Tag Archives: เลนิน

ความสำคัญของแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ในยุคปัจจุบัน

ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรของ ลีออน ทรอตสกี้ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินเหมา รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์แต่ยังมีความสำคัญกับการต่อสู้ทั่วโลกในปัจจุบัน สาเหตุหลักคือมันนำไปสู่การเน้นบทบาทหลักของชนชั้นกรรมาชีพ และเป้าหมายที่จะปฏิวัติสังคมนิยม

ในช่วงแรกๆ ของยุคทุนนิยม นักปฏิวัติมาร์คซิสต์ (รวมทั้งมาร์คซ์ และเองเกิลส์เอง) คิดว่าชนชั้นนายทุนจะเป็นแนวร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพในการล้มระบบล้าหลังแบบขุนนางฟิวเดิลที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศต่างๆ ของยุโรป เช่นเยอรมันหรือรัสเซีย แต่หลังจากความล้มเหลวของการปฏิวัติทั่วยุโรปในปี 1848 ความขี้ขลาดและจุดยืนปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมของชนชั้นนายทุนก็ปรากฏให้เห็นชัด ดังนั้นการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 เป็นการปฏิวัติครั้งสุดท้ายของชนชั้นนายทุนที่มีความก้าวหน้า เพราะหลังจากนั้นชนชั้นนายทุนจะกลัวชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมสมัยนั้น ชนชั้นนายทุนกลัวกรรมาชีพมากกว่าความเกลียดชังที่นายทุนมีต่อขุนนางเก่า ฉะนั้นชนชั้นนายทุนจะไม่สนับสนุนการปฏิวัติใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดการปลุกระดมให้ชนชั้นกรรมาชีพลุกฮืออย่างเด็ดขาด มาร์คซ์ผิดหวังกับชนชั้นนายทุนในปี 1848 และสรุปว่าหลัง1848เป็นต้นไป ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเป็นผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมเองโดยไม่หวังอะไรจากนายทุน มาร์คซ์เป็นคนแรกที่เขียนว่ากรรมาชีพต้อง “ปฏิวัติถาวรไปเลย!”

แต่การปฏิวัติในขั้นตอนแรกควรจะนำไปสู่สังคมแบบไหน? ประชาธิปไตยทุนนิยม(เผด็จการของชนชั้นนายทุน) หรือประชาธิปไตยสังคมนิยม(เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ)?

มาร์คซ์ มีความเห็นว่าในเมื่อชนชั้นกรรมาชีพนำและทำการปฏิวัติเอง กรรมาชีพไม่น่าจะหยุดอยู่แค่ขั้นตอนทุนนิยมประชาธิปไตย (หรือที่บางคนเรียกว่า “ประชาชาติประชาธิปไตย”) เพราะกรรมาชีพจะยังอยู่ในสภาพที่ถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป  ดังนั้นควรจะผลักดันการปฏิวัติประชาธิปไตยทุนนิยมให้เลยไปถึงการปฏิวัติสังคมนิยม “อย่างถาวร”          

มาร์คซ์เขียนว่า “ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเป็นผู้ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทุนนิยม จนได้รับชัยชนะ… และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชนชั้นกรรมาชีพเข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเองอย่างชัดเจน สร้างพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพเอง และไม่หลงเชื่อคำแนะนำจากพวกนายทุนประชาธิปไตยสองหน้า ที่เสนอว่ากรรมาชีพไม่ต้องมีพรรคของตนเอง… คำขวัญของกรรมาชีพจะต้องเป็น ‘ปฏิวัติให้ถาวรไปเลย!’”

กรรมาชีพไทยหลายคนเวลาอ่านข้อเขียนข้างบนของมาร์คซ์ อาจจะนึกถึงการต่อสู้ของกรรมาชีพเพื่อล้มเผด็จการในช่วง๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕ หรือยุคเสื้อแดง เพราะเป้าหมายในการต่อสู้กับเผด็จการในไทย ไม่เคยเป็นเรื่องการปฏิวัติสังคมนิยมเลย

ก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เลนิน ได้เคยมีจุดยืน(ที่เขียนไว้ในหนังสือ “สองยุทธวิธีของสังคมนิยมประชาธิปไตย”) ว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดต้องนำโดยชนชั้นกรรมาชีพที่ทำแนวร่วมกับชาวนา แต่ในขั้นตอนแรก เนื่องจากความล้าหลังของประเทศรัสเซียที่มีชาวนา 130 ล้านคน เมื่อเทียบกับกรรมาชีพแค่ 3 ล้านคน การปฏิวัติจะสถาปนาระบบประชาธิปไตยทุนนิยมก่อน แล้วค่อยทำการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมในภายหลัง แต่ในปี 1917 ใน “วิทยานิพนธ์ เมษายน 1917” ของเลนิน เขาเปลี่ยนใจและหันมาเสนอว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องนำไปสู่ขั้นตอนของสังคมนิยมทันที ซึ่งตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเดือนตุลาคม 1917 ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเลนินหันมาสนับสนุนจุดยืน “การปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์

ผู้นำการปฏิวัติรัสเซียคนสำคัญอีกคนที่เป็นเพื่อนร่วมสู้อย่างสนิทของเลนิน คือ ลีออน ทรอตสกี้ เขาเสนอการปฏิวัติถาวรตามแนวคิดของมาร์คซ์ มาตั้งแต่ปี 1906 ก่อนที่เลนินจะเสนอ “วิทยานิพนธ์ เมษายน 1917” 11ปี สาเหตุสำคัญที่ทรอตสกี้มองว่าประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซียสามารถก้าวกระโดดข้ามขั้นตอนการพัฒนาทุนนิยมในรูปแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยผ่านนั้น ก็เพราะทุนนิยมได้ขยายไปเป็นระบบโลกและเข้ามามีอิทธิพลหลักในประเทศล้าหลังทั่วโลก แต่การเข้ามามีลักษณะร่วมกับทุนนิยมทั่วโลกและในขณะเดียวกัน “ต่างระดับ” ตัวอย่างเช่นการที่รัสเซียประกอบไปด้วยเกษตรกรจำนวนมากที่อยู่ในสภาพล้าหลังแต่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าพอๆ กับสหรัฐอเมริกาเป็นต้น แต่ถ้าการปฏิวัติถาวรจะสำเร็จในประเทศล้าหลัง ต้องมีการขยายการต่อสู้ไปในระดับสากล

พวก “เมนเชวิค” ซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปในรัสเซียสมัย 1917 ยังคงเชื่อว่าการปฏิวัติรัสเซียต้องหยุดอยู่ที่ขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยมและไม่ก้าวข้ามไปสู่สังคมนิยม ดังนั้นเมนเชวิคจะสนับสนุนนักการเมืองนายทุนและการทำสงครามกับเยอรมันต่อไป ในขณะที่บอลเชวิคของเลนินและทรอตสกี้ยุติสงครามและล้มรัฐสภาของนายทุนเพื่อสร้างสภาคนงานแทน

ความสำคัญของทฤษฎีการปฏิวัติถาวรสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน คือสามารถอธิบายได้ว่าทำไมกรรมาชีพไทยต่อสู้ในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา กับ พฤษภา ๓๕ แต่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเท่าใดนัก และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทฤษฎีนี้ชี้ให้ชนชั้นกรรมาชีพเห็นว่าในการต่อสู้ในอนาคต ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องมีองค์กร และแนวความคิดที่เป็นอิสระจากแนวของชนชั้นอื่นโดยเฉพาะนายทุน และท้ายสุดชนชั้นกรรมาชีพมีภาระที่จะต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติถาวรที่นำไปสู่ระบบสังคมนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง

หลังจากที่การปฏิวัติรัสเซียล้มเหลวหลังจากที่เลนินเสียชีวิต เพราะขยายในลักษณะสากลไปสู่เยอรมันและประเทศพัฒนาอื่นๆ ไม่ได้ พร้อมกันนั้นก็สตาลินขึ้นมามีอำนาจและทำลายความก้าวหน้าที่มาจากการปฏิวัติจนหมดสิ้น เพื่อสร้างระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ในรัสเซีย สตาลินเรียกระบบนี้ว่า “สังคมนิยมในประเทศเดียว” และใช้แนวชาตินิยมแทนแนวสากลนิยม ต่อจากนั้นสตาลินเสนอกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นเมืองขึ้นตะวันตกหรือด้อยพัฒนา ว่าต้องตั้งเป้าไว้เพื่อหยุดที่ขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยมหรือ “ประชาชาติประชาธิปไตย” ซึ่งแปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ต้องทำแนวร่วมกับชนชั้นายทุน “ที่รักชาติ” แทนนที่จะสู้เพื่อปฏิวัติสังคมนิยม

สาเหตุที่สตาลินหันกลับมาเสนอจุดยืนของพวกเมนเชวิค หรือจุดยืนเก่าที่เลนินทอดทิ้งไป ก็เพื่อหวังผูกไมตรีกับประเทศทุนนิยมตะวันตก หรืออย่างน้อยเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับประเทศเหล่านั้น เพราะในความเห็นของเขาความมั่นคงของรัสเซียสำคัญกว่าการปฏิวัติสังคมนิยมในระดับสากล

สตาลิน เป็นผู้ที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียบนซากศพของความล้มเหลวในการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ เขาเป็นตัวแทนของชนชั้นข้าราชการที่ต้องการสร้างรัสเซียให้เป็นใหญ่โดยการขูดรีดกดขี่แรงงานและชาวนาภายใต้เผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่สตาลินพยายามปกปิดความคิดของทรอตสก้ที่พยายามทะนุถนอมแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เลนินเสียชีวิตไป  สตาลินจำต้องฆ่าทรอตสกี้และลบใบหน้าของเขาออกจากรูปถ่ายต่างๆ ที่ถ่ายในสมัยการปฏิวัติ 1917

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์ก็คล้อยตามแนวของสตาลิน พรรคคอมมิวนิสต์ไทย(พ.ค.ท.) ซึ่งถือนโยบายตามแนวคิดของ สตาลิน และ เหมาเจ๋อตุง ก็เสนอว่าการปฏิวัติในประเทศไทยในขั้นตอนแรก จะต้องเป็นการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม (ประชาชาติประชาธิปไตย) และชนชั้นกรรมาชีพจะต้องสร้างแนวร่วมและประนีประนอมกับชนชั้นนายทุนน้อย และชนชั้นนายทุนชาติ  พคท. ถึงกับทำแนวร่วมกับจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงหนึ่งก่อนที่จะถูกสฤษดิ์ปราบ

ปัจจุบันนี้ยังมีนักเคลื่อนไหวไม่น้อยในไทยที่เชื่อแนวนี้อยู่ โดยเฉพาะคนเดือนตุลาที่เคยเข้าไปในพรรคไทยรักไทยและยอมรับการนำของนายทุนอย่างทักษิณ  การพิสูจน์ว่าสายสตาลิน-พคท.ผิดพลาด ตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริงในสังคมไทย เพราะเราต้องถามว่านโยบายนี้ให้อะไรกับกรรมาชีพไทย?

มรดกของทรอตสกี้และเลนินเสนอว่าในประเทศที่มีการพัฒนาของระบบทุนนิยมที่ล้าหลัง  โดยเฉพาะประเทศเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้น ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรมีความสำคัญตรงที่ทำให้เห็นว่าการสร้างประชาธิปไตยและเอกราชที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ภายใต้การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสังคมนิยมเท่านั้น แต่พคท.นิยามความคิดแบบนี้ว่าเป็น “ลัทธิแก้” และเสนอว่าไทยเป็นประเทศ “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” ซึ่งในปัจจุบันมีคนหนุ่มสาวบางกลุ่มที่ยังเชื่อว่าไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยศักดินา

เราต้องเข้าใจว่าประเทศไทยในยุค พคท.ไม่ได้เป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่จักรวรรดินิยมอเมริกามีอิทธิพลสูงในสมัยสงครามเย็น การเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สองต่างจากการเป็นเจ้าอาณานิคมในอดีต เพราะไม่ต้องมีการยึดพื้นที่เพื่อปกครอง และในเรื่องที่เสนอว่าไทยเป็นประเทศกึ่งศักดินา เราควรเข้าใจว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ระบบศักดินาได้ถูกทำลายไปแล้วเพื่อสร้างรัฐทุนนิยมสมัยใหม่ภายใต้กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

การทำความเข้าใจกับเรื่องนี้สำคัญในปัจจุบัน เพราะมีผลต่อยุทธศาสตร์การต่อสู้ เพราะพวกที่มองว่าประเทศปกครองโดยระบบศักดินามักจะพร้อมที่จะจับมือกับนายทุนหรือนักการเมืองนายทุน ไม่ว่าจะเป็นทักษิณหรือนักการเมืองพรรคก้าวไกล ในขณะที่ไม่สนใจที่จะสร้างฐานการต่อสู้ในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ และพวกนี้มักจะยอมรับแนวชาตินิยมและเสรีนิยมอีกด้วย

หลังจากที่ทรอตสกี้เสียชีวิตเพราะถูกลูกน้องของสตาลินฆ่า เราเริ่มเห็นการปฏิวัติปลดแอกประเทศในอดีตอณานิคมของตะวันตกในเอเชียและอัฟริกา แต่ไม่ว่าประเทศอิสระใหม่ๆจะเรียกตัวเองเป็นสังคมนิยมหรือไม่ สภาพความเป็นจริงคือชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้ขึ้นมาปกครองประเทศ และระบบที่ประเทศเหล่านั้นใช้มีลักษณะคล้ายๆ ระบบทุนนิยมโดยรัฐของรัสเซีย คือเน้นรัฐวิสาหกิจและพรรคนำที่เป็นเผด็จการเหนือกรรมาชีพและชาวนา

โทนี่ คลิฟ นักมาร์คซิสต์ชาวยิวจากปาเลสไตนที่ไปลี้ภัยในอังกฤษ ได้เสนอแนวคิดเรื่องการปฏิวัติถาวรชนิด “หันเห” เขาอธิบายว่าสาเหตุที่กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอาจจะยังไม่คิดปฏิวัติคงหาได้ไม่ยาก การครอบงำจากความคิดหลักในสังคม การที่กรรมาชีพเหล่านี้ยังผูกพันกับสังคมอดีตของชนบท การที่เขาเป็นคนไร้ประสบการณ์ในการต่อสู้แบบกรรมกร และระดับการศึกษา ทั้งหมดล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการรวมตัวอย่างเอกภาพของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งความอ่อนแอตรงนี้มักนำไปสู่ความอ่อนแออีกระดับหนึ่ง คือกรรมาชีพจะไปพึ่งการนำจากคนที่ไม่ใช่กรรมาชีพ ตัวอย่างเช่นสหภาพแรงงานอาจถูกนำโดย “คนภายนอก” ที่มีการศึกษา หรือในบางประเทศสหภาพแรงงานบางแห่งจะพึ่งพิงรัฐ ซึ่งก่อให้เกิด “ลัทธิสหภาพ”

อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอ่อนแอก็คือ แนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา ซึ่งลดความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ และลดความสำคัญของการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อเชิดชูลัทธิชาตินิยม และการประนีประนอมระหว่างชนชั้นใน “แนวร่วมรักชาติ”

ในกรณีที่ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถรวมตัวเป็นพรรคปฏิวัติที่เข้มแข็งได้ กลุ่มชนชั้นกลุ่มอื่น โดยเฉพาะปัญญาชนที่เสนอตัวนำชาวนาหรือคนยากจน จะสามารถยึดอำนาจในประเทศด้อยพัฒนาและสถาปนา “ระบบทุนนิยมโดยรัฐ” แทนระบบสังคมนิยม และในการสถาปนาระบบทุนนิยมโดยรัฐเขาจะสามารถเริ่มแก้ปัญหาของการเป็นเมืองขึ้นและปัญหาของความล้าหลังของระบบการผลิตในประเทศของเขาด้วย  นี่คือการปฏิวัติถาวรประเภท “หันเห” เพราะเป็นการปฏิวัติแก้ความล้าหลังที่ไม่ได้มานำโดยชนชั้นกรรมาชีพ ไม่มีการล้มทุนนิยม และสิ่งที่ได้มาจากการปฏิวัติแบบนี้ไม่ใช่สังคมนิยมที่ปลดแอกกรรมาชีพจากการถูกขูดรีดแรงงาน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการปฏิวัติในประเทศจีน คิวบา หรือเวียดนาม

หัวใจสำคัญของทฤษฎีปฏิวัติถาวรที่ ลีออน ตรอทสกี เสนอ ยังใช้ได้อยู่ คือกรรมาชีพต้องต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นตนเองอย่างไม่หยุดยั้งหรือประนีประนอม และต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลก  เพราะถ้าไม่มีการต่อสู้ในรูปแบบนี้ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่มีวันปลดแอกตัวเอง และเราจะวนเวียนอยู่ในความเหลื่อมล้ำและวิกฤตของทุนนิยมโลก

สองคำถามสำคัญสำหรับทุกคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์กับตูนีเซียในยุคอาหรับสปริง อิหร่านในสมัยล้มพระเจ้าชาร์หรือแม้แต่ในการลุกฮือปีนี้  หรือซูดานหรือศรีลังกาในยุคปัจจุบัน….. คือ (1)จะสู้เพื่อเป้าหมายอะไร? และ(2)จะอาศัยพลังในการล้มเผด็จการมาจากส่วนไหนของสังคม?

คำถามแรกท้าทายคนที่มองว่าควรล้มเผด็จการเพื่อให้มีแค่ประชาธิปไตยรัฐสภาแบบทุนนิยม คือตั้งความหวังไว้กับนักการเมืองกระแสหลักและรัฐสภา ซึ่งจะจบลงด้วยการประนีประนอมกับพวกทหารหรือนักการเมืองอนุรักษ์นิยม และคงไว้ระบบที่กดขี่ขูดรีดประชาชนส่วนใหญ่

คำถามที่สองจะท้าทายคนที่มองว่าพลังหลักในการปลดแอกสังคมคือคนชั้นกลาง ประเทศจักรวรรดินิยมเสรีนิยม หรือพรรคการเมืองกระแสหลักในรัฐสภา แทนที่จะมองว่าพลังหลักในการปลดแอกคนส่วนใหญ่คือชนชั้นกรรมาชีพ และคนที่เห็นด้วยกับแนวพลังกรรมาชีพจะต้องลงมือสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานตั้งอยู่ในหมู่กรรมาชีพ

ทุกคนที่พึ่งผ่านการต่อสู้กับเผด็จการประยุทธ์ในไทย คงเข้าใจความสำคัญของสองคำถามนี้ สรุปแล้วคุณจะพอใจกับการจมอยู่ในระบบรัฐสภาที่ถูกตีกรอบโดยเผด็จการทหาร ซึ่งอย่างมาก ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงบ้าง จะแค่นำไปสู่สภาพสังคมในยุคที่ทักษิณเคยเป็นผู้นำประเทศ… หรือคุณจะพยายามต่อสู้เพื่อสังคมที่ก้าวหน้ากว่านี้? สังคมนิยมนั้นเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

บทบาทเลนินในการปฏิวัติรัสเซีย 1917

เลนินพูดกับทรอตสกีว่า “สำหรับคนที่เคยถูกปราบปราม เคยถูกจำคุกมานาน อย่างเรา พอได้อำนาจรัฐแล้ว รู้สึกเวียนหัว”  จะเห็นได้ว่าในเรื่องขั้นตอนต่อไปในการสร้างสังคมนิยม เลนินก็ไม่มีสูตรสำเร็จเช่นกัน

การปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917 เกิดขึ้นเมื่อพรรคบอลเชวิคและแนวร่วมได้รับเสียงข้างมากในสามสภาโซเวียตของ กรรมาชีพ ทหาร และ ชาวนา

แต่พวกฝ่ายปฏิรูปทั้งหลาย เช่นพวกเมนเชวิค ไม่เชื่อว่าการปฏิวัติจะอยู่รอดได้นานกว่า 2-3 วัน เพราะพวกนี้ไม่เข้าใจว่ากระแสการปฏิวัติฝังลึกลงไปในมวลชนแค่ไหน

ในการประชุมผู้แทนสภาโซเวียตครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังการปฏิวัติตุลาคมหนึ่งวัน นักสังเกตการณ์จากฝ่ายที่คัดค้านพรรคบอลเชวิค เล่าให้นักข่าวอเมริกันที่ชื่อ จอห์น รีด (John Reed) ฟังอย่างดูถูกว่า “พวกผู้แทนชุดใหม่นี้ต่างจากผู้แทนชุดก่อน ดูสิ พวกนี้มันหยาบและหน้าตาโง่มาก พวกนี้เป็นคนดำๆทั้งนั้น”  จอห์น รีด ซึ่งเป็นนักข่าวมาร์คซิสต์ อธิบายว่าข้อสังเกตนี้มีความจริงอยู่มาก “ความปั่นป่วนในสังคมที่เกิดขึ้น เสมือนเอาไม้ไปคนน้ำแกงจนส่วนล่างของสังคม ขึ้นมาเป็นส่วนบน คนดำๆได้ตื่นตัวขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครอง”

ส่วน มาร์ทอฟ ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเมนเชวิคที่คัดค้านเลนิน ต้องยอมรับว่า “กรรมาชีพทั้งชนชั้นหันมาสนับสนุนเลนิน” 

ในจำนวนผู้แทนทั้งหมดของสภาโซเวียต 650 คน มีตัวแทนของพรรคบอลเชวิค 390 คน และผู้แทนของ “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย” (แนวร่วมของพรรคบอลเชวิคในหมู่ชาวนายากจน) ประมาณ 160 คน  ส่วนพรรคเมนเชวิค และ พรรคปฏิวัติสังคมซีกขวา มีผู้แทนน้อยกว่า 100 คน พวกอนาธิปไตยไม่มีอิทธิพลอะไรเลย และไม่มีบทบาทในการปฏิวัติ

กรรมการบริหารชุดแรกของสภาโซเวียต หรือ “รัฐบาลใหม่” มีผู้แทนของ พรรคบอลเชวิค 14 คน พรรคปฏิวัติสังคม (ทั้งสองซีก) 7 คน และพรรคเมนเชวิค 3 คน  แต่พวกเมนเชวิค และปฏิวัติสังคมซีกขวาไม่ยอมทำงานร่วมกับพรรคบอลเชวิค และเดินออกจากสภา  ทรอตสกีส่งท้ายการเดินออกของพวกนี้ว่า “ไปเถิด ไปลงถังขยะประวัติศาสตร์เสีย” และมวลชนที่เป็นผู้แทนคนชั้นล่างก็พากันตบมือ

มาตรการหลักของรัฐบาลปฏิวัติ

(๑) สันติภาพในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยกเลิกการเจรจาทางทูตแบบลับๆ กับเยอรมัน เจราจาทุกครั้งอย่างโปร่งใสต่อหน้าสาธารณะชน

(๒) ยกเลิกที่ดินส่วนตัวของเจ้าที่ดิน ยกที่ดินให้ชาวนาใช้ทันที่ตามความต้องการของพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการยืนยันการยึดที่ดินที่ชาวนายากจนกระทำไปแล้ว

(๓) ประกาศสิทธิเสรีภาพให้ประเทศเล็กๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นรัสเซีย

(๔) กรรมกรต้องควบคุมระบบการผลิต และระบบการเงิน ผ่านโครงสร้างคณะกรรมการที่ได้รับเลือกจากกรรมกรโดยตรง

(๕) ผู้แทนทุกคนในสภาคนงานถูกถอดถอนได้ทุกเมื่อถ้าฝ่าฝืนมติคนส่วนใหญ่

(๖) สตรีทุกคนได้สิทธิเต็มที่ และได้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในโลก

(๗) แยกศาสนาออกจากรัฐ ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนาตามใจชอบ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับรัฐ ไม่มีการสอนศาสนาในโรงเรียน

นอกจากนี้แล้วก็มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเก่าที่เลือกมาภายใต้กติกาของรัฐทุนนิยมเพื่อให้สภาโซเวียตเป็นสภาเดียวที่มีอำนาจในรัฐใหม่ สภาโซเวียตเป็นระบบที่ใช้สถานที่ทำงานเป็นเขตเลือกตั้ง  

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่วันแรกของการทำงาน รัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซีย ก้าวหน้ากว่ารัฐบาลของนักการเมืองนายทุนทุกชุด ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ปัญหาของการอยู่รอด

การปฏิวัติรัสเซียเกิดขึ้นหลังการสู้รบในสงครามโลกที่สร้างความเสียหายมหาศาล นอกจากนี้รัสเซียเป็นประเทศด้อยพัฒนาอยู่แล้ว  ร้ายกว่านั้น เมื่อรัฐบาลโซเวียตเจรจาสันติภาพกับกองทัพเยอรมัน รัสเซียต้องยอมเสีย 33% ของดินแดนที่ผลิตผลผลิตเกษตร   27% ของรายได้รัฐ  70% ของอุตสาหกรรมเหล็ก  70% ของแหล่งผลิตถ่านหิน  และ 50% ของโรงงานอุตสาหกรรม ให้รัฐบาลเยอรมัน  ในสภาพเช่นนี้ไม่น่าแปลกใจที่เลนินกล่าวว่า “เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีการปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมัน เราจะพินาศ”

สงครามกลางเมืองจากฝ่ายขวาและนโยบายเศรษฐกิจ “คอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม”

ในเดือนพฤษภาคม 1918 ประเทศทุนนิยมทั้งหลายที่กลัวการปฏิวัติสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียที่อาจแพร่ไปสู่ประเทศอื่น ได้รวมหัวกันส่งกองทัพมาปราบปรามการปฏิวัติรัสเซียถึง 14 กองทัพ นอกจากนี้ฝ่ายนายทุนรัสเซียเองก็ก่อ “กองทัพขาว” ขึ้นมาด้วย

มาตรการ “เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อการอยู่รอดของการปฏิวัติ มีการยึดโรงงานและธุรกิจต่างๆ มาเป็นของรัฐศูนย์กลาง มีการกำหนดส่วนแบ่งอาหารให้ประชาชนโดยที่ผู้ใช้แรงหนัก และทหารได้มากกว่าผู้อื่น แต่ผู้นำพรรคได้เท่ากับประชาชนธรรมดา  มีการยึดผลผลิตจากชาวนาร่ำรวยที่กักอาหารไว้

ทรอตสกี อธิบายว่า “ระบบคอมมิวนิสต์แบบนี้ไม่ใช่ระบบคอมมิวนิสต์แบบอุดมคติ แต่เป็นระบบคอมมิวนิสต์ในยามวิกฤตแห่งสงคราม”

มาตรการทางทหาร ทรอตสกีได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพแดง และใช้หลายมาตรการในการต่อสู้กับกองทัพขาวและกองทัพของมหาอำนาจ จนได้รับชัยชนะ เช่น

(๑) ใช้ความคิดทางการเมืองในการนำการต่อสู้   เลนินสังเกตว่า “เราได้รับชัยชนะเพราะทหารของกองทัพแดงเข้าใจว่าเขาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง กองทัพของเราเสียสละอย่างสุดยอดในการกำจัดพวกกดขี่ระยำทั้งหลาย”

(๒) ทรอตสกีใช้ผู้นำทางการเมืองควบคู่กับผู้นำทางทหารในกองกำลังทุกกอง มีรถไฟปลุกระดมพิเศษที่เคลื่อนย้ายจากจุดต่างๆ ในสนามรบ โดยที่มีโรงพิมพ์และโรงหนังเพื่อปลุกระดมกองทัพแดง และประชาชน

หลังจากที่กองทัพแดงได้รับชัยชนะ ถึงแม้ว่าปัญหาทางทหารจะลดลง แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจยิ่งทวีขึ้น เนื่องจากความเสียหายในสงครามกลางเมือง เลนินสังเกตว่า “รัสเซียผ่านการต่อสู้มา 7 ปี เหมือนคนที่ถูกรุมซ้อมจนเกือบตาย นับว่าโชคดีที่ยังเดินด้วยไม้เท้าได้”  ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนเริ่มเดือดร้อนหนัก และบางส่วนแสดงความไม่พอใจในรัฐบาลบอลเชวิค

ที่ป้อม Kronstadt ทหารรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นหัวหอกการปฏิวัติเหมือนในปี 1917 เขาเป็นพวกลูกชาวนาที่เดือดร้อนจาก“เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” และได้อิทธิพลจากความคิดอนาธิปไตย พวกอนาธิปไตยที่ Kronstadt จับอาวุธเข้ากับฝ่ายกองทัพขาว กบฏต่อรัฐบาลโซเวียต และเรียกร้องให้มีรัฐบาลใหม่ที่ไม่มีตัวแทนพรรคบอลเชวิค ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็เท่ากับยอมให้การปฏิวัติพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ทรอตสกีกับเลนินจึงจำเป็นต้องปราบด้วยความหนักใจ

ถ้าทรอตสกีกับเลนิน ไม่นำการรบในสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายขาวและมหาอำนาจตะวันตกก่อขึ้น คำว่า “ฟาสซิสต์” จะเป็นคำภาษารัสเซียแทนภาษาอิตาลี่ เพราะมันจะยึดอำนาจแน่นอน

รัฐบาลบอลเชวิคเข้าใจว่าไปต่อแบบเดิมไม่ได้ จึงมีการนำนโยบายใหม่มาใช้เพื่อซื้อเวลารอการปฏิวัติในเยอรมันและประเทศอื่นๆ

นโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economic Policy (N.E.P.)

นโยบายเศรษฐกิจใหม่(“เน๊พ”) ที่รัฐบาลนำมาใช้ต้องถือว่าเป็นการเดินถอยหลังกลับสู่ระบบกึ่งทุนนิยม เพื่อซื้อเวลา สาเหตุหลักที่ต้องถอยหลังคือความล้มเหลวในการปฏิวัติเยอรมันปี 1918 ซึ่งมีผลให้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เป็นผู้นำสำคัญ ถูกฆ่าตาย  นอกจากนี้การพยายามปฏิวัติในประเทศ ฮังการี่ บัลแกเรีย และ อังกฤษ ในช่วงนั้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน  ประเด็นสำคัญในความล้มเหลวของการปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ คือการที่ขาดพรรคปฏิวัติที่มีประสบการณ์อย่างพรรคบอลเชวิค

ประเด็นสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจใหม่มีดังนี้คือ

(๑) ฟื้นฟูกลไกตลาดโดยปล่อยให้มีการค้าขายระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองกับชาวนาในชนบท ซึ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างชาวนาร่ำรวยกับชาวนายากจนมีมากขึ้น นอกจากนี้แล้วทำให้เกิดพวกพ่อค้ารุ่นใหม่ขึ้นที่ใครๆ เรียกว่า “พวกนายทุนเน๊พ” ซึ่งในที่สุดพวกนี้ก็เกิดความสัมพันธ์พิเศษกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นของรัฐและพรรคบางคน

(๒) ยกเลิกการยึดผลผลิตเกษตรกรรม แต่เก็บภาษีแทน

(๓) มีการใช้ระบบคุมงานและกลไกตลาดในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งทำให้กรรมาชีพเสียประโยชน์

เลนินเห็นว่านโยบายนี้จำเป็น แต่เป็นห่วงอย่างยิ่ง “นโยบายใหม่จะทำลายสังคมนิยมถ้าเราไม่ระวัง ….  ใครเป็นคนกำหนดแนวทางของรัฐกันแน่? คนงาน หรือ กลุ่มผลประโยชน์?”

ในเดือน มกราคม 1924 เลนินเสียชีวิต ก่อนหน้านั้นเขาป่วยมาหลายเดือนหลังจากที่ถูกคนจากพรรคสังคมปฏิวัติลอบฆ่า เขาทำอะไรไม่ค่อยได้เพราะเป็นโรคเส้นโลหิตแตกในสมองด้วย ก่อนที่เลนินจะเสียชีวิต เขาได้เขียนบทความหลายบทความที่เตือนถึงภัยต่างๆที่กำลังเกิดกับการปฏิวัติกรรมาชีพในรัสเซีย ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้คือ

(๑) นโยบายเศรษฐกิจใหม่จะทำให้ทุนนิยมกลับมาได้

(๒) ปัญหากำลังเกิดขึ้นเพราะสหภาพแรงงานไม่ปกป้องผลประโยชน์ของแรงงาน

(๓) รัฐตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่ไม่ใช่แรงงานแล้ว

(๔) ผู้นำบางคน เช่น สตาลิน กำลังฟื้นฟูลัทธิชาตินิยม

(๕) เลนินเสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรนำของพรรคเพื่อลดบทบาทของข้าราชการแดงลง

แต่ในช่วงนี้ เลนินไม่สามารถลงไปปลุกระดมความคิดในหมู่กรรมาชีพพื้นฐาน อย่างที่เคยทำในอดีตได้ เนื่องจากสุขภาพอ่อนแอ ความคิดของเลนินจึงมีอิทธิพลน้อย

พินัยกรรมของเลนิน

“สตาลินไม่เหมาะสมที่จะเป็นเลขาธิการของพรรคต่อไป สมาชิกพรรคควรหาทางปลดเขาออกจากตำแหน่ง” ….  “สตาลินมีอำนาจมากเกินไปและผมไม่แน่ใจว่าเขาจะใช้อำนาจนี้ในทางที่ถูกหรือไม่”

ความล้มเหลวของการปฏิวัติสังคมนิยมโดยชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียไม่ได้มาจากความผิดพลาดของเลนิน หรือการที่พรรคบอลเชวิคนำการปฏิวัติแต่อย่างใด         และไม่ได้มาจากนโยบาย “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ของพรรคบอลเชวิคอีกด้วย  แต่เกิดจากการที่กรรมาชีพรัสเซียไม่สามารถแพร่ขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศอื่นในยุโรปที่พัฒนามากกว่ารัสเซียในโอกาสนั้น ความพยายามของกรรมาชีพรัสเซียที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีด ที่จบลงในที่สุดด้วยความพ่ายแพ้และเผด็จการของสตาลิน เพียงแต่เป็นรอบแรกในการต่อสู้เพื่อล้มระบบทุนนิยมของกรรมาชีพโลก อนาคตของสังคมนิยมยังแจ่มใส ถ้าเราเรียนบทเรียนจากการทำงานของเลนิน

[คัดจากหนังสือเล่มเล็ก “วิธีการสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน” สำนักพิมพ์ กปร. ๒๕๔๒]

ปัญหาของการปลีกตัวออกเพื่อสร้างสหภาพแรงงานแดง

เลนิน เคยเขียนว่า “พวก *คอมมิวนิสต์ซ้าย* เวลามองสหภาพแรงงาน มักจะตะโกนเรียกหามวลชน! มวลชน! แล้วไม่ยอมทำงานในสหภาพแรงงาน ปฏิเสธด้วยข้ออ้างว่ามันล้วนแต่ปฏิกิริยา(เหลือง) เสร็จแล้วก็ไปประดิษฐ์สหภาพแรงงานกรรมาชีพแบบใหม่ที่ขาวสะอาด ที่ไม่เปรอะเปื้อนกับแนวคิดเสรีนิยมของนายทุน และไม่คับแคบ ซึ่งพวกเขามองว่าองค์กรดังกล่าวจะกลายเป็นองค์กรกว้างใหญ่ โดยมีเงื่อนไขเดียวในการเข้าเป็นสมาชิก คือต้องสนับสนุนระบบโซเวียด!

