Tag Archives: เผด็จการทหาร

ปฏิรูปกองทัพ

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนไทยที่รักประชาธิปไตยทุกคนคงอยากจะเห็นการปฏิรูปกองทัพ เพื่อไม่ให้เข้ามาแทรกแซงการเมืองได้อีก เพราะกองทัพไทยเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการพัฒนาประชาธิปไตย มันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ยุคเผด็จการ จอมพลป. หรือ จอมพลสฤษดิ์ จนถึงทุกกวันนี้

นอกจากนี้กองทัพไทยเป็นแหล่งคอร์รับชั่นสำคัญในสังคมเรา แน่นอนทหารหน้าด้านที่ก่อรัฐประหาร มักอ้างว่าตนล้มระบบประชาธิปไตยเพื่อปราบคอร์รับชั่นหรือปราบโกง แต่นี่คือคำพูดโกหกตอแหลของพวกโจร นายทหารที่ก่อรัฐประหารมักตั้งตัวเป็นใหญ่ และตั้งเพื่อนฝูงในตำแหน่งสำคัญๆ อีกด้วย นั้นคือจุดเริ่มต้นของการขโมยเงินภาษีประชาชนเข้ากระเป๋าตนเอง ไม่ว่าจะด้วยการรับเงินเดือนจากหลายตำแหน่งในระบบราชการ หรือจากการกินค่านายหน้าในการซิ้ออุปกรณ์หรือการทำสัญญากับบริษัทเอกชน

แม้แต่ในยุคที่ทหารไม่ได้ปกครองประเทศ พวกนายพลก็รับรายได้เกินเงินเดือนประจำตำแหน่ง โดยใช้วิธีต่างๆ เช่นการอ้างสิทธิพิเศษในการรับตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ หรือการเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจของทหาร ไม่ว่าจะเป็นธนาคารทหารไทย หรือธุรกิจอื่นๆ

ในประเทศตุรกี หลังจากรัฐประหารที่พึ่งล้มเหลวไปในเดือนกรกฏาคม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มปฏิรูปกองทัพอย่างถอนรากถอนโคน ผู้เขียนไม่ได้ชื่นชมแง่ความเป็นเผด็จการของรัฐบาลเออร์โดกันแต่อย่างใด แต่มันมีบทเรียนที่น่าสนใจจากการพยายามลดอำนาจเผด็จการของทหารในตุรกี

ในประการแรกรัฐบาลจับนายทหารระดับนายพลที่ทำรัฐประหารมาลงโทษ ประเทศอื่นๆ เช่นอาเจนทีนาและเกาหลีใต้ก็เคยลงโทษนายพลเผด็จการเช่นกัน ในไทยเราควรลงโทษทหารระดับนายพลทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร มีตำแหน่งในรัฐบาลเผด็จการ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการฆ่าประชาชน

ในประการที่สอง ที่ตุรกีมีการกดดันหรือปลดนายพลคนอื่นๆ ที่มีมุมมองไม่รักประชาธิปไตยออกจากตำแหน่ง คาดว่ามีการปลดทหารระดับนายพลออกไป 40% ของทั้งหมด และมีการเร่งเลื่อนตำแหน่งนายทหารหนุ่มๆ ที่รักประชาธิปไตยขึ้นมาแทน นี่คือสิ่งที่ควรทำที่ไทยด้วย

ในประการที่สาม ที่ตุรกีมีการยุบโรงเรียนนายร้อยและสถาบันอื่นๆ ที่มีไว้ฝึกฝนสร้างนายพลในอนาคต เพื่อกวาดล้างแนวคิด “ทหารเป็นใหญ่” ออกจากสถาบันการศึกษาของทหาร และมีการตั้งองค์กรใหม่ด้วยบุคลากรใหม่ ในไทยเราควรยุบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) เพื่อเริ่มต้นใหม่

ในประการที่สี่ ที่ตุรกีมีการย้ายบางองค์กรที่เคยอยู่ภายใต้ทหาร มาอยู่ภายใต้กระทรวงมหาไทย เราควรทำแบบนี้ด้วย เช่นองค์กรพัฒนาต่างๆ องค์กรบริหารปัญหาทางการเมืองในสามจังหวัดภาคใต้ หรือองค์กรอื่นๆ ทีทหารควบคุม

ในประการที่ห้า ที่ตุรกี การเลื่อนตำแหน่งนายพลทำโดยพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และการประชุมเพื่อพิจารณาตำแหน่ง ไม่ได้จัดในค่ายทหารแต่จัดที่ทำเนียบรัฐบาล เราควรตามแบบอย่างนี้ในไทย

นอกจากนี้ในไทย ต้องมีการตัดงบประมาณทหารลงอย่างจริงจัง เพราะมันเป็นแหล่งหากินของทหาร และสิ้นเปลืองเงินภาษีที่ควรจะนำมาพัฒนาระบบสาธารณสุข การศึกษา และฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนธรรมดา สิ่งที่จะปกป้องสังคมจากภัยภายนอกที่ดีที่สุดคือการมีประชาธิปไตยและการมีความเท่าเทียมท่ามกลางฐานะความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ไม่ใช่กองทัพ

ธุรกิจต่างๆ ของทหารควรนำมาเป็นธุรกิจพลเรือน ทหารไม่ควรมีตำแหน่งบริหารในรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจอื่นๆ เลย

นี่เป็นแค่ข้อเสนอรูปธรรมขั้นตอนแรกที่ผมเสนอให้เกิดขึ้นในไทยหลังจากที่เรากำจัดเผด็จการได้ แต่เราไม่ควรมองข้ามสองเรื่องสำคัญคือ

(1) เราต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนที่จะกำจัดเผด็จการให้ได้ ในเรื่องนี้เราลืมไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการผ่านในประชามติ ก็เพราะทักษิณ และ นปช. แช่แข็งขบวนการเสื้อแดงมานาน ขบวนการที่ถูกแช่แข็งย่อมอ่อนตัวลงและไร้ประสิทธิภาพท่ามกลางความหดหู่ขาดความมั่นใจของมวลชน นอกจากนี้เราต้องให้ความสำคัญกับวิธีการจัดตั้งมวลชนด้วย ที่แล้วมานักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่หันไปเน้นการต่อสู้แบบปัจเจก

การทำกิจกรรมของปัจเจก เป็นการเอาตนเองมาแทนมวลชน มันคล้ายกับการฝันว่าสามารถนำพลังมวลชนเป็นแสนมาสถิตในร่างกายตนเอง นางอองซานซูจีทำงานแบบนี้ มันจบลงด้วยการทำลายพลังมวลชนและการประนีประนอมกับเผด็จการทหารพม่า เพราะไม่มีพลังอะไรไปต่อรองในที่สุด

ดังนั้นนักเคลื่อนไหวปัจจุบันในไทยจะต้องทบทวนแนวคิดที่มองว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทำได้โดยปัจเจกไม่กี่คนที่สามารถรักษาความขาวสะอาดของตนเอง เพราะการหันหลังกับภาระในการสร้างมวลชน หรือปฏิเสธกระแสมวลชนที่ดำรงอยู่ มันไม่เคยนำไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้ทางสังคมเลย เพราะเป็นการละเลยอำนาจและพลังจริงในสังคมที่จะล้มเผด็จการ มันเป็นมุมมองประเภท “นักเคลื่อนไหวอภิสิทธิ์ชน”

ถ้าเราจะสร้างพลังในการต่อรองกับเผด็จการ เราต้องมีการ “จัดตั้ง” มวลชน อย่างที่เสื้อแดง หรือนักศึกษาในปี ๒๕๑๖ เคยทำ

(2) สิ่งที่สองที่เราควรพิจารณาคือ ในอนาคตเราต้องการกองทัพหรือไม่ เพราะการยกเลิกกองทัพ และการสร้างกองกำลังของประชาชนระดับรากหญ้าอาจเหมาะสมกว่า โดยเฉพาะกับการเมืองประชาธิปไตยที่มีความเท่าเทียมทางสังคม หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า “สังคมนิยม” ยิ่งกว่านั้นเราคงจะต้องพิจารณาว่าเราต้องมีสถาบันกษัตริย์ต่อไปหรือไม่ เพราะสถาบันนี้ถูกใช้เพื่อทำลายประชาธิปไตยไทยบ่อยครั้ง

 

โปรดฟังอีกครั้ง… ช่วยกันลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโจร

ใจ อึ๊งภากรณ์

 วันที่ 7 สิงหาคมนี้ทุกคนที่รักประชาธิปไตยควรตบหน้าแก๊งไอ้ยุทธ์และคณะโจร โดยไปลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหาร

ถ้าประชาชนจำนวนมากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่งอกจากกระบอกปืนอันนี้ มันจะช่วยทำลายความชอบธรรมของเผด็จการอย่างชัดเจน

13728936_1145964815444913_3158334133934371265_n

แต่ในขณะเดียวกัน เราทราบดีว่า “ประชามติ” ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่ไร้เสรีภาพโดยสิ้นเชิง มันไม่ใช่ประชามติประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะในรูปธรรมมีการสั่งห้ามวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในที่สาธารณะ และมีการจับคุมนักเคลื่อนไหวที่พยายามวิจารณ์ความไม่เป็นประชาธิปไตยของร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง คณะทหารมีความหวังว่าถ้าขู่ประชาชนและพยายามปิดกั้นการแสดงออกหรือข้อถกเถียงต่างๆ ประชาชนจะขานรับการทำลายประชาธิปไตยที่บรรจุไว้ในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

นี่คือสาเหตุที่นักเคลื่อนไหวบางคนอยากให้เราบอยคอตหรืองดออกเสียง ผู้เขียนมีมุมมองต่างคือ เราต้องไปลงคะแนนเสียงไม่รับแทน และถ้าประชาชนส่วนใหญ่ลงคะแนนไม่รับ เราต้องชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารลาออก

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนี้ไร้ความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง เราต้องมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญเถื่อน และเราจะต้องเคลื่อนไหวต่อต้านคณะทหารและอิทธิพลของเผด็จการต่อไปจนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยคืนมา ยิ่งกว่านั้นเราจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยออกไปให้กว้างกว่ายุคทักษิณหรือยุครัฐธรรมนูญปี ๔๐ โดยเฉพาะในเรื่องกฏหมาย 112 กฏหมายคอมพิวเตอร์ และแง่อื่นๆ ของความเป็นเผด็จการในไทยที่ตกข้างจากอดีต

ขอสรุปว่าทำไมเราไม่ความรับร่างรัฐธรรมนูญมีชัยมีดังนี้

(1) อารัมภบทของร่างมีชัย แสดงให้เห็นเจตนาในการโกหกบิดเบือนประวัติศาสตร์และคำจำกัดความของประชาธิปไตยแต่แรก มันถูกออกแบบเพื่อให้ความชอบธรรมแก่คณะทหารโจรที่ปล้นสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยของประชาชนผ่านการทำรัฐประหาร มันถูกออกแบบเพื่อลดอำนาจของผู้แทนและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยเพิ่มอำนาจและสืบทอดอิทธิพลของฝ่ายเผด็จการอนุรักษ์นิยม และมันมีการดูถูกประชาชนชาวไทยว่าไม่เข้าใจระบบประชาธิปไตยอีกด้วย

(2) มาตรา 5 เขียนถึงอำนาจพิเศษที่จะเข้ามาควบคุมรัฐบาลและรัฐสภาในยามที่ทหารมองว่า “ผิดปกติ”  ซึ่งเสียงข้างมากในกลุ่มคนที่มีอำนาจพิเศษเหนือรัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด

(3) มีการเปิดโอกาสให้คนนอกที่ไม่ใช่ สส. เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในบางสถานการณ์ ถ้าหลังการเลือกตั้งครั้งแรกเกิดมีนายกรัฐมนตรีทหารหรือคนของทหาร มันก็เป็นโอกาสสำหรับการยืดเวลาปกครองของเผด็จการได้ อย่าลืมว่าคนไทยเสียเลือดเนื้อในอดีตเพื่อให้นายกรัฐมนตรีเป็น สส. และมาจากการเลือกตั้ง

(4) ในเรื่องศาสนามีการเอาใจคนเลวอย่าง “พุทธอิสระ” โดยตัดหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนาออก ตัดเรื่องห้ามลิดรอนสิทธิเพราะเหตุการนับถือศาสนาออก และเขียนนวัตกรรมใหม่ให้รัฐต้องส่งเสริมและเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งทั้งหมดนี้เปิดโอกาสให้กดขี่ศาสนาอิสลามหรือศาสนาพุทธนิกายที่ทหารไม่เห็นด้วย

(5) ร่างรัฐอธรรมนูญนี้ทำลายมาตรฐานการบริการพลเมืองโดยรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องสาธารณสุข พูดง่ายๆ มีการเสนอนโยบายที่ทำลายระบบบัตรทอง หรือที่เคยเรียกกันว่า “30 บาทรักษาทุกโรค”

(6) ในเรื่องการศึกษา มีการตัดสิทธิ์เรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย

(7) โครงสร้างการคำนวณจำนวน สส. มีการออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์

(8) วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยทหารเผด็จการทั้ง 200 คน และมีอายุการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คือนานกว่าสภาผู้แทนราษฏร 1 ปี ทั้งนี้เพื่อควบคุมผู้แทนของประชาชน

(9) การแก้รัฐธรรมนูญนี้ในรูปธรรมทำได้ยากมาก เพราะต้องอาศัยเสียงข้างมากของ สส. 500คน และ สว.แต่งตั้ง 200คน รวมกัน นอกจากนี้ต้องอาศัยคะแนนเสียง 20% ของพรรคฝ่ายค้าน และ1/3 ของสว. อีกด้วย ดังนั้นอย่าไปหลงคิดว่าถ้าเรา “รับไปก่อน” เราจะแก้ทีหลังได้ ฝ่ายเผด็จการมันหลอกเราในเรื่องนี้มารอบหนึ่งแล้วในปี ๕๐ ปีนี้เราไม่ความโง่ซ้ำรอบสอง

13417520_1769959999947170_3393365336073478790_n

เบื้องหลังรัฐประหารในตุรกี – ประวัติการเมืองตุรกี

ใจ อึ๊งภากรณ์

พลเมืองเกือบทั้งหมดในจำนวน75 ล้านของตุรกีนับถือศาสนาอิสลาม แต่ในโลกปัจจุบันที่มีการปลุกระดมให้เหยียดชาวมุสลิมทั่วโลก หลายคนจะมองข้ามความจริงว่าชาวมุสลิมก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา เป็นกรรมาชีพ เป็นนักสหภาพแรงงาน เป็นเกษตรกร หรือเป็นนายทุน และความเชื่อในศาสนา หรือจุดยืนทางการเมือง มีความหลากหลาย ซึ่งไม่ต่างจากการที่คนไทยจำนวนมากเป็นชาวพุทธที่มีสถานะและความเชื่อหรือจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันไป

ในอดีตตุรกีเป็นส่วนสำคัญของอาณาจักรออตโตมันที่เคยยิ่งใหญ่ แต่ในศตวรรษที่ยี่สิบ หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาณาจักรนี้ล้าหลังและพังสลาย การก่อตั้งประเทศตุรกีสมัยใหม่ในปี 1923 โดยกลุ่มทหารหนุ่มภายใต้การนำของ เคมาล อตาเติร์ก เป็นความพยายามที่จะทำให้ตุรกีเป็นประเทศตะวันตก เผด็จการของ อตาเติร์ก สร้างคำจำกัดความใหม่ของการเป็น “ชาวเติร์ก” คือต้องมีทัศนะแบบตะวันตก ต้องมีเชื้อสายเติร์ก และต้องจงรักภักดีต่อรัฐที่ไม่อิงศาสนา คำจำกัดความนี้แปลว่าในรูปธรรม ชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นชนชาติใหญ่ในตุรกี คนที่นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลามนิกายซุนนี และแม้แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่นับถือและปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสนาอิสลามนิกายซุนนี กลายเป็นคนนอกกรอบ หรือ “ไม่ถูกสเป็ค” ของการเป็นพลเมืองตุรกีในความหมายของทหาร มีแต่พวกคนชั้นกลางและกลุ่มนายทหารหนุ่มที่ชื่นชมวัฒนธรรมฝรั่งเศสเท่านั้นที่เป็น “ชาวเติร์กแท้”

ataturk-3

เผด็จการทหารของ เคมาล อตาเติร์ก มีการบังคับ “ปฏิรูป” วิถีชีวิตของประชาชน เช่นการห้ามผู้หญิงโพกฮิญาบ ห้ามไม่ให้ผู้ชายใส่หมวดเฟส ห้ามไม่ให้เล่นดนตรีพื้นเมืองผ่านสถานีวิทยุ เปลี่ยนระบบการเขียนให้ไปใช้อักษรโรมัน และปิดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมดั้งเดิม

บรรยากาศแบบนี้สร้างวัฒนธรรมในหมู่ชนชั้นนำและชนชั้นกลาง ที่มองว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่รับอิทธิพลตะวันตกมาใช้ เป็นคน “ล้าหลัง” โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ในชนบทที่เป็นเกษตรกรรายย่อย และมีการกีดกันไม่ให้พลเมืองเหล่านั้นมีส่วนร่วมในการปกครอง นอกจากนี้มีการปราบปรามกดขี่ชาวเคิร์ด

ทุกวันนี้ หลายสิบปีหลังจากที่ อตาเติร์ก เสียชีวิตไป กองทัพตุรกียังมองว่าการวิจารณ์ เคมาล อตาเติร์ก และลัทธิ “เคมาลิสต์” เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งทัศนะแบบนี้ไม่ต่างจากการที่กองทัพไทยคลั่งในการใช้กฏหมาย 112

กลุ่มก้อนของชนชั้นนำที่คุมอำนาจรัฐตุรกีประกอบไปด้วยนายทหารและข้าราชการ รวมถึงตุลาการ ที่ยึดติดกับแนวลัทธิเคมาลิสต์

ในทศวรรษ 1970 ฝ่ายซ้ายในตุรกีมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพรรคสังคมนิยมแนวปฏิรูป หรือพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ฝ่ายซ้ายทั้งหมดยอมรับเงื่อนไขของลัทธิเคมาลิสต์ และมองว่ามีความ “ก้าวหน้า” ซึ่งแปลว่าค่อนข้างจะมีทัศนะแย่ๆ ต่อคนจนจำนวนมากที่มีวิถีชีวิตแบบเดิม ในยุคนั้นมีการปะทะกันระหว่างฝ่ายซ้ายกับพวกฟาสซิสต์ ซึ่งกลายเป็นโอกาสทองของทหารที่จะเข้ามาทำรัฐปรหารและทำลายประชาธิปไตย ในรอบหกสิบปีที่ผ่านมาทหารตุรกีทำรัฐประหารเพื่อแทรกแซงทางการเมืองสี่ครั้ง ในปี 1960 1971 1980 และ 1995 และมีการปราบปรามฝ่ายซ้ายอย่างต่อเนื่อง และบางทีก็ปราบนักการเมืองกระแสหลักอีกด้วย

490-254

turkey-military-ta_3298590b

ต้นกำเนิดของพรรคมุสลิมของประธานาธิบดี เออร์โดกัน ที่ปัจจุบันเรียกตัวเองว่า “พรรคความยุติธรรมและความเจริญ” (AKP) มาจากทศวรรษ 1960 แต่ในช่วงนั้นโดนปราบปรามอย่างหนักโดยทหาร และถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญตุรกีถูกใช้เป็นเครื่องมือของทหารเพื่อปรามพรรคมุสลิมมาตลอด ซึ่งคล้ายกับสถานการณ์ในไทย

ในยุคแรกคะแนนเสียงของพรรคจะน้อย ไม่เกิน 10% แต่ในปี 1995 พรรคนี้เริ่มได้รับชัยชนะ และประธาเอร์บาแคน ผู้นำพรรคมุสลิมก็ขึ้นมาเป็นประธานาธิดี พรรคชนะเสียงส่วนใหญ่ในเมืองหลักๆ และฐานสนับสนุนของพรรคในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพมาจากนโยบายที่พยายามลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มันไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับประเด็นศาสนาเลย พรรคมุสลิมสามารถเข้ามาแทนที่บทบาทของฝ่ายซ้ายที่ถูกปราบปรามและเสื่อมเอง อย่างไรก็ตามในปี 1995 กองทัพก็นำรถถังออกมาขู่รัฐบาลจนรัฐบาลต้องลาออก

หลังจากนั้น เออร์โดกัน แยกตัวออกจากพรรคเก่าและก่อตั้ง “พรรคความยุติธรรมและความเจริญ” (AKP) และในปี 2002 ก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกในแวดวงทหารและ “สลิ่ม” ชนชั้นกลางของตุรกี ในขณะที่คะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่สนับสนุนพรรค AKP มาจากกรรมาชีพในเมืองและย่านคนจนในทุกส่วนของประเทศ ต่อมาพรรคก็ชนะการเลือกตั้งอีกสองรอบในปี 2007 และ 2011 แต่ในปี 2015 คะแนนเสียงลดลงจนต้องทำแนวร่วมชั่วคราวกับพรรคชาวเคิร์ด

ทั้งๆ ที่พรรค AKP มีรากกำเนิดจากพรรคมุสลิม แต่ถ้าเราจะเข้าใจว่ามันเป็นพรรคแบบไหน เราควรมองว่ามันเป็นพรรคกระแสหลักของฝ่ายทุนที่เริ่มใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดมากขึ้น เสียงสนับสนุนของพรรคมาจากการที่เศรษฐกิจตุรกีขยายตัวอย่างรวดเร็วตลอดเวลาที่พรรคมีอำนาจ ซึ่งอาจเป็นความโชคดีที่มาจากสถานการณ์ในโลกภายนอกมากกว่าการใช้นโยบายที่ดีของรัฐบาล แต่ประเด็นสำคัญคือพลเมืองจำนวนมากมองว่าพรรคนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการปลดแอกประชาชนจากเผด็จการลัทธิ “เคมาลิสต์”

แต่ประสบการณ์ภายใต้พรรค AKP ก็ไม่ได้เต็มไปด้วยเสรีภาพ เพราะ เออร์โดกัน ก็คลั่งกดขี่ปราบปรามชาวเคิร์ด เยาวชนผู้เห็นต่าง นักสหภาพแรงงาน หรือนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย และทุกวันนี้สภาพเศรษฐกิจเริ่มแย่ลงท่ามกลางสงครามในตะวันออกกลาง

160715212318-23-turkey-coup-0725-exlarge-169

นั้นคือสาเหตุที่พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพปฏิวัติของตุรกี (DSİP) ประกาศจุดยืนระดมมวลชนเพื่อต้านทหารที่พยายามก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกรกฏาคม แต่ประกาศชัดเจนด้วยว่าในการเคลื่อนไหวมวลชนต้องคัดค้านมาตรการเผด็จการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย ไม่ใช่ไปตั้งความหวังกับรัฐบาล

ถึงเวลาที่เราต้องเลิกเล่นละคร

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ทหารส่วนหนึ่งในประเทศตุรกีพยายามก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทันทีที่ทหารกลุ่มนั้นนำรถถังออกมาบนท้องถนน ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยก็ลุกฮือออกมาต้านเป็นหมื่นๆ ในสถานีโทรทัศน์แห่วหนึ่ง เมื่อทหารบุกเข้าไป นักข่าวก็ไม่ยอม มีการปะทะกันจนทหารถูกจับ ในที่สุดรัฐประหารครั้งนี้ก็ล้มเหลว

160715212318-23-turkey-coup-0725-exlarge-169

11072913_862664113774986_6805070261629013469_n

ถ้าเปรียบเทียบภาพมวลชนในตุรกี ที่ออกมาต้านรัฐประหาร กับการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ หรือกลุ่มนักศึกษาอื่นๆ ที่ออกมาค้านเผด็จการแค่หยิบมือหนึ่ง แค่ห้าหกคน แล้วถูกทหารเถื่อนจับคุมซ้ำแล้วซ้ำอีก มันชวนให้นึกว่าที่ไทยมันมีการเล่นละครต้านเผด็จการเท่านั้นเอง มันชวนให้คิดว่าบางทีกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวสนใจแต่จะเป็น “พระเอก” แบบ “โรแมนติก” หรืออย่างน้อยก็มองว่าคนหยิบมือหนึ่งทำแทนมวลชนได้ ถ้าเราจมอยู่ในวิธีต้านเผด็จการแบบเล่นละครในไทยแบบนี้ เราจะไม่มีวันล้มเผด็จการได้

ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่เพื่อตั้งคำถามกับความจริงใจของกลุ่มนักศึกษาแต่อย่างใด แต่ความจริงใจมันล้มเผด็จการไม่ได้ การเลือกแนวสู้ หรือการเลือกยุทธวิธี เป็นเรื่องชี้ขาด และไม่ใช่ว่าคนไทยไม่เคยออกมาเป็นหมื่นๆ แสนๆ ในอดีตเพื่อล้มเผด็จการ

TanksRed

24879_385730269924_537184924_3652887_7350322_n

1_22979

เราต้องเปรียบเทียบภาพขบวนการประชาธิปไตยใหม่กับภาพของเสื้อแดงที่ชุมนุมกันในอดีต หรือภาพนักศึกษาและคนงานที่เคยออกมาในปี ๒๕๑๖ แล้วจะเห็นพลังที่สามารถล้มทหารได้ ถ้าเราฉลาดในการสู้

มันถึงเวลานานแล้วที่นักเคลื่อนไหวปัจจุบันจะต้องทบทวนแนวคิดที่มองว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทำได้โดยห้าหกคนที่ “ยอมเสียสละ” อดอาหารหรือยอมถูกจับ แนวคิดนี้เน้นการ “ทำข่าว” หรือการ “เปิดโปง” ความชั่วร้ายของทหาร แต่ละเลยเรื่อง “พลัง” หรือ “อำนาจ”

ถ้าเราจะสร้างพลังในการต่อรองกับเผด็จการ เราต้องมีการ “จัดตั้ง” มวลชน อย่างที่เสื้อแดงหรือนักศึกษาในปี ๒๕๑๖ เคยทำ และถ้าจะให้ความสำคัญกับการจัดตั้ง ต้องกระตือรือร้นในการลงพื้นที่เพื่อคุยกับและปลุกระดมมวลชน ต้องไว้ใจว่ามวลชนกลุ่มต่างๆ จะนำตนเองได้ และต้องมีทัศนะที่เปิดกว้างยอมทำงานกับคนที่มีความคิดหลากหลายที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนที่ไม่ชอบเผด็จการ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องหวงความบริสุทธิ์ หรือไม่กล้าเถียงกับคนที่เห็นต่างในบางเรื่องแต่พร้อมจะจับมือกันในการเคลื่อนไหว

แน่นอนในทุกยุคทุกสมัย และในประเทศต่างๆ สถานการณ์มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ที่สำคัญคือเราต้องสามารถดึงประเด็นหลักๆ ออกมาเพื่อเป็นบทเรียน

บทเรียนที่สำคัญที่สุดคือถ้ามวลชนไม่ออกมาประท้วง เราสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ การอาศัยพระเอกไม่กี่คนไม่เคยชนะเผด็จการ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือแนวทาง “พระเอก” หรือ “นางเอก” ของอองซานซูจีในพม่า เพราะเขาใช้เวลาหลายปีในการสลายพลังมวลชน และดูดพลังมวลชนดังกล่าวเข้ามาในตัวเขาคนเดียว ผลคือการประนีประนอมครั้งใหญ่กับทหาร และการประนีประนอมกับรัฐเผด็จการ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ในพม่า

ในตุรกีมันมีความขัดแย้งระหว่างกองทัพ ที่อาศัยแนวคิด “เคมาลลิสต์” ของ เคมาล อตาเติร์ก อดีตผู้ก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ กับฝ่ายพรรคมุสลิม (พรรคความยุติธรรมและความเจริญ AKP) ที่ชนะการเลือกตั้งมาหลายรอบ มันสะท้อนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มก้อนเผด็จการเก่ารวมถึงฝ่ายตุลาการที่ไม่อิงศาสนา กับนักการเมืองที่เป็นมุสลิม มันสะท้อนความขัดแย้งระหว่างพลเมืองชนชั้นกลางที่มีวิถีชีวิตแบบตะวันตก(สลิ่มตุรกี) กับพลเมืองกรรมาชีพเกษตรกรและคนจนที่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับศาสนา ในอดีตฝ่ายซ้ายสังคมนิยมเคยเป็นหัวหอกในการนำการเคลื่อนไหวของคนจน แต่การปราบปรามจากเผด็จการทหารและความเสื่อมของฝ่ายซ้าย ทำให้พรรคมุสลิมเข้ามาแทนที่ได้

ที่น่าประทับใจคือในการต้านรัฐประหารครั้งนี้ประชาชนหลายฝ่าย ทั้งผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลและผู้ที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านร่วมมือกันออกมาต้านทหาร สาเหตุเพราะคนจำนวนมากจำได้ว่าชีวิตเป็นอย่างไรภายใต้เผด็จการทหารในอดีต

People react near a military vehicle during an attempted coup in Ankara, Turkey, July 16, 2016. REUTERS/Tumay Berkin TPX IMAGES OF THE DAY
People react near a military vehicle during an attempted coup in Ankara, Turkey, July 16, 2016. REUTERS/Tumay Berkin TPX IMAGES OF THE DAY

พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพปฏิวัติของตุรกี หรือ Revolutionary Socialist Workers Party (DSİP) อธิบายว่าการก่อรัฐประหารที่พึ่งเกิดขึ้น สะท้อนความไม่พอใจของกลุ่มทหารที่กำลังเสียเปรียบต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลพยายามลดอิทธิพลของทหารที่ต่อต้านพรรคมุสลิมในกองทัพ ในความเป็นจริงทั้งสองฝ่ายก็มีแนวโน้มเผด็จการพอสมควร และรัฐบาลนี้พร้อมจะใช้อำนาจรัฐในการปราบผู้เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้าย สหภาพแรงงาน หรือชาวเคิร์ด แน่นอนทหารมีประวัติเผด็จการโหดที่ชัดเจน แต่เราไม่ควรไปหลงสนับสนุนรัฐบาล ดังนั้นเมื่อมีการพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้ พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพปฏิวัติของตุรกี ประกาศจุดยืนระดมมวลชนเพื่อต้านทหาร แต่ในการเคลื่อนไหวต้องคัดค้านมาตรการเผด็จการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย ไม่ใช่ไปตั้งความหวังกับรัฐบาล หรือตั้งความหวังกับตำรวจหรือทหาร “แตงโม”

ผมขอย้ำอีกที พลังหลักในการล้มเผด็จการอยู่ที่มวลชนที่ประกอบไปด้วยกรรมาชีพ เกษตรกร คนจน และประชาชนธรรมดาที่รักประชาธิปไตย

ประเทศไทยไม่มี “รัฐพันลึก”

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้มีการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยลอนดอนหัวข้อ “ประเทศไทยในวิกฤตรัฐพันลึก” โดย อูจีนี เมริเออ เสนอบทบาทและการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นในฐานะกลไกของรัฐพันลึก

[ดู http://bit.ly/25RMW44 และบทความอ.นิธิ http://bit.ly/1UMTQ1X   ท่านอาจต้องกดเข้าไปดูที่บล็อกของเลี้ยวซ้ายเพื่ออ่าน]

ทฤษฏี “รัฐพันลึก” หรือ Deep State ใช้มุมมองบกพร่องแต่แรก เพราะมองว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “รัฐปกติ” ที่โปร่งใสและรับใช้พลเมือง ในขณะที่รัฐพันลึกเป็นกรณีพิเศษที่พบในบางประเทศ คือมีส่วนหนึ่งของรัฐที่ฝังลึกอยู่และไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยกลไกประชาธิปไตย

ในโลกแห่งความจริง รัฐทุกรัฐในระบบทุนนิยมเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนายทุน เป็นเครื่องมือเพื่อกดขี่ชนชั้นอื่นๆ โดยเฉพาะชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกรรายย่อย มันไม่รับใช้พลเมืองส่วนใหญ่แต่อย่างใด รัฐทุกรัฐในระบบทุนนิยมเข้าข้างนายทุนเสมอ เพราะปกป้องสิ่งที่เขาเรียกว่า “สิทธิในการบริหารและการเป็นเจ้าของ”ทรัพย์สินมหาศาลกับปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตของพลเมืองทุกคน พูดง่ายๆ คือ รัฐทุนนิยมปกป้องเผด็จการทางเศรษฐกิจของชนชั้นนายทุน นายทุนไม่เคยต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายทุน เขาไม่เคยมาจากคะแนนเสียงของลูกจ้างหรือประชาชนธรรมดา ตำรวจและทหาร ซึ่งเป็นกองกำลังของรัฐนี้ ถูกใช้ในการปราบปรามการนัดหยุดงานหรือการเคลื่อนไหวของประชาชนธรรมดา แต่ไม่เคยมีการใช้กองกำลังนี้เพื่อปราบปรามนายทุนที่เลิกจ้างคนงาน ปิดกิจกรรม ขนการลงทุนไปที่อื่น หรือตัดรายได้ของคนทำงาน

ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก นอกจากอำนาจเผด็จการทางเศรษฐกิจของนายทุนแล้ว มีหลายส่วนของรัฐที่ไม่ถูกตรวจสอบหรือเลือกมาจากเสียงประชาชน เช่นหน่วยราชการลับ ผู้พิพากษา ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้ว่าธนาคารชาติ หรือผู้บังคับบัญชาทหาร และหลายครั้งในอดีตมีการสร้างอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่มาจากการเลือกตั้งโดยคนเหล่านี้ เช่นในกรณีรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษ

ดังนั้นรัฐบาลกับรัฐไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และการคุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจนตั้งรัฐบาลได้ ไม่ได้แปลว่าคุมอำนาจรัฐ นี่คือเรื่องปกติของรัฐในระบบทุนนิยม

บางครั้งการพูดถึง “รัฐพันลึก” อาจมีประโยชน์ในการอธิบายบางส่วนของรัฐที่ตกค้างมาจากยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ หรือยุคฟาสซิสต์ เช่นหน่วยราชการลับที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยเมื่อประเทศนั้นมีประชาธิปไตย เช่นในตุรกี หรือบางประเทศในลาตินอเมริกา แต่มันไม่ตรงกับสภาพสังคมการเมืองของไทยเลย

การนิยามว่าไทยมี “รัฐพันลึก” โดย อูจีนี เมริเออ ต้องอาศัยการบิดเบือนพูดเกินความจริงเรื่องอำนาจกษัตริย์ ต้องมองข้ามการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในกองทัพ และในหมู่ชนชั้นนำ ต้องมองข้ามความอ่อนแอและการไม่มีความอิสระเลยของตุลาการ และที่สำคัญคือต้องไม่เอ่ยถึงบทบาทมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลย

นอกจากนี้ อูจีนี เมริเออ จะสร้างภาพเท็จว่า “รัฐพันลึก” ต้านทักษิณมาแต่แรกซึ่งไม่ใช่ ในยุคแรกๆ ของรัฐบาลทักษิณ ชนชั้นนำไทยเกือบทุกส่วนชื่นชมรัฐบาลทักษิณที่สัญญาว่าจะทำให้เศรษฐกิจและสังคมทันสมัยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและปัญหาความขัดแย้งพฤษภาปี๓๕ ตอนนั้นนายกทักษิณ ในฐานะส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองนายทุน มีอิทธิพลในกองทัพ และมีอิทธิพลเหนือตุลาการและข้าราชการระดับสูง

พวกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นปกครองไทยเริ่มหันมาต้านทักษิณในภายหลัง เมื่อค้นพบว่าแข่งกับทักษิณไม่ได้ในเวทีประชาธิปไตยที่สร้างอำนาจทางการเมือง เพราะพวกอนุรักษ์นิยมไม่ยอมเสนอนโยบายที่จะทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นด้วยเหตุที่พวกนี้คลั่งกลไกตลาดเสรี ดังนั้นเขาครองใจประชาชนธรรมดาไม่ได้

ในหมู่พวกที่มารวมตัวกันต้านทักษิณในภายหลัง มีคนจำนวนมากที่เคยเป็นแนวร่วมกับทักษิณก่อนหน้านั้น และมีคนที่เคยร่วมปราบประชาธิปไตยในอดีต สมัยสงครามเย็น ที่เข้ามาอยู่กับทักษิณอีกด้วย มันเป็นภาพพลวัตของการทำแนวร่วมชั่วคราว ที่เปลี่ยนข้างกันตามโอกาสตลอดเวลา ในหมู่ชนชั้นปกครอง มันไม่ใช่ภาพของกลุ่มก้อนบุคคลในรัฐพันลึกที่คงที่และฝังตัวอยู่กลางรัฐไทยมาตลอดแต่อย่างใด

สมาชิกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นปกครอง หรือที่ เมริเออ เรียกว่ารัฐพันลึก ไม่ได้เป็นห่วงว่าอภิสิทธิ์ของเขาจะหายไปอย่างที่เขาอ้าง เพราะทักษิณไม่ได้ต่อต้านอภิสิทธิ์ของคนใหญ่คนโตแต่อย่างใด เขาไม่ใช่นักสังคมนิยม ผู้ที่กลัวว่าอภิสิทธิ์ของตนจะถูกลดลง ในขณะที่คนชนบทและคนทำงานในเมืองจะสำคัญมากขึ้นคือชนชั้นกลางต่างหาก แต่นักวิชาการคนนี้ไม่พูดถึงพวกสลิ่มคนชั้นกลางเลย

สิ่งที่พวกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นกปครองไม่พอใจ คือการเริ่มรวบอำนาจทางการเมืองในมือทักษิณและไทยรักไทยผ่านการเลือกตั้ง

เมริเออ เสนอว่ารัฐพันลึกกำลังย้ายอำนาจของนายภูมิพลไปสู่ตุลาการในช่วงที่ใกล้หมดรัชกาล แต่นายภูมิพลไม่เคยมีอำนาจ เพียงแต่เป็นเครื่องมือเพื่อการสร้างความชอบธรรมให้กับชนชั้นปกครองโดยเฉพาะทหาร ซึ่งทหารเป็นผู้สร้างนายภูมิพลขึ้นมาจนมีภาพลวงตาว่าเหมือนพระเจ้า ทักษิณก็ใช้นายภูมิพลเช่นกัน และในยุครัฐบาลทักษิณมีการส่งเสริมความบ้าคลั่งของการสวมเสื้อเหลืองทุกสัปดาห์

การเสนอว่าพิธีสาบานตนต่อกษัตริย์ของตุลาการไทย “พิสูจน์” ว่าตุลาการต้องทำตามคำสั่งกษัตริย์เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะถ้าเป็นจริงอังกฤษคงปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนทุกวันนี้ กำตริย์ในระบบสมัยใหม่มีบทบาทแค่ในเชิงพิธีเท่านั้น

จริงๆ แล้วทฤษฏีรัฐพันลึกของ เมริเออ เป็นแค่อีกวิธีหนึ่งที่จะเสนอว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจในใจกลางรัฐ และความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งระหว่างทักษิณและกษัตริย์ ซึ่งไม่ต่างจากพวกที่พูดเกินเหตุว่านายภูมิพลสั่งการทุกอย่าง หรือแม้แต่ “ทฤษฏีเครือข่ายกษัตริย์” ของ Duncan MacCargo ที่มองข้ามพลวัตของการทำแนวร่วมชั่วคราวของชนชั้นปกครองไทย [ดู http://bit.ly/1VTFyio หน้า 84]

พวกนี้ใช้กรอบคิดร่วมกันกรอบหนึ่งคือ กรอบคิด “สตาลิน-เหมา” เรื่องขั้นตอนการปฏิวัติทุนนิยมไทย แต่บางคนอาจใช้โดยไม่รู้ตัวก็ได้ การวิเคราะห์ของนักวิชาการที่อาศัยกรอบแนวสตาลิน-เหมา ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เสนอว่าไทยเป็น “กึ่งศักดินา” ตามสูตรสำเร็จที่พรรคเหล่านี้ทั่วโลกใช้กัน ดังนั้นเขามักจะมองว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทุนสมัยใหม่(ทักษิณ) กับระบบ “กึ่งศักดินา” ของกษัตริย์ภูมิพล โดยที่กษัตริย์เป็นผู้นำทางการเมืองที่สำคัญ

มุมมองแบบนี้จะต้องอาศัยข้อสรุปว่าการปฏิวัตินายทุนหรือที่บางคนเรียกว่า “กระฎุมพี” ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือยังไม่สมบูรณ์ในประเทศไทย   มันเป็นมุมมองบกพร่องที่เสนอการปฏิวัตินายทุนและขั้นตอนของประวัติศาสตร์ในลักษณะกลไก เป็นการสวมประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 18 ในยุโรปทับสถานการณ์บ้านเมืองในไทยปัจจุบัน เพราะแท้จริงแล้ว การปฏิวัติกระฎุมพีของไทย ที่ทำลายระบบศักดินาและสร้างรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นภายใต้การนำของกษัตริย์รัชกาลที่๕

การที่ม็อบชนชั้นกลางที่ต้านทักษิณชูธงเหลืองหรือรูปกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือม็อบสุเทพ ไม่ได้แปลว่ากษัตริย์จัดตั้งพวกนี้แต่อย่างใด การที่ทหารเผด็จการเชิดชูกษัตริย์ก็เช่นกัน ถ้าเราหลงเชื่อปรากฏการณ์เปลือกภายนอกผิวเผินแบบนี้ เราจะคิดตื้นเขินเกินไป

ในลักษณะเดียวกัน การที่พุทธอิสระใช้ความรุนแรงในการทำลายประชาธิปไตยขณะที่ห่มผ้าเหลือง ก็ไม่ได้แปลว่าพระพุทธเจ้าบงการการกระทำแย่ๆ ของพุทธอิสระแต่อย่างใด

จริงๆ แล้วรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ก็เชิดชูกษัตริย์เช่นกัน และพร้อมจะใช้กฏหมาย 112 ด้วย ข้อแตกต่างระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองและทหาร กับฝ่ายทักษิณ ไม่ใช่เรื่องกษัตริย์นิยมแต่อย่างใด ข้อแตกต่างแท้คือฝ่ายทักษิณสามารถใช้นโยบายเศรษฐกิจและการเมืองในการเพิ่มความชอบธรรมให้ตนเองประกอบกับการเชิดชูกษัตริย์ ในขณะที่พวกทหารและเสื้อเหลืองมีสิ่งเดียวที่เขาหวังใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมคือเรื่องความคิดกษัตริย์นิยม

ตุลาการไทย และส่วนอื่นๆ ของระบบราชการไทย มีความอ่อนแอมากและไม่เคยเป็นตัวของตัวเองเลย เพราะมัวแต่ก้มหัวรับฟังคำสั่งจากทหาร หรือคนใหญ่คนโตที่เป็นนักการเมืองตลอด นี่คือสาเหตุที่ไทยไม่มีมาตรฐานความยุติธรรม และระบบข้าราชการเต็มไปด้วยการคอร์รับชั่นและการแทรกแซงโดยผู้มีอิทธิพล กองกระดาษและเอกสารที่พลเมืองต้องกรอกเพื่อทำอะไรในระบบราชการ เป็นอาการของข้าราชการที่ไม่เคยกล้าตัดสินใจเองในเกือบทุกเรื่อง คือต้องส่งขึ้นไปให้คนใหญ่คนโตเห็นชอบเสมอ

กองทัพไทยไม่เคยสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวและไม่มีจุดยืนคงที่ด้วย เพราะกองทัพคือแหล่งกอบโกยสำคัญของพวกนายพล การแบ่งพรรคแบ่งพวกแบบนี้ทำให้กองทัพมีอำนาจจำกัดทั้งๆ ที่สามารถล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ซีกต่างๆ ของกองทัพมีแนวการเมืองต่างกันด้วย ในอดีตมีนายพลที่เกลียดเจ้า หรือเป็นฝ่ายซ้าย ในปัจจุบันมีนายพลที่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย และมีทหารที่เข้าข้างทักษณ เพียงแต่ว่ากลุ่มประยุทธ์ที่ครองอำนาจอยู่ตอนนี้เป็นกลุ่มขวาจัดเท่านั้นเอง ดังนั้นกองทัพไม่ใช่อะไรที่จะสร้างรัฐพันลึดอะไรได้

สิ่งที่มีอิทธิพลต่ออำนาจกองทัพมากที่สุดคือพลังมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างมวลชนกับอำนาจรัฐ มีแพ้และมีชนะ มีช่วงเผด็จการและมีช่วงประชาธิปไตย สาเหตุหนึ่งที่เผด็จการครองเมืองตอนนี้ได้ก็เพราะหลายส่วนที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการทางสังคม ไปโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหาร แต่ทุกวันนี้เผด็จการทหารยังต้องพยายามสร้างภาพลวงตาว่าจะจัดการเลือกตั้งและปฏิรูปการเมือง เพราะกลัวกระแสประชาธิปไตยในสังคมไทย

เมริเออ ยอมรับว่ากระแสประชาธิปไตยปัจจุบันทำให้พวกอนุรักษ์นิยมเลือกไปเพิ่มอำนาจตุลาการ เพราะดูดีกว่าการใช้อำนาจโดยตรงของทหารหรือกษัตริย์ แต่เขาไม่เอ่ยถึงบทบาทสำคัญของมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลย สำหรับนักวิชาการคนนี้ ช่วงที่เป็นประชาธิปไตยของไทยเป็นการ “ทดลอง” ของชนชั้นนำเท่านั้น คือทุกอย่างกำหนดจากเบื้องบน

แนว “รัฐพันลึก” อาจเป็นแนวคิดที่ใหม่และน่าตื่นเต้นสำหรับนักวิชาการหอคอยงาช้าง แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรในการอธิบายวิกฤตการเมืองไทยเลย

อ่านเพิ่ม

http://bit.ly/1VTFyio ,  http://bit.ly/1OtUXBm , http://bit.ly/1UoSKed

ยาเสพติดไม่ควรผิดกฏหมาย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม หาทางยกเลิก ‘เมทแอมเฟตามีน’ จากบัญชียาเสพติดที่ผิดกฏหมาย เป็นนโยบายที่ดี ถ้าเราดูแค่ในระดับผิวเผิน แต่แน่นอน เราไม่ควรไว้ใจรัฐบาลเผด็จการว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ผมจะขออธิบายรายละเอียดด้วยเหตุผล

ในประการแรก ยาเสพติดทุกชนิดไม่ควรเป็นเรื่องผิดกฏหมาย แต่นโยบายของรัฐบาลต่างๆ ในอดีตเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นนโยบายที่ออกแบบเพื่อสร้างภาพและดึงคะแนนนิยม ซึ่งมีผลในด้านลบทั้งสิ้น เพราะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพิ่มความตายและความเสี่ยง ไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างใด ถ้าจะแก้ปัญหาการใช้ยาเสพติด ต้องมีการแก้ต้นเหตุของการใช้ยาแต่แรก เช่นปัญหาการทำงานล่วงเวลาหลายชั่วโมง หรือความห่างเหินแปลกแยกของพลเมืองในสังคมทุนนิยม ที่ทำให้คนมองตนเองเหมือนไร้ค่า ทำให้คนสิ้นหวัง และทำให้หลายคนขาดความอบอุ่น

นอกจากนี้ต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาเป็นวิทยาศาสตร์ และแก้ปัญหาด้วยมนุษยธรรม ไม่ใช่ปลุกระดมให้ประชาชนกลัว “ยาบ้า” เหมือนกลัวผี

รัฐบาล ไทยรักไทย และพวกทหาร รวมถึงเปรม เคยมีนโยบายการใช้ความรุนแรงสุดขั้วกับปัญหายาเสพติดในไทย ที่เห็นชัดที่สุดคือการที่ “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของรัฐบาล ไทยรักไทย ทำให้เกิดการฆ่าวิสามัญ 3000 กว่าศพ ซึ่งส่วนใหญ่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยเอง โดยเฉพาะทหารกับตำรวจ มันขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เพราะไม่มีการพิสูจน์ความผิดในศาลเลย นอกจากนี้แล้ว นโยบายรุนแรงของรัฐบาล ไม่มีผลอะไรเลยต่อผู้ค้ายารายใหญ่ที่เป็นนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล หรือนายทหารกับตำรวจตำแหน่งสูงๆ เพราะคนที่ถูกฆ่าตายหรือโดนจับเป็นผู้น้อยทั้งสิ้น

ในประการที่สอง ปัญหาที่สำคัญของนโยบายรัฐบาลต่างๆ ในอดีต คือมีการใช้สองมาตรฐานกับยาหรือสารเคมีที่สร้างความมึนเมาและอาจเสพแล้วติดได้ เพราะมีการแยกว่า สุรา บุหรี่ หรือกาแฟ เป็น “ยาถูกกฏหมาย” ที่เป็นแหล่งสำคัญของการเก็บภาษีโดยรัฐ ในขณะที่ยาแอมเฟตามีน กัญชา และเฮโรอีน เป็นยา “ผิดกฏหมาย” ซึ่งการจำแนกยาออกเป็นสองชนิดดังกล่าว ไม่ได้กระทำบนพื้นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพิษภัยของมัน การเสพสุราและบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำลายสุขภาพของพลเมืองไทย ดูได้จากสถิติกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสาเหตุการตายก่อนวัยชราดังนี้

  • โรคเอดส์ ชาย17%     หญิง 10%
  • อุบัติเหตุบนท้องถนน ชาย 9%      หญิง  3%
  • โรคปอด หัวใจ เส้นโลหิต ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวกับสุราและบุหรี่ ชาย 17%   หญิง 12%
  • ยาเสพติดผิดกฏหมาย ชาย  2%   หญิง ต่ำกว่า 1%

ในประการที่สาม ถ้าจะลดภัยของยาเสพติดจะต้องใช้นโยบาย “ลดความเสี่ยง” (Harm Reduction) สำหรับทุกคนที่ใช้ยา ซึ่งตรงกันข้ามกับบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวทั่วสังคม บรรยากาศความกลัวทำให้คนที่ติดยาไม่สามารถไปขอความช่วยเหลือได้ เพราะกลัวถูกฆ่าหรือถูกจับ การที่ยาผิดกฏหมายทำให้ยาราคาแพงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้เสพอาจต้องขายยามากขึ้นเพื่อหารายได้ หรือต้องไปก่ออาชญากรรม

การทำให้ยาเสพติดไม่ผิดกฏหมายเฉยๆ โดยไม่มีนโยบายลดความเสี่ยงประกอบ และไม่แก้ต้นเหตุแห่งการใช้ยา จะไม่มีผลอะไร

ในหลายประเทศการลดภัยจากยาเสพติดอาศัยการใช้มาตรการการแจกเข็มฉีดยาสะอาดฟรี และการแจกจ่ายยาที่บริสุทธิ์ในจำนวนจำกัดโดยรัฐ เพื่อปกป้องและดูแลผู้ติดยา เหมือนการดูแลคนป่วย

นอกจากนี้เมื่อยาเสพติดไม่ผิดกฏหมาย ทุกคนในสังคมจะสามารถพูดคุยและศึกษาเรียนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของยาชนิดต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อยากทดลองใช้ยาบ้าง มันนำไปสู่จิตสำนึกที่ช่วยให้เขาป้องกันตัวเองด้วยหลักวิทยาศาสตร์ได้ และเขาจะสามารถแยกแยะระหว่างยาหรือวิธีการใช้ยาที่อันตราย กับการใช้ยาที่ไม่ค่อยเสี่ยง แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยการเพิ่มสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในทุกระดับ รวมถึงในโรงเรียนอีกด้วย วันรุ่นต้องถูกชักชวนให้คิดเองเป็น ไม่ใช่หมอบคลานและรับฟังแต่คำสั่งจากผู้ใหญ่

