Tag Archives: เฟมินิสต์

สมานฉันท์กับคนข้ามเพศ(Transgender)

ในสังคมอนุรักษ์นิยมกระแสความคิดหลักมักเสนอว่า คนรักเพศเดียวกัน หรือคนข้ามเพศ  เป็นคนที่ผิดจากมนุษย์ธรรมดา และคนข้ามเพศจะได้รับการยอมรับต่อเมื่อทำตัวเป็นตัวตลกเท่านั้น แต่สำหรับนักสังคมนิยม เราตั้งคำถามว่า “เกย์  ทอม ดี้ กะเทย” เป็นมนุษย์เพี้ยน หรือ ระบบมันเพี้ยน? และเราตอบเองว่าปัญหาอยู่ที่ระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น เพราะระบบปัจจุบันเน้นครอบครัวจารีตแบบผัวเมียพ่อแม่ ซึ่งแนวคิดนี้กีดกันสิทธิทางเพศของคนรักเพศเดียวกัน ของคนข้ามเพศ และของสตรี

ผู้มีอำนาจในระบบทุนนิยม และผู้นำศาสนา มักพยายามสร้างภาพว่าในสังคมมีเพียงสองเพศเท่านั้น  เพศอื่น ๆ ที่ดำรงอยู่  ถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติเป็นเรื่องแปลกประหลาด  ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเลย  สังคมไทยและสังคมเอเชียแถบนี้มีคน “เพศที่สาม” มาพันๆ ปี สังคมตะวันตกก็เช่นกัน

ในทางวิทยาศาสตร์มนุษย์ในภาพรวมไม่ได้มีแค่สองเพศ ทั้งในฐานะทางกาย เช่นอวัยวะเพศหรือดีเอ็นเอ หรือในฐานะเพศภาวะที่เกี่ยวข้องกับจิตใจความรู้สึก ดังนั้นมนุษย์มีความหลากหลายทางเพศตามธรรมชาติ

เหตุผลที่มีแนวคิดครอบครัวจารีตคือ มันเกี่ยวข้องกับการผลิตมนุษย์รุ่นต่อไป  มันเกี่ยวกับความต้องการแรงงานรุ่นต่อไปแบบราคาถูก คือยกให้เป็นเรื่องภาระปัจเจกในการเลี้ยงเด็กของสังคม โดยผู้หญิงต้องรับภาระนี้เป็นหลัก การเอ่ยถึงวิธีอื่นในการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ไม่ใช่ครอบครัวจารีตเป็นการท้าทายระบบ

แต่เมื่อทุนนิยมพัฒนามากขึ้นและดึงผู้หญิงเข้าไปในสถานที่ทำงานมากขึ้น เพราะขาดแคลนกำลังงาน ผู้หญิงเหล่านั้นมั่นใจที่จะพึ่งตนเอง และมั่นใจมากขึ้นที่จะรวมตัวกับผู้หญิงคนอื่นในการเรียกร้องสิทธิ การเรียกร้องสิทธิของมวลชนในรูปแบบนี้ให้กำลังใจกับ คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ คนผิวดำ และคนที่ถูกกดขี่อื่นๆ เพื่อที่จะลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของตนเองด้วย

นี่คือสาเหตุที่ชนชั้นปกครองเริ่มยอมในเรื่องสิทธิทางเพศบางส่วน แต่พยายามปกป้องครอบครัวจารีตในเวลาเดียวกัน มันแสดงถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมทุนนิยม

บ่อยครั้งการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะขึ้นๆ ลงๆ ตามกระแสสากล เมื่ออยู่ในยุคขาลง ก่อนที่การต่อสู้จะก่อตัวขึ้นมาอีก คนที่เคยก้าวหน้าหลายคนจะถอยหลังลงคลองและหันมารับแนวคิดปฏิกิริยา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเฟมมินิสต์บางคนในตะวันตก ที่ออกมาโจมตีสิทธิของคนข้ามเพศ โดยอ้างว่าคนข้ามเพศที่เลือกจะเป็นผู้หญิง เป็น “ผู้หญิงจอมปลอม” และ “ใช้อภิสิทธิ์ของการที่เดิมเป็นชาย” มาเรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศ แถมมีการกล่าวหาเท็จว่าคนข้ามเพศแบบนี้แค่ต้องการเข้าไปในห้องน้ำสตรี เพื่อไปละเมิดร่างกายผู้หญิง ทั้งๆ ที่ไม่มีตัวอย่างเลย และในความเป็นจริงคนข้ามเพศมักจะเป็นเหยื่อของความรุนแรงในสังคม

จุดยืนปฏิกิริยาอันนี้ของเฟมมินิสต์บางคน มาจากการที่เขาถอยหลังรับแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่มองว่าคนข้ามเพศ “ผิดปกติ” แต่พยายามกลบปกปิดความปฏิกิริยาของตนเองด้วยหน้ากากเท็จของแนวเฟมมินิสต์จอมปลอม

สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือพรรคการเมืองที่ปลุกระดมคนในสังคมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมจะอธิบายว่าทำไมเราต้องสู้เพื่อสิทธิต่างๆ พร้อมจะอธิบายว่าจะสู้อย่างไร และพร้อมจะเถียงกับคนที่เห็นต่างเสมอ ไม่ว่าการต่อสู้จะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง

การกดขี่ทางเพศมาจากสังคมชนชั้น

แนวเฟมมินิสต์มองว่า  ระบบปัจจุบันเป็นระบบพ่อเป็นใหญ่ (patriarchy) ซึ่งหมายถึงการกดขี่ที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิงทั้งภายในครอบครัวและในสถาบันสังคมอื่น ๆ  แนวความคิดนี้มองว่าแอกที่ทับอยู่บนบ่าของสตรีคือ  “ วัฒนธรรม”  ดังนั้นต้องต่อสู้และยกเลิกวัฒนธรรมที่ส่งเสริมอำนาจของผู้ชาย  แต่คำอธิบายว่าวัฒนธรรมถูกกำหนดจากอะไรไม่มีนอกจากจะอ้างชีววิทยา   คือผู้หญิงต้องให้นมลูกและให้กำเนิดลูก  แล้วความแตกต่างทางเพศนี้ก่อให้เกิดการจัดระเบียบสังคมที่มีชายเป็นใหญ่

ในทางรูปธรรมนั้น  แนวนี้สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในทางโครงสร้างของสังคมในส่วนต่าง ๆ โดยละเลยประเด็นทางชนชั้น  เช่น  สนับสนุนผู้หญิงที่มีตำแหน่งสูง ๆ ในบริษัท โดยที่หญิงเหล่านั้นจะมีอำนาจให้คุณให้โทษกับลูกจ้างหญิงและชาย  หรือ  สนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น โดยไม่พิจารณาจุดยืนของหญิงเหล่านั้น

กรอบสำคัญของแนวนี้อยู่ที่เพศ และที่สำคัญแนวความคิดนี้มองว่าปัญหามาจาก “ธรรมชาติถาวร” ของผู้ชาย ซึ่งถ้าเป็นจริงก็คงไม่มีวันแก้ไขได้เลย แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์พิสูจน์ว่าก่อนที่จะมีการกำเนิดสังคมชนชั้น ชายกับหญิงมีสถานะเท่าเทียมกัน

แนวความคิดมาร์คซิสต์ มองว่าวัฒนธรรมต่างๆ  ค่านิยม  แนวความคิดและโครงสร้างทางสังคม  จะถูกกำหนดโดยลักษณะการเลี้ยงชีพของมนุษย์ในยุคต่างๆ ดังนั้นสถานภาพที่สตรีถูกกดขี่  จะต้องมีปัจจัยตัวอื่นมากำหนดที่ไม่ใช่ชาติพันธ์  หรือสรีระวิทยา  สภาพทางสังคมในปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่มีมาโดยธรรมชาติ  แต่เป็นผลมาจากการพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาในแต่ละยุคสมัย 

ในหนังสือ  “กำเนิดครอบครอบครัว ทรัพย์สินส่วนตัว และรัฐ”  ของ เองเกิลส์  ซึ่งอาศัยการค้นคว้าข้อมูลจากการศึกษาของนักมนุษวิทยา เองเกิลส์ เสนอว่าฐานะของสตรีนั้นมีจุดตั้งต้นและคลี่คลายออกมาจากระบบการผลิตและฐานะทางครอบครัว  ในยุคแรกๆ มนุษย์อยู่กันเป็นเผ่าพันธุ์ ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวและไม่มีคู่สมรสถาวรแบบผัวเดียวเมียเดียว หญิงกับชายมีฐานะเท่าเทียมกัน แต่เมื่อมนุษย์พัฒนาการเลี้ยงชีพจนเกิด “ส่วนเกิน” จากความต้องการวันต่อวัน ทรัพย์สินส่วนตัวก็เกิดขึ้นได้ และการที่ชายถืออาวุธในการล่าสัตว์อยู่ในมือ มีกำลังทางกายเหนือหญิง และมีบทบาทในการรวบรวมส่วนเกินมากกว่าหญิง (โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ในยุคแรกๆ) ทำให้ชายได้เปรียบหญิง การสืบทอดมรดกผ่านชายจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชายอาวุโสที่เริ่มแย่งอำนาจ การสร้างครอบครัวใหม่แบบหญิงมีผัวเดียวเพื่อให้ชายอาวุโสรู้ว่าลูกของตนคือใครจึงเกิดขึ้น และหญิงก็ตกเป็นพลเมืองชั้นสองถ้าเทียบกับชาย ในเวลาเดียวกันชายที่เข้มแข็งที่สุดสามารถตั้งตัวเป็นใหญ่และบังคับให้มนุษย์คนอื่น ทั้งชายและหญิง ตกเป็นทาสของตนเอง สังคมชนชั้นจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับส่วนเกิน ทรัพย์สินส่วนตัว และครอบครัวรูปแบบใหม่ดังกล่าว

เราพอจะสรุปหลักการณ์ใหญ่ๆ ของแนวมาร์คซิสต์ได้ดังนี้

1)       การกดขี่ทางเพศไม่ใช่เรื่องธรรมชาติที่มาจากสรีระ เราจึงยกเลิกได้และควรยกเลิก

2)       การกดขี่ทางเพศเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการแบ่งมนุษย์ทั้งชายและหญิงออกเป็นชนชั้น

3)       ครอบครัวคือสถาบันสำคัญในการกำหนดและกล่อมเกลาความคิดแบบกดขี่ทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม แต่รูปแบบครอบครัวปัจจุบันไม่ใช่รูปแบบที่มาจากธรรมชาติ รูปแบบครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงเสมอตามยุคของระบบการผลิต

4)       วิธีแก้ปัญหาการกดขี่ทางเพศในระยะยาวต้องประกอบไปด้วยการจัดการเปลี่ยนสังคม ล้มระบบทุนนิยม สร้างระบบสังคมนิยมที่ไม่มีชนชั้น และเปลี่ยนรูปแบบของครอบครัวจากที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไปเป็นการอยู่กันในลักษณะหลากหลายที่ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน

ก่อนที่เราจะล้มระบบทุนนิยมได้ เราต้องรณรงค์และต่อสู้กับการกดขี่ทุกรูปแบบและสนับสนุนการปฏิรูปสังคมเท่าที่จะทำได้อย่างต่อเนื่อง

เราชาวสังคมนิยมมองว่า ไม่ว่ามนุษย์ในสังคมจะเลือกเป็นเพศอะไร หรือเลือกที่จะรักเพศอะไร อย่างไร นับเป็นสิทธิที่ชอบธรรมอันดับแรกที่ควรเลือกได้  และพวกเราที่ต้องการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมจะต้องสนับสนุนสิทธิดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไข ตราบใดที่คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ หรือสตรี ไม่มีสิทธิเต็มตัว สังคมเราไม่มีวันมีประชาธิปไตยและเสรีภาพสมบูรณ์ นี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่เราควรมีพรรคสังคมนิยมที่รณรงค์เรื่องนี้ในสังคมได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

แนวคิดมาร์คซิสต์เรื่องการต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศ

ใจ อึ๊งภากรณ์

 [เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

เราไม่สามารถสร้างสังคมใหม่แห่งสังคมนิยมได้ ถ้ากรรมาชีพชายและหญิงไม่สามัคคีกัน  และถ้าจะเกิดความสามัคคีดังกล่าว ทั้งชายและหญิง แต่โดยเฉพาะผู้ชาย ต้องสลัดความคิดกดขี่หรือดูถูกผู้หญิงออกจากหัว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความดีความชั่วของปัจเจก แต่เป็นเรื่องโครงสร้างสังคม และการต่อสู้ทางชนชั้น

 

มันไม่ใช่เรื่อง “ธรรมชาติ” ที่มนุษย์จะมากดขี่กัน แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์บางคนสร้างขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขสังคมชนชั้นในอดีต เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง

 

นักมาร์คซิสต์คนสำคัญ ชื่อ เฟรดเดอริค เองเกิลส์ เป็นคนที่ริเริ่มการศึกษาปัญหาการกดขี่ทางเพศอย่างเป็นระบบ ในหนังสือ “กำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินเอกชน และรัฐ”  เองเกิลส์ อธิบายว่าแรกเริ่มมนุษย์บุพกาลไม่มีชนชั้น ไม่มีรัฐ และไม่มีครอบครัว คือหญิงชายมีความสัมพันธ์อย่างเสรีตามรสนิยมของแต่ละคน ไม่มีคู่ถาวร ตอนนั้นมนุษย์ไม่มีครอบครัวแต่มีเผ่า และลูกที่เกิดมาจะทราบว่าใครเป็นแม่ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่สำคัญเพราะเด็กๆ ทุกคนถือว่าเป็นลูกของชุมชน และทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของส่วนรวม แบ่งกันอย่างเสมอภาคเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ในยุคบุพกาลจะมีการเก็บของป่าและล่าสัตว์ สังคมไม่มีส่วนเกินหรือคลังอาหารใหญ่โต วันไหนได้อะไรก็มาแบ่งกันกิน แต่เมื่อมนุษย์รู้จักการเกษตรและเริ่มมีส่วนเกินมากขึ้น จะมีผู้ชายคนหนึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่หรือตั้งตัวเป็น “พระ” และจ้างอันธพาลติดอาวุธมาเป็นลูกน้องของตน ประชาชนที่เหลือจะตกเป็นทาสและถูกบังคับให้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งส่วยให้ผู้ปกครอง คือมีการยึดการผลิตส่วนมาเป็นของหัวหน้า แต่ในขณะเดียวกัน การจัดระเบียบสังคมใหม่แบบนี้ ให้ประโยชน์กับคนธรรมดาบ้าง เพราะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากสมัยบุพกาลเดิม และทำให้มีความมั่นคงมากขึ้นภายใต้การกดขี่

 

ภายใต้ระบบการปกครองทางชนชั้น ทรัพย์สินทั้งหมดของชุมชนที่เคยเป็นของส่วนรวม ถูกแบ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่ตกในมือของผู้ปกครอง ผู้หญิงถูกบังคับให้อยู่ในระบบครอบครัวที่ชัดเจน เพื่อให้ชายผู้เป็นเจ้าสามารถให้มรดกกับลูกตนเองเท่านั้น จะเห็นว่าเริ่มมีการสร้างระเบียบครอบครัวที่ระบุว่าหญิงต้องเลี้ยงลูกเป็นหลักในขณะที่ชายมีบทบาทสาธารณะ และชนชั้นปกครองมักกล่อมเกลาให้ทั้งชายและหญิงยอมรับว่าผู้ชายสำคัญกว่าผู้หญิง และผู้หญิงต้องไม่นอกใจผู้ชาย

 

ระเบียบครอบครัวนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดหรือลัทธิกระแสหลักในสังคม

 

นี่คือที่มาของการกดขี่สตรีในสังคมชนชั้นปัจจุบัน ซึ่งเกิดพร้อมกับระบบการปกครอง กองกำลังอันธพาล และกฎระเบียบหรือกฎหมายที่ใช้รองรับการสร้างอำนาจ “รัฐ”

 

มันแปลว่าถ้าเราจะจัดการกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ เราต้องจัดการกับสังคมชนชั้น และรัฐทุนนิยมปัจจุบัน แต่นั้นไม่ได้แปลว่าว่าเราต้องนิ่งเฉยและรอวันปฏิวัติ นักมาร์คซิสต์ต้องต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันตลอด ซึ่งแปลว่าเราต้องรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพทางเพศ

 

ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ชนชั้นนายทุนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการที่สังคมมองว่า หญิงเสมือนเท้าหลังที่มีหน้าที่หลักคือการเลี้ยงดูลูกและทำงานบ้าน เพราะหญิงจะได้เป็นผู้ผลิตแรงงานรุ่นต่อไปเพื่อป้อนเข้าโรงงานและสถานที่ทำงานอื่นๆ โดยที่นายทุนไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นี่คือเงื่อนไขที่ผลิตซ้ำแนวคิดเกี่ยวกับ “ครอบครัวจารีต”

 

แต่ในขณะเดียวกันทุกสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ระบบทุนนิยมมีความต้องการที่จะขยายกิจการและจ้างงานเพิ่มตลอดเวลา จึงมีการดึงแรงงานหญิงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้หญิงเริ่มมีความอิสระและเรียกร้องสิทธิมากขึ้น นอกจากนี้ในสังคมไทยและที่อื่น ค่าจ้างของชายหนึ่งคน ถูกนายทุนกดไว้เพื่อเพิ่มกำไร  จึงย่อมไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้

 

ผู้หญิงได้รับการศึกษามากขึ้น และมีความมั่นใจซึ่งมาจากการที่ออกไปทำงาน มีรายได้ของตนเอง และไม่ต้องพึ่งผู้ชาย เทคโนโลจีสมัยใหม่ก็ช่วยให้งานบ้านง่ายขึ้น และมีโรงเรียนในระดับต่างๆ ที่จะช่วยในการเลี้ยงดูเด็ก

1-116-752x440

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลในการพัฒนาความคิดของสตรีเพื่อต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศ ดังนั้นระบบทุนนิยมได้สร้างเงื่อนไขให้สตรีออกมาสู้เพื่อปลดแอกตนเองด้วย แต่รัฐและนายจ้างพยายามปฏิเสธการรับผิดชอบในการจัดสถานที่เลี้ยงเด็กฟรี โดยใช้แนวคิด “หญิงเป็นเท้าหลัง” และ “บทบาทธรรมชาติของสตรี” พร้อมกันนั้นมักมีการเน้นหรือเสริมคุณค่าของ “ครอบครัวจารีต” เพื่อให้ชายกับหญิงสามัคคีกันยาก และเพื่อบังคับให้งานบ้าน และงานเลี้ยงลูกหรือคนชรา ตกอยู่กับผู้หญิง แทนที่จะเป็นภาระของส่วนรวม สรุปแล้วมันเป็นวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐนายทุน และลดภาษีที่เก็บจากกลุ่มทุน เพื่อเพิ่มกำไร

 

จะเห็นว่าทุนนิยมเป็นระบบที่ขัดแย้งในตัวเกี่ยวกับสภาพสตรี คือทั้งกดขี่และสร้างเงื่อนไขในการต่อสู้พร้อมกัน

 

