Tag Archives: สิงคโปร์

ลีกวนยู ผู้นำเผด็จการทรามของสิงคโปร์ตายแล้ว

ใจ อึ๊งภากรณ์

ลีกวนยู (Lee Kuan Yew) เป็นผู้นำเผด็จการของสิงคโปร์ที่ปราบปรามฝ่ายค้านและฝ่ายซ้ายอย่างต่อเนื่อง เขาคือคนที่ร่วมออกแบบประชาธิปไตยจอมปลอมภายใต้อำนาจพรรครัฐบาลซึ่งยังดำรงอยู่ถึงทุกวันนี้ เขาเป็นคนที่แต่งตั้งลูกชายเพื่อสืบทอดอำนาจทางการเมือง และเขาเป็นคนที่ประยุทธ์คงขยันศึกษาและทักษิณเคยชื่นชมอีกด้วย นักประชาธิปไตยไม่ควรจะเศร้าใจที่ ลีกวนยู ตายไปจากโลกนี้

ลีกวนยู เป็นนักการเมืองที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมในการขึ้นมามีอำนาจ ในปี ค.ศ. 1950 ลีกวนยู อดีตทนายกฎหมายแรงงานที่จบการศึกษาจากอังกฤษพูดกับเพื่อนๆ นักศึกษานอกว่า “เมื่ออังกฤษให้เอกราชกับเรา อังกฤษจะเลือกพวกเรามาปกครองประเทศ เพราะอังกฤษมีแค่สองทางเลือกคือ การปล่อยให้พรรคคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจหรือการสถาปนารัฐมาเลย์ในเครือจักรภพอังกฤษ”  ลีกวนยูเข้าใจดีว่าฝ่ายซ้าย ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยม สำคัญและมีอิทธิพลแค่ไหนในยุคนั้น เขาจึงแสวงหาแนวร่วมกับกลุ่มฝ่ายซ้ายที่ไม่สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อแข่งกับพรรคคอมมิวนิสต์และเพื่อสร้างฐานเสียงมวลชนในการชักชวนให้อังกฤษให้ความสำคัญกับเขา

ในปี ค.ศ. 1954 ลี ก่อตั้งพรรค People’s Action Party – P.A.P. หรือ “พรรคกิจประชา” โดยใช้ฐานมวลชนในยุคแรกจากสายสังคมนิยม ในขณะเดียวกัน ลี ได้สร้างความใกล้ชิดสนิทสนมกับทหารและหน่วยราชการลับของอังกฤษเพื่อให้อังกฤษไว้ใจเขามากขึ้น ต่อมาในปี ค.ศ. 1959 พรรค P.A.P. ชนะการเลือกตั้ง และในระหว่างที่ถืออำนาจอยู่ 4 ปีแรก ลี ใช้อำนาจรัฐในการปราบปรามฝ่ายซ้ายทุกซีกรวมถึงซีกที่เคยเป็นฐานเสียงของ P.A.P. พร้อมกันนั้นมีการสร้างฐานมวลชนใหม่ของพรรคในหมู่ข้าราชการที่รัฐบาลอุปถัมภ์

ในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม รัฐบาลของ ลีกวนยู พร้อมจะใช้วิธีขังยาวโดยไม่ต้องมีการตัดสินว่าทำอะไรผิด และมีการทรมานผู้ถูกขังอีกด้วย ทั้งหมดนี้กระทำไปโดยอ้าง “ความมั่นคงของชาติ”

ในทศวรรษที่ 60 และ 70 พรรค P.A.P. ครองอำนาจอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการเผด็จการที่กีดกันฝ่ายค้านในระบบการเมือง ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเป็นประจำ แต่เป็นเพียงละครเลือกตั้งเพื่อสร้างภาพเท่านั้น นอกจากมาตรการเผด็จการแล้ว รัฐบาลของ ลี อาศัยความชอบธรรมจากการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ และการจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้าให้พลเมือง การจัดสวัสดิการทำได้ง่ายกว่าที่อื่น เพราะประเทศสิงคโปร์เป็นเพียงเมืองเดียวบนเกาะเล็กๆ ที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าในเอเชียตั้งแต่ยุคอังกฤษครอบครอง และสิงคโปร์อาศัยแรงงานจากมาเลเซียเพื่อทำงานหลายอย่าง แต่แรงงานนี้ไม่มีฐานะเป็นพลเมืองและไม่มีสิทธิ์รับสวัสดิการ

