Tag Archives: อียิปต์

การปฏิวัติสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน

ในยุคนี้เรามักได้ยินพวกกระแสหลักเสนอว่า “การปฏิวัติเป็นเรื่องล้าสมัย” แต่ตราบใดที่ทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำ และความไม่ยุติธรรมยังดำรงอยู่ การพยายามปฏิวัติเกิดขึ้นเสมอ และการที่ยังไม่มีใครล้มทุนนิยมได้สำเร็จในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะการปฏิวัติล้าสมัย แต่เป็นเพราะฝ่ายเรายังขาดความเข้าใจในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะ

เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย 1917 เคยอธิบายว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีเงื่อนไขสองประการอันเป็นผลพวงจากวิกฤตในสังคมและการต่อสู้ทางชนชั้น เงื่อนไขเหล่านั้นคือ

  1. ชนชั้นปกครองไม่สามารถปกครองต่อไปในรูปแบเดิมได้ เพราะสังคมอยู่ในสถานการณ์วิกฤต
  2. คนธรรมดาทนไม่ได้ที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และพร้อมที่จะปกครองตนเอง ซึ่งความพร้อมดังกล่าวมาจากการจัดตั้งในรูปแบบต่างๆ

ใครเป็นผู้ก่อการปฏิวัติ?

คำตอบคือคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักปฏิวัติกล้าหาญมืออาชีพเพียงไม่กี่คน เพราะการปฏิวัติสังคมนิยมเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผู้นำในขณะที่ยังคงไว้ระบบเดิม และเราต้องพูดต่อไปว่าต้องมีกรรมาชีพในใจกลางของขบวนการมวลชน เพื่อให้การปฏิวัติมีพลัง เพื่อจะได้ขยับการประท้วงหรือการกบฏไปเป็นการพยายามล้มรัฐกับระบบให้ได้

จะขอนำตัวอย่างจากโลกจริงมาช่วยอธิบาย การลุกฮือในอียิปต์ท่ามกลาง “อาหรับสปริง” ในปี 2011 สามารถล้มเผด็จการมูบารักได้ก็เพราะกรรมาชีพมีการจัดตั้งอยู่ใจกลางขบวนการมวลชน และที่สำคัญคือมีประวัติการนัดหยุดงานมาอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปีก่อนที่จะล้มมูบารัก ในตูนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ล้มเผด็จการในกระบวนการอาหรับสปริง สหภาพแรงงานต่างๆ อยู่ใจกลางขบวนการมวลชนเช่นกัน ในซูดาน ซึ่งยังสู้กันกับเผด็จการในปัจจุบัน สหภาพหมอมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2016 และสามารถดึงกรรมาชีพอืนๆในภาครัฐเข้ามาร่วมได้ เช่นครู ดังนั้นสหภาพแรงงานภาครัฐของซูดานมีบทบาทสำคัญในการประสานงานการต่อสู้ แต่สื่อกับนักวิชาการกระแสหลักจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งในสหภาพแรงงาน

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งเพียงพอที่จะมีประสิทธิภาพ จะต้องอิสระจากชนชั้นปกครอง ต้องไม่อนุรักษ์นิยม และในสภาพวิกฤตทางสังคมควรตั้ง “คณะกรรมการรากหญ้าเพื่อประสานการนัดหยุดงาน” จริงอยู่ แกนนำของสหภาพแรงงานอาจอนุรักษ์นิยมและใกล้ชิดชนชั้นปกครองอย่างเช่นสหภาพแรงงานหลายแห่งในรัฐวิสาหกิจไทยที่เข้ากับเสื้อเหลือง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่านักสังคมนิยมจะหันหลังให้กับสหภาพแรงงานดังกล่าว หรือแยกตัวออกเพื่อสร้างสหภาพใหม่ อย่างที่พวกอนาธิปไตยมักจะทำ นักสังคมนิยมจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในที่ทำงานของตนเสมอ และพยายามช่วงชิงการนำจากผู้นำอนุรักษ์นิยม

ในกรณีตูนิเซีย ท่ามกลางการประท้วงปัญหาสังคมของมวลชน มีการประชุมของสภาแรงงานเพื่อคุยกันเรื่องบำเน็จบำนาญ ปรากฏว่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายยืนขึ้นในที่ประชุม และวิจารณ์แกนนำโดยพูดว่า “สังคมข้างนอกห้องนี้ปั่นป่วนและอยู่ในสภาพวิกฤต แล้วพวกเราจะยังคุยกันเรื่องบําเหน็จบํานาญหรือ?” ผลคือสภาแรงงานประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อประท้วงเผด็จการ ซึ่งในที่สุดสามารถล้มรัฐบาลได้ บทเรียนที่สำคัญคือ ถ้านักเคลื่อนไหวดังกล่าวมัวแต่ตั้งสหภาพแรงงานแยกจากสหภาพแรงงานหลักๆ จะไม่สามารถช่วงชิงการนำได้เลย

กรณีการต่อสู้ในซิเรีย เป็นตัวอย่างสำคัญในด้านตรงข้าม การลุกฮือไล่เผด็จการไม่มีกรรมาชีพอยู่ใจกลาง เพราะพรรคบาธของรัฐบาลเผด็จการใช้มาตรการโหดเหี้ยมต่อผู้ที่คัดค้านรัฐบาลมานาน และที่สำคัญคือเข้าไปจัดตั้งกรรมาชีพภาครัฐ เช่นครู ดังนั้นเวลามวลชนลุกฮือ รัฐบาลก็ใช้มวลชนจากภาครัฐไปปะทะแบบม็อบชนม็อบ ผลคือในไม่ช้าการพยายามปฏิวัติแปรตัวจากการเคลื่อนไหวมวลชนไปสู่การจับอาวุธ มันจบลงด้วยความพ่ายแพ้ที่ไม่สามารถล้มประธานาธิบดีอะซัดได้

หลายคนชอบพูดว่าอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญในยุคนี้สำหรับการประสานงานการกบฏ แต่เอาเข้าจริง เวลารัฐบาลมองว่าการกบฏอาจเขย่าบัลลังก์ได้ เขาจะรีบปิดอินเตอร์เน็ต ซึ่งเกิดขึ้นในพม่า อียิปต์ และซิเรีย ในสมัยนี้เราต้องใช้เครื่องมือทุกชนิดในการจัดตั้ง แต่การประสานงานต่อหน้าต่อตายังมีความสำคัญอยู่ ไม่ว่าจะประชุมใหญ่กลางถนนหรือในร้านกาแฟ

รัฐกับ “อำนาจคู่ขนาน”

ในการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ซึ่งสามารถล้มรัฐทุนนิยมและสร้างรัฐกรรมาชีพได้สำเร็จ มีการสร้างสภาคนงาน สภาทหารรากหญ้า และสภาเกษตรกรรายย่อย ที่เรียกว่า “สภาโซเวียต” และท่ามกลางการปฏิวัติสภาโซเวียตกลายเป็น “อำนาจคู่ขนาน” กับอำนาจรัฐเก่า คือมีอำนาจของชนชั้นนายทุนแข่งกับอำนาจของกรรมาชีพและคนจน การเข้าสู่สภาพอำนาจคู่ขนานเป็นขั้นตอนสำคัญในการปฏิวัติ เพราะเป็นการสร้างหน่ออ่อนของรัฐใหม่

ในการกบฏทุกครั้ง มีการจัดตั้งเสมอ การจัดตั้งดังกล่าวอาจมีหน้าที่ประสานการประท้วง การนัดหยุดงาน การแจกจ่ายอาหารสำหรับประชาชน การขนส่ง การตั้งกลุ่มศึกษา และการปฐมพยาบาล ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน

การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

การปฏิวัติในโลกปัจจุบันมีสองชนิดคือ การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

ชิลี

การปฏิวัติทางสังคมคือการล้มระบบเก่าและเปลี่ยนแปลงอำนาจทางชนชั้น คือมีชนชั้นปกครองจากชนชั้นใหม่ ซึ่งเกิดในการปฏิวัติรัสเซีย1917 การปฏิวัติฝรั่งเศส1789 หรือการปฏิวัติอังกฤษ1640 เป็นต้น ในกรณีแรกเป็นการปฏิวัติสังคมนิยม และในสองกรณีหลังคือการล้มระบบฟิวเดิลโดยนายทุนเพื่อเปิดทางให้ระบบทุนนิยม

