Tag Archives: เสรีภาพ

สังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ คือเสรีประชาธิปไตยที่แท้จริง

ก่อนอื่นขอฟันธงว่า “สังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์” ไม่ใช่สิ่งเดียวกับเผด็จการ “สตาลิน/เหมา” ที่เคยมีในรัสเซีย และยังมีในจีน เกาหลีเหนือ หรือคิวบา และไม่ใช่สิ่งเดียวกับเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต ในท้ายบทความนี้จะอธิบายรายละเอียด แต่ก่อนอื่นขอเสนอว่าสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์คืออะไร

     มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอทสกี ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ มองว่า “สังคมนิยม” เป็นสังคมทางผ่านไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์สมบูรณ์ แต่เราไม่ควรยึดติดกับคำ เพราะในยุคนี้ทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกัน และเป็นสังคมที่ไม่มีระบบทุนนิยมแล้วเพราะถูกปฏิวัติยกเลิกไป

     สังคมนิยมคือวิธีการจัดการบริหารสังคมมนุษย์โดยเน้นความร่วมมือกันระหว่างพลเมือง เน้นความสมานฉันท์และเน้นความเท่าเทียมกัน แทนที่จะเน้นการแย่งชิงกัน หรือการเอารัดเอาเปรียบกัน ที่มาจากระบบความคิด “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ของทุนนิยมตลาดเสรี

     สังคมนิยมเป็นระบบที่ไม่มีชนชั้น คือไม่มีเจ้านายและผู้ถูกปกครอง ไม่มีคนส่วนน้อยที่ครอบครองทรัพยากรเกือบทั้งหมดในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีอะไรนอกจากการทำงานเพื่อคนอื่น มันเป็นระบบที่ยกเลิกนายทุนและลูกจ้าง และที่สำคัญคือเป็นระบบที่มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ แทนที่จะถูกจำกัดอยู่ในกรอบ สังคมนิยมคือสภาพมนุษย์ที่เป็นปัจเจกเสรีในระดับสูงสุดผ่านกระบวนการร่วมมือกับคนอื่นๆ ในสังคม

     ในระบบทุนนิยม ถ้าเรามีประชาธิปไตย มันก็แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าเราอาจมีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกรัฐบาล หรืออาจมีเสรีภาพในการแสดงออกบ้าง แต่เราไม่มีสิทธิ์ในการออกแบบและควบคุมเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจ การลงทุน และการผลิต ถูกควบคุมโดยนายทุนในรูปแบบการผูกขาดอำนาจ และเราไม่มีโอกาสร่วมในการปกครองตนเอง เพราะเรายังมีคนมาปกครองเราภายใต้ระบบชนชั้น ในระบบทุนนิยมนี้ แม้แต่ในประเทศที่ไม่มีกฏหมายเผด็จการแบบ 112 ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ก็ยังมีข้อจำกัดอื่นเช่นประเด็นว่าใครครองสื่อมวลชนเป็นต้น ดังนั้นสิทธิในการแสดงออกของคนธรรมดากับนายทุนสื่อ ต่างกันในรูปธรรม

     ในสังคมปัจจุบันเราไม่มีโอกาสเลือกว่าเราจะ “เป็นใคร” หรือ “เป็นอะไร” อย่างเสรี เพราะเราต้องไปหางานภายใต้เงื่อนไขนายทุน เด็กถูกแยกและคัดเลือกตั้งแต่อายุยังน้อย แยกออกว่าจะเป็น “ผู้ประสพความสำเร็จ” หรือเป็น “ผู้ไม่สำเร็จ” และเกือบทุกครั้งมันขึ้นอยู่กับว่าเด็กนั้นเกิดในตระกูลไหน มนุษย์จำนวนมากจึงไม่สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ท่ามกลางระบบชนชั้น

     ความ “เท่าเทียม” ของสังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “ความเหมือนกัน” เพราะสังคมนิยมจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนมีเสรีภาพที่จะเป็นปัจเจกเต็มที่ มันเปิดโอกาสให้เรามีนิสัยใจคอ วิถีชีวิต และรสนิยมตามใจชอบ แทนที่จะต้องแต่งเครื่องแบบ ถูกบังคับให้ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ และมีวิถีชีวิตในกรอบศีลธรรมและรสนิยมของชนชั้นปกครอง

     นักสังคมนิยมชื่อดัง เช่น คาร์ล มาร์คซ์ หรือ ลีออน ตรอทสกี้ เคยวาดภาพว่าภายใต้สังคมนิยมเราจะสามารถเป็นศิลปินหรือนักวิทยาศาสตร์ในตอนเช้า และเป็นช่างฝีมือหรือนักกิฬาในตอนบ่ายได้ ชีวิตแบบนั้นจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานโดยสิ้นเชิง เพราะเดิมมนุษย์รักการทำงานที่สร้างสรรค์ แต่พอเราตกอยู่ในสังคมชนชั้น งานกลายเป็นเรื่องซ้ำซากน่าเบื่อภายใต้คำสั่งของคนอื่น งานในระบบสังคมนิยมจะเป็นสิ่งที่เราอยากทำเพราะมันจะทำให้เรามีความสุขและรู้สึกว่าเรามีผลงานที่น่ายกย่องภูมิใจ

