Tag Archives: สังคมนิยมประชาธิปไตย

สังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ คือเสรีประชาธิปไตยที่แท้จริง

ก่อนอื่นขอฟันธงว่า “สังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์” ไม่ใช่สิ่งเดียวกับเผด็จการ “สตาลิน/เหมา” ที่เคยมีในรัสเซีย และยังมีในจีน เกาหลีเหนือ หรือคิวบา และไม่ใช่สิ่งเดียวกับเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต ในท้ายบทความนี้จะอธิบายรายละเอียด แต่ก่อนอื่นขอเสนอว่าสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์คืออะไร

     มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอทสกี ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ มองว่า “สังคมนิยม” เป็นสังคมทางผ่านไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์สมบูรณ์ แต่เราไม่ควรยึดติดกับคำ เพราะในยุคนี้ทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกัน และเป็นสังคมที่ไม่มีระบบทุนนิยมแล้วเพราะถูกปฏิวัติยกเลิกไป

     สังคมนิยมคือวิธีการจัดการบริหารสังคมมนุษย์โดยเน้นความร่วมมือกันระหว่างพลเมือง เน้นความสมานฉันท์และเน้นความเท่าเทียมกัน แทนที่จะเน้นการแย่งชิงกัน หรือการเอารัดเอาเปรียบกัน ที่มาจากระบบความคิด “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ของทุนนิยมตลาดเสรี

     สังคมนิยมเป็นระบบที่ไม่มีชนชั้น คือไม่มีเจ้านายและผู้ถูกปกครอง ไม่มีคนส่วนน้อยที่ครอบครองทรัพยากรเกือบทั้งหมดในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีอะไรนอกจากการทำงานเพื่อคนอื่น มันเป็นระบบที่ยกเลิกนายทุนและลูกจ้าง และที่สำคัญคือเป็นระบบที่มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ แทนที่จะถูกจำกัดอยู่ในกรอบ สังคมนิยมคือสภาพมนุษย์ที่เป็นปัจเจกเสรีในระดับสูงสุดผ่านกระบวนการร่วมมือกับคนอื่นๆ ในสังคม

     ในระบบทุนนิยม ถ้าเรามีประชาธิปไตย มันก็แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าเราอาจมีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกรัฐบาล หรืออาจมีเสรีภาพในการแสดงออกบ้าง แต่เราไม่มีสิทธิ์ในการออกแบบและควบคุมเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจ การลงทุน และการผลิต ถูกควบคุมโดยนายทุนในรูปแบบการผูกขาดอำนาจ และเราไม่มีโอกาสร่วมในการปกครองตนเอง เพราะเรายังมีคนมาปกครองเราภายใต้ระบบชนชั้น ในระบบทุนนิยมนี้ แม้แต่ในประเทศที่ไม่มีกฏหมายเผด็จการแบบ 112 ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ก็ยังมีข้อจำกัดอื่นเช่นประเด็นว่าใครครองสื่อมวลชนเป็นต้น ดังนั้นสิทธิในการแสดงออกของคนธรรมดากับนายทุนสื่อ ต่างกันในรูปธรรม

     ในสังคมปัจจุบันเราไม่มีโอกาสเลือกว่าเราจะ “เป็นใคร” หรือ “เป็นอะไร” อย่างเสรี เพราะเราต้องไปหางานภายใต้เงื่อนไขนายทุน เด็กถูกแยกและคัดเลือกตั้งแต่อายุยังน้อย แยกออกว่าจะเป็น “ผู้ประสพความสำเร็จ” หรือเป็น “ผู้ไม่สำเร็จ” และเกือบทุกครั้งมันขึ้นอยู่กับว่าเด็กนั้นเกิดในตระกูลไหน มนุษย์จำนวนมากจึงไม่สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ท่ามกลางระบบชนชั้น

     ความ “เท่าเทียม” ของสังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “ความเหมือนกัน” เพราะสังคมนิยมจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนมีเสรีภาพที่จะเป็นปัจเจกเต็มที่ มันเปิดโอกาสให้เรามีนิสัยใจคอ วิถีชีวิต และรสนิยมตามใจชอบ แทนที่จะต้องแต่งเครื่องแบบ ถูกบังคับให้ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ และมีวิถีชีวิตในกรอบศีลธรรมและรสนิยมของชนชั้นปกครอง

     นักสังคมนิยมชื่อดัง เช่น คาร์ล มาร์คซ์ หรือ ลีออน ตรอทสกี้ เคยวาดภาพว่าภายใต้สังคมนิยมเราจะสามารถเป็นศิลปินหรือนักวิทยาศาสตร์ในตอนเช้า และเป็นช่างฝีมือหรือนักกิฬาในตอนบ่ายได้ ชีวิตแบบนั้นจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานโดยสิ้นเชิง เพราะเดิมมนุษย์รักการทำงานที่สร้างสรรค์ แต่พอเราตกอยู่ในสังคมชนชั้น งานกลายเป็นเรื่องซ้ำซากน่าเบื่อภายใต้คำสั่งของคนอื่น งานในระบบสังคมนิยมจะเป็นสิ่งที่เราอยากทำเพราะมันจะทำให้เรามีความสุขและรู้สึกว่าเรามีผลงานที่น่ายกย่องภูมิใจ

     แน่นอนงานบางอย่างคงไม่มีวันสนุกได้ เช่นการซักผ้า เก็บขยะ หรือการทำความสะอาดส้วม แต่งานแบบนั้นเราใช้เครื่องจักรมาทำแทนได้บ้าง และที่ยังต้องอาศัยมนุษย์ก็ผลัดกันทำ ไม่ใช่ว่ามีบางคนในสังคมที่ต้องทำงานแบบนี้ตลอดชีพ

     สังคมนิยมจะเป็นระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบทุนนิยม เพราะมีการวางแผนการผลิต ผ่านระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของพลเมือง ไม่ใช่นายทุนแข่งกันผลิตเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายจนเกิดการล่มจมและปิดโรงงานหรือเลิกจ้าง อย่างที่เราเห็นทั่วโลกตอนนี้ และสังคมนิยมจะไม่เปลืองทรัพยากรโดยการโฆษณาให้พลเมืองซื้อสิ่งที่ไม่ต้องการหรือไม่จำเป็น ยิ่งกว่านั้นถ้าเรากำจัดการแข่งขันแบบตลาด ซึ่งเป็นแค่ระบบ “ตัวใครตัวมัน” เราจะกำจัดความจำเป็นของการทำสงครามและประหยัดงบประมาณทหารมหาศาล การจัดการบริการประชาชนในปริมาณระดับคนหมู่มาก จะยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายอีก เรามั่นใจตรงนี้ได้เพราะระบบสาธารณสุขและการศึกษาแบบ “ถ้วนหน้า” ในระบบทุนนิยมที่มีรัฐสวัสดิการ ยังเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการบริการประชาชนผ่านบริษัทเอกชนหลายบริษัท

     ในระบบสังคมนิยมพลเมืองจะสามารถควบคุมคุณภาพ และออกแบบระบบการบริการได้อีกด้วย ผ่าน “สภาประชาชน” ในระดับถานที่ทำงาน ท้องถิ่น หรือภูมิภาค

     สภาประชาชนที่ว่านี้ เคยถูกออกแบบมาโดยคนทำงานธรรมดาในคอมมูนปารีส หรือหลังการปฏิวัติรัสเซียในยุคก่อนที่สตาลินจะยึดอำนาจ มันเป็นสภาที่เราถอดถอนผู้แทนที่เราเลือกมาได้ทุกเมื่อ เพื่อควบคุมเขาอย่างเต็มที่ มันเป็นระบบที่มีเขตการเลือกตั้งในสถานที่ทำงาน เพื่อควบคุมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองพร้อมๆ กัน และมันเป็นสภาที่ผู้แทนไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน ไม่กินเงินเดือนมากกว่าคนธรรมดา ต่างจากรัฐสภาในระบบทุนนิยมโดยสิ้นเชิง

     ในระบบสังคมนิยมเราจะขยันลบล้างความคิดล้าหลังในหมู่พลเมือง ที่นำไปสู่การดูถูกสตรี เกย์ ทอม ดี้ กะเทย คนต่างชาติ หรือคนกลุ่มน้อย และมนุษย์จะสามารถรักกันด้วยหัวใจ แทนที่จะรักกันภายใต้เงื่อนไขของเงินหรือศีลธรรมจอมปลอม

     สังคมนิยมคือระบบที่เราร่วมกันผลิตสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ต้องการ และเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการดังกล่าว จะใช้ระบบการทำงานของทุกคนตามความสามารถของแต่ละคน

ข้อเสียของทุนนิยม

ในระบบทุนนิยมมีการผลิตเพื่อกำไรของนายทุนอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อกำไรลดลง ก็จะเลิกผลิต ทั้งๆ ที่คนยังต้องการสินค้ามากมาย มันจึงเกิดวิกฤตแห่งการผลิต “ล้นเกิน” ท่ามกลางความอดอยากเสมอ ทุนนิยมนี้ไร้ประสิทธิภาพจริงๆ และทุกวันนี้เราเห็น “วิกฤตสามชนิดซ้อนกัน” ของระบบทุนนิยม ซึ่งมีผลในการทำลายวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งโลก ถึงขนาดที่เราไม่รู้ว่ามนุษย์จะมีอนาคตหรือไม่

     วิกฤตแรกคือวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้การผลิตชะลอตัวมาหลายปี และเมื่อมีการ “ฟื้นตัว” ของเศรษฐกิจก็จะเป็นการฟื้นตัวที่อ่อนแอไม่มั่นคง นี่คือสภาพของระบบเศรษฐกิจโลกแบบทุนนิยมที่มีต้นเหตุจากการลดลงของอัตรากำไร [อ่านเพิ่ม วิกฤตเศรษฐกิจ https://bit.ly/2v6ndWf ]

     วิกฤตที่สองคือวิกฤตโลกร้อนที่มาจากการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอนในระบบอุตสาหกรรมทุนนิยม  และเราเริ่มเห็นภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างน่าใจหาย ในอนาคตอันใกล้จะมีหลายพื้นที่ของโลกที่มนุษย์อยู่ต่อไม่ได้เพราะขาดน้ำ ร้อนเกินไป หรือถูกน้ำทะเลท่วม นักวิทยาศาสตร์ นายทุน และนักการเมืองรู้เรื่องนี้มานานแต่ไม่สามารถแก้อะไรได้ เพราะระบบการแข่งขันในตลาดเสรีเพื่อเพิ่มกำไรแปลว่าไม่มีใครอยากลงทุนอย่างจริงจังเพื่อยกเลิกการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน [อ่านเพิ่ม โลกร้อน และ Anthropocene https://bit.ly/2QMpL6F นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF ]

     วิกฤตที่สาม คือวิกฤตโควิด ซึ่งเกิดจากการที่ระบบการเกษตรทุนนิยมรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าดั้งเดิม ซึ่งทำให้สัตว์ป่าอย่างเช่นค้างคาว เข้ามาสัมผัสกับชุมชนแออัดในเมืองหรือฟาร์มขนาดใหญ่ และเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสกระโดดสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่ออาชีพการทำงานและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เมื่อมีการล็อกดาวน์ และแน่นอนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนจนและคนที่มีสถานภาพไม่มั่นคง เช่นคนงานข้ามชาติเป็นต้น [อ่านเพิ่มวิกฤตโควิด https://bit.ly/2UA37Cx ]

     สามวิกฤตซ้อนกันของทุนนิยมปัจจุบัน พิสูจน์ว่าเราต้องต่อสู้เพื่อสังคมใหม่

สังคมนิยมสองรูปแบบ

จะมีคนที่คิดว่าตนเองเป็น “ผู้รู้” และมาบอกเราว่า “สังคมนิยมสร้างไม่ได้” เพราะมันล้มเหลวที่รัสเซีย ยุโรปตะวันออก เวียดนาม ลาว หรือจีน และแถมมันเป็นเผด็จการด้วย ใช่ระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจที่เคยมีหรือยังมีอยู่ในประเทศเหล่านั้น มันเป็นเผด็จการที่ไม่มีเสรีภาพ และยิ่งกว่านั้นมันไม่มีความเท่าเทียมด้วย มันเป็นระบบชนชั้นที่กดขี่ขูดรีดพลเมืองในนามของ “สังคมนิยม” โดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อเราวิเคราะห์ที่มาที่ไปของระบบเหล่านี้ จะพบว่ามันเกิดขึ้นครั้งแรกในรัสเซียบนความพ่ายแพ้และซากศพของการปฏิวัติหลังจากที่เลนินเสียชีวิต มันเป็นการสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” โดยสตาลิน และในประเทศอื่นๆ หลังจากนั้นก็ลอกแบบกันมา ในจีนมันเป็นการปฏิวัติชาตินิยมของพรรคเผด็จการ และถ้าเราเปรียบเทียบบางเรื่องที่เห็นในเกาหลีเหนือทุกวันนี้ เราจะพบว่าคล้ายๆ ทุนนิยมตลาดเสรีของประเทศไทยอีกด้วย การวิเคราะห์ว่าระบบ “สตาลิน-เหมา” ตรงข้ามกับสังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งทำกัน แต่เป็นการวิเคราะห์ของนักมาร์คซิสต์อย่าง ลีออน ตรอทสกี หรือโทนนี่ คลิฟ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

     แนวคิดสังคมนิยมมีสองรูปแบบที่แตกต่างกันคือ

1.       สังคมนิยมจากบนสู่ล่าง เช่นสังคมนิยมที่มาจากการสร้างเผด็จการของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ในรัสเซียกับจีน(ภายใต้สตาลินกับเหมา) หรือสังคมนิยมปฏิรูปที่มาจากการกระทำของ ส.ส. พรรคสังคมนิยมในรัฐสภา สังคมนิยมดังกล่าวเป็นสังคมนิยมประเภท “ท่านให้” ซึ่งเป็นสังคมนิยมจอมปลอม บัดนี้สังคมนิยมจากข้างบนเข้าสู่วิกฤติทางการเมืองเนื่องจากการล่มสลายของการปกครองลัทธิสตาลินในรัสเซียและจีน และการที่แนวพรรคสังคมนิยมปฏิรูปในยุโรป เช่นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันและพรรคแรงงานในอังกฤษไม่พร้อมที่จะออกจากกรอบทุนนิยมตลาดเสรี และในเมื่อทุนนิยมมีวิกฤติเศรษฐกิจเรื้อรัง ก็ไม่สามารถใช้นโยบายรัฐสวัสดิการต่อไปในรูปแบบเดิม พรรคเหล่านี้จึงหันมาอ้างถึง “แนวทางที่สาม” ซึ่งเท่ากับการประนีประนอมกับระบบกลไกตลาดเสรีนั่นเอง

     ลัทธิสตาลินถือได้ว่าเป็นลัทธิที่สร้างขึ้นจากการปฏิวัติซ้อนที่ทำลายการปฏิวัติสังคมนิยมรัสเซีย เราต้องเข้าใจว่าลัทธิสตาลินเป็นลัทธิปฏิกิริยาและอนุรักษ์นิยมชนิดหนึ่งที่ตรงข้ามกับลัทธิมาร์คซ์และลัทธินี้มีอิทธิพลครอบงำการทำงานของนักต่อสู้ในประเทศไทยในสมัยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

2.       สังคมนิยมจากล่างสู่บน เป็นสังคมนิยมที่สร้างโดยมวลชนกรรมาชีพเองร่วมกับชาวนาระดับยากจน โดยอาศัยการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมเพื่อสถาปนารัฐกรรมาชีพ และรัฐกรรมาชีพดังกล่าวต้องมีกลไกในการควบคุมรัฐตามแนวประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เช่นต้องมีสภาคนงานในรูปแบบคอมมูนปารีส หรือสภาโซเวียตหลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่นำโดยเลนิน สังคมนิยมประเภทนี้คือสังคมนิยมแบบ มาร์คซิสต์เพราะสังคมนิยมเหมือนกับประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ไม่มีใครยกให้ได้ ต้องมาจากการต่อสู้เรียกร้องของมวลชนเอง

สังคมนิยมไม่ใช่แค่ความฝันแบบอุดมการณ์

คงจะมีคนล้าหลังหดหู่ที่พูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่า “มันเป็นแค่ความฝัน มันอุดมการณ์เกินไป” แต่เรามีคำตอบหลายประการ

     ในประการแรกสังคมนิยมไม่ใช่ “สวรรค์” เพราะมันจะไม่แก้ปัญหาทุกอย่างในสังคมมนุษย์ แต่มันจะเป็นการสร้างเสรีภาพ ความเท่าเทียม และความอยู่ดีกินดี เราคงต้องลองถูกลองผิดไปเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยมันเป็นจุดเริ่มต้น

     ในประการที่สองสังคมนิยมสร้างขึ้นได้เมื่อมนุษย์ส่วนใหญ่ ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดจากความคิดคับแคบที่มาจากการกล่อมเกลาในระบบทุนนิยม นี่คือสาเหตุที่ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอว่าเราต้องปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติล้มรัฐนายทุน จะเป็นโอกาสทองที่เราจะร่วมกัน “ล้างขยะแห่งประวัติศาสตร์ออกจากหัวเรา”

     ในประการที่สาม เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์มนุษย์ ตั้งแต่เราวิวัฒนาการมาจากลิง เราจะพบว่าประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของเราเป็นประวัติของสังคมที่ไม่มีชนชั้น คือเราร่วมมือกันเต็มที่ ทุนนิยมเองก็พึ่งมีมาสองร้อยกว่าปีเอง ในขณะที่มนุษย์อยู่บนโลกมานานถึงสองแสนห้าหมื่นปี และแม้แต่ในสังคมปัจจุบัน เราก็เห็นตัวอย่างของการร่วมมือกันหรือความสมานฉันท์เสมอ สังคมนิยมใกล้เคียงกับ “ธรรมชาติมนุษย์” มากกว่าความเห็นแก่ตัวของทุนนิยม

     อย่างไรก็ตามสังคมบุพกาลที่ไม่มีชนชั้นในอดีต ล้วนแต่เป็นสังคมที่มีความขาดแคลน มันจึงเป็นสังคมเท่าเทียมท่ามกลางความยากจน แต่ปัจจุบันเรามีความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน เพื่อให้เรามีชีวิตที่ดีและสบายได้ สังคมนิยมจึงต้องอาศัยความก้าวหน้าที่เคยเกิดขึ้นในสังคมชนชั้น โดยเฉพาะระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมมันไม่ดีพอ เพราะมันไม่สามารถแจกจ่ายทรัพยากรให้ทุกคนได้ และมันเกิดวิกฤตและสงครามเป็นประจำ มันเหมือนกับว่ามนุษย์สร้างหัวจักรรถไฟที่มีพลังมหาศาลขึ้นมา แล้วขับรถไฟไม่เป็น เพราะคนขับคือนายทุนที่มีวัตถุประสงค์อื่น มันเลยตกรางเป็นประจำหรือชนกับรถไฟอื่น สังคมนิยมจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนขับรถไฟได้อย่างปลอดภัย

     พวกล้าหลังจำนวนมากชอบพูดว่า “สังคมนิยมล้าสมัย” แต่ระบบทุนนิยมเก่ากว่าความคิดสังคมนิยม ถ้าอะไรล้าหลังก็คงต้องเป็นทุนนิยม และยิ่งกว่านั้นการบูชาสังคมชนชั้นที่เต็มไปด้วยการกดขี่มันเป็นเรื่องโบราณและอดีต ในขณะที่การเสนอสังคมใหม่ที่เสรีและเท่าเทียมเป็นการมองอนาคต

     ในประการที่สี่ สังคมนิยมคือความใฝ่ฝันของมนุษย์ ซึ่งในอดีตมนุษย์ที่เป็นทาสเคยฝันว่าจะมีเสรีภาพ มนุษย์ที่เป็นไพร่เคยฝันว่าจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง สตรีเคยฝันว่าจะเท่าเทียมกับชาย และสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจริงในโลกเรา แต่ถ้าเรามัวแต่ฟังพวก “กาดำหดหู่” ที่บอกว่ามัน “อุดมกาณ์เกินไป” ความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ไม่มีวันเกิด

     ในประการที่ห้า สังคมนิยมคือระบบที่เน้นวิทยาศาสตร์และความคิด “วัตถุนิยม” ที่ติดดินและเป็นรูปธรรม แต่ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เต็มไปด้วยไสยศาสตร์ และความเชื่อเพี้ยนๆ เช่นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของคนบางคน และมันเต็มไปด้วยการพยายามหลอกให้ประชาชนส่วนใหญ่กระทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ของเขา เช่นการยอมรับการกดขี่ขูดรีด หรือการคลั่งชาติที่นำไปสู่การฆ่ากันเองของคนจนเป็นต้น ถึงแม้ว่าทุนนิยมเป็นระบบที่เคยถูกสร้างขึ้นมาบนความคิดวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากมันเป็นระบบที่อำนาจอยู่ในมือคนส่วนน้อย การปกป้องทุนนิยมในยุคปัจจุบันกระทำบนพื้นฐานความเพ้อฝันและการหลอกลวง มันเป็นการฝันร้ายของมนุษย์    

     ในประการที่หก สังคมนิยมคือเป้าหมายในจิตใจคนที่รักเสรีภาพและความเท่าเทียม แต่มันไม่เกิดง่ายๆ นักสังคมนิยมไม่เคยหลอกตัวเองว่าถ้านั่งอ่านหนังสือที่บ้านมันจะเกิดโดยอัตโนมัติ เราต้องขยันสร้างเครื่องมือที่จะล้มอำนาจเผด็จการของรัฐทุนนิยม เพื่อสร้างรัฐใหม่ของคนทำงาน เครื่องมือนั้นคือพรรคปฏิวัติสังคมนิยม สหภาพแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน เราต้องมีสื่อของเรา เราต้องขยายสมาชิกพรรค เราต้องฝึกฝนการต่อสู้ซึ่งแน่นอนจะมีทั้งแพ้และชนะ มีทั้งการก้าวไปข้างหน้าสองก้าวและถอยหลังสองก้าว

ศึกษาสังคมนิยม สร้างพรรค สร้างขบวนการมวลชน เพื่อล้มระบบชนชั้น!!

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าจะสร้างรัฐสวัสดิการในไทยต้องคัดค้านกลไกตลาดเสรี

ใจ อึ๊งภากรณ์

แนวคิดเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ เป็นแนวของสำนักเศรษฐกิจการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ตรงข้ามกับสำนักเศรษฐกิจการเมืองเสรีนิยมกลไกตลาด [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

ในการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป แนวสังคมนิยมประชาธิปไตยวางกรอบสำคัญๆ สำหรับรัฐสวัสดิการดังนี้คือ

  1. เป็นระบบถ้วนหน้า เพื่อให้เป็นสิทธิทั่วไปของพลเมือง ไม่ต้องไปขอความเมตตาหรือพิสูจน์ความจน และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการเนื่องจากไม่ต้องมีหลายระบบซ้อนกันและมีการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารที่มาจากการกำจัดตลาดภายในอีกด้วย
  2. เป็นระบบครบวงจร เพราะการให้สวัสดิการแบบแยกส่วนไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของพลเมืองได้ ปัญหาสังคมต่างๆ เชื่อมโยงกันตลอด เช่นถ้าเด็กๆ ขาดที่อยู่อาศัยที่ดี และรายได้พ่อแม่ต่ำเกินไป จะมีผลต่อสุขภาพอนามัยและความสำเร็จในการศึกษา
  3. เป็นระบบที่เน้นผลในการสร้างความเท่าเทียม แทนการ “ให้โอกาสเท่าเทียม” เพราะการ “ให้โอกาส” บ่อยครั้งไม่ได้สร้างความเท่าเทียมจริง เนื่องจากพลเมืองมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน
  4. เป้าหมายในการสร้างรัฐสวัสดิการคือการเพิ่มเสรีภาพในสังคม โดยเฉพาะเสรีภาพในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่ปราศจากความกลัว เช่นความกลัวว่าการเจ็บป่วยจะนำไปสู่ความยากจน หรือความกลัวว่าจะไม่มีงานทำแล้วจะเลี้ยงครอบครัวไม่ได้

ระบบรัฐสวัสดิการเป็นระบบที่เน้นผลประโยชน์ร่วมของพลเมือง และความสมานฉันท์ระหว่างทุกคนในสังคม ไม่ใช่การเน้นการกอบโกยของปัจเจกชน และที่สำคัญคือมีการเก็บภาษีก้าวหน้าในอัตราสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน

แนวเสรีนิยมกลไกตลาดที่รื้อฟื้นขึ้นมาเมื่อสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นแนวคิดที่เน้นสิทธิปัจเจกของคนรวยและนายทุน เหนือสิทธิของคนธรรมดา “เสรีนิยมใหม่” นี้คือลัทธิของคนที่เน้นกลไกตลาด การขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน และการยกเลิกรัฐสวัสดิการ เช่นแนวของพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษและส่วนอื่นของยุโรปและในสหรัฐ

พวกเสรีนิยมใหม่ทั่วโลก มักจะวิจารณ์รัฐสวัสดิการว่าเป็นการสร้าง “ระบบอุปถัมภ์” และ “ทำลายวินัยทางการคลัง” เพราะรัฐเก็บภาษีสูงและกู้เงินมาเพื่อสร้างสวัสดิการ แทนที่จะลดภาษีให้คนรวยและหลีกทางให้บริษัทเอกชนเป็นคนกู้เงินในตลาดการเงิน พรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการเสรีนิยมในไทย มักจะโจมตีการที่รัฐบาล ไทยรักไทย เคยใช้รัฐในการสร้างสวัสดิการว่าเป็นการ “ทำลายวินัยทางการคลัง” และการสร้างวัฒนธรรมพึ่งพาอุปถัมภ์

คนที่อ้างว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการภายใต้แนวคิดเสรีนิยมกลไกตลาดเป็นคนโกหก เพราะพวกนี้ต้องการนำกลไกตลาดมาใช้ในทุกส่วนของระบบสวัสดิการ ในฐานะที่ผมทำงานในระบบสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการอังกฤษ และในฐานะที่ผมเป็นนักสังคมนิยม ผมจะขอยกตัวอย่างจากระบบสาธารณสุข

การแยกระบบสาธารณสุขอังกฤษออกเป็นฝ่าย ‘ผู้ซื้อ’ กับ ‘ผู้ให้บริการ’ เป็นมาตรการของอดีตนายกรัฐมนตรีแทชเชอร์ เพื่อค่อยๆ ทำลายระบบรัฐสวัสดิการ และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตัดงบประมาณรัฐพร้อมกับดึงบริษัท “หากิน” ของเอกชนเข้ามา ผลคือมีการจ้างนักบัญชีและนักบริหารตัวเลขมากขึ้นอย่างมหาศาล แต่เงินที่เคยทุ่มเทไปในการดูแลรักษาคนไข้กลับลดลง เงินซื้อยาถูกจำกัด และจำนวนพยาบาลกับหมอก็ขาดแคลนเรื่อยมา พร้อมกันนั้นมีการกดค่าแรงให้ต่ำลง

ในระบบนี้ทุกรายละเอียดของการดูแลคนไข้จะถูกตีราคา ไม่ว่าจะเป็นการใส่สายในเส้นโลหิต การตรวจไขสันหลัง หรือการให้ยา มันเป็นระบบที่สิ้นเปลืองทรัพยากรและขาดประสิทธิภาพในการดูแลคนป่วย เพราะการทำบัญชีกลายเป็นสิ่งที่กำหนดทุกอย่าง แทนที่จะเอาความต้องการของคนไข้มาเป็นหลัก

ตลาดภายในสำหรับระบบสาธารณสุขแบบนี้ถูกนำมาใช้ในไทยในระบบสามสิบบาทที่รัฐบาลทักษิณริเริ่ม มันจึงขาดประสิทธิภาพสำหรับพลเมืองทั่วไปแต่แรก

นอกจากการเน้นตลาดภายใน เพื่อทำลายรัฐสวัสดิการแล้ว พวกเสรีนิยมกลไกตลาดมีมาตรการอื่นที่ช่วยทำให้รัฐสวัสดิการเสื่อม มีการเปลี่ยนระบบสวัสดิการจากระบบถ้วนหน้าไปสู่ระบบที่จำกัดสิทธิ และเน้นคนบางกลุ่มที่ยากจนสุด คือในที่สุดพลเมืองต้องเสียศักดิ์ศรีในการพิสูจน์ความจน และมีการจำกัดสวัสดิการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ในประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์อย่าง สมภพ มานะรังสรรค์ พวก TDRI และรัฐบาลเผด็จการทหาร จะสนับสนุนการจำกัดสิทธิในการให้สวัสดิการเพื่อประหยัดงบประมาณโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีการพูดกันมากขึ้นถึงการ “ร่วมจ่าย” ซึ่งเป็นการเก็บค่าบริการนั้นเอง และการที่พวกเสรีนิยมพร้อมจะใช้รัฐเพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหาร แต่ต้องการตัดสวัสดิการให้กับคนธรรมดา เห็นได้ชัดในกรณีรัฐบาลพรรคทหารหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ผลของนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดในสหรัฐเห็นได้ชัด เพราะระหว่างปี 2000-2006 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 18% แต่รายได้จริงของกรรมาชีพลดลง 1.1% ส่วนคนรวยที่สุด 10% ของชาติเพิ่มรายได้ 32% ในขณะที่คนรวยสุดยอด 1% กอบโกยรายได้เพิ่มถึง 203% และพวกอันดับยอด 0.1% ของชาติ สามารถยึดทรัพย์เพิ่มขึ้น 425%  ปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบนี้ในสหรัฐและทั่วโลกทวีคุณมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้

ข้ออ้างเท็จว่า “รัฐสวัสดิการล้มเหลวหรือใช้ไม่ได้เพราะคนชรามีมากเกินไป”ที่เรามักได้ยิน เป็นคำโกหกของพวกเสรีนิยมที่ไม่เคารพคนทำงานรุ่นก่อนหรือคนรุ่นพ่อแม่เรานั้นเอง พวกนี้อ้างว่าสัดส่วนระหว่างคนทำงานกับคนชราลดลง เพราะคนมีแนวโน้มจะมีลูกน้อยและคนแก่มีอายุยืนยาวขึ้น แต่ในความเป็นจริงขณะที่สัดส่วนคนทำงานลดลง ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าใน 50 ปี ข้างหน้าคนทำงานจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉลี่ยสองเท่า ซึ่งแปลว่าคนทำงานสามารถเลี้ยงดูคนชราได้มากขึ้นอีกสองเท่า นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น

รัฐสวัสดิการสร้างได้ในประเทศไทย ถ้าเราปฏิเสธสำนักคิดเสรีนิยมกลไกตลาด แต่ถ้าจะทำจริง เราต้องมีความเข้าใจและความสนใจเรื่องการรณรงค์และพลังของขบวนการเคลื่อนไหวในสังคม เราต้องร่วมกันผนึกขบวนการประชาธิปไตยกับขบวนการที่สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่วนสำคัญของขบวนการนี้ต้องเป็นสหภาพแรงงาน นอกจากนี้คนที่มีความคิดที่จะพัฒนาสังคมไทยไปข้างหน้า แทนที่จะย่ำอยู่กับที่ในยุคหินแห่งระบบกลไกตลาด จะต้องหันมาจับมือกันเพื่อสร้างพรรคการเมืองเพื่อช่วงชิงความคิดในสังคม

เลือกตั้งอังกฤษ: ประชาชนสก็อตแลนด์เบื่อหน่ายพรรคกระแสหลัก แต่ในอิงแลนด์ขาดพรรคทางเลือกใหม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผลการเลือกตั้งในอังกฤษที่น่าสนใจที่สุดคือในสก็อตแลนด์ คะแนนเสียงที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของพรรคชาตินิยมสก็อตแลนด์ (SNP) เป็นปรากฏการณ์ใหม่ คะแนนเสียงท่วมท้นนี้ไม่ได้เกิดจากกระแสชาตินิยมแต่อย่างใด แต่เกิดจากความไม่พอใจของประชาชนสก็อตแลนด์ต่อนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่ทำลายชีวิตคนธรรมดา พรรค SNP แปรตัวไปมีจุดยืนตรงกับที่พรรคแรงงานเคยมีในอดีต คือเป็นพรรคที่มีนโยบาย “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ที่ปกป้องรัฐสวัสดิการและระบบสาธารณสุข และต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ นี่คือสาเหตุที่พรรค SNP ชนะในเกือบทุกเขต และยึดฐานเสียงเดิมของพรรคแรงงานในสก็อตแลนด์เกือบหมด รวมถึงเมืองกลาสโกซึ่งเป็นจุดรวมกรรมาชีพที่สำคัญ

ถึงแม้ว่าพรรค SNP ไม่ลงสมัครนอกเขตสก็อตแลนด์ แต่คนจำนวนมากในอิงแลนด์ ซึ่งไม่มีสิทธิ์เลือก SNP ก็ยังแสดงความชื่นชม และอยากเห็นพรรคที่มีนโยบายคล้ายๆ กันได้ที่นั่ง แต่ปัญหาคือในอิงแลนด์ขาดพรรคทางเลือกใหม่ที่มีนโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตย และใหญ่พอที่จะสร้างความน่าเชื่อถือที่มาจากความเป็นไปได้ว่าจะชนะที่นั่ง

พรรค SNP ประกาศชัดเจนว่าจะลงคะแนนเสียงในสภาเพื่อกีดกันไม่ให้พรรคอนุรักษ์นิยมตั้งรัฐบาล และมีการชวนให้พรรคแรงงานร่วมในจุดยืนนี้ด้วย แต่นโยบายของพรรคแรงงาน ซึ่งแยกไม่ออกจากนโยบายกลไกตลาดเสรีของพรรคอนุรักษ์นิยม ทำให้พรรคแรงงานในอิงแลนด์หมดสภาพที่จะเป็นแรงบันดาลใจและดึงคะแนนเสียงของคนที่อยากปกป้องรัฐสวัสดิการ แนวโน้มคือพรรคอนุรักษ์นิยมอาจตั้งรัฐบาลได้อีกครั้งเพราะได้ที่นั่งส่วนใหญ่ในอิงแลนด์ อิงแลนด์เป็นประเทศที่ใหญ่กว่าสก็อตแลนด์และมี สส. มากกว่าหลายเท่า

ตอนนี้ชัดเจนว่าพรรคอนุรักษ์นิยมตั้งรัฐบาลได้ แต่มันไม่ได้แปลว่าพรรคนี้ครองใจคนส่วนใหญ่แต่อย่างใด ทั้งพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนนนิยมพรรคละประมาณ 33% เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนอังกฤษหนึ่งในสามไม่สนับสนุนทั้งสองพรรค กระแสที่เห็นชัดแต่สร้างผลออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน คือความเบื่อหน่ายกับพรรคกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม พรรคแรงงาน หรือพรรคเสรีนิยมที่เคยร่วมรัฐบาลกับพรรคอนุรักษ์นิยม

พูดง่ายๆ ผลการเลือกตั้งอังกฤษเป็นความพ่ายแพ้ของพรรคแรงงานที่ใช้นโยบายฝ่ายขวา ที่ไม่แตกต่างจากพรรคอนุรักษ์นิยม และเป็นชัยชนะของพรรค SNP ที่มีนโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตย ในสภาพเช่นนี้พรรคอนุรักษ์นิยมคงจะสามารถอาศัยช่องโหว่ในอิงแลนด์เพื่อพยายามตั้งรัฐบาล

นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่พรรคกระแสหลักร่วมกันสนับสนุน จะเน้นการตัดสวัสดิการ การตัดงบประมาณรัฐ และการทำลายระบบรัฐสวัสดิการด้วยการดึงบริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่เอาใจกลุ่มทุน โดยให้ประชาชนส่วนใหญ่จ่ายหนี้สาธารณะที่ธนาคารและพวกเล่นหุ้นเคยก่อขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 และนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดนี้มีผลให้เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวช้า คนตกงาน และคนทำงานจนลง

ในขณะที่เศรษฐีนายทุนใหญ่เพิ่มความร่ำรวยมากขึ้นมหาศาล ประชาชนอังกฤษอย่างน้อยหนึ่งล้านคนไม่สามารถเลี้ยงตัวได้ และหลายครอบครัวต้องไปพึ่งศูนย์แจกอาหารฟรีที่อาสาสมัครตั้งขึ้น และในขณะที่รัฐบาลอังกฤษใช้จ่ายเงินในการทำสงครามอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนเพราะขาดบ้านที่อยู่อาศัยเพราะรัฐบาลไม่ยอมลงทุนในการสร้างบ้าน นอกจากนี้พนักงานจำนวนมากที่ทำงานในภาครัฐ โดยเฉพาะพนักงานเงินเดือนต่ำในโรงพยาบาล จะไม่มีการปรับเงินเดือนขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ คือถูกตัดเงินเดือนนั้นเอง และพนักงานตามเทศบาลต่างๆ ก็ถูกเลิกจ้างจำนวนมากอีกด้วย

ในแง่หนึ่งคะแนนเสียงที่ SNP ได้นั้นเป็นผลพวงของการจัดประชามติเมื่อปีที่แล้วว่าสก็อตแลนด์ควรแยกออกจากอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรหรือไม่ ซึ่งคะแนนของทั้งสองฝ่ายสูสีกันมาก และทั้งๆ ที่เสียงของคนไม่อยากแยกประเทศจะชนะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นประเด็นหลักในการเลือกแยกประเทศของคนจำนวนมากก็ไม่ใช่แนวคิดชาตินิยม แต่เป็นเรื่องการคัดค้านแนวเสรีนิยมต่างหาก

เราควรเข้าใจว่าพรรค SNP เป็นพรรคที่จะประนีประนอมกับนายทุนเสมอ ไม่ต่างจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยทั่วไปอื่นๆ ในอดีต นี่คือสาเหตุที่ฝ่ายซ้ายพยายามสร้างขั้วสังคมนิยมที่อิสระจากพรรค SNP และพรรคแรงงาน แต่เนื่องจากฝ่ายซ้ายยังอ่อนแอและในบางที่ไม่ยอมสามัคคีกัน เรายังมีปัญหามาก ในอิงแลนด์คนที่ก้าวหน้าจำนวนมากจึงเลือกลงคะแนนให้พรรคกรีน หรือถ้าอาศัยอยู่ในประเทศเวลส์ก็จะลงคะแนนให้พรรคชาตินิยมเวลส์ PC (Plaid Cymru ) แต่สองพรรคนี้ก็ยังเล็ก

โดยบังเอิญผู้นำของพรรค SNP กรีน และPC เป็นผู้หญิง และคนจำนวนมากมองว่าต่างจากนักการเมืองเดิมๆ ที่น่าเบื่อ โดยที่ผู้นำ SNP มียอดนิยมสูงมาก ภาพที่ประกอบบทความนี้สะท้อนมิตรภาพระหว่างสามสตรี ในขณะที่ผู้นำพรรคแรงงานยืนเงิบอยู่คนเดียว

สถานการณ์การวิกฤตแห่งศรัทธาในพรรคกระแสหลักนี้ ไม่ได้มีแค่ในอังกฤษ เราเห็นในกรีซ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี่ เยอรมัน และในสแกนดิเนเวียอีกด้วย มันเป็นอาการเบื่อหน่ายกับนโยบายของพรรคกระแสหลักที่ไม่ต่างกันและที่เน้นแต่การตัดงบประมาณ การเพิ่มจำนวนคนตกงาน และการทำลายรัฐสวัสดิการเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน ดังนั้นในสถานการณ์แบบนี้ประชาชนจำนวนมากอาจแสวงหาพรรคทางเลือกใหม่ ซึ่งอาจเป็นฝ่ายซ้าย หรืออาจเป็นฝ่ายขวาสุดขั้วแบบฟาสซิสต์ก็ได้ ในกรณีหลัง ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงในฝรั่งเศส และฟินแลนด์ หรือในบางประเทศของยุโรปตะวันออก กระแสการเหยียดสีผิวและหาแพะรับบาปจะเพิ่มขึ้น มีการต่อต้านคนมุสลิม และต่อต้านคนที่พยายามย้ายถิ่นเข้ามาในยุโรปเพื่อหนีสงครามที่จักรวรรดินิยม ทั้งใหญ่และเล็ก ก่อขึ้นในตะวันออกกลางและส่วนอื่นของโลก นโยบายกีดกันคนย้ายถิ่นหรือผู้ลี้ภัยของสหภาพยุโรป ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมเรือร่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพราะผู้ลี้ภัยต้องอาศัยพวกค้ามนุษย์เพื่อพยายามหาช่องเข้ายุโรป

ในกรณีอังกฤษพรรคฝ่ายขวาสุดขั้วที่ได้ประโยชน์คือพรรค “อิสรภาพสำหรับสหราชอาณาจักร” (UKIP) และถึงแม้ว่าพรรคนี้ได้แค่ 1 ที่นั่งเอง แต่การที่พรรคกระแสหลัก รวมถึงพรรคแรงงาน พยายามตามกระแสเหยียดสีผิวและต้านคนย้ายถิ่น เพื่อเอาใจคนที่อาจพิจารณาเลือก UKIP ทำให้บรรยากาศในสังคมอังกฤษเอียงไปทางด้านพวกเหยียดสีผิว มีแต่พรรค SNP กรีน ชาตินิยมเวลส์ และฝ่ายซ้ายที่คัดค้านกระแสนี้

เมื่อพรรคอนุรักษ์นิยมตั้งรัฐบาล มันจะมีแรงกดดันจาก UKIP และฝ่ายขวาของพรรคอนุรักษ์นิยมเอง เพื่อให้มีการจัดประชามติว่าอังกฤษควรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองเพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มทุนหลายกลุ่มจะไม่เห็นด้วยเนื่องจากได้ประโยชน์ทางธุรกิจจากการที่อังกฤษเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในขณะเดียวกันถ้ามีแนวโน้มว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป ในสก็อตแลนด์ก็จะมีกระแสเพื่อจัดประชามติแยกประเทศรอบใหม่

ประเด็นสำคัญสำหรับพลเมืองส่วนใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจ การมีงานทำ ระดับเงินเดือน และการปกป้องระบบสาธารณสุขกับรัฐสวัสดิการจากการถูกทำลาย และเรื่องนี้คงแก้ไม่ได้ถ้าอาศัยแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภาเท่านั้น มันต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานและประชาชนก้าวหน้านอกรัฐสภาเป็นหลัก

(ปรับปรุุงภายหลังผมการเลือกตั้งออกมาหมดแล้ว)