ผมเดาว่าการที่ ไพบูลย์ คุ้มฉายา หาทางยกเลิก เมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติดที่ผิดกฏหมาย ก็คงเป็นเพราะรู้อยู่ในใจว่าการใช้ความรุนแรงในการปราบยามันไม่สำเร็จ แล้วไม่ต้องการให้รัฐบาลทหารถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลว นอกจากนี้อาจอยากลดจำนวนนักโทษในคุกเพื่อประหยัดงบรัฐ แต่จะจริงแค่ไหนผมไม่รู้

แต่ในเรื่องการใช้นโยบายลดความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดทุกชนิด และการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการลดชั่วโมงการทำงานและการเพิ่มรายได้ อย่างที่ผมเขียนไว้ข้างบน เราไม่ควรไปหวังอะไรทั้งสิ้นจากเผด็จการทหารชุดนี้ เพราะมันไม่สนใจที่จะเพิ่มการใช้งบประมาณรัฐเพื่อบริการพลเมืองส่วนใหญ่ ตรงกันข้ามเผด็จการมีการพยายามแช่แข็งอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และมีการพยายามทำลายระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง และเพื่อที่จะได้เพิ่มงบประมาณให้กับทหารและงบประมาณที่ใช้ในพิธีกรรมสำหรับอภิสิทธ์ชน รัฐบาลเผด็จการนี้ไม่สนใจจะลดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างรัฐสวัสดิการแต่อย่างใด

นอกจากนี้นายทหารส่วนใหญ่ไม่เคยพยายามแก้ปัญหาใดๆ ด้วยมนุษยธรรม หรือด้วยการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแก้ปัญหายาเสพติด

ดังนั้นทั้งๆ ที่การทำให้เมทแอมเฟตามีนไม่ผิดกฏหมายเป็นมาตรการที่ดี แต่ในยุคเผด็จการชุดนี้ มาตรการอื่นๆ ที่ต้องใช้ควบคู่กับนโยบายนี้จะไม่เกิดขึ้น

ดูรายละเอียดเพิ่ม https://youtu.be/VyPbBxrAu7c

บอยคอตหรือโหวดโน?

ใจ อึ๊งภากรณ์

การเลือกว่าเราจะลงคะแนนไม่รับ “รัฐอธรรมนูญทหาร” (โหวดโน) หรืองดออกเสียง (บอยคอต) ในประชามติที่จะจัดขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องยุทธวิธีเท่านั้น อย่างที่พวกเราหลายคนเข้าใจดี มันเป็นยุทธวิธีในยุทธศาสตร์การต่อต้านเผด็จการ

ผมขอเรียกเศษกระดาษของเผด็จการว่า “รัฐอธรรมนูญ” เพราะมันไม่ใช่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเลย [ดู  http://bit.ly/25jnpk3  ]

ทั้งสองฝ่ายในการถกเถียงว่าจะงดออกเสียงหรือกาช่อง “ไม่รับ” มีจุดยืนเหมือนกันคือต่อต้านเผด็จการและรังเกียจ รัฐอธรรมนูญ โสโครกของไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือด ตรงนี้มันชัดเจน และทั้งสองฝ่ายจริงใจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย

แต่การเลือกยุทธวิธีที่ดีที่สุดในครั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาประเด็นปัญหาจากมุมมองการเมือง และมันมียุทธวิธีที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียวคือกาช่อง“ไม่รับ”… จะขออธิบายเหตุผล

syylar7hxfydosf3li4l

คนที่เน้นการต่อสู้เชิงสัญลักณ์แบบปัจเจก จะพิจารณาเรื่องนี้จากจุดยืนของ “ความบริสุทธิ์” คือจะเสนอเหตุผลว่าการไปลงคะแนนเสียงไม่เอารัฐอธรรมนูญทหาร เป็นการยอมรับกติกาของเผด็จการ หรือเป็นการ “ถือหางทหาร” เขาจะถามต่อไปว่า ถ้าปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ไปลงคะแนนรับรัฐอธรรมนูญ เราก็จะพ่ายแพ้ถึงขนาด “ต้อง” ยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่หรือไม่? พวกนี้เลยเสนอว่าเราต้องงดออกเสียงหรือบอยคอตประชามติครั้งนี้

พอพวกที่เน้นความเป็นปัจเจกแบบนี้จะนั่งเฉยอยู่บ้าน ไม่ไปร่วมกิจกรรมการเมืองที่ทหารจัดไว้ เขาจะรู้สึกดีในตัวเอง เพราะสามารถรักษาความขาวสะอาด และไม่ว่าประชามติจะออกมาอย่างไร เขาก็จะอมยิ้มมั่นใจในความถูกต้องของแนวทางตนเองในรูปแบบปัจเจก

แต่การมั่นใจในความถูกต้องของแนวทางตนเองแบบนามธรรม มันไม่เคยนำไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้ทางสังคมเลย เพราะการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมทุนนิยมปัจจุบันต้องอาศัย “พลัง” และ “อำนาจ” มันอาศัยเหตุผลและศีลธรรมก็จริง เพราะเราต้องชักชวนคนจำนวนมากให้มาทางเดียวกับเราด้วยเหตุผลและศีลธรรม แต่การโบกธงของศีลธรรมหรือความถูกต้องอย่างเดียว ไม่สามารถเอาชนะพลังและอำนาจของชนชั้นปกครองได้เลย สิ่งที่จะใช้ได้ในการเผชิญหน้ากับอำนาจของทหาร หรืออำนาจของรัฐที่กดขี่เรา คือพลังมวลชนกับกระแสมวลชน และเราต้องใช้พลังนั้นในสังคม บนท้องถนน และในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ

พูดง่ายๆ ถ้าไม่มีมวลชน เราชนะไม่ได้

ดังนั้นสำหรับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เน้นพลังมวลชนแทนจุดยืนปัจเจก เราจะเลือกยุทธวิธีที่สามารถครองใจมวลชนได้ดีที่สุด

ในขณะนี้การเคลื่อนไหวของมวลชนผู้รักประชาธิปไตยในไทยอ่อนแอพอสมควร เหตุผลมาจากการ “สลาย” เสื้อแดงโดยทักษิณและพรรคเพื่อไทย บวกกับการที่นักเคลื่อนไหวจำนวนมากที่ไม่ได้เดินตามทักษิณ ไม่ยอมจัดตั้งมวลชนอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้เรามีโอกาสที่จะร่วมกันแสดงว่าเราปฏิเสธทหารผ่านประชามติ

ประชามติที่กำลังจะจัดขึ้น เป็นการเสี่ยงทางการเมืองของคณะทหารโจรมากพอสมควร เขาต้องการสร้างภาพว่าจะปรึกษาประชาชน และสร้างภาพว่าในอนาคตจะมีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่เป็นการเลือกตั้งปลอม แต่เขากังวลว่าประชาชนจะคว่ำรัฐอธรรมนูญอัปลักษณ์อันนี้ ดังนั้นเราต้องใช้โอกาสนี้เพื่อพยายามคว่ำรัฐอธรรมนูญและตบหน้าทหาร

มันมีประเด็นเดียวเท่านั้นที่สำคัญในการเลือกว่าเราจะโหวดโนหรือบอยคอต ประเด็นนี้คือเรื่องของกระแสในหมู่คนส่วนใหญ่ที่รักประชาธิปไตย เราต้องยึดติดกับกระแสนี้ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือ นปช. จะมีส่วนในกระแสนี้หรือไม่

การนำจุดยืนของพรรคเพื่อไทยหรือ นปช. มาเป็นข้ออ้างในการบอยคอตนั้นฟังไม่ขึ้น และเป็นการเล่นพรรคเล่นพวกที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่เลย แท้จริงแล้วเราควรดีใจที่แกนนำเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยมีส่วนในการสร้างกระแสไม่รับรัฐอธรรมนูญเลวฉบับนี้ นานๆ ที่สององค์กรนี้จะมีจุดยืนถูกต้อง

เวลาเราพิจารณาว่ากระแสตอนนี้เป็นอย่างไรในหมู่คนที่รักประชาธิปไตยทั่วประเทศ เราต้องยอมรับว่าการชวนให้คนไปลงคะแนนไม่รับรัฐอธรรมนูญมีกระแสแรงกว่าการบอยคอตหลายพันเท่า เราจึงต้องเลือกเส้นทางนี้

Untitled

เราต้องเป็นส่วนของกระแสไม่รับรัฐอธรรมนูญทหารครับ!

บางคนอาจสงสัยว่าการต่อสู้ทางชนชั้นเกี่ยวอะไรกับประชามติ มันเกี่ยวข้องแน่นอนและถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ปรากฏการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือสังคมทุกชนิดเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นทั้งนั้น

การที่พวกนายพลและอภิสิทธิ์ชน ใช้อำนาจของกระบอกปืนและความรุนแรงเพื่อกีดกันไม่ให้คนส่วนใหญ่มีสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย เป็นการปราบปรามคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยชนชั้นนายทุนในระบบทุนนิยม  ชนชั้นนายทุนหรือชนชั้นปกครองนี้ มีสมาชิกจากหลายส่วน มีทหาร นายทุนใหญ่ ข้าราชการชั้นสูงฯลฯ และชนชั้นนี้อาจไม่สามัคคีกันไปทั้งหมด อาจมีนายทุนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคนส่วนใหญ่ในชนชั้นปกครองก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบันคือ ชนชั้นปกครองซีกอนุรักษ์กำลังใช้อำนาจเพื่อปิดกั้นโอกาสและอิทธิพลทางการเมืองของคนทำงานในเมืองและในชนบท ซึ่งเป็นกรรมาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนซีกสมัยใหม่ของชนชั้นปกครองที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเผด็จการปัจจุบัน ต้องการควบคุมเราด้วยระบบรัฐสภาและการสร้างภาพว่าเรามีส่วนร่วมเท่านั้นเอง เขาไม่ต้องการให้คนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

ท้ายสุดถ้าทหารมันสามารถ โกง ข่มขู่ หรือชักชวน หรือทำทั้งสามอย่างพร้อมกัน จนผลประชามติออกมารับรัฐอธรรมนูญของมัน เราจะทำอย่างไร? ง่ายมากครับ หลังจากที่เราเสียใจสักห้านาที เราต้องสู้ต่อไปเพื่อคัดค้านเผด็จการและระบบการเลือกตั้งจอมปลอมที่มันอยากนำเข้ามาใช้ เราจะไม่มีวันยอมรับกติกาของโจรไม่ว่าประชามติจะออกมาอย่างไร การรณรงค์ให้โหวดโนเป็นเพียงรอบหนึ่งในสงครามระยะยาวเพื่อประชาธิปไตย

ใครจะจัดการกับอาชญากรรัฐ?

ใจ อึ๊งภากรณ์

6 ปีผ่านไปหลังเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่คนเสื้อแดงผู้รักประชาธิปไตยถูกทหารฆ่าตายอย่างเลือดเย็นกลางถนนในกรุงเทพฯ และทุกวันนี้สี่อาชญากรรัฐที่มีส่วนร่วมในการสั่งฆ่าประชาชนคือ อภิสิทธิ์ สุเทพ อนุพงษ์ และประยุทธ์ ก็ยังลอยนวลเหมือนเดิม

Murderers

บางคนคิดว่านายภูมิพลมีส่วนในการสั่งฆ่า แต่คงไม่จริง เพราะนายภูมิพลเป็นแค่เครื่องมือของทหารมาตั้งแต่ขึ้นสู่ตำแหน่งกษัตริย์ พร้อมกันนั้นนายภูมิพลใกล้หมดสภาพที่จะคิดอะไรสั่งอะไร อย่างไรก็ตามเราสามารถวิจารณ์นายภูมิพลว่าไม่ทำอะไรเลยเพื่อห้ามความโหดร้ายของทหารแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่าไม่รักประชาชน และไม่ทำตามหน้าที่ประมุขที่ใช้เงินประชาชนเพื่อเสพสุข มันชวนให้ถามว่ามีไว้ทำไมพวกราชวงศ์

อย่าไปหวังเลยว่าเมื่อนายภูมิพลตาย สถานการณ์ทางการเมืองในไทยจะเปลี่ยนภายใต้รัชกาลใหม่ คนต่อไปจะยิ่งอ่อนแอกว่าพ่อและไม่สนใจการเมืองเลย สนใจแต่ความสุขส่วนตัว

แล้วใครจะมาจัดการกับสี่อาชญากรรัฐที่มีบทบาทใน “เมษา-พฤษภาอำมหิต”? ใครจะมาจัดการกับอาชญากรที่สั่งฆ่าประชาชนในปี ๒๕๓๕? ใครจะมาจัดการกับอาชญากรที่สั่งฆ่าประชาชนหน้าธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ ๖ ตุลา (ถ้ายังมีชีวิตอยู่) และเราจะเปลี่ยนวัฒนธรรมของพวกคนเลวที่ลอยนวลเสมอในสังคมไทยได้อย่างไร?

สิ่งที่ชัดเจนคือเราไม่สามารถพึ่งพรรคเพื่อไทย หรือพรรคของฝ่ายทักษิณได้เลย

ในประการแรกทักษิณไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองที่ต้องรับผิดชอบกับอาชญากรรมต้องขึ้นศาล เพราะทักษิณเองต้องรับผิดชอบกับอาชญากรรมที่ตากใบ และการฆ่าทนายสมชาย

ในประการที่สองประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าการมีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้นำไปสู่การนำคนที่ฆ่าเสื้อแดงมาขึ้นศาลแต่อย่างใด รัฐบาลพรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์จงใจไม่ประกาศให้ไทยเข้าไปในกระบวนการศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถนำพวกนั้นมาลงโทษได้ รัฐบาลนี้ใช้กฏหมายเถื่อน 112 แรงขึ้นด้วย และสุดท้ายก็เสนอการนิรโทษกรรม “เหมาเข่ง” ที่จะให้พวกนั้นลอยนวล

หลายคนที่พยายามปกป้องรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เคยอธิบายว่ารัฐบาลต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลา โดยไม่ไปพุ่งชนฝ่ายทหาร เพราะทหารภายใต้ประยุทธ์ คอยหาโอกาสทำรัฐประหาร พูดง่ายๆ พวกนี้เสนอว่าต้องเอาใจทหารเพื่อให้รัฐบาลอยู่รอด แต่มันไม่เป็นไปตามนั้น เพราะการเอาใจทหารอย่างต่อเนื่องยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามมั่นใจมากขึ้น และในที่สุดก็มีรัฐประหาร

การเอาใจทหารเผด็จการและพวกคลั่งเจ้าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เสมือนคนที่พยายามเอาใจงูพิษโดยการลูบหัวมัน ทำไม่ได้หรอกเพราะงูมันจะหันมากัดตาย การจัดการกับเผด็จการก็เหมือนกัน

ดังนั้นอย่าไปหวังเลยว่าถ้าเรามีรัฐบาลแบบพรรคเพื่อไทย ที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต จะมีการจัดการกับอาชญากรรัฐ

ถ้าหมุนนาฬิกากลับได้ เพื่อเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้น ผมเสนอว่าหลังชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์สามารถประกาศว่าจะนำทหารและอภิสิทธิ์มาขึ้นศาลได้ สามารถปลดพวกผู้พิพากษาลำเอียงได้ สามารถปลดนายทหารระดับสูงที่คัดค้านประชาธิปไตยได้ แต่ต้องทำทันที โดยมีการระดมมวลชนเสื้อแดงให้ออกมาปกป้องรัฐบาล โดยเสนอนโยบายสำคัญๆ ที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตของกรรมาชีพและเกษตรกร และโดยเพิ่มคุณภาพสภาพความเป็นอยู่ของพลทหารและตำรวจระดับล่าง เพื่อให้คนเหล่านั้นเลิกฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา

แต่รัฐบาลที่จะทำอย่างนั้นได้คงไม่ใช่รัฐบาลของพรรคทักษิณ คงต้องเป็นรัฐบาลของพรรคกรรมาชีพและเกษตรกรคนจน ต้องเป็นรัฐบาลที่เดินหน้าคู่ขนานกับพลังมวลชนจำนวนมากนอกรัฐสภา และต้องเป็นรัฐบาลที่พร้อมจะปฏิวัติสังคมไทยแบบถอนรากถอนโคน

ในประเทศอื่นเมื่อมีการลุกฮือของมวลชนในการล้มเผด็จการจนสำเร็จ ก็มีกระแสที่จะจัดการกับพวกนายพลอาชญากร และลดอำนาจทางการเมืองของกองทัพ จนในที่สุดมีนายทหารบางคนในลาตินอเมริกาและเอเชียที่ถูกนำมาขึ้นศาล

10 10 2010_25

ในไทยก็เคยมีการลุกฮือล้มเผด็จการในอดีต เราทำได้อีก แต่เราต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบการจัดขบวน คือต้องดูว่าพลังต่างๆ ในสังคมอยู่ตรงไหน ต้องให้ความสำคัญกับขบวนการแรงงาน โดยเฉพาะซีกที่ก้าวหน้า ต้องเน้นการนำตนเองจากล่างสู่บน และต้องสร้างพลังประชาชนที่อิสระจากนักการเมืองอย่างทักษิณ ถ้าจะทำให้สำเร็จ

สหายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังติดคุก

ใจ อึ๊งภากรณ์

เวลาประมาณ 12:00 ของวันที่ 30 เมษายน 2554 สหายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกควบคุมตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประทศ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งต่อเขาว่า เขาถูกออกหมายจับโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในข้อหาตามมาตรา 112 ทนายความของสมยศได้พยายามติดต่อขอประกันตัวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ไม่ได้ประกันตัว และไม่เคยได้ประกันตัวเลยหลังจากนั้น

Somyot-Prueksakasemsuk

สมยศ เป็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเท่าเทียม ก่อนหน้าที่เขาจะมาเป็นบรรณาธิการวารสารของเสื้อแดง เขาเคยทำงานด้านแรงงาน สมยศเคยมีส่วนสำคัญในการจัดตั้งสหภาพแรงงานหลายแห่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเฉพาะในย่านรังสิต

Untitled

ผมเคยพบและพูดคุยกับสมยศหลายครั้ง และถึงแม้ว่าเราจะมีข้อแตกต่างในรายละเอียดบางอย่างของการเมืองฝ่ายซ้าย หรือการเมืองของขบวนการแรงงาน แต่เราสองคนรักษามารยาทและเคารพซึ่งกันและกัน หลายครั้งสมยศจะเชิญผมไปคุยกับคนงานในเรื่องการเมืองสังคมนิยมด้วย

ผมเข้าใจว่าทุกวันนี้เขามีหน้าที่ในห้องสมุดของคุก ซึ่งน่าจะมีประโยชน์กับเพื่อนนักโทษคนอื่นๆ

12295374_10206434082623538_6400719534773076811_n

บทความที่ทำให้เขาติดคุกอยู่ถึงทุกวันนี้ เขาไม่ได้เป็นคนเขียนเอง แค่เป็นบรรณาธิการ อย่างไรก็ตามเขาไม่ยอม “สารภาพความผิด” เพื่อให้มีการลดโทษ เพราะเขามองว่าการติดคุกของเขาควรจะเป็นเรื่องที่เปิดโปงข้อเสียของกฏหมาย 112

ในความเห็นผม กฏหมาย 112 เป็นกฏหมายที่ทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสิ้นเชิง และสังคมใดที่เราไม่สามารถพูดอะไรบางอย่างได้เกี่ยวกับการเมือง ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย     การแก้กฏหมาย 112 ให้สำนักงานหนึ่งเป็นผู้ฟ้องแต่ฝ่ายเดียว ควบคู่กับการลดโทษ ไม่สามารถแก้ปัญหาว่า 112 เป็นกฏหมายที่ปิดปากประชาชน ใช้กระบวนการลับในศาล และทำให้การพูดความจริงเป็นสิ่งที่ผิดได้

คนที่ปกป้องกฏหมาย 112 มักจะอ้างว่า ถ้ากษัตริย์ไม่มีอำนาจและเป็นแค่ประมุข ไม่ควรมีใครไป “ลบหลู่” หรือวิจารณ์ แต่ถึงแม้ว่ากษัตริยไทยเป็นเพียงเครื่องมือของทหารและอำมาตย์ มันมีหลายเรื่องที่นายภูมิพลต้องรับผิดชอบเอง เช่นทำไมเขานิ่งเฉยเวลาสามชายบริสุทธิ์ถูกประหารชีวิตในกรณีการยิงรัชกาลที่ ๘ ทั้งๆ ที่นายภูมิพลทราบว่าในเหตุการณ์นั้นเกิดอะไรขึ้น หรือทำไมนายภูมิพลไม่เคยตำหนิการทำรัฐประหารที่ทำลายระบบประชาธิปไตย และทำไมเขาถึงเสนอลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงที่แช่แข็งความเหลื่อมล้ำในสังคมตามแนวเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว ทั้งๆ ที่ตนไม่มีหน้าที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของชาติแต่อย่างใด การถามคำถามแบบนี้ไม่ใช่การ “ลบหลู่นายภูมิพล แต่เป็นการตั้งคำถามในเรื่องความจริงต่อบุคคลสาธารณะคนหนึ่ง

แต่เนื้อในสำคัญของกฏหมาย 112 และสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้อยู่ที่ตัวนายภูมิพล เพราะนายภูมิพลเป็นคนที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นกษัตริย์อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ โดยทหารเผด็จการในยุคสงครามเย็น จึงกลายเป็นเครื่องมือของทหารเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้นกฏหมาย 112 มีบทบาทสำคัญในการปกป้องอำนาจอันไม่ชอบธรรมของทหาร นี่คือสาเหตุที่เราเห็นการใช้กฏหมายนี้บ่อยขึ้นอย่างน่าใจหายภายใต้เผด็จการของไอ้ยุทธิ์มือเปื้อนเลือด นี่คือสาเหตุที่ข้อหา “ล้มเจ้า” กลายเป็นข้อแก้ตัวในการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนทุกครั้งที่มันเกิดขึ้น

วัตถุประสงค์สำคัญในการใช้กฏหมาย 112 ก็เพื่อปราบปรามนักประชาธิปไตยที่เป็น “ฝ่ายซ้าย” ซึ่งหมายถึงคนที่รักความเป็นธรรม รังเกียจความเหลื่อมล้ำ และต้องการเห็นสังคมที่พลเมืองทุกคนมีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ

ในยุค ๖ ตุลา ยุคหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา และในยุคมืดหลังรัฐประหารของประยุทธ์ คนที่โดนกฏหมาย 112 และที่เป็นนักโทษการเมืองปัจจุบัน ย่อมจะเป็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการใช้ 112 แบบนี้ คือใช้ในการปราบปรามกระแสสังคมนิยมหรือความพยายามที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียม พูดง่ายๆ กฏหมาย 112 เป็นกฏหมายที่ช่วยรักษาความเหลื่อมล้ำและโครงสร้างชนชั้นในสังคมไทย

พวกฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะทหารที่เกลียดชังประชาธิปไตย มักจะพูดว่าไทย “จำเป็น” ที่จะมีกฏหมาย 112 เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่คำถามใหญ่ที่เราควรถามคือ ทำไมเราต้องมีสถาบันปรสิตล้าหลังอันนี้ในยุคปัจจุบัน เพราะมันขัดกับหลักวิทยาศาสตร์และหลักความเท่าเทียมของมนุษย์

การที่ชนชั้นนำไทยเกรงกลัวการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยประชาชน หมายความว่ากษัตริย์ไม่ได้เป็นที่รักและเคารพของพลเมืองทุกคน มันสะท้อนว่าพวกนี้ขาดความมั่นใจ เขากังวลเรื่องอนาคตที่เขาจะโหนเกาะสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเองต่อไป

12928283_1299337720080269_4890856468121206166_n

ในความเห็นของผม ซึ่งอาจแตกต่างจากความเห็นของสหายสมยศ (ผมไม่ทราบ) กฏหมายเถื่อน 112 นี้แก้ไขให้ดีขึ้นไม่ได้ มันต้องยกเลิกอย่างเดียว แล้วต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน แต่ท้ายสุดแล้ว เราควรเปลี่ยนประเทศของเราให้เป็นสาธารณรัฐ

ทำไมไม่มีการสร้างกระแสมวลชนเพื่อสนับสนุนวัฒนา?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขบวนการประชาธิปไตยไทยควรศึกษาและสรุปบทเรียนจากการคุมขัง วัฒนา เมืองสุข เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะการที่ไม่มีการสร้างกระแสมวลชนเพื่อสนับสนุนวัฒนา เป็นจุดอ่อนมหาศาล การปล่อยให้กลุ่ม “พลเมืองโต้กลับ” แค่สี่ห้าคนพร้อมกับผู้สนับสนุนอีกสิบถึงยี่สิบคน เป็นผู้ออกมาประท้วง ถือว่าเป็นความผิดพลาดทางการเมืองของพวกเรา

ลองคิดดูสิ สมมุติว่าอดีต สส. พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. รวมถึงนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย แกนนำขบวนการประชาธิปไตยรากหญ้า และแกนนำขบวนการแรงงานซีกก้าวหน้า ออกมาพร้อมเพรียงกัน ในจุดเดียวกันที่กรุงเทพฯ แล้วรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่าง “รัฐอธรรมนูญ” เผด็จการ เพื่อเป็นการแสดงความสมานฉันท์กับ วัฒนา และเพื่อช่วยสร้างกระแสคัดค้านเผด็จการ มันจะเกิดอะไรขึ้น?

ในประการแรกมันจะให้กำลังใจกับมวลชนเป็นแสนๆ ที่จะออกมาคัดค้านเผด็จการ

ผมไม่เชื่อเลยว่าทหารจะกล้านำปืนมากราดยิงประชาชนในกรณีแบบนี้ โดยเฉพาะถ้าประกาศว่าจะโยกย้ายกลับบ้านในไม่กี่ชั่วโมง

ถ้าทหารมาจับแกนนำดังกล่าวหมดเลย จับไปขังปรับทัศนะคติเป็นอาทิตย์ ฝ่ายเผด็จการจะเสียการเมืองไปมากมายแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่ใครๆ จับตาดูผู้นำประเทศไทยและการจัดประชามติ แต่ถ้าเขาไม่จับ ก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฏหมายเถื่อนของไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดที่ประสบความสำเร็จ มันจะเป็นการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยอีกนิด และปูทางไปสู่สิทธิในการรณรงค์ต่อต้าน “รัฐอธรรมนูญ” ผ่านประชามติที่จะจัดขึ้น และแน่นอนกิจกรรมการเคลื่อนไหวแบบนี้จะมีความชอบธรรมสูง

26525867005_abdb936c4b

แล้วใครควรจะรับผิดชอบในเรื่องความผิดพลาดทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการไม่ออกมาสนับสนุน วัฒนา ในครั้งนี้?

แกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำนปช. และทักษิณ คงต้องมีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบตรงนี้ แต่ใครที่หูตาสว่างและผ่านเหตุการณ์วิกฤตการเมืองไทยในรอบสิบปี คงไม่แปลกใจแต่อย่างใดที่ ทักษิณ พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. ตั้งใจนอนหลับ ไม่ยอมเคลื่อนไหว ตั้งใจแช่แข็งขบวนการ เพื่อรอวันกอบโกยผลประโยชน์เมื่อทหารอนุญาตให้มีการเลือกตั้งจอมปลอมภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบ

ดังนั้นเราไม่ควรไปหวังหรือผิดหวังอะไรกับพวกนั้น

แล้วใครควรทบทวนตนเองในเรื่องนี้? คำตอบง่ายๆ คือพวกเราเอง

ผมอ่านคำพูดของนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการหลายคนที่พยายามแก้ตัวว่าทำไมไม่ควรสนับสนุนวัฒนา และทั้งหมดนั้นฟังไม่ขึ้น

บางคนบ่นว่าวัฒนามีเส้นสาย บางคนบอกว่าใกล้ชิดทักษิณเกินไป บางคนบ่นว่าเวลาคนอย่างวัฒนาโดนทหารจับสื่อมักจะสนใจ แต่เวลาผู้น้อยโดนจับไม่มีใครรู้ มันล้วนแต่เป็นข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น และเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่รู้จักวิธีสร้างแนวร่วมแต่อย่างใด

ก่อนหน้าที่วัฒนาจะโดนทหารคุมขังเพื่อไปปรับทัศนะคติครั้งแรก ผมไม่เคยรู้จักเขาเลย ไม่รู้จักจุดยืนทางการเมือง ไม่รู้จักผลงานในอดีต และไม่รู้ว่าเขาเป็นคนแบบนั้น แน่นอนเขาคงไม่ใช่นักสังคมนิยมเหมือนผม แต่นั้นไม่มีความสำคัญแต่อย่างใดเลย เพราะไม่ว่า วัฒนา จะมาจากไหนอย่างไร การที่เขาในฐานะอดีต สส. ออกมาวิจารณ์เผด็จการและ “รัฐอธรรมนูญเผด็จการ” โดยดูเหมือนไม่ยอมจำนนต่อทหาร เป็นการแสดงวุฒิภาวะในการนำในครั้งนี้ และเป็นการเปิดโอกาสให้เราร่วมประท้วง ในอนาคตเขาจะยังแสดงวุฒิภาวะในการนำแบบนี้อีกหรือไม่ เราไม่รู้ และมันไม่สำคัญ การต่อสู้มันต้องข้ามพ้นเรื่องตัวบุคคลเสมอ

บางคนเสนอว่าเราไม่ควรไปร่วมลงคะแนนเสียงในประชามติภายใต้ตีนทหารครั้งนี้ ถ้ารณรงค์ให้คนจำนวนมาก เป็นล้านๆ คน งดออกเสียงไม่ไปลงคะแนนมันก็คงดี แต่ถ้าไม่สามารถมั่นใจ 100% ว่าทำได้ เราก็ควรไปลงคะแนนคัดค้าน แต่นั้นก็ไม่เกี่ยวกับว่าเราควรสนับสนุบ วัฒนา หรือไม่

จุดอ่อนของฝ่ายเรา ท่ามกลางการแช่แข็งของการต่อสู้โดยทักษิณ เพื่อไทย และ นปช. คือเราไม่สนใจการจัดตั้งขบวนการมวลชนของเราเองเลย ชื่นชมแต่การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนหยิบมือเดียว  ในช่วง ๑๔ ตุลา แนวความคิดของพวกเราไม่ได้ชำรุดแบบนี้

การสร้างแนวร่วมที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะแนวร่วมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องอาศัยการมีจุดร่วมในประเด็นเดียวคือสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย มันต้องมีการยอมทำงานเคลื่อนไหวกับคนที่เราไม่เห็นด้วยในหลายๆ เรื่อง แต่ที่สำคัญคือมันควรเป็นแนวร่วมสมัครใจ คือไม่มีเงื่อนไขว่าต้องทำตามใคร ถกเถียงกันได้เสมอ มีเงื่อนไขเดียวที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อถึงเวลาก็ต้องเคลื่อนร่วมกัน แค่นั้นเอง

ถ้าพวกเราในขบวนการประชาธิปไตยไทยไม่สามารถเข้าใจหลักการต่อสู้พื้นฐานแบบนี้ได้ เราจะไปล้มเผด็จการได้อย่างไร?