Tag Archives: เผด็จการ

หลังฝ่ายซ้ายชนะเลือกตั้งในชิลี จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กาเบรียล บอริก (Gabriel Boric) อายุ 35 ปี ผู้แทนฝ่ายซ้าย และอดีตแกนนำนักศึกษาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศชิลี

บอริก เชื่อว่าเขาสามารถจะปฏิรูปสังคมชิลีแบบถอนรากถอนโคนได้ผ่านรัฐสภา โดยเฉพาะในเรื่องบำเหน็จบำนาญ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาเป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการนักศึกษาในรอบสิบปีที่ผ่านมา เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่พอใจกับนโยบายกลไกตลาดที่รัฐบาลในอดีตใช้ จึงมีการชุมนุมอย่างดุเดือดเพื่อเรียกร้องการศึกษาฟรี

บอริก ชนะผู้แทนฝ่ายขวาสุดขั้ว โฮเซ่ อันโตนิโอ คาสต์ (José Antonio Kast) ที่มาจากครอบครัวนาซีเยอรมัน และปกป้องประวัติศาสตร์ของเผด็จการ พิโนเชต์ ที่ขึ้นมามีอำนาจหลังรัฐประหารโหดในปี 1973 รัฐประหารครั้งนั้นทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของของประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ แห่งพรรคสังคมนิยม หลังรัฐประหารพวกทหารเผด็จการไล่ฆ่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายรวมถึง อาเยนเดย์ เอง และมีคนก้าวหน้าติดคุกจำนวนมาก นอกจากนี้ชิลีกลายเป็นสถานที่ทดลองนโยบายกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว

ชัยชนะของ บอริก มาจากกระแสการประท้วงไล่รัฐบาลนายทุนในปี 2019 ซึ่งเป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมนิยมเป็นพรรคปฏิรูปที่รับแนวกลไกตลาดมาใช้ สิ่งที่จุดประกายการประท้วงปี 2019 คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเชต์ เวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวง และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย เรื่องหลักสองอย่างคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชต์ในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

ก่อนหน้าที่ บอริก จะชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มีการรณรงค์โดยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยกเลิกรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ ซึ่งในที่สุดกระแสนี้ชนะประชามติให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่น่าทึ่งคือสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกมาประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหว 100 คนจากตำแหน่งทั้งหมด 150 ตำแหน่ง ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรกเป็นผู้หญิงพื้นเมือง คนที่สองเป็นนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม และมีนักเคลื่อนไหว GLBT+ เป็นรองประธานอีกด้วย ไม่เหมือนสภาร่างรัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่มักประกอบไปด้วยพวกนักกฎหมายและผู้ใหญ่ล้าหลัง

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรก

ความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวในชิลี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขบวนการของคนที่ไม่ไว้ใจนักการเมืองมากนัก ทำให้ผู้แทนฝ่ายขวา คาสต์ ชนะการเลือกตั้งรอบแรก เพราะนักเคลื่อนไหวไม่ออกมาลงคะแนนเนื่องจากมองว่าการเลือกตั้งไม่สำคัญ แต่เมื่อมันชัดเจนว่า คาสต์ มีนโยบายล้าหลังแค่ไหนและอาจชนะ คนเหล่านี้ก็ออกมาลงคะแนนในการเลือกตั้งรอบสอง และทุ่มคะแนนให้ บอริก แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเขาไว้ใจเชื่อ บอริก โดยไม่มีเงื่อนไข

บอริกตอนเป็นนักเคลื่อนไหว
ใส่สูท

บอริก เองทั้งๆ ที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา เริ่มประนีประนอมกับฝ่ายนายทุนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เริ่มใส่สูทและตัดผมให้สั้นลง และในการปราศรัยหลังชนะการเลือกตั้งก็ประกาศว่าจะเป็นประธานาธิบดีของประชาชน “ทุกคน” ไม่ใช่แค่ของกรรมาชีพ คนจน หรือผู้ถูกกดขี่ และในนโยบายเศรษฐกิจจะสนับสนุน “เศรษฐกิจผสม” คือภาครัฐกับภาคเอกชน แทนที่จะเสนอว่าจะยึดกิจการสำคัญๆ มาเป็นของรัฐ ทุกวันนี้เหมืองแร่หลายแห่งอยู่ในมือบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะเหมืองลิเธียม ซึ่งใช้ในการสร้างแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถไฟฟ้า ชิลีมีแหล่งลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและถูกควบคุมโดยทุนสหรัฐกับจีน

ในอดีตหลังจากที่มีการนำนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เข้ามาในหลายๆ ประเทศของลาตินอเมริกา การส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ น้ำมัน และผลผลิตทางเกษตร กลายเป็นกิจกรรมหลักที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรม การพึ่งการส่งออกวัตถุดิบแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวขาดเสถียรภาพ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ซึ่งบางครั้งขึ้นบางครั้งลง ตอนราคาวัตถุดิบสูงมีหลายรัฐบาลที่ใช้เงินนี้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน แต่พอราคาตกต่ำก็มีการนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้อย่างโหดร้าย [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/340NB9L และ https://bit.ly/2DlwMsp ]

ประวัติศาสตร์ของรัฐบาลซ้ายปฏิรูปในชิลีและที่อื่น สอนให้เรารู้ว่าผู้นำฝ่ายซ้ายที่ต้องการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จะเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาลจากกลุ่มทุน ชนชั้นปกครอง และประเทศจักรวรรดินิยม ถ้าไม่ยอมประนีประนอมก็จะถูกโค่นล้มด้วยความรุนแรง มันมีวิธีการเดียวที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง คือการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะกรรมาชีพ และการทำแนวร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ข้ามพรมแดนกับขบวนการในประเทศอื่นๆ ของลาตินอเมริกา เพื่อลดอิทธิพลของจักรวรรดินิยม

ขบวนการแรงงานชิลีในท่าเรือและในเหมืองแร่เข้มแข็ง เพราะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจการส่งออก นอกจากนี้สหภาพแรงงานในภาครัฐเช่นในระบบการศึกษาและโรงพยาบาลก็เข้มแข็งด้วย

ถ้า บอริก จริงจังที่จะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสังคมชิลี เขาจะต้องจับมือทำแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และจะต้องปลุกระดมนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพ แต่นักการเมืองที่เปลี่ยนไปใส่สูทเพื่อให้ชนชั้นปกครองและคนชนชั้นกลางยอมรับเขา มักจะหันหลังให้กับการปลุกระดม ซึ่งแปลว่านักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าจะต้องนำการต่อสู้จากล่างสู่บนเอง แต่ถ้าขาดพรรคปฏิวัติที่โตพอ เพื่อประสานการต่อสู้ในหลายๆ ประเด็น และเพื่อร่วมถกเถียงและเสนอแนวทางการต่อสู้ การนำจากล่างสู่บนจะยากขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังไม่ถึงจุดที่จะสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชิลีไม่ได้

ประชาธิปไตย “ภายใต้ท่านผู้นำ” ของ ปูติน ในรัสเซีย

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ลักษณะการปกครองในรัสเซียภายใต้  วลาดีมีร์ ปูติน ในยุคปัจจุบันมีสององค์ประกอบที่ทำให้ขาดประชาธิปไตยคือ

  1. อำนาจแนวตั้ง และ
  2. การบริหาร “ประชาธิปไตยภายใต้ท่านผู้นำ”

เมื่อสงครามเย็นยุติลงอันเป็นผลจากการล่มสลายของระบบเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” และก่อนที่ ปูติน จะขึ้นมามีอำนาจ ประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซิน ได้นำกลไกตลาดเสรีแบบสุดขั้วเข้ามาใช้ในรัสเซียในทศวรรษ 1990 ซึ่งทำให้ประชาชนคนธรรมดายากลำบากเป็นอย่างยิ่ง และธุรกิจต่างๆ ที่เคยเป็นของรัฐภายใต้ระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในสมัยโซเวียด ก็ถูกแปรรูปไปเป็นบริษัทเอกชน คนที่เข้ามาเป็นเจ้าของใหม่มักจะเป็นคนที่เคยมีอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์ หรือพวกมาเฟียที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ การคอร์รับชั่นจึงกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ และอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่เคยอยู่ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกโอนไปที่แก๊งต่างๆ ของผู้มีอำนาจที่ใกล้ชิดกับมาเฟีย [ดูเรื่องเผด็จการทุนนิยมโดยรัฐที่นี่ https://bit.ly/2uOffCh และ https://bit.ly/2vbhXCO ]

yeltsin1

ผลสำคัญอันหนึ่งของการนำกลไกตลาดสุดขั้วเข้ามาใช้ คืออำนาจทางการเมืองที่เคยรวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลกลาง ถูกกระจายไปอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผู้มีอำนาจ และมาเฟีย ซึ่งสร้างปัญหาให้รัฐ ไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจหรืออำนาจในเวทีโลก

รัฐบาลของ เยลต์ซิน ไม่เป็นที่ชื่นชมของประชาชน และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เขาลาออกจากตำแหน่งในปี 1999 โดยที่ ปูติน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน

yeltsin-putin

ปูติน ต้องการที่จะดึงอำนาจกลับสู่ส่วนกลาง และยึดธุรกิจใหญ่ๆ เช่นน้ำมัน กลับมาเป็นของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาความอ่อนแอของรัสเซีย ดังนั้น ปูติน จำเป็นต้องเปิดศึกกับพวกมีอำนาจทางธุรกิจและมาเฟียบางส่วนที่ขัดขวางนโยบายของเขา แต่ส่วนที่เป็นแนวร่วมกับ ปูติน ก็อยู่ต่อได้

ปูติน สามารถรื้อฟื้นอำนาจเดิมของรัสเซียได้บ้าง วิธีหนึ่งคือการเพิ่มงบประมาณทหาร การแทรกแซงในสงครามซิเรีย เพื่อสนับสนุนเผด็จการโหดของ อัสซาด และการเบ่งอำนาจในยูเครนเพื่อยึดไครเมีย [ดู https://bbc.in/2uWoujc ]

putin2-1

พร้อมๆ กันนั้น ปูติน ได้สร้างระบบกึ่งเผด็จการขึ้นมา มีการยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่นยกเว้นในเมืองมอสโก ตอนนี้ผู้ปกครองเมืองและจังหวัดต่างๆ เป็นคนที่ ปูติน แต่งตั้งหมดเลย มีการจำกัดสิทธิในการประท้วงอย่างรุนแรง มีการปราบ เอ็นจีโอ และระบบตุลาการถูกควบคุมโดยรัฐบาลและผู้มีอำนาจที่มีเส้น

ตอนนี้อำนาจทางการเมืองในรัสเซียมีลักษณะ “แนวตั้ง” โดยที่ ปูติน นั่งอยู่จุดสูงสุด แต่รอบๆ ปูติน มีกลุ่มผู้มีอำนาจและมาเฟียที่สนับสนุนเขาแต่แย่งชิงผลประโยชน์กันเอง ใจกลางของรัฐบาล ปูติน เต็มไปด้วยการคอร์รับชั่น นอกจากนี้ ปูติน ทำแนวร่วมกับองค์กรศาสนาคริสต์อนุรักษนิยมสุดขั้วอีกด้วย

ส่วนระบบ “ประชาธิปไตยภายใต้ท่านผู้นำ” เป็นการบริหารระบบเพื่อให้ดูคล้ายประชาธิปไตย แต่ในรูปธรรมไร้เสรีภาพ ซึ่งคงใกล้เคียงกับระบบที่เผด็จการประยุทธ์ฝันว่าจะใช้ในไทยด้วย

5aac372092c0691c008b47d8-750-563

ใน “ประชาธิปไตยภายใต้ท่านผู้นำ” ของ ปูติน พรรคของเขาผูกขาดได้เพราะ สื่อมวลชนต่างๆ กีดกันไม่ให้ฝ่ายค้านออกข่าว ในยุค ปูติน มีการโอนสื่อเอกชนมาเป็นของรัฐเกือบหมด และจำนวนนักโทษทางการเมืองก็เพิ่มขึ้น มันอาจมีการเลือกตั้งหลายรอบ แต่เป็นการเลือกตั้งปลอมที่เรารู้ผลล่วงหน้าเสมอ

ในปี 2012 มีคนออกมาประท้วงต่อต้าน ปูติน เป็นหมื่น แต่รัฐบาลปราบหนักและผู้นำฝ่ายค้านถูกจับเข้าคุกหรือไม่ก็ถูกซื้อเพื่อนำมาเป็นพวกของ ปูติน

ฝ่ายซ้ายในรัสเซียมีกลุ่มเล็กๆ พรรคคอมมิวนิสต์เก่าไม่ถือว่าเป็นฝ่ายซ้าย เพราะมีนโยบายขวาจัดชาตินิยม แต่ฝ่ายซ้ายกลุ่มต่างๆ มักโดนปราบจากรัฐบาล มีการเถียงกันระหว่างกลุ่มต่างๆ เรื่อง ยูเครน และ ซิเรีย ว่าควรมีจุดยืนอย่างไรต่อนโยบายของ ปูติน โดยที่บางฝ่ายไม่เข้าใจว่ารัสเซียเป็นอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามเสมอ เพราะต้องดูผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพเป็นหลัก ฝ่ายซ้ายหลายกลุ่มพยายามทำงานกับขบวนการแรงงานแต่บรรยากาศค่อนข้างจะลำบาก ในขณะเดียวกันฝ่ายขวาฟาสซิสต์ ซึ่งปูตินเคยหนุนเพื่อเป็นเครื่องมือของตน ก็ขยายอิทธิพล

โรคเรื้อรังแห่งการมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน

ใจ อึ๊งภากรณ์

การมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน โดยสนใจแต่สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และละเลยภาพรวม เป็นโรคเรื้อรังของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน” ในสังคมไทยมานาน มันนำไปสู่การไม่เข้าใจต้นเหตุของปัญหาและวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย ต้องถือว่าเป็นแนวคิดที่นำไปสู่ความ “ปัญญาอ่อนทางการเมือง”[1]

วิธีคิดแบบนี้มีผลทำให้ เอ็นจีโอ และหลายองค์กรณ์ที่ใกล้ชิดกับเอ็นจีโอ ไม่เข้าใจว่าการสนับสนุนหรืออย่างน้อยการยอมรับรัฐประหาร นำไปสู่การเพิ่มปัญหาโดยรวมในสังคม

ตัวอย่างอันหนึ่งคือจุดยืนของบางกลุ่มที่เคยออกมาต่อต้านร่าง “รัฐธรรมนูญ” ของทหารโจร โดยเน้นแต่ปัญหาที่เชื่อว่าใกล้ตัวเองเท่านั้น

ในวันกรรมาชีพสากลปีที่แล้ว องค์กรที่เรียกตัวเองว่า “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ออกมาเสนอ 8 เหตุผลที่กรรมาชีพควรคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยเน้นแต่เรื่องปากท้องสำหรับกรรมาชีพ และที่แย่กว่านั้นคือไม่ได้เสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องทั้งหมดด้วย มันเป็นการบิดเบือนความจริงในภาพรวม ดูถูกกรรมาชีพ ว่าโง่เขลาไม่สนใจปัญหาภาพกว้างในสังคม และเป็นการมองว่ากรรมาชีพไม่มีวุฒิภาวะที่จะเข้าใจการเมืองภาพกว้างได้

ในวันแรงงานสากล “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ควรจะเสนอเหตุผลในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยผสมเรื่องปากท้องและปัญหาโดยรวมสำหรับพลเมืองทุกคนในสังคม เช่นควรจะเน้นเรื่องการต่ออายุยืดเวลาของเผด็จการ การทำลายอำนาจประชาชนในการเลือกรัฐบาล การที่เผด็จการคัดค้านการใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์คนจน แล้วหลังจากนั้นควรลงมาพูดรายละเอียดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิในการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน และการทำลายระบบบัตรทองกับการศึกษาฟรี นอกกจากนี้ควรพูดถึงผลกระทบของร่างรัฐธรรมนูญต่อศาสนา และเรื่องอื่นๆ อีกด้วย เช่นปัญหาที่ทหารก่อขึ้นมาในปาตานี เพราะการเสนอแบบนั้นเป็นการเสนอที่จะนำไปสู่การพัฒนาความเข้าใจทางการเมือง โดยการโยงภาพกว้างกับรายละเอียดประเด็นปัญหาปากท้อง

Untitled

ในขบวนการกรรมาชีพไทย มีหลายกลุ่มที่เข้าใจประเด็นปัญหาภาพรวมของสังคม และพยายามให้การศึกษาทางการเมืองกับเพื่อนๆ กรรมาชีพในเรื่องการเมืองภาพกว้าง กลุ่มเหล่านี้คัดค้านเผด็จการมานาน และมีส่วนร่วมในขบวนการประชาธิปไตย

แต่แถลงการณ์ของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ละเลยกลุ่มแรงงานที่ก้าวหน้ามากเกินไป เพื่อวางตัวเสมอกับจุดยืนของพวกที่ล้าหลัง เช่นพวกนักสหภาพแรงงานที่จงใจไม่สนใจการเมือง โดยใช้สูตร “ปัญหาประเด็นเดียว” เดิมๆ เก่าๆ ที่ล้มเหลวจากคนที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน” มันไม่นำไปสู่การขยับความคิด พูดง่ายๆ ในเรื่องนี้เขาควรจะเรียกตัวเองว่า “ขบวนการประชาธิปไตยเก่า” มันเป็นสูตรที่ เอ็นจีโอ ใช้มานาน คือมองว่าคนจนเป็นเหยื่อ และไปเน้นทำงานกับเหยื่อ แทนที่จะมองว่าคนจนปลดแอกตนเองได้และเน้นทำงานกับคนที่พร้อมจะสู้

ตัวอย่างอื่นๆ ของโรคเรื้อรังแห่งการมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน เห็นได้จากแถลงการณ์ต่างๆ ของ คนที่สนใจปัญหาสุขภาพ ที่พูดถึงแต่การตัดสิทธิในการใช้บัตรทองแต่ไม่กล่าวถึงปัญหาการทำลายประชาธิปไตย หรือคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือผังเมือง ที่เอ่ยถึงปัญหาของตนเอง แต่ละเลยภาพกว้างของการที่เผด็จการครองเมือง

building_0224

ในแวดวงวิชาการก็มีแนวคิดคล้ายๆ กัน ดูได้จากการสัมมนาหรือการเขียนบทความ ที่แยกส่วนอ้างว่าพูดหรือเขียนจากมุมมองนักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักกฏหมาย แต่การแยกแบบนี้เป็นแนวคิด “อวิชชา”

การนำแต่ละประเด็นมาเรียงเข้าด้วยกัน เหมือนบัญชีหางว่าว ก็ยังไม่พอ และไม่ได้แก้ไขปัญหา เพราะต้องมีการอธิบายว่าแต่ละปัญหาเกี่ยวข้องกันอย่างไร และเกี่ยวข้องกับภาพกว้างของระบบเศรษฐศาสตร์การเมืองและสังคมอย่างไรอีกด้วย

ปัญหาเรื่องนี้ผมและสหายฝ่ายซ้ายอื่นๆ ในไทย พยายามแก้ไขโดยการถกเถียงกับ เอ็นจีโอ โดยเฉพาะในงานสมัชชาสังคมไทยที่จัดที่ธรรมศาสตร์ในปี ๒๕๔๙ แต่ เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่ไม่สนใจ ต้องการพูดคุยแต่ในประเด็นเดียวของตนเองต่อไป สาเหตุหนึ่งก็เพราะองค์กรเหล่านั้นเน้นการขอทุนภายใต้ปัญหาประเด็นเดียว

ต้นกำเนิดของแนวคิดแบบมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน มาจากยุครุ่งเรืองของ เอ็นจีโอ และวิธีคิด “อนาธิปไตย” กับ “หลังสมัยใหม่” หรือ “โพสธโมเดิน” ซึ่งเกิดขึ้นหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนวสตาลินทั่วโลก เพราะนักเคลื่อนไหวหันหลังให้กับทฤษฏีที่พยายามอธิบายปัญหาภาพรวมของสังคม ที่เขาเรียกว่า “มหาวาทกรรม” พวกนี้หันหลังให้กับความพยายามที่จะล้มรัฐเผด็จการอีกด้วย และเขาเปลี่ยนไปเป็นนักเคลื่อนไหวประเด็นเดียวที่รับทุนมาเคลื่อนไหว และพร้อมจะล็อบบี้หรือเข้าไปคุยกับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าผู้มีอำนาจนั้นจะดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งหรือจากการทำรัฐประหาร ไม่สนใจแนวการเมืองของผู้มีอำนาจด้วย มันเป็นการปฏิเสธการเมืองและทฤษฏีการเมืองทั้งหมดไปเลย และมันเป็นแนวการทำงานที่อ่อนแอ

สรุปแล้วมันเป็นแนวคิดที่เชิดชูความโง่เขลาปัญญาอ่อนทางการเมือง เพราะจงใจไม่สนใจที่จะเข้าใจทฤษฏีการเมืองเลย แต่ที่สำคัญพอๆ กันคือ มันทำให้เราสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะล้มเผด็จการยากขึ้น

ผลที่เห็นชัดในรอบสิบปีที่ผ่านมาคือ เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่ไปจับมือกับพวกเสื้อเหลือง คือกลุ่มคนที่ล้าหลังที่สุดในสังคมและพวกที่ต้องการปกป้องอภิสิทธิ์ของคนรวย เพื่อไล่ทักษิณ หลายกลุ่มสนับสนุนการทำรัฐประหารและยังมีบางกลุ่มที่สนับสนุนม็อบสุเทพอีกด้วย

ล่าสุดเอ็นจีโอบางส่วนก็ไปจับมือกับจอมเผด็จการประยุทธ์ เพื่อจัดกิจกรรมเรื่อง “ประชาสังคม และประชาธิปไตย” ฟังแล้วไม่รู้จะหัวเราะห์หรือร้องไห้

แกนนำนักเคลื่อนไหวแรงงานล้าหลัง จากสหภาพแรงงานรถไฟ ก็เคยไปจับมือกับทหารเผด็จการ แต่ตอนนี้โดนกัดจากทหารโดยนโยบายแปรรูปรถไฟให้เป็นเอกชน เอ็นจีโอหลายกลุ่มก็ผิดหวังอกหักในเรื่องการปฏิรูปการเมืองของทหารด้วย แต่ถ้าเขาสนใจศึกษาการเมืองมาแต่แรก เขาจะไม่อกหักแบบนี้

นักมาร์คซิสต์ใช้แนวคิด “วิภาษวิธี” ที่เริ่มจากจุดยืนที่มองว่า “ความจริงในโลกเข้าใจได้ต่อเมื่อเราดูภาพรวม” คือดูภาพรวมในมิติต่างๆ ของสังคม ภาพรวมในมิติสากลทั่วโลก และภาพรวมในเชิงประวัติศาสตร์อีกด้วย

และสำหรับนักมาร์คซิสต์ การสร้างพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ ที่รวมคนหนุ่มสาวและนักศึกษาเข้าไปด้วย มีความสำคัญเพราะเป็นการรวมตัวกันของคนที่มีความคิดก้าวหน้าที่สุดในสังคม เพื่อชักชวนให้มวลชนเริ่มมองภาพรวมของปัญหาที่มาจากระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น พูดง่ายๆ พรรคมีหน้าที่ในการสร้างสะพานระหว่างจิตสำนึกแบบ “ปากท้อง” ไปสู่จิตสำนึกในเรื่องภาพรวมทางชนชั้น นั้นคือการเมือง “ใหม่” ในโลกปัจจุบันที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าเราจะแก้ไขโรคเรื้อรังแห่งการมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน และเดินหน้าเพื่อล้มเผด็จการ เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคการเมือง และการพัฒนาทฤษฏีทางการเมืองที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายเรา

[1] อ่านเพิ่มเรื่องนี้ที่ http://bit.ly/24tv63k หรือในหนังสือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย” http://bit.ly/1SGzRiw (อาจต้องเข้าสู่ระบบผ่านเฟสบุ๊คของท่าน)

อ่านเพิ่มเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม http://bit.ly/2cvlmCk

จีน ต้นเหตุของการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ในยุคเหมา

ใจ อึ๊งภากรณ์

การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนเริ่มขึ้นในปี 1966 เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มันเกิดขึ้นจากอะไร และเป็นการปฏิวัติจริงหรือ?

ภาพของประเทศจีนในทศวรรษ 1950 และ1960 ที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พยายามวาด เป็นภาพของประเทศที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของเกษตรกรรายย่อยที่พึงพอใจกับสังคมใหม่ แต่นั้นก็เป็นภาพจอมปลอมที่มองข้ามความยากจนของเกษตรกร และความลำบากของชีวิตคนธรรมดา ทั้งในเมืองและชนบท

นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อยึดอำนาจได้ คือนโยบายที่คงไว้โครงสร้างเก่าบางส่วน เช่นการคงไว้เจ้าหน้าที่รัฐเก่าของพรรคก๊กมินตั๋ง และการยึดอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้ถูกก๊กมินตั๋งยึดมาเป็นของรัฐ โดยจ่ายเงินปันผลให้นายทุนเดิม ซึ่งแปลว่าใน “จีนแดง” ยังมีเศรษฐี นโยบายดังกล่าว เป็นแนวที่เราเรียกว่า “แนวทุนนิยมโดยรัฐตามแม่บทสตาลิน” มันทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้บ้าง แต่ถ้าจีนจะพัฒนาให้ทันตะวันตกหรือรัสเซียต้องมีมาตรการอื่น

ในปี 1958 เหมาเจ๋อตุง สามารถผลักดันนโยบาย “ก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่” เพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมจีน ทั้งๆ ที่ เติ้งเสี่ยวผิง และหลิวเซ่าฉี คัดค้าน นโยบายก้าวกระโดดนี้อาศัยการยึดที่ดินจากเกษตรกรรายย่อย และบังคับให้ย้ายไปทำงานในโรงงาน หรือบังคับให้ไปทำนารวม ในสองปีแรกดูเหมือนมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 30% แต่ในปี 1960 ความจริงก็ปรากฏออกมา เพราะคุณภาพการผลิตในโรงงานต่างๆ แย่มาก และการบังคับทำนารวม ทำให้เกษตรกรไม่พอใจและผลผลิตลดลง จนมีคนอดอาหารตายหลายล้านคน สรุปแล้วการพัฒนาเศรษฐกิจ ผ่าน “พลังจิตใจ” ของ เหมาเจ๋อตุง ในการ “ก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่”  ไม่สามารถแก้ปัญหาที่มาจากความล้าหลังทางวัตถุของจีน ซึ่งเป็นมรดกจากจักรวรรดินิยมก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จะยึดอำนาจ

แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์เขี่ย เหมา ออกไปและหันมาขยายเศรษฐกิจด้วยความระมัดระวัง แต่ผลแย่กว่าเดิม ในปี 1966 เหมาเจ๋อตุง หลินเปียว และเชียงชิง(ภรรยาเหมา) สามารถยึดอำนาจใหม่ผ่านการประกาศ “ปฏิวัติวัฒนธรรมโดยชนชั้นกรรมาชีพ” แต่การรณรงค์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การปฏิวัติ และไม่ได้ทำโดยกรรมาชีพเลย มันเป็นการพยายามกำจัดคู่แข่งของ เหมา ในแกนนำพรรคต่างหาก โดยใช้ข้ออ้างว่าพวกนี้ยังมีความคิดแบบวัฒนธรรมเก่าๆ มีการผลัก เติ้งเสี่ยวผิง และหลิวเซ่าฉี ออกไป และใช้หนุ่มสาวในกอง “การ์ดแดง” เพื่อกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่ระดับล่างอย่างโหดร้ายทารุน เช่น ครู นักเขียน นักข่าว และนักแสดง โดยเฉพาะคนที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อ “ท่านประธานเหมา” แต่ที่น่าสนใจคือ เหมา ออกคำสั่งว่าการ์ดแดงจะต้องไม่ไปยุ่งกับอำนาจกองทัพหรือตำรวจ

mao-newsweek05.16

     ในแง่หนึ่ง เหมา สามารถฉวยโอกาสใช้ความไม่พอใจที่คนหนุ่มสาว กรรมาชีพ และคนระดับล่าง มีต่อพวกข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ที่เริ่มเสพสุขในขณะที่คนอื่นยากลำบาก บางส่วนของกระแสนี้พยายามค้นหาทางที่จะกลับสู่ “สังคมนิยมแท้” และคนเหล่านั้นสามารถส่งต่อมรดกไปสู่กระแส “กำแพงประชาธิปไตย” ในทศวรรษ 1970

red-guards_2487403b

     เหมา และพรรคพวกปลุกกระแส “การ์ดแดง” ขึ้นมาแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมมันได้ เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังการ์ดแดงที่เป็นคู่แข่งกัน จน เหมา ต้องสั่งให้กองทัพเข้าไปจัดการปราบปราม ในที่สุดมีการส่งคนหนุ่มสาวจำนวนมากไปลงโทษในชนบทด้วยการทำงานหนัก

z030b_1

     ในยุคนั้นฝ่ายซ้ายส่วนหนึ่งทั่วโลก ปลื้มกับการปฏิวัติวัฒนธรรมและหนังสือปกแดงของ เหมาเจ๋อตุง และมีการอ้างประโยคไร้สาระ ที่มาจากความคิดเหมาในหนังสือปกแดง ยังกับว่ามันเป็นคัมภีร์อันยิ่งใหญ่ ที่แนะแนวการต่อสู้สำหรับนักสังคมนิยม แต่ในความเป็นจริง ในปี 1972 ขณะที่สหรัฐกำลังถล่มเวียดนาม เหมาเจ๋อตุง ก็ต้อนรับประธานาธบดี นิกสัน สู่ประเทศจีน

ในปี 1977 หนึ่งปีหลังจากที่เหมาเสียชีวิต เติ้งเสี่ยวผิง นำกลไกตลาดเข้ามาใช้ในจีนด้วยความกระตือรือร้นยิ่ง และทุกวันนี้จีนเป็นเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใช้ระบบทุนนิยมกลไกตลาด จีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ไม่เคยเป็นสังคมนิยมเลย

ศาสนาพุทธไม่ควรเป็นศาสนาประจำชาติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

มันน่าเบื่อเหลือเกินที่กลุ่มพระสงฆ์ออกมาพูดซำแล้วซ้ำอีก ว่าศาสนาพุทธควรถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาสนาประจำชาติ การมีเผด็จการครองเมืองที่ทำลายสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่จะคิดเองยังไม่พออีกหรือ? การที่ทุกวันนี้คนติดคุกเพราะไม่รักใครสักคน หรือเพราะวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมยังไม่พออีกหรือ? จะต้องมีการบังคับให้ความเชื่อชนิดหนึ่งสำคัญกว่าความคิดอื่นไปทำไม?

ลัทธิคลั่ง “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” เป็นลัทธิสุดขั้วที่เผด็จการใช้ในการกดขี่พลเมืองประเทศนี้มานานเกินไป มันน่าจะหมดยุคนานแล้ว ความคิดเรื่อง “เสรีภาพ ประชาธิปไตย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” น่าจะเป็นความคิดกระแสหลักในสังคมเราแทน

มันอาจจริงที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้มองว่าตนเองนับถือศาสนาพุทธ อันนี้ไม่มีใครเถียงด้วยได้และมันปรากฏให้เห็นชัด แต่ต่อจากนั้นก็คงมีการถกเถียงกันว่าศาสนาพุทธที่แต่ละคนนับถือมันเป็นแบบไหน ภาพความขัดแย้งในคณะสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายในศาสนาพุทธ และเป็นสิ่งที่เกิดจากผลประโยชน์และความขัดแย้งทางการเมือง

ถ้าพูดถึงการนับถือศาสนาพุทธในไทยแล้ว บางคนเข้าพิธีศาสนาบ่อย บางคนบวช บางคนอาจศรัทธาในศาสนาในลักษณะเงียบๆ ไม่เข้าพิธี ไม่เข้าวัด และบางคนอาจไม่เคยคิดถึงศาสนาเลย นอกจากนี้ก็จะมีคนที่ไม่นับถือศาสนาเลย ซึ่งในสังคมทันสมัยที่อิงวิทยาศาสตร์ เสรีภาพ และเหตุผล ย่อมมีมากขึ้นทุกที

การประกาศว่าศาสนาพุทธ “ต้อง” เป็นศาสนาประจำชาติ มันมีข้อบกพร่องเสียหายสองอย่างคือ

(1) มันเป็นการกีดกันพลเมืองที่มีความเชื่อในศาสนาอิสลาม คริสต์ ฮินดู หรือความคิดอื่นๆ ที่รวมไปถึงปรัชญาที่ปฏิเสธศาสนาด้วย มันสร้างพลเมืองสองระดับ คนที่อยู่ในกระแส กับคนที่อยู่นอกกระแส และมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับคนที่มีความเชื่อที่ไม่ใช่พุทธ เช่นในปาตานีเป็นต้น หรือจะนำไปสู่การช่วงชิงกันเพื่อนิยามศาสนาพุทธ “ที่ถูกต้อง” อีกด้วย

การพูดเรื่องศาสนาที่ “ถูกต้อง” เป็นการพูดโกหกตอแหล คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าศาสนาบริสุทธ์ไม่มีจริง เพราะศาสนาขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของมนุษย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำเขียนศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์บางคนเขียนขึ้นในอดีต

ทุกวันนี้เราเห็นคนอย่าง “กลุ่มพิทักษ์พุทธศาสนา” ที่เชียงใหม่ ที่ออกมาคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นการเหยียดเชื้อชาติและวัฒนธรรมของคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ในภาคเหนือกลุ่มชนชาวจีนที่นับถืออิสลามมีมานานจากสมัยที่มีเส้นทางค้าขายโบราณ แต่พวก “กลุ่มพิทักษ์พุทธศาสนา” พูดเหมือนเขาไม่ใช่พลเมืองของสังคมเรา ในที่สุดถ้าความคิดแบบนี้ขยายตัวก็จะเกิดขบวนการพระสงฆ์ที่นำอันธพาลไปฆ่าคนมุสลิมอย่างที่เราเห็นที่พม่า ดังนั้นเราต้องคัดค้าน

(2) การประกาศว่ารัฐธรรมนูญต้องระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นการผูกศาสนาไว้กับรัฐ ในอดีตรัฐไทยภายใต้เผด็จการทหารพยายามจะคุมพระสงฆ์ด้วยการรวมศูนย์อำนาจ มันไม่ใช่เพื่อพัฒนาศาสนาแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ และรัฐไทยพยายามตลอดที่จะกำหนดว่าพุทธศาสนาที่ “ถูกต้อง”คืออะไร หรือใครบ้างที่จะมีสิทธิห่มผ้าเหลือง

ความแตกแยกในหมู่สงฆ์ที่เราเห็นตอนนี้ก็เป็นเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ทั้งสิ้น ในอดีตรัฐไทยพยายามที่จะประโคมว่าพระสงฆ์ไม่ควรยุ่งในการเมือง แต่มันเป็นภาพหลอกลวง เพราะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ หรือก่อนหน้านั้นอีก พระสงฆ์กับการเมืองเกี่ยวข้องกันเสมอ รัฐไทยพยายามสร้างภาพว่าพระที่ “ดี” ต้องคล้อยตามผู้มีอำนาจ และในปัจจุบัน พุทธอิสระ พระฟาสซิสต์คนโปรดของประยุทธ์ ก็ดูเหมือนมีสิทธิพิเศษ

ผมไม่สนใจหรอก ถ้าพระสงฆ์จะตีกันและแย่งชิงอะไรกัน ถ้าไม่มีผลกระทบกับพลเมืองส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ต้องสารภาพว่าผมชอบเห็นพระสงฆ์เผชิญหน้ากับทหาร แต่นั้นเป็นเพียงอารมณ์ที่ไม่คิดมาก

สำหรับนักประชาธิปไตย หรือนักสังคมนิยม ศาสนาควรจะเป็นเรื่องส่วนตัว แยกออกจากรัฐโดยสิ้นเชิง ใครจะศึกษาศรัทธาในแนวคิดแบบไหนก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าคนที่นับถืออะไรจะมารวมตัวกันตั้งสมาคมหรือองค์กรทางศาสนา เพื่อสร้างวัดหรือประกอบพิธี เขาก็ควรมีสิทธิ์ ไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ แต่ไม่ควรมีการบังคับสวดมนต์ในโรงเรียน และไม่ควรมีการระบุว่าพลเมืองนับถืออะไรในบัตรประจำตัวแต่อย่างใด

ทำไมเราต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ๒๕๕๙ นี้เป็นเอกสารอัปลักษณ์อย่างที่ฝ่ายประชาธิปไตยทำนายไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะอะไรที่คายออกมาจากปากหมาของเผด็จการย่อมเป็นประชาธิปไตยไม่ได้

แต่เมื่อเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๘ เมื่อปีที่แล้ว มัน “เนียนกว่า” ในการซ่อนความเลวทราม เพราะมีการตัดหมวดที่เคยชวนให้ขำแบบตลกร้าย ซึ่งเคยพูดถึงคุณสมบัติของผู้นำทางการเมืองที่เป็น “คนดี” และมีการยกเลิก“คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการบังคับปรองดองแห่งชาติ” ที่เคยถูกเสนอให้เป็น “คณะมหาอำนาจ” เพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต แต่ไม่มีการยกเลิกแนวคิดนี้แต่อย่างไร เพราะเอาอำนาจในการควบคุมรัฐบาลไปฝากไว้ที่อื่นดังนี้

มีการคงไว้บทบาทและยืดวาระการทำงานของคณะทหารเผด็จการ คสช. ออกไปหลังการเลือกตั้งในมาตรา 263 โดยให้มีส่วนสำคัญในการกำหนด “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ที่ผูกพันกับ “นโยบายรัฐ” ในหมวดที่ 6

“ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นี้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดและแช่แข็งนโยบายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีเสรีภาพที่จะกำหนดนโยบายเองตามความต้องการของประชาชน นอกจากนี้มันเป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจับผิด และถอดถอนนักการเมือง หรือ “วีโต้” นโยบายของรัฐบาลที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเองว่า “ไม่ตรงกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ”

นอกจากนี้มีการยืดเวลาการดำรงอยู่ขององค์กร “ปฏิกูลการเมือง” ที่แต่งตั้งโดยเผด็จการ ให้ยาวออกไปหลังการเลือกตั้ง โดยอ้างว่ายังต้อง “ปฏิรูป” อีกหลายเรื่อง มีการให้บทบาททหารหัวทึบ คสช. ในการ “ปฏิรูป”การศึกษา ซึ่งชวนให้เราสงสารเด็กไทยในอนาคตที่ต้องเติบโตภายใต้แนวคิดของคนอย่างประยุทธ์

มีการย้ายข้อความที่เคยดำรงอยู่ใน “มาตรา 7” ของรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเคยถูกอ้างโดยพวกอนุรักษ์นิยมว่าให้อำนาจกับกษัตริย์ในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีทักษิณและแต่งตั้งนายกคนใหม่ มาอยู่ในหมวดของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 207 ซึ่งเป็นการให้อำนาจล้นฟ้าให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นอำนาจที่ลอยอยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้างอำนาจเพิ่มให้กับศาลรัฐธรรมนูญ และต่ออายุ คสช. และองค์กรลูกของ คสช. เพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต

เราคงไม่แปลกใจที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดว่า “รัฐบาลของประชาชนจะมีสถานะเพียงนกเขาในกรง ที่โก่งคอขันได้ แต่ไร้อิสรภาพ”

ในร่างขยะฉบับนี้การที่นายกรัฐมนตรีสามารถเป็น “คนนอก” ที่ไม่ใช่ สส. ถูกซ่อนไว้ในมาตรา 83 และ154

แน่นอนในมาตรา 270 มีการฟอกตัวและให้ความชอบธรรมจอมปลอม ให้กับคณะทหารโจรมือเปื้อนเลือดที่ปล้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญ และละเมิดชีวิตนักประชาธิปไตยในขณะที่กอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าของตัวเองและพรรคพวก

ในมาตรา 259 มีการยืดวันเลือกตั้งออกไปจนกว่าจะร่างกฏหมายลูกต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการยืดเวลาของรัฐบาลเผด็จการออกไปอีก

คราวนี้ไม่มีการเสนอวิธีการเลือกตั้งปลอมให้กับสมาชิกวุฒิสภา คือให้ทั้ง 200 คนมาจากการลากตั้ง โดยให้นักเลียเผด็จการมานั่งเลือกกันเองจากพรรคพวกเดียวกัน และวุฒิสภานี้จะมีอำนาจในการแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลในอนาคต คนที่จะเป็นวุฒิสมาชิกต้องไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง แต่การเป็นอดีตทหารไม่เป็นอุปสรรคเลยแต่อย่างใด

ร่างกระดาษชำระ “ฉบับมีชัย” นี้ ยังคงไว้เนื้อหาสาระจากร่างฉบับปีที่แล้ว มีการสนับสนุนนโยบายคลั่งตลาด และมีเรื่องการห้ามไม่ให้รัฐบาลมีนโยบายที่ช่วยคนจน ภายใต้คำขวัญของ “การรักษาวินัยทางการคลัง” และเรื่องความ “พอเพียง” และยังถูกออกแบบให้จำกัดไม่ให้ทักษิณกลับมาเป็นนายกด้วยมาตรการต่างๆ เช่นการจำกัดวาระนายกรัฐมนตรีไม่ให้มากกว่า 8 ปี

ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แล้วจะเห็นว่ามีการลดความสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่นมาตรา 25 ซึ่งเป็นมาตราแรกในหมวดสิทธิเสรีภาพ ระบุว่าสิทธิเสรีภาพถูกจำกัดได้ในกรณีที่เป็น “ภัยต่อความมั่นคง” ซึ่งเป็นข้ออ้างครอบจักรวาลประจำของเผด็จการ และมาตรา 44 จำกัดสิทธิในการชุมนุมในกรณีที่เป็น “ภัยต่อความมั่นคง” เช่นกัน ในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ จะจำกัดสิทธิในการชุมนุมในกรณีสงครามหรือภาวะฉุกเฉินเท่านั้น นอกจากนี้ร่างขยะใหม่นี้ลดความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะรัฐธรรมนูญปี ๔๐ เปิดช่องให้พลเมืองทวงสิทธิ ความเป็นธรรม และการบริการให้กับตนเอง เช่นในกรณีคนพิการ คนชรา หรือกรณีการบริการสาธารณสุขและการศึกษา แต่ในร่าง “มีชัย” มีการใช้ถ้อยคำที่ชวนให้มองว่าเป็นเรื่องที่รัฐต้อง “อุปถัมภ์” ให้ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง นอกจากนี้มีการลดความสำคัญของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจากรัฐธรรมนูญปี ๔๐

ถ้าเรารักประชาธิปไตย ท่าทีของเราต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้มีท่าทีเดียวคือ “ไม่รับ”

ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ วิจารณ์ระบบศาลและตำรวจไทยตรงจุด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อวิจารณ์ประเทศไทย ของ ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ พี่สาวของ ฮันนาห์ วิเทอร์ริดจ์ ในสื่อสากลนั้น ผู้เขียนค่อนข้างจะเห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ดังกล่าวในประเด็นสำคัญๆ

ฮันนาห์ วิเทอร์ริดจ์ และ เดวิด มิลเลอร์ สองนักท่องเที่ยวอังกฤษ ถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายที่เกาะเต่า แต่ตำรวจไทยกลับรีบจับสอง “แพะ” คนงานจากพม่า ซอ ลิน กับ วิน ซอตัน และในเดือนที่ผ่านมาศาลไทยก็ตัดสินลงโทษประหารชีวิตเหยื่อระบบอยุติธรรมของไทยสองคนนี้

ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ ตั้งข้อสังเกตว่าไทยไม่ใช่ “เมืองยิ้ม” อย่างที่มีการโฆษณากันเป็นประจำ และหาดทรายไทยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่ใช่ “สวรรค์” อย่างที่หลายคนเชื่อ พร้อมกันนั้นก็กล่าวหาตำรวจไทยว่าไร้ประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยการคอร์รับชั่น เขาอธิบายเพิ่มว่า “คนไทยมักจะเกลียดชาวต่างชาติรวมถึงนักท่องเที่ยวตะวันตก” อีกด้วย และที่แย่สุดคือวาจาของเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคนเกี่ยวกับคดีนี้ ซึ่ง ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ รับไม่ได้ และไม่ควรจะรับได้อีกด้วย

ในหลายประเด็น ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ วิจารณ์สังคมไทยตรงจุด

คนเสื้อแดงและนักเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย มีประสบการของความโหดร้ายทารุณของชนชั้นปกครองไทยและมาเฟียท้องถิ่นไทย โดยที่ฆาตกรเหล่านี้ไม่เคยถูกนำมาขึ้นศาลหรือถูกลงโทษแต่อย่างใด สำหรับเรา “ไทยเป็นเมืองน้ำตาตกใน” ไม่ใช่เมืองยิ้มแต่อย่างใด

ในแหล่งท่องเที่ยวติดทะเลของไทยที่สวยงามหลายที่ มีการควบคุมธุรกิจโดยมาเฟียหรือผู้มีอิทธิพล พวกนี้ทั้งโลภมาก ใช้พฤติกรรมอันธพาล และป่าเถื่อนในการขูดรีดแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และแน่นอนมาเฟียเหล่านี้ก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับตำรวจและทหาร

พลเมืองไทยจำนวนมาก รวมถึงผู้เขียนเอง ก็มีประสบการณ์ของการคอร์รับชั่นโดยตำรวจ และพฤติกรรมที่เลวทรามต่อประชาชน และเราทุกคนทราบดีว่าศาลไทยลำเอียงและไร้ความยุติธรรมอย่างไร

สองแพะ ซอ ลิน กับ วิน ซอตัน ต้องถูกมองว่าเป็นคนบริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่าเขากระทำความผิด จริง และในสภาพที่หลักฐานของฝ่ายตำรวจและอัยการไร้น้ำหนักโดยสิ้นเชิง และขัดแย้งในตัว อย่างที่หมอพรทิพย์เปิดเผยออกมา เราต้องสรุปว่ายังไม่มีการพิสูจน์ว่าสองคนนี้คือคนร้ายตัวจริง แถมตำรวจใช้การทรมานเพื่อบังคับให้ “สารภาพ” อีกด้วย

การทรมานผู้ต้องขังเป็นวัฒนธรรมเลวทรามของตำรวจและทหารไทยในหลายกรณีที่ผ่านมา

เรื่องการเหยียดเชื้อชาติของคนไทยจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ผู้เขียนวิจารณ์มานาน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อคนจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือคำเหยียดหยามที่คนไทยจำนวนมากใช้เรียกคนที่เขามองว่าไม่ใช่คนไทย ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “ไอ้มืด” “แขก” “ฝรั่ง” “ญวน” หรือ “ไอ้หม่อง” บ่อยครั้งเวลาผู้เขียนยกประเด็นนี้มาวิจารณ์ ก็จะมีคนที่เรียนจบสูงจำนวนมากที่ไม่ยอมรับและจงใจไม่เข้าใจ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่อื้อฉาวในการปฏิบัติต่อคนต่างชาติ โดยเฉพาะในเรื่องแรงงานทาส

แน่นอนการเหยียดเชื้อชาติมีในประเทศอื่นทั่วโลก แต่ที่ขาดไปสำหรับสังคมไทยคือขบวนการทางสังคมหรือพรรคการเมืองที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้อย่างชัดเจน

เราคงให้อภัยคุณ ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ ได้ที่เหมารวมว่าคนไทยหรือสังคมไทยเลวอย่างนั้นอย่างนี้ และเราคงให้อภัยเขาได้ที่เขาไม่วิเคราะห์ภาพรวมของสังคมไทยอย่างเป็นระบบ เพราะเขาทั้งโกรธและเศร้าเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องสาวเขา และผู้เขียนเองก็เห็นพฤติกรรมแย่ๆ ของคนไทยบางคนที่โพสธ์ภาพเปลือยของศพ ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ ในเฟสบุ๊ก โดยไม่มีจิตสำนึกของความเป็นคนแม้แต่นิดเดียว

แต่ในความจริงประเทศไทยเป็นสังคมที่มีสองใบหน้า เพราะเป็นสังคมชนชั้นเหมือนสังคมอื่นๆ ทั่วโลก

คนไทยจำนวนมากเป็นคนน่ารัก มีมารยาท และเมตตาต่อผู้อื่น ไม่ต่างจากคนอังกฤษ คนฝรั่งเศส คนซิเรีย หรือคนอิรัก ฯลฯ และตำรวจไทยทุกคนก็ไม่ได้เลวทราม

แต่เราทราบดีว่าเราอยู่ในสังคมที่ปกครองโดยคนป่าเถื่อน และบ้าอำนาจ ที่พร้อมจะโหดร้ายทารุณต่อประชาชนทั้งประเทศมาตั้งแต่กำเนิดของรัฐไทย แถมตอนนี้เรามีเผด็จการทหารมาซ้ำเติมอีกด้วย พวกชนชั้นปกครองไทยใช้ลัทธิคลั่งชาติและกษัตริย์ เพื่อกล่อมเกลาให้พลเมืองส่วนใหญ่จงรักภักดีต่อเขา นี่คือสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากหลงใช้ความคิดเหยียดเชื้อชาติ นี่คือสาเหตุที่ผู้มีอำนาจในทุกระดับไม่เคยเคารพประชาชนและใช้พฤติกรรม วาจา และการกระทำแบบแย่ๆ ต่อพลเมืองธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ลองนึกภาพประสบการณ์ของประชาชนที่ต้องเข้าไปสัมผัสหน่วยงานของรัฐแล้วจะเข้าใจทันที

สภาพเช่นนี้จะดำรงต่อไปตราบใดที่เราไม่ล้มเผด็จการและสร้างสังคมที่มีความอารยะตามแนวสังคมนิยม

เราไม่สามารถทำให้สองชีวิต ฮันนาห์ วิเทอร์ริดจ์ และ เดวิด มิลเลอร์ ฟื้นตัวกลับมาได้ แต่สิ่งที่เราทำได้เป็นรูปธรรมตอนนี้ คือการรณรงค์เพื่อปกป้องชีวิตของ ซอ ลิน กับ วิน ซอตัน

วัฒนธรรมการลอยนวลของอาชญากรรัฐไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ข่าวร้ายชิ้นหนึ่งในสัปดาห์ปลายปี ๒๕๕๘ คือการยกเลิกคดีการฆ่าทนายสมชาย และการปล่อยให้ฆาตกร อภิสิทธิ์และสุเทพ ลอยนวลในกรณีฆ่าเสื้อแดงผู้รักประชาธิปไตยในปี ๒๕๕๓ ข่าวสองชิ้นนี้ย้ำว่ายังมีการผลิตซ้ำวัฒนธรรมปกป้องคนเลวและการลอยนวลของอาชญากรรัฐไทย

ข่าวเรื่องอภิสิทธ์และสุเทพ คงไม่ทำให้เราแปลกใจ เพราะไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดก็มีส่วนสำคัญในการสั่งฆ่าเสื้อแดงในเหตุการณ์นั้น และนายทหารคนนี้ก็มีส่วนในการสร้างรัฐบาลอภิสิทธิ์ชุดนั้นในค่ายทหารอีกด้วย

ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายที่พยายามปกป้องชาวมาเลย์มุสลิมที่ถูกตำรวจไทยทรมานให้สารภาพว่ามีส่วนในการปล้นปืนจากค่ายทหารในปาตานี เขาถูกลักตัวไปฆ่าโดยตำรวจหลายนายจากหลายหน่วยงาน ซึ่งหมายความว่าตำรวจระดับชั้นผู้เป็นใหญ่ และผู้นำประเทศในยุคนั้น เปิดไฟเขียวหรือเพิกเฉยกับอาชญากรรมนี้ ดังนั้น ทักษิณ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ควรต้องรับผิดชอบ และเราไม่ควรลืมว่าทักษิณมือเปื้อนเลือดจากอาชญากรรมที่ตากใบอีกด้วย

เราอาจพูดได้ว่าผู้นำทางการเมือง ตำรวจ กับทหารจำนวนมาก และแม้แต่กษัตริย์ไทย มีส่วนในการสนับสนุนหรือก่ออาชญากรรมรัฐ และจนถึงทุกวันนี้ทุกคนก็ลอยนวลไม่เคยต้องถูกนำมาขึ้นศาล ไม่มีการลงโทษนายทหารชั้นผู้ใหญ่ หรือนักการเมืองที่สั่งฆ่าประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๖ตุลา พฤษภา ๓๕ และราชประสงค์ปี ๕๓ ทั้งภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร หรือที่ตากใบกรณีทนายสมชาย และในสงครามยาเสพติดภายใต้รัฐบาลทักษิณ

คนที่ลอยนวลไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่รวมไปถึงอันธพาลคลั่งเจ้าที่เป็นแนวร่วมของรัฐเผด็จการ เช่นพวกเสื้อเหลือง หรือม็อบสุเทพกับม็อบฟาสซิสต์ของคนที่อ้างตัวเป็นพระสงฆ์ด้วย ยังไม่มีการลงโทษพวกนี้ทั้งๆ ที่ใช้ความรุนแรงในการยึดสถานที่ราชการเพื่อห้ามไม่ให้พลเมืองไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ถ้าพูดถึง “ศาล” เราคงเข้าใจดีว่าระบบตุลาการไทยถูกออกแบบเพื่อมีหน้าที่รับใช้อาชญากรอำมาตย์ และได้รับการปกป้องจากกฏหมาย “หมิ่นศาล” ซึ่งเป็นกฏหมายเผด็จการที่ไม่ต่างจากกฏหมาย 112 ที่ทหารใช้ในการปกป้องตนเองและกษัตริย์

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไร้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง รากฐานปัญหาอยู่ที่การมองว่าคนไทย ไม่ใช่ “พลเมือง” ที่เท่าเทียมกัน บ่อยครั้งมีการเรียกผู้คนด้วยคำล้าสมัยว่า “ราษฎร” ซึ่งหมายถึงประชาชนผู้อาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของพระราชา มันเป็นคำจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่เหมาะสมกับประชาธิปไตยในยุคปัจจุบัน

แนวความคิดว่าบางคน “สูง” บางคน “ต่ำ” ถูกผลิตซ้ำโดยพฤติกรรมของทหาร นักการเมือง และนายทุน ทหารระดับนายพลจึงมองว่าตนเองสามารถเข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยได้ตามอำเภอใจ

การเรียกทหารชั่วระดับสูงในสื่อว่า “บิ๊ก” และการใช้คำว่า “ท่าน” นำหน้าพวกอาชญากรรัฐ เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมหมอบคลาน

ทำเนียมหมอบคลานต่อคนที่อ้างตัวเป็น “ผู้ใหญ่” เป็นวิธีทำให้ผู้หมอบคลานมีฐานะเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่คนที่ยืนสองขา ทำเนียมแย่ๆ นี้ถูกกระจายลงไปสู่โรงเรียนและครัวเรือน คนรวยมักชอบให้คนรับใช้ก้มหัวคลาน และทำงานทั้งวันทั้งคืน แม้แต่ในภาษาพูดก็มีการเน้น “สูงต่ำ” เช่นคำว่า “หนู” ที่สตรีถูกกล่อมเกลาให้เรียกตัวเอง ซึ่งเป็นการเสริมว่าผู้หญิงเป็นคนชั้นสอง

ในสถานที่ทำงาน นายจ้างมักมองว่าตนเองมีสิทธิ์เผด็จการเหนือลูกจ้าง และกฏหมายแรงงานบวกกับอคติของผู้พิพากษาศาลแรงงาน มักสนับสนุนความคิดเผด็จการอันนี้

ในระบบยุติธรรมทั่วไป พวกที่นั่งบัลลังก์มักมองพลเมืองธรรมดาด้วยความดูถูกดูหมิ่น และเหมือนไม่ใช่คนที่ควรได้รับความเคารพ นักโทษในคุกถูกปฏิบัติเหมือนเป็นสัตว์ แทนที่จะใช้ความคิดสากลสมัยใหม่ที่มองว่านักโทษก็มีสิทธิ์เช่นกัน

ถ้าเราจะสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมเรา เราต้องยุบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะองค์กรนี้เต็มไปด้วยตำรวจ ทหาร และนักวิชาการที่มีอคติต่อประชาธิปไตย แทนที่จะหวังพึ่งองค์กรกึ่งรัฐแบบนี้ เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกร้องเสรีภาพและประกอบไปด้วยมวลชนจำนวนมาก บทเรียนจากทั่วโลก สอนให้เรารู้ว่าสหภาพแรงงานที่อิสระจากอิทธิพลของคนชั้นสูง มีบทบาทสำคัญในการสร้างขบวนการแบบนี้

ความฝันลอยๆ ของนักวิชาการบางคน ที่จะตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อนำอาชญากรรัฐมาลงโทษ จะละลายไปกับน้ำ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับพลังมวลชนแบบนี้

การสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนแยกไม่ออกจากความจำเป็นที่จะต้องล้มอำนาจทางการเมืองของทหาร และการล้มอิทธิพลของลัทธิกษัตริย์ ในระยะยาวเราต้องรณรงค์ให้ความคิดเรื่อง “พลเมืองที่เท่าเทียม” กลายเป็นความคิดกระแสหลัก

เศรษฐกิจพอเพียง กับ ประชาธิปไตยพอเพียง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเมื่อไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดไปแหกปากพูดเท็จที่สหประชาชาติ และไปพูดถึงการที่รัฐบาลทหารยึดหลักแนวเศรษฐกิจพอเพียง เราควรมาทบทวนว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้คืออะไร

ในปี ๒๕๔๙ พอล์ แฮนลี่ ในหนังสือ “กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม” เขียนว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่ “เศรษฐศาสตร์จอมปลอม”

ในปีเดียวกันคณะเผด็จการทหารก็แห่กันไปเชิดชูส่งเสริม “เศรษฐศาสตร์จอมปลอม” อันนี้ และเราก็เห็นว่าคณะทหารชุดนั้นและชุดปัจจุบันก็คลั่งเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบเดียวกัน

ในปี ๒๕๕๐ วารสาร “อีคอนโนมิสต์” วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็น “ขยะเพ้อฝัน” เนื่องในโอกาสที่ “โครงการพัฒนาของสหประชาชาติ” ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับประเทศไทยที่เต็มไปด้วยขยะเพ้อฝันของเศรษฐกิจพอเพียง รายงานนี้ผลิตด้วยความช่วยเหลือจาก คริส เบเคอร์ สามีของอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

วารสาร อีคอนโนมิสต์ เขียนไว้ว่ารายงานของโครงการพัฒนาของสหประชาชาติฉบับนี้ เป็นการเสนอความคิดด้านเดียวในเรื่องทฤษฏีที่ไม่เคยถูกพิสูจน์ในโลกจริงว่าใช้ได้ผล มันเป็นการให้ความชอบธรรมกับเผด็จการ และทั้งๆ ที่รองหัวหน้าโครงการพัฒนาของสหประชาชาติในไทยอ้างว่าเป็นการ “เปิดประเด็นเพื่อถกเถียง” แต่ในไทย เนื่องจากกฏหมาย 112 ประชาชนไม่สามารถถกเถียงกันในเรื่องนี้ได้เลย

ในปีเดียวกันผมก็โดนกฏหมาย 112 เนื่องจากวิจารณ์รัฐประหาร ๑๙ กันยาและเศรษฐกิจพอเพียงในหนังสือ “A Coup for the Rich” ย่อหน้าหนึ่งที่ทหารไม่พอใจคือ

“สมาชิกสภาที่แต่งตั้งโดยทหารหลังรัฐประหาร ได้รับเงินเดือนและเงินค่าต่างๆ 140,000บาท ในขณะที่กรรมกรส่วนใหญ่รับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเดือนละ 5000 บาท และเกษตรกรจำนวนมากได้น้อยกว่านี้ พวกส.ส.เหล่านี้ได้เงินเดือนจากตำแหน่งที่อื่นอีกด้วย รัฐบาลอ้างว่าใช้เศรษฐกิจพอเพียงของกษัตริย์ และพูดว่าเราต้องไม่โลภมาก ดูเหมือนทุกคนต้องพึงพอใจกับระดับพอเพียงของตนเอง เราอาจคิดไปว่านักเขียนอังกฤษ จอร์ช ออร์เวล  คงจะเสนอว่า “บางคนพอเพียงมากกว่าผู้อื่น” สำหรับพระราชวัง ความพอเพียงหมายถึงการมีหลายๆ วัง และบริษัททุนนิยมขนาดใหญ่เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับทหารเผด็จการความพอเพียงหมายถึงเงินเดือนสูง และสำหรับเกษตรกรยากจนหมายถึงการเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบากโดยไม่มีการลงทุนในระบบเกษตรสมัยใหม่ รัฐมนตรีคลังเสนอว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการ “ไม่มากไปหรือน้อยไป” คือให้พอดีนั้นเอง”

พวกเราคงทราบดีว่าสถาบันกษัตริย์เป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่มีผลประโยชน์ข้ามชาติ และกษัตริย์ภูมิพลเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในประเทศไทย แล้วยังบังอาจสอนคนจนว่าต้องพอเพียงในความยากจน นอกจากนี้นายภูมิพลมีจุดยืนที่ต่อต้านรัฐสวัสดิการมาตั้งแต่ยุค ๖ ตุลา แต่ที่น่าแปลกใจคือสำนักอนาธิปไตยชุมชน โดยเฉพาะลูกศิษย์ของอาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เคยอ้างว่ากษัตริย์ภูมิพลเป็นผู้คิดค้นแนวชุมชนพึ่งตนเอง เพื่อคัดค้านระบบทุนนิยม

เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ แต่เป็น “ลัทธิ” ฝ่ายขวาที่ต่อต้านการกระจายรายได้และการสร้างรัฐสวัสดิการ มันแช่แข็งความเหลื่อมล้ำ และมันไปได้ดีกับแนวเสรีนิยมกลไกตลาด เราจึงเห็นสองความคิดนี้บรรจุควบคู่กันในรัฐธรรมนูญเผด็จการมาตั้งแต่ปี ๕๐

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นลัทธิโปรดของเผด็จการมือเปื้อนเลือดของไทย และไปได้ดีกับแนวคิด “ประชาธิปไตยพอเพียง” ของพวกนั้น

ทำไม “องค์กรเสรีไทย” ไม่กล้าพูดเรื่อง 112 ?

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสไปคุยกับเพื่อนๆ ที่รักประชาธิปไตยในเด็นมาร์ค เขาเป็นอดีตเสื้อแดงที่เรียกตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร “เสรีไทย” แต่ผมแปลกใจที่เขาไม่อยากคุยเรื่องกฏหมาย 112 ไม่ต้องการที่จะมีจุดยืนที่คัดค้านกฏหมายเผด็จการอันนี้ และพยายามห้ามไม่ให้คนอื่นพูดเรื่องนี้ด้วย

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมมีโอกาสคุยโดยตรงกับบางส่วนของแกนนำ “เสรีไทย” และเขายืนยันว่า ขบวนการ “เสรีไทย” มีนโยบายที่จะไม่พูดถึง 112

เขาอธิบายให้ผมฟังว่าสังคมไทย “ยังไม่พร้อม” ที่จะพูดเรื่องนี้ และเขาเชื่อว่า “ชาวบ้านจะไม่เข้าใจ” และมองว่าใครที่ค้าน 112 คงต้องการล้มเจ้า ซึ่งในความเห็นผมมันไม่จริง การคัดค้านกฏหมาย 112  ที่ปกปิดเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านั้นจำเป็นต้องการล้มเจ้าเสมอ ในตะวันตก ในประเทศที่มีระบบกษัตริย์ เขายังไม่มีกฏหมายแบบนี้ และแม้แต่คนที่ชื่นชมในระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในอังกฤษก็ไม่เห็นด้วยกับกฏหมาย 112 ในไทย

ในขณะเดียวกัน คนอย่างผมที่ต้องการให้ทุกตำแหน่งสาธารณะมาจากการเลือกตั้ง โดยยกเลิกระบบกษัตริย์ ก็ต้องการคัดค้าน 112 ด้วย

ภายในขบวนการประชาธิปไตย หรือขบวนการรณรงค์ต้าน 112 เรามีความหลากหลายทางความคิดได้

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และผม มองร่วมกันว่าองค์กรประชาธิปไตยควรรณรงค์ให้คัดค้านและยกเลิกกฏหมาย 112 และที่สำคัญคือ คนที่เป็นแกนนำมีหน้าที่ที่จะนำทางความคิด องค์ประกอบสำคัญในการนำทางความคิดในขบวนการประชาธิปไตยไทย คือการออกไปอธิบายว่าทำไม 112 มันขัดกับหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย และทำไมเราจำเป็นต้องยกเลิกกฏมหายเผด็จการอันนี้

ผมมองว่าถ้าแกนนำในขบวนการไม่ออกมานำทางความคิดแบบนี้ ชาวบ้านจะไม่มีวันมีทางเลือกเพื่อกระตุ้นความคิด เพราะทุกวันนี้มีแต่ฝ่ายคลั่งเจ้าที่ประโคมข่าวว่าต้องรักษา 112 เอาไว้

ถ้าแกนนำในขบวนการประชาธิปไตยไม่ออกมานำทางความคิดแบบนี้ เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิก 112 สังคมไทยจะ “พร้อม” ได้อย่างไร? การพัฒนาเปลี่ยนแปลงความคิด ต้องมาจากการถกเถียงในสังคม มันไม่เกิดเองท่ามกลางการผูกขาดทางความคิดโดยฝ่ายต้านประชาธิปไตย

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มองว่าจุดยืนของ “เสรีไทย” ในเรื่อง 112 มาจากการที่ “เสรีไทย” ถูกนำโดยคนของพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ตรงนี้ผมว่ามีเหตุผล เพราะเราไม่เคยได้ยินคนของพรรคเพื่อไทยหรือทักษิณเอง ออกมาวิจารณ์ 112 และที่สำคัญคือกฏหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นิโทษแม้แต่อาชญากรรัฐ แต่ไม่นิรโทษนักโทษการเมือง 112 แต่อย่างใด

ผมมองว่าในเรื่องนี้ทั้งฝ่ายพรรคเพื่อไทยกับทักษิณ และฝ่ายทหารเผด็จการกับข้าราชการล้าหลัง มองตรงกันว่ากฏหมาย 112 เป็นกฏหมาย “ศักดิ์สิทธิ์” ที่ปกป้อง “ความมั่นคงของชาติ” จากคนที่เขากล่าวหาว่าเป็น “อาชญากรร้ายแรง” คือคนที่ต้องการเสรีภาพในการแสดงออกนั้นเอง

ในแง่หนึ่งผมว่าเขาก็ถูก ถ้าเราเข้าใจว่า “ความมั่นคงของชาติ” ที่เขาเอ่ยถึงนั้นคือความมั่นคงของชนชั้นปกครองที่จะถืออำนาจเหนือเราและกอบโกยผลประโยชน์จากเรา เพราะกษัตริย์ภูมิพลเป็นเครื่องมือของพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือทักษิณ เขาใช้กษัตริย์เป็นหน้ากากบังหน้าอำนาจของชนชั้นปกครองเสมอ และสร้างภูมิพลเป็น “เทวดาสังเคราะห์” ที่พวกนี้ประดิษฐ์ขึ้น ดังนั้นถ้ามีการยกเลิก 112 เราจะมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ระบบการปกครองของไทยได้เต็มที่ และจะเห็นธาตุแท้ของการใช้กษัตริย์โดยชนชั้นปกครอง

กฏหมายเผด็จการอย่าง 112 ต้องถูกยกเลิกไป เราแก้มันให้ “น่ารัก” ไม่ได้ เพราะมันขัดกับหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย การแก้ 112 ให้อ่อนลง ก็เพียงแต่จะนำไปสู่ระบบกึ่งเผด็จการเท่านั้น ซึ่งในความจริงก็คือเผด็จการธรรมดานั้นเอง ดังนั้นขบวนการอะไร หรือองค์กรอะไร ที่อ้างว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ไม่แตะเรื่อง 112 ไม่รณรงค์ให้ยกเลิก คงจะเป็นองค์กรหรือขบวนการที่ไร้น้ำยาในการสร้างเสรีภาพ

อ่านข่าวนี้ประกอบบทความ:

http://prachatai.com/journal/2015/08/60724

http://prachatai.com/journal/2015/08/60728