Tag Archives: สหภาพคนทำงาน

ปัญหาของการปลีกตัวออกเพื่อสร้างสหภาพแรงงานแดง

เลนิน เคยเขียนว่า “พวก *คอมมิวนิสต์ซ้าย* เวลามองสหภาพแรงงาน มักจะตะโกนเรียกหามวลชน! มวลชน! แล้วไม่ยอมทำงานในสหภาพแรงงาน ปฏิเสธด้วยข้ออ้างว่ามันล้วนแต่ปฏิกิริยา(เหลือง) เสร็จแล้วก็ไปประดิษฐ์สหภาพแรงงานกรรมาชีพแบบใหม่ที่ขาวสะอาด ที่ไม่เปรอะเปื้อนกับแนวคิดเสรีนิยมของนายทุน และไม่คับแคบ ซึ่งพวกเขามองว่าองค์กรดังกล่าวจะกลายเป็นองค์กรกว้างใหญ่ โดยมีเงื่อนไขเดียวในการเข้าเป็นสมาชิก คือต้องสนับสนุนระบบโซเวียด!

ความโง่เขลาที่ทำลายการปฏิวัติมากกว่านี้คงไม่มี…. ถ้าเราทำงานแบบนั้น เราจะปล่อยให้ฝ่ายขวาผูกขาดอิทธิพลเหนือมวลชนในสหภาพแรงงาน… เพราะภาระของชาวคอมมินิสต์คือการโน้มน้าวคนที่ยังไม่ได้พัฒนาทางความคิด ให้หันมามีจิตสำนึกก้าวหน้า เราต้องทำงานในองค์กรที่มีคนล้าหลังแบบนั้น ไม่ใช่ไปสร้างรั้วเพื่อแยกตัวออกจากเขาด้วยวาจา *ซ้าย* นามธรรมแบบเด็กๆ

เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้นำแรงงานอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย จะขอบคุณพวก *คอมมิวนิสต์ซ้าย* ที่ถอนตัวออกและไม่ยอมทำงานภายในสหภาพแรงงาน *เหลือง* และแน่นอนพวกผู้นำสหภาพเหล่านั้นจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการเขี่ยเราออกไปจากสหภาพแรงงานต่างๆ แต่เราจะต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะอยู่ในสหภาพแรงงาน เพื่อปลุกระดมแนวความคิดฝ่ายซ้าย”

[จากโรคไร้เดียงสา “ฝ่ายซ้าย” ในขบวนการคอมมิวนิสต์ โดย วี.ไอ. เลนิน หัวข้อ “นักปฏิวัติควรทำงานในสหภาพแรงานปฏิกิริยาหรือไม่?”]

*สหภาพคนทำงาน* ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กรสหภาพคนทำงานไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในสหภาพแรงงานอื่นได้

มาร์คซ์เข้าใจว่าคนที่มีอำนาจในการควบคุมระบบทุนนิยม ชนชั้นปกครอง มักหาวิธีหลอกลวงกรรมาชีพให้ยอมรับสภาพชีวิตและระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าในหมู่กรรมาชีพมีคนสามกลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นกรรมาชีพที่ยอมรับสภาพของสังคมทุนนิยมโดยไม่คิดจะต่อต้านเลย กลุ่มที่สองเป็นกรรมาชีพที่ไม่พอใจ มีจิตสำนึกทางชนชั้น และพร้อมจะสู้กับระบบทุนนิยม สองกลุ่มแรกนี้เป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในกลุ่มที่สามที่แกว่งไปแกว่งมาระหว่างสองกลุ่มแรก ดังนั้นสำหรับมาร์คซ์ภาระของนักสังคมนิยมคือการหาทางดึงคนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นและพร้อมจะสู้ ซึ่งถ้าเราจะทำเราต้องมีพรรคสังคมนิยมมาร์คซิสต์

ดังนั้นต้องมีการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจากกลุ่มคนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อให้พรรคสามารถปลุกระดมการต่อสู้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนพรรคต้องมีโครงสร้างประชาธิปไตยภายในที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นพรรคเผด็จการเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต หรือพรรคแนวสตาลินอื่นๆ ทั่วโลก

บางคนอาจมองว่าเขาควรทำงานกับคนก้าวหน้าเท่านั้นเพราะ “คุยกันรู้เรื่อง” แต่ปัญหาคือจะโดดเดี่ยวตัวเองและเพื่อนจากมวลชนคนส่วนใหญ่ และกลุ่มคนที่ก้าวหน้าจะไม่ขยายตัวในเมื่อแค่คุยกับคนที่มีความคิดเหมือนกัน

นักต่อสู้ที่เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติและเข้าใจแนวมาร์คซิสต์ จะให้ความสำคัญกับการปลุกระดมทั้งคนส่วนน้อยที่ก้าวหน้าที่สุด และมวลชนคนส่วนใหญ่ที่บางครั้งพร้อมจะรับฟังข้อเสนอก้าวหน้า ถ้าไม่มีพรรค เราไม่สามารถดึงมวลชนส่วนใหญ่มาอยู่ฝั่งที่ก้าวหน้าที่สุดได้ และเราไม่สามารถจัดตั้งนักปลุกระดมใหม่ๆ ของพรรคจากคนที่ก้าวหน้าได้

ใจอึ๊งภากรณ์

อนาธิปไตยกับมาร์คซิสต์ต่างกันอย่างไร?

