Tag Archives: อังกฤษ

วิกฤตการเมืองกระแสหลักในยุโรป ไม่ใช่วิกฤตสำหรับมาร์คซิสต์

ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมโลกในปี 2008 การใช้มาตรการเสรีนิยมกลไกตลาดของรัฐบาลพรรคกระแสหลักในประเทศต่างๆ ของยุโรป นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองของพรรคกระแสหลักในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป เพราะทุกพรรคส่งเสริมการโยนภาระการแก้วิกฤตไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพ ผลคือคนจำนวนมากเดือดร้อนจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก สิ่งที่เข้ามาเสริมอีกคือความไม่พอใจกับมาตรการต่างๆ ที่ไม่เพียงพอในการปกป้องประชาชนจากโควิด

ปรากฏการณ์นี้มีการตั้งชื่อว่าเป็น “การล่มสลายของการเมืองเสรีนิยมที่มีจุดยืนกลางๆ ระหว่างซ้ายกับขวา” เราต้องเน้นว่าแนว “เสรีนิยมกลางๆ” ดังกล่าว ที่ล่มสลายไป ไม่ใช่อะไรที่ก้าวหน้าแต่อย่างใด แต่เป็นแนวที่ถือผลประโยชน์กลุ่มทุนเป็นหลัก มีการใช้เงินรัฐอุ้มกลุ่มทุน แต่ตัดสวัสดิการและระดับค่าจ้าง เพื่อจ่ายหนี้รัฐ และมีการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน ซึ่งช่วยทำลายรัฐสวัสดิการ และเราต้องเน้นว่านโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยพรรคนายทุน และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป ในทุกประเทศ เวลาเราพูดถึง “ฝ่ายซ้าย” เราไม่สามารถรวมพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูปในนั้น

แม้แต่ในประเทศที่พรรคกระแสหลักยังเป็นรัฐบาลอยู่ เช่นในเยอรมันกับอังกฤษ จะเห็นว่าคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของพรรคนายทุนบวกกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป ซึ่งเคยสูงถึง 80% กลับลดลงอย่างน่าใจหาย

มันมีสองกระแสใหม่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นคือ กระแสฝ่ายซ้าย และกระแสฝ่ายขวาเหยียดเชื้อชาติ ทั้งสองกระแสนี้มาจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008  ซึ่งทำให้คนจำนวนมากจนลงและตกงาน มันนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เพราะประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าพรรคการเมืองเก่าไม่สนใจที่จะเป็นตัวแทนของเขา ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อน และแถมซ้ำเติมด้วยนโยบายรัดเข็มขัด ตอนนี้ทั่วยุโรปจึงมีวิกฤตทางการเมืองที่ปะทะกับความชอบธรรมเก่าของพรรคกระแสหลัก

นักมาร์คซิสต์ทราบดีว่า เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ที่นำไปสู่ความไม่พอใจในพรรคการเมืองกระแสหลัก ประชาชนจะไปทางขวาสุดขั้วก็ได้ หรือจะไปทางซ้ายแบบสังคมนิยมก้าวหน้าก็ได้ และมันไม่มีอะไรอัตโนมัติ ถ้าฝ่ายซ้ายไม่เคลื่อนไหวและปลุกระดม คนจำนวนมากจะไปฟังนักการเมืองขวาสุดขั้วแทน ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายประเทศ ในกรีซและสเปน มีการขยายคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายสังคมนิยม ในฝรั่งเศส ออสเตรีย และฮังการี่ มีการขยายตัวของฝ่ายขวาฟาสซิสต์ และทั่วยุโรปทัศนะเหยียดคนต่างชาติกำลังปะทะกับทัศนะฝ่ายซ้ายที่พยายามสมานฉันท์กับคนทุกเชื้อชาติ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3x298t6 ]

วิกฤตในประเทศกรีซ นำไปสู่การเลือกพรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ซึ่งสัญญาว่าจะต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของประชาชน นโยบายนี้สั่งลงมาจากกลุ่มอำนาจในอียู คือธนาคารกลาง กรรมการบริหารอียู และไอเอ็มเอฟ เมื่อรัฐบาลไซรีซาจัดประชามติว่าจะรับหรือไม่รับนโยบายดังกล่าวของอียู ประชาชนจำนวนมากลงคะแนนเสียงไม่รับ แต่รัฐบาลกลับหักหลังประชาชน แล้วไปเจรจารับนโยบายรัดเข็มขัดแทน โดยใช้ข้ออ้างว่าโดนกดดันอย่างหนักจากกลุ่มทุนใหญ่ในอียูและรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามพรรคไซรีซาไม่กล้าพากรีซออกจากสกุลเงินยูโรเพื่อลดอิทธิพลของอียู และไม่กล้าใช้พลังมวลชนเพื่อเปลี่ยนระบบ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3ntNBq8%5D

กรีซ

ความไม่พอใจต่อวิกฤตเศรษฐกิจและนโยบายรัดเข็มขัดในสเปน นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของเยาวชนกลางเมือง เพราะอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงมาก ในการเลือกตั้งต่อจากนั้นพรรคกระแสหลักเสียคะแนนเสียงมากจนไม่มีพรรคไหนสามารถตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ผลก็ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายซ้ายโพดามอส ที่เพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก กลับเสียคะแนนเล็กน้อย สาเหตุสำคัญคือการที่แกนนำพรรคมีพฤติกรรมสองจิตสองใจตลอดเวลาว่าจะผลักดันนโยบายก้าวหน้าหรือไม่ เช่นเรื่องการคัดค้านการรัดเข็มขัด หรือการรณรงค์ให้รัฐต่างๆ ในสเปนมีความอิสระมากขึ้น พรรคนี้เติบโตมาเพราะสะท้อนกระแสต้านนโยบายเสรีนิยม และสะท้อนความไม่พอใจของคนหนุ่มสาว

ในสถานการณ์วิกฤตหนัก ฝ่ายซ้ายในกรีซและสเปนถูกทดสอบอย่างหนัก และผลคือสอบตก เพราะในสเปนพรรคโพเดมอสในที่สุดไปเข้ารัฐบาลกับพรรคสังคมนิยมปฏิรูปและผลักดันแนวเสรีนิยมกลไกตลาด และในกรีซพรรคไซรีซาก็หักหลังประชาชนจนในที่สุดแพ้การเลือกตั้ง

ในกรณีฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เป็นผู้นำฝ่ายขวากระแสหลักที่สร้างพรรค “ใหม่”หลังจากการล่มสลายของพรรคนายทุนกับพรรคสังคมนิยมปฏิรูป มาครงมุ่งหน้าพยายามทำลายฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนผู้ทำงาน และทำลายสิทธิของสหภาพแรงงานจนเกิดการนัดหยุดงานทั่วประเทศกับการประท้วงของขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง รัฐบาลของเขาใช้นโยบายรัดเข็มขัดกับประชาชนธรรมดา แต่ตัว มาครง เองก็ใช้เงินภาษีประชาชนเพื่อซื้อชุดกินข้าวหรูราคาเป็นแสน และสั่งสร้างสระว่ายน้ำในทำเนียบฤดูร้อน นอกจากนี้เขาพร้อมจะคบจับมือกับทรราชรอบโลก และใช้นโยบายเหยียดสีผิวเชื้อชาติ ซึ่งไปให้กำลังใจกับพรรคฟาสซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน

Le Pen ในฝรั่งเศส

ในอิตาลี่วิกฤตทางการเมืองไม่ต่างจากที่อื่น เพียงแต่มีเรื่องการโกงกินคอร์รับชั่นเข้ามาเป็นปัจจัยเสริม ท่ามกลางการล่มสลายของพรรคกระแสหลัก ซึ่งเราต้องรวมพรรคคอมมิวนิสต์ในนั้นเพราะแปรไปเป็นพรรคเสรีนิยม พรรคใหม่ๆ เช่นพรรคห้าดาว และพรรคฟาสซิสต์ก็เพิ่มคะแนนเสียง

ในเยอรมัน รัฐบาลผสมระหว่างพรรคนายทุน CDU และพรรคสังคมประชาธิปไตย SPD เสียคะแนนเสียงอย่างต่อเนื่องจนแนวร่วมระหว่างสองพรรคนี้พัง ขณะนี้พรรค SPD สร้างแนวร่วมกับพรรคกรีนเพื่อตั้งรัฐบาล แต่พรรคฟาสซิสต์ก็ขยายฐานเสียง ส่วนพรรคฝ่ายซ้าย Die Linke ที่เคยเพิ่มคะแนนหลังวิกฤตปี2008 มีปัญหาเพราะคะแนนเสียงลดลงอันเนื่องมาจากการทำแนวร่วมกับพรรคกระแสหลักในรัฐต่างๆ และสนับสนุนนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด

ในอังกฤษกระแสที่เห็นชัดคือการขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแรงงานของคอร์บิน ซึ่งในตอนแรกประชาชนจำนวนมากตื่นเต้นกับนโยบายซ้ายๆ ของเขาจนเกือบชนะการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นพวก สส.ฝ่ายขวาในพรรคแรงงานกดดันให้เขาเปลี่ยนจุดยืนและเอียงไปทางขวา ซึ่งทำให้แพ้การเลือกตั้งในที่สุด [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3kQAZrq ]

ปรากฏการณ์ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เห็นได้ชัดจากผลประชามติอังกฤษด้วย เพราะคนที่ลงคะแนนให้อังกฤษ “ออก” มีแนวโน้มจะยากจนและอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่อุตสาหกรรมเก่าถูกทำลาย มันมีกระแสเหยียดเชื้อชาติที่ถูกปลุกระดมโดยนักการเมืองฝ่ายขวาทั้งสองฝ่าย คือพวกที่สนับสนุนอียูและพวกที่อยากออก แต่สาเหตุหลักที่คนจำนวนมากโหวดออกก็เพราะทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อไปแบบเดิม

ข้อสรุปสำคัญสำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ จากวิกฤตการเมืองในยุโรปคือ ถ้าพรรคฝ่ายซ้ายไปประนีประนอมกับนโยบายทุนนิยมกลไกตลาดเสรี อย่างเช่นในกรีซ สเปน เยอรมัน หรืออังกฤษ มันจะนำไปสู่ความหายนะ และถ้าไม่มีการสร้างขบวนการต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว พวกฟาสซิสต์มีโอกาสโตได้ ตัวอย่างที่แย่ที่สุดคือกรณีฝรั่งเศส ซึ่งต่างจากอังกฤษที่มีขบวนการดังกล่าว

การสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติแนวมาร์คซิสต์ เป็นสิ่งที่ทำได้ในทุกประเทศและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้เราเผชิญหน้ากับสามวิกฤตที่มาจากลักษณะของระบบทุนนิยม คือวิกฤตโลกร้อน วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด ซึ่งนักการเมืองกระแสสหลักไม่มีวันแก้ปัญหาที่เกิดจากสามวิกฤตนี้ได้ เพราะยึดติดกับกรอบของระบบทุนนิยม [อ่านเพิ่ม สามวิกฤตของทุนนิยม https://bit.ly/2XKQ69L ]

ทุกวันนี้กระแสการต่อสู้และความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นในทุกที่ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/30EsGaG  ] และนี่คือสิ่งที่สร้างความหวังให้กับนักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ โดยเฉพาะในเครือข่าย IST (International Socialist Tendency) เราไม่หดหู่เหมือนพวกที่หลงใหลในระบบการเลือกตั้ง หรือแนวเสรีนิยม เราเป็นนักปฏิวัติที่สู้เพื่อการปฏิรูปอย่างถึงที่สุด

ใจ อึ๊งภากรณ์

สหรัฐกับอังกฤษพ่ายแพ้ในอัฟกานิสถาน ฝ่ายซ้ายคิดอย่างไร?

ในอัฟกานิสถานเราเห็นความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกท่ามกลางการเสียชีวิตของคนจำนวนมากในรอบ20ปีของการแทรกแซง เราดีใจที่สหรัฐและอังกฤษแพ้ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราสนับสนุนตาลิบัน ซึ่งเป็นขบวนการฝ่ายขวาคลั่งศาสนา แต่ในการปลดแอกประชาชนจากตาลิบัน ประชาชนต้องทำเอง คนอื่นทำให้ไม่ได้ เพราะถ้าคนอื่นทำให้มันก็กลายเป็นการแทรกแซงโดยจักรวรรดินิยมอีกรอบไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติหรือสหรัฐ

เราต้องเน้นว่าโศกนาฏกรรมของอัฟกานิสถานเป็นสิ่งที่เกิดจากการแทรกแซงของจักรวรรดินิยม

จักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มสงครามในประเทศอัฟกานิสถานโดยใช้ข้ออ้างในการก่อสงครามจากการถล่มตึกเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ในการทำสงครามครั้งนี้สหรัฐอ้างว่าทำเพื่อกำจัดการก่อการร้าย โดยเฉพาะองค์กรอัลเคดาที่แอบอยู่ในประเทศ และทั้งๆ ที่รัฐบาลตาลิบันเสนอว่าพร้อมจะขับไล่อัลเคดาออกไป แต่สหรัฐไม่สนใจ ในที่สุดสงครามของสหรัฐและอังกฤษได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศหนึ่งที่ยากจนที่สุดในโลกและทำให้ผู้คนบริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมากกว่าที่ล้มตายในนิวยอร์คแต่แรก  เพราะฉนั้นถ้าหากเราต้องการมองเห็นต้นตอสาเหตุของสงครามที่แท้จริง   เราต้องมองว่าสงครามครั้งนี้เกี่ยวข้องกับระบบจักรวรรดินิยมของทุนนิยมอย่างแยกไม่ออก

ในยุคหลังความพ่ายแพ้ของสหรัฐในสงครามเวียดนาม สหรัฐที่เคยเป็นเจ้าโลก เริ่มถูกมองว่าอ่อนแอลงทั้งทางกำลังทหารและเศรษฐกิจ รัฐบาลสหรัฐจึงต้องการฟื้นความเป็นใหญ่ของสหรัฐผ่านการทำสงครามให้ชาวโลกเห็น

สื่อต่าง ๆ  พยายามนำเสนอว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสรีภาพ ตามที่มีนักคิดฝ่ายขวา ชื่อ Samuel  P. Huntington  เคยเสนอไว้ในหนังสือชื่อ  ” The clash of civilizations ”  (ซึ่งแปลว่าการปะทะกันทางอารยธรรม)  เขาเสนอว่าหลังยุคสงครามเย็นจะมีการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับตะวันออก  ระหว่างคริสต์กับอิสลาม ระหว่างประชาธิปไตยเสรีกับเผด็จการอิสลาม แต่ในความเป็นจริงสหรัฐและประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ ไม่เคยมีหลักการณ์ในนโยบายต่างประเทศเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพ เพราะบ่อยครั้งสนับสนุนการทำรัฐประหารของฝ่ายขวา หรือไปจับมือกับรัฐอิสลามล้าหลังสุดขั้วอย่างซาอุดิอาระเบีย

ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น  จะเห็นว่ามีประเด็นทางเศรษฐกิจที่เป็นประเด็นหลักในการเกิดสงครามครั้งนี้  แม้ว่าประเทศอัฟกานิสถานจะไม่มีทรัพยากรให้กอบโกย  แต่ประเทศรอบข้างในแถบตะวันออกกลางนั้นมีบ่อน้ำมันเป็นจำนวนมาก  และประเทศอัฟกานิสถานก็เป็นประตูสู่ประเทศในแถบตะวันออกกลาง  ซึ่งมีการแย่งชิงผลประโยชน์ในเรื่องบ่อน้ำมันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาจนถึงสงครามอ่าวเพอร์เซีย  ทำให้เราตัดสินได้ว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามจักรวรรดินิยม  ที่มีจักรวรรดินิยมรายใหญ่อย่างสหรัฐและพันธมิตรเป็นผู้เข้ารุมประเทศอัฟกานิสถาน  เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในโลกทางทหารซึ่งเชื่อมไปสู่ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจในเวทีโลก

จักรวรรดินิยมตะวันตกไม่ใช่กลุ่มมหาอำนาจเดียวที่แทรกแซงอัฟกานิสถาน ก่อนหน้าที่ตะวันตกจะบุกเข้าไปจักรวรรดินิยมรัสเซียก็เคยแทรกแซงและในที่สุดพ่ายแพ้ต้องถอนทหารออกไป ในยุคนั้นสหรัฐแอบสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ที่สู้กับรัสเซียรวมถึงตาลิบันด้วย

ตาลิบันเกิดขึ้นในรูปแบบขบวนการกู้ชาติของนักศึกษาในวิทยาลัยอิสลามแนวอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมจึงมีแนวคิดปฏิกิริยา กลุ่มนี้ยึดอำนาจได้ก่อนที่ตะวันตกจะบุกเข้ามา เพราะรัฐบาลขอกลุ่มขุนศึกต่างๆ ที่ครองอำนาจหลังจากที่รัสเซียถอนออกไป ล้วนแต่มีการแย่งชิงผลประโยชน์กันและเต็มไปด้วยการคอรรับชั่น

ความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกในอัฟกานิสถานเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยลดอิทธิพลของกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่จะไปก่อสงครามและแทรกแซงประเทศต่างๆ

ในเรื่องของสถานภาพสตรีในอัฟกานิสถาน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตาลิบันกดขี่สตรี แต่การแทรกแซงของตะวันตกไม่เคยทำไปเพื่อปลดแอกสตรี เพราะไม่เคยสนใจที่จะปลดแอกสตรีในประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย และภายในสหรัฐและประเทศตะวันตกอื่นๆ ใช่ว่าจะไม่มีการกดขี่ทางเพศ

เหตุการณ์ในประเทศอัฟกานิสถานแสดงให้เห็นว่าระบบทุนนิยม  เป็นต้นเหตุความรุนแรง ทั้งในรูปแบบการก่อการร้ายของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่แต่ไร้พลัง และการทำสงครามของมหาอำนาจ แทนที่จะเน้นการผลิตเพื่อการบริโภคอย่างเท่าเทียม ทุนนิยมกลับไปเน้นการแย่งชิงทรัพยากร การกอบโกยกำไร และผลิตอาวุธ และคนที่ไปรบและเสียชีวิตส่วนมากก็เป็นประชาชนคนจนในทุกประเทศรวมถึงในสหรัฐด้วย

สหประชาชาติไม่ใช่คำตอบ หลายคนอาจคิดว่าสันติภาพหรือความสงบสุขของโลกใบนี้มาจากสหประชาชาติ แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  เพราะประเทศที่มีอิทธิพลและอำนาจในการกำหนดนโยบายของสหประชาชาติก็ล้วนแต่เป็นประเทศจักรวรรดินิยมรายใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น อย่างเช่น สหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส ความเป็นกลางจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

จุดยืนนักมาร์คซิสต์ต่อสงครามโดยทั่วไป

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นกับโลกภายใต้ระบบทุนนิยม  ใช่ว่าทุกคนบนโลกจะเห็นด้วยหรือจะอยู่เฉย ๆ โดยดูได้จากจำนวนคนที่ต่อต้านสงครามอัฟกานิสถาน อย่างเช่น ที่ประเทศอินเดียออกมาประท้วง 100,000 คน  อิตาลี 300,000 คน ญี่ปุ่น 5,000 คนและสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมด้วย อังกฤษ 100,000 คน รวมถึงในไทยด้วยตัวอย่างเช่นกลุ่มมุสลิมที่ออกมาต่อต้านสงครามหลายหมื่นคน

เราจะเห็นว่ามีผู้คนจำนวนมหาศาลที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม  และที่สำคัญสงครามแต่ละครั้งหยุดได้เพราะมีการรวมตัวกันและออกมาต่อต้าน เช่น สงครามเวียดนามที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากออกมาต่อต้าน  หรือสงครามโลกครั้งที่1 หยุดได้เพราะมีการปฏิวัติในรัสเซีย

เพราะฉะนั้นจุดยืนของนักมาร์คซิสต์เห็นด้วยกับการสร้างแนวร่วมต้านสงคราม เห็นด้วยกับการที่กรรมาชีพ คนหนุ่มสาวและกลุ่มต่าง ๆ ที่รักความเป็นธรรมออกมาต่อต้านสงครามร่วมกัน แต่ในที่สุดถ้าจะยับยั้งสงครามระหว่างประเทศอย่างจริงจังเราต้องแปรรูปการต่อสู้ไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นในแต่ละประเทศ เพื่อโค่นล้มนายทุนและขุนศึกทั้งหลายและระบบทุนนิยมที่ก่อให้เกิดสงครามตลอดมา

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ และอดุลย์ อัจฉริยากร

นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต้องเลิกฝากความหวังกับรัฐบาลตะวันตก

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน ท่านควรกดเข้าไปที่หน้าบล็อก]

การที่ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดถูกเชิญไปพูดคุยกับรัฐบาลฝ่ายขวาของอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อทำสัญญาการค้า การลงทุน และซื้ออาวุธ เป็นอีกกรณีหนึ่งที่พิสูจน์ว่ารัฐบาลตะวันตกไม่มีความจริงใจเลยในเรื่องการสนับสนุนประชาธิปไตยในไทย

Not welcome here

ก่อนหน้านี้เราเห็นว่ารัฐบาลอังกฤษพร้อมจะเชิญคนอย่างประวิตรหน้าหมู ไปเที่ยวงานขายอาวุธที่ลอนดอน ซึ่งเป็นโอกาสทองสำหรับหมูโสโครกคนนี้ที่จะคบค้าสมาคมกับทรราชจากทั่วโลกที่ไปเที่ยวงานเดียวกัน  และในที่สุดทหารไทยก็ได้อาวุธเพิ่มและบริษัทตะวันตกก็ได้กำไร

ส่วนรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ทำการฝึกทหารร่วมกับกองทัพไทย และประธานาธิบดีทรัมพ์ก็ยินดีพบอาชญากรอย่างประยุทธ์

ในแวดวงการทูตต่างๆ ของรัฐบาลทั่วโลก อุดมการณ์ประชาธิปไตยมักจะไม่มีความสำคัญ ที่สำคัญคือการแข่งกันระหว่างมหาอำนาจ เช่นการแข่งกันระหว่างจีนกับสหรัฐเพื่อมีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย และการหาโอกาสที่จะค้าขายสินค้า เพื่อสร้างกำไรให้กลุ่มทุนของประเทศตนเอง โดยเฉพาะการขายอาวุธ นี่คือสาเหตุที่รัฐบาลตะวันตกคบค้าสมาคมและขายอาวุธให้ทรราชทั่วโลกโดยไม่เลือกหน้า

ถ้ารัฐบาลตะวันตกไม่ยอมคบใคร หรือพยายามผลักดันมาตรการกีดกันการค้าขายกับประเทศใด ก็เฉพาะประเทศที่เป็นศัตรูหรือคู่แข่งหลักเท่านั้น มันไม่เคยเกี่ยวอะไรกับสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตยเลย และในอดีตในช่วงสงครามเย็นที่ใครๆ ชอบอ้างว่าเป็นความขัดแย้งระหว่าง “โลกเสรี” กับ “โลกคอมมิวนิสต์” รัฐบาลตะวันตกก็ยินดีจับมือกับเผด็จการทหารในหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วย

สิ่งที่รัฐบาลตะวันตกสนใจมากกว่าสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ คือ “เสถียรภาพ” ของรัฐบาล และ “ความสงบเรียบร้อย” ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย

20180620_200111

ตอนนี้เผด็จการทหารไทยกำลังออกแบบระบบประชาธิปไตยจอมปลอมแบบพม่า คือจะมีการเลือกตั้งเป็นพิธีกรรม เพื่อดูดี ภายในกรอบที่จำกัดสิทธิเสรีภาพโดยแผน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ที่มันร่างเอง และ “คณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์แห่งชาติ” ที่มันใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสืบทอดอำนาจร่วมกับวุฒิสภา ตุลาการ และกกต.ที่มันแต่งตั้งเอง เป้าหมายคือการสร้างภาพลวงตา เพื่อให้คนไทยบางส่วน โดยเฉพาะคนชั้นกลาง และรัฐบาลต่างประเทศ มองว่าในอนาคตไทยจะเป็น “ประชาธิปไตย” ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง และวันเลือกตั้งก็เลื่อนออกไปได้เรื่อยๆ

พวกทหารคำนวณว่าภาพลวงตานี้เพียงพอที่จะเป็นข้อแก้ตัวสำหรับรัฐบาลตะวันตก รัฐบาลตะวันตกต้องการเหลือเกินที่จะยอมรับว่าไทยกำลัง “กลับสู่ประชาธิปไตยแล้ว” ทั้งๆ ที่ใครๆ คงมองออกว่ามันไม่ใช่ การแสวงหาข้อแก้ตัวเพื่อให้รัฐบาลตะวันตกกลับมาคบผู้นำไทยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลเหล่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว การพูดว่าไม่ยอมรับรัฐบาลเผด็จการของไทย บ่อยครั้งเป็นคำพูดนามธรรมเพื่อให้ดูดีในสายตาพลเมืองตะวันตกเท่านั้น มันเป็นเรื่องการเมืองภายใน การส่งตัวแทนจากสถานทูตไปสังเกตการณ์คดีต่างๆ ในไทย ก็เป็นแค่การสร้างภาพเช่นกัน เพราะไม่เคยนำไปสู่การปล่อยนักโทษการเมืองหรือการยอมให้นักประชาธิปไตยขอลี้ภัยทางการเมืองในตะวันตกอย่างง่ายๆ  และในที่สุดตอนนี้ประเทศอียูและสหรัฐก็ยกเลิกการจำกัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลประยุทธ์เรียบร้อยไปแล้ว

อย่างไรก็ตามมีนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายคนในไทย ที่ยังหลงตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลตะวันตก หรือสหประชาชาติ ซึ่งก็เป็นแค่สมาคมของรัฐบาลมหาอำนาจนั้นเอง

34605905_10155712246440819_8867687056130703360_n
อย่าหลงเชื่อว่าตัวแทนรัฐบาลตะวันตกจะมาช่วยเราสร้างประชาธิปไตย

ดังนั้นเราหนีไม่พ้นข้อสรุปว่า ถ้าเราจะล้มล้างอิทธิพลและมรดกของเผด็จการ เพื่อสร้างประชาธิปไตยแท้ คนไทยจะต้องรวมตัวกันปลดแอกตนเอง และสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชน เพราะจะไม่มีใครคนอื่นทำให้