ชาวมาร์คซิสต์จะต้องอาศัยการเพิ่มขึ้นของความมั่นใจในหมู่สตรี เพื่อช่วยกันผลักดันการต่อสู้ทางชนชั้น องค์กรจัดตั้งหรือพรรคสังคมนิยม จะต้องขยันต่อสู้ทางความคิดกับลัทธิศีลธรรมจารีตแบบคับแคบเสมอ เราต้องรณรงค์ให้กรรมาชีพเข้าใจลักษณะการกดขี่ทางเพศ และให้หญิงกับชายสามัคคีกัน พร้อมกันนั้นเราจะต้องต่อสู้เพื่อชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ เช่นสิทธิในการทำแท้งเสรี สิทธิที่จะได้เงินเดือนเท่าเทียมกันระหว่างเพศ หรือสิทธิลาคลอด ฯลฯ ซึ่งแยกไม่ออกจากการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ แต่ในระยะยาวเราต้องการสลายสถาบันครอบครัวที่กดขี่ผู้หญิง เราต้องการสลายระบบชนชั้น และเราต้องการล้มรัฐนายทุน  มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเพศใด จะได้มีเสรีภาพที่จะเลือกวิถีชีวิตตามรสนิยม มีเสรีภาพที่จะรักเพื่อนมนุษย์คนใดก็ได้ตามรสนิยม และมีเสรีภาพที่จะรักและดูแลเด็กๆ ของสังคมทุกคนอย่างอบอุ่น

 

2000px-Woman-power_emblem.svg

สองแนวคิดเรื่องสิทธิสตรี

 

ผู้รักความเป็นธรรมทุกคนต้องยอมรับว่าในสังคมนี้ สตรีด้อยโอกาสกว่าชาย ตัวอย่างเช่น ค่าจ้างโดยเฉลี่ยของหญิงมักต่ำกว่าชาย หญิงมักมีบทบาทเป็นผู้นำของสังคมน้อยกว่าชาย และสังคมมักจะมีค่านิยมที่ให้โอกาสกับชายมากกว่าหญิงในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศเป็นต้น

 

ในการอธิบายปัญหาของสตรีและทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าว เราจะพบว่ามีสองสำนักความคิดหลักคือ

  1. สำนักความคิด สตรีนิยม หรือแฟมินิสต์ (Feminist)
  2. สำนักความคิดแบบ สังคมนิยมลัทธิมาร์คซ์ หรือมาร์คซิสต์

 

สำนักความคิดสตรีนิยมจะเสนอว่าปัญหาของหญิงมาจากชาย คือผู้ชายทุกคนรวมหัวกันกดขี่หญิง ชายทุกคนไม่ว่าจะกรรมาชีพหรือนายทุนได้ประโยชน์จากการกดขี่หญิง ดังนั้นชายเป็นผู้กำหนดกฎกติกาทั้งหลายในสังคมที่เอาเปรียบผู้หญิง ชายบังคับให้หญิงอ่อนน้อมต่อตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานบ้าน การตัดสินใจ หรือการมีความสัมพันธ์ทางเพศ  ทฤษฎีนี้มีชื่อว่า “ทฤษฎีพ่อเป็นใหญ่” หรือ “ชายเป็นใหญ่” ฉนั้นทางออกของแนวนี้คือผู้หญิงจากทุกชนชั้นจะต้องสร้างแนวร่วมต่อต้านผู้ชาย คือหญิงไม่ว่าจะ ชั้นสูง ราชวงศ์ นายจ้าง หรือกรรมาชีพ ต้องสามัคคีกัน และพวกสำนักความคิดสตรีนิยมนี้มักเสนอว่าควรมีผู้บริหารที่เป็นสตรีมากขึ้น และเสนอว่าเราควรมี ส.ว. หรือ ส.ส. หญิงเพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงแนวทางการเมืองของหญิงเหล่านั้น

 

สิ่งที่ฝ่ายสตรีนิยมเสนอ ถ้าดูแบบผิวเผินอาจมีความจริง แต่เมื่อเราพิจารณาลึกกว่านั้นจะมีข้อบกพร่อง เช่น แนวคิดนี้ไม่สามารถอธิบายว่าการกดขี่ทางเพศเริ่มเมื่อไรในประวัติศาสตร์มนุษย์ และไม่สามารถอธิบายได้ว่าชายที่เป็นกรรมาชีพจะได้อะไรจากการที่เมียของเขากินค่าแรงต่ำเป็นต้น นอกจากนี้แนวคิดสตรีนิยมจะทำให้ชายกับหญิงสามัคคีกันยากขึ้น ซึ่งแปลว่ากรรมาชีพผู้ทำงานหรือคนยากจนจะต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจากการที่ถูกกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นยาก

