Tag Archives: เวนเนสเวลา

วิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในหลายประเทศของลาตินอเมริกา เป็นปัญหาที่มาจากการพึ่งการส่งออกวัตถุดิบสู่ตลาดโลก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมอธิบายสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนสเวลา ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากการพึ่งการส่งออกของน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำลงอันเนื่องมาจากวิกฤคเศรษฐกิจโลกปี 2008 [ดู https://bit.ly/2Pvrjk0 ] แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่ไหนเวเนสเวลา มันสร้างปัญหาให้กับอาเจนทีนา บราซิล และนิการากัวด้วย ซึ่งจะอธิบายต่อไป

ถ้าเราย้อนกลับไปสี่สิบกว่าปี นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายชาตินิยมซ้ายในประเทศกำลังพัฒนา มักจะชี้ให้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศในแถบ “ใต้” จะมีจุดอ่อนตรงที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบสู่ตลาดโลกที่ควบคุมโดยประเทศพัฒนาในแถบ “เหนือ” ซึ่งผลก็คือความด้อยพัฒนาของการผลิตอุตสาหกรรมภายในประเทศ และการที่รัฐบาลในประเทศทางใต้ขาดอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจ

ทางออกของที่พวกชาตินิยมซ้ายเสนอ คือการปิดประเทศระดับหนึ่ง เพื่อควบคุมการลงทุนและการแข่งขัน และเพื่อให้รัฐบาลส่งเสริมการผลิตภายในเพื่อทดแทนการนำเข้าของผลผลิตอุตสาหกรรมจากประเทศพัฒนา เป้าหมายคือการพัฒนาเศรษฐกิจให้หลากหลายมากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ และลดการถูกควบคุมโดยบริษัทข้ามชาติ ผู้นำและนักเศรษฐศาสตร์ในคิวบา เวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา มีความพยายามที่จำนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ และมีนักวิชาการหลายคนที่เสนอการวิเคราะห์ปัญหาและทางออกภายใต้สิ่งที่เรียกกันว่า “ทฤษฏีพึ่งพา”

ในไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งก็มีนักเศรษฐศาสตร์ชาตินิยมซ้ายที่เสนอนโยบายคล้ายๆ กัน [เช่น กมล กมลตระกูล (๒๕๔๐) “IMF นักบุญหรือคนบาป” ส.พ.มิ่งมิตร, พิทยา ว่องกุล (๒๕๔๐) บรรณาธิการ “คำประกาศอิสรภาพจาก IMF” ส.ก.ว. และมูลนิธิภูมิปัญญา,เศรษฐสยาม (๒๕๔๑) “สหรัฐอเมริกา ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า” วิถีทรรศน์ชุดภูมิปัญญา 8]

ปัญหาคือการปิดประเทศเพื่อพัฒนาภายใน ภายใต้เงื่อนไขของทุนนิยมโลกในสมัยนี้ นำไปสู่การขาดการลงทุนและเทคโนโลจีสมัยใหม่ ถ้าจะทำกันจริงๆ ต้องมีการยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของกรรมาชีพ ปฏิวัติล้มทุนนิยม สร้างรัฐสังคมนิยม เริ่มการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และสร้างความสมานฉันท์กับประเทศอื่นๆที่ทำสิ่งเดียวกัน แต่แนวชาตินิยมซ้ายไม่ต้องการจะล้มระบบทุนนิยม เพราะทั้งๆที่อ้างความเป็นซ้าย แท้จริงแนวคิดหลักเป็นแนวชาตินิยมที่ตรงกับผลประโยชน์นายทุนชาติเท่านั้น สิ่งที่เขาต้องการคือการสร้างชาติที่อิสระจากจักรวรรษนิยมเท่านั้น มันตรงกับสิ่งที่ลัทธิเผด็จการ “สตาลิน-เหมา” ของพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ เรียกว่าขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย”

และการบิดเบือนสังคมนิยมภายใต้เผด็จการแนวสตาลิน ที่ใช้ระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ทำให้การต่อสู้เพื่อสังคมนิยมมีอุปสรรคมากมาย [ดู https://bit.ly/2uOffCh ]

การล่มสลายของเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในรัสเซีย กับยุโรปตะวันออก และการเปลี่ยนนโยบายของจีน เวียดนาม และคิวบา มาจากปัญหาเดียวกันของการปิดประเทศโดยพวกชาตินิยมซ้าย [เรื่องคิวบาดู https://bit.ly/2N7HyGf ]

ผลของความล้มเหลวของแนวชาตินิยมซ้าย ทำให้รัฐบาลต่างๆ ในลาตินอเมริกา หันไปรับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งแปลว่าต้องเปิดประเทศ รับการลงทุนและอิทธิพลจากบริษัทข้ามชาติ กดค่าแรงของประชาชน ขายรัฐวิสาหกิจ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงการลงทุนเข้ามา และยกเลิกความพยายามของรัฐที่จะควบคุมเศรษฐกิจ คือยอมจำนนต่อตลาดโลกนั้นเอง แม้แต่อดีตนักวิชาการทฤษฏีพึ่งพาอย่าง เฟอร์นานโด เฮนริก คาร์โดโซ พอขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีบราซิล ก็หันไปใช้นโยบายเสรีนิยมสุดขั้ว

ปัญหาหลักของนโยบายเสรีนิยมคือ ในทุกประเทศมันนำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำมหาศาล เพราะมันเป็นนโยบายที่อิงผลประโยชน์ของกลุ่มทุน นอกจากนี้มันหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่ประเทศในลาตินอเมริกาต้องพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ เช่นน้ำมันในกรณีเวเนสเวลาและบราซิล น้ำตาลในกรณีคิวบา แร่ธาตุในกรณีบราซิล และผลิตผลเกษตรในกรณีอเจนทีนาและนิการากัว ซึ่งราคาวัตถุดิบเหล่านี้ในตลาดโลกขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่ขยายตัวแล้วเข้าสู่วิกฤตเป็นประจำ โดยที่วิกฤตทุนนิยมดังกล่าวมีต้นเหตุจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรตามที่มาร์คซ์เคยวิเคราะห์นานแล้ว [ดู  https://bit.ly/2HZwn0y ]

สำหรับเวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ในต้นทศวรรษ 2000 นำไปสู่ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงและดึงเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้ขยายตัว

ในเวเนสเวลา กับ บราซิล มีการนำกำไรจากการส่งออกมาพัฒนาสถานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่โดยที่ไม่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบทุนนิยมแต่อย่างใด [ดูบทความสัปดาห์ที่แล้ว]

lulada

ในบราซิล รัฐบาลของประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงาน เลือกใช้นโยบายเสรีนิยมต่อไปจากรัฐบาลก่อนเพื่อเอาใจนายทุน แต่ในขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานเสียงจากคนจนและกรรมาชีพ ดังนั้นมีความพยายามที่จะนำทฤษฏีเศรษฐกิจ “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) มาใช้ หลักสำคัญคือการใช้รัฐเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนภายในประเทศภายใต้กลไกตลาด แต่ในขณะเดียวกันมีการยกระดับความเป็นอยู่ของคนจนผ่านโครงการของรัฐ นโยบายนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนจำนวนมากในบราซิล โดยรัฐบาลจงใจไม่แตะหรือลดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเลย แต่ความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจนี้ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตและวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงในตลาดโลก ซึ่งแปลว่าทุกอย่างพังทะลายเมื่อทุนนิยมโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 และมีการลดลงของราคาวัตถุดิบ สภาพเช่นนี้นำไปสู่วิกฤตทางการเมือง การตัดโครงการต่างๆ ที่ช่วยคนจน และการหายไปของเสียงสนับสนุนรัฐบาล ผลคือ “รัฐประหารโดยวุฒิสภาและตุลาการ” ที่ล้มรัฐบาลพรรคแรงงานของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ ในปี 2016

หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลฝ่ายขวาที่เข้ามาใหม่มีการหันมาใช้นโยบายรัดเข็มขัดที่โจมตีสถานะของคนจนและกรรมาชีพ [ดู https://bit.ly/2NDhLmw ]

ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในบราซิล และอดีตประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงานก็ลงสมัครอีกครั้ง แต่ตุลาการหาข้ออ้างเรื่องการคอรับชั่นมากีดกันไม่ให้เขาลงสมัคร ขณะนี้(ต้นเดือนกันยายน) โพล์ดูเหมือนจะเสนอว่าผู้สมัครฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ที่สนับสนุนเผด็จการทหารโหดร้ายกำลังนำ แต่เขาพึ่งถูกทำร้ายต้องเข้าโรงพยาบาล สรุปแล้วสถานการณ์ทางการเมืองในบราซิลปั่นป่วนมาก

ในแง่หนึ่งเราควรจะเปรียบเทียบนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยกับทฤษฏี “เสรีนิยมพัฒนา” เพราะไทยรักไทยพยายามฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ผ่านการสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนพร้อมกับความพยายามที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของคนธรรมดา คือใช้ “เศรษฐกิจคู่ขนาน”แทนเสรีนิยมสุดขั้ว แต่มันมีข้อแตกต่างตรงที่ไทยไม่ได้พึ่งการส่งออกของวัตถุดิบแบบบราซิล และไทยรักไทยไม่ได้เป็นพรรคฝ่ายซ้าย [ดู https://bit.ly/2PYRDnr ]

ในอาเจนทีนา เศรษฐกิจออกจากวิกฤตที่เกิดในปี 1998 และเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วระหว่าง 2001 กับ 2008 แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดจากการส่งออกผลผลิตเกษตรที่ราคาสูงในตลาดโลก อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 อาเจนทีนาก็เริ่มมีปัญหาอีก และในที่สุดรัฐบาลฝ่ายขวาของประธานาธิบดีแมครี ต้องไปกราบเท้าองค์กร ไอเอ็มเอฟ เมื่อไม่นานมานี้เอง

A woman holds a sign that reads "No to the IMF" during a protest outside the Congress in Buenos Aires
ประชาชนต้านไอเอ็มเอฟในอเจนทีนา

ในนิการากัว อดีตนักปฏิวัติพรรคซานดินิสตา ประธานาธิบดี แดเนียล ออร์เตกา กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองที่มาจากการต่อต้านอย่างแรงจากประชาชน สาเหตุหลักของการต่อต้านครั้งนี้ ซึ่งนำไปสู่การที่ประชาชนถูกยิงตายเกือบ 300 คน คือนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของรัฐบาลท่ามกลางปัญหาราคาผลผลิตส่งออก ออร์เตกาเคยนำการปฏิวัติล้มเผด็จการโซโมซาในปี 1979 แต่การปลุกสงครามต่อต้านรัฐบาลใหม่ในยุคนั้นโดยสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจพังจนพรรคซานดินิสตาต้องแพ้การเลือกตั้งในปี 1990 ต่อมาในปี 2006 ออร์เตกาชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ใน16ปีที่ผ่านไปก่อนหน้านั้นเขาเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองโดยสิ้นเชิง คือสร้างความสัมพันธ์กับทุนภายในประเทศกับนักการเมืองคอร์รับชั่น และทำตัวเป็นเผด็จการหลังชนะการเลือกตั้ง อดีตนักปฏิวัติซานดินิสตาหลายคนจึงรับไม่ได้และตัดสินใจแยกทางกัน

image
ฝ่ายค้านประท้วงที่นิการากัว

สรุปแล้วสิ่งที่เราควรจะเข้าใจคือ วิกฤตการเมืองในลาตินอเมริกาไม่ใช่วิกฤตที่เกิดจากนโยบายสังคมนิยมแต่อย่างใด ตราบใดที่ไม่มีการต่อต้านและล้มทุนนิยมรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นซ้ายไม่สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตทุนนิยมที่เกิดเป็นประจำได้ และรัฐบาลฝ่ายขวาก็จะพยายามแก้วิกฤตเศรษฐกิจบนสันหลังประชาชนผู้ทำงานเสมอ

พวกฝ่ายขวาเสรีนิยมคลั่งตลาด ไม่มีวันอธิบายปัญหา เวเนสเวลา ได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ทุกวันนี้ประเทศเวเนสเวลาประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ประชาชนจำนวนมากเลี้ยงชีพไม่ได้และเดินทางออกนกอประเทศ ปีนี้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 1 ล้าน% และราคาสินค้าพื้นฐานสำหรับครอบครัวธรรมดาสูงกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 17 เท่า ซึ่งทำให้มีการนัดหยุดงานประท้วงโดยลูกจ้างในโรงพยาบาล องค์กรไฟฟ้า มหาวิทยาลัย และองค์กรโทรศัพท์

5000
พนักงานโรงพยาบาลประท้วง

แต่อย่าไปหวังว่าสื่อกระแสหลักหรือนักวิจารณ์ฝ่ายขวาแบบเสรีนิยมคลั่งกลไกตลาดจะให้คำอธิบายได้ เพราะพวกนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากข้อมูลประวัติศาสตร์หรือการทำความเข้าใจอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะวิจารณ์บนพื้นฐานอคติที่ไร้สาระมากกว่า

30729801_10156261728071649_5907026744489017344_n

ตัวอย่างที่ดีจากไทยคือ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์  [ดู  https://bit.ly/2LmKVUW ]

พิภพ ได้ข้อมูลส่วนใหญ่จากสื่อฝ่ายขวา แล้วเติมอคติตนเองเข้าไปด้วย เช่นการพูดลอยๆ ว่า เวเนสเวลาเป็น “สังคมนิยม” แล้วกระแนะกระแหนว่าในสวรรค์ของกรรมาชีพประชาชนจะอดอยาก มีการพูดดูถูกว่าอดีตคนขับรถเมล์ไม่สามารถเป็นผู้นำประเทศได้ และนอกจากนี้มีการโจมตีการบริหารบริษัทน้ำมันโดยรัฐ โดยไม่มีการพิจารณาข้อมูลจริง

ในความจริงรัฐบาลที่นำบริษัทน้ำมันมาเป็นของรัฐ คือรัฐบาลฝ่ายขวาของ คาร์ลอส เพเรส ในปี 1976 ก่อนที่ ฮูโก ชาเวส จะขึ้นมาเป็นผู้นำ และสิ่งที่ ชาเวส ทำกับบริษัทน้ำมันของรัฐในภายหลัง คือปลดผู้บริหารและผู้นำสหภาพแรงงานที่ร่วมมือกันขโมยรายได้ของบริษัทเข้ากระเป๋าตนเอง ผลคือรายได้ของบริษัทน้ำมันสามารถถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจนได้

ก่อนที่จะอธิบายเพิ่มเกี่ยวกับเวเนสเวลา ขอรายงานว่าใน “สวรรค์ของทุนนิยม” เช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เงินเดือนเฉลี่ยของคนทำงานธรรมดาลดลง 15% ระหว่าง 1973-1995 และลดลงอีก 16% ระหว่าง 1990-2013 และในปีนี้ประชาชนสหรัฐ 40 ล้านคนมีรายได้ในระดับยากจน และในกลุ่มนี้ 18.5 ล้านคนถือว่า “ยากจนสุดขั้ว” นอกจากนี้ประชาชน 44 ล้านคนไม่มีหลักประกันสุขภาพเลย ซึ่งถือว่าแย่กว่าฐานะของประชาชนไทย และในโลกทุนนิยมเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาอยู่ในสภาพคาราคาซัง ไม่มีการฟื้นตัวอย่างจริงจังตั้งแต่วิกฤตทุนนิยมปี 2008

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สภาพย่ำแย่ของฐานะประชาชนในสหรัฐหรือยุโรป ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะมาใช้แก้ตัวให้กับรัฐบาลเวเนสเวลา ที่ปกครองประเทศที่ประสบวิกฤตอย่างหนัก

สาเหตุหลักของวิกฤตปัจจุบันในประเทศเวเนสเวลามีทั้งหมด 3 สาเหตุคือ

1) การลดลงของราคาน้ำมัน เพราะ 95% ของรายได้จากการส่งออกของเวเนสเวลา มาจากการขายน้ำมัน ระหว่างปี 2008 กับ 2017 ราคาน้ำมันลดจาก $140 ต่อถัง เหลือแค่ $38 ต่อถัง คือลดลง 73% และถึงแม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยถึง $70ต่อถัง แต่นั้นก็แค่ 50% ของราคาเดิมในช่วง 2008

2) การคอร์รับชั่นในแวดวงรัฐบาลและในพรรคสังคมนิยม PSUV ซึ่งกลายเป็นโรคเรื้อรัง เพราะพรรค PSUV เป็นพรรคของข้าราชการในรูปแบบเดียวกับพรรคสายสตาลินในคิวบาหรือในอดีตโซเวียด มันไม่ใช่พรรคสังคมนิยมที่กรรมาชีพหรือพลเมืองธรรมดาควบคุมได้

3) การกักสินค้าและการแสวงหากำไรโดยนายทุนคนรวย ที่ร่วมมือกับข้าราชการพรรค PSUV และนายทหารชั้นสูงที่กลายเป็นเศรษฐี ปัญหาสำคัญอันหนึ่งของเวเนสเวลา คือบทบาทที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของกองทัพ ซึ่งเข้ามามีส่วนในการควบคุมสังคมและเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย

0f59d-6290784_std
ฮูโก ชาเวส

สำหรับเรื่อง “สังคมนิยม” นั้น ทั้งๆ ที่ ฮูโก ชาเวส อดีตผู้นำที่ชนะการเลือกตั้งมาหลายรอบ ได้ประกาศว่าจะ “ปฏิวัติสังคมนิยม” แต่ในรูปธรรมการปฏิวัติดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น เพราะกรรมาชีพไม่ได้ยึดอำนาจรัฐ รัฐทุนนิยมเดิมยังดำรงอยู่ ไม่มีการคุมปัจจัยการผลิตโดยกรรมาชีพ และมีการร่วมมือกับบริษัททุนข้ามชาติตลอดเวลา

ก่อนที่ ชาเวส จะป่วยตาย เขาเตือนว่าถ้าจะมีสังคมนิยมต้องมีการเปลี่ยนลักษณะของรัฐแบบถอนรากถอนโคน แต่มันไม่เกิดขึ้น

chavezmural_AndreasLehner_Flickr

สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของ ชาเวส คือโครงการต่างๆ ที่ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณสุข และในขณะเดียวกันมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขึ้นมาโดยคนระดับล่าง เพื่อบริหารและปกป้องสิ่งเหล่านี้ และขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ได้ปกป้องรัฐบาล ชาเวส จากการพยายามทำรัฐประหารโดยฝ่ายค้านซึ่งเป็นพวกขวาจัดที่เกลียดชังคนจน ฝ่ายค้านนี้ได้รับการสนับสนุนจาก “สลิ่ม” คนชั้นกลาง ที่มองว่าคนผิวคล้ำๆ ที่เป็นคนธรรมดาหรือคนจน ไม่ควรมีสิทธิทางการเมือง [ดู https://bit.ly/1UgAWyo ]

VENEZUELA-OPPOSITION-DEMO
สลิ่มชนชั้นกลางเวนเนสเวลา

โครงการที่ช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ในยุค ชาเวส อาศัยเงินจากการขายน้ำมัน ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมเมื่อราคาน้ำมันตกต่ำ มันจึงเกิดวิกฤตสำหรับประชาชน แต่วิกฤตนี้ร้ายแรงกว่าที่จำเป็น เพราะรัฐบาลปัจจุบันของ นิโคลัส มาดูโร เลือกที่จะใช้นโยบายรัดเข็มขัดตามสูตรทุนนิยมกลไกตลาด ในขณะที่ยังใช้เงินเพื่อทดแทนหนี้ต่างประเทศ และไม่ยอมเก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุน การลดค่าเงินตราและการตัดโครงการช่วยคนจนของ มาดูโร ทำให้คนธรรมดาจนลงอย่างน่าใจหาย และบวกกับการนำเข้าสินค้าที่ลดลงก็ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ

Maduro_PresidenciaRD_Flickr
นิโคลัส มาดูโร

 

การที่รัฐบาลของชาเวสอาศัยกำไรจากการขายน้ำมันในตลาดทุนนิยม เป็นการทำให้ประเทศพึ่งการส่งออกวัตถุดิบชนิดเดียวเท่านั้น มันไม่เป็นการแปลงเศรษฐกิจเป็นระบบสังคมนิยม เพราะไม่ได้มีการขยายการผลิตสิ่งต่างๆ ที่ประชาชนต้องการผ่านการถือปัจจัยการผลิตร่วมกันของพลเมือง และไม่มีการยึดปัจจัยการผลิตจากนายทุนเอกชนหรือบริษัทข้ามชาติ และมันทำให้มีการพึ่งพาตลาดโลกที่ไม่มีความแน่นอน และไม่เป็นการพัฒนาการผลิตที่หลากหลายภายในประเทศอีกด้วย

ฝ่ายค้านและสื่อกระแสหลักต่างประเทศไม่ได้เสนอทางออกที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพราะพวกนี้ไม่เคยสนใจประชาธิปไตยและความเสมอภาค มีแต่การเสนอให้ล้มรัฐบาลและนำนโนบายรัดเข็มขัดสุดขั้วเข้ามาใช้ เช่นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย การขายรัฐวิสาหกิจ และการตัดสวัสดิการและค่าจ้าง

ทางออกที่จะเริ่มแก้ปัญหาคือการส่งเสริมการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อเพิ่มค่าจ้าง สกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายค้านยึดอำนาจ ลดบทบาททหาร และจัดการกับข้าราชการโกงกิน ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นของประชาชนชั้นล่าง เพราะนักสังคมนิยมในเวนเนสเวลาได้นิยามรัฐบาลปัจจุบันของ มาดูโร ว่าเป็น “เผด็จการที่กดขี่ประชาชน” ส่วนการแก้ปัญหาเงินเฟ้อต้องอาศัยการหยุดจ่ายหนี้ต่างประเทศ และการนำกำไรจากการขายน้ำมันมาใช้เพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นให้พอเพียงสำหรับประชาชนทุกคนพร้อมๆ กับการควบคุมราคาต่างๆ และการพัฒนาการผลิตภายในประเทศให้หลากหลายมากขึ้น

แต่หลายคนมองว่ามันอาจสายเกินไปแล้ว เพราะทหารอาจทำรัฐประหารในไม่ช้า

 

อ่านเพิ่มภาษาอังกฤษ:

บทความของนักเศรษฐศาสตร์มาร์คซิสต์ และ Venezuela struggle and the left https://bit.ly/2Pyitmb  video https://bit.ly/2o4j6Yi

ISO      https://bit.ly/2wjnZAj

ทำไมพรรคสังคมนิยมแพ้การเลือกตั้งในเวเนสเวลา?

ใจ อึ๊งภากรณ์

พรรคสังคมนิยมที่ ฮูโก ชาเวส เคยตั้งขึ้น พึ่งแพ้การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเวเนสเวลา โดยที่ฝ่ายขวาชนะขาดลอย มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือพรรคฝ่ายขวาที่ตอนนี้มีเสียงส่วนใหญ่เกินสองในสามของที่นั่งทั้งหมด และสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เป็นพวกที่เคยพยายามทำรัฐประหารเพื่อล้ม ชาเวส ในปี 2002 ทั้งๆ ที่ ชาเวส ได้รับการเลือกตั้งหลายครั้งผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และก่อนหน้านั้นพวกฝ่ายขวาเหล่านี้เคยฆ่าประชาชนตายอย่างเลือดเย็น 2000 คนเพื่อปราบปรามการลุกฮือ “คาราคาโซ” ในปี 1989 การลุกฮือครั้งนั้นเป็นการกบฏของคนจนต่ออำมาตย์และชนชั้นกลางที่ผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจ และการเมือง เวเนสเวลา เป็นประเทศในลาตินอเมริกาที่ร่ำรวยเพราะมีน้ำมัน แต่ในอดีตผลประโยชน์ตกอยู่กับอำมาตย์อภิสิทธิ์ชนทั้งสิ้น

ฮูโก ชาเวส เป็นสมาชิกกลุ่มนายทหารหนุ่มที่ไม่พอใจกับระบบการปกครองของอำมาตย์ พวกเขาต้องการพัฒนาสังคมและการนำรายได้จากน้ำมันมาลดความเหลื่อมล้ำ เขามองด้วยว่าจักรวรรดินิยมสหรัฐมีอิทธิพลในประเทศเขามากเกินไป ในปี 1992 ชาเวส จึงพยายามทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล แต่ไม่สำเร็จ เลยติดคุกสองปี อย่างไรก็ตามประชาชนที่เจ็บปวดจากการปราบปรามของรัฐบาลในปี 1989 หันมาสนใจ ชาเวส

ต่อมาในปี 1998 ชาเวสลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และชนะด้วย 58% ของคะแนนทั้งหมด หนึ่งปีหลังจากนั้น เขาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีกลไกตรวจสอบนักการเมือง มีการเพิ่มงบประมาณรัฐให้โรงเรียนและลดบทบาทสถาบันศาสนาคริสต์ที่เคยสนับสนุนอำมาตย์ สตรีมีสิทธิเลือกทำแท้ง มีมาตราเพื่อปฏิรูปสื่อและปฏิรูปอุตสาหกรรมน้ำมัน ปรากฏว่า 71% ของประชาชนสนับสนุนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้ หลังจากนั้น ชาเวส ชนะการเลือกตั้งอีกสามรอบในปี 2000 2006 และ 2012

ในปี 2013 ชาเวส ป่วยเป็นมะเร็งและเสียชีวิต นิโคลัส มาดูโร จากพรรคสังคมนิยมก็ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน โดยมีการเลือกตั้งพิเศษในต้นปีเดียวกัน

ถ้าเราจะเข้าใจสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มหันหลังให้พรรคสังคมนิยม เราจะต้องย้อนกลับไปดูปัญหาของรัฐบาลตั้งแต่สมัย ชาเวส ปัญหาหลักคือ ถึงแม้ว่า ชาเวส จะได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นคนจน และมวลชนพร้อมจะออกมาปกป้องเขาเมื่อมีรัฐประหาร แต่โครงสร้างรัฐอำมาตย์เก่ายังอยู่ และพยายามทุกวิธีที่จะคัดค้านนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้นายทุนฝ่ายค้านก็คุมสื่อเอกชนส่วนใหญ่ และมีการประโคมข่าวเท็จด่ารัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ในระดับหนึ่ง ชาเวส พยายามสร้างรัฐใหม่คู่ขนานกับรัฐเก่าโดยอ้างว่ากำลังทำ “การปฏิวัติสังคมนิยม” เช่น มีการสร้างสภาชุมชนที่ประกอบไปด้วยคนรากหญ้า มีธนาคารชุมชนเพื่อเน้นการลงทุนสำหรับคนจน มีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่สนับสนุนอำมาตย์ และในบางสถานที่มีการทดลองให้กรรมกรคุมการผลิตเอง ทั้งหมดนี้เพื่อจะลดการพึ่งพาอาศัยข้าราชการและกลุ่มอำนาจเก่า แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้รื้อถอนรัฐเก่าอย่างเป็นระบบเลย และมีการเน้น “การนำเดี่ยวของประธานาธิบดี” แทนการนำโดยมวลชน ชาวเส คงไม่ได้อ่านและทำความเข้าใจกับหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน

ยิ่งกว่านั้น ชาเวส มองว่าเผด็จการ “คอมมิวนิสต์แบบสตาลิน” ของ คิวบา เป็นแม่แบบในการสร้างสังคมใหม่ ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่า ชาเวส จะเน้นการนำพรรคพวกของเขาเข้าไปเป็นข้าราชการในโครงสร้างรัฐเก่า แทนที่จะเน้นพลังมวลชนในการรื้อถอนทำลายรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ และข้าราชการหลายคนของชาเวส กลายเป็นคนโกงกินที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้

หลังจากที่ ชาเวส จากโลกนี้ไป รัฐบาลของ นิโคลัส มาดูโร ยิ่งเปรอะเปื้อนในการคอร์รับชั่นมากขึ้น และมีการร่วมกินกับนายทุนที่ค้านรัฐบาล ปัญหาที่ซ้ำเติมมาคือราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ ทั้งปัญหาราคาน้ำมันและการคอร์รับชั่นมีผลทำให้โครงการสาธารณะต่างๆ ที่เคยมีไว้พัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเสื่อมลงอย่างน่าใจหาย พร้อมกันนั้นอัตราเงินเฟ้อก็พุ่งขึ้น นอกจากนี้ในสังคมที่มีปัญหาแบบนี้ระดับอาชญากรรมก็เพิ่มขึ้น แต่ มาดูโร ก็ไม่ทำอะไร และไม่ยอมเก็บภาษีจากคนรวยเพิ่มขึ้นหรือยึดพลังการผลิตเอกชนมาเป็นของประชาชน มีแต่การแก้ตัวว่าทุกปัญหามาจากจักรวรรดินิยมอเมริกา

สลิ่มชนชั้นกลางเวนเนสเวลา
สลิ่มชนชั้นกลางเวนเนสเวลา

พรรคฝ่ายขวาที่เข้ามาในสภาหลังการเลือกตั้งครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคอำมาตย์ก่อนสมัย ชาเวส พวกนี้ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด สนใจแต่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าชนชั้นตนเองเท่านั้น

ทั้งหมดนี้คือโศกนาฏกรรมของการพยายามสร้าง “สังคมนิยมครึ่งใบ” ของ ชาเวส และมันเป็นโศกนาฏกรรมที่องค์กรสังคมนิยมสากล IST เตือนว่าจะเกิดขึ้นนานแล้ว เพราะถ้าไม่สร้างสังคมนิยมจากล่างสู่บนด้วยพลังมวลชนกรรมาชีพ เพื่อล้มทุนนิยมอย่างถอนรากถอนโคน ในที่สุดก็จะล้มเหลว มันสะท้อนว่านักมาร์คซิสต์จะต้องวิเคราะห์และติชมการเมืองฝ่ายซ้ายในประเทศต่างๆ เสมอ ไม่ใช่ทำตัวเป็นแค่กองเชียร์สำหรับรัฐบาลฝ่ายซ้ายทุกรัฐบาลที่ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในเวนเนสเวลา หรือกรีซ