Tag Archives: เศรษฐศาสตร์การเมือง

เงินเฟ้อกับค่าจ้างเกี่ยวข้องกันหรือไม่?

ทุกวันนี้นักการเมือง นายธนาคาร และนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มักอ้างว่ากรรมาชีพไม่ควรเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มเพราะจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ ข้ออ้างนี้ล้วนแต่เป็นเท็จ และมาจากความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนบนสันหลังชนชั้นกรรมาชีพ จะขออธิบายเหตุผลเป็นข้อๆ

  1. เงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในยุคนี้ ไม่ว่าจะที่ไทย ที่ยุโรป หรือที่อื่นๆ เกิดขึ้นจากสองเหตุผลหลักๆคือ หนึ่งวิกฤตโควิด ซึ่งทำให้คนงานต้องขาดงานไปเป็นเดือนๆ มีผลในการสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก และสร้างปัญหาในระบบขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและภายในประเทศอีกด้วย (Supply Chain problems) ปัญหานี้ทำให้สินค้าหลายชนิดขาดตลาด แต่การที่สินค้าขาดตลาดไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติด้วย“มือที่มองไม่เห็น”แต่อย่างใด มือที่มองไม่เห็นไม่มีจริงและเป็นนิยายของชนชั้นปกครองเพื่อปกปิดสิ่งที่นายทุนทำ ในความจริงราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเพราะนายทุนฉวยโอกาสจากการที่สินค้าขาดตลาดเพื่อเพิ่มราคา โดยหวังจะเพิ่มกำไร ถ้าสินค้าขาดตลาด นายทุนคงไว้ราคาเดิมได้ ดังนั้นเงินเฟ้อยุคนี้มาจากพฤติกรรมของนายทุน

สอง สงครามระหว่างจักรวรรดินิยมในพื้นที่ยูเครน ซึ่งเกิดจากการรุกรานของรัสเซียเพื่อพยายามยับยั้งการขยายตัวของแนวร่วมทางทหารของตะวันตก (นาโต้) สงครามนี้นำไปสู่การทำสงครามทางเศรษฐกิจด้วย ตะวันตกพยายามทำลายเศรษฐกิจรัสเซียด้วยการคว่ำบาตรตัดรัสเซียออกจากการค้าและลงทุน ทำให้รัสเซียโต้ตอบด้วยการจำกัดการส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันไปสู่ยุโรป สิ่งนี้ทำให้ราคาเชื้อเพลิงเช่นก๊าซหรือน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในตลาดโลก ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติจากมือที่มองไม่เห็นเช่นกัน บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในภาคน้ำมันกับก๊าซ เพิ่มราคาและได้กำไรเพิ่มตามมามหาศาล การเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงซึ่งใช้ในทุกแง่ของชีวิตเราเป็นสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ยิ่งกว่านั้นสงครามระหว่างจักรวรรดินิยมในยูเครน มีผลกระทบต่อการผลิตอาหารและน้ำมันพืชซึ่งยูเครนและรัสเซียเป็นพื้นที่สำคัญในการส่งออกอาหาร ราคาอาหารจึงถูกดันให้พุ่งสูงขึ้นในตลาดโลก จนมีผลให้คนจนจำนวนมากในโลกเริ่มขาดแคลนอาหาร และเป็นแรงกระตุ้นให้มวลชนไม่พอใจในหลายประเทศ

  • จะเห็นว่าเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มแต่อย่างใด ตรงกันข้ามในช่วงสิบปีที่ผ่านมารายได้กรรมาชีพถูดกดตลอด แต่นายธนาคารและชนชั้นปกครองพูดเหมือนนกแก้วว่าเราไม่ควรเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม คือเราต้องยอมให้มูลค่าของค่าจ้างลดลงตามเงินเฟ้อ และธนาคารกลางในหลายประเทศก็ตัดสินใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการ “แก้ปัญหาเงินเฟ้อ” ซึ่งทำให้ธนาคารกลางในประเทศอื่นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม เพื่อปกป้องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่ในความจริงการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทำให้การกู้ยืมเงินแพงขึ้น ซึ่งมีผลในระยะสั้นในการผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น สาเหตุแท้ที่พวกธนาคารกลางเพิ่มอัตราดอกเบี้ยคือต้องการบีบบริษัทต่างๆ ซึ่งต้องกู้ยืมเงินเป็นธรรมดา ไม่ให้ยอมจ่ายค่าจ้างเพิ่มสำหรับลูกจ้าง และหวังว่าเศรษฐกิจจะหดจนเงินเฟ้อเริ่มลดลงเมื่อกำลังซื้อลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้จะสร้างวิกฤตชีวิตให้กรรมาชีพ และจะมีการตกงาน ถือว่าเป็นการเปิดศึกทางชนชั้นให้กรรมาชีพกลัว ไม่กล้าสู้
  • ในเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย สูงกว่า10% ในหลายประเทศ หรืออาจมากกว่านั้นอีก เราควรงอมืองอเท้าปล่อยให้มูลค่าค่าจ้างของเราลดลง โดยไม่ออกมาต่อสู้นัดหยุดงานและเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มให้ตรงกับอัตราเงินเฟ้อจริงหรือ? การเสียสละของเราจะให้ประโยชน์กับใคร? ให้ประโยชน์กับนายทุนแน่นอน เพราะกำไรของนายทุนมาจากมูลค่าการผลิตที่กรรมาชีพสร้างแต่ไม่ได้รับเป็นค่าจ้าง ซึ่งเราชาวมาร์คซิสต์เรียกว่า “มูลค่าส่วนเกิน” (แต่ต้องพิจารณาการลงทุนด้วย) ชนชั้นนายทุนพยายามกดค่าจ้างเราเพื่อพยุงกำไร และกรรมาชีพในสหภาพแรงงานทั่วโลกกำลังขยับออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสภาพชีวิตด้วยการนัดหยุดงาน อย่างที่เราเห็นในอังกฤษ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เกาหลีใต้และที่อื่น
  • เราต้องถามว่าค่าจ้างเป็นสัดส่วนเท่าไรของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการผลิตของนายทุน? เราต้องดูว่ามีการลงทุนในเครื่องจักรกับเทคโนโลจีแค่ไหน มีการลงทุนในการขนส่งแค่ไหน ฯลฯ โดยทั่วไป ค่าจ้างไม่ใช่ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของค่าใช้จ่ายในการผลิต ทั่วโลกมักจะประมาณ 10-30% ขึ้นอยู่กับภาคเศรษฐกิจ และขึ้นอยู่กับอัตราค่าจ้างในประเทศต่างๆ ที่แตกต่างกันอีกด้วย ในไทยนายทุนพยายามดึงการลงทุนเข้ามาโดยอวดว่าอัตราค่าจ้างต่ำกว่าที่อื่น และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในรอบ10-20ปีที่ผ่านมาสัดส่วนของมูลค่าที่ตกอยู่ในมือกรรมาชีพลดลงในขณะที่นายทุนขูดรีดกอบโกยกำไรและมูลค่าเพิ่มขึ้น ในประเทศตะวันตกก็เช่นกัน ขณะที่กรรมาชีพธรรมดาทำงานเพื่อพยุงสังคมในยามวิกฤตโควิด รายได้กรรมาชีพลดลงในขณะที่พวกเศรษฐีรวยขึ้นอย่างมหาศาล สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่ากรรมาชีพเป็นผู้สร้างมูลค่าและพยุงสังคมในยามวิกฤต แต่พวกนายทุนกอบโกยผลประโยชน์และกดค่าแรงกรรมาชีพ
  • การกดค่าแรงของกรรมาชีพ จะนำไปสู่การเพิ่มกำไรให้กลุ่มทุน แต่ในขณะเดียวกันจะนำไปสู่การลดกำลังซื้อของกรรมาชีพ สินค้าก็จะขายไม่ออกในที่สุด ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องสภาพชีวิตของเรา?