     แน่นอนงานบางอย่างคงไม่มีวันสนุกได้ เช่นการซักผ้า เก็บขยะ หรือการทำความสะอาดส้วม แต่งานแบบนั้นเราใช้เครื่องจักรมาทำแทนได้บ้าง และที่ยังต้องอาศัยมนุษย์ก็ผลัดกันทำ ไม่ใช่ว่ามีบางคนในสังคมที่ต้องทำงานแบบนี้ตลอดชีพ

     สังคมนิยมจะเป็นระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบทุนนิยม เพราะมีการวางแผนการผลิต ผ่านระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของพลเมือง ไม่ใช่นายทุนแข่งกันผลิตเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายจนเกิดการล่มจมและปิดโรงงานหรือเลิกจ้าง อย่างที่เราเห็นทั่วโลกตอนนี้ และสังคมนิยมจะไม่เปลืองทรัพยากรโดยการโฆษณาให้พลเมืองซื้อสิ่งที่ไม่ต้องการหรือไม่จำเป็น ยิ่งกว่านั้นถ้าเรากำจัดการแข่งขันแบบตลาด ซึ่งเป็นแค่ระบบ “ตัวใครตัวมัน” เราจะกำจัดความจำเป็นของการทำสงครามและประหยัดงบประมาณทหารมหาศาล การจัดการบริการประชาชนในปริมาณระดับคนหมู่มาก จะยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายอีก เรามั่นใจตรงนี้ได้เพราะระบบสาธารณสุขและการศึกษาแบบ “ถ้วนหน้า” ในระบบทุนนิยมที่มีรัฐสวัสดิการ ยังเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการบริการประชาชนผ่านบริษัทเอกชนหลายบริษัท

     ในระบบสังคมนิยมพลเมืองจะสามารถควบคุมคุณภาพ และออกแบบระบบการบริการได้อีกด้วย ผ่าน “สภาประชาชน” ในระดับถานที่ทำงาน ท้องถิ่น หรือภูมิภาค

     สภาประชาชนที่ว่านี้ เคยถูกออกแบบมาโดยคนทำงานธรรมดาในคอมมูนปารีส หรือหลังการปฏิวัติรัสเซียในยุคก่อนที่สตาลินจะยึดอำนาจ มันเป็นสภาที่เราถอดถอนผู้แทนที่เราเลือกมาได้ทุกเมื่อ เพื่อควบคุมเขาอย่างเต็มที่ มันเป็นระบบที่มีเขตการเลือกตั้งในสถานที่ทำงาน เพื่อควบคุมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองพร้อมๆ กัน และมันเป็นสภาที่ผู้แทนไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน ไม่กินเงินเดือนมากกว่าคนธรรมดา ต่างจากรัฐสภาในระบบทุนนิยมโดยสิ้นเชิง

     ในระบบสังคมนิยมเราจะขยันลบล้างความคิดล้าหลังในหมู่พลเมือง ที่นำไปสู่การดูถูกสตรี เกย์ ทอม ดี้ กะเทย คนต่างชาติ หรือคนกลุ่มน้อย และมนุษย์จะสามารถรักกันด้วยหัวใจ แทนที่จะรักกันภายใต้เงื่อนไขของเงินหรือศีลธรรมจอมปลอม

     สังคมนิยมคือระบบที่เราร่วมกันผลิตสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ต้องการ และเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการดังกล่าว จะใช้ระบบการทำงานของทุกคนตามความสามารถของแต่ละคน

ข้อเสียของทุนนิยม

ในระบบทุนนิยมมีการผลิตเพื่อกำไรของนายทุนอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อกำไรลดลง ก็จะเลิกผลิต ทั้งๆ ที่คนยังต้องการสินค้ามากมาย มันจึงเกิดวิกฤตแห่งการผลิต “ล้นเกิน” ท่ามกลางความอดอยากเสมอ ทุนนิยมนี้ไร้ประสิทธิภาพจริงๆ และทุกวันนี้เราเห็น “วิกฤตสามชนิดซ้อนกัน” ของระบบทุนนิยม ซึ่งมีผลในการทำลายวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งโลก ถึงขนาดที่เราไม่รู้ว่ามนุษย์จะมีอนาคตหรือไม่

     วิกฤตแรกคือวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้การผลิตชะลอตัวมาหลายปี และเมื่อมีการ “ฟื้นตัว” ของเศรษฐกิจก็จะเป็นการฟื้นตัวที่อ่อนแอไม่มั่นคง นี่คือสภาพของระบบเศรษฐกิจโลกแบบทุนนิยมที่มีต้นเหตุจากการลดลงของอัตรากำไร [อ่านเพิ่ม วิกฤตเศรษฐกิจ https://bit.ly/2v6ndWf ]

     วิกฤตที่สองคือวิกฤตโลกร้อนที่มาจากการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอนในระบบอุตสาหกรรมทุนนิยม  และเราเริ่มเห็นภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างน่าใจหาย ในอนาคตอันใกล้จะมีหลายพื้นที่ของโลกที่มนุษย์อยู่ต่อไม่ได้เพราะขาดน้ำ ร้อนเกินไป หรือถูกน้ำทะเลท่วม นักวิทยาศาสตร์ นายทุน และนักการเมืองรู้เรื่องนี้มานานแต่ไม่สามารถแก้อะไรได้ เพราะระบบการแข่งขันในตลาดเสรีเพื่อเพิ่มกำไรแปลว่าไม่มีใครอยากลงทุนอย่างจริงจังเพื่อยกเลิกการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน [อ่านเพิ่ม โลกร้อน และ Anthropocene https://bit.ly/2QMpL6F นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF ]

     วิกฤตที่สาม คือวิกฤตโควิด ซึ่งเกิดจากการที่ระบบการเกษตรทุนนิยมรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าดั้งเดิม ซึ่งทำให้สัตว์ป่าอย่างเช่นค้างคาว เข้ามาสัมผัสกับชุมชนแออัดในเมืองหรือฟาร์มขนาดใหญ่ และเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสกระโดดสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่ออาชีพการทำงานและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เมื่อมีการล็อกดาวน์ และแน่นอนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนจนและคนที่มีสถานภาพไม่มั่นคง เช่นคนงานข้ามชาติเป็นต้น [อ่านเพิ่มวิกฤตโควิด https://bit.ly/2UA37Cx ]

     สามวิกฤตซ้อนกันของทุนนิยมปัจจุบัน พิสูจน์ว่าเราต้องต่อสู้เพื่อสังคมใหม่

สังคมนิยมสองรูปแบบ

จะมีคนที่คิดว่าตนเองเป็น “ผู้รู้” และมาบอกเราว่า “สังคมนิยมสร้างไม่ได้” เพราะมันล้มเหลวที่รัสเซีย ยุโรปตะวันออก เวียดนาม ลาว หรือจีน และแถมมันเป็นเผด็จการด้วย ใช่ระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจที่เคยมีหรือยังมีอยู่ในประเทศเหล่านั้น มันเป็นเผด็จการที่ไม่มีเสรีภาพ และยิ่งกว่านั้นมันไม่มีความเท่าเทียมด้วย มันเป็นระบบชนชั้นที่กดขี่ขูดรีดพลเมืองในนามของ “สังคมนิยม” โดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อเราวิเคราะห์ที่มาที่ไปของระบบเหล่านี้ จะพบว่ามันเกิดขึ้นครั้งแรกในรัสเซียบนความพ่ายแพ้และซากศพของการปฏิวัติหลังจากที่เลนินเสียชีวิต มันเป็นการสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” โดยสตาลิน และในประเทศอื่นๆ หลังจากนั้นก็ลอกแบบกันมา ในจีนมันเป็นการปฏิวัติชาตินิยมของพรรคเผด็จการ และถ้าเราเปรียบเทียบบางเรื่องที่เห็นในเกาหลีเหนือทุกวันนี้ เราจะพบว่าคล้ายๆ ทุนนิยมตลาดเสรีของประเทศไทยอีกด้วย การวิเคราะห์ว่าระบบ “สตาลิน-เหมา” ตรงข้ามกับสังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งทำกัน แต่เป็นการวิเคราะห์ของนักมาร์คซิสต์อย่าง ลีออน ตรอทสกี หรือโทนนี่ คลิฟ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

     แนวคิดสังคมนิยมมีสองรูปแบบที่แตกต่างกันคือ

1.       สังคมนิยมจากบนสู่ล่าง เช่นสังคมนิยมที่มาจากการสร้างเผด็จการของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ในรัสเซียกับจีน(ภายใต้สตาลินกับเหมา) หรือสังคมนิยมปฏิรูปที่มาจากการกระทำของ ส.ส. พรรคสังคมนิยมในรัฐสภา สังคมนิยมดังกล่าวเป็นสังคมนิยมประเภท “ท่านให้” ซึ่งเป็นสังคมนิยมจอมปลอม บัดนี้สังคมนิยมจากข้างบนเข้าสู่วิกฤติทางการเมืองเนื่องจากการล่มสลายของการปกครองลัทธิสตาลินในรัสเซียและจีน และการที่แนวพรรคสังคมนิยมปฏิรูปในยุโรป เช่นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันและพรรคแรงงานในอังกฤษไม่พร้อมที่จะออกจากกรอบทุนนิยมตลาดเสรี และในเมื่อทุนนิยมมีวิกฤติเศรษฐกิจเรื้อรัง ก็ไม่สามารถใช้นโยบายรัฐสวัสดิการต่อไปในรูปแบบเดิม พรรคเหล่านี้จึงหันมาอ้างถึง “แนวทางที่สาม” ซึ่งเท่ากับการประนีประนอมกับระบบกลไกตลาดเสรีนั่นเอง

     ลัทธิสตาลินถือได้ว่าเป็นลัทธิที่สร้างขึ้นจากการปฏิวัติซ้อนที่ทำลายการปฏิวัติสังคมนิยมรัสเซีย เราต้องเข้าใจว่าลัทธิสตาลินเป็นลัทธิปฏิกิริยาและอนุรักษ์นิยมชนิดหนึ่งที่ตรงข้ามกับลัทธิมาร์คซ์และลัทธินี้มีอิทธิพลครอบงำการทำงานของนักต่อสู้ในประเทศไทยในสมัยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

2.       สังคมนิยมจากล่างสู่บน เป็นสังคมนิยมที่สร้างโดยมวลชนกรรมาชีพเองร่วมกับชาวนาระดับยากจน โดยอาศัยการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมเพื่อสถาปนารัฐกรรมาชีพ และรัฐกรรมาชีพดังกล่าวต้องมีกลไกในการควบคุมรัฐตามแนวประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เช่นต้องมีสภาคนงานในรูปแบบคอมมูนปารีส หรือสภาโซเวียตหลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่นำโดยเลนิน สังคมนิยมประเภทนี้คือสังคมนิยมแบบ มาร์คซิสต์เพราะสังคมนิยมเหมือนกับประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ไม่มีใครยกให้ได้ ต้องมาจากการต่อสู้เรียกร้องของมวลชนเอง

สังคมนิยมไม่ใช่แค่ความฝันแบบอุดมการณ์

คงจะมีคนล้าหลังหดหู่ที่พูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่า “มันเป็นแค่ความฝัน มันอุดมการณ์เกินไป” แต่เรามีคำตอบหลายประการ

     ในประการแรกสังคมนิยมไม่ใช่ “สวรรค์” เพราะมันจะไม่แก้ปัญหาทุกอย่างในสังคมมนุษย์ แต่มันจะเป็นการสร้างเสรีภาพ ความเท่าเทียม และความอยู่ดีกินดี เราคงต้องลองถูกลองผิดไปเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยมันเป็นจุดเริ่มต้น

     ในประการที่สองสังคมนิยมสร้างขึ้นได้เมื่อมนุษย์ส่วนใหญ่ ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดจากความคิดคับแคบที่มาจากการกล่อมเกลาในระบบทุนนิยม นี่คือสาเหตุที่ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอว่าเราต้องปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติล้มรัฐนายทุน จะเป็นโอกาสทองที่เราจะร่วมกัน “ล้างขยะแห่งประวัติศาสตร์ออกจากหัวเรา”

     ในประการที่สาม เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์มนุษย์ ตั้งแต่เราวิวัฒนาการมาจากลิง เราจะพบว่าประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของเราเป็นประวัติของสังคมที่ไม่มีชนชั้น คือเราร่วมมือกันเต็มที่ ทุนนิยมเองก็พึ่งมีมาสองร้อยกว่าปีเอง ในขณะที่มนุษย์อยู่บนโลกมานานถึงสองแสนห้าหมื่นปี และแม้แต่ในสังคมปัจจุบัน เราก็เห็นตัวอย่างของการร่วมมือกันหรือความสมานฉันท์เสมอ สังคมนิยมใกล้เคียงกับ “ธรรมชาติมนุษย์” มากกว่าความเห็นแก่ตัวของทุนนิยม

     อย่างไรก็ตามสังคมบุพกาลที่ไม่มีชนชั้นในอดีต ล้วนแต่เป็นสังคมที่มีความขาดแคลน มันจึงเป็นสังคมเท่าเทียมท่ามกลางความยากจน แต่ปัจจุบันเรามีความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน เพื่อให้เรามีชีวิตที่ดีและสบายได้ สังคมนิยมจึงต้องอาศัยความก้าวหน้าที่เคยเกิดขึ้นในสังคมชนชั้น โดยเฉพาะระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมมันไม่ดีพอ เพราะมันไม่สามารถแจกจ่ายทรัพยากรให้ทุกคนได้ และมันเกิดวิกฤตและสงครามเป็นประจำ มันเหมือนกับว่ามนุษย์สร้างหัวจักรรถไฟที่มีพลังมหาศาลขึ้นมา แล้วขับรถไฟไม่เป็น เพราะคนขับคือนายทุนที่มีวัตถุประสงค์อื่น มันเลยตกรางเป็นประจำหรือชนกับรถไฟอื่น สังคมนิยมจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนขับรถไฟได้อย่างปลอดภัย

     พวกล้าหลังจำนวนมากชอบพูดว่า “สังคมนิยมล้าสมัย” แต่ระบบทุนนิยมเก่ากว่าความคิดสังคมนิยม ถ้าอะไรล้าหลังก็คงต้องเป็นทุนนิยม และยิ่งกว่านั้นการบูชาสังคมชนชั้นที่เต็มไปด้วยการกดขี่มันเป็นเรื่องโบราณและอดีต ในขณะที่การเสนอสังคมใหม่ที่เสรีและเท่าเทียมเป็นการมองอนาคต

     ในประการที่สี่ สังคมนิยมคือความใฝ่ฝันของมนุษย์ ซึ่งในอดีตมนุษย์ที่เป็นทาสเคยฝันว่าจะมีเสรีภาพ มนุษย์ที่เป็นไพร่เคยฝันว่าจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง สตรีเคยฝันว่าจะเท่าเทียมกับชาย และสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจริงในโลกเรา แต่ถ้าเรามัวแต่ฟังพวก “กาดำหดหู่” ที่บอกว่ามัน “อุดมกาณ์เกินไป” ความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ไม่มีวันเกิด

     ในประการที่ห้า สังคมนิยมคือระบบที่เน้นวิทยาศาสตร์และความคิด “วัตถุนิยม” ที่ติดดินและเป็นรูปธรรม แต่ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เต็มไปด้วยไสยศาสตร์ และความเชื่อเพี้ยนๆ เช่นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของคนบางคน และมันเต็มไปด้วยการพยายามหลอกให้ประชาชนส่วนใหญ่กระทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ของเขา เช่นการยอมรับการกดขี่ขูดรีด หรือการคลั่งชาติที่นำไปสู่การฆ่ากันเองของคนจนเป็นต้น ถึงแม้ว่าทุนนิยมเป็นระบบที่เคยถูกสร้างขึ้นมาบนความคิดวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากมันเป็นระบบที่อำนาจอยู่ในมือคนส่วนน้อย การปกป้องทุนนิยมในยุคปัจจุบันกระทำบนพื้นฐานความเพ้อฝันและการหลอกลวง มันเป็นการฝันร้ายของมนุษย์    

     ในประการที่หก สังคมนิยมคือเป้าหมายในจิตใจคนที่รักเสรีภาพและความเท่าเทียม แต่มันไม่เกิดง่ายๆ นักสังคมนิยมไม่เคยหลอกตัวเองว่าถ้านั่งอ่านหนังสือที่บ้านมันจะเกิดโดยอัตโนมัติ เราต้องขยันสร้างเครื่องมือที่จะล้มอำนาจเผด็จการของรัฐทุนนิยม เพื่อสร้างรัฐใหม่ของคนทำงาน เครื่องมือนั้นคือพรรคปฏิวัติสังคมนิยม สหภาพแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน เราต้องมีสื่อของเรา เราต้องขยายสมาชิกพรรค เราต้องฝึกฝนการต่อสู้ซึ่งแน่นอนจะมีทั้งแพ้และชนะ มีทั้งการก้าวไปข้างหน้าสองก้าวและถอยหลังสองก้าว

ศึกษาสังคมนิยม สร้างพรรค สร้างขบวนการมวลชน เพื่อล้มระบบชนชั้น!!

ใจ อึ๊งภากรณ์

สังคมนิยมในทัศนะของ คาร์ล มาร์คซ์

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลายคนชอบบ่นว่า คาร์ล มาร์คซ์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน “บิดาของลัทธิสังคมนิยม” มักจะไม่กำหนดอย่างชัดเจนว่าระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์จะมีหน้าตาแบบไหน ในด้านหนึ่งก็เพราะเขาและชาวมาร์คซิสต์ที่ตามหลังเขา จะมองว่าสังคมนิยมต้องมาจากการกระทำของคนทำงานธรรมดา ต้องร่วมกันกำหนดว่ามนุษย์จะอยู่กันอย่างไร โดยคนรากหญ้าเอง จากล่างสู่บน ไม่ใช่ว่าจะมีผู้ใหญ่ที่ไหนออกแบบมาล่วงหน้า

capital-inter

แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนที่เคยอ่านงานเขียนของ คาร์ล มาร์ซ์ เช่นหนังสือ “ว่าด้วยทุน” จะพบว่าเขาเขียนถึงระบบสังคมนิยมในหลายจุด ดังนั้นจะขอเสนอตัวอย่างคำเขียนของ มาร์คซ์ ในเรื่องนี้มาให้ท่านอ่านโดยตรง….

“ความขัดแย้งทวีคูณจนระเบิดออกมา ผู้ที่เคยยึดทรัพย์ประชาชน จะถูกยึดทรัพย์เอง <การปฏิเสธสิ่งที่ปฏิเสธนั้นเอง> จะเกิดจากการร่วมมือกันและการเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินและปัจจัยการผลิตทั้งหมดโดยชนชั้นกรรมาชีพ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ทุนนิยมในอดีตเคยใช้เวลานาน และมีความรุนแรงโหดร้าย เพราะเป็นการปล้นคนส่วนใหญ่โดยคนส่วนน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยม จะเป็นการปล้นคืนจากโจรที่เป็นคนส่วนน้อย โดยคนส่วนใหญ่”

สังคมนิยมเป็นระบบที่เน้นการร่วมมือสมานฉันท์กัน จะต้องมาจากการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมโดยคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่กลุ่มคนเล็กๆ ที่ทำแทนมวลชน และการปฏิวัติดังกล่าวโดยคนส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องใช้ความโหดร้ายป่าเถื่อนเหมือนที่พวกนายทุนหรือพวกศักดินาก่อนหน้านั้นเคยใช้ในการปล้น วิถีชีวิต และอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองจากคนธรรมดา ในประโยคนี้มาร์คซ์ใช้แนวคิด “วิภาษวิธี” ที่เสนอว่าทุกสังคมมีความขัดแย้ง ซึ่งเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง และในที่สุดสภาพเดิมที่เคยเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งก่อนหน้านั้น จะถูกปฏิเสธอีกรอบโดยความขัดแย้งรอบใหม่

การยกเลิกทุนนิยมจะทำให้ลดชั่วโมงการทำงานให้ใกล้เคียงที่สุดกับปริมาณแรงงานจำเป็นในการเลี้ยงชีพ และส่วนเกินที่เราผลิตจะนำมาใช้โดยคนในสังคมร่วมกัน เพื่อลงทุนต่อและพัฒนาสังคม ดังนั้นจะมีการเพิ่มเวลาสำหรับกิจกรรมทางสังคมและการพัฒนาปัญญาของกรรมาชีพอย่างเสรี”

เสรีภาพที่จะเลี้ยงชีพตามความต้องการในสิ่งจำเป็น ย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีระบบการผลิตแบบรวมหมู่ที่มนุษย์ทุกคนมีอำนาจร่วมกันที่จะกำหนดกิจกรรมต่างๆ และกำหนดความสัมพันธ์กับโลกธรรมชาติด้วยเหตุผล แทนที่มนุษย์จะตกเป็นทาสของระบบการผลิต ระบบการผลิตแบบใหม่ที่จะเกิด ย่อมสอดคล้องที่สุดกับธรรมชาติมนุษย์ และย่อมประหยัดพลังการทำงานให้มากที่สุด แต่นั้นยังอยู่ในขอบเขตความจำเป็น เสรีภาพของมนุษย์ที่แท้จริง จะเริ่มตรงจุดที่แรงงานจำเป็นสำหรับการเลี้ยงชีพจบลง มันเป็นจุดที่เกินเลยจุดแห่งการผลิตวัตถุ เรากำลังพูดถึงเสรีภาพแท้ในกิจกรรมของมนุษย์หลังจากที่เราได้สิ่งจำเป็นสำหรับการเลี้ยงชีพ อนาคตแห่งเสรีภาพแท้จริงคือการพัฒนาพลังและความสามารถของมนุษย์ เพื่อตัวเราเอง”

download

มาร์คซ์ วาดภาพว่าในระบบสังคมนิยมจะมีการวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน และการวางแผนดังกล่าวจะสะท้อนการมีประชาธิปไตยในเรื่องเศรษฐกิจ และจะทำให้เราอนุรักษ์สภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติได้อีกด้วย ยิ่งกว่านั้นสังคมนิยมไม่ใช่แค่เรื่องความพอเพียง แต่เป็นวิธีที่มนุษย์จะมีเวลาเสรีสำหรับการพัฒนาตนเองในรูปแบบต่างๆ ตามใจชอบ พูดง่ายๆ สังคมนิยมในทัศนะของ คาร์ล มาร์คซ์ คือเสรีภาพและประชาธิปไตยที่แท้จริง และสอดคล้องกับความเป็นมนุษย์มากกว่าระบบทุนนิยม

woman-591576_960_720

มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ ไม่ใช่ว่าบางคนมีงานทำที่น่าสนใจ และคนอื่นต้องทำงานซ้ำซาก การทำงานของพลเมืองควรจะเป็นเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจ และสนับสนุนความสร้างสรรค์ที่หลากหลายของเราทุกคน พลเมืองทั้งสังคมจะได้มีศักดิ์ศรีและได้รับความเคารพรักซึ่งกันและกัน

ตรงนี้ มาร์คซ์ อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ ระบบเศรษฐกิจ และความรู้สึกจิตวิญญาณของมนุษย์ ที่รักเสรีภาพและต้องการพัฒนาตนเองทางปัญญาโดยไม่มีขอบเขตจำกัด

พอถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านน่าจะเข้าใจดีว่าระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ที่นักมาร์คซิสต์แสวงหา ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับเผด็จการ สตาลิน-เหมา ที่ใช้ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ซึ่งเคยดำรงอยู่ในรัสเซียและจีนสมัยที่ผู้นำประเทศเหล่านั้นโกหกว่าปกครองโดยระบบ “สังคมนิยม”

และที่สำคัญที่สุดคือ เป้าหมายแห่งเสรีภาพสำหรับมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ ยิ่งใหญ่และงดงามกว่าสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนภายใต้เผด็จการอนุรักษ์นิยมปัจจุบันของไทย เผด็จการที่ครอบเราอยู่ตอนนี้มองว่าเราต้องก้มหัวคลานต่อผู้ใหญ่ในสังคม ทำตามคำสั่งของพวกกาฝาก และพึงพอใจกับชีวิตถ้ามีแค่อาหารการกินพอเพียง นั้นคือสภาพที่ไร้ความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน

การนัดหยุดงานกับการสร้างเสรีภาพ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ท่ามกลางความมืดมนของเผด็จการที่วางแผนคุมสังคมเราในระยะยาว เราต้องตั้งคำถามว่าพลังไหนในสังคมจะปลดแอกประชาชนและสร้างเสรีภาพ?

การสร้างพลังของขบวนการสหภาพแรงงานในไทย มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างเสรีภาพ สังคมเราจะได้ไม่ต้องวนเวียนอยู่กับเผด็จการ การทำรัฐประหาร  และสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างต่อเนื่องเหมือนไม่มีจุดจบ นี่คือบทเรียนจากประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก เกาหลีใต้ ลาตินอเมริกา และอียิปต์

13124929_1181060888592867_9078848768920258106_n

แน่นอนเราไม่สามารถจะไปหวังว่า สลิ่มชนชั้นกลาง ผู้ที่เคยเป็นความหวังของใครๆ ในอดีต จะสนใจสร้างเสรีภาพ พวกเขาพิสูจน์ตนเองเป็นรูปธรรมว่าเป็นศัตรูของเสรีภาพ

อย่างไรก็ตามขบวนการแรงงานไทยตอนนี้อ่อนแอเกินไป ไร้ประสิทธิภาพในการนำตนเองเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งถูกฝ่ายปฏิกิริยาแทรกแซง และเกือบจะไม่มีการจัดตั้งทางการเมือง บางส่วนของขบวนการมองรัฐบาลทหารว่าเป็น “ผู้อุปถัมภ์” อีกด้วย ที่สำคัญคือควบคู่กับการสร้างพลังของกรรมาชีพ เราไม่สามารถละเว้นการสร้างพรรคสังคมนิยมด้วย ดังนั้นภารกิจสำคัญของเราควรจะเป็นการสร้างพรรคสังคมนิยมของคนหนุ่มสาวมีไฟที่ลงไปทำงานกับขบวนการสหภาพแรงงาน

ทำไมกรรมาชีพมีบทบาทชี้ขาดในการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพ และสังคมนิยม?

ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยมของนักมาร์คซิสต์ คือ ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิต ดังนั้นลูกจ้างทุกคนที่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษถือว่าเป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาว คนขับรถเมล์ พนักงานในภาคบริการ พยาบาล หรือครูบาอาจารย์

3350df5709f4453fafae41703dc8a35e

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นเพราะชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจซ่อนเร้นอยู่สูง เนื่องจากกรรมาชีพเป็นชนชั้นใหม่ที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาในใจกลางของระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมต้องอาศัยการทำงานของชนชั้นกรรมาชีพทั้งสิ้น นายทุนนายจ้างและเครื่องจักรต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ เมื่อกรรมาชีพนัดหยุดงานทั่วประเทศ ทหารและตำรวจปราบยากกว่าการชุมนุมบนท้องถนน

ชนชั้นกรรมาชีพมีความสัมพันธ์พิเศษในระบบการผลิตทุนนิยมด้วย เพราะทุนนิยมผลักดันให้ชนชั้นกรรมาชีพเข้ามาทำงานร่วมกันในสถานที่ทำงานใหญ่ โดยที่งานของแต่ละคนต้องอาศัยพึ่งพางานของเพื่อนร่วมงานตลอด ซึ่งการทำงานแบบนี้ช่วยส่งเสริมความคิดในเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่เหมือนพวกนายทุนน้อย นอกจากนี้ชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมสมัยใหม่ทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย

จะขอยกคำเขียนของนักสังคมนิยมสองคนในอดีต เพื่อขยายความเรื่องการนัดหยุดงาน และการต่อสู้ทางการเมือง

rluxemburgcpwz

บทความ “การนัดหยุดงานทั่วไป” ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักมาร์คซิสต์สตรีชาวเยอรมัน-โปแลนด์ เป็นบทความที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง การลุกฮือโดยอัตโนมัติและเสรี กับการจัดตั้งทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างการต่อสู้ในเรื่องปากท้อง กับการต่อสู้ทางการเมือง

โรซา ลัคแซมเบอร์ค เขียนไว้ว่า…..“ในการนัดหยุดงานทั่วไปเราไม่สามารถแยกเศรษฐศาสตร์ออกจากการเมืองได้เลย การนัดหยุดงานทั่วไปแบบ “การเมือง” ไม่ใช่จุดสูงสุดของการต่อสู้ของสหภาพแรงงานและไม่ใช่เรื่องที่สามารถแยกออกจากการนัดหยุดงานประเภท “ปากท้อง” ได้ ถึงแม้ว่ากระบวนการของกระแสการนัดหยุดงานทั่วไปเกิดจากการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องปากท้อง และในขณะที่มันพัฒนาไปมันผ่านหลายๆ ขั้นตอนของการประท้วงทางการเมืองก็จริง แต่มันไม่ใช่การพัฒนาในทิศทางเดียวเท่านั้น หลังจากการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ทางการเมืองทุกครั้ง กระแสลำธารแห่งการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องปากท้องก็ย่อมเกิดขึ้น พูดง่ายๆ เรื่องปากท้อง (หรือเศรษฐกิจ) กับเรื่องการเมืองจะหนุนกันไปหนุนกันมาตลอดเวลา”

“ในเรื่องของจิตสำนึกและการนำในการต่อสู้นัดหยุดงานทั่วไป ถ้าเราเข้าใจว่าการนัดหยุดงานทั่วไปคือผลิตผลของการต่อสู้ในระยะยาวภายใต้กระแสการปฏิวัติ เราจะเข้าใจดีว่าไม่มีใครสามารถจัดตั้งมันขึ้นมาได้ และไม่มีใครที่สามารถวางแผนให้มันเกิดได้ พรรคการเมืองของฝ่ายสังคมนิยมสามารถปลุกระดมให้เกิดการประท้วงได้ แต่ไม่สามารถก่อให้เกิดกระแสการนัดหยุดงานทั่วไปและกระแสการปฏิวัติได้ ถึงแม้ว่าทิศทางการต่อสู้ในช่วงกระแสการปฏิวัติเป็นเรื่องที่กำหนดไม่ได้ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพรรคสังคมนิยมไม่มีภาระกิจอันใดทั้งสิ้น เพราะท่ามกลางการต่อสู้อันหลากหลายและสับสน ท่ามกลางการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยของการนัดหยุดงานทั่วไป นักสังคมนิยมจะถูกเรียกร้องให้ขึ้นมามีบทบาทนำในทางการเมือง ในสถานการณ์แบบนี้หน้าที่หลักของนักสังคมนิยมคือการนำเอาพลังมหาศาลอันหลากหลายของกรรมาชีพที่ระเบิดออกมา มารวมตัวรวมพลังเพื่อยกระดับการต่อสู้ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

1917-russian-revolution

บทความของ เลนิน “ว่าด้วยการนัดหยุดงาน” อธิบายถึงความสำคัญของการนัดหยุดงานในการแสดงพลังของกรรมาชีพ และเสนอว่าการนัดหยุดงานเป็น “โรงเรียนการทำสงครามทางชนชั้น” ที่เปิดหูเปิดตากรรมาชีพ แต่เลนินเน้นว่าโรงเรียนการทำสงครามแตกต่างจากสงครามจริง การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานสำคัญ แต่การปลดแอกมนุษย์ต้องอาศัยการจัดตั้งพรรคการเมืองและการปฏิวัติด้วย

เลนิน เขียนว่า “การนัดหยุดงานทุกครั้งเป็นเครื่องเตือนใจนายทุนว่ากรรมาชีพต่างหากที่เป็นเจ้านายแท้ของระบบ การนัดหยุดงานสอนให้กรรมาชีพเข้าใจว่า พลังอำนาจของนายจ้างและพลังอำนาจของกรรมาชีพเองเป็นไปในรูปแบบไหน มันสอนให้กรรมาชีพนึกถึงชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นและชนชั้นกรรมาชีพทั้งชนชั้น ไม่ใช่แค่นายจ้างของตนเองหรือเพื่อนร่วมงานของตนเองเท่านั้น เมื่อเจ้าของโรงงานที่สะสมทรัพย์เป็นล้านๆ จากงานของกรรมาชีพหลายรุ่นหลายสมัย ไม่ยอมขึ้นค่าแรงแม้แต่นิดเดียวหรือพยายามลดค่าแรง และเมื่อเขาปลดคนงานที่กล้ายืนขึ้นต่อสู้ออกจากโรงงาน จนครอบครัวกรรมาชีพหลายพันคนต้องยากลำบาก มันกลายเป็นที่ประจักษ์ว่าชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นคือศัตรูของกรรมาชีพทั้งชนชั้น หลายครั้งเจ้าของโรงงานจะพยายามหลอกลวงคนงาน โดยสร้างภาพว่าเขาเป็นผู้อุปถัมภ์จิตใจเมตตา แต่พอเกิดการนัดหยุดงานขึ้นภาพลวงตาหรือหน้ากากของผู้อุปถัมภ์ใจดีจะถูกกระชากหลุดไปทันที และกรรมาชีพจะเห็นว่าผู้อุปถัมภ์คือหมาป่าปลอมตัวเป็นแพะ

การนัดหยุดงานเปิดตาของกรรมาชีพให้เห็นธาตุแท้ของรัฐบาลและกฏหมายด้วย ไม่ใช่แค่ธาตุแท้ของนายจ้าง ในลักษณะเดียวกับที่นายทุนพยายามแสดงตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ใจดีของกรรมาชีพ เจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ และทาสรับใช้ของเขา พยายามหลอกกรรมาชีพว่ารัฐบาลเป็นกลางและมีความเป็นธรรมไม่เข้าข้างนายจ้างหรือลูกจ้าง แต่พอเกิดการนัดหยุดงานขึ้น ศาล เจ้าหน้ารัฐ ตำรวจ และแม้แต่ทหาร ก็มาที่โรงงาน ในสภาพเช่นนี้กรรมาชีพทุกคนเริ่มเห็นว่ารัฐบาลคือศัตรูร้ายของตน เพราะรัฐบาลปกป้องนายทุนและมัดมือมัดเท้ากรรมาชีพ กรรมาชีพเริ่มเข้าใจว่ากฏหมายต่างๆ ออกเพื่อผลประโยชน์คนรวยฝ่ายเดียว และเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของพวกนี้

นี่คือสาเหตุที่นักสังคมนิยมเรียกการนัดหยุดงานว่า “โรงเรียนการทำสงคราม” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนให้กรรมาชีพทำสงครามกับศัตรู เพื่อปลดแอกประชาชนผู้ทำงานทั้งปวงจากการกดขี่ขูดรีดของเจ้าหน้าที่รัฐและพลังทุน อย่างไรก็ตาม “โรงเรียนการทำสงคราม” ไม่ใช่สงครามจริง การนัดหยุดงานเป็นเพียงแง่หนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพ จากการนัดหยุดงานของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกรรมาชีพต้องพัฒนาการต่อสู้ไปสู่การต่อสู้ของกรรมาชีพทั้งชนชั้นเพื่อการปลดแอกตนเอง เมื่อกรรมาชีพที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นพัฒนาตนเองเป็นนักสังคมนิยม เขาจะสร้างพรรคสังคมนิยมกรรมาชีพที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชนจากการกดขี่ของรัฐบาลและจากแอกของทุน”

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2kX0Hdo