Tag Archives: องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติ

อียิปต์ ประชาชนเริ่มหายกลัว

ใจ อึ๊งภากรณ์

การประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีนายพล เอล์ซิซี ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาในเมืองไคโร อะเล็กซานเดรีย และสุเอซ เป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมัวที่ปกคลุมประเทศอียิปต์มาตั้งแต่ปี 2013 หลังจากที่การปฏิวัติลุกฮือ “อาหรับสปริง” ถูกทำลายโดยกองทัพ

7431bdc60584405eafdb3b144857fc1c_18

ในเมืองมาฮาลา ซึ่งเป็นเมืองที่มีย่านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็มีการประท้วงเช่นกัน มาฮาลา เคยเป็นศูนย์กลางการประท้วงของกรรมาชีพที่ล้มมูบารัคใน“อาหรับสปริง”

ตั้งแต่กรกฏาคมปี 2013 เมื่อกองทัพไฮแจ๊กการประท้วงที่ต่อต้านประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม และก่อรัฐประหารเพื่อตั้งคณะทหารเผด็จการ ตามด้วยการเลือกตั้งนายพล เอล์ซิซี หัวหน้ากองทัพ เป็นประธานาธิบดีท่ามกลางความสับสนของประชาชน รัฐบาลได้จับนักโทษการเมืองเข้าคุก 40,000 คน และฆ่าประชาชนกว่า 3000 คน นอกจากนี้ประชาชนหลายร้อยคนก็ “หายไป”

77937380100387640360no
ทรราชอียิปต์ได้รับคำชมจากประธานาธิบดีสหรัฐ

ปัจจุบันนี้อียิปต์มีรัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา” ไม่ต่างจากไทย เพราะกองทัพใช้กลไกต่างๆ เพื่อโกงการเลือกตั้ง แต่ข้อแตกต่างจากไทยคือตอนนี้เริ่มมีการชุมนุมของมวลชนบนท้องถนนท่ามกลางการปราบปรามอย่างโหดร้ายของทหาร ที่ใช้ทั้งก๊าซน้ำตา กระสุนยาง และกระสุนจริง

combo-egypt-protest-politics_9c9ab2e4-ddea-11e9-a910-fb95b571a1f5

สิ่งที่จุดประกายการลุกฮือครั้งนี้ในอียิปต์ คือการใช้อินเตอร์เน็ดและโซเชียลมีเดีย เพื่อเปิดโปงการคอรรับชั่นของประธานาธิบดีนายพล เอล์ซิซี  โดยนักธุรกิจชื่อ มูฮัมหมัด อาลี ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ มีการปลุกระดมให้คนออกมาประท้วง

แต่เบื้องหลังความโกรธแค้นของประชาชนที่นำไปสู่การลุกฮือครั้งนี้คือสภาพเศรษฐกิจ และการขาดสิทธิเสรีภาพโดยสิ้นเชิง

Protests-break-out-in-Egypt-calling-for-Sisis-removal

รัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา” ของทหารอียิปต์ ได้ใช้นโยบายรัดเข็มขัดตามแนวเสรีนิยมสุดขั้วขององค์กร ไอเอ็มเอฟ มาตั้งแต่ปี 2016 ผลคือประชาชนหนึ่งในสามมีสถานภาพต่ำกว่าเส้นความยากจน คือมีรายได้น้อยกว่า US$1.40 ต่อวัน

เนื่องจาก มูฮัมหมัด อาลี เคยเป็นนักธุรกิจที่ร่วมมือกับเผด็จการทหารแล้วแตกแยกกับพวกนั้น วัตถุประสงค์ของเขาคงจะไม่ใช่เพื่อสร้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพให้กับคนส่วนใหญ่ แต่วิดีโอที่เขาโพสต์ในอินเตอร์เน็ด กลายเป็นชนวนที่ทำให้คนตัดสินใจที่จะออกมาประท้วง

5f9e5-revsoa2statement

“องค์กรสังคมนิยมปฎิวัติอียิปต์” ได้ออกแถลงการณ์ชื่นชมความกล้าหาญของประชาชนที่ออกมาประท้วง และตั้งข้อสังเกตว่าประชาชนเริ่มหายกลัว แต่ที่สำคัญคือประชาชนจะต้องจดจำบทเรียนจากการลุกฮือคราวที่แล้ว โดยเฉพาะตอนที่มีการขับไล่ประธานาธิบดี มูรซี่ เพราะในสถานการณ์แบบนี้มักจะมีคนฉวยโอกาสยึดอำนาจ แทนที่อำนาจจะตกอยู่ในมือประชาชน สิ่งที่ควรจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการประท้วงครั้งนี้คือการผลักดันให้ทหารออกจากรัฐบาลและการเมืองโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ขับไล่นายพล เอล์ซิซี คนเดียว

สองปีหลังการลุกฮือ “อาหรับสปริง” ประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม ปกครองประเทศแต่ไม่ทำอะไรเพื่อเปลี่ยนระบบ และหันไปจับมือกับทหารและสหรัฐอเมริกา ประชาชนจำนวนมากจึงออกมาแสดงความไม่พอใจกับรัฐบาลในปี 2013 แต่ในยุคนั้นประชาชนจำนวนมากถูกหลอกให้ไว้ใจกองทัพ ซึ่งในที่สุดก็ยึดอำนาจและหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคเผด็จการก่อนปี 2011

คราวนี้มวลชนไม่ควรไว้ใจใครที่มาจากกลุ่มอำนาจเก่าหรือกลุ่มนักธุรกิจ ประชาชนต้องนำตนเองจากรากหญ้า แต่ต้องมีการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อสร้างการนำและเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้มีแต่การลุกฮือตามธรรมชาติที่ไร้การจัดตั้ง

พวกเราในประเทศไทยที่กำลังต้านเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ควรศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์และที่อื่นอย่างดี และไม่หลงเชื่อว่าการค้านรัฐบาลในรัฐสภา หรือการตั้งความหวังกับ “ผู้ใหญ่” หรือนักธุกิจ จะนำไปสู่การสร้างสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2m88j1w  และ  https://bit.ly/2l6NZgJ

จะล้มเผด็จการอียิปต์ได้อย่างไร?

สัมภาษณ์สมาชิกองค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์

ตอนนี้เราเผชิญหน้ากับเผด็จการปฏิวัติซ้อนที่ป่าเถื่อนที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอียิปต์ ตั้งแต่กรกฏาคมปี 2013 เมื่อกองทัพไฮแจ๊กการประท้วงที่ต่อต้านประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม และก่อรัฐประหารเพื่อตั้งคณะทหารเผด็จการ ตามด้วยการเลือกตั้งนายพล เอล์ซิซี หัวหน้ากองทัพ เป็นประธานาธิบดีท่ามกลางความสับสนของประชาชน รัฐบาลได้จับนักโทษการเมืองเข้าคุก 40,000 คน และฆ่าประชาชนกว่า 3000 คน นอกจากนี้ประชาชนหลายร้อยคนก็ “หายไป”

มันชัดเจนว่าการปฏิวัติซ้อนครั้งนี้เป็นการรื้อฟื้นระบบเก่าที่ถูกล้มจากการลุกฮือ “อาหรับสปริง” มีการปล่อยบุคคลจากระบบเก่าที่เคยโดนจับ และรัฐบาลของ เอล์ซิซี ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนภายในประเทศและจากตะวันตกด้วย

ในแง่หนึ่งการที่เราต้องยอมรับความพ่ายแพ้ของการปฏิวัติ เป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลาเพื่อทำใจ จริงๆ แล้วเราน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่การทำรัฐประหารเพื่อช่วงชิงอำนาจท่ามกลางการประท้วงต้าน มูรซี่

ถ้ามองย้อนกลับไปเราจะเข้าใจได้ว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนของรัฐบาลกับทหารในยุคนี้ เป็นการแก้แค้นปราบปรามขบวนการปฏิวัติทั้งหมด ไม่ใช่แค่การปราบพรรคมุสลิม ความโหดร้ายของชนชั้นปกครองเห็นได้จากการเข่นฆ่าประชาชนในเดือนสิงหาคม 2013 เพราะภายในเวลาแค่สามชั่วโมงมีประชาชนตายมากกว่า 1000 คน หลังจากนั้นไม่มีใครกล้าออกมายึดจตุรัสกลางเมืองต่างๆ เหมือนเมื่อก่อน

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรหดหู่ เราควรมองโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่า คือขบวนการแรงงานกรรมาชีพ อาจอ่อนแอกว่าเดิม และผู้นำส่วนหนึ่งอาจหักหลังสมาชิกโดยการร่วมมือกับทหาร แต่ขบวนการแรงงานยังไม่ถูกทำลาย คนงานที่โรงเหล็ก “เฮลวาน” กำลังนัดหยุดงานอยู่ทุกวันนี้และรัฐบาลไม่กล้าปราบหนัก แบบที่ปราบขบวนการทางการเมือง นอกจากนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติล้ม มูบารัก  เขาได้ผ่านการเรียนรู้ยาวนาน เขามีประสบการณ์ชัยชนะและความพ่ายแพ้ เขาเรียนรู้วิธีการจัดตั้งและวิธีสู้กับตำรวจ ประสบการณ์เหล่านี้เป็นคลังความรู้สำหรับการต่อสู้รอบใหม่ในอนาคต