ในประการแรกเราต้องเข้าใจที่มาของเงินเฟ้อ และต้องเข้าใจการทำงานของระบบทุนนิยมที่มีการขูดรีดกำไรจากการทำงานของกรรมาชีพ (ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ “ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน”) เราจะได้มั่นใจในการปลุกระดมให้กรรมาชีพอื่นๆ สู้  แต่บางคนอาจพร้อมที่จะสู้อยู่แล้วเพราะโกรธสภาพชีวิต นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่เราไม่ควรหลงคิดว่าฝ่ายตรงข้ามจะปล่อยให้เราสู้โดยไม่เปิดศึกกับเรา

ศึกที่ชนชั้นนายทุนมักเปิดกับเรามีทั้งแง่ของลัทธิความคิดและการใช้กำลัง

ศึกทางความคิดจะรวมไปถึงการพยายามกล่อมเกลาเราให้เชื่อว่า “เงินเฟ้อมาจากการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม” พวกเขาจะเข็น “ผู้เชี่ยวชาญ”เงินเดือนสูง ออกมาในสื่อกระแสหลักเพื่อสั่งสอนเรา แต่พวกนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตของทุนนิยมได้ และมักจะปิดหูปิดตาถึงสภาพจริงในโลก เพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง เราต้องสร้าง “ปัญญาชนอินทรีย์” และสื่อของฝ่ายเราเองเพื่อโต้ตอบ“ผู้เชี่ยวชาญ”เหล่านั้น

ในอังกฤษ หลังจากที่ราชินีเสียชีวิตไป มีการรณรงค์ให้หยุดการนัดหยุดงานเพื่อ “สร้างความสามัคคีของชาติ” และเป็นที่น่าสียดายที่ผู้นำแรงงานระดับชาติยอมพักสู้ชั่วคราวในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามไม่เคยพักการขูดรีดแต่อย่างใด ในประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย จะมีการใช้ลัทธิชาตินิยมเพื่อชวนให้เราเสียสละเพื่อชาติเช่นกัน และมีการขู่ว่านายทุนจะย้ายการผลิตไปที่อื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนายทุนเสมอไป โดยเฉพาะในภาคการผลิตรถยนต์ ก่อสร้าง การคมนาคม และระบบการศึกษาและสาธารณสุข

ศึกด้วย”กำลัง”ที่ฝ่ายตรงข้ามจะเปิดกับเราคือการใช้กฎหมายและตำรวจในการปราบการนัดหยุดงาน หรือการสร้างอุปสรรคในการนัดหยุดงาน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษกำลังพยายามทำ และรัฐบาลไทยทำมานานแล้ว

เราจะต่อสู้อย่างไร?

การนัดหยุดงานเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดของสหภาพแรงงานในการต่อสู้กับนายทุนและรัฐบาล แต่การนัดหยุดงานในรูปแบบต่างๆ มีประสิทธิภาพแตกต่างกัน เช่นการนัดหยุดงานหนึ่งหรือสองวัน อาจเป็นการเตือนหรือขู่นายจ้าง แต่ถ้านายจ้างไม่แสดงความสนใจ อาจต้องมีการขยายการนัดหยุดงานไปโดยไม่จำกัดวัน อันนี้เป็นประเด็นในตะวันตก แต่อาจไม่เป็นประเด็นในไทย แต่การนัดหยุดงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการ “นัดหยุดงานทั่วไป” ที่มีสมาชิกสหภาพรงงานจากหลายๆ สถานที่ทำงานนัดหยุดงานพร้อมกัน

การสร้างกระแสนัดหยุดงานทั่วไปเป็นสิ่งที่ทำได้ถ้ากรรมาชีพเผชิญหน้ากับปัญหาเหมือนกันทั้งประเทศ เช่นเรื่องวิกฤตค่าครองชีพและเงินเฟ้อ และการนัดหยุดงานทั่วไปเคยเกิดขึ้นในไทยช่วง ๑๔ ตุลา และเคยเกิดในประเทศอื่นๆ อีกด้วย แต่เราต้องเข้าใจว่าแค่การเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานทั่วไปโดยฝ่ายซ้ายในนามธรรม จะไม่ทำให้มันเกิดขึ้น คือมันต้องเป็นข้อเรียกร้องจากคนงานรากหญ้าจำนวนมาก ดังนั้นต้องมีการเตรียมตัวเป็นรูปธรรม