 

ในเมื่อฝ่ายสตรีนิยมเสนอเหมือนกับว่าการกดขี่ทางเพศเป็น “ธรรมชาติของชาย” หนทางที่จะแก้ไขคงเต็มไปด้วยอุปสรรคในทุกยุคทุกสมัย เพราะเราจะต้องฝืนธรรมชาติ แต่นักคิดแนวมาร์คซิสต์เช่น เองเกิลส์ อธิบายว่าการกดขี่ทางเพศไม่มีในสมัยบรรพกาล และเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีสังคมชนชั้น พูดง่ายๆ การกดขี่ทางเพศเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง และไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ดังนั้นมันถูกรื้อทิ้งได้

egypt_women

นักมาร์คซิสต์เชื่อว่ากรรมาชีพหญิงไม่ควรจับมือกับรัฐมนตรีชนชั้นนายทุนที่เป็น“ท่านผู้หญิง” และไม่ควรเลือก ส.ส. หรือ ส.ว. หญิงจากพวกนายทุน เพราะการกดขี่ทางเพศมาจากสังคมชนชั้น  ในระยะสั้นกรรมาชีพหญิงและชายต้องต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เช่นสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย โดยเฉพาะสิทธิทำแท้ง เพราะการกดขี่หญิงสร้างความแตกแยกในขบวนการแรงงาน และไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับกรรมาชีพชาย

 

การเน้นครอบครัวจารีตในสังคมชนชั้น เป็นที่มาของการดูหมิ่นและเลือกปฏิบัติต่อ ชายรักชาย หญิงรักหญิง และกะเทย ดังนั้นเราควรปกป้องสิทธิของคนเหล่านี้ที่จะมีความสัมพันธ์อย่างเสรีตามรสนิยมส่วนตัว ในยุคนี้ในแวดวงนักสิทธิสตรีมีการถกเถียงโต้แย้งกันว่า “กะเทย” ที่เป็นหญิงในร่างชาย ไม่ควรถูกมองว่าเป็น “หญิงแท้” การถกเถียงเรื่องนี้เพิ่มขึ้นในประเทศตะวันตก เพราะมีการเปลี่ยนกฏหมายให้พลเมืองเลือกว่าอยากเป็นเพศอะไรในเอกสารทางการและในชีวิตประจำวัน มันเกี่ยวข้องกับเรื่องการแยกห้องน้ำระหว่างเพศในสถานที่สาธารณะ และเรื่องการจำคุกว่ากะเทยควรจะอยู่ในคุกของนักโทษเพศอะไรด้วย

 

นักมาร์คซิสต์มองว่าเราต้องปกป้องสิทธิของเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่จะเลือกเพศของตนเอง และกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง เราต้องปกป้องความหลากหลายที่มีจริงในโลก และต้องปฏิเสธการนิยามว่าใครเป็นหญิงหรือชาย “แท้”

“มันแกว” คือตัวแทนของความคิดถอยหลังลงคลองของพวกอดีตสิทธิสตรี

ใจอึ๊งภากรณ์

“อั้ม เนโกะ” เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพที่กล้าหาญ เขาโดนพวกนักบริหารมหาวิทยาลัยรังแก เขาโดนคณะทหารเรียกเพื่อจำคุก และเขาโดนพวกล้าหลังในสื่อ ASTV ข่มขู่ว่าควรจะโดนข่มขืนในคุก

100528

     “มันแกว” เป็นักฉวยโอกาสที่ใช้ร่างตนเองเพื่อโฆษณาธุรกิจ แต่เขาอ้างว่าเขาเป็นสตรีที่ปลดแอกตนเอง เขาไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน เขาไม่โดนทหารเรียกหรือรังแก และคงมีพวกทหาร คสช. หลายคนที่แอบไปชมภาพเขาในเฟสบุ๊ก

000_10245468_845438822149952_8922398116870220493_n

     ทั้ง “อั้ม เนโกะ” และ “มันแกว” เป็นตัวอย่างของสองขั้วแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิทางเพศ ขั้วหนึ่งก้าวหน้า อีกขั้วปฏิกิริยา ถ้าจะเข้าใจ เราต้องย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนแปลงของแนวสิทธิสตรีในระดับสากล

เมื่อ 40 ปีก่อน ระดับการต่อสู้ทั่วโลกขึ้นสูง ซึ่งกระตุ้นการฟื้นฟูแนวคิดสิทธิสตรี ในยุคนั้นนักสิทธิสตรี ทั้งพวก“เฟมินิสต์” และพวกนักสังคมนิยม โดยเฉพาะในสังคมที่ก้าวหน้า มักร่วมกับผู้ชายและขบวนการสหภาพแรงงานในการต่อสู้ ในยุคนั้นมีการเน้นความเท่าเทียมในทุกแง่ รวมถึงสิทธิของสตรีในการเป็นผู้นำ และในการมีความสุขจากเพศสัมพันธ์ แทนที่จะรักนวลสงวนตัว

เฟมินิสต์ต่างกับนักสังคมนิยมในเรื่องที่มาของการกดขี่สตรี โดยที่เฟมินิสต์มองว่ามันมาจากระบบ “ชายเป็นใหญ่” และนักสังคมนิยมมองว่ามาจากสังคมชนชั้นที่พยายามแบ่งแยกเพศ เพื่อปกครองชนชั้นล่างทั้งชายและหญิง อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มจะร่วมมือกันอย่างดีในการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรม

แต่ความคิดเกี่ยวกับการปลดแอกมิได้ลอยอยู่เหนือสังคม  ความคิดเปลี่ยนไปตามกระแสการต่อสู้และสภาพสังคม หลายคนที่เน้นแต่ “ปัญหาที่มาจากผู้ชาย” ถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลัก  ผู้หญิงส่วนน้อยมีโอกาสเป็นผู้นำและมีอาชีพสูง ตัวอย่างที่ดีในไทยคือการที่อดีตนายก ยิ่งลักษณ์ มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีอำนาจ  และกระแสการปลดแอกสตรีแบบเฟมินิสต์ในที่สุดไปประนีประนอมกับกระแสหลัก

พวกที่แยกตัวออกจากสังคมผู้หญิงส่วนใหญ่  เพื่อเน้นพัฒนาการแบบปัจเจก  ไม่สนใจการที่สภาพชีวิตและการทำงานทั่วไปของผู้หญิงส่วนใหญ่ในโลกแย่ลง  หญิงส่วนน้อยที่ไต่เต้าขึ้นไปข้างบนจะเริ่มโทษผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ “ไม่ขยันในการพัฒนาตนเอง”     การถอยหลังเข้าคลองของแนว “หลังเฟมินิสต์” นี้ นำไปสู่การยกเลิกการวิเคราะห์เกี่ยวกับการกดขี่ทางเพศ  มีการหันมาเน้นว่าผู้หญิงควร “รักความสวย” มีการถอยหลังมาแก้ตัวแทนการที่สังคมใช้ร่างกายผู้หญิงในการขายสินค้า และมีการโกหกว่าผู้หญิงเหล่านั้นปลดแอกตนเองเพราะกล้าโชว์ร่างเปลือย

นี่คือจุดยืนล้าหลัง แต่อ้างก้าวหน้า ของ “มันแกว” ผู้อวดว่าตัวเองมี “นมคุณธรรม” ในขณะที่ดูหมิ่นผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศ “มันแกว” เป็นคนที่เข้ากับสังคมตอแหล

แต่จุดยืนของ “อั้ม เนโกะ” เป็นจุดยืนที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เขาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศที่หลากหลาย นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และนักต่อสู้เพื่อสิทธิทำแท้งเสรี เขาอยากโค่นล้มสังคมตอแหล