Tag Archives: เสรีนิยมกลไกตลาด

หลังฝ่ายซ้ายชนะเลือกตั้งในชิลี จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กาเบรียล บอริก (Gabriel Boric) อายุ 35 ปี ผู้แทนฝ่ายซ้าย และอดีตแกนนำนักศึกษาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศชิลี

บอริก เชื่อว่าเขาสามารถจะปฏิรูปสังคมชิลีแบบถอนรากถอนโคนได้ผ่านรัฐสภา โดยเฉพาะในเรื่องบำเหน็จบำนาญ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาเป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการนักศึกษาในรอบสิบปีที่ผ่านมา เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่พอใจกับนโยบายกลไกตลาดที่รัฐบาลในอดีตใช้ จึงมีการชุมนุมอย่างดุเดือดเพื่อเรียกร้องการศึกษาฟรี

บอริก ชนะผู้แทนฝ่ายขวาสุดขั้ว โฮเซ่ อันโตนิโอ คาสต์ (José Antonio Kast) ที่มาจากครอบครัวนาซีเยอรมัน และปกป้องประวัติศาสตร์ของเผด็จการ พิโนเชต์ ที่ขึ้นมามีอำนาจหลังรัฐประหารโหดในปี 1973 รัฐประหารครั้งนั้นทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของของประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ แห่งพรรคสังคมนิยม หลังรัฐประหารพวกทหารเผด็จการไล่ฆ่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายรวมถึง อาเยนเดย์ เอง และมีคนก้าวหน้าติดคุกจำนวนมาก นอกจากนี้ชิลีกลายเป็นสถานที่ทดลองนโยบายกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว

ชัยชนะของ บอริก มาจากกระแสการประท้วงไล่รัฐบาลนายทุนในปี 2019 ซึ่งเป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมนิยมเป็นพรรคปฏิรูปที่รับแนวกลไกตลาดมาใช้ สิ่งที่จุดประกายการประท้วงปี 2019 คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเชต์ เวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวง และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย เรื่องหลักสองอย่างคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชต์ในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

ก่อนหน้าที่ บอริก จะชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มีการรณรงค์โดยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยกเลิกรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ ซึ่งในที่สุดกระแสนี้ชนะประชามติให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่น่าทึ่งคือสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกมาประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหว 100 คนจากตำแหน่งทั้งหมด 150 ตำแหน่ง ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรกเป็นผู้หญิงพื้นเมือง คนที่สองเป็นนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม และมีนักเคลื่อนไหว GLBT+ เป็นรองประธานอีกด้วย ไม่เหมือนสภาร่างรัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่มักประกอบไปด้วยพวกนักกฎหมายและผู้ใหญ่ล้าหลัง

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรก

ความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวในชิลี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขบวนการของคนที่ไม่ไว้ใจนักการเมืองมากนัก ทำให้ผู้แทนฝ่ายขวา คาสต์ ชนะการเลือกตั้งรอบแรก เพราะนักเคลื่อนไหวไม่ออกมาลงคะแนนเนื่องจากมองว่าการเลือกตั้งไม่สำคัญ แต่เมื่อมันชัดเจนว่า คาสต์ มีนโยบายล้าหลังแค่ไหนและอาจชนะ คนเหล่านี้ก็ออกมาลงคะแนนในการเลือกตั้งรอบสอง และทุ่มคะแนนให้ บอริก แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเขาไว้ใจเชื่อ บอริก โดยไม่มีเงื่อนไข

บอริกตอนเป็นนักเคลื่อนไหว
ใส่สูท

บอริก เองทั้งๆ ที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา เริ่มประนีประนอมกับฝ่ายนายทุนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เริ่มใส่สูทและตัดผมให้สั้นลง และในการปราศรัยหลังชนะการเลือกตั้งก็ประกาศว่าจะเป็นประธานาธิบดีของประชาชน “ทุกคน” ไม่ใช่แค่ของกรรมาชีพ คนจน หรือผู้ถูกกดขี่ และในนโยบายเศรษฐกิจจะสนับสนุน “เศรษฐกิจผสม” คือภาครัฐกับภาคเอกชน แทนที่จะเสนอว่าจะยึดกิจการสำคัญๆ มาเป็นของรัฐ ทุกวันนี้เหมืองแร่หลายแห่งอยู่ในมือบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะเหมืองลิเธียม ซึ่งใช้ในการสร้างแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถไฟฟ้า ชิลีมีแหล่งลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและถูกควบคุมโดยทุนสหรัฐกับจีน

ในอดีตหลังจากที่มีการนำนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เข้ามาในหลายๆ ประเทศของลาตินอเมริกา การส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ น้ำมัน และผลผลิตทางเกษตร กลายเป็นกิจกรรมหลักที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรม การพึ่งการส่งออกวัตถุดิบแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวขาดเสถียรภาพ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ซึ่งบางครั้งขึ้นบางครั้งลง ตอนราคาวัตถุดิบสูงมีหลายรัฐบาลที่ใช้เงินนี้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน แต่พอราคาตกต่ำก็มีการนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้อย่างโหดร้าย [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/340NB9L และ https://bit.ly/2DlwMsp ]

ประวัติศาสตร์ของรัฐบาลซ้ายปฏิรูปในชิลีและที่อื่น สอนให้เรารู้ว่าผู้นำฝ่ายซ้ายที่ต้องการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จะเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาลจากกลุ่มทุน ชนชั้นปกครอง และประเทศจักรวรรดินิยม ถ้าไม่ยอมประนีประนอมก็จะถูกโค่นล้มด้วยความรุนแรง มันมีวิธีการเดียวที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง คือการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะกรรมาชีพ และการทำแนวร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ข้ามพรมแดนกับขบวนการในประเทศอื่นๆ ของลาตินอเมริกา เพื่อลดอิทธิพลของจักรวรรดินิยม

ขบวนการแรงงานชิลีในท่าเรือและในเหมืองแร่เข้มแข็ง เพราะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจการส่งออก นอกจากนี้สหภาพแรงงานในภาครัฐเช่นในระบบการศึกษาและโรงพยาบาลก็เข้มแข็งด้วย

ถ้า บอริก จริงจังที่จะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสังคมชิลี เขาจะต้องจับมือทำแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และจะต้องปลุกระดมนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพ แต่นักการเมืองที่เปลี่ยนไปใส่สูทเพื่อให้ชนชั้นปกครองและคนชนชั้นกลางยอมรับเขา มักจะหันหลังให้กับการปลุกระดม ซึ่งแปลว่านักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าจะต้องนำการต่อสู้จากล่างสู่บนเอง แต่ถ้าขาดพรรคปฏิวัติที่โตพอ เพื่อประสานการต่อสู้ในหลายๆ ประเด็น และเพื่อร่วมถกเถียงและเสนอแนวทางการต่อสู้ การนำจากล่างสู่บนจะยากขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังไม่ถึงจุดที่จะสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชิลีไม่ได้

เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการลุกฮือของมวลชนทั่วโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนในหลายประเทศของโลก ในทุกกรณีประเด็นลึกๆ ที่สร้างความโกรธแค้นของมวลชนมีจุดร่วม ทั้งๆ ที่ประกายไฟที่นำไปสู่การประท้วงอาจแตกต่างกัน และไม่มีการประสานกันระหว่างผู้ชุมนุมในประเทศต่างๆ แต่อย่างใด

8c28952358d6402da804eb83814f4f27_18
ฮ่องกง

ในฮ่องกง การประท้วงรอบปัจจุบันมาจากความไม่พอใจกับกฏหมายส่ง “คนร้าย” ข้ามพรมแดน ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการจีนในฮ่องกง แต่ถ้าเราสำรวจภาพกว้างและประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าความไม่พอใจในการปกครองที่ไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่ออกแบบมาโดยรัฐบาลอังกฤษกับจีน เป็นกระแสมานานตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าผู้ประท้วงจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และกระแสนี้ก่อให้เกิดขบวนการประชาธิปไตยที่ใช้ร่ม เป็นสัญลักษณ์ ความไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ตั้งแต่สมัยอังกฤษมาถึงยุคปัจจุบัน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพยายามกดขี่ประชาชนให้สงบท่ามกลางความยากจนและความเหลื่อมล้ำเพื่อขูดรีดส่วนเกินจากกรรมาชีพ และมันสอดคล้องกับเป้าหมายในการขูดรีดแรงงานของเผด็จการจีนด้วย การเมืองกับเศรษฐกิจแยกออกจากกันไม่ได้ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2qB7h0l ]

72453624_10156651317591966_7480245532409987072_o
ชิลี

ในชิลี การประท้วงไล่รัฐบาลของนายทุนในปัจจุบัน เป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม สิ่งที่จุดประกายการประท้วงรอบนี้คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเช รัฐบาลปัจจุบันของฝ่ายขวา และรัฐบาลชุดก่อนของพรรคสังคมนิยม ล้วนแต่ใช้นโยบายแบบนี้ ดังนั้นเวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวงเมื่อไม่นานมานี้ และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย ประเด็นหลักคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

f7ef7923de30459bba3228c2f8a88069_18
เลบานอน

ในเลบานอน การประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาล เริ่มจากการค้านข้อเสนอของรัฐบาลที่จะเก็บภาษีจากการใช้วอตส์แอปป์ แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนคือนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด บวกกับการที่ระบบการเมืองเลบานอนถูกพรรคการเมืองกระแสหลักแช่แข็งในระบบการเมืองที่แบ่งแยกตามเชื้อชาติศาสนา จนประชาชนธรรมดารู้สึกว่าไม่มีเสรีภาพจริงเพราะผู้นำทางการเมืองจากซีกเชื้อชาติศาสนาต่างๆ ฮั้วกันกดขี่ประชาชนธรรมดา และ 1% ของคนที่รวยที่สุดคุม 50.5% ของทรัพย์สินทั้งหมดของประเทศ

000_1LL3RJ-e1571596008689-640x400

ปรากฏการณ์ในเลบอนอนในขณะนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะมวลชนออกมาประท้วงท่ามกลางความสามัคคีข้ามเชื้อชาติศาสนา และมีการเน้นประเด็นชนชั้น ในอดีตผู้นำทางการเมืองที่เน้นเชื้อชาติศาสนา และมหาอำนาจต่างชาติ สามารถสร้างความแตกแยกระหว่างพลเมืองกลุ่มต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ตนเองเท่านั้น

