Tag Archives: สงครามโลกครั้งที่2

หนังสือคลาสสิกแห่งยุคหลังสงครามโลก

Vasily Grossman

Stalingrad และ Life and Fate เป็นหนังสือรัสเซียคลาสสิกแห่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขียนโดย Vasily Grossman ที่เคยเป็นนักข่าวของรัฐบาลที่ไปเก็บข่าวท่ามกลางสงคราม โดยเฉพาะการสู้รบระหว่างรัสเซียกับเยอรมันที่โหดร้ายรุนแรงในเมือง Stalingrad ซึ่งชัยชนะของกองทัพแดงในที่สุดนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของฮิตเลอร์กับพวกนาซี

หนังสือ Life and Fate ถูก “เก็บ” โดยสายความมั่นคงรัสเซียหลังจากที่เขียนเสร็จในยุค 1960 แต่มีคนลักลอบนำออกมาแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษในภายหลังเมื่อ 1980

สตาลิน

ท่ามกลางการต่อสู้ที่ทหารรัสเซียมองว่าเป็นสงครามปราบฟาสซิสต์ สตาลินพยายามเบี่ยงเบนสงครามให้เป็นสงครามชาตินิยม แต่บทเรื่องเอ่ยถึงการฆ่าขังทำลายนักปฏิวัติพรรคบอลเชวิคโดยสตาลินสิบปีก่อนเกิดสงครามโลก และการบังคับทำนารวมและการกดขี่เกษตรกรในยุคนั้นด้วย ซึ่งสร้างความไม่พอใจมาก และเป็นนโยบายของเผด็จการสตาลินที่มุ่งสร้าง “สังคมนิยมในประเทศเดียว” ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นระบบเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ”

เวลาเราอ่านเราจะลุ้นให้กองทัพแดงชนะกองทัพนาซี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราทราบอยู่ในใจว่าชัยชนะของรัสเซียจะนำไปสู่การปราบคนที่คิดเองเป็นและอดีตนักปฏิวัติโดยสตาลินอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงคนที่เสียสละในการสู้รบกับเยอรมันอีกด้วย

Grossman บรรยายจิตสำนึกคู่ขนานของนักปฏิวัติที่ยังเหลืออยู่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง คือสำนึกหนึ่งมาจากการครอบงำโดยพรรคเผด็จการภายใต้สตาลิน ซึ่งนักปฏิวัติอยากจะเชื่อ แต่ขัดแย้งกับสำนึกที่สองที่มาจากการเห็นความจริงและความเป็นนักปฏิวัติมาร์คซิสต์

Grossman เป็นนักเขียนที่มีความสามารถในการวาดภาพสถานการณ์อย่างงดงาม ในตอนท้ายของเล่ม “Life and Fate” เขาอธิบายการเบี่ยงเบนทำลายการปฏิวัติ 1917 โดยสตาลิน และการที่ภาพผิวเผินดูเหมือนว่าเผด็จการสตาลินยังเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งตรงข้ามกับความจริง:

“หนังกำหลังถูกถลกจากร่างที่ยังมีชีวิตของการปฏิวัติ เพื่อให้ยุคใหม่แทรกเข้าไปแทนที่ได้ สำหรับแดง เนื้อแดงๆ ใส้แดงร้อนๆ นั้นกำลังถูกโยนลงถังขยะ ยุคใหม่ต้องการแค่หนังเปลือกนอกของการปฏิวัติ และหนังนี้กำลังถูกถลกออกจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่ พวกที่แทรกเข้าไปในนั้นมักพูดจาด้วยศัพท์ของการปฏิวัติ และลอกแบบกิริยาต่างๆ แต่สมอง ปอด ตับ และตาของพวกนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิง”

