Tag Archives: เลือกตั้ง

มาร์คซิสต์กับการเลือกตั้งในไทย

สังคมนิยมที่ไม่มีการเลือกตั้งเสรีเป็นสังคมนิยมจอมปลอม ตัวอย่างที่ดีคือเผด็จการแนวสตาลิน-เหมาในรัสเซียสมัยก่อนหรือในจีนทุกวันนี้ แต่การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเสรีจริง เพราะชนชั้นนายทุนสามารถคุมรัฐและเศรษฐกิจได้ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่เคยทำให้กรรมาชีพประชาชนชั้นล่างเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ เพราะถ้าพรรคการเมืองของแรงงานชนะการเลือกตั้งได้ ชนชั้นนายทุนสามารถกดดันและทำลายรัฐบาลนั้นผ่านกลไกเผด็จการได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ อิทธิพลผ่านสื่อนายทุน หรือการใช้เครื่องมือเผด็จการของรัฐเช่นทหารตำรวจหรือศาล อาวุธเหล่านี้ใช้ในการคัดค้านนโยบายก้าวหน้าของรัฐบาลได้ และสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำใน“ประชาธิปไตยเสรีนิยม”ของประเทศตะวันตก ตัวอย่างเช่นรัฐบาลไซรีซาในกรีสที่โดนบังคับให้ยอมจำนนต่อนโนยบายรัดเข็มขัดของอียู ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและแสดงจุดยืนผ่านประชามติ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการทำลายผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษก่อนที่จะสามารถชนะการเลือกตั้งได้

การเลือกตั้งในไทยที่ใช้กติกาของทหารเผด็จการ และรัฐธรรมนูญเผด็จการ ก็ยิ่งไม่ใช่การเลือกตั้งเสรีเลย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของ สว.ที่แต่งตั้งโดยทหารหรือระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคทหาร

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ สิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้คือการที่จะไม่มีการยกเลิกกฎหมาย 112 ไม่ว่าพรรคกระแสหลักพรรคไหนชนะการเลือกตั้ง กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะเราอยู่ใน “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อย่างที่บางคนเชื่อ กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตยเพราะทหารและฝ่ายปฏิกิริยาใช้กฎหมายนี้เพื่อโจมตีใครที่อยากจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น โดยใช้ข้ออ้างเท็จว่าข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้า “ผิด” กฎหมาย อีกสาเหตุหนึ่งที่กฎหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย คือการที่กฎหมายนี้สร้างมาตรฐานว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นอกจากนี้มันนำไปสู่การตีความกฎหมายหมิ่นศาลว่าประชาชนไม่สามารถวิจารณ์หรือตรวจสอบศาลได้อีก

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ไม่มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมาย 112 หรือเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นศาล และไม่มีข้อเสนอว่าศาลควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกด้วย มีแต่พรรคสามัญชนที่กล้าพูดถึง112อย่างจริงจัง

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ เพราะจะไม่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริงได้ และสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและอำนาจ เป็นสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เต็มที่ แม้แต่การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทำบนพื้นฐานความจำเป็นที่จะมีชีวิติที่ดีของประชาชนไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองกระแสหลักมักจะพิจารณาความเห็นของนายทุนเสมอ แต่นายทุนเป็นแค่ 1% ของประชาชน

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อประชาชนได้ เพราะการที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนได้ในสังคมทุนนิยม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ 1% ของประชาชน และการตัดสินใจของรัฐบาลในประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งถ้าดูแนวโน้มแล้วพวกนี้ไม่สนใจจะแก้ปัญหาโลกร้อนเลย สนใจแต่กำไรกลุ่มทุนอย่างเดียว ปัญหาฝุ่นละอองก็เช่นเดียวกัน ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะแก้อย่างจริงจัง

