Tag Archives: เสรีนิยมใหม่

อายุเกษียณ และบำเหน็จ บำนาญ ในมุมมองมาร์คซิสต์

ประเด็นอายุเกษียณเป็นเรื่องที่นำไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ดุเดือดในฝรั่งเศสเมื่อเดือนเมษายนหลังจากที่ประธานาธิบดีมาครงใช้มาตรการเผด็จการเพื่อผ่านกฎหมายยืดเวลาเกษียณโดยไม่ผ่านรัฐสภา การต่อสู้ในฝรั่งเศสลามไปสู่ประเด็นอื่น เช่นเรื่องประชาธิปไตยที่ขาดตกบกพร่องมานาน และเรื่องอื่นที่มีความไม่พอใจสะสมอยู่ เช่นเรื่องวิกฤตค่าครองชีพและผลกระทบจากโควิดอีกด้วย

เป็นที่น่าเสียดายที่การต่อสู้รอบนั้นไม่นำไปสู่การล้มรัฐบาล และการตั้งรัฐบาลฝ่ายซ้าย ด้วยเหตุที่ผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติพยายามประนีประนอมเสมอ เพราะกลัวการต่อสู้ของมวลชนจะทำลายความสงบของสังคมทุนนิยมและฐานะของผู้นำแรงงานเหล่านั้น

แต่มันไม่ใช่แค่รัฐบาลฝรั่งเศสเท่านั้นที่ต้องการยืดเวลาทำงานของเรา รัฐบาลทั่วโลกในระบบทุนนิยมต้องการจะทำเช่นนั้น และแอบอ้างว่าเป็นการ “ปฏิรูป” ระบบบํานาญบําเหน็จ  ทั้งๆ ที่เป็นการพยายามที่จะ “ทำลาย” สวัสดิการของเรา

การใช้คำว่า“ปฏิรูป” ในลักษณะที่ไม่ซื่อสัตย์  ไม่ต่างจากพวกที่เป่านกหวีดเรียกทหารมาทำรัฐประหารแล้วอ้างว่าจะ “ปฏิรูป” ระบบการเมืองไทย สรุปแล้วเมื่อไรที่ชนชั้นปกครองและนักวิชาการกับนักข่าวที่รับใช้นายทุนพูดถึงการ “ปฏิรูป” เขาหมายถึงการทำลายสิทธิและสภาพชีวิตของกรรมาชีพเสมอ

สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือบำเหน็จและบํานาญ เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่กรรมาชีพคนทำงานสะสมและออมในชีวิตการทำงาน มันไม่ใช่ของขวัญที่นายจ้างหรือรัฐมอบให้เราฟรีเลย ดังนั้นการยืดอายุเกษียณก่อนที่จะมีสิทธิ์ได้บำเหน็จบํานาญถือว่าเป็นการตัดค่าจ้างหรือขโมยค่าจ้างของเรา เพราะเราถูกบังคับให้ทำงานนานขึ้นเพื่อสวัสดิการเท่าเดิม

ขณะนี้อายุเกษียณในประเทศตะวันตกกำลังถูกยืดออกไปจากที่เคยเป็นอายุ 60 ไปเป็น 67 ในสหรัฐ กรีซ เดนมาร์ก อิตาลี่ 66 ในอังกฤษกับไอร์แลนด์ และ65.7 ในเยอรมัน

ในสเปนรัฐบาลไม่ขยายอายุเกษียณ แต่เรียกเก็บเงินสมทบบำเหน็จบำนาญจากหนุ่มสาวที่เริ่มทำงานแทน มันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการตัดค่าจ้างหรือขโมยค่าจ้างของกรรมาชีพเช่นกัน และในประเทศอื่นๆ เช่นอังกฤษมีการตัดระดับสวัสดิการที่คนงานพึงจะได้หลังเกษียณ

สำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ เรามองว่าในระบบทุนนิยมหลังจากที่เราทำงานและถูกขูดรีดมาตลอดชีวิตการทำงาน กรรมาชีพควรมีสิทธิ์ที่จะเกษียณและรับบำเหน็จบํานาญในระดับที่ปกป้องคุณภาพชีวิตที่ดี มันไม่ต่างจากเรื่องการรณรงค์เพื่อค่าจ้างที่อยู่ในระดับที่พอเหมาะกับคุณภาพชีวิตที่ดี

ยิ่งกว่านั้น เราชาวมาร์คซิสต์เข้าใจว่าในระบบทุนนิยม ค่าจ้างบวกกับบำเหน็จบำนาญ ไม่เคยเท่ากับมูลค่าที่เรามีส่วนในการผลิต เพราะนายทุน ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือฝ่ายรัฐ ขโมย “มูลค่าส่วนเกิน” ไปในระบบการขูดรีดแรงงาน เพื่อเอาไปเป็น “กำไร”