ความโง่เขลาที่ทำลายการปฏิวัติมากกว่านี้คงไม่มี…. ถ้าเราทำงานแบบนั้น เราจะปล่อยให้ฝ่ายขวาผูกขาดอิทธิพลเหนือมวลชนในสหภาพแรงงาน… เพราะภาระของชาวคอมมินิสต์คือการโน้มน้าวคนที่ยังไม่ได้พัฒนาทางความคิด ให้หันมามีจิตสำนึกก้าวหน้า เราต้องทำงานในองค์กรที่มีคนล้าหลังแบบนั้น ไม่ใช่ไปสร้างรั้วเพื่อแยกตัวออกจากเขาด้วยวาจา *ซ้าย* นามธรรมแบบเด็กๆ

เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้นำแรงงานอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย จะขอบคุณพวก *คอมมิวนิสต์ซ้าย* ที่ถอนตัวออกและไม่ยอมทำงานภายในสหภาพแรงงาน *เหลือง* และแน่นอนพวกผู้นำสหภาพเหล่านั้นจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการเขี่ยเราออกไปจากสหภาพแรงงานต่างๆ แต่เราจะต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะอยู่ในสหภาพแรงงาน เพื่อปลุกระดมแนวความคิดฝ่ายซ้าย”

[จากโรคไร้เดียงสา “ฝ่ายซ้าย” ในขบวนการคอมมิวนิสต์ โดย วี.ไอ. เลนิน หัวข้อ “นักปฏิวัติควรทำงานในสหภาพแรงานปฏิกิริยาหรือไม่?”]

*สหภาพคนทำงาน* ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กรสหภาพคนทำงานไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในสหภาพแรงงานอื่นได้

มาร์คซ์เข้าใจว่าคนที่มีอำนาจในการควบคุมระบบทุนนิยม ชนชั้นปกครอง มักหาวิธีหลอกลวงกรรมาชีพให้ยอมรับสภาพชีวิตและระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าในหมู่กรรมาชีพมีคนสามกลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นกรรมาชีพที่ยอมรับสภาพของสังคมทุนนิยมโดยไม่คิดจะต่อต้านเลย กลุ่มที่สองเป็นกรรมาชีพที่ไม่พอใจ มีจิตสำนึกทางชนชั้น และพร้อมจะสู้กับระบบทุนนิยม สองกลุ่มแรกนี้เป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในกลุ่มที่สามที่แกว่งไปแกว่งมาระหว่างสองกลุ่มแรก ดังนั้นสำหรับมาร์คซ์ภาระของนักสังคมนิยมคือการหาทางดึงคนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นและพร้อมจะสู้ ซึ่งถ้าเราจะทำเราต้องมีพรรคสังคมนิยมมาร์คซิสต์

ดังนั้นต้องมีการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจากกลุ่มคนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อให้พรรคสามารถปลุกระดมการต่อสู้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนพรรคต้องมีโครงสร้างประชาธิปไตยภายในที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นพรรคเผด็จการเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต หรือพรรคแนวสตาลินอื่นๆ ทั่วโลก

บางคนอาจมองว่าเขาควรทำงานกับคนก้าวหน้าเท่านั้นเพราะ “คุยกันรู้เรื่อง” แต่ปัญหาคือจะโดดเดี่ยวตัวเองและเพื่อนจากมวลชนคนส่วนใหญ่ และกลุ่มคนที่ก้าวหน้าจะไม่ขยายตัวในเมื่อแค่คุยกับคนที่มีความคิดเหมือนกัน

นักต่อสู้ที่เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติและเข้าใจแนวมาร์คซิสต์ จะให้ความสำคัญกับการปลุกระดมทั้งคนส่วนน้อยที่ก้าวหน้าที่สุด และมวลชนคนส่วนใหญ่ที่บางครั้งพร้อมจะรับฟังข้อเสนอก้าวหน้า ถ้าไม่มีพรรค เราไม่สามารถดึงมวลชนส่วนใหญ่มาอยู่ฝั่งที่ก้าวหน้าที่สุดได้ และเราไม่สามารถจัดตั้งนักปลุกระดมใหม่ๆ ของพรรคจากคนที่ก้าวหน้าได้

ใจอึ๊งภากรณ์

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค?

“นักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลกในแง่ต่าง ๆ แต่ประเด็นหลักคือการเปลี่ยนแปลงโลก”

-คารล์ มาร์คซ์

ข้อความของ มาร์คซ์ ข้างบน ชี้ให้เราเห็นว่านักมาร์คซิสต์ต้องเน้นทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติพร้อมกัน ถ้าใครไม่ลงมื้อสร้างพรรค หรือ “เตรียมพรรค” เพื่อเปลี่ยนสังคมอย่างเป็นรูปธรรม คนนั้นไม่ใช่นักมาร์คซิสต์

กรรมาชีพ

เมืองไทยมีลักษณะของทุนนิยมที่ทันสมัยที่สุดดำรงอยู่เคียงข้างความล้าสมัยและด้อยพัฒนาแบบดั้งเดิม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดและมีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันเป็นส่วนที่ทันสมัยที่สุด สังคมเมืองและชนชั้นกรรมาชีพนั้นเอง

ชนชั้นกรรมาชีพไทยเป็นชนชั้นสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในสังคมไทย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพกำลังทำงานในใจกลางระบบการผลิตแบบสมัยใหม่ และการทำงานของกรรมาชีพเป็นที่มาของการสร้างมูลค่าและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล ซึ่งถ้าเลือกที่จะใช้ภายใต้จิตสำนึกทางการเมืองแบบชนชั้น จะสามารถแปรสภาพสังคมไทยได้อย่างถอนรากถอนโคน

กรรมาชีพไม่ใช่แค่คนทำงานในโรงงาน แต่รวมถึงลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิส ทำงานในโรงพยาบาล ทำงานในโรงเรียน ทำงานในระบบขนส่ง หรือทำงานในห้างร้าน

นักศึกษา ถือว่าเป็น “เตรียมกรรมาชีพ” และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษามักจะไฟแรง มีเวลาศึกษาอ่านทฤษฏี และไม่ยึดติดกับแนวความคิดเก่าๆ ที่ล้าหลัง

จิตสำนึกทางชนชั้นมันไม่เคยเกิดเองโดยอัตโนมัติ เพราะในทุกสังคมมีแนวความคิดหลากหลายดำรงอยู่ ซึ่งมีผลกับสมาชิกของสังคมตลอดเวลา การผลักดันให้กรรมาชีพมีจิตสำนึกทางชนชั้นตนเองล้วนๆ ต้องมาจากพรรคสังคมนิยมพร้อมกับประสบการณ์ที่มาจากการต่อสู้

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน รูปแบบการสร้างพรรคไม่ได้ก่อกำเนิดจากสมองอันใหญ่โตของ เลนิน ตรงกันข้ามมันมาจากลักษณะการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพในโลกจริง ปัญหาหลักคือการต่อสู้ของกรรมาชีพจะมีลักษณะต่างระดับและหลากหลายเสมอ เช่นจะมีบางกลุ่มที่ออกมาสู้อย่างดุเดือดเพื่อล้มระบบ ในขณะที่กลุ่มอื่นออกมาสู้แค่เพื่อเรื่องปากท้องเท่านั้น หรือบางกลุ่มอาจไม่สู้เลย และในมิติเวลาที่ต่างกัน กลุ่มที่กล้าสู้หรือก้าวหน้าที่สุดในยุคหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ล้าหลังในยุคต่อไป ดังนั้นปัญหาของชาวมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้มีการรักษาประสบการณ์ความรู้ในการต่อสู้ของกรรมาชีพส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป

เองเกิลส์ เคยยกตัวอย่างทหารในสนามรบว่า ภายใต้การกดดันของการต่อ สู้ทหารบางหน่วยจะค้นพบวิธีการต่อสู้ที่ก้าวหน้าที่สุด และบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่ดี คือการนำบทเรียนที่ก้าวหน้าอันนั้นไปเผยแพร่กับกองทหารทั้งกองทัพ นี่คือที่มาของแนวคิด “กองหน้า” ในการสร้างพรรคของ เลนิน เพราะหลักการสำคัญคือพรรคต้องเป็นตัวแทนของส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของกรรมาชีพ ไม่ใช่ตัวแทนของกรรมาชีพทั้งชนชั้นที่มีจิตสำนึกต่างระดับกัน และพรรคต้องแยกตัวออกจากความคิดล้าหลังของชนชั้นทั้งชนชั้นเพื่ออัดฉีดความคิดก้าวหน้าที่สุดกลับเข้าไปในขบวนการกรรมาชีพ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่เกิดการพัฒนาการต่อสู้และจิตสำนึกเลย

ลีออน ตรอทสกี เสนอว่าในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยมต้องอาศัยพลังของมวลชนกรรมาชีพ โดยที่สมาชิกพรรคทำการเปลี่ยนแปลงแทนมวลชนกรรมาชีพไม่ได้ แต่พลังกรรมาชีพที่ไร้เป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนจะเสมือนพลังไอน้ำที่ไม่มีลูกสูบ มันจะสำแดงพลังแล้วสูญสลายไปกับตา

พรรคสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพมีหน้าตาอย่างไร?

พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพไม่เหมือนพรรคแบบนายทุนที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ในสามแง่คือ

ในแง่ที่หนึ่ง พรรคกรรมาชีพต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต พรรคต้องไม่เสนอให้มีการสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและคนจนกับศัตรูของเรา เช่นนายทุนเป็นอันขาด และที่สำคัญเราต้องไม่หลงคล้อยตามกระแส “เพื่อชาติ” ซึ่งในรูปธรรมแปลว่า “เพื่อนายทุนและการรักษาระบบเดิม”

ในแง่ที่สอง พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ไม่ใช่เป็นพรรคของ “ผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ผู้นำ และผู้แทนของพรรคตลอดเวลา ตรงนี้นอกจากจะต่างกับพรรคนายทุนแล้วจะต่างกับพรรคเผด็จการ สตาลิน-เหมา แบบ พ.ค.ท. อีกด้วย

ในแง่สุดท้าย พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพต้องอาศัยเงินทุนที่เก็บจากสมาชิกในอัตราก้าวหน้าเป็นหลัก คือสมาชิกที่มีเงินเดือนสูงจ่ายมากและคนที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อย แต่ทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิกเพื่อให้พรรคเป็นพรรคแท้ของกรรมาชีพและคนจน ไม่ใช่ไปพึ่งเงินทุนจากที่อื่นและตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น และถึงแม้ว่าพรรคจะมีทุนน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบพรรคนายทุนทุกพรรคคือการเป็นพรรคของมวลชนจริง การดึงคนมาสนับสนุนพรรคจึงทำภายใต้นโยบายที่ชัดเจน และผู้สนับสนุนพรรคจะไม่เข้ามาร่วมภายใต้นโยบายของพรรคเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งเสริมให้นำตนเอง และมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน

เน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาไปก่อน ไม่ต้องรีบจดทะเบียน

พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพไม่ใช่พรรคประเภทบนลงล่าง “คุณเลือกเราเป็น ส.ส. แล้วเราจะทำให้ทุกอย่าง” พรรคต้องไม่ตั้งเป้าหลักที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภาไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจแท้ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของนายทุน ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจแท้ของ “เผด็จการเงียบของนายทุน” ในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม อยู่ที่การควบคุมการผลิตมูลค่าทั้งปวงในสังคม และในระบบ “เผด็จการรัฐสภา” ของประยุทธ์ รัฐสภายิ่งไม่มีความสำคัญในการเป็นเวทีประชาธิปไตย

ต้องอาศัยพลังมวลชน ไม่ใช่บารมีผู้นำ

เลนิน อธิบายว่าสมาชิกพรรคไม่ควรตั้งตัวขึ้นมาเป็นศาสดาองค์ใหญ่ที่สอนกรรมาชีพ เพราะพรรคต้องเรียนรู้จากการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐานตลอด ทั้งในยุคนี้และยุคอดีต ดังนั้นพรรคต้องเป็นคลังรวบรวมประสบการณ์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกเพื่อนำเสนอประสบการณ์ดังกล่าวกลับเข้าไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพในขณะที่กำลังต่อสู้อยู่

อันโตนีโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวอิตาลี่ เคยเตือนว่าพรรคไม่สามารถ “ป้อนความรู้” ใส่สมองกรรมาชีพเหมือนพี่เลี้ยงป้อนอาหารให้เด็ก แต่พรรคต้องเสนอประสบการณ์จากอดีตกับคนที่กำลังเปิดกว้างเพื่อแสวงหาทางออกเนื่องจากเขาอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นสมาชิกพรรคต้องร่วมในการต่อสู้พื้นฐานของกรรมาชีพ เพื่อเสนอความคิดและแนวทางในการต่อสู้ที่ท้าทายความคิดกระแสหลักของทุนนิยมเสมอ ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องประชุม

สื่อของพรรคคือนั่งร้านในการสร้างพรรค

วิธีหนึ่งที่สำคัญในการสื่อแนวคิดเพื่อสร้างพรรคคือการใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งตีพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดีย

สื่อของพรรคผลิตออกมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งทฤษฏีให้กับสมาชิกพรรคเอง อาจมองได้ว่าเป็นอาวุธทางปัญญาในการขยายงานของพรรค นอกจากนี้สื่อของพรรคเป็นคำประกาศจุดยืนต่อสาธารณะอย่างชัดเจน การที่สมาชิกต้องขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนภายนอกพรรคเป็นวิธีการในการสร้างความสามัคคีทางความคิดภายในพรรค เพราะเวลาสมาชิกขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนอื่น สมาชิกต้องถกเถียงเพื่อปกป้องแนวคิดของพรรคเสมอ ดังนั้นสมาชิกต้องอ่านและทำความเข้าใจกับสื่อของพรรค

ประชาธิปไตยรวมศูนย์ไม่ใช่เผด็จการรวมศูนย์

ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์สาย สตาลิน-เหมา ทั้งหลาย เช่น พ.ค.ท. มักใช้คำว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” เพื่อเป็นข้ออ้างว่าทำไมสมาชิกพรรคต้อง “เชื่อฟัง” คำสั่งและนโยบายของ “จัดตั้ง” หรือผู้นำระดับบน แต่จริงๆ แล้วความหมายของประชาธิปไตยรวมศูนย์ตามที่ เลนิน หรือ ตรอทสกี ตีความ คือการมีเสรีภาพในการถกเถียงนโยบายเต็มที่ภายในพรรคในขณะที่พรรคต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นพอถึงเวลาปฏิบัติต้องมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโดยที่เสียงข้างมากต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ทุกคนต้องทำตาม แน่นอน การเป็นสมาชิกพรรคไม่เสรีเท่ากับการเป็นปัจเจกชน แต่เสรีภาพของปัจเจกชนไม่มีอำนาจใดๆ ในสังคม ถ้าไม่รวมตัวกับคนอื่น ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์จึงเป็นวิธีการทำงานที่พยายามรวมสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน (เสรีภาพในการคิด กับ การมีนโยบายที่ชัดเจน) มาทำพร้อมกัน และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมทั้งสองส่วน คือต้องไม่ลืมการรวมศูนย์ และต้องไม่ลืมประชาธิปไตย

เสรีภาพในการถกเถียงภายในพรรค ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ ถ้าพรรคไม่มีการถกเถียงนโยบายอย่างเสรีและเปิดเผย สมาชิกพรรคไม่สามารถจะนำปัญหาของโลกจริงมาทดสอบแนวของพรรคได้ในรูปธรรม และพรรคไม่สามารถสะท้อนความคิดของแนวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพได้จริง

ความสำคัญของการประชุมเป็นระบบ

หลายคนสงสัยว่าทำไมสมาชิกพรรคต้องประชุมทุกสัปดาห์อย่างเป็นระบบ บางคนมองว่าเป็นการเสียเวลาและเป็นการมัวแต่นั่งคุยกันโดยไม่ออกไปต่อสู้ในโลกจริง คำตอบคือ

(1) การประชุมเป็นประจำและเป็นระบบ เป็นวิธีสำคัญในการรักษารูปแบบขององค์กร การประชุมเป็นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยน ฝึกฝนการพูด วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก และพัฒนาความคิดและความสามารถทางด้านทฤษฎีของสมาชิก ในขณะที่การอ่านหนังสือคนเดียวไม่มีวันให้ประโยชน์เพียงพอ  

(2) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่จะประสานการต่อสู้ประจำวันของสมาชิกเพื่อนำประสบการณ์เข้ามาในพรรคและเพื่อพัฒนาการต่อสู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(3) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่สมาชิกสามารถควบคุมนโยบายและผู้นำของพรรคได้

ควรมีการฝึกความคิดทางการเมืองในเรื่อง ชนชั้น ปัญหาสตรี ปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีการจัดตั้งพรรค ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์หรือปรัชญา หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ ฯลฯ แต่ทุกครั้งต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นระหว่างทฤษฎีการเมือง กับปัญหาในระดับสากล และปัญหาในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และยิ่งกว่านั้นต้องมีการเสนอทางออก

ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคมาร์คซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงานที่ไม่จบการศึกษาสูง หรือพนักงานปกคอขาวที่จบมหาวิทยาลัย ควรแม่นทฤษฎี การแม่นทฤษฎีที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่การนำหนังสือที่ตนเคยอ่านมาอวดความฉลาดกับคนอื่น หรือการท่องหนังสือเหมือนคัมภีร์ แต่สิ่งที่เราต้องสร้างคือ “ปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพ” แน่นอนบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านหรือคนที่ทำงานทั้งวันจนเหนื่อย ย่อมมีอุปสรรคในการพัฒนาตนเองมากกว่าคนที่ถูกฝึกฝนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย แต่เราต้องหาทางฝ่าอุปสรรคแบบนี้ให้ได้

อันโตนิโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติจากอิตาลี่เคยเสนอว่าทุกชนชั้นต้องมีปัญญาชนของตนเอง ชนชั้นนายทุนมีทรัพยากรมหาศาล เขามีปัญญาชนและสถาบันศึกษาของเขาแน่นอน แต่ถ้ากรรมาชีพไม่มีปัญญาชนของตัวเองที่จะอธิบายโลกจากมุมมองทฤษฎีของกรรมาชีพเอง ผลที่ได้คือขบวนการกรรมาชีพจะเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดของนายทุนตลอดไป พูดง่ายๆ เราจะติดอยู่ในคุกแห่งความคิดของฝ่ายศัตรู

ใจ อึ๊งภากรณ์

การวิเคราะห์สังคมแบบมาร์คซิสต์คืออะไร

เวลามีคนเอ่ยถึงลัทธิมาร์คซ์คนส่วนใหญ่มักนึกถึงพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ท่านประธานเหมาเจ๋อตุง หรือระบบการปกครองในจีน ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าลัทธิมาร์คซ์ในที่นี้ต่างกับแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เหมาเจ๋อตุง และสตาลิน

แนวความคิดลัทธิมาร์คซ์ตามความคิดของมาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน หรือตรอทสกี ซึ่งเป็นแนวคิดปฏิวัติสังคมนิยมสำหรับยุคสมัยใหม่มีองค์ประกอบดังนี้คือ

1. แนวคิดวิทยาศาสตร์ที่อิงเหตุผลและพร้อมที่จะถูกทดสอบในโลกจริงเสมอ สำนักคิดของเราไม่ใช่สำนักคัมภีร์นิยมที่ท่องจำสูตรของผู้นำผู้เป็นพระเจ้า ถ้าในอนาคตสิ่งที่เราเสนอถูกทดสอบกับโลกแห่งความจริงแล้วล้มเหลว เราพร้อมที่จะปรับความคิดเสมอ

2. เป็นวิธีการมองโลกเพื่อประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพในการเปลี่ยนโลกให้เป็นสังคมนิยม สังคมนิยมเป็นสิ่งที่กรรมาชีพต้องสร้างขึ้นเอง จากล่างสู่บน ไม่มีอัศวินม้าขาวที่ไหนที่จะมาสร้างให้แทนได้ ดังนั้นการวิเคราะห์ต้องวิเคราะห์เพื่อเปลี่ยนสังคม ไม่ใช่วิเคราะห์เพื่อให้รู้อย่างเดียว คาร์ล มาร์คซ์ จึงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ในอดีตนักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลก แต่จุดมุ่งหมายหลักคือการเปลี่ยนโลก” ดังนั้นนักมาร์คซิสต์จะต้องลงมือทำงานในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และลงมือสร้างพรรคสังคมนิยมเพื่อเปลี่ยนโลกในรูปธรรม

3. การวิเคราะห์แบบมาร์คซิสต์ อาศัยหลักความคิดที่ค้นพบและถูกนำมาใช้โดย มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอทสกี ลัคแซมเบอร์ค และ กรัมชี่ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญดังนี้คือ

     (ก) มองว่ามนุษย์ธรรมดาเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ท่ามกลางการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ และเราจำเป็นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจโลกปัจจุบัน

     (ข) มองว่าถึงแม้ว่ามนุษย์สามัญเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ แต่เขาไม่มีอำนาจที่จะเลือกสถานการณ์ภายนอกที่ดำรงอยู่ได้ เพราะสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และสภาพความเป็นจริงในโลกแห่งวัตถุ ดังนั้นการเปลี่ยนสังคมขึ้นอยู่กับทั้งอัตวิสัย และภววิสัยเสมอ

     (ค) มองว่าลักษณะการเลี้ยงชีพของมนุษย์ในยุคใดยุคหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “ความสัมพันธ์ทางการผลิต และพลังการผลิต” เป็นสิ่งหลักที่กำหนดความเป็นอยู่ของมนุษย์เช่นระบบการปกครองหรือระบบสังคม และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีกเป็นสิ่งที่กำหนดลักษณะความคิดในสมองมนุษย์ด้วย การให้ความสำคัญกับสิ่งของที่แตะต้องได้ หรือวัตถุ ในการกำหนดความคิดของมนุษย์ เรียกว่าแนวคิดแบบ “วัตถุนิยม” ซึ่งต่างจากแนวคิด “จิตนิยม” ที่มองว่าความคิดมนุษย์ โดยเฉพาะ “คนเก่ง” เป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบของโลกแต่แรก

     (ฆ) มองว่าถ้าเราจะเข้าใจโลกเราได้เราต้องมองโลกด้วย “วิภาษวิธี” (หรือไดอาเลคทิค) คือต้องมองภาพรวมของโลก ต้องหาความขัดแย้งในภาพรวมดังกล่าว และเมื่อหาความขัดแย้งดังกล่าวได้ จะค้นพบสิ่งที่ผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ นักมาร์คซิสต์จึงมองว่าสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง และสภาพการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องปกติ

     ในรูปธรรมแนวคิดมาร์คซิสต์มองว่า “วัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิม” เป็นเรื่องรองที่เปลี่ยนตามยุคสมัย ไม่ใช่เรื่องหลักที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งหลักที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือความขัดแย้งที่เติบโตจากลักษณะระบบการผลิต และบทบาทของสามัญชนในการต่อสู้ทางชนชั้น

     สรุปแล้วแนวความคิดมาร์คซิสต์อาศัยหลักของ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ และวิภาษวิธี” ซึ่งตรงข้ามกับแนวความคิดของฝ่ายกระแสหลักที่มีรูปแบบ “บูชาปัจเจกคนเก่งที่เป็นชนชั้นนำ”   หรือแนวคิดสำนัก “วัฒนธรรมนิยม” ที่มองว่าการเมืองและสังคมไทยมีลักษณะพิเศษที่มาจากวัฒนธรรมของคนไทย นอกจากนี้แนวมาร์คซิสต์จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนว “กลไก” ของพวกสตาลิน-เหมาที่มักอ้างวิภาษวิธีหรือวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ในทางที่บิดเบือน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทรัมป์ พบ คิม กับทฤษฏีจักรวรรดินิยมของเลนิน

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

การประชุมระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม จอง-อึน จากเกาหลีเหนือ คงลดความเครียดสำหรับคนจำนวนมากในโลก โดยเฉพาะในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น เพราะก่อนหน้านี้ดูเหมือนภัยจากสงครามนิวเคลียร์จะกลับมาเป็นเรื่องจริงอีกครั้งตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็น

เราจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือได้อย่างไร? เพราะมันไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งระหว่าง “โลกเสรี” กับ “คอมมิวนิสต์” อย่างที่นักวิเคราะห์ปัญญาอ่อนคิดเลย

LENIN Imperialism the Highest Stage of Capitalism_250

     ทฤษฏีจักรวรรดินิยมของเลนิน มีความสำคัญทุกวันนี้ในการทำความเข้าใจกับภัยสงคราม ทั้งๆ ที่มหาอำนาจเลิกใช้การล่าอาณานิคมในการกดขี่ประชากรโลกในรูปแบบเดิม เพราะทุกวันนี้ยังมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ออกมาในรูปแบบการแข่งขันทางทหาร ทฤษฏีจักรวรรดินิยมของเลนิน เน้นว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

180609141740-01-merkel-trump-g7-0609-exlarge-169

     ทุกวันนี้ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด เริ่มอ่อนแอเมื่อเทียบกับจีน หรือประเทศอื่นๆ ในโลกพัฒนา เช่นญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศในอียู สหรัฐจึงจงใจใช้อำนาจทางทหารในการรักษาตำแหน่งในโลก สงครามในอ่าว สงครามอิรัก การแทรกแซงในซิเรีย ฯลฯ ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะสาเหตุนี้ และปัจจุบันความก้าวร้าวของประธานาธิบดีทรัมป์ในเรื่องเกาหลีเหนือ ก็เกี่ยวข้องกับการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน [ดู https://bit.ly/2MhgYY2 ]ยิ่งกว่านั้น การที่โลกไม่ได้แยกเป็นสองฝ่ายตามมหาอำนาจหลัก อเมริกา กับ รัสเซีย อย่างที่เคยเป็นในยุคสงครามเย็น แปลว่าประเทศขนาดกลางมีพื้นที่ในการเบ่งอำนาจ เช่นในตะวันออกกลางเป็นต้น มันทำให้โลกเราในยุคนี้ขาดเสถียรภาพและเต็มไปด้วยภัยสงคราม “สงคราม” ทางเศรษฐกิจกับการค้าระหว่างสหรัฐกับ อียู คานาดา และจีน เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ ในกรณีสหรัฐกับเกาหลีเหนือมันเป็นภัยสงครามนิวเคลียร์อีกด้วย

คิม จอง-อึน เป็นผู้นำเผด็จกการที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผ่านสายเลือด คิม อิล-ซ็อง ผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนือ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำโดยสตาลินเมื่อกองทัพรัสเซียเข้ามายึดทางเหนือของเกาหลีในช่วงปลายๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีเหนือจึงกลายเป็นรัฐเผด็จการในรูปแบบที่สตาลินใช้ปกครองรัสเซีย ระบบนี้ไม่ใช่ “สังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์” ตามแนวคิดของมาร์คซ์หรือเลนินแต่อย่างใด เพราะชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้ปกครองตนเอง แต่กลับกลายเป็นผู้ถูกขูดรีดกดขี่ และการสถาปนารัฐมาจากกองทัพรัสเซีย ไม่ใช่การปฏิวัติของกรรมาชีพ ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่าระบบเศรษฐกิจการเมืองของเกาหลีใต้คือ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ที่รัฐกลายเป็นกลุ่มทุนผูกขาดแทนที่จะมีกลุ่มทุนเอกชน นอกจากนี้ คิม อิล-ซ็อง ได้เสนอแนวทาง “เศรษฐกิจพึ่งตนเอง” (จูเช) อีกด้วย

ในระยะแรกทุนนิยมโดยรัฐประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ โดยที่เกาหลีเหนือพัฒนาไปไกลกว่าเผด็จการทุนนิยมตลาดเสรีของเกาหลีใต้ แต่เมื่อระบบทุนนิยมโลกพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องโลกาภิวัฒน์ การพึ่งตนเองและระดมทุนภายในกลายเป็นจุดอ่อน จนเกาหลีเหนือยากจนลงเรื่อยๆ นี่คือสาเหตุที่ คิม จอง-อึน ปล่อยให้ทุนเอกชนทำการค้าขายลงทุนได้ และความอ่อนแอของเกาหลีเหนือ เป็นสาเหตุที่รัฐบาลเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องตัวเองและเอาตัวรอดจากการข่มขู่จากภายนอก

สำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ ท่าทีก้าวร้าวที่เคยมีกับเกาหลีเหนือ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการปกป้อง “โลกเสรี” เพราะท่าทีนี้ทำให้พลเมืองในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเสี่ยงตายจากสงครามนิวเคลียร์ และอย่าลืมว่าสองประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย

นโยบายของสหรัฐต่อเกาหลีเหนือเป็นแค่เครื่องมืออันหนึ่งในการแข่งขันกับจีน ซึ่งเป็นการแข่งขันเพื่อช่วงชิงอิทธิพลในเอเชีย

การข่มขู่ทางทหาร และการเจรจาทางการทูต เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน และในกรณีตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งแข่งขันระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ทรัมป์ ได้ยุยงให้อิสราเอลก้าวร้าวมากขึ้นจนประชาชนในภูมิภาคเสี่ยงภัยสงครามระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลอย่างน่าใจหาย

ในปีค.ศ. 1916 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติรัสเซีย เลนิน ได้เขียนหนังสือสำคัญชื่อ “จักรวรรดินิยมขั้นตอนสูงสุดของทุนนิยม”

ประเด็นสำคัญในความคิดเรื่องจักรวรรดินิยมของเลนินคือ การพัฒนาของระบบทุนนิยมทำให้กลุ่มทุนต่างๆ ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านั้นกับรัฐ ทำงานในทิศทางเดียวกัน รัฐใหญ่ๆ ของโลกจะใช้อำนาจทางทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในประเทศของตนเอง และมีการแบ่งพื้นที่ของโลกภายใต้อำนาจของรัฐดังกล่าวในรูปแบบอาณานิคม และที่สำคัญคือการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน นำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งในที่สุดระเบิดออกมาในรูปแบบสงคราม

ความคิดกระแสหลักที่ยังสอนกันอยู่ในสถานศึกษาทุกวันนี้ มักจะอธิบายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่าเกิดจากอุบัติเหตุทางการเมือง หรือการจับมือเป็นพันธมิตรสองขั้วของชาติต่างๆ ในยุโรป แต่นั้นเป็นเพียงการบรรยายอาการของ “จักรวรรดินิยม” เพราะต้นกำเนิดของสงครามมาจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลก และสงครามดังกล่าวเป็นสงครามที่กลุ่มทุนใหญ่และรัฐกระทำเพื่อเพิ่มอำนาจของฝ่ายตนเองในการขูดรีดกรรมาชีพและปล้นทรัพยากรในประเทศอื่น แต่ในการทำสงครามมักมีการโกหกสร้างภาพว่าทุกสงครามเป็นการรบเพื่อ “เสรีภาพ” เพราะคนที่ต้องไปรบมักจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราจะเข้าใจว่าทำไม เลนิน กับนักมาร์คซิสต์จะไม่สนับสนุนสงครามจักรวรรดินิยม และจะไม่มีวันคลั่งชาติ คำขวัญสำคัญของเลนินในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ “เปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมไปเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างชนชั้น!”

สงครามไม่ได้เกิดจาก “นิสัยพื้นฐานของมนุษย์” มันเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่างๆ ในระบบทุนนิยม สงครามต่างๆ ในประเทศซิเรียทุกวันนี้ และการแทรกแซงจากภายนอกเป็นตัวอย่างที่ดี ดังนั้นถ้าจะห้ามสงคราม เราต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่โจมตีการจับมือกันระหว่างรัฐกับทุน และโจมตีระบบทุนนิยมโลกอีกด้วย

บางคนไปตั้งความหวังไว้กับองค์กรสหประชาชาติ เพื่อสร้างสันติภาพในโลก แต่สหประชาชาติเป็นเพียงสมาคมของรัฐต่างๆ ทั่วโลก โดยมหาอำนาจคุมองค์กรผ่านคณะมนตรีความมั่นคง รัฐเหล่านี้เป็นผู้ก่อสงครามแต่แรก ไม่ใช่ผู้ที่จะสร้างสันติภาพแต่อย่างใด

ในไทยเราต้องต่อต้านการแข่งกันสะสมอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโจมตีการซื้ออาวุธของรัฐไทยเป็นหลัก เราต้องต่อต้านการเกณฑ์ทหารด้วย และเราต้องคัดค้านการรักชาติ และหันมารักประชาชนแทน

นอกจากนี้เมื่อประชาชนปาตานีพยายามต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจากอำนาจรัฐไทย เราต้องเข้าข้างเขาเสมอ ไม่ใช่ไปเชียร์กองทัพไทยซึ่งมีประวัติในการกดขี่ชาวปาตานีและประวัติการทำรัฐประหารเข่นฆ่าพลเมืองไทยเพื่อปล้นประชาธิปไตยอีกด้วย

ความคิดมาร์คซิสต์ กับแนวทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

เผด็จการและมรดกของเผด็จการจะไม่หายไปเอง นักเคลื่อนไหวปัจจุบันจะต้องทบทวนแนวคิดที่มองว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทำได้โดยห้าหกคนที่ “ยอมเสียสละ” หรือแนวคิดที่ตั้งความหวังไว้กับพรรคการเมืองกระแสหลัก ถ้าเราจะสร้างพลังในการต่อรองกับเผด็จการ เราต้องมีการ “จัดตั้ง” มวลชน และถ้าจะให้ความสำคัญกับการจัดตั้ง เราต้องกระตือรือร้นในการลงพื้นที่เพื่อคุยกับและปลุกระดมคน ต้องไว้ใจว่ามวลชนกลุ่มต่างๆ จะนำตนเองได้ และต้องมีทัศนะที่เปิดกว้างยอมทำงานกับคนที่มีความคิดหลากหลายที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนที่ต่อต้านเผด็จการ การจัดตั้งองค์กรทางการเมืองแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวต้านเผด็จการเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และมันจะเป็นเครือข่ายโครงสร้างองค์กรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ เมื่อเกิดการลุกฮืออย่างจริงจัง

การสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ย่อมอาศัยทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนจำนวนมาก และพรรคการเมืองแบบสังคมนิยมของคนชั้นล่าง ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง เราคงจะไม่สำเร็จ

ในหมู่ทฤษฏีทางการเมืองทั้งหลาย ความคิดมาร์คซิสม์ เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์มากที่สุดในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในโลกสมัยนี้ รวมถึงกรณีประเทศไทยด้วย สาเหตุเพราะไม่มีการพึ่งพาและสร้างความหวังจอมปลอมในบทบาทชนชั้นกลางหรือคนชั้นสูง มีการเน้นพลังมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน และมีการอธิบายความสำคัญของการสร้างพรรคอิสระในการต่อสู้เพื่อประโยชน์ของคนธรรมดา ทั้งหมดนี้แตกต่างจากแนวคิดเสรีนิยม แนวความคิดหลังสมัยใหม่ แนวคิดอภิสิทธิ์ชน และแนวความคิดประชาสังคมโดยสิ้นเชิง

เลนิน มักจะเน้นเสมอว่าพรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

ในบริบทสังคมไทย การที่จะสร้างพรรคแบบนี้ควรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆ ในขบวนการแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน การสร้างพรรคสังคมนิยมจะต้องไม่เริ่มต้นจากการคุยกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วม หรือการถกกันเรื่องการลงทะเบียน

เราต้องสร้างพรรคที่สนับสนุนและร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวปาตานี ของสตรี ของเกย์เลสเบี้ยนหรือกะเทย ของคนพิการ ของคนยากจนในชนบท ของกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และของชนกลุ่มน้อย ฯลฯ

ในเรื่องการเปลี่ยนความคิดหรือจิตสำนึกของมวลชน อันโตนิโอ กรัมชี่ สอนให้ชาวมาร์คซิสต์เข้าใจว่ากลุ่มคนที่อาจเปิดกว้างในการรับความคิดใหม่ๆ ที่ทวนกระแสหลัก เช่นคนที่มีแนวโน้มที่จะรับความคิดสังคมนิยม น่าจะเป็นคนที่กำลังต่อสู้ ไม่ใช่คนที่นิ่งเฉยรับสถานการณ์ ภาระของพรรคสังคมนิยมจึงเป็นการนำการเมืองแบบมาร์คซิสต์ไปสู่กรรมาชีพหรือกลุ่มคนที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นปากท้องประจำวัน ในขณะเดียวกันพรรคจะต้องสนับสนุนและช่วยผลักดันให้เกิดการต่อสู้ทุกรูปแบบด้วย และต้องพยายามพัฒนาจิตสำนึกจากแค่เรื่องปากท้องไปเป็นการเมืองภาพกว้างในทุกประเด็น

ในไทยเราเคยเห็นปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” ของคนเสื้อแดงจำนวนมาก หลังจากที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แล้วต้องเผชิญหน้ากับการปราบปราม

การเคลื่อนไหวของมวลชนในสังคมมีความสำคัญยิ่ง เราหรือพรรคไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของมวลชน และการนัดหยุดงานเป็นส่วนสำคัญของการเคลื่อนไหวนี้ เราควรลองคิดดูว่า ในสมัยที่มีการชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย ถ้ามีการปลุกระดมให้นัดหยุดงานทั่วไป ในโรงงานต่างๆ ในสำนักงานต่างๆ หรือการหยุดเรียนหยุดสอนในสถาบันการศึกษาพร้อมๆ กัน ทหารจะสามารถปราบปรามเสื้อแดงด้วยกองกำลังได้หรือไม่

สำหรับนักเคลื่อนไหวในไทยในยุคปัจจุบัน มันมีบทเรียนสำคัญจากชีวิต โรซา ลัคแซมเบอร์ค คือ (1) การปฏิรูปที่ทำให้สังคมเดินหน้า ต้องอาศัยพลังการต่อสู้ระดับการปฏิวัติเสมอ ไม่ใช่การประนีประนอมหรือการปรองดอง ความก้าวหน้าหลังการลุกฮือล้มเผด็จการทหารในยุค 14 ตุลา หรือพฤษภา 35 เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความจริงอันนี้ (2) ต้องจัดตั้งองค์กรสังคมนิยมปฏิวัติให้เข้มแข็งแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าไม่มีองค์กรณ์แบบนั้นการลุกฮือจะโดนลากเพื่อไปรับใช้อำนาจเดิม (3) นักปฏิวัติทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องกล้าท้าทาย “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายที่เริ่มแปรตัวเป็นคนอนุรักษ์นิยม (4) ถ้าไม่มีการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมสังคมจะวนเวียนอยู่ในความป่าเถื่อนตลอดไป แต่ในขณะเดียวกันนักปฏิวัติต้องสนใจการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน และการต่อสู้เพื่อประธิปไตยเสมอ

เชิญอ่านบทความยาวเรื่องนี้ได้ที่นี่ http://bit.ly/2BYxAyd

ทำไมคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นเดียวไม่มีวันปลดแอกสังคมได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

สังคมไทยเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวแบบประเด็นเดียวมาตั้งแต่ยุคเอ็นจีโอ มีคนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องผลประโยชน์ของแรงงาน มีกลุ่มที่รณรงค์เรื่องสิทธิสตรี มีกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนหรือคัดค้านความก้าวร้าวของกลุ่มทุนใหญ่ในพื้นที่ชนบท และมีคนที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย ฯลฯ….

การรณรงค์ในประเด็นที่เอ่ยถึงนี้มีประโยชน์และก้าวหน้าทั้งนั้น แต่มีผลจำกัดมากในการแก้ปัญหาระยะยาว และไม่มีผลเลยในการปลดแอกคนส่วนใหญ่ในสังคมจากการกดขี่ของชนชั้นปกครอง

สาเหตุสำคัญคือ

  1. ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เราต้องแก้ไข และมีคนพยายามรณรงค์แก้ไข มีต้นกำเนิดจากจุดเดียวกันคือระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น การเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนจึงเป็นการเน้นอาการของระบบ แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนระบบ ปัญหาต่างๆ จึงเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง
  2. การเคลื่อนไหวแบบแยกประเด็นเป็นการเคลื่อนไหวที่อ่อนแอ และไม่สามารถรวมพลังของคนที่ถูกกดขี่หรือเดือดร้อนทั้งหมดได้
  3. ไม่มีการวิเคราะห์ว่าพลังในการเปลี่ยนสังคมกระจุกอยู่ตรงไหน

ในหลายกรณี คนที่เคลื่อนไหว เช่นพวกเอ็นจีโอ ไม่อยากเปลี่ยนสังคมแต่แรก แค่อยากวิงวอนคนข้างบนที่มีอำนาจ ให้แก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เช่นพวกที่ไปเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลเผด็จการ โดยไม่วิจารณ์รัฐบาลว่าขาดความชอบธรรมเนื่องจากการทำรัฐประหารแต่แรก

ในหลายกรณี คนที่เคลื่อนไหวในประเด็นหนึ่ง อาจไม่อยากสมานฉันท์กับคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นอื่น และไม่สนใจหรือไม่เห็นใจคนที่ถูกกดขี่อื่นๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่นคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันเกลียดเกย์ (อย่างที่อาจารย์ปวินเล่าให้เราฟังเรื่องเสื้อแดงคนหนึ่งที่ออสเตรเลีย) หรือเสื้อแดงบางคนที่เชียงใหม่ หรือการที่เสื้อแดงบางคนในสหรัฐที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมพ์ซึ่งเกลียดชังคนผิวดำ คนมุสลิม และสตรี หรือกรณีเอ็นจีโอต่างๆ ที่เคยโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหารเป็นต้น

หนังสือ “จะทำอะไรดี” ของเลนิน เขียนไว้ในปี 1901 เพื่อวิจารณ์พวกฝ่ายซ้ายที่เน้นแต่ประเด็นปากท้องของชนชั้นกรรมาชีพอย่างคับแคบ เลนินฟันธงว่านักสังคมนิยมจะต้องคัดค้านและเปิดโปงการกดขี่ทุกรูปแบบโดยชนชั้นปกครอง เขาตั้งคำถามว่าการศึกษาทางการเมืองของพรรคสังคมนิยมควรจะเป็นอย่างไร และตอบเองว่าต้องยกตัวอย่างการกดขี่ทุกรูปแบบจากโลกจริงมาพิจารณา และเขาฟันธงอีกว่าจิตสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพจะไม่เป็นจิตสำนึกทางการเมืองที่แท้จริง ถ้าไม่มีคำตอบต่อการกดขี่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าการกดขี่นั้นจะมีผลกับชนชั้นใด

ตัวอย่างรูปธรรมของแนวคิดเลนิน คือท่าทีต่อพลเมืองมุสลิมในรัสเซียซึ่งมีจำนวนไม่น้อย พรรคบอลเชวิคของเลนิน ออกคำประกาศในเดือนพฤศจิกายน 1917 หลังการปฏิวัติสำเร็จ ว่า “ชาวมุสลิมในรัสเซีย ซึ่งมัสยิดและประเพณีต่างๆ ของท่านเคยถูกรัฐทำลาย ตอนนี้ท่านมีสิทธิเสรีภาพทางศาสนาเต็มที่ซึ่งจะถูกละมิดไม่ได้… จงเข้าใจว่าการปฏิวัติกรรมาชีพอันยิ่งใหญ่จะปกป้องสิทธิของท่านเสมอ”

และในเรื่องสิทธิเสรีภาพของชาติเล็กที่เคยถูกรัฐบาลรัสเซียกดขี่ เลนินประกาศว่าเขาพร้อมจะทำ “สงคราม” กับแนวคิดชาตินิยมที่กดขี่คนอื่นตลอด

สาเหตุที่เลนินเสนอว่านักสังคมนิยมจะต้องสนับสนุนและมีส่วนร่วมโดยตรงในการต่อสู้ของผู้ที่ถูกกดขี่ในทุกรูปแบบคือ

  1. มันเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพื้นฐาน และการกดขี่ในทุกรูปแบบมีจุดกำเนิดจากระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น และถูกผลิตซ้ำโดยระบบนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าไม่กำจัดระบบนี้ในที่สุด มนุษย์จะมีเสรีภาพอย่างมั่นคงไม่ได้
  2. พรรคของชนชั้นกรรมาชีพจะต้องคอยรณรงค์ให้กรรมาชีพทั้งหลายมีจุดยืนที่ก้าวหน้าที่สุด เพื่อให้กรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการนำการผลักดันให้เกิดการปลดแอกมนุษย์ในทุกรูปแบบ ทั้งนี้เพราะชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นทางเศรษฐกิจที่จะล้มระบบที่เป็นรากฐานการกดขี่ทั้งหลายได้
  3. การที่พรรคสังคมนิยมจะชูประเด็นการกดขี่ หรือประเด็นปัญหาหลากหลายของคนในสังคม เป็นสิ่งที่จะสร้างความสามัคคีในการต่อสู้ระหว่างคนที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการปฏิวัติเพื่อปลดแอกมวลมนุษย์

สำหรับประเทศไทย มันแปลว่าเราต้องสร้างพรรคที่สนับสนุนและร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวปาตานี ของสตรี ของเกย์เลสเบี้ยนหรือกะเทย ของคนพิการ ของคนยากจนในชนบท ของกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และของชนกลุ่มน้อย ฯลฯ