สงครามโลกครั้งที่สอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่สิ้นสุดลงเมื่อ 70 ปีก่อน ถ้าพิจารณาฝ่ายพันธมิตร เราจะเห็นว่ามีสงครามคู่ขนานในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ หรือเยอรมัน อิตาลี่ และญี่ปุ่น เพราะประชาชนธรรมดาในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมวลชนก้าวหน้า สู้เพื่อทำลายระบบฟาซิสต์เผด็จการ และสู้เพื่อเสรีภาพกับความเท่าเทียม คนจำนวนมากสู้เพื่อสังคมนิยมอีกด้วย ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกอย่างผิวเผิน เราอาจมองไม่เห็นว่าสงครามของประชาชน กับสงครามของชนชั้นปกครองในประเทศพันธมิตรต่างกันเท่าไร

แต่ฝ่ายชนชั้นปกครองทุนนิยมตลาดเสรีในอังกฤษ สหรัฐ กับฝรั่งเศส และชนชั้นปกครอง “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในเผด็จการคอมมิวนิสต์รัสเซีย สู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและจักรวรรดินิยมเท่านั้น อย่างไรก็ตามในการปลุกระดมมวลชนให้รบในกองทัพของรัฐบาล ชนชั้นปกครองต้องใช้วาจาในการสร้างภาพว่าสงครามนั้นเป็น “สงครามต้านฟาสซิสต์เพื่อเสรีภาพ” ในขณะเดียวกันผู้นำฝ่ายพันธมิตรคือ โรสเวลต์ เชอร์ชิล และสตาลิน เคยแสดงความพร้อมในอดีตที่จะทำข้อตกลงจับมือกับฟาสซิสต์

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นสิบปีก่อนสงคราม เพิ่มความแตกแยกระหว่างมหาอำนาจต่างๆ และนำไปสู่การแย่งชิงพื้นที่อิทธิพลมากขึ้น เพราะวิกฤตเศรษฐกิจกดดันให้รัฐบาลต่างๆ สร้างกำแพงเพื่อปกป้องกลุ่มทุนของตนเอง และตลาดของตนเอง จากการแข่งขันกับต่างชาติ และในสถานการที่ต่างฝ่ายต่างพยายามขยายพื้นที่อิทธิพล ก็ย่อมมีการปะทะกัน โดยเฉพาะในกรณีที่เยอรมันเกือบจะไม่มีอาณานิคมเลยและต้องการขยายพื้นที่

รัฐบาล นาซี ในเยอรมันต้องการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยังเกรงกลัวว่าถ้าขูดรีดแรงงานภายในประเทศมากเกินไป คนงานเยอรมันจะลุกขึ้นสู้อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้นมีวิธีเดียวคือ ต้องพยายามแย่งพื้นที่จากประเทศอื่นในยุโรป และมีการเกณฑ์แรงงานต่างชาติไปทำงานในสภาพที่ย่ำแย่กว่าแรงงานเยอรมัน

ในเอเชียตะวันออก รัฐบาลเผด็จการของญี่ปุ่นก็ทำเช่นกัน โดยยึดพื้นที่ในแผ่นดินใหญ่จีน เกาะไต้หวัน กับแหลมเกาหลี หลังจากนั้นก็เลงไปที่อาณานิคมของฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลแลนด์ กับ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นอาณานิคมสหรัฐ

ในอิตาลี่ เผด็จการมุสโสลีนี ก็พยายามยึดพื้นที่ในอัฟริกา เช่น อีทิโอเบีย โซมาเลีย และลิบเบีย เป็นต้น

อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม กับสหรัฐ ไม่แน่ใจว่าจะรับมืออย่างไร ชนชั้นปกครองสองจิตสองใจว่าควรจะเผชิญหน้าปะทะกับเยอรมันหรือไม่ และยิ่งกว่านั้นประเทศเหล่านี้แข่งขันกันเองอีกด้วย ฝรั่งเศสกับอังกฤษเป็นคู่แข่งกันมานาน และสหรัฐต้องการชิงความเป็นใหญ่จากอังกฤษในหลายพื้นที่

โดยทั่วไปแล้วชนชั้นปกครองอังกฤษและฝรั่งเศส แยกเป็นสองส่วน ระหว่างกลุ่มที่อยากจะประนีประนอมกับ ฮิตเลอร์ และกลุ่มที่มองว่าต้องเผชิญหน้าปะทะกัน นอกจากนี้ทั้งสองซีกมองว่ารัสเซียยังเป็นภัยมากกว่าพวกฟาสซิสต์ เพราะอย่างน้อยฟาสซิสต์สามารถกีดกันการปฏิวัติของคนชั้นล่างได้

ในอังกฤษ ซีกของชนชั้นปกครองที่มองว่า “ยอมไม่ได้” ต้องสู้กับเยอรมัน มีอิทธิพลมากที่สุด และมีผู้นำชื่อ วินสตัน เชอร์ชฮิล แต่ เชอร์ชฮิล ไม่ได้ต้าน ฮิตเลอร์ เพราะคัดค้านระบบฟาสซิสต์ เขาต้าน ฮิตเลอร์ เพราะเขาอยากปกป้องอาณานิคมและความเป็นใหญ่ของอังกฤษต่างหาก

ในไม่ช้ากองทัพของ ฮิตเลอร์ สามารถยึดพื้นที่จำนวนมากในยุโรปตะวันตก รวมถึงฝรั่งเศส และกองทัพอังกฤษต้องถอยทัพกลับอังกฤษ สถานการณ์ย่ำแย่ของอังกฤษมาจากการที่ชนชั้นปกครองสองจิตสองใจมานานว่าจะสู้หรือประนีประนอม

ในกรณีสหรัฐ ตอนแรก โรสเวลท์ หวังว่าสงครามในยุโรปจะเปิดโอกาสให้สหรัฐเข้าไปมีอิทธิพลในพื้นที่เก่าของมหาอำนาจยุโรป โดยที่สหรัฐไม่ต้องร่วมในสงคราม เพียงแต่ขายอาวุธให้อังกฤษก็พอ แต่พอเกิดการปะทะกับญี่ปุ่น สหรัฐตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโดยตรง

world-war-ii-china-1943-granger

     ในรัสเซีย สตาลิน ไม่อยากทำสงครามกับ ฮิตเลอร์ และพยายามทำข้อตกลงสันติภาพ แต่พอ ฮิตเลอร์ ทำลายข้อตกลงด้วยการส่งทหารไปบุกรัสเซีย เขาไม่มีทางเลือก และการทำสงครามของ สตาลิน ทำในนามของ “ความรักชาติ” และ “การปกป้องมาตุภูมิ” เป็นหลัก

การล้างเผ่าพันธ์

ในการพิจารณาว่าทำไมพวกนาซีมีพฤติกรรมป่าเถื่อนที่สุด จนตั้งใจฆ่าล้างเผ่าพันธ์คนยิว 6 ล้านคน และคน “ยิบซี” กับคนพิการอีกจำนวนมาก เราต้องหาเหตุผล แน่นอนคนอย่าง ฮิตเลอร์ เป็นคนหัวรุนแรงสุดขั้วที่ไม่มีสำนึกถึงความผิดหรือถูกเลย แต่นั้นเป็นคำอธิบายไม่เพียงพอ เพราะการเริ่มโครงการล้างเผ่าพันธ์นั้น เริ่มขึ้นในช่วงที่กองทัพเยอรมันมีปัญหาในการสู้รบหลายด้าน โดยเฉพาะในการรบกับรัสเซีย มันไม่สมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจหรือการทหารเลย

ฮิตเลอร์ทราบดีจากประสบการณ์ในอดีตว่าการปลุกกระแสเกลียดชังและทำร้ายคนยิว มีผลจำกัดในหมู่ประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้บ้าเลือด เพราะคนเยอรมันไม่ได้เกลียดคนยิว “เป็นธรรมชาติ” แต่การตัดสินใจฆ่าล้างเผ่าพันธ์ กระทำไปเพื่อตอกย้ำลัทธินาซีให้สมาชิกพรรค โดยเฉพาะวงใน และทำไปเพื่อกระตุ้นแกนนำในพรรค พวกคลั่งลัทธินาซี ให้กระตือรือร้นมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เยอรมันกำลังแพ้สงคราม ในขณะเดียวกัน กลุ่มทุนใหญ่อย่างเช่น ครุปส์, ไอ จี ฟาร์เบน และกลุ่มอ่นๆ ก็ร่วมมืออย่างเต็มที่กับพรรคนาซีของ ฮิตเลอร์

สิ่งที่เกิดขึ้นในเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง พิสูจน์คำพูดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เคยพูดว่า “ถ้าไม่เกิดสังคมนิยม ก็จะเกิดความป่าเถื่อน”

การลุกฮือต่อสู้ และการหักหลังการต่อสู้โดยมหาอำนาจ

ทั้งๆ ที่ชนชั้นปกครองในประเทศมหาอำนาจพันธมิตรอ้างว่าสงครามนี้เป็น “สงครามต่อต้านฟาสซิสต์” และ “สงครามปลดแอก” แต่พฤติกรรมของผู้นำรัฐบาลตอนท้ายของสงครามบ่งบอกถึงวัตถุประสงค์อื่น

71350-004-75E35FF9

     ในการประชุมนัดพบกันระหว่าง เชอร์ชฮิล สตาลิน และ โรสเวลท์ มีการตกลงกันเพื่อแบ่งโลกระหว่างซีกที่จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตก กับซีกที่จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย เช่น เชอร์ชฮิล เล่าว่าเคยมีเศษกระดาษที่ เชอร์ชฮิล ยื่นให้ สตาลิน ในการประชุมปี 1944 ที่เมือง มอสโก ที่ เชอร์ชฮิล เขียนไว้ว่า “โรเมเนีย – รัสเซียคุม 90%, กรีซ – อังกฤษคุม 90% และยูโกสลาเวีย 50:50” สตาลินอ่านกระดาษเสร็จก็กาด้วยเครื่องหมาย “ถูก” แล้วส่งกลับ ข้อตกลงแบบนี้ระหว่างรัสเซียกับอังกฤษและสหรัฐ มีผลมหาศาลกับการต่อสู้ของกองกำลังปลดแอกคอมมิวนิสต์ในหลายพื้นที่

ในกรีซ ซึ่งถูกยึดครองโดยอิตาลี่กับเยอรมัน โดยมีรัฐบาลเผด็จการภายใต้กษัตริย์กรีซร่วมมืออยู่ด้วย พรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทหลักในขบวนการกู้ชาติ EAM-ELAS และในปลายปี 1944 ขบวนการนี้คุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ แต่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกสั่ง โดย สตาลิน ให้ยอมจำนนต่ออังกฤษ เพื่อให้กองทัพอังกฤษยึดเมืองอาเทนส์ หลังจากนั้นอังกฤษพยายามรื้อฟื้นเผด็จการฝ่ายขวาและกษัตริย์ และมีการปราบปรามคอมมิวนิสต์ จนในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีทางเลือกนอกจากจะสู้ในสงครามกลางเมือง แต่การยอมต่ออังกฤษในขั้นตอนแรกทำให้เสียเปรียบ ฝ่ายขวาในกรีซได้รับอาวุธและการสนับสนุนทางการเมืองจากสหรัฐด้วย ซึ่งทำให้คอมมิวสนิสต์แพ้สงครามกลางเมืองในที่สุด กรีซตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการและกึ่งเผด็จการของฝ่ายขวาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีจนนักศึกษาจุดประกายลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทหาร และในการต่อสู้ครั้งนั้นของนักศึกษากรีซ มีการตะโกน “ประเทศไทย ประเทศไทย” เพราะนักศึกษาได้กำลังใจจากการล้มเผด็จการทหารในไทยในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ปีเดียวกัน

ในอิตาลี่ พรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทสำคัญในขบวนการกู้ชาติจากอำนาจฟาสซิสต์เช่นกัน และขบวนการนี้ประกอบไปด้วยสามส่วนคือ นักรบในชนบท นักรบในเมือง และขบวนการแรงงาน การต่อสู้เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมปี 1943 เมื่อมีการนัดหยุดงานของคนงานเป็นแสนในเมือง ตูริน ทางเหนือของอิตาลี่ พอถึงต้นเดือนกรกฏาคม ทหารสหรัฐกับอังกฤษเริ่มบุกขึ้นมาทางใต้ หลายส่วนของชนชั้นปกครองอิตาลี่ตัดสินใจเขี่ย มุสโสลีนี ออกไป เพื่อเอาตัวรอด แต่กองทัพเยอรมันเข้ามายึดอิตาลี่ทางเหนือแทน และแต่งตั้ง มุสโสลีนี อีกครั้ง ในช่วงนี้กองกำลังกู้ชาติติดอาวุธขยายตัวอย่างรวดเร็วจนคาดว่ามีกำลังทั้งหมด 100,000คน และในต้นปี 1944 มีการนัดหยุดงานของคนงานหลายแสนในเมืองต่างๆ เพื่อประท้วงความโหดร้ายทารุณของรัฐบาลอีด้วย

ท่ามกลางการลุกสู้เพื่อปลดแอกประเทศ คนส่วนใหญ่ในอิตาลี่มองว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถอนรากถอนโคน พรรคคอมมิวนิสต์ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากสมาชิก 5,000 คนในมิถุนายน 1943 เป็น 410,000 คนในเดือนมีนาคม 1945 แต่ในเดือนกันยายน 1944 รัฐมนตรีต่างประเทศของ สตาลิน ชื่อ ลิดวีนอฟ ฟันธงกับผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐในอิตาลี่ว่า “เราไม่ต้องการเห็นการปฏิวัติในตะวันตก” และก่อนหน้านั้นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี่ ทอกลีแอตี้ ประกาศว่าพรรคจะสนับสนุนรัฐบาลฝ่ายขวา

หลังจากสงครามจบลง อิตาลี่อาจมีรูปแบบของประชาธิปไตยรัฐสภา แต่โครงสร้างรัฐในหลายส่วน เช่นตำรวจและหน่วยราชการลับ ไม่ได้เปลี่ยนจากสมัยฟาสซิสต์ ซึ่งเห็นชัดเมื่อตำรวจลับทำงานร่วมกับกลุ่มฟาสซิสต์ในการวางระเบิดในยุค 1970 เพื่อพยายามสร้างสถานการณ์ให้มีการทำรัฐประหาร

ในฝรั่งเศส กองกำลังกู้ชาติมีสองซีก คือซีกของนักการเมืองทุนนิยมภายใต้นายพล ชาร์ลส์ เดอร์โกล (ซึ่งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีภายหลังสงคราม) และซีกของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมาร่วมสู้กับเยอรมันหลังจากที่ข้อตกลงสันติภาพระหว่าง ฮิตเลอร์ กับ สตาลิน กลายเป็นโมฆะในปี 1941 อังกฤษสนับสนุนกลุ่มของ เดอร์โกล แต่ตอนแรกสหรัฐไม่ยอมรับ และพยายามหาทางเจรจากับผู้นำฝ่ายขวาฝรั่งเศสที่ประนีประนอมกับฮิตเลอร์

