” ทั้งนี้เพื่อปกปิดประวัติศาสตร์ความขัดแย้งจริง

สงครามไม่ได้เกิดจาก “นิสัยพื้นฐานของมนุษย์” มันเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่างๆ ในระบบทุนนิยม ดังนั้นถ้าจะห้ามสงคราม เราต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่โจมตีการจับมือกันระหว่างรัฐกับทุน และโจมตีระบบทุนนิยมโลกอีกด้วย

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราจะเข้าใจว่าทำไม เลนิน กับนักมาร์คซิสต์จะไม่สนับสนุนสงครามจักรวรรดินิยม และจะไม่มีวันคลั่งชาติ คำขวัญสำคัญของ เลนิน ในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ “เปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมไปเป็นสงครามระหว่างชนชั้น!”

อเล็กซ์ คาลินิคอส นักมาร์คซิสต์ชาวอังกฤษ อธิบายว่าจักรวรรดินิยมไม่ใช่การกระทำของประเทศมหาอำนาจประเทศเดียว แต่จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบ” การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆ ที่มีอำนาจแตกต่างกัน การทีระบบทุนนิยมมีลักษณะการพัฒนาต่างระดับเสมอ ทำให้ศูนย์กลางของอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจทางทหาร และอำนาจในเชิงจักรวรรดินิยม มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง มันไม่ใช่เรื่องคงที่แต่อย่างใด

บางคนไปตั้งความหวังไว้กับองค์กรสหประชาชาติ เพื่อสร้างสันติภาพในโลก แต่สหประชาชาติเป็นเพียงสมาคมของรัฐต่างๆ ทั่วโลก โดยมหาอำนาจคุมองค์กรผ่านคณะมนตรีความมั่นคง รัฐเหล่านี้เป็นผู้ก่อสงครามแต่แรก ไม่ใช่ผู้ที่จะสร้างสันติภาพแต่อย่างใด

ตราบใดที่มีระบบทุนนิยม เราจะมีภัยสงครามที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน อเล็กซ์ คาลินิคอส อธิบายว่าเราไม่สามารถเลือกข้างได้ในการแข่งขันดังกล่าว อย่าหลงคิดว่ามันเป็นความขัดแย้งทางลัทธิหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างที่ผู้นำพยายามโกหกเราเสมอ

การเมืองระหว่างประเทศในโลก ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เป็นแค่ “โต๊ะกินข้าวของหมาป่า” ดังนั้นเราต้องต้านสงครามและระบบขูดรีด และต้องทำแนวร่วมสากลกับประชาชนชั้นล่างทั่วโลก

ประวัติศาสตร์ยูเครน

หลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 พรรคบอลเชวิคภายใต้การนำของเลนินกับทรอตสกี้ผลักดันนโยบายที่ให้เสรีภาพกับประเทศที่เคยถูกกดขี่ภายใต้อนาจักรรัสเซียของกษัตริย์ซาร์ แต่ยูเครนกลายเป็นสมรภูมิสงครามระหว่างกองทัพขาวที่ต้านการปฏิวัติกับกองทัพแดง ยูเครนตะวันออกที่มีอุตสาหกรรมมีกรรมาชีพจำนวนมากที่สนับสนุนบอลเชวิค นอกจากนี้เยอรมันกับโปแลนด์พยายามแย่งพื้นที่ของยูเครนอีกด้วย

พอสตาลินขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียและทำลายการปฏิวัติ มีการรื้อฟื้นชาตินิยมรัสเซียเหมือนสมัยกษัตริย์ซาร์ ก่อนหน้านี้สตาลินคัดค้านเลนินในเรื่องการให้ชาวยูเครนกำหนดอนาคตตนเอง การยึดผลผลิตจากเกษตรกรของเผด็จการสตาลินระหว่าง 1932-1933 ทำให้ประชาชน 3.9 ล้านอดอาหารตาย

ในปี 1936 ทรอตสกี้ ซึ่งเป็นคนยิวที่เกิดในยูเครนและต้องลี้ภัยจากสตาลินในต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายของสตาลินทำลายความเชื่อมั่นของชาวยูเครนต่อรัฐบาลโซเวียตโดยสิ้นเชิง เขาอธิบายต่อว่าผู้นำปฏิกิริยาของยูเครนพยายาม “ขายชาติ” โดยชวนให้ประชาชนไปก้มหัวให้จักรวรรดินิยมต่างๆ ภายใต้คำสัญญาที่ไร้ค่าว่ายูเครนจะได้รับอิสรภาพ ต่อมาในสงครามโลกครั้งที่สองยูเครนกลายเป็นสมรภูมิระหว่างกองทัพนาซีของเยอรมันกับกองทัพของรัสเซีย พวกนาซีซึ่งรวมถึงฝ่ายขวาฟาสซิสต์ของยูเครนเองได้ทำการล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

หลังการล่มสลายของระบบทุนนิยมโดยรัฐและเผด็จการพรรคคอมมมิวนิสต์ของรัสเซีย คนยูเครนจำนวนมากฝันว่าถ้าหันไปหาอียูกับอำนาจตะวันตกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ในปี 1990 มีการลุกฮือของนักศึกษาที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพจากรัสเซียในปีต่อไป แต่มีการข้อขัดแย้งว่าใครจะได้ครอบครองอาวุธในฐานทัพของรัสเซียที่ไครเมีย คนส่วนใหญ่ในทางตะวันออกของยูเครนเป็นคนเชื้อสายรัสเซียและอยากอยู่กับรัสเซีย คนทางตะวันตกมักจะมองไปที่อียู ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วยูเครนพูดสองภาษาที่บ้านคือรัสเซียกับยูเครน ชาวรัสเซียกับชาวยูเครนใกล้ชิดกันเหมือนคนไทยกับคนลาว

ในปี 1993 ความฝันของประชาชนจำนวนมากที่คิดว่าการหันไปทางตะวันตกและรับกลไกตลาดเสรีจะทำให้ฐานะดีขึ้น ก็กลายเป็นฝันร้ายเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและรัฐบาลใช้นโยบายรัดเข็มขัด ท่ามกลางวิกฤตนี้พวกนักการเมืองฉวยโอกาสก็เริ่มใช้แนวคิดชาตินิยมเพื่อเบี่ยงเบนความไม่พอใจของประชาชน มีทั้งชาตินิยมที่ชอบตะวันตก และชาตินิยมที่ชอบรัสเซีย สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลงอีกเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008

ในปี 2013 ธนาคารกลางของยูเครนไม่มีเงินเหลือที่จะควบคุมเศรษฐกิจ ผู้นำทางการเมืองพยายามเข้าใกล้อียูเพื่อแก้ปัญหา แต่ในที่สุดประธานาธิบดี Yanukovych เลือกทำข้อตกลงใต้โต๊ะกับปูตินแทนที่จะเซ็นสัญญากับอียู

ประธานาธิบดี Yanukovych เคยถูกขับไล่ออกไปในการลุกฮือ “สีส้ม” ในปี2004 แต่เข้ามาใหม่ในปี 2010 ด้วยการโกงการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่นำไปสู่การลุกฮือของนักศึกษาที่จัตุรัส Maidan นักศึกษาเหล่านี้มองว่าพวกผู้นำแนวสตาลินเก่าเช่น Yanukovychมักจะโกงกิน

หลังจากการพยายามปราบการลุกฮือที่ Maidan มีผู้ออกมาชุมนุมมากขึ้นและมีหลากหลายกลุ่มที่การเมืองแตกต่างกัน หลายคนอยากล้มรัฐบาลแต่ไม่ชัดเจนว่าต้องการให้ยูเครนใกล้ชิดกับอียูหรือรัสเซีย มันเป็นโอกาสทองที่ทั้งตะวันตกและรัสเซียจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองยูเครน ประชาชนทางตะวันตกของประเทศมีแนวโน้มสนับสนุนอียูและนาโต้ พวกนักการเมืองที่มองไปทางตะวันตกมักจะโจมตีประชาชนทางตะวันออกและทางใต้ที่พูดภาษารัสเซีย ว่าเป็นพวก “บุกรุก” ในบรรยากาศแบบนี้พวกกลุ่มฝ่ายขวาจัดก็เพิ่มอิทธิพล และปูตินก็โต้ตอบด้วยการใช้แนวชาตินิยมรัสซียและการเสนอว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมานาน

สถานการณ์ความขัดแย้งแบบนี้นำไปสู่การสู้รบระหว่างรัฐบาลส่วนกลางของยูเครนกับประชาชนในแถบ Donbas ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางทหารโดยรัสเซีย คาดว่ามีคนล้มตายจากสงครามกลางเมืองนี้หลายหมื่น ในขณะเดียวกันรัสเซียก็เข้าไปยึด Crimea ซึ่งมีฐานทัพสำคัญของรัสเซีย

โลกหลังสงครามเย็น

หลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลกในช่วงปี 1989 มีการจัดระเบียบระบบจักรวรรดินิยมใหม่

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนฝ่ายขวาหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย อันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ก็เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว เขาเสนอต่อว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

สถานการณ์หลังวิกฤตโลกปี 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

ถ้าจะเข้าใจสถานการณ์ในทะเลจีนตอนใต้ เราจะเห็นว่ารากฐานความขัดแย้งมาจากการที่ทุนนิยมจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนจีนกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และแซงหน้าญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกทางทหารและเศรษฐกิจ เริ่มถอยหลังและประสบปัญหาทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ

สหรัฐแพ้สงครามในอิรักกับอัฟกานิสถาน เพราะไม่สามารถครอบครองและรักษาอิทธิพลระยะยาวในทั้งสองประเทศ อหร่าน อดีตศัตรูของสหรัฐ มีการเพิ่มอิทธิพลในพื้นที่ และในหลายประเทศของตะวันออกกลางมีสงครามต่อเนื่องขณะที่องค์กรอย่าง “ไอซิล” ก็เพิ่มบทบาท

เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 อย่างหนัก และการขยายตัวของเศรษฐกิจหลังจากนั้นล้าช้า ญี่ปุ่นยิ่งมีปัญหาหนักกว่าสหรัฐอีก

ในอดีตสหรัฐจะพยายามคุมอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีน ด้วยกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ชนชั้นปกครองจีนมองว่าจีนต้องสร้างกองทัพเรือและฐานทัพในทะเลจีน เพื่อปกป้องเส้นทางการค้าขายทางทะเลที่มีความสำคัญกับจีน การขยายตัวทางทหารของจีนในทะเลจีนจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับสหรัฐและหลายประเทศรอบข้าง มีการสร้างแนวร่วมทางการทูตและทหารใหม่ขึ้นมา จีนจับมือกับรัสเซียอีกครั้ง สหรัฐจับมือกับเวียดนามและขยายบทบาททางทหารในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ มันเป็นสถานการณ์ที่อันตรายเพราะถ้าเกิดการปะทะกันระหว่างสองประเทศใด ประเทศอื่นๆ จะถูกลากเข้ามาในความขัดแย้ง และในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา รวมถึงเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

การบุกยูเครนของรัสเซียปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการคาดการณ์ของปูตินว่าสหรัฐอ่อนแอลง และการเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยสหรัฐกับพันธมิตร มากจากความต้องการของสหรัฐที่จะพิสูจน์กับจีนว่าสหรัฐยังมีอำนาจอยู่ จะเห็นว่าทุกส่วนของโลกหนีไม่พ้นอิทธิพลของความขัดแย้งในระบบจักรวรรดินิยม

แน่นอนท่ามกลางความขัดแย้งและสงคราม ชนชั้นปกครองประเทศต่างๆ พยายามสร้างความชอบธรรมกับฝ่ายตนเอง เช่นการเสนอว่าตะวันตกขัดแย้งกับรัสเซียเพราะตะวันตกเป็นประชาธิปไตยและรัสเซียเป็นเผด็จการ ซึ่งไม่ต่างจากข้ออ้างเรื่อง “โลกเสรี” ที่เผชิญหน้ากับ “คอมมิวนิสต์” ในสงครามเย็น แต่ในความเป็นจริง “โลกเสรี” ของตะวันตกมักจะรวมเผด็จการโหดในหลายประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และทุกวันนี้นาโต้กับตะวันตกก็สนับสนุนการทำสงครามโดยเผด็จการอย่างซาอุหรืออิสราเอล ความขัดแย้งระหว่างรัฐในระบบจักรวรรดินิยมโลกมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับลัทธิทางความคิดเลย

การยุติสงครามโดยประชาชน

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติเพราะมีการปฏิวัติล้มชนชั้นปกครองในรัสเซียและเยอรมัน และทหารอังกฤษกับฝรั่งเศสเบื่อหน่ายกับสงครามไม่พร้อมจะสู้ต่อ

สงครามเวียดนามยุติลงเพราะทหารอเมริกาไม่พร้อมจะรบต่อไปท่ามกลางการประท้วงต้านสงครามในสหรัฐและที่อื่นๆ

สงครามในอิรักและอัฟกานิสถานยุติลงเพราะคนในประเทศเหล่านั้นไม่ยอมอยู่ต่อภายใต้อำนาจสหรัฐ สหรัฐจึงบริหารปกครองประเทศไม่ได้

การเรียกร้องให้จักรวรรดิยมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาแทรกแซงทางทหารจะไม่นำไปสู่สันติภาพ แต่จะนำไปสู่การขยายสงครามต่างหาก คำตอบต้องอยู่ที่ประชาชนชั้นล่าง

ทุกวันนี้ประชาชนชาวรัสเซียส่วนหนึ่ง ไม่ยอมเชื่อคำโกหกของปูติน และออกมาประท้วงต่อต้านสงครามทั้งๆ ที่ถูกรัฐบาลรัสเซียปราบและข่มขู่ ทุกวันนี้ประชาชนยูเครนก็ออกมาแสดงความไม่พอใจกับการเข้ามาของทหารรัสเซีย ดังนั้นพวกเราในทุกประเทศของโลกจะต้องพยายามสร้างขบวนการต้านสงครามของทุกฝ่าย และสมานฉันท์กับคนในประเทศอื่นที่ต้านสงคราม ในไทยการต่อต้านพลังทหารและสงคราม แยกออกไม่ได้จากการต่อต้านเผด็จการทหารของประยุทธ์และการทำรัฐประหาร และแยกออกไม่ได้จากการที่ทหารไทยกำลังยึดครองปาตานี

ใจอึ๊งภากรณ์

การปฏิวัติเยอรมัน 1918

ใจ อึ๊งภากรณ์

การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายนปี 1918 ในเยอรมัน เป็นการปฏิวัติที่มีความสำคัญต่อเหตุการณ์โลกไม่น้อย เพราะมีผลทำให้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลง และในระยะยาวความไม่สำเร็จของการปฏิวัติ ทำให้การปฏิวัติรัสเซียที่เกิดขึ้นหนึ่งปีก่อนหน้านั้นต้องล้มเหลว ความล้มเหลวนี้เปิดโอกาสให้เผด็จการสตาลินขึ้นมาทำการปฏิวัติซ้อน และเปลี่ยนรัสเซียจากสังคมนิยมไปเป็นทุนนิยมโดยรัฐ เพราะรัสเซียเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่สร้างสังคมนิยมในประเทศเดียวไม่ได้ จึงมีการตั้งความหวังว่าถ้ามีการปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมัน ซึ่งเจริญกว่า มันจะทำให้ระบบสังคมนิยมในยุโรปมีความเข้มแข็งมากขึ้น

bs-20-08-DW-Kultur-Deankfurt-Main-Archiv-jpg

การปฏิวัติเยอรมันระเบิดขึ้นในกองทัพเรือภาคทะเลเหนือของเยอรมันที่ประจำอยู่ที่เมือง Kiel เพราะทหารเรือไม่พอใจกับคำสั่งที่จะต้องออกไปเผชิญหน้ากับกองทัพเรืออังกฤษที่มีพลังเหนือกว่า มันเป็นคำสั่งให้ทหารเรือฆ่าตัวตาย ทหารเรือบนเรือลำต่างๆ ไม่ยอมเดินเรือออกไป ฝ่ายผู้บัญชาการทหารเรือจึงจับเข้าคุก 1 พันคน แต่สตรีในเมือง Kiel พร้อมกับกรรมาชีพ และทหารที่ถูกส่งไปปราบทหารเรือ ลุกขึ้นก่อกบฏ มีการชักธงแดงขึ้นบนเรือรบทุกลำ และกรรมาชีพกับทหารในเมืองตัดสินใจก่อตั้งสภาโซเวียด

revolution1

การปฏิวัติลามไปสู่ส่วนอื่นๆ ของเยอรมันอย่างรวดเร็ว ในเมืองเบอร์ลิน คาร์ล ลีบนิค แกนนำองค์กรณ์ปฏิวัติสังคมนิยม “สปาร์ตาซิสต์” พบกับผู้แทนขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ และเรียกให้มีการนัดหยุดงานทั่วไป

นายกรัฐมนตรีฝ่ายขวาของเยอรมันกลัวการปฏิวัติ จึงปลดกษัตริย์ไคเซอร์ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง เอเบอร์ด หัวหน้าพรรคสังคมนิยมปฏิรูป (SPD) เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีความหวังว่าพรรคสังคมนิยมปฏิรูปจะขัดขวางการปฏิวัติและปกป้องระบบทุนนิยม ในวันต่อมา เอเบอร์ด จึงรีบประกาศชักชวนให้มวลชนกลับบ้านและเลิกประท้วง

bild-44326-resimage_v-variantSmall16x9_w-320
คาร์ล ลีบนิค

ส่วนในวันเดียวกัน คาร์ล ลีบนิค ปีนขึ้นบนระเบียงวังของกษัตริย์และปราศรัยกับมวลชนว่า วันแห่งการปฏิวัติมาถึงแล้ว กรรมาชีพและทหารควรเดินหน้าต่อไปและสร้างสภาโซเวียดกับรัฐบาลของคนงานและพลทหารธรรมดา มวลชนมีการตะโกนต้อนรับสาธารณรัฐใหม่ และชักธงแดงขึ้นบนยอดเสาธงของวังกษัตริย์

เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย ได้ออกมาแสดงความยินดีกับการยึดอำนาจของคนงานและพลทหารเยอรมัน แต่เตือนไม่ให้มวลชนปล่อยให้รัฐบาลของนายทุนและพวกสังคมนิยมจอมปลอมอยู่ต่อไป มีการส่งเสริมให้นักปฏิวัติสังคมนิยมยึดอำนาจและก่อตั้งรัฐบาลของคนงานและพลทหารภายใต้การนำของ คาร์ล ลีบนิค