[บางส่วนของบทความนี้คัดจากหนังสือของ John Molyneux (2017) “Lenin for Today”, Bookmarks]

มาทำความเข้าใจกับรัฐไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในบริบทวิกฤตประชาธิปไตยไทยปัจจุบัน มีแนวความคิดหลายแนวที่สร้างความสับสนในการทำความเข้าใจกับลักษณะแท้ของรัฐไทย

แนวความคิดที่ถือว่าเป็นกระแสหลักมากที่สุด คือความเชื่อว่าการชนะการเลือกตั้งจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ แต่สิ่งที่อาจทำให้นักประชาธิปไตยจำนวนมากตั้งคำถามก็คือ ในเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบสิบปี การชนะการเลือกตั้งดูเหมือนไม่พอ เพราะมีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยทหารกับศาล

บางคนจะอธิบายว่าทหารกับศาลกำลังทำงานภายใต้การควบคุมของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือบางคนอาจพูดถึงอำนาจของ “รัฐพันลึก”

แต่เกือบตลอดเวลาที่มีวิกฤตประชาธิปไตยไทยรอบนี้ กษัตริย์ภูมิพลป่วยและไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะสั่งการอะไร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ และในขณะนี้พรรคพวกของเผด็จการประยุทธ์กำลังออกแบบระบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้แนวยุทธศาสตร์แห่งชาติ ในเรื่องนี้กษัตริย์คนใหม่ก็ไม่เคยแสดงความเห็นหรือแสดงความสนใจแต่อย่างใด ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจรัฐอยู่ในมือของทหารข้าราชการชั้นสูง รวมถึงศาล และในมือของนายทุนใหญ่อีกด้วย ทุกส่วนที่คุมอำนาจรัฐนี้ถือว่าเป็นสมาชิกของชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง เพียงแต่ว่ามีการแบ่งงานและหน้าที่กัน เช่นทหารมีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยการใช้อาวุธ ยิ่งกว่านั้นส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยก็ทะเลาะกันเป็นประจำ คือทั้งสามัคคีในผลประโยชน์รวมของชนชั้น แต่แย่งชิงกันในเรื่องปลีกย่อยอย่างต่อเนื่อง

จริงๆ แล้วอำนาจของทหาร ข้าราชการชั้นสูง และนายทุนใหญ่ ไม่ใช่อำนาจที่เรามองไม่เห็น เพราะก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร เราก็เห็นกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นรัฐไทยไม่ได้มีอำนาจลึกลับหรือพันลึกแต่อย่างใด ความคิดเรื่องรัฐพันลึกในไทยอาศัยการเข้าใจผิดว่ารัฐควรเป็นกลางและยอมรับกติกาประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงรัฐในระบบทุนนิยมถูกออกแบบเพื่อจำกัดกระบวนการประชาธิปไตยแท้ต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ การที่ยิ่งลักษณ์หรือทักษิณจะชนะการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าทักษิณจะเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครอง เพราะเป็นนายทุนใหญ่ ไม่ได้แปลว่าอำนาจรัฐจะตกอยู่ในมือของเขาคนเดียว เขาต้องแบ่งอำนาจกับส่วนอื่นของชนชั้นปกครอง

แต่ถ้าพรรคการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าพรรคต่างๆ ของทักษิณ โดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน เกิดชนะการเลือกตั้งในอนาคต แน่นอนอำนาจรัฐจะยังคงอยู่ในมือของพวกที่เป็นศัตรูของประชาชน และจะไม่ได้อยู่ในมือของตัวแทนกรรมาชีพและคนจนในรัฐสภาเลย และถ้ารัฐบาลของพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน พยายามจะกำจัดอภิสิทธิ์ชนและความเหลื่อมล้ำในสังคม รัฐบาลนั้นจะถูกโค่นล้มโดยชนชั้นปกครอง

หนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน มีประโยชน์มากในการทำความเข้าใจกับเนื้อแท้ของรัฐไทยภายใต้ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน [ดู http://bit.ly/1QPRCP6 ]

เลนินอธิบายว่ารัฐไม่เคยเป็นกลาง และเป็นเครื่องมือสำหรับชนชั้นนายทุนในการกดขี่ชนชั้นล่าง ดังนั้นการที่พรรคของกรรมาชีพจะชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้แปลว่าชนชั้นนายทุนจะมือไม้อ่อนยอมโอนอำนาจให้กรรมาชีพ ตรงกันข้ามรัฐจะพยายามทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกครองประเทศไม่ได้

กรรมาชีพจะใช้รัฐปัจจุบันในการปกครองในรูปแบบใหม่ที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่ได้ เพราะรัฐทุนนิยมปัจจุบันถูกออกแบบเพื่อไม่ให้ประชาชนเป็นใหญ่แต่แรก

จริงๆ แล้ว ระบบการเลือกตั้งรัฐสภาภายใต้รัฐทุนนิยมเป็นวิธีการที่จะสร้างภาพในสังคมว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน แต่มันเป็นภาพลวงตา เพราะถ้าจะสร้างความเท่าเทียมทางอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง ต้องมีการฝืนกฏหมายและกติการที่ถูกสร้างไว้โดยนายทุน เพื่อยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของส่วนรวม และยึดอำนาจทหาร ตำรวจ และศาล มาเป็นของประชาชน ซึ่งแปลว่าต้องปฏิวัติล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีอภิสิทธิ์ชน และมีประชาธิปไตยแท้ผ่านสภาต่างๆ ในสถานที่ทำงานและในท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ คือประชาชนธรรมดาต้องมีอำนาจโดยตรงในการกำหนดทุกอย่าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ควรหันหลังให้กับการเลือกตั้งในรัฐสภาหรือสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียง และนี่คือจุดยืนของเลนินด้วย เพราะถ้าเราไม่มีสิทธิเสรีภาพตามกติกาของรัฐนายทุน หรือไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง การจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อสังคมใหม่จะยากขึ้น

สรุปแล้วเราต้องเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยตลอด แต่ในขณะเดียวกัน ต้องไม่หลงคิดว่ารัฐปัจจุบันเป็นกลาง หรือหลงคิดว่าแค่การชนะการเลือกตั้งในระบบทุนนิยมจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ ซึ่งแปลว่าเราต้องพร้อมจะจัดตั้งองค์กรหรือพรรคของคนชั้นล่างที่เคลื่อนไหวไปไกลกว่าแค่ข้อเรียกร้องของเสื้อแดงในอดีต

แนวทางการสร้างพรรคของ เลนิน กับบริบทสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั้งๆ ที่ เลนิน เป็นนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่แล้วในประเทศรัสเซีย แต่วิธีการในการสร้างพรรคกรรมาชีพของเขา มีหลายประเด็นที่สำคัญสำหรับสังคมไทยในยุคนี้

ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องแนวคิดของเลนินในเรื่องพรรค ผมจะขอฟันธงว่า คนไทยที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่างหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” เพราะกรอบที่เผด็จการกำหนดไว้นี้จะทำให้พรรคสังคมนิยมหรือพรรคของคนชั้นล่างลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ กรอบ“ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นี้กำหนดมาเพื่อสร้างแค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในไทย ไม่ควรลังเลที่จะสร้างพรรค ควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลย เพื่อเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้านอกรัฐสภา พูดง่ายๆ “พรรค” กับการเลือกตั้งรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอ

ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

ผู้ที่สนใจที่จะสร้างพรรคสังคมนิยมในไทย ซึ่งเป็นรูปแบบพรรคของคนชั้นล่างที่ดีที่สุด จะต้องเข้าใจกันว่าเป้าหมายของพรรคในที่สุด คือการล้มระบบทุนนิยมผ่านการลุกฮือของมวลชน การลุกฮือแบบนี้จะนำไปสู่การปกครองกันเองของคนชั้นล่าง เพราะตราบใดที่เราไม่ล้มระบบทุนนิยม เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่มีความเท่าเทียมได้ กรุณาเข้าใจอีกด้วยว่า “สังคมนิยม” ที่กำลังเอ่ยถึง แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่พบในจีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ หรือในอดีตโซเวียด [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2vbhXCO]

สำหรับ เลนิน พรรคสังคมนิยมจะต้องสร้างรากฐานในหมู่คนทำงานหรือชนชั้นกรรมาชีพ เพราะชนชั้นนี้มีพลังทางเศรษฐกิจมหาศาลถ้ารู้จักสามัคคีกัน พรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมเสมอ ด้วยเหตุนี้เงินทุนของพรรคต้องมาจากสมาชิกที่เป็นคนธรรมดาเท่านั้น และพรรคก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด หรือนโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรงเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่

เลนิน มักจะเน้นเสมอว่าพรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

ถ้าพรรคเน้นแต่การต่อสู้เรื่องปากท้องอย่างเดียว พรรคจะไม่ต่างจากสหภาพแรงงานสามัญ และที่สำคัญคือ พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคของนายทุน จะสามารถครองใจมวลชนจนผูกขาดการวิเคราะห์ประเด็นการเมืองได้ และการวิเคราะห์ดังกล่าวจะกระทำจากมุมมองนายทุนเสมอ ในบริบทสังคมไทย ถ้าพรรคสังคมนิยมไม่สนใจการเมืองด้านกว้างจากจุดยืนคนชั้นล่าง พรรคของคนอย่างทักษิณจะเข้ามาครองใจคนส่วนใหญ่ได้ง่าย และสามารถนำหรือยกเลิกการต่อสู้ได้ตามใจชอบ อย่างที่เราเห็นมาแล้ว

เราควรจะเข้าใจว่า ทั้งๆ ที่พรรคของทักษิณมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แล้วโดนทหารก่อรัฐประหาร แต่ทักษิณและพรรคพวกต้องการจำกัดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกรอบที่เป็นประโยชน์กับเขา ผลของการต่อสู้แค่ครึ่งทางแบบนี้ คือความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2hryRoB ]

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคไม่สนใจประเด็นปากท้อง และไม่ร่วมกับมวลชนนอกพรรคในการต่อสู้เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ก็จะแค่เป็นกลุ่มที่พูดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำอะไร ไม่มีวันขยายการต่อสู้ได้ ดังนั้นพรรคจะต้องโฆษณาขยายความคิดและปลุกระดมการต่อสู้พร้อมกัน

การผสมผสานยุทธศาสตร์สองอย่างนี้เข้าด้วยกัน แปลว่าพรรคจะต้องชักชวนให้มวลชนมองภาพกว้างทางการเมืองจากชีวิตประจำวันเสมอ และจะต้องเชื่อมโยงทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิทางเพศ สิทธิของเชื้อชาติต่างๆ เรื่องประชาธิปไตย และสถานการณ์ในโลกภายนอกประเทศไทยอีกด้วย

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

นอกจากพรรคจะต้องมีแนวความคิดของตนเอง หรือพูดง่ายๆ มี “ทฤษฏี” ในการเข้าใจสังคม พรรคต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และเป็นองค์กรที่เป็น “ความทรงจำ” ของคนชั้นล่าง เพราะถ้าไม่มีความทรงจำแบบนี้ มวลชนต้องเริ่มจากสูญทุกครั้งที่ออกมาเคลื่อนไหว แทนที่จะมีการสรุปบทเรียนจากอดีต

ในบริบทสังคมไทย การที่จะสร้างพรรคแบบนี้ควรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆ ในขบวนการแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน การสร้างพรรคสังคมนิยมจะต้องไม่เริ่มต้นจากการคุยกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วม หรือการถกกันเรื่องการลงทะเบียน

บทความนี้ในบางส่วนอาศัยความคิดที่เสนอในหนังสือ “Lenin For Today” (2017) โดย John Molyneux. Bookmarks Publications.