Tag Archives: สหรัฐ

จักรวรรดินิยมกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกวันนี้เราเห็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ระหว่างจีน สหรัฐ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยล่าสุด ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก ตัดสินว่าจีนไม่มีสิทธิ์เหนือหมู่เกาะและปะการังในทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนปัดคำตัดสินนี้ทิ้ง และเดินหน้าต่อไปที่จะอ้างสิทธิเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้

จีนพยายามเพิ่มความน่าเชื่อถือของการอ้างสิทธิ์นี้ โดยการสร้างเกาะประดิษฐ์ขึ้นมาบนปะการังเพื่อเป็นฐานทัพให้ทหารจีน

ถ้าเราจะเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่นี้ เราต้องศึกษาสิ่งที่นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยเลนินเรียกว่า “จักรวรรดินิยม”

อเล็กซ์ คาลินิคอส นักมาร์คซิสต์ชาวอังกฤษ อธิบายว่าจักรวรรดินิยมไม่ใช่การกระทำของประเทศมหาอำนาจประเทศเดียว แต่จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบ” การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆ ที่มีอำนาจแตกต่างกัน การทีระบบทุนนิยมมีลักษณะการพัฒนาต่างระดับเสมอ ทำให้ศูนย์กลางของอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจทางทหาร และอำนาจในเชิงจักรวรรดินิยม มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง มันไม่ใช่เรื่องคงที่แต่อย่างใด

ในอดีต อันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท เคยเสนอในหนังสือ Empire ว่ายุคการแข่งขันระหว่างจักรวรรดินิยมสิ้นสุดลงหลังสงครามเย็น เนกรี เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนสหภาพยุโรป (อียู) เพราะเชื่อว่าจะลดความขัดแย้งได้ แต่การก่อตั้งสหภาพยุโรปเป็นโครงการที่สหรัฐผลักดันแต่แรกเพื่อให้มีกลุ่มก้อนรัฐในยุโรปตะวันตกที่จะคานรัสเซีย ทุกวันนี้สหรัฐตกใจและเสียใจที่ประชาชนอังกฤษลงคะแนนเพื่อออกจากอียู การมีอียูไม่ได้ลดสงครามในโลกแต่อย่างใดเพราะอียูมีบทบาทในการทำสงครามในตะวันออกกลาง ในอัฟริกา ในยูเครน และในอดีตยูโกสลาเวีย และนอกจากนี้สหรัฐพยายามใช้อียูในการเพิ่มอิทธิพลของตนเองในโลกอีกด้วย

ถ้าจะเข้าใจสถานการณ์ในทะเลจีนตอนใต้ เราจะเห็นว่ารากฐานความขัดแย้งมาจากการที่ทุนนิยมจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนจีนกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และแซงหน้าญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกทางทหารและเศรษฐกิจ เริ่มถอยหลังและประสบปัญหาทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ

สหรัฐแพ้สงครามในอิรักกับอัฟกานิสถาน เพราะไม่สามารถครอบครองและรักษาอิทธิพลระยะยาวในทั้งสองประเทศ อหร่าน อดีตศัตรูของสหรัฐ มีการเพิ่มอิทธิพลในพื้นที่ และในหลายประเทศของตะวันออกกลางมีสงครามต่อเนื่องขณะที่องค์กรอย่าง “ไอซิล” ก็เพิ่มบทบาท

เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 อย่างหนัก และการขยายตัวของเศรษฐกิจตอนนี้ล้าช้า ญี่ปุ่นยิ่งมีปัญหาหนักกว่าสหรัฐอีก

ในอดีตสหรัฐจะพยายามคุมอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีน ด้วยกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ชนชั้นปกครองจีนมองว่าจีนต้องสร้างกองทัพเรือและฐานทัพในทะเลจีน เพื่อปกป้องเส้นทางการค้าขายทางทะเลที่มีความสำคัญกับจีน การขยายตัวทางทหารของจีนในทะเลจีนจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับสหรัฐและหลายประเทศรอบข้าง มีการสร้างแนวร่วมทางการทูตและทหารใหม่ขึ้นมา จีนจับมือกับรัสเซียอีกครั้ง สหรัฐจับมือกับเวียดนามและขยายบทบาททางทหารในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ มันเป็นสถานการณ์ที่อันตรายเพราะถ้าเกิดการปะทะกันระหว่างสองประเทศใด ประเทศอื่นๆ จะถูกลากเข้ามาในความขัดแย้ง และในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา รวมถึงเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

ตอนนี้รัฐบาลสหรัฐพยายามลดบทบาทลงในตะวันออกกลาง เพื่อไปเน้นเอเชียตะวันออก แต่ความเข้มแข็งของไอซิลสร้างอุปสรรคสำหรับโครงการนี้ สหรัฐยังต้องทุ่มเทกำลังทหารในตะวันออกกลางต่อไประดับหนึ่ง

ตะวันออกกลางเป็นแหล่งน้ำมันที่สำคัญก็จริง แต่ในปัจจุบันสหรัฐพึ่งตนเองในน้ำมันได้แล้ว เนื่องจากใช้วิธีใหม่ๆ ในการสกัดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ในสหรัฐเอง

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง เคยเกิดจากการที่ศูนย์กลางอำนาจจักรวรรดินยมในโลกเปลี่ยนไปและ เยอรมันกับญี่ปุ่นขึ้นมาท้าทายอำนาจเก่า มันเป็นสถานการณ์ที่ไร้เสถียรภาพ มันมีลักษณะคล้ายสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกทุกวันนี้ในหลายแง่

การที่ โดนัลด์ ทรัมพ์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คงจะไม่เปลี่ยนนโยบายสหรัฐในเอเชียตะวันออกเท่าไร เพียงแต่ว่า ทรัมพ์ อยากให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ร่วมจ่ายค่าการรักษากองทัพสหรัฐในพื้นที่เท่านั้น

ตราบใดที่มีระบบทุนนิยม เราจะมีภัยสงครามที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน อเล็กซ์ คาลินิคอส อธิบายว่าเราไม่สามารถเลือกข้างได้ในการแข่งขันดังกล่าว อย่าหลงคิดว่ามันเป็นความขัดแย้งทางลัทธิหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างที่ผู้นำพยายามโกหกเราเสมอ เขาโกหกแบบนี้เพื่อชักชวนให้เราสนับสนุนเขาในการทำสงครามเท่านั้น ในความจริงมันเป็นแค่การแข่งขันกันเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน

การเมืองระหว่างประเทศในโลก ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เป็นแค่ “โต๊ะกินข้าวของหมาป่า” เท่านั้น ดังนั้นเราต้องต้านสงครามและระบบขูดรีด และต้องทำแนวร่วมสากลกับประชาชนชั้นล่างทั่วโลก

[อ่านเพิ่มเรื่องการซื้อเรือดำน้ำของเผด็จการไทย http://bit.ly/2ajjUB5  และปัญหาเศรษฐกิจจีน http://bit.ly/2aEARbG ]

วิกฤตยูเครน ความขัดแย้งระหว่างสองจักรวรรดินิยม

เราทราบดีจากประวัติศาสตร์สงครามเวียดนามว่าสหรัฐอเมริกา พร้อมจะโกหกเรื่องฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ความชอบธรรมกับตัวเองในการแทรกแซงทางทหาร ดังนั้นเราไม่ควรเชื่ออะไรง่ายๆ เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่มาจากรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ องค์กรนาโต้ เรื่องการเคลื่อนกำลังทหารของรัสเซียเข้าไปในดินแดนยูเครน

นอกจากนี้สื่อกระแสหลักในตะวันตกมักจะมองข้ามผลของการรุกสู้ ของกองทัพยูเครน  ต่อพลเรือนในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศนั้น

องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติคาดว่าระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม ถึง 17 สิงหาคม มีคนล้มตายมากกว่า 1,200 คน และบาดเจ็บอีกสองเท่า

หนังสือพิมพ์ New York Times ของ อเมริกา ยังเสนอว่ากองทัพรัฐบาลยูเครน จะต้องรับผิดชอบส่วนหนึ่งกับการล้มตายของพลเรือน และการทำลายทรัพย์สินของประชาชนด้วยอาวุธหนัก เช่น รถถัง และ ปืนใหญ่

สหประชาชาติ กล่าวหาทั้งสองฝ่ายว่ามีการอุ้มฆ่าและทรมาน

แต่สองฝ่ายในสงครามยูเครนคือใคร? “รัฐบาลคีเอฟ” หรือรัฐบาลยูเครน เต็มไปด้วยนักการเมืองซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันตกของประเทศ พวกนี้ต้องการให้ยูเครนเข้าไปเป็นสมาชิกอียูและองค์กรทหารนาโต้ เขาเรียกตัวเองว่า “นักประชาธิปไตย” แต่มีการใช้กองกำลังฝ่ายขวาจัดฟาสซิสต์ ในการต่อสู้กับพวกขบวนการแบ่งแยกประเทศที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกใกล้พรมแดนรัสเซีย

การที่มีกองกำลังฟาสซิสต์ต่อสู้ร่วมกับกองทัพยูเครนทำให้ฝ่ายซ้ายบางคนในยุโรป เข้าใจผิดว่าฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเชื้อชาติรัสเซีย กำลังต่อสู้กับขบวนการฟาสซิสต์ ในสงคราม “ก้าวหน้า”

อย่างไรก็ตามมันมีข้อมูลมากมายที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลรัสเซียแทรกแซงการต่อสู้ มันไม่ใช่การบุกเข้าไปในดินแดนยูเครนโดยตรงแต่รัฐบาลรัสเซียกำลังให้ความช่วยเหลือทางด้านอาวุธกับผู้เชี่ยวชาญ

ยุทธวิธีของมอสโก คือ ยุทธวิธีของประเทศมหาอำนาจที่ค่อนข้างจะอ่อนแอ เป้าหมายของประธานาธิบดีปูติน คือ การรักษาสถานภาพเดิมในยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่มีความแตกแยกระหว่างตะวันตกกับตะวันออกและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนาโต้

พวกนักการเมืองทุนใหญ่ของยูเครน ผู้นำอียูบางคน และ รัฐบาลของประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นสมาชิกอียู มีความประมาทพอสมควร เขาต้องการให้ยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกนาโต้ เพื่อผลักดันกองกำลังของตะวันตกให้ถึงพรมแดนรัสเซีย แนวทางนี้เสี่ยงกับการก่อสงครามใหญ่

รัฐบาลสหรัฐอเมริกา อาจจะใช้คำพูดเข้มแข็งแรงๆ ในการวิจารณ์รัสเซีย แต่ประธานาธิบดีโอบามา สารภาพว่ารัฐบาลสหรัฐไม่มีแผนอะไรเลย ที่จะแก้ปัญหาในอิรัก ซีเรีย หรือ ยูเครน โอบามาเสนอว่า การใช้กำลังทหารของสหรัฐฯ ไม่ควรจะเป็นองค์ประกอบหลักในทุกกรณี

เราจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งในยูเครน เป็นความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดินิยมสองฝ่ายที่ขาดความมั่นใจ และต้องการรักษาสถานภาพเดิมมากกว่าที่จะรุกไปสู่สงคราม เราสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ และนี่คือความอันตรายของสถานการณ์ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกทุกวันนี้

เรียบเรียงจากบทความของอาเล็คซ์ คาลินนิคอส ในหนังสือพิมพ์ Socialist Worker

พรรคเสือดำในสหรัฐอเมริกา

พรรคเสือดำในสหรัฐอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเดือนตุลาคม 1966 ที่เมืองโอคแลนด์ รัฐคาลิฟอร์เนีย ฮิววี่ นิวตัน กับ บอบบี้ เสียล์ ได้ก่อตั้ง “พรรคเสื้อดำเพื่อการปกป้องตนเอง” สำหรับคนผิวดำ ต่อมาหกเดือนหลังจากนั้น มีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ “เสื้อดำ” ฉบับแรก

10312076_10152419982264925_1175205723_n

     พรรคเสื้อดำได้รับมรดกความคิดจากนักเคลื่อนไหวผิวดำชื่อ มัลคอม เอกซ์ ซึ่งถูกยิงตายในปี 1965 คนผิวดำเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุคทาสจนถึงทุกวันนี้ และนามสกุลของหลายคนมาจากพวกเจ้าทาส มัลคอม จึงเปลี่ยนนามสกุลตนเองเป็น “X”

มัลคอม เอกซ์ เคยเป็นอันธพาลที่ติดคุก แต่ในคุกเขาไปเข้ากับกลุ่มคนผิวดำที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยที่มีการปฏิเสธศาสนาคริสต์และสังคมของคนผิวขาว หลายคนหันไปรับศาสนาอิสลามและพยายามสร้างสังคมเฉพาะสำหรับคนผิวดำ แนวความคิดที่ปฏิเสธการร่วมมือกับคนผิวขาวทุกคน มีส่วนคล้ายๆ แนวคิดของพวกสิทธิสตรีบางสายที่มองว่าผู้ชายทุกคนกดขี่ผู้หญิงทุกคนและผู้หญิงต้องจัดตั้งแยกจากชาย

มัลคอม เอกซ์ เปลี่ยนแนวคิดจากแนวเดิม โดยเริ่มมองว่าคนผิวดำกับคนผิวขาวในระดับล่างควรร่วมกันต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม เขาเริ่มสนใจแนวคิดสังคมนิยม และเน้นเสมอว่าคนผิวดำมีสิทธิ์ใช้กำลังป้องกันตนเอง ถ้าถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือพวกเหยียดสีผิว มัลคอม เอกซ์ เป็นส่วนหนึ่งของกระแส “พลังดำ” ที่เน้นว่าคนผิวดำจะไม่เป็นเหยื่ออีกต่อไป นักกิฬาผิวดำสองคนที่ได้เหรียญทองในการแข่งโอลิมปิค แล้วชูกำปั้นที่สวมถุงมือดำในพิธีรับเหรียญ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสนี้ นักมวยชื่อดัง มูฮัมมัด อาลี ที่เปลี่ยนชื่อตนเองจาก “ชื่อทาส” เดิม แล้วหันมานับถืออิสลาม ก็ไม่ยอมไปรบในสงครามเวียดนาม เพราะมองว่าเป็นสงครามของรัฐผิวขาว และคนเวียดนามไม่เคยกดขี่ดูถูกคนผิวดำแบบเขา

ถ้าจะเข้าใจที่มาของพรรคเสื้อดำ เราต้องดูประวัติการต่อสู้ของคนผิวดำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐทำให้คนผิวดำที่เคยทำงานในชนบทเป็นหลัก ย้ายเข้าไปทำงานในเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ทางเหนือ ซึ่งการรวมตัวกันของคนผิวดำแบบนี้ สร้างความมั่นใจเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ในปี 1955 มีการเปิดประเด็นโดย โรซา พาร์กส์ สตรีผิวดำที่ไม่ยอมนั่งทางด้านหลังของรถเมล์ ซึ่งเป็นส่วนของรถเมล์ที่คนผิวดำเคยถูกบังคับให้นั่ง สังคมสหรัฐในยุคนั้นกดขี่คนผิวดำโดยการบังคับให้ต้องใช้ชีวิตแยกกัน และแน่นอนคนผิวดำได้รับการบริการที่แย่ที่สุดเสมอ การประท้วงของ โรซา พาร์กส์ ซึ่งเป็นผู้หญิงฝ่ายซ้ายที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นการจุดประกายให้เกิด “ขบวนการสิทธิพลเมือง” ที่นำโดยนักศึกษาผิวดำและผิวขาว และมี มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง เป็นแกนนำด้วย ต่อมา มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง เริ่มหันไปสนใจประเด็นอื่นๆ เช่นการคัดค้านสงครามเวียดนามและความเหลื่อมล้ำทางสังคมทุกด้าน แต่เขาไม่ทันพัฒนาความคิดไปถึงสังคมนิยมเพราะถูกยิงตาย

