Tag Archives: อำนาจรัฐ

เลนินกับนิยามของ “อำนาจ”

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ผมกับอาจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ถกเถียงกันเรื่อง “อำนาจ” ของกษัตริย์ไทย ทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๙ และ ในสมัยรัชกาลที่ ๑๐

ผมเสนอมานานแล้วกษัตริย์ไทยไม่มีอำนาจในการสั่งการ ไม่สามารถสั่งให้ทหารยิงประชาชน ไม่สามารถสั่งให้มีการทำรัฐประหาร และไม่สามารถสั่งการในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจได้ ผมเสนอว่าทหารและชนชั้นปกครองอื่นๆ มักใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความชอบธรรมในสิ่งที่พวกนี้ทำต่างหาก

ส่วน อ. สมศักดิ์ เสนอว่าเราต้องเข้าใจ “อำนาจ” ในแง่ที่ไม่ใช่อำนาจสั่งการอะไร แต่เป็นอิทธิพลทางความคิดในสังคมมากกว่า เขาจึงเชื่อว่าในยุคท้ายๆ หลังพฤษภา ๓๕  กษัตริย์ภูมิพลมีอำนาจมากที่สุดในหมู่ชนชั้นปกครองไทย

สำหรับผม เรื่องนี้มีความสำคัญในแง่ที่เราต้องเข้าใจว่ามันมีอำนาจอะไรที่เป็นอุปสรรคในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และมันมีความสำคัญในการตั้งเป้าในการล้ม “อำนาจ” ของเผด็จการ ดังนั้นการพูดลอยๆ ว่ากษัตริย์ภูมิพลเคยมีอำนาจสูงสุด เพราะมีบารมีหรืออะไรทำนองนั้น โดยไม่สนใจว่าอำนาจนี้สั่งการอะไรได้หรือไม่ ผมมองว่าเป็นคำพูดนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ และใช้ในการออกแบบยุทธศาสตร์เพื่อการปลดแอกสังคมไทยไม่ได้อีกด้วย

แน่นอนมันมีสิ่งที่เรียกว่า “ลัทธิ” ความคิด ที่หลากหลายและดำรงอยู่ในสังคม บางลัทธิความคิด เช่นลัทธิชาตินิยม หรือลัทธิเชิดชูกษัตริย์ เป็นลัทธิล้าหลังที่ปกป้องเผด็จการ แต่ “ลัทธิ” ไม่ใช่ “อำนาจ”

ลัทธิมันช่วยให้ความชอบธรรมหรือหนุนเสริมอำนาจ ถ้าพลเมืองจำนวนมากคล้อยตามลัทธิดังกล่าว และเราน่าจะหนีไม่พ้นข้อสรุปว่าลัทธิกษัตริย์นิยมในไทย หนุนเสริมอำนาจของทหาร

ในเรื่อง “อำนาจ” มันมีข้อแตกต่างระหว่างนิยามของ “อำนาจ” ตามแนวคิดของฟูโก้ (Foucault) นักปรัชญาฝรั่งเศส กับแนวคิดของเลนิน นักปฏิวัติมาร์คซิสต์ของรัสเซีย

ฟูโก้ เสนอว่า “อำนาจ” มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ ทั่วทุกส่วนของสังคม เมื่อมีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เช่นความไม่เท่าเทียมทางอำนาจระหว่างครูใหญ่กับครูธรรมดา ระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างผู้บริหารโรงพยาบาลกับพยาบาล หรือระหว่างหมอในโรงพยาบาลกับลูกจ้างธรรมดาอย่างผมเป็นต้น และฟูโก้เสนอว่าถ้าเราจะเข้าใจอำนาจแบบนี้เราต้องดูความคิดที่ท้าทายหรืออยู่ตรงข้ามกับอำนาจแต่ละอำนาจ เขาพูดถึงระบบ “อำนาจทางความรู้” ในสังคมที่ครอบงำเรา

ในแง่หนึ่งสิ่งที่ฟูโก้บรรยายก็มีจริง คือความไม่เท่าเทียมทางอำนาจในหลากหลายรูปแบบนี้ดำรงอยู่จริง และมันไม่ใช่สิ่งที่ เลนินหรือนักมาร์คซิสต์จะปฏิเสธ แต่ประเด็นที่เราต้องสนใจมากที่สุดคืออำนาจต่างๆ ที่หลากหลาย มันมีความสำคัญไม่เท่ากัน เพราะถ้าเราจะปฏิวัติเพื่อทำให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน อุปสรรคหลักคือ “อำนาจรัฐ” ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานชนชั้นนายทุน และอำนาจนั้นมาจากการครอบครองและควบคุมปัจจัยการผลิตในสังคม มันเป็นอำนาจวัตถุนิยมที่จับต้องได้ และเป็นอำนาจรูปธรรมที่อาศัยกลุ่มคนถืออาวุธ กฏหมาย คุกและการครองสื่อ นี่คือลักษณะอำนาจรัฐในทุกประเทศทั่วโลกภายใต้ระบบทุนนิยมในโลกปัจจุบัน รวมถึงไทยด้วย

นี่คือสาเหตุที่เลนินสนใจอำนาจรัฐเป็นหลัก

กลุ่มคนที่ควบคุมอำนาจรัฐ อาจแย่งชิงอำนาจกันเอง แต่อำนาจรัฐมีความสำคัญเพราะมันนำไปสู่ความสามารถในการก่อรัฐประหาร หรือปกป้องรัฐบาลทหารเผด็จการ คนที่ล้มประชาธิปไตยในสังคมต่างๆ คนที่ทำลายการปฏิวัติอียิปต์ หรือคนที่ปราบปรามเสื้อแดง ไม่ใช่ครูใหญ่ ผู้บริหารโรงพยาบาล หรือหมอในโรงพบาบาล แต่เป็นคนที่คุมอำนาจรัฐ

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐที่จับต้องได้ ซึ่งเป็นอำนาจในการสั่งการอย่างเป็นรูปธรรม และถ้าเราจะล้มอำนาจนี้เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติที่ยืนอยู่บนรากฐานมวลชนกรรมาชีพผู้ทำงาน

บทความนี้อาศัยความคิดที่เสนอในหนังสือ “Lenin For Today” (2017) โดย John Molyneux. Bookmarks Publications.

อ่านเพิ่ม “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน http://bit.ly/1QPRCP6