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหน ที่จะลงทุนอย่างจริงจังในระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงคาร์บอน โดยที่ระบบขนส่งมวลชนนั้นใช้ได้ทั่วประเทศ ในทุกเมืองทุกอำเภอ และที่สำคัญคือมีคุณภาพความสะดวกสบาย และเก็บค่าเดินทางในอัตราที่คนจนใช้ได้ หรือไม่ก็ไม่เก็บค่าเดินทางเลยเพราะอาศัยภาษีก้าวหน้ามาเป็นรายได้แทน ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูงสำหรับประชาชนทุกคนรวมถึงคนจน เพื่อเลิกใช้เครื่องบินสำหรับการเดินทางภายในประเทศ

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มาจากโควิด เพราะรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคกระแสหลักพรรคไหน จะไม่มีวันตัดงบทหารและขึ้นภาษีให้กับคนรวยและกลุ่มทุนในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำเงินไปสร้างรัฐสวัสดิการและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับระบบสาธารณสุขที่คนรวยใช้ และจะไม่มีวันนำโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชนมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้จะไม่มีระบบจ่ายค่าจ้างในระดับพอเหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องหยุดงานอยู่กับบ้านเมื่อติดโควิด

จริงอยู่ มีหลายพรรค เช่นพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ แต่ในรูปธรรมไม่มีข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้นที่มีความหมาย

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน เพราะจะไม่เก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุนเพื่อตัดค่าไฟค่าเชื้อเพลิง หรือออกมาตรการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นราคาข้าวของที่เป็นสิ่งจำเป็น

การเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงจะไม่นำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานของกรรมาชีพจนอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่จะมีเวลาเพื่อพัฒนาตนเองหรือแสวงหาความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้น

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหนที่จะมีมาตรการอย่างจริงจังในการลดการกดขี่คนงานข้ามชาติ ลดการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ หรือให้สิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคตตนเองสำหรับประชาชนในปาตานี

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่นำไปสู่การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนทันที และไม่นำไปสู่การปฏิรูประบบยุติธรรม ลดจำนวนนักโทษในคุก

จริงๆ ปัญหาใหญ่ๆ ของประชาชนคนทำงานธรรมดา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีอีกมากมาย เช่นเรื่องอิทธิพลกลุ่มทุนในชนบท ปัญหาที่ดิน หรือระบบการศึกษาที่ล้าหลังและเป็นเผด็จการเป็นต้น

แต่เวลาเราพูดว่าเราเป็นนักปฏิวัติสังคมนิยม มันไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการเลือกตั้งในระบบทุนนิยม หรือการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน ตรงกันข้าม นักปฏิวัติอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค หรือ เลนิน หรือแม้แต่ คาร์ล มาร์คซ์ จะลงมือร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่ออิสรภาพ หรือเพื่อสวัสดิการภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะถ้าเราไม่สู้ในเรื่องแบบนี้ เราไม่มีวันฝึกฝนสร้างพลังมวลชนเพื่อเดินหน้าสู่การพลิกสังคมในการปฏิวัติได้

ดังนั้นนักสังคมนิยมจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และจะมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งอีกด้วย

ในช่วงที่มีการเลือกประชาชนจำนวนมากและสื่อมวลชนจะพูดคุยกันเรื่องการเมือง เราจึงต้องร่วมพูดคุยเรื่องการเมืองกับมวลชน

แน่นอนในวันเลือกตั้งเราต้องเรียกร้องให้ประชาชนเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ แต่การกาช่องในบัตรเลือกตั้งมันใช้เวลาแค่ 1 นาที ประชาธิปไตยมันต้องเป็นกิจกรรมของประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้เวลามากกว่าแค่ 1 นาที และการกาช่องบนบัตรเลือกตั้งมันไม่สร้างพลังให้กับประชาชน มันยกอำนาจไปให้นักการเมืองในรัฐสภาแทน และปล่อยให้นายทุนกับทหารมีอิทธิพลต่อไปในสังคม

เวลาเราเสนอว่าประชาชนควรเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ มันไม่ได้แปลว่าเราจะไม่วิจารณ์พรรคกระแสหลักอย่างเช่นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล เราต้องใช้ช่วงนี้ในการยกประเด็นเรื่อง กฎหมาย112 การปฏิรูปศาล การปฏิรูประบบการศึกษา การตัดงบทหาร ความจำเป็นที่จะมีรัฐสวัสดิการ ความจำเป็นที่จะเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน วิกฤตโลกร้อน ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาโควิดกับระบบสาธารณสุข ความสำคัญของสิทธิทางเพศ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิของประชาชนในปาตานี และการที่ต้องมีการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังฯลฯ

และเราจะต้องอธิบายว่าในการจัดการกับเรื่องเหล่านี้ในที่สุดเราต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

แต่ “การปฏิวัติ” ไม่ใช่ละครหรือเกมเด็กเล่นของคนที่แค่อยากชูธงแดง ใส่หมวกดาวแดง หรือท่องสูตรจากหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมร่วมการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฎหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ พรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว และนักเคลื่อนไหวก็หันกลับมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมปัจเจกเช่นการอดอาหารแทน

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะค้นพบว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาจากกระแสมวลชนที่ล้มเผด็จการทหารในปี ๒๕๓๕ และหลังจากนั้นเราก็มีรัฐบาลที่เสนอการปฏิรูปสังคมในทางที่ดีบ้าง เช่นการเริ่มต้นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลังจากนั้นมวลชนฝ่ายเหลืองก็ขึ้นมาคัดค้านประชาธิปไตยและเรียกให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองในปี ๒๕๔๙ แต่กระแสมวลชนเสื้อแดงบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งอีกที่พรรคเพื่อไทยชนะในปี ๒๕๕๔ ต่อมารัฐประหารของประยุทธ์เกิดขึ้นได้เพราะยิ่งลักษณ์กับทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพ และไปหาทางประนีประนอมในรัฐสภา ซึ่งไม่สำเร็จ

ในยุครัฐบาลประยุทธ์มีการเคลื่อนไหวของมวลชนจำนวนมากที่ออกมาไล่เผด็จการ แต่ปัญหาการจัดตั้งที่กระจัดกระจายเน้นความอิสระจอมปลอม การตั้งความหวังกับพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา และการที่ไม่ขยายการต่อสู้ไปสู่กรรมาชีพและสหภาพแรงงาน นำไปสู่ความพ่ายแพ้และการที่นักต่อสู้ใจกล้าจำนวนมากต้องติดคุก

จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาดในการเมืองเสมอ ถ้าเราไม่หันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาบทสรุปจากอดีต และรื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนอย่างจริงจัง เผด็จการจะสามารถสืบทอดอำนาจไปได้อีกนาน และความสิ้นหวังของประชาชนจะกลายเป็นยาพิษที่ทำให้คนยอมรับสภาพเช่นนี้

พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะกล้าๆ กลัวๆ ในการเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักหรือผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่างๆ และมักจะมีการเสนอว่าต้องหาทางดึงคะแนนเสียงจากคนที่มีแนวคิด “กลางๆ” อันนี้เป็นความจริงไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคแรงงงานในยุโรป หรือพรรคกรรมชีพในบราซิล เราเรียกพรรคเหล่านี้ว่า “พรรคปฏิรูป”

เป็นที่น่าเสียดายที่นักเคลื่อนไหวต่อสู้ในอดีต แห่กันไปเข้าพรรคปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลในไทย ในที่สุดแทนที่เขาจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างจริงจัง ระบบรัฐสภาจะเปลี่ยนตัวเขาเองในขณะที่เขาแปรตัวไปเป็นนักการเมืองมืออาชีพ

มันมีวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งกับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง นั้นคือคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องพยายามสร้างหน่ออ่อนของพรรคปฏิวัติสังคมนิยม และต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคปฏิวัติสังคมนิยมต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นสังคมนิยมต้องสร้างผ่านการต่อสู้ของมวลชนกรรมาชีพจากล่างสู่บน พลังกรรมาชีพมาจากการที่อยู่ใจกลางระบบเศรษฐกิจทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การบริการ หรือแม้แต่การเกษตร ดังนั้นพรรคสังคมนิยมปฏิวัติต้องให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมาชีพเสมอ

เราต้องให้ความสำคัญกับนักศึกษาและคนหนุ่มสาวอีกด้วย เพราะเขามักจะไฟแรง พร้อมจะอ่านและเรียนรู้ และที่สำคัญคือเขาเป็น “เตรียมกรรมาชีพ”

ทุกวันนี้ในไทยภายใต้สังคมทุนนิยม เราเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงที่ท้าทายชีวิตของพวกเรา คือวิกฤตสิทธิเสรีภาพ วิกฤตค่าครองชีพ วิกฤตจากภัยสงคราม วิกฤตโควิด และวิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือวิกฤตเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกัน เพราะต้นกำเนิดคือระบบทุนนิยม ดังนั้นการเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนประเด็นเดียวในรูปแบบเอ็นจีโอไม่ใช่ทางออก

เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบ เราต้องเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มไม่ใช่ปัจเจก พรรคเป็นสะพานที่ดึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของทุนนิยมเข้าด้วยกัน และพรรคมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ร่วมกันสู้กับทุกปัญหา แต่ถ้าพรรคจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างและขยายพรรคอย่างต่อเนื่อง เราต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษาทางการเมืองเพื่อให้เรามั่นใจมากขึ้น และเราต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาสื่อของเราอีกด้วย

ใจอึ๊งภากรณ์

เงื่อนไขสำคัญในการออกมาประท้วงการโกงการเลือกตั้ง

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยควรเตรียมตัวรับมือกับการโกงการเลือกตั้งโดยเผด็จการทหารของประยุทธ์ ขั้นตอนแรกคือการคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง ว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะมียุทธศาสตร์อะไรที่เหมาะสม เพราะเราไม่สามารถงอมืองอเท้าน้อมรับการโกงการเลือกตั้งโดยทหาร

แน่นอนพวกเราทราบดีว่า #เผด็จการทหาร มีแผนสืบทอดอำนาจไปอีก 20ปี ด้วยการแต่งตั้งสว. แต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งกกต. และการใช้แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ20ปีเพื่อมัดมือรัฐบาลที่มาจากการเลอกตั้ง ประเด็นนี้เราทราบมานานแล้ว แต่เราจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องที่จะทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจจนพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนไหว

ประเด็นสำคัญคือการโกงการเลือกตั้งหลังจากที่ประชาชนลงคะแนนเสียงเรียบร้อยไปแล้ว

ในประการแรกหลังวันเลือกตั้งเราจะต้องนับคะแนนเสียงทั้งหมดที่ประชาชนแต่ละคนทั่วประเทศลงให้พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ สามัญชน เพื่อชาติ และประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคหลักที่มีนโยบายต้านทหารที่ชัดเจน

หลังจากนั้นเราจะต้องนำคะแนนเสียงทั้งหมดที่ประชาชนลงให้พรรคต้านทหาร มาเปรียบเทียบกับคะแนนเสียงที่ประชาชนลงให้พรรคทหารและพรรคของสุเทพ

การนับคะแนนเสียงไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการนับจำนวนสส.

เราควรจะมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนการลงประชามติว่าประชาชนต้องการประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

ในขั้นตอนนี้จำนวน สส. ไม่สำคัญ เพราะเราทราบว่ามีการใช้สูตรแปลกๆ และการแต่งตั้ง สว. เพื่อให้ประยุทธ์กับพรรคพวกได้เปรียบ

ถ้าจำนวนคะแนนเสียงทั่วประเทศที่ต้านประยุทธ์มากกว่าคะแนนเสียงที่สนับสนุนประยุทธ์ เราต้องชัดเจนว่าประยุทธ์ไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใดที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าที่นั่งในสภาจะเป็นอย่างไร