เมื่อกองกำลังกู้ชาติฝรั่งเศสยึดเมืองปารีสจากเยอรมันได้ในปี 1944 ทุกคนทราบดีว่าอิทธพลหลักในกองกำลังนี้คือพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ประเด็นคือพรรคจะใช้อิทธิพลนี้ในการยึดอำนาจหรือจะประนีประนอมกับฝ่ายขวา? ปรากฏว่าข้อตกลงของ สตาลิน ที่ทำไว้กับผู้นำตะวันตก เป็นหลักประกันว่าพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสจะไม่ยึดอำนาจ และหลายส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจชั้นสูง ก็ถือตำแหน่งอย่างต่อเนื่องระหว่างสมัยรัฐบาลฟาสซิสต์จนถึงรัฐบาลหลังสงคราม และรัฐฝรั่งเศสก็ใช้นโยบายทำสงครามในอาณานิคม อย่างเช่น อัลจีเรีย และเวียดนาม เพื่อปกป้องผลประโยชน์เดิม ในกรณีเวียดนาม กว่าประเทศนั้นจะได้อิสรภาพ ต้องต่อสู้กับฝรั่งเศสและสหรัฐเป็นเวลาอีก 30 ปี

ในมาลายู ตอนท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ขบวนการกู้ชาติภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถเอาชนะญี่ปุ่นและคุมส่วนใหญ่ของประเทศได้ แต่นโยบายการยอมจำนนของพรรคคอมมิวนิสต์ เปิดโอกาสให้อังกฤษกลับมา และในที่สุดอังกฤษก็ลงมือปราบพรรคคอมมิวนิสต์

มีนักประวัติศาสตร์หลายคนตั้งคำถามว่าพรรคคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่างๆ สามารถยึดอำนาจได้หรือไม่ คำตอบคือ พรรคเหล่านั้นใน กรีซ อิตาลี่ ฝรั่งเศส หรือมาลายู มีอำนาจเพียงพอที่จะทำการปฏิวัติ แต่เลือกที่จะไม่ทำภายใต้นโยบายของ สตาลิน โลกในยุคท้ายสงคราม มีบรรยากาศที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการยึดอำนาจของฝ่ายซ้าย เพราะทหารธรรมดาของตะวันตก ไม่อยากรบต่อ และมีทัศนะที่มองคอมมิวนิสต์ในแง่ดีด้วย ดังนั้นรัฐบาลตะวันตกจะไม่สามารถปราบปรามได้ง่ายๆ

ที่ ยูโกสลาเวีย ที่เดียว กองกำลังและขบวนการกู้ชาติของพรรคคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของ ทีโท สามารถยึดอำนาจและตั้งประเทศอิสระได้ โดยที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตก หรือของรัสเซีย นี่คือสาเหตุที่ ยูโกสลาเวีย แตกกับรัสเซียตั้งแต่ปี 1948 และสามารถรักษาความเป็นกลางเป็นเวลา 40 ปี

ในซีกโลกที่อยู่ภายใต้อิทธิพลรัสเซีย ตามข้อตกลงระหว่างมหาอำนาจ กองทัพของสตาลินสามารถปราบปรามผู้ที่ต้องการกู้ชาติหรือล้มเผด็จการในประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันออกได้ โดยที่มหาอำนาจตะวันตกไม่ทำอะไร นอกเหนือจากการวิจารณ์ด้วยวาจาที่ไร้ความหมาย

hiroshima

     ในญี่ปุ่นสหรัฐรีบทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สองลูก ซึ่งทำให้พลเรือนล้มตายจำนวนมาก และมีผลร้ายจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้เพื่อยึดญี่ปุ่นก่อนที่กองทัพรัสเซียจะมาถึง และเพื่อพิสูจน์แสนยานุภาพของสหรัฐต่อชาวโลก ซึ่งจะมีความสำคัญในการเบ่งอำนาจของสหรัฐในช่วงหลังสงคราม นับว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนของสหรัฐ ซึ่งคงป่าเถื่อนพอๆ กับพฤติกรรมของรัฐบาลเผด็จการญี่ปุ่นต่อประชาชนจีนและประชาชนในเอเชียตะวันออกโดยทั่วไป

สรุปแล้วแต่ละฝ่ายใช้เวลารบกันในสงครามโลกครั้งที่สองห้าปี คือระหว่าง 1940-1945