ปัญหาผู้นำแรงงานระดับชาติ

มันไม่ใช่ว่ามีแค่นายจ้างและรัฐที่จะพยายามห้ามและยับยั้งการนัดหยุดงานทั่วไปหรือแม้แต่การนัดหยุดงานธรรมดา ผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติ ที่ห่างเหินจากคนทำงานธรรมดาด้วยรายได้ วิถีชีวิต และตำแหน่ง เป็นอุปสรรคสำคัญในการต่อสู้ของกรรมาชีพ แน่นอน มีผู้นำแรงงานระดับชาติบางคนที่พร้อมจะนำการต่อสู้อย่างจริงจัง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้นำแรงงานระดับชาติเป็นบุคคลที่มีฐานะทางชนชั้นระหว่างนายจ้างกับคนทำงานรากหญ้า และฐานะทางชนชั้นนี้มีอิทธิพลกับแนวความคิดของเขา ผู้นำเหล่านี้มีความขัดแย้งในตัว เพราะเขาจะมองว่าหน้าที่ของเขาคือการนำข้อเรียกร้องของสมาชิกสหภาพแรงงานไปเสนอต่อนายจ้างเพื่อ “แก้ไขปัญหาให้แรงงาน” ไม่ใช่เพื่อเอาชนะนายจ้างหรือรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันถ้าเขาไม่นำการต่อสู้เลย สมาชิกจะลาออกจากสหภาพ

ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้ สมาชิกรากหญ้าของสหภาพแรงงานที่ต้องการจะสู้ ต้องพยายามสร้างเครือข่ายเพื่อนำการเคลื่อนไหว และนำนัดหยุดงาน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ข้ามรั้วสถานที่ทำงาน และเพื่อกดดันผู้นำแรงงานระดับชาติหรือพวกผู้นำระดับสภาคนงาน การสร้างพลังรากหญ้าของคนทำงานภายในสหภาพแรงงานเพื่อเชื่อมโยงกับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าในสถานที่ทำงานอื่นๆ เป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยพยายามสร้างในรูปแบบ “กลุ่มย่าน” ในอดีต และมีเอ็นจีโอสายแรงงานบางองค์กรที่สืบทอดเรื่องนี้ เราเลยเห็นเครือข่ายสหภาพแรงงานกลุ่มย่านที่ยังมีอยู่ในบางแห่ง

ที่สำคัญคือนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมคงต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างเครือข่ายสมานฉันท์จากล่างสู่บน เพื่อสนับสนุนการหนุนช่วยซึ่งกันข้ามรั้วสถานที่ทำงานและข้ามสหภาพแรงงาน และเพื่อให้คนทำงานรากหญ้ามีบทบาทนำโดยไม่ปล่อยให้ “ผู้นำแรงงานแบบข้าราชการ” มีอิทธิพลแต่ฝ่ายเดียว

ปัญหาการพึ่งรัฐสภา

ในเรื่องการเมืองของกรรมาชีพ มักจะมีความขัดแย้งในแนวทางระหว่างคนที่เน้นการเคลื่อนไหวประท้วงหรือนัดหยุดงาน กับคนที่ฝากความหวังไว้กับรัฐสภา ในประเทศตะวันตกพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูปอาจถูกก่อตั้งขึ้นโดยขบวนการแรงงาน แต่นักการเมืองของพรรคเหล่านี้จะมองว่าเขามีบทบาทในการแก้ปัญหาให้กรรมาชีพผ่านกระบวนการของรัฐสภา และมองว่าการนัดหยุดงานหรือการประท้วงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม ยิ่งกว่านั้นถ้านักการเมืองพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เขาอาจพร้อมที่จะปราบการนัดหยุดงานอีกด้วย เพราะเขามองว่าเขามีหน้าที่บริหารระบบทุนนิยม

ในไทยเรายังไม่มีพรรคการเมืองของสหภาพแรงงาน แต่พรรคการเมืองอย่างเช่นพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) ก็พยายามดึงนักสหภาพแรงานเข้ามาในพรรค ซึ่งจะทำให้เขาให้ความสำคัญกับรัฐสภามากกว่าการเคลื่อนไหว ในเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยก็มีตัวอย่างของการลดบทบาทการเคลื่อนไหวบนท้องถนน เพื่อไปตั้งความหวังกับรัฐสภา และความหวังว่า “ท่านจะทำให้” เป็นกระแสทั้งๆ ที่รัฐสภาไทยถูกคุมโดยอำนาจเผด็จการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้ารัฐสภาไทยไม่มีอำนาจเผด็จการคุมอยู่ในอนาคต ปัญหาการเลือกแนวทางระหว่างรัฐสภากับการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานก็ยังคงเป็นประเด็น

ทำไมต้องมีพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ

ระบบทุนนิยมสร้างปัญหาวิกฤตมากมายสำหรับประชาชนโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามจักรวรรดินิยม วิกฤตโลกร้อน วิกฤตโควิดที่มาจากระบบเกษตรอุตสาหกรรม หรือวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของอัตรากำไร และในทุกวิกฤต สันดานของนายทุนกับนักการเมืองฝ่ายทุนคือต้องโยนภารกิจในการแก้ปัญหาให้กับคนธรรมดาเสมอ

ถ้าเราจะปลุกระดมชักชวนให้คนเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเมืองของระบบทุนนิยม เช่นในเรื่องเงินเฟ้อกับค่าจ้าง หรือเรื่องการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพ หรือเรื่องปัญหาผู้นำแรงงาน ฯลฯ เราต้องมีพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ที่มีสื่อและสมาชิกที่จะลงไปต่อสู้ร่วมกับคนธรรมดา การที่เราจะเริ่มสร้างเครือข่ายสมาชิกสหภาพแรงงานในระดับรากหญ้าก็อาศัยการทำงานของพรรคเช่นกัน แค่เป็นนักเคลื่อนไหวปัจเจกหรือนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานไม่พอ เราต้องอัดฉีดการเมืองแนวมาร์คซิสต์ที่เน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเข้าไปในการต่อสู้ต่างๆให้มากที่สุด ถ้าเราไม่มีพรรค เราจะทำไม่ได้ และฝ่ายกรรมาชีพจะอ่อนแอ

ธนาธร เสนอนโยบายฝ่ายขวา ในขณะที่ ปิยบุตร พูดถึงพรรคฝ่ายซ้าย? ตกลงจะเอายังไง?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมือง หมายความว่าเราสามารถดูออกและแยกแยะแนวคิดทางการเมืองของฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา เราสามารถเข้าใจว่า “ฝ่ายซ้าย” เป็นฝ่ายที่อยู่เคียงข้างคนทำงานกับคนจน และ “ฝ่ายขวา” อยู่เคียงข้างคนจำนวนน้อยที่เป็นนายทุนกับคนรวย และมันหมายความว่าเราเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดที่เชิดชูกลไกตลาดเสรีกับแนวคิดที่มองว่ารัฐควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

organise-fish-solidarity-hi

การที่พลเมืองจำนวนมากในสังคมไทยไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะเขาโง่แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะแนวคิดการเมืองกระแสหลัก ที่มาจากทหาร นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และเอ็นจีโอ พยายามปกปิดเรื่องนี้มานาน เพราะเน้นแต่ผลประโยชน์คนข้างบน หรือไม่สนใจเรื่องทฤษฏีการเมือง

อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ฝ่ายซ้ายไทยและขบวนการสหภาพแรงงานอ่อนแอเกินไปที่จะท้าทายการผูกขาดของแนวคิดฝ่ายขวา จนพวกฝ่ายขวาสามารถอ้างว่าแนวคิดของเขาเป็น “ธรรมชาติ” และในโลกจริง “เราไม่มีทางเลือกอื่น” ความอ่อนแอนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทหารฝ่ายขวาเข้ามาปกครองบ้านเมืองและปราบปรามฝ่ายซ้ายในอดีตและปัจจุบัน แม้แต่ในรัฐธรรมนูญมีการระบุว่ารัฐต้องส่งเสริมกลไกตลาด เหมือนกับว่ามันไม่มีทางเลือกอื่น และประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกนโยบายอื่น

ในมหาวิทยาลัยไทย ไม่ค่อยมีการสอนเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่ค่อยมีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสำรวจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดเกี่ยวกับกลไกตลาดและรัฐ [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ] และไม่ค่อยจะมีการชวนให้นักศึกษาเรียนรู้การถกเถียงโต้แย้งในเรื่องต่างๆ เช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำกลไกตลาดเข้ามาในระบบการศึกษาและสาธารณสุข

ส่วนขบวนการ เอ็นจีโอ มักจะภูมิใจที่จะไม่ศึกษาทฤษฏีทางการเมืองเลย พวกนี้และนักสหภาพแรงงานบางคน จะพูดว่าเขาเป็นนักปฏิบัติที่ไม่ต้องสนใจทฤษฏีทางการเมือง

ผมเคยเอ่ยถึงรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส และสื่ออื่นๆ ที่เสนอว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้น [ดูhttps://reut.rs/2ugDj39 และ https://voicetv.co.th/read/HyhWwN9qz ]

ในรายงานข่าวนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบ ธนาธร กับประธานาธิบดี แมครอน ของฝรั่งเศส(ภาพข้างใต้)

สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP ]

macron-1

การมองว่า ธนาธร เหมือน แมครอน อาจจริง เพราะทั้งสองคนเป็นนักการเมืองฝ่ายทุน ที่อ้าง  “ความหน้าใหม่” มาเป็นจุดขาย และทั้งสองมีจุดยืนในการปราบสหภาพแรงงาน ภาพข้างใต้เป็นภาพสหภาพแรงงานฝรั่งเศสประท้วงแมครอนเมื่อไม่นานมานี้

29542044_411046555989397_9009463493784753527_n

ข้อแตกต่างอันหนึ่งระหว่างแมครอนกับธนาธรอาจเป็นเรื่องจุดยืนต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งดูเหมือนธนาธรก้าวหน้ากว่ามาก

เราคงต้องกลับไปทบทวนคำพูดของ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่บอกว่าต้องการจะสร้างพรรคการเมืองใหม่ตามแบบพรรคซีรีซา(Syriza)ของกรีซ พรรคโพเดมอส(Podemos)ของสเปน พรรคห้าดาวของอิตาลี่ และพรรค “La France Insoumise”(พรรค “ฝรั่งเศสไม่ก้มหน้าให้ใคร” ) ของ Jean-Luc Mélenchon [ดู https://bbc.in/2G38dRO ]

Jean-Luc_Mélenchon_-_avril_2012

ที่นี้มันดูเหมือนมีปัญหาหนัก เพราะพรรค La France Insoumise ของเมลองชอง (ภาพข้างบน) เป็นพรรคฝ่ายซ้าย ที่ซ้ายกว่าพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส และสนับสนุนสหภาพแรงงาน ในขณะที่ประธานาธิบดี แมครอน เป็นนักการเมืองฝ่ายขวา ที่ต้องการทำลายสหภาพแรงงาน และพยายามเสนอนโยบายชาตินิยมจัด เพื่อพยายามดึงคะแนนมาจากพรรคฟาสซิสต์ สรุปแล้วทั้งสองอยู่คนละขั้วของการเมืองฝรั่งเศส ไม่มีพรรคไหนที่เป็นทั้งสองอย่างพร้อมกันได้

ผมนึกภาพไม่ออกว่าเวลา ปิยบุตร คุยกับ ธนาธร ในเรื่องแบบนี้เขาทะเลาะกันเอาเป็นเอาตาย หรือมองว่าเรื่องซ้ายกับขวาไม่ควรจะมีความสำคัญสำหรับพลเมืองไทย ผมไม่อยากคิดว่า ปิยบุตร ขาดความรู้ในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมเลยไม่เชือว่าแยกไม่ออกระหว่างซ้ายกับขวา

ผมไม่อยากคิดอีกว่า ปิยบุตร จงใจปกปิดความแตกต่างระหว่างซ้ายกับขวา เพื่อผลิตซ้ำการที่พลเมืองไทยไม่ค่อยมีโอกาสในการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่จะให้ผมคิดอย่างไร?

ตกลงในยุคนี้ เมื่อเรามีโอกาสที่จะถกเถียงตรวจสอบพรรคการเมืองใหม่กับเก่า เราจะเอาสมองไปไว้กะลา แล้วไม่สนใจนโยบายของพรรคต่างๆ ว่าเป็นซ้ายหรือขวา แต่จะแค่ตื่นเต้นกับคนหน้าใหม่เท่านั้นหรือ?