หลังรัฐประหารที่เกิดขึ้นในพม่า เราต้องสมานฉันท์กับประชาชนพม่าในการต้านเผด็จการทหาร
ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารรอบล่าสุด ในระบบการเมืองพม่า ซึ่งอาศัยรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างเอง กองทัพได้สำรองที่นั่ง 25% ในรัฐสภา ยิ่งกว่านั้นกองทัพสงวนสิทธิ์ที่จะให้นายพลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย กลาโหม และรัฐมนตรีที่ควบคุมพรมแดน กองทัพมีสิทธิ์วีโต้การแก้รัฐธรรมนูญ และในกรณี “วิกฤต” กองทัพสามารถเข้ามาคุมรัฐบาลได้เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่พึ่งเกิดขึ้น
เราสนับสนุนผู้ที่เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด รวมถึง นางอองซานซูจี แต่เราต้องฟันธงว่า นางอองซานซูจี ไม่ใช่ผู้นำที่ประชาชนควรจะไว้ใจในการนำการต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศ
อองซานซูจีคือใคร?
อองซานซูจี คือผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(N.L.D.) ที่คัดค้านรัฐบาลทหารพม่ามาตั้งแต่สมัยการลุกฮือของประชาชนในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 หรือที่รู้จักกันว่า “การกบฏ 8-8-88” เธอเป็นลูกสาวของอดีตผู้นำขบวนการเอกราชในยุคอาณานิคมอังกฤษที่ชื่อ อองซาน
อองซาน ผู้เป็นพ่อ เป็นคนที่คลุกคลีกับแนวชาตินิยมปะปนกับแนวสังคมนิยม แต่ในหลายเรื่องค่อนข้างจะขัดแย้งกับแนวมาร์คซิสต์ เช่นไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีนัดหยุดงานของกรรมกรในการต่อสู้กับอังกฤษหลังสงครามโลก เน้นแนวชาตินิยมเหนือแนวชนชั้น และสนับสนุนให้มีการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเป็นต้น
เผด็จการทหารพม่าเคยเป็น “สังคมนิยม” จริงหรือ?
ตั้งแต่อดีตนายพล เนวิน ยึดอำนาจในปี 1962 ผู้นำพม่าอ้างว่าปกครองตามแนว “สังคมนิยมแบบพม่า” พรรคของรัฐบาลก็เรียกตัวเองว่า “พรรคนโยบายสังคมนิยมพม่า” (B.S.P.P.) แต่ในความเป็นจริงถ้าเราสำรวจที่มาที่ไปของผู้นำเผด็จการทหารพม่าจะพบว่านายพล เนวิน มาจากซีกขวาของขบวนการชาตินิยมพม่าที่ชื่อขบวนการ Dobama Asiayone “เราพม่า” ซึ่งคนสำคัญของซีกซ้ายของขบวนการนี้คือ อองซาน และ ทะขิ่นโซ (ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาของพม่า)
ขณะที่นายพล เนวิน อ้างตัวเป็นสังคมนิยมแบบพม่า รัฐบาลทหารพม่าก็ปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์โดยประกาศว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อธรรมะ และศาสนาพุทธ นโยบายหลักๆ ของ “พรรคนโยบายสังคมนิยมพม่า” คือ การปิดประเทศเพื่อพัฒนาชาติผ่านการระดมทุนโดยรัฐ การบังคับรวมชาติและกดขี่กลุ่มเชื้อชาติต่างๆ และการใช้ทหารปกครองประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีเศษของแนวคิดสังคมนิยมดำรงอยู่เลย
เราต้องสรุปว่าในสมัย เนวิน พม่าใช้ระบบการเมืองและเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐภายใต้ลัทธิชาตินิยม” ซึ่งลอกแบบมาจากระบบเผด็จการสตาลิน-เหมาในรัสเซียกับจีน
