Tag Archives: สหภาพแรงงาน

สหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง บทเรียนสากล

ในบทความนี้จะพิจารณาสองประเด็นสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง ประเด็นแรกคือการแยกหน้าที่กันในความคิดของสายซ้ายปฏิรูป และประเด็นที่สองคือบทเรียนจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองนายทุนกับสหภาพแรงงาน

ในโลกทุนนิยม แนวคิดซ้ายสังคมนิยมแบบปฏิรูป จะส่งเสริมความคิดว่า “การเมือง” กับ “เศรษฐกิจ” แยกกัน โดยที่สหภาพแรงงานมีหน้าที่ต่อสู้เพื่อเพิ่มค่าจ้างและพัฒนาสภาพการจ้างผ่านการนัดหยุดงาน ประท้วง หรือเจรจา ในขณะที่พรรคการเมืองของแรงงานเช่น “พรรคแรงงาน” หรือ “พรรคสังคมนิยม” มีหน้าที่ผลักดันการเมืองในรัฐสภาที่จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน

ในรูปธรรมมันหมายความว่าผู้นำแรงงานระดับชาติจะปฏิเสธการนัดหยุดงานเพื่อรณรงค์ในเรื่องการเมือง คือจะไม่เห็นด้วยกับการนัดหยุดงานเพื่อล้มรัฐบาล หรือการนัดหยุดงานในประเด็นเฉพาะทางการเมืองเช่นการขยายหรือปกป้องสิทธิทำแท้ง การต่อต้านสงคราม หรือการสนับสนุนผู้ลี้ภัยและต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว จริงอยู่ผู้นำแรงงานอาจส่งเสริมให้สมาชิกสหภาพแรงงานไปประท้วงกับขบวนการอื่นๆ ในเรื่องการเมือง เพื่อส่งต่อเรื่องให้นักการเมืองในรัฐสภา แต่จะไม่สนับสนุนการนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมืองโดยตรง ซึ่งการนัดหยุดงานเป็นการแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพที่มีประสิทธิภาพสูงเพราะไปเกี่ยวข้อกับระบบเศรษฐกิจ

เราเห็นผลพวงของความคิดนี้ในกรณีคลื่นการนัดหยุดงานในอังกฤษ และในฝรั่งเศสในปีนี้ คือผู้นำสหภาพแรงงานกำหนดวันหยุดงานเป็นวันๆ ไป ไม่เสนอให้นัดหยุดงานทั่วไปโดยไม่มีกำหนดเลิกจนกว่ารัฐบาลจะยอมจำนนหรือลาออก ทั้งนี้เพราะผู้นำแรงงานมองว่ามันเลยขอบเขตหน้าที่ของสหภาพแรงงาน และเขากลัวอีกว่าถ้ามีการนัดหยุดงานทั่วไปการนำการต่อสู้จะมาจากแรงงานรากหญ้าไฟแรง แทนที่ผู้นำเดิมจะควบคุมได้ ยิ่งกว่านั้นในกรณีพรรคแรงงานของอังกฤษ ซึ่งมีบทบาทมากกว่าพรรคสังคมนิยมในฝรั่งเศส หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษห้ามไม่ให้สส.ไปสนับสนุนการนัดหยุดงานใดๆ เพราะพรรคตั้งเป้าไว้ที่จะเอาใจนายทุน

ในกรณีที่มีการนัดหยุดงานทั่วไปจริงๆ มันมักจะไม่ผ่านขั้นตอนทางการ และมักจะ “ผิดกฎหมาย” และมักจะนำโดยคณะกรรมการระดับรากหญ้าของสหภาพแรงงานที่อาจเป็นฝ่ายซ้ายปฏิวัติ และตลอดเวลาที่มีการต่อสู้แบบนี้ผู้นำแรงงานเดิมจะพยายามกล่อมให้คนงานกลับเข้าทำงานและปล่อยให้นักการเมืองในสภาเข้ามาแก้ปัญหา

ในแง่หนึ่งรัฐทุนนิยมทั่วโลกก็จะมองว่าสหภาพแรงงานไม่ควรนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมือง และมักจะมีการออกกฎหมายห้ามการกระทำแบบนี้ ซึ่งเราเห็นในไทยและในประเทศตะวันตก

สำหรับนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ เรามองว่าเรื่องการเมืองกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ เรามองว่ารัฐสภาในระบบทุนนิยมไม่ใช่จุดสูงสุดของประชาธิปไตย แต่เป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ถูกออกแบบเพื่อปกป้องสภาพสังคมทุนนิยมและการกดขี่ขูดรีดของชนชั้นนายทุนที่เป็นแค่ 1%ของประชากร คือมันปกป้องรัฐของชนชั้นนายทุนที่มีไว้กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและประกอบไปด้วยทหาร ตำรวจ ศาลกับคุก ดังนั้นเรามองว่าถ้าการต่อสู้จะยกระดับให้สูงขึ้น การต่อสู้ทางเศรษฐกิจกับการเมืองต้องรวมกันเป็นสิ่งเดียวกัน คือชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเริ่มสร้างองค์กรบริหารสังคมแบบใหม่ที่กรรมาชีพมีบทบาทโดยตรง ตัวอย่างที่ดีคือสภาคนงาน แบบโซเวียตในปีแรกๆ ของการปฏิวัติรัสเซีย 1917 หรือสภาคนงานที่เกิดขึ้นในอิหร่านท่ามกลางการปฏิวัติ1979 หรือสภาประสานงานกรรมาชีพในชิลีที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพยายามต่อต้านรัฐประหารในปี1973

ความสำคัญเกี่ยวกับสภาคนงานแบบที่พูดถึงนี้คือ มันเป็นหน่ออ่อนของการบริหารสังคมแบบใหม่ภายใต้ประชาธิปไตยของกรรมาชีพซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้นเราจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการนัดหยุดงานทางการเมืองและการสร้างเครือข่ายนักเคลื่อนไหวแบบรากหญ้าพร้อมกับสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่ไม่เน้นรัฐสภา

ในประเด็นที่สองคือ เรื่องบทเรียนจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองนายทุนกับสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวแรงงานที่หวังทำงานภายในพรรคก้าวไกล บทเรียนแรกมาจากอังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีการสร้างพรรคแรงงาน และผู้แทนของสหภาพแรงงานมักจะทำงานภายในพรรค “เสรีนิยม” ซึ่งเป็นพรรคนายทุน การทำงานภายในพรรคนี้ไม่ให้ประโยชน์อะไรเลย จึงมีการสรุปกันว่าต้องสร้างพรรคแรงงานขึ้น

แต่ตัวอย่างที่ชัดเจนมากในยุคนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคเดโมแครตในสหรัฐ ความสัมพันธ์นี้มีมายาวนานในขณะที่พรรคของสหภาพแงงานหรือพรรคแรงงานไม่มี ดังนั้นเวลามีการเลือกตั้งในสหรัฐจะมีทางเลือกให้ประชาชนระหว่างแค่สองพรรคของนายทุนเท่านั้น คือระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรคริพับลิกัน และผู้นำสหภาพแรงงานจะชวนให้สมาชิกเลือกพวกเดโมแครต ส่วนหนึ่งคือการตั้งความหวังจอมปลอมว่าพรรคเดโมแครตจะไม่ขวาตกขอบเหมือนริพับลิกัน อีกส่วนหนึ่งมาจากประวัติศาสตร์เมื่อยุค 1930 ที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตใช้นโยบายเอาใจสหภาพแรงงานและนายทุนพร้อมกันเพื่อลดความขัดแย้งทางชนชั้นท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในเรื่องหลักๆ ปัจจุบัน นโยบายของทั้งสองพรรคมักจะไม่ต่างกันมากนัก เช่นในเรื่องการทำสงคราม เรื่องจักรวรรดินิยม เรื่องกลไกตลาดเสรีกับการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจ หรือในเรื่องการไม่ยอมสร้างรัฐสวัสดิการ

บทเรียนสำคัญสำหรับยุคนี้คือการที่ประธานาธิบดีไบเดิน ออกคำสั่งยกเลิกการนัดหยุดงานของคนงานรถไฟสหรัฐในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยอ้างว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ  ในที่สุดสหภาพแรงงานต้องไปยอมรับข้อตกลงกับบริษัทเดินรถไฟที่แย่มาก เพราะไม่มีการให้สวัสดิการล่าป่วย และบังคับขึ้นเงินเดือนแค่ 24% ในช่วง 4 ปี โดยที่ระดับเงินเฟ้อกำลังพุ่งสูง ที่น่าสลดใจยิ่งกว่านั้นคือ อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ กับพรรคพวกที่เป็น “ฝ่ายซ้าย” ภายในพรรคเดโมแครต ก็ไปยกมือสนับสนุนไบเดินในการกดขี่เสรีภาพของสหภาพแรงงาน

บทเรียนนี้ชี้ให้เราเห็นว่าพรรคการเมืองของนายทุนในที่สุดจะสนับสนุนผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเสมอ ไม่ว่าจะมีผู้แทนที่อ้างว้าเป็นฝ่ายซ้ายหรือนักสหภาพแรงงานสี่ห้าคนภายในพรรคก็ตาม

การเรียกร้องสิทธิที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานและสิทธิที่จะนัดหยุดงาน โดยไม่มีข้อจำกัดจากรัฐ และการเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการที่สูงขึ้นจนเท่ากับมาตรฐานคนชั้นกลาง เป็นสิ่งจำเป็นในไทย แต่สำหรับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะมีผู้แทนสายแรงงานอยู่ในพรรค ซึ่งยังเป็นคนส่วนน้อยมาก คำถามคือพรรคนายทุนพรรคนี้จะสนับสนุนผลประโยชน์ของแรงงานถ้ามันไปขัดกับผลประโยชน์ของนายทุนจริงหรือ?

เงินเฟ้อกับค่าจ้างเกี่ยวข้องกันหรือไม่?

ทุกวันนี้นักการเมือง นายธนาคาร และนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มักอ้างว่ากรรมาชีพไม่ควรเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มเพราะจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ ข้ออ้างนี้ล้วนแต่เป็นเท็จ และมาจากความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนบนสันหลังชนชั้นกรรมาชีพ จะขออธิบายเหตุผลเป็นข้อๆ

  1. เงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในยุคนี้ ไม่ว่าจะที่ไทย ที่ยุโรป หรือที่อื่นๆ เกิดขึ้นจากสองเหตุผลหลักๆคือ หนึ่งวิกฤตโควิด ซึ่งทำให้คนงานต้องขาดงานไปเป็นเดือนๆ มีผลในการสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก และสร้างปัญหาในระบบขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและภายในประเทศอีกด้วย (Supply Chain problems) ปัญหานี้ทำให้สินค้าหลายชนิดขาดตลาด แต่การที่สินค้าขาดตลาดไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติด้วย“มือที่มองไม่เห็น”แต่อย่างใด มือที่มองไม่เห็นไม่มีจริงและเป็นนิยายของชนชั้นปกครองเพื่อปกปิดสิ่งที่นายทุนทำ ในความจริงราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเพราะนายทุนฉวยโอกาสจากการที่สินค้าขาดตลาดเพื่อเพิ่มราคา โดยหวังจะเพิ่มกำไร ถ้าสินค้าขาดตลาด นายทุนคงไว้ราคาเดิมได้ ดังนั้นเงินเฟ้อยุคนี้มาจากพฤติกรรมของนายทุน

สอง สงครามระหว่างจักรวรรดินิยมในพื้นที่ยูเครน ซึ่งเกิดจากการรุกรานของรัสเซียเพื่อพยายามยับยั้งการขยายตัวของแนวร่วมทางทหารของตะวันตก (นาโต้) สงครามนี้นำไปสู่การทำสงครามทางเศรษฐกิจด้วย ตะวันตกพยายามทำลายเศรษฐกิจรัสเซียด้วยการคว่ำบาตรตัดรัสเซียออกจากการค้าและลงทุน ทำให้รัสเซียโต้ตอบด้วยการจำกัดการส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันไปสู่ยุโรป สิ่งนี้ทำให้ราคาเชื้อเพลิงเช่นก๊าซหรือน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในตลาดโลก ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติจากมือที่มองไม่เห็นเช่นกัน บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในภาคน้ำมันกับก๊าซ เพิ่มราคาและได้กำไรเพิ่มตามมามหาศาล การเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงซึ่งใช้ในทุกแง่ของชีวิตเราเป็นสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ยิ่งกว่านั้นสงครามระหว่างจักรวรรดินิยมในยูเครน มีผลกระทบต่อการผลิตอาหารและน้ำมันพืชซึ่งยูเครนและรัสเซียเป็นพื้นที่สำคัญในการส่งออกอาหาร ราคาอาหารจึงถูกดันให้พุ่งสูงขึ้นในตลาดโลก จนมีผลให้คนจนจำนวนมากในโลกเริ่มขาดแคลนอาหาร และเป็นแรงกระตุ้นให้มวลชนไม่พอใจในหลายประเทศ

  • จะเห็นว่าเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มแต่อย่างใด ตรงกันข้ามในช่วงสิบปีที่ผ่านมารายได้กรรมาชีพถูดกดตลอด แต่นายธนาคารและชนชั้นปกครองพูดเหมือนนกแก้วว่าเราไม่ควรเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม คือเราต้องยอมให้มูลค่าของค่าจ้างลดลงตามเงินเฟ้อ และธนาคารกลางในหลายประเทศก็ตัดสินใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการ “แก้ปัญหาเงินเฟ้อ” ซึ่งทำให้ธนาคารกลางในประเทศอื่นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม เพื่อปกป้องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่ในความจริงการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทำให้การกู้ยืมเงินแพงขึ้น ซึ่งมีผลในระยะสั้นในการผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น สาเหตุแท้ที่พวกธนาคารกลางเพิ่มอัตราดอกเบี้ยคือต้องการบีบบริษัทต่างๆ ซึ่งต้องกู้ยืมเงินเป็นธรรมดา ไม่ให้ยอมจ่ายค่าจ้างเพิ่มสำหรับลูกจ้าง และหวังว่าเศรษฐกิจจะหดจนเงินเฟ้อเริ่มลดลงเมื่อกำลังซื้อลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้จะสร้างวิกฤตชีวิตให้กรรมาชีพ และจะมีการตกงาน ถือว่าเป็นการเปิดศึกทางชนชั้นให้กรรมาชีพกลัว ไม่กล้าสู้
  • ในเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย สูงกว่า10% ในหลายประเทศ หรืออาจมากกว่านั้นอีก เราควรงอมืองอเท้าปล่อยให้มูลค่าค่าจ้างของเราลดลง โดยไม่ออกมาต่อสู้นัดหยุดงานและเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มให้ตรงกับอัตราเงินเฟ้อจริงหรือ? การเสียสละของเราจะให้ประโยชน์กับใคร? ให้ประโยชน์กับนายทุนแน่นอน เพราะกำไรของนายทุนมาจากมูลค่าการผลิตที่กรรมาชีพสร้างแต่ไม่ได้รับเป็นค่าจ้าง ซึ่งเราชาวมาร์คซิสต์เรียกว่า “มูลค่าส่วนเกิน” (แต่ต้องพิจารณาการลงทุนด้วย) ชนชั้นนายทุนพยายามกดค่าจ้างเราเพื่อพยุงกำไร และกรรมาชีพในสหภาพแรงงานทั่วโลกกำลังขยับออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสภาพชีวิตด้วยการนัดหยุดงาน อย่างที่เราเห็นในอังกฤษ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เกาหลีใต้และที่อื่น
  • เราต้องถามว่าค่าจ้างเป็นสัดส่วนเท่าไรของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการผลิตของนายทุน? เราต้องดูว่ามีการลงทุนในเครื่องจักรกับเทคโนโลจีแค่ไหน มีการลงทุนในการขนส่งแค่ไหน ฯลฯ โดยทั่วไป ค่าจ้างไม่ใช่ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของค่าใช้จ่ายในการผลิต ทั่วโลกมักจะประมาณ 10-30% ขึ้นอยู่กับภาคเศรษฐกิจ และขึ้นอยู่กับอัตราค่าจ้างในประเทศต่างๆ ที่แตกต่างกันอีกด้วย ในไทยนายทุนพยายามดึงการลงทุนเข้ามาโดยอวดว่าอัตราค่าจ้างต่ำกว่าที่อื่น และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในรอบ10-20ปีที่ผ่านมาสัดส่วนของมูลค่าที่ตกอยู่ในมือกรรมาชีพลดลงในขณะที่นายทุนขูดรีดกอบโกยกำไรและมูลค่าเพิ่มขึ้น ในประเทศตะวันตกก็เช่นกัน ขณะที่กรรมาชีพธรรมดาทำงานเพื่อพยุงสังคมในยามวิกฤตโควิด รายได้กรรมาชีพลดลงในขณะที่พวกเศรษฐีรวยขึ้นอย่างมหาศาล สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่ากรรมาชีพเป็นผู้สร้างมูลค่าและพยุงสังคมในยามวิกฤต แต่พวกนายทุนกอบโกยผลประโยชน์และกดค่าแรงกรรมาชีพ
  • การกดค่าแรงของกรรมาชีพ จะนำไปสู่การเพิ่มกำไรให้กลุ่มทุน แต่ในขณะเดียวกันจะนำไปสู่การลดกำลังซื้อของกรรมาชีพ สินค้าก็จะขายไม่ออกในที่สุด ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องสภาพชีวิตของเรา?

ในประการแรกเราต้องเข้าใจที่มาของเงินเฟ้อ และต้องเข้าใจการทำงานของระบบทุนนิยมที่มีการขูดรีดกำไรจากการทำงานของกรรมาชีพ (ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ “ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน”) เราจะได้มั่นใจในการปลุกระดมให้กรรมาชีพอื่นๆ สู้  แต่บางคนอาจพร้อมที่จะสู้อยู่แล้วเพราะโกรธสภาพชีวิต นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่เราไม่ควรหลงคิดว่าฝ่ายตรงข้ามจะปล่อยให้เราสู้โดยไม่เปิดศึกกับเรา

ศึกที่ชนชั้นนายทุนมักเปิดกับเรามีทั้งแง่ของลัทธิความคิดและการใช้กำลัง

ศึกทางความคิดจะรวมไปถึงการพยายามกล่อมเกลาเราให้เชื่อว่า “เงินเฟ้อมาจากการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม” พวกเขาจะเข็น “ผู้เชี่ยวชาญ”เงินเดือนสูง ออกมาในสื่อกระแสหลักเพื่อสั่งสอนเรา แต่พวกนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตของทุนนิยมได้ และมักจะปิดหูปิดตาถึงสภาพจริงในโลก เพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง เราต้องสร้าง “ปัญญาชนอินทรีย์” และสื่อของฝ่ายเราเองเพื่อโต้ตอบ“ผู้เชี่ยวชาญ”เหล่านั้น

ในอังกฤษ หลังจากที่ราชินีเสียชีวิตไป มีการรณรงค์ให้หยุดการนัดหยุดงานเพื่อ “สร้างความสามัคคีของชาติ” และเป็นที่น่าสียดายที่ผู้นำแรงงานระดับชาติยอมพักสู้ชั่วคราวในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามไม่เคยพักการขูดรีดแต่อย่างใด ในประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย จะมีการใช้ลัทธิชาตินิยมเพื่อชวนให้เราเสียสละเพื่อชาติเช่นกัน และมีการขู่ว่านายทุนจะย้ายการผลิตไปที่อื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนายทุนเสมอไป โดยเฉพาะในภาคการผลิตรถยนต์ ก่อสร้าง การคมนาคม และระบบการศึกษาและสาธารณสุข

ศึกด้วย”กำลัง”ที่ฝ่ายตรงข้ามจะเปิดกับเราคือการใช้กฎหมายและตำรวจในการปราบการนัดหยุดงาน หรือการสร้างอุปสรรคในการนัดหยุดงาน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษกำลังพยายามทำ และรัฐบาลไทยทำมานานแล้ว

เราจะต่อสู้อย่างไร?

การนัดหยุดงานเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดของสหภาพแรงงานในการต่อสู้กับนายทุนและรัฐบาล แต่การนัดหยุดงานในรูปแบบต่างๆ มีประสิทธิภาพแตกต่างกัน เช่นการนัดหยุดงานหนึ่งหรือสองวัน อาจเป็นการเตือนหรือขู่นายจ้าง แต่ถ้านายจ้างไม่แสดงความสนใจ อาจต้องมีการขยายการนัดหยุดงานไปโดยไม่จำกัดวัน อันนี้เป็นประเด็นในตะวันตก แต่อาจไม่เป็นประเด็นในไทย แต่การนัดหยุดงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการ “นัดหยุดงานทั่วไป” ที่มีสมาชิกสหภาพรงงานจากหลายๆ สถานที่ทำงานนัดหยุดงานพร้อมกัน

การสร้างกระแสนัดหยุดงานทั่วไปเป็นสิ่งที่ทำได้ถ้ากรรมาชีพเผชิญหน้ากับปัญหาเหมือนกันทั้งประเทศ เช่นเรื่องวิกฤตค่าครองชีพและเงินเฟ้อ และการนัดหยุดงานทั่วไปเคยเกิดขึ้นในไทยช่วง ๑๔ ตุลา และเคยเกิดในประเทศอื่นๆ อีกด้วย แต่เราต้องเข้าใจว่าแค่การเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานทั่วไปโดยฝ่ายซ้ายในนามธรรม จะไม่ทำให้มันเกิดขึ้น คือมันต้องเป็นข้อเรียกร้องจากคนงานรากหญ้าจำนวนมาก ดังนั้นต้องมีการเตรียมตัวเป็นรูปธรรม

ปัญหาผู้นำแรงงานระดับชาติ

มันไม่ใช่ว่ามีแค่นายจ้างและรัฐที่จะพยายามห้ามและยับยั้งการนัดหยุดงานทั่วไปหรือแม้แต่การนัดหยุดงานธรรมดา ผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติ ที่ห่างเหินจากคนทำงานธรรมดาด้วยรายได้ วิถีชีวิต และตำแหน่ง เป็นอุปสรรคสำคัญในการต่อสู้ของกรรมาชีพ แน่นอน มีผู้นำแรงงานระดับชาติบางคนที่พร้อมจะนำการต่อสู้อย่างจริงจัง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้นำแรงงานระดับชาติเป็นบุคคลที่มีฐานะทางชนชั้นระหว่างนายจ้างกับคนทำงานรากหญ้า และฐานะทางชนชั้นนี้มีอิทธิพลกับแนวความคิดของเขา ผู้นำเหล่านี้มีความขัดแย้งในตัว เพราะเขาจะมองว่าหน้าที่ของเขาคือการนำข้อเรียกร้องของสมาชิกสหภาพแรงงานไปเสนอต่อนายจ้างเพื่อ “แก้ไขปัญหาให้แรงงาน” ไม่ใช่เพื่อเอาชนะนายจ้างหรือรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันถ้าเขาไม่นำการต่อสู้เลย สมาชิกจะลาออกจากสหภาพ

ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้ สมาชิกรากหญ้าของสหภาพแรงงานที่ต้องการจะสู้ ต้องพยายามสร้างเครือข่ายเพื่อนำการเคลื่อนไหว และนำนัดหยุดงาน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ข้ามรั้วสถานที่ทำงาน และเพื่อกดดันผู้นำแรงงานระดับชาติหรือพวกผู้นำระดับสภาคนงาน การสร้างพลังรากหญ้าของคนทำงานภายในสหภาพแรงงานเพื่อเชื่อมโยงกับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าในสถานที่ทำงานอื่นๆ เป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยพยายามสร้างในรูปแบบ “กลุ่มย่าน” ในอดีต และมีเอ็นจีโอสายแรงงานบางองค์กรที่สืบทอดเรื่องนี้ เราเลยเห็นเครือข่ายสหภาพแรงงานกลุ่มย่านที่ยังมีอยู่ในบางแห่ง

ที่สำคัญคือนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมคงต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างเครือข่ายสมานฉันท์จากล่างสู่บน เพื่อสนับสนุนการหนุนช่วยซึ่งกันข้ามรั้วสถานที่ทำงานและข้ามสหภาพแรงงาน และเพื่อให้คนทำงานรากหญ้ามีบทบาทนำโดยไม่ปล่อยให้ “ผู้นำแรงงานแบบข้าราชการ” มีอิทธิพลแต่ฝ่ายเดียว

ปัญหาการพึ่งรัฐสภา

ในเรื่องการเมืองของกรรมาชีพ มักจะมีความขัดแย้งในแนวทางระหว่างคนที่เน้นการเคลื่อนไหวประท้วงหรือนัดหยุดงาน กับคนที่ฝากความหวังไว้กับรัฐสภา ในประเทศตะวันตกพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูปอาจถูกก่อตั้งขึ้นโดยขบวนการแรงงาน แต่นักการเมืองของพรรคเหล่านี้จะมองว่าเขามีบทบาทในการแก้ปัญหาให้กรรมาชีพผ่านกระบวนการของรัฐสภา และมองว่าการนัดหยุดงานหรือการประท้วงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม ยิ่งกว่านั้นถ้านักการเมืองพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เขาอาจพร้อมที่จะปราบการนัดหยุดงานอีกด้วย เพราะเขามองว่าเขามีหน้าที่บริหารระบบทุนนิยม

ในไทยเรายังไม่มีพรรคการเมืองของสหภาพแรงงาน แต่พรรคการเมืองอย่างเช่นพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) ก็พยายามดึงนักสหภาพแรงานเข้ามาในพรรค ซึ่งจะทำให้เขาให้ความสำคัญกับรัฐสภามากกว่าการเคลื่อนไหว ในเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยก็มีตัวอย่างของการลดบทบาทการเคลื่อนไหวบนท้องถนน เพื่อไปตั้งความหวังกับรัฐสภา และความหวังว่า “ท่านจะทำให้” เป็นกระแสทั้งๆ ที่รัฐสภาไทยถูกคุมโดยอำนาจเผด็จการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้ารัฐสภาไทยไม่มีอำนาจเผด็จการคุมอยู่ในอนาคต ปัญหาการเลือกแนวทางระหว่างรัฐสภากับการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานก็ยังคงเป็นประเด็น

ทำไมต้องมีพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ

ระบบทุนนิยมสร้างปัญหาวิกฤตมากมายสำหรับประชาชนโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามจักรวรรดินิยม วิกฤตโลกร้อน วิกฤตโควิดที่มาจากระบบเกษตรอุตสาหกรรม หรือวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของอัตรากำไร และในทุกวิกฤต สันดานของนายทุนกับนักการเมืองฝ่ายทุนคือต้องโยนภารกิจในการแก้ปัญหาให้กับคนธรรมดาเสมอ

ถ้าเราจะปลุกระดมชักชวนให้คนเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเมืองของระบบทุนนิยม เช่นในเรื่องเงินเฟ้อกับค่าจ้าง หรือเรื่องการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพ หรือเรื่องปัญหาผู้นำแรงงาน ฯลฯ เราต้องมีพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ที่มีสื่อและสมาชิกที่จะลงไปต่อสู้ร่วมกับคนธรรมดา การที่เราจะเริ่มสร้างเครือข่ายสมาชิกสหภาพแรงงานในระดับรากหญ้าก็อาศัยการทำงานของพรรคเช่นกัน แค่เป็นนักเคลื่อนไหวปัจเจกหรือนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานไม่พอ เราต้องอัดฉีดการเมืองแนวมาร์คซิสต์ที่เน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเข้าไปในการต่อสู้ต่างๆให้มากที่สุด ถ้าเราไม่มีพรรค เราจะทำไม่ได้ และฝ่ายกรรมาชีพจะอ่อนแอ

กรรมาชีพในอาชีพใหม่ๆของศตวรรษนี้รวมตัวกันสู้ได้หรือไม่?

[แนะนำหนังสือ “Nothing to lose but our chains.” โดย เจน ฮาร์ดี้]

ในยุคนี้เรามักจะได้ยินคำพูดของคนที่มองว่า “ชนชั้นกรรมาชีพกำลังหายไป” หรือ “พลังการต่อสู้ของกรรมาชีพอ่อนตัวลง” หรือ “สภาพการทำงานที่มั่นคงกำลังสูญหายไป” คำพูดเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลจีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลจีดิจิตอล หรือท่ามกลางการขยายตัวของวิธีการทำงานแบบใหม่อย่างเช่น “แรงงานแพลตฟอร์ม”

ในหนังสือ “ไม่มีอะไรจะเสียนอกจากโซ่ตรวนของเรา” เจน ฮาร์ดี้ ได้รายงานผลการวิจัยเรื่องสภาพการทำงานในอังกฤษในยุคปัจจุบัน พร้อมกับฉายภาพวิธีการต่อสู้ของแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาหลายประเด็นปัญหา และความเชื้อเท็จเรื่องการทำงานในศตวรรษที่21

ประเด็นหนึ่งที่เจน ฮาร์ดี้ พิจารณาคือเรื่องสภาพการทำงานที่ไร้ความมั่นคง และเต็มไปด้วยความยืดหยุ่น ซึ่งมีการอ้างกันว่าเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ โดยเฉพาะภายใต้ “เสรีนิยมใหม่” แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์การทำงานแล้ว จะพบว่าการทำงานที่ไร้ความมั่นคงมีมาตลอด ตั้งแต่กำเนิดของทุนนิยม และสัดส่วนการทำงานที่มั่นคงเมื่อเทียบกับการทำงานที่ไร้ความมั่นคง มักขึ้นลง โดยถูกกำหนดจากระดับการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ความต้องการของนายจ้างที่จะลงทุนในการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพ และกระแสทางการเมือง ข้อสรุปคือไม่มีข้อมูลที่รองรับความเชื่อว่าทุนนิยมสมัยใหม่สร้างงานที่ไร้ความมั่นคงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่มีข้อมูลใดๆ ที่สนับสนุนความเชื่อว่าชนชั้นกรรมาชีพกำลังลดลงแต่อย่างใด

ในอังกฤษจำนวนกรรมาชีพเพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านในปี 1997 เป็น 33 ล้านในปี 2020 ทั่วโลกก็เป็นในลักษณะแบบนี้หมดด้วย

นอกจากนี้การทำงานแบบไร้ความมั่นคงอาจเกิดขึ้น ทั้งๆที่มีสัญญาการจ้างงานที่ชัดเจน คือความไม่มั่นคงอาจมาจากระดับค่าแรงที่ต่ำเกินไปที่จะเลี้ยงชีพเป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้มีมานาน

คนงานสร้างเกม

บ่อยครั้งความเชื่อที่ไม่ตรงกับความจริง มักเกิดจากความเข้าใจผิดว่า “มูลค่าส่วนเกิน” เกิดจากการทำงานของกรรมาชีพในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งนักมาร์คซิสต์ไม่เคยเสนอว่าเป็นอย่างนั้น ในความเป็นจริงมูลค่าส่วนเกินเกิดขึ้นในทุกภาคของเศรษฐกิจ และเราจะเห็นชัดเมื่อเราพิจารณาภาพรวมของระบบทุนนิยม คือเกิดจากการผลิต การขนส่ง การค้า ระบบธนาคาร การพัฒนาการศึกษา และจากระบบสาธารณสุขด้วย ไม่ได้เกิดณจุดเดียว และยิ่งกว่านั้นมาร์คซิสต์ไม่เคยแยกการทำงานด้วยกล้ามเนื้อออกจากการทำงานด้วยสมอง การทำงานทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันและคู่ขนานกันเสมอ และข้อเสนอของบางคน รวมถึงพวกอนาธิปไตยในอิตาลี่ ว่าระบบเศรษฐกิจที่ “ไร้น้ำหนัก” (คืออาศัยการทำงานแบบความคิดเป็นหลัก) กำลังเข้ามาแทนที่ระบบการผลิตสินค้านั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะแม้แต่คนงานไอที ที่ผลิตโปรแกรมหรือแอพหรือเกม ก็ผลิตสินค้าที่จับต้องได้

ในไทยนักวิชาการสายแรงงานบางคนเชื้อผิดๆ ว่า “การขูดรีด” เกิดขึ้นแค่ในกรณีที่มีการจ้างงานแบบไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ในความจริง “การขูดรีด” เกิดจากการขโมยมูลค่าส่วนเกินจากการทำงานของกรรมาชีพโดยนายจ้างหรือรัฐ มันเกิดขึ้นในทุกที่และเป็นกำเนิดของ “กำไร” ซึ่งมาร์คซ์อธิบายไว้ใน “ทฤษฏีมูลค่าแรงงาน”

แน่นอนระบบทุนนิยมเป็นระบบที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำงานในภาคหนึ่งอาจหายไปหรือลดลง เช่นในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่การทำงานในภาคใหม่หรือในรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ในอังกฤษยุคสมัยนี้คนงานในภาคการศึกษาและภาคสวัสดิการของรัฐ เพิ่มขึ้นมาก แต่อุตสาหกรรมก็ยังมีอยู่ ระบบสาธารณสุขของรัฐ (NHS) มีลูกจ้างทั้งหมด 1.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่มีลูกจ้างมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก มันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

ส่วนเรื่องหุ่นยนต์ในระบบการผลิตนั้น ไม่มีข้อมูลว่าทำให้การจ้างงานในภาพรวมลดลง มันอาจลดลงในกิจการหนึ่ง แต่ไปเพิ่มที่อื่น เช่นการเพิ่มขึ้นของแรงงานในคลังสินค้ายักษ์ของบริษัทอเมซอนเป็นต้น นอกจากนี้ในการผลิตรถยนต์ บางบริษัทเริ่มลดจำนวนหุ่นยนต์ลง เพราะไม่ยืดหยุ่นและฉลาดเท่าแรงงานมนุษย์

การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของการทำงานในระบบทุนนิยมไม่ได้ทำลายโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อสู้กับนายจ้างแต่อย่างใด มันแค่เปลี่ยนรูปแบบของสหภาพแรงงาน หรือเปลี่ยนกองหน้าของขบวนการแรงงานเท่านั้น

และสิ่งที่ เจน ฮาร์ดี้ เน้นในหนังสือเล่มนี้คือ “ไม่มีที่ไหนที่จัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้” มันขึ้นอยู่กับว่านักปฏิบัติการสายแรงงานพร้อมจะลงมือจัดตั้งหรือไม่

สิ่งนี้ถูกพิสูจน์จากประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานสากล และจากกรณีศึกษาของ เจน ฮาร์ดี้ เอง คือเขาเข้าไปสำรวจการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการต่อสู้กับนายจ้างในกิจการต่างๆ เช่น กลุ่มพนักงานทำความสะอาดที่ทำงานให้กับบริษัทเอาท์ซอร์สหรือรับเหมาช่วง กลุ่มคนงานหญิงรายได้ต่ำ แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานที่เขียนโปรแกรมสำหรับเกมคอมพิวเตอร์ ครูบาอาจารย์ หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในคลังสินค้า และ ฮาร์ดี้ พบว่าในทุกสถานที่ทำงานเหล่านี้ มีความพยายามที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง บางแห่งอาจประสบความสำเร็จมาก บางแห่งอาจน้อย แต่ไม่มีที่ไหนที่จัดตั้งไม่ได้ และไม่มีที่ไหนที่คนไม่พยายามออกมาต่อสู้

แม้แต่ในไทยเรายังเห็นการจัดตั้งสหภาพแรงงานในคนงานไรเดอร์ ที่ถือว่าเป็นคนงานแพลตฟอร์ม เช่นกรณี “สหภาพไรเดอร์” ที่พึ่งต่อรองเรื่องสภาพการจ้างงานกับบริษัท ลาลามูฟ อีซี่แวน คนงานประเภทนี้ทั่วโลกกำลังเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนามาตรฐานการจ้างงาน โดยที่บริษัทต่างๆ อ้างว่าคนงานแพลตฟอร์มเป็น “ผู้ประกอบการเอง” หรือเป็น “ผู้มีหุ้นส่วนในบริษัท” ทั้งๆ ที่เป็นลูกจ้างชัดๆ ข้ออ้างของบริษัทกระทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายสวัสดิการใดๆ และเพื่อผลักภาระจากการทำงานที่ไม่มีความมั่นคงไปสู่ลูกจ้าง

ภาพจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ในอังกฤษสหภาพแรงงานของคนทำงานแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ทำการประท้วง หยุดงาน และใช้กระบวนการศาลเพื่อบังคับให้บริษัทต้องยอมรับว่าเป็นลูกจ้าง ที่สหรัฐและอังกฤษสหภาพแรงงานทำอาหารในร้านฟาสท ฟูดอย่างเช่นแมคโดนัลด์ หรือในบาร์ ก็กำลังจัดตั้งสหภาพแรงงานเช่นกัน

ในกรณีที่รัฐกับนายจ้างจับมือกันและใช้กฎหมายเพื่อทำให้การนัดหยุดงานยากขึ้น การต่อสู้ก็ยังทำได้ในหลายระดับตั้งแต่การนัดหยุดงานถูกกฎหมาย การนัดหยุดงานผิดกฎหมาย การขู่ว่าจะหยุดงาน การลงคะแนนเสียงเรื่องว่าจะหยุดงานหรือไม่ หรือการประชุมกลางแจ้งเพื่อกดดันนายจ้างเป็นต้น

สำหรับวิธีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เจน ฮาร์ดี้ กล่าวถึง “รูปแบบการจัดตั้ง” (Organising Model) ที่นำเข้ามาในอังกฤษจากขบวนการแรงงานสหรัฐ เพื่อเปลี่ยนทิศทางสหภาพแรงงานจากแค่การบริการสมาชิก มาเป็นการจัดตั้งเพื่อเพิ่มพลังต่อรอง รูปแบบนี้อาศัยหลักการ 3 ประการคือ 1.แสวงหาผู้นำระดับรากหญ้าธรรมชาติ 2.เชื่อมโยงคนทำงานกับชุมชน และ 3.ทดสอบว่าผู้นำรากหญ้าสามารถทำให้คนส่วนใหญ่สนับสนุนการต่อสู้ได้หรือไม่ ผ่านการล่ารายชื่อเป็นต้น ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นเรื่องสามัญสำนึก แต่ถ้าใช้ในลักษณะที่ตามสูตรแบบกลไกอาจมีปัญหา เพราะผู้นำรากหญ้าบ่อยครั้งเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ เราไม่สามรถกำหนดล่วงหน้าได้ และเราอาจไม่จำเป็นต้องรอให้คนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานถึงขั้นพร้อมจะสู้ เพราะการออกมาสู้ของของกลุ่มหนึ่งแผนกหนึ่ง อาจกระตุ้นให้คนอื่นออกมาสู้ได้

เจน ฮาร์ดี้ สรุปว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการนัดหยุดงานหรือการประท้วงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เกิดขึ้นผ่านแกนนำที่เชื่อมโยงกับคนงานรากหญ้าอย่างใกล้ชิดและมีโครงสร้างสหภาพที่อำนวยให้คนงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา และบ่อยครั้งการมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในสหภาพ ช่วยทำให้การต่อสู้เข้มแข็งมากขึ้น

ฮาร์ดี้ เสนอต่อว่าในสถานการณ์สังคมที่การต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้น เช่นการต่อสู้กับการเหยียดสีผิวของขบวนการ Black Lives Matter และการประท้วงเรื่องโลกร้อน หรือถ้าจะยกตัวอย่างจากไทยก็คือการต่อสู้กับเผด็จการ บทบาทของนักสังคมนิยมที่เป็นสมาชิกพรรค และเป็นนักเคลื่อนไหวในสถานที่ทำงาน สามารถเชื่อมโยงโลกภายนอกรั้วสถานประกอบการ กับการต่อสู้ภายในได้ และสามารถนำกระแสอันมีพลังของการต่อสู้ทางการเมือง เข้ามาสร้างเป็นพลังการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานได้อีกด้วย พูดง่ายๆ การนำการเมืองภาพกว้างเข้ามาในสหภาพแรงงานและสถานที่ทำงาน ช่วยเสริมพลังการต่อสู้ของกรรมาชีพได้ ซึ่งข้อสรุปอันนี้ของ ฮาร์ดี้ ตรงกับสิ่งที่ โรซา ลัดคแซมเบอร์ค เคยเสนอในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป”

ตัวอย่างของการจัดตั้งกรรมาชีพในภาคการทำงานใหม่ๆ หรือในสถานที่ทำงานที่ไม่เคยมีสหภาพแรงงานมาก่อน ไม่ได้อาศัยการพยายามสร้าง “สหภาพแรงงานแดง” หรือ “สหภาพแรงงานปฏิวัติ” อย่างที่พวกลัทธิสหภาพอนาธิปไตยเสนอแต่อย่างใด เพราะการสร้างสหภาพแรงงานแบบนั้นจะไม่สามารถจัดตั้งคนส่วนใหญ่ได้เลย เพราะคนทำงานในสถานที่ต่างๆ มักจะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่การจัดตั้งสหภาพแรงงานและการนำการต่อสู้ในภาคการทำงานใหม่ๆ ถ้าจะมีพลังจริงๆ จะต้องอาศัยนักปฏิวัติสังคมนิยมที่จัดตั้งในพรรค และพร้อมจะปลุกระดมเพื่อนร่วมงานต่างหาก

[ Jane Hardy (2021) “Nothing to lose but our chains.” Pluto Press]

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปัญหาของการปลีกตัวออกเพื่อสร้างสหภาพแรงงานแดง

เลนิน เคยเขียนว่า “พวก *คอมมิวนิสต์ซ้าย* เวลามองสหภาพแรงงาน มักจะตะโกนเรียกหามวลชน! มวลชน! แล้วไม่ยอมทำงานในสหภาพแรงงาน ปฏิเสธด้วยข้ออ้างว่ามันล้วนแต่ปฏิกิริยา(เหลือง) เสร็จแล้วก็ไปประดิษฐ์สหภาพแรงงานกรรมาชีพแบบใหม่ที่ขาวสะอาด ที่ไม่เปรอะเปื้อนกับแนวคิดเสรีนิยมของนายทุน และไม่คับแคบ ซึ่งพวกเขามองว่าองค์กรดังกล่าวจะกลายเป็นองค์กรกว้างใหญ่ โดยมีเงื่อนไขเดียวในการเข้าเป็นสมาชิก คือต้องสนับสนุนระบบโซเวียด!

ความโง่เขลาที่ทำลายการปฏิวัติมากกว่านี้คงไม่มี…. ถ้าเราทำงานแบบนั้น เราจะปล่อยให้ฝ่ายขวาผูกขาดอิทธิพลเหนือมวลชนในสหภาพแรงงาน… เพราะภาระของชาวคอมมินิสต์คือการโน้มน้าวคนที่ยังไม่ได้พัฒนาทางความคิด ให้หันมามีจิตสำนึกก้าวหน้า เราต้องทำงานในองค์กรที่มีคนล้าหลังแบบนั้น ไม่ใช่ไปสร้างรั้วเพื่อแยกตัวออกจากเขาด้วยวาจา *ซ้าย* นามธรรมแบบเด็กๆ

เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้นำแรงงานอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย จะขอบคุณพวก *คอมมิวนิสต์ซ้าย* ที่ถอนตัวออกและไม่ยอมทำงานภายในสหภาพแรงงาน *เหลือง* และแน่นอนพวกผู้นำสหภาพเหล่านั้นจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการเขี่ยเราออกไปจากสหภาพแรงงานต่างๆ แต่เราจะต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะอยู่ในสหภาพแรงงาน เพื่อปลุกระดมแนวความคิดฝ่ายซ้าย”

[จากโรคไร้เดียงสา “ฝ่ายซ้าย” ในขบวนการคอมมิวนิสต์ โดย วี.ไอ. เลนิน หัวข้อ “นักปฏิวัติควรทำงานในสหภาพแรงานปฏิกิริยาหรือไม่?”]

*สหภาพคนทำงาน* ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กรสหภาพคนทำงานไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในสหภาพแรงงานอื่นได้

มาร์คซ์เข้าใจว่าคนที่มีอำนาจในการควบคุมระบบทุนนิยม ชนชั้นปกครอง มักหาวิธีหลอกลวงกรรมาชีพให้ยอมรับสภาพชีวิตและระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าในหมู่กรรมาชีพมีคนสามกลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นกรรมาชีพที่ยอมรับสภาพของสังคมทุนนิยมโดยไม่คิดจะต่อต้านเลย กลุ่มที่สองเป็นกรรมาชีพที่ไม่พอใจ มีจิตสำนึกทางชนชั้น และพร้อมจะสู้กับระบบทุนนิยม สองกลุ่มแรกนี้เป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในกลุ่มที่สามที่แกว่งไปแกว่งมาระหว่างสองกลุ่มแรก ดังนั้นสำหรับมาร์คซ์ภาระของนักสังคมนิยมคือการหาทางดึงคนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นและพร้อมจะสู้ ซึ่งถ้าเราจะทำเราต้องมีพรรคสังคมนิยมมาร์คซิสต์

ดังนั้นต้องมีการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจากกลุ่มคนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อให้พรรคสามารถปลุกระดมการต่อสู้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนพรรคต้องมีโครงสร้างประชาธิปไตยภายในที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นพรรคเผด็จการเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต หรือพรรคแนวสตาลินอื่นๆ ทั่วโลก

บางคนอาจมองว่าเขาควรทำงานกับคนก้าวหน้าเท่านั้นเพราะ “คุยกันรู้เรื่อง” แต่ปัญหาคือจะโดดเดี่ยวตัวเองและเพื่อนจากมวลชนคนส่วนใหญ่ และกลุ่มคนที่ก้าวหน้าจะไม่ขยายตัวในเมื่อแค่คุยกับคนที่มีความคิดเหมือนกัน

นักต่อสู้ที่เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติและเข้าใจแนวมาร์คซิสต์ จะให้ความสำคัญกับการปลุกระดมทั้งคนส่วนน้อยที่ก้าวหน้าที่สุด และมวลชนคนส่วนใหญ่ที่บางครั้งพร้อมจะรับฟังข้อเสนอก้าวหน้า ถ้าไม่มีพรรค เราไม่สามารถดึงมวลชนส่วนใหญ่มาอยู่ฝั่งที่ก้าวหน้าที่สุดได้ และเราไม่สามารถจัดตั้งนักปลุกระดมใหม่ๆ ของพรรคจากคนที่ก้าวหน้าได้

ใจอึ๊งภากรณ์

สร้างพรรคสังคมนิยมแนวปฏิวัติเพื่อสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง

ปัจจุบันมีการเลิกจ้างและกดค่าแรงในประเทศไทย แต่ในทุกกรณีสหภาพแรงงานขาดการต่อสู้จริงๆ จังๆ และขาดการหนุนช่วยข้ามรั้วสถานประกอบการจากแรงงานอื่น จนคนงานกลายเป็นเหยื่อที่ต้องไปร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา”หรือองค์กรอื่นๆ ของรัฐ หรือจากพรรคการเมืองของฝ่ายทุน

     อันนี้ไม่ใช่ความผิดของคนงาน แต่เป็นความผิดของนักเคลื่อนไหวแรงงานที่ปฏิเสธการเมืองของฝ่ายซ้ายและความสำคัญของการสร้างพรรคสังคมนิยมแนวปฏิวัติ

     ขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งจะเน้นการต่อสู้และความสมานฉันท์ระหว่างสหภาพแรงงานต่างๆ จะพยายามจัดการนัดหยุดงานพร้อมๆ กันหลายที่ และตัวอย่างที่ดีคือการนัดหยุดงานทั่วไปที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ที่อินเดีย หรือที่กำลังเกิดขึ้นในเกาหลีใต้

     ที่มาของสภาพย่ำแย่นี้ในไทย ไม่ใช่ “ลักษณะพิเศษของสังคมไทย” หรือนิยายเรื่องไทยไม่มีระบบชนชั้น หรือเรื่อง “แนวคิดศักดินาที่ฝังลึกอยู่ในสมองคนธรรมดา” และสภาพนี้ไม่ได้มาจากการกดขี่ของฝ่ายรัฐที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     ในอดีต ในสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)รุ่งเรือง มีนักเคลื่อนไหวของพรรคตั้งเป้าในการทำงานการเมืองภายในสถานที่ทำงานต่างๆ และมีการสร้างสหภาพแรงงานที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ถ้าใครสนใจเรื่องนี้ก็ควรจะไปอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ

     ในช่วงก่อนและหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อสังคมก็มีบทบาทในการปลุกระดม และประสานงานร่วมกับขบวนการแรงงาน และหลายคนได้รับอิทธิพลมาจาก พคท. ทั้งโดยตรงและทางอ้อม

     ทุกวันนี้มรดกของ พคท. ในขบวนการแรงงานยังหลงเหลืออยู่บ้างในรูปแบบ เครือข่ายสหภาพแรงงาน “กลุ่มย่าน” แต่อยู่ในลักษณะอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก

     แง่สำคัญของการจัดตั้งกรรมาชีพในสหภาพแรงงานของ พคท. คือการที่พยายามเชื่อมคนงานในโรงงานและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ข้ามรั้วโรงงานและระหว่างสหภาพแรงงานที่แตกต่างกัน เพื่อให้มีการต่อสู้ร่วมกัน เช่นการนัดหยุดงานพร้อมกัน และที่สำคัญคือการพยายามสร้างการต่อสู้สมานฉันท์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่คือความสำคัญของการสร้างองค์กรสหภาพแรงงานกลุ่มย่านต่างๆ โดย พคท.

     แต่หลังจากที่ พคท. เริ่มล่มสลาย และนักกิจกรรมต่างๆ หันไปทำงานในองค์กรเอ็นจีโอ นอกจากจะมีการเน้นชาวบ้านในชนบทแล้ว คนที่ยังทำงานในสายแรงงาน กลายพันธุ์ไปเป็นคนที่ทำงานในรูปแบบการกุศล คือเน้นการช่วยเหลือผู้ที่ตกยากหรือผู้ที่เป็นเหยื่อ มากกว่าที่จะปลุกระดมให้มีสหภาพแรงงานที่เน้นการต่อสู้ทางชนชั้น ในที่สุดองค์กรเอ็นจีโอสายแรงงานกลายเป็นองค์กรคล้ายๆ ธุรกิจขนาดเล็ก ที่ขอทุนจากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือคนจน มันแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากสมัย พคท. และที่แย่สุดคือไม่มีการเน้นหรือพูดถึงการนัดหยุดงาน ไม่มีการพูดถึงการเมืองหรือเรื่องชนชั้น และไม่เน้นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเลย

     เราจะเห็นได้ว่าความอ่อนแอของขวนการแรงงานไทยในยุคนี้ จนเรียกได้ว่าไม่มีขบวนการ มาจากเรื่องการเมืองล้วนๆ

     นักต่อสู้สหภาพแรงงานในไทยยังไม่หมดสิ้น ยังมีคนดีๆ ที่ต้องการต่อสู้ไม่น้อย เป้าหมายของคนเหล่านี้ควรจะเป็นการสร้างขบวนการแรงงานที่มีพลัง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันเกิดถ้ามัวแต่ไปเน้นการสัมมนาในโรงแรมเรื่อง “สิทธิแรงงาน” ที่จัดขึ้นด้วยงบจากเอ็นจีโอหรือหน่วยงานของรัฐ

     แน่นอนนักสังคมนิยมจะต้องมีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน และต้องมีส่วนในการสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง เช่นเรื่องค่าจ้าง โบนัส และสภาพการจ้างอื่นๆ แต่ถ้าทำแค่นั้น เราก็เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” และผู้ที่เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” จะมองว่าองค์กรจัดตั้งหลักคือสหภาพแรงงาน ไม่ใช่พรรคซ้ายสังคมนิยม และเราจะก้าวข้ามปัญหาภายในรั้วสถานที่ทำงานเพื่อไปสนใจสังคมภายนอกไม่ได้

     การปลุกระดมทางการเมืองแปลว่าต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อของพรรค และผ่านกลุ่มศึกษาของพรรค ซึ่งต่างจากกลุ่มศึกษาของสหภาพที่เน้นแต่เรื่องปากท้องหรือกฎหมายแรงงาน การศึกษาทางการเมืองของพรรคต้องครอบคลุมการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยและสังคมต่างประเทศ ต้องเรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์ไทยและทั่วโลก ต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ ต้องศึกษาธาตุแท้ของชนชั้นและของรัฐ เราต้องสนใจศิลปะวัฒนธรรม ต้องสนใจวิทยาศาสตร์ และเราต้องพร้อมที่จะร่วมกันค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาทุกเรื่องในชีวิตมนุษย์

     ในปัจจุบันนักเคลื่อนไหวที่ดีที่สุดในขบวนการแรงงานไทย เช่นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มักจะยึดมั่นในแนวคิด “ลัทธิสหภาพซ้าย” บางคนถึงกับใช้แนว “ลัทธิสหภาพปฏิวัติ” เช่นพวกที่ชอบกล่าวถึงเลนินและแนวมาร์คซิสต์

     ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานสากล แนว “ลัทธิสหภาพ” (Syndicalism) จะเน้นการเคลื่อนไหวผ่านองค์กรสหภาพแรงงานอย่างเดียว แนวนี้มีรูปแบบหลากหลายที่ซับซ้อน พวกที่มองว่าควรเคลื่อนไหวในเรื่องปากท้องอย่างเดียวและไม่กล่าวถึงการเมือง คือพวกลัทธิสหภาพฝ่ายขวา ซึ่งในไทยได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการปกครองของเผด็จการทหาร ที่พยายามห้ามไม่ให้สหภาพแรงงานสนใจเรื่องการเมือง

     ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ มองว่าการเมืองกับเศรษฐกิจปากท้องแยกออกจากกันไม่ได้ และเขาอาจต้องการปฏิวัติล้มทุนนิยม อย่างไรก็ตามเขาจะต่างจากแนวมาร์คซิสต์ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ทรอดสกี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ ตรงที่เขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างพรรคปฏิวัติ ดังนั้นแทนที่จะสร้างพรรคเขามองว่าสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมได้

     ขบวนการแรงงานไทยขาดนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมที่จะทำงานเป็นระบบ ในบางแห่งมีนักต่อสู้ที่อยากเห็นแรงงานสู้จริง แต่นักสู้แรงงานเหล่านี้เลือกใช้ “ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ” เขาจะส่งเสริมการนัดหยุดงาน และการจัดตั้งกลุ่มย่านข้ามรั้วโรงงาน แต่จะไม่เห็นด้วยกับการนำ “การเมืองภาพกว้าง” ที่ “ไม่เกี่ยวกับแรงงาน” เข้าสู่ขบวนการแรงงาน เช่นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ปัญหาภาคใต้ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาในระบบการศึกษา หรือประเด็นการเมืองสากลปัจจุบัน หรือแม้แต่วิธีการตั้งพรรคการเมืองที่อิสระจากนายทุนเป็นต้น ในปัจจุบันหลายคนที่เคยได้รับอิทธิพลจากแนวนี้ก็ไปเข้ากับพรรคนายทุนเช่นพรรคก้าวไกล

     องค์กรสหภาพแรงงานต้องการรับทุกคนในสถานที่ทำงานเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งแน่นอนรวมถึงคนที่มีความคิดฝ่ายขวาตามชนชั้นปกครองและคนที่ยังขี้เกียจคิดอีกด้วย และแกนนำของสหภาพจะต้องปกป้องความสามัคคีภายในสหภาพระดับหนึ่ง เพราะกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้งและหลุดจากตำแหน่งในสหภาพ จึงไม่สามารถถกเถียงแนวคิดอย่างตรงไปตรงมาได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ทำงานภายในสหภาพ

     ในประการสุดท้ายสหภาพแรงงานไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ เพราะเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อรองกับนายจ้างในระบบทุนนิยม ไม่สามารถประสานการทำงานระหว่างทุกซีกทุกส่วนของสังคมที่ก้าวหน้าเพื่อยึดอำนาจรัฐ

     “สหภาพคนทำงาน” ที่ครอบคลุมคนทำงานทุกส่วน ถ้าสร้างได้โดยไม่ไปแย่งสมาชิกจากสหภาพแรงงานที่มีอยู่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องดี แต่ทั้งๆ ที่มีการเสนอว่าในอนาคต “สหภาพคนทำงาน” จะลงมือสร้างพรรคของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ปัญหาใหญ่คือในรูปธรรมจะมีการสร้างสหภาพนี้ขึ้นมาเพื่อแทนที่การสร้างพรรคสังคมนิยม และการเสนอ “สหภาพคนทำงาน” สะท้อนแนวคิด “ลัทธิสหภาพ” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวอนาธิปไตยที่ไม่สนใจการสร้างพรรค

     ยิ่งกว่านั้น “สหภาพคนทำงาน” ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานไม่ได้มีความคิดแบบนั้น นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว สรุปแล้วการสร้าง “สหภาพคนทำงาน” เป็นการสร้างองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองแนวอนาธิปไตยที่ไม่ใช่พรรค และในเมื่อองค์กรนี้เรียกตัวเองว่า “สหภาพ” ก็ยากที่สมาชิกจะเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองภาพกว้าง ที่ไม่เกี่ยวกับสถานที่ทำงาน ในสังคมโดยทั่วไป

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม:

กรรมาชีพไทยกับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสังคมใหม่ หน้าที่ของนักสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน  https://bit.ly/2MBfQzc

สหภาพแรงงานใช้แทนพรรคไม่ได้ https://bit.ly/2V2LBcJ

สหภาพแรงงานสร้างขึ้นมาเพื่อแทนที่การสร้างพรรคสังคมนิยมไม่ได้

“สหภาพคนทำงาน” ที่ครอบคลุมคนทำงานทุกส่วน ถ้าสร้างได้โดยไม่ไปแย่งสมาชิกจากสหภาพแรงงานที่มีอยู่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องดี แต่ทั้งๆ ที่มีการเสนอว่าในอนาคต “สหภาพคนทำงาน” จะลงมือสร้างพรรคของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ปัญหาใหญ่คือในรูปธรรมจะมีการสร้างสหภาพนี้ขึ้นมาเพื่อแทนที่การสร้างพรรคสังคมนิยม และการเสนอ “สหภาพคนทำงาน” สะท้อนแนวคิด “ลัทธิสหภาพ” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวอนาธิปไตยที่ไม่สนใจการสร้างพรรค

ปัญหาลัทธิสหภาพในขบวนการแรงงานไทย

ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานสากล แนว “ลัทธิสหภาพ” (Syndicalism) จะเน้นการเคลื่อนไหวผ่านองค์กรสหภาพแรงงานอย่างเดียว แนวนี้มีรูปแบบหลากหลายที่ซับซ้อน พวกที่มองว่าควรเคลื่อนไหวในเรื่องปากท้องอย่างเดียวและไม่กล่าวถึงการเมือง คือพวกลัทธิสหภาพฝ่ายขวา ซึ่งในไทยได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการปกครองของเผด็จการทหาร ที่พยายามห้ามไม่ให้สหภาพแรงงานสนใจเรื่องการเมือง

แต่ในขณะเดียวกันมีลัทธิสหภาพฝ่ายซ้าย ซึ่งอาจเป็นฝ่ายซ้ายปฏิวัติด้วย พวกนี้มองว่าการเมืองกับเศรษฐกิจปากท้องแยกออกจากกันไม่ได้ และเขาอาจต้องการปฏิวัติล้มทุนนิยมอีกด้วย อย่างไรก็ตามเขาจะต่างจากแนวมาร์คซิสต์ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอดสกี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ ตรงที่เขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างพรรคปฏิวัติ หรือไม่ชัดเจนเรื่องการสร้างพรรคปฏิวัติในขณะนี้ ดังนั้นแทนที่จะลงมือสร้างพรรค เขามองว่าสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมได้ นี่คือการเมืองของนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานฝ่ายซ้ายในไทยส่วนใหญ่

ขบวนการแรงงานไทยขาดนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมที่จะทำงานเป็นระบบ ในบางแห่งมีนักต่อสู้ที่อยากเห็นแรงงานสู้จริง แต่นักสู้แรงงานเหล่านี้เลือกใช้ “ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ” เขาจะส่งเสริมการนัดหยุดงาน การจัดตั้งกลุ่มย่านข้ามรั้วโรงงาน หรือสหภาพที่ครอบคลุมคนทำงานหลายประเภท แต่บ่อยครั้งมักจะไม่เห็นด้วยกับการนำ “การเมืองภาพกว้าง” ที่ “ไม่เกี่ยวกับแรงงาน” เข้าสู่ขบวนการแรงงาน เช่นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ปัญหาภาคใต้ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาในระบบการศึกษา หรือประเด็นการเมืองสากลปัจจุบัน หรือแม้แต่วิธีการตั้งพรรคการเมืองที่อิสระจากนายทุนเป็นต้น

ประสบการณ์จากขบวนการแรงงานและขบวนการสังคมนิยมทั่วโลกในอดีตและปัจจุบัน สอนให้เราเข้าใจปัญหาของการใช้สหภาพแรงงานเป็นองค์กรต่อสู้อย่างเดียว โดยไม่สร้างพรรคสังคมนิยมตั้งแต่แรก คือในประการแรกเขาไม่สามารถจัดตั้งกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนงาน เช่นนักศึกษา คนกลุ่มน้อย หรือคนที่อยากรณรงค์เรื่อง 112 เป็นต้น มันนำไปสู่การเน้นประเด็นการเมืองปากท้องอย่างเดียวด้วย ทั้งๆ ที่ในนามธรรมอาจกล่าวถึง “เลนิน” หรือโจมตีระบบทุนนิยม

ในประการที่สององค์กรสหภาพแรงงานต้องการรับทุกคนในสถานที่ทำงานเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งแน่นอนรวมถึงคนที่มีความคิดฝ่ายขวาตามชนชั้นปกครองและคนที่ยังขี้เกียจคิดอีกด้วย และแกนนำของสหภาพจะต้องปกป้องความสามัคคีภายในสหภาพระดับหนึ่ง เพราะกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้งและหลุดจากตำแหน่งในสหภาพ จึงไม่สามารถถกเถียงแนวคิดอย่างตรงไปตรงมาได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ทำงานภายในสหภาพ

ในประการที่สาม ถ้านักลัทธิสหภาพแบบนี้แพ้การเลือกตั้ง หรือถูกเลิกจ้างเขาอาจจะไม่มีองค์กรเหลือเลย ประเด็นนี้เป็นปัญหาด้วยเวลาคนงานไม่มีความมั่นใจในการต่อสู้ หรือไม่ยอมนัดหยุดงานในช่วงหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางการเมืองลดลง ไม่เหมือนพรรคปฏิวัติที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะการจัดกลุ่มศึกษาและการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ

ในประการสุดท้ายสหภาพแรงงานไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ เพราะเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อรองกับนายจ้างในระบบทุนนิยม ไม่สามารถประสานการทำงานระหว่างทุกซีกทุกส่วนของสังคมที่ก้าวหน้าเพื่อยึดอำนาจรัฐ

ปัญหาการพึ่งพรรคนายทุนของพวกลัทธิสหภาพ

ผลสำคัญอันหนึ่งของการใช้ลัทธิสหภาพแทนการสร้างพรรคในไทย คือการไปพึ่งพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคไทยรักไทยในอดีต แต่แรงงานไม่ควรหลงเลือก “นายใหม่” แบบนี้

แนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์กับขบวนการแรงงานไทย

นักสังคมนิยมต้องสร้างพรรคหรือ “เตรียมพรรค” ก่อนอื่น สมาชิกพรรคจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกรรมาชีพและสหภาพแรงงานที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าแกนนำของสหภาพแรงงานเหล่านั้นมีการเมืองแบบขวาๆ หรือไม่ เราควรทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ และปลุกระดมแนวคิดสังคมนิยมจากภายในและภายนอก

การสร้างสหภาพแรงงานแบบ “ซ้ายๆ” ขึ้นมาเมื่อเราไม่พอใจการเมืองของแกนนำสหภาพที่มีอยู่ เสี่ยงกับการโดดเดี่ยวตัวเองจากมวลชนในขบวนการแรงงาน

ในทุกสหภาพแรงงานจะมีคนสามกลุ่มใหญ่ๆ ถ้าแบ่งตามแนวความคิด กลุ่มแรกเป็นพวกที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมและหมอบคลานต่อนายทุนกับผู้มีอำนาจ กลุ่มที่สองเป็นพวกที่มีความคิดกบฏอยากต่อสู้กับนายจ้างและความไม่เป็นธรรม อาจมีความคิดสังคมนิยม หรืออย่างน้อยต้องการประชาธิปไตยแท้ และกลุ่มที่สาม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จะมีความคิดที่ผสมแนวจากทั้งสองขั้วหรืออาจยังไม่มีโอกาสที่จะคิดอะไรมาก หน้าที่ของนักสังคมนิยมคือการพยายามดึงกลุ่มตรงกลางที่ประกอบไปด้วยคนส่วนใหญ่ ให้เปลี่ยนความคิดมาเป็นฝ่ายซ้าย ถ้าเราไม่มีพรรคเราทำไม่ได้

ถ้าจะชักชวนและดึงกรรมาชีพส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับฝ่ายซ้าย มันต้องมีการจัดตั้งในองค์กรทางการเมือง … พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมนั้นเอง

นักปฏิวัติมาร์คซิสต์อิตาลี่ชื่อ อันโตนิโอ กรัมชี่ เคยอธิบายว่านักปฏิบัติการของพรรคสังคมนิยมไม่สามารถชักชวนให้คนงานมาเป็นฝ่ายซ้าย ถ้ามัวแต่ป้อนทฤษฏีและแนวคิดเหมือนการป้อนอาหารให้เด็ก มันต้องมีการเคลื่อนไหวคนถึงจะเริ่มตาสว่าง ดังนั้นนักสังคมนิยมจะต้องร่วมต่อสู้เคลื่อนไหว และพูดถึงทฤษฏีทางการเมืองที่ช่วยอธิยายแนวทางในการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรมเสมอ

พรรคกรรมาชีพที่ควรจะถูกสร้างขึ่นในไทยตอนนี้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ในประการแรกมันควรจะเป็นพรรคสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันบ่อยครั้งต้องอาศัยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาไฟแรง หรือ “เตรียมกรรมาชีพ” นั้นเอง เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้มีเวลาที่จะศึกษาและอ่าน และไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานหนัก ควรมีปัญญาชนเข้าร่วมด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างกรรมาชีพให้นำตนเอง ที่คิดเอง เป็นปัญญาชนกรรมาชีพ และช่วยสอนคนอื่นได้ และสมาชิกส่วนใหญ่ควรจะเป็นคนทำงานที่เคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานของตนเอง

แน่นอนพรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นกรรมาชีพ พรรคจึงก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด นโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรง หรือแนวคิดชาตินิยมที่มองว่าเราต้องสามัคคีกับนายทุนและทหารเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค

พรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้างเสมอ

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2MBfQzc

โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักปฏิวัติสังคมนิยม

ในวันที่ 15 มกราคม 1919 ท่ามกลางการปราบปรามการลุกฮือของกรรมาชีพ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ถูกฆ่าทิ้งโดยทหารฝ่ายขวาภายใต้คำสั่งของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมัน ซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปที่ต้องการปกป้องระบบทุนนิยม หลังจากนั้นมีการโยนศพของทั้งสองคนลงคลอง และพวกชนชั้นกลางก็เฉลิมฉลองด้วยความดีใจและความป่าเถื่อนตามเคย

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงท่ามกลางการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 กระแสปฏิวัติในประเทศต่างๆ ของยุโรปพุ่งสูง มีการเดินขบวนของทหารเรือติดอาวุธร่วมกับคนงานท่าเรือที่เมือง เคียล์ ประเทศเยอรมันหลังจากนั้นมีการตั้งกรรมการทหาร ในเมือง บเรเมน, แฮนโนเวอร์, โคโลน, ไลป์ซิก, ดเรสเดน และเมืองอื่นๆ อีกมากมาย ทหารชั้นล่างกับคนงานยึดเมือง มิวนิค และมีการประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียดของแคว้น บาวาเรีย ซึ่งอยู่ได้หลายเดือน ส่วนในเมืองหลวง เบอร์ลิน ทหารชั้นล่างติดอาวุธร่วมกับกรรมาชีพถือธงแดงในการเดินขบวน และนักสังคมนิยมอย่าง คาร์ล ลีบนิค ปรากฏตัวที่ระเบียงพระราชวังเพื่อประกาศว่ามีการก่อตั้ง “สาธารณรัฐสังคมนิยม” และเริ่มกระบวนการ “ปฏิวัติโลก” ซึ่งทำให้พระเจ้าไคเซอร์ต้องหนีออกนอกประเทศทันที

พวกสังคมนิยมเยอรมันส่วนใหญ่สองจิตสองใจเรื่องการปฏิวัติ คือแกว่งไปแกว่งมาระหว่างการปฏิวัติกับการปฏิรูประบบเดิม มีแค่ “กลุ่มสันนิบาตสบาร์ตาคัส” ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค เท่านั้นที่ชัดเจนว่าต้องปฏิวัติสังคมนิยม อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้พึ่งแยกตัวออกจากพวกพรรคสังคมนิยมปฏิรูปก่อนหน้านี้ไม่นาน จึงไม่ได้มีการจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบ ในที่สุดไม่เข้มแข็งพอที่จะนำการปฏิวัติได้

ในปลายเดือนธันวาคม 1918 รัฐมนตรีมหาดไทย นอสก์ จากพรรคสังคมนิยม ตัดสินใจสร้างกองกำลังทหารรับจ้าง “ไฟรคอพส์” ที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งชาติ เพื่อตระเวนไปทั่วเยอรมันและปราบปรามทำลายขบวนการแรงงานและนักสังคมนิยมปฏิวัติ บางหน่วยของกองกำลังนี้เริ่มใช้ธงสวัสติกะ ซึ่งกลายเป็นสัญญลักษณ์นาซีภายใต้ฮิตเลอร์

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมันชื่อ เอเบอร์ด จากพรรคสังคมนิยมปฏิรูป วิ่งไปจับมือทันทีกับพวกนายพลเก่า เพื่อ “สร้างความสงบเรียบร้อย” และการสร้างความสงบเรียบร้อยสำหรับระบบทุนนิยมแปลว่าต้องจัดการกับนักปฏิวัติ อย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ซึ่งมีฐานสนับสนุนในมวลชนทหารระดับล่างและกรรมาชีพของเมือง เบอร์ลิน

ผลงานสำคัญของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เราควรศึกษาคือเรื่อง “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” ที่อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมต้องอาศัยการปฏิวัติแทนที่จะตั้งความหวังกับการปฏิรูป และเรื่อง “การนัดหยุดงานทั่วไป” ที่เสนอความสำคัญของการนัดหยุดงาน พร้อมกับอธิบายว่า “การเมืองภาพกว้าง” กับเรื่อง “ปากท้อง” เชื่อมโยงกันอย่างไร บทความเรื่องการนัดหยุดงานทั่วไปสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพไทย เพราะมีการเน้นเรื่องปากท้องเหนือการเมืองภาพกว้างมานานเกินไป

โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค

ทุกวันนี้ท่ามกลางวิกฤตทุนนิยมสามวิกฤต คือวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของอัตรากำไร และวิกฤตโลกร้อน คำพูดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ว่าเราเผชิญหน้ากับสองทางเลือกคือ “สังคมนิยมหรือความป่าเถื่อน” ดูเหมือนมีพลังอย่างยิ่ง และอย่าลืมด้วยว่าเผด็จการทหารที่เรามีอยู่ในไทยตอนนี้ มีรากฐานมาจากสภาพการเมืองหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและความพยายามที่จะปฏิรูประบบโดยทักษิณและไทยรักไทย

อ่านเพิ่ม: แนวความคิดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค https://bit.ly/2DtwQWo

ต้นกำเนิดเผด็จการประยุทธ์ https://bit.ly/3stTEeQ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าจะปลดแอกตนเอง ต้องสมานฉันท์กับแรงงานพม่า

คาร์ล มาร์คซ์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าถ้ากรรมาชีพอังกฤษไม่เลิกดูถูกคนจากเกาะไอร์แลนด์ที่เข้ามาทำงานก่อสร้างในอังกฤษ เขาจะไม่มีวันปลดแอกตนเองได้

ในลักษณะเดียวกัน ตราบใดที่คนไทยดูถูกและรังเกียจแรงงานพม่า คนไทยไม่มีวันปลดแอกตนเองได้ เพราะอะไร?

ลัทธิชาตินิยมเป็นรากฐานความคิดว่า “เราแตกต่างจากคนพม่า” “คนไทยทุกคนมีผลประโยชน์ร่วมกัน” “เราต้องรักชาติ ศาสนา กษัตริย์” “เราภูมิใจในความเป็นไทย” ฯลฯ จนมีการยอมรับกันว่าต้องควบคุมการเข้าออกของเพื่อนมนุษย์จากประเทศเพื่อนบ้าน และสมควรแล้วที่จะโทษคนงานพม่าว่านำเชื้อโรคเข้ามาในไทย

แต่ลัทธิชาตินิยมเป็นลัทธิที่ล่ามโซ่พวกเราเพื่อทำให้เราเป็นทาสของชนชั้นปกครอง ชนชั้นปกครองไทยเป็นพวกที่กดขี่ ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบเรามาตลอด เป็นพวกที่สอนให้เราก้มหัวและคลานต่อคนข้างบน และเป็นพวกที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงกับเราเมื่อเราเรียกร้องเสรีภาพกับประชาธิปไตย

เราไม่มีผลประโยชน์ร่วมกับชนชั้นปกครองไทยแม้แต่นิดเดียว

แต่เรามีผลประโยชน์ร่วมกับกรรมาชีพที่ข้ามพรมแดนมาหางานทำ เพราะเขาไม่แตกต่างจากเราในการที่จะต้องกระตือรือร้นที่จะเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวภายใต้ระบบทุนนิยมที่สร้างปัญหาความยากลำบากให้ทุกคน เราเป็นพี่น้องกัน

ชนชั้นปกครองไทยเป็นศัตรูของเรา แต่ยังดูถูกเราด้วยการเรียกตัวมันเองเป็น “พ่อ” “แม่” หรือ “ลุง” ทั้งๆ ที่เรามีพ่อแม่หรือลุงของเราเองอยู่แล้ว

มันง่ายจังเลยที่เผด็จการประยุทธ์จะโทษแรงงานพม่าว่าสร้างวิกฤตโควิด เพราะมันเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นจากการที่คนงานไทยจำนวนมากตกงานและขาดรายได้จากวิกฤตโควิดที่เริ่มเมื่อต้นปี๒๕๖๓ มันเบี่ยงเบนประเด็นจากการที่รัฐบาลเผด็จการไม่ยอมลงทุนสร้างรัฐสวัสดิการให้กับเรา ในขณะที่เผด็จการใช้เงินภาษีของเราในการซื้ออาวุธหรือในการเลี้ยงปรสิตราชวงศ์ในวิถีชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย มันหน้าด้านอ้างว่าประเทศไม่มีเงินพอที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมือง

อย่าลืมว่าแรงงานกรรมาชีพ ทั้งไทยและพม่า เป็นผู้ทำงานสร้างมูลค่าในสังคม ไม่ใช่นายทุน กษัตริย์ หรือพวกขุนศึก

แรงงานข้ามชาติเข้ามาในไทยเพราะสังคมขาดกำลังงาน โดยเฉพาะในภาคที่มีงานอันตราย สกปรก และค่าจ้างต่ำ ทุกครั้งที่เราไปกินซีฟู๊ดเราควรระลึกถึงคนที่ทำงานเพื่อนำกุ้งปูปลามาถึงจานของเรา และควรระลึกต่อไปว่าสภาพความเป็นอยู่ของเขายากลำบากแค่ไหน ต้องจากบ้านเกิดมาอยู่ในชุมชนแออัดที่ไม่ปลอดภัยในเรื่องโรคติดต่ออย่างโควิด

ชุมชนแออัด และการที่รัฐไทยและนายทุนไทยไม่บริการอะไรให้กับแรงงานข้ามชาติ คือสาเหตุที่มีการแพร่ไวรัส มันไม่ได้อยู่ที่เชื้อชาติของแรงงาน

การแบ่งแยกแรงงานพม่าออกจากแรงงานไทย ช่วยทำให้เขาขูดรีดและเอาเปรียบทั้งคนไทยและคนพม่าง่ายขึ้น ถ้าเรา ผู้ที่เป็นกรรมาชีพแรงงาน สามารถสามัคคีกันข้ามเชื้อชาติ เราจะพัฒนาความเป็นอยู่ของทุกคนได้ เพราะเราจะมีพลัง

การควบคุมแรงงานข้ามชาติไม่ได้ช่วยอะไรเรา มันเพียงแต่ช่วยให้นายจ้างกดค่าแรงของเขาและของเรา มันช่วยให้ตำรวจและทหารเก็บส่วย และมันช่วยให้รัฐบาลมีแพะรับบาปเพื่อไม่ให้เราโทษรัฐบาล ดังนั้นเราควรเปิดพรมแดน เสริมสร้างรัฐสวัสดิการสำหรับทุกคนที่ทำงานในไทย และรณรงค์ให้แรงงานทุกเชื้อชาติเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอย่างเสรี

รัฐบาลเผด็จการประยุทธ์กำลังพยายามล้างสมองเราในรูปแบบ “อย่าโทษเรา” “ไปโทษแรงงานพม่าโน้น” และเป็นที่น่าสลดใจที่คนไทยไม่น้อยไม่สามารถสลัดโซ่ตรวนความเป็นทาสออก และไปคล้อยตามชนชั้นปกครองในการด่าคนพม่า

สรุปแล้ว สำหรับคนที่อยากปลดแอกตนเอง อยากเห็นประชาธิปไตยและเสรีภาพ มันมีสองขั้วความคิดในสังคม

ขั้วความคิดแรกเป็นแนวคิดที่มาจากชนชั้นปกครองและชวนให้เราจงรักภักดีต่อเขาภายใต้ลัทธิชาตินิยม ซึ่งในไทยรวมถึงลัทธิราชานิยมด้วย แนวคิดนี้ชวนให้เราหมอบคลานต่อเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ นายพลมือเปื้อนเลือด หรือ “ท่านผู้ใหญ่” คนใด และมันชวนให้เรามองว่าเรามีผลประโยชน์ร่วมกับผู้ที่กดขี่ขูดรีดเรา “เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน” นี่คือที่มาของความคิดที่เหยียดเชื้อชาติอื่น มันเป็นแอกเพื่อควบคุมให้คนส่วนใหญ่เป็นไพร่เป็นทาส

ขั้วความคิดที่สองเป็นแนวคิดที่เกิดจากจิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพและคนชั้นล่างทั่วไป มันไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ มันอาศัยอยู่ในสังคมได้เพราะมีนักสังคมนิยมและนักสิทธิมนุษยชนที่ทวนกระแสความคิดกระแสหลัก และเสนอแนวคิดประเภท “สามัคคีชนชั้นล่างข้ามเชื้อชาติ” ความคิดขั้วนี้จะปฏิเสธการรักชาติ แต่จะรักเพื่อนประชาชนแทน จะเสนอให้คนไทยธรรมดาสมานฉันท์กับคนเชื้อชาติอื่น และต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง เพื่อให้เราร่วมกันปลดแอกตนเองและสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

จากฮ่องกงถึงไทย – สรุปบทเรียนการต่อสู้ – แนะนำหนังสือ “กบฎในฮ่องกง” ของ อาว ลองยู

หลายคนคงทราบดีว่าการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในไทย ได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในฮ่องกง ดังนั้นเราควรจะศึกษาข้อสรุปสำคัญๆ จากหนังสือ“กบฏในฮ่องกง” ซึ่งเขียนโดยนักสังคมนิยมและนักสิทธิแรงงานชาวฮ่องกงชื่อ อาว ลองยู

บทสรุปสำคัญที่จะขอยกมาพิจารณาคือเรื่องการสร้าง “สภามวลชน” และพรรคการเมือง กับการสร้างกระแสนัดหยุดงาน

ขบวนการคณะราษฏร์ในไทยปัจจุบันยืนอยู่บนไหล่ของคนเสื้อแดงรุ่นพี่ที่เคยออกมาต่อสู้ก่อนหน้านี้ ในลักษณะเดียวกันขบวนการในฮ่องกงในปี 2019 ยืนอยู่บนไหล่ของ “ขบวนการร่ม” จากปี 2014

“ขบวนการร่ม” เกิดจากการปะทะทางความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนะและความหวังทางสังคมการเมืองที่ต่างจากคนรุ่นก่อน และความพยายามของเผด็จการจีนที่จะควบคุมและปราบปรามผู้เห็นต่างในฮ่องกง สิ่งนี้เริ่มปรากฏตัวในการประท้วงปี 2012

ในปี 2014 พรรคการเมืองและนักเคลื่อนไหวรุ่นวัยกลางคน เช่น กลุ่มนักวิชาการและนักบวช 3 คน Benny Tai, Chan Kin-man, Chu Yiu-ming เสนอให้ยึดจุดต่างๆ กลางเมือง “ด้วยความรักและสันติภาพ”  แต่นักบวช 3 คนนี้ และนักการเมืองเสรีนิยม Pan-democrats ที่เคยวิจารณ์รัฐบาลฮ่องกง ไม่ยืนหยัดในการต่อสู้ ไม่ทำอะไรเป็นรูปธรรม และในที่สุดก็หมดความน่าเชื่อถือ

ดังนั้นมีการขึ้นมานำของคนรุ่นใหม่ในสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง HKFS และองค์กรนักศึกษา Scholarism ซึ่งทำให้การต่อสู้พัฒนาสูงขึ้นในเชิงคุณภาพและปริมาณ และนำไปสู่การยึดถนนในใจกลางเมืองเมื่อกรกฏาคม 2014 พร้อมกันนั้นมีการบอยคอตการเรียนหนึ่งสัปดาห์ในเดือนกันยายน

เมื่อการบอยคอตการเรียนเกิดขึ้น สหภาพแรงงานและกลุ่มประชาสังคม 25 องค์กรได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนนักศึกษา และโจมตีระบบการเมืองของชนชั้นนำที่กดขี่และปรามข้อเรียกร้องของคนรากหญ้าที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย และการริเริ่มมาตรการควบคุมชั่วโมงการทำงานพร้อมกับนำระบบบำนาญถ้วนหน้ามาใช้

ในปีนั้นสมาพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกง (HKCTU) ประกาศนัดหยุดงานทั่วไป แต่คนออกมาน้อย ถือว่าล้มเหลว มีแค่สหภาพเครื่องดื่มและสหภาพแรงงานครูที่นัดหยุดงาน และก่อนหน้านั้นสหภาพนักสังคมสงเคราะห์ได้หยุดงานไปครั้งหนึ่ง

การประท้วงในปี 2019 เริ่มจากข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ซึ่งทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวฟื้นตัวขึ้นอีก จากปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเมษายน มีการปลุกระดมและให้การศึกษากับประชาชน ซึ่งมีผลทำให้คนออกมาเป็นแสน ในวันที่ 9 มิถุนายน คนออกมา 1 ล้าน และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ชุมนุมอายุต่ำกว่า 29 ปี นักเรียนมัธยมมีบทบาทสำคัญ

ท่ามกลางการชุมนุมมีการขยายข้อเรียกร้องจากการยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ไปสู่การเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งเสรี ยกเลิกคดีสำหรับผู้ชุมนุมที่ถูกจับ และเลิกเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็น “ผู้ก่อจลาจล” นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้ตั้งกรรมการสอบสวนพฤติกรรมของตำรวจในการสลายการชุมนุม

ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการเคลื่อนไหวปี 2019 และบทสรุปสำหรับไทย

สันติวิธีหรือความรุนแรง

ขบวนการเคลื่อนไหวในปี 2019 มีการแบ่งพวกกันระหว่างคนที่เน้นสันติวิธีกับคนที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง พวก “กล้าหาญ” เป็นพวกที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องมีการปิดลับ แต่การปิดลับแปลว่าไม่สามารถมีแถลงการณ์อย่างเปิดเผยได้ การถกเถียงแนวทางอย่างกว้างขวางทำไม่ได้เลย มวลชนธรรมดาจึงตรวจสอบพวก “กล้าหาญ” ไม่ได้ และตำรวจลับสามารถแทรกเข้าไปเป็นสายลับและผู้ก่อกวนได้ง่าย ในรูปธรรมวิธีการแบบนี้ลดบทบาทของมวลชน และในหลายกรณีทำให้เสียการเมืองอีกด้วยเมื่อมีการทำลายสถานที่ต่างๆ

การนัดหยุดงาน

การนัดหยุดงานเป็นวิธีต่อสู้ทีมีพลัง แต่ต้องค่อยๆ สร้างกระแส ในวันที 5 สิงหาคม 2019 มีการนัดหยุดงานทั่วไปของคนงานหลายแสนซึ่งประสพความสำเร็จมาก คนงานท่าอากาศยานและพนักงานสายการบินเป็นหัวหอก และมีนักสหภาพแรงงานของคนที่ทำงานในธนาคารและไฟแนนส์ ข้าราชการ พนักงานร้านค้า และภาคอาหารและเครื่องดื่มเข้าร่วม นอกจากนี้มีการชุมนุมของคนหนุ่มสาวและการบอยคอตการเรียน การนัดหยุดงานและการประท้วงครั้งนี้สามารถกดดันให้รัฐบาลฮ่องกงต้องยอมถอนกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ

แต่ต่อมาระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม รัฐบาลจีนกดดันให้มีการปราบปรามนักสหภาพแรงงานในบริษัทสายการบินที่หยุดงานและเป็นหัวหอกการประท้วง ซึ่งทำให้กระแสหยุดงานลดลง

หลังจากที่มีการปราบสหภาพแรงงานสายการบิน มีคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่อารมณ์ร้อน เสนอว่าต้องไปปิดระบบคมนาคมและถนน เพื่อบังคับไม่ให้คนเข้าทำงาน ซึ่งมีผลในแง่ลบในระยะยาว เพราะสร้างความไม่พอใจ และไม่สามารถสร้างกระแสนัดหยุดงานเองในขบวนการแรงงานได้ นักสหภาพแรงงานวิจารณ์พวกหนุ่มสาวที่ใช้วิธีนี้โดยอธิบายว่าการนัดหยุดงานไม่เหมือนการปรุง “เส้นหมี่สำเร็จรูป” ที่แค่เติมน้ำร้อนก็พอ คือต้องมีการสร้างกระแสผ่านการถกเถียงแลกเปลี่ยนและการฝึกฝน

ดังนั้นมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นกรรมาชีพหนุ่มสาวจากสำนักงานต่างๆ เริ่มกิจกรรม “กินข้าวกลางเมือง” ทุกวันศุกร์ ซึ่งกลายเป็นการประท้วงของคนงานคอปกขาวหลายพันคน ที่ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงและกลับเข้าไปทำงานหลังจากนั้น

นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ในที่สุดสามารถสร้าง “ขบวนการสหภาพแรงงานใหม่” ซึ่งประกอบไปด้วยสหภาพแรงงานในหลายอาชีพและสายงาน เช่นข้าราชการ พนักงานเทคโนโลจี พนักงานในระบบสาธารณสุข พนักงานบริษัทไฟแนนส์ พนักงานบัญชี พนักงานในบาร์ และพนักงานในอุตสาหกรรมดนตรี เป็นต้น

จำนวนนักเคลื่อนไหวที่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพและการนัดหยุดงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเสนอให้ตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำล้าหลังที่ไม่ยอมลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง ในปลายเดือนธันวาคมมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานใหม่ 40 แห่ง เช่นสหภาพแรงงานในโรงพยาบาล (HAEA) และที่อื่นๆ เพื่อเตรียมสู้ในระยะยาว และในเดือนมกราคม 2020 สหภาพแรงงานโรงพยาบาลสามารถดึงพนักงาน 7 พันคนออกมานัดหยุดงาน 5 วัน

การสร้างกระแสก้าวหน้าในขบวนการแรงงานฮ่องกงแบบนี้ มีผลในการกู้กระแสการต่อสู้ของมวลชนที่ซบเซาลงให้กลับคืนมาได้ แต่ในช่วงนั้นพอดี วิกฤตโควิดก็เข้ามาแช่แข็งการต่อสู้

ยุทธวิธี “เหมือนน้ำ” และ “ไม่มีเวที”

ศัพท์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมที่น่าสนใจคือ “เหมือนน้ำ” ซึ่งหมายถึงแฟลชม็อบที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และมีการกล่าวถึงการ “ไม่มีเวที” ซึ่งแปลว่าไม่มีผู้นำ

การประท้วงในปี 2019 ต่างจาก “ขบวนการร่ม” เมื่อห้าปีก่อนตรงที่ไม่มีการพึ่งนักการเมือง และไม่มีการเน้นแกนนำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะพูดกันว่าไม่มีแกนนำแต่ในรูปธรรม ท่ามกลางการเคลื่อนไหว ก็มีคนนำอยู่ดี ปัญหาคือไม่มีโครงสร้างที่จะเลือกผู้นำด้วยกระบวนการประชาธิปไตย เพราะมีการปฏิเสธโครงสร้าง และปฏิเสธการสร้างพรรค ในการชุมนุมแต่ละครั้ง ไม่มีความพยายามที่จะสร้าง “สภามวลชน” เพื่อให้ผู้ชุมนุมแลกเปลี่ยนถกเถียงประเด็นปัญหาการเมืองและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเลย บางครั้งมีการถกเถียงกันในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่มีการสรุปและไม่สามารถมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอะไรได้ ซึ่งนำไปสู่สภาพที่กลุ่มต่างๆ ทำอะไรเองในรูปแบบหลากหลาย นี่คือข้ออ่อนของการ “ไม่มีเวที”

ในการต่อสู้ของม็อบเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่เน้น “ทุกคนเป็นแกนนำ” มีการสรุปว่าการชุมนุมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการสร้าง “สภามวลชน” เพื่อกำหนดแนวทางและสร้างความสามัคคี และที่สำคัญคือประสานการต่อสู้ระหว่างเมืองต่างๆ ได้ นอกจากนี้สามารถดึงสหภาพแรงงานเข้ามาร่วมอีกด้วย

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยและฮ่องกงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเป้าหมายการต่อสู้ มันแปลว่าแกนนำในรูปธรรมที่มีอยู่ไม่สามารถดึงมวลชนเข้ามาช่วยกำหนดแนวทางได้

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการฮ่องกงแปลว่าในอนาคต เมื่อการประท้วงเลิกไป จะไม่มีโครงสร้างหรือสถาบันการเมืองของประชาชนเหลืออยู่ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ของขบวนการคนหนุ่มสาวในไทยตอนนี้ อย่างน้อยในฮ่องกงยังมีขบวนการสหภาพแรงงานใหม่ที่ใช้วิธีประชาธิปไตยในการเลือกผู้นำและกำหนดการต่อสู้ ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปในวันข้างหน้า

ขบวนการคณะราษฏร์ที่นำโดยคนหนุ่มสาว ควรจะพยายามตั้งพรรคการเมืองแบบรากหญ้าขึ้นมา แทนที่จะไปยกให้พรรคก้าวไกลทำให้แทน เพราะพรรคก้าวไกลตามขบวนการปัจจุบันไม่ทัน ไม่อยากขยายเพดานการต่อสู้ โดยเฉพาะในเรื่องกษัตริย์กับ 112 และในที่สุดจะหาทางประนีประนอมกับทหาร

ขณะนี้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับนักเคลื่อนไหวฮ่องกงกับไทย คือจะปกป้องแกนนำที่ติดคุกและโดนคดีอย่างไร ถ้าไม่มีการพัฒนาพลังในการประท้วงคงจะทำไม่ได้

[Au Loong-Yu “Hong Kong in Revolt. The protest movement and the future of China.” Pluto Press 2020.]

ใจ อึ๊งภากรณ์

แกนนำโดน 112 แล้วจะยังเล่นสนุกกันต่อหรือ?

การเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และสวยงามมีความสำคัญระดับหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็ดพลาสติก หรือการเต้นรำร้องเพลงตามลำพัง ไม่มีพลังเพียงพอที่จะเอาชนะทหารเผด็จการได้ และสำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วน มันไม่สามารถกดดันให้รัฐยกเลิกคดีการเมืองต่างๆ รวมถึง 112 ที่แกนนำของเรากำลังโดนอยู่ทุกวันนี้

เป็ดยางหรือเป็ดพลาสติกไม่มีพลังที่จะล้มเผด็จการได้

อย่าลืมว่ารัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์ ประกอบไปด้วยคนมือเบื้อนเลือดที่เคยสั่งให้มีการยิงเสื้อแดงที่ไร้อาวุธตายกลางกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยคนที่ส่งทหารไปอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในประเทศเพื่อนบ้าน และประกอบไปด้วยคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปหลังรัฐประหาร มันไม่ใช่เกมเด็กเล่น

แกนนำของขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับหลากหลายข้อหาจากรัฐ แต่ละคดีจะใช้เวลานานหลายๆ เดือน หลายคนโดนขังมาแล้ว รัฐบาลประยุทธ์ก็เพิ่มข้อหาตลอดเวลาและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะเผด็จการต้องการให้เรากลัวมันและกลัวที่จะรักษาเพดานข้อเรียกร้อง หรือกลัวที่จะวิจารณ์กษัตริย์

ถ้าเราไม่ยกระดับการต่อสู้ของขบวนการ ในที่สุดการออกมาประท้วงบนท้องถนนจะอ่อนตัวลง และนอกจากเราจะไม่ประสพความสำเร็จในข้อเรียกร้องหลักสามข้อแล้ว จะมีการทอดทิ้งแกนนำที่ต้องขึ้นศาลหลายๆ ครั้งในเดือนปีข้างหน้าอีกด้วย

อย่าไปนึกว่าศาลเตี้ยใต้ตีนเผด็จการจะมีจิตสำนึกประชาธิปไตยพอที่จะยกเลิกคดีต่างๆ อย่าไปฝันว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมประนีประนอมถ้าไม่ถูกกดดันด้วยพลังประชาชนที่เข้มข้นกว่านี้ และอย่าไปฝันว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยจะออกมาปกป้องคนที่โดน 112 หรือกดดันให้ทหารยอมรับสามข้อเรียกร้องเลย ทั้งหมดนั้นเป็นความฝันที่ไร้สาระทั้งสิ้น

อย่าไปหวังพึ่งคนอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือหวังว่าองค์กรหรือรัฐบาลต่างประเทศจะมาช่วย มันเป็นความฝันเช่นกัน และอย่าไปคิดว่าคนที่ชอบวิจารณ์ด่ากษัตริย์เพื่อความสนุกสนานแต่ไม่มีข้อเสนออะไรเป็นรูปธรรมเพื่อชัยชนะจะมีประโยชน์

แต่เราต้องไม่ลืมว่าคนไทยเองมีพลังพอที่จะล้มเผด็จการได้ และเคยล้มในอดีต ประเด็นคือจะใช้วิธีการอะไร

ถ้าเราทอดทิ้งแกนนำที่มีความกล้าหาญในการยกเพดานข้อเรียกร้องแบบนี้ ในอนาคตใครจะกล้าออกมา?

ผู้เขียนได้แต่หวังว่าแกนนำของขบวนการในหลายๆ ส่วน จะนั่งคุยกันอย่างจริงจังว่าจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างไร

ขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันอาจเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการต่อสู้ที่ฮ่องกง อย่างเช่นการจัดตั้งม็อบหรือการใช้เป็ดพลาสติก แต่มันมีบทเรียนอื่นที่ไม่ได้นำมาใช้ โดยเฉพาะการนัดหยุดงานและการเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงาน ที่อ่องกงมีการนัดหยุดงานของพนักงานสายการบินที่ปิดประเทศ มีการนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และมีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานใหม่เป็นต้น ที่ประเทศเบลารุสมีการนัดหยุดงานของพนักงานโรงงานต่างๆ ที่ประเทศซูดานมีการนัดหยุดงานที่กดดันเผด็จการทหาร และล่าสุดที่อินเดียมีการนัดหยุดงานของคนงาน 250 ล้านคนเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่พึ่งผ่านมา

นัดหยุดงานที่อินเดีย

การนัดหยุดงานของคนงานในออฟฟิศ ในธนาคาร ในระบบขนส่ง ในโรงพยาบาล และในโรงงาน จะมีพลังเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้และต้องยอมมาเจรจา แต่อย่าไปหวังว่าปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล หรือพวก “อดีต” ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” หรือพวกเอ็นจีโอที่หากินกับแรงงาน หรือผู้นำแรงงานหมูอ้วน จะลงมือสร้างความเป็นไปได้ของการนัดหยุดงาน เพราะแต่ละฝ่ายคงจะเอาข้ออ้างต่างๆ นาๆ ออกมาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไร

มันจึงตกอยู่กับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าของคณะราษฏร์ นักศึกษา คนหนุ่มสาว และนักต่อสู้รากหญ้ารุ่นใหม่ของสหภาพแรงงาน ที่จะลงพื้นที่ต่างๆ ถกเถียงแลกเปลี่ยน และอธิบายว่าทำไมถึงเวลาแล้วที่จะมีการนัดหยุดงานเพื่อประชาธิปไตย เรื่องมันจะได้จบที่คนรุ่นนี้สักที

ใจ อึ๊งภากรณ์