Tag Archives: เยาวชนปลดแอก

มาร์คซิสต์กับ “ความรุนแรง”

เมื่อพูดถึง “ความรุนแรง” สิ่งแรกที่นักมาร์คซิสต์ต้องย้ำเสมอคือ ความรุนแรงของพวกที่กดขี่เรา (เช่น รัฐ ทหาร ตำรวจ ศาล) ไม่เหมือนความรุนแรงของคนที่ถูกกดขี่ปราบปราม ในเรื่องนี้พวก “สันติวิธี” แบบหอคอยงาช้างมักจะละเลยเสมอด้วยคำพูดในเชิง “ขอให้ทุกฝ่ายปฏิเสธความรุนแรง”

คำพูดแบบนั้นเรามักได้ยินในเรื่องความขัดแย้งในปาตานี หรือการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย สิ่งที่พวกสันติวิธีแบบหอคอยงาช้างมองข้ามเสมอคือ ฝ่ายรัฐมีกองกำลังติดอาวุธและพร้อมที่จะใช้อาวุธเหล่านั้นเสมอ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การที่เขาถืออาวุธไว้ปราบประชาชนเป็นการประกาศตั้งแต่แรกว่ารัฐพร้อมจะใช้ความรุนแรงเสมอ ดังนั้นข้อเรียกร้องว่า “ขอให้ทุกฝ่ายปฏิเสธความรุนแรง” ไม่มีผลกับรัฐ แต่กลับกลายเป็นคำวิจารณ์คนที่ถูกกดขี่ปราบปรามที่พยายามป้องกันตัวเท่านั้น

คนที่อยู่ในไทยที่นั่งอยู่บ้านไม่ทำอะไร แต่วิจารณ์ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หรือประกาศว่า “เป็นห่วงน้องๆ” ที่ออกมาชุมนุม เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล เพราะถ้าเขาไม่อยากเห็นความรุนแรงเขาจะต้องมาร่วมชุมนุม ในหลายๆ กรณีมวลชนยิ่งมากเท่าไร รัฐยิ่งไม่กล้าปราบ

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การกดขี่ชาวมาเลย์มุสลิมที่ปาตานี เราจะเห็นว่าขบวนการติดอาวุธสู้กับรัฐไทย เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐไทยใช้ความรุนแรงเสมอ เช่นหลังจากที่หะยีสุหลงถูกรัฐไทยอุ้มฆ่าในปี ๒๔๙๗  โดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ หรือหลังจากการลงมือฆ่าชาวมาเลย์มุสลิมไร้อาวุธที่ตากใบในปี ๒๕๔๗ โดยรัฐบาลทักษิณ

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การจับอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เราจะเข้าใจว่าการจับอาวุธเป็นปฏิกิริยาต่อการที่รัฐไทยเข้ามาปราบปรามด้วยความรุนแรง เช่นการจับขังหรือการฆ่าเป็นต้น

ในปัจจุบัน เมื่อเราพิจารณาการเคลื่อนไหวของ กลุ่มเยาวชนปลดแอก คณะราษฏร์ หรือ REDEM ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ไร้อาวุธ เราจะเห็นว่ากลุ่มคนที่เตรียมอาวุธมาทำร้ายคนอื่นคือตำรวจกับทหาร และอันธพาลของฝ่ายคลั่งเจ้า การที่ตำรวจและทหารสลายการชุมนุมของผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการฉีดน้ำใส่สารเคมี การใช้ก๊าซน้ำตา การใช้กระสุนยาง หรือการใช้กระสุนจริง (อันหลังนี้โดยเฉพาะในกรณีเสื้อแดง) ถือว่าเป็นการจงใจใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ฝ่ายรัฐปกครองด้วยอำนาจเผด็จการที่มาจากการใช้ความรุนแรงในการทำรัฐประหารแต่แรก

การที่แกนนำผู้ชุมนุมหลายๆ คนถูกรัฐจับกุมและขังในคุกด้วยกฏหมายเถื่อน112 ถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเพื่อปิดปากประชาชนและห้ามไม่ให้มีการแสดงออกอย่างเสรี อย่าลืมว่าคนที่กำลังโดน 112 แค่ใช้คำพูดในการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรมสูงตามหลักประชาธิปไตย เขาไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด ไม่เหมือนนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือดประยุทธ์ที่เคยสั่งฆ่าเสื้อแดง และต้องรับผิดชอบกับการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในยุคนี้

ดังนั้นถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยพยายามป้องกันตัวหรือโกรธแค้นขึ้นมา และใช้ความรุนแรงโต้ตอบตำรวจหรือทหารมันเป็นเรื่องที่ไม่ผิด เข้าใจได้ และมาร์คซิสต์จะไม่มีวันวิจารณ์ เราจะพุ่งเป้าการวิจารณ์ไปที่รัฐบาลเผด็จการกับตำรวจทหาร

ในกรณีที่ผู้ชุมนุมชาวอเมริกันลุกขึ้นมาประท้วงในขบวนการ “Black Lives Matter” และไปเผาโรงพักที่ส่งตำรวจออกไปฆ่าคนผิวดำ เราจะไม่มีวันวิจารณ์

แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าภายในขบวนการเคลื่อนไหว มวลชนจะไม่มีการถกเถียงกันเรื่องความฉลาดในการใช้ความรุนแรงหรือวิธีการที่จะไม่ทำให้การเคลื่อนไหวเสียการเมือง

ในเรื่องการใช้ความรุนแรงเราพูดแค่นี้ไม่ได้ มีอีกสองประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณา

ประเด็นแรกคือยุทธวิธีการจับอาวุธ ที่เคยใช้โดยพรรคคอมมิวนิสต์ หรือที่ BRN ใช้ในปาตานีตอนนี้ ไม่สามารถเอาชนะรัฐไทยได้ เพราะกองกำลังของรัฐไทยมีอาวุธและจำนวนคนมากกว่า ยิ่งกว่านั้นการใช้แนวจับอาวุธมีผลทำให้มวลชนคนธรรมดาไม่มีบทบาทอะไรเลย และไม่มีส่วนในการกำหนดแนวทางต่อสู้เคลื่อนไหว เพราะพวกจับอาวุธย่อมปิดลับเสมอ มาร์คซิสต์มองว่าถ้าเราจะล้มเผด็จการหรือเปลี่ยนสังคม เราต้องอาศัยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชน ซึ่งไม่ได้แปลว่าเมื่อใกล้ชนะแล้วมวลชนจะไม่ติดอาวุธเพื่อป้องกันตัวจากฝ่ายรัฐเก่าที่พร้อมจะฆ่าคนจำนวนมากในการรักษาอำนาจอันไม่ชอบธรรม แต่ในกรณีนั้นแนวทางจะเน้นมวลชนเหนือการจับอาวุธ

ถ้าจะเปรียบเทียบแนวจับอาวุธกับแนวมวลชน เรามีบทเรียนสำคัญจาก Arab Spring เพราะในกรณีอียิปต์ หรือตูนิเซีย มีการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ล้มผู้นำเผด็จการได้ แต่ในกรณีซิเรีย การใช้แนวจับอาวุธนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ล้มผู้นำเผด็จการไม่ได้ และแถมเปิดช่องให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมในสงคราม จนสังคมซิเรียพังทะลาย

ประเด็นที่สองคือเรื่องการปก้องกันตัวจากความรุนแรงของฝ่ายรัฐ มาร์คซิสต์จะมองว่าถ้าเราสู้ด้วยอาวุธชนิดเดียวกับที่ผู้กดขี่เราใช้ จะไม่ได้ผลเท่าไร แต่ถ้าเราใช้พลังของมวลชนในการนัดหยุดงาน มันเป็นอาวุธที่ฝ่ายรัฐมีความลำบากมากในการปราบหรือโต้ตอบ เพราะกรรมาชีพผู้ทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจ การนัดหยุดงานจึงเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่มีพลัง และสามารถใช้ล้มเผด็จการได้

อ่านเพิ่ม

ถ้าจะไล่เผด็จการทหารต้องปลุกระดมการนัดหยุดงาน http://bit.ly/2Oh1mJz

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

มาร์คซิสต์ กับการต่อสู้ในยุคคนหนุ่มสาว http://bit.ly/3iBPzAO

แนวคิดมาร์คซิสต์คืออะไร https://bit.ly/3s5eu42

ใจ อึ๊งภากรณ์

สมานฉันท์กับประชาชนพม่าในการต้านเผด็จการทหาร

แม้แต่ประชาธิปไตยครึ่งใบของพม่าที่คุมโดยทหาร ก็มากเกินไปสำหรับพวกนายพลเผด็จการ วันนี้จึงมีการทำรัฐประหารหลังจากที่พรรค NLD ของอองซานซูจีชนะเสียงข้างมากในสภา

เราควรเตือนความจำกันว่าในระบบพม่า ซึ่งอาศัยรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างเอง กองทัพสำรองที่นั่ง 25% ในรัฐสภา และวุฒิสภาให้ตนเอง ยิ่งกว่านั้นกองทัพได้สงวนสิทธิ์ที่จะให้นายพลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย กลาโหม และรัฐมนตรีที่ควบคุมพรมแดน กองทัพมีสิทธิ์วีโต้การแก้รัฐธรรมนูญ และในกรณี “วิกฤต” กองทัพสามารถเข้ามาคุมรัฐบาลได้เสมอ

แต่นางอองซานซูจีไม่ใช่ผู้นำที่ประชาชนควรจะไว้ใจในการนำการต่อสู้

นางอองซานซูจี มีประวัติในการใช้คำพูดเพื่อสลายการลุกฮือของมวลชน โดยเฉพาะในเหตุการณ์ 8-8-88 ซึ่งเกือบจะล้มเผด็จการทหารได้เมื่อสามสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ เขาพยายามตลอดที่จะประนีประนอมกับทหาร และในการบริหารบ้านเมืองในห้าปีที่ผ่านมามีจุดยืนไม่ต่างจากทหารเท่าไร

อองซานซูจี กับเพื่อนเผด็จการ

หลายคนที่เคยบูชา อองซานซูจี สลดใจและผิดหวังในเรื่องจุดยืนเขาต่อโรฮิงญา แต่ถ้าเราศึกษาแนวการเมืองของเขา บวกกับประวัติศาสตร์พม่า เราไม่ควรจะแปลกใจในทัศนะและพฤติกรรมแย่ๆ ของ อองซานซูจี แต่อย่างใด

การที่ผู้นำขบวนการชาตินิยมพม่าอย่าง อองซาน (บิดาของ อองซานซูจี) พยายามสร้างรัฐรวมศูนย์ที่คนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาว “พม่า” มองว่าตนเองจะถูกควบคุมโดยชาว “พม่า” เป็นปัญหาแต่แรก อองซานไม่ยอมรับว่าประชาชนเชื้อชาติต่างๆ นอกจากชาว “พม่า” และชาวฉาน (ไทใหญ่) มีความเป็นชาติจริง และกองทัพกู้เอกราชของอองซาน ถูกกล่าวหาว่าฆ่าเด็กและสตรีกะเหรี่ยงกว่า 1,800 คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมขบวนการเชื้อชาติ คะฉิ่น กะเหรี่ยง คะเรนนี่ มอญ ว้า และอะระกัน ไม่ยอมมาร่วมประชุม ปางโหลง (Panglong) ในปี ค.ศ. 1947 เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ และไม่ไว้ใจผู้นำพม่าอย่าง อองซาน และอูนุ แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์พม่าก็ยังไม่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นเชื้อชาติเท่าที่ควร

การเน้นศาสนาพุทธแบบสุดขั้วบวกกับการเหยียดหยามคนเชื้อสายอินเดีย นำไปสู่การสร้างกระแสเกลียดชังชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นคนที่มีเชื้อสายเดียวกับชาวบังคลาเทศ แต่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันเรียกว่าพม่ามาตลอด

ในยุคปัจจุบันขบวนการเชื้อชาติต่างๆ ไม่ค่อยไว้ใจ นางอองซานซูจี เพราะเขามีจุดยืนเกี่ยวกับเชื้อชาติที่เน้นแต่ความเป็นใหญ่ของชาว “พม่า” ไม่ต่างจากจุดยืนของพ่อ ในอดีตในหนังสือของ อองซานซูจี มีการเอ่ยถึงความสามารถของชนชาติอิ่นๆ ในการ “ร้องรำทำเพลง” หรือในการ “เป็นพี่เลี้ยงเด็ก” มากกว่าที่จะเคารพว่าปกครองตนเองได้  และที่สำคัญคือพรรค National League for Democracy (N.L.D.) ของ อองซานซูจี มีนโยบายที่กีดกันคนมุสลิม

จุดยืนล่าสุดของ อองซานซูจี ที่ปล่อยให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และคำพูดโกหกของเขาว่าพวกโรฮิงญาไม่ใช่พลเมืองของประเทศพม่า หรือคำโกหกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากการ “ก่อการร้าย” ของชาวโรฮิงญา แสดงธาตุแท้ของแนวคิด “พม่านิยม” สุดขั้วของ อองซานซูจี จุดยืนแย่ๆ ของเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เขาให้ความสำคัญกับการเอาใจทหารเพื่อขึ้นมามีตำแหน่ง และการเอาใจแม้แต่พระสงฆ์ฟาสซิสต์อย่างวีระธู โดยมีวัตถุประสงค์ในการปลุกทัศนะเหยียดคนมุสลิมเพื่อรักษาฐานเสียงของตนเองในหมู่ชาวพุทธอีกด้วย สรุปแล้วจุดยืนของ อองซานซูจี ไม่มีความก้าวหน้าแต่อย่างใด และจะไม่นำไปสู่เสรีภาพของพลเมืองประเทศพม่า ไม่ว่าจะชนชาติใด

อ่านเพิ่มเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองพม่า http://bit.ly/1sH06zu

ความหวังในเรื่องประชาธิปไตยพม่าไม่ได้อยู่ที่ประเทศมหาอำนาจซึ่งไม่เคยสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังและไว้ใจไม่ได้

ความหวังของชาวพม่าที่ต้องการปลดแอกตนเองอยู่ที่คนหนุ่มสาวและขบวนการแรงงาน ซึ่งถ้าเริ่มเรียนบทเรียนจากไทย อาจสร้างขบวนการรากหญ้าที่นำตนเองและปลดแอกประเทศได้

ประชาชนไทยและพม่าต้องสมานฉันท์ต้านเผด็จการ!!

ใจ อึ๊งภากรณ์