Geschichte04-9111918
นสพ. ธงแดง

โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักปฏิวัติเยอรมันที่เป็นแกนนำองค์กรณ์ปฏิวัติสังคมนิยม “สปาร์ตาซิสต์” ร่วมกับ คาร์ล ลีบนิค ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ “ธงแดง” ของพวกสปาร์ตาซิสต์ว่า การปฏิวัติเริ่มต้นแล้ว แต่อย่างพึ่งเสียเวลากับการเฉลิมฉลอง เพราะมีภารกิจอีกมากมายที่ต้องเร่งทำ จริงอยู่มีการล้มกษัตริย์ไคเซอร์ แต่ โรซา ลัคแซมเบอร์ค เตือนว่ากษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจจริง เป็นเพียงประมุข ผู้ที่มีอำนาจจริงที่อยู่เบื้องหลังคือพวกนายทุน และรัฐบาลของ เอเบอร์ด กับพรรคสังคมนิยมปฏิรูป ไม่ได้ไปแตะอำนาจนี้แต่อย่างใด สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือการยึดอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพกับพลทหาร การล้มทุนนิยม และการสถาปนาระบบสังคมนิยม

rosaluxemburg-lasallemarx
โรซา ลัคแซมเบอร์ค

อย่างไรก็ตามอิทธิพลขององค์กรณ์ สปาร์ตาซิสต์ มีแค่ในบางส่วนของกรรมาชีพและทหารที่ก้าวหน้าที่สุดเท่านั้น ที่เหลือยังหลงไว้ใจพรรคสังคมนิยมปฏิรูป SPD

Spartacus_fight

นายกรัฐมนตรี เอเบอร์ด จับมือทันทีกับพวกนายพลเก่า เพื่อสร้าง “ความสงบเรียบร้อย” สำหรับระบบทุนนิยม มันแปลว่าต้องจัดการกับนักปฏิวัติ อย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ซึ่งมีฐานสนับสนุนในมวลชนทหารระดับล่างและกรรมาชีพของเมือง เบอร์ลิน ดังนั้นในปลายเดือนธันวาคม 1918 รัฐมนตรีมหาดไทย นอสก์ จากพรรคสังคมนิยมปฏิรูป SPD ตัดสินใจสร้างกองกำลังทหารรับจ้าง “ไฟรคอพส์” ที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งชาติ เพื่อตระเวนไปทั่วเยอรมันและปราบปรามทำลายขบวนการแรงงานและนักสังคมนิยม บางหน่วยของกองกำลังนี้เริ่มใช้ธงสวัสติกะ ซึ่งกลายเป็นสัญญลักษณ์ของพวกนาซี

ต่อมาในเดือนมกราคม 1919 ฝ่ายนายพลและรัฐบาลได้สร้างเรื่องให้มีการลุกฮือเพื่อที่จะมีข้ออ้างในการปราบปรามขบวนการปฏิวัติ ผลคือทั้ง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ถูกทหารไฟรคอพส์จับคุมและพาไปฆ่าพร้อมโยนศพลงคลอง หลังจากนั้นรัฐบาลก็โกหกว่า โรซา ลัคแซมเบอร์ค ถูกม็อบฆ่าทิ้ง และ คาร์ล ลีบนิค ถูกยิงในขณะที่กำลังหลบหนี และพวกคนชั้นกลางก็เฉลิมฉลองด้วยความดีใจและความป่าเถื่อนตามเคย

P1140983
อนุสาวรีย์ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ริมคลองที่เมืองเบอร์ลิน

ปัญหาใหญ่ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค คือลงมือสร้างองค์กรปฏิวัติช้าเกินไปตอนที่กระแสการต่อสู้เริ่มสูงขึ้น แทนที่จะสร้างองค์กรณ์ไว้ล่วงหน้าเพื่อฝึกฝนความเข้าใจทางการเมืองจากประสบการณ์การต่อสู้อย่างที่ เลนิน เคยทำ เพราะทั้ง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค เคยอยู่ในพรรค SPD จนถึงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และไม่ยอมแยกตัวออก

UFSsFZmh
โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค

อ่านเพิ่มเรื่อง โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่นี่ https://bit.ly/2ARmhde 

และ ที่นี่

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ.1914

ใจ อึ๊งภากรณ์

วันที่ 28 กรกฏาคมปีนี้ เป็นวันครบรอบ 100  ปีแห่งการเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามนี้เป็นสงคราม “ทุนนิยมสมัยใหม่” ที่ใช้อาวุธอุตสาหกรรมและทำลายชีวิตทหารนุ่มถึง 10 ล้านคน มันเป็นสงครามทางชนชั้น เพราะชนชั้นปกครองในประเทศมหาอำนาจของยุโรป ผลักให้ชนชั้นกรรมาชีพประเทศต่างๆ ไปฆ่ากันเอง และมันเป็นสงคราม “ทุนนิยมสมัยใหม่” ในอีกด้านหนึ่งที่สำคัญด้วย คือเกิดจากการปะทะกันระหว่างประเทศต่างๆ ภายใต้ระบบที่เราเรียกว่า “จักรวรรดินิยม”

PhotographingTheFirstWorldWar_FrankHurley_05 article-2226235-01A9D2BF000004B0-479_964x704

 

ต้นกำเนิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

การที่ระบบจักรวรรดินิยมโลกนำไปสู่การยึดครองพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และในที่สุดนำไปสู่สงครามระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยมเอง เริ่มชัดเจนตั้งแต่ 1904 เมื่อรัสเซียพยายามขยายอาณาจักรไปทางตะวันออกเข้าสู่จีน และเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นที่กำลังขยายไปทางตะวันตกเข้าสู่เกาหลี นอกจากนี้มีการปะทะกันระหว่างเยอรมันกับฝรั่งเศสในอัฟริกาเหนือ เพื่อหาอาณานิคม

แต่ภูมิภาคอันตรายที่สุดคือแถบยุโรปตะวันออกหรือ “บอลคาน” เพราะมหาอำนาจใหญ่ๆ เข้ามาแย่งกันอุปถัมภ์รัฐเล็กๆ เช่น เซอร์เบีย กรีซ มอนตาเนโกร บัลแกเรีย ฯลฯ ซึ่งกำลังทำสงครามแย่งชิงซากเก่าของอาณาจักร “ออตตามันเตริก” สถานการณ์อันตรายแบบนี้ มัดความขัดแย้งในพื้นที่เข้ากับความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจใหญ่ จนเป็นชะนวนที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