นายพล เนวิน ต้องลงจากอำนาจท่ามกลางการกบฏปี 1988 และหลังจากนั้นเผด็จการทหารพม่าก็พยายามหันมาเปิดประเทศภายใต้แนวทุนนิยมตลาดเสรี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนภายใต้เผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์
แนวทางความคิดของ อองซานซูจี
อองซานซูจี เป็นคนที่ไม่เคยสนใจแนวสังคมนิยม และมักจะเสนอแนวทางแบบ “พุทธ” ทุนนิยมตลาดเสรี และสันติวิธีปัญหาสำคัญของแนวการนำของ ซูจี คือเขาพยายามชักชวนให้กรรมาชีพที่ออกมานัดหยุดงานครั้งยิ่งใหญ่ใน 8-8-88 หรือนักศึกษาที่เป็นหัวหอกสำคัญในการจุดประกายไฟการต่อสู้ในครั้งนั้น สลายตัว เพื่อให้การเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย และบ่อยครั้ง ซูจี จะเสนอว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องประนีประนอมกับกองทัพพม่า
ในเดือนสิงหาคมปี 1988 ซูจี ออกมาปราศรัยกับมวลชน5แสนคนที่เจดีย์ชเวดากอง และบอกให้มวลชน “ลืม” การที่ทหารพึ่งฆ่าประชาชนเป็นพันๆ พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชน “รักกองทัพต่อไป” (ดูหนังสือ Freedom From Fear ของ อองซานซูจี)
ในหลายๆ เรื่อง ซูจี มีความคิดอนุรักษ์นิยมที่เข้าข้างนายทุน (ดูหนังสือ “จดหมายจากพม่า”) เช่นเธอมักจะสนับสนุนกลไกตลาดเสรีและแนวขององค์กร ไอเอ็มเอฟ และมักจะมองปัญหาของพม่าในกรอบแคบๆ ของแนวชาตินิยม ประเด็นหลังนี้เป็นปัญหามาก และขัดแย้งกับการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพแท้ เพราะประเทศ “พม่า” เป็นสิ่งที่อังกฤษสร้างขึ้นมาในยุคล่าอาณานิคม โดยที่ประกอบไปด้วยหลายเชื้อชาติที่ไม่ใช่คนพม่า กลุ่มเชื้อชาติต่างๆ เหล่านี้ เช่นชาว กะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉาน คะเรนนี่ ฯลฯ ไม่พอใจที่จะถูกกดขี่เป็นพลเมืองชั้นสองในระบบรวมศูนย์อำนาจที่ดำรงอยู่ในอดีตและปัจจุบัน แต่ อองซานซูจี ไม่เคยเสนอว่ากลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ควรมีสิทธิ์ปกครองตนเองอย่างเสรี เพราะเธอต้องการปกป้องรัฐชาติพม่าในรูปแบบเดิม ในงานเขียนหลายชิ้นเธอจะ “ชม” วัฒนธรรมหลากหลายและงดงามของกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ แต่เป็นการชมเหมือนผู้ปกครองชมลูกๆ มากกว่าการให้เกียรติกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นในยุคปัจจุบันขบวนการเชื้อชาติต่างๆ ไม่ค่อยไว้ใจ นางอองซานซูจี
วิธีการต่อสู้ของ ซูจี จะเน้นการสร้างพรรคการเมืองกระแสหลักเพื่อแข่งขันทางการเมืองในรัฐสภา แทนที่จะสนับสนุนการสร้างขบวนการมวลชน เขาตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นจุดรวมศูนย์ของประชาธิปไตยพม่า แทนที่จะเน้นพลังรากหญ้า
และในห้ากว่าปีที่ผ่านมา ซูจี ประนีประนอมกับทหารตลอดเวลา จนเลขาธิการสหประชาชาติ อังตอนียู กูแตรึช พูดว่าเขา “ใกล้ชิดทหารมากเกินไป” ยิ่งกว่านั้นภายในพรรค NLD ซูจี เริ่มใช้มาตรการเผด็จการต่อคนที่เห็นต่างจากเขา ซึ่งสร้างความไม่พอใจไม่น้อย