10306828_10152419982239925_1501304398_n10318769_10152419982244925_2015312474_n

     “ขบวนการสิทธิพลเมือง” เน้นการต่อสู้แบบสันติวิธี แต่ทุกครั้งที่ลงบนท้องถนนก็จะต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงสุดขั้วจากตำรวจ นี่คือสาเหตุที่นักกิจกรรมหลายคนเริ่มปฏิเสธแนวสันติวิธี และเสนอให้สู้ด้วยอาวุธเพื่อป้องกันตนเองในกรณีที่ถูกคุกคาม หนึ่งในนั้นคือ สโต๊คลี คอร์ไมเคิล ที่เป็นอดีตนักศึกษาที่เคยใช้สันติวิธี แต่ขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของพรรคเสือดำในปี 1968 บ่อยครั้งจะเห็นผู้ปฏิบัติการของพรรคเสือดำถือปืนยาวยืนตรวจสอบพฤติกรรมของตำรวจต่อประชาชนผิวดำในสถานการณ์ประจำวัน พรรคเสือดำนำหนังสือปกแดงของ เหมา เจ๋อ ตุง ไปขายในมหาวิทยาลัย เพื่อหาทุนซื้ออาวุธ และหนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือที่สมาชิกพรรคต้องอ่าน

ในปี 1965,66,67 และ68 มีการลุกฮือของคนผิวดำในเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐ กรณีหลังสุดมีการเผาเมืองต่างๆ เมื่อ มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง โดนยิงตาย

ภายในพรรคเสือดำมีการถกเถียงอย่างถึงที่สุดว่าควรจะมีการร่วมมือกับคนผิวขาวหรือไม่ และความขัดแย้งทางความคิดภายในพรรคอันนี้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

พรรคเสือดำขยายสมาชิกและสาขาไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีคนงานผิวดำจำนวนมาก และพรรคมีนโยบาย 10 ข้อที่เป็นเป้าหมายในการต่อสู้คือ

1. เสรีภาพสำหรับคนผิวดำ เพื่อให้มีสิทธิ์กำหนดชีวิตตนเอง

2. ต้องมีการสร้างงานสำหรับทุกคน ถ้านายทุนผิวขาวไม่ยอมสร้างงานให้คนผิวดำอย่างทั่วถึง ต้องยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของชุมชนคนผิวดำ

3. รัฐเหยียดสีผิวของอเมริกาต้องยกเลิกการปล้นคนผิวดำ

4. ต้องมีการสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้เพียงพอ ผ่านการสร้างสหกรณ์และการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ

5. ต้องมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กผิวดำ

6. คนผิวดำต้องไม่ถูกเกณฑ์ทหาร

7. ตำรวจต้องยุติความรุนแรงต่อคนผิวดำ และคนผิวดำควรถืออาวุธเพื่อป้องกันตนเอง

8. ให้ปล่อยคนผิวดำออกจากคุก เพราะคุกสหรัฐเต็มไปด้วยคนผิวดำ

9. เมื่อคนผิวดำต้องขึ้นศาล ให้มีคณะลูกขุนที่ประกอบไปด้วยคนผิวดำ

10. คนผิวดำต้องการที่ดิน อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย การศึกษา เครื่องนุ่งห่ม ความยุติธรรม และสันติภาพ และถ้าจำเป็นต้องทำก็ควรมีสิทธิ์แยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา

ในรูปธรรมมีการพยายามตั้งองค์กรในชุมชนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนจน ซึ่งคาดว่าสามารถเลี้ยงอาหารมื้อเช้าให้เด็กหนึ่งหมื่นคนในเมืองโอคแลนด์

จุดอ่อนมหาศาลของพรรคเสือดำคือ ไม่มีการเชื่อมโยงกับพลังชนชั้นกรรมาชีพ และเน้นการแยกจัดตั้งคนผิวดำกับคนผิวขาว ในแง่หนึ่งมันมาจากความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์และฝ่ายซ้ายในสหรัฐท่ามกลางการปราบปรามในสงครามเย็น เพราะในอดีตฝ่ายซ้ายในสหรัฐเน้นสามัคคีคนชั้นล่างทุกสีผิว และเน้นการจัดตั้งคนงานในสหภาพแรงงาน การแยกตัวออกจากคนผิวขาวชั้นล่าง เป็นปฏิกิริยาต่อการเหยียดสีผิว โดยไม่มีการใช้แนวชนชั้นในการวิเคราะห์