นอกจากตัวอย่างที่พึ่งกล่าวถึง ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนเพื่อขับไล่รัฐบาลใน ปวยร์โตรีโก กินี เอกวาดอร์ เฮติ อิรัก กับแอลจีเรีย และมีการรื้อฟื้นการประท้วงใน อียิปต์ กับซูดาน นอกจากนี้ใน กาตาลุญญา มีการประท้วงของมวลชนที่แสวงหาเสรีภาพจากสเปนเพื่อปกครองตนเอง ในกรณีหลังมวลชนไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการที่ยังใช้อยู่และเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ที่ต้องการแยกตัวออกจากรัฐสเปน

711aa2a618878ae58d6ab1984c2c1c4fd0ae40f6
กินี

จุดร่วมของการประท้วงที่เกิดขึ้นในยุคนี้ที่พึ่งกล่าวถึง คือการที่ระบบทุนนิยมที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนธรรมดาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และพรรคการเมืองกระแสหลัก ทั้งขวาและซ้ายปฏิรูป ไม่ยอมคัดค้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาล บ่อยครั้งสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือมีลักษณะกึ่งเผด็จการ หรือยังมีผลพวงของเผด็จการฝังลึกอยู่ในสังคม

Haiti
เฮติ

การลุกฮือของมวลชนอาจเกิดในลักษณะที่ไร้การนำทางการเมืองจากฝ่ายซ้าย เช่นในชิลี เพราะพรรคสังคมนิยมปฏิรูปต่างๆ ที่เคยเป็นรัฐบาลไม่ยอมท้าทายโครงสร้างของทุนนิยม และในกรณี บราซิล กับ เวเนสเวลา อาศัยราคาทรัพยากรธรรมชาติเช่นน้ำมันหรือแร่ธาตุที่ขึ้นสูงแบบชั่วคราว เพื่อพยายามแก้ปัญหาความยากจน แต่พอราคาสินค้าส่งออกตกต่ำก็หันไปใช้นโยบายรัดเข็มขัด

บางครั้งในสถานการณ์แบบนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดขั้วสามารถฉวยโอกาสได้ เช่นใน บราซิล กับ อินเดีย แต่การฉวยโอกาสของฝ่ายขวาทำได้ยากเมื่อมวลชนคนธรรมดาออกมาประท้วง เพราะท่ามกลางวิกฤตของทุนนิยมโลก ชนชั้นกรรมาชีพโลกขยายตัวไปเป็นคนส่วนใหญ่ไปแล้วและมีส่วนร่วมในการประท้วง

72369120_2608381949211853_1324092946538037248_o
กาตาลุญญา

งานวิจัยชิ้นใหญ่โดยนักวิชาการชาวนอร์เวย์เกี่ยวกับการประท้วงของมวลชนในรอบ 100 ปีถึงยุคปัจจุบันค้นพบว่าการประท้วงที่มีส่วนร่วมหรือนำโดยสหภาพแรงงานและมวลชนกรรมาชีพมักจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการล้มรัฐบาล ผลักดันการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง และขยายพื้นที่ประชาธิปไตย พูดง่ายๆ มันมีพลังมากกว่าการประท้วงของเกษตรกรหรือชนชั้นกลาง

ผลงานจากการวิจัยนี้ช่วยพิสูจน์ความล้มเหลวของทฤษฏีรัฐศาสตร์กระแสหลักที่ผมเคยวิจารณ์ [ดู https://bit.ly/33yfdhj ]

สิ่งที่เราเห็นในยุคปัจจุบันคือการประท้วงใหญ่ของมวลชน บ่อยครั้งมีส่วนร่วมโดยกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน แต่ขาดการนำทางการเมืองของพรรคซ้ายปฏิวัติที่เสนอแนวทางที่จะล้มรัฐทุนนิยม และข้ามพ้นทุนนิยมไปสู่ระบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้

อ่านเพิ่ม:

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

ซูดานกับแอลจีเรีย https://bit.ly/36SxEj5

อียิปต์ ประชาชนเริ่มหายกลัว https://bit.ly/36NCEoO

ถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปีนี้ครบรอบ 30 ปีหลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็น และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลก

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

220px-Empire_(book)

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย ที่เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว คืออันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ซึ่งเขาเขียนไว้ในหนังสือ Empire ว่ายุคการแข่งขันระหว่างจักรวรรดินิยมสิ้นสุดลงหลังสงครามเย็น และเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

พอถึงปี 2008 ได้เกิดวิกฤตใหญ่ของระบบทุนนิยมกลไกตลาดเสรีที่ลามจากสหรัฐสู่ยุโรปและแพร่กระจายไปทั่วโลก วิกฤตนี้เกิดจากการลดลงของอัตรากำไร แต่นโยบายกลไกตลาดเสรีและการเคลื่อนย้ายทุนจากจุดต่างๆ ของโลกอย่างเสรี ยิ้งทำให้ผลกระทบร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่เคยเกิดขึ้นในไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ก็มีลักษณะคล้ายวิกฤตใหญ่ที่ตามมาสิบปีหลังจากนั้น

ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตปี 2008 ทำให้ความน่าเชื่อถือของนโยบายคลั่งกลไกตลาดเสรีลดลงอย่างมาก ในไทยรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณนำระบบเศรษฐกิจ “คู่ขนาน” มาใช้ผ่านการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐในระดับชุมชน เพื่อยกระดับคนจน ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่เสื้อเหลือง ทหาร และพวกอนุรักษ์นิยมที่คลั่งตลาดเสรี หลายคนในไทยทุกวันนี้ไม่เข้าใจว่าพวกเผด็จการทหารและประชาธิปัตย์เป็นพวกเสรีนิยมคลั่งกลไกตลาด ในขณะที่ทักษิณนิยมผสมการใช้รัฐกับกลไกตลาด

หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 การเคลื่อนย้ายทุนและการค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในสหรัฐและยุโรปหลัง 2008 เริ่มมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังกับกลไกตลาดเสรีในหมู่นักเศรษฐศาสตร์และนักเคลื่อนไหว แต่รัฐบาลต่างๆ ยังหน้าด้านเดินหน้าต่อไป และโอนภาระในการแก้วิกฤตให้กับประชาชนธรรมดาผ่านนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม

ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นกลายเป็นเสียงสนับสนุนพวกขวาจัดในบางกรณี เช่นชัยชนะของดอนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐ หรือการขึ้นมาของรัฐบาลขวาจัดในอิตาลี่เป็นต้น ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองกระแสหลักของพวกเสรีนิยมเริ่มเข้าสู่วิกฤตหนักในหลายประเทศของยุโรป เช่นในเยอรมัน สแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส และสเปน

ในกรณีอื่นการวิจารณ์กลไกตลาดเสรีออกดอกออกผลในทางที่ก้าวหน้า เช่นในข้อเสนอเรื่อง The Green New Deal (“กรีน นิว ดีล”) ที่เสนอให้รัฐฝืนตลาดและเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ที่มาจากนโยบายรัดเข็มขัดและปัญหาที่มาจากสภาพโลกร้อนพร้อมๆ กัน มีการเสนอ “กรีน นิว ดีล” ในสหรัฐและแพร่ไปสู่คานาดาและอังกฤษผ่านนักการเมืองสายซ้ายปฏิรูป

Untitled

สถานการณ์หลังวิกฤต 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

huawei_0

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

761fdce8-2e6d-11e9-80ef-0255f1ad860b_image_hires_092316

สำหรับคำถามว่าตอนนี้เราถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เพราะทุนนิยมโลกยังมีลักษณะโลกาภิวัตน์ แต่ในขณะเดียวกันมี “กลุ่มอำนาจ” หลายกลุ่มในภูมิภาคต่างๆ เช่น อียู จีน สหรัฐ ซึ่งไปกดทับผลประโยชน์ของประเทศที่เล็กกว่าแต่อยากจะโตเท่าทันประเทศเจริญ เช่นอินเดียหรืออาเจนทีนาเป็นต้น

จุดยืนของมาร์คซิสต์คือ เราต้องคัดค้านแนวชาตินิยม หรือแนวที่จะพาเราไปสนับสนุนกลุ่มอำนาจหนึ่งในความขัดแย้งกับกลุ่มอื่น และเราต้องเน้นความสมานฉันท์ในหมู่กรรมาชีพสากลเพื่อต่อสู้กับรัฐทุนนิยมในประเทศของเรา และระบบทุนนิยมทั่วโลก

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาส่วนใหญ่จากการอภิปรายโดย Alex Callinicos หัวข้อ “Is this the end of globalisation?” ดูได้ที่นี่ https://bit.ly/2XMpE1S ]

การหักหลังประชาชนกรีซของพรรค “ไซรีซา”

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

ในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กรีซ พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” แพ้การเลือกตั้งหลังจากที่เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2015

 

0914e64d80be42c19bea83482cac7c3b_18
พรรคนายทุนชนะการเลือกตั้ง

การกลับมาของพรรคนายทุนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองกรีซแต่อย่างใด เพราะ “ไซรีซา” เคยชนะการเลือกตั้งโดยสัญญากับประชาชนว่าจะต่อสู้กับนโยบายรัดเข็มขัดและเสรีนิยมกลไกตลาดที่ทำลายชีวิตกรรมาชีพกรีซ แต่ไปๆมาๆ “ไซรีซา” กลับยอมจำนนต่อคำสั่งของสหภาพยุโรปทุกประการ ซึ่งนำไปสู่การตัดสวัสดิการและงบประมาณรัฐมากกว่าเดิม ถือว่าเป็นการหักหลังประชาชนกรีซอย่างร้ายแรง

 

SW-SUPPORT-GREECE-1067x600

 

การหักหลังประชาชนเริ่มเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมปี 2015 เพียง 7 เดือนหลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง รัฐบาล “ไซรีซา” ได้จัดประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะรับเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟอยากจะบังคับใช้กับกรีซหรือไม่ ปรากฏว่าประชาชนเกิน 60% ลงคะแนนไม่รับ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ของอียูและไอเอ็มเอฟ เป็นการตัดสวัสดิการมหาศาลและการขึ้นภาษีให้กับคนจน และมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้ว แต่ประชาชนยังไม่ทันลงคะแนนเสร็จในประชามติ รัฐบาล “ไซรีซา” ก็คลานเข้าไปหาอียูและไอเอ็มเอฟ เพื่อรับเงื่อนไขที่แย่กว่าเดิม

 

a-yanis-17-tsipras-merkel

 

ทำไมพรรคไซรีซาถึงยอมจำนนต่อกลุ่มทุนง่ายๆ แบบนี้? มีสองสาเหตุหลักคือ

 

1. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่หลงเชื่อว่าสหภาพยุโรป(อียู)เป็นสิ่งที่ “ก้าวหน้า” แทนที่จะเข้าใจว่ามันเป็น “สมาคมกลุ่มทุนใหญ่” ที่ยึดถือผลประโยชน์ทุนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ “ไซรีซา” จึงคิดผิดว่าฝ่ายรัฐบาลและอำนาจทุนในยุโรปจะฟังเหตุผลและพยายามช่วยกรีซ แต่กลุ่มทุนในอียูประกาศตบหน้าประชาชนกรีซว่าเขาไม่สนใจผลการลงคะแนนเสียงในประชามติแต่อย่างใด มันเป็นเผด็จการทุนเหนือประชาธิปไตยกรีซ ที่สำคัญที่สุดคือ “ไซรีซา” ทำทุกอย่างที่จะอยู่ต่อในสกุลเงินยูโร แต่การยึดติดกับสกุลเงินยูโรเป็นการมอบอำนาจทางเศรษฐกิจให้ธนาคารกลางของยุโรปและยอมจำนนต่อเงื่อนไขรัดเข็มขัด ในรอบหลายเดือนรัฐบาล “ไซรีซา” พยายามประนีประนอมกับอียูและไอเอ็มเอฟ และการจัดประชามติก็ทำไปเพื่อต่อรองเท่านั้น แต่มันไม่เคยเพียงพอสำหรับพวกตัวแทนนายทุนเหล่านั้น ความคิดของไซรีซาจึงมีความขัดแย้งในตัวสูง และมันเป็นการตั้งความหวังกับโครงสร้างรัฐกับทุนที่ตนเองหลงคิดว่าก้าวหน้า แทนที่จะฝากความหวังไว้กับกรรมาชีพกรีซและกรรมาชีพในประเทศอื่นๆ ของยุโรป

 

2. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่พัฒนามาจากบางส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่รับแนวปฏิรูปในอดีต นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและฝ่ายซ้ายปฏิวัติบางกลุ่มเข้ามาร่วม ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้ง “ไซรีซา” จะมีจุดยืนไม่ชัดเจนระหว่างการปฏิวัติล้มทุนนิยม กับการปฏิรูปประนีประนอมกับทุน คือคลุมเครือเรื่องปฏิวัติกับปฏิรูป ทั้งในประเด็นระบบเศรษฐกิจและระบบรัฐ เพราะมองว่าสภาพโลกปัจจุบันมัน “ข้ามพ้นปัญหาแบบนี้ไปแล้ว” จุดยืนนี้พา “ไซรีซา” ไปให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและรัฐสภามากเกินไป และละเลยความสำคัญของการเชื่อมโยงกับพลังกรรมาชีพและขบวนการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา ดังนั้น “ไซรีซา” พยายามใช้ผลของประชามติในการเจรจากับอียูเท่านั้น แทนที่จะปลุกระดมและใช้พลังการนัดหยุดงาน หรือการประท้วงนอกสภา เพื่อการจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและการเมือง และที่สำคัญด้วยคือ สส.ซีกซ้ายภายใน “ไซรีซา” หมดสภาพในการค้านแกนนำพรรคจนหดหู่ และทั้งๆ ที่พวกนี้โดนแกนนำเขี่ยออกจากตำแหน่งใน ครม. แต่ก็ยังเน้นแต่การปกป้องรักษาพรรค หลงคิดว่าจะเปลี่ยนนโยบายพรรคได้จากภายใน และที่สำคัญที่สุดคือละเลยการปลุกระดมขบวนการนอกรัฐสภา มันเป็นบทเรียนสำคัญว่าฝ่ายซ้ายต้านทุนนิยม หรือฝ่ายซ้ายปฏิวัตินั้นเอง จะต้องรักษาองค์กรของตนเองและอิสระจากแนกนำในแนวร่วมใหญ่ ในขณะที่ร่วมสู้กับคนที่อยู่ในแนวร่วมกว้างที่ต้องการต้านนโยบายรัดเข็มขัดหรือเผด็จการของกลุ่มทุน

 

ต้นกำเนิดของวิกฤตกรีซ

วิกฤตหนี้กรีซเกิดจากการปล่อยกู้ให้ประเทศในยุโรปใต้โดยธนาคารเยอรมันและสถาบันการเงินในยุโรปเหนือ มีการปล่อยกู้ให้ธนาคารเอกชนในกรีซ ซึ่งปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชนอีกที จากมุมมองเยอรมันการปล่อยกู้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในยุโรปใต้ซื้อสินค้าจากเยอรมัน ซึ่งมีผลในการกระต้นเศรษฐกิจเยอรมัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันก็กดค่าแรงกรรมาชีพเยอรมันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบนี้ของเยอรมันทำให้กรีซและประเทศในยุโรปใต้แข่งขันกับเยอรมันไม่ได้ ส่งออกให้ยุโรปเหนือยากขึ้น ขาดดุลการค้า การเป็นหนี้แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและมีการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวกรีซจากสภาพเดิมที่ยากจนพอสมควร แต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในขั้นตอนแรกที่สหรัฐเมื่อปี 2008

วิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้มาจากการลดลงของอัตรากำไร และการพยายามปั่นหุ้นและหากำไรในภาคไฟแนนส์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้คนจนซื้อบ้าน มันเป็นการพนันเพื่อหากำไรแทนที่จะลงทุนในภาคการผลิต

เมื่อเกิดวิกฤตโลก ธนาคารกรีซใกล้ล้มละลาย และรัฐก็เข้ามาอุ้มหนี้ คือแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบริษัทซื้อขายหุ้นก็ขายหนี้กรีซให้ “บริษัทอีแร้ง” ที่หากำไรจากการเก็บหนี้ มีการกดดันให้ดอกเบี้ยเพิ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้หนี้กรีซสูงขึ้นถึงขั้นไม่มีวันจ่ายคืนได้

ในที่สุด ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางอียู และฝ่ายบริหารอียู ก็บังคับให้รัฐบาลชุดก่อนๆ ของกรีซจ่ายหนี้คืนผ่านการตัดสวัสดิการและการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน คนตกงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการเก็บภาษีหรือทวงหนี้จากคนรวยหรือกลุ่มทุนกรีซ แม้แต่บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ของเยอรมันที่สร้างและเคยเป็นเจ้าของสนามบินที่กรีซ ก็ไม่ได้จ่ายภาษีเลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้บริษัทกรีซหลายแห่งถูกซื้อโดยกลุ่มทุนจากยุโรปเหนือ และบริษัทเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกู้เงินในอดีตอีกด้วย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “เงินช่วยเหลือ” ที่ธนาคารอียูและไอเอ็มเอฟส่งให้กรีซ ไม่เคยถึงมือประชาชนที่ยากลำบากเลย เพราะ 90% ถูกส่งกลับให้ธนาคารในยุโรปเพื่อจ่ายหนี้ต่างหาก และหนี้สินกรีซก็ทวีคูณอย่างต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ นับว่า “ยารักษาโรค” ของกลุ่มอำนาจอียูที่ยิ่งทำให้คนไข้อาการหนักขึ้นบนพื้นฐานการยึดผลประโยชน์กลุ่มทุนและความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดา มันเป็นเรื่องชนชั้นชัดๆ มันไม่เกี่ยวกับรัฐชาติ

 

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman เคยวิจารณ์ว่ามาตรการแบบนี้จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงและคนเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทั้งสองคนเคยมองว่าประชาชนกรีซควรจะ “โหวตไม่รับ” เงื่อนไขในประชามติ

 

ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภากรีซ สมาชิกพรรค “ไซรีซา” เอง และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสองคนนี้ เคยเสนอว่าศูนย์อำนาจในสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟต้องการที่จะล้มรัฐบาลกรีซที่มาจากการเลือกตั้งหรืออย่างน้อยทำให้หมดสภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือปอร์ตุเกส ได้กำลังใจในการออกมาต้านนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของพวกเสรีนิยม มันเป็นการต่อสู้ทางการเมือง

 

เราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจเผด็จการไปได้สวยกับการบังคับใช้มาตรการกลไกตลาดเสรี

 

athensbudget1
พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซ

 

สำหรับพรรคกรรมาชีพสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาในกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม “แอนตาซียา”เคยมีการเสนอว่าต้องออกจากสกุลเงินยุโรป ชักดาบไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ไอเอ็มเอฟ และยึดธนาคารต่างๆ มาเป็นของรัฐ ที่สำคัญคือต้องใช้พลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และพลังมวลชนบนท้องถนน ในการเข้ามาควบคุมและบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในระยะสั้นต้องมีการจัดตั้งเตรียมตัวนัดหยุดงานและร่วมสู้กับการรัดเข็มขัด แต่น่าเสียดายที่พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซเล็กเกินไปที่จะสร้างกระแสการต่อสู้ที่มีพลังเพียงพอ

 

ในช่วงแรกที่ “ไซรีซา” เป็นรัฐบาล มีกลุ่มฝ่ายซ้ายในบางประเทศ เช่นในออสเตรเลีย ที่ฝากความหวังไว้กับ “ไซรีซา” โดยไม่วิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียด

 

บทเรียนสำคัญจากกรีซคือ การเน้นการเมืองในรัฐสภาอย่างเดียว และการพยายาม “ทำงานในระบบ” มักนำไปสู่การยอมจำนนและหักหลังความฝันของกรรมาชีพผู้ทำงานเสมอ

 

201229195147950734_20

 

ความหวังแท้ของกรรมาชีพกรีซตอนนี้คือการลุกขึ้นสู้ผ่านการนัดหยุดงาน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว พร้อมกับการสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมนอกรัฐสภาให้เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่

 

วิกฤตการเมืองบราซิลเปรียบเทียบกับไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ทั้งบราซิลกับไทยมีประวัติการตกภายใต้เผด็จการทหาร และมีวิกฤตการเมืองที่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของพวกอภิสิทธิ์ชนและสลิ่มชนชั้นกลาง จนในที่สุดเกิดรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

p18 argentina protest

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ชนชั้นกลางใช้ประเด็น “การต่อต้านคอร์รับชั่น” เพื่อเป็นข้ออ้างในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทั้งสองประเทศ

นักวิชาการบราซิล Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais วิเคราะห์ว่าชนชั้นกลางชอบเล่นประเด็นเรื่องการคอร์รับชั่น เพราะมองว่าตัวเองมีฐานะดีที่มาจาก “ความสามารถและความขยันของตนเอง” ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่จริงเท่าไร แต่มันทำให้คนชั้นกลางมองว่าการคอร์รับชั่นเปิดโอกาสให้ “คนมีเส้น” เข้ามากอบโกยผลประโยชน์

brazil-45

ปัจจัยที่บวกเข้าไปสำหรับชนชั้นกลางคือ เขาจะมักจะไม่พอใจเมื่อรัฐบาลช่วยคนจนและแรงงาน

180908-004-2E0344EA
เดลมา รุสเซฟ

อย่างไรก็ตามการกล่าวหานักการเมืองว่าโกงกิน มักถูกใช้ในลักษณะที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเราเห็นในกรณีไทย เช่นการที่ทหารชั้นสูงจะโกงแค่ไหนก็ได้ โดยที่สลิ่มชนชั้นกลางเงียบเฉย ในกรณีบราซิล กระแสต่อต้านการคอร์รับชั่นกลายเป็นข้ออ้างสำหรับ ตุลาการ ตำรวจชั้นสูง และอัยการ ในการเลือกที่จะตั้งข้อกล่าวหากับพรรคแรงงานของ ประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และอดีตประธานาธิบดี ลูลา โดยที่ไม่มีการสอบสวนนักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรคฝ่ายค้านเลยทั้งๆ ที่มีเรื่องอื้อฉาวติดตัวด้วย ในด้านหนึ่งการคอร์รับชั่นของนักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่ในกรณีผู้นำอย่างรุสเซฟหรือลูลา ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ แต่ในไม่ช้าข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รับชั่น ก็แปรไปเป็นเรื่องที่ผูกพันกับการต่อต้านนโยบายช่วยคนจนของพรรคแรงงาน โดยมีการกล่าวหาว่า “ทำลายวินัยทางการคลัง” และข้อกล่าวหาหลังนี้เองที่ถูกใช้โดยฝ่ายตุลาการและวุฒิสภาบราซิลในการก่อรัฐประหารล้มประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ มันทำให้เรานึกถึงกรณียิ่งลักษณ์ในไทย

Luiz Inacio Lula da Silva, Dilma Rousseff
ลูลากับเดลมา รุสเซฟ

ลึกๆ แล้ววัตถุประสงค์ของฝ่ายขวาอภิสิทธิ์ชนบราซิลในการล้มรัฐบาลพรรคแรงงาน คือความต้องการของพวกนี้ที่จะยกเลิกนโยบายที่ช่วยคนจนที่กระทำไปภายใต้นโยบาย “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) [รายละเอียดเรื่องนี้อ่านได้ในบทความสัปดาห์ที่แล้วเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา]  และเขาต้องการยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิของคนจนและแรงงาน นอกจากนี้พวกนี้ต้องการเปิดประเทศเต็มที่และแปรรูปบริษัทน้ำมันของรัฐเพื่อขายให้ทุนข้ามชาติ นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของพวกนี้ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ผมเคยเสนอมานานว่าการทำรัฐประหาร๑๙กันยาและรัฐประหารของประยุทธ์ ส่วนหนึ่งกระทำไปเพื่อทำลายนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนานของทักษิณที่ช่วยคนจน โดยมีเป้าหมายที่จะนำนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วเข้ามาใช้ นโยบายดังกล่าวเป็นที่ชื่นชมของพรรคประชาธิปัตย์และทหาร และมันเอื้อประโยชน์ให้คนรวย [ดู https://bit.ly/2Na1TLa ]

จริงๆ แล้วนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด เป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย เพราะมันเน้นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่ร่ำรวย และเน้นอำนาจของ “กลไกตลาด” ในขณะที่กีดกันการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน และกีดกันไม่ให้รัฐคุมเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์คนส่วนใหญ่อีกด้วย ดังนั้นเราไม่ควรหลงเชื่อว่าเสรีนิยมสร้างประชาธิปไตย [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

แน่นอนบราซิลกับไทยไม่ได้เหมือนกัน 100% เพราะพรรคการเมืองของทักษิณไม่ใช่พรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป และพรรคแรงงานบราซิลไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนพรรคของทักษิณ

สำหรับทางออกในปัจจุบัน Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais เน้นว่าฝ่ายซ้ายต้องต่อต้านคอร์รับชั่น แต่ไม่ใช่ไปเล่นเรื่องนี้จนฝ่ายขวานำมาใช้เป็นเครื่องมือเองได้ คือต้องมีการให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และต้องต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งจริงๆ แล้วเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนและคนรวยผูกขาดนโยบายของรัฐเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย

นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดปิดโอกาสสำหรับคนธรรมดาที่จะร่วมกันตรวจสอบการกอบโกยของนายทุน ซึ่งต้องถือว่าเป็นการคอร์รับชั่นประเภทหนึ่ง

ที่สำคัญคือ การล้มเผด็จการทหาร และการผลักดันให้รัฐเสนอนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน มาจากกระแสการกดดันจากมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งในไทยและบราซิล เมื่อขบวนการดังกล่าวถูกหักหลังโดยรัฐบาลพรรคแรงงานในบราซิล หรือถูกแช่แข็งโดยพรรคของทักษิณ สังคมมีแนวโน้มจะถอยหลัง

วิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในหลายประเทศของลาตินอเมริกา เป็นปัญหาที่มาจากการพึ่งการส่งออกวัตถุดิบสู่ตลาดโลก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมอธิบายสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนสเวลา ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากการพึ่งการส่งออกของน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำลงอันเนื่องมาจากวิกฤคเศรษฐกิจโลกปี 2008 [ดู https://bit.ly/2Pvrjk0 ] แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่ไหนเวเนสเวลา มันสร้างปัญหาให้กับอาเจนทีนา บราซิล และนิการากัวด้วย ซึ่งจะอธิบายต่อไป

ถ้าเราย้อนกลับไปสี่สิบกว่าปี นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายชาตินิยมซ้ายในประเทศกำลังพัฒนา มักจะชี้ให้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศในแถบ “ใต้” จะมีจุดอ่อนตรงที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบสู่ตลาดโลกที่ควบคุมโดยประเทศพัฒนาในแถบ “เหนือ” ซึ่งผลก็คือความด้อยพัฒนาของการผลิตอุตสาหกรรมภายในประเทศ และการที่รัฐบาลในประเทศทางใต้ขาดอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจ

ทางออกของที่พวกชาตินิยมซ้ายเสนอ คือการปิดประเทศระดับหนึ่ง เพื่อควบคุมการลงทุนและการแข่งขัน และเพื่อให้รัฐบาลส่งเสริมการผลิตภายในเพื่อทดแทนการนำเข้าของผลผลิตอุตสาหกรรมจากประเทศพัฒนา เป้าหมายคือการพัฒนาเศรษฐกิจให้หลากหลายมากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ และลดการถูกควบคุมโดยบริษัทข้ามชาติ ผู้นำและนักเศรษฐศาสตร์ในคิวบา เวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา มีความพยายามที่จำนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ และมีนักวิชาการหลายคนที่เสนอการวิเคราะห์ปัญหาและทางออกภายใต้สิ่งที่เรียกกันว่า “ทฤษฏีพึ่งพา”

ในไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งก็มีนักเศรษฐศาสตร์ชาตินิยมซ้ายที่เสนอนโยบายคล้ายๆ กัน [เช่น กมล กมลตระกูล (๒๕๔๐) “IMF นักบุญหรือคนบาป” ส.พ.มิ่งมิตร, พิทยา ว่องกุล (๒๕๔๐) บรรณาธิการ “คำประกาศอิสรภาพจาก IMF” ส.ก.ว. และมูลนิธิภูมิปัญญา,เศรษฐสยาม (๒๕๔๑) “สหรัฐอเมริกา ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า” วิถีทรรศน์ชุดภูมิปัญญา 8]

ปัญหาคือการปิดประเทศเพื่อพัฒนาภายใน ภายใต้เงื่อนไขของทุนนิยมโลกในสมัยนี้ นำไปสู่การขาดการลงทุนและเทคโนโลจีสมัยใหม่ ถ้าจะทำกันจริงๆ ต้องมีการยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของกรรมาชีพ ปฏิวัติล้มทุนนิยม สร้างรัฐสังคมนิยม เริ่มการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และสร้างความสมานฉันท์กับประเทศอื่นๆที่ทำสิ่งเดียวกัน แต่แนวชาตินิยมซ้ายไม่ต้องการจะล้มระบบทุนนิยม เพราะทั้งๆที่อ้างความเป็นซ้าย แท้จริงแนวคิดหลักเป็นแนวชาตินิยมที่ตรงกับผลประโยชน์นายทุนชาติเท่านั้น สิ่งที่เขาต้องการคือการสร้างชาติที่อิสระจากจักรวรรษนิยมเท่านั้น มันตรงกับสิ่งที่ลัทธิเผด็จการ “สตาลิน-เหมา” ของพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ เรียกว่าขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย”

และการบิดเบือนสังคมนิยมภายใต้เผด็จการแนวสตาลิน ที่ใช้ระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ทำให้การต่อสู้เพื่อสังคมนิยมมีอุปสรรคมากมาย [ดู https://bit.ly/2uOffCh ]

การล่มสลายของเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในรัสเซีย กับยุโรปตะวันออก และการเปลี่ยนนโยบายของจีน เวียดนาม และคิวบา มาจากปัญหาเดียวกันของการปิดประเทศโดยพวกชาตินิยมซ้าย [เรื่องคิวบาดู https://bit.ly/2N7HyGf ]

ผลของความล้มเหลวของแนวชาตินิยมซ้าย ทำให้รัฐบาลต่างๆ ในลาตินอเมริกา หันไปรับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งแปลว่าต้องเปิดประเทศ รับการลงทุนและอิทธิพลจากบริษัทข้ามชาติ กดค่าแรงของประชาชน ขายรัฐวิสาหกิจ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงการลงทุนเข้ามา และยกเลิกความพยายามของรัฐที่จะควบคุมเศรษฐกิจ คือยอมจำนนต่อตลาดโลกนั้นเอง แม้แต่อดีตนักวิชาการทฤษฏีพึ่งพาอย่าง เฟอร์นานโด เฮนริก คาร์โดโซ พอขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีบราซิล ก็หันไปใช้นโยบายเสรีนิยมสุดขั้ว

ปัญหาหลักของนโยบายเสรีนิยมคือ ในทุกประเทศมันนำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำมหาศาล เพราะมันเป็นนโยบายที่อิงผลประโยชน์ของกลุ่มทุน นอกจากนี้มันหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่ประเทศในลาตินอเมริกาต้องพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ เช่นน้ำมันในกรณีเวเนสเวลาและบราซิล น้ำตาลในกรณีคิวบา แร่ธาตุในกรณีบราซิล และผลิตผลเกษตรในกรณีอเจนทีนาและนิการากัว ซึ่งราคาวัตถุดิบเหล่านี้ในตลาดโลกขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่ขยายตัวแล้วเข้าสู่วิกฤตเป็นประจำ โดยที่วิกฤตทุนนิยมดังกล่าวมีต้นเหตุจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรตามที่มาร์คซ์เคยวิเคราะห์นานแล้ว [ดู  https://bit.ly/2HZwn0y ]

สำหรับเวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ในต้นทศวรรษ 2000 นำไปสู่ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงและดึงเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้ขยายตัว

ในเวเนสเวลา กับ บราซิล มีการนำกำไรจากการส่งออกมาพัฒนาสถานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่โดยที่ไม่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบทุนนิยมแต่อย่างใด [ดูบทความสัปดาห์ที่แล้ว]

lulada

ในบราซิล รัฐบาลของประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงาน เลือกใช้นโยบายเสรีนิยมต่อไปจากรัฐบาลก่อนเพื่อเอาใจนายทุน แต่ในขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานเสียงจากคนจนและกรรมาชีพ ดังนั้นมีความพยายามที่จะนำทฤษฏีเศรษฐกิจ “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) มาใช้ หลักสำคัญคือการใช้รัฐเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนภายในประเทศภายใต้กลไกตลาด แต่ในขณะเดียวกันมีการยกระดับความเป็นอยู่ของคนจนผ่านโครงการของรัฐ นโยบายนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนจำนวนมากในบราซิล โดยรัฐบาลจงใจไม่แตะหรือลดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเลย แต่ความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจนี้ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตและวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงในตลาดโลก ซึ่งแปลว่าทุกอย่างพังทะลายเมื่อทุนนิยมโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 และมีการลดลงของราคาวัตถุดิบ สภาพเช่นนี้นำไปสู่วิกฤตทางการเมือง การตัดโครงการต่างๆ ที่ช่วยคนจน และการหายไปของเสียงสนับสนุนรัฐบาล ผลคือ “รัฐประหารโดยวุฒิสภาและตุลาการ” ที่ล้มรัฐบาลพรรคแรงงานของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ ในปี 2016

หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลฝ่ายขวาที่เข้ามาใหม่มีการหันมาใช้นโยบายรัดเข็มขัดที่โจมตีสถานะของคนจนและกรรมาชีพ [ดู https://bit.ly/2NDhLmw ]

ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในบราซิล และอดีตประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงานก็ลงสมัครอีกครั้ง แต่ตุลาการหาข้ออ้างเรื่องการคอรับชั่นมากีดกันไม่ให้เขาลงสมัคร ขณะนี้(ต้นเดือนกันยายน) โพล์ดูเหมือนจะเสนอว่าผู้สมัครฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ที่สนับสนุนเผด็จการทหารโหดร้ายกำลังนำ แต่เขาพึ่งถูกทำร้ายต้องเข้าโรงพยาบาล สรุปแล้วสถานการณ์ทางการเมืองในบราซิลปั่นป่วนมาก

ในแง่หนึ่งเราควรจะเปรียบเทียบนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยกับทฤษฏี “เสรีนิยมพัฒนา” เพราะไทยรักไทยพยายามฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ผ่านการสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนพร้อมกับความพยายามที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของคนธรรมดา คือใช้ “เศรษฐกิจคู่ขนาน”แทนเสรีนิยมสุดขั้ว แต่มันมีข้อแตกต่างตรงที่ไทยไม่ได้พึ่งการส่งออกของวัตถุดิบแบบบราซิล และไทยรักไทยไม่ได้เป็นพรรคฝ่ายซ้าย [ดู https://bit.ly/2PYRDnr ]

ในอาเจนทีนา เศรษฐกิจออกจากวิกฤตที่เกิดในปี 1998 และเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วระหว่าง 2001 กับ 2008 แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดจากการส่งออกผลผลิตเกษตรที่ราคาสูงในตลาดโลก อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 อาเจนทีนาก็เริ่มมีปัญหาอีก และในที่สุดรัฐบาลฝ่ายขวาของประธานาธิบดีแมครี ต้องไปกราบเท้าองค์กร ไอเอ็มเอฟ เมื่อไม่นานมานี้เอง

A woman holds a sign that reads "No to the IMF" during a protest outside the Congress in Buenos Aires
ประชาชนต้านไอเอ็มเอฟในอเจนทีนา

ในนิการากัว อดีตนักปฏิวัติพรรคซานดินิสตา ประธานาธิบดี แดเนียล ออร์เตกา กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองที่มาจากการต่อต้านอย่างแรงจากประชาชน สาเหตุหลักของการต่อต้านครั้งนี้ ซึ่งนำไปสู่การที่ประชาชนถูกยิงตายเกือบ 300 คน คือนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของรัฐบาลท่ามกลางปัญหาราคาผลผลิตส่งออก ออร์เตกาเคยนำการปฏิวัติล้มเผด็จการโซโมซาในปี 1979 แต่การปลุกสงครามต่อต้านรัฐบาลใหม่ในยุคนั้นโดยสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจพังจนพรรคซานดินิสตาต้องแพ้การเลือกตั้งในปี 1990 ต่อมาในปี 2006 ออร์เตกาชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ใน16ปีที่ผ่านไปก่อนหน้านั้นเขาเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองโดยสิ้นเชิง คือสร้างความสัมพันธ์กับทุนภายในประเทศกับนักการเมืองคอร์รับชั่น และทำตัวเป็นเผด็จการหลังชนะการเลือกตั้ง อดีตนักปฏิวัติซานดินิสตาหลายคนจึงรับไม่ได้และตัดสินใจแยกทางกัน

image
ฝ่ายค้านประท้วงที่นิการากัว

สรุปแล้วสิ่งที่เราควรจะเข้าใจคือ วิกฤตการเมืองในลาตินอเมริกาไม่ใช่วิกฤตที่เกิดจากนโยบายสังคมนิยมแต่อย่างใด ตราบใดที่ไม่มีการต่อต้านและล้มทุนนิยมรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นซ้ายไม่สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตทุนนิยมที่เกิดเป็นประจำได้ และรัฐบาลฝ่ายขวาก็จะพยายามแก้วิกฤตเศรษฐกิจบนสันหลังประชาชนผู้ทำงานเสมอ

ถ้าจะสร้างรัฐสวัสดิการในไทยต้องคัดค้านกลไกตลาดเสรี

ใจ อึ๊งภากรณ์

แนวคิดเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ เป็นแนวของสำนักเศรษฐกิจการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ตรงข้ามกับสำนักเศรษฐกิจการเมืองเสรีนิยมกลไกตลาด [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

ในการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป แนวสังคมนิยมประชาธิปไตยวางกรอบสำคัญๆ สำหรับรัฐสวัสดิการดังนี้คือ

  1. เป็นระบบถ้วนหน้า เพื่อให้เป็นสิทธิทั่วไปของพลเมือง ไม่ต้องไปขอความเมตตาหรือพิสูจน์ความจน และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการเนื่องจากไม่ต้องมีหลายระบบซ้อนกันและมีการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารที่มาจากการกำจัดตลาดภายในอีกด้วย
  2. เป็นระบบครบวงจร เพราะการให้สวัสดิการแบบแยกส่วนไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของพลเมืองได้ ปัญหาสังคมต่างๆ เชื่อมโยงกันตลอด เช่นถ้าเด็กๆ ขาดที่อยู่อาศัยที่ดี และรายได้พ่อแม่ต่ำเกินไป จะมีผลต่อสุขภาพอนามัยและความสำเร็จในการศึกษา
  3. เป็นระบบที่เน้นผลในการสร้างความเท่าเทียม แทนการ “ให้โอกาสเท่าเทียม” เพราะการ “ให้โอกาส” บ่อยครั้งไม่ได้สร้างความเท่าเทียมจริง เนื่องจากพลเมืองมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน
  4. เป้าหมายในการสร้างรัฐสวัสดิการคือการเพิ่มเสรีภาพในสังคม โดยเฉพาะเสรีภาพในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่ปราศจากความกลัว เช่นความกลัวว่าการเจ็บป่วยจะนำไปสู่ความยากจน หรือความกลัวว่าจะไม่มีงานทำแล้วจะเลี้ยงครอบครัวไม่ได้

ระบบรัฐสวัสดิการเป็นระบบที่เน้นผลประโยชน์ร่วมของพลเมือง และความสมานฉันท์ระหว่างทุกคนในสังคม ไม่ใช่การเน้นการกอบโกยของปัจเจกชน และที่สำคัญคือมีการเก็บภาษีก้าวหน้าในอัตราสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน

แนวเสรีนิยมกลไกตลาดที่รื้อฟื้นขึ้นมาเมื่อสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นแนวคิดที่เน้นสิทธิปัจเจกของคนรวยและนายทุน เหนือสิทธิของคนธรรมดา “เสรีนิยมใหม่” นี้คือลัทธิของคนที่เน้นกลไกตลาด การขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน และการยกเลิกรัฐสวัสดิการ เช่นแนวของพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษและส่วนอื่นของยุโรปและในสหรัฐ

พวกเสรีนิยมใหม่ทั่วโลก มักจะวิจารณ์รัฐสวัสดิการว่าเป็นการสร้าง “ระบบอุปถัมภ์” และ “ทำลายวินัยทางการคลัง” เพราะรัฐเก็บภาษีสูงและกู้เงินมาเพื่อสร้างสวัสดิการ แทนที่จะลดภาษีให้คนรวยและหลีกทางให้บริษัทเอกชนเป็นคนกู้เงินในตลาดการเงิน พรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการเสรีนิยมในไทย มักจะโจมตีการที่รัฐบาล ไทยรักไทย เคยใช้รัฐในการสร้างสวัสดิการว่าเป็นการ “ทำลายวินัยทางการคลัง” และการสร้างวัฒนธรรมพึ่งพาอุปถัมภ์

คนที่อ้างว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการภายใต้แนวคิดเสรีนิยมกลไกตลาดเป็นคนโกหก เพราะพวกนี้ต้องการนำกลไกตลาดมาใช้ในทุกส่วนของระบบสวัสดิการ ในฐานะที่ผมทำงานในระบบสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการอังกฤษ และในฐานะที่ผมเป็นนักสังคมนิยม ผมจะขอยกตัวอย่างจากระบบสาธารณสุข

การแยกระบบสาธารณสุขอังกฤษออกเป็นฝ่าย ‘ผู้ซื้อ’ กับ ‘ผู้ให้บริการ’ เป็นมาตรการของอดีตนายกรัฐมนตรีแทชเชอร์ เพื่อค่อยๆ ทำลายระบบรัฐสวัสดิการ และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตัดงบประมาณรัฐพร้อมกับดึงบริษัท “หากิน” ของเอกชนเข้ามา ผลคือมีการจ้างนักบัญชีและนักบริหารตัวเลขมากขึ้นอย่างมหาศาล แต่เงินที่เคยทุ่มเทไปในการดูแลรักษาคนไข้กลับลดลง เงินซื้อยาถูกจำกัด และจำนวนพยาบาลกับหมอก็ขาดแคลนเรื่อยมา พร้อมกันนั้นมีการกดค่าแรงให้ต่ำลง

ในระบบนี้ทุกรายละเอียดของการดูแลคนไข้จะถูกตีราคา ไม่ว่าจะเป็นการใส่สายในเส้นโลหิต การตรวจไขสันหลัง หรือการให้ยา มันเป็นระบบที่สิ้นเปลืองทรัพยากรและขาดประสิทธิภาพในการดูแลคนป่วย เพราะการทำบัญชีกลายเป็นสิ่งที่กำหนดทุกอย่าง แทนที่จะเอาความต้องการของคนไข้มาเป็นหลัก

ตลาดภายในสำหรับระบบสาธารณสุขแบบนี้ถูกนำมาใช้ในไทยในระบบสามสิบบาทที่รัฐบาลทักษิณริเริ่ม มันจึงขาดประสิทธิภาพสำหรับพลเมืองทั่วไปแต่แรก

นอกจากการเน้นตลาดภายใน เพื่อทำลายรัฐสวัสดิการแล้ว พวกเสรีนิยมกลไกตลาดมีมาตรการอื่นที่ช่วยทำให้รัฐสวัสดิการเสื่อม มีการเปลี่ยนระบบสวัสดิการจากระบบถ้วนหน้าไปสู่ระบบที่จำกัดสิทธิ และเน้นคนบางกลุ่มที่ยากจนสุด คือในที่สุดพลเมืองต้องเสียศักดิ์ศรีในการพิสูจน์ความจน และมีการจำกัดสวัสดิการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ในประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์อย่าง สมภพ มานะรังสรรค์ พวก TDRI และรัฐบาลเผด็จการทหาร จะสนับสนุนการจำกัดสิทธิในการให้สวัสดิการเพื่อประหยัดงบประมาณโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีการพูดกันมากขึ้นถึงการ “ร่วมจ่าย” ซึ่งเป็นการเก็บค่าบริการนั้นเอง และการที่พวกเสรีนิยมพร้อมจะใช้รัฐเพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหาร แต่ต้องการตัดสวัสดิการให้กับคนธรรมดา เห็นได้ชัดในกรณีรัฐบาลพรรคทหารหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ผลของนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดในสหรัฐเห็นได้ชัด เพราะระหว่างปี 2000-2006 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 18% แต่รายได้จริงของกรรมาชีพลดลง 1.1% ส่วนคนรวยที่สุด 10% ของชาติเพิ่มรายได้ 32% ในขณะที่คนรวยสุดยอด 1% กอบโกยรายได้เพิ่มถึง 203% และพวกอันดับยอด 0.1% ของชาติ สามารถยึดทรัพย์เพิ่มขึ้น 425%  ปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบนี้ในสหรัฐและทั่วโลกทวีคุณมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้

ข้ออ้างเท็จว่า “รัฐสวัสดิการล้มเหลวหรือใช้ไม่ได้เพราะคนชรามีมากเกินไป”ที่เรามักได้ยิน เป็นคำโกหกของพวกเสรีนิยมที่ไม่เคารพคนทำงานรุ่นก่อนหรือคนรุ่นพ่อแม่เรานั้นเอง พวกนี้อ้างว่าสัดส่วนระหว่างคนทำงานกับคนชราลดลง เพราะคนมีแนวโน้มจะมีลูกน้อยและคนแก่มีอายุยืนยาวขึ้น แต่ในความเป็นจริงขณะที่สัดส่วนคนทำงานลดลง ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าใน 50 ปี ข้างหน้าคนทำงานจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉลี่ยสองเท่า ซึ่งแปลว่าคนทำงานสามารถเลี้ยงดูคนชราได้มากขึ้นอีกสองเท่า นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น

รัฐสวัสดิการสร้างได้ในประเทศไทย ถ้าเราปฏิเสธสำนักคิดเสรีนิยมกลไกตลาด แต่ถ้าจะทำจริง เราต้องมีความเข้าใจและความสนใจเรื่องการรณรงค์และพลังของขบวนการเคลื่อนไหวในสังคม เราต้องร่วมกันผนึกขบวนการประชาธิปไตยกับขบวนการที่สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่วนสำคัญของขบวนการนี้ต้องเป็นสหภาพแรงงาน นอกจากนี้คนที่มีความคิดที่จะพัฒนาสังคมไทยไปข้างหน้า แทนที่จะย่ำอยู่กับที่ในยุคหินแห่งระบบกลไกตลาด จะต้องหันมาจับมือกันเพื่อสร้างพรรคการเมืองเพื่อช่วงชิงความคิดในสังคม

ทำไมเผด็จการ “เพื่อคนรวย” ชุดนี้ ชอบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเมื่อเผด็จการทหารของประยุทธ์ต้องการจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และพูดจาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อปรามคนจน และในขณะที่พรรคพวกของมันกอบโกยความร่ำรวยจากการปล้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทย เราควรกลับมาทบทวนเรื่อง “ภาษีก้าวหน้า” (Progressive Taxation) กับ “ภาษีล้าหลัง” (Regressive Taxation) อีกครั้ง

“ภาษีก้าวหน้า” คือภาษีคือภาษีที่คนรวยจ่ายมากเพราะสามารถจ่ายได้ และคนจนจ่ายน้อยหรือไม่จ่ายเลย เพราะเกือบจะไม่มีรายได้เพียงพออยู่แล้ว มันเป็นภาษีที่เป็นธรรมและช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคม

ส่วน “ภาษีล้าหลัง” คือภาษีประเภท “ทำนาบนหลังประชาชนคนจน” โดยที่คนรวยและผู้มีอำนาจ บังคับเก็บจากคนจน ในขณะที่มีการลดการเก็บภาษีจากคนรวย เป้าหมายก็เพื่อผลประโยชน์ของนายทุน คนชั้นสูง ผู้มีอำนาจเช่นนายพลระดับสูง และแม้แต่ชนชั้นกลาง

โดยทั่วไปแล้ว พวกที่ใช้แนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberal) ที่คลั่งกลไกตลาดแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ซึ่งมักจะเป็นพวกฝ่ายขวาทางการเมือง มักจะนิยมการเก็บภาษีล้าหลัง ตัวอย่างที่เห็นชัดในยุคนี้คือรัฐบาลฝ่ายขวาในสหรัฐและยุโรป ซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สามารถเพิ่มทรัพย์สินให้กับนายทุนและคนรวย ในขณะที่กดค่าแรงและรายได้ของประชาชนผู้ทำงาน นโยบาย “รัดเข็มขัด” ของพวกนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเสรีนิยมใหม่ และเข็มขัดที่ใช้รัดประชาชน มักจะไม่ใช้กับคนรวย การพยายามทำลายความเข็มแข็งของสหภาพแรงงานมีความสำคัญอีกด้วย เพราะพวกเสรีนิยมไม่ต้องการให้คนทำงานมีพลังต่อรอง

นอกจากนี้นโยบายเสรีนิยมใหม่ มักจะไปด้วยกันกับการทำลายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วย เพราะการบังคับให้ประชาชนมีฐานะทางเศรษฐกิจแย่ลง มักต้องอาศัยอำนาจเผด็จการ ตัวอย่างที่ดีคือวิธีการที่กลุ่มอำนาจในสหภาพยุโรป บังคับใช้นโยบายรัดเข็มขัดกับประเทศกรีซ ทั้งๆ ที่ประชาชนลงคะแนนเสียงคัดค้านมาตลอด หรือการที่เผด็จการทหารไทยทำรัฐประหารสองครั้งในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา การทำรัฐประหาร และการทำลายการเลือกตั้งของพวกทหาร ฝ่ายขวา และสลิ่มชนชั้นกลางไทย กระทำไปเพื่อทำลายนโยบายเศรษฐกิจ “คู่ขนาน” ของรัฐบาลทักษิณ ที่ผสมการใช้รัฐช่วยคนจน และการใช้กลไกตลาด พวกเผด็จการทำลายอำนาจทางการเมืองของทักษิณด้วยวิธีประชาธิปไตยไม่ได้ เขาต้องใช้รัฐประหาร

ทั้งๆ ที่รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลของนายทุนที่ไม่นิยมการเก็บภาษีก้าวหน้า และไม่ได้ใช้นโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่เมื่อเทียบกับรัฐบาลทหารปัจจุบัน หรือรัฐบาลอภิสิทธ์ที่มีทหารหนุนหลัง เราจะเห็นว่าเผด็จการไทยไม่สนใจการพัฒนาสภาพคนจนอย่างที่รัฐบาลทักษิณสนใจ และเราจะเห็นว่าในรอบ 11 ปีที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญต่างๆ ของทหาร มีการเชิดชูกลไกตลาดเสรีสุดขั้ว และการห้ามปรามไม่ให้รัฐใช้นบายช่วยคนจน ที่พวกนั้นเรียกกันว่า “ประชานิยม” ยิ่งกว่านั้นมีการส่งเสริม “ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง” ร่วมไปด้วย “ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง” นี้เป็นข้อเสนอของกษัตริย์ผู้เป็นคนรวยที่สุดในประเทศ ว่าคนจนต้องเจียมตัวในความจน มันเป็นข้อเสนอให้แช่แข็งความเหลื่อมล้ำ และมันถูกบังคับใช้โดยทหารผ่านการมีกฏหมาย 112 ซึ่งทำให้คนไม่กล้าวิจารณ์ นอกจากนี้เผด็จการทหารก็หน้าด้านใช้เงินของประชาชนในการซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น ในขณะที่ด่าคนจนว่า “ขี้เกียจ”

แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) จะมีมุมมองต่อภาษีต่างจากพวกคลั่งกลไกตลาด คือมีการมองว่าควรเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน เพื่อยกระดับประชาชนขึ้น และพัฒนาสังคมให้ทันสมัย และอีกเป้าหมายหนึ่งคือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ระบบการเก็บภาษีแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นระบบภาษีที่เก็บในลักษณะ ”ก้าวหน้า” และภาษีก้าวหน้าเป็นภาษีที่เก็บโดยตรง (Direct Taxation) เก็บจากคนรวยและบริษัท ในอัตราสูง บางครั้งมีการเก็บจากคนรวยในอัตราสูงเป็นพิเศษ (Super Tax) ตัวอย่างภาษีทางตรงคือภาษีรายได้ ภาษีจากการขายหุ้น ภาษีมรดก ภาษีจากกำไรบริษัท ภาษีทรัพย์สินและภาษีที่ดินเป็นต้น ในอดีตหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ อจารย์ปรีดีเคยเสนอให้ไทยมีภาษีอัตราสูงเป็นพิเศษที่เก็บจากคนรวย แต่พวกอำมาตย์คัดค้านอย่างรุนแรง

ฝ่ายขวาเสรีนิยมจะมองว่ารัฐควรมีบทบาทน้อยในการช่วยคนจน และไม่ควรสร้างภาระให้เอกชนจากการเก็บภาษี สำนักคิดนี้มองว่านักธุรกิจและคนรวยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเขาควรมีแรงจูงใจในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นแค่ข้ออ้างที่ให้ความชอบธรรมกับความโลภของคนรวย เพราะผู้ที่สร้างมูลค่าจริงในโลกนี้คือกรรมาชีพคนทำงานธรรมดา พวกเสรีนิยมมองว่าเขาควรมีโอกาสแสวงหากำไรหรือรายได้สูงสุดโดยไม่มีการจำกัด ถ้าจะเก็บภาษีก็ควรลดภาระให้กับคนรวยและเพิ่มภาระให้คนจนแทน สำนักเสรีนิยมจึงสนับสนุนการเก็บภาษี “ล้าหลัง” ในรูปแบบ “ภาษีทางอ้อม” (Indirect Taxation) ซึ่งเป็นภาษีที่คนจนจ่ายโดยอาจไม่รู้ตัว เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ที่เราจ่ายทุกครั้งที่ซื้อของ หรือภาษีสุรา/บุหรี่ ซึ่งทำให้คนจนรับภาระสูงกว่าคนรวย และที่สำคัญคือเกือบ 70% ของรายได้ภาษีของรัฐไทยมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีทางอ้อมอื่นๆ

ถ้าดูผิวเผินเราอาจคิดว่าภาษีทางอ้อมเป็นภาษีที่คนรวยจ่ายมาก เพราะคนรวยซื้อของมากกว่าคนจน แต่ในความเป็นจริง เมื่อตรวจสอบดูว่าคนจนกับคนรวยจ่ายภาษีทางอ้อมเป็นสัดส่วนเท่าไรของรายได้และทรัพย์สิน จะพบว่าคนจนจ่ายสัดส่วนมากกว่าคนรวย

การเก็บภาษีจากคนจนไม่ใช่สิ่งใหม่ ในยุคก่อนทุนนิยมมีการเก็บส่วยจากไพร่และบังคับให้ทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนเลย และทุกวันนี้รัฐไทยยังเก็บภาษีส่วนใหญ่ในรูปแบบ “ทำนาบนหลังคนจน”

จะเห็นได้ว่าถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย ต้องมีการปฏิรูประบบภาษี เพื่อเน้นภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้า ในขณะเดียวกันควรมีการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีทางอ้อมอื่นๆ นอกจากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าแล้ว การตัดงบประมาณทหารและงบประมาณของพวกในวัง จะมีผลดีในการส่งเสริมประชาธิปไตย และการสร้างรัฐสวัสดิการอีกด้วย

ถ้าเราเข้าใจระบบภาษีในมุมมองของฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย เราจะเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์อยากจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ไม่มีการเพิ่มการเก็บภาษีรายได้จากคนรวย นายทุน นายพล หรือพวกกาฝากในราชวงศ์ นั้นคือสาเหตุที่รัฐประหารสองสามรอบที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อไม่นานมานี้ ล้วนแต่เป็น “รัฐประหารเพื่อคนรวย”

การเพิ่มบทบาทบริษัทเอกชนในการทำสงคราม

เรียบเรียงแปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐและอังกฤษมีการเพิ่มบทบาทบริษัทเอกชนในการทำสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นการหมุนนาฬิกากลับสู่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อบริษัทเอกชนอย่างบริษัท “อินเดียตะวันออก” ของอังกฤษและฮอลแลนด์ มีกองทัพของตนเองและมีบทบาทสำคัญในการล่าอาณานคม

ในสงครามอ่าวปี 1991 มีทหารของสหรัฐ 541,000 คน กับลูกจ้างของผู้รับเหมาเอกชน 9,200 คน แต่หลังการบุกอิรักในปี 2003 มีการเพิ่มสัดส่วนบุคลากรของบริษัทเอกชนเรื่อยๆ จนในปี 2010 มีทหารสหรัฐ 146,000 คน และลูกจ้างเอกชน 173,000 คน

การส่งเสริมบทบาทเอกชนและการเพิ่มการรับเหมาของบริษัทต่างๆ เกิดขึ้นในสหรัฐและอังกฤษในทศวรรษที่ 80 ตามสูตรนโยบายกลไกตลาดเสรีที่เริ่มนิยมกันในยุคนั้น แต่การขยายการจ้างบริษัทเอกชนในการทำสงครามพึ่งเริ่มมีบทบาทสำคัญเมื่อไม่นานมานี้

รัฐอังกฤษและสหรัฐต้องพึ่งพาบริษัทเอกชนในการบริการกองทัพ เช่นการจัดส่งเสบียง กระสุน และอาวุธ การซ่อมและบำรุงอาวุธและยานพาหนะ และการฝึกฝนกองทัพ จนถือได้ว่าฐานทัพสหรัฐกับอังกฤษจัดตั้งโดยบริษัทเอกชนทั้งสิ้น

แต่พอการยึดครองอิรักและอัฟกานิสถานใช้เวลานานขึ้น มีการจ้าง “ทหารรับจ้าง” มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อทำการต่อสู้และเพื่อรักษาความปลอดภัยในจุดต่างๆ รวมถึงฐานทัพ คาดว่าในอิรักในช่วงหนึ่งมีทหารรับจ้างมากกว่า 48,000 คน

ผู้บัญชาการทหารที่มีตำแหน่งเป็น “ผู้ว่าราชการอิรัก” ของสหรัฐ เคยมีการ์ดเป็นทหารเอกชน อดีตนายกอังกฤษ โทนี่ บแลร์ เวลาเยือนอิรักก็มีกองกำลังอารักขาจากบริษัทเอกชน การ์ดในคุกโหดร้าย “อาบู กเรบ” ที่ทรมานเชลยศึกอิรักจนเป็นเรื่องอื้อฉาว ส่วนหนึ่งก็เป็นทหารรับจ้างเอกชน และในคุกป่าเถื่อน “กวนตานาโม” การ์ดส่วนหนึ่งก็เป็นทหารรับจ้างเช่นกัน

บริษัทเอกชนมีบทบาทในการฝึกกองทัพและกองตำรวจอิรัก และมีหน้าที่ปกป้อง “โซนสีเขียว” ในเมืองแบกแดดด้วย

บริษัทเหล่านี้มีโอกาสสร้างกำไรมหาศาลจากการทำสงคราม มีบริษัท Kellogg, Brown & Root ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Halliburton บริษัทอื่นๆ มีมากมายเช่น Blackwater, Control Risks, Armor และแต่ละบริษัทมีนักการเมืองจากรัฐบาลบุชและบแลร์เข้าไปมีส่วนตั้งแต่ต้น สส.ระดับสูงของพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษก็เคยเป็นประธานบริษัททหารรับจ้าง Armor ซึ่งตอนนี้กลายเป็นบริษัทหนึ่งของ G4S

บริษัท Blackwater เป็นบริษัทที่จัดตั้งโดย Erik Prince ชาวคริสต์ฝ่ายขวาสุดขั้วจากสหรัฐ บริษัทนี้กอบโกยกำไรหลายพันล้านดอลลาร์จากสงครามอิรัก และมีชื่อเสียงอื้อฉาวว่าใช้วิธีป่าเถื่อนเวลาทำงานอารักขาลูกค้า รถยนต์ของพลเรือนอิรักคันไหนเข้าใกล้ก็มีการกราดยิงทันที และบ่อยครั้งก็ขับชนจนตกถนนไป ยิงเสร็จก็ทิ้งศพและคนบาดเจ็บบริสุทธ์ไว้กลางถนน พฤติกรรมแบบนี้ทำให้ประชาชนอิรักเกลียดชังเป็นอย่างมากและมีการโจมตีกองกำลังของ Blackwater

ต่อมาในเดือนกันยายนปี 2007 บริษัทนี้ฆ่าพลเรือนมือเปล่า 17 คน บาดเจ็บ 20 คน ทั้งๆ ที่ประชาชนบริสุทธ์เหล่านี้กำลังยกมือขึ้น เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลอิรักที่สหรัฐแต่งตั้ง ต้องประท้วงและขอให้ถอนตัวออกจากประเทศ แต่ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Constellis Holdings และในไม่ช้าก็กลับมาปฏิบัติการในอิรักอีก

ลูกจ้างของบริษัท Aegis จากอังกฤษ ซึ่งมีกนักการเมืองพรรคแรงงานจากยุค โทนี่ บแลร์ เป็นกรรมการบอร์ด มีการถ่ายภาพตนเองขณะที่ “สนุกสนาน” กับการยิงปืนกราดพลเรือนอิรัก

แน่นอนการกระทำความผิดของลูกจ้างหรือทหารรับจ้างของบริษัทเอกชน ไม่เคยถูกตรวจสอบได้จากประชาชนสหรัฐ อังกฤษ หรือพลเมืองโลก ซึ่งต่างจากกรณีของทหารซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

ข้อดีสำหรับรัฐบาลอังกฤษกับสหรัฐในการจ้างบริษัทเอกชนคือการลดค่าใช้จ่าย การเพิ่มกำไรให้เพื่อนฝูงพรรคพวก และการที่ทหารรับจ้างเวลาถูกฆ่าตาย ไม่ถูกนับในจำนวนศพทหารที่เสียชีวิตไป ซึ่งเป็นการพยายามปกปิดความล้มเหลวของรัฐบาลตะวันตกจากสายตาประชาชน

ข้อเสีย นอกจากความป่าเถื่อนที่พลเรือนชาวอิรักและอัฟกานิสถานต้องเผชิญ คือบริษัทเหล่านี้ชอบทำสัญญารับเหมาพ่วงต่อๆ ไป ในกรณีอัฟกานิสถาน มีการเหมากองกำลังของพวกขุนศึก ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นพวก “ตาลีบัน” หรือไม่ก็พวกโจรค้ายาเสพติด นอกจากนี้การแสวงหากำไรของบริษัทเอกชนแปลว่ามีการตัดกำลังเจ้าหน้าที่จนลูกจ้างบริษัทเองขาดความปลอดภัย

การนำบริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำสงคราม ไม่ต่างจากการนำบริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทในการรักษาพยาบาล หรือการบริการสาธารณูปโภค เพราะมันทำลายคุณภาพการบริการ กดค่าแรง สร้างกำไรให้นายทุน และลดพื้นที่ประชาธิปไตยลงในสังคม

[บทความนี้เรียบเรียงและแปลจากบทความของ John Newsinger “The Privatisation of Military Power” ในวารสาร Socialist Review เดือนพฤศจิกายน 2015                                                                  ค้นหาได้ที่:  http://socialistreview.org.uk/407/privatisation-military-power ]

การทดลองราคาแพงของฝ่ายซ้ายสเปน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ในกรีซ หักหลังประชาชนและยอมจำนนต่อกลุ่มทุนใหญ่ของสหภาพยุโรป โดยการยอมรับนโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัดสำหรับคนจนและกรรมาชีพ เราก็เห็นพรรค “โพเดมอส” (Podemos) ในสเปนขยับไปทางขวาภายในไม่กี่เดือนของการตั้งพรรค และล่าสุดก็ออกมาสนับสนุนจุดยืนแย่ๆ ของแกนนำ “ไซรีซา”

สาเหตุที่นักเคลื่อนไหวในไทยและรอบโลก ควรสนใจเรื่องราวเหล่านี้ ก็เพราะมันเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประเด็นการสร้างพรรคสังคมนิยม ประเด็นเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้งในสภา และการเข้าใจว่ามีอุปสรรคอะไรบ้างในความฝันว่าจะปฏิรูประบบทุนนิยมได้

เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของการพยายามทดลองสร้างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรปและที่อื่นๆ ในยุคนี้ ความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อพรรคกระแสหลักทางซ้าย คือพรรคสังคมนิยมสายปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็น “พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือ “พรรคแรงงาน” ในทุกประเทศของยุโรป หันไปรับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดและการรัดเข็มขัดที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุน นอกจากนี้มีการหันหลังให้กับการปฏิรูประบบหรือการปกป้องรัฐสวัสดิการ เรื่องมันแหลมคมยิ่งขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 และทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากซ้ายหรือขวา ก็ยอมรับนโยบายที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของกรรมาชีพ เพื่อพยุงและเพิ่มกำไรของกลุ่มทุนและธนาคารต่างๆ ผลคือการเพิ่มอัตราว่างงาน และการตัดสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มรายได้และทรัพย์สินให้กับคนรวย นี่คือสาเหตุที่เกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายซ้าย”

ในขณะเดียวกันความไม่พอใจของชนชั้นกลางและนายทุนน้อยต่อสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คะแนนนิยมพรรคกระแสหลักทางขวาลดลงด้วย ซึ่งเกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายขวา” ประกอบไปด้วย มันเป็นสภาพอันตรายเพราะพวกฟาสซิสต์เข้ามาฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น

ในสเปนวิกฤตเศรษฐกิจเกิดเมื่อฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตก ซึ่งในไม่ช้าอัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวพุ่งขึ้นถึง 60% และงานที่มีให้ทำก็เป็นงานแย่ๆ ที่จ่ายค่าจ้างต่ำ ปรากฏการณ์แบบนี้นำไปสู่การลุกฮือยึดพื้นที่กลางเมืองใหญ่ๆ เพื่อคัดค้านการรัดเข็มขัดของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมและของพรรคสังคมนิยมที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแทนที่ในภายหลัง

การยึดพื้นที่กลางเมืองของพวกคนหนุ่มสาว “อินดิกนาดอส” (Indignados) ซึ่งแปลว่า “พวกที่โกรธเคือง” เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความหวังให้กับคนที่อยากต้านแนวเสรีนิยม แต่ความคิดทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้จะเป็นแนวอนาธิปไตย คือคัดค้านพรรคการเมือง ปฏิเสธระบบ และเลือกใช้ประชาธิปไตยทางตรงของรากหญ้าผ่านการมีส่วนร่วมในจตุรัสต่างๆ หรือพื้นที่กลางเมือง อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมแบบนี้ยากลำบากสำหรับคนที่ต้องไปทำงานทุกวัน

อย่างไรก็ตามเนื่องจาก “อินดิกนาดอส” เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไร้การจัดตั้งในรูปแบบพรรค มันย่อมมีขาขึ้นและขาลงเป็นปกติ ต่อจากนั้นนักเคลื่อนไหวที่เป็นอดีต “อินดิกนาดอส” ก็เข้าไปต่อสู้ในสหภาพแรงงาน ขบวนการปกป้องรัฐสวัสดิการ และขบวนการที่คัดค้านการที่คนธรรมดาถูกธนาคารยึดบ้านเพราะติดหนี้

ในปลายปี 2014 กลุ่มนักวิชาการที่นำโดย พาบโล อิกเลซีอัส (Pablo Iglesias) ได้ตัดสินใจก่อตั้งพรรค “โพเดมอส” โดยอาศัยสมาชิกคนหนุ่มสาวที่เคยร่วมในขบวนการ “อินดิกนาดอส” มีการเรียนบทเรียนสำคัญจากการลุกฮือแบบกระจัดกระจายตามแนวอนาธิปไตยว่ามันไม่มีเสถียรภาพในการต่อสู้ เขาจึงร่วมกันสรุปว่า “ขบวนการต้องมีพรรค” ต่อมาในการเลือกตั้งยุโรปและเลือกตั้งท้องถิ่นของสเปน พรรคนี้ได้สส.ในสภายุโรปกับผู้แทนในสภาท้องถิ่นมาหลายคน

ถึงแม้ว่าการตั้งพรรคใหม่นี้เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ดี แต่มันมีปัญหาที่ตามมาเนื่องจากการปฏิเสธแนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ แกนนำของพรรค “โพเดมอส” มองว่าเขา “ก้าวพ้นการแบ่งแยกระหว่างซ้ายกับขวา” ไปแล้ว ซึ่งในรูปธรรมแนวความคิดโพสธ์โมเดอร์นอันนี้แปลว่าพรรคพยายามปกปิดความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพ ที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวันท่ามกลางวิกฤตและนโยบายรัดเข็มขัด คำว่า “ฝ่ายซ้าย” หมายถึงกลุ่มคนที่ยืนเคียงข้างกรรมาชีพและคนจน และคำว่า “ฝ่ายขวา” หมายถึงกลุ่มคนที่ยึดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนและคนรวย สรุปแล้วพรรค “โพเดมอส” มีจุดยืนที่ไม่ชัดเจนว่าสนับสนุนผลประโยชน์กรรมาชีพกับคนจน หรือสนับสนุนกลุ่มทุนและคนรวย คือพรรคพยายามเอาใจคนชั้นกลางและกรรมาชีพคนจนพร้อมกัน แต่ไม่สนใจนำการต่อสู้ของกรรมาชีพในรูปธรรมเลย และมีการดึงนักธุรกิจมาร่วมอีกด้วย

อีกปัญหาหนึ่งของพรรค “โพเดมอส” คือการขาดประชาธิปไตยภายในในรูปธรรม เพราะในนามธรรมพรรคประกาศว่าอาศัยประชาธิปไตยทางตรง แต่เวลาลงคะแนนเสียงอาศัยการกดรับหรือไม่รับผ่านอินเตอร์เน็ดและโซเชียล์มีเดีย ผลในรูปธรรมคือไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นสมาชิกพรรค และคนชื่อดังที่สามารถออกความเห็นในสื่อต่างๆ ได้ดี มักจะได้ประโยชน์ มันเป็นการมีส่วนร่วมจอมปลอมที่ทำให้พรรคใช้นโยบายนำ “จากบนลงล่าง” มากขึ้น

สรุปแล้วภายในไม่กี่เดือนพรรค “โพเดมอส” มีการแปรธาตุไปเป็นพรรคซ้ายปฏิรูปที่ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มทุนมากขึ้น ถ้าเทียบกับ “ไซรีซา” แล้ว มันมีจุดยืนแย่กว่าตั้งแต่ต้น และขาดประวัติการจัดตั้งมายาวนานของ “ไซรีซา” อีกด้วย และเราก็เห็นว่า“ไซรีซา” ก็ยังหักหลังประชาชนและยอมจำนนต่อกลุ่มทุนใหญ่ในที่สุด

ทุกวันนี้พวกนักฉวยโอกาสทางการเมือง ที่อยากเข้าไปในรัฐสภา แห่กันเข้ามาในพรรค “โพเดมอส” มากขึ้น

ทั้ง “ไซรีซา”  กับ “โพเดมอส” มีจุดร่วมคือ คลุมเครือว่าต้องการปฏิวัติหรือปฏิรูประบบทุนนิยม และคลุมเครือว่าเข้าไปในรัฐสภาเพื่ออะไร คือไม่ชัดเจนว่าหลงคิดว่ายึดอำนาจรัฐผ่านรัฐสภาได้ หรือเข้าไปในรัฐสภาเพื่อเปิดโปงความแย่ของระบบและนำการต่อสู้โดยขบวนการแรงงานและประชาชนนอกรัฐสภาแทน

ดังนั้นการสร้างพรรคฝ่ายซ้านต้านทุนนิยม ที่อิสระจากพวกปฏิรูปเหล้านี้ และเน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเป็นเรื่องสำคัญ ในช่วงนี้นอกจากการนำการต่อสู้แล้ว ภาระสำคัญของพรรคซ้านต้านทุนนิยมในกรีซและสเปน จะต้องเป็นการดึงนักเคลื่อนไหวดีๆ ของ “ไซรีซา”  กับ “โพเดมอส” ที่ผิดหวังและโกรธแค้นแกนนำ มาเป็นแนวร่วม

ในช่วงหลังนี้ที่สเปน มีการตั้งพรรค “คิวดาเดนอส” (Ciudadanos) หรือ “พรรคพลเมือง” เพื่อเป็น “พรรคใหม่ทางเลือก” ของฝ่ายขวา มีการดึงคะแนนของคนชั้นกลางและแข่งกับ “โพเดมอส” โดยเน้นเรื่องการต้านการคอร์รับชั่นในระบบการเมืองกระแสหลักเป็นนโยบายสำคัญ พรรคนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีเงิน และความไม่ชัดเจนทางการเมืองของ “โพดามอส” ทำให้ “โพดามอส” เสียคะแนนนิยมไป 10-15% ของคนชั้นกลางที่เคยสนับสนุนพรรค

บทเรียนสำคัญสำหรับเราจากสเปนและกรีซคือ

  1. การเคลื่อนไหวแบบกระจัดกระจายตามแนวอนาธิปไตยไม่มีความมั่นคงในการต่อสู้ระยะยาว ซึ่งเราก็เห็นในกรณีการต้านเผด็จการในไทยด้วย คือต้องมีการจัดตั้งสร้างพรรค
  2. การมีพรรคที่เน้นแต่การชนะการเลือกตั้งในรัฐสภา และคลุมเครือเรื่องปัญหาของระบบทุนนิยม และประเด็นชนชั้นมันไม่พอ ต้องมีการเชื่อมโยงกับการต่อสู้ของขบวนการแรงงานและกลุ่มอื่นๆ นอกรัฐสภาเสมอ และต้องไม่พยายามเอาใจคนชั้นกลางที่ไม่เคยสนับสนุนผลประโยชน์ของกรรมาชีพหรือคนจน และไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยและการสร้างสังคมที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง