ใจ อึ๊งภากรณ์
ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลทหารของประยุทธ์ไม่สามารถแก้ไขได้ และการเสนอให้พ่นน้ำจากที่สูงเพียงแต่สะท้อนความคิดปัญญาอ่อนของทหาร
ฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เป็นภัยต่อผู้ที่หายใจเข้าไปในร่างกายมากกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก ทำให้เกิดโรคปอดและมีผลกระทบกับร่างกายส่วนอื่นเช่นสมอง โดยเฉพาะในกรณีเด็กเล็ก
ส่วนหนึ่งของต้นกำเนิดปัญหาปัจจุบันมาจากกระบวนการก่อสร้างรถไฟฟ้าหรือตึกต่างๆ ซึ่งเดิมเป็นปัญหาเมื่อ20ปีก่อน ตอนที่เริ่มสร้างรถไฟไฟฟ้ายกระดับในกรุงเทพฯ แน่นอนการเพิ่มมาตรการในการลดฝุ่นจากการก่อสร้างน่าจะช่วยในระยะสั้น และในอนาคตถ้าสร้างรถไฟใต้ดินแทนรถไฟยกระดับก็อาจช่วยได้บ้าง แต่มันไม่ใช่ประเด็นหลัก
งานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เขียนโดย ดร.ศิวาลัย ขันธะชวนะ มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ 26% ของ PM2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากการใช้เครื่องยนต์ดีเซล [ดูhttps://bit.ly/2B9AUrK ] วิธีการแก้ไขปัญหานี้เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน และจะอธิบายต่อข้างล่าง
นอกจากนี้ อีก 25% มาจากการเผาพืช เช่นไฟไหม้ป่า ไฟไหมถ่านหินใต้ดินในประเทศเพื่อนบ้าน และการเผาไร่หรือทุ่งนาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ในกรณีนี้การเพิ่มมาตรการป้องกันไฟไหมป่า และการเปลี่ยนวิธีการทางเกษตรจะช่วยได้มาก แต่รัฐบาลยังไม่เคยทำอย่างจริงใจ
อีกแหล่งหนึ่งของมลพิษ PM2.5 มาจากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า และแหล่งอื่นๆ ของฝุ่น ถ้ารัฐบาลจริงใจในการควบคุมการทำงานของนายทุนและโรงงานต่างๆ สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ที่กำลังผ่านการพิจารณาโดย สนช. จะทำให้ปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพแย่ลงอีก เพราะลดมาตรฐานการควบคุมลง [ดู https://bit.ly/2GmTL6e ]
ถ้ามีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินและหันมาใช้พลังงานแสงแดดกับลม ก็จะยิ่งลดฝุ่นและช่วยแก้วิกฤตโลกร้อนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามถ้ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเรื่องแบบนี้ต้องเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่ถูกกดดันจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมได้ ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการของทหาร หรือรัฐบาลทหารที่มาจากการเลือกตั้งปลอม

ปัญหาของไอเสียจากรถดีเซล ยิ่งแย่มากขึ้นเพราะคุณภาพน้ำมันดีเซลในไทย และคุณภาพเครื่องยนต์ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ในกรุงเทพฯตอนนี้มีรถดีเซล 2.7 ล้านคัน คือครึ่งหนึ่งของรถยนต์ทุกชนิด และไม่นับมอร์เตอร์ไซค์ด้วยซึ่งเป็นแหล่งมลพิษอีก ทั่วประเทศรถดีเซลสูงถึง 60% ของรถทั้งหมดคือ 10.8 ล้านคัน และที่สำคัญคือรถบรรทุกและรถเมล์ดิเซลในกรุงเทพฯส่วนใหญ่เก่ากว่า 7 ปี และมีเครื่องยนต์ที่ขาดประสิทธิภาพในการเผาน้ำมัน
แต่ทางออกในการแก้ไขปัญหาไม่ใช่การห้ามรถเก่าหรือรถมอร์เตอร์ไซค์ หรือการปล่อยให้ราคาดิเซลพุ่งสูงขึ้น โดยไม่มีมาตรการอื่น เพราะการใช้มาตรการกลไกตลาด หรือการห้ามใช้รถเก่าจะมีผลกระทบต่อคนจนเป็นหลัก
ทางออกที่ดีกว่าคือการวางแผนระบบคมนาคมแบบครบวงจร คือควรจะมีการส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่ไม่สร้างมลพิษ เช่นรถไฟไฟฟ้า และรถเมล์ไฟฟ้า แต่รัฐต้องเข้ามาลงทุนและยกเลิกค่าโดยสาร อย่างที่บางประเทศทำแล้ว ทั้งนี้เพื่อชักชวนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งแบบนี้ นอกจากนี้ต้องมีการยกเลิกพื้นที่จอดรถภายในเมือง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเลิกใช้รถส่วนตัว และแน่นอนต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดและลม
พรรคเพื่อไทยได้เสนอว่าควรจะมีการซื้อรถเมล์ไฟฟ้าแทนการเปลืองงบประมาณโดยเผด็จการประยุทธ์ในการซื้อรถถังจากจีน ข้อเสนอนี้ดี แต่ต้องมีการใช้มาตรการอื่นๆ อีกมากมาย
ถ้าจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้จริง รัฐบาลจะต้องใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่เน้นบทบาทรัฐแทนกลไกตลาด และรัฐจะต้องหันหลังให้กับนโยบายที่สนับสนุนการซื้อและใช้รถยนต์ส่วนตัวอีกด้วย ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐไทยมานาน สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ก็ต้องมีการปรับไปผลิตรถเมล์หรือรถไฟไฟฟ้าแทน คือรัฐบาลจะต้องเน้นผลประโยชน์และคุณภาพชีวิตของคนทำงานธรรมดา แทนที่จะไปฟังแต่นายทุนกับคนรวย
แต่ผู้เขียนยังรอฟังนโยบายจากพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียง ที่เป็นรูปธรรม และที่ครอบคลุมรายละเอียดต่างๆ ในการแก้ปัญหามลพิษ