หลายคนที่เคยบูชา อองซานซูจี สลดใจและผิดหวังในเรื่องจุดยืนเขาต่อโรฮิงญา เพราะ ซูจี สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวโรฮิงญาโดยกองทัพพม่า และเขาเกลียดชังชาวมุสลิม แต่ถ้าเราศึกษาแนวการเมืองของเขา บวกกับประวัติศาสตร์พม่า เราไม่ควรจะแปลกใจในทัศนะและพฤติกรรมแย่ๆ ของ อองซานซูจี ต่อโรฮิงญาแต่อย่างใด
พลังแท้ในการปลดแอกประชาชน
ในหมู่ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในประเทศพม่า มีแนวคิดหลักๆ สามแนวที่ใช้ในการต่อสู้คือ
1.แนวของ ซูจี ที่เสนอให้ใช้สันติวิธี ประนีประนอมกับเผด็จการ ลดการต่อสู้บนท้องถนน ลดการนัดหยุดงาน เน้นการค่อยๆ เจรจาในระดับสูงและการกระทำเชิงสัญลักษณ์ของผู้นำเช่นตัว ซูจี เอง นอกจากนี้มีการตั้งความหวังกับการกดดันจากรัฐบาลภายนอกและองค์กรสหประชาชาติ
ปัญหาคือว่ารัฐบาลภายนอก อย่างเช่นรัฐบาลต่างๆ ในอาเซี่ยน รัฐบาลสหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือในยุโรป ถึงแม้ว่าอาจเอ่ยถึงความสมควรที่จะมีประชาธิปไตยพม่าเป็นบางครั้งบางคราว แต่สิ่งที่เป็นเงื่อนไขหลักในการกำหนดนโยบายต่างประเทศไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์หรือสิทธิเสรีภาพของคนธรรมดา เป็นเรื่องผลประโยชน์กลุ่มทุนมากกว่า
2. แนวจับอาวุธ แนวนี้เป็นแนวที่กลุ่มปลดแอกเชื้อชาติต่างๆ รวมถึงอดีตพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และกลุ่มนักศึกษาจากยุคหลัง 8-8-88 บางกลุ่มเลือกใช้ แต่การต่อสู้แบบนี้ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะกำลังทางทหารของรัฐบาลพม่าเหนือกว่าเสมอ หรืออย่างน้อยที่สุดกำลังทหารของกลุ่มเชื้อชาติไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลกลางของพม่าได้เพราะอ่อนแอและแตกแยกกันเองเสมอ สงครามกลางเมืองในพม่าจึงยืดเยื้อยาวนานโดยดูเหมือนไม่มีจุดจบ
3. แนวมวลชนในเมือง ในรอบ 60 ปีของเผด็จการทหารพม่า มีเหตุการณ์สำคัญครั้งเดียวเท่านั้นที่เกือบล้มอำนาจทหารได้ นั้นคือการกบฏ 8-8-88 การกบฏครั้งนี้มีรูปแบบคล้ายๆ การต่อสู้ในเมืองทั่วไป อย่างเช่นกรณี ๑๔ ตุลา ในไทย หรือ 1968 ในเมืองปารีสประเทศฝรั่งเศส คือนักศึกษาหนุ่มสาวเป็นหัวหอกในการจุดประกายไฟการต่อสู้กับรัฐบาล แต่ในไม่ช้าประชาชนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพในเมืองก็เปิดศึกออกรบร่วมกับนักศึกษาและให้พลังกับการต่อสู้
หลังจากที่กระแสต้านเผด็จการพม่าเริ่มก่อตัวขึ้น ในเช้าของวันที่ 8-8-88 กลุ่มแรกที่เคลื่อนออกมาคือกรรมกรท่าเรือในเมืองหลวง ตามด้วยกรรมาชีพในสถานที่อื่นๆ รวมถึงข้าราชการ นักศึกษา และพระสงฆ์ วันนั้นเป็นวันแรกของการนัดหยุดงานทั่วไปและการประท้วงในหลายๆ เมืองของพม่า
ระหว่างเดือนสิงหาคม 1988 และการเลือกตั้งในปี 1990 รัฐบาลเผด็จการพม่าไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะคุมสถานการณ์ได้หมด ทั้งๆ ที่มีการใช้อาวุธกับประชาชนธรรมดา เพราะมวลชนในเมืองลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างต่อเนื่อง นี่คือสาเหตุที่ทหารพม่ายอมจำนนและเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง แต่ในขณะที่ฝ่ายเผด็จการอ่อนแอ ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยก็อ่อนแอในการนำด้วย กลุ่มนักศึกษาและกรรมาชีพไม่มีการจัดตั้งที่เข้มแข็งทางการเมืองเพียงพอ การนำจึงตกอยู่ในมือของคนภายนอกขบวนการอย่าง อองซานซูจี และเธอก็เรียกร้องเสมอให้มีการสลายม็อบและกลับไปทำงานเพื่อให้กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยเข้าสู่กรอบแคบๆ ของการเมืองรัฐสภา แนวทางการต่อสู้แบบนี้มีผลในการสลายพลังของมวลชน ซึ่งในที่สุดเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายทหารพม่ารื้อฟื้นอำนาจและกล้ารุกสู้ ดังนั้นหลังการเลือกตั้ง 1990 จึงมีการปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ
บทเรียนจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้คือ พลังที่สามารถท้าทายเผด็จการทหารพม่าอยู่ที่มวลชนในเมือง ซึ่งรวมถึงกรรมาชีพด้วย ไม่ได้อยู่ที่ผู้นำที่มีชื่อเสียง การจับอาวุธในป่า หรือการหวังแรงกดดันจากต่างประเทศ ดังนั้นต้องมีการต่อสู้อย่างต่อเนื่องและดุเดือดเพื่อโค่นล้มเผด็จการ ไม่ใช่ไปประนีประนอมจนฝ่ายประชาธิปไตยหมดกำลังใจและฝ่ายเผด็จการรวมตัวกันใหม่ได้ ที่สำคัญคือขบวนการต่อสู้ของนักศึกษา กรรมาชีพ และพระสงฆ์ ต้องสามารถนำตนเอง ต้องสามารถวิเคราะห์ปัญหาและทางออกเอง
ขบวนการกรรมาชีพพม่า ทั้งในพม่าและนอกประเทศในไทย มีพลังซ่อนเร้นมากขึ้นทุกวัน และหลังการก่อรัฐประหารครั้งนี้ มีการนัดหยุดงานในโรงพยาบาลเกือบหนึ่งร้อยแห่ง และมีการออกมาประท้วงของครู นักศึกษา และข้าราชการ นอกจากนี้กรรมกรสิ่งทอในพม่าก็มีพลังเพิ่มขึ้นผ่านการจัดตั้งสหภาพแรงงานอีกด้วย
“ปัญหา” เชื้อชาติในพม่า
การสร้างประชาธิปไตยและเสรีภาพในพม่าย่อมทำไม่ได้ถ้ากลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ไม่มีเสรีภาพที่จะกำหนดอนาคตตนเอง ซึ่งรวมไปถึงสิทธิเสรีภาพที่จะปกครองตนเองและแยกประเทศ ถ้าคนส่วนใหญ่ต้องการ
ข้อจำกัดสำคัญในการหาทางออกคือการมองทางออกในกรอบ “รัฐชาติ” ไม่ว่าจะเป็นการมองเพื่อปกป้องชาติพม่า อย่างที่ อองซานซูจี มอง หรือการแสวงหาชาติใหม่อิสระของชาว กะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉาน หรือ คะเรนนี่ เพราะทั้งสองทางออกหนีไม่พ้นการกดขี่คนกลุ่มน้อยและการขูดรีดทางชนชั้นอยู่ดี เช่นถ้าจะสร้างชาติอิสระของฉาน หรือ กะเหรี่ยง จะพบว่าในดินแดนเหล่านั้นมีคนหลากหลายเชื้อชาติดำรงอยู่ และถ้าเกิดสร้างชาติใหม่ได้ ก็ย่อมมีความขัดแย้งทางชนชั้นตามมา ชาวมาร์คซิสต์ต้องเสนอทางออกที่ปฏิเสธกรอบรัฐชาติ และการเน้นความสำคัญของชนชั้นเหนือเชื้อชาติ เราต้องเสนอว่าการปลดแอกมนุษย์ต้องกระทำด้วยการเมืองแบบชนชั้น คือต้องปฏิวัติล้มระบบการเมืองและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพื่อให้มนุษย์อยู่กันอย่างสงบในรูปแบบชุมชนที่ไร้ชาติ
อ่านเพิ่ม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง https://bit.ly/1sH06zu
ติดตามสถานการณ์ในพม่าได้ที่ https://www.myanmar-now.org/en
Twitter: @Myanmar_Now_Eng
ใจ อึ๊งภากรณ์