สภาพปัจจุบันมีเสถียรภาพชั่วคราวเท่านั้น เพราะตะวันตกและรัฐอาหรับในอ่าว สนับสนุนรัฐบาลอียิปต์ ด้วยเงินทุน แต่ปัญหาระยะยาวยังคงอยู่ เช่นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจุดประกายการปฏิวัติแต่แรก นอกจากนี้การที่หลายคนหมดความหวังกับขบวนการ “อาหรับสปริง” ทำให้คนหันไปสนับสนุนกองกำลัง “ไอซิล” เพื่อหาทางออก มันสร้างความวุ่นวายทั่วตะวันออกกลาง

เราต้องเข้าใจว่าในยุคปัจจุบัน การลุกฮือรอบต่อไปของการปฏิวัติอียิปต์อาจใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะเกิด ในเวลาที่เรารอเราต้องเตรียมตัวด้วยการสร้างองค์กรพรรคปฏิวัติ ในช่วงล้ม มูบารัก เราได้รับบทเรียนว่าองค์กรของเราเล็กเกินไปที่จะช่วงชิงการนำจากคนที่สนับสนุนพรรคมุสลิม หรือคนที่หลงไว้ใจกองทัพ เราเล็กเกินไปที่จะผลักดันให้มีการเชื่อมโยงระหว่างขบวนการประท้วงกับขบวนการแรงงานด้วย

เราต้องสร้างองค์กรปฏิวัติที่มีขนาดใหญ่ ก่อนที่การปฏิวัติจะเกิดขึ้นอีก ถ้าเรามัวแต่นิ่งเฉย รอสร้างพรรคท่ามกลางการปฏิวัติ เราจะต้านกระแสที่แรงกว่าไม่ได้

ฉนั้นตอนนี้เราต้องลงมือจัดตั้งคนหนุ่มสาวและคนงานกรรมาชีพอย่างเป็นระบบ เราต้องเน้นการพัฒนาการศึกษาภายในองค์กร และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและแรงงานเมื่อมันเกิดขึ้น นอกจากนี้เราต้องหาทางเชื่อมโยงกับผู้ถูกกดขี่ในสังคม เช่นสตรี กลุ่มคนคริสเตียน และคนเบดูวิน เพราะรัฐบาลจะคอยสร้างภาพว่ากำลังเอาใจพวกนี้ เพื่อเบี่ยงเบนการต่อสู้

ถ้าเราเตรียมงานดี การปฏิวัติอียิปต์จะมีอนาคต

การปฏิวัติอียิปต์ ปัญหาการนำ

ในงาน “มาร์คซิสม์ 2014” ผู้แทนของ “องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์” เล่าให้นักสังคมนิยมอังกฤษฟังถึงปัญหาการนำทางการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ทหารทำรัฐประหารและชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี

รากกำเนิดของปัญหา เริ่มตั้งแต่การล้ม มูบารัก เพราะในตอนนั้นทั้งๆ ที่กระแสการชุมนุมถูกเริ่มต้นโดยนักปฏิวัติและคนหนุ่มสาว เมื่อดูเหมือนว่า มูบารัก จะแพ้ และอาจมีการลามไปสู่การล้มรัฐเก่าของชนชั้นปกครอง พวกสายปฏิรูปก็ก้าวเข้ามา ในขณะเดียวกันกลุ่มปฏิวัติต่างๆ เล็กเกินไปที่จะแข่งแนวกับพวกนี้ได้

องค์กรทางการเมืองที่เป็นสายปฏิรูปเหล่านี้มีสองกลุ่มคือ พรรคมุสลิม และฝ่ายซ้ายเก่าที่ออกแนวชาตินิยม ซึ่งรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย พวกนี้อยากเห็น มูบารัก ออกไป แต่ไม่เคยสู้อย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญคือ พอ มูบารัก ถูกล้ม เขาเข้ามาเพื่อระงับกระแสปฏิวัติ สิ่งที่เขาต้องการคือการมีส่วนร่วมในรัฐผ่านการเลือกตั้ง โดยไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เขาเลยหันมาปกป้องรัฐ

ในสภาพเช่นนี้ ฝ่ายปฏิกิริยาในอียิปต์ เช่นพรรคพวกเก่าของ มูบารัก และพวกทหาร ก็เริ่มวางแผนเพื่อทำการปฏิวัติซ้อนและกลับคืนสู่อำนาจ ในช่วงแรกพวกนี้ปลด มูบารัก เพื่อการสังเวยและให้เป็นแพะรับปาบแทนพวกเขา เพราะมองเห็นว่าการลุกฮือต้านรัฐบาลมีพลังมาก โดยเฉพาะเมื่อคนงานทั่วประเทศนัดหยุดงาน

หลังจากที่พรรคมุสลิมชนะการเลือกตั้ง และ มูรซี่ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีใหม่ พรรคมุสลิมก็เริ่มจับมือกับทหารและสหรัฐอเมริกา และหันมาปราบปรามนักสังคมนิยมแนวปฏิวัติ กลุ่มคนหนุ่มสาว และสหภาพแรงงานที่กล้าต่อสู้ ดังนั้นจะเห็นว่าระหว่างปี 2011 ถึง 2013 ความขัดแย้งหลักกลายเป็นการปะทะกันระหว่างสายปฏิรูปกับสายปฏิวัติ แต่ที่น่าเสียดายคือคนหนุ่มสาวสายปฏิวัติ ยกเว้น“องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์” ปล่อยให้ขบวนการแรงงานถูกปราบและข่มขู่โดยที่ไม่ทำอะไร ทั้งนี้เพราะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เคยไปชุมนุมที่จตุรัส ทาห์เรีย ไม่เข้าใจเรื่องชนชั้นและความสำคัญของขบวนการแรงงาน

สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความห่างเหินระหว่างแรงงานกับสายปฏิวัติส่วนใหญ่ และนำไปสู่สภาพที่พรรคมุสลิมทำหน้าที่ปราบสายปฏิวัติแทนพวกอำนาจเก่า

ดังนั้นเมื่อประชาชนเป็นล้านๆ เริ่มไม่พอใจกับนโยบาย “ไม่เปลี่ยนอะไร” ของประธานาธิบดี มูรซี่ และการใช้อำนาจเผด็จการของเขา ฝ่ายอำนาจเก่าก็ถือโอกาสเขี่ยพรรคมุสลิมออกไป พวกนี้ฉวยโอกาสไฮแจกขบวนการต้านรัฐบาลแล้วทำรัฐประหาร ที่น่าเสียดายด้วยคือฝ่ายซ้ายปฏิรูปที่ออกแนวชาตินิยม ก็ออกมาเชียร์ทหาร และมีผู้นำสหภาพแรงงานบางคนเข้าไปร่วมมือกับทหารด้วย

ทหารและกลุ่มอำนาจเก่า “ใช้แล้วทิ้ง” พวกสายปฏิรูปทั้งหลาย และปราบปรามพรรคมุสลิมอย่างหนัก จนในที่สุดสามารถใช้กลไกเลือกตั้งเพื่อให้นายพล ซีซิ ขึ้นมาเป็นประธานาธบดีได้ พวกประจบสอพลอก็พากันชื่นชมนายพลคนนี้ว่าเป็น “ท่านผู้นำที่เซ็กซี่ที่สุดในโลก”

ในอียิปต์ตอนนี้มีนักโทษการเมือง 41,000 คน และหลายคนกำลังจะถูกประหารชีวิต มีการทรมานนักโทษในคุกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงพ่ายแพ้ชั่วคราวของการปฏิวัติ มันมีสิ่งที่เป็นความหวังสามประการคือ ปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำที่นำไปสู่การลุกฮือล้ม มูบารัก ยังไม่ถูกแก้ไขเลย ขบวนการแรงงานยังมีพลัง และคนหนุ่มสาวที่สนับสนุนแนวปฏิวัติสังคมนิยมก็เพิ่มขึ้น

ภารกิจหลักของนักสังคมนิยมปฏิวัติในช่วงนี้ คือการสร้างพรรคปฏิวัติเพื่อเสนอการนำที่จะล้มอำนาจเก่า และการจับมือเชื่อมโยงกับขบวนการแรงงาน มันเป็นภารกิจที่ต้องค่อยๆ ทำภายใต้สภาวะเผด็จการเพื่อรอวันข้างหน้า และเพื่อหวังว่าเมื่อมีการลุกฮืออีกครั้ง สายปฏิวัติจะมีอิทธิพลมากกว่าพวกที่พาสังคมไปยอมจำนน