บ่อยครั้งนักวิชาการที่ไม่วิเคราะห์อะไรลึกๆ จะให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่จุดไฟของสงคราม เช่นการลอบยิงเจ้าชายเฟอร์ดิแนนของออสเตรีย แต่รากฐานต้นกำเนิดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มาจากการแย่งชิงพื้นที่ อิทธิพล และ อำนาจ ระหว่างมหาอำนาจทุนนิยม จนทุกฝ่ายยอมอะไรไม่ได้ ในเรื่องนี้นักมาร์คซิสต์รัสเซียชื่อ เลนิน เข้าใจดี

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ.1914-1918

ในเดือนสิงหาคม 1914 หลังจากที่สงครามเกิดขึ้น คนจำนวนมากในยุโรปคลั่งชาติและหลงคิดว่าฝ่ายของตนเองจะชนะในไม่กี่เดือน ในเมืองต่างๆ ประชาชนออกมาชุมนุมสนับสนุนสงครามด้วยความสนุกสนาน เหมือนกับจะแห่กันไปงานวัด หรือไปดูมวย

ในแง่สำคัญ บรรยากาศการเฉลิมฉลองสงคราม ไม่ได้เป็นการคลั่งชาติไปทั้งหมด ทั้งๆ ที่พวกคลั่งชาติมีจริง ลีออน ตรอทสกี นักปฏิวัติรัสเซีย อธิบายว่าบรรยากาศนี้มาจากการที่ชีวิตคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น เต็มไปด้วยการทำงานซ้ำซากน่าเบื่อ โดยไร้ความหวัง สงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นโอกาสที่จะผจญภัยครั้งใหญ่ คนจำนวนมากเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นคงไม่ทำให้ชีวิตแย่ลง เพราะมันแย่กว่านี้ไม่ได้ …. แต่ในไม่ช้าเขาจะเรียนรู้ความจริง

ในแง่ส่วนตัว คุณตาของผม เออเนสต์ วิแซน สมิท ก็เป็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่แห่ไปรบด้วยความรักชาติ และทั้งๆ ที่เขาเห็นสภาพความโหดร้ายทารุณของสงคราม ซึ่งบัณทึกไว้ในสมุดบัณทึกที่อยู่ในมือของผม แต่เขายังไม่หายรักชาติตามกระแสการเมืองอนุรักษ์นิยมของเขา อย่างไรก็ตามคุณยายผมกลับเกลียดสงครามอย่างถึงที่สุด และประกาศจุดยืนสันติวิธีตั้งแต่ช่วงนั้น

คุณตาผมอาจไม่ค่อยมีจิตสำนึกทางการเมืองที่ลึกซึ้งเท่าไร แต่นักสังคมนิยมทั่วยุโรปหลายคนต่อต้านสงครามตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่ผู้นำพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในยุโรป เคยมีจุดยืนคัดค้านสงคราม การที่เขามองว่าเป้าหมายคือการ “ได้อำนาจรัฐ” ผ่านการชนะการเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยม มันทำให้เขามองว่า “รัฐ” เป็นรัฐของประชาชนทุกคน และทุกคนต้องจงรักภักดีต่อรัฐของตนเอง ในที่สุดเกือบทุกพรรคหันมาสนับสนุนการทำสงครามที่ฆ่ากันเอง นักสังคมนิยมบางคนสามารถเคลื่อนไหวคัดค้านสงครามในกลุ่มผู้ใช้แรงงานของ อังกฤษ เยอรมัน และรัสเซีย แต่ผู้นำอย่าง เคาท์สกี ในเยอรมัน หรือ เคียร์ ฮาร์ดี ในอังกฤษ เงียบเฉยทั้งๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม

มีแต่นักสังคมนิยมปฏิวัติมาร์คซิสต์เท่านั้น ที่ต่อต้านสงครามจากวันแรกถึงวันสุดท้าย ตัวอย่างที่ดีคือ เลนิน, ตรอทสกี, โรซา ลัคแซมเบอร์ค, คาร์ล ลีบนิค, เจมส์ คอนโนลี่ และ จอห์น แมคคลีน เป็นต้น

สงครามนี้กลายเป็นสงครามยืดเยื้อที่ป่าเถื่อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคนั้น มีการใช้อาวุธและระเบิดที่สร้างในโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และทหารเป็นแสนๆ เผชิญหน้ากันในสนามเพลาะ ในการรบกันที่ “เวอร์ดัน” ทหารสองล้านคนเผชิญหน้ากันและตายไปครึ่งหนึ่งภายในห้าเดือน ในการรบกันที่ลุ่มแม่น้ำ “ซอม” ในปี 1916 คาดว่าตายไปอีกหนึ่งล้าน โดยที่ทหารอังกฤษตายสองหมื่นคนในวันแรกของการรบ

สงครามนี้มีผลกระทบกับสังคมในประเทศต่างๆ อย่างมาก ทุกแห่งขาดแรงงาน ทั้งในภาคเกษตรและในโรงงาน เพราะมีการเกณฑ์ผู้ชายไปรบจำนวนมาก มีการดึงผู้หญิงเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในระยะยาวทำให้สตรีมีความมั่นใจที่จะเรียกร้องสิทธิสตรีมากขึ้นเพราะทำงานพึ่งตนเองได้ เริ่มมีการขาดอาหารและสินค้าพื้นฐาน และราคาข้าวของก็พุ่งขึ้นสูง ในไม่ช้าคุณภาพชีวิตของกรรมกร เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยแย่ลงอย่างน่าใจหาย ในเยอรมันค่าแรงดิ่งลง 50% แต่ผู้นำสหภาพแรงงานในประเทศต่างๆ พยายามยับยั้งการนัดหยุดงาน เพื่อสนับสนุนสงคราม

สำหรับเกษตรกรคนจนจากหมู่บ้านห่างไกลในชนบททั่วยุโรป การที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารและประสบการณ์ของสงคราม เปิดหูเปิดตาถึงสภาพสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะความคิดทางการเมืองเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือ “สังคมนิยม”

พอถึงปลายปี 1915 ต้นปี 1916 เริ่มมีการต่อสู้และการกบฏของคนชั้นล่าง สตรีในเมืองอุตสาหกรรม กลาสโก ทางเหนือของอังกฤษ ไม่ยอมจ่ายค่าเช่า และสตรีในหลายเมืองของเยอรมันประท้วงการขาดแคลนอาหาร ในโรงงานอุตสาหกรรมของอังกฤษ เยอรมัน ฮังการี่ และออสเตรีย ช่างฝีมือชายในโรงเหล็ก ที่ไม่ได้ถูกเกณฑ์เป็นทหาร เพราะเขาเป็นคนงาน “จำเป็น” ในอุตสาหกรรมอาวุธ เริ่มนัดหยุดงาน โดยที่ผู้นำหลายคนเป็นนักสังคมนิยม ในขณะเดียวกันเริ่มมีนักเขียนและศีลปินคนชั้นกลางที่ออกมาวิจารณ์สงคราม

ในสนามรบ คนที่แห่กันไปรบในยุคแรกๆ เริ่มรู้ว่าสงครามมันป่าเถื่อนและโหดร้ายแค่ไหน ความตื่นเต้นแปรไปเป็นความเย็นชาที่ยอมรับสถานการณ์ แต่พอเวลาผ่านไป และทหารราบธรรมดามีประสบการณ์ของสงคราม และเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของเขา แตกต่างจากพวกนายพลชั้นสูงที่เสพสุข ก็เริ่มมีการกบฏในกองทัพ

ตั้งแต่วันคริสต์มาสปี 1914 ทหารธรรมดาจากทั้งสองฝ่าย ประกาศหยุดยิงและออกมาคุยกัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจในระดับสูงอย่างมาก พอถึงคริสต์มาสปี 1916 นายพลอังกฤษสั่งให้ผู้บังคับบัญชาในสนามรบยิงทหารเยอรมันที่ออกมาจากหลุมเพลาะ เพื่อไม่ให้คุยกับทหารอังกฤษ แต่ในเดือนเมษายนปี 1917 ทหารฝรั่งเศส 68 กองพล ครึ่งหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส กบฏและไม่ยอมออกรบหลังจากที่สหายเขาตายไป 250,000 คนจากการรุกสู้ มีการชักธงแดงขึ้นและร้องเพลงอินเตอร์นาชอนแนล์ แต่รัฐบาลฝรั่งเศสปราบทหารกบฏอย่างรุนแรง โดยประหารชีวิตทหารไป 49 นาย ในปีเดียวกันมีการกบฏของทหารอิตาลี่ 50,000 คน และทหารอังกฤษ 100,000 คน ในกรณีหลังนายพลอังกฤษจัดการกับการกบฏด้วยการยอมรับข้อเรียกร้องบางอย่าง ตามด้วยการประหารชีวิตผู้นำการกบฏ และมีการปกปิดเหตุการณ์นี้ในสื่อมวลชน

การปฏิวัติรัสเซีย 1917

ไม่มีใครสามารถทำนายล่วงหน้าว่าจะเกิดการปฏิวัติในรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ 1917 แม้แต่ เลนิน ก็พูดเสมอว่ารุ่นเขา “คงไม่เห็นการปฏิวัติ” แต่การปฏิวัติที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงของสงครามโดยตรง เช่นสภาพเศรษฐกิจที่แย่ลง และการที่ทหารราบธรรมดาถูกส่งไปตายเหมือนผักเหมือนปลา และบ่อยครั้งขาดอาวุธหรือแม้แต่รองเท้า การปฏิวัติรอบแรกในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการล้มระบบเผด็จการกษัตริย์ซาร์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของความทุกข์ยากของประชาชน

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปในรัสเซียในเดือนตุลาคม 1917 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่แล้วมาในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 หรือในการลุกฮือที่ฝรั่งเศสปี 1848 และ 1871 คนงานกับคนจนในปารีสเป็นพลังสำคัญ แต่ถูกแย่งอำนาจไปโดยชนชั้นนายทุนหรือถูกปราบปรามอย่างหนัก ในรัสเซียครั้งนี้ สภาของชนชั้นกรรมาชีพ ทหาร และเกษตรกรรายย่อย สามารถยึดอำนาจรัฐในประเทศที่มีประชากร 160 ล้านคน ภายใต้การนำของพรรคสังคมนิยมบอล์เชวิคของ เลนิน มันเป็นการพิสูจน์ว่าเราสามารถสร้างระบบสังคมนิยมโลกได้

เยอรมันลุกเป็นไฟ ตามด้วยการกบฏในประเทศอื่น

กระแสปฏิวัติในยุโรประเบิดขึ้นแค่หนึ่งปีหลังจากการปฏิวัติรัสเซีย ในปี 1918     เมื่อกองทัพเรือเยอรมันถูกสั่งให้บุกอังกฤษ ทหารเรือกบฏไม่ยอมไปตายฟรี มีการเดินขบวนของทหารเรือติดอาวุธร่วมกับคนงานท่าเรือที่เมือง เคียล์ หลังจากนั้นมีการตั้งกรรมการทหาร ในเมือง บเรเมน, แฮนโนเวอร์, โคโลน, ไลป์ซิก, ดเรสเดน และเมืองอื่นๆ อีกมากมาย ทหารกับคนงานยึดเมือง ใน มิวนิค มีการประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียดของแคว้น บาวาเรีย ซึ่งอยู่ได้หลายเดือน ส่วนในเมืองหลวง เบอร์ลิน ทหารติดอาวุธร่วมกับกรรมาชีพถือธงแดงในการเดินขบวน และนักสังคมนิยมอย่าง คาร์ล ลีบนิค ก็ปรากฏตัวที่ระเบียงพระราชวังและประกาศว่ามีการก่อตั้ง “สาธารณรัฐสังคมนิยม” และเริ่มกระบวนการ “ปฏิวัติโลก” ซึ่งทำให้กษัตริย์ไคเซอร์ต้องหนีออกนอกประเทศทันที