การปฏิวัติทางการเมืองคือการลุกฮือของมวลชนที่นำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลแต่คงไว้ระบบเดิม ตัวอย่างเช่นการลุกฮือ๑๔ตุลาคม๒๕๑๖ หรือพฤษภา๓๕ ในไทย การล้มเผด็จการในตูนิเซีย หรือการล้มเผด็จการในโปรตุเกสปี1974 นอกจากนี้เราสามารถพูดได้ว่าการปฏิวัติจีนของเหมาเจ๋อตุงเป็นการปฏิวัติทางการเมืองอีกด้วย

ในกรณีตัวอย่างจากไทยที่ยกมา มวลชนที่ทำการปฏิวัติล้มเผด็จการ ไม่ได้มีแผนที่จะล้มระบบและไม่มีการสร้างอำนาจคู่ขนานที่แท้จริง ดังนั้นชนชั้นปกครองสามารถเสนอผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทนที่เผด็จการได้ ในกรณีโปรตุเกสประเทศรอบข้างในยุโรปรีบสร้าง “พรรคสังคมนิยม” เพื่อเบี่ยงเบนการปฏิวัติไปสู่ระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในรัฐสภาและรักษาระบบเดิม และในตูนิเซียกับอียิปต์พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาก็เข้ามามีบทบาทในการตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีการล้มระบบ

สำหรับอียิปต์ ในไม่ช้าอำนาจเก่า ซึ่งอยู่ในมือของกองทัพ ก็อาศัยการประท้วงของมวลชนที่ไม่พอใจกับรัฐบาลมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม เพื่อเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งเป็นการทำลายการปฏิวัติทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นสองปี

ในกรณีการปฏิวัติจีนของ เหมาเจ๋อตุง พรรคคอมมิวนิสต์อาศัยทฤษฎี “การปฏิวัติสองขั้นตอน” ของแนวสตาลิน-เหมา เพื่อควบคุมไม่ให้การปฏิวัติข้ามจุดการเปลี่ยนรัฐบาลไปสู่การเปลี่ยนระบบ ทางพรรคมองว่าต้องสู้เพื่อเอกราชของจีนก่อน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องสังคมนิยมทีหลัง ดังนั้นระบบไม่ได้เปลี่ยนไปจากระบบทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม ทั้งๆ ที่รัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นสังคมนิยม สิ่งที่ เหมาเจ๋อตุงกับพรรคคอมมิวนิสต์ทำคือการยึดอำนาจรัฐและสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” อำนาจรัฐอยู่ในมือของข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้อยู่ในมือของกรรมาชีพหรือเกษตรกรแต่อย่างใด จึงไม่มีอำนาจคู่ขนานหรือสภาโซเวียตเกิดขึ้น มีแต่อำนาจกองทัพภายใต้พรรคเท่านั้น ทฤษฎี “การปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ มีความสำคัญในการเน้นบทบาทกรรมาชีพในการปลดแอกตนเองด้วยการล้มรัฐทุนนิยม แทนที่จะสู้แบบสองขั้นตอนตามแนวสตาลิน-เหมา

มาร์คซ์ และเลนิน อธิบายมานานแล้วว่าชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถยึดรัฐเก่ามาใช้เอง เพราะรัฐเก่าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกดขี่กรรมาชีพและสะสมทุนสำหรับชนชั้นนายทุน ในจีนรัฐเก่าที่เหมาเจ๋อตุงใช้หลังการปฏิวัติ เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการขูดรีดกดขี่กรรมาชีพ ในขณะที่นายทุนเป็นข้าราชการแทนนายทุนเอกชน และในไม่นานเมื่อระบบ ”ทุนนิยมโดยรัฐ” เริ่มมีปัญหาในเชิงประสิทธิภาพในช่วงที่สหภาพโซเวียตพังลงมา รัฐบาลจีนสามารถหันไปใช้ทุนนิยมตลาดเสรีได้อย่างง่ายดาย

ในประเทศอย่างไทย การทำแค่รัฐประหารเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งทหารทำเป็นประจำในไทยหรือในพม่า ไม่ถือว่าเป็น “การปฏิวัติ” แต่อย่างใด เพราะไม่มีการลุกฮือโดยมวลชน มันเป็นแค่การแย่งผลประโยชน์กันเองโดยชนชั้นปกครอง

รัฐ

เลนิน เคยอธิบายในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ซึ่งอาศัยแนวคิดที่มาร์คซ์กับเองเกิลส์เคยเสนอ ว่ารัฐเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางชนชั้น ทั่วโลกในยุคปัจจุบัน รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากนี้ เลนิน เคยเสนอว่ารัฐคือเครื่องมือแบบ ”ทหารข้าราชการ” คือกองทัพมีความสำคัญในการปกป้องรัฐเก่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ตูนิเซีย ซูดาน หรือไทย

ในประเทศตะวันตกที่ยังไม่มีวิฤต ชนชั้นปกครองจะเก็บกองทัพไว้ข้างหลัง และไม่นำออกมาใช้ภายในประเทศอย่างเปิดเผย จะใช้ตำรวจแทน แต่เราไม่ความหลงคิดว่าจะไม่มีการใช้ทหาร ตัวอย่างจากอดีตเช่นสเปน โปรตุเกส กรีซ หรืออิตาลี่ แสดงให้เห็นชัด

พรรคปฏิวัติสังคมนิยม

การที่ชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลางมวลชนที่ลุกฮือพยายามล้มรัฐ ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การปฏิวัติที่สำเร็จ ในซูดานในขณะนี้มี “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” หลายพันคณะ ซึ่งบ่อยครั้งเชื่อมกับกรรมาชีพ แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ทำงานเหมือนสภาโซเวียตในอดีต สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปคือ “พรรคปฏิวัติสังคมนิยม”

ในการลุกฮือของมวลชนในทุกกรณี จะมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเรื่องแนวทาง ยกตัวอย่างจากไทย มีคนที่อยากแค่ปฏิรูปการเมืองโดยไม่ทำลายบทบาทของทหาร มีคนที่อยากแค่สนับสนุนพรรคการเมืองในสภาและหวังว่าเขาจะสร้างประชาธิปไตยได้ มีคนที่อยากเห็นทักษิณแลพรรคพวกกลับมา มีคนที่อยากล้มเผด็จการแต่ไม่อยากแตะกฎมหาย112และสิ่งที่เกี่ยวข้อง มีคนที่มีข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าเรื่องปากท้องเท่านั้น และมีคนที่ต้องการปฏิวัติล้มระบบ นอกจากนี้มีการเถียงกันเรื่องแนวทาง เช่นเรื่องสันติวิธีหรือความรุนแรง เรื่องมวลชนหรือปัจเจก เรื่องการทำให้การประท้วงเป็นเรื่อง “สนุก” และเน้นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ และมีการถกเถียงกันเรื่องบทบาทสหภาพแรงงาน หรือเรื่องผู้นำเป็นต้น

บทบาทสำคัญของพรรคปฏิวัติสังคมนิยมคือการสร้างความชัดเจนทางการเมืองในหมู่สมาชิกพรรค ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวร่วมกับคนอื่นและการถกเถียงกันในพรรค ความชัดเจนนี้สำคัญเพราะพรรคจะต้องเสนอแนวทางกับมวลชน จะต้องร่วมถกเถียงและพยายามช่วงชิงการนำ พรรคต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับรัฐเก่า ต้องมีการเสนอรูปแบบรัฐทางเลือกใหม่ ต้องตั้งคำถามกับระบบ ต้องอธิบายว่าแค่ปฏิรูปผ่านรัฐสภาจะไม่พอ และต้องชวนให้มวลชนให้ความสำคัญกับกรรมาชีพ

ซูดาน

ในซูดานกับตูนิเซีย ไม่มีพรรคปฏิวัติในขณะที่มีการต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการ พรรคฝ่ายค้านกระแสหลักจึงสามารถเข้ามาช่วงชิงการนำได้ จริงอยู่ ในซูดานเรื่องยังไม่จบ การนำยังมาจาก “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” แต่คณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยหลายแนวคิด ซึ่งเป็นเรื่องดีและปกติ ปัญหาคือไม่มีองค์กรที่เสนอแนวทางไปสู่การล้มรัฐอย่างชัดเจน การต่อสู้ที่ซูดานจึงเสี่ยงกับการที่จะถูกเบี่ยงเบนไปสู่รัฐสภาในระบอบเดิม ในตูนิเซียสิบปีหลังอาหรับสปริง ประชาชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลและรัฐสภาที่ไม่แก้ไขปัญหาความยากจน ประธานาธิบดีไกส์ ซาอีดจึงสามารถก่อรัฐประหารเพื่อรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง ปัญหาคือสภาแรงงานและพรรคฝ่ายซ้ายปฏิรูปหันไปสนับสนุนเขา การที่ขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมแปลว่าไม่มีการวิเคราะห์อย่างชัดเจนว่าไกส์ซาอีดยึดอำนาจเพื่อปกป้องชนชั้นปกครองและหมุนนาฬิกากลับสู่สภาพสังคมแบบเดิม แต่ก็ยังดีที่หนึ่งปีหลังรัฐประหารคนเริ่มตาสว่างและออกมาประท้วง

ไกส์ ซาอีด

ในอียิปต์ ตอนล้มเผด็จการมูบารัก มีองค์กรพรรคปฏิวัติสังคมนิยมขนาดเล็ก แต่ท่ามกลางการต่อสู้พรรคนี้เล็กเกินไปที่จะชวนให้มวลชนไม่ไปตั้งความหวังไว้กับมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นพรรคกระแสหลัก และหลังจากนั้นเมื่อมวลชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลใหม่ พรรคไม่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะห้ามไม่ให้คนจำนวนมากไปฝากความหวังไว้กับกองทัพเพราะมีกระแสคิดที่เสนอว่า “กองทัพอยู่เคียงข้างประชาชน” ซึ่งไม่จริง

บทเรียนบทสรุป

การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จในการล้มเผด็จการ เพราะมักขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ หรือถ้ามีพรรคมันยังเล็กเกินไป สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ขาดการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ระบบ” และ “รัฐ” และขาดการเสนอทางออกที่นำไปสู่การล้มระบบและการสร้างรัฐใหม่ ในประเทศที่มีการกบฏอ่อนแอที่สุด ความอ่อนแอมาจาการที่กรรมาชีพมีบทบาทน้อยเกินไปหรือไม่มีบทบาทเลย ในไทยอันนี้เป็นปัญหาใหญ่

การลุกฮือต่อต้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลาง หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถจำกัดไว้ภายในพรมแดนรัฐชาติได้ มวลชนส่วนหนึ่งอาจถือธงชาติในการประท้วง แต่มีการเรียนรู้จากกันข้ามพรมแดน ดังนั้นการสมานฉันท์ของฝ่ายเราข้ามพรมแดนเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการตั้งความหวังว่ารัฐจักรวรรดินิยมตะวันตกหรือสหประชาชาติจะมาช่วยเราในการต่อสู้

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าการปฏิวัติสังคม เป็น “กระบวกการ” ที่ใช้เวลา มันไม่ได้เกิดและชนะภายในในปีสองปี ดังนั้นมีชัยชนะชั่วคราว มีความพ่ายแพ้บ้าง และมีการเรียนบทเรียนเป็นเรื่องธรรมดา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ข้อมูลบางส่วนได้มาจากหนังสือ Revolution Is the Choice Of The People: Crisis and Revolt in the Middle East & North Africa โดย Anne Alexander]

เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการลุกฮือของมวลชนทั่วโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนในหลายประเทศของโลก ในทุกกรณีประเด็นลึกๆ ที่สร้างความโกรธแค้นของมวลชนมีจุดร่วม ทั้งๆ ที่ประกายไฟที่นำไปสู่การประท้วงอาจแตกต่างกัน และไม่มีการประสานกันระหว่างผู้ชุมนุมในประเทศต่างๆ แต่อย่างใด

8c28952358d6402da804eb83814f4f27_18
ฮ่องกง

ในฮ่องกง การประท้วงรอบปัจจุบันมาจากความไม่พอใจกับกฏหมายส่ง “คนร้าย” ข้ามพรมแดน ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการจีนในฮ่องกง แต่ถ้าเราสำรวจภาพกว้างและประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าความไม่พอใจในการปกครองที่ไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่ออกแบบมาโดยรัฐบาลอังกฤษกับจีน เป็นกระแสมานานตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าผู้ประท้วงจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และกระแสนี้ก่อให้เกิดขบวนการประชาธิปไตยที่ใช้ร่ม เป็นสัญลักษณ์ ความไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ตั้งแต่สมัยอังกฤษมาถึงยุคปัจจุบัน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพยายามกดขี่ประชาชนให้สงบท่ามกลางความยากจนและความเหลื่อมล้ำเพื่อขูดรีดส่วนเกินจากกรรมาชีพ และมันสอดคล้องกับเป้าหมายในการขูดรีดแรงงานของเผด็จการจีนด้วย การเมืองกับเศรษฐกิจแยกออกจากกันไม่ได้ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2qB7h0l ]

72453624_10156651317591966_7480245532409987072_o
ชิลี

ในชิลี การประท้วงไล่รัฐบาลของนายทุนในปัจจุบัน เป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม สิ่งที่จุดประกายการประท้วงรอบนี้คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเช รัฐบาลปัจจุบันของฝ่ายขวา และรัฐบาลชุดก่อนของพรรคสังคมนิยม ล้วนแต่ใช้นโยบายแบบนี้ ดังนั้นเวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวงเมื่อไม่นานมานี้ และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย ประเด็นหลักคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

f7ef7923de30459bba3228c2f8a88069_18
เลบานอน

ในเลบานอน การประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาล เริ่มจากการค้านข้อเสนอของรัฐบาลที่จะเก็บภาษีจากการใช้วอตส์แอปป์ แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนคือนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด บวกกับการที่ระบบการเมืองเลบานอนถูกพรรคการเมืองกระแสหลักแช่แข็งในระบบการเมืองที่แบ่งแยกตามเชื้อชาติศาสนา จนประชาชนธรรมดารู้สึกว่าไม่มีเสรีภาพจริงเพราะผู้นำทางการเมืองจากซีกเชื้อชาติศาสนาต่างๆ ฮั้วกันกดขี่ประชาชนธรรมดา และ 1% ของคนที่รวยที่สุดคุม 50.5% ของทรัพย์สินทั้งหมดของประเทศ

000_1LL3RJ-e1571596008689-640x400

ปรากฏการณ์ในเลบอนอนในขณะนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะมวลชนออกมาประท้วงท่ามกลางความสามัคคีข้ามเชื้อชาติศาสนา และมีการเน้นประเด็นชนชั้น ในอดีตผู้นำทางการเมืองที่เน้นเชื้อชาติศาสนา และมหาอำนาจต่างชาติ สามารถสร้างความแตกแยกระหว่างพลเมืองกลุ่มต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ตนเองเท่านั้น

นอกจากตัวอย่างที่พึ่งกล่าวถึง ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนเพื่อขับไล่รัฐบาลใน ปวยร์โตรีโก กินี เอกวาดอร์ เฮติ อิรัก กับแอลจีเรีย และมีการรื้อฟื้นการประท้วงใน อียิปต์ กับซูดาน นอกจากนี้ใน กาตาลุญญา มีการประท้วงของมวลชนที่แสวงหาเสรีภาพจากสเปนเพื่อปกครองตนเอง ในกรณีหลังมวลชนไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการที่ยังใช้อยู่และเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ที่ต้องการแยกตัวออกจากรัฐสเปน

711aa2a618878ae58d6ab1984c2c1c4fd0ae40f6
กินี

จุดร่วมของการประท้วงที่เกิดขึ้นในยุคนี้ที่พึ่งกล่าวถึง คือการที่ระบบทุนนิยมที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนธรรมดาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และพรรคการเมืองกระแสหลัก ทั้งขวาและซ้ายปฏิรูป ไม่ยอมคัดค้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาล บ่อยครั้งสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือมีลักษณะกึ่งเผด็จการ หรือยังมีผลพวงของเผด็จการฝังลึกอยู่ในสังคม

Haiti
เฮติ

การลุกฮือของมวลชนอาจเกิดในลักษณะที่ไร้การนำทางการเมืองจากฝ่ายซ้าย เช่นในชิลี เพราะพรรคสังคมนิยมปฏิรูปต่างๆ ที่เคยเป็นรัฐบาลไม่ยอมท้าทายโครงสร้างของทุนนิยม และในกรณี บราซิล กับ เวเนสเวลา อาศัยราคาทรัพยากรธรรมชาติเช่นน้ำมันหรือแร่ธาตุที่ขึ้นสูงแบบชั่วคราว เพื่อพยายามแก้ปัญหาความยากจน แต่พอราคาสินค้าส่งออกตกต่ำก็หันไปใช้นโยบายรัดเข็มขัด

