วันที่ 20 มีนาคมปีนี้เป็นวันต่อต้านการเหยียดสีผิวเชื้อชาติขององค์กรสหประชาชาติ และในหลายๆประเทศทั่วโลกมีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ต่อต้านการเหยียดสีผิวเชื้อชาติ แต่ในไทย พลเมืองส่วนใหญ่ยังขาดจิตสำนึกในเรื่องนี้ เพราะพรรคการเมืองสังคมนิยมที่ชูประเด็นเรื่องแบบนี้ยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา
เราไม่ควรนิ่งนอนใจคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาของคนในประเทศอื่นๆ เท่านั้น เพราะเมื่อเกิดปัญหาทางสังคม ก็มีคนไม่น้อยที่ออกมาโทษคนมุสลิมหรือแรงงานข้ามชาติ พลเมืองจำนวนมากในไทยไม่แคร์เรื่องชาวโรฮิงญา เวลาทหารฆ่าคนจากชนเผ่าก็มีการมองว่าพวกนี้ “ไม่ใช่คนไทย” และเป็นพวกค้ายาเสพติด “ทุกคน” และเวลาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปาตานี พลเมืองจำนวนมากก็จะพูดถึง “โจรใต้” แทนที่จะมองว่าทหารไทยระดับนายพลคือโจรตัวจริง แต่อย่าลืมว่ามีพลเมืองชาวมุสลิมจำนวนมาก ที่ต่อต้านและเกลียดชังเผด็จการทหารที่ครองอำนาจอยู่ในสังคมเราทุกวันนี้
คาร์ล มาร์คซ์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าถ้ากรรมาชีพในประเทศหนึ่งไม่เลิกดูถูกคนจากประเทศอื่น เขาจะไม่มีวันปลดแอกตนเองได้ และเราอาจพูดได้ว่า ตราบใดที่คนไทยจำนวนมากยังเหยียดเชื้อชาติอื่นๆ คนไทยก็ย่อมเป็นทาสของเผด็จการและชนชั้นปกครองต่อไป และไม่มีวันปลดแอกตนเองกับสร้างเสรีภาพในสังคมได้
คนไทยจำนวนมากยังไม่เลิกใช้คำเหยียดหยามกับคนเชื้อชาติอื่น มีการใช้คำว่า “แรงงานเถื่อน” “แรงงานต่างด้าว” “แขก” “ญวน” “ฝรั่ง” “ไอ้มืด” เกือบจะเป็นสันดาน
เมื่อสามปีก่อนองค์การนิรโทษกรรมสากล ได้รายงานว่ารัฐบาลเผด็จการไทยมีการละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง เช่นการจับคุมผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและเขมร โดยที่หลายคนถือบัตรผู้ลี้ภัยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ทุกวันนี้สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง
ปัญหาใหญ่มาจากการที่รัฐบาลไทย ทุกรัฐบาล ไม่ยอมเซ็นรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951และพิธีสารปี 1967 ดังนั้นผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในไทยถูกปฏิบัติเหมือนกับว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฏหมาย เหมือนเป็นอาชญากร และมีหลายกรณีที่รัฐบาลไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปสู่คุกและการถูกทำร้ายในประเทศเดิม เช่นตุรกี เขมร และจีน
ส่วนผู้ลี้ภัยจากสงครามและความรุนแรงของทหารพม่าส่งผลให้คนเป็นแสนเดินข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย แต่คนที่อยู่ต่อได้ถูกรัฐบาลไทยกักไว้ในค่ายผู้ลี้ภัยแถบชายแดน โดยที่ไม่มีสิทธิที่จะออกจากค่าย รัฐบาลไม่มีการบริการสาธารณสุข ไม่มีการให้การศึกษากับเด็ก และมีการห้ามไม่ให้ทำงานเลี้ยงชีพ คนที่แอบไปทำงานก็โดนนายจ้างและตำรวจเอาเปรียบเพราะเป็นแรงงาน “ผิดกฏหมาย”
แต่ชาวสังคมนิยมถือว่าผู้ลี้ภัยทุกคนเป็นมนุษย์ เราปฏิเสธคำจำกัดความที่ตราหน้าเพื่อนมนุษย์ว่าผิดกฏหมาย และเราจะไม่ยอมให้พวกชนชั้นปกครองชาตินิยมแบ่งแยกคนธรรมดาตามสีผิวหรือเชื้อชาติ การพูดว่าผู้ลี้ภัยเป็น “ภาระ” กับประเทศไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเขาสามารถทำงาน เขาจะร่วมพัฒนาสังคมของเรา การพูดว่าเขาจะมา “แย่งงานคนไทย” ก็ไม่จริงอีกเพราะเขาพร้อมจะทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ และเมื่ออายุของประชากรเพิ่มขึ้นสังคมเราก็จะขาดแรงงาน คำพูดแบบนี้ล้วนแต่เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาของระบบทุนนิยม โดยชนชั้นปกครอง เพื่อให้เรามองไม่เห็นการเอารัดเอาเปรียบและการกอบโกยกำไรของชนชั้นนายทุน สังคมเราไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากร เพียงแต่ว่ามันไปกระจุกอยู่ในมือของคนชั้นสูง 5% ของสังคม และถูกใช้ในทางที่ผิด เช่นใช้ซื้ออาวุธให้ทหารที่ฆ่าประชาชนและทำลายประชาธิปไตย หรือถูกใช้เพื่อให้คนชั้นสูงเสพสุขมหาศาลเป็นต้น
ประเด็นปัญหาสำหรับคนที่อยากปลดแอกตนเอง อยากเห็นประชาธิปไตยและเสรีภาพคือ มันมีสองขั้วความคิดในทุกสังคมทั่วโลก
ขั้วความคิดแรกเป็นแนวคิดที่มาจากชนชั้นปกครองและชวนให้เราจงรักภักดีต่อเขาภายใต้ลัทธิชาตินิยม ซึ่งในไทยรวมถึงลัทธิราชานิยมด้วย แนวคิดนี้ชวนให้เราหมอบคลานต่อเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ นายพลมือเปื้อนเลือด หรือ “ท่านผู้ใหญ่” และมันชวนให้เรามองว่าเรามีผลประโยชน์ร่วมกับผู้ที่กดขี่ขูดรีดเรา “เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน” นี่คือที่มาของความคิดที่เหยียดเชื้อชาติอื่น มันเป็นแอกเพื่อควบคุมให้คนส่วนใหญ่เป็นไพร่
ขั้วความคิดที่สองเป็นแนวคิดที่เกิดจากจิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพและคนชั้นล่างทั่วไป มันไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ มันอาศัยอยู่ในสังคมได้เพราะมีการต่อสู้ และนักสังคมนิยมและนักสิทธิมนุษยชนมักจะทวนกระแสความคิดกระแสหลัก และเสนอแนวคิดประเภท “สามัคคีชนชั้นล่างข้ามเชื้อชาติ” ความคิดขั้วนี้จะปฏิเสธการรักชาติ แต่จะรักเพื่อนประชาชนแทน จะเสนอให้คนไทยธรรมดาสมานฉันท์กับคนเชื้อชาติอื่น และต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง เพื่อให้เราร่วมกันปลดแอกตนเองและสังคม
ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเห็นว่าตราบใดที่เรายังรักชาติของชนชั้นปกครอง และตราบใดที่เรามองว่าเราอยู่ข้างเดียวกับคนที่เหยียบหัวเรา เราไม่มีวันต่อสู้เพื่อเสรีภาพได้
ใจ อึ๊งภากรณ์