ถ้าประยุทธ์หน้าด้านผลักตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีในสถานการณ์แบบนั้น การออกมาประท้วงต้านประยุทธ์จะมีความชอบธรรมสูง และถ้าพรรคการเมืองหรือนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยสนับสนุนการประท้วงก็จะยิ่งดี แต่นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องรอนักการเมือง เพราะบ่อยครั้งนักการเมืองลังเลใจไม่กล้านำ

571d8aa2c038bd71e98317cb1cad16cdb98096fad3d964da3c320acffed5b9f0

ถ้ามีการประท้วงเราต้องชัดเจนว่ามันไม่ใช่การประท้วงแสดงความไม่พอใจกับผลการเลือกตั้ง แต่เป็นการประท้วงเพราะเผด็จการทหารและพรรคทหารไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

อีกกรณีที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการออกมาประท้วงคือกรณีที่พรรคอนาคตใหม่หรือพรรคสามัญชนหรือพรรคเพื่อไทยถูกยุบ หรือกรณีที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือแกนนำพรรคต้านทหารคนอื่น ถูกลงโทษหรือจำคุก เพราะมันจะเป็นมาตรการที่ขัดกับการเลือกตั้งเสรีในระบบประชาธิปไตย เรายอมไม่ได้

ใครคิดที่จะเล่นพรรคเล่นพวกเพราะชอบหรือไม่ชอบ ธนาธร หรือพรรคอนาคตใหม่ หรือใครก็ตามจากฝ่ายประชาธิปไตยที่โดนลงโทษทางการเมือง จะเป็นคนปัญญาอ่อนทางการเมืองโดยสิ้นเชิง เราต้องข้ามพ้นอคติแบบนั้น

การประท้วงการโกงการเลือกตั้งอย่างที่พูดถึงนี้ มีความสำคัญในการเดินหน้าลดผลพวงของเผด็จการ ซึ่งเป็นงานที่คงใช้เวลา เราจึงยอมจำนนตั้งแต่ก้าวแรกไม่ได้ การประท้วงในสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่การกระทำที่ “เข้าทางเผด็จการ” หรือสร้างเงื่อนไขให้เผด็จการอยู่ต่อยาว ตรงกันข้ามการนิ่งเฉยเป็นสูตรที่ทำให้เผด็จการอยู่ต่ออย่างสบาย และที่สำคัญคือวิธีการกับรูปแบบการประท้วงต้องถูกกำหนดจากนักเคลื่อนไหวในไทย ควรเรียนบทเรียนจากอดีต และควรพิจารณาการนัดหยุดงานอีกด้วย ควรเน้นมวลชนไม่ใช่ทำในรูปแบบกลุ่มเล็กๆในเชิงสัญญลักษณ์

นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทุกคน คงหวังว่าพรรคต้านทหารจะได้เสียงในรัฐสภาพอที่จะตั้งรัฐบาลพลเรือนได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นแต่มีการกีดกันไม่ให้ตั้งรัฐบาล นั้นก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่จะออกมาประท้วงด้วยความชอบธรรม

ประชาธิปไตยไม่เคยสร้างได้จากการเคารพกฏหมายเผด็จการหรือการอาศัยสส.ในรัฐสภาอย่างเดียว

ถ้าเราไม่คุยและเตรียมตัวล่วงหน้าเรื่องนี้ พลเมืองไทยจะเป็นแค่เหยื่อของเผด็จการที่ไร้พลัง ขออย่าให้เป็นเช่นนั้นเถิด

ขยะการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

การเสนอชื่ออุบลรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นจุดต่ำสุดของพรรคการเมืองสายทักษิณ เป็นจุดต่ำสุดของนักการเมือง นปช. เป็นจุดต่ำสุดของนักการเมืองที่น่าจะรู้ดีกว่านี้เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง แต่ที่แย่ที่สุดคือมันเป็นจุดตดต่ำสุดของระบบการเลือกตั้งไทย และเป็นผลพวงของการแทรกแซงการเมืองผ่านรัฐประหารของทหาร

ทูลกระหม่อมหญิง

คนมีปัญญาไม่จำเป็นต้องถามตัวเองว่านางอุบลรัตน์มีคุณสมบัติอะไรที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรอก แต่สำหรับคนที่ตื่นเต้นกับการโหนเจ้าผมขอถามว่า…. เขาเคยสัมผัสวิถีชีวิตของพลเมืองไทยธรรมดาที่ยากจนไหม? เขามีความคิดทางการเมืองก้าวหน้าไหม? ในช่วงชีวิตของเขา เขาสนับสนุนประชาธิปไตยบ้างไหม? เคยสนับสนุนความยุติธรรมไหม? เขาคัดค้านระบบสืบทอดตำแหน่งผ่านสายเลือดไหม? เคยเปิดศึกกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไหม? คำตอบคือไม่เคย เขามีประสบการณ์แค่ในการโปรโหมดตนเองในรายการโทรทัศน์ แค่นี้ และเขาไม่มีวันเป็นสามัญชนตราบใดที่ยังมีการใช้ราชาศัพท์และตำแหน่งต่างๆ ในสื่อกระแสหลักอีกด้วย

สำหรับนักการเมืองพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งต้องเริ่มที่ทักษิณและรวมนักการเมืองพรรคอื่นๆ ของเครือข่ายนี้ เพราะอย่ามาพูดเลยว่าไม่ได้คุยกัน การเสนอชื่ออุบลรัตน์เป็นการถุยน้ำลายใส่ประชาชนไทยที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยมานาน รวมถึงการสละชีพด้วย มันถุยน้ำลายใส่ประวัติศาสตร์ ๒๔๗๕, ๑๔ตุลา, ๖ตุลา, พฤษภา๓๕, และการต่อสู้ของเสื้อแดง มันเป็นการถุยน้ำลายใส่อุดมการณ์ประชาธิปไตยอีกด้วย เพราะอะไร?

24879_385730269924_537184924_3652887_7350322_n

แนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังการเสนอชื่ออุบลรัตน์ คือแนวความคิดว่าพลเมืองไทยธรรมดาไม่มีปัญญาที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มันตัดบทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไป มันตัดบทบาทของพลเมืองธรรมดาในการมีส่วนร่วม และมันจบลงด้วยการเสนอว่ามีสิ่งเดียวที่จะต้านเผด็จการประยุทธ์ได้นั้นคือคนที่มีเชื้อสายเจ้า มันเป็นการสะท้อนแนวความคิดล้าหลังของพวกพันธ์มิตรเสื้อเหลืองในยุคทักษิณ ที่เชื่อว่าต้องโหนเจ้าถึงจะล้มคนอย่างทักษิณได้ เพราะคนธรรมดาทำอะไรเองไม่ได้

อย่าลืมว่าแนวคิดแบบนี้มีที่มาที่ไป เพราะตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทักษิณกับพรรคพวกจงใจแช่แข็งขบวนการเสื้อแดง ซึ่งเป็นขบวนการประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือแช่แข็งจนหมดพลังไปเลย แต่สิ่งนี้ทำไม่ได้ถ้าแกนนำ นปช. ไม่ประกอบไปด้วยคนปัญญาอ่อนที่เห็นด้วยกับทักษิณและไม่ยอมนำการต่อสู้ในช่วงหลัง สิ่งที่น่าผิดหวังคือคนก้าวหน้าในขบวนการเสื้อแดงไม่ยอมหรือไม่สามารถที่จะสร้างแกนนำที่อิสระจากพวกนี้ได้

ในประวัติศาสตร์ไทยและที่อื่นทั่วโลก การพยายามสร้างภาพ “ความฉลาดในการต่อสู้” โดยการหันหลังให้มวลชน ไม่เคยจบดีเลย คิดหรือว่าการอวยคนเชื้อเจ้าแบบนี้จะนำไปสู่การเพิ่มสิทธิเสรีภาพ หรือการลดความเหลื่อมล้ำ หรือการลดบทบาทของทหารในการเมืองไทย? ไม่เลย! ตรงข้าม เพราะการนำแนวความคิดของฝ่ายเผด็จการปฏิกิริยามาใช้เอง เท่ากับการยอมจำนนต่ออุดมการณ์เผด็จการและยุทธศาสตร์สืบทอดเผด็จการ20ปี และที่น่ากังวลอีกคือมันจะนำไปสู่การจับมือระหว่างทักษิณกับเผด็จการทหารในรัฐบาลแห่งชาติ(หมา)อีกด้วย

แต่ในที่สุดเราก็ทราบว่าวชิราลงกรณ์ได้ออกมาพูดว่าพี่สาวไม่เหมาะที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ ไม่ว่าจะเคยลาออกหรือพยายามเป็นสามัญชนหรือไม่ ท่าทีของวชิราลงกรณ์ทำให้คนจำนวนมากหงายท้องสับสน เพราะเสื้อแดงหลายคนเคยมองว่าอยู่ข้างทักษิณ ส่วนคนที่เคยพูดเรื่องอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของวชิราลงกรณ์ที่จะถูกเสริมจากการเสนอชื่ออุบลรัตน์ก็ต้องรีบแก้ทฤษฏีกันใหญ่ นอกจากนี้ยังมีคำถามอีกว่าวชิราลงกรณ์ถูกสั่งให้ออกมาโดยทีมประยุทธ์หรือไม่

พลเมืองไทยที่ไม่ยอมและไม่เห็นด้วยกับการเมืองขยะแบบนี้มีมากมาย เราต้องปฏิเสธพรรคการเมืองของฝ่ายทหารและฝ่ายทักษิณ และต้องให้ความสำคัญกับการจัดตั้งอุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมในการต่อสู้ต่อไป

Dxcc29yW0AQEpBn

 

ความขัดแย้งระหว่างการเลือกตั้งกับการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ในยุคที่มีพรรคการเมืองที่พยายามเสนอว่าควรจะมีการรื้อถอนโครงสร้างของเผด็จการทหาร อย่างเช่นพรรคอนาคตใหม่ เราควรจะมาสำรวจความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้มีผู้แทนในสภา กับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะบ่อยครั้งจะมีความพยายามที่จะปฎิเสธว่าความขัดแย้งดังกล่าวมีอยู่จริง

ก่อนอื่นผู้เขียนขอเน้นว่าการมีระบบเลือกตั้งเสรีในระบบประชาธิปไตยเป็นเรื่องดี และเมื่อถึงวันเลือกตั้งการที่จะมีพรรคทางเลือกที่เสนอว่าควรจะขยายพื้นที่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องดีและจำเป็นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรจะลืมว่าในไทยตอนนี้เผด็จการทหารกำลังออกแบบประชาธิปไตยจอมปลอมเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปอีก 20 ปี พรรคพวกของประยุทธ์ใช้ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” และรัฐธรรมนูญทหาร เป็นเครื่องมือ ดังนั้นถ้าเราจะลบผลพวงของเผด็จการและกีดกันไม่ให้อำนาจเถื่อนอย่างทหาร เข้ามามีบทบาททางการเมืองอีก เราจะต้องจัดการกับ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” รัฐธรรมนูญทหาร และองค์กรต่างๆที่ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องโครงสร้างอำนาจที่เผด็จการวางไว้

และเราไม่ควรลืมอีกด้วยว่า ถ้าพรรคใหม่ๆ ได้เสียงข้างมากในสภา และตรงนี้ต้องเน้นคำว่า “ถ้า” การที่จะยกมือเพื่อล้ม “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” และรัฐธรรมนูญทหาร และปลดองค์กรที่งอกจากเผด็จการ มันจะไม่ใช่เรื่องง่าย

ปัญหาในรูปธรรมของการลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้กติกาของเผด็จการประยุทธ์ หรือแม้แต่กติกาปกติที่มักพบในระบบทุนนิยมตะวันตก คือมันเป็นกระบวนการที่พรรคการเมืองพยายามเสนออะไรที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยอยู่แล้ว โดยที่ไม่มีการท้าทายให้พลเมืองเปลี่ยนความคิดแต่อย่างใด มันเป็นการพยายามเก็บเกี่ยวคะแนนนิยมของประชาชน โดยที่ประชาชนไม่ต้องเคลื่อนไหว แค่ไปกาช่องของพรรคในวันเลือกตั้งก็พอ

มันเป็นอะไรที่มองสภาพความเห็นและค่านิยมของประชาชนในลักษณะหยุดนิ่ง และเป็นความพยายามที่จะตามกระแสนั้นเอง

แน่นอนในยุคนี้ คนไทยจำนวนมากเบื่อหน่ายกับเผด็จการประยุทธ์และต้องการประชาธิปไตย ดังนั้นพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับเผด็จการ เช่นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอนาคตใหม่ คงจะได้คะแนนเสียงไม่น้อย แต่การ “เบื่อหน่ายกับเผด็จการประยุทธ์และความต้องการประชาธิปไตย” ไม่ได้แปลว่าพลเมืองเหล่านั้นมองโดยอัตโนมัติว่าเราสามารถลบผลพวงของเผด็จการ หรือล้มยุทธศาสตร์แห่งชาติ หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญทหารได้

IMG_3106-1

ประเด็นคือ เราจะทำอย่างไรให้พลเมืองจำนวนมากพร้อมที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่จะทำสิ่งเหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรม และการสนับสนุนที่พูดถึงจำต้องมีพลังติดมาด้วย เพราะการรื้อถอนโครงสร้างต่างๆ ของเผด็จการจำต้องอาศัยการต่อสู้ทางการเมืองกับอำนาจเผด็จการ และอย่าลืมว่าความคิดกระแสหลัก ที่มากับสื่อมวลชนและความกลัวที่จะท้าทายอำนาจ จะมองว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นเรื่อง “สุดขั้ว” หรือ ไม่เหมาะสม

ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือเราต้องมีขบวนการทางสังคมที่รณรงค์ท้าทายความคิดกระแสหลักในสังคม และทำให้พลเมืองจำนวนมากพร้อมจะมีส่วนร่วมในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง

แต่พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือที่ฝ่ายตรงข้ามจะเรียกว่า “ม็อบ” บ่อยครั้งพรรคเหล่านี้ต้องการให้มีการหยุดการเคลื่อนไหวด้วยซ้ำ เพื่อรอวันเลือกตั้ง

deepsnews_1522301450_9122

และที่สำคัญพอๆ กันคือ พรรคการเมืองที่เน้นการสมัครรับเลือกตั้งในสภา มักจะไม่กล้าเสนออะไรที่กระแสหลักในสังคมมองว่า “สุดขั้ว” เกินไป ทั้งๆ ที่การลบผลพวงของเผด็จการ หรือแม้แต่การสร้างรัฐสวัสดิการ หรือการเพิ่มรายได้ให้คนทำงานธรรมดา ไม่ได้สุดขั้วแต่อย่างใด เราอาจพูดต่ออีกด้วยว่าการยกเลิกกฏหมายเถื่อน 112 การเสนอให้ไทยมีกฏหมายทำแท้งเสรี การเสนอให้ประชาชนในปาตานีมีเสรีภาพในการปกครองตนเอง หรือแม้แต่การเปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐ ก็ไม่ใช่เรื่องสุดขั้วเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นในโลกปัจจุบัน มันแค่ถูกตราว่า “สุดขั้ว” เพราะไทยใต้กะลามันล้าหลังเท่านั้น

พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะกล้าๆ กลัวๆ ในการเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักหรือผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่างๆ และมักจะมีการเสนอว่าต้องหาทางดึงคะแนนเสียงจากคนที่มีแนวคิด “กลางๆ” อันนี้เป็นความจริงไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ พรรคแรงงงานอังกฤษภายใต้ เจเรมี คอร์บิน หรือพรรคกรรมชีพ (PT) บราซิลในอดีต

gettyimages-688651088

มันมีวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งกับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง นั้นคือคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องสนับสนุนพรรคที่ก้าวหน้าในช่วงที่มีการเลือกตั้ง และต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง