Tag Archives: สงคราม

จีนกับสหรัฐ ความขัดแย้งจักรวรรดินิยม เราไม่ควรเลือกข้าง

การเยือนเกาะไต้หวันเมื่อต้นเดือนสิงหาคมของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และนักการเมืองที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสามของสหรัฐ เป็นการตั้งใจที่จะยั่วยุท้าทายประเทศจีนท่ามกลางความขัดแย้งจักรวรรดินิยม

สำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ คำว่า “จักรวรรดินิยม” ที่ เลนิน เคยนิยามว่าเป็น “ขั้นตอนสูงสุดของระบบทุนนิยม” ไม่ได้หมายถึงแค่ประเทศใดประเทศเดียว ทั้งๆ ที่เรามักจะได้ยินคำว่า “จักรวรรดินิยมสหรัฐ” แต่จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบ” คือเป็นระบบความขัดแย้งระหว่างรัฐทุนนิยมทั่วโลก โดยที่บางประเทศ ประเทศมหาอำนาจ จะมีอำนาจสูง และประเทศเล็กๆจะมีอำนาจน้อย อำนาจดังกล่าวมาจากความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและทางทหารซึ่งนำไปสู่อำนาจทางการทูตด้วย

เรื่องเศรษฐกิจกับการทหารแยกออกจากกันไม่ได้ สิ่งที่ เลนิน เคยอธิบายไว้คือ เวลาทุนนิยมพัฒนา กลุ่มทุนใหญ่กับรัฐมักจะผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น เพราะกลุ่มทุนในประเทศหนึ่งๆ มักจะอาศัยอำนาจทางทหารและการเมืองของรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ และในขณะเดียวกันรัฐต้องอาศัยพลังทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนและการเก็บภาษีจากกลุ่มทุนดังกล่าวเพื่อเป็นรายได้ของรัฐ สถานการณ์แบบนี้ยังดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ ทั้งๆ ที่มีบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจทั่วโลก แต่จริงๆ แล้วบริษัทข้ามชาติยิ่งต้องพึ่งพาอาศัยรัฐในการปกป้องผลประโยชน์เวลาทำธุรกิจข้ามพรมแดนท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างบริษัทต่างๆ มันไม่ใช่ว่าบริษัทข้ามชาติสามารถหนีพรมแดนรัฐชาติหรือรัฐชาติมีความสำคัญน้อยลง อย่างที่นักวิชาการบางคนเสนอ

จักรวรรดินิยมจึงเป็นระบบหรือเครือข่ายการแข่งขันกันทั่วโลกระหว่างรัฐ-ทุนประเทศหนึ่งกับรัฐ-ทุนอื่นๆ และจะออกมาในรูปแบบการพยายามเอาชนะคู่แข่งทางเศรษฐกิจและทหาร บางครั้งจึงเกิดสงคราม ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมระบบทุนนิยมเป็นต้นกำเนิดของสงครามเสมอ

มหาอำนาจในโลกปัจจุบัน มีสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรปในอียู จีน และรัสเซีย และมีประเทศมหาอำนาจย่อยๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละประเทศก็จะพยายามสร้างอำนาจต่อรองของตนเองในการแข่งขันทั่วโลก ชนชั้นนำอังกฤษยังฝันว่าอังกฤษเป็นมหาอำนาจ แต่แท้จริงถ้าอังกฤษจะมีอิทธิพลในโลกก็ต้องเกาะติดสหรัฐเหมือนลูกน้อง เราเห็นสภาพแบบนี้ในสงครามอิรัก และประเทศเจ้าอาณานิคมเก่าอื่นๆ เช่นฝรั่งเศสหรือฮอลแลนด์ก็ต้องรวมตัวกับเยอรมันในสหภาพยุโรป (อียู)ถึงจะมีอำนาจในเวทีโลกได้

หลายคนเข้าใจผิดว่าจักรวรรดินิยมมีแค่สหรัฐอเมริกา แต่จีนกับรัสเซียก็เป็นมหาอำนาจในระบบจักรวรรดินิยมด้วย และทั้งจีนกับรัสเซียเป็นประเทศทุนนิยมที่กดขี่ขูดรีดแรงงานของตน และสร้างกองทัพเพื่อข่มขู่ประเทศอื่นๆ ไม่ต่างจากสหรัฐ ดังนั้นเราชาวมาร์คซิสต์จะไม่มีวันเข้าข้างประเทศหรือชนชั้นปกครองของจีน หรือรัสเซีย โดยหลงคิดว่าการต้านสหรัฐโดยรัสเซียหรือจีนเป็นสิ่ง “ก้าวหน้า” มันไม่ใช่เลย คนที่คิดแบบนี้เป็นแค่คนที่ต้องการพึ่งนักเลงกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อต้านนักเลงอีกกลุ่มเท่านั้น มันไม่นำไปสู่เสรีภาพหรือการปลดแอกแต่อย่างใด และมันเป็นการมองข้ามพลังของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อไปเชียร์ชนชั้นปกครอง

กลับมาเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนและเรื่องเกาะไต้หวัน เมื่อแนนซี เพโลซี ตั้งใจท้าทายจีนด้วยการเยือนเกาะไต้หวัน จีนก็โต้ตอบด้วยการประกาศว่าถ้าจีนอยากบุกยึดเกาะไต้หวัน จีนก็ทำได้เสมอ นอกจากนี้มีการสำแดงพลังกันทั้งสองฝ่ายด้วยการส่งเครื่องบินรบและเรือรบไปท้าทายอีกฝ่ายในเชิงสัญลักษณ์ และสหรัฐพยายามสร้างแนวร่วมทางทหารเพื่อต้านจีน (The Quad) ที่ประกอบไปด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น กับสหรัฐ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็น “นาโต้เอเชีย”

รัฐบาลสหรัฐเริ่มหันไปให้ความสนใจกับเอเชียอีกครั้งหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงตั้งแต่ยุคของโอบามา โอบามาเปลี่ยนนโยบายระหว่างประเทศโดยการหันไปทางตะวันออก และกำหนดให้ 60% ของกองกำลังทหารสหรัฐหันหน้าไปทางจีน

ถ้าเราเข้าใจนโยบายของสหรัฐตรงนี้เราจะเข้าใจได้ว่าในกรณีสงครามยูเครน สหรัฐกับนาโต้หนุนรัฐบาลยูเครนด้วยอาวุธ เพื่อทำลายหรือลดอำนาจของรัสเซีย โดยที่เป้าหมายหลักอยู่ที่การพิสูจน์ความเข้มแข็งของสหรัฐและนาโต้ให้จีนดู นั้นคือสิ่งที่สะท้อนว่าระบบจักรวรรดินิยมมันครอบคลุมโลกและเชื่อมโยงจุดต่างๆ เข้าด้วยกัน และความก้าวร้าวของสหรัฐทั้งในยุโรปและเอเชียตอนนี้ มาจากความกลัวของสหรัฐว่าอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น สหรัฐจึงพึ่งอำนาจทางทหารมากขึ้น

ในทศวรรษที่80 จีนเป็นเศรษฐกิจที่เล็กถ้าเทียบกับส่วนอื่นๆ ของโลก คือแค่2%ของเศรษฐกิจโลก แต่การขยับสู่กลไกตลาดและการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน นำไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในอุตสาหกรรมส่งออก 60% เป็นทุนเอกชน แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ บ่อยครั้งเศรษฐีใหญ่ของจีนเป็นลูกหลานญาติพี่น้องของผู้ดำรงตำแหน่งสูงในพรรคคอมมิวนิสต์อีกด้วย ในปี 2011 ชนชั้นปกครองจีนแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาที่ประกอบไปด้วยเศรษฐีรวยที่สุด70คน ในขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำในสังคมก็พุ่งสูงขึ้น มันไม่ใช่ว่ากรรมาชีพจีนคุมการเมืองหรือรัฐแต่อย่างใด

การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเปิดโอกาสให้รัฐบาลขยายกำลังทหารและอาวุธอย่างรวดเร็วจ จาก20พันล้านดอลลาร์ในปี 1989 เป็น 266พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 แต่งบประมาณทางทหารของจีนเทียบเท่าแค่ 1/3ของงบประมาณสหรัฐ จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินแค่ 2 ลำ ในขณะที่สหรัฐมี 11 ลำ

ตอนนี้จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกและเป็นอำนาจทางทหารที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองด้วย เราจึงไม่แปลกใจที่ชนชั้นปกครองสหรัฐมองว่าจีนคือคู่แข่งหลักในเวทีโลกซึ่งเป็นเวทีจักรวรรดินิยม พร้อมกันนั้นสหรัฐและแนวร่วมก็เปิดศึกทางการทูตด้วยการวิจารณ์จีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นกรณีชาวอุยกูร์หรือกรณีฮ่องกง และทั้งๆ ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในสองกรณีนี้จริง แต่สหรัฐและประเทศตะวันตกไม่เคยจริงใจในการปกป้องสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ดูได้จากการที่ตำรวจสหรัฐฆ่าคนผิวดำ หรือการที่สหรัฐปกป้องและสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอิสราเอลเป็นต้น

ถ้าดูกรณีไทย การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำลายประชาธิปไตยของพวกทหารเผด็จการ อาจถูกวิจารณ์อย่างอ่อนๆจากสหรัฐ แต่ล้วนแต่เป็นเรื่องนามธรรม เพราะรัฐบาลสหรัฐยังร่วมมือทางทหารกับไทย ส่วนเผด็จการจีนก็ไม่สนใจเรื่องแบบนี้ ทั้งจีนกับสหรัฐสนใจจะดึงรัฐบาลไทยมาเป็นพรรคพวกมากกว่าเรื่องอุดมการณ์

อย่างไรก็ตามในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ รัฐและกลุ่มทุนทั้งแข่งขันและร่วมมือกันพร้อมๆ กัน มาร์คซ์ เคยเขียนเรื่องความขัดแย้งดังกล่าวว่าพวกนายทุนเป็น “พี่น้องที่ตีกันอย่างต่อเนื่อง”

ในด้านเศรษฐกิจ ไต้หวันผูกพันกับจีนโดยที่ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตชิปคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุด และชิ้นส่วนดังกล่าวใช้ในการประกอบคอมพิวเตอร์ที่จีน เพื่อส่งออกให้ตะวันตกและส่วนอื่นของโลก และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีนไปสู่สหรัฐมีความสำคัญกับทั้งจีนและสหรัฐ ยิ่งกว่านั้นเงินรายได้ของจีนจากการส่งออกก็ถูกนำไปลงทุนในสหรัฐอีกด้วย นอกจากนี้ทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งสำคัญระหว่างจีนกับสหรัฐ เป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จีนกับสหรัฐผูกพันกันทางเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่ได้แปลว่าไม่มีความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และทหาร และไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดสงคราม ไม่ได้แปลว่าโลกไม่ได้เสี่ยงจากการปะทะกันทางอาวุธ เพราะถ้าเกิดสถานการณ์ที่เพิ่มความตึงเคลียดและทั้งสองฝ่ายไม่ยอมถอยโดยมองว่าอีกฝ่ายจะขยายอิทธิพลและท้าทายผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง อย่างที่เราเห็นในกรณียูเครน ก็เกิดสงครามได้ และสงครามดังกล่าวเสี่ยงกับการขยายไปสู่สงครามนิวเคลียร์อีกด้วยเพราะจะเป็นสงครามระหว่างมหาอำนาจโดยตรง

มันไม่จบอยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความขัดแย้งเรื่องเกาะต่างๆ และพื้นที่ทะเล และรัฐบาลต่างๆ กำลังสะสมอาวุธอย่างเร่งด่วน เราเห็นว่าในไทยกองทัพเรือประกาศว่าจะต้องซื้อเรือดำน้ำเพื่อแข่งกับประเทศรอบข้าง

แล้วเรื่องไต้หวัน เราจะเข้าใจประเด็นการเมืองและหาจุดยืนอย่างไร?

ในปี 1949 เหมาเจ๋อตุงนำการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปสู่ชัยชนะ แต่การปฏิวัติครั้งนั้นไม่ใช่การปฏิวัติสังคมนิยมแต่อย่างใด เพราะไม่ได้นำโดยชนชั้นกรรมาชีพเลย นำโดยกองทัพแดงแทน มันเป็นการปฏิวัติ “ชาตินิยม” ที่ปลดแอกจีนจากอิทธิพลของญี่ปุ่นและตะวันตก และมันนำไปสู่การสร้างระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”

เจียง ไคเชก กับ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์

หลังการปฏิวัติจีนพรรคก๊กมินตั๋ง (หรือ “กั๋วหมินต่าง”) ของเจียง ไคเชก คู่ขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้หนีไปอยู่บนเกาะไต้หวันและปกครองเกาะด้วยเผด็จการทหาร ตอนนั้นกองทัพจีนยังไม่เข้มแข็งพอที่จะยึดเกาะ และในช่วงสงครามเย็นสหรัฐอเมริกาก็เข้ามาหนุนเจียง ไคเชก แต่เวลาผ่านไปหลายสิบปี การต่อสู้ของกรรมาชีพและประชาชนในไต้หวันท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจ สามารถล้มเผด็จการและขยายพื้นที่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ และกรรมาชีพเริ่มมีสิทธิเสรีภาพพอๆ กับประเทศทุนนิยมตะวันตก

อย่างไรก็ตามเกาะไต้หวันและประชาชนกลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งระหว่างจีนที่อ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และสหรัฐที่ต่อต้านการขยายตัวของจีน แน่นอนประชาชนในไต้หวันเป็นคนเชื้อสายจีน แต่ถ้ารัฐบาลจีนเข้ามายึดเกาะ สิทธิเสรีภาพที่เคยได้มาจากการต่อสู้ของประชาชนก็จะถูกทำลายโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคการเมืองกระแสหลักของไต้หวันแบ่งเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายที่มองว่าน่าจะค่อยๆ รวมชาติกับจีน และฝ่ายที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระ อย่างไรก็ตามทั้งสองพรรคนี้ไม่ได้ยึดถือประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพเป็นหลัก และที่สำคัญคือถ้าไต้หวันจะเป็นประเทศอิสระก็จะเป็นอิสรภาพจอมปลอมภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ

ทางออกสำหรับประชาชนและกรรมาชีพไต้หวันจากการเป็นเหยื่อของความขัดแย้งจักรวรรดินิยม คือกรรมาชีพและนักสังคมนิยมไต้หวันจะต้องสมานฉันท์กับกรรมาชีพบนแผ่นดินใหญ่จีนในการต่อสู้กับชนชั้นปกครองจีน เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ไม่ใช่ทุนนิยม โดยไม่หวังพึ่งสหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้กรรมาชีพจีนอยู่ในสภาพความขัดแย้งทางชนชั้นกับรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบัน

ท่ามกลางความขัดแย้งจักรวรรดินิยมระหว่างจีนกับสหรัฐ ฝ่ายซ้ายทั่วโลกมีจุดยืนที่แตกต่างกัน แบ่งได้เป็นสามจุดยืนคือ

  1. พวกที่แก้ตัวแทนจีน โดยอ้างว่าจีน “ก้าวหน้า” กว่าสหรัฐ อ้างว่าจีนยังเป็นสังคมนิยม และอ้างว่าจีนไม่ใช่จักรวรรดินิยม พวกนี้เป็นพวกที่ปิดหูปิดตาถึงลักษณะทุนนิยมของจีน การกดขี่ขูดรีดกรรมาชีพของชนชั้นปกครองจีน และการที่รัฐบาลจีนเบ่งอำนาจกับฮ่องกง ทิเบต ไต้หวัน ฝ่ายซ้ายพวกนี้เป็นพวกที่เลือกเข้าข้างโจรกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อต้านโจรอีกกลุ่มหนึ่ง โดยลืมว่าพลังหลักที่จะผลักดันสังคมให้ก้าวหน้าและล้มทุนนิยมคือชนชั้นกรรมาชีพ จีนไม่เคยเป็นสังคมนิยม และเมื่อทุนนิยมโดยรัฐพัฒนาเศรษฐกิจจีนได้ ก็มีการหันหน้าออก เน้นกลไกตลาด และใช้พลังทางเศรษฐกิจเพื่อบุกเข้าไปแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งอาศัยการขูดรีดแรงงานหนักขึ้น
  2. พวกฝ่ายซ้ายที่เชียร์ตะวันตก เพราะมองว่า “ไม่แย่เท่าจีน” พวกนี้มองแค่เปลือกภายนอกของระบบประชาธิปไตย และสภาพแรงงานในตะวันตกเท่านั้น ซึ่งแน่นอนการมีประชาธิปไตย สิทธิแรงงาน และรัฐสวัสดิการในบางประเทศ (ไม่ใช่สหรัฐ) เป็นเรื่องสำคัญที่จับต้องได้ แต่แค่นั้นไม่พอที่จะทำให้เรา “เลือกนาย” จากชนชั้นปกครองตะวันตก และเราต้องไม่ลืมด้วยว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจตะวันตกที่มีกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนำไปสู่การก่อสงครามจักรวรรดินิยมโดยสหรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ซึ่งกองทัพดังกล่าว หรือแนวร่วมทหารของนาโต้ ไม่เคยมีประโยชน์อะไรเลยกับกรรมาชีพในตะวันตก ตรงกันข้ามมันนำไปสู่การเพิ่มงบประมาณทางทหารในขณะที่มีการตัดงบประมาณสาธารณสุขหรือรัฐสวัสดิการ และมันนำไปสู่การเกณฑ์กรรมาชีพไปล้มตายในสงครามเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน
  3. ฝ่ายซ้ายที่ยังไม่ลืมจุดยืนมาร์คซิสต์และจุดยืนสากลนิยม จะมองว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยม โดยที่จีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ในโลกปัจจุบัน นักมาร์คซิสต์มองว่ากรรมาชีพไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฝ่าย “ของเรา” คือกรรมาชีพในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐ ยุโรป หรือไทย และชนชั้นกรรมาชีพโลกนี้มีพลังซ่อนเร้นที่จะล้มระบบทุนนิยมและระบบจักรวรรดินิยม

ในระบบจักรวรรดินิยมปัจจุบัน ในรอบ20ปีที่ผ่านมา แทนที่เราจะเห็นแค่สหรัฐเบ่งอำนาจกับประเทศเล็กๆ เราเห็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจโดยตรง ซึ่งเสี่ยงกับการเกิดสงครามใหญ่มากขึ้นอย่างน่ากลัว แต่ที่สำคัญคือความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยมมีต้นกำเนิดจากวิกฤตของระบบทุนนิยมที่มีหลายรูปแบบเช่น วิกฤตโลกร้อน วิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาเงินเฟ้อ

เราชาวสังคมนิยมจะต้องขยันในการเปิดโปงและวิจารณ์ระบบทุนนิยมและระบบจักรวรรดินิยม ต้องเข้าใจและเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เพื่อปลุกระดมมวลชนให้เห็นภาพจริงและออกมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของกรรมาชีพทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านสงคราม การสนับสนุนการนัดหยุดงานเพื่อค่าจ้างเพิ่ม การประท้วงโลกร้อน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และในที่สุดการต่อสู้เพื่อล้มทุนนิยมและสร้างสังคมนิยม ภาระงานอันยิ่งใหญ่นี้ย่อมทำไม่ได้ถ้าเราไม่พยายามสร้างพรรคปฏิวัติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

เงินเฟ้อกับค่าจ้างเกี่ยวข้องกันหรือไม่?

ทุกวันนี้นักการเมือง นายธนาคาร และนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มักอ้างว่ากรรมาชีพไม่ควรเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มเพราะจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ ข้ออ้างนี้ล้วนแต่เป็นเท็จ และมาจากความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนบนสันหลังชนชั้นกรรมาชีพ จะขออธิบายเหตุผลเป็นข้อๆ

  1. เงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในยุคนี้ ไม่ว่าจะที่ไทย ที่ยุโรป หรือที่อื่นๆ เกิดขึ้นจากสองเหตุผลหลักๆคือ หนึ่งวิกฤตโควิด ซึ่งทำให้คนงานต้องขาดงานไปเป็นเดือนๆ มีผลในการสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก และสร้างปัญหาในระบบขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและภายในประเทศอีกด้วย (Supply Chain problems) ปัญหานี้ทำให้สินค้าหลายชนิดขาดตลาด แต่การที่สินค้าขาดตลาดไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติด้วย“มือที่มองไม่เห็น”แต่อย่างใด มือที่มองไม่เห็นไม่มีจริงและเป็นนิยายของชนชั้นปกครองเพื่อปกปิดสิ่งที่นายทุนทำ ในความจริงราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเพราะนายทุนฉวยโอกาสจากการที่สินค้าขาดตลาดเพื่อเพิ่มราคา โดยหวังจะเพิ่มกำไร ถ้าสินค้าขาดตลาด นายทุนคงไว้ราคาเดิมได้ ดังนั้นเงินเฟ้อยุคนี้มาจากพฤติกรรมของนายทุน

สอง สงครามระหว่างจักรวรรดินิยมในพื้นที่ยูเครน ซึ่งเกิดจากการรุกรานของรัสเซียเพื่อพยายามยับยั้งการขยายตัวของแนวร่วมทางทหารของตะวันตก (นาโต้) สงครามนี้นำไปสู่การทำสงครามทางเศรษฐกิจด้วย ตะวันตกพยายามทำลายเศรษฐกิจรัสเซียด้วยการคว่ำบาตรตัดรัสเซียออกจากการค้าและลงทุน ทำให้รัสเซียโต้ตอบด้วยการจำกัดการส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันไปสู่ยุโรป สิ่งนี้ทำให้ราคาเชื้อเพลิงเช่นก๊าซหรือน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในตลาดโลก ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติจากมือที่มองไม่เห็นเช่นกัน บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในภาคน้ำมันกับก๊าซ เพิ่มราคาและได้กำไรเพิ่มตามมามหาศาล การเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงซึ่งใช้ในทุกแง่ของชีวิตเราเป็นสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ยิ่งกว่านั้นสงครามระหว่างจักรวรรดินิยมในยูเครน มีผลกระทบต่อการผลิตอาหารและน้ำมันพืชซึ่งยูเครนและรัสเซียเป็นพื้นที่สำคัญในการส่งออกอาหาร ราคาอาหารจึงถูกดันให้พุ่งสูงขึ้นในตลาดโลก จนมีผลให้คนจนจำนวนมากในโลกเริ่มขาดแคลนอาหาร และเป็นแรงกระตุ้นให้มวลชนไม่พอใจในหลายประเทศ

  • จะเห็นว่าเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มแต่อย่างใด ตรงกันข้ามในช่วงสิบปีที่ผ่านมารายได้กรรมาชีพถูดกดตลอด แต่นายธนาคารและชนชั้นปกครองพูดเหมือนนกแก้วว่าเราไม่ควรเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม คือเราต้องยอมให้มูลค่าของค่าจ้างลดลงตามเงินเฟ้อ และธนาคารกลางในหลายประเทศก็ตัดสินใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการ “แก้ปัญหาเงินเฟ้อ” ซึ่งทำให้ธนาคารกลางในประเทศอื่นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม เพื่อปกป้องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่ในความจริงการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทำให้การกู้ยืมเงินแพงขึ้น ซึ่งมีผลในระยะสั้นในการผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น สาเหตุแท้ที่พวกธนาคารกลางเพิ่มอัตราดอกเบี้ยคือต้องการบีบบริษัทต่างๆ ซึ่งต้องกู้ยืมเงินเป็นธรรมดา ไม่ให้ยอมจ่ายค่าจ้างเพิ่มสำหรับลูกจ้าง และหวังว่าเศรษฐกิจจะหดจนเงินเฟ้อเริ่มลดลงเมื่อกำลังซื้อลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้จะสร้างวิกฤตชีวิตให้กรรมาชีพ และจะมีการตกงาน ถือว่าเป็นการเปิดศึกทางชนชั้นให้กรรมาชีพกลัว ไม่กล้าสู้
  • ในเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย สูงกว่า10% ในหลายประเทศ หรืออาจมากกว่านั้นอีก เราควรงอมืองอเท้าปล่อยให้มูลค่าค่าจ้างของเราลดลง โดยไม่ออกมาต่อสู้นัดหยุดงานและเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มให้ตรงกับอัตราเงินเฟ้อจริงหรือ? การเสียสละของเราจะให้ประโยชน์กับใคร? ให้ประโยชน์กับนายทุนแน่นอน เพราะกำไรของนายทุนมาจากมูลค่าการผลิตที่กรรมาชีพสร้างแต่ไม่ได้รับเป็นค่าจ้าง ซึ่งเราชาวมาร์คซิสต์เรียกว่า “มูลค่าส่วนเกิน” (แต่ต้องพิจารณาการลงทุนด้วย) ชนชั้นนายทุนพยายามกดค่าจ้างเราเพื่อพยุงกำไร และกรรมาชีพในสหภาพแรงงานทั่วโลกกำลังขยับออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสภาพชีวิตด้วยการนัดหยุดงาน อย่างที่เราเห็นในอังกฤษ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เกาหลีใต้และที่อื่น
  • เราต้องถามว่าค่าจ้างเป็นสัดส่วนเท่าไรของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการผลิตของนายทุน? เราต้องดูว่ามีการลงทุนในเครื่องจักรกับเทคโนโลจีแค่ไหน มีการลงทุนในการขนส่งแค่ไหน ฯลฯ โดยทั่วไป ค่าจ้างไม่ใช่ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของค่าใช้จ่ายในการผลิต ทั่วโลกมักจะประมาณ 10-30% ขึ้นอยู่กับภาคเศรษฐกิจ และขึ้นอยู่กับอัตราค่าจ้างในประเทศต่างๆ ที่แตกต่างกันอีกด้วย ในไทยนายทุนพยายามดึงการลงทุนเข้ามาโดยอวดว่าอัตราค่าจ้างต่ำกว่าที่อื่น และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในรอบ10-20ปีที่ผ่านมาสัดส่วนของมูลค่าที่ตกอยู่ในมือกรรมาชีพลดลงในขณะที่นายทุนขูดรีดกอบโกยกำไรและมูลค่าเพิ่มขึ้น ในประเทศตะวันตกก็เช่นกัน ขณะที่กรรมาชีพธรรมดาทำงานเพื่อพยุงสังคมในยามวิกฤตโควิด รายได้กรรมาชีพลดลงในขณะที่พวกเศรษฐีรวยขึ้นอย่างมหาศาล สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่ากรรมาชีพเป็นผู้สร้างมูลค่าและพยุงสังคมในยามวิกฤต แต่พวกนายทุนกอบโกยผลประโยชน์และกดค่าแรงกรรมาชีพ
  • การกดค่าแรงของกรรมาชีพ จะนำไปสู่การเพิ่มกำไรให้กลุ่มทุน แต่ในขณะเดียวกันจะนำไปสู่การลดกำลังซื้อของกรรมาชีพ สินค้าก็จะขายไม่ออกในที่สุด ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องสภาพชีวิตของเรา?

ในประการแรกเราต้องเข้าใจที่มาของเงินเฟ้อ และต้องเข้าใจการทำงานของระบบทุนนิยมที่มีการขูดรีดกำไรจากการทำงานของกรรมาชีพ (ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ “ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน”) เราจะได้มั่นใจในการปลุกระดมให้กรรมาชีพอื่นๆ สู้  แต่บางคนอาจพร้อมที่จะสู้อยู่แล้วเพราะโกรธสภาพชีวิต นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่เราไม่ควรหลงคิดว่าฝ่ายตรงข้ามจะปล่อยให้เราสู้โดยไม่เปิดศึกกับเรา

ศึกที่ชนชั้นนายทุนมักเปิดกับเรามีทั้งแง่ของลัทธิความคิดและการใช้กำลัง

ศึกทางความคิดจะรวมไปถึงการพยายามกล่อมเกลาเราให้เชื่อว่า “เงินเฟ้อมาจากการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม” พวกเขาจะเข็น “ผู้เชี่ยวชาญ”เงินเดือนสูง ออกมาในสื่อกระแสหลักเพื่อสั่งสอนเรา แต่พวกนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตของทุนนิยมได้ และมักจะปิดหูปิดตาถึงสภาพจริงในโลก เพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง เราต้องสร้าง “ปัญญาชนอินทรีย์” และสื่อของฝ่ายเราเองเพื่อโต้ตอบ“ผู้เชี่ยวชาญ”เหล่านั้น

ในอังกฤษ หลังจากที่ราชินีเสียชีวิตไป มีการรณรงค์ให้หยุดการนัดหยุดงานเพื่อ “สร้างความสามัคคีของชาติ” และเป็นที่น่าสียดายที่ผู้นำแรงงานระดับชาติยอมพักสู้ชั่วคราวในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามไม่เคยพักการขูดรีดแต่อย่างใด ในประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย จะมีการใช้ลัทธิชาตินิยมเพื่อชวนให้เราเสียสละเพื่อชาติเช่นกัน และมีการขู่ว่านายทุนจะย้ายการผลิตไปที่อื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนายทุนเสมอไป โดยเฉพาะในภาคการผลิตรถยนต์ ก่อสร้าง การคมนาคม และระบบการศึกษาและสาธารณสุข

ศึกด้วย”กำลัง”ที่ฝ่ายตรงข้ามจะเปิดกับเราคือการใช้กฎหมายและตำรวจในการปราบการนัดหยุดงาน หรือการสร้างอุปสรรคในการนัดหยุดงาน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษกำลังพยายามทำ และรัฐบาลไทยทำมานานแล้ว

เราจะต่อสู้อย่างไร?

การนัดหยุดงานเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดของสหภาพแรงงานในการต่อสู้กับนายทุนและรัฐบาล แต่การนัดหยุดงานในรูปแบบต่างๆ มีประสิทธิภาพแตกต่างกัน เช่นการนัดหยุดงานหนึ่งหรือสองวัน อาจเป็นการเตือนหรือขู่นายจ้าง แต่ถ้านายจ้างไม่แสดงความสนใจ อาจต้องมีการขยายการนัดหยุดงานไปโดยไม่จำกัดวัน อันนี้เป็นประเด็นในตะวันตก แต่อาจไม่เป็นประเด็นในไทย แต่การนัดหยุดงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการ “นัดหยุดงานทั่วไป” ที่มีสมาชิกสหภาพรงงานจากหลายๆ สถานที่ทำงานนัดหยุดงานพร้อมกัน

การสร้างกระแสนัดหยุดงานทั่วไปเป็นสิ่งที่ทำได้ถ้ากรรมาชีพเผชิญหน้ากับปัญหาเหมือนกันทั้งประเทศ เช่นเรื่องวิกฤตค่าครองชีพและเงินเฟ้อ และการนัดหยุดงานทั่วไปเคยเกิดขึ้นในไทยช่วง ๑๔ ตุลา และเคยเกิดในประเทศอื่นๆ อีกด้วย แต่เราต้องเข้าใจว่าแค่การเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานทั่วไปโดยฝ่ายซ้ายในนามธรรม จะไม่ทำให้มันเกิดขึ้น คือมันต้องเป็นข้อเรียกร้องจากคนงานรากหญ้าจำนวนมาก ดังนั้นต้องมีการเตรียมตัวเป็นรูปธรรม

ปัญหาผู้นำแรงงานระดับชาติ

มันไม่ใช่ว่ามีแค่นายจ้างและรัฐที่จะพยายามห้ามและยับยั้งการนัดหยุดงานทั่วไปหรือแม้แต่การนัดหยุดงานธรรมดา ผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติ ที่ห่างเหินจากคนทำงานธรรมดาด้วยรายได้ วิถีชีวิต และตำแหน่ง เป็นอุปสรรคสำคัญในการต่อสู้ของกรรมาชีพ แน่นอน มีผู้นำแรงงานระดับชาติบางคนที่พร้อมจะนำการต่อสู้อย่างจริงจัง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้นำแรงงานระดับชาติเป็นบุคคลที่มีฐานะทางชนชั้นระหว่างนายจ้างกับคนทำงานรากหญ้า และฐานะทางชนชั้นนี้มีอิทธิพลกับแนวความคิดของเขา ผู้นำเหล่านี้มีความขัดแย้งในตัว เพราะเขาจะมองว่าหน้าที่ของเขาคือการนำข้อเรียกร้องของสมาชิกสหภาพแรงงานไปเสนอต่อนายจ้างเพื่อ “แก้ไขปัญหาให้แรงงาน” ไม่ใช่เพื่อเอาชนะนายจ้างหรือรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันถ้าเขาไม่นำการต่อสู้เลย สมาชิกจะลาออกจากสหภาพ

ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้ สมาชิกรากหญ้าของสหภาพแรงงานที่ต้องการจะสู้ ต้องพยายามสร้างเครือข่ายเพื่อนำการเคลื่อนไหว และนำนัดหยุดงาน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ข้ามรั้วสถานที่ทำงาน และเพื่อกดดันผู้นำแรงงานระดับชาติหรือพวกผู้นำระดับสภาคนงาน การสร้างพลังรากหญ้าของคนทำงานภายในสหภาพแรงงานเพื่อเชื่อมโยงกับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าในสถานที่ทำงานอื่นๆ เป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยพยายามสร้างในรูปแบบ “กลุ่มย่าน” ในอดีต และมีเอ็นจีโอสายแรงงานบางองค์กรที่สืบทอดเรื่องนี้ เราเลยเห็นเครือข่ายสหภาพแรงงานกลุ่มย่านที่ยังมีอยู่ในบางแห่ง

ที่สำคัญคือนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมคงต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างเครือข่ายสมานฉันท์จากล่างสู่บน เพื่อสนับสนุนการหนุนช่วยซึ่งกันข้ามรั้วสถานที่ทำงานและข้ามสหภาพแรงงาน และเพื่อให้คนทำงานรากหญ้ามีบทบาทนำโดยไม่ปล่อยให้ “ผู้นำแรงงานแบบข้าราชการ” มีอิทธิพลแต่ฝ่ายเดียว

ปัญหาการพึ่งรัฐสภา

ในเรื่องการเมืองของกรรมาชีพ มักจะมีความขัดแย้งในแนวทางระหว่างคนที่เน้นการเคลื่อนไหวประท้วงหรือนัดหยุดงาน กับคนที่ฝากความหวังไว้กับรัฐสภา ในประเทศตะวันตกพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูปอาจถูกก่อตั้งขึ้นโดยขบวนการแรงงาน แต่นักการเมืองของพรรคเหล่านี้จะมองว่าเขามีบทบาทในการแก้ปัญหาให้กรรมาชีพผ่านกระบวนการของรัฐสภา และมองว่าการนัดหยุดงานหรือการประท้วงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม ยิ่งกว่านั้นถ้านักการเมืองพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เขาอาจพร้อมที่จะปราบการนัดหยุดงานอีกด้วย เพราะเขามองว่าเขามีหน้าที่บริหารระบบทุนนิยม

ในไทยเรายังไม่มีพรรคการเมืองของสหภาพแรงงาน แต่พรรคการเมืองอย่างเช่นพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) ก็พยายามดึงนักสหภาพแรงานเข้ามาในพรรค ซึ่งจะทำให้เขาให้ความสำคัญกับรัฐสภามากกว่าการเคลื่อนไหว ในเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยก็มีตัวอย่างของการลดบทบาทการเคลื่อนไหวบนท้องถนน เพื่อไปตั้งความหวังกับรัฐสภา และความหวังว่า “ท่านจะทำให้” เป็นกระแสทั้งๆ ที่รัฐสภาไทยถูกคุมโดยอำนาจเผด็จการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้ารัฐสภาไทยไม่มีอำนาจเผด็จการคุมอยู่ในอนาคต ปัญหาการเลือกแนวทางระหว่างรัฐสภากับการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานก็ยังคงเป็นประเด็น

ทำไมต้องมีพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ

ระบบทุนนิยมสร้างปัญหาวิกฤตมากมายสำหรับประชาชนโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามจักรวรรดินิยม วิกฤตโลกร้อน วิกฤตโควิดที่มาจากระบบเกษตรอุตสาหกรรม หรือวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของอัตรากำไร และในทุกวิกฤต สันดานของนายทุนกับนักการเมืองฝ่ายทุนคือต้องโยนภารกิจในการแก้ปัญหาให้กับคนธรรมดาเสมอ

ถ้าเราจะปลุกระดมชักชวนให้คนเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเมืองของระบบทุนนิยม เช่นในเรื่องเงินเฟ้อกับค่าจ้าง หรือเรื่องการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพ หรือเรื่องปัญหาผู้นำแรงงาน ฯลฯ เราต้องมีพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ที่มีสื่อและสมาชิกที่จะลงไปต่อสู้ร่วมกับคนธรรมดา การที่เราจะเริ่มสร้างเครือข่ายสมาชิกสหภาพแรงงานในระดับรากหญ้าก็อาศัยการทำงานของพรรคเช่นกัน แค่เป็นนักเคลื่อนไหวปัจเจกหรือนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานไม่พอ เราต้องอัดฉีดการเมืองแนวมาร์คซิสต์ที่เน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเข้าไปในการต่อสู้ต่างๆให้มากที่สุด ถ้าเราไม่มีพรรค เราจะทำไม่ได้ และฝ่ายกรรมาชีพจะอ่อนแอ

ทำไมเราต้องสร้างพรรคปฏิวัติ

ทุกวันนี้ในไทยภายใต้สังคมทุนนิยม เราเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงห้าวิกฤตที่ท้าทายชีวิตของพวกเรา คือวิกฤตสิทธิเสรีภาพ วิกฤตค่าครองชีพ วิกฤตจากภัยสงคราม วิกฤตโควิด และวิกฤตโลกร้อน

ที่สำคัญคือวิกฤตเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกัน เพราะต้นกำเนิดคือระบบทุนนิยม

วิกฤตสิทธิเสรีภาพ

ใน 16 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ทหารและพรรคพวกที่ต้านประชาธิปไตย ได้ทำลายสิทธิเสรีภาพของเราอย่างถ้วนหน้าภายใต้ข้ออ้างเท็จ เช่นการอ้างว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักจะฉ้อโกง การอ้างว่าพลเมืองส่วนใหญ่โง่และขาดการศึกษา หรือข้ออ้างเรื่องความมั่นคงหรือเรื่องการปกป้องสถาบันฯ เป็นต้น

คนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยมีจุดยืนหลากหลายเป็นธรรมดา บ้างเชียร์ทักษิณกับเพื่อไทย บ้างไม่ชอบทักษิณแต่เชียร์พรรคก้าวไกล คนทั้งสองกลุ่มนี้มองก้าวพ้นระบบรัฐสภาที่ถูกควบคุมโดยทหารไม่ได้ บางคนออกมาประท้วงเผด็จการ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว แต่ไม่ค่อยมีการประสานกับขบวนการแรงงานหรือคนกลุ่มอื่น และในที่สุดก็จบด้วยการฝากความหวังไว้ที่พรรคฝ่ายค้านกระแสหลักในสภา

ในขณะเดียวกันรัฐบาลเผด็จการกับนายทุนก็ใช้อำนาจรุกรานพื้นที่ของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวก็ออกมาแสดงความไม่พอใจร่วมกับองค์กรเอ็นจีโอ แต่บ่อยครั้งกลุ่มเหล่านี้ไปฝากปัญหาไว้กับรัฐบาล โดยหวังว่ารัฐบาลทหารจะแก้ปัญหาให้ นี่คือการมองโลกแบบแยกส่วน

หลายครั้งมีการวิเคราะห์ต้นเหตุของการทำลายประชาธิปไตยแบบผิดๆ เช่นพวกที่มองว่าไทยอยู่ภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้น บ่อยครั้งมีการฝากความหวังไว้กับสหประชาชาติหรือมหาอำนาจตะวันตก โดยไม่วิเคราะห์ปัญหาของจักรวรรดินิยมและผลประโยชน์ของรัฐทุนนิยมทั่วโลก หลายคนฝันว่าถ้าใช้แนวคิด “เสรีนิยม” เราจะสร้างประชาธิปไตยได้ แต่แนวเสรีนิยมเป็นลัทธิของชนชั้นนายทุนที่ต้องการให้นายทุนมีอำนาจเหนือสังคมผ่านการอ้างกลไกตลาด พร้อมกับกดทับสิทธิเสรีภาพของกรรมาชีพและคนจน หลายคนมองไม่ออกว่าเผด็จการทหารใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม หลายคนมองไม่ออกว่าลัทธิเสรีนิยมในแง่การเมืองเป็นแค่การฝากความหวังไว้กับระบบรัฐสภา

แต่สำหรับพวกเราที่เป็นนักสังคมนิยม เรามองว่าทุนนิยมจะเป็นเผด็จการไม่มากก็น้อย เผด็จการทหารหรือประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทั้งสองดำรงอยู่กับระบบทุนนิยมได้เสมอ ประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น เพราะในสถานประกอบการทุกแห่งและในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจไม่มีประชาธิปไตยเลย ยิ่งกว่านั้นกฎหมาย ศาล ตำรวจ และทหาร ไม่ได้อยู่ในมือประชาชน ข้อสรุปคือถ้าจะเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยต้องอาศัยการต่อสู้จากล่างสู่บนเสมอ ไม่ใช่ไปพึ่งพาการเลือกตั้ง พรรคกระแสหลัก หรือรัฐธรรมนูญ แต่ชาวสังคมนิยมจะร่วมสู้กับคนที่ต้องการล้มเผด็จการ หรือเพื่อสิทธิเลือกตั้ง โดยมองว่าการล้มเผด็จการทหารเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อล้มทุนนิยมและสร้างสังคมนิยมในระยะยาว

ถ้าเราจะพยายามเสนอแนวคิดแบบนี้กับมวลชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราต้องมีการจัดตั้งเป็นองค์กร และต้องมีสื่อและระบบที่จะพัฒนาการศึกษาทางการเมืองของสมาชิกของเรา ปัจเจกชนไม่สามารถทำได้

การที่จะวิเคราะห์ลักษณะแท้ของสังคมกับต้นเหตุของปัญหาปัจจุบัน กับการที่จะเสนอแนวทางในการต่อสู้ ต้องอาศัยการคิด อ่าน และการกระทำร่วมกัน ปัจเจกที่โดดเดี่ยวมักจะถูกโน้มน้าวจะฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย ยิ่งกว่านั้น ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกที่คิดอะไรเองได้คนเดียว ไม่มีศาสดาวิเศษ เพราะการพัฒนาความเข้าใจในโลกมาจากการต่อยอดจากความคิดในอดีต และการถกเถียงทางการเมืองในปัจจุบัน พรรคปฏิวัติแนวสังคมนิยมเป็นองค์กรที่สามารถเป็น “คลังแห่งความรู้จากการต่อสู้ในอดีต” และเป็นพื้นที่ที่นักสังคมนิยมสามารถถกเถียงและร่วมกันหาแนวทางในการต่อสู้ปัจจุบัน และที่สำคัญคือการถกเถียงเรื่องแนวทางสามารถทำในหมู่คนที่มีเป้าหมายเหมือนกันคือการสร้างสังคมนิยมแทนความป่าเถื่อนของทุนนิยม

วิกฤตค่าครองชีพ

ทุกวันนี้ เนื่องจากวิกฤตโควิด การก่อสงคราม และการเน้นแสวงหากำไรอย่างเดียวในระบบทุนนิยม ปัญหาการขนส่ง ปัญหาการผลิต และความขาดแคลนสิ่งของจำเป็น กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีผลให้ราคาน้ำมันกับก๊าซ และอาหารพุ่งขึ้น อุตสาหกรรมก็ขาดชิ้นส่วนบางประเภท ในขณะเดียวกันนายทุนที่เลิกจ้างคนในยุคที่มีวิกฤตโควิด ยังไม่สามารถหรือยังไม่ต้องการที่จะเพิ่มการจ้างงาน

ในทุกกรณีนายทุนและรัฐบาลต่างๆ ไม่เคยมองปัญหาดังกล่าวจากจุดยืนประชาชนคนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร เขาจะมองปัญหานี้จากจุดยืนนายทุนเสมอ ซึ่งมักเน้นความสำคัญของกำไร บ่อยครั้งเมื่อมีความขาดแคลน นายทุนจะฉวยโอกาสขึ้นราคา ซึ่งนำไปสู่เงินเฟ้อและยิ่งมีผลกระทบกับคนจนมากขึ้น ระบบทุนนิยมไม่เคยมีการวางแผนสำหรับสังคม เพื่อให้มีการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่เลย ถ้ามีแผนในบริษัทต่างๆ ก็เพื่อปกป้องกำไรเท่านั้น

ถ้าเราจะเริ่มปกป้องชีวิตของคนธรรมดา เราต้องทำสองอย่างคือ 1. สามารถวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องจากจุดยืนกรรมาชีพ และ 2. ปลุกระดมการต่อสู้ของกรรมาชีพ เช่นการนัดหยุดงาน การประท้วง และการพยายามล้มรัฐบาลเป็นต้น ซึ่งเราก็เห็นการต่อสู้แบบนี้เกิดขึ้นในบางประเทศเช่นศรีลังกา แต่ท่ามกลางการต่อสู้เราต้องสามารถเสนอเป้าหมายที่ชัดเจน คือไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่เสนอว่ารัฐบาลใหม่ของนักการเมืองนายทุนคนหน้าใหม่จะแก้ปัญหา เป้าหมายต้องเป็นเรื่องของการเพิ่มอำนาจกรรมาชีพในสังคมเพื่อล้มทุนนิยมในระยะยาว มันเป็นเรื่อง “การเมือง” ทางชนชั้นซึ่งแปลว่าต้องผสมทั้งการต่อสู้ในประเด็นปากท้องกับเรื่องการเมืองเข้าด้วยกัน เราจะเห็นว่าสหภาพแรงงานสู้เรื่องปากท้องได้แต่มักจะไม่ผสมการต่อสู้เรื่องปากท้องกับเรื่องการเมืองเข้าด้วยกัน ดังนั้นต้องมีพรรคสังคมนิยมที่มีสมาชิกที่เข้าไปทำงานการเมืองในสหภาพแรงงาน ซึ่ง“สหภาพคนทำงาน” ที่เป็นองค์กรแนวอนาธิปไตยที่ปฏิเสธการสร้างพรรค ไม่สามารถทำตรงนี้ได้เพราะทำงานการเมืองในสหภาพแรงงานที่ดำรงอยู่แล้วไม่ได้ และสมาชิกมักเคลื่อนไหวแบบปัจเจก

