Tag Archives: เยอรมัน

การทำลายมาตรฐานการจ้างงานในเยอรมัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปัญหาความเสื่อมในคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการทำงานของกรรมาชีพเยอรมัน อธิบายปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นกับเยอรมันได้ มันอธิบาย “ความสำเร็จ” ในการส่งออกซึ่งสร้างกำไรมหาศาลให้กับกลุ่มทุนเยอรมัน แต่เกิดขึ้นบนสันหลังกรรมาชีพ มันอธิบายว่าทำไมธนาคารต่างๆ ของเยอรมันพร้อมจะปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศที่ยากจนกว่าในยุโรป เช่นกรีซ เพื่อระบายสินค้าส่งออกของเยอรมัน มันอธิบายว่าทำไมหลังจากนั้น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 รัฐบาลเยอรมันเป็นหัวหอกในการบังคับใช้นโยบายรัดเข็มขัดในกรีซ เพื่อเอาเงินกู้นั้นคืนมา ซึ่งทำให้ประชาชนกรีซต้องยากลำบาก และล่าสุดมันอธิบายว่าทำไมในสังคมเยอรมัน ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจกับพรรคกระแสหลัก และบางคนพร้อมจะเชื่อการเป่าหูที่เบี่ยงเบนประเด็นไปสู่การโทษผู้ลี้ภัย คนมุสลิม และคนต่างชาติที่ทำงานในเยอรมัน ซึ่งมีผลทำให้พรรคนาซีเยอรมันกลับมาได้คะแนนเสียงในรัฐสภาเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลก

AfD+hitler

ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้สงครามเย็น เยอรมันถูกแบ่งออกเป็นสองซีก เยอรมันตะวันตกภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ ฝรั่งเศส กับอังกฤษ และเยอรมันตะวันออกภายใต้อิทธิพลรัสเซีย

ในสมัยนั้นการเมืองกระแสหลักในเยอรมันตะวันตกส่งเสริมให้รัฐมีบทบาทสูง มีการสร้างระบบรัฐสวัสดิการและระบบแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้ทุนนิยมขยายตัวและพัฒนาสังคมภายใต้สันติภาพทางชนชั้น รายได้และมาตรฐานการทำงานของกรรมาชีพเยอรมันก็ดีขึ้นตามลำดับ พร้อมกันนั้นนายทุนก็สามารถเพิ่มกำไรและปริมาณการส่งออกได้ มันสร้างวัฒนธรรมการร่วมมือกันระหว่างสหภาพแรงงานกับนายทุนจนผู้นำสหภาพเลิกสนใจการต่อสู้ผ่านการนัดหยุดงาน

แต่พอถึงปลายทศวรรษที่ 70 ระบบเศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่วิกฤตทุนนิยมเรื้อรังท่ามกลางการลดลงของอัตรากำไร ดังนั้นทั่วโลกมีการรื้อฟื้นแนวเสรีนิยมกลไกตลาดและแนวคิดที่ต่อต้านบทบาทรัฐในเศรษฐกิจ เช่นการต่อต้านรัฐสวัสดิการ และการต่อต้านมาตรฐานการจ้างงานที่ดี ทั้งนี้เพื่อพยายามกู้อัตรากำไรให้นายทุน [ดู https://bit.ly/2tWNJ3V]ในยุคทศวรรษที่ 80 และ 90 เริ่มมีการตัดงบประมาณในรัฐสวัสดิการและการส่งเสริมการขายรัฐวิสาหกิจ อัตราการว่างงานค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่สภาพชีวิตของคนธรรมดาในเยอรมันยังไม่ถึงขั้นวิกฤต

พร้อมกันนั้นระบบเผด็จการสตาลินก็ล่มสลายในรัสเซียกับยุโรปตะวันออก ซึ่งนำไปสู่การรวมประเทศเยอรมันเป็นประเทศเดียวหลัง 1989 และทั้งๆ ที่การรวมประเทศทำให้รัฐเยอรมันต้องลงทุนมหาศาลในการพัฒนาเยอรมันตะวันออกให้มีมาตรฐานเท่ากับตะวันตก แต่กลุ่มทุนเยอรมันได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตสู่ภูมิภาคที่มีค่าจ้างต่ำในเยอรมันตะวันออกกับส่วนอื่นของอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ ดังนั้นกลุ่มทุนเยอรมันสามารถประคองอัตราการส่งออกได้ แต่อัตราการว่างงานในเยอรมันซีกตะวันออกสูงมาก เพราะอุตสาหกรรมเก่าจากยุคเผด็จการสตาลินล้มเหลว

Gerhardschroeder
แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์

พอถึงปี 2003 รัฐบาลแนวร่วมระหว่างพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคกรีน ภายใต้นายกรัฐมนตรี แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ (Gerhard Schröder) หันหลังให้กับความคิดเดิมที่เน้นรัฐสวัสดิการและแรงงานสัมพันธ์ที่ดี เพื่อรับแนวเสรีนิยมมาเต็มๆ และเปิดศึกกับขบวนการแรงงาน เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน การหักหลังชนชั้นกรรมาชีพและรับแนวเสรีนิยมกลไกตลาดโดยพรรคสังคมนิยมปฏิรูปหรือพรรคแรงงานเกิดขึ้นทั่วยุโรป และมีการแก้ตัวโดยที่นักวิชาการหลายคน[1]โกหกว่าเป็น“แนวทางที่สาม” ระหว่างแนวที่เน้นรัฐกับแนวที่คลั่งตลาด ในความจริงมันเป็นการรับแนวคลั่งตลาดมาเต็มตัว ในอังกฤษรัฐบาลของ โทนี แบลร์ ที่อ้างว่าเป็น “พรรคแรงงานใหม่” ก็ส่งเสริมนโยบายแบบนี้เช่นกัน

ในเยอรมัน แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ เสนอนโยบาย “วาระ2010” (Die Agenda 2010) มีการตัดสวัสดิการต่างๆ แบบถอนรากถอนโคน มีการทำลายกฏหมายที่ปกป้องความมั่นคงของการทำงานเพื่อให้นายจ้างสามารถไล่คนออกง่ายขึ้น และมีการนำระบบรับเหมาช่วงและการจ้างคนงานชั่วคราว มาใช้ในบริษัทต่างๆ ในหลายบริษัทเกือบครึ่งหนึ่งของคนงานเป็นคนงานชั่วคราวที่ไร้สิทธิ์และสวัสดิการที่ดี ในบางกรณีคนงานชั่วคราวได้รับค่าจ้างแค่ครึ่งหนึ่งของคนงานประจำ มีการลดการใช้ระบบเจรจาระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงานในกรรมการลูกจ้างของบริษัทต่างๆ ในปี 2014 แค่ 28% และ 15% ของบริษัทในซีกตะวันตกและตะวันออกได้รับค่าจ้างมาตรฐานที่มาจากการเจรจากับสหภาพแรงงาน นอกจากนี้คนงานจากประเทศอื่นในอียูที่เข้ามาทำงานเกือบจะไม่ได้สวัสดิการอะไรเลย คนงานที่แย่ที่สุดคือคนงานที่ไม่มีสหภาพแรงงานในสถานที่ทำงาน

german-workers

ท่ามกลางการเปิดศึกกับกรรมาชีพของชนชั้นปกครองเยอรมัน ผู้นำสหภาพแรงงานหมูอ้วนหลายคนที่เคยชินกับการเจรจาแทนการนำการต่อสู้ ก็ยอมจำนนโดยปลอบใจตัวเองและสมาชิกสหภาพว่าอย่างน้อยก็สามารถรักษาผลประโยชน์อะไรบางอย่าง อย่างไรก็ตามในหลายบริษัทก็มีกรณีที่สหภาพแรงงานพยายามต่อสู้เพื่อเพิ่มมาตรฐานการจ้างงานสำหรับคนงานชั่วคราวในระบบรับเหมาช่วง และคนงานที่มีรายได้ต่ำ เช่นการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน Verdi กับ NGG ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและระบบการศึกษา

GERMANY-US-UNIONS-RETAIL-STRIKE-IT-AMAZON

สรุปแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 90 กรรมาชีพเยอรมันได้ส่วนแบ่งของผลผลิตที่ตัวเองผลิตน้อยลง ทั้งๆ ที่ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และแน่นอนนายทุนได้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเยอรมันเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในปี 2012 25% ของคนงานเยอรมันมีรายได้ต่ำกว่ารายได้ที่ถือว่าอยู่ในระดับยากจน และในหมู่ลูกหลานของคนชั้นกลาง มีกระแสความกลัวในเรื่องความมั่นคงในชีวิต

นี่คือรากฐานของการกลับมาของกระแสการเมืองฟาสซิสต์ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเข้าไปร่วมรัฐบาลกับพรรคของนายทุนและมีนโยบายที่เหมือนกัน

a53ee86f43e24999be6547d254e9230d_18
พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเข้าไปร่วมรัฐบาลกับพรรคของนายทุน

แม้แต่ “พรรคซ้าย” (Die Linke) ก็มีปัญหาในการครองใจคนที่ประสพความยากลำบาก เพราะไปเน้นเรื่องการเจรจาในรัฐสภาแทนที่จะนำการต่อสู้ของสหภาพแรงงานหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อคัดค้านนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยมสุดขั้ว

dlinke
พรรคซ้าย

มันเปิดโอกาสให้พวกนาซีหรือฟาสซิสต์ในพรรค AfD (Alternative für Deutschland) สามารถเบี่ยงเบนความทุกข์ของประชาชนไปสู่การต่อต้านผู้ลี้ภัย คนต่างชาติ หรือคนมุสลิม ทั้งๆ ที่ความทุกข์ของประชาชนมาจากนโยบายเสรีนิยมที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน

1018316866
สส.พรรคนาซี

[อ่านเพิ่ม: Oliver Nachtwey (2018) “Germany’s Hidden Crisis. Social Decline in the Heart of Europe”. Verso Books.]

[1] เช่น Anthony Giddens และ Thomas Meyer ในกรณี Thomas Meyer องค์กร FES ในไทยเคยเชิญคนนี้มาเพื่อคุยกับนักสหภาพแรงงานไทยและชักชวนให้ชื่นชมแนวทางที่สามและสร้างพรรคแรงงานที่ยอมรับกลไกตลาดเสรี โดยมีการตีพิมพ์หนังสือ “อนาคตของสังคมประชาธิปไตย”

 

ข้อแตกต่างระหว่างระบบเลือกตั้งเยอรมัน กับระบบที่เสนอในรัฐธรรมนูญทหารโจร

ใจ อึ๊งภากรณ์

เนื่องจากมีนักวิชาการตอแหลที่รับใช้เผด็จการ อ้างว่าระบบการเลือกตั้งที่เสนอในร่างรัฐธรรมนูญโจร เป็นรูปแบบเดียวกับระบบเยอรมัน เราควรจะมาทำความเข้าใจว่าในความเป็นจริงมันแตกต่างกันอย่างไร

โดยทั่วไปเยอรมันเป็นสาธารณรัฐ แบบ “สหรัฐ” คือรัฐท้องถิ่นต่างๆ ของเยอรมันมีสภาของตนเองที่มาจากการเลือกตั้ง และมีอำนาจของตนเอง พร้อมๆ กับการมีรัฐบาลและรัฐสภาส่วนกลางด้วย ตอนนี้ไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่ฝ่ายเผด็จการยืนยันว่า “แบ่งแยกไม่ได้” นอกจากนี้เยอรมันเป็นประเทศที่ยกเลิกระบบกษัตริย์ไปนานแล้ว และรัฐธรรมนูญเยอรมันถูกเขียนขึ้นเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่าถูกเขียนโดยเผด็จการ

แต่ในรายละเอียดของระบบเลือกตั้ง เราจะเห็นข้อแตกต่างต่อไปนี้ระหว่างไทยกับเยอรมัน

1) ในระบบเยอรมัน ที่นั่งในรัฐสภาแห่งชาติ ถูกแบ่งไว้ตามรัฐต่างๆ แต่ละรัฐจะมีที่นั่งตามสัดส่วนประชากรในรัฐนั้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ แต่ในไทย นอกจากจะไม่มี “รัฐ” ท้องถิ่นแล้วที่นั่งในรัฐสภาไทยไม่มีการแบ่งตามภาคเลย

2) ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ “พาร์ตีลิสต์” ในเยอรมัน แยกตามแต่ละรัฐ และจำนวน สส. ที่แต่ละรัฐส่งไปนั่งในสภาแห่งชาติ จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนคะแนนเสียงในบัญชีรายชื่อของรัฐนั้น คือจะมี สส. เขต แล้วอาจเสริมด้วย สส. ที่มาจากบัญชีรายชื่อ เพื่อให้สัดส่วน สส. ที่แต่ละรัฐส่งเข้าสภาแห่งชาติ ตรงกับสัดส่วนคะแนนเสียงในบัญชีรายชื่อของแต่ละรัฐ แต่ในไทย ทั้งๆ ที่มีบัญชีรายชื่อที่แยกตาม 6 ภาค แต่พอคำนวนสัดส่วน สส. ที่แต่ละพรรคควรจะได้ ก็จะมีการรวมคะแนนจากทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศ และในการคำนวนว่าพรรคไหนควรจะเพิ่ม สส. จากบัญชีรายชื่อให้สูงขึ้น จะเฉลี่ยคะแนนจากภาคนั้นกับคะแนนทั่วประเทศ ในรูปธรรมมันจะลดอิทธิพลของคะแนนเสียงประชาชนในภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภาคที่มีประชากรสูง