ในสมัยนั้นมีองค์กรปฏิวัติของคนผิวดำหลายกลุ่มทั่วประเทศ เช่นในเมือง ดีทรอยท์ ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ที่สำคัญที่สุดในสหรัฐในยุคนั้น “สันนิบาตปฏิวัติของคนงานผิวดำ” เข้าไปจัดตั้ง “ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ในหลายโรงงานของบริษัท ไครซ์เลอร์ จีเอ็ม และฟอร์ด องค์กรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ DRUM ที่ย่อมาจาก “ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติโรงงานดอช” ดอช เป็นรถยี่ห้อหนึ่งที่ผลิตโดย ไครซ์เลอร์

“ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ในเมืองดีทรอยท์ มีลักษณะเป็นสหภาพปฏิวัติสังคมนิยม แต่ใช้แนวลัทธิสหภาพ คือปฏิเสธการสร้างพรรค และใช้สหภาพแรงงานในโรงงานต่างๆ ที่อิสระต่อกัน เพื่อเป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่“ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ของเมืองดีทรอยท์ จะจัดตั้งแต่คนผิวดำเท่านั้น ไม่สนใจคนผิวขาวในโรงงานเดียวกัน แนวทางนี้มีจุดอ่อนมหาศาล เพราะไม่นำไปสู่ความสามัคคีของคนงานในโรงงานเดียวกัน แต่มันเป็นผลจากการที่สหภาพแรงงานระดับชาติของคนงานประกอบรถยนต์ UAW ไปจับมือกับนายจ้าง ผู้นำแรงงานก็เป็นหมูอ้วนกินเงินเดือนสูง และไม่ให้ความสนใจกับปัญหาแรงงานผิวดำเลย

พรรคเสือดำถูกทำลายโดยองค์กรติดอาวุธของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจและ เอฟบีไอ ในช่วง 1970 มีการกลั่นแกล้งตั้งข้อหาเท็จกับแกนนำพรรค และส่งตำรวจเข้าไปยิงทิ้ง เจ เอดกา ฮูเวอร์ หัวหน้า เอฟบีไอ เคยกล่าวว่าพรรคเสือดำเป็นภัยสูงสุดต่อความมั่นคงของประเทศ ส่วน “ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ก็ถูกนายจ้างทำลายหลังจากการนัดหยุดงานไม่สำเร็จ

10327231_10152419982249925_111355901_n

     อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของขบวนการปฏิวัติของคนผิวดำในสหรัฐในยุคนั้น และการลุกฮือต่อสู้ สร้างความหวาดกลัวเป็นอย่างมากในหมู่ชนชั้นนำ ดังนั้นมีการพยายามซื้อตัวคนผิวดำระดับกลาง เพื่อให้มีตำแหน่งทางการในรัฐ มีการแต่งตั้งคนผิวดำเป็นหัวหน้าตำรวจ นายพล ผู้พิพากษา และพนักงานรัฐระดับสูง บางคนมีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัย แต่สำหรับคนผิวดำส่วนใหญ่ เขาถูกทอดทิ้งและปล่อยให้ยากจนลงท่ามกลางสังคมแบบอาชญากรรมและยาเสพติด เราจะเห็นว่า โอบามา ประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐ และนักการเมืองผิวดำอื่นๆ เป็นผลพวงของนโยบายยุคนั้น

สำหรับนักต่อสู้รุ่นใหม่ในปัจจุบันทั่วโลก รวมถึงไทย การศึกษาบทเรียนของการลองผิดลองถูกของพรรคเสือดำและกลุ่มอื่นๆ เป็นประโยชน์สำหรับการต่อสู้ทุกวันนี้

[อ้างอิง http://www.marxists.org/history/usa/workers/black-panthers/

Dan Georgakas & Marvin Surkin (1998) “Detroit: I Do Mind Dying”. Red Words, London]