ใจ อึ๊งภากรณ์
ในยุคการโกงการเลือกตั้งโดยเผด็จการทหาร และการสืบทอดอำนาจผ่านการสร้างภาพความเป็น “ประชาธิปไตย” เราจะเห็นว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ไม่ยอมสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของเผด็จการ มีแต่การพึ่งพาศาลลำเอียง และกระบวนการในรัฐสภาเท่านั้น ในรูปธรรมมันเป็นการยอมจำนนต่อแผนของเผด็จการ
แต่เมื่อนักประชาธิปไตยบางคนเสนอว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะลงถนน” ก็มีพวกหดหู่ยอมจำนนออกมาวิจารณ์ว่าการลงถนนหรือการประท้วงจะนำไปสู่การปราบปรามโดยฝ่ายตรงข้าม ตกลงถ้าเราฟังพวกนี้เราก็ควรกลับบ้านไปมุดหัวและยอมจำนนเท่านั้น
แน่นอนการออกมาค้านเผด็จการเป็นสิ่งที่อาจมีความเสี่ยงอยู่ มันขึ้นอยู่กับวิธีการต่อสู้ ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะสู้อย่างไรต้องมาจากการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในหมู่นักกิจกรรมที่อยู่ในประเทศไทย แต่ที่สำคัญคือ การออกมาคัดค้านเผด็จการไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงเสมอ มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่แน่นอนคือ การเลือกที่จะไม่สู้จะไม่มีวันสร้างประชาธิปไตยและทำลายเผด็จการ
การสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ย่อมอาศัยทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนจำนวนมาก และพรรคการเมืองแบบสังคมนิยมของคนชั้นล่าง ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง เราคงจะไม่สำเร็จ
พรรคซ้ายหรือพรรคสังคมนิยมของคนชั้นล่างจำเป็นต้องสร้าง เพราะพรรคของนายทุนไม่สนใจสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
ข้อสรุปจากความล้มเหลวของฝ่ายประชาธิปไตยตอนนี้คือ เราต้องเน้นการนำร่วมกันจากล่างสู่บนที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การนำของผู้ใหญ่ที่มีผลประโยชน์ที่ต่างกับมวลชน และเราควรดึงขบวนการกรรมาชีพและคนหนุ่มสาวมาร่วมด้วย
เราไม่ควรสู้แบบยึดถนนตั้งหลักเป็นเดือน แต่ควรประท้วงใหญ่สั้นๆ และควรมีการสร้างความเข้มแข็งในการนัดหยุดงาน เพื่อใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือเราต้องชัดเจนว่าเราต้องการเห็นสังคมแบบไหน
ในยุคหลังเสื้อแดงมีคนหนุ่มสาวและคนอื่นจำนวนหนึ่ง ที่กล้าหาญออกมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ แต่บ่อยครั้งพวกเขาหันหลังให้กับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวมวลชน และไปเน้นการสู้แบบปัจเจก และอาศัยการทำข่าวเท่านั้น ผลที่น่าสลดใจคือคนดีๆ ก็ไปติดคุกและปัจเจกคนอื่นโดนกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่อง
เราจำการลุกฮือ ๑๔ ตุลาได้ไหม? มวลชนครึ่งล้านคนออกมาชุมนุมหลังจากที่นักกิจกรรมโดนเผด็จการจับ และในที่สุดเผด็จการก็ถูกล้มไป ถ้าคนไทยเคยทำได้ในอดีต ตอนนี้ก็ยังทำได้ แต่ต้องมีการวางแผนและการจัดตั้ง
การเคลื่อนไหวที่จะมีพลัง ไม่สามารถจัดได้ถ้าเราเพียงแต่ประกาศชวนเชิญประชาชนมาร่วมผ่านสื่อมวลชนหรือโซเชียลมีเดีย ถ้าในอนาคตจะมีการจัดให้มีพลังมากขึ้น คือมีคนมาร่วมจำนวนมาก ควรจะมีการจงใจสร้างเครือข่ายและแนวร่วมอย่างจริงจังกับกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน
ต้องมีการใช้เวลาเพื่อไปคุยกับคนที่มีประวัติในการค้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นอดีตคนเสื้อแดง กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันที่หลากหลาย และควรมีการนัดคุยกันหลายรอบ เพื่อร่วมกันตกลงว่าจะเคลื่อนไหวด้วยกันอย่างไร และเมื่อไร นอกจากนี้ตัวแทนของทุกกลุ่มที่ร่วมกันควรจะถือว่าเป็นแกนนำของแนวร่วมใหม่อันนี้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การจัดตั้งแบบประชาธิปไตย”
แน่นอนการทำงานแนวร่วมแบบนี้ต้องมีการประนีประนอมกันในการวางแผนแนวปฏิบัติ แต่นั้นไม่ได้แปลว่าจะมีมุมมองในหลายแง่ของการเมืองที่ต่างกันไม่ได้ จริงๆ แล้วการมีหลากหลายมุมมองทางการเมืองเป็นเรื่องดี เพราะจะนำไปสู่การถกเถียงเรื่องการเมืองภาพกว้าง ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเมืองแบบนี้และช่วยให้ทุกคนมีความคิดที่ชัดเจนมากขึ้น
เราไม่ควรลืมว่าประชาธิปไตยควรจะรวมไปถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิที่จะมีค่าแรงที่เลี้ยงชีพได้ สิทธิของทุกเพศรวมถึงเกย์ ทอม ดี้ กะเทย ฯลฯ สิทธิของชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิในการนับถือศาสนาตามที่ปัจเจกเลือกที่จะนับถือ หรือสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลและการศึกษาคุณภาพดีอย่างถ้วนหน้าฯลฯ
ฝังอยู่ในข้อเสนอของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผม คือความสำคัญของการสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ซึ่งผมเขียนเรื่องนี้บ่อย หาอ่านได้ที่นี่ http://bit.ly/2nfpcVA
แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่เราควรจะมี จะต้องไม่จำกัดไว้ในแวดวงคนที่อยากสร้างพรรคเท่านั้น ต้องกว้างกว่านั้นอีกมาก
การนัดหยุดงานกับพลังในการสร้างเสรีภาพ
ท่ามกลางความมืดมนของเผด็จการที่วางแผนคุมสังคมเราในระยะยาว เราต้องตั้งคำถามว่าพลังไหนในสังคมจะปลดแอกประชาชนและสร้างเสรีภาพ?
การสร้างพลังของขบวนการสหภาพแรงงานในไทย มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างเสรีภาพ สังคมเราจะได้ไม่ต้องวนเวียนอยู่กับเผด็จการ การทำรัฐประหาร และสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างต่อเนื่องเหมือนไม่มีจุดจบ นี่คือบทเรียนจากประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก เกาหลีใต้ ลาตินอเมริกา อียิปต์ ซูดาน และแอลจีเรีย
การลงถนนเพื่อประท้วงของมวลชน จะมีพลังมากขึ้นถ้ามีการนัดหยุดงาน การปราบปรามด้วยความรุนแรงของฝ่ายเผด็จการทำได้ยากขึ้นเมื่อเน้นการนัดหยุดงานด้วย
อย่างไรก็ตามขบวนการแรงงานไทยตอนนี้อ่อนแอเกินไป ไร้ประสิทธิภาพในการนำตนเองเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งถูกฝ่ายปฏิกิริยาแทรกแซง และเกือบจะไม่มีการจัดตั้งทางการเมือง บางส่วนของขบวนการมองรัฐบาลทหารว่าเป็น “ผู้อุปถัมภ์” อีกด้วย ที่สำคัญคือควบคู่กับการสร้างพลังของกรรมาชีพ เราไม่สามารถละเว้นการสร้างพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพด้วย ดังนั้นภารกิจสำคัญของเราควรจะเป็นการสร้างพรรคสังคมนิยมของคนหนุ่มสาวมีไฟที่ลงไปทำงานกับขบวนการสหภาพแรงงาน
ทำไมกรรมาชีพมีบทบาทชี้ขาดในการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพ และสังคมนิยม?
ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยมของนักมาร์คซิสต์ คือ ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิต ดังนั้นลูกจ้างทุกคนที่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษถือว่าเป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาว คนขับรถเมล์ พนักงานในภาคบริการ พยาบาล หรือครูบาอาจารย์
ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นเพราะชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจซ่อนเร้นอยู่สูง เนื่องจากกรรมาชีพเป็นชนชั้นใหม่ที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาในใจกลางของระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมต้องอาศัยการทำงานของชนชั้นกรรมาชีพทั้งสิ้น นายทุนนายจ้างและเครื่องจักรต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ เมื่อกรรมาชีพนัดหยุดงานทั่วประเทศ ทหารและตำรวจปราบยากกว่าการชุมนุมบนท้องถนน
สรุปแล้วสิ่งที่เราน่าจะทำตอนนี้คือ
- ตั้งวงคุยอย่างจริงจังเพื่อทบทวนแนวการต่อสู้ที่ผ่านมา และถกเถียงแลกเปลี่ยนว่าเราต้องการสังคมแบบไหน โดยใช้ประสบการณ์จากโลกจริงมาเป็นตัวอย่าง
- ต้องมีการใช้เวลาเพื่อสร้างเครือข่ายการเคลื่อนไหว และควรมีการนัดคุยกันหลายรอบ เพื่อร่วมกันตกลงว่าจะเคลื่อนไหวด้วยกันอย่างไร และเมื่อไร
- ควรเริ่มเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จากเล็กไปใหญ่ โดยเน้นการดึงมวลชนเข้ามาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เน้นการลงถนนเป็นครั้งๆ ไม่ใช่ชุมนุมยืดเยื้อ และควรตั้งเป้าให้มีการหยุดงานด้วย
- ควรพยายามสร้างพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพ แทนที่จะตั้งความหวังกับพรรคการเมืองของนายทุน
เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันมันไม่ยากเกินความสามารถของคนธรรมดาด้วย ใครที่บอกว่า “มันยากแต่ฉันจะพยายามทำ” คือคนที่ไม่ต้องการเป็นทาส