3) ระบบเยอรมันถูกออกแบบให้จำนวน สส. สอดคล้องกับคะแนนเสียงของประชาชน โดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจไปสู่รัฐท้องถิ่น แต่ระบบไทยถูกออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเล็กๆ ที่เป็นแนวร่วมพรรคพวกเท่านั้น จะขออธิบายเพิ่มเติม

ถ้ามีการแบ่งภาคในประเทศไทย พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงท่วมท้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งมีสัดส่วนประชากรสูงที่สุด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนเสียงสูงในภาคใต้เท่านั้น

ถ้าใช้ “ระบบเยอรมัน” พรรคเพื่อไทยจะได้ สส. ในส่วนของภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงมาก และพรรคประชาธิปัตย์จะได้แค่ไม่กี่ สส. จากภาคใต้และภาคกลางบางส่วน

แต่ถ้าใช้ระบบร่างรัฐธรรมนูญโจรเพื่อคำนวนสัดส่วน สส. ระดับชาติในรัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์จะได้เสียงเสริม เพราะคะแนนเสียงจากภาคใต้ภาคเดียว จะมีผลต่อการนับคะแนนทั่วประเทศ แทนที่จะมีผลในแค่ส่วนของภาคใต้เท่านั้น พรรคเล็กๆ ที่เคยเป็นฝ่ายค้านก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน และคะแนนของพรรคเพื่อไทยก็จะถูกดึงลงในส่วนอื่นของประเทศด้วย

4) ในระบบเยอรมัน พรรคฝ่ายซ้ายก้าวหน้าที่ได้คะแนนเสียงเกิน 5% ในรัฐท้องถิ่นหนึ่ง จะได้ที่นั่งในรัฐสภาแห่งชาติจากรัฐท้องถิ่นนั้น แต่ในระบบไทย ถ้าพรรคก้าวหน้าของคนจนได้รับความนิยมในท้องถิ่นหนึ่ง เมื่อรวมคะแนนระดับชาติ ก็จะมีแนวโน้มจะได้ที่นั่งยาก เพราะการคิดคะแนนคิดไปในระดับชาติ

อ้างอิง

 

http://www.bundestag.de/htdocs_e/bundestag/elections/elections/   http://www.bundestag.de/htdocs_e/bundestag/elections/electionresults/election_mp/245694

http://www.iuscomp.org/gla/literature/introbwg.htm#ToC4

 

ข้อดีของระบบการเมืองแบบเยอรมัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในช่วงนี้มีการพูดถึงระบบการเมืองแบบเยอรมัน ว่ามีข้อดีหลายประการซึ่งควรนำมาใช้ในไทย

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หนึ่งในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เสนอ “โมเดลการเลือกตั้งแบบเยอรมัน” โดยระบุว่าวิธีการเลือกตั้งแบบเยอรมัน จะทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนมีค่า เพราะจำนวนผู้แทนของแต่ละพรรคการเมืองจะสอดคล้องกับเสียงประชาชน และในเวลาเดียวกัน สุจิต บุญบงการ ก็ออกมายืนยันข้อดีของรูปแบบการเลือกตั้งแบบเยอรมัน ในการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ผมไม่เคยสนับสนุนจุดยืนเลียทหารของสองนักวิชาการเหล่านี้ แต่ในเรื่องข้อดีของระบบการเมืองเยอรมัน ผมเห็นด้วยทั้งๆ ที่ นครินทร์ และ สุจิต คงจะชมไม่เต็มปากอย่างแน่นอน

ในประการแรก เยอรมันเป็นสาธารณรัฐ แบบ “สหรัฐ” คือรัฐต่างๆ ของเยอรมันมีสภาของตนเองที่มาจากการเลือกตั้ง และมีอำนาจของตนเอง พร้อมๆ กับการมีรัฐบาลและรัฐสภาส่วนกลางด้วย ตอนนี้ไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่ฝ่ายเผด็จการยืนยันว่า “แบ่งแยกไม่ได้”

การแบ่งไทยหรือสยามออกเป็นหลายรัฐจะเพิ่มอำนาจการกำหนดอนาคตตนเองของประชาชน เช่นใน ปาตานี ลานนา หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในการเลือกตั้งเยอรมันมีบัตรลงคะแนนสองบัตรคือ บัตรเลือก สส. เขต และอีกบัตรเพื่อเลือกนักการเมืองจากรายชื่อของแต่ละพรรคหรือ “พาร์ตีลิสต์” ดังนั้นจำนวน สส. ในสภาจะสอดคล้องกับการนิยมของประชาชน นอกจากนี้ในเยอรมันไม่มีการปิดกั้นการตั้งพรรคสังคมนิยมหรือพรรคซ้ายแต่อย่างใด

เยอรมันมีระบบประธานาธิบดีที่เป็นประมุขแต่ไม่ค่อยมีอำนาจ ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยสภาส่วนกลางและสภารัฐท้องถิ่น ส่วนผู้นำประเทศที่แท้จริงคือนายกรัฐมนตรี หรือ “ชานเซเลอร์”

ในเยอรมันไม่มีองค์กรอิสระที่จะมาลดเสียงประชาชน ไม่มีกรรมการที่ถูกแต่งตั้ง ที่จะมากำหนดว่าพรรคการเมืองใช้นโยบายอะไรได้หรือไม่ได้ และไม่มีการระบุว่ารัฐบาลต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบไหน

ผู้บัญชาการกองทัพเยอรมันคือรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งเป็นพลเรือน ขณะนี้เป็นสตรีด้วย ไม่มีใครสนใจชื่อนายพลคนใดเพราะนายพลไม่มีอำนาจ ยิ่งกว่านั้นเวลามีการตั้งกองทัพใหม่ขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และหลังจากที่เผด็จการฮิตเลอร์จบลง มีการกลั่นกรองนายพลที่ยึดแนวประชาธิปไตยเท่านั้น เพื่อดำรงตำแหน่งในกองทัพ เมื่อทหารใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ก็ต้องสาบานว่าจะ “ปกป้องประชาธิปไตยเสรีภาพของประชาชน และรัฐธรรมนูญ” และในยุคนี้มีการยกเลิกการเกณฑ์ทหารพร้อมกับการลดกองกำลังลง ประเทศไทยควรตามอย่างแบบนี้ทุกประการอย่างแคร่งครัด

ในเยอรมันไม่มีกฏหมายที่ปิดปากประชาชน ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้ และผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะทุกคนถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ประเทศไทยควรตามอย่างโดยการยกเลิกกฏหมาย 112

ในเยอรมันมีหลายกฏหมายที่พยายามปกป้องเสรีภาพประชาชนจากการสอดแนมของรัฐ

ในเยอรมันมีระบบรัฐสวัสดิการสำหรับประชาชนทุกคน ซึ่งในไทยยังไม่มี

เมื่อเรากลับมาพิจารณาความเห็นของนักวิชาการตอแหลที่ปฏิกูลประเทศให้ทหารเผด็จการ เราจะเห็นว่าคนอย่าง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ สุจิต บุญบงการ กำลังโกหกว่าชื่นชมระบบแบบเยอรมันในขณะที่ต้องการทำลายเสียงประชาชนด้วยการลดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีการพูดถึงส่วนดีๆ อื่นของระบบเยอรมันเลย คือตั้งใจเลือกมาแค่ส่วนเล็กๆ

สุจิต เองมองว่าควรลดอิทธิพลของพรรคการเมือง เพราะจะได้ลดอิทธิพลพรรคที่มีนโยบายดีๆ สำหรับคนจน เขาต้องการกลับไปสู่ระบบ “เลือกคนดี” ซึ่งเป็นเพียงการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ระบบอุปถัมภ์นั้นเอง ในอดีตบทความวิชาการของ สุจิต บุญบงการ เคยวิจารณ์ประชาชนว่าตกอยู่ในระบบอุปถัมภ์และวิจารณ์สถาบันทางการเมือง เช่นพรรคการเมือง ว่าขาดเสถียรภาพ นับว่าเป็นการกลับคำเพื่อให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารรอบนี้อย่างหน้าไม่อายเลย

เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้ออกมาสนับสนุนการห้ามกิจกรรมทางการเมืองเกี่ยวกับ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ที่ธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่าในอดีตเป็นเวทีเพื่อสร้างความแตกแยก คือเขามองว่าการคิดเห็นต่างเป็นเรื่องผิด นครินทร์ เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า “องค์พระประมุขของรัฐ คอยเชื่อมต่อไม่ให้การรัฐประหารต่างๆ นั้น ไม่ทำให้บ้านทั้งหลังมันแตกร้าว อย่างน้อยที่สุด ประมุขของรัฐเป็นตัวเชื่อม เป็นสถาบันที่ทำให้เราเห็นความต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยของไทย” นอกจากนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยวิจารณ์ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ว่าบิดเบือนพูดไม่หมด เวลาเขียนถึงเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ในหนังสือ “พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราโชคดีจังที่มีคนดีแบบนักวิชาการสองคนนี้ ที่มากอบกู้ระบบประชาธิปไตยไทย