Tag Archives: สลิ่ม

การลืมต้นกำเนิดความขัดแย้งในไทยเป็นการนำสมองไปไว้ใต้กะลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนที่เสนอว่าเราไม่ควรพูดถึง “สลิ่ม”  หรือคนที่เสนอว่าเราต้องมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ข้ามพ้นความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร โดยไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายทางการเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้ง เป็นพวกที่มองว่าความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่การก่อตัวของเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนชั้นนำไม่กี่คน หรือเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ใส่เสื้อคนละสี มันเป็นการเอาสมองไปไว้ใต้กะลา เพื่อหวังว่าเราจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่ไร้ความขัดแย้งโดยนำคนหน้าใหม่มาเป็นนักการเมืองแทนคนหน้าเก่า

มันเป็นความคิดปัญญาอ่อนที่ไร้สาระ และถ้าเราย้อนกลับไปศึกษาต้นกำเนิดความขัดแย้ง เราจะเข้าใจว่าทำไมเป็นอย่างนี้

พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ริเริ่มกระบวนการในการทำลายประชาธิปไตย ตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร ๑๙ กันยา มันทำให้เราต้องประสบวิกฤตทางการเมืองอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของทหารกับศาลซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงการก่อความรุนแรงโดยม็อบคนชั้นกลางและพวกอันธพาลจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำลายการเลือกตั้งและสนับสนุนการก่อรัฐประหารดังกล่าว นอกจากทหาร สลิ่ม แลพวกอนุรักษ์นิยมแล้ว นักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอ และนักวิชาการเสรีนิยมฝ่ายขวาก็มีส่วนในการสนับสนุนรัฐประหารและการทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย

ในรอบสิบปีที่ผ่านมาพวกที่ต้านประชาธิปไตยได้เข่นฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างเลือดเย็น โดยพวกฆาตรกรของฝ่ายรัฐลอยนวลเสมอ ในขณะเดียวกันคุกไทยมีนักโทษทางการเมืองในจำนวนที่เราไม่เคยเห็นตั้งแต่การยุติของสงครามเย็น พร้อมกันนั้นในต่างประเทศก็มีคนไทยที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนหนึ่งอย่างที่ไม่เคยมีมานาน กลไกสำคัญอันหนึ่งที่ใช้ในการปราบฝ่ายซ้ายและเสื้อแดงคือกฏหมายเถื่อน 112 ที่ปกป้องกระทำทุกอย่างของทหารเผด็จการ

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากการ “เหม็นขี้หน้าทักษิณ” ของพวกที่ทำลายประชาธิปไตย มันมาจากจุดยืนและแนวคิดทางการเมืองของเขาต่างหาก

ต้นกำเนิดของวิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้คือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ ซึ่งเปิดโปงปัญหาพื้นฐานในสังคมไทย คือการที่สภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แค่ห้าปีก่อนหน้านั้นมีการลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในการล้มเผด็จการทหาร แต่การเมืองยังวนเวียนอยู่ในสภาพเดิมๆ

ในหลายปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่ควร เพราะผลประโยชน์เกือบทั้งหมดตกอยู่ในมือของชนชั้นนำและนายทุนไม่กี่คน ส่วนชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเช่นกัน ก็ได้ประโยชน์บ้าง สรุปแล้วหลายแง่ของสังคมไทยถูกแช่แข็งในความล้าหลัง

ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตของประชาชนทั่วประเทศเปลี่ยนไป คนที่เลี้ยงชีพในภาคเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว และคนที่เป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและการบริการก็เพิ่มขึ้น แม้แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรของชนบทก็ต้องเสริมรายได้ด้วยการทำงานในกิจกรรมนอกภาคเกษตรในชุมชนตนเองด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนมากพอสมควร โดยเฉพาะเวลาเราพิจารณาว่าคนที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไปได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคนรุ่นใหม่เริ่มเข้าสู่วัยของการเป็นผู้ใหญ่ แต่ความไม่พอใจดังกล่าวไม่ได้ถูกแสดงออกเพราะหลายคนขาดความมั่นใจ และมองไม่ออกว่าจะแก้สถานการณ์ในรูปธรรมอย่างไร นอกจากนี้ไทยขาดพรรคฝ่ายซ้ายที่จะเป็นปากเสียงของคนเหล่านี้โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์

ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเรามีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีภาพว่ามาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมกับการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนเริ่มมีความหวังว่าสภาพสังคมจะดีขึ้น มันเป็นประกายไฟที่จุดให้คนจำนวนมากตื่นตัวทางการเมืองภายใต้ความหวังและทางออกที่พอมองเห็นได้

ทักษิณ ชินวัตร กับพรรคไทยรักไทย เข้าใจและพร้อมจะฉวยโอกาสทองในการสร้างการเมืองแบบใหม่บนพื้นฐานโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อครองใจประชาชน ซึ่งจะแทนที่ระบบอุปถัมภ์และการซื้อเสียงแบบเดิม นโยบายของไทยรักไทย โดยเฉพาะ “30บาทรักษาทุกโรค” และกองทุนหมู่บ้าน ถูกออกแบบเพื่อทำให้สังคมไทยทันสมัยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหญ่เพิ่มกำไรผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยทั่วไปในสังคม ทักษิณเรียกนโยบายดังกล่าวว่า “นโยบายคู่ขนาน” คือผสมการลงทุนจากรัฐกับการใช้กลไกตลาดเสรี แต่ศัตรูของไทยรักไทยมักเรียกนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ว่าเป็น “ประชานิยม” เหมือนใช้คำด่า พวกนี้เกลียดชังการใช้รัฐเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะเขานิยมกลไกตลาดเสรีสุดขั้วแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ที่ให้ประโยชน์กับพวกเขามานาน นอกจากนี้พวกนี้เกลียดชังคนส่วนใหญ่และมองว่าเราเป็น “คนโง่” ที่ไว้ใจไม่ได้ ถูกซื้อง่าย และตัดสินใจอะไรเองไม่ได้

สาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยม เริ่มไม่พอใจรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆที่เคยชื่นชมในยุคแรก คือการที่ไทยรักไทยสามารถครองใจประชาชนผ่านนโยบายและสามารถผูกขาดอำนาจจากการชนะการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย พวกนั้นไม่พร้อมหรือไม่สามารถที่จะแข่งขันทางการเมืองกับไทยรักไทยในระบบการเลือกตั้ง เขาจึงหันมาชื่นชมเผด็จการแทน

วิกฤตการเมืองปัจจุบันไม่ได้เกิดจาก “ปัญหาการเปลี่ยนรัชกาล” แต่อย่างใด เพราะกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนอ่อนแอมาตลอด ไม่มีอำนาจ และถูกใช้โดยทหารและอำมาตย์ รวมถึงนักการเมืองอย่างทักษิณอีกด้วย

ในขณะที่เรามองเห็นและรู้จักพวกที่ทำลายประชาธิปไตย เราต้องไม่ไปหลงใหลในนักการเมืองแบบทักษิณว่าจะสู้เพื่อประชาธิปไตย ทักษิณมีส่วนในการแช่แข็งเสื้อแดง และเขาเป็นนักการเมืองของฝ่ายทุนที่พร้อมจะก่ออาชญากรรมในปาตานีหรือในสงครามยาเสพติด

ข้อเสนอว่าเราควรหาทางข้ามพ้นความขัดแย้งในหมู่ประชาชนสองฝ่ายของสังคมไทย เพื่อหาฉันทามติในการกำหนดรูปแบบการเมืองที่ไม่ใช่เผด็จการทหาร เป็นข้อเสนอที่จะไม่สร้างประชาธิปไตยจริงในรูปธรรม เพราะความขัดแย้งทางการเมืองมักดำรงอยู่ในทุกสังคมของโลก และความขัดแย้งดังกล่าวมีรากฐานจากผลประโยชน์ที่ต่างกันทางชนชั้น ทั้งๆ ที่ประเด็นต่างๆ อาจถูกบิดเบือนไปหรือไม่ชัดเจนแบบขาวกับดำ การหาฉันทามติระหว่างคนที่รักประชาธิปไตยในไทยกับพวกสลิ่ม นอกจากจะเป็นความฝันที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเป็นข้อเสนอที่จะจบลงโดยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประนีประนอมในที่สุด ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเป็นฝ่ายประนีประนอม เราจะได้แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ถูกเปิดโปงออกมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะสภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ล้าหลังและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกับเศรษฐีคนรวยหรือแม้แต่คนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่สบาย เราจะวนเวียนอยู่ในอ่างจนเกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

ทำไมฝ่ายซ้ายไทยถึงได้กลายเป็นพวกขวา?

ใจ อึ๊งภากรณ์

“ทำไมฝ่ายซ้ายไทยถึงได้กลายเป็นพวกขวา?” เป็นคำถามที่บางคนตั้งขึ้นมาในยุคนี้ แต่ก่อนที่จะขอตอบ ต้องอธิบายว่ามันเป็นเพียงบางคนเท่านั้น เพราะอดีตฝ่ายซ้ายไทยจำนวนมากเคยเข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสื้อแดง ไม่ได้เป็นฝ่ายขวา

“พวกขวา” ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอนิยามว่าหมายถึงพวกที่โบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหารเพื่อทำลายประชาธิปไตย

ในประการแรก คนที่ตั้งคำถามแบบนี้มักจะตกอกตกใจด้วยความซื่อบื้อเมื่อเห็นคนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นมาร์คซิสต์หรือพุทธ คุณควรจะรู้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะ “ต้อง” เปลี่ยนเสมอ แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ในมุมกลับมีบางคนที่ซื่อบื้อคิดว่าถ้าในวัยหนุ่มสาวเป็นซ้าย พออายุมากขึ้นต้องเป็นขวา แต่ไม่พูดว่าถ้าในวัยหนุ่มสาวเป็นขวาจะต้องเป็นซ้ายเวลาอายุมากขึ้น!! สำหรับผู้เขียนคนนี้และเพื่อนมิตรสหายในไทยและต่างประเทศที่อายุพอๆ กัน คือย่างเข้าหกสิบกว่า ขอยืนยันว่าเป็นซ้ายมาตั้งแต่ ๖ ตุลา และทุกวันนี้ยังซ้ายอยู่ด้วยความภูมิใจ

มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง

คาร์ล มาร์คซ์ ในวัยหนุ่มเป็นแค่เสรีชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่พออายุมากขึ้นก็จะเอียงไปทางซ้ายมากขึ้นจนถึงวันตาย มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง เริ่มต้นเป็นผู้เรียกร้องความเท่าเทียมให้กับคนผิวดำในสหรัฐ แต่พออายุมากขึ้น ก่อนที่จะถูกยิงตาย เริ่มพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน และเริ่มพูดถึงจักรวรรดินิยม คือขยับไปทางซ้ายนั้นเอง

ในประการที่สอง อดีตฝ่ายซ้ายไทย หรือพวกที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทสไทย (พคท.) เป็นคนที่เคยคิดว่าลัทธิ “สตาลิน-เหมา” ของพคท. คือ “มาร์คซิสต์” หรือ”สังคมนิยม” แต่ลัทธิ “สตาลิน-เหมา” เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการปลดแอกมนุษย์ของนักมาร์คซิสต์ เพราะสำหรับชาวมาร์คซิสต์ การปลดแอกมนุษย์ต้องมาจากการกระทำของพลเมืองธรรมดาเองในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะกรรมาชีพ ไม่ใช่ทำโดยคนกลุ่มน้อย แต่พคท. และพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก หลังจากที่สตาลินทำลายการปฏิวัติรัสเซียและขึ้นมามีอำนาจ กลายเป็นพรรคที่เป็นเผด็จการเหนือชนชั้นกรรมาชีพ และทุกวันนี้เราก็ยังเห็นพรรคเผด็จการเหล่านี้ปกครองประเทศจีน เวียดนาม และลาว

ดังนั้นการที่อดีตฝ่ายซ้ายไทยจะไม่เกลียดชังเผด็จการมากนัก หรือเชียร์เผด็จการทหาร ก็อาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงใหญ่เกินไปสำหรับบางคน

แต่เราต้องอธิบายเพิ่ม เพราะแค่นี้ไม่พอ

ในประการที่สาม อดีตฝ่ายซ้ายไทยจำนวนมากมีอาการ “อกหัก” เมื่อ พคท. และระบบเผด็จการ “คอมมิวนิสต์” ทั่วโลกล่มสลายเมื่อสามสิบปีก่อน ความผิดหวังนี้ย่อมเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนทบทวนความคิด และเลือกเดินในเส้นทางใหม่ที่แตกต่างกันไป

บางคนไปปลื้มกับไทยรักไทยและทักษิณ เพราะมองว่านักการเมืองทุนนิยมที่มีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน และลงสมัครรับเลือกตั้ง คือทางออกที่ดีกว่าการจับอาวุธเข้าป่า

บางคนคิดจะหันหลังให้กับรัฐ ปฏิเสธการพึ่งพารัฐ หรือการโค่นรัฐ และพวกนี้ก็แปรตัวไปเป็นเอ็นจีโอ เมื่อเวลาผ่านไปก็กินเงินเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นคนชั้นกลาง ภายในเอ็นจีโอก็ไม่มีประชาธิปไตย มีระบบอาวุโส ไม่ต่างจาก พคท. และไปๆ มาๆ พวกนี้เริ่มมีนิสัยแบบพี่เลี้ยง คือสอนชาวบ้านจากจุดยืนชนชั้นกลางของเขา และทุกกลุ่มหันมาพึ่งพาทุนจากรัฐเพื่อทำกิจกรรม เช่นจาก “สสส” เป็นต้น ต่อมาเอ็นจีโอ ไทยจำนวนมากก็เกิดความไม่พอใจกับรัฐบาลทักษิณ เพราะนโยบายของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากกว่ากิจกรรมของเอ็นจีโอในการพัฒนาคนจน และรัฐบาลทักษิณชอบข่มขู่เอ็นจีโออีกด้วย เอ็นจีโอจึงกลัวว่าเขาจะไม่มีอนาคตในการทำกิจกรรม สภาพแบบนั้นทำให้เขาเปลี่ยนความคิดอีก คือหันไปดูถูกคนจนว่า “เข้าไม่ถึงข้อมูล” หรือ “โง่” เพราะไป “หลงเชื่อ” ทักษิณ ในขณะที่ข้อมูลในโลกจริงพิสูจน์ว่าคนที่เลือกพรรคไทยรักไทยไม่เคยโง่ และไม่เคยขาดข้อมูลแต่อย่างใด ในที่สุดพวกนี้ก็กลายเป็นสลิ่ม

ในประการที่สี่ อดีตฝ่ายซ้ายบางคนได้ดิบได้ดี กลายเป็นนักวิชาการหรือมีอาชีพแบบชนชั้นกลาง และหันหลังให้กับความฝันว่าจะเปลี่ยนสังคมให้มีความยุติธรรมมากขึ้น พวกนี้เริ่มสบายในการเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางและเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ในที่สุดก็เริ่มมีทัศนคติที่ดูถูกคนจน และคิดว่าคนจนควรจะเจียมตัว จริงๆ แล้วเขาอาจมีทัศนคติแบบนี้มาตั้งแต่อยู่กับ พคท. ก็ได้ เพราะ พคท. เน้นการ “สอน” ชาวบ้านและนักศึกษาในลักษณะ “บนลงล่าง” และเมื่อใครเถียงด้วยก็จะด่าว่า “ไม่เข้าใจวิภาษวิธี” หรืออะไรแบบนั้น เพราะพรรคและ “กองทัพประชาชน” จะปลดแอกพลเมือง ไม่ใช่ว่าพลเมืองจะปลดแอกตนเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝ่ายซ้ายไทย หรืออดีตฝ่ายซ้ายไทย จำนวนมาก ก็ยังเป็นซ้าย หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นขวา

“ประชานิยม” ถ้อยคำอคติของชนชั้นกลาง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในยุคนี้ทั่วโลกมีการใช้คำว่า “ประชานิยม” หรือ Populism โดยเฉพาะเวลากล่าวถึงนักการเมืองฝ่ายขวาที่เหยียดเชื้อชาติ สีผิว และศาสนาอิสลาม ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีทรัมพ์ในสหรัฐ พรรคฟาสซิสต์ในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย หรือพรรคอิสรภาพสำหรับสหราชอาณาจักร (UKIP) ในอังกฤษ

สองนักการเมืองฟาสซิสต์จากฝรั่งเศสกับเนเธอร์แลนด์
อดีตหัวหน้าพรรค UKIP

“ประชานิยม” ที่มีการพูดถึงในยุคนี้จะถูกเรียกว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา”

เมื่อไม่นานมานี้มีการใช้คำว่า “ประชานิยม” เพื่อกล่าวถึงพรรคไทยรักไทยและนโยบายของทักษิณ และทั้งๆ ที่รัฐบาลทักษิณไม่ได้ถูกเรียกว่าใช้นโยบาย “ประชานิยมฝ่ายขวา” แต่การใช้คำว่า “ประชานิยม” ในไทยมีส่วนคล้ายกับการใช้คำนี้ในตะวันตกในปัจจุบัน

ส่วนคล้ายที่ผมอยากจะยกมาอธิบายคือ คำว่า “ประชานิยม” นี้ในทั้งสองกรณี เป็นคำที่ปัญญาชนหรือนักวิชาการชนชั้นกลางใช้เพื่อดูถูกคนธรรมดา โดยเฉพาะกรรมาชีพและคนจน มันเป็นคำที่เต็มไปด้วยอคติของพวกที่มองว่าตัวเองฉลาดกว่า มีการศึกษามากกว่า และเข้าใจเศรษฐศาสตร์กับการเมืองมากว่าพลเมืองธรรมดา พวกนี้มองว่าชนชั้นกรรมาชีพกับคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของทุกสังคม เป็นคนโง่

ในกรณีไทย พวกนักวิชาการสลิ่มชนชั้นกลาง จะเล่านิยายว่าทักษิณ “ซื้อเสียง” ด้วยนโยบาย “ประชานิยม” ที่เป็นผลเสียต่อประเทศชาติ สำหรับพวกสลิ่มเหล่านี้การมีนโยบายสาธารณสุขถ้วนหน้าที่ทำให้พลเมืองทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เป็นครั้งแรก เป็นการเปลืองตัง การมีนโยบายสร้างงาน เป็นการใช้งบประมาณรัฐในทางที่ผิดและไร้วินัย การพยายามลดหนี้เกษตรกร เป็นการปล่อยให้ชาวไร้ชาวนาไม่ต้องรับผิดชอบฯลฯ ซึ่งความคิดอคติดังกล่าวสะท้อนความเห็นแก่ตัวทางชนชั้นของชนชั้นกลางและพวกชนชั้นสูง

ทุกวันนี้พรรคพวกของไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดกำลังออกแบบ “ยุทธศาสตร์ล้าหลังแห่งชาติ” เพื่อไม่ให้รัฐบาลในอนาคตใช้นโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นการกีดกันคนธรรมดาออกจากการเมืองประชาธิปไตย พูดง่ายๆ พวกมันต้องการให้เราไม่มีทางเลือกอะไรในแง่ของนโยบายเมื่อมีการเลือกตั้ง

ในเรื่องประชานิยมนี้มันมีสองประเด็นที่น่ารักเกียจคือ ในประการแรกในระบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองควรพยายามเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพลเมืองส่วนใหญ่ และถ้าพลเมืองเหล่านั้นพึงพอใจและเทคะแนนให้พรรคนั้น มันก็เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย แต่พวกสลิ่มมองว่ารัฐบาลไม่ควรใช้เงินรัฐที่มาจากภาษีประชาชนในการพัฒนาชีวิตของคนส่วนใหญ่ สลิ่มมองว่ารัฐบาลควรเอาใจแค่ทหาร พวกในวัง คนรวย หรือชนชั้นกลางเท่านั้น อย่าลืมว่าไม่มีพวกนักวิชาการชนชั้นกลางคนไหนเลยที่โวยวายเวลารัฐบาลชวนเอาเงินประชาชนไปอุ้มหนี้เสียของธนาคารและบริษัทไฟแนนส์ ที่พวกชนชั้นกลางไปฝากเงินไว้ ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง และไม่มีนักวิชาการสลิ่มออกมาวิจารณ์งบประมาณอันฟุ่มเฟือยไร้ประโยชน์ของทหารหรือพวกในวัง

ในประการที่สอง พลเมืองที่เทคะแนนให้พรรคการเมืองของทักษิณ ไม่ได้เป็นคนโง่ ไม่ได้ “เข้าไม่ถึงข้อมูล” และไม่ได้ถูกทักษิณซื้อแต่อย่างใด ตามที่สลิ่มและเอ็นจีโออ้าง มันเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานเหตุผล และถ้านโยบายต่างๆ ที่เขาสนับสนุนเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ มันย่อมเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของชาติ

ในตะวันตกการพูดถึง “ประชานิยมฝ่ายขวา” ในยุคนี้ก็เป็นถ้อยคำที่เต็มไปด้วยอคติของปัญญาชนและนักวิชาการชนชั้นกลางเช่นกัน แน่นอนมันมีหลายส่วนของนโยบายของพวกฝ่ายขวาที่น่าเกลียดและเป็นพิษภัยต่อสังคม ซึ่งเราต้องประณามและต่อต้าน โดยเฉพาะนโยบายเหยียดเชื้อชาติ สีผิว เพศ และศาสนาอิสลาม มันเป็นแนวคิดที่สร้างความแตกแยกในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ และกดขี่ทำลายศักดิ์ศรีของคนที่ถูกมองว่าเป็นคน “ต่าง” หรือคน “ด้อย”

แต่บ่อยครั้งคำว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา” ถูกใช้เพื่อให้ความหมายว่ากรรมาชีพและคนจน ไปหลงสนับสนุนนโยบายดังกล่าว เพราะพวกนี้โง่ ไร้การศึกษา และมีความคิดคับแคบ เช่นมีการเหมารวมว่าพลเมืองอังกฤษทุกคนที่ลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียู รวมถึงผู้เขียนคนนี้ เป็นพวกเหยียดเชื้อชาติหมด มันมีการเหมารวมว่า ทรัมพ์ ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐเพราะกรรมาชีพและคนจนเหยียดเชื้อชาติและกดขี่สตรี แต่คำอธิบายนี้เต็มไปด้วยเรื่องเท็จ

ในกรณีอังกฤษ การลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียู เป็นการประท้วงชนชั้นปกครองจากทุกพรรคที่อยากอยู่ต่อในอียู มันเป็นการประท้วงนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายชีวิตคนจำนวนมาก และที่น่าสังเกตคือนักการเมืองกระแสหลักทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้านอียู ร่วมกันใช้วาจาเหยียดเชื้อชาติพอๆ กัน ยิ่งกว่านั้นเวลาสำรวจความคิดเหยียดเชื้อชาติ จะพบว่าพวกสลิ่ม ชนชั้นกลางผู้ประกอบการรายย่อย และพวกคนชั้นสูง เป็นตัวดีที่เหยียดเชื้อชาติสีผิว ส่วนกรรมาชีพจะมีความคิดขัดแย้งในตัว คืออาจรับความคิดเหยียดเชื้อชาติจากสื่อ แต่ประสบการณ์สอนให้รู้ว่าต้องสามัคคีกับเพื่อนร่วมงานไม่ว่าจะเชื้อชาติอะไร

ทรัมพ์

ในสหรัฐการที่ทรัมพ์ชนะ เป็นเพราะกรรมาชีพคนจนเกลียดชังคนอย่างคลินตัน ซึ่งเป็นตัวแทนของนายทุนและชนชั้นปกครองที่ทำลายชีวิตเขาหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 คนเหล่านี้จึงไม่ค่อยออกไปใช้เสียงในวันเลือกตั้ง และส่วนหนึ่งอาจลงคะแนนให้ทรัมพ์เพื่อเป็นการประท้วง แต่นั้นไม่ได้แปลว่าคนจนล้าหลังคับแคบ ในความเป็นจริงประธานาธิบดีสหรัฐทุกคนมีนโยบายเลวๆ ที่ดูแลแต่คนรวยและขยันในการก่อสงคราม โอบามา เคยสร้างความหวังกับพลเมืองไม่น้อย แต่ในที่สุดคนส่วนใหญ่ต้องผิดหวัง เพราะโอบามาไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน ไม่ได้เสนอรัฐสวัสดิการ และไม่ได้แก้ปัญหาของคนผิวดำ โดยเฉพาะในเรื่องการที่ตำรวจฆ่าวิสามัญคนผิวดำ

สรุปแล้วปรากฏการณ์ของสิ่งที่พวกปัญญาชนสลิ่มเรียกว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา” มาจากการประท้วงของพลเมืองต่อสภาพสังคมที่พวก “ข้างบน” คอยกดทับชีวิตของเขาและไม่แคร์อะไรเลย พวกสลิ่มก็ไม่เคยสนใจสภาพความเป็นอยู่ของพลเมืองส่วนใหญ่ด้วย สาเหตุส่วนหนึ่งของกระแสฝ่ายขวามาจากการที่ฝ่ายซ้ายยังอ่อนแอเกินไปที่จะดึงคะแนนของพวกที่ไม่พอใจเพื่อไปในทางที่ก้าวหน้า ฝ่ายขวาที่เหยียดเชื้อชาติจึงสามารถฉวยโอกาสสร้างแพะรับบาปได้ แต่พวกสลิ่มก็ตัวดีในการด่าวิจารณ์ฝ่ายซ้ายอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส ในสหรัฐ หรือ เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษ คือไม่ทำอะไรเลยเพื่อให้เกิดกระแสก้าวหน้า แค่สบายใจในการดูถูกคนจนเท่านั้น

คำว่า “ประชานิยม” ไม่ว่าจะในกรณีทักษิณ หรือกรณีพวกนักการเมืองฝ่ายขวาในตะวันตก เป็นคำที่ใช้เพื่อดูถูกคนส่วนใหญ่ของสังคม และมันปิดบังข้อเท็จจริงทางการเมืองหลายประการ ดังนั้นเราไม่ควรใช้อีกต่อไป

วิกฤตพรรคซ้ายในลาตินอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขณะนี้ ในหลายประเทศของลาตินอเมริกา มีวิกฤตของพรรคการเมืองซ้ายแบบ “ปฏิรูป” ที่เน้นแต่การชนะการเลือกตั้งในรัฐสภา โดยที่ไม่มีการโค่นอำนาจเก่าเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐ ไม่มีการรณรงค์สร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน และไม่สร้างพรรคปฏิวัติที่อาศัยอำนาจรากหญ้าจากล่างสู่บน

วิกฤตของพรรคฝ่ายซ้ายเหล่านี้ สร้างภัยให้กับคนยากจนและกรรมาชีพเป็นอย่างมาก เพราะเป็นโอกาสในการกลับมาของพรรคฝ่ายขวาท่ามกลางการเดินขบวนประท้วงของชนชั้นกลาง “สลิ่ม” ที่เกลียดชังคนจนและประชาธิปไตยที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน

สลิ่มในบราซิล
สลิ่มในบราซิล

ในหลายประเทศของลาตินอเมริกา พรรคฝ่ายซ้ายเคยชนะการเลือกตั้งและลงมือใช้รายได้ของประเทศในการพัฒนาชีวิตของคนจน รายได้ดังกล่าว ในประเทศอย่างบราซิล มาจากการส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ ให้ประเทศจีน ซึ่งจีนในช่วงนั้นมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประเทศอย่างเวนเนสเวลา เคยรับรายได้ระดับสูงจากการค้าน้ำมัน นโยบายช่วยคนจนของหลายรัฐบาลในลาตินอเมริกา เป็นที่ชื่นชมของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะในอดีตรัฐบาลฝ่ายขวาที่มาจากการเลือกตั้ง หรือเผด็จการทหาร ไม่เคยสนใจปัญหาความยากจนของคนส่วนใหญ่เลย หลายประเทศเคยถูกปกครองอย่างโหดร้ายโดยแก๊งอำมาตย์ที่ประกอบไปด้วยนายทุนใหญ่ คนรวย และทหาร

แต่ทุกวันนี้เศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนตัวลงและจีนซื้อวัตถุดิบน้อยลง พร้อมกันนั้นปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก บวกกับนโยบายการกดราคาเพื่อทำลายคู่แข่งของประเทศซาอุ ทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำ เศรษฐกิจบราซิลเข้าสู่วิกฤตการหดตัวอย่างหนัก และอเจนทีนากับเวเนสเวลามีระดับเงินเฟ้อที่น่ากลัวมาก

เมื่อรัฐบาลของหลายประเทศในลาตินอเมริกาประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แทนที่จะยึดทรัพย์และระบบการผลิตจากคนรวยและกลุ่มทุน กลับใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่รัดเข็มขัดตัดสวัสดิการให้ประชาชน ซึ่งทำให้ขบวนการแรงงานและคนจนจำนวนมากไม่พอใจ แต่ในขณะเดียวกันมันเป็นโอกาสทองของพวกฝ่ายขวาและชนชั้นกลาง ที่จะออกมาประท้วงด้วย

แม้แต่ในประเทศ โบลิเวีย รัฐบาลของ อีโว มอราเลส ที่เคยก้าวหน้า ก็หักหลังขบวนการประชาชนพื้นเมืองท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเหมืองแร่และน้ำมันเข้ามาลงทุนและทำลายป่า

ปัญหาใหญ่อีกอันหนึ่งในประเทศเหล่านี้คือ นักการเมืองฝ่ายซ้ายที่เคยเป็นนักสู้ หรือในกรณีของ ลูลา อดีตประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งเคยเป็นนักสหภาพแรงงานในโรงงานรถยนต์ เมื่อเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองโดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างรัฐ และไม่มีพลังมวลชนรากหญ้าที่คอยตรวจสอบตัวเอง เริ่มแปรธาตุไปเป็นพวกอภิสิทธิ์ชนเหมือนกับที่นักการเมืองฝ่ายขวาและนายทุนใหญ่เป็นอยู่ พวกนี้จึงหันไปใช้ชีวิตเหมือนพวกคนรวย และหากินแบบคอร์รับชั่น บางครั้งนักการเมืองฝ่ายซ้ายปฏิรูปเหล่านี้ อาจยิ่งโกงกินอย่างเปิดเผยมากกว่าฝ่ายขวาบางคน เพราะไม่ได้มาจากตระกูลร่ำรวยที่สะสมทรัพย์ผ่านการขูดรีดประชาชนหรือการโกงกินในอดีตเหมือนฝ่ายขวา แต่เขาอยากมีวิถีชีวิตเหมือนกัน

ทั่วโลกระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เต็มไปด้วยการโกงกิน การคอร์รับชั่น และการเอารัดเอาเปรียบขูดรีดคนอื่น ถ้านักการเมืองฝ่ายซ้ายไม่พยายามล้มทุนนิยม ก็จะปรับตัวเข้าหาระบบแทน

ปัญหาการโกงกินไม่ได้มาจาก “นิสัย” หรือ “ธรรมชาติ” มนุษย์ หรือปัญหาของการเป็นฝ่ายซ้ายแต่อย่างใด มันมาจากการที่ขาดขบวนการมวลชนที่จะมาตรวจสอบ เพราะเน้นการเป็นผู้แทนที่จะ “ทำอะไรให้ประชาชน” และมันมาจากรูปแบบการเมืองของฝ่ายปฏิรูปที่ไม่เน้นการปฏิวัติล้มระบบชนชั้นโดยพลังมวลชนที่ร่วมกันนำ

รัฐบาลพรรคซ้ายหลายแห่งเคยอาศัยกระแสการต่อสู้ของมวลชน เพื่อชนะการเลือกตั้ง แต่พอได้อำนาจทางการเมืองก็พยายามลดบทบาทมวลชน ในเวนเนสเวลา การสร้างพรรคสังคมนิยมของ ฮูโก ชาเวส ไม่ได้สร้างเพื่อส่งเสริมการปฏิวัติจากล่างสู่บน แต่สร้างเพื่อควบคุมมวลชนแทน ดังนั้นในหลายประเทศ เมื่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายหักหลังประชาชน หรือทำให้คนส่วนใหญ่ผิดหวัง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนทำงานและคนจนอ่อนแอกว่าที่เคยเป็น

ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อชนชั้นกลางสลิ่มกับนักการเมืองฝ่ายขวาออกมาเคลื่อนไหว นักสหภาพแรงงานและคนจน ติดกับดักที่มาจากความต้องการที่จะคัดค้านฝ่ายขวาและปกป้องสิ่งที่รัฐบาลฝ่ายซ้ายเคยทำให้ แต่ในขณะเดียวกันต้องการประท้วงรัฐบาลฝ่ายซ้ายด้วย

สหภาพแรงงานสนับสนุน ลูลา
สหภาพแรงงานสนับสนุน ลูลา

ในประเทศบราซิล รัฐบาลพรรคแรงงานของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และตัว “ลูลา” เอง กำลังถูกกล่าวหาว่าคอร์รับชั่นท่ามกลางการเดินขบวนของฝ่ายขวา อีกข้อกล่าวหาหนึ่งคล้ายๆ ของไทยคือฝ่ายขวาไม่พอใจกับนโยบายประชานิยมและอ้างว่ารัฐบาลใช้งบประมาณในลักษณะ “ผิดกฏหมาย” แต่นักการเมืองฝ่ายขวาที่ปลุกระดม “สลิ่ม” บราซิล ก็ถูกกล่าวหาว่าคอร์รับชั่นมากกว่าประธานาธิบดีหลายเท่า และคนที่เข้ามารับตำแหน่งชั่วคราวในขณะที่ เดลมา รุสเซฟ ถูกบังคับพัก ขณะที่มีการสืบสวน ก็โดนข้อกล่าวหาเช่นกัน ล่าสุดพรรคพวกของประธานาธิบดีเฉพาะกาลถูกจับว่าวางแผนล้ม รุสเซฟ เพื่อกีดกันไม่ให้พวกเขาโดนสืบสวนเรื่องคอร์รับชั่นเอง

ในเวนเนสเวลา ฝ่ายขวากำลังประท้วงกดดันรัฐบาลของ นิโคลัส เมดูโร และในอาเจทีนา คริสตีนา เคอร์ชเนอร์ นักการเมืองซ้ายอ่อนๆ แพ้การเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ และหลายคนมองว่าเขามีปัญหาคอร์รับชั่น อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีฝ่ายขวาคนใหม่ โมริซิโอ แมครี ก็โดนเรื่องอื้อฉาวจากการเปิดโปงการเลี่ยงภาษีใน “ปานามาเปเปอร์ส”

บทเรียนสำคัญจากสิบปีที่ผ่านมาของการเมืองลาตินอเมริกา คือฝ่ายซ้ายต้องสร้างพรรคปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนระบบอย่างถอนรากถอนโคน ต้องเน้นขบวนการมวลชนโดยเฉพาะกรรมาชีพ แทนที่จะตั้งความหวังกับผู้แทนในรัฐสภาเป็นหลัก และนอกนี้จากฝ่ายซ้ายและขบวนการแรงงานต้องมีจุดยืนที่อิสระจากพรรคฝ่ายซ้ายปฏิรูปที่มักจะหักหลังคนจนเสมอ

อ่านเรื่องเวนเนสเวลา: http://bit.ly/24YHhDL