ใจ อึ๊งภากรณ์
9 ปีหลังการสังหารเสื้อแดงผู้รักประชาธิปไตย โดยอนุพงษ์ เผ่าจินดา, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ฆาตกรแก๊งนี้ยังลอยนวล
15 ปีหลังเหตุสังหารประชาชนมาเลย์มุสลิมที่ตากใบ ทหารตำรวจและทักษิณ ชินวัตร ยังลอยนวล
26 ปีหลังการสังหารผู้รักประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภา ๓๕ ฆาตกรทหารยังลอยนวล
43 ปีหลังเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ฆาตกรทหารและตำรวจยังลอยนวล และฆาตกรหลายคนคงตายไปแล้ว
ตั้งแต่กบฏผู้มีบุญในอีสาน ที่เกิดขึ้นเพื่อต้านการกดขี่ที่มาพร้อมกับการสร้างรัฐไทยสมัยใหม่ในยุครัชกาลที่๕ ชนชั้นปกครองไทยมือเปื้อนเลือดจาก “อาชญากรรมรัฐ” ซ้ำแล้วซ้ำอีก และไม่มีเคยมีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดที่ถูกลงโทษ วัฒนธรรมการลอยนวลของอาชญากรระดับสูงในสังคมไทยจึงถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะมีการสั่งฆ่าโดยตรง หรือมีการเปิดไฟเขียวให้คนอื่นฆ่า ผู้ที่รับผิดชอบจะต้องเป็นผู้ที่ถืออำนาจในยุคนั้นๆ ความรับผิดชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องเดียวกับความผิดที่มาจากการสั่งการโดยตรงทั้งๆ ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดคนหนึ่งอาจสั่งการไปด้วย ปัญหาที่มักพบคือพิสูจน์คำสั่งโดยตรงยาก แต่ประเด็นคือคนที่มีอำนาจเพราะมีตำแหน่งต้องรับผิดชอบ เพราะผู้บริหารองค์กรหรือประเทศมีอำนาจ และต้องรับผิดชอบต่ออำนาจที่สังคมมอบให้หรือที่เขายึดมาจากสังคมผ่านการทำรัฐประหาร
ในแง่นี้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับแก๊ง คสช. ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของสหาย สุรชัย, ภูชนะ กับ กาสะลอง
และประยุทธ์ จันทร์โอชา กับแก๊ง คสช. ต้องรับผิดชอบต่อการหายตัวไปของ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง), สยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป เราคงต้องสรุปว่าทหารของ คสช. อุ้มฆ่าสามคนนี้
ในกรณีการอุ้มฆ่านักสิทธิมนุษยชน เช่นทนายสมชาย หรือนักเคลื่อนไหวไทยในประเทศลาว เราต้องเข้าใจว่ารัฐบาลเผด็จการทรราชในไทยและทั่วโลก มักจะออกมาโกหกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมแบบนี้เป็นธรรมดา และวิธีการที่พวกนี้ใช้มักจะไม่เหลือหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรให้เราสืบค้นได้ แต่นั้นไม่ได้แปลว่ารัฐบาลเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนในการก่ออาชญากรรม
เผด็จการทหารไทยมีประวัติในการเกี่ยวข้องกับการอุ้มฆ่าคนที่เห็นต่างหรือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ “โกตี๋” กับ “ดีเจซุนโฮ” ที่อยู่ในประเทศลาว เป็นตัวอย่างที่ดีของการถูกอุ้มฆ่า กองทัพไทยใช้กองกำลังลับ เพื่อฆาตกรรมวิสามัญคนมาเลย์มุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลไทยในปาตานี และใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้กองทัพไทยมีประวัติในการข้ามพรมแดนเข้าไปในประเทศลาวเพื่อไปใช้อาวุธแบบลับๆ ร่วมกับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม มันชวนให้เราคิดว่าการข้ามพรมแดนไปฝั่งลาวของทหารไทยเป็นเรื่องธรรมดา


นอกจากนี้ในกรณีของ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ (ลุงสนามหวง), สยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย และกรณีการส่งตัวคุณประพันธ์ จำเลยคดีสหพันธรัฐไท กลับไทย เราต้องประณามรัฐบาลเวียดนามและมาเลเซีย ที่ไม่มีหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานเลย และร่วมมือกับอาชญกรเผด็จการไทย
ส่วนกรณีวงดนตรีไฟเย็นที่โดนเผด็จการทหารไทยคุกคาม เราต้องคอยติดตามดูแลสถานภาพของเขาตลอด จนกว่าเขาจะได้โอกาสเดินทางไปลี้ภัยในตะวันตก
ที่เห็นชัดคือประเทศไทยเป็นประเทศที่ไร้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง และเราไม่สามารถพึ่งพรรคการเมืองกระแสหลักได้ในขณะนี้ ดังนั้นเราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชน เพื่อขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในสังคมของเรา