Tag Archives: เวเนสเวลา

เราควรคัดค้านรัฐประหารของสหรัฐในเวเนสเวลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

อนาคตของกระบวนการปฏิรูป “โบลิวาร์”[1] ของอดีตประธานาธิบดีชาเวสในประเทศเวเนสเวลา อยู่ในสภาพวิกฤตอันเนื่องมาจากการที่สหรัฐอเมริการ่วมกับรัฐบาลตะวันตกกำลังสนับสนุนให้มีรัฐประหาร

วิกฤตนี้จะมีจุดจบได้ในสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือจบในลักษณะที่เป็นประโยชน์กับกรรมาชีพและคนจน รูปแบบที่สองคือจบลงในลักษณะที่เอื้อประโยชน์กับจักรวรรดินิยม กลุ่มทุนใหญ่ กับคนรวย ผ่านการใช้กำลังและแนวกลไกตลาดสุดขั้ว

บทเรียนสำคัญสำหรับเราคือ “พรรคสังคมนิยมปฏิรูป ที่ไม่สามารถปฏิรูปอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะไม่ยอมก้าวสู่กระบวนการปฏิวัติล้มอำนาจทุน ย่อมเปิดทางให้ฝ่ายขวากลับเข้ามาในที่สุด” ผมจะขออธิบายรายละเอียด…

เจ้าหน้าที่ทางทูตคนสำคัญของสหรัฐ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์ให้ดูแลเรื่องรัฐประหาร คือ เอลิออด เอแบรมส์ คนนี้มีประวัติในการสนับสนุนการฆ่าประชาชนเป็นพันโดยกองกำลังฆาตกรในประเทศเอลซาลวาดอร์ มีประวัติในการหนุนพวกฝ่ายขวาในนิคารากัว โดยโกหกรัฐสภาสหรัฐในเรื่องนี้สองครั้ง และมีประวัติในการสนับสนุนรัฐประหารที่ล้มเหลวในเวเนสเวลาในปี 2002

skynews-juan-guaido-nicolas-maduro_4560239
วาน กูไอโด กับ นิโคลัส มาดูโร

ตอนนี้สหรัฐกับตะวันตกกำลังสนับสนุนความพยายามของนักการเมืองฝ่ายขวาชื่อ วาน กูไอโด ที่ประกาศว่าตนเป็น “ประธานาธิบดีที่แท้จริง” ของเวเนสเวลา แทนประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แต่พรรคการเมืองของ วาน กูไอโด มีแค่14ที่นั่งในรัฐสภา และประชาชน80%ของประเทศไม่เคยรู้จักเขามาก่อน

พรรคฝ่ายขวาต่างๆ ในเวเนสเวลา เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนใหญ่ คนรวยและคนชั้นกลาง ซึ่งในอดีต ก่อนที่ ฮูโก ชาเวส จะชนะการเลือกตั้งในปี 1998 มีประวัติในการปกครองประเทศด้วยความป่าเถื่อนเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเองและเพื่อควบคุมคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในปี 1989 เมื่อคนจนลุกฮือเนื่องจากการใช้นโยบายรัดเข็มขัดสุดขั้ว รัฐบาลฝ่ายขวาลงมือฆ่าประชาชนมือเปล่าสองพันคนกลางเมืองคาราคัส เหตุการณ์นี้เรียกว่าการลุกฮือ Caracazo นอกจากนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่เป็นแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน เคยพยายามก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของ ฮูโก ชาเวส ในปี 2002 แต่ไม่สำเร็จ

โดยรวม เป้าหมายของฝ่ายขวาในเวเนสเวลา คือการหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคที่คนจนต้องเจียมตัวกับความยากจนท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและการใช้อำนาจของคนรวย ดังนั้นนักการเมืองพวกนี้ไม่ใช่นักประชาธิปไตยที่จะมาปลดแอกประชาชนแต่อย่างใด และเขายังพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยมอีกด้วย

แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่ารัฐบาลของประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร มีส่วนในการสร้างวิกฤตร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมีสามสาเหตุคือ

ปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน ซึ่งเคยมีราคาสูงในตลาดโลก แต่ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในรอบสองสามปีที่ผ่านมา เงินรายได้จากการขายน้ำมันได้ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านหน่วยงาน Las Misiones แต่พอราคาน้ำมันลดลงงบประมาณรัฐก็หายไป และรัฐบาลไม่ได้พยายามส่งเสริมการผลิตสิ่งอื่นๆ แทนน้ำมัน

screen_shot_2015-05-22_at_09.33.27
Las Misiones

ตอนนี้เกือบ 90% ของประชาชนถือว่ายากจน 3 ล้านคนย้ายไปอยู่ในประเทศอื่น และอัตราเงินเฟ้อตอนนี้สูงถึง 1.3ล้าน%!!! ซึ่งแปลว่าทุก 19 วันราคาสินค้าจะเพิ่มเท่าตัว ประชาชนคนจนขาดแคลนของใช้จำเป็น ส่วนหนึ่งมาจากการกักสินค้าโดยนายทุนเอกชน และข้าราชการในพรรครัฐบาลด้วย และการกีดกันการค้าขายโดยรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่ปี 2017 ก็ไม่ช่วย

สาเหตุที่สองของวิกฤตคือการคอร์รับชั่นโกงกินของข้าราชการชั้นสูง นักการเมืองของพรรคสังคมนิยม PSUV และทหารระดับสูง ซึ่งร่วมกันกินกับนายทุนใหญ่ที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้คนธรรมดาเบื่อหน่ายและหมดความเชื่อมั่นในพรรครัฐบาล แต่ไม่ใช่ว่าจะชื่นชมพรรคฝ่ายค้าน

stream_img

สาเหตุที่สามของวิกฤตปัจจุบัน คือความพยายามของนักการเมืองฝ่ายขวาที่จะฉวยโอกาสกลับมาปกครองประเทศผ่านการนำการประท้วงบนท้องถนนในปี 2014 และในปัจจุบัน บ่อยครั้งมีการใช้ความรุนแรงในการประท้วง แต่รัฐบาลก็โต้ตอบด้วยความรุนแรงเช่นกัน

ขณะนี้เวเนสเวลามีสองสภา ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ “สภาแห่งชาติ” ที่พรรคฝ่ายขวามีเสียงข้างมากมาตั้งแต่ปี 2015 และ “สภาผู้แทนประชาชน” ซึ่งพรรค PSUV ของ มาดูโร มีเสียงข้างมาก สองสภานี้กำลังแย่งอำนาจกัน

ปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ในเวเนสเวลาคือ กระบวนการปฏิรูป “บอลลิวา” ของอดีตประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวส ที่ ชาเวส พยายามอ้างว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยม เป็นแค่การปฏิรูปเพื่อทำให้ชีวิตคนจนดีขึ้น โดยไม่แตะอำนาจของกลุ่มทุนใหญ่หรือเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากระบบทุนนิยมแต่อย่างใด การปฏิรูป “จากบนลงล่าง” แบบนี้ล้มเหลวเพราะไม่ได้ทำลายระบบเดิม และเพราะพึ่งพาการส่งออกน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งไม่ต่างจากปัญหาในประเทศ บราซิล เลย [ดู https://bit.ly/2sU4mh1 ]

chavez_legacy.jpg_1718483346

ถ้าประชาชนคนจนและกรรมาชีพในเวเนสเวลา จะกู้สถานการณ์กลับมา เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ จะต้องมีการเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชนรากหญ้าในรูปบบที่เคยเกิดในปีก่อนๆ ที่ผ่านมา เช่นการลุกฮือของประชาชนจำนวนมากที่ล้มรัฐประหารของฝ่ายขวาในปี 2002 การเคลื่อนไหวของกรรมาชีพเป็นล้านเพื่อต่อต้านความพยายามของนายทุนที่จะทำลายเศรษฐกิจน้ำมันระหว่างปี2002และ2003 การปลุกระดมการมีส่วนร่วมและการเคลื่อนไหวของคนธรรมดาในการสร้างและบริหาร “องค์กรแก้ไขปัญหาความยากจน” Las Misiones ซึ่งเข้ามาบริการคนจนในเรื่อง อาหารราคาถูก ระบบสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การปฏิรูปที่ดิน การศึกษา และปัญหาอีกมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง หลัง2003 สมัยที่ ชาเวส ยังมีชีวิตอยู่

TOPSHOTS-VENEZUELA-ELECTION-CAMPAGIN-MADURO

แต่ถ้าการเคลื่อนไหวของคนชั้นล่างจะสำเร็จ จะต้องปฏิเสธวัฒนธรรมการควบคุมพลังมวลชน ที่ชาเวสเริ่มใช้ผ่านพรรคสังคมนิยม PSUV และจะต้องไม่หวังพึ่งคนอย่าง นิโคลัส มาดูโร นายทหารชั้นสูง หรือผู้นำโกงกินของ PSUV

ปัญหาของพรรคสังคมนิยมเวเนสเวลา พรรคแรงงานของบราซิล และพรรคไซรีซาในกรีซ คือพรรคปฏิรูปที่ไม่สามารถปฏิรูปอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะไม่ยอมก้าวสู่กระบวนการปฏิวัติล้มอำนาจทุน ย่อมเปิดทางให้ฝ่ายขวากลับเข้ามาในที่สุด

 

[1] ชาเวสตั้งชื่อกระบวนการปฏิรูปสังคมของเขาตาม ซิมอน โบลิวาร์ ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการปลดแอกลาตินอเมริกาจากการปกครองของสเปน

อ่านเพิ่ม เรื่องลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp  เรื่องกรีซ https://bit.ly/293hWr1

 

 

วิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในหลายประเทศของลาตินอเมริกา เป็นปัญหาที่มาจากการพึ่งการส่งออกวัตถุดิบสู่ตลาดโลก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมอธิบายสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนสเวลา ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากการพึ่งการส่งออกของน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำลงอันเนื่องมาจากวิกฤคเศรษฐกิจโลกปี 2008 [ดู https://bit.ly/2Pvrjk0 ] แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่ไหนเวเนสเวลา มันสร้างปัญหาให้กับอาเจนทีนา บราซิล และนิการากัวด้วย ซึ่งจะอธิบายต่อไป

ถ้าเราย้อนกลับไปสี่สิบกว่าปี นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายชาตินิยมซ้ายในประเทศกำลังพัฒนา มักจะชี้ให้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศในแถบ “ใต้” จะมีจุดอ่อนตรงที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบสู่ตลาดโลกที่ควบคุมโดยประเทศพัฒนาในแถบ “เหนือ” ซึ่งผลก็คือความด้อยพัฒนาของการผลิตอุตสาหกรรมภายในประเทศ และการที่รัฐบาลในประเทศทางใต้ขาดอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจ

ทางออกของที่พวกชาตินิยมซ้ายเสนอ คือการปิดประเทศระดับหนึ่ง เพื่อควบคุมการลงทุนและการแข่งขัน และเพื่อให้รัฐบาลส่งเสริมการผลิตภายในเพื่อทดแทนการนำเข้าของผลผลิตอุตสาหกรรมจากประเทศพัฒนา เป้าหมายคือการพัฒนาเศรษฐกิจให้หลากหลายมากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ และลดการถูกควบคุมโดยบริษัทข้ามชาติ ผู้นำและนักเศรษฐศาสตร์ในคิวบา เวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา มีความพยายามที่จำนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ และมีนักวิชาการหลายคนที่เสนอการวิเคราะห์ปัญหาและทางออกภายใต้สิ่งที่เรียกกันว่า “ทฤษฏีพึ่งพา”

ในไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งก็มีนักเศรษฐศาสตร์ชาตินิยมซ้ายที่เสนอนโยบายคล้ายๆ กัน [เช่น กมล กมลตระกูล (๒๕๔๐) “IMF นักบุญหรือคนบาป” ส.พ.มิ่งมิตร, พิทยา ว่องกุล (๒๕๔๐) บรรณาธิการ “คำประกาศอิสรภาพจาก IMF” ส.ก.ว. และมูลนิธิภูมิปัญญา,เศรษฐสยาม (๒๕๔๑) “สหรัฐอเมริกา ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า” วิถีทรรศน์ชุดภูมิปัญญา 8]

ปัญหาคือการปิดประเทศเพื่อพัฒนาภายใน ภายใต้เงื่อนไขของทุนนิยมโลกในสมัยนี้ นำไปสู่การขาดการลงทุนและเทคโนโลจีสมัยใหม่ ถ้าจะทำกันจริงๆ ต้องมีการยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของกรรมาชีพ ปฏิวัติล้มทุนนิยม สร้างรัฐสังคมนิยม เริ่มการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และสร้างความสมานฉันท์กับประเทศอื่นๆที่ทำสิ่งเดียวกัน แต่แนวชาตินิยมซ้ายไม่ต้องการจะล้มระบบทุนนิยม เพราะทั้งๆที่อ้างความเป็นซ้าย แท้จริงแนวคิดหลักเป็นแนวชาตินิยมที่ตรงกับผลประโยชน์นายทุนชาติเท่านั้น สิ่งที่เขาต้องการคือการสร้างชาติที่อิสระจากจักรวรรษนิยมเท่านั้น มันตรงกับสิ่งที่ลัทธิเผด็จการ “สตาลิน-เหมา” ของพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ เรียกว่าขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย”

และการบิดเบือนสังคมนิยมภายใต้เผด็จการแนวสตาลิน ที่ใช้ระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ทำให้การต่อสู้เพื่อสังคมนิยมมีอุปสรรคมากมาย [ดู https://bit.ly/2uOffCh ]

การล่มสลายของเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในรัสเซีย กับยุโรปตะวันออก และการเปลี่ยนนโยบายของจีน เวียดนาม และคิวบา มาจากปัญหาเดียวกันของการปิดประเทศโดยพวกชาตินิยมซ้าย [เรื่องคิวบาดู https://bit.ly/2N7HyGf ]

ผลของความล้มเหลวของแนวชาตินิยมซ้าย ทำให้รัฐบาลต่างๆ ในลาตินอเมริกา หันไปรับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งแปลว่าต้องเปิดประเทศ รับการลงทุนและอิทธิพลจากบริษัทข้ามชาติ กดค่าแรงของประชาชน ขายรัฐวิสาหกิจ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงการลงทุนเข้ามา และยกเลิกความพยายามของรัฐที่จะควบคุมเศรษฐกิจ คือยอมจำนนต่อตลาดโลกนั้นเอง แม้แต่อดีตนักวิชาการทฤษฏีพึ่งพาอย่าง เฟอร์นานโด เฮนริก คาร์โดโซ พอขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีบราซิล ก็หันไปใช้นโยบายเสรีนิยมสุดขั้ว

ปัญหาหลักของนโยบายเสรีนิยมคือ ในทุกประเทศมันนำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำมหาศาล เพราะมันเป็นนโยบายที่อิงผลประโยชน์ของกลุ่มทุน นอกจากนี้มันหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่ประเทศในลาตินอเมริกาต้องพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ เช่นน้ำมันในกรณีเวเนสเวลาและบราซิล น้ำตาลในกรณีคิวบา แร่ธาตุในกรณีบราซิล และผลิตผลเกษตรในกรณีอเจนทีนาและนิการากัว ซึ่งราคาวัตถุดิบเหล่านี้ในตลาดโลกขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่ขยายตัวแล้วเข้าสู่วิกฤตเป็นประจำ โดยที่วิกฤตทุนนิยมดังกล่าวมีต้นเหตุจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรตามที่มาร์คซ์เคยวิเคราะห์นานแล้ว [ดู  https://bit.ly/2HZwn0y ]

สำหรับเวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ในต้นทศวรรษ 2000 นำไปสู่ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงและดึงเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้ขยายตัว

ในเวเนสเวลา กับ บราซิล มีการนำกำไรจากการส่งออกมาพัฒนาสถานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่โดยที่ไม่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบทุนนิยมแต่อย่างใด [ดูบทความสัปดาห์ที่แล้ว]

lulada

ในบราซิล รัฐบาลของประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงาน เลือกใช้นโยบายเสรีนิยมต่อไปจากรัฐบาลก่อนเพื่อเอาใจนายทุน แต่ในขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานเสียงจากคนจนและกรรมาชีพ ดังนั้นมีความพยายามที่จะนำทฤษฏีเศรษฐกิจ “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) มาใช้ หลักสำคัญคือการใช้รัฐเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนภายในประเทศภายใต้กลไกตลาด แต่ในขณะเดียวกันมีการยกระดับความเป็นอยู่ของคนจนผ่านโครงการของรัฐ นโยบายนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนจำนวนมากในบราซิล โดยรัฐบาลจงใจไม่แตะหรือลดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเลย แต่ความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจนี้ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตและวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงในตลาดโลก ซึ่งแปลว่าทุกอย่างพังทะลายเมื่อทุนนิยมโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 และมีการลดลงของราคาวัตถุดิบ สภาพเช่นนี้นำไปสู่วิกฤตทางการเมือง การตัดโครงการต่างๆ ที่ช่วยคนจน และการหายไปของเสียงสนับสนุนรัฐบาล ผลคือ “รัฐประหารโดยวุฒิสภาและตุลาการ” ที่ล้มรัฐบาลพรรคแรงงานของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ ในปี 2016

หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลฝ่ายขวาที่เข้ามาใหม่มีการหันมาใช้นโยบายรัดเข็มขัดที่โจมตีสถานะของคนจนและกรรมาชีพ [ดู https://bit.ly/2NDhLmw ]

ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในบราซิล และอดีตประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงานก็ลงสมัครอีกครั้ง แต่ตุลาการหาข้ออ้างเรื่องการคอรับชั่นมากีดกันไม่ให้เขาลงสมัคร ขณะนี้(ต้นเดือนกันยายน) โพล์ดูเหมือนจะเสนอว่าผู้สมัครฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ที่สนับสนุนเผด็จการทหารโหดร้ายกำลังนำ แต่เขาพึ่งถูกทำร้ายต้องเข้าโรงพยาบาล สรุปแล้วสถานการณ์ทางการเมืองในบราซิลปั่นป่วนมาก

ในแง่หนึ่งเราควรจะเปรียบเทียบนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยกับทฤษฏี “เสรีนิยมพัฒนา” เพราะไทยรักไทยพยายามฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ผ่านการสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนพร้อมกับความพยายามที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของคนธรรมดา คือใช้ “เศรษฐกิจคู่ขนาน”แทนเสรีนิยมสุดขั้ว แต่มันมีข้อแตกต่างตรงที่ไทยไม่ได้พึ่งการส่งออกของวัตถุดิบแบบบราซิล และไทยรักไทยไม่ได้เป็นพรรคฝ่ายซ้าย [ดู https://bit.ly/2PYRDnr ]

ในอาเจนทีนา เศรษฐกิจออกจากวิกฤตที่เกิดในปี 1998 และเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วระหว่าง 2001 กับ 2008 แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดจากการส่งออกผลผลิตเกษตรที่ราคาสูงในตลาดโลก อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 อาเจนทีนาก็เริ่มมีปัญหาอีก และในที่สุดรัฐบาลฝ่ายขวาของประธานาธิบดีแมครี ต้องไปกราบเท้าองค์กร ไอเอ็มเอฟ เมื่อไม่นานมานี้เอง

A woman holds a sign that reads "No to the IMF" during a protest outside the Congress in Buenos Aires
ประชาชนต้านไอเอ็มเอฟในอเจนทีนา

ในนิการากัว อดีตนักปฏิวัติพรรคซานดินิสตา ประธานาธิบดี แดเนียล ออร์เตกา กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองที่มาจากการต่อต้านอย่างแรงจากประชาชน สาเหตุหลักของการต่อต้านครั้งนี้ ซึ่งนำไปสู่การที่ประชาชนถูกยิงตายเกือบ 300 คน คือนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของรัฐบาลท่ามกลางปัญหาราคาผลผลิตส่งออก ออร์เตกาเคยนำการปฏิวัติล้มเผด็จการโซโมซาในปี 1979 แต่การปลุกสงครามต่อต้านรัฐบาลใหม่ในยุคนั้นโดยสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจพังจนพรรคซานดินิสตาต้องแพ้การเลือกตั้งในปี 1990 ต่อมาในปี 2006 ออร์เตกาชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ใน16ปีที่ผ่านไปก่อนหน้านั้นเขาเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองโดยสิ้นเชิง คือสร้างความสัมพันธ์กับทุนภายในประเทศกับนักการเมืองคอร์รับชั่น และทำตัวเป็นเผด็จการหลังชนะการเลือกตั้ง อดีตนักปฏิวัติซานดินิสตาหลายคนจึงรับไม่ได้และตัดสินใจแยกทางกัน

image
ฝ่ายค้านประท้วงที่นิการากัว

สรุปแล้วสิ่งที่เราควรจะเข้าใจคือ วิกฤตการเมืองในลาตินอเมริกาไม่ใช่วิกฤตที่เกิดจากนโยบายสังคมนิยมแต่อย่างใด ตราบใดที่ไม่มีการต่อต้านและล้มทุนนิยมรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นซ้ายไม่สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตทุนนิยมที่เกิดเป็นประจำได้ และรัฐบาลฝ่ายขวาก็จะพยายามแก้วิกฤตเศรษฐกิจบนสันหลังประชาชนผู้ทำงานเสมอ