นักมาร์คซิสต์สังคมนิยมไม่ได้มองว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นแค่เหยื่อของทุนนิยม เรามองว่ากรรมาชีพมีพลังที่สามารถล้มทุนนิยมหรือเผด็จการปัจจุบันได้ถ้ามีการจัดตั้งทางการเมือง ดังนั้นการสู้กับระบบเผด็จการทหารและการสู้กับปัญหาค่าครองชีพเป็นเรื่องเดียวกันและต้องทำพร้อมๆ กัน

วิกฤตภัยสงคราม

ในรอบ100ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีปีไหนที่โลกไม่มีสงคราม และสาเหตุไม่ใช่เพราะมันเป็น “ธรรมชาติของมนุษย์” เหมือนที่หลายคนอ้าง สงครามเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์กันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และระหว่างรัฐต่างๆ ที่ร่วมมือกับกลุ่มทุนอย่างใกล้ชิด นี่คือปรากฏการณ์ที่มาร์คซิสต์เรียกว่า “ระบบจักรวรรดินิยม”

ในโลกปัจจุบันระบบจักรวรรดินิยมประกอบไปด้วยมหาอำนาจใหญ่ สหรัฐ สหภาพยุโรป อังกฤษ รัสเซีย และจีน แต่มีอำนาจย่อยด้วย เช่นอินเดีย ออสเตรเลีย ตุรกี ญี่ปุ่น บราซิล ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และแม้แต่ไทย

จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบความขัดแย้ง” ระหว่างรัฐต่างๆ ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลก โดยที่มีมหาอำนาจที่พยายามข่มขู่ประเทศที่อ่อนแอและเล็กว่า บ่อยครั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจนำไปสู่การแข่งขันทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการสะสมอาวุธ หรือการทำสงคราม ดังนั้นการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

ที่สำคัญคือชนชั้นกรรมาชีพ หรือคนธรรมดา ไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากการแข่งขันดังกล่าว เพราะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ที่ขูดรีดกดขี่เราทั่วโลก แถมกรรมาชีพจะถูกเกณฑ์ไปฆ่ากรรมาชีพจากประเทศอื่นเพื่อกำไรของนายทุน และกรรมาชีพที่เป็นพลเรือนจะล้มตายจากการทิ้งระเบิดเมืองต่างๆ อีกด้วย ดังนั้นชนชั้นปกครองจะพยายามหลอกลวงกรรมาชีพให้สนับสนุนรัฐด้วยลัทธิชาตินิยมเสมอ

ในภูมิภาคของเรา จะเห็นการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับจีน ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งข่มขู่กันและการสะสมอาวุธ สภาพเช่นนี้กำลังสร้างภัยสงคราม ซึ่งเราต้องเข้าใจอย่างชัดเจนว่าทั้งมหาอำนาจตะวันตกและจีนเป็นประเทศจักรวรรดินิยม กรรมาชีพไม่ควรสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างที่บางคนเสนอ

ในยุโรป การรุกรานยูเครนโดยจักรวรรดินิยมรัสเซีย เป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดินิยมสองฝ่ายคือตะวันตกภายใต้นาโต้และสหรัฐ กับรัสเซีย ดังนั้นเราไม่สามารถสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเช่นกัน แต่สื่อกระแสหลักและกระแสรองเช่น“ประชาไท”จะนำเสนอข่าวจากมุมมองจักรวรรดินิยมตะวันตก และชวนให้เราสนับสนุนนาโต้ ผ่านการจงใจมองข้ามการสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งโดยนาโต้ อย่างไรก็ตามเราไม่ควรคล้อยตามบางคนที่ปิดหูปิดตาถึงความโหดร้ายของรัสเซียในฐานะจักรวรรดินิยมอีกฝ่าย

การที่มหาอำนาจตะวันตกต้านรัสเซียในยูเครน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแข่งขันระหว่างตะวันตกกับจีน เพราะระบบจักรวรรดินิยมเป็นระบบที่ครอบคลุมโลก โดยแต่ละอำนาจพยายามสร้างความยิ่งใหญ่ของตนเองเพื่อข่มคู่แข่ง

สถานการณ์สงครามในยูเครนและกระแสความคิดหลักในสังคมไทย ทำให้ปัจเจกชนที่รักความเป็นธรรมค้านกระแสที่ชวนให้เราสนับสนุนนาโต้ค่อนข้างยาก แต่คนที่เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติสามารถร่วมกันศึกษาเรื่องจักรวรรดินิยมและกล้ามีจุดยืนที่ตรงข้ามกับกระแสหลักได้ การคัดค้านกระแสชาตินิยมไทยที่มาจากชนชั้นปกครองก็เป็นเรื่องคล้ายๆ กัน

สรุปแล้วการเรียนรู้ร่วมกัน การถกเถียงกัน และการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทางการเมือง ทำให้เราสามารถมีความมั่นใจที่จะต้านแนวคิดกระแสหลักได้

วิกฤตโควิด

การที่มีเครือข่ายพรรคสังคมนิยมทั่วโลกทำให้เราสามารถวิเคราะห์ปัญหาโควิดได้ดีกว่าคนอื่น เพราะรัฐบาลและกลุ่มทุนบ่อยครั้งจะปกปิดความจริงเกี่ยวกับโรคระบาดเพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบในการดูแลประชาชน

นักชีววิทยาฝ่ายซ้ายและนักเคลื่อนไหวเรื่องรัฐสวัสดิการได้อธิบายปัญหาไว้ดังนี้ วิกฤตโควิดเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโดยตรง เพราะระบบเกษตรแบบทุนนิยม และการพัฒนาของชนบทที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเมือง แปลว่ามนุษย์รุกเข้าไปในธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน ซึ่งส่งผลให้มนุษย์สัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้น โดยเฉพาะค้างคาว ซึ่งเป็นแหล่งไวรัสที่สำคัญเพราะค้างคาวมีภูมิต้านทานไวรัสสูงและสามารถอยู่กับไวรัสหลายสิบชนิดได้ นอกจากนี้ ระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเลี้ยงหมูหรือไก่ที่มีลักษณะเหมือนกันหลายพันตัว ในคอกขนาดใหญ่ เปิดโอกาสให้ไวรัสกระโดดจากสัตว์ป่าไปสู่สัตว์เลี้ยง และต่อไปสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น

การเดินทางระหว่างชนบทกับเมือง และที่อยู่อาศัยแออัดในเมือง สำหรับคนที่ต้องไปหางานทำในเมืองก็เพิ่มการระบาดได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสใหม่ๆ มากขึ้น และองค์กรอนามัยโลกก็มองว่าโควิด 19 คงจะไม่ใช่ไวรัสร้ายแรงชนิดสุดท้ายที่จะระบาดไปทั่วโลก

วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด กระทบคนทั้งโลก แต่ในขณะเดียวกันมันเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมของทุกประเทศ เพราะคนจน คนที่มีสีผิว คนที่มีเชื้อชาติเป็นคนส่วนน้อยของสังคม และแรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มคนที่ล้มตายและยากลำบากจากโควิดมากที่สุด สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นคนที่ไม่สามารถกักตัวอยู่บ้าน หรือทำงานจากบ้านได้ ต้องออกไปเลี้ยงชีพทุกวันในงานสกปรกหรืองานที่เสี่ยงต่อการติดไวรัส นอกจากนี้สภาพที่อยู่อาศัยมักจะแออัด และในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขและวัคซีนไม่ได้เพราะยากจนเกินไปหรือตกงาน

สถานการณ์แบบนี้นำไปสู่ข่าวปลอมมากมายในโลกออนไลน์ เช่นเรื่องวัคซีนหรือเรื่องที่มาของโรคภัยไข้เจ็บ

เมื่อโควิดระบาด รัฐบาลอาจปิดเมือง ปิดงาน หรือปิดโรงเรียน แต่การที่ไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอสำหรับคนที่ต้องพักงานทำให้มาตรการนี้ไม่ประสพความสำเร็จ และความหิวโหยกำไรจากการทำงานของกรรมาชีพบังคับให้รัฐบาลเปิดเสรีก่อนที่ภัยโควิดจะหมดไป

จะเห็นได้ว่าวิกฤตโควิดมาจากระบบทุนนิยม และเกี่ยวโยงกับเรื่องเกษตรอุตสาหกรรม ความเหลื่อมล้ำ รัฐสวัสดิการ และการกดขี่คนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เราไม่สามารถสร้างโลกใหม่ที่ไม่มีภัยแบบโควิดได้ถ้าเราไม่เข้าใจปัญหาองค์รวมของทุนนิยมและสู้ในหลายประเด็นพร้อมกัน ซึ่งพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเป็นองค์กรที่สู้ในหลายประเด็นพร้อมกันเสมอ

วิกฤตโลกร้อน

ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการสะสมก๊าซในบรรยากาศโลกประเภทที่ปิดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ถูกสะท้อนกลับออกจากโลกได้ (ก๊าซเรือนกระจก) ความร้อนจึงสะสมมากขึ้น ก๊าซหลักที่เป็นปัญหาคือคาร์บอนไดออคไซท์ (CO2) แต่มีก๊าซอื่นๆ ด้วยที่สร้างปัญหาเช่นมีเทน

การที่โลกร้อนขึ้นทำให้น้ำแข็งในขั้วโลกละลายและระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น จนท่วมเกาะและพื้นที่ที่อยู่ต่ำ ทำให้ระบบภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าใจหาย มีพายุมากขึ้นและมีภัยจากไฟไหม้ป่า ซึ่งจะมีผลกระทบกับระบบเกษตรและวิถีชีวิตของคนที่ยากจนที่สุดในโลก รวมถึงไทยด้วย

บางคนมักพูดว่า “เราทุกคน” ทำให้โลกร้อน ยังกับว่า “เรา” มีอำนาจในระบบทุนนิยมที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน การพูดแบบนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น โยนให้พลเมืองยากจนรับผิดชอบแทนนายทุน ในขณะที่นายทุนกอบโกยกำไรต่อไปได้

พวกกลุ่มทุนและรัฐบาลในโลกทุนนิยมโกหกว่าสามารถแก้ปัญหาด้วยการซื้อขาย “สิทธิ์” ที่จะผลิต CO2 หรือ “แลก” การปลูกต้นไม้กับ “สิทธิ์” ที่จะผลิต CO2  บางกลุ่มก็โกหกว่าจะใช้เทคโนโลจีเพื่อดูด CO2  ออกจากบรรยากาศ ซึ่งเทคโนโลจีแบบนั้นที่จะมีผลจริงในระดับโลกยังไม่มี นอกจากนี้มีการพูดว่าจะประกาศเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” หรือ จะ “ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นสูญ” ซึ่งเป็นการโกหกเพื่อให้สามารถผลิต CO2 ต่อไป โดยอ้างว่าไปคานกับมาตรการอื่นที่ไม่มีประสิทธิภาพจริง

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ในประเทศต่างๆ ในเรื่องปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว คนจำนวนมากในปัจจุบันเริ่มหูตาสว่างมากขึ้น และเข้าใจว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับความยุติธรรมทางสังคมและผลประโยชน์ชนชั้น แต่ในไทยกระแสต้านโลกร้อนยังไม่เกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวที่ประท้วงเผด็จการ หรือในขบวนการสหภาพแรงงาน ในไทยการที่ทหารครองอำนาจรัฐ และคุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หมายความว่ารัฐบาลจะไม่มีทางเสนอนโยบายก้าวหน้าเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนได้เลย

ดังนั้นเราไม่สามารถแยกการเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนออกจากการต่อสู้ทางชนชั้น และการต่อสู้กับเผด็จการทหารได้ และชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่างๆ เป็นชนชั้นเดียวที่มีพลังทางเศรษฐกิจพอที่จะสามารถกดดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังผ่านการนัดหยุดงานและยึดสถานที่ทำงาน แต่แค่การกดดันให้แก้ปัญหาภายในโครงสร้างทุนนิยมมันจะไม่พอ ต้องมีการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อล้มทุนนิยมและเปลี่ยนระบบในที่สุด ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีพรรคปฏิวัติที่มีอิทธิพลในสังคม

พรรค

จากสิ่งที่นำเสนอไปแล้ว จะเห็นเป็นรูปธรรมว่าวิกฤตร้ายแรงห้าวิกฤตที่ท้าทายชีวิตของเราเชื่อมโยงกันเพราะเกิดจากระบบทุนนิยม เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบ เราต้องเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มไม่ใช่ปัจเจก พรรคเป็นสะพานที่ดึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของทุนนิยมเข้าด้วยกัน และพรรคมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ร่วมกันสู้กับทุกปัญหา แต่ถ้าพรรคจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างและขยายพรรคอย่างต่อเนื่อง เราต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษาทางการเมืองเพื่อให้เรามั่นใจมากขึ้น และเราต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาสื่อของเราอีกด้วย

ใจ อึ๊งภากรณ์

จักรวรรดินิยมและสงครามยูเครน

เราชาวสังคมนิยมมองว่าสงครามในยูเครน มีต้นกำเนิดจากความขัดแย้งเรื้อรังระหว่างจักรวรรดินิยมตะวันตก กับจักรววรดินิยมรัสเซีย เราต่อต้านจักรววรดินิยมทุกรูปแบบ ต่อต้านการบุกรุกยูเครนโดยรัสเซีย และต่อต้านการที่อำนาจตะวันตกพยายามขยายแนวร่วมทางทหาร “นาโต้” ไปสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเพื่อล้มรอบรัสเซีย

จักรวรรดินิยม

ในปีค.ศ. 1916 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติรัสเซีย เลนิน ได้เขียนหนังสือสำคัญชื่อ “จักรวรรดินิยมขั้นตอนสูงสุดของทุนนิยม”

ประเด็นสำคัญในความคิดเรื่องจักรวรรดินิยมของ เลนิน คือ การพัฒนาของระบบทุนนิยมทำให้กลุ่มทุนต่างๆ ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านั้นกับรัฐ ทำงานในทิศทางเดียวกัน รัฐใหญ่ๆ ของโลกจะใช้อำนาจทางทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในประเทศของตนเอง และมีการแบ่งพื้นที่ของโลกภายใต้อำนาจของรัฐดังกล่าวในรูปแบบอาณานิคม และที่สำคัญคือการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน นำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งในที่สุดระเบิดออกมาในรูปแบบสงคราม

ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของ เลนิน มีความสำคัญทุกวันนี้ในการทำความเข้าใจกับภัยสงคราม จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบความขัดแย้ง” ระหว่างรัฐต่างๆ ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลก โดยที่มีมหาอำนาจที่พยายามข่มขู่ประเทศที่อ่อนแอและเล็กว่า บ่อยครั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจนำไปสู่การแข่งขันทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการสะสมอาวุธ หรือการทำสงคราม ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของเลนิน เน้นว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

ในอดีตมหาอำนาจใช้การล่าอาณานิคมในการกดขี่ประชากรโลก แต่ทุกวันนี้ยังมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ออกมาในรูปแบบการแข่งขันทางทหาร

ทุกวันนี้ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด เริ่มอ่อนแอเมื่อเทียบกับจีน หรือประเทศอื่นๆ ในโลกพัฒนา เช่นญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศในอียู สหรัฐจึงจงใจใช้อำนาจทางทหารในการรักษาตำแหน่งในโลก

ยิ่งกว่านั้น การที่โลกไม่ได้แยกเป็นสองขั้ว คือ อเมริกา กับ รัสเซีย อย่างที่เคยเป็นในยุคสงครามเย็น แปลว่าประเทศขนาดกลางมีพื้นที่ในการเบ่งอำนาจ เช่นในตะวันออกกลางเป็นต้น มันทำให้โลกเราในยุคนี้ขาดเสถียรภาพและเต็มไปด้วยภัยสงคราม

“สงคราม” ทางเศรษฐกิจกับการค้าระหว่างสหรัฐกับ อียู คานาดา และจีน เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้

ความคิดกระแสหลักที่ยังสอนกันอยู่ในสถานศึกษาทุกวันนี้ มักจะอธิบายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่าเกิดจากอุบัติเหตุทางการเมือง หรือการจับมือเป็นพันธมิตรสองขั้วของชาติต่างๆ ในยุโรป แต่นั้นเป็นเพียงการบรรยายอาการของ “จักรวรรดินิยม” เพราะต้นกำเนิดของสงครามมาจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลก และสงครามดังกล่าวเป็นสงครามที่กลุ่มทุนใหญ่และรัฐกระทำเพื่อเพิ่มอำนาจของฝ่ายตนเองในการขูดรีดกรรมาชีพและปล้นทรัพยากรในประเทศอื่น แต่ในการทำสงครามมักมีการโกหกสร้างภาพว่าทุกสงครามเป็นการรบเพื่อ “เสรีภาพ” เพราะคนที่ต้องไปรบมักจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร

ทุกวันนี้สื่อกระแสหลักของตะวันตกมักโกหกว่ารัสเซียบุกยูเครนเพราะปูติน “บ้า” หรือ “กระหายเลือด” ทั้งนี้เพื่อปกปิดประวัติศาสตร์ความขัดแย้งจริง

สงครามไม่ได้เกิดจาก “นิสัยพื้นฐานของมนุษย์” มันเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่างๆ ในระบบทุนนิยม ดังนั้นถ้าจะห้ามสงคราม เราต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่โจมตีการจับมือกันระหว่างรัฐกับทุน และโจมตีระบบทุนนิยมโลกอีกด้วย

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราจะเข้าใจว่าทำไม เลนิน กับนักมาร์คซิสต์จะไม่สนับสนุนสงครามจักรวรรดินิยม และจะไม่มีวันคลั่งชาติ คำขวัญสำคัญของ เลนิน ในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ “เปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมไปเป็นสงครามระหว่างชนชั้น!”

อเล็กซ์ คาลินิคอส นักมาร์คซิสต์ชาวอังกฤษ อธิบายว่าจักรวรรดินิยมไม่ใช่การกระทำของประเทศมหาอำนาจประเทศเดียว แต่จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบ” การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆ ที่มีอำนาจแตกต่างกัน การทีระบบทุนนิยมมีลักษณะการพัฒนาต่างระดับเสมอ ทำให้ศูนย์กลางของอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจทางทหาร และอำนาจในเชิงจักรวรรดินิยม มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง มันไม่ใช่เรื่องคงที่แต่อย่างใด

บางคนไปตั้งความหวังไว้กับองค์กรสหประชาชาติ เพื่อสร้างสันติภาพในโลก แต่สหประชาชาติเป็นเพียงสมาคมของรัฐต่างๆ ทั่วโลก โดยมหาอำนาจคุมองค์กรผ่านคณะมนตรีความมั่นคง รัฐเหล่านี้เป็นผู้ก่อสงครามแต่แรก ไม่ใช่ผู้ที่จะสร้างสันติภาพแต่อย่างใด

ตราบใดที่มีระบบทุนนิยม เราจะมีภัยสงครามที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน อเล็กซ์ คาลินิคอส อธิบายว่าเราไม่สามารถเลือกข้างได้ในการแข่งขันดังกล่าว อย่าหลงคิดว่ามันเป็นความขัดแย้งทางลัทธิหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างที่ผู้นำพยายามโกหกเราเสมอ

การเมืองระหว่างประเทศในโลก ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เป็นแค่ “โต๊ะกินข้าวของหมาป่า” ดังนั้นเราต้องต้านสงครามและระบบขูดรีด และต้องทำแนวร่วมสากลกับประชาชนชั้นล่างทั่วโลก

ประวัติศาสตร์ยูเครน

หลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 พรรคบอลเชวิคภายใต้การนำของเลนินกับทรอตสกี้ผลักดันนโยบายที่ให้เสรีภาพกับประเทศที่เคยถูกกดขี่ภายใต้อนาจักรรัสเซียของกษัตริย์ซาร์ แต่ยูเครนกลายเป็นสมรภูมิสงครามระหว่างกองทัพขาวที่ต้านการปฏิวัติกับกองทัพแดง ยูเครนตะวันออกที่มีอุตสาหกรรมมีกรรมาชีพจำนวนมากที่สนับสนุนบอลเชวิค นอกจากนี้เยอรมันกับโปแลนด์พยายามแย่งพื้นที่ของยูเครนอีกด้วย

พอสตาลินขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียและทำลายการปฏิวัติ มีการรื้อฟื้นชาตินิยมรัสเซียเหมือนสมัยกษัตริย์ซาร์ ก่อนหน้านี้สตาลินคัดค้านเลนินในเรื่องการให้ชาวยูเครนกำหนดอนาคตตนเอง การยึดผลผลิตจากเกษตรกรของเผด็จการสตาลินระหว่าง 1932-1933 ทำให้ประชาชน 3.9 ล้านอดอาหารตาย

ในปี 1936 ทรอตสกี้ ซึ่งเป็นคนยิวที่เกิดในยูเครนและต้องลี้ภัยจากสตาลินในต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายของสตาลินทำลายความเชื่อมั่นของชาวยูเครนต่อรัฐบาลโซเวียตโดยสิ้นเชิง เขาอธิบายต่อว่าผู้นำปฏิกิริยาของยูเครนพยายาม “ขายชาติ” โดยชวนให้ประชาชนไปก้มหัวให้จักรวรรดินิยมต่างๆ ภายใต้คำสัญญาที่ไร้ค่าว่ายูเครนจะได้รับอิสรภาพ ต่อมาในสงครามโลกครั้งที่สองยูเครนกลายเป็นสมรภูมิระหว่างกองทัพนาซีของเยอรมันกับกองทัพของรัสเซีย พวกนาซีซึ่งรวมถึงฝ่ายขวาฟาสซิสต์ของยูเครนเองได้ทำการล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

หลังการล่มสลายของระบบทุนนิยมโดยรัฐและเผด็จการพรรคคอมมมิวนิสต์ของรัสเซีย คนยูเครนจำนวนมากฝันว่าถ้าหันไปหาอียูกับอำนาจตะวันตกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ในปี 1990 มีการลุกฮือของนักศึกษาที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพจากรัสเซียในปีต่อไป แต่มีการข้อขัดแย้งว่าใครจะได้ครอบครองอาวุธในฐานทัพของรัสเซียที่ไครเมีย คนส่วนใหญ่ในทางตะวันออกของยูเครนเป็นคนเชื้อสายรัสเซียและอยากอยู่กับรัสเซีย คนทางตะวันตกมักจะมองไปที่อียู ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วยูเครนพูดสองภาษาที่บ้านคือรัสเซียกับยูเครน ชาวรัสเซียกับชาวยูเครนใกล้ชิดกันเหมือนคนไทยกับคนลาว

ในปี 1993 ความฝันของประชาชนจำนวนมากที่คิดว่าการหันไปทางตะวันตกและรับกลไกตลาดเสรีจะทำให้ฐานะดีขึ้น ก็กลายเป็นฝันร้ายเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและรัฐบาลใช้นโยบายรัดเข็มขัด ท่ามกลางวิกฤตนี้พวกนักการเมืองฉวยโอกาสก็เริ่มใช้แนวคิดชาตินิยมเพื่อเบี่ยงเบนความไม่พอใจของประชาชน มีทั้งชาตินิยมที่ชอบตะวันตก และชาตินิยมที่ชอบรัสเซีย สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลงอีกเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008

ในปี 2013 ธนาคารกลางของยูเครนไม่มีเงินเหลือที่จะควบคุมเศรษฐกิจ ผู้นำทางการเมืองพยายามเข้าใกล้อียูเพื่อแก้ปัญหา แต่ในที่สุดประธานาธิบดี Yanukovych เลือกทำข้อตกลงใต้โต๊ะกับปูตินแทนที่จะเซ็นสัญญากับอียู

ประธานาธิบดี Yanukovych เคยถูกขับไล่ออกไปในการลุกฮือ “สีส้ม” ในปี2004 แต่เข้ามาใหม่ในปี 2010 ด้วยการโกงการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่นำไปสู่การลุกฮือของนักศึกษาที่จัตุรัส Maidan นักศึกษาเหล่านี้มองว่าพวกผู้นำแนวสตาลินเก่าเช่น Yanukovychมักจะโกงกิน

หลังจากการพยายามปราบการลุกฮือที่ Maidan มีผู้ออกมาชุมนุมมากขึ้นและมีหลากหลายกลุ่มที่การเมืองแตกต่างกัน หลายคนอยากล้มรัฐบาลแต่ไม่ชัดเจนว่าต้องการให้ยูเครนใกล้ชิดกับอียูหรือรัสเซีย มันเป็นโอกาสทองที่ทั้งตะวันตกและรัสเซียจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองยูเครน ประชาชนทางตะวันตกของประเทศมีแนวโน้มสนับสนุนอียูและนาโต้ พวกนักการเมืองที่มองไปทางตะวันตกมักจะโจมตีประชาชนทางตะวันออกและทางใต้ที่พูดภาษารัสเซีย ว่าเป็นพวก “บุกรุก” ในบรรยากาศแบบนี้พวกกลุ่มฝ่ายขวาจัดก็เพิ่มอิทธิพล และปูตินก็โต้ตอบด้วยการใช้แนวชาตินิยมรัสซียและการเสนอว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมานาน

สถานการณ์ความขัดแย้งแบบนี้นำไปสู่การสู้รบระหว่างรัฐบาลส่วนกลางของยูเครนกับประชาชนในแถบ Donbas ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางทหารโดยรัสเซีย คาดว่ามีคนล้มตายจากสงครามกลางเมืองนี้หลายหมื่น ในขณะเดียวกันรัสเซียก็เข้าไปยึด Crimea ซึ่งมีฐานทัพสำคัญของรัสเซีย

โลกหลังสงครามเย็น

หลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลกในช่วงปี 1989 มีการจัดระเบียบระบบจักรวรรดินิยมใหม่

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนฝ่ายขวาหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย อันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ก็เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว เขาเสนอต่อว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

สถานการณ์หลังวิกฤตโลกปี 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

ถ้าจะเข้าใจสถานการณ์ในทะเลจีนตอนใต้ เราจะเห็นว่ารากฐานความขัดแย้งมาจากการที่ทุนนิยมจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนจีนกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และแซงหน้าญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกทางทหารและเศรษฐกิจ เริ่มถอยหลังและประสบปัญหาทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ

สหรัฐแพ้สงครามในอิรักกับอัฟกานิสถาน เพราะไม่สามารถครอบครองและรักษาอิทธิพลระยะยาวในทั้งสองประเทศ อหร่าน อดีตศัตรูของสหรัฐ มีการเพิ่มอิทธิพลในพื้นที่ และในหลายประเทศของตะวันออกกลางมีสงครามต่อเนื่องขณะที่องค์กรอย่าง “ไอซิล” ก็เพิ่มบทบาท

เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 อย่างหนัก และการขยายตัวของเศรษฐกิจหลังจากนั้นล้าช้า ญี่ปุ่นยิ่งมีปัญหาหนักกว่าสหรัฐอีก

ในอดีตสหรัฐจะพยายามคุมอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีน ด้วยกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ชนชั้นปกครองจีนมองว่าจีนต้องสร้างกองทัพเรือและฐานทัพในทะเลจีน เพื่อปกป้องเส้นทางการค้าขายทางทะเลที่มีความสำคัญกับจีน การขยายตัวทางทหารของจีนในทะเลจีนจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับสหรัฐและหลายประเทศรอบข้าง มีการสร้างแนวร่วมทางการทูตและทหารใหม่ขึ้นมา จีนจับมือกับรัสเซียอีกครั้ง สหรัฐจับมือกับเวียดนามและขยายบทบาททางทหารในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ มันเป็นสถานการณ์ที่อันตรายเพราะถ้าเกิดการปะทะกันระหว่างสองประเทศใด ประเทศอื่นๆ จะถูกลากเข้ามาในความขัดแย้ง และในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา รวมถึงเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

การบุกยูเครนของรัสเซียปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการคาดการณ์ของปูตินว่าสหรัฐอ่อนแอลง และการเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยสหรัฐกับพันธมิตร มากจากความต้องการของสหรัฐที่จะพิสูจน์กับจีนว่าสหรัฐยังมีอำนาจอยู่ จะเห็นว่าทุกส่วนของโลกหนีไม่พ้นอิทธิพลของความขัดแย้งในระบบจักรวรรดินิยม

แน่นอนท่ามกลางความขัดแย้งและสงคราม ชนชั้นปกครองประเทศต่างๆ พยายามสร้างความชอบธรรมกับฝ่ายตนเอง เช่นการเสนอว่าตะวันตกขัดแย้งกับรัสเซียเพราะตะวันตกเป็นประชาธิปไตยและรัสเซียเป็นเผด็จการ ซึ่งไม่ต่างจากข้ออ้างเรื่อง “โลกเสรี” ที่เผชิญหน้ากับ “คอมมิวนิสต์” ในสงครามเย็น แต่ในความเป็นจริง “โลกเสรี” ของตะวันตกมักจะรวมเผด็จการโหดในหลายประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และทุกวันนี้นาโต้กับตะวันตกก็สนับสนุนการทำสงครามโดยเผด็จการอย่างซาอุหรืออิสราเอล ความขัดแย้งระหว่างรัฐในระบบจักรวรรดินิยมโลกมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับลัทธิทางความคิดเลย

การยุติสงครามโดยประชาชน

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติเพราะมีการปฏิวัติล้มชนชั้นปกครองในรัสเซียและเยอรมัน และทหารอังกฤษกับฝรั่งเศสเบื่อหน่ายกับสงครามไม่พร้อมจะสู้ต่อ

สงครามเวียดนามยุติลงเพราะทหารอเมริกาไม่พร้อมจะรบต่อไปท่ามกลางการประท้วงต้านสงครามในสหรัฐและที่อื่นๆ

สงครามในอิรักและอัฟกานิสถานยุติลงเพราะคนในประเทศเหล่านั้นไม่ยอมอยู่ต่อภายใต้อำนาจสหรัฐ สหรัฐจึงบริหารปกครองประเทศไม่ได้

การเรียกร้องให้จักรวรรดิยมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาแทรกแซงทางทหารจะไม่นำไปสู่สันติภาพ แต่จะนำไปสู่การขยายสงครามต่างหาก คำตอบต้องอยู่ที่ประชาชนชั้นล่าง

ทุกวันนี้ประชาชนชาวรัสเซียส่วนหนึ่ง ไม่ยอมเชื่อคำโกหกของปูติน และออกมาประท้วงต่อต้านสงครามทั้งๆ ที่ถูกรัฐบาลรัสเซียปราบและข่มขู่ ทุกวันนี้ประชาชนยูเครนก็ออกมาแสดงความไม่พอใจกับการเข้ามาของทหารรัสเซีย ดังนั้นพวกเราในทุกประเทศของโลกจะต้องพยายามสร้างขบวนการต้านสงครามของทุกฝ่าย และสมานฉันท์กับคนในประเทศอื่นที่ต้านสงคราม ในไทยการต่อต้านพลังทหารและสงคราม แยกออกไม่ได้จากการต่อต้านเผด็จการทหารของประยุทธ์และการทำรัฐประหาร และแยกออกไม่ได้จากการที่ทหารไทยกำลังยึดครองปาตานี

ใจอึ๊งภากรณ์

อนาคตของอัฟกานิสถานหลังตาลิบันชนะตะวันตก

ไม่มีใครสามารถทำนายด้วยความมั่นใจว่าอนาคตของอัฟกานิสถานหลังความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกจะเป็นอย่างไร แต่เราสามารถตั้งข้อสังเกตสำคัญๆ ได้ดังนี้

ตาลิบันสามารถครองใจประชาชนจำนวนมาก เพราะในพื้นที่ที่เขาคุมเขาใช้ระบบยุติธรรมที่เป็นธรรม ส่วนในพื้นที่ที่รัฐบาลหุ่นของสหรัฐคุม ระบบยุติธรรมเต็มไปด้วยการคอร์รับชันและการเล่นเส้นเล่นสาย จนพูดได้ว่าไม่มีความยุติธรรมเลย นอกจากนี้ประชาชนในชนบทเกลียดชังตะวันตกเพราะมีการทิ้งระเบิดทำลายชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ตาลิบันยึดอำนาจได้ โดยไม่มีเหตุนองเลือดและไม่ต้องสู้รบ เพราะตาลิบันเจรจาทำข้อตกลงกับกลุ่มอำนาจในชุมชนและเมืองต่างๆ หลายฝ่าย และสัญญาว่าจะยุติสงคราม กลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ยอมให้ตาลิบันยึดอำนาจเพราะมองไม่ออกว่าอดีตรัฐบาลจะชนะตาลิบันอย่างไร และทหารของรัฐบาลเก่าก็หมดกำลังใจที่จะสู้ต่อ แต่การทำสัญญากับหลายกลุ่มที่เคยอยู่ข้างสหรัฐและอังกฤษมีข้อเสีย เพราะพวกนั้นคงหวังผลประโยชน์เป็นการตอบแทน และเขาเป็นพวกที่มีประวัติการคอร์รับชันสูง ถ้าตาลิบันต้องปกครองร่วมกับพวกนี้ในที่สุดจะเสี่ยงกับการเสียฐานสนับสนุนจากคนธรรมดาในชนบท

ตาลิบันมีการดึงชาวอัฟกันหลายเชื้อชาติเข้ามาร่วมขบวนการ ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่เน้นกลุ่มเชื้อชาติเดียว ซึ่งทำให้ตาลิบันขยายฐานอำนาจได้ ในขณะเดียวกันพวกขุนศึกที่เคยคุมหลายพื้นที่ก็หมดอำนาจลงไป

อัฟกานิสถานเป็นประเทศยากจนที่มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดินสูงมาก รัฐบาลต่างๆ ก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อการปฏิรูปที่ดิน ในอนาคตถ้ารัฐบาลตาลิบันสามารถปฏิรูปที่ดินเพื่อให้คนจนในชนบทมีที่ดินของตนเองก็จะสามารถครองใจประชาชนจำนวนมาก แต่ถ้าตาลิบันต้องสร้างรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยแนวร่วมจากกลุ่มที่เคยสนับสนุนสหรัฐ พวกนี้จะกีดกันการปฏิรูปที่ดินเพราะขัดกับผลประโยชน์ชนชั้นตนเอง ซึ่งถ้าตาลิบันล้มเหลวในการปฏิรูปที่ดินประชาชนในชนบทจะเริ่มไม่พอใจมากขึ้น

ในเรื่องสิทธิสตรี ซึ่งเป็นข้ออ้างเท็จของตะวันในการบุกและยึดครองอัฟกานิสถานเมื่อยี่สิบปีก่อน โฆษกตาลิบันออกมาพูดว่าอยากให้สตรีมีบทบาทในสังคมการเมือง แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตาลิบันเปลี่ยนความคิดจริงหรือแค่โกหก การกดขี่สตรีของตาลิบันมาจากลัทธิศาสนาสายอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นรากฐานการก่อตั้งขบวนการแต่แรก มันเป็นลัทธิที่มาควบคู่กับความคิดกู้ชาติจากรัสเซีย ตะวันตก และขุนศึกอัฟกัน

จักรวรรดินิยมตะวันตกไม่เคยสนใจสิทธิสตรีในรูปธรรมเลย เพราะทำแนวร่วมและขายอาวุธให้ประเทศที่กดขี่สตรีหนักๆ อย่างซาอุดิอาระเบีย และในสหรัฐเองสิทธิทำแท้งเสรีก็ถูกรัฐคุกคามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในรูปธรรมกองทัพของจักรววรดินิยมตะวันตกในอัฟกานิสถาน แสดงความสมานฉันท์กับสตรีอัฟกันในชนบทด้วยการทิ้งระเบิดหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งทำให้พลเรือนทั้งหญิงและชายล้มตายจำนวนมาก

สตรีในอัฟกานิสถานสามารถปลดแอกตนเอง ไม่ต่างจากสตรีที่อื่น แต่แน่นอนต้องใช้เวลา และต้องได้รับความสมานฉันท์จากชาย แต่สิ่งที่ชัดเจนคือไปหวังพึ่งจักรวรรดินิยมตะวันตกไม่ได้

ดูเหมือนตาลิบันอยากจะไปจับมือกับรัฐบาลจีน จีนต้องการเห็นความมั่นคงในอัฟกานิสถานและต้องการปกป้องการลงทุนในเรื่องพลังงานในภูมิภาคนี้ ถ้าตาลิบันผูกมิตรกับจีน ก็คงจะทำเพื่อหวังคานอำนาจตะวันตก แต่ทั้งจีน รัสเซีย สหรัฐและอังกฤษก็ล้วนแต่เป็นจักรวรรดินิยมทั้งนั้น จีนคงจะเรียกร้องให้ตาลิบันเลิกสนับสนุนชาวมุสลิมในจีนที่ถูกรัฐบาลกดขี่อีกด้วย เช่นชาวอุยกูร์

ขอย้ำอีกครั้งว่าชาวมาร์คซิสต์ไม่ได้สนับสนุนตาลิบันแต่อย่างใด เรามองว่าตาลิบันเป็นขบวนการอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา ซึ่งเกิดขึ้นจากการแทรกแซงของจักรวรรดินิยมตะวันตกและเคยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐในอดีต แต่เราดีใจที่จักรวรรดินิยมสหรัฐและอังกฤษแพ้สงครามในอัฟกานิสถาน เพราะเราคัดค้านสงครามจักรวรรดินิยมทุกรูปแบบ ชาวอัฟกันจะมีเสรีภาพได้เมื่อปลดแอกตนเอง ไม่ต่างจากในไทย คนไทยจะมีเสรีภาพได้ก็ต้องปลดแอกตนเองเช่นกัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3B0k0bw  

สหรัฐกับอังกฤษพ่ายแพ้ในอัฟกานิสถาน ฝ่ายซ้ายคิดอย่างไร?

ในอัฟกานิสถานเราเห็นความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกท่ามกลางการเสียชีวิตของคนจำนวนมากในรอบ20ปีของการแทรกแซง เราดีใจที่สหรัฐและอังกฤษแพ้ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราสนับสนุนตาลิบัน ซึ่งเป็นขบวนการฝ่ายขวาคลั่งศาสนา แต่ในการปลดแอกประชาชนจากตาลิบัน ประชาชนต้องทำเอง คนอื่นทำให้ไม่ได้ เพราะถ้าคนอื่นทำให้มันก็กลายเป็นการแทรกแซงโดยจักรวรรดินิยมอีกรอบไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติหรือสหรัฐ

เราต้องเน้นว่าโศกนาฏกรรมของอัฟกานิสถานเป็นสิ่งที่เกิดจากการแทรกแซงของจักรวรรดินิยม

จักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มสงครามในประเทศอัฟกานิสถานโดยใช้ข้ออ้างในการก่อสงครามจากการถล่มตึกเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ในการทำสงครามครั้งนี้สหรัฐอ้างว่าทำเพื่อกำจัดการก่อการร้าย โดยเฉพาะองค์กรอัลเคดาที่แอบอยู่ในประเทศ และทั้งๆ ที่รัฐบาลตาลิบันเสนอว่าพร้อมจะขับไล่อัลเคดาออกไป แต่สหรัฐไม่สนใจ ในที่สุดสงครามของสหรัฐและอังกฤษได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศหนึ่งที่ยากจนที่สุดในโลกและทำให้ผู้คนบริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมากกว่าที่ล้มตายในนิวยอร์คแต่แรก  เพราะฉนั้นถ้าหากเราต้องการมองเห็นต้นตอสาเหตุของสงครามที่แท้จริง   เราต้องมองว่าสงครามครั้งนี้เกี่ยวข้องกับระบบจักรวรรดินิยมของทุนนิยมอย่างแยกไม่ออก

ในยุคหลังความพ่ายแพ้ของสหรัฐในสงครามเวียดนาม สหรัฐที่เคยเป็นเจ้าโลก เริ่มถูกมองว่าอ่อนแอลงทั้งทางกำลังทหารและเศรษฐกิจ รัฐบาลสหรัฐจึงต้องการฟื้นความเป็นใหญ่ของสหรัฐผ่านการทำสงครามให้ชาวโลกเห็น

สื่อต่าง ๆ  พยายามนำเสนอว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสรีภาพ ตามที่มีนักคิดฝ่ายขวา ชื่อ Samuel  P. Huntington  เคยเสนอไว้ในหนังสือชื่อ  ” The clash of civilizations ”  (ซึ่งแปลว่าการปะทะกันทางอารยธรรม)  เขาเสนอว่าหลังยุคสงครามเย็นจะมีการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับตะวันออก  ระหว่างคริสต์กับอิสลาม ระหว่างประชาธิปไตยเสรีกับเผด็จการอิสลาม แต่ในความเป็นจริงสหรัฐและประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ ไม่เคยมีหลักการณ์ในนโยบายต่างประเทศเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพ เพราะบ่อยครั้งสนับสนุนการทำรัฐประหารของฝ่ายขวา หรือไปจับมือกับรัฐอิสลามล้าหลังสุดขั้วอย่างซาอุดิอาระเบีย

ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น  จะเห็นว่ามีประเด็นทางเศรษฐกิจที่เป็นประเด็นหลักในการเกิดสงครามครั้งนี้  แม้ว่าประเทศอัฟกานิสถานจะไม่มีทรัพยากรให้กอบโกย  แต่ประเทศรอบข้างในแถบตะวันออกกลางนั้นมีบ่อน้ำมันเป็นจำนวนมาก  และประเทศอัฟกานิสถานก็เป็นประตูสู่ประเทศในแถบตะวันออกกลาง  ซึ่งมีการแย่งชิงผลประโยชน์ในเรื่องบ่อน้ำมันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาจนถึงสงครามอ่าวเพอร์เซีย  ทำให้เราตัดสินได้ว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามจักรวรรดินิยม  ที่มีจักรวรรดินิยมรายใหญ่อย่างสหรัฐและพันธมิตรเป็นผู้เข้ารุมประเทศอัฟกานิสถาน  เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในโลกทางทหารซึ่งเชื่อมไปสู่ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจในเวทีโลก

จักรวรรดินิยมตะวันตกไม่ใช่กลุ่มมหาอำนาจเดียวที่แทรกแซงอัฟกานิสถาน ก่อนหน้าที่ตะวันตกจะบุกเข้าไปจักรวรรดินิยมรัสเซียก็เคยแทรกแซงและในที่สุดพ่ายแพ้ต้องถอนทหารออกไป ในยุคนั้นสหรัฐแอบสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ที่สู้กับรัสเซียรวมถึงตาลิบันด้วย

ตาลิบันเกิดขึ้นในรูปแบบขบวนการกู้ชาติของนักศึกษาในวิทยาลัยอิสลามแนวอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมจึงมีแนวคิดปฏิกิริยา กลุ่มนี้ยึดอำนาจได้ก่อนที่ตะวันตกจะบุกเข้ามา เพราะรัฐบาลขอกลุ่มขุนศึกต่างๆ ที่ครองอำนาจหลังจากที่รัสเซียถอนออกไป ล้วนแต่มีการแย่งชิงผลประโยชน์กันและเต็มไปด้วยการคอรรับชั่น

ความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกในอัฟกานิสถานเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยลดอิทธิพลของกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่จะไปก่อสงครามและแทรกแซงประเทศต่างๆ

ในเรื่องของสถานภาพสตรีในอัฟกานิสถาน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตาลิบันกดขี่สตรี แต่การแทรกแซงของตะวันตกไม่เคยทำไปเพื่อปลดแอกสตรี เพราะไม่เคยสนใจที่จะปลดแอกสตรีในประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย และภายในสหรัฐและประเทศตะวันตกอื่นๆ ใช่ว่าจะไม่มีการกดขี่ทางเพศ

เหตุการณ์ในประเทศอัฟกานิสถานแสดงให้เห็นว่าระบบทุนนิยม  เป็นต้นเหตุความรุนแรง ทั้งในรูปแบบการก่อการร้ายของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่แต่ไร้พลัง และการทำสงครามของมหาอำนาจ แทนที่จะเน้นการผลิตเพื่อการบริโภคอย่างเท่าเทียม ทุนนิยมกลับไปเน้นการแย่งชิงทรัพยากร การกอบโกยกำไร และผลิตอาวุธ และคนที่ไปรบและเสียชีวิตส่วนมากก็เป็นประชาชนคนจนในทุกประเทศรวมถึงในสหรัฐด้วย

สหประชาชาติไม่ใช่คำตอบ หลายคนอาจคิดว่าสันติภาพหรือความสงบสุขของโลกใบนี้มาจากสหประชาชาติ แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  เพราะประเทศที่มีอิทธิพลและอำนาจในการกำหนดนโยบายของสหประชาชาติก็ล้วนแต่เป็นประเทศจักรวรรดินิยมรายใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น อย่างเช่น สหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส ความเป็นกลางจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

จุดยืนนักมาร์คซิสต์ต่อสงครามโดยทั่วไป

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นกับโลกภายใต้ระบบทุนนิยม  ใช่ว่าทุกคนบนโลกจะเห็นด้วยหรือจะอยู่เฉย ๆ โดยดูได้จากจำนวนคนที่ต่อต้านสงครามอัฟกานิสถาน อย่างเช่น ที่ประเทศอินเดียออกมาประท้วง 100,000 คน  อิตาลี 300,000 คน ญี่ปุ่น 5,000 คนและสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมด้วย อังกฤษ 100,000 คน รวมถึงในไทยด้วยตัวอย่างเช่นกลุ่มมุสลิมที่ออกมาต่อต้านสงครามหลายหมื่นคน

เราจะเห็นว่ามีผู้คนจำนวนมหาศาลที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม  และที่สำคัญสงครามแต่ละครั้งหยุดได้เพราะมีการรวมตัวกันและออกมาต่อต้าน เช่น สงครามเวียดนามที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากออกมาต่อต้าน  หรือสงครามโลกครั้งที่1 หยุดได้เพราะมีการปฏิวัติในรัสเซีย

เพราะฉะนั้นจุดยืนของนักมาร์คซิสต์เห็นด้วยกับการสร้างแนวร่วมต้านสงคราม เห็นด้วยกับการที่กรรมาชีพ คนหนุ่มสาวและกลุ่มต่าง ๆ ที่รักความเป็นธรรมออกมาต่อต้านสงครามร่วมกัน แต่ในที่สุดถ้าจะยับยั้งสงครามระหว่างประเทศอย่างจริงจังเราต้องแปรรูปการต่อสู้ไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นในแต่ละประเทศ เพื่อโค่นล้มนายทุนและขุนศึกทั้งหลายและระบบทุนนิยมที่ก่อให้เกิดสงครามตลอดมา

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ และอดุลย์ อัจฉริยากร