สำหรับคนที่ต้องการล้มระบบปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ปฏิรูปแบบเล็กๆ น้อยๆ ผ่านรัฐสภา มีสองทางเลือกที่แตกต่างกันคือ แนวอนาธิปไตย กับแนวมาร์คซิสต์

คนหนุ่มสาวอาจมองว่าแนวอนาธิปไตย ที่เสนอการต่อสู้แบบไม่มีผู้นำ ไม่มีพรรค และปฏิเสธการสร้างรัฐใหม่ เป็นแนวที่ควรจะเลือก เพราะเขามีประสบการณ์ของแกนนำที่เป็นเผด็จการหรืออย่างน้อยไม่ได้หารือกับรากหญ้า เขาอาจมีประสบการณ์ของพรรคกระแสหลักที่ไม่ยอมนำการต่อสู้ และพยายามห้ามคนที่เสนออะไรก้าวหน้าไม่ให้พูด และเขาอาจมองไปที่จีน ที่อ้างว่าเป็นประเทศที่มีรัฐกรรมาชีพ แต่แท้จริงเป็นเผด็จการทุนนิยมภายใต้อำนาจพรรคแนวสตาลินเป็นต้น นอกจากนี้คนที่ปลื้มแนวอนาธิปไตยอาจเบื่อกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ที่มาจากสังคมอนุรักษ์นิยมด้วย ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ

เราอาจเห็นใจคนที่คิดแบบนี้บนพื้นฐานสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม แต่เราไม่เห็นด้วยในแนวทาง เพราะเป็นการวิเคราะห์สังคมแบบตื้นเขิน

สำหรับนักมาร์คซิสต์เรามีจุดยืนที่แตกต่างกับพวกอนาธิปไตยในเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่องคือ วิธีการพัฒนาและนำการต่อสู้ บทบาทผู้นำ บทบาทพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ และบทบาทของรัฐ

มาร์คซ์ต่างจากพวกผู้นำแนวอนาธิปไตยในยุคของเขา ตรงที่มาร์คซ์มองว่าทุนนิยมมีลักษณะก้าวหน้าในบางเรื่องคือสามารถพัฒนาระบบการผลิตได้ จนประชาชนส่วนใหญ่ไม่ควรจะต้องอดอยาก แต่ทุนนิยมไม่สามารถจะระบายความก้าวหน้านี้ไปสู่พลเมืองส่วนใหญ่ได้ เพราะเน้นการแสวงหากำไรเป็นหลัก อย่างไรก็ตามทุนนิยมเป็นระบบที่รวมผู้ผลิต กรรมาชีพนั้นเอง เข้าสู่ศูนย์กลางของการผลิต จึงให้พลังซ้อนเร้นกับกรรมาชีพ

มาร์คซ์เข้าใจว่าคนที่มีอำนาจในการควบคุมระบบทุนนิยม ชนชั้นปกครอง มักหาวิธีหลอกลวงกรรมาชีพให้ยอมรับสภาพชีวิตและระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าในหมู่กรรมาชีพมีคนสามกลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นกรรมาชีพที่ยอมรับสภาพของสังคมทุนนิยมโดยไม่คิดจะต่อต้านเลย กลุ่มที่สองเป็นกรรมาชีพที่ไม่พอใจ มีจิตสำนึกทางชนชั้น และพร้อมจะสู้กับระบบทุนนิยม สองกลุ่มแรกนี้เป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในกลุ่มที่สามที่แกว่งไปแกว่งมาระหว่างสองกลุ่มแรก ดังนั้นสำหรับมาร์คซ์ภาระของนักสังคมนิยมคือการหาทางดึงคนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นและพร้อมจะสู้ นี่คือความหมายของ “การนำ”

“การนำ” แบบมาร์คซิสต์ ไม่ใช่การสั่งของผู้ใหญ่ในขบวนการ แต่เป็นการพยายามช่วงชิงมวลชนโดยกรรมาชีพที่ก้าวหน้าที่สุด ซึ่งแน่นอนไม่ใช่คนคนเดียวหรือกลุ่ม “ผู้ใหญ่” และในเวลาที่แตกต่างกันการนำอาจมาจากคนที่แตกต่างกันด้วย แต่บ่อยครั้งพวกอนาธิปไตยจะมองว่าการนำคือการสร้างอภิสิทธิ์ชน เราจึงเห็นขบวนการคนหนุ่มสาวในไทยที่ “ปฏิเสธการมีผู้นำ”

เราเข้าใจดีว่าขบวนการของคนหนุ่มสาวต้องการหลีกเลี่ยงการนำแบบเผด็จการของ “ผู้ใหญ่” ที่สั่งจากเบื้องบนลงมา

ในขณะเดียวกันการปฏิเสธ “การนำ” และโครงสร้างของขบวนการก็มีปัญหา

ในกรณีฮ่องกง ปี 2019 ไม่มีการพึ่งนักการเมือง และไม่มีการเน้นแกนนำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะพูดกันว่าไม่มีแกนนำแต่ในรูปธรรม ท่ามกลางการเคลื่อนไหว ก็มีคนนำอยู่ดี ปัญหาคือไม่มีโครงสร้างที่จะเลือกผู้นำ ตรวจสอบแกนนำ หรือเลือกแนวทางด้วยกระบวนการประชาธิปไตย บางครั้งมีการถกเถียงกันในโซเชยลมีเดีย แต่ไม่มีการสรุปและไม่สามารถมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอะไรได้

ในไทย ขบวนการที่ปฏิเสธการนำ ก็มีผู้นำอยู่ดีเพราะในทุกขบวนการต้องมีการกำหนดทิศทางการต่อสู้และประสานการต่อสู้ ซึ่งผู้นำย่อมเป็นคนกำหนด การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการเคลื่อนไหวในไทยและฮ่องกง แปลว่าแกนนำในรูปธรรมที่มีอยู่ ไม่สามารถดึงมวลชนเข้ามาช่วยกำหนดแนวทางได้ การคุยกันผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่เพียงพอ เพราะหลายคนอาจเข้าไม่ถึง

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการแปลว่าในอนาคต เมื่อการประท้วงเลิกไป จะไม่มีโครงสร้างหรือสถาบันการเมืองของประชาชนเหลืออยู่ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป

พูดง่ายๆ มันต้องมีการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจากกลุ่มคนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อให้พรรคสามารถปลุกระดมการต่อสู้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนพรรคต้องมีโครงสร้างประชาธิปไตยภายในที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นพรรคเผด็จการเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต หรือพรรคแนวสตาลินอื่นๆ ทั่วโลก

กลับมาเรื่องภาระของนักสังคมนิยมในการหาทางดึงคนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางชนชั้น

นักต่อสู้จำนวนมากที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจะเลือกการทำงานที่เขาคิดว่า “เป็นไปได้” บางคนอาจเลือกประนีประนอมกับคนที่ล้าหลังเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เช่นนักสหภาพแรงงานที่ไม่ยอมคุยเรื่องการเมืองก้าวหน้าในสหภาพ คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจมองว่าเขาควรทำงานกับคนก้าวหน้าเท่านั้นเพราะ “คุยกันรู้เรื่อง” แต่ปัญหาคือจะโดดเดี่ยวตัวเองและเพื่อนจากมวลชนคนส่วนใหญ่ อันนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับ “สหภาพคนทำงาน” ในอนาคต เพราะถ้าไม่สร้างพรรคสังคมนิยมกลุ่มคนที่ก้าวหน้าจะไม่ขยายตัวในเมื่อแค่คุยกับคนที่มีความคิดเหมือนกัน

นักต่อสู้ที่เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติและเข้าใจแนวมาร์คซิสต์ จะให้ความสำคัญกับการปลุกระดมทั้งคนที่ก้าวหน้าที่สุด และมวลชนคนส่วนใหญ่ที่บางครั้งพร้อมจะรับฟังข้อเสนอก้าวหน้า ถ้าไม่มีพรรค เราไม่สามารถดึงมวลชนส่วนใหญ่มาอยู่ฝั่งที่ก้าวหน้าที่สุดได้ และเราไม่สามารถจัดตั้งนักปลุกระดมใหม่ๆ ของพรรคจากคนที่ก้าวหน้า

ในเรื่อง “รัฐ” พวกอนาธิปไตยเกลียดชังรัฐทุกชนิด แต่ทั้งๆ ที่มาร์คซิสต์เกลียดชังรัฐทุนนิยมในโลกปัจจุบัน เรามองว่าถ้าจะโค่นรัฐเก่า ก็ต้องอาศัยรัฐใหม่ของกรรมาชีพในการประสานงานการสร้างระบบสังคมนิยมและประชาธิปไตย

ความคิดของพวกอนาธิปไตยที่ปฏิเสธทั้งพรรคและการสร้างรัฐกรรมาชีพ และเน้นความกระจัดกระจายแทน แปลว่าเขาไม่สามารถใช้อำนาจกรรมาชีพอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างสังคมใหม่ เพราะไม่สามาระรวมศูนย์การต่อสู่และวางแผนการสร้างรัฐใหม่ ซึ่งในหลายๆ กรณีมันจบลงด้วยการที่ขบวนการอนาธิปไตยไปยอมจำนนต่อรัฐทุนนิยมและพรรคกระแสหลัก ตัวอย่างที่สำคัญคือสเปนในปีค.ศ.1936 ที่ขบวนการสหภาพแรงงานอนาธิปไตยและองค์กรอนาธิปไตยอื่นๆ จนปัญญาที่จะล้มรัฐเก่าแล้วหันไปสนับสนุนรัฐบาลที่นำโดยพวกแนวสตาลิน ซึ่งทำให้การปฏิวัติพ่ายแพ้ และสเปนในยุคปัจจุบันพวก“โพเดมอส”เข้าไปสนับสนุนพรรคปฏิรูปกระแสหลักในรัฐสภาทั้งๆ ที่เคยอาศัยแนวคิดอนาธิปไตย

ในรูปธรรมนักต่อสู้หลายคนในไทยที่ปฏิเสธการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นพวกอนาธิปไตยหรือไม่ ในที่สุดก็ไปเข้าพรรคก้าวไกล

สหภาพคนทำงาน

สหภาพคนทำงานเกิดจากความต้องการของคนหนุ่มสาวที่จะเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกระจายลงไปในขบวนการกรรมาชีพ และเขาหวังว่าในอนาคตจะมีการนัดหยุดงานต้านเผด็จการ พวกเขามองว่าในสหภาพแรงงานโดยทั่วไปไม่มีการสร้างกระแสการเมืองก้าวหน้าเพียงพอ เราชาวมาร์คซิสต์คงต้องเห็นด้วยตรงนี้

แต่สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือ แนวคิดที่นำไปสู่การตั้งสหภาพคนทำงาน ไม่ใช่แนวมาร์คซิสต์สังคมนิยม แต่เป็นแนวอนาธิปไตย “สหภาพคนทำงาน” สะท้อนแนวคิด “ลัทธิสหภาพ” คือเน้นสหภาพแรงงานแทนการสร้างพรรค มันเป็นแนว “ลัทธิสหภาพอนาธิปไตย” (Anarcho-Syndicalist)

สิ่งที่สองที่ต้องเข้าใจคือ “สหภาพคนทำงาน” ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กร “สหภาพคนทำงาน” ไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในสหภาพแรงงานอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุปแล้วการสร้าง “สหภาพคนทำงาน” เป็นการสร้างองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองแนวอนาธิปไตยที่ไม่ใช่พรรคและไม่ใช่สหภาพแรงงานด้วย แต่นั้นคือสภาพการต่อสู้ในไทยในปี ๒๕๖๔ ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นเราต้องคอยติดตาม

แต่แน่นอน ในขณะที่ “สหภาพคนทำงาน” มีมวลชนจริงที่เป็นคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ก็ต้องทำงานร่วมกับเขาอย่างใกล้ชิดในขณะที่แลกเปลี่ยนถกเถียงกับเขาทางการเมือง แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเราควรช่วยสร้าง “สหภาพคนทำงาน” เพราะเราควรสร้างพรรคสังคมนิยมแทน

การสร้าง “เตรียมพรรค”

นักเคลื่อนไหวไทยที่เห็นด้วยกับแนวสังคมนิยมควรจะให้ความสำคัญกับการสร้าง “เตรียมพรรค” โดยมีเป้าหมายในการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติในอนาคต

ความสำคัญของการมีพรรคคือจะเป็นจุดรวมของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ที่จะสามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องการวิเคราะห์สังคม และการกำหนดแนวทางต่อสู้เพื่อสังคมนิยม

นอกจากนี้พรรคมีความสำคัญในการเชื่อมโยงประเด็นปากท้องหลายๆ ประเด็น ให้เข้ากับความเข้าใจทางการเมืองในภาพกว้าง

พรรคที่มีสมาชิกหลายคนที่เข้าใจตรงกันและเคลื่อนไหวในแนวทางเดียวกัน จะมีพลังมากกว่าปัจเจกมหาศาล

คนที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่างหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามเราไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

“เตรียมพรรค” จะต้องมีสื่อของพรรค หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และสิ่งตีพิมพ์อื่น และจะต้องมีการจัดกลุ่มศึกษาอย่างเป็นประจำ เพื่อขยายสมาชิกและนักปลุกระดมอย่างมีประสิทธิภาพ

ใจ อึ๊งภากรณ์

สร้างพรรคสังคมนิยมแนวปฏิวัติเพื่อสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง

ปัจจุบันมีการเลิกจ้างและกดค่าแรงในประเทศไทย แต่ในทุกกรณีสหภาพแรงงานขาดการต่อสู้จริงๆ จังๆ และขาดการหนุนช่วยข้ามรั้วสถานประกอบการจากแรงงานอื่น จนคนงานกลายเป็นเหยื่อที่ต้องไปร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา”หรือองค์กรอื่นๆ ของรัฐ หรือจากพรรคการเมืองของฝ่ายทุน

     อันนี้ไม่ใช่ความผิดของคนงาน แต่เป็นความผิดของนักเคลื่อนไหวแรงงานที่ปฏิเสธการเมืองของฝ่ายซ้ายและความสำคัญของการสร้างพรรคสังคมนิยมแนวปฏิวัติ

     ขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งจะเน้นการต่อสู้และความสมานฉันท์ระหว่างสหภาพแรงงานต่างๆ จะพยายามจัดการนัดหยุดงานพร้อมๆ กันหลายที่ และตัวอย่างที่ดีคือการนัดหยุดงานทั่วไปที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ที่อินเดีย หรือที่กำลังเกิดขึ้นในเกาหลีใต้

     ที่มาของสภาพย่ำแย่นี้ในไทย ไม่ใช่ “ลักษณะพิเศษของสังคมไทย” หรือนิยายเรื่องไทยไม่มีระบบชนชั้น หรือเรื่อง “แนวคิดศักดินาที่ฝังลึกอยู่ในสมองคนธรรมดา” และสภาพนี้ไม่ได้มาจากการกดขี่ของฝ่ายรัฐที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     ในอดีต ในสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)รุ่งเรือง มีนักเคลื่อนไหวของพรรคตั้งเป้าในการทำงานการเมืองภายในสถานที่ทำงานต่างๆ และมีการสร้างสหภาพแรงงานที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ถ้าใครสนใจเรื่องนี้ก็ควรจะไปอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ

     ในช่วงก่อนและหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อสังคมก็มีบทบาทในการปลุกระดม และประสานงานร่วมกับขบวนการแรงงาน และหลายคนได้รับอิทธิพลมาจาก พคท. ทั้งโดยตรงและทางอ้อม

     ทุกวันนี้มรดกของ พคท. ในขบวนการแรงงานยังหลงเหลืออยู่บ้างในรูปแบบ เครือข่ายสหภาพแรงงาน “กลุ่มย่าน” แต่อยู่ในลักษณะอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก

     แง่สำคัญของการจัดตั้งกรรมาชีพในสหภาพแรงงานของ พคท. คือการที่พยายามเชื่อมคนงานในโรงงานและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ข้ามรั้วโรงงานและระหว่างสหภาพแรงงานที่แตกต่างกัน เพื่อให้มีการต่อสู้ร่วมกัน เช่นการนัดหยุดงานพร้อมกัน และที่สำคัญคือการพยายามสร้างการต่อสู้สมานฉันท์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่คือความสำคัญของการสร้างองค์กรสหภาพแรงงานกลุ่มย่านต่างๆ โดย พคท.

     แต่หลังจากที่ พคท. เริ่มล่มสลาย และนักกิจกรรมต่างๆ หันไปทำงานในองค์กรเอ็นจีโอ นอกจากจะมีการเน้นชาวบ้านในชนบทแล้ว คนที่ยังทำงานในสายแรงงาน กลายพันธุ์ไปเป็นคนที่ทำงานในรูปแบบการกุศล คือเน้นการช่วยเหลือผู้ที่ตกยากหรือผู้ที่เป็นเหยื่อ มากกว่าที่จะปลุกระดมให้มีสหภาพแรงงานที่เน้นการต่อสู้ทางชนชั้น ในที่สุดองค์กรเอ็นจีโอสายแรงงานกลายเป็นองค์กรคล้ายๆ ธุรกิจขนาดเล็ก ที่ขอทุนจากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือคนจน มันแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากสมัย พคท. และที่แย่สุดคือไม่มีการเน้นหรือพูดถึงการนัดหยุดงาน ไม่มีการพูดถึงการเมืองหรือเรื่องชนชั้น และไม่เน้นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเลย

     เราจะเห็นได้ว่าความอ่อนแอของขวนการแรงงานไทยในยุคนี้ จนเรียกได้ว่าไม่มีขบวนการ มาจากเรื่องการเมืองล้วนๆ

     นักต่อสู้สหภาพแรงงานในไทยยังไม่หมดสิ้น ยังมีคนดีๆ ที่ต้องการต่อสู้ไม่น้อย เป้าหมายของคนเหล่านี้ควรจะเป็นการสร้างขบวนการแรงงานที่มีพลัง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันเกิดถ้ามัวแต่ไปเน้นการสัมมนาในโรงแรมเรื่อง “สิทธิแรงงาน” ที่จัดขึ้นด้วยงบจากเอ็นจีโอหรือหน่วยงานของรัฐ

     แน่นอนนักสังคมนิยมจะต้องมีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน และต้องมีส่วนในการสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง เช่นเรื่องค่าจ้าง โบนัส และสภาพการจ้างอื่นๆ แต่ถ้าทำแค่นั้น เราก็เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” และผู้ที่เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” จะมองว่าองค์กรจัดตั้งหลักคือสหภาพแรงงาน ไม่ใช่พรรคซ้ายสังคมนิยม และเราจะก้าวข้ามปัญหาภายในรั้วสถานที่ทำงานเพื่อไปสนใจสังคมภายนอกไม่ได้

     การปลุกระดมทางการเมืองแปลว่าต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อของพรรค และผ่านกลุ่มศึกษาของพรรค ซึ่งต่างจากกลุ่มศึกษาของสหภาพที่เน้นแต่เรื่องปากท้องหรือกฎหมายแรงงาน การศึกษาทางการเมืองของพรรคต้องครอบคลุมการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยและสังคมต่างประเทศ ต้องเรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์ไทยและทั่วโลก ต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ ต้องศึกษาธาตุแท้ของชนชั้นและของรัฐ เราต้องสนใจศิลปะวัฒนธรรม ต้องสนใจวิทยาศาสตร์ และเราต้องพร้อมที่จะร่วมกันค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาทุกเรื่องในชีวิตมนุษย์

     ในปัจจุบันนักเคลื่อนไหวที่ดีที่สุดในขบวนการแรงงานไทย เช่นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มักจะยึดมั่นในแนวคิด “ลัทธิสหภาพซ้าย” บางคนถึงกับใช้แนว “ลัทธิสหภาพปฏิวัติ” เช่นพวกที่ชอบกล่าวถึงเลนินและแนวมาร์คซิสต์

     ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานสากล แนว “ลัทธิสหภาพ” (Syndicalism) จะเน้นการเคลื่อนไหวผ่านองค์กรสหภาพแรงงานอย่างเดียว แนวนี้มีรูปแบบหลากหลายที่ซับซ้อน พวกที่มองว่าควรเคลื่อนไหวในเรื่องปากท้องอย่างเดียวและไม่กล่าวถึงการเมือง คือพวกลัทธิสหภาพฝ่ายขวา ซึ่งในไทยได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการปกครองของเผด็จการทหาร ที่พยายามห้ามไม่ให้สหภาพแรงงานสนใจเรื่องการเมือง

     ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ มองว่าการเมืองกับเศรษฐกิจปากท้องแยกออกจากกันไม่ได้ และเขาอาจต้องการปฏิวัติล้มทุนนิยม อย่างไรก็ตามเขาจะต่างจากแนวมาร์คซิสต์ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ทรอดสกี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ ตรงที่เขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างพรรคปฏิวัติ ดังนั้นแทนที่จะสร้างพรรคเขามองว่าสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมได้

     ขบวนการแรงงานไทยขาดนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมที่จะทำงานเป็นระบบ ในบางแห่งมีนักต่อสู้ที่อยากเห็นแรงงานสู้จริง แต่นักสู้แรงงานเหล่านี้เลือกใช้ “ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ” เขาจะส่งเสริมการนัดหยุดงาน และการจัดตั้งกลุ่มย่านข้ามรั้วโรงงาน แต่จะไม่เห็นด้วยกับการนำ “การเมืองภาพกว้าง” ที่ “ไม่เกี่ยวกับแรงงาน” เข้าสู่ขบวนการแรงงาน เช่นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ปัญหาภาคใต้ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาในระบบการศึกษา หรือประเด็นการเมืองสากลปัจจุบัน หรือแม้แต่วิธีการตั้งพรรคการเมืองที่อิสระจากนายทุนเป็นต้น ในปัจจุบันหลายคนที่เคยได้รับอิทธิพลจากแนวนี้ก็ไปเข้ากับพรรคนายทุนเช่นพรรคก้าวไกล

     องค์กรสหภาพแรงงานต้องการรับทุกคนในสถานที่ทำงานเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งแน่นอนรวมถึงคนที่มีความคิดฝ่ายขวาตามชนชั้นปกครองและคนที่ยังขี้เกียจคิดอีกด้วย และแกนนำของสหภาพจะต้องปกป้องความสามัคคีภายในสหภาพระดับหนึ่ง เพราะกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้งและหลุดจากตำแหน่งในสหภาพ จึงไม่สามารถถกเถียงแนวคิดอย่างตรงไปตรงมาได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ทำงานภายในสหภาพ

     ในประการสุดท้ายสหภาพแรงงานไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ เพราะเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อรองกับนายจ้างในระบบทุนนิยม ไม่สามารถประสานการทำงานระหว่างทุกซีกทุกส่วนของสังคมที่ก้าวหน้าเพื่อยึดอำนาจรัฐ

     “สหภาพคนทำงาน” ที่ครอบคลุมคนทำงานทุกส่วน ถ้าสร้างได้โดยไม่ไปแย่งสมาชิกจากสหภาพแรงงานที่มีอยู่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องดี แต่ทั้งๆ ที่มีการเสนอว่าในอนาคต “สหภาพคนทำงาน” จะลงมือสร้างพรรคของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ปัญหาใหญ่คือในรูปธรรมจะมีการสร้างสหภาพนี้ขึ้นมาเพื่อแทนที่การสร้างพรรคสังคมนิยม และการเสนอ “สหภาพคนทำงาน” สะท้อนแนวคิด “ลัทธิสหภาพ” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวอนาธิปไตยที่ไม่สนใจการสร้างพรรค

     ยิ่งกว่านั้น “สหภาพคนทำงาน” ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานไม่ได้มีความคิดแบบนั้น นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว สรุปแล้วการสร้าง “สหภาพคนทำงาน” เป็นการสร้างองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองแนวอนาธิปไตยที่ไม่ใช่พรรค และในเมื่อองค์กรนี้เรียกตัวเองว่า “สหภาพ” ก็ยากที่สมาชิกจะเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองภาพกว้าง ที่ไม่เกี่ยวกับสถานที่ทำงาน ในสังคมโดยทั่วไป

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม:

กรรมาชีพไทยกับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสังคมใหม่ หน้าที่ของนักสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน  https://bit.ly/2MBfQzc

สหภาพแรงงานใช้แทนพรรคไม่ได้ https://bit.ly/2V2LBcJ

สหภาพแรงงานสร้างขึ้นมาเพื่อแทนที่การสร้างพรรคสังคมนิยมไม่ได้

“สหภาพคนทำงาน” ที่ครอบคลุมคนทำงานทุกส่วน ถ้าสร้างได้โดยไม่ไปแย่งสมาชิกจากสหภาพแรงงานที่มีอยู่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องดี แต่ทั้งๆ ที่มีการเสนอว่าในอนาคต “สหภาพคนทำงาน” จะลงมือสร้างพรรคของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ปัญหาใหญ่คือในรูปธรรมจะมีการสร้างสหภาพนี้ขึ้นมาเพื่อแทนที่การสร้างพรรคสังคมนิยม และการเสนอ “สหภาพคนทำงาน” สะท้อนแนวคิด “ลัทธิสหภาพ” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวอนาธิปไตยที่ไม่สนใจการสร้างพรรค

ปัญหาลัทธิสหภาพในขบวนการแรงงานไทย

ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานสากล แนว “ลัทธิสหภาพ” (Syndicalism) จะเน้นการเคลื่อนไหวผ่านองค์กรสหภาพแรงงานอย่างเดียว แนวนี้มีรูปแบบหลากหลายที่ซับซ้อน พวกที่มองว่าควรเคลื่อนไหวในเรื่องปากท้องอย่างเดียวและไม่กล่าวถึงการเมือง คือพวกลัทธิสหภาพฝ่ายขวา ซึ่งในไทยได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการปกครองของเผด็จการทหาร ที่พยายามห้ามไม่ให้สหภาพแรงงานสนใจเรื่องการเมือง

แต่ในขณะเดียวกันมีลัทธิสหภาพฝ่ายซ้าย ซึ่งอาจเป็นฝ่ายซ้ายปฏิวัติด้วย พวกนี้มองว่าการเมืองกับเศรษฐกิจปากท้องแยกออกจากกันไม่ได้ และเขาอาจต้องการปฏิวัติล้มทุนนิยมอีกด้วย อย่างไรก็ตามเขาจะต่างจากแนวมาร์คซิสต์ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอดสกี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ ตรงที่เขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างพรรคปฏิวัติ หรือไม่ชัดเจนเรื่องการสร้างพรรคปฏิวัติในขณะนี้ ดังนั้นแทนที่จะลงมือสร้างพรรค เขามองว่าสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมได้ นี่คือการเมืองของนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานฝ่ายซ้ายในไทยส่วนใหญ่

ขบวนการแรงงานไทยขาดนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมที่จะทำงานเป็นระบบ ในบางแห่งมีนักต่อสู้ที่อยากเห็นแรงงานสู้จริง แต่นักสู้แรงงานเหล่านี้เลือกใช้ “ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ” เขาจะส่งเสริมการนัดหยุดงาน การจัดตั้งกลุ่มย่านข้ามรั้วโรงงาน หรือสหภาพที่ครอบคลุมคนทำงานหลายประเภท แต่บ่อยครั้งมักจะไม่เห็นด้วยกับการนำ “การเมืองภาพกว้าง” ที่ “ไม่เกี่ยวกับแรงงาน” เข้าสู่ขบวนการแรงงาน เช่นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ปัญหาภาคใต้ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาในระบบการศึกษา หรือประเด็นการเมืองสากลปัจจุบัน หรือแม้แต่วิธีการตั้งพรรคการเมืองที่อิสระจากนายทุนเป็นต้น

ประสบการณ์จากขบวนการแรงงานและขบวนการสังคมนิยมทั่วโลกในอดีตและปัจจุบัน สอนให้เราเข้าใจปัญหาของการใช้สหภาพแรงงานเป็นองค์กรต่อสู้อย่างเดียว โดยไม่สร้างพรรคสังคมนิยมตั้งแต่แรก คือในประการแรกเขาไม่สามารถจัดตั้งกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนงาน เช่นนักศึกษา คนกลุ่มน้อย หรือคนที่อยากรณรงค์เรื่อง 112 เป็นต้น มันนำไปสู่การเน้นประเด็นการเมืองปากท้องอย่างเดียวด้วย ทั้งๆ ที่ในนามธรรมอาจกล่าวถึง “เลนิน” หรือโจมตีระบบทุนนิยม

ในประการที่สององค์กรสหภาพแรงงานต้องการรับทุกคนในสถานที่ทำงานเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งแน่นอนรวมถึงคนที่มีความคิดฝ่ายขวาตามชนชั้นปกครองและคนที่ยังขี้เกียจคิดอีกด้วย และแกนนำของสหภาพจะต้องปกป้องความสามัคคีภายในสหภาพระดับหนึ่ง เพราะกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้งและหลุดจากตำแหน่งในสหภาพ จึงไม่สามารถถกเถียงแนวคิดอย่างตรงไปตรงมาได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ทำงานภายในสหภาพ

ในประการที่สาม ถ้านักลัทธิสหภาพแบบนี้แพ้การเลือกตั้ง หรือถูกเลิกจ้างเขาอาจจะไม่มีองค์กรเหลือเลย ประเด็นนี้เป็นปัญหาด้วยเวลาคนงานไม่มีความมั่นใจในการต่อสู้ หรือไม่ยอมนัดหยุดงานในช่วงหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางการเมืองลดลง ไม่เหมือนพรรคปฏิวัติที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะการจัดกลุ่มศึกษาและการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ

ในประการสุดท้ายสหภาพแรงงานไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ เพราะเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อรองกับนายจ้างในระบบทุนนิยม ไม่สามารถประสานการทำงานระหว่างทุกซีกทุกส่วนของสังคมที่ก้าวหน้าเพื่อยึดอำนาจรัฐ

ปัญหาการพึ่งพรรคนายทุนของพวกลัทธิสหภาพ

ผลสำคัญอันหนึ่งของการใช้ลัทธิสหภาพแทนการสร้างพรรคในไทย คือการไปพึ่งพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคไทยรักไทยในอดีต แต่แรงงานไม่ควรหลงเลือก “นายใหม่” แบบนี้

แนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์กับขบวนการแรงงานไทย

นักสังคมนิยมต้องสร้างพรรคหรือ “เตรียมพรรค” ก่อนอื่น สมาชิกพรรคจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกรรมาชีพและสหภาพแรงงานที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าแกนนำของสหภาพแรงงานเหล่านั้นมีการเมืองแบบขวาๆ หรือไม่ เราควรทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ และปลุกระดมแนวคิดสังคมนิยมจากภายในและภายนอก

การสร้างสหภาพแรงงานแบบ “ซ้ายๆ” ขึ้นมาเมื่อเราไม่พอใจการเมืองของแกนนำสหภาพที่มีอยู่ เสี่ยงกับการโดดเดี่ยวตัวเองจากมวลชนในขบวนการแรงงาน

ในทุกสหภาพแรงงานจะมีคนสามกลุ่มใหญ่ๆ ถ้าแบ่งตามแนวความคิด กลุ่มแรกเป็นพวกที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมและหมอบคลานต่อนายทุนกับผู้มีอำนาจ กลุ่มที่สองเป็นพวกที่มีความคิดกบฏอยากต่อสู้กับนายจ้างและความไม่เป็นธรรม อาจมีความคิดสังคมนิยม หรืออย่างน้อยต้องการประชาธิปไตยแท้ และกลุ่มที่สาม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จะมีความคิดที่ผสมแนวจากทั้งสองขั้วหรืออาจยังไม่มีโอกาสที่จะคิดอะไรมาก หน้าที่ของนักสังคมนิยมคือการพยายามดึงกลุ่มตรงกลางที่ประกอบไปด้วยคนส่วนใหญ่ ให้เปลี่ยนความคิดมาเป็นฝ่ายซ้าย ถ้าเราไม่มีพรรคเราทำไม่ได้

ถ้าจะชักชวนและดึงกรรมาชีพส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับฝ่ายซ้าย มันต้องมีการจัดตั้งในองค์กรทางการเมือง … พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมนั้นเอง

นักปฏิวัติมาร์คซิสต์อิตาลี่ชื่อ อันโตนิโอ กรัมชี่ เคยอธิบายว่านักปฏิบัติการของพรรคสังคมนิยมไม่สามารถชักชวนให้คนงานมาเป็นฝ่ายซ้าย ถ้ามัวแต่ป้อนทฤษฏีและแนวคิดเหมือนการป้อนอาหารให้เด็ก มันต้องมีการเคลื่อนไหวคนถึงจะเริ่มตาสว่าง ดังนั้นนักสังคมนิยมจะต้องร่วมต่อสู้เคลื่อนไหว และพูดถึงทฤษฏีทางการเมืองที่ช่วยอธิยายแนวทางในการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรมเสมอ

พรรคกรรมาชีพที่ควรจะถูกสร้างขึ่นในไทยตอนนี้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ในประการแรกมันควรจะเป็นพรรคสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันบ่อยครั้งต้องอาศัยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาไฟแรง หรือ “เตรียมกรรมาชีพ” นั้นเอง เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้มีเวลาที่จะศึกษาและอ่าน และไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานหนัก ควรมีปัญญาชนเข้าร่วมด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างกรรมาชีพให้นำตนเอง ที่คิดเอง เป็นปัญญาชนกรรมาชีพ และช่วยสอนคนอื่นได้ และสมาชิกส่วนใหญ่ควรจะเป็นคนทำงานที่เคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานของตนเอง

แน่นอนพรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นกรรมาชีพ พรรคจึงก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด นโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรง หรือแนวคิดชาตินิยมที่มองว่าเราต้องสามัคคีกับนายทุนและทหารเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค

พรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้างเสมอ

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2MBfQzc