บางครั้งในสถานการณ์แบบนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดขั้วสามารถฉวยโอกาสได้ เช่นใน บราซิล กับ อินเดีย แต่การฉวยโอกาสของฝ่ายขวาทำได้ยากเมื่อมวลชนคนธรรมดาออกมาประท้วง เพราะท่ามกลางวิกฤตของทุนนิยมโลก ชนชั้นกรรมาชีพโลกขยายตัวไปเป็นคนส่วนใหญ่ไปแล้วและมีส่วนร่วมในการประท้วง

72369120_2608381949211853_1324092946538037248_o
กาตาลุญญา

งานวิจัยชิ้นใหญ่โดยนักวิชาการชาวนอร์เวย์เกี่ยวกับการประท้วงของมวลชนในรอบ 100 ปีถึงยุคปัจจุบันค้นพบว่าการประท้วงที่มีส่วนร่วมหรือนำโดยสหภาพแรงงานและมวลชนกรรมาชีพมักจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการล้มรัฐบาล ผลักดันการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง และขยายพื้นที่ประชาธิปไตย พูดง่ายๆ มันมีพลังมากกว่าการประท้วงของเกษตรกรหรือชนชั้นกลาง

ผลงานจากการวิจัยนี้ช่วยพิสูจน์ความล้มเหลวของทฤษฏีรัฐศาสตร์กระแสหลักที่ผมเคยวิจารณ์ [ดู https://bit.ly/33yfdhj ]

สิ่งที่เราเห็นในยุคปัจจุบันคือการประท้วงใหญ่ของมวลชน บ่อยครั้งมีส่วนร่วมโดยกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน แต่ขาดการนำทางการเมืองของพรรคซ้ายปฏิวัติที่เสนอแนวทางที่จะล้มรัฐทุนนิยม และข้ามพ้นทุนนิยมไปสู่ระบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้

อ่านเพิ่ม:

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

ซูดานกับแอลจีเรีย https://bit.ly/36SxEj5

อียิปต์ ประชาชนเริ่มหายกลัว https://bit.ly/36NCEoO

อียิปต์ ประชาชนเริ่มหายกลัว

ใจ อึ๊งภากรณ์

การประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีนายพล เอล์ซิซี ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาในเมืองไคโร อะเล็กซานเดรีย และสุเอซ เป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมัวที่ปกคลุมประเทศอียิปต์มาตั้งแต่ปี 2013 หลังจากที่การปฏิวัติลุกฮือ “อาหรับสปริง” ถูกทำลายโดยกองทัพ

7431bdc60584405eafdb3b144857fc1c_18

ในเมืองมาฮาลา ซึ่งเป็นเมืองที่มีย่านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็มีการประท้วงเช่นกัน มาฮาลา เคยเป็นศูนย์กลางการประท้วงของกรรมาชีพที่ล้มมูบารัคใน“อาหรับสปริง”

ตั้งแต่กรกฏาคมปี 2013 เมื่อกองทัพไฮแจ๊กการประท้วงที่ต่อต้านประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม และก่อรัฐประหารเพื่อตั้งคณะทหารเผด็จการ ตามด้วยการเลือกตั้งนายพล เอล์ซิซี หัวหน้ากองทัพ เป็นประธานาธิบดีท่ามกลางความสับสนของประชาชน รัฐบาลได้จับนักโทษการเมืองเข้าคุก 40,000 คน และฆ่าประชาชนกว่า 3000 คน นอกจากนี้ประชาชนหลายร้อยคนก็ “หายไป”

77937380100387640360no
ทรราชอียิปต์ได้รับคำชมจากประธานาธิบดีสหรัฐ

ปัจจุบันนี้อียิปต์มีรัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา” ไม่ต่างจากไทย เพราะกองทัพใช้กลไกต่างๆ เพื่อโกงการเลือกตั้ง แต่ข้อแตกต่างจากไทยคือตอนนี้เริ่มมีการชุมนุมของมวลชนบนท้องถนนท่ามกลางการปราบปรามอย่างโหดร้ายของทหาร ที่ใช้ทั้งก๊าซน้ำตา กระสุนยาง และกระสุนจริง

combo-egypt-protest-politics_9c9ab2e4-ddea-11e9-a910-fb95b571a1f5

สิ่งที่จุดประกายการลุกฮือครั้งนี้ในอียิปต์ คือการใช้อินเตอร์เน็ดและโซเชียลมีเดีย เพื่อเปิดโปงการคอรรับชั่นของประธานาธิบดีนายพล เอล์ซิซี  โดยนักธุรกิจชื่อ มูฮัมหมัด อาลี ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ มีการปลุกระดมให้คนออกมาประท้วง

แต่เบื้องหลังความโกรธแค้นของประชาชนที่นำไปสู่การลุกฮือครั้งนี้คือสภาพเศรษฐกิจ และการขาดสิทธิเสรีภาพโดยสิ้นเชิง

Protests-break-out-in-Egypt-calling-for-Sisis-removal

รัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา” ของทหารอียิปต์ ได้ใช้นโยบายรัดเข็มขัดตามแนวเสรีนิยมสุดขั้วขององค์กร ไอเอ็มเอฟ มาตั้งแต่ปี 2016 ผลคือประชาชนหนึ่งในสามมีสถานภาพต่ำกว่าเส้นความยากจน คือมีรายได้น้อยกว่า US$1.40 ต่อวัน

เนื่องจาก มูฮัมหมัด อาลี เคยเป็นนักธุรกิจที่ร่วมมือกับเผด็จการทหารแล้วแตกแยกกับพวกนั้น วัตถุประสงค์ของเขาคงจะไม่ใช่เพื่อสร้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพให้กับคนส่วนใหญ่ แต่วิดีโอที่เขาโพสต์ในอินเตอร์เน็ด กลายเป็นชนวนที่ทำให้คนตัดสินใจที่จะออกมาประท้วง

5f9e5-revsoa2statement

“องค์กรสังคมนิยมปฎิวัติอียิปต์” ได้ออกแถลงการณ์ชื่นชมความกล้าหาญของประชาชนที่ออกมาประท้วง และตั้งข้อสังเกตว่าประชาชนเริ่มหายกลัว แต่ที่สำคัญคือประชาชนจะต้องจดจำบทเรียนจากการลุกฮือคราวที่แล้ว โดยเฉพาะตอนที่มีการขับไล่ประธานาธิบดี มูรซี่ เพราะในสถานการณ์แบบนี้มักจะมีคนฉวยโอกาสยึดอำนาจ แทนที่อำนาจจะตกอยู่ในมือประชาชน สิ่งที่ควรจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการประท้วงครั้งนี้คือการผลักดันให้ทหารออกจากรัฐบาลและการเมืองโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ขับไล่นายพล เอล์ซิซี คนเดียว

สองปีหลังการลุกฮือ “อาหรับสปริง” ประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม ปกครองประเทศแต่ไม่ทำอะไรเพื่อเปลี่ยนระบบ และหันไปจับมือกับทหารและสหรัฐอเมริกา ประชาชนจำนวนมากจึงออกมาแสดงความไม่พอใจกับรัฐบาลในปี 2013 แต่ในยุคนั้นประชาชนจำนวนมากถูกหลอกให้ไว้ใจกองทัพ ซึ่งในที่สุดก็ยึดอำนาจและหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคเผด็จการก่อนปี 2011

คราวนี้มวลชนไม่ควรไว้ใจใครที่มาจากกลุ่มอำนาจเก่าหรือกลุ่มนักธุรกิจ ประชาชนต้องนำตนเองจากรากหญ้า แต่ต้องมีการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อสร้างการนำและเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้มีแต่การลุกฮือตามธรรมชาติที่ไร้การจัดตั้ง

พวกเราในประเทศไทยที่กำลังต้านเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ควรศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์และที่อื่นอย่างดี และไม่หลงเชื่อว่าการค้านรัฐบาลในรัฐสภา หรือการตั้งความหวังกับ “ผู้ใหญ่” หรือนักธุกิจ จะนำไปสู่การสร้างสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2m88j1w  และ  https://bit.ly/2l6NZgJ

บทเรียนสำคัญจากการปฏิวัติในซูดานกับแอลจีเรีย

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้นักข่าวหนังสือพิมพ์ Financial Times ซึ่งเป็นปากเสียงของนายทุนอังกฤษ ได้เสนอว่าการปฏิวัติในประเทศซูดานมีบรรยากาศคล้ายกับการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ในยุคเลนิน ประโยคแบบนี้ทำให้เรารู้ว่าการปฏิวัติในซูดานมีความสำคัญยิ่ง และทำให้เราเข้าใจว่าการปฏิวัติในแอลจีเรีย ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับซูดาน มีความสำคัญพอๆ กัน

Photo-creditL--750x400

สำหรับนักมาร์คซิสต์สังคมนิยม การต่อสู้ในทั้งสองประเทศ ต้องขยับจากการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม ไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยม สาเหตุที่เรามีมุมมองแบบนี้ก็เพราะภายใต้ระบบทุนนิยมปัจจุบัน ข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของประชาชนจะประสบความล้มเหลวถ้าไม่ปฏิวัติต่อไป ซึ่งจะอธิบายเหตุผลในท้ายบทความนี้

เรื่องนีเกี่ยวข้องโดยตรงกับทฤษฏี “การปฏิวัติถาวร” ของ ลีออน ตรอทสกี้ [ดู https://bit.ly/2zCPB5h ]

การลุกฮือของชาวซูดาน เพื่อโค่นล้มระบบเผด็จการของประธานาธิบดี อัล บาเชียร์ ระเบิดขึ้นเนื่องจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลภายใต้คำแนะนำของไอเอ็มเอฟ ประชาชนธรรมดาเดือดร้อนมากเพราะราคาข้าวของเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นราคาขนมปัง ที่เพิ่มขึ้นสามเท่าตัว

อัล บาร์เชียร์ เป็นทหารที่ขึ้นสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหารที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอิสลามสุดขั้วในปี 1989 หลังจากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งปลอมเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป พร้อมกันนั้นมีการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนัก

20101218101053872360_20
อัล บาเชียร์

ในการต่อสู้ครั้งนี้มีมวลชนหลายแสนออกมาประท้วง จนนายทหารคนอื่นในชนชั้นปกครองซูดานมองว่ารัฐบาลคงไปต่อไม่ไหว ทหารจึงเขี่ย อัล บาเชียร์ ออกจากตำแหน่งและตั้งคณะทหารมาปกครองประเทศเพื่อเอาตัวรอด วิธีแบบนี้เคยถูกใช้ในการปฏิวัติอียิปต์ ในช่วง “อาหรับสปริง” และประชาชนไม่น้อยถูกหลอกให้ไว้ใจทหาร แต่คราวนี้ในซูดาน มวลชนไม่พอใจและชุมนุมต่อไป โดยเฉพาะหลังจากที่คณะทหารแจ้งว่าจะปกครองประเทศต่ออีกสองปี การต่อสู้ของมวลชนบังคับให้หัวหน้าคณะทหารคนแรกต้องลาออกหลังดำรงตำแหน่งได้เพียงหนึ่งวัน (ภาพข้างล่าง)

sudan-spring-uprising-ibn-auf

แต่มวลชนยังต้องต่อสู้ต่อไปกับคณะทหาร โดยชุมนุมต่อเนื่องหน้ากองบัญชาการทหาร

SUDAN

ที่น่าทึ่งคือ พลังมวลชนในซูดานมาจากบทบาทของการนัดหยุดงานและเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานคอปกขาว พวกนี้เป็นแกนนำของแนวร่วมที่มีชื่อว่า “พลังเพื่อประกาศอิสรภาพและการเปลี่ยนแปลง” นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่งที่น่าทึ่งคือบทบาทสำคัญของสตรีในการนำม็อบ

นอกจากกรรมาชีพคอปกขาวแล้ว คนงานในองค์กรไฟฟ้า องค์กรโทรคมนาคม ท่าเรือ และโรงสี ก็นัดหยุดงานด้วย

ภายในม็อบมีการจัดการอะไรเองหลายอย่าง เช่นความปลอดภัย การทำอาหารเลี้ยงผู้ชุมนุมและเด็กยากจนที่ไร้ที่อยู่อาศัย การบันเทิงซึ่งประกอบไปด้วยการร้องเพลงและการจัดจอโทรทัศน์เพื่อดูฟุตบอล์ นอกจากนี้มีศูนย์พยาบาลอีกด้วย ภายในที่ชุมนุมมีความสามัคคีระหว่างคนต่างศาสนาต่างเชื้อชาติ มันสะท้อนหน่ออ่อนของสังคมใหม่ที่อาจเป็นไปได้ถ้าประชาชนมีอำนาจในการปกครองตนเอง

ข้อเรียกร้องหลักของขบวนการผู้ชุมนุมคือ ทหารต้องออกจากการเมือง พลเรือนต้องตั้งรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งต้องประกอบไปด้วยสตรีเกือบครึ่งหนึ่งและคนจากหลากหลายศาสนาเชื้อชาติ แน่นอนมันมีการถกเถียงกันระหว่างคนที่อยากประนีประนอมกับอำนาจรัฐ และคนที่อยากปฏิวัติโค่นรัฐเก่า แต่ทุกคนเข้าใจว่าการนัดหยุดงานและการชุมนุมเป็นหลักประกันสำคัญของชัยชนะ

อย่างไรก็ตามการต่อสู้ของชาวซูดานถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะคณะทหารทำเหมือนจะตกลงกับแกนนำ “พลังเพื่อประกาศอิสรภาพและการเปลี่ยนแปลง” เสร็จแล้วก็พยายามใช้ความรุนแรงในการปราบปรามม็อบ แต่ยังไม่สำเร็จ ข้อตกลงกับทหารครั้งนี้เป็นแผนซื้อเวลาของทหาร และอันตรายอย่างยิ่งกับฝ่ายปฏิวัติ เพราะไม่มีความชัดเจนว่าทหารจะลงจากอำนาจในคณะปกครองประเทศชั่วคราว และมีการยืดเวลากำหนดเลือกตั้งออกไปสามปี

petroleum_workers_protest2_WEB_OK
คนงานน้ำมันประท้วง

ล่าสุดมีการประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อกดดันทหาร

การลุกฮือในแอลจีเรีย มาจากการต่อสู้เพื่อกีดกันการสืบทอดอำนาจของผู้นำประเทศที่หมดสภาพเพราะความชราที่ชื่อ บูเตฟลิกา ผู้นำคนนี้ประกาศว่าอยากอยู่ต่ออีก 4 ปีทั้งๆ ที่ครองอำนาจมาเกือบยี่สิบปีผ่านการใช้อำนาจกึ่งเผด็จการ บูเตฟลิกา ขึ้นมามีอำนาจหลังจากสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายทารุณระหว่างกองทัพกับพรรคอิสลามที่เคยชนะการเลือกตั้ง “ยุคสิบปีแห่งความมืด” นี้เกิดขึ้นระหว่าง 1992-2002 และก่อนที่จะมีการลุกฮือปีนี้มันมีกฏหมายห้ามการชุมนุมที่ตกค้างจากยุคมืดเผด็จการ

FILE PHOTO: Algeria's President  Abdelaziz Bouteflika gestures during a graduation ceremony of the 40th class of the trainee army officers at a Military Academy in Cherchell
บูเตฟลิกา กับนายทหารชั้นสูง

รัฐบาลของบูเตฟลิกา ใช้งบประมาณจากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อพยุงความเป็นอยู่ของประชาชน แต่พอราคาทรัพยากรเหล่านี้ตกต่ำในตลาดทุนนิยมโลก การว่างงานก็เพิ่มขึ้น

637762f3753486aa1c8f735d7ac11c1e_w771_h422

หลังจากมวลชนออกมาประท้วงและมีการนัดหยุดงานทั่วไปของกรรมาชีพ โดยเฉพาะกรรมาชีพในภาครัฐ ซึ่งรวมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ชนชั้นปกครองแอลจีเรียก็ใช้วิธีการเดียวกับที่ซูดาน คือเขี่ยผู้นำที่ประชาชนเกลียดชังออกจากตำแหน่งเพื่อเอาตัวรอด หลังจากนั้นก็สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ขบวนการประท้วงไม่ยอมหยุด มีการยึดมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งโดยนักศึกษาและอาจารย์

la-1555182630-o77bgwl898-snap-image

ประเด็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในแอลจีเรียไม่ต่างจากซูดานคือ มวลชนคนธรรมดาต้องกำหนดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้แกนนำรัฐเก่ากำหนด

นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์จากประเทศอียิปต์ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่อง ซูดานและแอลจีเรีย ไว้ 5 ข้อคือ

  1. เหตุการณ์ในสองประเทศแสดงให้เห็นว่าการปฏิวัติยังเป็นไปได้ในโลกสมัยใหม่ และอาหรับสปริงยังไม่ตาย ทั้งๆ ที่มีชัยชนะตามด้วยความพ่ายแพ้ การปฏิวัติล้มรัฐเก่าและทุนนิยมเป็นเรื่องจำเป็นถ้าจะแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชนที่เกิดจากนโยบายเสรีนิยมและระบบตลาดโลก
  2. เราเห็นประกายไฟที่ก่อให้เกิดการลุกฮือสองรูปแบบคือ ประเด็นเศรษฐกิจในซูดาน กับประเด็นการเมืองในแอลจีเรีย แต่อย่างที่โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยเสนอในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป” การต่อสู้ทางเศรษฐกิจ กับการต่อสู้ทางการเมือง มันย่อมเชื่อมโยงกัน เศรษฐกิจนำไปสู่การเมือง การเมืองนำไปสู่เศรษฐกิจ นักสังคมนิยมมีหน้าที่เชื่อมการต่อสู้สองซีกนี้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน [ดู https://bit.ly/2DtwQWo ]
  3. มวลชนต้องไม่หลงเชื่อทหารหรือสมาชิกเก่าของชนชั้นปกครองที่ต้องการสลายการชุมนุมด้วยการยอมเขี่ยผู้นำเก่าออกจากตำแหน่ง บทเรียนจากอียิปต์สอนให้เรารู้ว่าการประนีประนอมของฝ่ายเราจะนำไปสู่การถูกปราบปรามในอนาคตและการกลับมาของเผด็จการ นอกจากนี้จะมีการหันหลังกับการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน
  4. การลุกฮือเกิดขึ้นหลังจากที่มีการปูพื้นจัดตั้งการต่อสู้หลายปี โดยเฉพาะในชนชั้นกรรมาชีพการลุกฮือและการนัดหยุดงานเกิดขึ้นหลายครั้งในแอลจีเรียแต่พึ่งมาก่อตัวเป็นการปฏิวัติในรอบนี้ ในซูดานก็มีการต่อสู้กับรัฐบาลโดยหลายกลุ่มก่อนหน้านี้
  1. บทบาทการนัดหยุดงานและการประท้วงของสหภาพแรงงานร่วมกับมวลชนอื่นๆ เป็นเรื่องชี้ขาด เพราะกรรมาชีพมีพลังทางเศรษฐกิจสูง

แนวคิดปฏิวัติถาวร ของลีออน ตรอทสกี มีความสำคัญในการเสนอว่ากรรมาชีพต้องมีบทบาทนำในการปฏิวัติเพื่อปลดแอกชีวิตของคนธรรมดา การหยุดอยู่แค่การเลือกตั้งภายใต้ระบบและรัฐเก่าย่อมแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะยาวไม่ได้ และการปล่อยให้ชนชั้นปกครองเก่าถืออำนาจต่อไปภายใต้บุคคลหน้าใหม่จะนำไปสู่การถูกปราบปราม นอกจากนี้การปฏิวัติที่จะได้รับชัยชนะต้องขยายไปในระดับสากล ตอนนี้มีการลุกฮือในหลายประเทศของอัฟริกาเหนือและตะวันออกกลางนอกเหนือจาก ซูดานและแอจีเรีย คือที่ตูนิเซีย โมรอคโค เลบานอน และจอร์แดน ถ้าการปฏิวัติในซูดาน หรือแอจีเรีย ได้รับชัยชนะ การปฏิวัติจะลามไปสู่ประเทศอื่นและจะเสริมพลังของการปฏิวัติให้แรงขึ้น

5de501ab4504740c7f82a59c54b7bd43_w582_h482

กระบวนการปฏิวัติที่ยังไม่จบที่ ซูดาน และ แอลจีเรีย ทำให้เราเห็นว่า “รัฐ” ไม่ใช่อะไรที่เป็นกลาง เราต้องโค่นมันเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจ หน่ออ่อนของสังคมใหม่ย่อมเกิดขึ้นท่ามกลางการชุมนุมใหญ่ และชนชั้นกรรมาชีพและพรรคปฏิวัติของกรรมาชีพมีความสำคัญในการนำการปฏิวัติไปสู่จุดหมายแทนที่จะประนีประนอม การศึกษาการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่มีการขยับจากการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม ไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมยังมีความสำคัญในยุคปัจจุบัน

ข่าวล่าสุด 7 มิย. 2019

การปฎิวัติในซูดานถึงหัวเลี้ยวหัวต่อ หลังการปราบปรามการชุมนุมโดยกองทัพ มีการนัดหยุดงานที่กดดันให้ผู้นำกองทัพเสนอให้รื้อฟื้นการเขรจากับฝ่ายประท้วง ถ้าประชาชนจะชนะจะต้องขยายการนัดหยุดงานและกดดันให้ทหารรากหญ้าที่สนับสนุนการประท้วงกบฏต่อผู้บังคับบัญชา

จากกบเลือกนายเป็นกบใต้กะลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศซิมบาบวี หลังจากที่ทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจจากมูกาบี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหาการไว้ใจทหารให้ทำอะไรแทนประชาชน เพราะจริงๆ แล้ว กองทัพในรัฐทุนนิยมปัจจุบัน เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง และพวกนายพลที่คุมอำนาจในกองทัพ เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองด้วย

ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากที่ควรจะรู้ดีกว่านี้ ที่สนับสนุนการทำรัฐประหารในซิมบาบวี เพราะมองว่ามูกาบีเป็นทรราชที่มวลชนคนธรรมดา โดยเฉพาะกรรมาชีพ ไม่สามารถโค่นล้มเองได้ นี่คือแนวคิดของคนที่ไม่เคยเชื่อว่าคนชั้นล่างเปลี่ยนแปลงสังคมเองได้ จึงหันไปหาคนใหญ่คนโตในสังคม เพื่อตั้งความหวังว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ และแน่นอนคนใหญ่คนโตที่มีอำนาจในสังคมชนชั้นของทุกประเทศ จะเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครองเสมอ

การละเลยที่จะวิเคราะห์และเข้าใจว่าสังคมของทุกประเทศเป็นสังคมชนชั้นในระบบทุนนิยม ทำให้คนหลอกตัวเองว่าไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตลอดไประหว่างชนชั้นปกครองและประชาชน พวกนี้จะมองว่าบางคนที่เป็นนายทหาร หรือนักการเมือง อาจเป็น “คนดี” ที่จะทำอะไร “เพื่อชาติ” โดยไม่ตั้งคำถามว่า “ชาติ” ที่พูดถึงเป็นชาติภายใต้อำนาจของใคร ดังนั้นจะมีการยอมรับนิยามของชนชั้นปกครอง ซึ่งเป็นกระแสความคิดหลักในสังคม ว่าประชาชนทุกคนในชาติมีผลประโยชน์ตรงกันไม่ว่าจะมาจากชนชั้นใด

แต่ถ้าความคิดนี้จริง ทำไมคนใหญ่คนโตในชาติ พยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเสมอ ซึ่งเงินภาษีดังกล่าวจะนำมาพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ได้ เช่นในการสร้างระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า การพัฒนาระบบการศึกษา หรือการพัฒนาที่อยู่อาศัย

ถ้าความคิดนี้จริง ทำไมคนใหญ่คนโตในชาติ มักคัดค้านการขึ้นค่าแรงหรือเงินเดือนของประชาชนคนทำงาน เพราะมองว่าจะมีผลเสียต่อชาติ? ทำไมเขาพร้อมจะเสพสุขในความร่ำรวยของเขาเอง ทำไมเขาไม่มีปัญหากับการใช้เงินรัฐในการสร้างวังหรือซื้ออาวุธ? ทำไมเขามักมองว่าต้องมีกฏหมายเพื่อควบคุมและจำกัดสิทธิในการแสดงออก สิทธิในการประท้วง หรือสิทธิในการนัดหยุดงานของคนธรรมดา?