การขูดรีดดังกล่าวเกิดขึ้นในทุกภาคของเศรษฐกิจ เพราะคนทำงานในภาคบริการ เช่นพนักงานโรงพยาบาล หรือครูบาอาจารย์มีส่วนในทางอ้อมที่จะเพิ่มมูลค่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดูแลสุขภาพคนงาน หรือการเพิ่มฝีมือความสามารถผ่านการศึกษา คนที่ทำงานในภาคขนส่งก็เช่นกัน เพราะอุตสาหกรรมจะขายสินค้าไม่ได้ และไม่มีคนงานมาทำงานถ้าไม่มีระบบขนส่ง

ในขณะที่มีการยืดอายุเกษียณออกไปตอนนี้ ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาอายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองในประเทศพัฒนาได้ลดลง หลังจากที่เคยเพิ่ม สาเหตุมาจากโควิด และนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการต่างๆ ของรัฐบาลที่ใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่เพื่อกู้คืนเงินที่รัฐเคยนำไปอุ้มธนาคารในวิกฤตเศรษฐกิจ คือมีการพยายามดึงรายได้รัฐที่เคยอุดหนุนกลุ่มทุนกลับมาจากคนทำงานและคนจน

ในประเทศพัฒนาอายุขัยของประชาชนลดลงจาก 72.5 ในปี 2019 เหลือ 70.9 ในปี 2021 ซึ่งหมายความว่าการยืดอายุเกษียณออกไปถึง 67 แปลว่ากรรมาชีพโดยเฉลี่ยจะตายภายใน 4 ปีหลังเกษียณ

ยิ่งกว่านั้นมันมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนคนจนกับคนรวย เช่นในอังกฤษคนที่อาศัยอยู่ในย่านยากจนจะตายก่อนคนที่อาศัยในย่านร่ำรวยถึง 8 ปี

อย่างไรก็ตามพวกที่รับใช้ชนชั้นนายทุนจะอ้างว่าตอนนี้ระบบทุนนิยม “ไม่สามารถ” จ่ายบำเหน็จบำนาญในระดับเดิมได้ โดยมีการใช้คำแก้ตัวว่า (1) สัดส่วนคนชราในสังคมเพิ่มในขณะที่คนในวัยทำงานลดลง (2) อายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองยาวขึ้น คือโดยเฉลี่ยเราตายช้าลงนั้นเอง ดังนั้นเรา “ต้อง” ทำงานนานขึ้น และ(3) ถ้าไม่เปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญ รัฐบาลจะรักษา “วินัยทางการคลัง” ยากขึ้น

ในขณะเดียวกันพวกคลั่งกลไกตลาดเสรีที่เชียร์การยืดอายุการทำงานหรือการตัดบำเหน็จบำนาญ ไม่เคยพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมเลย ไม่เคยเสนอว่าเราควรจะเพิ่มความเสมอภาค มีแต่จะเชียร์การทำลายมาตรฐานชีวิตของคนจนคนทำงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม

คำแก้ตัวของชนชั้นปกครองฟังไม่ขึ้น

(1)  ในเรื่องสัดส่วนคนชราในสังคมที่เพิ่มขึ้นในขณะที่คนในวัยทำงายลดลง ถ้ามีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านการลงทุน คนในวัยทำงานจะสามารถพยุงคนชราได้ ในยามปกติทุนนิยมจะมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องได้ และแค่การขยาย GDP (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ)  เพียง 1% อย่างต่อเนื่อง ก็เพียงพอที่จะอุ้มคนชราได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่ทุนนิยมมักมีวิกฤตเสมอเพราะมีการลดลงของอัตรากำไร ดังนั้นบ่อยครั้งการลงทุนจะไม่เกิดขึ้น อันนี้เป็นข้อบกพร่องใหญ่ของทุนนิยมและกลไกตลาดเสรี ซึ่งแก้ได้ถ้าเรายกเลิกทุนนิยมและนำการวางแผนการผลิตโดยกรรมาชีพมาใช้แทนในระบบสังคมนิยม

นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เพราะในที่สุดสัดส่วนนั้นจะคงที่และไม่เปลี่ยนอีก

มาตรการชั่วคราวอันหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหานี้คือการเปิดพรมแดนต้อนรับคนงานจากที่อื่นเพื่อเข้ามา แต่ทุกรัฐบาลต้องการรณรงค์แนวคิดชาตินิยมเหยียดเชื้อชาติสีผิว เพื่อแบ่งแยกกรรมาชีพไม่ให้รวมตัวกัน ดังนั้นรัฐบาลต่างๆ ในระบบทุนนิยมจะมีปัญหาในการยกเลิกพรมแดนหรือต.ม.ที่ควบคุมคนเข้าเมือง

(2) ในเรื่องอายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองที่ยาวขึ้นนั้น (ยกเว้นในยุคนี้ในตะวันตก) สิ่งแรกที่เราต้องฟันธงคือมันเป็นสิ่งที่ดีที่พลเมืองเริ่มมีอายุยืนนานขึ้น แต่ชนชั้นนายทุนมองว่าเป็นเรื่องแย่ เขาต้องการให้เราทำงานตลอดชีวิตแล้วพอเกษียณก็ตายไปเลย คือใช้เราแล้วก็ทิ้งไปเลย ไม่มีการเคารพพลเมืองว่าเป็นมนุษย์แม้แต่นิดเดียว ส่วนนักมาร์คซิสต์สังคมนิยมจะมองว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อรับใช้และถูกขูดรีดอย่างเดียว เราต้องการให้มนุษย์สามารถใช้เวลาในชีวิตที่ยาวขึ้นเพื่อขยายคุณภาพชีวิตและเพื่อให้เราสามารถมีกิจกรรมที่สร้างความสุขให้กับเรา การขยายอายุเกษียณมันสวนทางกับสิ่งนี้

(3) ในเรื่องข้ออ้างว่าถ้าไม่เปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญ รัฐบาลจะรักษา “วินัยทางการคลัง” ยากขึ้นนั้น การรักษา “วินัยทางการคลัง” เป็นศัพท์ที่ฝ่ายขวาใช้เสมอเวลาพูดถึงค่าใช้จ่ายของรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ พวกนั้นเคยไม่มีการพูดถึงปัญหาจากค่าใช้จ่ายในเรื่องงบประมาณทหาร หรืองบประมาณที่ใช้เลี้ยงคนชั้นสูงให้มีชีวิตหรูหรา

“วิกฤตของกองทุนบำเหน็จบำนาญ” ที่นักการเมืองและนักวิชาการเสรีนิยมพูดถึง ไม่ได้มาจากการที่มีคนชรามากเกินไปแต่อย่างใด แต่มาจากการที่รัฐบาลและบริษัทลดงบประมาณที่ควรใช้ในการสนับสนุนกองทุนดังกล่าว และไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราสูง เพราะเป้าหมายรัฐบาลในระบบทุนนิยมคือการเพิ่มอัตรากำไรโดยทั่วไป

ประเด็นเรื่องคนชราเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการแบ่งมูลค่าในสังคมที่คนทำงานสร้างขึ้นมาแต่แรก  บำเหน็จบำนาญเป็นเงินเดือนที่รอจ่ายหลังเกษียณ ไม่ใช่เงินของรัฐหรือนายทุน แนวคิดเสรีนิยมต้องการจะรุกสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนายทุน และจะพูดเสมอว่าเราตัดงบประมาณทหารหรืองบเลี้ยงดูอภิสิทธิ์ชนไม่ได้ และการเพิ่มภาษีให้กับนายทุนและคนรวยก็เช่นกัน พวกนี้จะพูดว่าถ้าเพิ่มภาษีให้นายทุนเขาจะหมดแรงจูงใจในการลงทุน แล้วแรงจูงใจในการทำงานของเราหายไปไหน?  ถ้านายทุนไม่พร้อมจะทำประโยชน์ให้สังคม เราควรจะยึดทรัพย์เขาเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ไปเอาใจพวกหน้าเลือดที่ขูดรีดเรา

ในสหรัฐอเมริกากับยุโรประดับรายได้ของคนธรรมดา แย่ลงเรื่อย ๆ และคนงานส่วนใหญ่ต้องทำงานเพิ่มอีกหลายวันต่อปี แต่ในขณะเดียวกันสัดส่วนมูลค่าการผลิตที่ตกกับผู้บริหารและเจ้าของทุนมีการเพิ่มขึ้นมหาศาล

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่นำไปสู่การล้มละลายของธนาคาร ข้อแก้ตัวใหม่ที่รัฐบาลต่างๆ ใช้ คือ “ปัญหาหนี้สินของรัฐ” แต่เขาไม่ซื่อสัตย์พอที่จะยอมรับว่าหนี้ของภาครัฐมาจากการอุ้มธนาคารที่ล้มละลายจากการปั่นหุ้นในตลาดเสรี หรือมาจากการล้มละลายของธนาคารเมื่อมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางเพื่อหวังลดเงินเฟ้อผ่านการขู่กรรมาชีพว่าจะตกงานถ้าเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม ในความเป็นจริงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ช่วยลดเงินเฟ้อในยุคปัจจุบันที่มาจากการผลิตที่ต้องหยุดไปในช่วงโควิด หรือจากผลของสงครามในยูเครน การขึ้นดอกเบี้ยเป็นนโยบาย “มั่ว” ของคนที่ไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและนึกได้แค่ว่าถ้าก่อให้เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจเงินเฟ้อจะลดลง

ดังนั้นพวกนี้พร้อมจะให้คนธรรมดาแบกรับภาระวิกฤตที่นายธนาคารและนายทุนสร้างแต่แรก ในขณะเดียวกันพวกนายทุนและนักการเมืองก็ขยันดูแลตนเอง โดยรับประกันว่าพวกเขาจะได้บำเหน็จบำนาญหลายร้อยเท่าคนธรรมดาเมื่อตนเองเกษียณ

ในไทย

อายุเกษียณในไทยคือ 60ปี ซึ่งเหมือนกับมาเลเซีย และใกล้เคียงกับของ อินโดนีเซีย (58) บังกลาเทศ (59) และศรีลังกา (55) สิงคโปร์ (63) เวียดนาม (61)

อายุขัยของคนไทยตอนนี้อยู่ที่ 72.5 ปีสำหรับชาย และ78.9 ปีสำหรับหญิง แต่นอกจากจะมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนเหมือนที่อื่นๆ ในโลกทุนนิยมแล้ว อายุสุดท้ายโดยเฉลี่ยของการยังมีสุขภาพที่ดีในไทยคือ  68 ปีสำหรับชาย และ 74 ปีสำหรับหญิง พูดง่ายๆ กรรมาชีพไทยที่เป็นชายจะมีสุขภาพที่ดีพอที่จะดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพแค่ 8 ปีหลังเกษียณ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่มีทรัพย์สินพอที่จะสามารถหยุดงานตอนอายุ 60 ได้อีกด้วย

ถ้าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในไทย ก่อนอื่นต้องมีการสร้างรัฐสวัสดิการที่มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร รวมถึงบำเหน็จบำนาญสำหรับวัยชรา เพื่อให้คนเกษียณมีชีวิตอยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรี โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนในครอบครัว หรือพึ่งตนเองท่ามกลางความยากจน ในอดีตคนชราจำเป็นต้องพึ่งพาลูกหลาน แต่ลูกหลานก็ไม่ค่อยมีรายได้เพียงพอที่จะดูแลตนเองและครอบครัวอยู่แล้ว

เมื่อพูดถึง “รัฐสวัสดิการ” เรามักจะได้ยินพรรคการเมืองที่อ้างว่าจะสร้าง แต่ในความเป็นจริงเขาหมายถึงแค่สวัสดิการแบบแยกส่วนและเพื่อคนที่ต้องพิสูจน์ความจน ไม่ใช่แบบถ้วนหน้า ครบวงจร “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่อาศัยการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน

สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขในสังคมไทยคือปัญหารายได้ของคนชราปัจจุบัน ดังนั้นการเสนอว่าพลเมืองต้องจ่ายประกันสังคมครบหลายๆ ปีก่อนที่จะได้รับสวัสดิการไม่ใช่ทางออกในระยะสั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพัฒนาคือระบบบำเหน็จบำนาญสำหรับนายทุนน้อยอย่างเช่นเกษตรกรในชนบท คือต้องมีระบบบำเหน็จบำนาญที่ใช้กองทุนของรัฐผ่านการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อให้พลเมืองทุกคน ทั้งในเมืองและในชนบทมีชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ

นอกจากนี้ต้องมีการปรับเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น เพื่อให้พอเพียงสำหรับประชาชนทุกคน และเพื่อให้ทุกคนสามารถออมและจ่ายเงินสมทบทุนประกันสังคมได้อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าเราต้องร่วมรณรงค์ให้สหภาพแรงงานมีเสรีภาพ อำนาจต่อรอง และความมั่นคงมากขึ้น และต้องมีการสร้างพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพเอง ไม่ใช่ไปหวังพึ่งพรรคการเมืองที่นำโดยนายทุนแต่มีผู้แทนจากแรงงานสองสามคนเป็นเครื่องประดับอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน ประเทศไทยมีกลุ่มทุนใหญ่ มีเศรษฐีและอภิสิทธิ์ชนที่มีทรัพย์สินในระดับเศรษฐีสากล มีกองทัพที่ใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือเพื่อทำรัฐประหารทำลายประชาธิปไตย นี่คือสาเหตุที่สังคมเรามีความเหลื่อมล้ำสูง

พวกที่ปกครองเรามักเรียกร้องให้เรา “สามัคคี” และ “รักชาติ” และเรียกร้องให้เราหมอบคลานก้มหัวให้อภิสิทธิ์ชนหรือผู้ใหญ่ แต่เขาเองไม่เคยเคารพพลเมืองในสังคม ไม่เคยมองว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ใช้ชีวิตในระดับที่ดี โดยเฉพาะในวัยชรา

หลังฝ่ายซ้ายชนะเลือกตั้งในชิลี จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กาเบรียล บอริก (Gabriel Boric) อายุ 35 ปี ผู้แทนฝ่ายซ้าย และอดีตแกนนำนักศึกษาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศชิลี

บอริก เชื่อว่าเขาสามารถจะปฏิรูปสังคมชิลีแบบถอนรากถอนโคนได้ผ่านรัฐสภา โดยเฉพาะในเรื่องบำเหน็จบำนาญ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาเป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการนักศึกษาในรอบสิบปีที่ผ่านมา เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่พอใจกับนโยบายกลไกตลาดที่รัฐบาลในอดีตใช้ จึงมีการชุมนุมอย่างดุเดือดเพื่อเรียกร้องการศึกษาฟรี

บอริก ชนะผู้แทนฝ่ายขวาสุดขั้ว โฮเซ่ อันโตนิโอ คาสต์ (José Antonio Kast) ที่มาจากครอบครัวนาซีเยอรมัน และปกป้องประวัติศาสตร์ของเผด็จการ พิโนเชต์ ที่ขึ้นมามีอำนาจหลังรัฐประหารโหดในปี 1973 รัฐประหารครั้งนั้นทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของของประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ แห่งพรรคสังคมนิยม หลังรัฐประหารพวกทหารเผด็จการไล่ฆ่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายรวมถึง อาเยนเดย์ เอง และมีคนก้าวหน้าติดคุกจำนวนมาก นอกจากนี้ชิลีกลายเป็นสถานที่ทดลองนโยบายกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว

ชัยชนะของ บอริก มาจากกระแสการประท้วงไล่รัฐบาลนายทุนในปี 2019 ซึ่งเป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมนิยมเป็นพรรคปฏิรูปที่รับแนวกลไกตลาดมาใช้ สิ่งที่จุดประกายการประท้วงปี 2019 คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเชต์ เวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวง และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย เรื่องหลักสองอย่างคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชต์ในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

ก่อนหน้าที่ บอริก จะชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มีการรณรงค์โดยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยกเลิกรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ ซึ่งในที่สุดกระแสนี้ชนะประชามติให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่น่าทึ่งคือสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกมาประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหว 100 คนจากตำแหน่งทั้งหมด 150 ตำแหน่ง ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรกเป็นผู้หญิงพื้นเมือง คนที่สองเป็นนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม และมีนักเคลื่อนไหว GLBT+ เป็นรองประธานอีกด้วย ไม่เหมือนสภาร่างรัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่มักประกอบไปด้วยพวกนักกฎหมายและผู้ใหญ่ล้าหลัง

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรก

ความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวในชิลี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขบวนการของคนที่ไม่ไว้ใจนักการเมืองมากนัก ทำให้ผู้แทนฝ่ายขวา คาสต์ ชนะการเลือกตั้งรอบแรก เพราะนักเคลื่อนไหวไม่ออกมาลงคะแนนเนื่องจากมองว่าการเลือกตั้งไม่สำคัญ แต่เมื่อมันชัดเจนว่า คาสต์ มีนโยบายล้าหลังแค่ไหนและอาจชนะ คนเหล่านี้ก็ออกมาลงคะแนนในการเลือกตั้งรอบสอง และทุ่มคะแนนให้ บอริก แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเขาไว้ใจเชื่อ บอริก โดยไม่มีเงื่อนไข

บอริกตอนเป็นนักเคลื่อนไหว
ใส่สูท

บอริก เองทั้งๆ ที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา เริ่มประนีประนอมกับฝ่ายนายทุนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เริ่มใส่สูทและตัดผมให้สั้นลง และในการปราศรัยหลังชนะการเลือกตั้งก็ประกาศว่าจะเป็นประธานาธิบดีของประชาชน “ทุกคน” ไม่ใช่แค่ของกรรมาชีพ คนจน หรือผู้ถูกกดขี่ และในนโยบายเศรษฐกิจจะสนับสนุน “เศรษฐกิจผสม” คือภาครัฐกับภาคเอกชน แทนที่จะเสนอว่าจะยึดกิจการสำคัญๆ มาเป็นของรัฐ ทุกวันนี้เหมืองแร่หลายแห่งอยู่ในมือบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะเหมืองลิเธียม ซึ่งใช้ในการสร้างแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถไฟฟ้า ชิลีมีแหล่งลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและถูกควบคุมโดยทุนสหรัฐกับจีน

ในอดีตหลังจากที่มีการนำนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เข้ามาในหลายๆ ประเทศของลาตินอเมริกา การส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ น้ำมัน และผลผลิตทางเกษตร กลายเป็นกิจกรรมหลักที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรม การพึ่งการส่งออกวัตถุดิบแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวขาดเสถียรภาพ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ซึ่งบางครั้งขึ้นบางครั้งลง ตอนราคาวัตถุดิบสูงมีหลายรัฐบาลที่ใช้เงินนี้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน แต่พอราคาตกต่ำก็มีการนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้อย่างโหดร้าย [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/340NB9L และ https://bit.ly/2DlwMsp ]

ประวัติศาสตร์ของรัฐบาลซ้ายปฏิรูปในชิลีและที่อื่น สอนให้เรารู้ว่าผู้นำฝ่ายซ้ายที่ต้องการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จะเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาลจากกลุ่มทุน ชนชั้นปกครอง และประเทศจักรวรรดินิยม ถ้าไม่ยอมประนีประนอมก็จะถูกโค่นล้มด้วยความรุนแรง มันมีวิธีการเดียวที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง คือการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะกรรมาชีพ และการทำแนวร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ข้ามพรมแดนกับขบวนการในประเทศอื่นๆ ของลาตินอเมริกา เพื่อลดอิทธิพลของจักรวรรดินิยม

ขบวนการแรงงานชิลีในท่าเรือและในเหมืองแร่เข้มแข็ง เพราะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจการส่งออก นอกจากนี้สหภาพแรงงานในภาครัฐเช่นในระบบการศึกษาและโรงพยาบาลก็เข้มแข็งด้วย

ถ้า บอริก จริงจังที่จะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสังคมชิลี เขาจะต้องจับมือทำแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และจะต้องปลุกระดมนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพ แต่นักการเมืองที่เปลี่ยนไปใส่สูทเพื่อให้ชนชั้นปกครองและคนชนชั้นกลางยอมรับเขา มักจะหันหลังให้กับการปลุกระดม ซึ่งแปลว่านักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าจะต้องนำการต่อสู้จากล่างสู่บนเอง แต่ถ้าขาดพรรคปฏิวัติที่โตพอ เพื่อประสานการต่อสู้ในหลายๆ ประเด็น และเพื่อร่วมถกเถียงและเสนอแนวทางการต่อสู้ การนำจากล่างสู่บนจะยากขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังไม่ถึงจุดที่จะสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชิลีไม่ได้

กรรมาชีพในอาชีพใหม่ๆของศตวรรษนี้รวมตัวกันสู้ได้หรือไม่?

[แนะนำหนังสือ “Nothing to lose but our chains.” โดย เจน ฮาร์ดี้]

ในยุคนี้เรามักจะได้ยินคำพูดของคนที่มองว่า “ชนชั้นกรรมาชีพกำลังหายไป” หรือ “พลังการต่อสู้ของกรรมาชีพอ่อนตัวลง” หรือ “สภาพการทำงานที่มั่นคงกำลังสูญหายไป” คำพูดเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลจีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลจีดิจิตอล หรือท่ามกลางการขยายตัวของวิธีการทำงานแบบใหม่อย่างเช่น “แรงงานแพลตฟอร์ม”

ในหนังสือ “ไม่มีอะไรจะเสียนอกจากโซ่ตรวนของเรา” เจน ฮาร์ดี้ ได้รายงานผลการวิจัยเรื่องสภาพการทำงานในอังกฤษในยุคปัจจุบัน พร้อมกับฉายภาพวิธีการต่อสู้ของแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาหลายประเด็นปัญหา และความเชื้อเท็จเรื่องการทำงานในศตวรรษที่21

ประเด็นหนึ่งที่เจน ฮาร์ดี้ พิจารณาคือเรื่องสภาพการทำงานที่ไร้ความมั่นคง และเต็มไปด้วยความยืดหยุ่น ซึ่งมีการอ้างกันว่าเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ โดยเฉพาะภายใต้ “เสรีนิยมใหม่” แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์การทำงานแล้ว จะพบว่าการทำงานที่ไร้ความมั่นคงมีมาตลอด ตั้งแต่กำเนิดของทุนนิยม และสัดส่วนการทำงานที่มั่นคงเมื่อเทียบกับการทำงานที่ไร้ความมั่นคง มักขึ้นลง โดยถูกกำหนดจากระดับการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ความต้องการของนายจ้างที่จะลงทุนในการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพ และกระแสทางการเมือง ข้อสรุปคือไม่มีข้อมูลที่รองรับความเชื่อว่าทุนนิยมสมัยใหม่สร้างงานที่ไร้ความมั่นคงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่มีข้อมูลใดๆ ที่สนับสนุนความเชื่อว่าชนชั้นกรรมาชีพกำลังลดลงแต่อย่างใด

ในอังกฤษจำนวนกรรมาชีพเพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านในปี 1997 เป็น 33 ล้านในปี 2020 ทั่วโลกก็เป็นในลักษณะแบบนี้หมดด้วย

นอกจากนี้การทำงานแบบไร้ความมั่นคงอาจเกิดขึ้น ทั้งๆที่มีสัญญาการจ้างงานที่ชัดเจน คือความไม่มั่นคงอาจมาจากระดับค่าแรงที่ต่ำเกินไปที่จะเลี้ยงชีพเป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้มีมานาน

คนงานสร้างเกม

บ่อยครั้งความเชื่อที่ไม่ตรงกับความจริง มักเกิดจากความเข้าใจผิดว่า “มูลค่าส่วนเกิน” เกิดจากการทำงานของกรรมาชีพในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งนักมาร์คซิสต์ไม่เคยเสนอว่าเป็นอย่างนั้น ในความเป็นจริงมูลค่าส่วนเกินเกิดขึ้นในทุกภาคของเศรษฐกิจ และเราจะเห็นชัดเมื่อเราพิจารณาภาพรวมของระบบทุนนิยม คือเกิดจากการผลิต การขนส่ง การค้า ระบบธนาคาร การพัฒนาการศึกษา และจากระบบสาธารณสุขด้วย ไม่ได้เกิดณจุดเดียว และยิ่งกว่านั้นมาร์คซิสต์ไม่เคยแยกการทำงานด้วยกล้ามเนื้อออกจากการทำงานด้วยสมอง การทำงานทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันและคู่ขนานกันเสมอ และข้อเสนอของบางคน รวมถึงพวกอนาธิปไตยในอิตาลี่ ว่าระบบเศรษฐกิจที่ “ไร้น้ำหนัก” (คืออาศัยการทำงานแบบความคิดเป็นหลัก) กำลังเข้ามาแทนที่ระบบการผลิตสินค้านั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะแม้แต่คนงานไอที ที่ผลิตโปรแกรมหรือแอพหรือเกม ก็ผลิตสินค้าที่จับต้องได้

ในไทยนักวิชาการสายแรงงานบางคนเชื้อผิดๆ ว่า “การขูดรีด” เกิดขึ้นแค่ในกรณีที่มีการจ้างงานแบบไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ในความจริง “การขูดรีด” เกิดจากการขโมยมูลค่าส่วนเกินจากการทำงานของกรรมาชีพโดยนายจ้างหรือรัฐ มันเกิดขึ้นในทุกที่และเป็นกำเนิดของ “กำไร” ซึ่งมาร์คซ์อธิบายไว้ใน “ทฤษฏีมูลค่าแรงงาน”

แน่นอนระบบทุนนิยมเป็นระบบที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำงานในภาคหนึ่งอาจหายไปหรือลดลง เช่นในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่การทำงานในภาคใหม่หรือในรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ในอังกฤษยุคสมัยนี้คนงานในภาคการศึกษาและภาคสวัสดิการของรัฐ เพิ่มขึ้นมาก แต่อุตสาหกรรมก็ยังมีอยู่ ระบบสาธารณสุขของรัฐ (NHS) มีลูกจ้างทั้งหมด 1.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่มีลูกจ้างมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก มันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

ส่วนเรื่องหุ่นยนต์ในระบบการผลิตนั้น ไม่มีข้อมูลว่าทำให้การจ้างงานในภาพรวมลดลง มันอาจลดลงในกิจการหนึ่ง แต่ไปเพิ่มที่อื่น เช่นการเพิ่มขึ้นของแรงงานในคลังสินค้ายักษ์ของบริษัทอเมซอนเป็นต้น นอกจากนี้ในการผลิตรถยนต์ บางบริษัทเริ่มลดจำนวนหุ่นยนต์ลง เพราะไม่ยืดหยุ่นและฉลาดเท่าแรงงานมนุษย์

การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของการทำงานในระบบทุนนิยมไม่ได้ทำลายโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อสู้กับนายจ้างแต่อย่างใด มันแค่เปลี่ยนรูปแบบของสหภาพแรงงาน หรือเปลี่ยนกองหน้าของขบวนการแรงงานเท่านั้น

และสิ่งที่ เจน ฮาร์ดี้ เน้นในหนังสือเล่มนี้คือ “ไม่มีที่ไหนที่จัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้” มันขึ้นอยู่กับว่านักปฏิบัติการสายแรงงานพร้อมจะลงมือจัดตั้งหรือไม่

สิ่งนี้ถูกพิสูจน์จากประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานสากล และจากกรณีศึกษาของ เจน ฮาร์ดี้ เอง คือเขาเข้าไปสำรวจการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการต่อสู้กับนายจ้างในกิจการต่างๆ เช่น กลุ่มพนักงานทำความสะอาดที่ทำงานให้กับบริษัทเอาท์ซอร์สหรือรับเหมาช่วง กลุ่มคนงานหญิงรายได้ต่ำ แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานที่เขียนโปรแกรมสำหรับเกมคอมพิวเตอร์ ครูบาอาจารย์ หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในคลังสินค้า และ ฮาร์ดี้ พบว่าในทุกสถานที่ทำงานเหล่านี้ มีความพยายามที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง บางแห่งอาจประสบความสำเร็จมาก บางแห่งอาจน้อย แต่ไม่มีที่ไหนที่จัดตั้งไม่ได้ และไม่มีที่ไหนที่คนไม่พยายามออกมาต่อสู้

แม้แต่ในไทยเรายังเห็นการจัดตั้งสหภาพแรงงานในคนงานไรเดอร์ ที่ถือว่าเป็นคนงานแพลตฟอร์ม เช่นกรณี “สหภาพไรเดอร์” ที่พึ่งต่อรองเรื่องสภาพการจ้างงานกับบริษัท ลาลามูฟ อีซี่แวน คนงานประเภทนี้ทั่วโลกกำลังเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนามาตรฐานการจ้างงาน โดยที่บริษัทต่างๆ อ้างว่าคนงานแพลตฟอร์มเป็น “ผู้ประกอบการเอง” หรือเป็น “ผู้มีหุ้นส่วนในบริษัท” ทั้งๆ ที่เป็นลูกจ้างชัดๆ ข้ออ้างของบริษัทกระทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายสวัสดิการใดๆ และเพื่อผลักภาระจากการทำงานที่ไม่มีความมั่นคงไปสู่ลูกจ้าง

ภาพจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ในอังกฤษสหภาพแรงงานของคนทำงานแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ทำการประท้วง หยุดงาน และใช้กระบวนการศาลเพื่อบังคับให้บริษัทต้องยอมรับว่าเป็นลูกจ้าง ที่สหรัฐและอังกฤษสหภาพแรงงานทำอาหารในร้านฟาสท ฟูดอย่างเช่นแมคโดนัลด์ หรือในบาร์ ก็กำลังจัดตั้งสหภาพแรงงานเช่นกัน

ในกรณีที่รัฐกับนายจ้างจับมือกันและใช้กฎหมายเพื่อทำให้การนัดหยุดงานยากขึ้น การต่อสู้ก็ยังทำได้ในหลายระดับตั้งแต่การนัดหยุดงานถูกกฎหมาย การนัดหยุดงานผิดกฎหมาย การขู่ว่าจะหยุดงาน การลงคะแนนเสียงเรื่องว่าจะหยุดงานหรือไม่ หรือการประชุมกลางแจ้งเพื่อกดดันนายจ้างเป็นต้น

สำหรับวิธีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เจน ฮาร์ดี้ กล่าวถึง “รูปแบบการจัดตั้ง” (Organising Model) ที่นำเข้ามาในอังกฤษจากขบวนการแรงงานสหรัฐ เพื่อเปลี่ยนทิศทางสหภาพแรงงานจากแค่การบริการสมาชิก มาเป็นการจัดตั้งเพื่อเพิ่มพลังต่อรอง รูปแบบนี้อาศัยหลักการ 3 ประการคือ 1.แสวงหาผู้นำระดับรากหญ้าธรรมชาติ 2.เชื่อมโยงคนทำงานกับชุมชน และ 3.ทดสอบว่าผู้นำรากหญ้าสามารถทำให้คนส่วนใหญ่สนับสนุนการต่อสู้ได้หรือไม่ ผ่านการล่ารายชื่อเป็นต้น ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นเรื่องสามัญสำนึก แต่ถ้าใช้ในลักษณะที่ตามสูตรแบบกลไกอาจมีปัญหา เพราะผู้นำรากหญ้าบ่อยครั้งเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ เราไม่สามรถกำหนดล่วงหน้าได้ และเราอาจไม่จำเป็นต้องรอให้คนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานถึงขั้นพร้อมจะสู้ เพราะการออกมาสู้ของของกลุ่มหนึ่งแผนกหนึ่ง อาจกระตุ้นให้คนอื่นออกมาสู้ได้

เจน ฮาร์ดี้ สรุปว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการนัดหยุดงานหรือการประท้วงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เกิดขึ้นผ่านแกนนำที่เชื่อมโยงกับคนงานรากหญ้าอย่างใกล้ชิดและมีโครงสร้างสหภาพที่อำนวยให้คนงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา และบ่อยครั้งการมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในสหภาพ ช่วยทำให้การต่อสู้เข้มแข็งมากขึ้น

ฮาร์ดี้ เสนอต่อว่าในสถานการณ์สังคมที่การต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้น เช่นการต่อสู้กับการเหยียดสีผิวของขบวนการ Black Lives Matter และการประท้วงเรื่องโลกร้อน หรือถ้าจะยกตัวอย่างจากไทยก็คือการต่อสู้กับเผด็จการ บทบาทของนักสังคมนิยมที่เป็นสมาชิกพรรค และเป็นนักเคลื่อนไหวในสถานที่ทำงาน สามารถเชื่อมโยงโลกภายนอกรั้วสถานประกอบการ กับการต่อสู้ภายในได้ และสามารถนำกระแสอันมีพลังของการต่อสู้ทางการเมือง เข้ามาสร้างเป็นพลังการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานได้อีกด้วย พูดง่ายๆ การนำการเมืองภาพกว้างเข้ามาในสหภาพแรงงานและสถานที่ทำงาน ช่วยเสริมพลังการต่อสู้ของกรรมาชีพได้ ซึ่งข้อสรุปอันนี้ของ ฮาร์ดี้ ตรงกับสิ่งที่ โรซา ลัดคแซมเบอร์ค เคยเสนอในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป”

ตัวอย่างของการจัดตั้งกรรมาชีพในภาคการทำงานใหม่ๆ หรือในสถานที่ทำงานที่ไม่เคยมีสหภาพแรงงานมาก่อน ไม่ได้อาศัยการพยายามสร้าง “สหภาพแรงงานแดง” หรือ “สหภาพแรงงานปฏิวัติ” อย่างที่พวกลัทธิสหภาพอนาธิปไตยเสนอแต่อย่างใด เพราะการสร้างสหภาพแรงงานแบบนั้นจะไม่สามารถจัดตั้งคนส่วนใหญ่ได้เลย เพราะคนทำงานในสถานที่ต่างๆ มักจะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่การจัดตั้งสหภาพแรงงานและการนำการต่อสู้ในภาคการทำงานใหม่ๆ ถ้าจะมีพลังจริงๆ จะต้องอาศัยนักปฏิวัติสังคมนิยมที่จัดตั้งในพรรค และพร้อมจะปลุกระดมเพื่อนร่วมงานต่างหาก

[ Jane Hardy (2021) “Nothing to lose but our chains.” Pluto Press]

ใจ อึ๊งภากรณ์