ต่อมามีการตั้งคณะสภากรรมาชีพและทหาร ซึ่งแต่งตั้งรัฐบาลปฏิวัติอันประกอบไปด้วยสองพรรคสังคมนิยม แต่พรรคเหล่านั้นนำโดยคนที่ไม่ใช่นักปฏิวัติ พรรค SPD เดิมสนับสนุนสงคราม เพราะเป็นพรรคปฏิรูปที่ต้องการปกป้องรัฐเก่ามาตลอด ส่วนพรรค USP ประกอบไปด้วยผู้นำที่คัดค้านสงครามและเอียงซ้ายมากกว่าพวก SPD แต่ก็ยังสองจิตสองใจเรื่องการปฏิวัติ คือแกว่งไปแกว่งมาระหว่างการปฏิวัติกับการปฏิรูประบบเดิม มีแต่ “กลุ่มสันนิบาตสปาร์ตาคัส” ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค เท่านั้นที่ชัดเจนว่าต้องปฏิวัติสังคมนิยม แต่กลุ่มนี้พึ่งแยกตัวออกจากพวกพรรคปฏิรูปก่อนหน้านี้ไม่นาน เลยขาดมวลชนและประสบการณ์

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมันจากพรรค SPD จับมือทันทีกับพวกนายพลเก่าเพื่อ “สร้างความสงบเรียบร้อย” และการสร้างความสงบเรียบร้อยสำหรับระบบทุนนิยม แปลว่าต้องจัดการกับนักปฏิวัติ อย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ด้วยการฆ่าทิ้ง

ในปลายเดือนธันวาคม 1918 รัฐมนตรีมหาดไทย นอสก์ จากพรรค SPD ตัดสินใจสร้างกองกำลังทหารรับจ้าง “ไฟรคอพส์” ที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งชาติ เพื่อตระเวนไปทั่วเยอรมันและปราบปรามทำลายขบวนการแรงงานและนักสังคมนิยม บางหน่วยของกองกำลังนี้เริ่มใช้ธงสวัสติกะ ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญญลักษณ์นาซี

ปัญหาของนักสังคมนิยมปฏิวัติเยอรมันคล้ายกับปัญหาในส่วนอื่นของยุโรป เพราะพรรคสังคมนิยมทั้งหลาย ไม่เคยต้องเผชิญหน้ากับการลุกฮือของมวลชนที่ตั้งคำถามรูปธรรมในโลกจริงว่าจะปฏิวัติหรือปฏิรูป ในช่วงนี้นักปฏิวัติในรัสเซียพยายามสร้างองค์กรสากล เพื่อตั้งพรรคปฏิวัติที่แยกตัวออกจากพรรคปฏิรูปในทุกประเทศของยุโรปและที่อื่น แต่มันใช้เวลาและสายเกินไปที่จะช่วยพยุงหรือหนุนการปฏิวัติในรัสเซียได้

ในเดือนเมษายน 1919 กรรมาชีพและคนตกงานพยายามยึดรัฐสภาในประเทศออสเตรีย และในฮังการี่มีการยึดอำนาจโดยฝ่ายสังคมนิยมและประกาศตั้ง “รัฐโซเวียด” แต่ในทั้งสองกรณีการลุกฮือถูกหักหลังโดยพรรคสังคมนิยมปฏิรูปที่พูดซ้ายแต่ปฏิบัติตรงข้าม

ในกองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐ มีการกบฏต่อผู้บังคับบัญชา และในอังกฤษ สหรัฐ คานาดา เกิดกระแสนัดหยุดงานอย่างดุเดือด แม้แต่ตำรวจในบางพื้นที่ของอังกฤษก็ยังหยุดงานในสเปน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ มีการนัดหยุดงานและยึดเมืองต่างๆ แต่ถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน

ในอิตาลี่ ระหว่างปี 1919 กับ 1920 มีการนัดหยุดงานทั่วไปและตั้งคณะกรรมการโรงงานโดยกรรมาชีพ เพื่อคุมโรงงาน กระแสนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักมาร์คซิสต์อย่าง อันโตนิโอ กรัมชี่ และหนังสือพิมพ์ “ระเบียบใหม่” ของเขา แต่การต่อสู้ของกรรมาชีพ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายไปสู่การปฏิวัติ ถูกหักหลังโดยพรรคสังคมนิยมที่ปลีกตัวออกไม่สนับสนุน และโดยผู้นำสหภาพแรงงานระดับสูง ที่มองว่าต้องสู้แต่ในเรื่อง “ปากท้อง” เท่านั้นความล้มเหลวของการปฏิวัติลุกฮือในอิตาลี่สร้างความหดหู่ พร้อมกันนั้นนายกรัฐมนตรีพรรคเสรีนิยมตัดสินใจสนับสนุนให้ มุสโสลีนี สร้างขบวนการฟาสซิสต์ขึ้นมาด้วยทุนจากรัฐและนายทุนใหญ่ เพื่อคานฝ่ายซ้ายและนักปฏิวัติ พอถึงปลายปี 1922 มุสโสลีนี  สามารถยึดอำนาจและสร้างรัฐเผด็จการฟาสซิสต์ได้สำเร็จ

การกบฏในอาณานิคม

ประชาชนในอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ไม่เคยยินยอมพอใจกับการถูกปกครอง อินเดียเป็นอาณานิคมที่สำคัญที่สุดของอังกฤษ ขบวนการกู้ชาติเริ่มก่อตัวในรูปแบบ “พรรคคองเกรสของชาติอินเดีย” หรือที่เรียกสั้นๆว่า “คองเกรส” ซึ่งมีแกนนำเป็นชนชั้นกลางกับนายทุนพื้นเมือง ในยุคนั้นชนชั้นสูงพื้นเมืองแยกเป็นสองส่วนระหว่างพวกที่ต้องการร่วมมือกับอังกฤษ และพวกที่ต้องการเอกราช

มหาตมะคานธี เป็นทนายความชนชั้นกลางที่กลับมาจากอัฟริกาใต้ในปี 1915 และทั้งๆ ที่ มหาตมะคานธี ขึ้นชื่อภายหลังว่าต่อต้านการใช้ความรุนแรง ตอนนั้นเขาสนับสนุนการทำสงครามของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และใกล้ชิดกับนายทุนพื้นเมืองอินเดียที่ต้องการให้ พรรคคองเกรส ปกป้องตลาดภายในอินเดียที่จะเป็นอิสระในอนาคต เพื่อประโยชน์ของนายทุน

ระหว่าง 1918-1920 มีคลื่นการนัดหยุดงานของกรรมาชีพ โดยเฉพาะคนงานสิ่งทอในเมือง มุมบาย และมีการประท้วงความอดอยากในเมืองหลักๆ ของอินเดีย รัฐบาลอังกฤษโต้ตอบและปราบปรามการเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างรุนแรง ซึ่งเพิ่มความโกรธแค้นของมวลชน ในปี 1920 มีการนัดหยุดงาน 200 ครั้งโดยคนงานทั้งหมด 1.5 ล้านคน