อย่างไรก็ตามในทศวรรษที่ 80 เริ่มมีปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้นและประชาชนเริ่มอึดอัดกับระบบการปกครองที่ควบคุมทุกแง่ของชีวิตตั้งแต่เรื่องในครัวเรือนถึงเรื่องในที่ทำงาน สิงคโปร์มีกฎหมายลงโทษผู้ที่ไม่ชักโครกหลังใช้ส้วม มีการห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง และห้ามใช้ปากในการมีเพศสัมพันธ์เป็นต้น ในการเลือกตั้งช่วงนี้ พรรครัฐบาลได้รับคะแนนเสียงลดลงเหลือแค่ 60% ทั้งๆที่ มีกติกาต่างๆ ที่ให้เปรียบกับ P.A.P. เสมอ เช่นการนำผู้นำฝ่ายค้านมาขึ้นศาลลำเอียง แล้วห้ามคนเหล่านั้นให้เล่นการเมือง หรือการควบคุมประชาชนในตึกที่อยู่อาศัย ผ่านพรรคพวกของพรรครัฐบาลที่คอยสอดแนม

ดังนั้นในทศวรรษที่ 80  รัฐบาลสิงคโปร์พยายามเสนอ “ลัทธิประชาคมนิยม” (Communitarianism) เพื่อรณรงค์ความสามัคคีและความจงรักภักดีต่อรัฐ เนื้อหาหลักของลัทธิประชาคมนิยมคือการเน้น “ส่วนรวม” แทน “ปัจเจก” ซึ่ง ลีกวนยู เสนอมาตลอดว่าปัจเจกนิยมเป็น “แนวคิดตะวันตก” ความคิดของ ลีกวนยู อันนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสายคิด “ค่านิยมเอเชีย” (Asian Values) ที่มองว่าประชาธิปไตยเสรีเป็นแนวคิดตะวันตกที่ไม่เหมาะสมกับเอเชีย แนวคิดนี้เป็นแนวที่ประยุทธ์และเผด็จการไทยชอบเหลือเกิน จุดอ่อนของแนวนี้คือ ประชาชนมองออกว่ามันเป็นเพียงข้ออ้างในการใช้มาตรการเผด็จการของชนชั้นปกครอง และบ่อยครั้งประชาชนเอเชียก็จะลุกขึ้นล้มเผด็จการเพื่อสร้างประชาธิปไตยเสรีอีกด้วย นอกจากนี้การเสนอว่าสังคมตะวันตกเน้นความเป็นปัจเจกเป็นการมองข้ามวัฒนธรรมรัฐสวัสดิการในยุโรปตะวันตก

ลีกวนยู ชอบอ้างว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่เคร่งครัดในการปราบคอร์รับชั่น แต่การคอร์รับชั่นหลักของสิงคโปร์มีอยู่ในรูปแบบ “ถูกกฏหมาย” เพราะพรรคการเมือง P.A.P. ใช้มาตรการเผด็จการเพื่อครองอำนาจ แล้วรัฐสภาก็อนุมัติให้ผู้นำทางการเมืองมีเงินเดือนสูงที่สุดในโลก สูงกว่าผู้นำในสหรัฐด้วยซ้ำ ปรากฏว่าในปี 2012 นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นลูกชาย ลีกวนยู กอบโกยเงินเดือนปีละ $US 1.69 ล้าน นอกจากนี้มีการให้พรรคพวกหรือญาติพี่น้องของแกนนำพรรครัฐบาล มีอำนาจและผลประโยชน์จากการบริหารรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชนที่ถูกแปรรูปไปจากรัฐวิสาหกิจ

สิงคโปร์เป็นประเทศป่าเถื่อนที่ยังใช้การเฆียนในการลงโทษนักเรียนและประชาชนทั่วไป สังคมสิงคโปร์เป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนทำงานธรรมดามีเงินเดือนที่ไม่พอใช้ ในขณะที่คนชั้นสูงและคนชั้นกลางสบาย ดัชนี “จินี” ของสิงคโปร์ ที่วัดความเหลื่อมล้ำ ค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น หรือประเทศในยุโรป นอกจากนี้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ปกป้องและผูกมิตรกับเผด็จการทหารในพม่ามาตลอด ทั้งหมดนี้คือมรดกของ ลีกวนยู

อ่านเพิ่มเรื่อง  “การเมืองเอชียตะวันออกเฉียงใต้”