Tag Archives: สิทธิทางเพศ

พรรคการเมืองกับสิทธิทางเพศ

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้มีสหายท่านหนึ่งตั้งคำถามในโซเชียลมีเดียว่าทำไมพรรคการเมืองไทยไม่ค่อยสนใจประเด็นสิทธิทางเพศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน และสิทธิของคนข้ามเพศ

หลายคนเมื่อพูดถึงคนที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน หรือคนข้ามเพศ  มักจะพูดในทำนองทีตลกขบขัน  หรือมองว่าเป็นคนที่ผิดจากมนุษย์ธรรมดา แต่สำหรับนักสังคมนิยม เราตั้งคำถามว่า “เกย์  ทอม ดี้ กะเทย เป็นมนุษย์เพี้ยน หรือ ระบบมันเพี้ยน?” และเราตอบเองว่าปัญหาอยู่ที่ระบบทุนนิยมและชนชั้น เพราะระบบปัจจุบันเน้นครอบครัวจารีตแบบผัวเมียพ่อแม่ ซึ่งแนวคิดนี้กีดกันสิทธิทางเพศของคนรักเพศเดียวกัน ของคนข้ามเพศ และของสตรี ผู้มีอำนาจในระบบทุนนิยมพยายามสร้างให้สังคมมีเพียงสองเพศเท่านั้น  เพศอื่น ๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคม  ถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติเป็นเรื่องแปลกประหลาด  ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเลย  สังคมไทยและสังคมเอเซียแถบนี้มีคน “เพศที่สาม” มาพันๆ ปี สังคมตะวันตกก็เช่นกัน

เหตุผลที่มีแนวคิดครอบครัวจารีตคือ มันเกี่ยวข้องกับการผลิตมนุษย์รุ่นต่อไป  มันเกี่ยวกับความต้องการแรงงานรุ่นต่อไปแบบราคาถูก คือยกให้เป็นเรื่องภาระปัจเจกในการเลี้ยงเด็กของสังคม โดยผู้หญิงต้องรับภาระนี้เป็นหลัก

แต่เมื่อทุนนิยมพัฒนามากขึ้นและดึงผู้หญิงเข้าไปในสถานที่ทำงานมากขึ้น เพราะขาดแคลนกำลังงาน ผู้หญิงเหล่านั้นมั่นใจที่จะพึ่งตนเอง และมั่นใจมากขึ้นที่จะรวมตัวกับผู้หญิงคนอื่นในการเรียกร้องสิทธิ การเรียกร้องสิทธิของมวลชนในรูปแบบนี้ให้กำลังใจกับ เกย์ ทอม ดี้ กะเทย คนผิวดำ และคนที่ถูกกดขี่อื่นๆ เพื่อที่จะลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของตนเองด้วย เราเห็นปรากฏการณ์นี้ทั่วโลก และในสังคมไทยด้วย

นี่คือสาเหตุที่ชนชั้นปกครองเริ่มยอมในเรื่องสิทธิทางเพศบางส่วน แต่พยายามปกป้องครอบครัวจารีตในเวลาเดียวกัน

บ่อยครั้งการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะขึ้นๆ ลงๆ ตามกระแสสากล สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือพรรคการเมืองที่ปลุกระดมคนในสังคมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมจะอธิบายว่าทำไมเราต้องสู้เพื่อสิทธิต่างๆ พร้อมจะอธิบายว่าจะสู้อย่างไร และพร้อมจะเถียงกับคนที่เห็นต่างเสมอ

แต่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในไทย ทั้งพรรคเก่าและใหม่ ไม่ทำในสิ่งนี้ บางพรรคอาจพูดในนามธรรมว่าทุกคนควรมีสิทธิทางเพศ พูดถึงความเสมอภาค และบางพรรค เช่นพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคเพื่อชาติ พูดว่าควรแก้กฏหมาย แต่บ่อยครั้งมีการพูดแบบคลุมเครือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อนในสังคม” ซึ่งคงเป็นแนวทางสู่การประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่สำคัญคือพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่กล้ารณรงค์เรื่องนี้อย่างชัดเจนหรือปลุกระดมมวลชนให้เปลี่ยนความคิด เพราะภายในพรรคยังไม่เป็นเอกภาพเรื่องนี้ และกลัวว่าจะเสียคะแนนเสียงจากประชาชนในวันเลือกตั้ง พรรคส่วนใหญ่จึงเดินตามกระแสที่มีอยู่ในสังคมซึ่งได้รับอิทธิพลจากความคิดจารีตนิยม [ดูข่าวประชาไท https://bit.ly/2DYsbuU ]

_104244121_23143247613_a12de7eb1b_h
ภาพโดย WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ถ้าจะพูดกันถึงรูปธรรม มันมีหลายเรื่องที่ถกกันในสังคมไทยตอนนี้ เช่นร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ตกค้างมาจากยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ นักกิจกรรมหลายคนต้องการเห็นการผ่าน พ.ร.บ.นี้ เพราะจะเปิดโอกาสให้คนรักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็น “คู่ชีวิต” ได้ แต่มีนักเคลื่อนไหวและนักวิจัยอีกหลายคน เช่นชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ที่ชี้ว่า พ.ร.บ. นี้ให้สิทธิกับคนรักเพศเดียวกันน้อยกว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างชายกับหญิง เช่นสิทธิที่จะร่วมกันเลี้ยงลูกที่มาจากวิธีการต่างๆ  สิทธิที่จะลดภาษี สิทธิในสวัสดิการสังคม สิทธิที่จะใช้นามสกุลร่วมกัน ฯลฯ [ดู https://bbc.in/2P5xn1T ]

ส่วน ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เสนอว่าควรแก้กฎหมายสมรส ให้เปลี่ยนคำจาก “ชาย-หญิง” เป็นการจดทะเบียนระหว่าง “บุคคล” ก็น่าจะทำให้สิทธิเท่าเทียมกันมากขึ้น

tumblr_inline_o9agfteDw41tgknjf_1280.png.cf

และสำหรับสิทธิของคนข้ามเพศ (“กะเทย”) หรือคนที่ไม่อยากจำกัดตัวเองว่าเป็นเพศอะไร คณาสิต พ่วงอำไพ นักกิจกรรมภาคี “นอนไบนารี” (ไม่มีแค่สองเพศ) อธิบายว่าร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่ให้อะไรกับคนเหล่านี้

ในประเทศตะวันตกเริ่มมีการต่อสู้ของคนข้ามเพศ เพื่อให้มีสิทธิเลือกเพศที่ตนเองต้องการในเอกสารทางการ เพื่อให้มีสิทธิ์เลือกเข้าห้องน้ำตามเพศที่ตัวเองเลือก และสำหรับคนที่ต้องติดคุกก็เพื่อที่จะเลือกอยู่คุกตามเพศที่ตนเลือกเช่นกัน แต่เป็นที่น่าสลดใจที่พวกสิทธิสตรีคับแคบล้าหลังบางคน ไม่พอใจกับการเรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศ เพราะอ้างว่ามันจะทำให้ความเป็นผู้หญิงหมดความหมาย

ที่แน่นอนก็คือในไทย ยังไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ชูประเด็นนี้และพร้อมจะต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศอย่างถ้วนหน้า ซึ่งนอกจากสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนไม่เลือกเพศแล้ว ยังต้องรวมถึงสิทธิทำแท้งเสรีสำหรับสตรีอีกด้วย

42864387_1048457538658557_5369240746756931584_n

เราชาวสังคมนิยมมองว่า ไม่ว่ามนุษย์ในสังคมจะเลือกเป็นเพศอะไร หรือเลือกที่จะรักเพศอะไร อย่างไร นับเป็นสิทธิที่ชอบธรรมอันดับแรกที่สามารถเลือกได้  และพวกเราที่ต้องการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมจะต้องสนับสนุนสิทธิดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไข ตราบใดที่คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ หรือสตรี ไม่มีสิทธิเต็มตัว สังคมเราไม่มีวันมีประชาธิปไตยและเสรีภาพสมบูรณ์ นี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่เราควรมีพรรคสังคมนิยม

 

ทำไมประชาชนไอร์แลนด์ถึงเปลี่ยนมาสนับสนุนสิทธิทำแท้ง

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

ใจ อึ๊งภากรณ์

ข่าวที่น่าตื่นเต้นจากประเทศไอร์แลนด์เมื่อไม่นานมานี้ คือการที่พลเมืองไอร์แลนด์ลงประชามติให้ยกเลิกกฏหมายที่ห้ามสตรีทำแท้ง ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่การร่างกฏหมายทำแท้งเสรีอย่างที่มีในประเทศอื่นของยุโรปตะวันตก

1835e975ec2942f1994fed04e427feac

เมื่อไอร์แลนด์ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปีค.ศ. 1922 หลังจากสู้รบกันมานาน เอกราชที่ได้รับเป็นเอกราชครึ่งใบ เพราะอังกฤษแบ่งเกาะไอร์แลนด์เป็นสองส่วนคือ ไอร์แลนด์ใต้ กับไอร์แลนด์เหนือ

ไอร์แลนด์เหนือยังปกครองภายใต้อังกฤษและนักการเมืองที่มีอำนาจในพื้นที่นี้เป็นพวกโปรเตสแตนต์สุดขั้วล้าหลังที่คอยกดขี่เลือกปฏิบัติต่อชาวคาทอลิก พวกนี้จงรักภักดีต่อชนชั้นปกครองอังกฤษและกษัตริย์

ไอร์แลนด์ใต้กลายเป็นสาธารณรัฐภายใต้นักการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ชื่นชมนิกายคาทอลิก

อังกฤษแบ่งเกาะไอร์แลนด์ตอนนั้นเพราะต้องการรักษาฐานทัพและเมืองอุตสาหกรรมทางเหนือ แต่มันมีเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การให้สิทธิพิเศษกับประชาชนโปรเตสแตนต์ในไอร์แลนด์เหนือ เป็นเครื่องมือสำคัญในการแบ่งแยกชนชั้นกรรมาชีพระหว่างพวกโปรเตสแตนต์กับคาทอลิก

แทนที่การต่อสู้ทางชนชั้นจะเป็นประเด็นสำคัญ อย่างที่เคยเป็น ประชาชนไอร์แลนด์ถูกชักชวนให้มองว่าความขัดแย้งหลักเป็นเรื่องของศาสนา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครองในทั้งสองประเทศ

นักสังคมนิยมคนสำคัญของไอร์แลนด์ชื่อ เจมส์ คอนนอลี่ เคยเตือนไว้ก่อนหน้านั้นว่า ถ้ามีการแบ่งประเทศ อย่างที่อังกฤษทำ จะเกิด “เทศกาลแห่งความปฏิกิริยาล้าหลัง” ในทั้งไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ใต้

James-Connolly1-271x300
เจมส์ คอนนอลี่

ในไอร์แลนด์ใต้รัฐบาลชวนให้องค์กรศาสนาคาทอลิกเข้ามาครอบงำทุกส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา วัฒนธรรม หรือการร่างกฏหมาย พวกพระล้าหลังเหล่านี้ กดขี่สิทธิสตรีอย่างรุนแรง เน้นความเป็น “แม่” ห้ามการหย่า ห้ามการคุมกำเนิด ห้ามทำแท้ง และมีการละเมิดสิทธิสาวๆที่ท้องโดยไม่แต่งงาน โดยนำไปขังไว้ในสถาบันศาสนาเหมือนทาสตลอดชีวิต

ในไอร์แลนด์เหนือพวกพระโปรเตสแตนต์เล่นการเมืองและกีดกันสิทธิสตรีเช่นกัน เมื่ออังกฤษผ่านกฏหมายเพื่อให้สตรีเลือกทำแท้งอย่างเสรีได้ในปี 1967 นักการเมืองปฏิกิริยาเหล่านี้ไม่ยอมให้ใช้กฏหมายนี้ในไอร์แลนด์เหนือ นอกจากนี้การที่ชนชั้นกรรมาชีพถูกแบ่งแยกระหว่างโปรเตสแตนต์กับคาทอลิก ทำให้ค่าจ้างและสภาพการจ้างของกรรมาชีพไอร์แลนด์เหนือแย่กว่าในเกาะอังกฤษ

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้น และในไอร์แลนด์ใต้มีการลงทุนในการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการมากขึ้น ซึ่งทำให้กรรมาชีพในเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความงมงายในศาสนาคาทอลิกค่อยๆ ลดลง พร้อมกันนั้นมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับพระคาทอลิกทั่วโลกรวมถึงไอร์แลนด์ ว่ามีการละเมิดทางเพศเด็กๆ จำนวนมาก

ในปี 1993 ในไอร์แลนด์ใต้มีการยกเลิกการลงโทษคนรักเพศเดียวกัน ต่อมาในปี 1995 มีการยกเลิกการห้ามหย่า และในปี 2015 มีประชามติที่สนับสนุนการแต่งงานกันระหว่างคนเพศเดียวกัน ประชามติที่ปูทางไปสู่สิทธิในการทำแท้งจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการทำลายสิ่งที่ เจมส์ คอนนอลี่ เคยเรียกว่า “เทศกาลแห่งความปฏิกิริยาล้าหลัง”

แต่ในไอร์แลนด์เหนือ ยังไม่มีการยกเลิกกฏหมายห้ามทำแท้งหรือร่างกฏหมายที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ นักการเมืองล้าหลังโปรเตสแตนต์ยังไม่ถูกเขี่ยลงจากเวทีสักที แต่คนก้าวหน้ากำลังลุ้นว่าในไม่ช้าพวกนี้จะไม่สามารถต้านกระแสการปลดแอกทางเพศได้

ff7fb-woman

ส่วนในประเทศไทย สตรียังต้องรอวันที่จะมีการออกกฏหมายเลือกทำแท้งเสรี โดยที่ให้เป็นสิทธิปกติในระบบสาธารณสุขที่ปลอดภัยและไม่ต้องจ่ายเงิน คนก้าวหน้าในไทยจึงควรเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่กำลังเสนอตัวกันตอนนี้ ออกมาประกาศว่าจะสนับสนุนสิทธิทำแท้งเสรี