ไอร์แลนด์ เป็นอาณานิคมที่เก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ ในปี 1916 มีการลุกฮือจับอาวุธกบฏต่ออังกฤษในเมือง ดับลิน การกบฏครั้งนี้ประกอบไปด้วยสององค์กรหลักคือ “ขบวนการสาธารณรัฐ” ของคนชั้นกลางนำโดย พาดเดรก เพียร์ส และ “กองทัพพลเมืองไอร์แลนด์” ซึ่งเป็นกองกำลังกรรมาชีพเพื่อปกป้องการนัดหยุดงาน กองกำลังนี้นำโดยนักสังคมนิยมไอร์แลนด์ชื่อ เจมส์ คอนโนลี่ และถึงแม้ว่าการกบฏนี้ล้มเลวเพราะมีความผิดพลาดในการวางแผน และผู้นำจำนวนมากถูกประหารชีวิต แต่มันกลายเป็นประกายไฟที่จุดการต่อสู้รอบใหม่ในไอร์แลนด์ และจุดการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมทั่วโลก

ที่ อียิปต์ ในปี 1919 มีการทำแนวร่วมระหว่างพวกกู้ชาติชนชั้นกลางและขบวนการแรงงาน เพื่อต่อสู้กับอังกฤษ และเมื่ออังกฤษเสนอการปฏิรูปเล็กๆ น้อย “พรรควาฟด์” ของพวกชนชั้นกลาง ก็ประนีประนอมกับอังกฤษและหักหลังขบวนการแรงงาน ต่อมาพอ “พรรควาฟด์” ห่างเหินจากมวลชนแรงงาน อังกฤษก็จัดการปราบปรามจนพรรคหมดสภาพ

ในปี 1911 ที่จีน มีการกบฏของทหารต่อราชวงศ์ชิง (แมนชู) และมีการประกาศตั้งสาธารณรัฐภายใต้ประธานาธิบดี ซุนยัดเซน แต่รัฐบาลล้มภายในหนึ่งเดือนและนายพลในกลุ่มอำนาจเก่าขึ้นมาเป็นเผด็จการแทน ประเทศจีนถูกแยกเป็นเขตต่างๆ ภายใต้ขุนศึกหรืออำนาจต่างชาติ ต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 มีข่าวจากการประชุมแวร์ไซในฝรั่งเศส ว่าฝ่ายที่ชนะสงครามโลกได้ประกาศยกพื้นที่จีนที่เคยปกครองโดยเยอรมันให้ญี่ปุ่น คำประกาศนี้ถือว่าเป็นการหักหลังชาวจีน     นักศึกษาเป็นผู้จุดประกายการปฏิวัติ โดยมีปัญญาชนเข้าร่วม และคนจำนวนมากได้รับอิทธิพลจาก “พรรคก๊กมินตั๋ง” ของ ซุนยัดเซน ในขณะเดียวกันการปฏิวัติรัสเซียส่ร้างอิทธิพลให้มวลชนอีกส่วนหนึ่งหันมาสนใจความคิดสังคมนิยมมาร์ซิสต์ซึ่งสอดคล้องกับการรุกสู้ของชนชั้นกรรมาชีพจีน มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์

ในปี 1922 คนเดินเรือ 2,000 คนที่ฮ่องกงเริ่มนัดหยุดงาน และลามไปสู่การนัดหยุดงานทั่วไปของคนงานฮ่องกง 120,000 คน และทั้งๆ ที่ผิดกฏหมาย การนัดหยุดงานครั้งนี้ได้รับชัยชนะ ต่อมาในปี 1924 ซุนยัดเซน ตั้งรัฐบาลกู้ชาติที่เมือง กวางตุ้ง ซึ่งอาศัยการร่วมมือกันกับกองกำลังคนงานของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 1925 มีการนัดหยุดงานทั่วไปที่เมือง เซี่ยงไห้ และฮ่องกง โดยมีข้อเรียกร้องชาตินิยมและข้อเรียกร้องปากท้อง ใน เซี่ยงไห้ กรรมกรกลายเป็นอำนาจหลักในการบริหารเมืองชั่วคราว

ในปี 1926 กองกำลังของ ก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์ ยกทัพจาก กวางตุ้ง ไปทางเหนือเพื่อยึด ฮูเบ และฮูนัน โดยผู้นำกองทัพคือนายพล เชียงไกเชค ในเดือนมีนาคมกองทัพของ เชียงไกเชค มาถึง เซี่ยงไห้ และภายในเมืองมีการลุกฮือของกรรมาชีพและนัดหยุดงานทั่วไป เชียงไกเชคและพรรคก๊กมินตัง ซึ่งเป็นพวกชนชั้นนายทุนพื้นเมือง พร้อมจะใช้ขบวนการแรงงานและพวกคอมมิวนิสต์ในการยึดเมือง แต่พอกรรมาชีพมอบอำนาจให้ เชียงไกเชค เรียบร้อยแล้ว มีการปล่อยอันธพาลฝ่ายขวาไปฆ่าคอมมิวนิสต์และนักสหภาพแรงงานอย่างป่าเถื่อนจนไม่เหลือซาก

สรุป

สงครามที่เราเห็นในโลกสมัยใหม่ ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้ง “ธรรมชาติ” ของมนุษย์ แต่เกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ ที่อาศัยรัฐของเขา ในการทำสงครามทั่วโลก ถ้าจะยุติสงครามอย่างจริงจัง เราต้องล้มระบบทุนนิยม และสร้างระบบใหม่แห่งความสมานฉันท์ระหว่างกรรมาชีพทุกชนชาติ อย่างไรก็ตามการปฏิวัติล้มทุนนิยมย่อมไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะมีโอกาสทองของวิกฤตการเมืองหรือการลุกฮือของมวลชนมากแค่ไหน ถ้าเราไม่ลงมือสร้างพรรคปฏิวัติของกรรมาชีพ และถ้าเราไม่ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับแนวคิดชาตินิยมที่พาคนจำนวนมากไปจงรักภักดีกับชนชั้นนายทุนในแต่ละประเทศ