ใจ อึ๊งภากรณ์
สมัยนี้มักมีบางคนที่เสนอว่าในยุคเทคโนโลจีหุ่นยนต์ การผลิตต่างๆ จะไม่อาศัยคนงานอีกต่อไป และกรรมาชีพจะถูกปลดออกจากงานจนสูญพันธุ์หรืออ่อนแอ คนอีกส่วนหนึ่งเสนอว่าในสภาพเช่นนี้มนุษย์ทุกคนจะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานในการไปทำงานหรือการทำงานบ้าน
ข้อเสนอเหล่านี้ ซึ่งกลายป็นกระแสในสื่อมวลชน ล้วนแต่เป็นการพูดเกินเหตุ
ในประการแรกมันเป็นการพูดเกินเหตุเพราะการนำเทคโนโลจีสมัยใหม่เข้ามาในระบบการผลิตของทุนนิยม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในขั้นตอนแรกมีการนำพลังงานน้ำ และไอน้ำเข้ามาในการทอผ้าในโรงงานอุตสาหกรรมที่เมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลจีแบบนี้นำไปสู่การทำลายอาชีพของ “ช่างฝีมือ” ที่ทอผ้าด้วยมือที่บ้าน จนเกิดขบวนการทุบเครื่องจักร Luddites แต่ในที่สุดเทคโนโลจีใหม่ๆ ก็เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ ซึ่งเคยเป็นอาชีพแรกของผม ตอนที่ผมทำงานในปี 1978 การพิมพ์วารสารวิชาการยังใช้ระบบ “เหล็กร้อน” หรือ “ตัวพิมพ์แบบร้อน” คือคนจัดหน้าจะใช้เครื่องคล้ายๆ เครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งเชื่อมกับระบบหลอมโลหะที่ผลิตแม่พิมพ์ แต่ในเวลาไม่กี่ปีมีการนำระบบคอมพิวเตอร์และการถ่ายรูปมาสร้างแม่พิมพ์สมัยใหม่ ในยุคนั้นคนงานในออฟฟิสส่วนใหญ่จะใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำโต๊ะอย่างที่มีในปัจจุบัน
ในอดีตการทำงานต่างๆ ในออฟฟิส โรงพยาบาล หรือสถานที่การศึกษามักจะใช้ปากกากับกระดาษ แต่ตอนนี้แม้แต่งานในโรงพยาบาลของพยาบาลมักจะเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ที่เข็นไปหาคนไข้
ประเด็นสำคัญคือ การวิวัฒนาการของเทคโนโลจีสมัยใหม่ ที่เปลี่ยนลักษณะการทำงาน และลดจำนวนคนงานหรือเพิ่มผลผลิตในหลายสาขา ตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม มันต่างจากการนำหุ่นยนต์เข้ามาหรือไม่ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพที่เทียบเท่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมจริงหรือ? ผมว่าไม่ใช่ เพราะมันก็แค่ต่อยอดเทคโนโลจีคอมพิวเตอร์เพื่อยกระดับขึ้นอีกขั้นเท่านั้น
ในประการที่สองนายทุนผลิตอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีคนงาน หุ่นยนต์ทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีคนงานคอยคุม และคนงานต้องสร้างและซ่อมหุ่นยนต์เหล่านี้ แน่นอนมันเป็นโอกาสที่นายจ้างจะลดคนงานและผลิตสินค้าเร็วขึ้นในปริมาณสูงขึ้น แต่มันยังต้องมีการผลิตไฟฟ้า ขนส่งเครื่องหุ่นยนต์ไปสู่โรงงาน และก่อสร้างโรงงาน
นอกจากนี้งานในภาคบริการ เช่นโรงพยาบาล สถานที่การศึกษา ร้านค้า โรงแรม ร้านอาหาร หรือระบบไฟแนนส์กับธนาคาร ก็ยังต้องอาศัยมนุษย์
ที่สำคัญคือการลดจำนวนคนงานในสถานที่ต่างๆ เป็นสิ่งที่จะทำให้คนงานแต่ละคนมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างสูงขึ้น เพราะถ้ามีการจัดตั้งโดยสหภาพแรงงาน คนงานแค่สิบคนอาจทำให้ระบบการผลิตยุติได้ผ่านการนัดหยุดงาน
นอกจากนี้ถ้ามีการลดปริมาณงานที่คนต้องทำลง อันเนื่องจากการใช้หุ่นยนต์ จนทุกคนในสังคมไม่ต้องทำงานเต็มเวลาอีกต่อไป กรรมาชีพและสหภาพแรงงานต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ตัดชั่วโมงการทำงานให้ทุกคนโดยไม่ตัดค่าจ้างเลย เพราะนายทุนไม่มีวันอาสาที่จะทำอย่างนี้ นายทุนจะพึงพอใจที่จะจ้างคนงานน้อยลงและให้ที่เหลือตกงานและยากจน ดังนั้นมันอาจเป็นเวทีใหม่สำหรับการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อแย่งผลผลิตและมูลค่าในสังคม และในกรณีไทยชัวโมงการทำงานสูงเกินไปอยู่แล้ว นอกจากนี้รายได้ของคนธรรมดาต่ำเกินไป มันต้องมีการต่อสู้ที่นำโดยพรรคสังคมนิยมเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์จากคนข้างบนที่เป็นคนส่วนน้อย 1%
ในประการที่สาม การตัดจำนวนคนงานและการลงทุนเพิ่มในหุ่นยนต์จะทำให้บริษัทแข่งขันได้ดีขึ้น แต่มันเป็นเรื่องชั่วคราว เพราะในระยะยาวเมื่อบริษัทคู่แข่งลงทุนในเทคโนโลจีแบบเดียวกัน มันจะมีผลทำให้อัตรากำไรลดลง เนื่องจากกำไรมาจากความแตกต่างระหว่างค่าจ้างกับราคาสินค้า กำไรมาจากการขูดรีดแรงงาน หุ่นยนต์สร้างกำไรไม่ได้ มันได้แต่ช่วยคนงานให้ทำงานในลักษณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่ออัตรากำไรลดลงเศรษฐกิจก็จะเวียนเข้าสู่วิกฤตอีก เพราะนายทุนจะลังเลใจในการลงทุนและอาจสร้างภาวะฟองสบู่อีกด้วย เหมือนกับที่เกิดเป็นประจำในระบบทุนนิยมอยู่แล้ว
ทำไมเครื่องจักรสร้างกำไรไม่ได้
สำหรับคนที่ไม่เชื่อว่าเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์สร้างกำไรไม่ได้ จะขออธิบายเพิ่มโดยอาศัยทฤษฏีมูลค่าแรงงานของมาร์คซ์…. (อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2zozGbS )
มูลค่าทั้งปวงในโลกมาจากการทำงานของมนุษย์ในการแปรทรัพยากรธรรมชาติเป็นผลผลิตหรือสินค้า มูลค่าของสินค้าจะสะท้อนเวลาหรือปริมาณการทำงานของมนุษย์ในการผลิตสินค้าดังกล่าว นี่คือสิ่งที่ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าสินค้าอย่างปากกาแลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างหนังสือในปริมาณแค่ไหน
ราคาของเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ที่นายทุนลงทุนซื้อ จะสะท้อนปริมาณแรงงานที่ใช้ในการผลิตเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ และปริมาณแรงงานในอดีตที่ใช้ในการผลิตเครื่องมือที่ใช้ประกอบการผลิต เวลานายทุนใช้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ในการผลิตสินค้า ราคาของเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์จะค่อยๆ ถูกระบายไปในราคาของสินค้าและผู้ซื้อสินค้าจะจ่าย เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ที่นายทุนซื้อ สร้างกำไรหรือทำให้นายทุนขาดทุนไม่ได้
แต่เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์สามารถช่วยให้ลูกจ้างทำงานในลักษณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสำคัญสำหรับการแข่งขันในระบบตลาด
กำไรมาจากข้อแตกต่างระหว่างราคาขายของสินค้ากับเงินค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้าง หลังหักค่าวัตถุดิบรวมถึงสัดส่วนของราคาเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ นี่คือ “มูลค่าส่วนเกิน” ที่น่ายทุนขูดรีดมาจากแรงงาน
ดังนั้นกำไรมาจากการ “ขูดรีด” การทำงานของลูกจ้าง ไม่ได้มาจากเครื่องจักรซึ่งทำอะไรเองไม่ได้ถ้าไม่มีมนุษย์ นี่คือสาเหตุที่นายจ้างและรัฐของนายทุนพยายามกีดกันการนัดหยุดงาน การนัดหยุดงานทำให้การผลิตยุติและนายทุนจะไม่ได้กำไร
ส่วนเรื่องปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของอัตรากำไรเนื่องจากการลงทุนในเครื่องจักรที่สูงขึ้น เชิญอ่านที่นี่ https://bit.ly/2v6ndWf
สรุปแล้ว ในยุคเทคโนโลจีหุ่นยนต์ การผลิตต่างๆ จะไม่นำไปสู่สภาพที่ไร้คนงาน และการสูญพันธุ์หรือความอ่อนแอของกรรมาชีพ อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานควรจะต่อสู้กับนายทุน เพื่อให้ผลของเทคโนโลจีใหม่ ที่ลดจำนวนคนงาน มีผลดีกับประชาชนในการลดชั่วโมงการทำงานอย่างถ้วนหน้าพร้อมกับการรักษารายได้ที่ดี