ในกรณีซิมบาบวี จะมีการชื่นชมการเดินขบวนประท้วงของมวลชนเพื่อเรียกร้องให้มูกาบีออกไปหลังจากที่เกิดรัฐประหาร แต่ไม่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทหารปล่อยให้มีการประท้วงดังกล่าว และทหารแอบสนับสนุนการประท้วงอีกด้วย นั้นไม่ได้หมายความว่าคนที่ออกมาประท้วงถูกทหารจ้างมา หรือทุกคนเป็นขี้ข้าของทหาร แต่เขาไม่รอบคอบเพียงพอ และหลงเชื่อว่าทหารจะปลดแอกประเทศ อย่างไรก็ตามทหารจะพยายามคอยจับตาดูไม่ให้มวลชนไปไกลกว่าเป้าหมายที่ทหารต้องการ

นอกจากนี้พวกทหารและประธานาธิบดีใหม่ มันนึงกากูวา เคยถูกสหประชาชาติกล่าวหาว่ามีส่วนในการปล้นทรัพยากรจากประเทศคองโก

ฝ่ายซ้ายในซิมบาบวี จึงออกใบปลิวและ หนังสือพิมพ์เพื่อชักชวนให้กรรมาชีพออกมาเคลื่อนไหวอิสระจากทหารและพวกชนชั้นปกครองเก่าที่ยังถืออำนาจอยู่

นายทหารระดับสูงของซิมบาบวี ไม่เคยมีปัญหากับมูกาบีในอดีต ตลอดเวลาที่เขาปกครองในรูปแบบเผด็จการ ทหารพึ่งมามีปัญหาเมื่อมูกาบีเตรียมโอนอำนาจให้เมียตัวเอง ซึ่งไม่ใช่พรรคพวกของทหาร นอกจากนี้ทหารก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการคอร์รับชั่นของรัฐบาล เพราะทหารก็ร่วมกินด้วย ซึ่งไม่ต่างจากไทย

นายจรเข้

ตอนนี้ทหารสนับสนุนการตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้อดีตรองประธานาธิบดีมันนึงกากูวา ซึ่งคนจำนวนมากเรียกเขาว่า “นายจรเข้” เพราะเขาสามารถรอดตัวมาตลอด ก๊กของเขาในพรรคซานูพีเอฟ จึงถูกเรียกว่า “ก๊กลาคอสต์” ตามเสื้อตราจรเข้ ในอดีต “นายจรเข้” มีบทบาทในองค์กรความมั่นคงของมูกาบีที่คอยปราบปรามฝ่ายค้าน

นายจรเข้ ซึ่งเป็นนายทุน จะนำนโยบายกลไกตลาดเสรีเข้ามาใช้อย่างสุดขั้ว ซึ่งตรงข้ามกับผลประโยชน์คนธรรมดาส่วนใหญ่ และหลายคนมองว่ารัฐบาลจีน ซึ่งลงทุนมหาศาลในซิมบาบวี อาจชื่นชมนโยบายดังกล่าวอีกด้วย สรุปแล้วมวลชนที่ออกมาฉลองการทำรัฐประหาร อาจหลงคล้อยตามแนว “กบเลือกนาย” คือไม่ยอมจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ตนเองอย่างอิสระ ในที่สุดเมื่อพึ่งทหาร ก็ได้ “จรเข้” เป็นนาย แทนทรราชมูกาบี้

นายจรเข้กับอดีตเพื่อนรัก

ในกรณีอียิปต์ หลังการลุกฮือล้มเผด็จการมูบารักและการจัดการเลือกตั้ง มีปรากฏการณ์ของการชุมนุมของมวลชนเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีมูร์ซี่ หลังจากที่เขาไม่ยอมปฎิรูปการเมืองตามที่มวลชนฝันไว้ แต่ปัญหาคือคนจำนวนมากหลงเชื่อว่ากองทัพคือเพื่อนของประชาชนเมื่อทหารปลดมูรซี่ออก เขามองไม่เห็นหรือไม่แคร์ว่ากองทัพกำลังฉวยโอกาสไฮแจ็กกระแสการประท้วงของมวลชน เพื่อยึดอำนาจให้ตนเองในที่สุด และทุกวันนี้รัฐบาลอียิปต์เป็นรัฐบาลภายใต้อดีตนายพล ทั้งๆ ที่มีการจัดฉากการเลือกตั้ง

นั้นไม่ได้แปลว่ามวลชนไม่ควรเคลื่อนไหว เพราะอาจเปิดประตูให้มีการทำรัฐประหาร แต่ประเด็นคือเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดที่อิสระจากชนชั้นปกครองหรือไม่ เพราะถ้าไม่อิสระ ก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์ “กบเลือกนาย”

ในไทยคนที่ควรจะรู้ดีกว่านี้จำนวนมาก เช่นนักสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจ และนักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ ที่วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ และหลายคนมีเหตุผลดีในการไม่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ เนื่องจากนโยบายการฆ่าวิสามัญใน “สงครามยาเสพติด” และในปาตานี หรือการที่ทักษิณต้องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน ก็ไปหลงเชื่อว่าการไปเข้ากับพวกอวยเจ้า และในที่สุดการโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหาร จะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่า พวกนี้มีข้อแก้ตัวเสมอว่ามวลชนคนชั้นล่างไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้  ดังนั้นต้องไปพึ่งคนใหญ่คนโตแทน

แล้วพฤติกรรม “กบเลือกนาย” ในไทย ก็จบลงด้วย สถานการณ์ “กบใต้กะลา” ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

จะล้มเผด็จการอียิปต์ได้อย่างไร?

สัมภาษณ์สมาชิกองค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์

ตอนนี้เราเผชิญหน้ากับเผด็จการปฏิวัติซ้อนที่ป่าเถื่อนที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอียิปต์ ตั้งแต่กรกฏาคมปี 2013 เมื่อกองทัพไฮแจ๊กการประท้วงที่ต่อต้านประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม และก่อรัฐประหารเพื่อตั้งคณะทหารเผด็จการ ตามด้วยการเลือกตั้งนายพล เอล์ซิซี หัวหน้ากองทัพ เป็นประธานาธิบดีท่ามกลางความสับสนของประชาชน รัฐบาลได้จับนักโทษการเมืองเข้าคุก 40,000 คน และฆ่าประชาชนกว่า 3000 คน นอกจากนี้ประชาชนหลายร้อยคนก็ “หายไป”

มันชัดเจนว่าการปฏิวัติซ้อนครั้งนี้เป็นการรื้อฟื้นระบบเก่าที่ถูกล้มจากการลุกฮือ “อาหรับสปริง” มีการปล่อยบุคคลจากระบบเก่าที่เคยโดนจับ และรัฐบาลของ เอล์ซิซี ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนภายในประเทศและจากตะวันตกด้วย

ในแง่หนึ่งการที่เราต้องยอมรับความพ่ายแพ้ของการปฏิวัติ เป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลาเพื่อทำใจ จริงๆ แล้วเราน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่การทำรัฐประหารเพื่อช่วงชิงอำนาจท่ามกลางการประท้วงต้าน มูรซี่

ถ้ามองย้อนกลับไปเราจะเข้าใจได้ว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนของรัฐบาลกับทหารในยุคนี้ เป็นการแก้แค้นปราบปรามขบวนการปฏิวัติทั้งหมด ไม่ใช่แค่การปราบพรรคมุสลิม ความโหดร้ายของชนชั้นปกครองเห็นได้จากการเข่นฆ่าประชาชนในเดือนสิงหาคม 2013 เพราะภายในเวลาแค่สามชั่วโมงมีประชาชนตายมากกว่า 1000 คน หลังจากนั้นไม่มีใครกล้าออกมายึดจตุรัสกลางเมืองต่างๆ เหมือนเมื่อก่อน

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรหดหู่ เราควรมองโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่า คือขบวนการแรงงานกรรมาชีพ อาจอ่อนแอกว่าเดิม และผู้นำส่วนหนึ่งอาจหักหลังสมาชิกโดยการร่วมมือกับทหาร แต่ขบวนการแรงงานยังไม่ถูกทำลาย คนงานที่โรงเหล็ก “เฮลวาน” กำลังนัดหยุดงานอยู่ทุกวันนี้และรัฐบาลไม่กล้าปราบหนัก แบบที่ปราบขบวนการทางการเมือง นอกจากนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติล้ม มูบารัก  เขาได้ผ่านการเรียนรู้ยาวนาน เขามีประสบการณ์ชัยชนะและความพ่ายแพ้ เขาเรียนรู้วิธีการจัดตั้งและวิธีสู้กับตำรวจ ประสบการณ์เหล่านี้เป็นคลังความรู้สำหรับการต่อสู้รอบใหม่ในอนาคต

สภาพปัจจุบันมีเสถียรภาพชั่วคราวเท่านั้น เพราะตะวันตกและรัฐอาหรับในอ่าว สนับสนุนรัฐบาลอียิปต์ ด้วยเงินทุน แต่ปัญหาระยะยาวยังคงอยู่ เช่นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจุดประกายการปฏิวัติแต่แรก นอกจากนี้การที่หลายคนหมดความหวังกับขบวนการ “อาหรับสปริง” ทำให้คนหันไปสนับสนุนกองกำลัง “ไอซิล” เพื่อหาทางออก มันสร้างความวุ่นวายทั่วตะวันออกกลาง

เราต้องเข้าใจว่าในยุคปัจจุบัน การลุกฮือรอบต่อไปของการปฏิวัติอียิปต์อาจใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะเกิด ในเวลาที่เรารอเราต้องเตรียมตัวด้วยการสร้างองค์กรพรรคปฏิวัติ ในช่วงล้ม มูบารัก เราได้รับบทเรียนว่าองค์กรของเราเล็กเกินไปที่จะช่วงชิงการนำจากคนที่สนับสนุนพรรคมุสลิม หรือคนที่หลงไว้ใจกองทัพ เราเล็กเกินไปที่จะผลักดันให้มีการเชื่อมโยงระหว่างขบวนการประท้วงกับขบวนการแรงงานด้วย

เราต้องสร้างองค์กรปฏิวัติที่มีขนาดใหญ่ ก่อนที่การปฏิวัติจะเกิดขึ้นอีก ถ้าเรามัวแต่นิ่งเฉย รอสร้างพรรคท่ามกลางการปฏิวัติ เราจะต้านกระแสที่แรงกว่าไม่ได้

ฉนั้นตอนนี้เราต้องลงมือจัดตั้งคนหนุ่มสาวและคนงานกรรมาชีพอย่างเป็นระบบ เราต้องเน้นการพัฒนาการศึกษาภายในองค์กร และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและแรงงานเมื่อมันเกิดขึ้น นอกจากนี้เราต้องหาทางเชื่อมโยงกับผู้ถูกกดขี่ในสังคม เช่นสตรี กลุ่มคนคริสเตียน และคนเบดูวิน เพราะรัฐบาลจะคอยสร้างภาพว่ากำลังเอาใจพวกนี้ เพื่อเบี่ยงเบนการต่อสู้

ถ้าเราเตรียมงานดี การปฏิวัติอียิปต์จะมีอนาคต

การปฏิวัติอียิปต์ ปัญหาการนำ

ในงาน “มาร์คซิสม์ 2014” ผู้แทนของ “องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์” เล่าให้นักสังคมนิยมอังกฤษฟังถึงปัญหาการนำทางการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ทหารทำรัฐประหารและชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี

รากกำเนิดของปัญหา เริ่มตั้งแต่การล้ม มูบารัก เพราะในตอนนั้นทั้งๆ ที่กระแสการชุมนุมถูกเริ่มต้นโดยนักปฏิวัติและคนหนุ่มสาว เมื่อดูเหมือนว่า มูบารัก จะแพ้ และอาจมีการลามไปสู่การล้มรัฐเก่าของชนชั้นปกครอง พวกสายปฏิรูปก็ก้าวเข้ามา ในขณะเดียวกันกลุ่มปฏิวัติต่างๆ เล็กเกินไปที่จะแข่งแนวกับพวกนี้ได้

องค์กรทางการเมืองที่เป็นสายปฏิรูปเหล่านี้มีสองกลุ่มคือ พรรคมุสลิม และฝ่ายซ้ายเก่าที่ออกแนวชาตินิยม ซึ่งรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย พวกนี้อยากเห็น มูบารัก ออกไป แต่ไม่เคยสู้อย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญคือ พอ มูบารัก ถูกล้ม เขาเข้ามาเพื่อระงับกระแสปฏิวัติ สิ่งที่เขาต้องการคือการมีส่วนร่วมในรัฐผ่านการเลือกตั้ง โดยไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เขาเลยหันมาปกป้องรัฐ

ในสภาพเช่นนี้ ฝ่ายปฏิกิริยาในอียิปต์ เช่นพรรคพวกเก่าของ มูบารัก และพวกทหาร ก็เริ่มวางแผนเพื่อทำการปฏิวัติซ้อนและกลับคืนสู่อำนาจ ในช่วงแรกพวกนี้ปลด มูบารัก เพื่อการสังเวยและให้เป็นแพะรับปาบแทนพวกเขา เพราะมองเห็นว่าการลุกฮือต้านรัฐบาลมีพลังมาก โดยเฉพาะเมื่อคนงานทั่วประเทศนัดหยุดงาน

หลังจากที่พรรคมุสลิมชนะการเลือกตั้ง และ มูรซี่ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีใหม่ พรรคมุสลิมก็เริ่มจับมือกับทหารและสหรัฐอเมริกา และหันมาปราบปรามนักสังคมนิยมแนวปฏิวัติ กลุ่มคนหนุ่มสาว และสหภาพแรงงานที่กล้าต่อสู้ ดังนั้นจะเห็นว่าระหว่างปี 2011 ถึง 2013 ความขัดแย้งหลักกลายเป็นการปะทะกันระหว่างสายปฏิรูปกับสายปฏิวัติ แต่ที่น่าเสียดายคือคนหนุ่มสาวสายปฏิวัติ ยกเว้น“องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์” ปล่อยให้ขบวนการแรงงานถูกปราบและข่มขู่โดยที่ไม่ทำอะไร ทั้งนี้เพราะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เคยไปชุมนุมที่จตุรัส ทาห์เรีย ไม่เข้าใจเรื่องชนชั้นและความสำคัญของขบวนการแรงงาน

สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความห่างเหินระหว่างแรงงานกับสายปฏิวัติส่วนใหญ่ และนำไปสู่สภาพที่พรรคมุสลิมทำหน้าที่ปราบสายปฏิวัติแทนพวกอำนาจเก่า

ดังนั้นเมื่อประชาชนเป็นล้านๆ เริ่มไม่พอใจกับนโยบาย “ไม่เปลี่ยนอะไร” ของประธานาธิบดี มูรซี่ และการใช้อำนาจเผด็จการของเขา ฝ่ายอำนาจเก่าก็ถือโอกาสเขี่ยพรรคมุสลิมออกไป พวกนี้ฉวยโอกาสไฮแจกขบวนการต้านรัฐบาลแล้วทำรัฐประหาร ที่น่าเสียดายด้วยคือฝ่ายซ้ายปฏิรูปที่ออกแนวชาตินิยม ก็ออกมาเชียร์ทหาร และมีผู้นำสหภาพแรงงานบางคนเข้าไปร่วมมือกับทหารด้วย

ทหารและกลุ่มอำนาจเก่า “ใช้แล้วทิ้ง” พวกสายปฏิรูปทั้งหลาย และปราบปรามพรรคมุสลิมอย่างหนัก จนในที่สุดสามารถใช้กลไกเลือกตั้งเพื่อให้นายพล ซีซิ ขึ้นมาเป็นประธานาธบดีได้ พวกประจบสอพลอก็พากันชื่นชมนายพลคนนี้ว่าเป็น “ท่านผู้นำที่เซ็กซี่ที่สุดในโลก”

ในอียิปต์ตอนนี้มีนักโทษการเมือง 41,000 คน และหลายคนกำลังจะถูกประหารชีวิต มีการทรมานนักโทษในคุกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงพ่ายแพ้ชั่วคราวของการปฏิวัติ มันมีสิ่งที่เป็นความหวังสามประการคือ ปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำที่นำไปสู่การลุกฮือล้ม มูบารัก ยังไม่ถูกแก้ไขเลย ขบวนการแรงงานยังมีพลัง และคนหนุ่มสาวที่สนับสนุนแนวปฏิวัติสังคมนิยมก็เพิ่มขึ้น

ภารกิจหลักของนักสังคมนิยมปฏิวัติในช่วงนี้ คือการสร้างพรรคปฏิวัติเพื่อเสนอการนำที่จะล้มอำนาจเก่า และการจับมือเชื่อมโยงกับขบวนการแรงงาน มันเป็นภารกิจที่ต้องค่อยๆ ทำภายใต้สภาวะเผด็จการเพื่อรอวันข้างหน้า และเพื่อหวังว่าเมื่อมีการลุกฮืออีกครั้ง สายปฏิวัติจะมีอิทธิพลมากกว่าพวกที่พาสังคมไปยอมจำนน